การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกทําสัญญาซื้อเครื่องจักรจากนายโทจํานวน 20 เครื่อง พร้อมทั้งชําระราคาค่าเครื่องจักร เรียบร้อยแล้ว พอถึงวันส่งมอบเครื่องจักรนายโทไม่ส่งมอบเครื่องจักรให้นายเอก ทําให้นายเอกไม่มีเครื่องจักรไปผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้า นายเอกได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาเป็นเงิน จํานวน 2,000,000 บาท นายเอกจึงส่งหนังสือบอกกล่าวไปถึงนายโทให้นายโทส่งมอบเครื่องจักร และชําระค่าเสียหายจากการผิดสัญญา นายโทได้รับหนังสือทวงถามจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และนายโทก็ไม่ยอมชําระค่าเสียหายดังกล่าว นายเอกจึงฟ้องนายโท เป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายมีคําสั่งให้รับฟ้อง

Advertisement

ดังนี้ คําสั่งให้รับฟ้องของศาลล้มละลายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลา ห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท… และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลัน หรือในอนาคตก็ตาม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําสัญญาซื้อเครื่องจักรจากนายโทจํานวน 20 เครื่อง พร้อมทั้ง ชําระราคาค่าเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว แต่พอถึงวันส่งมอบเครื่องจักรนายโทไม่ส่งมอบเครื่องจักรให้นายเอก ทําให้ นายเอกไม่มีเครื่องจักรไปผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้า ซึ่งทําให้นายเอกได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาเป็นเงิน จํานวน 2,000,000 บาท นายเอกจึงส่งหนังสือบอกกล่าวไปถึงนายโทให้นายโทส่งมอบเครื่องจักรและชําระ ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา นายโทได้รับหนังสือทวงถามจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายโทก็ไม่ยอมชําระค่าเสียหายดังกล่าวนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่านายโทลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) แล้ว

แต่อย่างไรก็ดี แม้นายโทลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้นายเอก ผู้เป็นโจทก์เป็นเงินจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทตามมาตรา 9 (1) และ (2) ก็ตาม แต่หนี้ค่าเสียหายจากการ ผิดสัญญานั้นเป็นหนี้ที่ไม่อาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 (3) ดังนั้น นายเอกจึงไม่สามารถฟ้องนายโทให้ล้มละลายได้ การที่นายเอกฟ้องนายโทเป็นคดีล้มละลายและศาล
ล้มละลายมีคําสั่งให้รับฟ้องนั้น คําสั่งให้รับฟ้องของศาลล้มละลายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งให้รับฟ้องของศาลล้มละลายไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายจนกู้ยืมเงินนายรวยจํานวน 2,000,000 บาท โดยทําหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ นายจนผู้กู้ ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายจนไม่ชําระหนี้ นายรวยจึงฟ้องนายจนเป็นคดีล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายรวยมายื่นคําขอรับชําระหนี้ ต่อมานายจนยื่นคําขอประนอมหนี้ ก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงคะแนนเสียง ด้วยมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจํานวนหนี้ข้างมาก ซึ่งได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนว่ายอมรับ คําขอประนอมหนี้ของนายจน

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรายงานศาลว่ามติของเจ้าหนี้ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจํานวน หนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และ ได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

มาตรา 36 “เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือ ประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล และ ศาลอาจมีคําสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ”

มาตรา 46 “การยอมรับคําขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรวยฟ้องนายจนเป็นคดีล้มละลายและศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดแล้ว ต่อมานายจนได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมหนี้ ครั้งแรกเพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งนั้น การยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้นั้นจะต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งกรณีที่จะเป็นมติพิเศษนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

1. เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก คือต้องมีเสียงของเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้ที่ออกเสียงลงคะแนน และ

2. มีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน(มาตรา 46 ประกอบมาตรา 6)

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงคะแนนเสียงด้วยมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มี จํานวนหนี้ข้างมากซึ่งได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนว่ายอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เท่านั้น มติ ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นมติพิเศษ ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะรายงานศาลว่ามติของ เจ้าหนี้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ใช่มติพิเศษ

สรุป ข้าพเจ้าจะรายงานศาลว่ามติของเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่มติพิเศษ

 

ข้อ 3. การปลดจากล้มละลายมีกี่กรณี อะไรบ้าง จงอธิบายโดยละเอียด พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 67/1 “เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจาก ล้มละลายเมื่อศาลได้มีคําสั่งปลดจากล้มละลายตามมาตรา 71 หรือเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามมาตรา 81/1”

จากบทบัญญัติมาตรา 67/1 จะเห็นได้ว่าการปลดจากล้มละลายนั้นมีได้ 2 กรณี ได้แก่

1. การปลดจากล้มละลายโดยคําสั่งศาลตามมาตรา 71

2. การปลดจากล้มละลายโดยผลของระยะเวลาตามกฎหมายตามมาตรา 81/1

1. การปลดจากล้มละลายโดยคําสั่งศาลตามมาตรา 71

ให้ศาลมีคําสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า

(1) ได้มีการแบ่งทรัพย์สินชําระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชําระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ และ

(2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

ซึ่งการปลดจากล้มละลายกรณีนี้ ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายจะต้องร้องขอให้ศาลมีคําสั่งปลดจากล้มละลายเมื่อเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 71 (1) และ (2) และเมื่อศาลได้มีคําสั่งปลดจากล้มละลาย ศาลอาจ กําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลด
จากล้มละลายตามมาตรา 81/1

2. การปลดจากล้มละลายโดยผลของระยะเวลาตามกฎหมายตามมาตรา 81/1
การปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1 นี้ ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายไม่ต้องร้องขอต่อศาล แต่อย่างใด เพราะตามกฎหมายได้กําหนดให้ปลดลูกหนี้จากล้มละลายทันทีที่พ้นกําหนดระยะเวลาสามปีนับจาก
วันที่ศาลได้มีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่

(1) ถ้าบุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้วและยังไม่พ้นกําหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลัง ให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี

(2) ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม

(3) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี (3) ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดอันมี ลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี

Advertisement