การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3110 (LAW3010)  กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5,000,000 บาท โดยนายเมฆได้นําที่ดินของตน มาจํานองไว้เป็นประกันหนี้ ซึ่งในสัญญาจํานอง นายเมฆและนายหมอกได้ทําข้อตกลงพิเศษว่า หากบังคับจํานองเอากับที่ดินแล้วได้เงินไม่พอชําระหนี้ นายหมอกสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่น ของนายเมฆได้อีก ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆ เป็นคดีแพ่ง ต่อมาศาลแพ่งมีคําพิพากษาให้นายเมฆชําระหนี้เงินกู้จํานวน 5,000,000 บาท นายหมอกจึงบังคับจํานองเอาที่ดินออกขายทอดตลาด ได้เงินมาจากการขายทอดตลาดจํานวน 3,000,000 บาท นายหมอกจึงนําหนี้ที่ยังขาดอยู่อีก 2,000,000 บาท ไปฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับฟ้องและส่งสําเนาคําฟ้องให้นายเมฆก่อนนายเมฆจะยื่นคําให้การศาลแพ่งมีคําสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของนายหมอก นายเมฆจึงยื่นคําให้การในคดีล้มละลายว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในคําฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน คําสั่งรับฟ้องของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement

ดังนี้ ข้ออ้างของนายเมฆฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชําระหนี้ได้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท… และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้ออ้างของนายเมฆฟังขึ้นหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5,000,000 บาท โดยนายเมฆนําที่ดิน ของตนมาจํานองไว้เป็นประกันหนี้นั้น ถือได้ว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามนัยของมาตรา 6 เพราะ นายหมอกเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง ต่อมาเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆ
ไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆเป็นคดีแพ่งและศาลแพ่งมีคําพิพากษาให้นายเมฆชําระหนี้เงินกู้จํานวน 5,000,000 บาท และนายหมอกได้บังคับจํานองเอาที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินมาจากการขายทอดตลาดจํานวน 3,000,000 บาท เหลือหนี้ที่ยังค้างชําระอีก 2,000,000 บาทนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่านายเมฆลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5)

2. เมื่อนายเมฆซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้นายหมอกไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และเป็นหนี้ ที่กําหนดจํานวนได้แน่นอนและหนี้นั้นถึงกําหนดชําระแล้วตามมาตรา 9 อีกทั้งนายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกันตาม มาตรา 10(1) เนื่องจากนายเมฆและนายหมอกได้ทําข้อตกลงพิเศษไว้ว่า หากมีการบังคับจํานองเอากับที่ดิน แล้วได้เงินไม่พอชําระหนี้ นายหมอกสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของนายเมฆได้อีก ดังนั้น นายหมอกย่อม มีสิทธิฟ้องนายเมฆลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ และเมื่อนายหมอกฟ้องให้นายเมฆล้มละลาย การที่ศาลล้มละลายกลาง มีคําสั่งรับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย

3. ในขณะที่นายหมอกฟ้องนายเมฆให้ล้มละลายนั้น นายหมอกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคําฟ้องนั้น ไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ จึงถือว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามนัยของมาตรา 6 ดังนั้น นายหมอกจึงไม่จําต้องบรรยายฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลายหรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 (2) และแม้ต่อมาภายหลังศาลแพ่งจะมีคําสั่งให้เพิกถอน
การขายทอดตลาดก็ตาม ก็ไม่มีผลถึงการบรรยายฟ้องและคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของศาลล้มละลายกลาง ให้กลายเป็นฟ้องและคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายเมฆยื่นคําให้การในคดีล้มละลายว่า นายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในคําฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน คําสั่งรับ ฟ้องของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้ออ้างของนายเมฆจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของนายเมฆฟังไม่ขึ้น

ข้อ 2. ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษา ให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางทําการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วนัดฟังคําพิพากษา ลูกหนี้ (จําเลย) ยื่นคําร้องขอให้ศาลงดอ่านคําพิพากษาเนื่องจากลูกหนี้ยังมีความสามารถที่จะ ชําระหนี้ได้ ศาลงดอ่านคําพิพากษาโดยอนุญาตให้ลูกหนี้ไปดําเนินการยื่นคําขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ดังนี้ คําสั่งศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 45 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทําความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชําระหนี้ แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทําคําขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนด เจ็ดวันนับแต่วันยื่นคําชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กําหนดให้”

มาตรา 61 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไปขอให้ศาลพิพากษา ให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับ ความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจจัดการทรัพย์สิน ของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในคดีล้มละลายนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้
เด็ดขาดแล้ว และต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานต่อศาลว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้
ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น ถือเป็นเหตุประการหนึ่งที่ศาลจะต้องมีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ ล้มละลายเท่านั้นตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางทําการไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยแล้วนัดฟังคําพิพากษา ลูกหนี้ (จําเลย) ได้ยื่นคําร้องขอให้ศาลงดอ่านคําพิพากษาเนื่องจากลูกหนี้ ยังมีความสามารถที่จะชําระหนี้ได้ และศาลงดอ่านคําพิพากษาโดยอนุญาตให้ลูกหนี้ไปดําเนินการยื่นคําขอ ประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้ง ๆ ที่ล่วงเลยระยะเวลาการยื่นขอประนอมหนี้ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง ซึ่งกําหนดให้ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคําชี้แจง เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินไปแล้วนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้งดอ่านคําพิพากษาและอนุญาตให้ลูกหนี้ ไปดําเนินการยื่นคําขอประนอมหนี้ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง

สรุป คําสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. บริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด ลูกหนี้ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของตนต่อศาล ต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยได้แต่งตั้ง นายเก่ง เป็นผู้บริหารแผนและดําเนิน กิจการของบริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด แทนลูกหนี้ โดยได้แจ้งบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบแล้วทาง หนังสือพิมพ์รายวัน ภายหลังจากนั้นนายเก่งในฐานะผู้บริหารแผน ได้สั่งซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการ ประกอบกิจการค้าตามปกติของลูกหนี้จากบริษัท มายโฮม จํากัด เป็นเงิน 3 ล้านบาท ครั้นครบกําหนด ชําระเงิน นายเก่งผู้บริหารแผนมิได้ชําระหนี้ค่าสินค้า บริษัท มายโฮม จํากัด จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล นายเก่งได้ยื่นคําให้การว่า บริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด เป็นหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องจริงแต่ขณะนี้ตน อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังนี้ บริษัท มายโฮม จํากัด สามารถฟ้องคดีต่อนายเก่งในฐานะผู้บริหารแผนของลูกหนี้ และคําให้การของนายเก่งรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง ขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน
หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง เห็นชอบ
ด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย….”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของตนต่อศาล และต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยได้แต่งตั้งให้นายเก่ง เป็นผู้บริหารแผนและดําเนินกิจการของบริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด แทนลูกหนี้ โดยได้แจ้งให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ทราบแล้วนั้น ย่อมมีผลตามมาตรา 90/12 (4) กล่าวคือ ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนี้ค่าซื้อสินค้าที่นายเก่งในฐานะผู้บริหารแผนได้สั่งซื้อจากบริษัท มายโฮม จํากัด นั้น เป็นหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว อีกทั้ง เป็นหนี้ที่ถึงกําหนดชําระแล้ว จึงเป็นหนี้ที่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย หนี้รายนี้จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา 90/12 (4) ที่ห้ามมิให้ฟ้องคดี ดังนั้น บริษัท มายโฮม จํากัด จึงสามารถยื่นฟ้องเป็นคดีให้ลูกหนี้ชําระหนี้ ค่าสินค้าดังกล่าวได้ และคําให้การของนายเก่งที่ว่าบริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการย่อมได้รับ การคุ้มครองตามกฎหมายห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นรับฟังไม่ได้

สรุป บริษัท มายโฮม จํากัด สามารถฟ้องคดีต่อนายเก่งในฐานะผู้บริหารแผนของลูกหนี้ได้ และคําให้การของนายเก่งดังกล่าวรับฟังไม่ได้

Advertisement