การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายฝนกู้เงินนายเมฆ 5 ล้านบาท มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องตามกฎหมาย นายเมฆขอให้นายฝน หาผู้มาค้ำประกัน นายฝนจึงขอให้นายฟ้าและนายดินช่วยเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งทั้งนายฟ้าและนายดิน ไต้ตกลงกับนายเมฆ

โดยนายฟ้าจะขอจำกัดจำนวนค้ำประกันเพียง 2 ล้านบาท ส่วนนายดินไม่จำกัด จำนวนการค้ำประกัน โดยทั้งคู่ได้มีการลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันมอบให้นายเมฆ แต่นายฝนมิได้ลงลายมือชื่อ

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายฝนชำระเงินไม่ได้ นายเมฆจึงเรียกให้นายฟ้าและนายดินชำระหนี้แทนตามสัญญา ปรากฏว่านายฟ้ายอมชำระเงิน 2 ล้านบาท ส่วนนายดินไม่ยอมชำระเนื่องจากอ้างว่า นายฝนมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน นายฝนได้อ้างว่าเมื่อมีผู้ค้ำประกันแล้วตนไม่ต้อง ชำระหนี้อีกต่อไป

อยากทราบว่า ข้ออ้างของนายฝนและนายดินรับฟ้งได้หรือไม และเงินส่วนที่เหลือนายเมฆจะเรียกจากใครได้บ้าง จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 683 “อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้น ย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย

มาตรา 685 “ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ ในส่วนที่เหลือนั้น

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานใน การฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฟ้าและนายดินได้ตกลงเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ที่นายฝนกู้เงิน นายเมฆ โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายฟ้าและนายดินนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง

เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฝนชำระหนี้ไม่ได้ นายเมฆเจ้าหนี้ ย่อมมีสิทธิเรียกให้นายฟ้าและนายดินผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 ข้ออ้างของนายดินที่อ้างว่านายฝน มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันจึงรับฟ้งไม่ได้

และเมื่อปรากฏว่านายฟ้าได้จำกัดความรับผิดเพียง 2 ล้านบาท เมื่อนายฟ้ายอมชำระเงิน 2 ล้านบาท ให้นายเมฆแล้ว นายฟ้าจึงไม่ต้องรับผิดใด ๆ ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก ส่วนนายดินนั้นเมื่อปรากฏว่านายดินไม่ได้จำกัดความรับผิด นายดินจึงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันต่าง ๆ ด้วยตามมาตรา 683

ส่วนกรณีของนายฝนลูกหนี้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไม่ครบตามมูลหนี้ หนี้เงินยังคงเหลืออยู่เท่าใดลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดตามมาตรา 685 ดังนั้น นายฝนจึงต้องรับผิดในหนี้เงินส่วนที่เหลือจำนวน 3 ล้านบาทให้แก่นายเมฆ

สรุป ข้ออ้างของนายฝนและนายดินรับฟ้งไม่ได้ และเงินส่วนที่เหลือนายเมฆจะเรียกร้องจากนายดินและนายฝนได้

 

ข้อ 2. นายเคียงขอยืมเงินนางเอียงจำนวน 100,000 บาท ในสัญญากำหนดว่าจะคืนหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา ต่อมา 1 เดือน นายค้ำได้เข้ามาทำสัญญาเอาที่ดินสวนทุเรียนของตนมาจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้รายนี้

โดยไม่ได้ขออนุญาตนายเคียงลูกหนี้ก่อน หลังจากที่นายค้ำทำสัญญาจำนองกับนางเอียงได้ 5 เดือน ทุเรียนออกลูกมาได้ราคาดีมาก นางเอียงอยากได้ทุเรียนมาขาย

จึงได้ส่งคำบอกกล่าวให้นายค้ำว่าตนจะบังคับจำนอง ขอให้นายค้ำมอบทุเรียนให้ตน ดังนี้ นายค้ำต้องมอบ ทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ ’’

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 716 “จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา 721 “จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนอง ได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายค้ำได้เข้ามาทำสัญญาเอาที่ดินสวนทุเรียนของตนมาจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ระหว่างนางเอียงและนายเคียงนั้น การจำนองดังกล่าว

ถึงแม้จะเป็นที่ดินของนายค้ำซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ และนายค้ำได้เข้ามาจำนองที่ดินของตนโดยไม่ได้ขออนุญาตนายเคียงลูกหนี้ก่อนก็ตาม การจำนองก็ย่อมกระทำได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 709 ข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองจึงมีผล ผูกพันตามกฎหมาย

สำหรับที่ดินสวนทุเรียนที่นายค้ำนำมาจำนองนั้น การจำนองย่อมครอบไปหมดทุกส่วน รวมทั้งลูกทุเรียนซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์จำนองด้วยตามมาตรา 716 แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะถือว่าการจำนอง ครอบไปถึงลูกทุเรียนซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์จำนองด้วยนั้น

จะต้องมีการส่งคำบอกกล่าวให้กับนายค้ำเจ้าของ สวนทุเรียนทราบก่อนว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับจำนองตามมาตรา 721

ตามข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่านายเคียงลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด นางเอียง เจ้าหนี้จึงไม่สามารถจะบอกกล่าวบังคับจำนองเพื่อบังคับเอาทุเรียนมาชำระหนี้ได้ เพราะการจะบอกกล่าวบังคับจำนองได้นั้น

จะต้องมีการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้เสียก่อน ดังนั้น เมื่อนางเอียงเจ้าหนี้ไม่สามารถที่จะบังคับเอาทุเรียนมาชำระหนี้ได้แล้ว นายค้ำจึงไม่ต้องส่งมอบทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้

สรุป นายค้ำไม่ต้องส่งมอบทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้  

 

ข้อ 3. ก. ซื้อเชื่อเครื่องรับโทรทัศน์ 1 เครื่องไปจาก ข. แล้วนำไปจำนำ ค. ไว้ ทั้งนี้ ค. รับจำนำไว้โดยสุจริต ไม่ทราบว่า ก. ซื้อเชื่อมา ก. ผิดนัดชำระหนี้ราคาโทรทัศน์ ข. จึงฟ้อง ก. ให้ชำระหนี้

ศาลสั่งให้ ข. ชนะคดี ข. นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ ค. ผู้รับจำนำ ยื่นคำร้องว่า ข. ไม่มีสิทธิยึดของที่ ค. ได้รับจำนำไว้ได้

เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 758 ผู้รับจำนำ มิสิทธิที่จะยึดทรัพย์ที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ และ ค. ผู้รับจำนำยังไม่ได้รับชำระหนี้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของ ค. ฟ้งได้หรือไม่ ข. มีอำนาจนำยึดทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการขำระหนี้”

มาตรา 758 “ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ ก. ซื้อเชื่อเครื่องรับโทรทัศน์ไปนั้น กรรมสิทธิ์ย่อมตกเป็นของ ก. ผู้ซื้อแล้ว ก. จึงมีสิทธินำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำ กับ ค. ได้ตามมาตรา 747

และเมื่อปรากฏว่า ก. ผิดนัดชำระหนี้ราคาเครื่องรับโทรทัศน์ ข. เจ้าหนี้ซึ่งชนะคดีจะมายึดเครื่องรับโทรทัศน์ในขณะที่ ค. ผู้รับจำนำยังไม่ได้รับชำระหนี้นั้น ข้ออ้างของ ค. ที่อ้างว่า ข. ไม่มีสิทธิยึดของที่ ค. ได้รับจำนำไว้ เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 758 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนำมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์ที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้นั้น ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ข. มีอำนาจยึดทรัพย์ได้หรือไม่ เห็นว่า ข. เป็นเจ้าของ เครื่องรับโทรทัศน์ที่ ก. ซื้อเชื่อไป จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ ก. และเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อ ข. นำคดีขึ้นสู่ศาลและศาลสั่งให้ ข. ชนะคดี ข. จึงมีสิทธิที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ได้ (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 778/2503)

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ค. ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์ที่จำนำอยู่ ข. จึงต้องเลียค่าไถ่ให้กับ ค. ผู้รับจำนำเพื่อมีผลเท่ากับว่าผู้รับจำนำได้รับชำระหนี้ครบแล้วจึงจะสามารถนำยึด ทรัพย์จำนำไปได้

สรุป ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้ และ ข. มีอำนาจนำยึดทรัพย์ได้ แต่จะต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์จำนำให้ ค. ผู้รับจำนำ

Advertisement