การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิขา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงกู้เงินเขียว 500,000 บาท มีหลักฐานถูกต้อง แดงได้นำโฉนดที่ดินของตนราคา 300,000 บาท มามอบไว้กับเขียวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และได้ขอให้เหลืองนำที่ดินของเหลืองมาจำนองกับเขียวโดยเขียวและเหลืองได้ไปจดทะเบียนกันถูกต้อง

ขณะเดียวกันม่วงได้ตกลงกับเขียวยอมเป็น ผู้ค้ำประกันในหนี้ที่แดงกู้เงินเขียว โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ลงลายมือชื่อเพียงม่วง คนเดียว

อยากทราบว่า หากแดงชำระหนี้ไม่ได้ ม่วงจะต่อสู้ว่าตนมิได้ทำหลักฐานที่มีเขียวลงลายมือชื่อด้วยสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ บังคับไม่ได้ และหากจะบังคับก็ขอให้บังคับจากที่ดินทั้ง 2 แปลงก่อน ข้ออ้างของม่วงรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ 

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

มาตรา 709 บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้

มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานในการ ฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686 และในส่วนของผู้ค้ำประกันอาจจะบ่ายเบี่ยงขอให้เจ้าหนี้ บังคับเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ตามมาตรา 690

คือ เมื่อเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกัน และการประกันนั้น ได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ในกรณีทรัพย์ที่ยึดถือเป็นประกันไว้เป็นที่ดิน (กรณีจำนอง) ก็จะต้องมีการ ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงตกลงกับเขียวยอมเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ที่แดงกู้เงินเขียว โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเพียงม่วงคนเดียวนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเพียงคนเดียวก็ สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น หากปรากฏว่าแดงชำระหนี้ไม่ได้

เขียวเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียก ให้ม่วงผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 ข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่าตนมิได้ทำหลักฐานที่มีเขียวลงลายมือชื่อด้วย สัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้นั้น ข้ออ้างของม่วงกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

และข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่า หากเขียวจะบังคับก็ขอให้บังคับจากที่ดินทั้ง 2 แปลงก่อนนั้น ข้ออ้างของม่วงกรณีนี้ก็รับฟังไม่ได้เข่นกัน เพราะเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงแรกที่แดงได้นำโฉนดที่ดิน มามอบไว้กับเขียวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้นั้น ถึงแม้จะเป็นทรัพย์สินของแดงลูกหนี้ แต่เมื่อปรากฏว่า แดงเพียงแต่นำโฉนดที่ดินมามอบไว้ มิได้มีการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามกฎหมาย (มาตรา 714)

สัญญาจำนองจึงไม่เกิดขึ้น และถือว่าเขียวเจ้าหนี้มิได้มีทรัพย์ของแดงลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันแต่อย่างใด ม่วงผู้ค้ำประกันจึงไม่สามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวบังคับเอาจากที่ดินแปลงนี้ก่อนได้ตามมาตรา 690

ส่วนที่ดินแปลงที่สองที่เหลืองนำมาจำนองไว้กับเขียว เพื่อเป็นประกับการชำระหนี้ระหว่างแดง กับเขียวนั้น ถึงแม้จะมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย และสัญญาจำนองเกิดขึ้นแล้ว ตามมาตรา 702709 และ 714

แต่เมื่อปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ของแดงลูกหนี้ ดังนั้นม่วงผู้ค้ำประกัน จึงไม่สามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวบังคับเอาจากที่ดินแปลงนี้ก่อนได้เช่นกัน เพราะการที่ผู้ค้ำประกันจะบ่ายเบี่ยง ให้เจ้าหนี้บังคับเอากับทรัพย์ที่เป็นประกันก่อนนั้น จะต้องปรากฏว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของลูกหนี้เท่านั้น ตามมาตรา 690

สรุป ข้ออ้างของม่วงทั้งสองกรณีรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2. กรุงเทพกู้เงินต่างจังหวัด 20 ล้านบาท มีหลักฐานถูกต้อง ขณะเดียวกันได้นำที่ดินในจังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 200 ไร่ ราคา 20 ล้านบาท มาจดทะเบียนจำนอง

หลังจากนั้น กรุงเทพต้องการเงินไปลงทุนอีก จึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้อีก 10 ล้านบาท กับนายตำบล ปรากฏว่าหนี้ของตำบลถึงกำหนดชำระก่อน อยากทราบว่าในกรณีการจำนองในครั้งที่ 2 กระทำ ได้หรือไม่ และนายตำบลจะบังคับการชำระหนี้ให้ครบจำนวนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลัก กฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 712 “แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

มาตรา 714 “อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

มาตรา 730 “เมื่อทรัพย์สินอันหนึ่งอันเดียวได้จำนองแก่ผู้รับจำนองหลายคนด้วยกัน ท่าน ให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันและเวลาจดทะเบียน และผู้รับจำนองคนก่อนจักได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

มาตรา 731 “อันผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่

มาตรา 732 “ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง 

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนองนั้นตามมาตรา 712 ได้บัญญัติไว้ว่า แม้เจ้าของทรัพย์สินจะได้นำทรัพย์สิน ไปจำนองไว้กับบุคคลหนึ่งแล้ว เจ้าของทรัพย์สินก็มีสิทธินำทรัพย์สินนั้นไปจำนองกับบุคคลอื่นอีกได้ แม้จะมีข้อสัญญาห้ามไม่ให้นำทรัพย์สินไปจำนองอีกก็ตาม

แต่การบังคับจำนองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 730 – 732 คือ ผู้รับจำนองคนก่อนย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง โดยถือเอาวันและเวลา จดทะเบียนจำนองก่อนหลังเป็นเกณฑ์ และผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับจำนองให้เสียหายแก่ผู้รับจำนอง คนก่อนไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กรุงเทพกู้เงินต่างจังหวัด และได้นำที่ดินในจังหวัดภูเก็ตมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้นั้น สัญญาจำนองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 และการที่กรุงเทพต้องการเงินไปลงทุนอีก

จึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้กับนายตำบลอีกนั้น กรุงเทพก็สามารถกระทำได้ตามมาตรา 712 และสัญญาจำนองมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 702 และมาตรา 714

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นกรณีที่มีผู้รับจำนองหลายราย (จำนองซ้อน) ตามมาตรา 712 การบังคับจำนองจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 730 – 732 คือ ต่างจังหวัดผู้รับจำนองรายแรกมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ก่อนนายตำบลผู้รับจำนองรายหลัง และนายตำบลจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ต่างจังหวัดไม่ได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนี้ของนายตำบลถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ของต่างจังหวัด

ดังนี้ นายตำบลย่อมไม่สามารถบังคับการชำระหนี้เอาจากที่ดินของกรุงเทพที่นำมาจำนองไว้กับตนได้ เพราะจะทำให้ต่างจังหวัดเสียหาย เนื่องจากที่ดินของกรุงเทพมีราคา 20 ล้านบาท และหนี้ระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัดก็มีจำนวน 20 ล้านบาท เข่นเดียวกัน

สรุป กรณีการจำนองในครั้งที่ 2 ของกรุงเทพสามารถกระทำได้ และนายตำบลจะบังคับ ชำระหนี้ให้ครบจำนวนไม่ได้ เพราะจะทำให้ต่างจังหวัดผู้รับจำนองคนแรกเสียหาย 

 

ข้อ 3. มะลิรับสร้อยคอทองคำเป็นการจำนำเงินกู้ที่ดาวเรืองกู้เงินไปจากตน 200,000 บาท โดยมิได้มีหลักฐานแต่อย่างใด เมื่อมะลิได้รับสร้อยคอมาแล้วรู้สึกชอบ อยากได้เป็นเจ้าของ จึงขอทำสัญญาเป็นหนังสือกับดาวเรืองว่า หากดาวเรืองชำระหนี้เงินกู้ 200,000 บาท ไม่ได้ ขอให้สร้อยคอตกเป็นของมะลิทันที อยากทราบว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการขำระหนี้

มาตรา 756 “การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใด อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนำ หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่น นอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้น ท่านว่าไม่สมบูรณ์

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

และถ้ามีการตกลงกันเสียก่อนเวลาที่หนี้จะถึงกำหนดชำระว่า ถ้าลูกหนี้หรือผู้จำนำไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากตามบทบัญญัติ ทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 756 แต่ถ้าตกลงกันหลังจากหนี้ ถึงกำหนดชำระแล้วข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดาวเรืองนำสร้อยคอทองคำมาวางเป็นประกันการชำระหนี้ให้กับมะลินั้น เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว จึงถือว่าเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา 747 และมีผลสมบูรณ์ แม้จะมิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

ดังนั้น การที่มะลิขอทำสัญญาเป็นหนังสือกับดาวเรืองว่า หากดาวเรืองชำระหนี้เงินกู้ 200,000 บาท ไม่ได้ ขอให้สร้อยคอตกเป็นของมะลิทันที จึงถือเป็นกรณีที่ผู้รับจำนำกับผู้จำนำตกลงกันไว้ เสียก่อนเวลาที่หนี้จะถึงกำหนดชำระว่า ถ้าผู้จำนำไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ

ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 756 แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะทำเป็นหนังสือก็ตาม

สรุป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 756

Advertisement