LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ สอบซ่อม 1/2551

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 
 
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ 
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ
ข้อ 1.       วันที่ 20 ธันวาคม 2548  นายสมหวังทำสัญญากู้เงินนายสมส่วน เป็นเงิน 3 ล้านบาท โดยในวันที่ 25 ธันวาคม 2548  นายสมทรงเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายสมหวังดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2548  นายสมหวังจดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาทของตนเป็นประกันหนี้เงินกู้ของตน 
และวันที่ 28 ธันวาคม 2548  นางสมสมรส่งมอบเครื่องเพชรมูลค่า 1 ล้านบาทของตนเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายสมหวังด้วย  เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนด นายสมหวังผิดนัดไม่ชำระหนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า
               
1)  ถ้าหากว่านายสมส่วนได้เรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะเกี่ยงให้นายสมส่วนไปบังคับจำนองเอากับที่ดินที่นายสมหวังจำนองไว้ และไปบังคับจำนำเอากับเครื่องเพชรที่นางสมสมรจำนำไว้ก่อนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
 
2)  ถ้าหากว่านายสมส่วนได้ปลดจำนองให้แก่ที่ดินของนายสมหวังไปแล้ว จึงมาเรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะอ้างเอาเหตุดังกล่าวมาเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ และถ้าอ้างได้ นายสมทรงจะหลุดพ้นจากความรับผิดเป็นจำนวนเท่าไหร่
ธงคำตอบ
 
มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจาก ทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน
 
มาตรา 697 ถ้าเพราะ การกระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง ของ เจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจ เข้ารับช่วง ได้ทั้งหมด หรือ แต่บางส่วน ในสิทธิ ก็ดี จำนอง ก็ดี จำนำ ก็ดี และ บุริมสิทธิ อันได้ให้ไว้ แก่ เจ้าหนี้ แต่ก่อน หรือ ในขณะทำ สัญญาค้ำประกัน เพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่า ผู้ค้ำประกัน ย่อมหลุดพ้น จากความรับผิด เพียงเท่าที่ตน ต้องเสียหาย เพราะการนั้น
วินิจฉัย 
 
1) ป.พ.พ. มาตรา 690 บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันในการที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ชั้นต้นที่ได้ให้ไว้เป็นหลักประกันก่อนได้ เห็นว่า เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนด นายสมหวัง ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันก็ได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 868 ปรากฏว่า นายสมส่วนได้เรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะเกี่ยงให้นายสมส่วนไปบังคับจำนองเอากับที่ดินที่นายสมหวังลูกหนี้ชั้นต้นจำนองไว้ก่อนย่อมสามารถกระทำได้ เพราะที่ดินจำนองเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ชั้นต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 690
 
แต่นายสมทรงจะเกี่ยงให้นายสมส่วนเจ้าหนี้ไปบังคับจำนำเอากับเครื่องเพชรที่นางสมสมร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจำนำไว้ก่อนไม่ได้ เพราะเครื่องเพชรไม่ใช่ทรัพย์ของนายสมหวัง ลูกหนี้ชั้นต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 690
 
2) ถ้าหากว่านายสมส่วนได้ปลดจำนองให้แก่ที่ดินของนายสมหวังไปแล้วจึงมาเรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะอ้างเอาเหตุดังกล่าวมาเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เห็นว่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 697 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเท่ามูลค่าของหลักประกันที่เจ้าหนี้กระทำให้ตนเองไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ แต่หลักประกันที่ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ดังกล่าวจะต้องเป็นหลักประกันที่เกิดขึ้นก่อนหรือขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 25 ธันวาคม 2548 นายสมทรงเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายสมหวัง ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2548 นายสมหวังจดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาทของตนเป็นประกันหนี้เงินกู้ จึงเห็นว่าที่ดินที่จำนองเกิดขึ้นหลังวันทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น นายสมทรงจะอ้างเอาเหตุที่นายสมส่วนปลดจำนองที่ดินให้นายสมหวังขึ้นเป็นเหตุหลุดพ้นจากความรับผิดมูลค่า              1 ล้านบาท หาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 697
สรุป
 
1) นายสมทรงเกี่ยงให้ไปบังคับเอากับที่ดินที่นายสมหวังจำนองไว้ก่อนได้ แต่จะเกี่ยงให้ไปบังคับจำนำเอากับเครื่องเพชรที่นางสมสมรจำนำไว้ก่อนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 690
 
2) สมทรงจะอ้างเอาเหตุที่นายสมส่วนปลดจำนองที่ดินให้นายสมหวังขึ้นเป็นเหตุหลุดพ้นจากความรับผิดมูลค่า 1 ล้านบาทหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 697
ข้อ 2.       นายอาภิขอยืมเงินนายเทพเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามกฎหมาย ต่อมามีนายสมิตเข้ามาเป็นผู้จำนองที่ดินของตนเพื่อประกันหนี้รายนี้ ในวันที่ 1 ม.ค. ต่อมานายสมิงเข้ามาจำนองที่ดินของตน ในวันที่ 1 ก.พ. เพื่อประกันหนี้รายเดียวกัน ดังนี้หากนายอาภิชำระเงินไป 19,000 บาท  ยังมีหนี้เหลืออีก 1.000 บาท นายสมิงต้องการนำที่ดินของตนที่ติดจำนองกับนายเทพอยู่เพื่อไปจำนองเงินกู้ของตนกับธนาคารชาด  นายสมิงต้องขออนุญาตนายเทพหรือไม่
 
ธงคำตอบ
มาตรา 653  การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มี หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม เป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
 
 ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการ ใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือ ชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
 
มาตรา 712  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่ง จำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีก คนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้
 
มาตรา 716 จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมด ทุกสิ่งแม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน
วินิจฉัย
 
หนี้ประธานซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินนั้นแม้ไม่มีหลักฐานสมบูรณ์ก็ถือว่าสมบูรณ์ ดังนั้น หนี้อุปกรณ์คือหนี้จำนอง มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ส่วนการที่นายอาภิลูกหนี้ชำระเงินไป 19,000 บาท ขาดเงินที่ไมได้ชำระอีก 1,000 บาท ก็ยังถือว่าทรัพย์นั้นจำนองยังครอบอยู่ทั้งหมดทุกสิ่ง ตามมาตรา 716 ดังนั้น การที่ผู้จำนองต้องการจำนองโดยปลอดจำนอง จะต้องขออนุญาตเจ้าหนี้ก่อน แต่หากจำนองทรัพย์ที่ติดจำนองอยู่ก่อนนั้นไม่ต้องขออนุญาตตามนัยแห่งมาตรา 712
 
ข้อ 3.        ก.กู้เงิน ข. 100,000 บาท  โดยนำสร้อยเพชรจำนำไว้เป็นประกันหนี้ การกู้เงินครั้งนี้มิได้ทำเป็นหนังสือ แต่ได้มีการส่งมอบสร้อยเพชรให้ไว้เป็นจำนำ  มีระยะเวลา 5 ปี ก.ได้ส่งดอกมาทุกปี  ข.เห็นว่า ก.ส่งดอกดีไม่เคยขาดเลยสักปี  จนล่วงเลยมาถึง 11 ปี  จน ก.ไม่มีเงินส่งอีกต่อไป  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
 
(1)           ข.จะฟ้อง ก. เพื่อเรียกเงินต้นคืนได้หรือไม่
 
(2)           การจำนำ จะระงับสิ้นไปหรือไม่
 
(3)          ข. จะนำสร้อยเพชรเส้นนั้นออกขาย นำเงินมาชำระหนี้ได้หรือไม่ และจะเรียกดอกเบี้ยจนถึงวันขายทอดตลาดสร้อยเส้นนั้นได้หรือไม่
 
ธงคำตอบ
 
มาตรา  747  อันว่า จำนำ นั้นคือ สัญญา ซึ่ง บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบ สังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่ง ให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกัน การชำระหนี้
มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มี หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม เป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
 
 ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการ ใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือ ชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
 
วินิจฉัย
 
(1-2)        หลักกฎหมายมาตรา 747, 653, และฏีกาที่ 200/2496
 
– การจำนำนั้นไม่มีแบบเหมือนจำนอง  การจำนำจะทำเป็นหนังสือตามมาตรา 653 หรือไม่ก็ได้  แต่เน้นหนักเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินตามมาตรา 747
 
–  การจำนำนั้นแม้ขาดอายุความแล้ว  ก็ไม่ทำให้หนี้จำนำระงับ  แต่ตามปัญหา  การกู้เงินโดยมีการจำนำทรัพย์สินเป็นการประกันหนี้มิได้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา 653  จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
 
(3)  เมื่อการจำนำมีการมอบทรัพย์สินไว้เป็นจำนำ แม้หนี้จะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็สามารถนำสร้อยเพชรไปขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ ตาม ม. 747 แต่จะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปีไม่ได้

LAW 2010 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายรัตภูมิเจ้าของเหมืองแร่ต้องการขยายกิจการจึงไปขอกู้เงินจากนายสิงหนครจำนวน  20  ล้านบาท  มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องพร้อมกับนำที่ดิน  1  แปลง  จดทะเบียนจำนองกับนายสิงหนคร  ต่อมากิจการเหมืองแร่เริ่มขาดทุนนายรัตภูมิเกรงว่านายสิงหนครจะไม่เชื่อใจ  จึงไปขอร้อง  น.ส.ระโนด  ซึ่งเป็นคนรักให้ช่วยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้  20  ล้านบาทนี้ด้วย  น.ส.ระโนดจึงตกลงกับนายรัตภูมิ  โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือมีใจความว่า  หากนายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้  น.ส.ระโนดจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน  พร้อมกับลงลายมือชื่อทั้งนายรัตภูมิและ  น.ส.ระโนด  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้  น.ส.ระโนดจึงมาปรึกษาท่านว่า  สัญญาที่ตนเองทำกับนายรัตภูมิเป็นสัญญาค้ำประกันตามกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การจะพิจารณาว่าสัญญาที่ทำนั้นเป็นสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  680  หรือไม่  มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1       ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลภายนอกสัญญาประธานหรือหนี้ประธาน

2       ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้  (หนี้ในทางแพ่ง)

3       บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

สำหรับหลักเกณฑ์ประการที่  3  นี้หมายถึง  บุคคลภายนอกสัญญาประธานหรือหนี้ประธาน  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเข้าทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ในสัญญาประธานหรือหนี้ประธานเพื่อเข้าชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ชั้นต้นตามสัญญาประธานหรือหนี้ประธานไม่ชำระหนี้นั้น  ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าลูกหนี้ชั้นต้นจะรู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม  ดังนั้นสัญญาค้ำประกัน  จึงเป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาผูกพันตนโดยตรงกับเจ้าหนี้เท่านั้น  ถ้าไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้  สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน

กรณีตามอุทาหรณ์  หนี้ประธาน  คือ  หนี้เงินกู้จำนวน  20  ล้านบาท  มีนายสิงหนครเป็นเจ้าหนี้  และนายรัตภูมิเป็นลูกหนี้  ดังนั้นการที่ น.ส.ระโนดบุคคลภายนอกตกลงกับนายรัตภูมิลูกหนี้ว่า  หากนายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้  น.ส.ระโนดจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน  ลงลายมือชื่อทั้งนายรัตภูมิและ  น.ส.ระโนดนั้น  แม้จะได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อระโนดเป็นสำคัญก็ตาม  แต่เมื่อ  น.ส.ระโนด บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาผูกพันตนกับลูกหนี้  มิใช่เจ้าหนี้ตามมูลหนี้ประธาน  สัญญาที่ทำนั้นย่อมไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  680  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาที่ทำกันระหว่างนายรัตภูมิและ  น.ส.ระโนด  ก็ถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ใช้บังคับระหว่างคู่กรณีได้ตามกฎหมาย  (ฎ. 489/2537)

สรุป  สัญญาระหว่างนายรัตภูมิและ  น.ส.ระโนดไม่เป็นสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  680

 

ข้อ  2  น.ส.มะลิ  กู้เงินนายสะตอจำนวน  5  ล้านบาท  โดยมีหลักฐานการกู้เงินถูกต้อง  และมีนายมะละกอนำที่ดินราคา  10  ล้านบาท  มาให้นายสะตอจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันการกู้เงิน  โดยมีข้อสัญญาว่า  ขอให้ชำระหนี้เป็นจำนวน  10  งวด  แต่ขาดส่งงวดใด  ที่ดินที่นำมาจดทะเบียนตกเป็นสิทธิของนายสะตอทันที  อยากทราบว่า  นายมะละกอจะนำที่ดินของตนเองมาจำนองแทน  น.ส.มะลิได้หรือไม่ และข้อสัญญาที่ทำไว้มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ก็ให้ทำได้

มาตรา  711  การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  ถ้าไม่ชำระหนี้  ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง  หรือว่าได้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้  ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

มาตรา  713  ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนอง  ท่านว่าผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆก็ได้

วินิจฉัย

สัญญาจำนองนั้น  เป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  นายมะละกอจะนำที่ดินของตนมาจำนองแทน  น.ส.มะลิได้หรือไม่  เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา  709  ให้สิทธิบุคคลคนหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระได้  ดังนั้นแม้นายมะละกอจะเป็นบุคคลภายนอก  มิใช่ลูกหนี้  ก็มีสิทธินำที่ดินของตนมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้แทน  น.ส.มะลิลูกหนี้ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ข้อสัญญาระหว่างนายมะละกอและนายสะตอที่ว่าขอให้ชำระหนี้เป็นจำนวน  10  งวด  แต่ขาดส่งงวดใด  ที่ดินที่นำมาจดทะเบียนตกเป็นสิทธิของนายสะตอทันทีนั้น  มีผลใช้บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้มาตรา  713  จะบัญญัติให้ผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆได้  ถ้าไม่มีข้อตกลงห้ามเป็นอย่างอื่นก็ตาม  แต่การจะตกลงก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระว่า  ขาดส่งงวดใด  ให้ที่ดินที่นำมาจดทะเบียนจำนองตกเป็นสิทธิของนายสะตอเจ้าหนี้ทันที  ซึ่งเป็นการตกลงจัดการทรัพย์สินเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนองนั้น  ไม่อาจกระทำได้  ต้องห้ามตามมาตรา  711  หากมีการฝ่าฝืน  ข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์  ไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย  แต่ในส่วนสัญญาจำนองยังคงสมบูรณ์  ไม่เสียไป  เพียงแต่หาก  น.ส.มะลิผิดนัดไม่ชำระหนี้  นายสะตอจะนำข้อสัญญานั้นมาฟ้องร้องให้บังคับคดีตามข้อตกลงนั้นไม่ได้

สรุป  นายมะละกอนำที่ดินของตนมาจำนองแทน  น.ส.มะลิได้  และข้อสัญญาที่ทำไว้นั้นไม่สมบูรณ์  ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย

 

ข้อ  3  นายแกงขอกู้เงินจากนายขนมจีน  จำนวน  2,000  บาท  โดยมิได้ทำหลักฐานการกู้ยืมแต่ประการใด  นายแกงจึงนำทองรูปพรรณแต่เป็นของเทียมซึ่งมีราคาเพียง  600  บาท  มาส่งมอบให้นายขนมจีนเป็นการจำนำ  โดยที่นายแกงไม่รู้ว่าทองนั้นเป็นของปลอม  อยากทราบว่า  การจำนำที่นายแกงกระทำดังกล่าวเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่  และมีผลตามกำหมายหรือไม่  จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายแกงและนายขนมจีนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  แม้มิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืม  ตามมาตรา  653  วรรคแรกก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  เพราะกรณีนี้เป็นการกู้ยืมเงินกันไม่เกิน  2,000  บาท  ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา  653  วรรคแรก

สำหรับสัญญาจำนำ  เป็นสัญญาระหว่างผู้จำนำตกลงกับเจ้าหนี้  โดยส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้  ซึ่งผู้จำนำจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้  แต่บุคคลผู้เข้าทำสัญญาจำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินจึงจะเข้าทำสัญญาจำนำได้  นอกจากนี้สัญญาจำนำไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับสัญญาจำนอง  สัญญาจำนำนั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินจำนำ  และทรัพย์สินที่จะนำมาจำนำได้ก็ต้องเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า  นายแกงลูกหนี้นำทองรูปพรรณซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์และตนเองเป็นเจ้าของมาส่งมอบให้นายขนมจีนเจ้าหนี้เป็นการจำนำประกันการชำระหนี้  สัญญาจำนำย่อมเกิดขึ้นแล้ว  ตามมาตรา  747  แม้นายขนมจีนจะไม่รู้ว่าเป็นของปลอม  สัญญาจำนำดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย  ส่วนกรณีทรัพย์สินที่นำมาจำนำเป็นของปลอม  แล้วจะเรียกให้ลูกหนี้นำทรัพย์สินซึ่งเป็นของแท้มาแทนได้หรือไม่  ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  เป็นคนละเรื่องกับความสมบูรณ์หรือการเกิดมีขึ้นของสัญญาจำนำ

สรุป  การกระทำของนายแกงเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย 

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก.  กู้เงิน  ข  100,000  บาท  โดยมิได้มีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือ  แต่มี  ค  ทำหนังสือสัญญากับ  ข  ในฐานะผู้ค้ำประกัน  ดังนี้  ข จะฟ้องใครให้รับผิดในหนี้รายนี้ได้บ้าง  และเพราะเหตุใด  (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบด้วย)

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 681  วรรคแรก  อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

มาตรา  694  นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น  ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การกู้ยืมเงินกันกว่า  2,000  บาทขึ้นไป  ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญากู้ยืมไม่ได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ก  กู้ยืมเงิน  ข  โดยมิได้มีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือ  ข  เจ้าหนี้จึงฟ้องให้  ก  รับผิดใช้เงินตามสัญญากู้ไม่ได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

ส่วนสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นสัญญาไม่มีแบบ  คือ  กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ  แต่การจะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาค้ำประกันได้  กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญเช่นเดียวกัน  มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ตามมาตรา  680  วรรคสอง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ค  ผู้ค้ำประกันได้ทำสัญญาค้ำประกันเป็นหนังสือ  จึงถือว่าสัญญาค้ำประกันในหนี้รายนี้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญแล้ว  จึงใช้ฟ้องร้องบังคับคดีต่อกันได้ตามมาตรา  680  วรรคสอง  แม้ว่าสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้ก็ตาม  เพราะหนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์เป็นคนละสัญญาแยกจากกันต่างหาก  ทั้งกรณีนี้ก็ได้มีการส่งมอบเงินกู้แก่กันแล้ว  ย่อมถือได้ว่าหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมาย  แต่ขาดเพียงหลักฐานการฟ้องร้องเท่านั้น  จึงมีการค้ำประกันกันได้ตามมาตรา  681  วรรคแรก

อย่างไรก็ตาม  เมื่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเกิดขึ้นโดยอาศัยมูลหนี้ประธาน  ผู้ค้ำประกันจึงสามารถยกเหตุที่หนี้ประธานไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้  ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด  ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา  694  ดังนั้นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิด

สรุป  ข  ไม่สามารถเรียกใช้  ก  รับผิดตามสัญญากู้ยืมและไม่อาจเรียกให้  ค  รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้

 

ข้อ  2  นาย  ก  กู้เงินนาย  ข  เป็นจำนวน  100,000  บาท  ต่อมามีนายควายนำที่ดินราคา  50,000  บาท  มาจำนองประกันหนี้รายนี้ในวันที่  1  มกราคม  2552  และนายวัวนำที่ดินราคา  30,000  บาท  มาประกันหนี้รายนี้  วันที่  2  กุมภาพันธ์  2552  ในการนี้  นายวัวและนายควายตกลงกับนาย  ข  เจ้าหนี้ว่า  หากต้องการจะบังคับจำนองให้บังคับเอากับที่ดินของนายวัวก่อน  ต่อมานาย  ข  เจ้าหนี้  ได้ประทับใจในความดีของนายควาย  จึงปลดจำนองให้นายควาย  ดังนี้  การปลดจำนองนายควายมีผลดีกับนายวัวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ก็ให้ทำได้

มาตรา  710  ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว  ท่านก็ให้ทำได้

และในการนี้คู่สัญญาจะตกลงกันดังต่อไปนี้ก็ได้  คือว่า

(1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้

มาตรา  726  เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับด้วยไซร้  ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก่ผู้จำนองคนหนึ่งนั้นย่อมทำให้ผู้จำนองคนหลังๆได้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การจำนองของนายวัวและนายควายเป็นการจำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืมซึ่งนาย  ก  บุคคลอื่นจะต้องชำระ  ย่อมทำได้ตามมาตรา  702  ประกอบมาตรา  709  ซึ่งหนี้รายเดียวกันนี้เองก็สามารถจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ได้ตามมาตรา  710  วรรคแรก

เมื่อได้มีการระบุตามข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองไว้ด้วยว่าให้นายวัวต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองก่อนตามมาตรา  710  วรรคสอง  (1)  จึงต้องเป็นไปตามนั้น

สำหรับในเรื่องการปลดหนี้จำนองนั้น  หลักกฎหมายตามมาตรา  726  กำหนดให้ผู้รับจำนองหลุดพ้นจากความรับผิดได้หากเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       มีผู้จำนองหลายคนจำนองประกันหนี้รายเดียว

2       มีการระบุลำดับการบังคับจำนองไว้ตามมาตรา  710  วรรคสอง  (1)

3       ผู้รับจำนองปลดจำนองรายหนึ่งรายใดในลำดับก่อน

4       ผู้จำนองลำดับถัดไปเสียหายจากการปลดจำนอง

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า  นาย  ข  เจ้าหนี้  ปลดจำนองให้แก่นายควายซึ่งจะต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองในลำดับหลังสุด  การปลดจำนองดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ  แก่นายวัว  เพราะถึงอย่างไรก็ตาม  นายวัวก็ต้องถูกบังคับจำนองในลำดับแรกอยู่ดี  ดังนั้นนายวัวยังคงต้องรับผิดในหนี้จำนองจำนวน  50,000  บาท  กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  726

สรุป  การปลดจำนองให้แก่นายควายไม่มีประโยชน์ใดๆกับนายวัวผู้ถูกบังคับจำนองคนก่อน

 

ข้อ  3  นายสินกู้เงินนายมั่น  จำนวน  80,000  บาท  โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย  ขณะเดียวกัน  นายมั่นต้องการความแน่นอนในการชำระหนี้  จึงขอให้นายสินหาหลักประกันมาวางไว้ด้วย  นายสินจึงนำสร้อยคอทองคำหนัก  5  บาท  ซึ่งเป็นของภริยา  โดยแจ้งให้นายมั่นทราบว่าสร้อยคอทองคำเป็นของภริยามิใช่ของตนเองวางไว้เป็นหลักประกันในลักษณะจำนำ  แต่มิได้มีการทำหลักฐานอย่างใด  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายสินหาเงินมาชำระหนี้เงินกู้ไม่ได้  มั่นเห็นว่าราคาทองคำกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ  จึงแจ้งให้นายสินชำระหนี้โดยทำจดหมายบอกกล่าวและขอนำสร้อยคอทองคำขายให้แก่นายรุ่ง  เพราะนายรุ่งเป็นคนมีฐานะดี  และกำลังอยากซื้อสร้อยคอทองคำคงจะให้ราคาดีมาก  อยากทราบว่า

(1) นายสินนำสร้อยคอของภริยามาจำนำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายมั่นนำสร้อยคอทองคำขายให้แก่นายรุ่งได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

(1) การทำสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  กำหนดแต่เพียงว่าต้องมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  มิได้กำหนดให้ต้องมีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างอื่นแต่อย่างใด  ดังนั้นสัญญาจำนำจึงสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ  (ฎ. 1451/2503)

สำหรับทรัพย์ที่จำนำนั้น  กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินมาจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น  บุคคลภายนอกอาจจำนำทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ที่บุคคลอื่นจะต้องชำระก็ได้  เพราะกฎหมายมิได้ห้ามบุคคลภายนอกมิให้จำนำทรัพย์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของบุคคลอื่น  แต่ประการสำคัญคือ  ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์เท่านั้น  ถ้าเอาทรัพย์ของคนอื่นมาจำนำ  เจ้าของทรัพย์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ตามมาตรา  1336

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสินลูกหนี้นำสังหาริมทรัพย์ของภริยามาจำนำ  สามารถกระทำได้  สัญญาจำนำมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  747 เพราะมีการส่งมอบสร้อยคอทองคำแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำแล้ว  ส่วนการที่สัญญาจำนำจะผูกพันภริยาของนายสินหรือไม่  เป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่านายสินลักสร้อยคอทองคำของภริยามาจำนำหรือไม่  หรือภริยารู้เห็นในการเอามาจำนำหรือประมาทเลินเล่อปล่อยให้นายสินแสดงตัวเป็นเจ้าของหรือมีพฤติกรรมที่ภริยาเชิดนายสินเหมือนดั่งเป็นตัวแทนของตนหรือไม่  ถ้าภริยาไม่ยินยอมหรือไม่รู้เห็นด้วย  ภริยามีสิทธิติดตามเอาสร้อยคอทองคำคืนตามมาตรา  1336  ถือว่าสัญญาจำนำไม่ผูกพันภริยา  แต่ถ้าภริยามีพฤติการณ์ดังกล่าวนั้น  ภริยาจะเรียกสร้อยคอทองคำคืนโดยไม่ไถ่ถอนจำนำไม่ได้  (ฎ. 631/2503 , ฎ. 449/2516  และ 

ฎ .1115/2497)

(2) การบังคับจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  764  กำหนดให้มีการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ลูกหนี้ชำระหนี้และสามารถนำทรัพย์ที่รับจำนำนั้นออกขายได้  แต่ต้องขายทอดตลาด  กรณีนี้นายมั่นได้บอกกล่าวการชำระหนี้ถูกต้องตามมาตรา  764  แต่การนำทรัพย์ที่จำนำออกขายให้แก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง  มิใช่การขายทอดตลาด  จึงไม่ต้องด้วยหลักกฎหมายดังกล่าว  นายมั่นจึงนำสร้อยคอทองคำขายให้นายรุ่งไม่ได้

สรุป

(1) นายสินนำสร้อยคอทองคำของภริยามาจำนำโดยวางไว้กับนายมั่นได้โดยไม่จำต้องมีการทำหลักฐานอย่างอื่น

(2) นายมั่นจะนำสร้อยคอทองคำขายให้นายรุ่งมิได้  เพราะมิใช่การขายทอดตลาด 

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  กู้เงิน  ข  500,000  บาท  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำ  การกู้เงินทำกันถูกต้องตามกฎหมาย  รวมถึงการค้ำประกันด้วย  หลังจากนั้น  2  เดือน  มี  ง  เป็นผู้ค้ำในหนี้รายนี้เพิ่มอีกคนหนึ่ง  ต่อมา  ก  ผิดนัดชำระหนี้  ข  จึงฟ้อง  ค  ให้รับผิด  ค  อ้างว่า  เมื่อมี  ง  เป็นผู้ค้ำรายใหม่แล้ว  ค  ผู้ค้ำคนแรกควรจะพ้นความรับผิด  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของ  ค  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง  หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การค้ำประกันนั้น  ถ้ามีผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  แม้จะไม่ได้ค้ำประกันร่วมกัน  ก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  ซึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องผู้ค้ำคนใดคนหนึ่งหรือจะฟ้องทั้งหมดก็ได้  (มาตรา  291  ประกอบมาตรา  682  วรรคสอง)

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  เมื่อ  ค  และ  ง  ยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  จึงต้องมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  ทั้งนี้แม้  ค  และ  ง  จะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกันก็ตาม  และถึงแม้จะมีการเพิ่ม  ง  ผู้ค้ำประกันมาภายหลังก็หาทำให้  ค  ผู้ค้ำประกันรายแรกพ้นความรับผิดแต่อย่างใด  ดังนั้น  เมื่อ  ก  ผิดนัดชำระหนี้  ข  จึงฟ้อง  ค  ให้รับผิด  ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงย่อมสามารถทำได้  เพราะเป็นสิทธิของเจ้าหนี้  ข้ออ้างของ  ค  จึงฟังไม่ขึ้น  (ฎ. 500/2507)

สรุป  ข้ออ้างของ ค  ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  2  นาย  ก  ยืมเงินนาย  ข  เป็นเงิน  200,000  บาท  ต่อมามีนายคิงได้เสนอจำนองที่ดินที่ตนและภริยาเป็นเจ้าของร่วมกันเพราะทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรส  ซึ่งได้มาหลังวันจดทะเบียน  แต่ในโฉนดดังกล่าวมีชื่อนายคิงแต่เพียงผู้เดียวเป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น  และที่เป็นเช่นนี้  สาเหตุก็เพราะวันที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ภริยาของนายคิงอยู่ต่างประเทศจึงไม่สามารถมาลงชื่อร่วมในโฉนดได้  ดังนี้  หากนาย  ข  เจ้าหนี้ยอมรับจำนองที่ดินดังกล่าว  โดยภริยาไม่ได้รับรู้ด้วย  จำนองจะมีผลเช่นใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  705  การจำนองทรัพย์สินนั้น  นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว  ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อได้ความว่าที่ดินมีโฉนดได้มาภายหลังวันสมรส  ย่อมเป็นสินสมรสทั้งสองสามีภริยาย่อมเป็นเจ้าของร่วมกันอยู่  แต่โดยธรรมดาแล้วการที่ภริยาไม่ได้ลงชื่อของตนในโฉนด  ย่อมทำให้ผู้อื่นซึ่งสุจริตและเสียค่าตอบแทนเข้าใจผิดได้ว่าตนค้ำประกัน  (นายคิงสามีเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว)  ดังนั้น  การจำนองมีผลสมบูรณ์ไปทั้งหมด  กล่าวคือ  ภริยาของนายคิงจะบอกเลิกการค้ำประกันไม่ได้แม้ในส่วนของตน

สรุป  การจำนองมีผลสมบูรณ์

 

ข้อ  3  นายกรุงเทพ  กู้เงินนายต่างจังหวัด  20,000  บาท  โดยมีนายต่างประเทศมอบทองคำแท่ง  หนัก  10  บาท  ราคา  17,600  บาท  จำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้  ซึ่งไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมแต่อย่างใด  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายกรุงเทพผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้ได้  นายต่างจังหวัดจึงได้มีจดหมายบอกกล่าวให้นายกรุงเทพทำการชำระหนี้  แต่นายกรุงเทพไม่ยอมชำระหนี้  นายต่างจังหวัดจึงได้นำทองคำแท่งออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิ  จำนวน  15,600  บาท  ดังนี้  นายต่างจังหวัดจะฟ้องขอให้นายกรุงเทพและนายต่างประเทศรับผิดในเงินที่เหลืออีก  4,400  บาท  อีกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายต่างประเทศนำทองคำแท่งมาจำนำ  สามารถกระทำได้เนื่องจากมาตรา  747  มิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นลูกหนี้เท่านั้น  ความหมายของคำว่า  บุคคลคนหนึ่ง  จึงหมายถึง  ใครก็ได้  ที่นำสังหาริมทรัพย์ส่งมอบให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

ส่วนการบังคับจำนำนั้น  นายต่างจังหวัดได้กระทำถูกต้องตามมาตรา  764  คือ  มีจดหมายบอกให้ลูกหนี้ทำการชำระหนี้และมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำ  อย่างไรก็ตาม  ตามมาตรา  767  กำหนดไว้ว่า  เมื่อมีการบังคับจำนำโดยเอาทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดแล้ว  หากได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น  อันเป็นการบังคับเฉพาะกรณีระหว่างผู้รับจำนำและลูกหนี้  ส่วนผู้จำนำนั้นกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องรับผิดแต่อย่างใด  ดังนั้น  นายต่างประเทศจึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ยังไม่ครบนั้น  (ฎ. 875/2523)

สำหรับลูกหนี้นั้น  แม้ตามมาตรา  767  กำหนดให้ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้นอีก  แต่เมื่อปรากฏว่าหนี้เงินนั้นมิได้มีหลักฐานการกู้ยืมตามมาตรา  653  นายต่างจังหวัดจึงไม่สามารถบังคับนายกรุงเทพให้ชำระหนี้ในส่วนที่ขาดแต่อย่างใด  (ฎ.200/2496)

สรุป  นายต่างจังหวัดจะฟ้องขอให้นายกรุงเทพและนายต่างประเทศรับผิดในเงินที่เหลืออีก  4,400  บาท  ไม่ได้

LAW 2010 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายกรุงเทพเป็นหนี้เงินกู้นายเหลืองผ่องจำนวน  5  ล้านบาท  โดยมีนายแดงแจ๋เป็นผู้ค้ำประกัน  มีหลักฐานการกู้เงินและการค้ำประกันถูกต้องตามกฎหมาย  นายเหลืองผ่องเกรงว่าเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ทั้งนายกรุงเทพและนายแดงแจ๋จะชำระหนี้ไม่ครบ  จึงขอให้นายกรุงเทพหาหลักประกันเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นมามอบไว้  นายกรุงเทพจึงนำโฉนดที่ดินของนายต่างจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจำนวน  20  ไร่  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครนายกมาให้นายเหลืองผ่องยึดถือไว้เป็นประกัน

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้  ส่วนนายแดงแจ๋อ้างว่าเมื่อนายต่างจังหวัดนำโฉนดที่ดินให้นายกรุงเทพยึดถือไว้แล้ว  จึงขอให้นายเหลืองผ่องบังคับการชำระหนี้จากที่ดินนั้นได้  ตนจึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิด  อยากทราบว่าข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นถ้าได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย  และมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี  ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา  680  และในส่วนของผู้ค้ำประกันอาจจะบ่ายเบี่ยงขอให้เจ้าหนี้บังคับเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ตามมาตรา  690  คือเมื่อเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน  และการเรียกนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย  เช่น  ในกรณีทรัพย์ที่เป็น ประกันไว้เป็นที่ดินก็จะต้องได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  714  ด้วย

ตามอุทาหรณ์  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายกรุงเทพซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้  นายเหลืองผ่องเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกให้นายแดงแจ๋ชำระหนี้ได้ตามมาตรา  686  และการที่นายแดงแจ๋อ้างว่าเมื่อนายต่างจังหวัดนำโฉนดที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้แล้วก็ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากที่ดินนั้นตามมาตรา  690  ข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังไม่ได้  ทั้งนี้เพราะที่ดินที่นายเหลืองผ่องยึดถือไว้นั้นไม่ใช่ที่ดินของลูกหนี้  อีกทั้งการที่มีการเอาที่ดินมายึดถือไว้เป็นประกันนั้นก็มิได้กรทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด  คือไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  714  แต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นายแดงต้องการช่วยเหลือนายดำซึ่งเป็นลูกหนี้นายขาวเป็นจำนวนเงิน  10  ล้านบาท  แต่นายแดงมีเพียงที่ดินจำนวน  5  ไร่  ราคา 2  ล้าน  5  แสนบาท  จึงขอนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันกับนายขาว  โดยจดทะเบียนจำนองระบุที่ดินเปล่า  5  ไร่  ราคา  2  ล้าน  5  แสนบาท  หลังจากจดทะเบียนจำนองแล้ว  ปรากฏว่านายแดงทำการค้าขายได้เงินกำไรเป็นจำนวน  10 ล้านบาท  จึงนำเงินดังกล่าวไปปลูกบ้านในที่ดินที่จดทะเบียนจำนอง  เมื่อหนี้เงินกู้ของนายดำและนายขาวถึงกำหนดชำระ  นายขาวขอบังคับจำนองโดยมีจดหมายบอกให้นายดำชำระหนี้  และหากชำระหนี้ไม่ได้ก็ขอขายทอดตลาดทั้งที่ดินและบ้านที่ปลูกสร้างหลังการจดทะเบียนจำนองเพื่อนำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาชำระหนี้เงินกู้  10  ล้านบาท  อยากทราบว่า  นายขาวมีสิทธิ์ขายทั้งที่ดินและบ้าน  และนำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ก็ให้ทำได้

มาตรา  719  จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

แต่กระนั้นก็ดี  ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้  แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงต้องการช่วยเหลือนายดำซึ่งเป็นลูกหนี้นายขาว  จึงนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันกับนายขาว  การจดทะเบียนจำนองดังกล่าวถึงแม้เป็นที่ดินเป็นของนายแดง บุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้  ก็ย่อมกระทำได้ตามมาตรา  702  ประกอบมาตรา  709

และโดยหลักแล้ว  การจำนองย่อมไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นไว้โดยเฉพาะในสัญญาให้ครอบไปถึง  อย่างไรก็ดี  ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้  แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น  (มาตรา  719)

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังวันจำนองนายแดงได้ปลูกบ้านในที่ดินที่จดทะเบียนจำนอง  เมื่อหนี้เงินกู้ของนายดำและนายขาวถึงกำหนดชำระ  นายขาวก็ประสงค์จะบังคับจำนองโดยมีจดหมายบอกให้นายดำชำระหนี้และหากชำระหนี้ไม่ได้  ก็ขอขายทอดตลาดทั้งที่ดินและบ้านที่ปลูกภายหลังวันจำนอง  ดังนี้  นายขาวสามารถขายที่ดินพร้อมบ้านได้แต่จะนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้  จะนำไปได้แต่เพียงราคาที่ดินเท่านั้น  ตามมาตรา  719  วรรคสอง

สรุป  นายขาวสามารถขายที่ดินพร้อมบ้านได้แต่จะนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้  จะนำไปชำระหนี้ได้แต่เพียงราคาที่ดินเท่านั้น

 

ข้อ  3  นายฟ้ากู้เงินนายดินจำนวน  2  ล้านบาท  โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้อง  ขณะเดียวกัน  นายฟ้าได้นำทองคำหนัก  100  บาท  คิดเป็นเงิน  1  ล้านแปดแสนบาท  มาให้กับนายดินเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้  โดยมิได้ทำหลักฐานการจำนำแต่อย่างไร  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายดินได้จดหมายเรียกให้นายฟ้าชำระหนี้  แต่นายฟ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้  นายดินจึงนำทองคำออกขายทอดตลาด  ปรากฏว่าราคาทองคำตกต่ำลงมาก  ทำให้นายดินขายทองได้เงินเพียง  1  ล้านบาท  อยากทราบว่า  นายฟ้าจะยังคงต้องรับผิดในหนี้เงินที่เหลืออีก  1 ล้านบาทหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายฟ้านำทองคำมาจำนำกับนายดิน  เมื่อการจำนำดังกล่าวมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ย่อมทำให้สัญญาจำนำสมบูรณ์  มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย  และในกรณีที่มีการบังคับจำนำนั้นนายดินก็ได้กระทำถูกต้องตามมาตรา  764  คือ  มีจดหมายบอกให้ลูกหนี้ทำการชำระหนี้และมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำ  และตามมาตรา  767  ได้กำหนดไว้ว่า  เมื่อมีการบังคับจำนำโดยเอาทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดแล้ว  หากได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั่นเอง  ดังนั้น  เมื่อนำทองออกขายทอดตลาดได้เพียง  1  ล้านบาท  นายฟ้าจึงต้องรับผิดในหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีก  1  ล้านบาทตามมาตรา  767  วรรคสอง

สรุป  นายฟ้าต้องรับผิดในหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีก  1  ล้านบาท

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เหลืองอายุ  18  ปี  ซื้อรถจักรยานยนต์หนึ่งคันราคา  50,000  บาท  จากแดง  ทั้งๆที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอม  การชำระเงินกำหนดว่าให้เหลืองชำระครั้งแรก  10,000  บาท  ซึ่งเหลืองก็ได้ชำระแล้ว  ส่วนที่เหลือให้ชำระเป็นรายเดือน  เดือนละ  4,000  บาท  เป็นเวลา  10  เดือน  น้ำเงินผู้เป็นอาของเหลืองค้ำประกันหนี้รายนี้โดยรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้นตั้งแต่วันทำสัญญา  5  วัน  หลังจากนั้น  เหลืองได้รับอุบัติเหตุจากการขี่รถจักรยานยนต์คันนั้นจนต้องเข้ารับการรักษา  ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงได้ทราบเรื่องทั้งหมด

ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงนำรถจักรยานยนต์ชำรุด  ประมาณราคาได้เพียง  5,000  บาท  ส่งมอบให้แดง  พร้อมทั้งแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขาย  และขอให้แดงคืนเงินให้ฝ่ายตน  5,000  บาท  แดงอ้างว่าฝ่ายเหลืองต่างหากที่ต้องชำระเงินให้ตน  35,000  บาท

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1)    น้ำเงินต้องชำระเงินให้แดงหรือไม่  เพราะเหตุใด  อย่างไร

2)    เหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องรับผิดต่อน้ำเงินหรือไม่  เพราะเหตุใด  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้ เพราะทำด้วยความสำคัญผิด หรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่ เข้าทำสัญญาผูกพันตน

มาตรา  693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว  ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้  เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่ง  ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

วินิจฉัย

 1)              ตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองผู้เยาว์ได้ไปซื้อจักรยานยนต์จากแดง  โดยที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอม  สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ  (มาตรา  21  และ  153)  เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างแล้ว  จึงตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก  และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้แทนโดยชอบธรรมนำรถจักรยานยนต์ชำรุดส่งมอบให้แดงซึ่งประมาณราคาได้เพียง  5,000  บาท  จึงเป็นการพ้นวิสัย  ดังนั้นเหลืองจึงต้องชดใช้เงินให้แดงจำนวน  35,000  บาท  ตามราคารถยนต์ที่ยังค้างชำระอยู่  (มาตรา  176)

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเงินจำนวนนี้จะเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาที่ไม่ผูกพันเหลืองลูกหนี้  เพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม  แต่หนี้ที่เป็นโมฆียะนั้นถือเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง  เมื่อน้ำเงินค้ำประกันหนี้รายนี้โดยรู้ข้อเท็จจริงว่าเหลืองไร้ความสามารถในขณะทำสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  681  วรรคสาม  จึงเป็นการค้ำประกันที่สมบูรณ์  น้ำเงินผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แดงตามมาตรา  681  วรรคแรก

2)              เมื่อน้ำเงินผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แดงเจ้าหนี้แทนเหลืองลูกหนี้แล้ว  ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในอันที่จะไล่เบี้ยเอากับเหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมในต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้นได้ตามมาตรา  693  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  229(3)

สรุป 

1)              น้ำเงินต้องชำระเงินให้แดงในฐานะผู้ค้ำประกันเหลือง

2)              เหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องรับผิดชอบต่อน้ำเงิน

 

ข้อ  2  ก  กู้เงิน  ข  โดยนำเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าไปจำนองเป็นประกันหนี้  ต่อมา  ก  ได้ชำระหนี้บางส่วนและขอปลดทรัพย์บางส่วน  คือ ปลดเฉพาะเครื่องจักรเดินเรือ  โดย  ข  เจ้าหนี้ได้ยินยอมด้วย  แต่การปลดจำนองครั้งนี้  มิได้นำความไปจดทะเบียนปลดจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนี้  ค  เจ้าหนี้ของ  ข  ผู้รับจำนองจะใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  มาฟ้องบังคับจำนองแก่  ก  โดยเรียกให้ชำระหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่แรกกู้  1,000,000  บาท  ได้หรอไม่  และ  ค  ยังเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรที่  ก  อ้างว่าไถ่ถอนไปก่อนแล้ว  ให้  ค  ด้วย  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้  ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น  คดีก็เป็นอันเสร็จกันไป  แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย  ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี  ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

มาตรา  717  แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม  ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง

ถึงกระนั้นก็ดี  ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย  ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลดจากจำนองก็ให้ทำได้  แต่ความยินยอมดังว่านี้หากมิได้จดทะเบียน   ท่านว่าจะยกเอาเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกหาได้ไม่

มาตรา  746  การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใดๆสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดี  การระงับหนี้อย่างใดๆก็ดี  การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี  ท่านว่าต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำขอร้องของผู้มีส่วนได้เสีย  มิฉะนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก

วินิจฉัย

โดยหลัก  ถ้าเป็นกรณีทรัพย์ที่จำนองมีสิ่งเดียวแต่แบ่งออกเป็นหลายส่วน  การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงส่วนเหล่านั้นทุกส่วน  ซึ่งตามหลักแล้วลูกหนี้จะขอไถ่ถอนจำนองออกเป็นส่วนๆไม่ได้  เว้นแต่ผู้รับจำนองจะยินยอมด้วย  แต่ความยินยอมดังกล่าวหากไม่นำไปจดทะเบียน  จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้  (มาตรา  717)

ตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ได้ชำระหนี้บางส่วน  และขอไถ่ถอนจำนองเฉพาะเครื่องจักรเดินเรือนั้น  เมื่อ  ข  ผู้รับจำนองได้ยินยอมด้วยแล้ว ก  ย่อมทำได้  แต่เมื่อการไถ่ถอนจำนองบางส่วนดังกล่าวมิได้นำไปจดทะเบียนปลดจำนอง  จึงทำให้  ก  ไม่สามารถเอาการไถ่ถอนจำนองนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา  717  ประกอบมาตรา  746

ดังนั้น  ค  เจ้าหนี้ของ  ข  ผู้รับจำนอง  ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกจึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  ตามมาตรา  235  ฟ้องบังคับจำนองเอากับ  ก  เต็มจำนวน  1,000,000  บาทได้  และยังเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรเดินเรือคืนให้  ค  ได้ด้วย  เพราะถือว่าเครื่องจักรเดินเรือยังติดจำนองอยู่ตามมาตรา  717  ซึ่ง  ก  ผู้จำนอง  ไม่มีทางที่จะต่อสู้ได้เลย

สรุป  ค  สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  มาฟ้องบังคับจำนองกับ  ก  โดยเรียกให้ชำระหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่แรกกู้  1,000,000  บาท  และเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรเดินเรือให้  ค  ได้

 

ข้อ  3  นายแดงกู้เงินนายนก  5  ล้านบาท  โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย  นายนกขอให้นายแดงหาหลักประกันมามอบไว้ด้วย นายแดงจึงนำทองคำแท่งของตนจำนวน  100  บาท  ราคา  2  ล้านบาท  มาวางเป็นการประกัน  แต่มิได้ทำหลักฐานประการใด  พร้อมกับขอให้นายไก่หาหลักประกันมาด้วย  นายไก่จึงนำทองคำแท่งของนายไก่จำนวน  200  บาท  ราคา  4  ล้านบาทมาจำนำกับนายนก  โดยมีการทำหลักฐานลงลายมือชื่อนายไก่และนายนกด้วย

ดังนี้  อยากทราบว่า  การที่นายแดงและนายไก่นำทองคำแท่งมาทำเป็นหลักประกันกับนายนก  ถือเป็นสัญญาประกันประเภทใด  และนายนกจะบังคับจากใครได้หรือไม่  หากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว 

ส่วนในกรณีผู้จำนำนั้นจะเป็นตัวลูกหนี้เองหรือบุคคลอื่นนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้ก็ได้  เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น  แต่ที่สำคัญคือ  ผู้จำนำจะต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ

ตามอุทาหรณ์  การกู้เงินของนายแดงกับนายนกมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา  653 วรรคแรก  และการที่นายแดงนำทองคำแท่งมาวางเป็นประกันการชำระหนี้นั้น  เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว  จึงถือว่าเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์  แม้มิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

 ส่วนกรณีของนายไก่นั้น  แม้จะเป็นบุคคลภายนอก  แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้จำนำทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นแต่อย่างใด  เมื่อนายไก่ส่งมอบทองคำแท่งซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับนายนกผู้รับจำนำแล้ว  จึงเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

ดังนั้น  หากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  นายนกเจ้าหนี้ย่อมสามารถบังคับจำนำกับทองแท่งของทั้งนายแดงและของนายไก่ได้ตามมาตรา  764

สรุป  การที่นายแดงและนายไก่นำทองคำแท่งมาทำเป็นหลักประกันกับนายนกถือเป็นสัญญาจำนำและนายนกสามารถบังคับจำนำได้จากทั้งนายแดงและนายไก่

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  กู้เงิน  ข  100,000  บาท  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำ  ต่อมามี  ง  มาเป็นผู้ค้ำเพิ่ม  ก  ผิดนัดชำระหนี้  ข  จึงฟ้องให้  ค  ชำระหนี้  ค ต่อสู้ว่า  เมื่อมีผู้ค้ำมาเพิ่มภายหลัง  ผู้ค้ำคนแรกต้องหลุดพ้น  ดังนี้  ข้ออ้างของ  ค  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง  จากโจทย์ข้างต้น  เมื่อ  ค  โดนบังคับชำระหนี้ไปแล้ว  ค  จะไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง  หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกัน

วินิจฉัย

ในเรื่องการค้ำประกันนั้น  ถ้ามีผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  แม้จะไม่ได้ค้ำประกันร่วมกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  ซึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งหรือจะฟ้องทั้งหมดก็ได้  ดังนั้น  แม้เดิมจะมีผู้ค้ำประกันอยู่ก่อนแล้ว  ต่อมามีผู้ค้ำทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันอีก  การเพิ่มจำนวนผู้ค้ำประกันขึ้น  ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันคนเดิมพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด  (มาตรา 291  ประกอบมาตรา  682  วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  100,000  บาท  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำประกัน  แล้วต่อมามี  ง  มาเป็นผู้ค้ำเพิ่มนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ก  ผิดนั้นชำระหนี้  ข  ดังนี้  ผู้ค้ำประกันคือ  ค  และ  ง  ย่อมต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม  แม้ว่า  ง  จะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเพิ่มในภายหลังก็ตาม  ดังนั้นข้ออ้างของ  ค  ที่ต่อสู้ว่าเมื่อมีผู้ค้ำมาเพิ่มภายหลัง  ผู้ค้ำคนแรกต้องหลุดพ้นจึงฟังไม่ขึ้นตามมาตรา  291 ประกอบมาตรา  682  วรรคสอง  (ฎ. 500/2507)

ส่วนอีกประการหนึ่ง  แม้หนี้รายนี้จะมีผู้ค้ำประกัน  2  คน  เมื่อผู้ค้ำคนหนึ่งได้ชำระหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้ไปแล้ว  ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาจากผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งได้กึ่งหนึ่ง  (ฎ. 359/2509)  โดยใช้หลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ  ดังนั้น  เมื่อ  ค  โดนบังคับชำระหนี้ไปแล้ว  ค  จึงสามารถไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้

สรุป  ข้ออ้างของ  ค  ฟังไม่ขึ้น  และ  ค  สามารถไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้กึ่งหนึ่ง

 

ข้อ  2  แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท  มีเหลือง  เขียว  ขาว  ต่างจำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้  นอกจากนี้เหลืองได้จำนองที่ดินแปลงเดียวกันนี้ประกันหนี้อีกหนึ่งล้านบาทไว้กับน้ำเงิน 

ต่อมาดำใช้สิทธิของตนบังคับจำนองจากที่ดินของเหลืองแปลงเดียว  เพราะราคาหนึ่งล้านบาท  ส่วนของเขียวและขาวราคาแปลงละห้าแสนบาท

ดังนี้  เมื่อน้ำเงินมาปรึกษาท่านเรื่องการใช้สิทธิของตนบังคับชำระหนี้  ท่านจะแนะนำน้ำเงินว่าอย่างไร  และน้ำเงินจะได้รับชำระหนี้บ้างหรือไม่  อย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  734  วรรคสาม  แต่ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งแต่เพียงสิ่งเดียวไซร้  ผู้รับจำนองจะให้ชำระหนี้อันเป็นส่วนของตนทั้งหมดจากทรัพย์สินอันนั้นก็ได้ในกรณีเช่นนั้น  ท่านให้ถือว่าผู้รับจำนองคนถัดไปโดยลำดับย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองคนก่อน  และจะเข้าบังคับจำนองแทนที่คนก่อนก็ได้แต่เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองคนก่อนจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆ  ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  734  วรรคสาม  เป็นเรื่องผู้รับจำนองรายแรกรับจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายเดียวของตน  แต่ต่อมาผู้จำนองเอาทรัพย์สินบางสิ่งไปจำนองซ้ำแก่ผู้รับจำนองรายที่สอง  ถ้าผู้รับจำนองรายแรกบังคับจำนองทรัพย์สินเพียงสิ่งเดียว  และเป็นทรัพย์สินที่มีการจำนองซ้ำ  ทำให้ผู้รับจำนองรายที่สองไม่ได้รับชำระหนี้  กฎหมายกำหนดให้ผู้รับจำนองรายที่สองสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองรายแรกได้  เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองรายแรกจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่แดงเป็นหนี้ดำ  1  ล้านบาท  โดยมีเหลือง  เขียว  และขาว  จำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้  ถือเป็นการที่ดำผู้รับจำนองรายแรกรับจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายเดียวของตน  ดังนั้น  เมื่อเหลืองผู้จำนองคนหนึ่งได้จำนองที่ดินแปลงเดียวกันนี้ประกันหนี้อีก  1  ล้านไว้กับน้ำเงิน  จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินบางสิ่งไปจำนองซ้ำแก่ผู้รับจำนองรายที่สองอีก  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ต่อมาดำได้ใช้สิทธิของตนบังคับจำนองจากที่ดินของเหลืองแปลงเดียวเพราะราคา  1  ล้านบาทพอดี  ซึ่งจะทำให้น้ำเงินผู้รับจำนองรายที่สองไม่ได้รับชำระหนี้จากการบังคับจำนองเอาจากที่ดินของเหลือง

ดังนั้น  น้ำเงินจึงสามารถรับช่วงสิทธิของดำผู้รับจำนองคนก่อนได้  เพียงเท่าที่ดำจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆที่รับจำนอง  นอกจากที่ดินของเหลือง  กล่าวคือ  น้ำเงินสามารถเข้าบังคับจำนองที่ดินของเขียวและขาวได้แปลงละ  2  แสน  5  หมื่นบาทตามมาตรา  734  วรรคสาม

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำน้ำเงินว่าสามารถรับช่วงสิทธิของดำผู้รับจำนองคนก่อนเข้าบังคับจำนองที่ดินของเขียวและขาวได้แปลงละ  2  แสน  5  หมื่นบาท

 

ข้อ  3  นายอากาศกู้เงินนายพายุ  5  ล้านบาท  มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องตามกฎหมาย  นายพายุขอให้นายอากาศหาหลักประกันมามอบให้  นายอากาศจึงขอให้นายลมเอาทองคำแท่งหนัก  20  บาท  ซึ่งนายลมเพิ่งได้รับมรดกมาวางเป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้  นายลมตกลงแต่ไม่ยอมทำหลักฐานใดๆให้กับนายพายุ  โดยเพียงแต่ส่งมอบทองคำแท่ง  20  บาท  นี้ให้กับนายพายุ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายอากาศไม่สามารถชำระหนี้ให้นายพายุได้  นายพายุจึงฟ้องนายอากาศและนายลมพร้อมทั้งขอบังคับจำนำจากทองคำทั้ง  20  บาท  นายลมจึงมาปรึกษาท่านว่าการจำนำรายนี้สมบูรณ์หรือไม่  เพราะตนเองมิได้ทำหลักฐานใดๆให้นายพายุ  และหากมีการบังคับจำนำถ้าได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอใช้หนี้ตนเองจะต้องรับใช้ในส่วนที่ไม่ครบ  5  ล้านบาท  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

การทำสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  กำหนดแต่เพียงว่าต้องมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  มิได้กำหนดให้ต้องมีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างอื่นแต่อย่างใด  ดังนั้น  สัญญาจำนำจึงสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ  (ฎ.  1451/2503)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายลมนำทองคำแท่ง  20  บาท  มาจำนำไว้กับนายพายุเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ให้กับนายอากาศนั้น  แม้จะมิได้มีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  สัญญาจำนำดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  747  เพราะมีการส่งมอบทองคำแท่งให้แก่นายพายุผู้รับจำนำแล้ว

สำหรับการบังคับจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  767  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ  ลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือ

ตามข้อเท็จจริง  การจำนำนี้กฎหมายกำหนดไว้เพียงว่า  บุคคลหนึ่งซึ่งจะเป็นลูกหนี้หรือมิใช่ลูกหนี้ก็ได้  หากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์  ย่อมนำทรัพย์มาเป็นประกันได้  ซึ่งการที่นายลมนำทองคำแท่งมาจำนำนั้น  ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งมิใช่ลูกหนี้นำทรัพย์มาจำนำ  ดังนั้น  นายลมผู้จำนำจึงมิใช่ลูกหนี้ตามมาตรา  767  วรรคสอง  เมื่อการบังคับจำนำได้เงินไม่พอชำระหนี้  นายลมจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ไม่ครบ

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำนายลมว่า  การจำนำรายนี้มีผลสมบูรณ์  และหากมีการบังคับจำนำถ้าได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอใช้หนี้  นายลมไม่ต้องรับใช้ในส่วนที่ไม่ครบ  5  ล้านบาท

LAW 2010 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงเป็นหนี้เขียวมีหลักฐานถูกต้องตามกฎหมาย  แดงได้นำที่ดินจดจำนองเป็นประกันกับเขียว  พร้อมกับมีม่วงเป็นผู้ค้ำประกัน  แต่สัญญาค้ำประกันนั้นเป็นการกระทำระหว่างนายเขียวกับม่วง  โดยแดงไม่รู้เห็นด้วย  และมีการลงลายมือชื่อเพียงนายม่วงคนเดียว  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  แดงชำระหนี้ไม่ได้  เขียวจึงฟ้องขอให้ม่วงชำระ  ม่วงบ่ายเบี่ยงว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญาและมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว  ตนจึงไม่ต้องรับผิด  และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว  ตนจึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด  อยากทราบว่าข้ออ้างของม่วงทั้งหมดรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ม่วงทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของแดงกับเขียว  โดยที่แดงไม่รู้เห็นด้วย  และมีการลงลายมือชื่อเพียงนายม่วงคนเดียวนั้น  สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา  680  วรรคสอง  เพราะสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องให้ลูกหนี้รู้เห็นหรือลงลายมือชื่อด้วยแต่อย่างใด  ดังนั้น  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและปรากฏว่าแดงชำระหนี้ไม่ได้  เขียวย่อมฟ้องเรียกให้ม่วงผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนแดงได้ตามมาตรา  686 ดังนั้น  ข้ออ้างของม่วงที่ว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญา  และมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว  และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว  ตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้นจึงรับฟังไม่ได้

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  แดงได้นำที่ดินไปจดจำนองเป็นประกันกับเขียว  ซึ่งถือเป็นการจำนองที่ถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา  702 และมาตรา  714  จึงถือเป็นกรณีที่เขียวเจ้าหนี้มีทรัพย์ของแดงลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน  ดังนั้น  ม่วงผู้ค้ำประกันจึงสามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งแดงนำมาจำนองไว้เป็นประกันได้ตามมาตรา  690

สรุป  ข้ออ้างของม่วงที่ว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญา  และมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว  และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว  ตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้นรับฟังไม่ได้  แต่ม่วงสามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งนำมาจำนองไว้เป็นประกันได้

 

ข้อ  2  นายกรุงเทพขอนำที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งนายกรุงเทพมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายนคร  จดทะเบียนประกันหนี้รายหนึ่งกับนายลำปางเจ้าหนี้ อยากทราบว่านายกรุงเทพจะจำนองที่ดินนี้ได้หรือไม่  และมีผลประการใด  ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  705  การจำนองทรัพย์สินนั้น  นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว  ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่

มาตรา  706  บุคคลมีกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด  จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  บุคคลที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจำนองได้นั้น  กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย  ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง  หรือเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น  (มาตรา  705)  แต่อย่างไรก็ตามหากบุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  แต่อยู่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด  เช่น  เป็นเจ้าของที่ดินแต่ที่ดินนั้นมีภาระจำยอม  หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น  บุคคลนั้นจะจำนองทรัพย์สินนั้นได้ก็แต่ภายใต้เงื่อนไขเช่นนั้นด้วย  (มาตรา  706)

กรณีตามอุทาหรณ์  นายกรุงเทพจะจำนองที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  และมีผลประการใดนั้น  เห็นว่า  เมื่อนายกรุงเทพเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว  ย่อมสามารถนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับนายลำปางได้ตามมาตรา  705  โดยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  702  และมาตรา  714  และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่านายนครมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายกรุงเทพในที่ดินแปลงนี้ด้วย  ดังนั้น  การจำนองที่ดินแปลงนี้จึงมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายกรุงเทพเท่านั้นตามมาตรา  706

สรุป  นายกรุงเทพจำนองที่ดินแปลงนี้ได้  แต่มีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายกรุงเทพเท่านั้น

 

ข้อ  3  นายปูเป็นหนี้เงินกู้นายปลา  5  ล้านบาท  มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง  นายนกได้นำ  TV  จอแบนราคา  2  ล้านบาท  ซึ่งนำเข้าจากอเมริกามาส่งมอบวางเป็นประกันกับนายปลาแทนนายปู  แต่ไม่ได้จดทะเบียนอะไร  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายปูชำระหนี้ไม่ได้  นายปลาจึงมาปรึกษาท่านว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการบังคับการชำระหนี้จาก  TV  ดังกล่าว  และหากได้เงินไม่พอจะเรียกร้องการชำระหนี้ได้จากใครบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

ส่วนในกรณีผู้จำนำนั้นจะเป็นตัวลูกหนี้เองหรือบุคคลอื่นนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้ก็ได้  เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินมาจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น  แต่ที่สำคัญคือ  ผู้จำนำจะต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การกู้เงินระหว่างนายปูกับนายปลามีหลักฐานการกู้ถูกต้อง  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  (มาตรา  653  วรรคแรก)  และการที่นายนกได้นำ  TV  จอแบนมาส่งมอบวางเป็นประกันการชำระหนี้กับนายปลาแทนนายปูนั้น  ย่อมสามารถทำได้  เพราะแม้นายนกจะเป็นบุคคลภายนอก  แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้จำนำทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นแต่อย่างใด  และเมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว  จึงถือเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์  แม้จะมิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

ดังนั้น  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  และนายปูชำระหนี้ไม่ได้  นายปลาเจ้าหนี้ย่อมสามารถบังคับจำนำกับ  TV  จอแบนของนายนกได้  โดยนายปลาต้องดำเนินการตามมาตรา  764  คือ  ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังนายปูลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น  ถ้านายปูละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  นายปลาชอบที่จะเอา  TV  จอแบนซึ่งจำนำออกขายได้โดยการขายทอดตลาดตามมาตรา  764  และหากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นไม่พอที่จะชำระหนี้ที่นายปูค่างนายปลาอยู่  นายปลาก็สามารถเรียกร้องการชำระหนี้เอาจากนายปูลูกหนี้ในหนี้ส่วนที่เหลือนั้นได้ตามมาตรา  767  วรรคสอง

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายปลาตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

LAW 2010 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงเป็นหนี้ดำ  1  ล้านบาท  แดงนำที่ดินของตน  1  แปลงจำนองเป็นประกัน  หลังจากนั้นแสบได้ค้ำประกันหนี้รายนี้และเขียวได้นำที่ดินของตน  1  แปลงจำนองเป็นประกันด้วย  ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระไม่กี่วัน  ดำปลดจำนองให้แดงและแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ดำเรียกให้แสบชำระหนี้  (ในขณะนั้นที่ดินทั้ง  2  แปลงราคาแปลงละ  5  แสนบาท)  แสบต่อสู้ว่า  ตนไม่ต้องชำระหนี้  เพราะ

(1) ตนต้องเสียหายจากการปลดจำนอง

(2) ตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ทั้ง  2  ประการ  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  และผลจะเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว  ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้  เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่ง  ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา  697  ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี  จำนองก็ดี  จำนำก็ดี  และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(1) ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนต้องเสียหายจากการปลดจำนองฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  ตามกฎหมายนั้นเมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แล้วย่อมสามารถเข้ารับช่วงสิทธิที่เจ้าหนี้มีเหนือลูกหนี้ได้  (มาตรา  693  วรรคสอง)  และถ้าเจ้าหนี้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธินั้นได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น  (มาตรา  697)

ตามข้อเท็จจริง  การที่ดำปลดจำนองที่ดินให้แดงลูกหนี้และแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้วนั่นย่อมทำให้แสบผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในจำนองที่ดำมีต่อแดงได้ทั้งหมด  ดังนั้น  แสบจึงเสียหายจากการปลดจำนองดังกล่าว  และแสบย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้เป็นจำนวน  5  แสนบาท  ตามราคาที่ดินที่แดงนำมาจำนองตามมาตรา  693  วรรคสองและมาตรา  697  ข้อต่อสู้ของแสบจึงฟังขึ้น

(2) ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  690  นั้น  กำหนดไว้ว่า  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกัน  และผู้ค้ำประกันร้องขอ  เจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เขียวมิใช่ลูกหนี้ของดำ  เพียงแต่นำที่ดินของตนมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เท่านั้น  ดังนั้น  แสบจึงไม่สามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนได้  ข้อต่อสู้ของแสบจึงฟังไม่ขึ้น

ดังนั้น  เมื่อดำเรียกให้แสบชำระหนี้  แสบจึงต้องชำระหนี้ในบานะผู้ค้ำประกันจำนวน  5  แสนบาท

สรุป  ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนต้องเสียหายจากการปลดหนี้นั้นฟังขึ้น  ส่วนข้อต่อสู้ที่ว่าตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนนั้นฟังไม่ขึ้น  และแสบจะต้องชำระหนี้ในบานะผู้ค้ำประกันเป็นจำนวน  5  แสนบาท

 

ข้อ  2  นายจันทร์ยืมเงินนายอังคารจำนวน  100,000  บาท  ต่อมามีนายเอ  นายบี  และนายซีนำที่ดินของตนคนละแปลงราคาหนึ่งแสนบาทเท่ากันหมดมาจำนองประกันหนี้รายนี้  ดังนี้  หากต่อมานายซีมาชำระหนี้ให้กับนายอังคารทั้งหมด  ดังนี้นายซีจะได้รับช่วงสิทธิจากนายอังคารเจ้าหนี้หรือไม่  นายเอและนายบีจะต้องทำอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  725  เมื่อบุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องขำระ  และมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้  ท่านว่าผู้จำนองซึ่งได้เป็นผู้ชำระหนี้หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งต้องบังคับจำนองนั้นหามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองอื่นๆต่อไปได้ไม่

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  725  เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองและลูกหนี้มิได้เป็นบุคคลคนเดียวกัน  โดยมีผู้จำนองหลายคนได้จำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันหนี้รายเดียวกัน  และมิได้ระบุลำดับการบังคับจำนองไว้  ซึ่งหากต่อมาผู้จำนองคนใดได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้  ผู้จำนองคนนั้นก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้ได้  แต่จะไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองคนอื่นๆไม่ได้  เพราะการจำนองเป็นเพียงแต่การนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้เท่านั้น  ผู้จำนองซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์มิได้ผูกพันด้วย  จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกันอย่างกรณีของผู้ค้ำประกัน

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอ  นายบี  และนายซี  นำที่ดินของตนคนละแปลงมาจำนองประกันหนี้ระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  และมิได้ระบุลำดับในการบังคับจำนองไว้  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายซีซึ่งเป็นผู้จำนองคนหนึ่งได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้กับนายอังคารเจ้าหนี้แทนนายจันทร์ลูกหนี้  ย่อมทำให้นายซีเข้ารับช่วงสิทธิของนายอังคารเจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยเอากับนายจันทร์ลูกหนี้ได้  แต่จะไปไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองคนอื่นคือ  นายเอและนายบีไม่ได้ตามมาตรา  725

สรุป  นายซีจะได้รับช่วงสิทธิจากนายอังคารเจ้าหนี้  แต่จะไปไล่เบี้ยเอากับนายเอและนายบีไม่ได้

 

ข้อ  3  นาย  ก  ถูกฟ้องคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ได้ว่าจ้างให้นาย  ข  เป็นทนายความฟ้องคดีแก้ต่าง  โดยตกลงให้ค่าจ้าง  100,000  บาท  โดยมีนาย  ค  มอบนาฬิกาจำนำไว้เป็นประกันหนี้ค่าจ้างว่าความไว้  การว่าจ้างและการจำนำมิได้ทำเป็นหนังสือเพราะต่างก็ไว้ใจกัน  ต่อเมื่อเสร็จคดี  นาย  ข  ได้มีหนังสือให้นาย  ก  และนาย  ค  ชำระค่าจ้าง  แต่คนทั้ง  2  มิได้ชำระ  นาย  ข  จึงนำนาฬิกาที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้เงิน  600,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นาย  ข  จะฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  40,000  บาท  จากนาย  ก  และนาย  ค ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมายสัญญาจำนำนั้น  เป็นสัญญาระหว่างผู้จำนำตกลงกับเจ้าหนี้  โดยส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้  ซึ่งผู้จำนำจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้  แต่บุคคลผู้เข้าทำสัญญาจำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น  และสัญญาจำนำนั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ  ดังนั้นสัญญาจำนำเพียงแต่ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำก็เป็นสัญญาที่สมบูรณ์แล้ว  (มาตรา 747)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ค  มอบนาฬิกาไว้ให้นาย  ข  เพื่อเป็นประกันหนี้ค่าจ้างว่าความนั้น  แม้นาย  ค  จะมิใช่ลูกหนี้  แต่เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำแล้ว  ย่อมเป็นสัญญาจำนำที่สมบูรณ์ตามมาตรา  747  แม้การจำนำจะมิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม

และสำหรับการบังคับจำนำนั้นตามบทบัญญัติมาตรา   767  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ  ลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดนั้น

ตามข้อเท็จจริง  มูลหนี้จำนำคือการว่าจ้างว่าความอันเป็นสัญญาจ้างทำของ  ซึ่งแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ดังนั้น  เมื่อนาย  ข  เจ้าหนี้นำนาฬิกาที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้เงิน  60,000  บาท  ซึ่งยังขาดอยู่อีก  40,000  บาท  นาย  ข  ย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความในส่วนที่ยังขาดอยู่อีก  40,000  บาทนี้จากนาย  ก  ลูกหนี้ได้ตามมาตรา  767  วรรคสอง

ส่วนกรณีของนาย  ค  นั้น  นาย  ข  จะฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่อีกไม่ได้  เพราะนาย  ค  ไม่ใช่ลูกหนี้  เป็นเพียงแต่ผู้เอาทรัพย์สินจำนำไว้เป็นประกันหนี้เท่านั้น  ซึ่งเมื่อมีการบังคับจำนำแล้วการจำนำย่อมระงับสิ้นไป  (ฎ. 200/2496)

สรุป  นาย  ข  ฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  40,000  บาท  จากนาย  ก  ได้  แต่จะฟ้องเรียกจากนาย  ค  ไม่ได้

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท แดงได้นำที่ดินของตนหนึ่งแปลงจำนองไว้ หลังจากนั้นแสดได้ค้ำประกัน

และต่อมาอีกไมนานแดงได้จำนองที่ดินของตนอีกหนึ่งแปลงประกันหนี้รายนี้

ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำปลดจำนองให้แดง และแดงได้จดทะเบียนการปลดฯ แล้ว เมื่อหนี้ ถึงกำหนดชำระแดงผิดนัด ดำจึงเรียกให้แสดชำระหนี้ (ขณะนั้นที่ดินราคาแปลงละห้าแสนบาท) แสดต่อสู้ว่าตนหลุดพ้นไม่ต้องชำระหนี้

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และความรับผิดของแสดจะเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงิน กับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชำระหนี้ให้แกเจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่างใดย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิจำนอง หรือจำนำ หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แกเจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหาย เพราะการกระทำของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดำ 1,000,000 บาท และได้นำที่ดิน 2 แปลง ๆ ละ 500,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้โดยมีแสดเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำได้ปลดจำนอง ที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แดงและแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว

ดังนี้การกระทำของดำเจ้าหนี้เป็นเหตุให้ แสดผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินของลูกหนี้ และจะทำให้แสด ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้หรือไม่ แยกพิจารณาด้ดังนี้ คือ

ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ก่อนทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น เมื่อดำเจ้าหนี้ปลดจำนองให้แดงลูกหนี้ แสดผู้ค้ำประกันย่อมสามารถต่อสู้ได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตน ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิชองเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้และทำให้ตนได้รับความเสียหาย ดังนั้น ตนจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้จำนวน 500,000 บาทได้ตมมาตรา 693 และ 697

ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ภายหลังการทำสัญญาค้ำประกันแล้ว ดังนั้นการที่ดำเจ้าหนี้ได้ปลดจำนองที่ดินแปลงนี้ให้แดง แสดผู้ค้ำประกันย่อมไมสามารถที่จะต่อสู้ได้ว่า การกระทำของดำเป็นเหตุให้ตนไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 697 ดังนั้น แสดผู้ค้ำประกันจึงยังคงด้องรับผิดในการชำระหนี้ให้แกดำจำนวน 500,000 บาท

สรุป ข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นเฉพาะกรณีที่ดินแปลงที่ 1 ส่วนกรณีที่ดินแปลงที่ 2 นั้นฟังไม่ขึ้น และแสดจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ดำ 500,000 บาท

 

ข้อ 2. นาย ก. กู้เงินนาย ข. เป็นจำนวน 100,000 บาท ต่อมามีนายควายนำที่ดินราคา 50,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2552 และนายวัวนำที่ดินราคา 30,000 บาท มาประกันหนี้รายนี้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552

ในการนี้ นายวัวและนายควายตกลงกับนาย ข. เจ้าหนี้ว่า หากต้องการจะบังคับจำนองให้บังคับเอากับที่ดินของนายวัวก่อน ต่อมานาย ข. เจ้าหนี้ ได้ประทับใจในความดีของนายควาย จึงปลดจำนองให้นายควาย ดังนี้ การปลดจำนองนายควาย มีผลดีกับนายวัวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สิน ตราไว้แกบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 710 “ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้

และในการนี้คูสัญญาจะตกลงกันดังต่อไปนี้ก็ได้ คือว่า

(1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังดับเอาแกทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้

มาตรา 726 “เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่ง รายเดียวกันอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับไว้ด้วยไซร้ ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก ผู้จำนองคนหนึ่งนั้นยอมทำให้ผู้จำนองคนหลัง ๆ ได้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การจำนองของนายวัวและนายควายเป็นการจำนองทรัพย์สินของตน เพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืมซึ่งนาย ก. บุคคลอื่นจะต้องชำระ ย่อมทำได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 709 ซึ่งหนี้ รายเดียวกันนี้เองก็สามารถจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ได้ตามมาตรา 710 วรรคแรก

เมื่อได้มีการระบุลำดับตามข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองไว้ด้วยว่าให้นายวัวต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองก่อนตามมาตรา 710 วรรคสอง (1) จึงต้องเป็นไปตามนั้น

สำหรับในเรื่องการปลดหนี้จำนองนั้น หลักกฎหมายตามมาตรา 726 กำหนดให้ผู้รับจำนอง หลุดพ้นจากความรับผิดได้หากเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1.             มีผู้จำนองหลายคนจำนองประกันหนี้รายเดียว

2.             มีการระบุลำดับการบังคับจำนองไว้ตามมาตรา 710 วรรคสอง (1)

3.             ผู้รับจำนองปลดจำนองรายหนึ่งรายใดในลำดับทอน

4.             ผู้จำนองลำดับถัดไปเสียหายจากการปลดจำนอง

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่านาย ข. เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แกนายควายซึ่งจะต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองในลำดับหลังสุด การปลดจำนองดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ แกนายวัว เพราะถึงอย่างไรก็ตาม นายวัวก็ต้องถูกบังคับจำนองในลำดับแรกอยู่ดี ดังนั้นนายวัวยังคงต้องรับผิดในหนี้จำนองจำนวน 50,000 บาท กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 726

สรุป การปลดจำนองให้แกนายควายไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับนายวัวผู้ถูกบังคับจำนองคนก่อน

 

ข้อ 3. ก. กู้เงิน ข. 1 แสนบาทโดยนำรถยนต์มาจำนำเป็นประกันหนี้และมีข้อสัญญากันว่า ถ้าค้างดอกเบี้ย หรือเงินต้น ข. เอารถยนต์ที่จำนำให้คนเช่าขับเป็นแท็กซี่ได้ ดังนี้ เมื่อได้ค่าเช่ามาแล้ว ข. จะจัดสรร ชำระค่าอะไรก่อนหลัง กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง ถ้า ก. กู้เงิน ข. แล้วนำแม่โคพ่อโคไปจำนำไว้โดยไม่ทราบว่า แม่โคนั้นมีลูกติดท้อง ไปด้วย แม่โคตกลูกออกมา พอดีกับ ก. ค้างดอกเบี้ยกับ ข. ข. จึงนำลูกโคไปขาย นำเงินมาชำระ ค่าดอกเบี้ยและเงินต้น ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)           ข. มีอำนาจที่จะนำลูกโคไปขายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)           ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง จะติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 761 “ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้น อย่างไร ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้จึงดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

วินิจฉัย

มาตรา 761 ได้วางหลักไว้ว่า หากทรัพย์สินที่จำนำมีดอกผลนิตินัย (เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือเงินปันผล) เกิดขึ้นให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแกตน และถ้าไมมีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้ที่ได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น เว้นแต่ในสัญญาจำนำจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ถ้ามีการตกลงกันว่าให้ดอกผลนิตินัยเป็นของผู้จำนำ ดังนี้ ก็ต้องเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้

ตามอุทาหรณ์ กรณีแรก การที่ ก. กู้เงิน ข. 1 แสนาทโดยนำรถยนต์มาจำนำไว้เป็นประกันหนี้นั้นและมีข้อสัญญาว่า ถ้า ก. ค้างดอกเบี้ยหรือเงินต้น ข. สามารถเอรถยนต์ที่จำนำให้คนเช่าขับเป็นแท็กซี่ได้ ดังนี้เมื่อ ข. นำรถยนต์ที่จำนำให้เช่าและได้ค่าเช่ามา ค่าเช่านั้นถือเป็นดอกผลนิตินัย

และเมื่อมิได้มีการ ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนำ ข. จึงต้องนำค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยนั้น จัดสรรชำระค่าดอกเบี้ยที่ ก. ค้างชำระแก ข. ก่อน ถ้ายังมีเงินเหลือหรือในกรณีที่ไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้นำไปจัดสรรชำระเงินต้น ตามมาตรา 761

สำหรับกรณีหลัง การที่ ก. กู้เงิน ข. แล้วนำแม่โคพ่อโคไปจำนำไว้ ต่อมาแม่โคตกลูกออกมา ดังนี้ลูกโคถือว่าเป็นดอกผลธรรมดา และย่อมตกเป็นของผู้จำนำคือ ก. ซึ่งเป็นเจ้าของแม่โค และแม้ข้อเท็จจริง จะปรากฏว่า ก. ค้างดอกเบี้ย ข. อยู่ ข. ก็จะนำลูกโคไปขายเพื่อนำเงินมาชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ได้

เพราะตามมาตรา 761 สิทธิของผู้รับจำนำนอกจากจะครอบตัวทรัพย์ที่จำนำและครอบถึงดอกผลด้วยนั้น ก็จะครอบเฉพาะดอกผลนิตินัยเท่านั้นไม่ครอบถึงดอกผลธรรมดาด้วย ดังนั้น ก. ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงของลูกโค ย่อมสามารถติดตามเอาลูกโคคืนได้ตามมาตรา 1336

สรุป กรณีแรก ข. จะต้องนำค่าเช่าจัดสรรชำระค่าดอกเบี้ยที่ ก. ค้างชำระก่อน ถ้ามีเงินเหลือ หรือไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้นำไปจัดสรรชำระเงินต้น

กรณีหลัง (1) ข. ไมมีอำนาจนำลูกโคไปขาย

(2) ก. เป็นเจ้าของที่แท้จริงของลูกโค และสามารถติดตามเอาลูกโคคืนได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!