LAW 2010 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายกรุงเทพเป็นหนี้เงินกู้นายเหลืองผ่องจำนวน  5  ล้านบาท  โดยมีนายแดงแจ๋เป็นผู้ค้ำประกัน  มีหลักฐานการกู้เงินและการค้ำประกันถูกต้องตามกฎหมาย  นายเหลืองผ่องเกรงว่าเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ทั้งนายกรุงเทพและนายแดงแจ๋จะชำระหนี้ไม่ครบ  จึงขอให้นายกรุงเทพหาหลักประกันเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นมามอบไว้  นายกรุงเทพจึงนำโฉนดที่ดินของนายต่างจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจำนวน  20  ไร่  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครนายกมาให้นายเหลืองผ่องยึดถือไว้เป็นประกัน

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้  ส่วนนายแดงแจ๋อ้างว่าเมื่อนายต่างจังหวัดนำโฉนดที่ดินให้นายกรุงเทพยึดถือไว้แล้ว  จึงขอให้นายเหลืองผ่องบังคับการชำระหนี้จากที่ดินนั้นได้  ตนจึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิด  อยากทราบว่าข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นถ้าได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย  และมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี  ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา  680  และในส่วนของผู้ค้ำประกันอาจจะบ่ายเบี่ยงขอให้เจ้าหนี้บังคับเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ตามมาตรา  690  คือเมื่อเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน  และการเรียกนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย  เช่น  ในกรณีทรัพย์ที่เป็น ประกันไว้เป็นที่ดินก็จะต้องได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  714  ด้วย

ตามอุทาหรณ์  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายกรุงเทพซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้  นายเหลืองผ่องเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกให้นายแดงแจ๋ชำระหนี้ได้ตามมาตรา  686  และการที่นายแดงแจ๋อ้างว่าเมื่อนายต่างจังหวัดนำโฉนดที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้แล้วก็ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากที่ดินนั้นตามมาตรา  690  ข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังไม่ได้  ทั้งนี้เพราะที่ดินที่นายเหลืองผ่องยึดถือไว้นั้นไม่ใช่ที่ดินของลูกหนี้  อีกทั้งการที่มีการเอาที่ดินมายึดถือไว้เป็นประกันนั้นก็มิได้กรทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด  คือไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  714  แต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นายแดงต้องการช่วยเหลือนายดำซึ่งเป็นลูกหนี้นายขาวเป็นจำนวนเงิน  10  ล้านบาท  แต่นายแดงมีเพียงที่ดินจำนวน  5  ไร่  ราคา 2  ล้าน  5  แสนบาท  จึงขอนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันกับนายขาว  โดยจดทะเบียนจำนองระบุที่ดินเปล่า  5  ไร่  ราคา  2  ล้าน  5  แสนบาท  หลังจากจดทะเบียนจำนองแล้ว  ปรากฏว่านายแดงทำการค้าขายได้เงินกำไรเป็นจำนวน  10 ล้านบาท  จึงนำเงินดังกล่าวไปปลูกบ้านในที่ดินที่จดทะเบียนจำนอง  เมื่อหนี้เงินกู้ของนายดำและนายขาวถึงกำหนดชำระ  นายขาวขอบังคับจำนองโดยมีจดหมายบอกให้นายดำชำระหนี้  และหากชำระหนี้ไม่ได้ก็ขอขายทอดตลาดทั้งที่ดินและบ้านที่ปลูกสร้างหลังการจดทะเบียนจำนองเพื่อนำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาชำระหนี้เงินกู้  10  ล้านบาท  อยากทราบว่า  นายขาวมีสิทธิ์ขายทั้งที่ดินและบ้าน  และนำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ก็ให้ทำได้

มาตรา  719  จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

แต่กระนั้นก็ดี  ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้  แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงต้องการช่วยเหลือนายดำซึ่งเป็นลูกหนี้นายขาว  จึงนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันกับนายขาว  การจดทะเบียนจำนองดังกล่าวถึงแม้เป็นที่ดินเป็นของนายแดง บุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้  ก็ย่อมกระทำได้ตามมาตรา  702  ประกอบมาตรา  709

และโดยหลักแล้ว  การจำนองย่อมไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นไว้โดยเฉพาะในสัญญาให้ครอบไปถึง  อย่างไรก็ดี  ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้  แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น  (มาตรา  719)

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังวันจำนองนายแดงได้ปลูกบ้านในที่ดินที่จดทะเบียนจำนอง  เมื่อหนี้เงินกู้ของนายดำและนายขาวถึงกำหนดชำระ  นายขาวก็ประสงค์จะบังคับจำนองโดยมีจดหมายบอกให้นายดำชำระหนี้และหากชำระหนี้ไม่ได้  ก็ขอขายทอดตลาดทั้งที่ดินและบ้านที่ปลูกภายหลังวันจำนอง  ดังนี้  นายขาวสามารถขายที่ดินพร้อมบ้านได้แต่จะนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้  จะนำไปได้แต่เพียงราคาที่ดินเท่านั้น  ตามมาตรา  719  วรรคสอง

สรุป  นายขาวสามารถขายที่ดินพร้อมบ้านได้แต่จะนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้  จะนำไปชำระหนี้ได้แต่เพียงราคาที่ดินเท่านั้น

 

ข้อ  3  นายฟ้ากู้เงินนายดินจำนวน  2  ล้านบาท  โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้อง  ขณะเดียวกัน  นายฟ้าได้นำทองคำหนัก  100  บาท  คิดเป็นเงิน  1  ล้านแปดแสนบาท  มาให้กับนายดินเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้  โดยมิได้ทำหลักฐานการจำนำแต่อย่างไร  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายดินได้จดหมายเรียกให้นายฟ้าชำระหนี้  แต่นายฟ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้  นายดินจึงนำทองคำออกขายทอดตลาด  ปรากฏว่าราคาทองคำตกต่ำลงมาก  ทำให้นายดินขายทองได้เงินเพียง  1  ล้านบาท  อยากทราบว่า  นายฟ้าจะยังคงต้องรับผิดในหนี้เงินที่เหลืออีก  1 ล้านบาทหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายฟ้านำทองคำมาจำนำกับนายดิน  เมื่อการจำนำดังกล่าวมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ย่อมทำให้สัญญาจำนำสมบูรณ์  มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย  และในกรณีที่มีการบังคับจำนำนั้นนายดินก็ได้กระทำถูกต้องตามมาตรา  764  คือ  มีจดหมายบอกให้ลูกหนี้ทำการชำระหนี้และมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำ  และตามมาตรา  767  ได้กำหนดไว้ว่า  เมื่อมีการบังคับจำนำโดยเอาทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดแล้ว  หากได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั่นเอง  ดังนั้น  เมื่อนำทองออกขายทอดตลาดได้เพียง  1  ล้านบาท  นายฟ้าจึงต้องรับผิดในหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีก  1  ล้านบาทตามมาตรา  767  วรรคสอง

สรุป  นายฟ้าต้องรับผิดในหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีก  1  ล้านบาท

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เหลืองอายุ  18  ปี  ซื้อรถจักรยานยนต์หนึ่งคันราคา  50,000  บาท  จากแดง  ทั้งๆที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอม  การชำระเงินกำหนดว่าให้เหลืองชำระครั้งแรก  10,000  บาท  ซึ่งเหลืองก็ได้ชำระแล้ว  ส่วนที่เหลือให้ชำระเป็นรายเดือน  เดือนละ  4,000  บาท  เป็นเวลา  10  เดือน  น้ำเงินผู้เป็นอาของเหลืองค้ำประกันหนี้รายนี้โดยรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้นตั้งแต่วันทำสัญญา  5  วัน  หลังจากนั้น  เหลืองได้รับอุบัติเหตุจากการขี่รถจักรยานยนต์คันนั้นจนต้องเข้ารับการรักษา  ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงได้ทราบเรื่องทั้งหมด

ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงนำรถจักรยานยนต์ชำรุด  ประมาณราคาได้เพียง  5,000  บาท  ส่งมอบให้แดง  พร้อมทั้งแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขาย  และขอให้แดงคืนเงินให้ฝ่ายตน  5,000  บาท  แดงอ้างว่าฝ่ายเหลืองต่างหากที่ต้องชำระเงินให้ตน  35,000  บาท

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1)    น้ำเงินต้องชำระเงินให้แดงหรือไม่  เพราะเหตุใด  อย่างไร

2)    เหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องรับผิดต่อน้ำเงินหรือไม่  เพราะเหตุใด  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้ เพราะทำด้วยความสำคัญผิด หรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่ เข้าทำสัญญาผูกพันตน

มาตรา  693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว  ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้  เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่ง  ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

วินิจฉัย

 1)              ตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองผู้เยาว์ได้ไปซื้อจักรยานยนต์จากแดง  โดยที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอม  สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ  (มาตรา  21  และ  153)  เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างแล้ว  จึงตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก  และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้แทนโดยชอบธรรมนำรถจักรยานยนต์ชำรุดส่งมอบให้แดงซึ่งประมาณราคาได้เพียง  5,000  บาท  จึงเป็นการพ้นวิสัย  ดังนั้นเหลืองจึงต้องชดใช้เงินให้แดงจำนวน  35,000  บาท  ตามราคารถยนต์ที่ยังค้างชำระอยู่  (มาตรา  176)

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเงินจำนวนนี้จะเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาที่ไม่ผูกพันเหลืองลูกหนี้  เพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม  แต่หนี้ที่เป็นโมฆียะนั้นถือเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง  เมื่อน้ำเงินค้ำประกันหนี้รายนี้โดยรู้ข้อเท็จจริงว่าเหลืองไร้ความสามารถในขณะทำสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  681  วรรคสาม  จึงเป็นการค้ำประกันที่สมบูรณ์  น้ำเงินผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แดงตามมาตรา  681  วรรคแรก

2)              เมื่อน้ำเงินผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แดงเจ้าหนี้แทนเหลืองลูกหนี้แล้ว  ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในอันที่จะไล่เบี้ยเอากับเหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมในต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้นได้ตามมาตรา  693  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  229(3)

สรุป 

1)              น้ำเงินต้องชำระเงินให้แดงในฐานะผู้ค้ำประกันเหลือง

2)              เหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องรับผิดชอบต่อน้ำเงิน

 

ข้อ  2  ก  กู้เงิน  ข  โดยนำเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าไปจำนองเป็นประกันหนี้  ต่อมา  ก  ได้ชำระหนี้บางส่วนและขอปลดทรัพย์บางส่วน  คือ ปลดเฉพาะเครื่องจักรเดินเรือ  โดย  ข  เจ้าหนี้ได้ยินยอมด้วย  แต่การปลดจำนองครั้งนี้  มิได้นำความไปจดทะเบียนปลดจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนี้  ค  เจ้าหนี้ของ  ข  ผู้รับจำนองจะใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  มาฟ้องบังคับจำนองแก่  ก  โดยเรียกให้ชำระหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่แรกกู้  1,000,000  บาท  ได้หรอไม่  และ  ค  ยังเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรที่  ก  อ้างว่าไถ่ถอนไปก่อนแล้ว  ให้  ค  ด้วย  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้  ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น  คดีก็เป็นอันเสร็จกันไป  แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย  ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี  ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

มาตรา  717  แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม  ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง

ถึงกระนั้นก็ดี  ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย  ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลดจากจำนองก็ให้ทำได้  แต่ความยินยอมดังว่านี้หากมิได้จดทะเบียน   ท่านว่าจะยกเอาเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกหาได้ไม่

มาตรา  746  การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใดๆสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดี  การระงับหนี้อย่างใดๆก็ดี  การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี  ท่านว่าต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำขอร้องของผู้มีส่วนได้เสีย  มิฉะนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก

วินิจฉัย

โดยหลัก  ถ้าเป็นกรณีทรัพย์ที่จำนองมีสิ่งเดียวแต่แบ่งออกเป็นหลายส่วน  การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงส่วนเหล่านั้นทุกส่วน  ซึ่งตามหลักแล้วลูกหนี้จะขอไถ่ถอนจำนองออกเป็นส่วนๆไม่ได้  เว้นแต่ผู้รับจำนองจะยินยอมด้วย  แต่ความยินยอมดังกล่าวหากไม่นำไปจดทะเบียน  จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้  (มาตรา  717)

ตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ได้ชำระหนี้บางส่วน  และขอไถ่ถอนจำนองเฉพาะเครื่องจักรเดินเรือนั้น  เมื่อ  ข  ผู้รับจำนองได้ยินยอมด้วยแล้ว ก  ย่อมทำได้  แต่เมื่อการไถ่ถอนจำนองบางส่วนดังกล่าวมิได้นำไปจดทะเบียนปลดจำนอง  จึงทำให้  ก  ไม่สามารถเอาการไถ่ถอนจำนองนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา  717  ประกอบมาตรา  746

ดังนั้น  ค  เจ้าหนี้ของ  ข  ผู้รับจำนอง  ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกจึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  ตามมาตรา  235  ฟ้องบังคับจำนองเอากับ  ก  เต็มจำนวน  1,000,000  บาทได้  และยังเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรเดินเรือคืนให้  ค  ได้ด้วย  เพราะถือว่าเครื่องจักรเดินเรือยังติดจำนองอยู่ตามมาตรา  717  ซึ่ง  ก  ผู้จำนอง  ไม่มีทางที่จะต่อสู้ได้เลย

สรุป  ค  สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  มาฟ้องบังคับจำนองกับ  ก  โดยเรียกให้ชำระหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่แรกกู้  1,000,000  บาท  และเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรเดินเรือให้  ค  ได้

 

ข้อ  3  นายแดงกู้เงินนายนก  5  ล้านบาท  โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย  นายนกขอให้นายแดงหาหลักประกันมามอบไว้ด้วย นายแดงจึงนำทองคำแท่งของตนจำนวน  100  บาท  ราคา  2  ล้านบาท  มาวางเป็นการประกัน  แต่มิได้ทำหลักฐานประการใด  พร้อมกับขอให้นายไก่หาหลักประกันมาด้วย  นายไก่จึงนำทองคำแท่งของนายไก่จำนวน  200  บาท  ราคา  4  ล้านบาทมาจำนำกับนายนก  โดยมีการทำหลักฐานลงลายมือชื่อนายไก่และนายนกด้วย

ดังนี้  อยากทราบว่า  การที่นายแดงและนายไก่นำทองคำแท่งมาทำเป็นหลักประกันกับนายนก  ถือเป็นสัญญาประกันประเภทใด  และนายนกจะบังคับจากใครได้หรือไม่  หากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว 

ส่วนในกรณีผู้จำนำนั้นจะเป็นตัวลูกหนี้เองหรือบุคคลอื่นนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้ก็ได้  เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น  แต่ที่สำคัญคือ  ผู้จำนำจะต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ

ตามอุทาหรณ์  การกู้เงินของนายแดงกับนายนกมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา  653 วรรคแรก  และการที่นายแดงนำทองคำแท่งมาวางเป็นประกันการชำระหนี้นั้น  เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว  จึงถือว่าเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์  แม้มิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

 ส่วนกรณีของนายไก่นั้น  แม้จะเป็นบุคคลภายนอก  แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้จำนำทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นแต่อย่างใด  เมื่อนายไก่ส่งมอบทองคำแท่งซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับนายนกผู้รับจำนำแล้ว  จึงเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

ดังนั้น  หากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  นายนกเจ้าหนี้ย่อมสามารถบังคับจำนำกับทองแท่งของทั้งนายแดงและของนายไก่ได้ตามมาตรา  764

สรุป  การที่นายแดงและนายไก่นำทองคำแท่งมาทำเป็นหลักประกันกับนายนกถือเป็นสัญญาจำนำและนายนกสามารถบังคับจำนำได้จากทั้งนายแดงและนายไก่

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  กู้เงิน  ข  100,000  บาท  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำ  ต่อมามี  ง  มาเป็นผู้ค้ำเพิ่ม  ก  ผิดนัดชำระหนี้  ข  จึงฟ้องให้  ค  ชำระหนี้  ค ต่อสู้ว่า  เมื่อมีผู้ค้ำมาเพิ่มภายหลัง  ผู้ค้ำคนแรกต้องหลุดพ้น  ดังนี้  ข้ออ้างของ  ค  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง  จากโจทย์ข้างต้น  เมื่อ  ค  โดนบังคับชำระหนี้ไปแล้ว  ค  จะไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง  หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกัน

วินิจฉัย

ในเรื่องการค้ำประกันนั้น  ถ้ามีผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  แม้จะไม่ได้ค้ำประกันร่วมกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  ซึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งหรือจะฟ้องทั้งหมดก็ได้  ดังนั้น  แม้เดิมจะมีผู้ค้ำประกันอยู่ก่อนแล้ว  ต่อมามีผู้ค้ำทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันอีก  การเพิ่มจำนวนผู้ค้ำประกันขึ้น  ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันคนเดิมพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด  (มาตรา 291  ประกอบมาตรา  682  วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  100,000  บาท  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำประกัน  แล้วต่อมามี  ง  มาเป็นผู้ค้ำเพิ่มนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ก  ผิดนั้นชำระหนี้  ข  ดังนี้  ผู้ค้ำประกันคือ  ค  และ  ง  ย่อมต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม  แม้ว่า  ง  จะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเพิ่มในภายหลังก็ตาม  ดังนั้นข้ออ้างของ  ค  ที่ต่อสู้ว่าเมื่อมีผู้ค้ำมาเพิ่มภายหลัง  ผู้ค้ำคนแรกต้องหลุดพ้นจึงฟังไม่ขึ้นตามมาตรา  291 ประกอบมาตรา  682  วรรคสอง  (ฎ. 500/2507)

ส่วนอีกประการหนึ่ง  แม้หนี้รายนี้จะมีผู้ค้ำประกัน  2  คน  เมื่อผู้ค้ำคนหนึ่งได้ชำระหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้ไปแล้ว  ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาจากผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งได้กึ่งหนึ่ง  (ฎ. 359/2509)  โดยใช้หลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ  ดังนั้น  เมื่อ  ค  โดนบังคับชำระหนี้ไปแล้ว  ค  จึงสามารถไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้

สรุป  ข้ออ้างของ  ค  ฟังไม่ขึ้น  และ  ค  สามารถไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้กึ่งหนึ่ง

 

ข้อ  2  แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท  มีเหลือง  เขียว  ขาว  ต่างจำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้  นอกจากนี้เหลืองได้จำนองที่ดินแปลงเดียวกันนี้ประกันหนี้อีกหนึ่งล้านบาทไว้กับน้ำเงิน 

ต่อมาดำใช้สิทธิของตนบังคับจำนองจากที่ดินของเหลืองแปลงเดียว  เพราะราคาหนึ่งล้านบาท  ส่วนของเขียวและขาวราคาแปลงละห้าแสนบาท

ดังนี้  เมื่อน้ำเงินมาปรึกษาท่านเรื่องการใช้สิทธิของตนบังคับชำระหนี้  ท่านจะแนะนำน้ำเงินว่าอย่างไร  และน้ำเงินจะได้รับชำระหนี้บ้างหรือไม่  อย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  734  วรรคสาม  แต่ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งแต่เพียงสิ่งเดียวไซร้  ผู้รับจำนองจะให้ชำระหนี้อันเป็นส่วนของตนทั้งหมดจากทรัพย์สินอันนั้นก็ได้ในกรณีเช่นนั้น  ท่านให้ถือว่าผู้รับจำนองคนถัดไปโดยลำดับย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองคนก่อน  และจะเข้าบังคับจำนองแทนที่คนก่อนก็ได้แต่เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองคนก่อนจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆ  ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  734  วรรคสาม  เป็นเรื่องผู้รับจำนองรายแรกรับจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายเดียวของตน  แต่ต่อมาผู้จำนองเอาทรัพย์สินบางสิ่งไปจำนองซ้ำแก่ผู้รับจำนองรายที่สอง  ถ้าผู้รับจำนองรายแรกบังคับจำนองทรัพย์สินเพียงสิ่งเดียว  และเป็นทรัพย์สินที่มีการจำนองซ้ำ  ทำให้ผู้รับจำนองรายที่สองไม่ได้รับชำระหนี้  กฎหมายกำหนดให้ผู้รับจำนองรายที่สองสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองรายแรกได้  เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองรายแรกจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่แดงเป็นหนี้ดำ  1  ล้านบาท  โดยมีเหลือง  เขียว  และขาว  จำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้  ถือเป็นการที่ดำผู้รับจำนองรายแรกรับจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายเดียวของตน  ดังนั้น  เมื่อเหลืองผู้จำนองคนหนึ่งได้จำนองที่ดินแปลงเดียวกันนี้ประกันหนี้อีก  1  ล้านไว้กับน้ำเงิน  จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินบางสิ่งไปจำนองซ้ำแก่ผู้รับจำนองรายที่สองอีก  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ต่อมาดำได้ใช้สิทธิของตนบังคับจำนองจากที่ดินของเหลืองแปลงเดียวเพราะราคา  1  ล้านบาทพอดี  ซึ่งจะทำให้น้ำเงินผู้รับจำนองรายที่สองไม่ได้รับชำระหนี้จากการบังคับจำนองเอาจากที่ดินของเหลือง

ดังนั้น  น้ำเงินจึงสามารถรับช่วงสิทธิของดำผู้รับจำนองคนก่อนได้  เพียงเท่าที่ดำจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆที่รับจำนอง  นอกจากที่ดินของเหลือง  กล่าวคือ  น้ำเงินสามารถเข้าบังคับจำนองที่ดินของเขียวและขาวได้แปลงละ  2  แสน  5  หมื่นบาทตามมาตรา  734  วรรคสาม

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำน้ำเงินว่าสามารถรับช่วงสิทธิของดำผู้รับจำนองคนก่อนเข้าบังคับจำนองที่ดินของเขียวและขาวได้แปลงละ  2  แสน  5  หมื่นบาท

 

ข้อ  3  นายอากาศกู้เงินนายพายุ  5  ล้านบาท  มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องตามกฎหมาย  นายพายุขอให้นายอากาศหาหลักประกันมามอบให้  นายอากาศจึงขอให้นายลมเอาทองคำแท่งหนัก  20  บาท  ซึ่งนายลมเพิ่งได้รับมรดกมาวางเป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้  นายลมตกลงแต่ไม่ยอมทำหลักฐานใดๆให้กับนายพายุ  โดยเพียงแต่ส่งมอบทองคำแท่ง  20  บาท  นี้ให้กับนายพายุ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายอากาศไม่สามารถชำระหนี้ให้นายพายุได้  นายพายุจึงฟ้องนายอากาศและนายลมพร้อมทั้งขอบังคับจำนำจากทองคำทั้ง  20  บาท  นายลมจึงมาปรึกษาท่านว่าการจำนำรายนี้สมบูรณ์หรือไม่  เพราะตนเองมิได้ทำหลักฐานใดๆให้นายพายุ  และหากมีการบังคับจำนำถ้าได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอใช้หนี้ตนเองจะต้องรับใช้ในส่วนที่ไม่ครบ  5  ล้านบาท  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

การทำสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  กำหนดแต่เพียงว่าต้องมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  มิได้กำหนดให้ต้องมีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างอื่นแต่อย่างใด  ดังนั้น  สัญญาจำนำจึงสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ  (ฎ.  1451/2503)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายลมนำทองคำแท่ง  20  บาท  มาจำนำไว้กับนายพายุเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ให้กับนายอากาศนั้น  แม้จะมิได้มีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  สัญญาจำนำดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  747  เพราะมีการส่งมอบทองคำแท่งให้แก่นายพายุผู้รับจำนำแล้ว

สำหรับการบังคับจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  767  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ  ลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือ

ตามข้อเท็จจริง  การจำนำนี้กฎหมายกำหนดไว้เพียงว่า  บุคคลหนึ่งซึ่งจะเป็นลูกหนี้หรือมิใช่ลูกหนี้ก็ได้  หากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์  ย่อมนำทรัพย์มาเป็นประกันได้  ซึ่งการที่นายลมนำทองคำแท่งมาจำนำนั้น  ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งมิใช่ลูกหนี้นำทรัพย์มาจำนำ  ดังนั้น  นายลมผู้จำนำจึงมิใช่ลูกหนี้ตามมาตรา  767  วรรคสอง  เมื่อการบังคับจำนำได้เงินไม่พอชำระหนี้  นายลมจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ไม่ครบ

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำนายลมว่า  การจำนำรายนี้มีผลสมบูรณ์  และหากมีการบังคับจำนำถ้าได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอใช้หนี้  นายลมไม่ต้องรับใช้ในส่วนที่ไม่ครบ  5  ล้านบาท

LAW 2010 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงเป็นหนี้เขียวมีหลักฐานถูกต้องตามกฎหมาย  แดงได้นำที่ดินจดจำนองเป็นประกันกับเขียว  พร้อมกับมีม่วงเป็นผู้ค้ำประกัน  แต่สัญญาค้ำประกันนั้นเป็นการกระทำระหว่างนายเขียวกับม่วง  โดยแดงไม่รู้เห็นด้วย  และมีการลงลายมือชื่อเพียงนายม่วงคนเดียว  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  แดงชำระหนี้ไม่ได้  เขียวจึงฟ้องขอให้ม่วงชำระ  ม่วงบ่ายเบี่ยงว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญาและมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว  ตนจึงไม่ต้องรับผิด  และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว  ตนจึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด  อยากทราบว่าข้ออ้างของม่วงทั้งหมดรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ม่วงทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของแดงกับเขียว  โดยที่แดงไม่รู้เห็นด้วย  และมีการลงลายมือชื่อเพียงนายม่วงคนเดียวนั้น  สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา  680  วรรคสอง  เพราะสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องให้ลูกหนี้รู้เห็นหรือลงลายมือชื่อด้วยแต่อย่างใด  ดังนั้น  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและปรากฏว่าแดงชำระหนี้ไม่ได้  เขียวย่อมฟ้องเรียกให้ม่วงผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนแดงได้ตามมาตรา  686 ดังนั้น  ข้ออ้างของม่วงที่ว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญา  และมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว  และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว  ตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้นจึงรับฟังไม่ได้

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  แดงได้นำที่ดินไปจดจำนองเป็นประกันกับเขียว  ซึ่งถือเป็นการจำนองที่ถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา  702 และมาตรา  714  จึงถือเป็นกรณีที่เขียวเจ้าหนี้มีทรัพย์ของแดงลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน  ดังนั้น  ม่วงผู้ค้ำประกันจึงสามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งแดงนำมาจำนองไว้เป็นประกันได้ตามมาตรา  690

สรุป  ข้ออ้างของม่วงที่ว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญา  และมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว  และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว  ตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้นรับฟังไม่ได้  แต่ม่วงสามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งนำมาจำนองไว้เป็นประกันได้

 

ข้อ  2  นายกรุงเทพขอนำที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งนายกรุงเทพมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายนคร  จดทะเบียนประกันหนี้รายหนึ่งกับนายลำปางเจ้าหนี้ อยากทราบว่านายกรุงเทพจะจำนองที่ดินนี้ได้หรือไม่  และมีผลประการใด  ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  705  การจำนองทรัพย์สินนั้น  นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว  ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่

มาตรา  706  บุคคลมีกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด  จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  บุคคลที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจำนองได้นั้น  กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย  ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง  หรือเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น  (มาตรา  705)  แต่อย่างไรก็ตามหากบุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  แต่อยู่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด  เช่น  เป็นเจ้าของที่ดินแต่ที่ดินนั้นมีภาระจำยอม  หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น  บุคคลนั้นจะจำนองทรัพย์สินนั้นได้ก็แต่ภายใต้เงื่อนไขเช่นนั้นด้วย  (มาตรา  706)

กรณีตามอุทาหรณ์  นายกรุงเทพจะจำนองที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  และมีผลประการใดนั้น  เห็นว่า  เมื่อนายกรุงเทพเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว  ย่อมสามารถนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับนายลำปางได้ตามมาตรา  705  โดยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  702  และมาตรา  714  และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่านายนครมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายกรุงเทพในที่ดินแปลงนี้ด้วย  ดังนั้น  การจำนองที่ดินแปลงนี้จึงมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายกรุงเทพเท่านั้นตามมาตรา  706

สรุป  นายกรุงเทพจำนองที่ดินแปลงนี้ได้  แต่มีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายกรุงเทพเท่านั้น

 

ข้อ  3  นายปูเป็นหนี้เงินกู้นายปลา  5  ล้านบาท  มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง  นายนกได้นำ  TV  จอแบนราคา  2  ล้านบาท  ซึ่งนำเข้าจากอเมริกามาส่งมอบวางเป็นประกันกับนายปลาแทนนายปู  แต่ไม่ได้จดทะเบียนอะไร  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายปูชำระหนี้ไม่ได้  นายปลาจึงมาปรึกษาท่านว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการบังคับการชำระหนี้จาก  TV  ดังกล่าว  และหากได้เงินไม่พอจะเรียกร้องการชำระหนี้ได้จากใครบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

ส่วนในกรณีผู้จำนำนั้นจะเป็นตัวลูกหนี้เองหรือบุคคลอื่นนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้ก็ได้  เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินมาจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น  แต่ที่สำคัญคือ  ผู้จำนำจะต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การกู้เงินระหว่างนายปูกับนายปลามีหลักฐานการกู้ถูกต้อง  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  (มาตรา  653  วรรคแรก)  และการที่นายนกได้นำ  TV  จอแบนมาส่งมอบวางเป็นประกันการชำระหนี้กับนายปลาแทนนายปูนั้น  ย่อมสามารถทำได้  เพราะแม้นายนกจะเป็นบุคคลภายนอก  แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้จำนำทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นแต่อย่างใด  และเมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว  จึงถือเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์  แม้จะมิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

ดังนั้น  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  และนายปูชำระหนี้ไม่ได้  นายปลาเจ้าหนี้ย่อมสามารถบังคับจำนำกับ  TV  จอแบนของนายนกได้  โดยนายปลาต้องดำเนินการตามมาตรา  764  คือ  ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังนายปูลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น  ถ้านายปูละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  นายปลาชอบที่จะเอา  TV  จอแบนซึ่งจำนำออกขายได้โดยการขายทอดตลาดตามมาตรา  764  และหากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นไม่พอที่จะชำระหนี้ที่นายปูค่างนายปลาอยู่  นายปลาก็สามารถเรียกร้องการชำระหนี้เอาจากนายปูลูกหนี้ในหนี้ส่วนที่เหลือนั้นได้ตามมาตรา  767  วรรคสอง

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายปลาตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงเป็นหนี้ดำ  1  ล้านบาท  แดงนำที่ดินของตน  1  แปลงจำนองเป็นประกัน  หลังจากนั้นแสบได้ค้ำประกันหนี้รายนี้และเขียวได้นำที่ดินของตน  1  แปลงจำนองเป็นประกันด้วย  ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระไม่กี่วัน  ดำปลดจำนองให้แดงและแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ดำเรียกให้แสบชำระหนี้  (ในขณะนั้นที่ดินทั้ง  2  แปลงราคาแปลงละ  5  แสนบาท)  แสบต่อสู้ว่า  ตนไม่ต้องชำระหนี้  เพราะ

(1) ตนต้องเสียหายจากการปลดจำนอง

(2) ตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ทั้ง  2  ประการ  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  และผลจะเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว  ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้  เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่ง  ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา  697  ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี  จำนองก็ดี  จำนำก็ดี  และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(1) ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนต้องเสียหายจากการปลดจำนองฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  ตามกฎหมายนั้นเมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แล้วย่อมสามารถเข้ารับช่วงสิทธิที่เจ้าหนี้มีเหนือลูกหนี้ได้  (มาตรา  693  วรรคสอง)  และถ้าเจ้าหนี้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธินั้นได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น  (มาตรา  697)

ตามข้อเท็จจริง  การที่ดำปลดจำนองที่ดินให้แดงลูกหนี้และแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้วนั่นย่อมทำให้แสบผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในจำนองที่ดำมีต่อแดงได้ทั้งหมด  ดังนั้น  แสบจึงเสียหายจากการปลดจำนองดังกล่าว  และแสบย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้เป็นจำนวน  5  แสนบาท  ตามราคาที่ดินที่แดงนำมาจำนองตามมาตรา  693  วรรคสองและมาตรา  697  ข้อต่อสู้ของแสบจึงฟังขึ้น

(2) ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  690  นั้น  กำหนดไว้ว่า  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกัน  และผู้ค้ำประกันร้องขอ  เจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เขียวมิใช่ลูกหนี้ของดำ  เพียงแต่นำที่ดินของตนมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เท่านั้น  ดังนั้น  แสบจึงไม่สามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนได้  ข้อต่อสู้ของแสบจึงฟังไม่ขึ้น

ดังนั้น  เมื่อดำเรียกให้แสบชำระหนี้  แสบจึงต้องชำระหนี้ในบานะผู้ค้ำประกันจำนวน  5  แสนบาท

สรุป  ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนต้องเสียหายจากการปลดหนี้นั้นฟังขึ้น  ส่วนข้อต่อสู้ที่ว่าตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนนั้นฟังไม่ขึ้น  และแสบจะต้องชำระหนี้ในบานะผู้ค้ำประกันเป็นจำนวน  5  แสนบาท

 

ข้อ  2  นายจันทร์ยืมเงินนายอังคารจำนวน  100,000  บาท  ต่อมามีนายเอ  นายบี  และนายซีนำที่ดินของตนคนละแปลงราคาหนึ่งแสนบาทเท่ากันหมดมาจำนองประกันหนี้รายนี้  ดังนี้  หากต่อมานายซีมาชำระหนี้ให้กับนายอังคารทั้งหมด  ดังนี้นายซีจะได้รับช่วงสิทธิจากนายอังคารเจ้าหนี้หรือไม่  นายเอและนายบีจะต้องทำอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  725  เมื่อบุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องขำระ  และมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้  ท่านว่าผู้จำนองซึ่งได้เป็นผู้ชำระหนี้หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งต้องบังคับจำนองนั้นหามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองอื่นๆต่อไปได้ไม่

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  725  เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองและลูกหนี้มิได้เป็นบุคคลคนเดียวกัน  โดยมีผู้จำนองหลายคนได้จำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันหนี้รายเดียวกัน  และมิได้ระบุลำดับการบังคับจำนองไว้  ซึ่งหากต่อมาผู้จำนองคนใดได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้  ผู้จำนองคนนั้นก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้ได้  แต่จะไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองคนอื่นๆไม่ได้  เพราะการจำนองเป็นเพียงแต่การนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้เท่านั้น  ผู้จำนองซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์มิได้ผูกพันด้วย  จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกันอย่างกรณีของผู้ค้ำประกัน

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอ  นายบี  และนายซี  นำที่ดินของตนคนละแปลงมาจำนองประกันหนี้ระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  และมิได้ระบุลำดับในการบังคับจำนองไว้  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายซีซึ่งเป็นผู้จำนองคนหนึ่งได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้กับนายอังคารเจ้าหนี้แทนนายจันทร์ลูกหนี้  ย่อมทำให้นายซีเข้ารับช่วงสิทธิของนายอังคารเจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยเอากับนายจันทร์ลูกหนี้ได้  แต่จะไปไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองคนอื่นคือ  นายเอและนายบีไม่ได้ตามมาตรา  725

สรุป  นายซีจะได้รับช่วงสิทธิจากนายอังคารเจ้าหนี้  แต่จะไปไล่เบี้ยเอากับนายเอและนายบีไม่ได้

 

ข้อ  3  นาย  ก  ถูกฟ้องคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ได้ว่าจ้างให้นาย  ข  เป็นทนายความฟ้องคดีแก้ต่าง  โดยตกลงให้ค่าจ้าง  100,000  บาท  โดยมีนาย  ค  มอบนาฬิกาจำนำไว้เป็นประกันหนี้ค่าจ้างว่าความไว้  การว่าจ้างและการจำนำมิได้ทำเป็นหนังสือเพราะต่างก็ไว้ใจกัน  ต่อเมื่อเสร็จคดี  นาย  ข  ได้มีหนังสือให้นาย  ก  และนาย  ค  ชำระค่าจ้าง  แต่คนทั้ง  2  มิได้ชำระ  นาย  ข  จึงนำนาฬิกาที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้เงิน  600,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นาย  ข  จะฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  40,000  บาท  จากนาย  ก  และนาย  ค ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมายสัญญาจำนำนั้น  เป็นสัญญาระหว่างผู้จำนำตกลงกับเจ้าหนี้  โดยส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้  ซึ่งผู้จำนำจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้  แต่บุคคลผู้เข้าทำสัญญาจำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น  และสัญญาจำนำนั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ  ดังนั้นสัญญาจำนำเพียงแต่ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำก็เป็นสัญญาที่สมบูรณ์แล้ว  (มาตรา 747)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ค  มอบนาฬิกาไว้ให้นาย  ข  เพื่อเป็นประกันหนี้ค่าจ้างว่าความนั้น  แม้นาย  ค  จะมิใช่ลูกหนี้  แต่เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำแล้ว  ย่อมเป็นสัญญาจำนำที่สมบูรณ์ตามมาตรา  747  แม้การจำนำจะมิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม

และสำหรับการบังคับจำนำนั้นตามบทบัญญัติมาตรา   767  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ  ลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดนั้น

ตามข้อเท็จจริง  มูลหนี้จำนำคือการว่าจ้างว่าความอันเป็นสัญญาจ้างทำของ  ซึ่งแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ดังนั้น  เมื่อนาย  ข  เจ้าหนี้นำนาฬิกาที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้เงิน  60,000  บาท  ซึ่งยังขาดอยู่อีก  40,000  บาท  นาย  ข  ย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความในส่วนที่ยังขาดอยู่อีก  40,000  บาทนี้จากนาย  ก  ลูกหนี้ได้ตามมาตรา  767  วรรคสอง

ส่วนกรณีของนาย  ค  นั้น  นาย  ข  จะฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่อีกไม่ได้  เพราะนาย  ค  ไม่ใช่ลูกหนี้  เป็นเพียงแต่ผู้เอาทรัพย์สินจำนำไว้เป็นประกันหนี้เท่านั้น  ซึ่งเมื่อมีการบังคับจำนำแล้วการจำนำย่อมระงับสิ้นไป  (ฎ. 200/2496)

สรุป  นาย  ข  ฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  40,000  บาท  จากนาย  ก  ได้  แต่จะฟ้องเรียกจากนาย  ค  ไม่ได้

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท แดงได้นำที่ดินของตนหนึ่งแปลงจำนองไว้ หลังจากนั้นแสดได้ค้ำประกัน

และต่อมาอีกไมนานแดงได้จำนองที่ดินของตนอีกหนึ่งแปลงประกันหนี้รายนี้

ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำปลดจำนองให้แดง และแดงได้จดทะเบียนการปลดฯ แล้ว เมื่อหนี้ ถึงกำหนดชำระแดงผิดนัด ดำจึงเรียกให้แสดชำระหนี้ (ขณะนั้นที่ดินราคาแปลงละห้าแสนบาท) แสดต่อสู้ว่าตนหลุดพ้นไม่ต้องชำระหนี้

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และความรับผิดของแสดจะเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงิน กับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชำระหนี้ให้แกเจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่างใดย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิจำนอง หรือจำนำ หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แกเจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหาย เพราะการกระทำของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดำ 1,000,000 บาท และได้นำที่ดิน 2 แปลง ๆ ละ 500,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้โดยมีแสดเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำได้ปลดจำนอง ที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แดงและแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว

ดังนี้การกระทำของดำเจ้าหนี้เป็นเหตุให้ แสดผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินของลูกหนี้ และจะทำให้แสด ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้หรือไม่ แยกพิจารณาด้ดังนี้ คือ

ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ก่อนทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น เมื่อดำเจ้าหนี้ปลดจำนองให้แดงลูกหนี้ แสดผู้ค้ำประกันย่อมสามารถต่อสู้ได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตน ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิชองเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้และทำให้ตนได้รับความเสียหาย ดังนั้น ตนจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้จำนวน 500,000 บาทได้ตมมาตรา 693 และ 697

ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ภายหลังการทำสัญญาค้ำประกันแล้ว ดังนั้นการที่ดำเจ้าหนี้ได้ปลดจำนองที่ดินแปลงนี้ให้แดง แสดผู้ค้ำประกันย่อมไมสามารถที่จะต่อสู้ได้ว่า การกระทำของดำเป็นเหตุให้ตนไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 697 ดังนั้น แสดผู้ค้ำประกันจึงยังคงด้องรับผิดในการชำระหนี้ให้แกดำจำนวน 500,000 บาท

สรุป ข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นเฉพาะกรณีที่ดินแปลงที่ 1 ส่วนกรณีที่ดินแปลงที่ 2 นั้นฟังไม่ขึ้น และแสดจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ดำ 500,000 บาท

 

ข้อ 2. นาย ก. กู้เงินนาย ข. เป็นจำนวน 100,000 บาท ต่อมามีนายควายนำที่ดินราคา 50,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2552 และนายวัวนำที่ดินราคา 30,000 บาท มาประกันหนี้รายนี้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552

ในการนี้ นายวัวและนายควายตกลงกับนาย ข. เจ้าหนี้ว่า หากต้องการจะบังคับจำนองให้บังคับเอากับที่ดินของนายวัวก่อน ต่อมานาย ข. เจ้าหนี้ ได้ประทับใจในความดีของนายควาย จึงปลดจำนองให้นายควาย ดังนี้ การปลดจำนองนายควาย มีผลดีกับนายวัวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สิน ตราไว้แกบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 710 “ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้

และในการนี้คูสัญญาจะตกลงกันดังต่อไปนี้ก็ได้ คือว่า

(1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังดับเอาแกทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้

มาตรา 726 “เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่ง รายเดียวกันอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับไว้ด้วยไซร้ ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก ผู้จำนองคนหนึ่งนั้นยอมทำให้ผู้จำนองคนหลัง ๆ ได้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การจำนองของนายวัวและนายควายเป็นการจำนองทรัพย์สินของตน เพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืมซึ่งนาย ก. บุคคลอื่นจะต้องชำระ ย่อมทำได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 709 ซึ่งหนี้ รายเดียวกันนี้เองก็สามารถจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ได้ตามมาตรา 710 วรรคแรก

เมื่อได้มีการระบุลำดับตามข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองไว้ด้วยว่าให้นายวัวต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองก่อนตามมาตรา 710 วรรคสอง (1) จึงต้องเป็นไปตามนั้น

สำหรับในเรื่องการปลดหนี้จำนองนั้น หลักกฎหมายตามมาตรา 726 กำหนดให้ผู้รับจำนอง หลุดพ้นจากความรับผิดได้หากเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1.             มีผู้จำนองหลายคนจำนองประกันหนี้รายเดียว

2.             มีการระบุลำดับการบังคับจำนองไว้ตามมาตรา 710 วรรคสอง (1)

3.             ผู้รับจำนองปลดจำนองรายหนึ่งรายใดในลำดับทอน

4.             ผู้จำนองลำดับถัดไปเสียหายจากการปลดจำนอง

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่านาย ข. เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แกนายควายซึ่งจะต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองในลำดับหลังสุด การปลดจำนองดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ แกนายวัว เพราะถึงอย่างไรก็ตาม นายวัวก็ต้องถูกบังคับจำนองในลำดับแรกอยู่ดี ดังนั้นนายวัวยังคงต้องรับผิดในหนี้จำนองจำนวน 50,000 บาท กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 726

สรุป การปลดจำนองให้แกนายควายไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับนายวัวผู้ถูกบังคับจำนองคนก่อน

 

ข้อ 3. ก. กู้เงิน ข. 1 แสนบาทโดยนำรถยนต์มาจำนำเป็นประกันหนี้และมีข้อสัญญากันว่า ถ้าค้างดอกเบี้ย หรือเงินต้น ข. เอารถยนต์ที่จำนำให้คนเช่าขับเป็นแท็กซี่ได้ ดังนี้ เมื่อได้ค่าเช่ามาแล้ว ข. จะจัดสรร ชำระค่าอะไรก่อนหลัง กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง ถ้า ก. กู้เงิน ข. แล้วนำแม่โคพ่อโคไปจำนำไว้โดยไม่ทราบว่า แม่โคนั้นมีลูกติดท้อง ไปด้วย แม่โคตกลูกออกมา พอดีกับ ก. ค้างดอกเบี้ยกับ ข. ข. จึงนำลูกโคไปขาย นำเงินมาชำระ ค่าดอกเบี้ยและเงินต้น ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)           ข. มีอำนาจที่จะนำลูกโคไปขายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)           ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง จะติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 761 “ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้น อย่างไร ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้จึงดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

วินิจฉัย

มาตรา 761 ได้วางหลักไว้ว่า หากทรัพย์สินที่จำนำมีดอกผลนิตินัย (เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือเงินปันผล) เกิดขึ้นให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแกตน และถ้าไมมีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้ที่ได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น เว้นแต่ในสัญญาจำนำจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ถ้ามีการตกลงกันว่าให้ดอกผลนิตินัยเป็นของผู้จำนำ ดังนี้ ก็ต้องเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้

ตามอุทาหรณ์ กรณีแรก การที่ ก. กู้เงิน ข. 1 แสนาทโดยนำรถยนต์มาจำนำไว้เป็นประกันหนี้นั้นและมีข้อสัญญาว่า ถ้า ก. ค้างดอกเบี้ยหรือเงินต้น ข. สามารถเอรถยนต์ที่จำนำให้คนเช่าขับเป็นแท็กซี่ได้ ดังนี้เมื่อ ข. นำรถยนต์ที่จำนำให้เช่าและได้ค่าเช่ามา ค่าเช่านั้นถือเป็นดอกผลนิตินัย

และเมื่อมิได้มีการ ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนำ ข. จึงต้องนำค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยนั้น จัดสรรชำระค่าดอกเบี้ยที่ ก. ค้างชำระแก ข. ก่อน ถ้ายังมีเงินเหลือหรือในกรณีที่ไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้นำไปจัดสรรชำระเงินต้น ตามมาตรา 761

สำหรับกรณีหลัง การที่ ก. กู้เงิน ข. แล้วนำแม่โคพ่อโคไปจำนำไว้ ต่อมาแม่โคตกลูกออกมา ดังนี้ลูกโคถือว่าเป็นดอกผลธรรมดา และย่อมตกเป็นของผู้จำนำคือ ก. ซึ่งเป็นเจ้าของแม่โค และแม้ข้อเท็จจริง จะปรากฏว่า ก. ค้างดอกเบี้ย ข. อยู่ ข. ก็จะนำลูกโคไปขายเพื่อนำเงินมาชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ได้

เพราะตามมาตรา 761 สิทธิของผู้รับจำนำนอกจากจะครอบตัวทรัพย์ที่จำนำและครอบถึงดอกผลด้วยนั้น ก็จะครอบเฉพาะดอกผลนิตินัยเท่านั้นไม่ครอบถึงดอกผลธรรมดาด้วย ดังนั้น ก. ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงของลูกโค ย่อมสามารถติดตามเอาลูกโคคืนได้ตามมาตรา 1336

สรุป กรณีแรก ข. จะต้องนำค่าเช่าจัดสรรชำระค่าดอกเบี้ยที่ ก. ค้างชำระก่อน ถ้ามีเงินเหลือ หรือไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้นำไปจัดสรรชำระเงินต้น

กรณีหลัง (1) ข. ไมมีอำนาจนำลูกโคไปขาย

(2) ก. เป็นเจ้าของที่แท้จริงของลูกโค และสามารถติดตามเอาลูกโคคืนได้

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิขา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงกู้เงินเขียว 500,000 บาท มีหลักฐานถูกต้อง แดงได้นำโฉนดที่ดินของตนราคา 300,000 บาท มามอบไว้กับเขียวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และได้ขอให้เหลืองนำที่ดินของเหลืองมาจำนองกับเขียวโดยเขียวและเหลืองได้ไปจดทะเบียนกันถูกต้อง

ขณะเดียวกันม่วงได้ตกลงกับเขียวยอมเป็น ผู้ค้ำประกันในหนี้ที่แดงกู้เงินเขียว โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ลงลายมือชื่อเพียงม่วง คนเดียว

อยากทราบว่า หากแดงชำระหนี้ไม่ได้ ม่วงจะต่อสู้ว่าตนมิได้ทำหลักฐานที่มีเขียวลงลายมือชื่อด้วยสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ บังคับไม่ได้ และหากจะบังคับก็ขอให้บังคับจากที่ดินทั้ง 2 แปลงก่อน ข้ออ้างของม่วงรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ 

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

มาตรา 709 บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้

มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานในการ ฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686 และในส่วนของผู้ค้ำประกันอาจจะบ่ายเบี่ยงขอให้เจ้าหนี้ บังคับเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ตามมาตรา 690

คือ เมื่อเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกัน และการประกันนั้น ได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ในกรณีทรัพย์ที่ยึดถือเป็นประกันไว้เป็นที่ดิน (กรณีจำนอง) ก็จะต้องมีการ ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงตกลงกับเขียวยอมเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ที่แดงกู้เงินเขียว โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเพียงม่วงคนเดียวนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเพียงคนเดียวก็ สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น หากปรากฏว่าแดงชำระหนี้ไม่ได้

เขียวเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียก ให้ม่วงผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 ข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่าตนมิได้ทำหลักฐานที่มีเขียวลงลายมือชื่อด้วย สัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้นั้น ข้ออ้างของม่วงกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

และข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่า หากเขียวจะบังคับก็ขอให้บังคับจากที่ดินทั้ง 2 แปลงก่อนนั้น ข้ออ้างของม่วงกรณีนี้ก็รับฟังไม่ได้เข่นกัน เพราะเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงแรกที่แดงได้นำโฉนดที่ดิน มามอบไว้กับเขียวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้นั้น ถึงแม้จะเป็นทรัพย์สินของแดงลูกหนี้ แต่เมื่อปรากฏว่า แดงเพียงแต่นำโฉนดที่ดินมามอบไว้ มิได้มีการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามกฎหมาย (มาตรา 714)

สัญญาจำนองจึงไม่เกิดขึ้น และถือว่าเขียวเจ้าหนี้มิได้มีทรัพย์ของแดงลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันแต่อย่างใด ม่วงผู้ค้ำประกันจึงไม่สามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวบังคับเอาจากที่ดินแปลงนี้ก่อนได้ตามมาตรา 690

ส่วนที่ดินแปลงที่สองที่เหลืองนำมาจำนองไว้กับเขียว เพื่อเป็นประกับการชำระหนี้ระหว่างแดง กับเขียวนั้น ถึงแม้จะมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย และสัญญาจำนองเกิดขึ้นแล้ว ตามมาตรา 702709 และ 714

แต่เมื่อปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ของแดงลูกหนี้ ดังนั้นม่วงผู้ค้ำประกัน จึงไม่สามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวบังคับเอาจากที่ดินแปลงนี้ก่อนได้เช่นกัน เพราะการที่ผู้ค้ำประกันจะบ่ายเบี่ยง ให้เจ้าหนี้บังคับเอากับทรัพย์ที่เป็นประกันก่อนนั้น จะต้องปรากฏว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของลูกหนี้เท่านั้น ตามมาตรา 690

สรุป ข้ออ้างของม่วงทั้งสองกรณีรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2. กรุงเทพกู้เงินต่างจังหวัด 20 ล้านบาท มีหลักฐานถูกต้อง ขณะเดียวกันได้นำที่ดินในจังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 200 ไร่ ราคา 20 ล้านบาท มาจดทะเบียนจำนอง

หลังจากนั้น กรุงเทพต้องการเงินไปลงทุนอีก จึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้อีก 10 ล้านบาท กับนายตำบล ปรากฏว่าหนี้ของตำบลถึงกำหนดชำระก่อน อยากทราบว่าในกรณีการจำนองในครั้งที่ 2 กระทำ ได้หรือไม่ และนายตำบลจะบังคับการชำระหนี้ให้ครบจำนวนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลัก กฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 712 “แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

มาตรา 714 “อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

มาตรา 730 “เมื่อทรัพย์สินอันหนึ่งอันเดียวได้จำนองแก่ผู้รับจำนองหลายคนด้วยกัน ท่าน ให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันและเวลาจดทะเบียน และผู้รับจำนองคนก่อนจักได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

มาตรา 731 “อันผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่

มาตรา 732 “ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง 

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนองนั้นตามมาตรา 712 ได้บัญญัติไว้ว่า แม้เจ้าของทรัพย์สินจะได้นำทรัพย์สิน ไปจำนองไว้กับบุคคลหนึ่งแล้ว เจ้าของทรัพย์สินก็มีสิทธินำทรัพย์สินนั้นไปจำนองกับบุคคลอื่นอีกได้ แม้จะมีข้อสัญญาห้ามไม่ให้นำทรัพย์สินไปจำนองอีกก็ตาม

แต่การบังคับจำนองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 730 – 732 คือ ผู้รับจำนองคนก่อนย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง โดยถือเอาวันและเวลา จดทะเบียนจำนองก่อนหลังเป็นเกณฑ์ และผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับจำนองให้เสียหายแก่ผู้รับจำนอง คนก่อนไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กรุงเทพกู้เงินต่างจังหวัด และได้นำที่ดินในจังหวัดภูเก็ตมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้นั้น สัญญาจำนองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 และการที่กรุงเทพต้องการเงินไปลงทุนอีก

จึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้กับนายตำบลอีกนั้น กรุงเทพก็สามารถกระทำได้ตามมาตรา 712 และสัญญาจำนองมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 702 และมาตรา 714

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นกรณีที่มีผู้รับจำนองหลายราย (จำนองซ้อน) ตามมาตรา 712 การบังคับจำนองจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 730 – 732 คือ ต่างจังหวัดผู้รับจำนองรายแรกมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ก่อนนายตำบลผู้รับจำนองรายหลัง และนายตำบลจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ต่างจังหวัดไม่ได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนี้ของนายตำบลถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ของต่างจังหวัด

ดังนี้ นายตำบลย่อมไม่สามารถบังคับการชำระหนี้เอาจากที่ดินของกรุงเทพที่นำมาจำนองไว้กับตนได้ เพราะจะทำให้ต่างจังหวัดเสียหาย เนื่องจากที่ดินของกรุงเทพมีราคา 20 ล้านบาท และหนี้ระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัดก็มีจำนวน 20 ล้านบาท เข่นเดียวกัน

สรุป กรณีการจำนองในครั้งที่ 2 ของกรุงเทพสามารถกระทำได้ และนายตำบลจะบังคับ ชำระหนี้ให้ครบจำนวนไม่ได้ เพราะจะทำให้ต่างจังหวัดผู้รับจำนองคนแรกเสียหาย 

 

ข้อ 3. มะลิรับสร้อยคอทองคำเป็นการจำนำเงินกู้ที่ดาวเรืองกู้เงินไปจากตน 200,000 บาท โดยมิได้มีหลักฐานแต่อย่างใด เมื่อมะลิได้รับสร้อยคอมาแล้วรู้สึกชอบ อยากได้เป็นเจ้าของ จึงขอทำสัญญาเป็นหนังสือกับดาวเรืองว่า หากดาวเรืองชำระหนี้เงินกู้ 200,000 บาท ไม่ได้ ขอให้สร้อยคอตกเป็นของมะลิทันที อยากทราบว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการขำระหนี้

มาตรา 756 “การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใด อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนำ หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่น นอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้น ท่านว่าไม่สมบูรณ์

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

และถ้ามีการตกลงกันเสียก่อนเวลาที่หนี้จะถึงกำหนดชำระว่า ถ้าลูกหนี้หรือผู้จำนำไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากตามบทบัญญัติ ทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 756 แต่ถ้าตกลงกันหลังจากหนี้ ถึงกำหนดชำระแล้วข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดาวเรืองนำสร้อยคอทองคำมาวางเป็นประกันการชำระหนี้ให้กับมะลินั้น เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว จึงถือว่าเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา 747 และมีผลสมบูรณ์ แม้จะมิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

ดังนั้น การที่มะลิขอทำสัญญาเป็นหนังสือกับดาวเรืองว่า หากดาวเรืองชำระหนี้เงินกู้ 200,000 บาท ไม่ได้ ขอให้สร้อยคอตกเป็นของมะลิทันที จึงถือเป็นกรณีที่ผู้รับจำนำกับผู้จำนำตกลงกันไว้ เสียก่อนเวลาที่หนี้จะถึงกำหนดชำระว่า ถ้าผู้จำนำไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ

ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 756 แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะทำเป็นหนังสือก็ตาม

สรุป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 756

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายกรุงเทพกู้เงินนายต่างจังหวัด 5 ล้านบาท พร้อมหลักฐานการกู้ถูกต้อง ขณะเดียวกันนายตำบล ได้นำที่แปลงหนึ่งราคา 3 ล้านบาท ซึ่งเช่าซื้อจากนายอำเภอ แต่ยังชำระค่าเข่างวดไม่ครบ มาเพื่อจะจำนองเป็นหลักประกันในหนี้รายนี้

นอกจากนั้นนายเทศบาลก็ได้เสนอจะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้โดยตกลงกับนายกรุงเทพว่าหากนายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือแต่ลงลายมือชื่อนายเทศบาลเท่านั้น อยากทราบว่า

ก. นายตำบลจะนำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ข. สัญญาค้ำประกันของนายเทศบาลถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกันหรือไม่เพราะเหตุใด

จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกับนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 681 วรรคแรก อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 705 “การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ 

วินิจฉัย

ก. ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 705 กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า การที่ผู้จำนองจะนำทรัพย์สินไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้นั้น บุคคลผู้ที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจดทะเบียนจำนอง ได้นั้น จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย บุคคลใดถ้าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินนั้นในขณะจำนอง จะจำนองทรัพย์สินนั้นหาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตำบลได้เช่าซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายอำเภอแต่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบทุกงวด ดังนี้ถือว่านายตำบลยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ที่ดินแปลงนั้นยังคงเป็นของนายอำเภอ เมื่อนายตำบลยังมิได้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น นายตำบลจึงไม่มิสิทธินำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนอง เพื่อเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้

ข. ตามมาตรา 680 วรรคแรก การค้ำประกันนั้น จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่า หากลูกหนี้ไม่ทำการชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้หนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายกรุงเทพกับนายต่างจังหวัดจะเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ และสามารถทำสัญญาค้ำประกันได้ตามมาตรา 681 วรรคแรก แต่การที่นายเทศบาลได้ตกลงกับนายกรุงเทพว่าหาก นายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชำระหนี้แทนนั้น เป็นการตกลงกันระหว่างนายเทศบาลบุคคลภายนอก กับนายกรุงเทพซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 680 วรรคแรก ดังนั้นสัญญาค้ำประกัน ของนายเทศบาลจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกัน

สรุป ก. นายตำบลจะนำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ไม่ได้

ข. สัญญาค้ำประกันของนายเทศบาลไม่ถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกัน

 

ข้อ 2. นายเรืองกู้เงินนายสว่าง 5 ล้านบาท โดยมีหลักฐานถูกต้องและได้นำที่ดิน 100 ตารางวา ของนายเรือง ซึ่งซื้อพร้อมกับนายมืดโดยได้มีการชำระหนี้กันคนละ 50 ตารางวา มาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันในหนี้เงินกู้รายนี้

อยากทราบว่า นายเรืองจะทำการจำนองได้หรือไม่ และมีหลักกฎหมาย ในเรื่องนี้อย่างไร อธิบายให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 705 “การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ 

มาตรา 706 “บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น

มาตรา 714 “อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจำนองได้นั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง หรือเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น (มาตรา 705) แต่อย่างไรก็ตามหากบุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่อยู่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด เข่น เป็นเจ้าของที่ดินแต่ที่ดินนั้นมีภาระจำยอม หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น บุคคลนั้นจะจำนองทรัพย์สินนั้นได้ก็แต่ภายใต้บังคับเงื่อนไขเช่นนั้นด้วย (มาตรา 706)

กรณีตามอุทาหรณ์ นายเรืองจะทำการจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายเรือง ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมกับนายมืดโดยได้มีการชำระหนี้กันคนละ 50 ตารางวา นายเรืองจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว และสามารถนำที่ดินแปลงนั้นมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับนายสว่างได้ตาม มาตรา 705 โดยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 และเมื่อ ปรากฏว่า นายเรืองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับนายมืด โดยมีกรรมสิทธิ์คนละ 50 ตารางวา ดังนั้น เมื่อนายเรืองได้จำนองทีดินแปลงดังกล่าว การจำนองที่ดินก็จะมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายเรือง 50 ตารางวา เท่านั้นตามมาตรา 706

สรุป นายเรืองสามารถที่จะทำการจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้ แต่การจำนองจะมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายเรือง 50 ตารางวาเท่านั้น

 

ข้อ 3. นางออยกู้เงินนางชิง 2 ล้านบาท พร้อมกับทำหลักฐานถูกต้อง แต่นางชิงขอให้นางออยหาหลักประกันมาให้ด้วย นางออยจึงนำแหวนเพชร ราคา 1.5 ล้าน มามอบให้เป็นหลักประกัน 

แต่มิได้มีการทำหลักฐาน ใด ๆ เมื่อหนี้ถึงกำหนดนางออยชำระหนี้ไม่ได้ นางชิงจึงจดหมายบอกให้ชำระหนี้ในกำหนดเวลา ในคำบอกกล่าว มิฉะนั้นจะทำการขายทอดตลาด

นางออยอ้างว่า บางชิงไม่มีสิทธิบังคับขายทอดตลาด เพราะเป็นการส่งมอบแหวนให้โดยไม่มีการทำหลักฐาน จึงยังไม่ใช่สัญญาจำนำ อยากทราบว่า ข้ออ้างของนางออยรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย’’

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางออยกู้เงินนางชิง และได้นำแหวนเพชรมามอบให้แก่นางชิงไว้เป็นหลักประกันนั้น แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานใดๆ ไว้ แต่ตามกฎหมายถือว่าเมื่อได้มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดสัญญาจำนำถูกต้องและมีผลบังคับกันได้ตามมาตรา 747

และเมื่อหนี้ถึงกำหนดนางออยลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ นางชิงผู้รับจำนำย่อมมีสิทธิบังคับจำนำได้โดยการบอกกล่าวเป็นหนังสือ ไปยังนางออยลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำสามารถนำทรัพย์สิน ที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764 ดังนั้น ข้ออ้างของนางออยที่ว่านางชิงไม่มีสิทธิบังคับขายทอดตลาดนั้น จึงรับฟ้งไม่ได้

สรุป ข้ออ้างของนางออยรับฟังไม่ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น 

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิขา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท เหลืองได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนึ่งแปลง ต่อมาน้ำเงินเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน และหลังจากนั้นแดงได้จำนองที่ดินของตนหนึ่งแปลงเป็นประกันหนี้รายนี้ ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำปลดจำนองให้เหลืองและแดง โดยทั้งสองคนได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว

ครั้นหนี้ถึงกำหนดชำระ แดงผิดนัด ดำจึงเรียกให้น้ำเงินชำระหนี้ ในขณะนั้นที่ดินของเหลืองและแดงราคาแปลงละห้าแลนบาท น้ำเงินได้ทราบเรื่องดังกล่าว จึงปฎิเสธไม่ชำระหนี้ให้ โดยอ้างว่า ตนหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการกระทำของดำ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของน้ำเงินฟังขึ้นหรือไม่ และยังต้องรับผิดชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิจำนอง หรือจำนำ หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหาย เพราะการกระทำของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดำ 1,000,000 บาท เหลืองและแดงได้นำที่ดินของตน ซึ่งมีราคาแปลงละ 500,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้โดยมีน้ำเงินเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาก่อนหนี้ถึง กำหนดชำระ ดำได้ปลดจำนองที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่เหลืองและแดงโดยทั้งสองคนได้จดทะเบียนปลดจำนองแล้ว

ดังนี้การกระทำของดำเจ้าหนี้เป็นเหตุให้น้ำเงินผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินของเหลืองและแดงลูกหนี้ และจะทำให้น้ำเงินผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินของเหลืองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ เมื่อดำ เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แก่เหลือง น้ำเงินผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตน ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะกรณีที่น้ำเงินจะต่อสู้กับเจ้าหนี้ ตามมาตรา 697 ได้นั้นที่ดินที่นำมาจำนองไว้ต้องเป็นที่ดินของลูกหนี้เท่านั้น มิใช่ที่ดินของบุคคลอื่น

เพราะการที่ผู้ค้ำประกันจะรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามมาตรา 693 วรรคสองนั้นต้องเป็นสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ หรือเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนั้น น้ำเงินยังคงต้องรับผิดในการขำระหนี้ให้แก่ดำ จะอ้างว่าตนหลุดพ้นจาก ความรับผิดกรณีนี้ไม่ได้

ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ภายหลังการทำสัญญา ค้ำประกันแล้ว ดังนั้นการที่ดำเจ้าหนี้ได้ปลดจำนองที่ดินแปลงนี้ให้แดง น้ำเงินผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตนไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไนการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 697 ดังนั้น น้ำเงินผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ไห้แก่ดำ

สรุป ข้ออ้างของน้ำเงินฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี น้ำเงินยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ให้แก่ดำ เป็นจำนวนเงิน 1,000,000บาท

 

ข้อ 2. นายอูกู้เงินนางอี เป็นเงินจำนวน 500,000 บาทโดยไม่ได้ทำเป็นหนังลือ โดยวันที่ 1 มกราคม 2555 มีนายหมู ได้นำนาของตนพร้อมบ้านพ่อที่สร้างอยู่บนที่ดังกล่าวราคา 300,000 บาทมาจำนอง

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกันมีนายป่าได้นำสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนราคารวมกัน 200,000 บาทมาจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้เช่นกัน

ดังนี้ หากนายป่าเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวมา ปรึกษาท่านว่า เขามีสิทธิในการนำทรัพย์อย่างใดไปขายโดยปลอดจำนองได้บ้างหรือไม่ จงให้คำปรึกษา นายป่าตามที่ได้เรียนมา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตรา ไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 710 วรรคแรก ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกัน การชำระหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้

มาตรา 716 “จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา 718 “จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้

มาตรา 720 “จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดิบหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอูกู้เงินนางอีเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทแม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่การที่นายหมูและนายป่าได้นำนาและสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนมาจำนองเพื่อประกันหนี้รายนี้ย่อมสามารถทำได้ตามมาตรา 702709 และมาตรา 710 วรรคแรก

และเมื่อมีการจำนองถูกต้องตามกฎหมายแล้วตามมาตรา 716 ได้บัญญัติว่า จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง กล่าวคือเมื่อมีการนำทรัพย์หลายสิ่งมาจำนองเป็นประกันหนี้ ไม่ว่าทรัพย์เหล่านั้นจะเป็นของบุคคลคนเดียวหรือของบุคคลหลายคนก็ตาม

ทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องเป็นประกัน การชำระหนี้อยู่จนกว่าลูกหนี้จะได้ชำระหนี้เสร็จสิ้น แม้ต่อมาภายหลังลูกหนี้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน และทรัพย์สินที่จำนองบางสิ่งก็เป็นการเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งจำนวน ลูกหนี้ก็ยังคงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอถอนทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไปให้หลุดพ้นจากการจำนองได้ และนอกจากนั้นมาตรา 718 ยังได้บัญญัติว่าจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง

เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 720

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายหมูได้นำนาของตนพร้อมบ้านพ่อที่สร้างอยู่บน ที่ดินดังกล่าวมาจำนอง ดังนี้จำนองย่อมไม่ครอบไปถึงบ้านพ่อที่สร้างอยู่บนที่ดินที่จำนองตามมาตรา 720 แต่การที่นายป่านำสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนมาจำนองนั้น

จำนองย่อมครอบไปถึงสวนเงาะและเรือนไทยทั้งหมด ตามมาตรา 716 และมาตรา 718

และถ้าตราบใดที่ลูกหนี้ยังชำระหนี้ไม่เสร็จสิ้น ผู้จำนองไมมีสิทธินำทรัพย์สินที่จำนองไปขาย โดยปลอดจากจำนองได้เลย เพราะถ้ามีการโอนทรัพย์สินที่จำนอง ทรัพย์สินนั้นย่อมมีจำนองติดไปด้วยเสมอ ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ นายป่าซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนองคือสวนเงาะและเรือนไทย

จะนำทรัพย์สินที่จำนองอย่างใดอย่างหนึ่งไปขายโดยปลอดจำนองไม่ได้เลย

สรุป หากนายป่ามาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายป่าตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. ก. เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์จาก ข. ในขณะที่ ก. ยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่หมด ก. ได้นำเครื่องรับโทรทัศน์ดังกล่าวไปจำนำไว้กับ ค. อย่างหนึ่ง กับนำไปจำนำไว้กับโรงรับจำนำอีกอย่างหนึ่ง เป็นเงิน 5,000 บาท ทั้งนี้ ทั้ง ค. และโรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริต

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ข. มีสิทธิฟ้องเรียกเครื่องรับโทรทัศน์คืนได้หรือไม่ และจะต้องเสียค่าไถ่หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา 757 “บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ 13 นี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่สัญญาจำนำที่ทำกับผู้ตั้งโรงรับจำนำโดยอนุญาตรัฐบาลแต่เพียงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับว่าด้วยโรงจำนำ

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแท่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิ จะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

วินิจฉัย

กรณีจำนำไว้กับ ค.

ก. เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไปจำนำไว้กับ ค. กรรมสิทธิ์ในเครื่องรับโทรทัศน์ยังเป็นของ ข. อยู่ ก. ไมใช่เจ้าของที่แท้จริงจึงไม่มีสิทธิที่จะเอาเครื่องรับโทรทัศน์ ไปจำนำตามมาตรา 747 ดังนั้นในฐานะเจ้าของ ข. จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา 1336 ข. จึงฟ้อง เรียกเครื่องรับโทรทัศน์คืนจาก ค. ได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ

การที่ ก. เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไป จำนำไว้กับโรงรับจำนำฯ นั้น แม้ ก. จะไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์ที่นำมาจำนำ ตามมาตรา 747 แต่โรงรับจำนำ ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 และมาตรา 757 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ อีก

ทั้งตามปัญหา โรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริตโรงรับจำนำจึงไม่ต้องคืนทรัพย์แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะเสียค่าไถ่ถอน

ดังนี้ ข. จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา 1336 โดย ข. ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำ

สรุป ข.มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเครื่องรับโทรทัศน์ได้ตามมาตรา 1336โดย

1.             กรณีจำนำไว้กับ ค. นั้น ข. ไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

2.             กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ ข. ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำ

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายฝนกู้เงินนายเมฆ 5 ล้านบาท มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องตามกฎหมาย นายเมฆขอให้นายฝน หาผู้มาค้ำประกัน นายฝนจึงขอให้นายฟ้าและนายดินช่วยเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งทั้งนายฟ้าและนายดิน ไต้ตกลงกับนายเมฆ

โดยนายฟ้าจะขอจำกัดจำนวนค้ำประกันเพียง 2 ล้านบาท ส่วนนายดินไม่จำกัด จำนวนการค้ำประกัน โดยทั้งคู่ได้มีการลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันมอบให้นายเมฆ แต่นายฝนมิได้ลงลายมือชื่อ

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายฝนชำระเงินไม่ได้ นายเมฆจึงเรียกให้นายฟ้าและนายดินชำระหนี้แทนตามสัญญา ปรากฏว่านายฟ้ายอมชำระเงิน 2 ล้านบาท ส่วนนายดินไม่ยอมชำระเนื่องจากอ้างว่า นายฝนมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน นายฝนได้อ้างว่าเมื่อมีผู้ค้ำประกันแล้วตนไม่ต้อง ชำระหนี้อีกต่อไป

อยากทราบว่า ข้ออ้างของนายฝนและนายดินรับฟ้งได้หรือไม และเงินส่วนที่เหลือนายเมฆจะเรียกจากใครได้บ้าง จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 683 “อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้น ย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย

มาตรา 685 “ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ ในส่วนที่เหลือนั้น

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานใน การฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฟ้าและนายดินได้ตกลงเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ที่นายฝนกู้เงิน นายเมฆ โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายฟ้าและนายดินนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง

เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฝนชำระหนี้ไม่ได้ นายเมฆเจ้าหนี้ ย่อมมีสิทธิเรียกให้นายฟ้าและนายดินผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 ข้ออ้างของนายดินที่อ้างว่านายฝน มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันจึงรับฟ้งไม่ได้

และเมื่อปรากฏว่านายฟ้าได้จำกัดความรับผิดเพียง 2 ล้านบาท เมื่อนายฟ้ายอมชำระเงิน 2 ล้านบาท ให้นายเมฆแล้ว นายฟ้าจึงไม่ต้องรับผิดใด ๆ ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก ส่วนนายดินนั้นเมื่อปรากฏว่านายดินไม่ได้จำกัดความรับผิด นายดินจึงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันต่าง ๆ ด้วยตามมาตรา 683

ส่วนกรณีของนายฝนลูกหนี้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไม่ครบตามมูลหนี้ หนี้เงินยังคงเหลืออยู่เท่าใดลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดตามมาตรา 685 ดังนั้น นายฝนจึงต้องรับผิดในหนี้เงินส่วนที่เหลือจำนวน 3 ล้านบาทให้แก่นายเมฆ

สรุป ข้ออ้างของนายฝนและนายดินรับฟ้งไม่ได้ และเงินส่วนที่เหลือนายเมฆจะเรียกร้องจากนายดินและนายฝนได้

 

ข้อ 2. นายเคียงขอยืมเงินนางเอียงจำนวน 100,000 บาท ในสัญญากำหนดว่าจะคืนหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา ต่อมา 1 เดือน นายค้ำได้เข้ามาทำสัญญาเอาที่ดินสวนทุเรียนของตนมาจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้รายนี้

โดยไม่ได้ขออนุญาตนายเคียงลูกหนี้ก่อน หลังจากที่นายค้ำทำสัญญาจำนองกับนางเอียงได้ 5 เดือน ทุเรียนออกลูกมาได้ราคาดีมาก นางเอียงอยากได้ทุเรียนมาขาย

จึงได้ส่งคำบอกกล่าวให้นายค้ำว่าตนจะบังคับจำนอง ขอให้นายค้ำมอบทุเรียนให้ตน ดังนี้ นายค้ำต้องมอบ ทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ ’’

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 716 “จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา 721 “จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนอง ได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายค้ำได้เข้ามาทำสัญญาเอาที่ดินสวนทุเรียนของตนมาจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ระหว่างนางเอียงและนายเคียงนั้น การจำนองดังกล่าว

ถึงแม้จะเป็นที่ดินของนายค้ำซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ และนายค้ำได้เข้ามาจำนองที่ดินของตนโดยไม่ได้ขออนุญาตนายเคียงลูกหนี้ก่อนก็ตาม การจำนองก็ย่อมกระทำได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 709 ข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองจึงมีผล ผูกพันตามกฎหมาย

สำหรับที่ดินสวนทุเรียนที่นายค้ำนำมาจำนองนั้น การจำนองย่อมครอบไปหมดทุกส่วน รวมทั้งลูกทุเรียนซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์จำนองด้วยตามมาตรา 716 แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะถือว่าการจำนอง ครอบไปถึงลูกทุเรียนซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์จำนองด้วยนั้น

จะต้องมีการส่งคำบอกกล่าวให้กับนายค้ำเจ้าของ สวนทุเรียนทราบก่อนว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับจำนองตามมาตรา 721

ตามข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่านายเคียงลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด นางเอียง เจ้าหนี้จึงไม่สามารถจะบอกกล่าวบังคับจำนองเพื่อบังคับเอาทุเรียนมาชำระหนี้ได้ เพราะการจะบอกกล่าวบังคับจำนองได้นั้น

จะต้องมีการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้เสียก่อน ดังนั้น เมื่อนางเอียงเจ้าหนี้ไม่สามารถที่จะบังคับเอาทุเรียนมาชำระหนี้ได้แล้ว นายค้ำจึงไม่ต้องส่งมอบทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้

สรุป นายค้ำไม่ต้องส่งมอบทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้  

 

ข้อ 3. ก. ซื้อเชื่อเครื่องรับโทรทัศน์ 1 เครื่องไปจาก ข. แล้วนำไปจำนำ ค. ไว้ ทั้งนี้ ค. รับจำนำไว้โดยสุจริต ไม่ทราบว่า ก. ซื้อเชื่อมา ก. ผิดนัดชำระหนี้ราคาโทรทัศน์ ข. จึงฟ้อง ก. ให้ชำระหนี้

ศาลสั่งให้ ข. ชนะคดี ข. นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ ค. ผู้รับจำนำ ยื่นคำร้องว่า ข. ไม่มีสิทธิยึดของที่ ค. ได้รับจำนำไว้ได้

เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 758 ผู้รับจำนำ มิสิทธิที่จะยึดทรัพย์ที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ และ ค. ผู้รับจำนำยังไม่ได้รับชำระหนี้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของ ค. ฟ้งได้หรือไม่ ข. มีอำนาจนำยึดทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการขำระหนี้”

มาตรา 758 “ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ ก. ซื้อเชื่อเครื่องรับโทรทัศน์ไปนั้น กรรมสิทธิ์ย่อมตกเป็นของ ก. ผู้ซื้อแล้ว ก. จึงมีสิทธินำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำ กับ ค. ได้ตามมาตรา 747

และเมื่อปรากฏว่า ก. ผิดนัดชำระหนี้ราคาเครื่องรับโทรทัศน์ ข. เจ้าหนี้ซึ่งชนะคดีจะมายึดเครื่องรับโทรทัศน์ในขณะที่ ค. ผู้รับจำนำยังไม่ได้รับชำระหนี้นั้น ข้ออ้างของ ค. ที่อ้างว่า ข. ไม่มีสิทธิยึดของที่ ค. ได้รับจำนำไว้ เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 758 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนำมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์ที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้นั้น ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ข. มีอำนาจยึดทรัพย์ได้หรือไม่ เห็นว่า ข. เป็นเจ้าของ เครื่องรับโทรทัศน์ที่ ก. ซื้อเชื่อไป จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ ก. และเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อ ข. นำคดีขึ้นสู่ศาลและศาลสั่งให้ ข. ชนะคดี ข. จึงมีสิทธิที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ได้ (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 778/2503)

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ค. ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์ที่จำนำอยู่ ข. จึงต้องเลียค่าไถ่ให้กับ ค. ผู้รับจำนำเพื่อมีผลเท่ากับว่าผู้รับจำนำได้รับชำระหนี้ครบแล้วจึงจะสามารถนำยึด ทรัพย์จำนำไปได้

สรุป ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้ และ ข. มีอำนาจนำยึดทรัพย์ได้ แต่จะต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์จำนำให้ ค. ผู้รับจำนำ

WordPress Ads
error: Content is protected !!