การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายกรุงเทพกู้เงินนายต่างจังหวัด 5 ล้านบาท พร้อมหลักฐานการกู้ถูกต้อง ขณะเดียวกันนายตำบล ได้นำที่แปลงหนึ่งราคา 3 ล้านบาท ซึ่งเช่าซื้อจากนายอำเภอ แต่ยังชำระค่าเข่างวดไม่ครบ มาเพื่อจะจำนองเป็นหลักประกันในหนี้รายนี้

นอกจากนั้นนายเทศบาลก็ได้เสนอจะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้โดยตกลงกับนายกรุงเทพว่าหากนายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือแต่ลงลายมือชื่อนายเทศบาลเท่านั้น อยากทราบว่า

ก. นายตำบลจะนำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ข. สัญญาค้ำประกันของนายเทศบาลถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกันหรือไม่เพราะเหตุใด

จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกับนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 681 วรรคแรก อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 705 “การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ 

วินิจฉัย

ก. ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 705 กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า การที่ผู้จำนองจะนำทรัพย์สินไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้นั้น บุคคลผู้ที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจดทะเบียนจำนอง ได้นั้น จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย บุคคลใดถ้าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินนั้นในขณะจำนอง จะจำนองทรัพย์สินนั้นหาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตำบลได้เช่าซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายอำเภอแต่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบทุกงวด ดังนี้ถือว่านายตำบลยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ที่ดินแปลงนั้นยังคงเป็นของนายอำเภอ เมื่อนายตำบลยังมิได้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น นายตำบลจึงไม่มิสิทธินำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนอง เพื่อเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้

ข. ตามมาตรา 680 วรรคแรก การค้ำประกันนั้น จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่า หากลูกหนี้ไม่ทำการชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้หนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายกรุงเทพกับนายต่างจังหวัดจะเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ และสามารถทำสัญญาค้ำประกันได้ตามมาตรา 681 วรรคแรก แต่การที่นายเทศบาลได้ตกลงกับนายกรุงเทพว่าหาก นายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชำระหนี้แทนนั้น เป็นการตกลงกันระหว่างนายเทศบาลบุคคลภายนอก กับนายกรุงเทพซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 680 วรรคแรก ดังนั้นสัญญาค้ำประกัน ของนายเทศบาลจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกัน

สรุป ก. นายตำบลจะนำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ไม่ได้

ข. สัญญาค้ำประกันของนายเทศบาลไม่ถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกัน

 

ข้อ 2. นายเรืองกู้เงินนายสว่าง 5 ล้านบาท โดยมีหลักฐานถูกต้องและได้นำที่ดิน 100 ตารางวา ของนายเรือง ซึ่งซื้อพร้อมกับนายมืดโดยได้มีการชำระหนี้กันคนละ 50 ตารางวา มาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันในหนี้เงินกู้รายนี้

อยากทราบว่า นายเรืองจะทำการจำนองได้หรือไม่ และมีหลักกฎหมาย ในเรื่องนี้อย่างไร อธิบายให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 705 “การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ 

มาตรา 706 “บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น

มาตรา 714 “อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจำนองได้นั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง หรือเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น (มาตรา 705) แต่อย่างไรก็ตามหากบุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่อยู่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด เข่น เป็นเจ้าของที่ดินแต่ที่ดินนั้นมีภาระจำยอม หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น บุคคลนั้นจะจำนองทรัพย์สินนั้นได้ก็แต่ภายใต้บังคับเงื่อนไขเช่นนั้นด้วย (มาตรา 706)

กรณีตามอุทาหรณ์ นายเรืองจะทำการจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายเรือง ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมกับนายมืดโดยได้มีการชำระหนี้กันคนละ 50 ตารางวา นายเรืองจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว และสามารถนำที่ดินแปลงนั้นมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับนายสว่างได้ตาม มาตรา 705 โดยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 และเมื่อ ปรากฏว่า นายเรืองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับนายมืด โดยมีกรรมสิทธิ์คนละ 50 ตารางวา ดังนั้น เมื่อนายเรืองได้จำนองทีดินแปลงดังกล่าว การจำนองที่ดินก็จะมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายเรือง 50 ตารางวา เท่านั้นตามมาตรา 706

สรุป นายเรืองสามารถที่จะทำการจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้ แต่การจำนองจะมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายเรือง 50 ตารางวาเท่านั้น

 

ข้อ 3. นางออยกู้เงินนางชิง 2 ล้านบาท พร้อมกับทำหลักฐานถูกต้อง แต่นางชิงขอให้นางออยหาหลักประกันมาให้ด้วย นางออยจึงนำแหวนเพชร ราคา 1.5 ล้าน มามอบให้เป็นหลักประกัน 

แต่มิได้มีการทำหลักฐาน ใด ๆ เมื่อหนี้ถึงกำหนดนางออยชำระหนี้ไม่ได้ นางชิงจึงจดหมายบอกให้ชำระหนี้ในกำหนดเวลา ในคำบอกกล่าว มิฉะนั้นจะทำการขายทอดตลาด

นางออยอ้างว่า บางชิงไม่มีสิทธิบังคับขายทอดตลาด เพราะเป็นการส่งมอบแหวนให้โดยไม่มีการทำหลักฐาน จึงยังไม่ใช่สัญญาจำนำ อยากทราบว่า ข้ออ้างของนางออยรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย’’

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางออยกู้เงินนางชิง และได้นำแหวนเพชรมามอบให้แก่นางชิงไว้เป็นหลักประกันนั้น แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานใดๆ ไว้ แต่ตามกฎหมายถือว่าเมื่อได้มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดสัญญาจำนำถูกต้องและมีผลบังคับกันได้ตามมาตรา 747

และเมื่อหนี้ถึงกำหนดนางออยลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ นางชิงผู้รับจำนำย่อมมีสิทธิบังคับจำนำได้โดยการบอกกล่าวเป็นหนังสือ ไปยังนางออยลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำสามารถนำทรัพย์สิน ที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764 ดังนั้น ข้ออ้างของนางออยที่ว่านางชิงไม่มีสิทธิบังคับขายทอดตลาดนั้น จึงรับฟ้งไม่ได้

สรุป ข้ออ้างของนางออยรับฟังไม่ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น 

Advertisement