LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  มอบ  ข  ให้ซื้อที่ดินโดยมอบหมายเป็นหนังสือ  ข  ซื้อที่ดินของ  ค  โดยทำหนังสือซื้อขาย  โดยตกลงราคากันเป็นจำนวน  30  ไร่  20  ล้านบาท  จะโอนกันในวันถัดไปจากวันทำสัญญา  หลังทำสัญญา  ง  มาขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกับ  ค  โดยให้ราคามากกว่า  2  เท่า  ค  ตกลงและโอนทันที  กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง  จากโจทย์เดิมข้างต้น  ถ้า  ก  ตั้ง  ข  ให้ซื้อที่ดินโดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  แต่  ก  ได้มอบเงินให้  ข  นำไปวางประจำไว้  ข  นำเงินไปวางประจำและทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือ  ง  มาขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยให้ราคามากกว่า  2  เท่า  ค  โอนที่ดินให้  ง  ทันที 

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ทั้ง  2  กรณี  ก  จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง  ค  กับ  ง  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ 

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  456  วรรคแรกและวรรคสอง  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ  หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด  ลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีแรก 

การที่  ก  มอบ  ข  ให้ไปซื้อที่ดินนั้น  เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ  (มาตรา  456  วรรคแรก)  ดังนั้น  การตั้งตัวแทนเพื่อไปทำสัญญาขายที่ดินจึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย  จึงจะมีผลผูกพันตัวการตามมาตรา  798  วรรคแรก  เมื่อการตั้งตัวแทนของ  ก  ที่ให้  ข  เป็นตัวแทนไปซื้อที่ดินนั้นได้ทำเป็นหนังสือ  กิจการที่  ข  ได้กระทำไปจึงมีผลผูกพัน  ก  ตัวการ  และก่อให้ได้ความสัมพันธ์ไปถึง  ค  ด้วย  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่า  ค  ผิดสัญญา  โดยโอนที่ดินดังกล่าวให้กับ  ง  ก  ย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง  ค  กับ  ง  ได้

กรณีที่สอง

ถ้า  ก  ตั้ง  ข  ให้ซื้อที่ดินโดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  แต่  ก  ได้มอบเงินให้  ข  นำไปวางประจำไว้  และ  ข ก็ได้นำเงินไปวางประจำและทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือ  ดังนี้  ก  ก็ย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง  ค  กับ  ง  ได้เช่นกัน  เพราะกรณีที่สองนี้  ถือเป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งการตั้งตัวแทนไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่จะต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว  อาจจะใช้วิธีวางประจำ  หรือชำระหนี้บางส่วนก็ได้  (ตามมาตรา  456  วรรคสอง)  ซึ่งก็ถือว่ามีผลผูกพันตัวการดุจกัน

สรุป  ทั้ง  2  กรณี  ก  จะสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง  ค  กับ  ง  ได้

 

ข้อ  2  นางสายใจได้นำทองคำแท่งหนัก  10  บาท  ไปฝากนางรัศมีซึ่งเปิดร้านขายทองที่ตลาดบางกะปิ  เป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่งให้ตน  นางสายใจได้ตกลงกับนางรัศมีว่า  ถ้าขายทองคำแท่งได้จะให้ค่าบำเหน็จแก่นางรัศมีเป็นจำนวนเงิน  5,000  บาท  ปรากฏว่า  วันที่  5  สิงหาคม  2555  ราคาทองคำตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ  22,000  บาท  นางรัศมีเห็นว่าราคาทองคำลดลงต่ำกว่าราคาก่อนหน้านี้  ถ้าซื้อเก็บไว้ทองคำอาจจะขึ้นราคาบาทละ  25,000  บาท  ถ้าขายก็จะได้กำไร  นางรัศมีต้องการซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง  จึงได้โทรศัพท์ติดต่อขอซื้อทองคำแท่งจากนางสายใจ  เมื่อนางสายใจได้รับคำบอกกล่าวแล้วก็ไม่ได้บอกปัดเสียในทันที  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การขอซื้อทองคำแท่งของนางรัศมีเกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  และนางรัศมีมีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จจำนวน  5,000  บาทหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ 

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้  เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น  ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น  ณ  สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในที  ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

วินิจฉัย  

ตามมาตรา  843  ได้บัญญัติไว้ว่า  ถ้าตัวการมอบหมายให้ตัวแทนค้าต่างขายทรัพย์สินแทนตน  และทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  และไม่มีข้อห้ามโดยชัดแจ้งในสัญญาตัวแทนค้าต่างจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นไว้เสียเองก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  ตัวแทนค้าต่างจะต้องบอกกล่าวให้ตัวการรู้ด้วยว่าตนเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น  ซึ่งถ้าตัวการไม่ต้องการขายให้ตัวแทนค้าต่างก็ต้องบอกปัดในทันที  ไม่เช่นนั้นจะถือว่าตัวการได้สนองรับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว  และนอกจากนี้ตัวแทนค้าต่างก็ยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามสัญญาอีกด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางสายใจได้มอบให้นางรัศมีเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่งของตนและตกลงจะจ่ายค่าบำเหน็จให้จำนวน  5,000  บาท  ปรากฏว่าต่อมาราคาทองคำแท่งลดลงตามตลาดโลก  ซึ่งถือเป็นรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  นางรัศมีต้องการซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เองเพื่อเก็งกำไรในภายหน้านั้น  ดังนี้  นางรัศมีสามารถทำได้  เพราะในสัญญาไม่มีข้อห้ามไว้ตามมาตรา  843  วรรคแรก

และเมื่อนางรัศมีบอกกล่าวทางโทรศัพท์ให้นางสายใจทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวแล้ว  แต่ปรากฏว่านางสายใจก็มิได้บอกปัดเสียในทันทีที่ได้รับคำบอกกล่าว  กรณีนี้จึงถือว่านางสายใจเป็นอันได้สนองรับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งระหว่างนางรัศมีกับนางสายใจจึงเกิดขึ้นตามมาตรา  843  วรรคสอง  และนอกจากนี้นางรัศมีก็ยังสามารถคิดเอาค่าบำเหน็จจำนวน  5,000  บาท  จากนางสายใจ  เนื่องจากการซื้อขายของตนได้ด้วย  แม้นางรัศมีจะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งเหล่านั้นไว้เองก็ตาม  ตามมาตรา  843  วรรคท้าย

สรุป  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งของนางรัศมีได้เกิดขึ้นแล้ว  และนางรัศมีมีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จจำนวน  5,000  บาทจากนางสายใจ

 

ข้อ  3  ทิวามีอาชีพเป็นนายหน้าจัดหาซื้อขายที่ดิน  บริษัท  ก  จำกัด  มอบให้ทิวาจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่โดยบริษัทยินยอมเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดินนั้น  ทิวานำผู้แทนบริษัทไปดูที่ดินหลายแปลง  รวมทั้งที่ดินของราตรีด้วย  ปรากฏว่าบริษัทพอใจที่ดินแปลงของราตรี  จนในที่สุดบริษัทได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินของราตรีตามที่ทิวาได้ชี้ช่องและจัดการ  เมื่อทิวาเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรี  ราตรีเพิกเฉยทั้งที่ราตรีก็ทราบอยู่ดีว่าทิวามีอาชีพเป็นนายหน้า  ทิวาจะบังคับค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ 

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น  บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง  หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า  ผู้นั้นย่อมทำให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จเท่านั้น  ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กัน  ก็ไม่จำต้องให้ค่าบำเหน็จนายหน้า  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบำเหน็จหรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา  845  หรือมีสัญญาต่อกันโดยปริยายตามมาตรา  846  ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว  เรียกร้องเอาค่าบำเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น  หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่ 

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้ว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินของนางราตรีจะเกิดจากการชี้ช่องและจัดการของทิวา  และราตรีก็ทราบดีอยู่แล้วว่าทิวามีอาชีพเป็นนายหน้าก็ตาม  แต่ราตรีก็ไม่เคยตกลงให้ทิวาเป็นนายหน้าขายที่ดินของตนตามมาตรา  845  วรรคแรก  อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา  846  วรรคแรกก็มิได้  เพราะการตกลงโดยปริยายตามมาตรานี้  หมายถึง  กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว  ไม่ใช่กรณีที่ยังไม่ได้มอบหมายให้เป็นนายหน้า  ดังนั้น  ทิวาจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรี

สรุป  ทิวาจะบังคับเอาค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรีไม่ได้

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  มอบ  ข  ให้ช่วยเก็บค่าเช่าบ้าน  อีกทั้งยังมอบหมายให้ทำสัญญาเช่าได้ด้วย  ต่อมาภายหลัง  ก  ตายลง  ทำให้สัญญาระหว่าง  ก  กับ  ข  ระงับสิ้นไป  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  กรณีต่อไปนี้  ข  จะมีอำนาจทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

1)    เก็บค่าเช่า

2)    ทำสัญญาเช่า

และถ้าไม่ทำผลจะเป็นเช่นไร  กรณีที่  1  กรณีที่  2  ถ้าทำผลจะเป็นเช่นไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆเพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี  หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

มาตรา  828  เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี  ตัวการตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลายก็ดี  ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขาได้มอบหมายแก่ตนไป  จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้นๆได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนให้ช่วยเก็บค่าเช่าบ้านและให้อำนาจทำสัญญาเช่าได้ด้วย  เมื่อต่อมาภายหลัง  ก  ตายลงทำให้สัญญาระหว่าง  ก  กับ  ข  ระงับสิ้นไปนั้น  กรณีการเก็บค่าเช่าและการทำสัญญาเช่า  ข  จะมีอำนาจทำได้หรือไม่  และถ้าไม่ทำหรือถ้าทำผลจะเป็นเช่นไรนั้น  แยกพิจารณาได้ดังนี้

1)    การเก็บค่าเช่า  แม้ว่า  ก  ตัวการตาย  ทำให้สัญญาตัวแทนระงับไป  แต่ตามมาตรา  828  ได้กำหนดให้ตัวแทนต้องจัดการหรือทำหน้าที่ของตัวแทนไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็น  เพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการ  ดังนั้น  ข  จึงสามารถเก็บค่าเช่าได้  ถ้าหาก  ข  ไม่เก็บค่าเช่า  ถือว่า  ข  ไม่ทำหน้าที่ของการเป็นตัวแทนตามมาตรา  828  และถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น  ข  ตัวแทนจะต้องรับผิดชอบตามมาตรา  812

2)    การทำสัญญาเช่า  เมื่อ  ก  ตายลง  ข  ย่อมไม่มีอำนาจทำได้  เพราะสัญญาตัวแทนระงับแล้ว  อีกทั้งสัญญาเช่าเป็นบุคคลสิทธิ  เป็นสิทธิส่วนบุคคล  เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย  ย่อมทำให้สัญญาระงับ  ถ้าหาก  ข  ฝ่าฝืนทำสัญญาเช่า  ถือว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและย่อมไม่ผูกพันผู้เป็นตัวการ  ตามมาตรา  823  และไม่ถือว่าเป็นการจัดการเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการ  ตามมาตรา  828  ซึ่งมีผลทำให้ตัวแทนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  ตามมาตรา  823  วรรคสอง

สรุป

1)       การเก็บค่าเช่า  ข  มีอำนาจทำได้  ถ้าไม่ทำและเกิดความเสียหายขึ้น  ข  จะต้องรับผิดชอบตามมาตรา  828  ประกอบมาตรา  812

2)      การทำสัญญาเช่า  ข  ไม่มีอำนาจทำได้  ถ้าทำ  ข  จะมีความผิดตามมาตรา  828  ประกอบมาตรา  823

 

ข้อ  2  นายหนึ่งเปิดร้านขายรถยนต์ใช้แล้วอยู่แถวถนนบางกะปิ  นายสองได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายหนึ่งขายหนึ่งคันในราคา  3  แสนบาท  โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหนึ่งจำนวนหนึ่งหมื่นบาท  และในขณะเดียวกันก็ให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์ใช้แล้วให้ตนใหม่หนึ่งคันในราคาไม่เกิน  4  แสนบาท  โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหนึ่ง  1  หมื่นบาท  นายหนึ่งได้นำรถยนต์ของนายสองไปขายเชื่อให้แก่นายสามและได้ไปซื้อรถยนต์คันใหม่จากนายสี่ให้แก่นายสอง  ซึ่งนายหนึ่งยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่นายสี่  ดังนี้อยากทราบว่า

(ก)    ถ้าหนี้ถึงกำหนด  นายสามไม่นำเงินมาชำระ  นายหนึ่งหรือนายสองจะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารถยนต์จากนายสาม  เพราะเหตุใด

(ข)   ถ้าหนี้ถึงกำหนด  นายหนึ่งไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสี่  นายสี่จะฟ้องนายหนึ่งหรือนายสองให้ชำระหนี้แก่ตน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  833  อันว่าตัวแทนค้าต่าง  คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ  หรือขายทรัพย์สิน  หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา  837  ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น  ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น  และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  837  ได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนค้าต่างต่อบุคคลภายนอกไว้ว่า  เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายหรือซื้อ  หรือจัดทำกิจการอย่างใดแทนตัวการแล้ว  ตัวแทนค้าต่างย่อมต้องผูกพันเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกโดยตรง  ถ้าบุคคลภายนอกผิดสัญญา  ตัวแทนค้าต่างย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องตามสัญญานั้นในนามของตนเองได้  และในขณะเดียวกัน  ก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกตามสัญญานั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสองได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายหนึ่งขาย  1  คัน  และให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์ใช้แล้วให้ตนใหม่  1  คัน โดยตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายหนึ่ง  ซึ่งนายหนึ่งเปิดร้านขายรถยนต์ใช้แล้วอยู่แถวถนนบางกะปินั้น  ย่อมถือว่านายหนึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างของนายสองตามมาตรา  833  ดังนี้

(ก)    จากข้อเท็จจริง  เมื่อนายหนึ่งได้นำรถยนต์ของนายสองไปขายเชื่อให้แก่นายสาม  และถ้าหนี้ถึงกำหนด  นายสามผิดสัญญาไม่นำเงินมาชำระค่ารถยนต์  นายหนึ่งผู้เป็นตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญา  ย่อมเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์จากนายสาม  เพราะนายหนึ่งได้ทำสัญญาขายเชื่อรถยนต์ให้แก่นายสาม  ในนามของตนเอง  จึงมีสิทธิต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการค้าขายรถยนต์นั้น  ตามมาตรา  837

(ข)   จากข้อเท็จจริง  เมื่อนายหนึ่งได้ไปซื้อรถยนต์คันใหม่จากนายสี่  และถ้าหนี้ถึงกำหนด  นายหนึ่งผิดสัญญาไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสี่  นายสี่จะต้องฟ้องนายหนึ่งผู้เป็นตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญาให้ชำระหนี้แก่ตน  เพราะนายหนึ่งทำการซื้อรถยนต์กับนายสี่ในนามของตนเอง  จึงต้องผูกพันต่อคู่สัญญาคือนายสี่ด้วยตามมาตรา  837  นายสี่จะไปฟ้องเอากับนายสองตัวการมิได้  เพราะนายสองมิใช่คู่สัญญา

สรุป

(ก)    นายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์จากนายสาม

(ข)   นายสี่จะต้องฟ้องนายหนึ่งผู้เป็นตัวแทนค้าต่างให้ชำระหนี้แก่ตน

 

ข้อ  3  ก  มอบให้  ข  เป็นนายหน้าขายที่ดินของตนในราคาสามล้านบาทโดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละสาม  ข  นำ  ค  มาทำสัญญาจะซื้อขายกับ  ก  ในราคาดังกล่าว  แล้วต่อมา  ค  ผิดนัดไม่ทำการซื้อขายภายในกำหนด  ก  ขอให้ศาลบังคับตามสัญญาจะซื้อขายและเรียกค่าเสียหาย  ก  กับ  ค  ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่า  ก  ยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้  ค  หรือบุคคลอื่นที่  ค  ประสงค์ให้เป็นผู้รับโอนก็ได้  โดย  ค  จะชำระราคาที่ดินตามที่ตกลงกันไว้พร้อมทั้งดอกเบี้ย

ต่อมา  ค  ได้ชำระค่าที่ดินสามล้านบาท  และดอกเบี้ยอีกแปดหมื่นบาทให้กับ  ก  และให้  ก  โอนที่ดินให้  ง  เพราะตนได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวต่อให้  ง  ในราคาสี่ล้านบาท

อยากทราบว่า  ข  จะเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละสามจาก  ก  ได้หรือไม่  จากจำนวนใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  845  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่า  ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง  หรือจัดการจนเขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอก  และนายหน้ารับกระทำการตามนั้น  และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทำสัญญากันแล้ว  นายหน้าย่อมจะได้รับค่าบำเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  มอบให้  ข  เป็นนายหน้าขายที่ดินของตนในราคาสามล้านบาท  โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละสาม  และ  ข  ได้นำ  ค  มาทำสัญญาจะซื้อขายกับ  ก  ในราคาดังกล่าวแล้ว  ดังนี้ย่อมถือว่า  ข  ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว  แม้ต่อมา  ค  จะผิดนัดไม่ทำการซื้อขายภายในกำหนดก็ตาม  ข  ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าตามมาตรา  845  วรรคแรก

สำหรับค่าบำเหน็จนายหน้าที่  ข  จะได้รับคือร้อยละสามจากจำนวนสามล้านบาท  ซึ่งเป็นราคาตามสัญญาจะซื้อขายที่เกิดจากการชี้ช่องหรือจัดการของ  ข  นายหน้า  ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล  แม้จะเป็นผลจากสัญญาจะซื้อขายก็ตาม  แต่การที่ตัวการคือ  ค ขายสิทธิที่มีอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวต่อให้แก่  ง  ในราคาสี่ล้านบาทนั้น  ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการชี้ช่องหรือจัดการของ  ข  นายหน้า

สรุป  ข  เรียกค่าบำเหน็จนายหน้าได้ร้อยละสามจากจำนวนเงินสามล้านบาท

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  มอบ  ข  ให้เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  วันหนึ่งมี ค  มาขอเช่าที่ดินกับ  ข  ข  ได้ทำสัญญาเช่ามีระยะเวลา  5  ปี  อยากทราบว่า

(1)  สัญญาเช่าที่  ข  ทำไปนั้นผูกพัน  ก  ตัวการกี่ปี

(2)  ข  มีอำนาจให้เช่าได้กี่ปี

(3)  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้  ค  เช่าที่ดินมีระยะเวลา  5  ปี  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(4)  ถ้า  ข  ทำสัญญาเกินอำนาจไป  ข  จะมีความรับผิดประการใด  และจะทำประการใดจึงจะทำให้สัญญาเช่านั้นผูกพัน  ก  ตัวการ  และมีความสมบูรณ์

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

2       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

มาตรา  822  ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

(1)    ตามบทบัญญัติมาตรา  801  การที่  ก  มอบ  ข  ให้เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  โดยหลักแล้ว  ข  จะทำการใดๆในฐานะตัวแทนก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง  แต่อาจมีข้อยกเว้นบางอย่างที่  ข  ไม่สามารถทำได้  เช่น  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่า  3  ปีขึ้นไป  ตามมาตรา  801  วรรคสอง(2)  ดังนั้น  สัญญาเช่าที่  ข  ให้เช่าไป  5  ปี  จึงผูกพัน  ก  ตัวการเพียง  3  ปีเท่านั้น  ตามอำนาจที่  ข  มี

(2)   บทบัญญัติมาตรา  801  วรรคสอง(2)  ได้กำหนดไว้ว่า  ตัวแทนจะจัดการแทนตัวการในการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ได้เพียง  3 ปีเท่านั้น  หากเกินกว่านั้นมิอาจทำได้  ดังนั้น  ข  จึงมีอำนาจให้เช่าได้เพียง  3  ปี

(3)   เมื่อ  ข  เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  ข  จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาให้  ค  เช่าที่ดิน  มีระยะเวลา  5  ปี  ตามมาตรา  801 วรรคสอง(2)  ซึ่งบัญญัติหลักไว้ว่า  การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่า  3  ปีขึ้นไป  ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปหาอาจจะทำได้ไม่

(4)   การที่  ข  ทำสัญญาเช่าเกินไป  2  ปี  เท่ากับ  ข  ทำเกินอำนาจตามมาตรา  822  ซึ่งส่วนเกินนั้นให้ถือว่า  ข  ทำการโดยปราศจากอำนาจตามมาตรา  823  การนั้นจึงไม่ผูกพันตัวการ  ข  จะต้องรับผิดโดยลำพัง  เว้นแต่  ก  ตัวการจะให้สัตยาบัน

และหากจะให้สัญญาเช่า  5  ปี  ที่  ข  ทำไปนั้นผูกพันตัวการทั้ง  5  ปี  ก  จะต้องมอบอำนาจเฉพาะการตามมาตรา  800  เป็นการให้สัตยาบันว่า  ข  ทำสัญญาเช่า  5  ปีได้  สัญญาจึงจะใช้บังคับ  5  ปีได้  และผูกพัน  ก  ตัวการ

สรุป  จากคำถาม (1) – (4)  นั้น  วินิจฉัยได้ตามเหตุผล  และหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  2  ก  มอบให้  ข  ออกหน้าเป็นตัวการแทนตน  โดยให้เป็นผู้จัดการร้านค้า  โดยเป็นตัวแทนขายส่งสินค้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ข  ส่งสินค้าให้  ค  ที่สั่งสินค้าไว้หลายรายการ  เป็นเงินหลายแสนบาท  แต่  ข  ส่งให้ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญา  ทำให้ลูกค้าของ  ค  ยกเลิกสินค้าทั้งหมด  ค  ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนหลายแสนบาท  ขณะนั้น  ก  ตัวการยังไม่ได้เปิดเผยชื่อ  แค่  ค  ก็ไปรู้มาว่า  ข  เป็นเพียงตัวแทน  แต่  ก  คือตัวการ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  จะถือว่า  ก  เปิดเผยชื่อแล้วหรือยัง  ค  จะฟ้อง  ก  ตัวการได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และ  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  ก  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  มิได้ทำเป็นหนังสือ  จึงฟ้องไม่ได้  ข้ออ้างของ  ก  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  มอบให้  ข  ออกหน้าเป็นตัวการแทนตน  โดยเป็นตัวแทนขายส่งสินค้ายี่ห้อแบนด์เนม  และ  ก  ตัวการยังมิได้เปิดเผยชื่อนั้น  ถือเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อ  ตามมาตรา  806  โดยหลักแล้ว  เมื่อ  ค  บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย  ข  จะต้องรับผิดต่อ  ค  เช่นเดียวกับเป็นตัวการเอง

อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่า  ค  ได้รู้แล้วว่า  ข  เป็นเพียงตัวแทน  แต่  ก  คือตัวการ  ย่อมถือว่า  ก  ได้เปิดเผยชื่อแล้ว  ดังนั้น  เมื่อเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806  และบุคคลภายนอกรู้แล้วว่าตัวการคือใคร  ข  ตัวแทนจึงหลุดพ้นจากความรับผิด  ค  จึงฟ้อง  ก  ตัวการให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้  และ  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  ก  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนโดยมิได้ทำเป็นหนังสือไม่ได้  เพราะบทบัญญัติมาตรา  806  เป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798  นอกจากนี้  ก  ยังต้องรับผิดตามมาตรา  820  อีกด้วย  เพราะถึงอย่างไร  ก  ตัวการก็ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต  ดังนั้น  ข้ออ้างของ  ก  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ค  สามารถฟ้อง  ก  ตัวการได้  และ  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนโดยมิได้ทำเป็นหนังสือไม่ได้  ข้ออ้างของ  ก  ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  ก  มอบอำนาจให้  ข  ขายที่ดิน  โดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า  ข  นำเสนอขาย  ค  ค  ตกลงซื้อ  ข  นำ  ก  และ  ค  เข้าทำสัญญากัน  ภายหลังทำสัญญาแล้วปรากฏว่าการซื้อขายเลิกกัน  เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข  ยังจะได้ค่านายหน้าหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  845  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่า  ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง  หรือจัดการจนเขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอก  และนายหน้ารับกระทำการตามนั้น  และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทำสัญญากันแล้ว  นายหน้าย่อมจะได้รับค่าบำเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ได้ตกลงให้  ข  ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้านั้น  เมื่อปรากฏว่า  ข  ได้นำที่ดินเสนอขาย  ค  ค  ตกลงซื้อ  และ  ข  ได้นำ  ก  และ  ค  เข้าทำสัญญาซื้อขายกัน  ดังนี้  ย่อมถือว่า  ข  ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว  แม้ต่อมาภายหลังการซื้อขายได้เลิกกัน  เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาก็ตาม  ข  ก็ยังมีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าอยู่ตามมาตรา  845  วรรคแรก  (ฎ.517/2494)

สรุป  ข  ยังจะได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าอยู่

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ 2/2546

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอกทำสัญญากู้เงินจำนวน  80,000  บาท  จากนายโท  โดยมีนายตรีเข้าทำสัญญาค้ำประกัน  เมื่อสัญญากู้ถึงกำหนดชำระ  นายโทไม่ได้เรียกร้องให้นายเอกชำระหนี้  เพราะเห็นว่ากิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ของนายเอกกำลังประสบภาวะขาดทุน  อีก  9  ปีต่อมา  นายโทได้เรียกร้องให้นายเอกรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้  นายเอกได้ทำการชำระหนี้ให้นายโทโดยการออกเช็คสั่งจ่ายเนื่องจากไม่มีเงินในบัญชี นายโทจึงนำเช็คไปคืนให้นายเอกและเรียกร้องให้ชำระหนี้  

มิฉะนั้นจะนำคดีมาฟ้อง  นายเอกจึงอ้างว่าตนนำเงินไปเข้าบัญชีไม่ทันและออกเช็คฉบับใหม่ให้นายโทไป  ซึ่งเช็คฉบับใหม่นี้ก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีก  นายโทจึงฟ้องนายเอกและนายตรีให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน  นายตรีต่อสู้คดีว่า  นายโทยอมผ่อนเวลาในการชำระหนี้ให้แก่นายเอก  ตนจึงหลุดพ้นจากความรับผิด  ข้ออ้างของนายตรีรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  700  ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ  ณ  เวลามีกำหนดแน่นอน  และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา  ท่านว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

วินิจฉัย

การที่ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะเหตุที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ต้องเป็นกรณีที่หนี้ประธานมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน  และเจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ว่าภายในกำหนดเวลาที่ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้นั้น  เจ้าหนี้จะไม่ฟ้องหรือเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ประธานนั้น  ตามมาตรา  700

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  การที่สัญญากู้ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้  แต่เจ้าหนี้ไม่เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้  ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้หรือไม่  เห็นว่า  กรณีดังกล่าวการที่นายโทไม่เรียกร้องให้นายเอกรับผิดชำระหนี้ในทันทีที่หนี้ถึงกำหนดเวลาชำระโดยไม่มีการตกลงกับนายเอกว่าจะผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายเอก  จึงถือไม่ได้ว่านายโทผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายเอก  อันจะทำให้นายตรีหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  700

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า  การที่นายเอกออกเช็คชำระหนี้ให้นายโท  2  ครั้ง  เมื่อนายโทเรียกร้องให้นายเอกชำระหนี้  ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้หรือไม่  เห็นว่ากรณีนี้ก็หาถือได้ว่านายโทตกลงผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่นายเอก  อันจะทำให้นายตรีผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่  ดังนั้นนายตรีจึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  700

สรุป  ข้ออ้างของนายตรีผู้ค้ำประกันรับฟังไม่ได้  นายตรียังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามมาตรา  686  ประกอบมาตรา  700

 

ข้อ  2  นางบุญล้นยืมเงินนายฉอ้อนเป็นเงิน  100,000  บาท  การยืมเงินครั้งนี้มีนายบุญมากเป็นคนนำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้รายนี้ ซึ่งที่ดินของนายบุญมากนี้เป็นที่ดินซึ่งมีการจดทะเบียนภารจำยอมอยู่ก่อนแล้ว  หลังจากจดทะเบียนจำนองได้  10  วัน  นายบุญมากนำที่ดินแปลงเดิมไปจำนองค้ำประกันกู้เงินของตนกับแบงก์รัตนสิน  โดยนายฉอ้อนเจ้าหนี้ไม่ยินยอม  ดังนี้  อยากทราบว่านายฉอ้อนจะเพิกถอนนิติกรรมต่างๆ  ที่ติดอยู่กับที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ก็ให้ทำได้

มาตรา  712  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม  ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น  ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

มาตรา  722  ถ้าทรัพย์สินได้จำนองแล้ว  และภายหลังที่จดทะเบียนจำนองมีจดทะเบียนภาระจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่น  โดยผู้รับจำนองมิได้ยินยอมด้วยไซร้  ท่านว่าสิทธิจำนองย่อมเป็นใหญ่กว่าภาระจำยอม  หรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่นนั้น  หากว่าเป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนอง  ก็ให้ลบสิทธิที่กล่าวหลังนั้นเสียจากทะเบียน

วินิจฉัย

นายฉอ้อนเจ้าหนี้ของนางบุญล้นไม่มีสิทธิใดตามกฎหมายที่จะเพิกถอนนิติกรรมที่เกี่ยวกับที่ดินติดจำนองของนายบุญมากดังเหตุผลต่อไปนี้คือ

1       การที่นายบุญมากได้นำที่ดินที่มีภารจำยอมอยู่แล้วไปจำนองค้ำประกันหนี้ดังกล่าว  ภารจำยอมซึ่งมีอยู่ก่อนการจำนองไม่สามารถเพิกถอนภารจำยอมได้ตามมาตรา 722  ต้องถือว่าผู้รับจำนองยอมรับตามเงื่อนไขนั้นแล้ว

2       ส่วนที่นายบุญมากได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนการเช่าเป็นเวลา  5  ปี  การเช่าถือได้ว่าเป็นบุคคลสิทธิ  ไม่ถือเป็นภาระจำยอมหรือทรัพย์สินอย่างอื่น   จึงไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตามมาตรา  722

3       กรณีที่นายบุญมากนำที่ดินแปลงเดิมไปจำนองค้ำประกันเงินกู้ของตนกับแบงก์รัตนสินโดยนายฉอ้อนไม่ยินยอมด้วย  เป็นการจำนองตามมาตรา  712  ถือว่าเจ้าของคือนายบุญมากมีสิทธิที่จะทำได้  นายฉอ้อนจึงไม่สามารถที่จะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

 

ข้อ  3  นาย  ก  เป็นเจ้าของโชว์รูมขายรถยนต์  นาย  ก  ได้สั่งรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นมาขายในประเทศไทยจำนวน  10  คัน  เมื่อรถยนต์ทั้ง  10  คันมาถึงประเทศไทยแล้วก็ได้ฝากรถยนต์ทั้ง  10  คันนั้นไว้ในคลังสินค้าที่ท่าเรือคลองเตย  นาย  ก  ต้องการใช้เงินด่วนจึงได้นำใบประทวนสินค้าเรียกว่า  สิทธิซึ่งมีตราสาร  ไปจำนำไว้กับนาย  ข  โดยได้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการจำนำตราสิทธิไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกประการ  หลังจากนั้นห้าวัน  นาย  ก  ได้นำรถยนต์ออกจากคลังสินค้าจำนวน  6  คันเพื่อนำไปขาย

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นาย  ก  มีสิทธิที่จะนำรถยนต์ นั้นไปขายหรือไม่  และการกระทำของนาย  ก  เช่นว่านี้เป็นผลให้นาย  ข  ผู้รับจำนำได้รับความเสียหายหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  750  ถ้าทรัพย์สินที่จำนำเป็นสิทธิซึ่งมีตราสาร  และมิได้ส่งมอบตราสารนั้นให้แก่ผู้รับจำนำ  ทั้งมิได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งการจำนำแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นด้วยไซร้  ท่านว่าการจำนำย่อมเป็นโมฆะ

มาตรา  755  ถ้าจำนำสิทธิ  ท่านห้ามมิให้ทำสิทธินั้นให้สิ้นไป  หรือแก้ไขสิทธินั้นให้เสียหายแก่ผู้รับจำนำโดยผู้รับจำนำมิได้ยินยอมด้วย

วินิจฉัย

ตามปัญหา  นาย  ก  เจ้าของรถยนต์สามารถนำใบประทวนสินค้าซึ่งเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารไปจำนำได้โดยมีสิทธิตามมาตรา  750  อีกทั้งได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจำนำครบถ้วนตามระเบียบแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  755  มีหลักว่า  ห้ามมิให้ทำสิทธินั้นให้สิ้นไปหรือแก้ไขสิทธินั้นให้เสียหาย  โดยผู้รับจำนำมิได้ยินยอมด้วย  การกระทำของนาย  ก  เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา  755  โดยนำรถยนต์จำนวน  6  คันออกจากคลังสินค้าไปขาย  ซึ่งทำให้นาย  ข  ผู้รับจำนำใบตราสารนั้นต้องเสียหาย  นาย  ก  จึงต้องรับผิดในผลแห่งการเสียหายนั้นต่อนาย  ข  ผู้รับจำนำ 

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ S/2546

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแดงเจ้าของกิจการขับรถรับ  ส่งสินค้า  ได้ว่าจ้างนายเหลืองให้เป็นคนขับรถบรรทุกรับ  ส่งสินค้า  โดยมีนายขาวตกลงค้ำประกันการทำงานของนายเหลือง  หลังจากเซ็นสัญญาค้ำประกันเสร็จนายแดงได้ให้นายเหลืองขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่กฎหมายกำหนด  นอกจากนั้นนายแดงยังขอให้นายเหลืองขับรถเป็นเวลาติดต่อกันถึง  15  ชั่วโมง  นายเหลืองจึงเกิดอาการหลับใน  ขับรถชนกับรถโดยสารประจำทาง  ทำให้รถโดยสารพังเสียหายทั้งคัน  เจ้าของรถประจำทางจึงฟ้องนายแดงขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย  นายแดงจึงฟ้องขอให้นายขาวผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับนายเหลืองในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหาย  นายขาวจึงมาปรึกษาท่านว่า  ตนจะต้องรับผิดร่วมกับนายเหลืองในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างไร  หรือไม่  ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  694  นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น  ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย

วินิจฉัย

การที่นายขาวตกลงเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนายเหลือง  และมีหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามกฎหมาย  ทำให้ต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้  หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการทำงานของนายเหลือง  แต่กรณีตามปัญหาปรากฏว่าการทำให้เกิดความเสียหาย  ในการขับรถชนรถโดยสารนั้นสาเหตุเนื่องมาจากการที่นายแดง  นายจ้างได้ใช้ให้นายขาวทำงานเกินขีดกำลังความสามารถซึ่งเป็นความบกพร่องของนายจ้าง  จึงถือเป็นข้อต่อสู้ซึ่งลูกจ้างสามารถยกขึ้นอ้างต่อนายจ้างได้  อีกทั้งการบรรทุกน้ำหนักเกินก็เป็นคำสั่งของนายจ้าง  ในกรณีเช่นนี้  ผู้ค้ำประกันจึงสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้  ตามมาตรา  694  ได้  ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ได้

สรุป  ขาวสามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้

 

ข้อ  2  จำเลยกู้เงินโจทก์  โดยมีนายแดงจำนองที่ดินเป็นประกัน  ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยและนายแดงให้ชำระหนี้พร้อมทั้งได้มีการนำที่ดินจำนองออกขายทอดตลาด  แดงจึงตกลงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการชำระหนี้  ซึ่งหักแล้วยังมีหนี้ที่ต้องชำระอีก  500,000  บาท โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยและนายแดงรับผิดในหนี้ที่ยังขาดอยู่อีก  500,000  บาท  อยากทราบว่า  โจทก์สามารถบังคับได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  711  การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  ถ้าไม่ชำระหนี้  ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง  หรือว่าได้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้  ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

มาตรา  728  เมื่อจะบังคับจำนองนั้น  ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า  ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร  ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

มาตรา  733  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด  และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี  หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

วินิจฉัย

กรณีที่แดงผู้จำนองได้โอนที่ดินที่ตนจำนองไว้ให้แก่โจทก์  หลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  เป็นการตกลงโอนใช้หนี้ภายหลัง  หนี้ถึงกำหนดชำระซึ่งเป็นการตกลงที่เกิดภายหลังหนี้ถึงกำหนดชำระ  กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ  มาตรา  711  และไม่ใช่เป็นการบังคับจำนองตามมาตรา  728  ดังนี้  เมื่อปรากฏว่ายังมีหนี้ค้างชำระอยู่อีก  จำเลยลูกหนี้ชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วน  กรณีย่อมไม่อาจนำมาตรา  733  มาบังคับแก่กรณีได้  ส่วนแดงผู้จำนองมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้นจึงไม่ต้องรับผิดตามมูลหนี้เดิม

สรุป  โจทก์บังคับให้จำเลยชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่อีก  500,000  บาทได้  ส่วนนายแดงโจทก์ไม่อาจบังคับได้เนื่องจากมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น

 

ข้อ  3  สิงห์มอบให้เสือเป็นตัวแทนนำแหวนทองคำไปจำนำเป็นประกันเงินกู้จำนวน  100,000  บาท  กับม้าหลังจากจำนำเสร็จ  ม้าได้ตกลงกับเสือขอให้แมวเป็นผู้เก็บรักษาแหวนดังกล่าว  ต่อมาแมวเดินทางไปทัศนาจรที่จังหวัดตราด  โดยที่แมวได้นำแหวนใส่ติดตัวระหว่างทาง  ปรากกว่าเกิดพายุทำให้น้ำท่วมทาง  แหวนที่แมวใส่ไปจึงเกิดหลุดหายไปกับน้ำ  ดังนี้  อยากทราบว่า  ผู้รับจำนำจะต้องรับผิดในกรณีนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบายพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ 

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  749  คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ก็ได้

มาตรา  759  ผู้รับจำนองต้องรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ให้ปลอดภัย  และต้องสงวนทรัพย์สินจำนำนั้นเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

วินิจฉัย

กรณีดังกล่าวถือว่าเสือในฐานะตัวแทนย่อมมีสิทธิจัดการใดๆ  ภายใต้บังคับกฎหมายลักษณะจำนำได้  ดังนั้นการที่ม้ากับเสือตกลงกันขอให้แมวเป็นผู้เก็บรักษาจึงกระทำได้ตามมาตรา  749  อย่างไรก็ตาม  ตามมาตรา  759  กำหนดให้ผู้รับจำนำจะต้องดูแลรักษาทรัพย์และสงวนทรัพย์เหมือนอย่างวิญญูชนควรสงวน  เมื่อปรากฏว่าทรัพย์ที่จำนำเป็นแหวนซึ่งมีราคา  ผู้ดูแลทรัพย์จึงควรสงวนโดยการเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยมิใช่นำไปใส่ติดตัว  ดังนี้  แม้จะมีเหตุพายุทำให้แหวนหลุดหายไปกับสายน้ำซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย  ผู้รับจำนำก็จะต้องรับผิดอยู่ดีนั่นเอง  ตามมาตรา  760

สรุป  ผู้รับจำนำต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินที่จำนำดังกล่าว

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  มีกรณีใดบ้างที่เป็นการระงับไปซึ่งสัญญาค้ำประกันให้ท่านอธิบายมาสัก  2  กรณี  พร้อมทั้งอ้างหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  698  อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ

มาตรา  699  การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้นท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้  โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้

ในกรณีเช่นนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้

มาตรา  700  ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ  ณ  เวลามีกำหนดแน่นอน  และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา  ท่านว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

มาตรา  701  ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้

อธิบาย

โดยปกติผู้ค้ำประกันจะต้องผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันจนกว่าหนี้จะระงับ  ผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกการค้ำประกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมไม่ได้  เว้นแต่จะมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา  แต่หากไม่มีข้อตกลงกันตามสัญญาแล้วสัญญาค้ำประกันอาจระงับสิ้นไปได้โดยดังต่อไปนี้

1       หนี้ประธานระงับ  ถ้าหนี้ประธานระงับสิ้นไป  ไม่ว่าจะเป็นเพราะลูกหนี้ชำระหนี้  เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้  หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่  หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน  เป็นต้น  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด  (มาตรา  698)

2       ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาค้ำประกัน  โดยหลักแล้วผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกการค้ำประกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมไม่ได้  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  699  ซึ่งมีหลักเกณฑ์การบอกเลิกการค้ำประกันดังนี้

            ต้องเป็นกิจการเนื่องกันไปหลายๆคราว  มิใช่เป็นกิจการครั้งเดียวเสร็จในครั้งเดียว

            กิจการเนื่องกันไปหลายคราวจะต้องไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้

            ผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกได้ก็ต่อเมื่อคราวอันเป็นอนาคตเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม  เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันอาจจะตกลงกันไว้ในสัญญาห้ามผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญา  แม้กรณีจะต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  699  ก็ได้  เพราะข้อยกเว้นดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

3       เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้  การค้ำประกันหนี้อันมีกำหนดชำระแน่นอน  ถ้าเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้โดยผู้ค้ำประกันไม่รู้เห็นยินยอมด้วย  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด  (มาตรา  700)

ตัวอย่าง  ก  กู้เงิน  ข  เป็นจำนวนเงิน  100,000  บาท  มีระยะเวลา  1  ปี  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำประกัน  เมื่อถึงเวลาชำระหนี้  ข  เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่  ก  ลูกหนี้  โดย  ค  ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย  ค  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  700

4       เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้  ปกติผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนก็ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา  686  แม้ลูกหนี้ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด  ผู้ค้ำประกันก็ขอชำระหนี้ได้  ดังนั้นถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและผู้ค้ำประกันของชำระหนี้  แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด  (มาตรา  701)  เป็นผลให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด  ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างที่ผิดนัดตามมาตรา  224  แต่ลูกหนี้ยังไม่พ้นจากการชำระหนี้

ตัวอย่าง  ก  กู้เงิน  ข  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำประกัน  มีระยะเวลา 1  ปี  เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  ค  จะขอชำระหนี้ให้แก่  ข  แต่  ข  ไม่ยอมรับชำระหนี้  ค  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  701

5       ผู้ค้ำประกันตาย 

            ถ้าผู้ค้ำประกันตายก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้  หรือก่อนลูกหนี้ผิดนัด  สัญญาค้ำประกันระงับ

            ถ้าผู้ค้ำประกันตายหลังจากที่หนี้ถึงกำหนดชำระ  และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้  สัญญาค้ำประกันยังไม่ระงับ  ความผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตกทอดไปยังทายาทตามมาตรา  1600

 

ข้อ  2  นายเอกทำสัญญากู้เงินจากนายโท  เป็นจำนวน  5,000,000  บาท  โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้  ต่อมาราคาที่ดินของนายเอกมีราคาต่ำลงนายโทเกรงว่าจะไม่พอชำระหนี้เงินกู้  จึงมีจดหมายส่งไปถึงนายเอกขอให้นายเอกมาทำข้อตกลงเพิ่มเติมว่า  ถ้าหากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้เงินกู้  นายเอกจะยอมรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่เหลือ  เมื่อนายเอกได้รับจดหมายของนายโท  จึงตอบตกลงทางโทรศัพท์ไปยังนายโท  โดยทั้งสองตกลงว่าจะนำข้อตกลงเพิ่มเติมไปจดทะเบียนในอีก  2  วัน  แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว  นายเอกก็ไม่จดทะเบียนข้อตกลงเพิ่มเติมในโฉนดที่ดิน  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  หากต่อมานายโทบังคับจำนองที่ดินได้เงินไม่พอชำระหนี้ยังขาดเงินอยู่อีก  1,000,000  บาท  นายเอกต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  733  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด  และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี  หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

วินิจฉัย

สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  714  สัญญาจำนองคือสัญญาที่ผู้จำนองนำทรัพย์สินไปตราไว้เป็นประกันกับเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง  โดยให้ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนอง  ก่อนเจ้าหนี้สามัญคนอื่นของผู้จำนองตามมาตรา  702 

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อทำสัญญาจำนองและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว  ย่อมมีผลทางกฎหมายตามมาตรา  714  แม้ต่อมาจะทำข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาจำนองว่า  ถ้าเอาที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าหนี้ที่ค้างชำระผู้จำนองจะใช้ให้จนครบ  ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ข้อตกลงนี้จึงใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ  และแม้คู่สัญญาจะมิได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็สมบูรณ์ใช้ได้  เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการจำนองที่ดินรายพิพาท  จึงไม่เป็นสัญญาจำนองตามมาตรา  702  เนื่องจากมิได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ส่วนที่เหลือก่อนเจ้าหนี้สามัญ  ดังนั้นจึงไม่ต้องนำไปจดทะเบียนตามมาตรา  714  นายเอกจะอ้างว่าไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มเติมข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ไม่ได้   ฟังไม่ขึ้น  นายเอกต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติมาตรา  733

สรุป  นายเอกต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือ  1,000,000  แก่นายโท

 

ข้อ  3  แดงตกลงมอบเงินฝากในบัญชีธนาคารบีเอสเอ็ม  จำกัด  พร้อมสมุดบัญชีเงินฝากประจำซึ่งมีจำนวน  3  ล้านบาท  โดยได้ทำหนังสือยินยอมมอบเงินฝากไว้กับธนาคารมีข้อความว่า  เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้และธนาคารมีอำนาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากของแดง  โดยที่แดงจะไม่ถอนเงินฝากจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน  ต่อมาเจ้าหนี้อีก  2  รายของแดงได้ฟ้องให้แดงชำระหนี้และขอให้นำเงินฝากในบัญชีธนาคารดังกล่าวจัดสรรเป็นการชำระหนี้  ธนาคารไม่ยอมโดยอ้างว่าข้อตกลงระหว่างแดงและธนาคารเป็นการจำนำเงินฝาก  ธนาคารจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินฝากก่อนเจ้าหนี้รายอื่น  อยากทราบว่าข้ออ้างของธนาคารรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

วินิจฉัย

ตามหลักกฎหมายลักษณะจำนำกำหนดให้มีการส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำดังนี้  ทรัพย์ที่จะจำนำจะต้องหลุดพ้นจากการครอบครองของผู้จำนำด้วยจึงจะเป็นการจำนำ  ส่วนการจำนำเงินฝากตามใบรับฝากเงินนั้น  เงินที่ฝากไว้กับธนาคารตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร  ซึ่งธนาคารต้องมีหน้าที่คืนเงินให้ครบตามจำนวนที่ฝากไว้  การมอบเงินฝากพร้อมสมุดบัญชีประจำไว้ก็เพียงเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่ผู้ฝากจะพึงมีต่อธนาคารเท่านั้น  แม้จะมีข้อความว่าเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้และให้สิทธิธนาคารในการหักเงินถือเป็นความตกลงในการฝากเงินเพื่อประกัน  ส่วนเงินตามจำนวนในบัญชีเงินฝากนั้นยังคงเป็นของผู้ฝาก

 ตามปัญหาการตกลงดังกล่าวของแดงที่มอบเงินฝาก  พร้อมสมุดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคาร  เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้และธนาคารมีอำนาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากของแดง  โดยที่แดงจะไม่ถอนเงินฝากจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน  จึงไม่ใช่เป็นการจำนำเงินฝาก  ธนาคารจึงไม่มีสิทธิได้รับการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนำแต่ประการใด

สรุป  ข้ออ้างของธนาคารฟังไม่ขึ้น

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ S/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ไก่กู้เงินสิน  50,000  บาท  โดยมีเป็ดเป็นผู้ค้ำประกันโดยที่สินผู้ให้กู้ผู้เดียวมิได้มีการลงลายมือชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ต่อมาไก่ผิดนัดการชำระหนี้  สินจึงฟ้องไก่และเป็ดให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญากูเงินและสัญญาค้ำประกัน  ทั้งไก่และเป็ดต่างอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเพราะสินผู้ให้กู้มิได้มีการลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฉบับ  สินจึงมาปรึกษาท่านว่าข้ออ้างของทั้งสองคนรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  653  การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดบังคับว่าต้องทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือ  เพียงแต่กำหนดว่าหากจะฟ้องร้องบังคับคดีกัน  จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ  ดังนั้นหากทำสัญญากู้ยืมเงินลงลายมือชื่อผู้ยืมเพียงฝ่ายเดียว  สัญญากู้ยืมก็สมบูรณ์  มีผลบังคับตามมาตรา  653  วรรคแรก  แม้ผู้ให้กู้ยืมจะมิได้ลงลายมือชื่อด้วยก็ตาม

เช่นเดียวกับหลักฐานทางสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  680  วรรคสอง  ก็กำหนดเพียงว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญเท่านั้น

ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์ทั้งการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันต่างก็มีลายมือชื่อผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน  จึงเป็นสัญญาที่ถูกต้องสมบูรณ์มีผลบังคับตามกฎหมาย  เมื่อไก่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้  ไก้ผู้กู้ยืมและเป็ดผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญา  ตามมาตรา  686

ข้ออ้างของไก่และเป็ดที่ว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญา  เพราะสินผู้ให้กู้ยืมมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฉบับจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของไก่และเป็ดรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  แดงเป็นหนี้เขียว  300,000  บาท  โดยมีม่วงนำที่ดินของตน  1  แปลงราคา  200,000  บาท  มาทำสัญญาจำนองไว้ถูกต้องตามกฎหมาย  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแดงและเขียวตกลงกันขอนำที่ดินดังกล่าวตีราคาใช้หนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าแดงและม่วงมีสิทธิตกลงนำที่ดินมาใช้หนี้ได้หรือไม่  และเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก  100,000  บาท  ทั้งแดงและม่วงยังคงต้องรับผิดอีกหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  711  การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  ถ้าไม่ชำระหนี้  ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง  หรือว่าได้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้  ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

มาตรา  728  เมื่อจะบังคับจำนองนั้น  ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า  ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร  ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

มาตรา  733  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด  และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี  หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

วินิจฉัย

การตกลงของเขียวและแดงในการขอนำที่ดินมาตีใช้หนี้  เป็นการตกลงหลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา  711 ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ  มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับตามกฎหมายได้  และกรณีนี้มิได้มีการบังคับจำนอง  ตามมาตรา  728  ลูกหนี้ชั้นต้นคือนายแดงจึงจะขอนำมาตรา  733  เป็นข้อยกเว้นมิให้มีการชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอีก  100,00  บาท  ไม่ได้  ส่วนในกรณีของม่วงซึ่งเป็นบุคคลภายนอก  ย่อมไม่ต้องรับผิด  เนื่องจากการตีใช้หนี้ย่อมเป็นการระงับไปซึ่งหนี้จำนอง  ม่วงจึงไม่ต้องรับผิดอีก

สรุป  แดงและม่วงมีสิทธินำที่ดินมาตีใช้หนี้ได้  แต่แดงต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอีก  100,000  บาท  ส่วนม่วงเป็นอันหลุดพ้นจากความผิด  เพราะเจ้าหนี้จำนองระงับไปแล้ว

 

ข้อ  3  ทองล้วนรับจำนำรถยนต์จากทองก้อน  ระหว่างสัญญาทองล้วนอยากไปพักผ่อนชายทะเลจึงถือโอกาสนำรถยนต์ดังกล่าวขับไปชายทะเลระหว่างทางกลับบ้านเกิดน้ำท่วมทำให้ขับรถกลับไม่ได้  รถจอดแช่น้ำอยู่  3  วันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายคิดเป็นเงิน 100,000  บาท  ทองก้อนทราบข่าวจึงขอให้ทองล้วนรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  ทองล้วนอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย  อยากทราบว่าข้ออ้างของทองล้วนรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  760  ถ้าผู้รับจำนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกใช้เอง  หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  หรือเก็บรักษาโดยผู้จำนำมิได้ยินยอมด้วยไซร้  ท่านว่าผู้รับจำนำจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจำนำนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

ทองล้วนรับจำนำรถยนต์จากทองก้อน  ระหว่างสัญญาทองล้วนได้นำรถยนต์ดังกล่าวขับไปชายทะเล  ระหว่างทางกลับบ้านเกิดน้ำท่วมทำให้รถเสียหาย  กรณีเป็นการที่ผู้รับจำนำ  นำทรัพย์ที่จำนำออกใช้สอยโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้จำนำ  ซึ่งตามมาตรา  760  กำหนดให้ผู้รับจำนำจักต้องรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลาย  แม้ทั้งเป็นเหตุสุดวิสัยและกรณีดังกล่าวก็มิใช่กรณีจะอ้างได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ถึงอย่างไรก็คงจะสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั้นเองตามมาตรา  760  ไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของทองล้วนจึงรับฟังไม่ได้ 

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  จำเลยทำสัญญากู้เงินจากธนาคาร  และจำเลยขอให้โจทย์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากที่โจทก์ฝากไว้แก่ธนาคารเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของจำเลย  โจทก์จึงทำหนังสือมอบสิทธิการรับฝากเงินดังกล่าวแก่ธนาคาร  โดยยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์มาชำระหนี้ได้  ถ้าจำเลยผิดนัดชำระหนี้  ปรากฏต่อมาว่าธนาคารได้หักเงินฝากของโจทก์  เป็นจำนวน  5,000,000  บาท  เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยแทนจำเลย  โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้หนี้จำนวน  5,000,000  บาท แก่โจทก์  อยากทราบว่าการกระทำของโจทก์  จำเลย  และธนาคาร  จัดเป็นสัญญาค้ำประกันตามมาตรา  680  หรือไม่  จงอธิบาย  และมีผลบังคับได้อย่างไรตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การที่โจทก์กับธนาคารและจำเลยตกลงกันนี้ถือเป็นความตกลงกันในทางการฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง  เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารแทนจำเลยตามที่จำเลยร้องขอ  โดยจำเลยรับจะชำระหนี้คืนโจทก์  และธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก็ยอมรับชำระหนี้แล้ว  จำเลยจึงต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้  กรณีหาใช่เป็นสัญญาค้ำประกันตามมาตรา  680 ไม่  เพราะกรณีของสัญญาค้ำประกันจะต้องเป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกผู้เป็นผู้ค้ำประกันจะรับผิดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้นั้น  โดยมิต้องคำนึงว่ามีสิทธิจะขอหักเงินจากเงินฝากเท่านั้น

สรุป  การกระทำของโจทก์  จำเลย  และธนาคารไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันตามมาตรา  680

 

ข้อ  2  นางแตงกวาได้จำนองที่ดินของตนกับพระภิกษุอิน  เพื่อเป็นการประกันว่าจะคืนเงินที่ได้ยืมมาจากพระภิกษุอิน  เป็นจำนวน 100,000  บาท  ซึ่งในที่ดินดังกล่าวได้มีบ้านซึ่งปลูกไว้แล้ว  แต่เป็นของนายแตงไทพี่สาวของนายแตงกวา  ต่อมานางแตงกวาได้ปลูกบ้านของตนขึ้นภายหลังวันจำนอง  ดังนี้

1       การจำนองเพื่อประกันเงินกู้ยืมที่พระภิกษุอินปล่อยให้นางแดงกวามีผลเพียงไร

2       การจำนองที่ดินจะครอบถึงทรัพย์อื่นหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  719  จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

มาตรา  720  จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน  ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย  ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

วินิจฉัย

1       การจำนองที่ดินของแตงกวาเพื่อประกันเงินกู้ยืมมีผลบังคับทางกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  การทำสัญญาจำนองจะมีผลทางกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อสัญญาซึ่งก่อให้เกิดหนี้หรือหนี้ประธานสมบูรณ์มีผลบังคับทางกฎหมาย  หากสัญญาซึ่งก่อให้เกิดหนี้ตกเป็นโมฆะ  สัญญาจำนองประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันผู้จำนองให้ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน

กรณีตามอุทาหรณ์หนี้ประธาน  เป็นหนี้เงินกู้ยืมพระภิกษุอินเป็นผู้ให้กู้ยืม  มีผลบังคับทางกฎหมาย  เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามมิให้พระภิกษุนำเงินส่วนตัวออกให้บุคคลกู้ยืม  พระภิกษุก็เป็นบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย  ทั้งการให้กู้ยืมเงินเป็นการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อนได้ทางหนึ่ง  จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ไม่เป็นโมฆะ

ดังนั้นเมื่อสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานมีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆะ  การจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ประกันการชำระหนี้จึงสมบูรณ์  มีผลบังคับทางกฎหมายได้  ตามมาตรา  702

2       การจำนองที่ดินจะครอบถึงทรัพย์อื่นหรือไม่  เห็นว่ากรณีตามอุทาหรณ์มีทรัพย์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินจำนอง  2  สิ่ง  คือ  บ้านของนางแตงกวา  และบ้านของนางแตงไท  ดังนั้น

บ้านของนางแตงกวา  เป็นบ้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่สร้างขึ้นภายหลังวันจำนอง  จำนองย่อมไม่ครอบไปถึงด้วย  ตามมาตรา  719

ส่วนบ้านของนางแตงไท  จำนองย่อมไม่ครอบไปถึงด้วยเช่นกัน  ตามมาตรา  720  เพราะเป็นบ้านซึ่งเป็นของคนอื่นที่ได้สร้างลงในที่ดินซึ่งจำนองไว้  โดยไม่คำนึงว่าบ้านนั้นจะสร้างขึ้นก่อนหรือขณะจำนองหรือภายหลังวันจำนอง

สรุป

1       การจำนองมีผลสมบูรณ์

2       การจำนองไม่ครอบไปถึงบ้านทั้งสองหลังดังกล่าว

 

ข้อ  3  นาย  A  ทำสัญญากู้เงิน  3  ล้านบาทจากนาย  B  โดยมีนาย  C  ส่งมอบเครื่องเพชรไว้เป็นจำนำประกันหนี้สัญญาเงินกู้  ต่อมาหนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระ  นาย  A  ผิดนัดไม่ชำระหนี้  นาย  B  ก็มิได้ฟ้องเรียกร้องให้นาย  A  ชำระหนี้เงินกู้  แต่นาย  B  ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำไปยังนาย  A  และนาย  C  แต่ทั้งสองก็มิได้ชำระหนี้  นาย  B  จึงนำเครื่องเพชรของนาย  C  ออกขายทอดตลาดชำระหนี้  เช่นนี้  ถ้าขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้เงินกู้  3  ล้านบาท  นาย  A  และนาย  C  จะต่อสู้ในเรื่องต่อไปนี้ได้หรือไม่

1       การบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ฟ้องร้องต่อศาล

2       การที่เงินขาดจำนวนไม่พอชำระหนี้เงินกู้ 3  ล้านบาท  ไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่

ธงคำตอบ

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

การที่นาย  A  ทำสัญญากู้เงิน  3  ล้านบาท  ไปจากนาย  B  โดยมีนาย  C  นำเครื่องเพชรมาส่งมอบไว้เป็นการจำนำประกันหนี้เงินกู้  ต่อมานาย  A  ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้นาย  B  เจ้าหนี้ผู้รับจำนำจึงมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำไปยังนาย  A  (ลูกหนี้)  และนาย  C  (ผู้จำนำ)  แต่ทั้งสองก็มิได้นำเงินมาชำระหนี้เงินกู้  นาย  B  (ผู้รับจำนำ)  จึงนำเครื่องเพชรที่รับจำนำออกขายทอดตลาด  จึงชอบที่จะกระทำได้เพราะ  มาตรา  764  มีหลักว่าถ้ามีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำแล้ว  ถ้าลูกหนี้ยังไม่นำเงินมาชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำ  เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะนำทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ประธานได้  ดังนั้นข้ออ้างของนาย  A  และนาย  C  ที่ว่าการบังคับจำนำไม่ชอบเพราะไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลให้นำทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดจึงฟังไม่ขึ้นเพราะการบังคับจำนำไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลตามมาตรา  764

ส่วนกรณีที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนำแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามมาตรา  767  มีหลักว่าถ้าขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้  ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่  ดังนั้นเมื่อขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้  นาย  A  ลูกหนี้จึงยังคงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่ตามมาตรา  767  แต่นาย  C  ผู้จำนำไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่  เพราะมิใช่เป็นลูกหนี้ชั้นต้น  ดังนั้น  นาย  A  จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าตนไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ขาดอยู่เพราะนาย  A  เป็นลูกหนี้ชั้นต้น  เมื่อนาย  B  เจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้เงินไม่พอชำระหนี้เงินกู้  3  ล้านบาท  นาย  A  ลูกหนี้จึงต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่  แต่นาย  C  ผู้จำนำสามารถอ้างได้ว่าไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่เพราะนาย  C  เป็นเพียงผู้จำนำมิใช่เป็นลูกหนี้ชั้นต้น  จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามมาตรา  767

สรุป 

1 ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น  เพราการบังคับจำนำไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลตามมาตรา  764

2  ข้ออ้างของนาย  A  ฟังไม่ขึ้น  แต่ของนาย  C  สามารถรับฟังได้  เพราะนาย   C  มิใช่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา  767

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ สอบซ่อม 1/2548

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ไก่กู้เงินสิน  50,000  บาท  โดยมีเป็ดเป็นผู้ค้ำประกันโดยที่สินผู้ให้กู้ผู้เดียวมิได้มีการลงลายมือชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน  ต่อมาไก่ผิดนัดการชำระหนี้  สินจึงฟ้องไก่และเป็ดให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน  ทั้งไก่และเป็ดต่างอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเพราะสินผู้ให้กู้มิได้มีการลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับ  สินจึงมาปรึกษาท่านว่าข้ออ้างของทั้งสองคนรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดบังคับว่าต้องทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือ  เพียงแต่กำหนดว่าหากจะฟ้องร้องบังคับคดีกัน  จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ  ดังนั้นหากทำสัญญากู้ยืมเงินลงลายมือชื่อผู้ยืมฝ่ายเดียว  สัญญากู้ยืมก็สมบูรณ์  มีผลบังคับตามมาตรา  653  วรรคแรก  แม้ผู้ให้กู้ยืมจะมิได้ลงลายมือชื่อด้วยก็ตาม

เช่นเดียวกับหลักฐานทางสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  680  วรรคสอง  ก็กำหนดเพียงว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญเท่านั้น

ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  ทั้งการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันต่างก็มีลายมือชื่อผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน  จึงเป็นสัญญาที่ถูกต้องสมบูรณ์มีผลบังคับตามกฎหมาย  เมื่อไก่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้  ไก่ผู้กู้ยืมและเป็ดผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญา  ตามมาตรา  686

ข้ออ้างของไก่และเป็ดที่ว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญา  เพราะสินผู้ให้กู้ยืมได้ลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฉบับจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของไก่และเป็ดรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นายส้มจุกกับนางส้มโอ  เป็นสามีภริยากันถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมานายส้มจุกเอาเงินครอบครัวมาซื้อที่ดินและได้ใส่ชื่อของตนโดยไม่ยอมใส่ชื่อภริยาในโฉนดด้วย  ภายหลังนายส้มจุกมีภริยาน้อยจึงไปยืมเงินนางส้มเขียวหวาน  (ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนางส้มโอ)  เป็นเงิน  100,000  บาท  พร้อมนำโฉนดฉบับดังกล่าวมาจำนองโดยจดทะเบียนตามกฎหมาย  ดังนี้นางส้มโอภริยาจะร้องต่อศาลโยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินครึ่งหนึ่ง  ขอให้ศาลเพิกถอนการจำนองดังกล่าวได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

วินิจฉัย

การที่สามีภริยาได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส  ย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าให้ถือเป็นสินสมรส (มาตรา  1474)  ฉะนั้นทั้งส้มจุกและส้มโอจะมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินแปลงดังกล่าว  แต่ในกรณีนี้  สามีได้นำชื่อของตนไปเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว  และภายหลังได้นำมาจำนองกับเพื่อนสนิทของภริยา  จึงถือว่าเพื่อนภริยาต้องรู้หรือควรรู้ได้ว่าที่ดินดังกล่าว  จะต้องมีกรรมสิทธิ์ร่วม  หรือเป็นสินสมรสนั่นเอง  ฉะนั้นกฎหมายจึงไม่คุ้มครองผู้รับจำนองที่ไม่สุจริต (กฎหมายจะปกป้องผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทน)  ดังนั้นการจำนองครั้งนี้จึงไม่สมบูรณ์  ตามมาตรา  702

สรุป  การจำนองไม่สมบูรณ์  นางส้มโอสามารถร้องต่อศาลให้เพิกถอนการจำนองดังกล่าวได้

 

 

ข้อ  3  นายเอกทำสัญญากู้เงินนายโทเป็นเงิน  3  แสนบาท  โดยตกลงให้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ปีละ  1  แสนบาท  ซึ่งเกินกว่าร้อยละ  15 บาทต่อปีตามกฎหมาย  ซึ่งในการกู้ครั้งนี้นายตรีได้มอบชุดเครื่องเพชรไว้เป็นประกันการชำระหนี้นายเอก  ปรากฏว่าต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชำระหนี้  นายโทจึงบอกกล่าวบังคับจำนำตามกฎหมาย  แต่นายโทก็ยังไม่ได้รับการชำระหนี้  นายโทจึงนำชุดเครื่องเพชรออกขายทอดตลาดทันทีโดยไม่ได้ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลมีคำสั่งนำชุดเครื่องเพชรออกขายทอดตลาดก่อน  เมื่อนายโทขายทอดตลาดได้เงินมาจึงนำเงินที่ได้มาชำระหนี้เงินต้น  3  แสนบาท  พร้อมกับนำไปชำระหนี้ดอกเบี้ย  1  แสนบาทด้วย  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าการบังคับจำนำชุดเครื่องเพชรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และนายโทจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

นายโทเจ้าหนี้ผู้รับจำนำเครื่องเพชรของนายตรีเพื่อประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายเอกลูกหนี้  โดยตกลงให้นายโทมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ  15  บาทต่อปีจึงถือว่าข้อตกลงในการคิดดอกเบี้ยเป็นโมฆะตามกฎหมาย  การจำนำเพื่อประกันการชำระหนี้ดอกเบี้ยจึงไม่มีผลบังคับได้  แต่การจำนำประกันการชำระหนี้ในส่วนของเงินต้นยังมีผลสมบูรณ์  เพราะการจำนำมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้ประธานอันสมบูรณ์เท่านั้น  ตามมาตรา  747  ดังนั้น  นายโทจึงมีสิทธิบังคับจำนำเครื่องเพชรเพื่อชำระหนี้ได้แต่เฉพาะต้นเงิน  3  แสนบาทเท่านั้น  ไม่มีสิทธินำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเครื่องเพชรไปชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ย  1  แสนบาท

ส่วนการบังคับจำนำเครื่องเพชรดำเนินการโดยชอบแล้วโดยไม่ต้องฟ้องบังคับจำนำเพื่อให้ศาลมีคำสั่งนำเครื่องเพชรออกขายทอดตลาดก่อน  เพราะการบังคับจำนำไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล  ต่างจากการบังคับจำนองต้องฟ้องเป็นคดีก่อน  ตามมาตรา  764  ดังนั้น  การที่นายโทนำเครื่องเพชรทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดโดยไม่ได้ฟ้องเป็นคดีก่อนจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การบังคับจำนำเครื่องเพชรโดยไม่ได้ฟ้องเป็นคดีก่อนนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  764  แต่นายโทไม่มีสิทธินำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเครื่องเพชรไปชำระหนี้ดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะได้เพราะหนี้ประธานในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สมบูรณ์  ตามมาตรา  747

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ สอบซ่อม S/2548

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  วันที่  3  กุมภาพันธ์  2549  นายจิ๋วทำสัญญาจ้างนายใหญ่  อายุ  19  ปี  เป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานเก็บเงินที่ร้านมินิมาร์ท  (Mini  Mart)  เป็นระยะเวลา  3  ปี  ต่อมาวันที่  4  กุมภาพันธ์  2549  นายน้อยพี่ชายของนายใหญ่  ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายใหญ่ให้กับนายจิ๋ว  โดยจะยอมรับผิดชดใช้เงินถ้านายใหญ่ทำให้นายจิ๋วเสียหาย  ในวันที่  5  กุมภาพันธ์  2549  นายใหญ่ได้ร้องขอให้นายเบิ้มทำการค้ำประกันการทำงานให้ตน  เพราะนายใหญ่ไม่ทราบว่านายน้อยพี่ชายของตนได้ทำการค้ำประกันให้แล้ว 

แต่นายเบิ้มไม่ได้เข้าค้ำประกันให้  เพราะนายเบิ้มทราบแล้วว่านายน้อยได้ทำการค้ำประกันการทำงานให้นายจิ๋วแล้ว  ในวันที่  10  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วไป  4,000  บาท  ในวันที่  11 มีนาคม  2549  นายจิ๋วได้แจ้งให้นายน้อยชำระหนี้แทนนายใหญ่  ต่อมาเมื่อนายน้อยทราบเรื่องจึงโกรธนายใหญ่ที่ไปยักยอกเงินนายจิ๋ว  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1 ถ้าในวันที่  13  มีนาคม  2549  นายน้อยได้ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า  ตนไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  เพราะนายใหญ่ยังเป็นผู้เยาว์ไม่บรรลุนิติภาวะ  ไม่อาจทำนิติกรรมสัญญาได้  อีกทั้งในขณะที่ตนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน   นายใหญ่ยังไม่ได้ก่อเหตุละเมิดจึงยังไม่มีหนี้ประธานในขณะทำสัญญาค้ำประกัน

2 ถ้าในวันที่  14  มีนาคม  2549  นายน้อยได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันต่อนายจิ๋ว  ต่อมาในวันที่  19  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วอีกเป็นเงิน  7,000  บาท  เช่นนี้

ทั้งสองกรณีนี้ข้อต่อสู้ของนายน้อยรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนายน้อยต้องรับผิดต่อนายจิ๋วหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  680  วรรคแรก  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

 หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

 หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้ เพราะทำด้วยความสำคัญผิด หรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่ เข้าทำสัญญาผูกพันตน

มาตรา  699  การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้นท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้  โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้

ในกรณีเช่นนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  การค้ำประกันต้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นทราบหรือไม่  เห็นว่า  การค้ำประกันเป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกเข้าทำการผูกพันตนต่อเจ้าหนี้  เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ประธาน  ดังนั้น  การค้ำประกันเป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลภายนอก  โดยไม่ต้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นให้ความยินยอมก่อน  ตามมาตรา  680  วรรคแรก  ดังนั้น  แม้ว่าวันที่  4  กุมภาพันธ์  2549  พี่ชายของนายใหญ่  จะได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายใหญ่ให้กับนายจิ๋ว  โดยนายจิ๋วไม่ทราบว่านายน้อยพี่ชายได้ค้ำประกันก็ตาม  

นายน้อยก็ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ในวันที่  10  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วไป  4,000  บาท  ถือว่านายใหญ่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา  206  ความรับผิดของนายน้อย  ผู้ค้ำประกันจึงเกิดขึ้น  ตามมาตรา  686  ดังนั้น

1  ถ้าในวันที่  13  มีนาคม  2549  นายน้อยได้ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า  ตนไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  เพราะนายใหญ่ยังเป็นผู้เยาว์ไม่บรรลุนิติภาวะ  ไม่อาจทำนิติกรรมสัญญาได้  อีกทั้งในขณะที่ตนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน   นายใหญ่ยังไม่ได้ก่อเหตุละเมิดจึงยังไม่มีหนี้ประธานในขณะทำสัญญาค้ำประกัน

ข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่าตามมาตรา  681  วรรคแรก  และวรรคสอง  การค้ำประกันหนี้มีได้แต่เฉพาะหนี้ประธานที่สมบูรณ์  เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจิ๋ว  นายจ้าง  กับนายใหญ่  ลูกจ้าง  ซึ่งอายุ  19  ปี  เป็นผู้เยาว์   โดยไม่ปรากฏว่าผู้แทนโดยชอบธรรมของนายใหญ่ให้ความยินยอม  สัญญาจ้างแรงงานจึงตกเป็นโมฆียะ  แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาจ้างแรงงานก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่  จึงมีการค้ำประกันได้

อีกทั้งแม้ว่าในขณะเข้าค้ำประกัน  นายใหญ่ยังไม่ได้ก่อความเสียหายให้เกิดแก่นายจิ๋วก็ตาม  ก็สามารถมีการค้ำประกันได้  เพราะหนี้ในอนาคตก็อาจมีการค้ำประกันได้  ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่หนี้นั้นอาจเกิดขึ้นได้จริง  ซึ่งการค้ำประกันการจ้างแรงงานถือว่าเป็นหนี้ในอนาคตจึงสามารถมีการค้ำประกันได้  ตามมาตรา  681  วรรคสอง  ข้อต่อสู้ของนายน้อยจึงฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี  นายน้อยต้องรับผิดในหนี้ละเมิดที่นายใหญ่ได้ก่อให้เกิดขึ้นในวันที่  11  มีนาคม  2549  เป็นเงิน  4,000  บาท

2       ส่วนถ้าในวันที่  14  มีนาคม  2549  นายน้อยได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันต่อนายจิ๋ว  ต่อมาในวันที่  16  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วอีกเป็นเงิน  7,000  บาท  เช่นนี้นายน้อยจะบอกเลิกการค้ำประกันได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  699  ถ้าเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว  ไม่มีจำกัดเวลาในการค้ำประกัน  ผู้ค้ำประกันอาจบอกเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้  โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้  แต่ตามข้อเท็จจริงการจ้างแรงงานมีกำหนดเวลาจ้าง  3  ปี  ถือว่าการค้ำประกันของนายน้อย  มีจำกัดเวลาในการค้ำประกัน  ดังนั้นนายน้อยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกการค้ำประกันได้  นายน้อยจึงต้องรับผิดในหนี้ละเมิดที่นายใหญ่ได้ก่อให้เกิดขึ้นในวันที่  19  มีนาคม  2549  ต่อนายจิ๋วนายจ้างด้วย  ข้อต่อสู้ของนายน้อยผู้ค้ำประกันฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายน้อยฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี

 

ข้อ  2  นาย  ก  กู้เงินนาย  ข  เป็นเงิน  60,000  บาทถ้วน  และมีนาย  A  นาย  B  และนาย  C  มาจำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้ให้กับการกู้ยืมเงิน  โดยที่ดินนาย  A  มีราคา  100,000  บาท  นาย  B  มีราคา  200,000  บาท  และนาย  C  มีราคา  300,000  บาท  ดังนี้ หากนาย  ข  ต้องการจะบังคับขายทอดตลาดทุกแปลงได้หรือไม่  และหากได้  ผู้จำนองจะต้องรับผิดชอบคนละเท่าไร

ธงคำตอบ

มาตรา  728  เมื่อจะบังคับจำนองนั้น  ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า  ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร  ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

มาตรา  729  นอกจากทางแก้ดังบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนั้น  ผู้รับจำนองยังชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี

(2) ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวนเงินอันค้างชำระและ

(3) ไม่มีการจำนองรายอื่น  หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้เอง

มาตรา  734  ถ้าจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้  ท่านว่าผู้รับจำนำจะใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินนั้นๆ  ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้  แต่ท่านห้ามมิให้ทำเช่นนั้นแก่ทรัพย์สินมากสิ่งกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้หนี้ตามสิทธิแห่งตน

ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน  ท่านให้แบ่งภาระแห่งหนี้นั้นกระจายไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้นๆ

วินิจฉัย

นาย  ข  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนอง  สามารถที่จะบังคับจำนองได้โดยการขายทอดตลาดตามมาตรา  728  หรือฟ้องเอาจำนองหลุดตามมาตรา  729

ตามมาตรา  728  ผู้รับจำนองสามารถที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองทั้งหมดได้  ตามมาตรา  734  วรรคแรก  และเมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน  ก็จะต้องเฉลี่ยความรับผิดไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้นๆ  ตามมาตรา  734  วรรคสอง  ดังนั้น  นาย  A  ต้องรับผิด  10,000  บาท  นาย  B  รับผิด  20,000  บาท  และนาย  C  รับผิด  30,000 บาท

สรุป  นาย  A  รับผิด  10,000  บาท  นาย  B  รับผิด  20,000  บาท  และนาย  C  รับผิด  30,000 บาท

 

ข้อ  3  นาย  ก  กู้เงินนาย  ข  เป็นจำนวนเงิน  12,000  บาท  โดยมีนาย  ค  มอบสร้อยคอจำนำไว้เป็นประกัน  หนี้การกู้ยืมเงินและจำนำกันครั้งนี้ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมหรือจำนำเป็นหนังสือ  ต่อมาหนี้ถึงกำหนดชำระปรากฏว่านาย  ก  ผิดนัด  และนาย  ข  มีหนังสือทวงถามให้นาย  ก  และนาย  ค  ชำระหนี้  แต่บุคคลทั้งสองไม่ชำระหนี้  นาย  ข  จึงนำสร้อยคอที่รับจำนำไว้ไปขายทอดตลาดได้เงินสุทธิ  8,000 บาท  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ข  จะฟ้องเรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท จากนาย  ก  ลูกหนี้  และนาย  ค  ผู้รับจำนำได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  สัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่ากรณีตามอุทาหรณ์เป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาท  ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด  เพียงแต่หากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ดังนั้นสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนาย  ก  และนาย  ข  สมบูรณ์ตามกฎหมาย  แต่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาคือ  การจำนำสร้อยคอของนาย  ค  สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่าการจำนำตามมาตรา  747  ย่อมสมบูรณ์เพียงส่งมอบทรัพย์ที่จำนำ  ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด  ดังนั้นการจำนำดังกล่าวจึงสมบูรณ์  มีผลตามกฎหมาย  เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้  ผู้รับจำนำสามารถบังคับจำนำโดยการเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  นาย  ข  จะฟ้องรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  จากนาย  ก  ลูกหนี้  และนาย  ค  ผู้จำนำได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อบังคับจำนำแล้วได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ตามมาตรา  767  วรรคสอง  หากหนี้ประธานสมบูรณ์ฟ้องร้องตามกฎหมายได้  แต่ตามปัญหาหนี้ประธานคือ  หนี้กู้ยืม  ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้  นาย  ข  จึงฟ้องเรียกเงินที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  ไม่ได้

ส่วนนาย  ค  ก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดอยู่  เพราะนาย  ค  เป็นแต่เพียงผู้เอาทรัพย์มาประกันการชำระหนี้เท่านั้น  มิได้เป็นลูกหนี้  ทั้งนี้กฎหมายมาตรา  767  วรรคสองกำหนดให้ลูกหนี้เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดอยู่  เมื่อมีการบังคับจำนำแล้ว   จำนำย่อมระงับสิ้นไป  นาย  ข  จึงฟ้องเรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  จากนาย  ค  ผู้จำนำไม่ได้

สรุป  นาย  ข  จะฟ้องเรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  จากนาย  ก  และนาย  ค  ไม่ได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!