ข้อสอบกระชวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงนำกฎหมายมหาชนไปอธิบายการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันว่า การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง
กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย
กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน
ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง ให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง
“การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น” เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง โดยให้มีการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นมาแยกออกจากราชการบริหารส่วนกลาง มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง และมีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมายหรือตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ 5 ประเภท ได้แก่
1 เทศบาล
2 องค์การบริหารส่วนตำบล
3 องค์การบริหารส่วนจังหวัด
4 กรุงเทพมหานคร
5 เมืองพัทยา
และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น (รวมทั้งการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ของไทย ปัจจุบันจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนในแง่ที่ว่ากฎหมายมหาชน ซึ่งได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง
เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้ว ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้ ก็ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น
ตัวอย่างที่ถือว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน เช่น ในการจัดตั้งเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายมหาชนได้กำหนดไว้ หรือเมื่อมีการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นจะมีอำนาจและหน้าที่ประการใดบ้าง ก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน
(ซึ่งในที่นี้ก็คือกฎหมายปกครองนั่นเอง) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย ทั้งนี้เพราะตามหลักกฎหมายมหาชนนั้น หน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (รวมทั้งหน่วยราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) จะสามารถดำเนินการใดๆได้ ก็จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้เท่านั้น
และในการใช้อำนาจหน้าที่ทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ ออกคำสั่งทางปกครอง รวมทั้งการกระทำทางปกครองรูปแบบอื่นหรือการทำสัญญาทางปกครอง หากเกิดกรณีพิพาทที่เป็นกรณีทางปกครอง ก็จะต้องนำคดีพิพาทนั้นไปฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด