การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท แดงได้นำที่ดินของตนหนึ่งแปลงจำนองไว้ หลังจากนั้นแสดได้ค้ำประกัน
และต่อมาอีกไม่นานแดงได้จำนองที่ดินของตนอีกหนึ่งแปลงประกันหนี้รายนี้
ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำปลดจำนองให้แดง และแดงได้จดทะเบียนการปลดฯ แล้ว เมื่อหนี้ ถึงกำหนดชำระแดงผิดนัด ดำจึงเรียกให้แสดชำระหนี้ (ขณะนั้นที่ดินราคาแปลงละห้าแสนบาท) แสดต่อสู้ว่าตนหลุดพ้นไม่ต้องชำระหนี้
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และความรับผิดของแสดจะเป็นอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงิน กับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น
อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย”
มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น”
วินิจฉัย
ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิจำนอง หรือจำนำ หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหาย เพราะการกระทำของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดำ 1,000,000 บาท และได้นำที่ดิน 2 แปลง ๆ ละ 500,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้โดยมีแสดเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำได้ปลดจำนอง ที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แดงและแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว
ดังนี้การกระทำของดำเจ้าหนี้เป็นเหตุให้ แสดผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินของลูกหนี้ และจะทำให้แสด ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ก่อนทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น เมื่อดำเจ้าหนี้ปลดจำนองให้แดงลูกหนี้ แสดผู้ค้ำประกันย่อมสามารถต่อสู้ได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตน ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิชองเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้และทำให้ตนได้รับความเสียหาย ดังนั้น ตนจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้จำนวน 500,000 บาทได้ตามมาตรา 693 และ 697
ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ภายหลังการทำสัญญาค้ำประกันแล้ว ดังนั้นการที่ดำเจ้าหนี้ได้ปลดจำนองที่ดินแปลงนี้ให้แดง แสดผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้ว่า การกระทำของดำเป็นเหตุให้ตนไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 697 ดังนั้น แสดผู้ค้ำประกันจึงยังคงด้องรับผิดในการชำระหนี้ให้แก่ดำจำนวน 500,000 บาท
สรุป ข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นเฉพาะกรณีที่ดินแปลงที่ 1 ส่วนกรณีที่ดินแปลงที่ 2 นั้นฟังไม่ขึ้น และแสดจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ดำ 500,000 บาท