LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 1/2558

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งมีโฉนดที่ดิน ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยื่นคําขอรังวัดแนวเขตที่ดินพิพาท จําเลยคัดค้านแนวเขตที่ดินด้านทิศใต้ว่าโจทก์นํารังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่จําเลยครอบครองอยู่ เจ้าพนักงานที่ดินเปรียบเทียบแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ขอให้จําเลยถอนคําคัดค้าน แนวเขตที่ดินพิพาท จําเลยให้การว่า ที่ดินส่วนที่จําเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจําเลย หากแท้จริงไม่ใช่ที่ดินของจําเลย จําเลยก็ครอบครองโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า สิบปีจนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแล้ว อนึ่ง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยาย โดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน ทนายจําเลยแถลงตอบการสอบถามของศาลว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้ระบุตําแหน่งและจํานวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาท

ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทประการใด และคู่ความฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับ และเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้ คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งมีโฉนดที่ดิน และจําเลย ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินส่วนที่จําเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจําเลยเองนั้น จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่

การที่จําเลยให้การตอนหลังว่า หากแท้จริงไม่ใช่ที่ดินของจําเลย จําเลยก็ได้ครอบครองจนได้ กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแล้วนั้น เป็นคําให้การที่ขัดแย้งกับคําให้การของจําเลยในตอนแรก คําให้การ ในตอนหลังนี้เท่ากับจําเลยได้ให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจําเลย แต่จําเลยครอบครองติดต่อกันโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ถือว่าเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น จึงเป็นคําให้การที่ไม่มีประเด็นเรื่องจําเลยได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์มีได้แต่เฉพาะที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น (คําพิพากษา ฎีกาที่ 1069/2554)

ส่วนข้อที่จําเลยให้การว่า คําฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จําเลยให้การเพียงการยกถ้อยคํา ในกฎหมายมาอ้าง โดยมิได้บรรยายว่าสภาพแห่งข้อหาในคําฟ้องของโจทก์ข้อใดที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ชัดแจ้ง อย่างไร ถือเป็นคําให้การที่ไม่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธอย่างชัดแจ้ง จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เช่นกัน ทําให้ไม่มีประเด็นว่าคําฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 6382/2550) และเมื่อ ตามคําคู่ความคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทแล้ว แม้ศาลมีอํานาจสอบถามคู่ความเพื่อให้ได้ความชัดเจนในประเด็น ข้อพิพาท แต่การสอบถามนั้นก็จําต้องตรวจจากคําคู่ความที่ชอบ หากไม่เป็นคําคู่ความที่ชอบเสียแล้ว แม้คู่ความ จะแถลงเป็นประการใดก็หาทําให้คําคู่ความนั้นกลับเป็นคําคู่ความที่ชอบและมีประเด็นขึ้นตามที่ศาลสอบถาม และที่คู่ความแถลงไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 122-130/2520)

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

ตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท และจําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

สรุป

คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ ตามที่กล่าวอ้าง

 

ข้อ 2 นายเควินชาวเนเธอร์แลนด์มาเที่ยวประเทศไทยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า นายเควินถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดขู่ชิงเอาทรัพย์ไป นายขาวเห็นเหตุการณ์จําได้ว่าคนร้ายคือนายดําคนรู้จักกัน นายเควินจะต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรยากแก่การนํามาสืบต่อศาลในภายหน้า

ให้วินิจฉัยว่า

(ก) ถ้ายังจับนายดําไม่ได้ พนักงานอัยการจะขอสืบนายเควินและอาวุธมีดของกลางไว้ก่อนฟ้องตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอได้หรือไม่ และ

(ข) ถ้าจับนายดําได้และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่า นายขาวพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัด พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายขาว ไว้ล่วงหน้าได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 55/1 วรรคแรก “ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าศาลมีคําสั่งให้ออกหมายเรียก พยานโจทก์ โดยมิได้กําหนดวิธีการส่งไว้ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่ดําเนินการให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ เป็นผู้จัดส่งหมายเรียกแก่พยาน และติดตามพยานโจทก์มาศาลตามกําหนดนัด แล้วแจ้งผลการส่งหมายเรียก ไปยังศาลและพนักงานอัยการโดยเร็ว หากปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้หรือเกรงว่า จะเป็นการยากที่จะนําพยานนั้นมาสืบตามที่ศาลนัดไว้ ก็ให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสืบพยานนั้นไว้ล่วงหน้า ตามมาตรา 173/2 วรรคสอง”

มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก “ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะ เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันเป็นการยาก แก่การนําพยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคําร้องขอจากผู้เสียหายหรือจาก พนักงานสอบสวนจะยื่นคําร้องโดยระบุการกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิดต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคําสั่ง ให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทําความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอํานาจพนักงานสอบสวนหรือ พนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนําตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอํานาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้น มาพิจารณาต่อไป”

มาตรา 237 ตรี วรรคแรก “ให้นําความในมาตรา 237 ทวิ มาบังคับใช้โดยอนุโลมแก่กรณี การสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ และพยานหลักฐานอื่น และแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีไว้แล้ว แต่มีเหตุจําเป็นที่ต้อง สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนถึงกําหนดเวลาสืบพยานตามปกติตามมาตรา 173/2 วรรคสองด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก ประกอบมาตรา 237 ตรี วรรคแรก ได้กําหนดไว้ว่า กรณีก่อนฟ้องคดีต่อศาล หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร อันเป็นการยาก แก่การนําพยานมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยได้รับคําร้องขอจากพนักงานสอบสวนจะยื่นคําร้องต่อศาล โดยระบุการกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิด เพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่ายังจับนายดําผู้กระทําผิดไม่ได้ และนายเควินจะต้องเดินทาง ออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นการยากแก่การจะนํามาสืบต่อศาลในภายหน้า ดังนั้นเมื่อพนักงานอัยการ ได้รับคําร้องขอจากพนักงานสอบสวน จึงสามารถขอสืบนายเควินและอาวุธมีดของกลางไว้ก่อนฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก และมาตรา 237 ตรี วรรคแรก

(ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 55/1 วรรคแรก กําหนดไว้ว่า กรณีที่จับตัวผู้ต้องหาได้ และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลโดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น หากปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ หรือเกรง ว่าจะเป็นการยากที่นําพยานนั้นมาสืบตามที่ศาลนัดไว้ พนักงานอัยการจะขอให้ศาลสืบพยานนั้นไว้ล่วงหน้าก็ได้

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า นายดําถูกจับได้และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่านายขาวพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัด ดังนั้น พนักงานอัยการโจทก์จึงขอสืบนายขาวพยานโจทก์ไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 55/1วรรคแรก

สรุป

(ก) ถ้ายังจับนายดําไม่ได้ พนักงานอัยการจะขอสืบนายเควินและอาวุธมีดของกลาง ไว้ก่อนฟ้องตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอได้

(ข) ถ้าจับนายดําได้และถูกฟ้องเป็นจําเลยต่อศาลแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่านายขาวพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัด พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายขาวไว้ ล่วงหน้าได้

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกู้เงินโจทก์ 1,000,000 บาท และตกลงจะชําระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ จําเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ทั้งหมดแล้ว กําหนดใช้คืนภายใน 1 ปี เมื่อครบกําหนดจําเลย กลับไม่ยอมชําระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว ขณะสืบพยานจําเลยนั้นจําเลยนําสืบว่าจําเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 1 ล้านบาทตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจําเลยกู้เงินโจทก์เพียง 850,000 บาท แต่โจทก์นําดอกเบี้ยมารวมเข้ากับต้นเงิน จึงกลายเป็น 1,000,000 บาท ความจริงรับเงินไปแค่เพียง 850,000 บาท เท่านั้น โดยจําเลยจะขอนําพยานบุคคล มาสืบตามข้อที่กล่าวอ้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยนําพยานบุคคลมาสืบอ้างว่าจําเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 1 ล้านบาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจําเลยกู้เงินโจทก์เพียง 850,000 บาท แต่โจทก์นําดอกเบี้ยมารวมเข้ากับต้นเงินจึง กลายเป็น 1,000,000 บาท นั้น เป็นการนําสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจํานวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจํานวนดังกล่าว อันถือเป็นการนําสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ไม่ใช่การนําสืบเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อความในเอกสาร ดังนั้น จําเลยย่อมมีสิทธินําพยานบุคคลเข้าสืบได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป

จําเลยจะขอนําพยานบุคคลมาสืบตามข้อที่กล่าวอ้างได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน S/2557

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ยื่นฟ้องนายเฉียงและนายกระทิงเป็นจําเลยร่วมกันโดยบรรยายฟ้องว่า “นายเฉียงเป็นลูกจ้างของนายกระทิงขับรถส่งน้ำแข็งในทางการที่จ้างของนายกระทิงโดยประมาทด้วยความเร็วสูงชนโจทก์ ขณะที่โจทก์ยืนกําลังจะข้ามถนนอยู่ได้รับความเสียหายเป็นการทําละเมิดโจทก์ ขอให้นายเฉียงและ นายกระทิงร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ 1 ล้านบาท” นายเฉียงยื่นคําให้การยอมรับตามฟ้อง แต่นายกระทิงยื่นคําให้การปฏิเสธว่า “ในวันเกิดเหตุนายเฉียง ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของนายกระทิง ยังอยู่ในช่วงทดลองงานอยู่ และในขณะเกิดเหตุนายเฉียงเลิกงาน แล้วแต่ได้ยืมรถของนายกระทิงไปทําธุระส่วนตัว จึงไม่ได้กระทําการไปในทางการที่จ้าง อีกทั้งการ ขับรถชนดังกล่าวมิได้เกิดจากความประมาทของนายเฉียง แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยเพราะมีรถมาตัดหน้า ในระยะกระชั้นชิด ขอให้ศาลยกฟ้อง” ในวันชี้สองสถาน ศาลได้ถามนายกระทิงว่าจะยืนยันคําให้การหรือไม่ นายกระทิงจึงตอบด้วยวาจาว่า “นายกระทิงยอมรับว่านายเฉียงเป็นลูกจ้างจริงไม่ได้อยู่ในช่วงทดลองงาน แต่นายเฉียงกระทําไปเพราะ เหตุส่วนตัว ไม่ได้กระทําการในทางการที่จ้าง อีกทั้งเหตุละเมิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 แต่โจทก์นํามาฟ้องวันที่ 20 เมษายน 2558 เกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความในคดีละเมิดแล้ว”

ให้ท่านกําหนดประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ หากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐาน เข้าสืบ ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 1 “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(5) “คําคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคําฟ้อง คําให้การ หรือคําร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาล เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับ และเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้ คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคแรก “บุคคลใดครอบครองหรือ ควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ ยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 หากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ดังนั้น จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยทั้งสองตามอุทาหรณ์ คดีจึงมีประเด็น ข้อพิพาท ดังนี้

1 นายเฉียงเป็นลูกจ้างของนายกระทิงหรือไม่

2 นายเฉียงกระทําไปในทางการที่จ้างของนายกระทิงหรือไม่

3 การกระทําละเมิดของนายเฉียงเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม ในวันชี้สองสถาน เมื่อนายกระทิงรับแล้วว่านายเฉียงเป็นลูกจ้างของตนจริง จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว แม้นายกระทิงจะแถลงด้วยวาจาย่อมเป็นอันยุติ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า นายเฉียงเป็นลูกจ้างของนายกระทิงหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันต่อไป ไม่ต้องกําหนดเป็นประเด็น ข้อพิพาท และแม้นายกระทิงจะแถลงเพิ่มประเด็นเรื่องอายุความเข้ามา แต่ศาลก็ไม่อาจทิ้งเรื่องอายุความเป็น ประเด็นข้อพิพาทได้ เพราะไม่ได้อยู่ในคําคู่ความจึงมีเหลือเพียงสองประเด็นคือ นายเฉียงกระทําไปในทางการที่ จ้างของนายกระทิงหรือไม่ และการทําละเมิดของนายเฉียงเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นแรกที่ว่า นายเฉียงกระทําไปในทางการที่จ้างของนายกระทิงหรือไม่ เมื่อโจทก์ กล่าวอ้างว่านายเฉียงจําเลยกระทําในทางการที่จ้าง และนายกระทิงจําเลยปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างย่อมมี ภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 เมื่อโจทก์ไม่ได้นําพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ในประเด็นนี้ ศาลต้องฟัง ตามคําให้การของนายกระทิงคือ นายเฉียงไม่ได้ทําการในทางการที่จ้าง

ประเด็นที่สองที่ว่า การทําละเมิดของนายเฉียงเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าว อ้างว่าจําเลยครอบครองหรือควบคุมดูแลรถส่งน้ําแข็งซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรและจําเลย ไม่ได้ให้การปฏิเสธ โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคแรก ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้อง รับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

ดังนั้น เมื่อจําเลยให้การกล่าวอ้างว่าความเสียหายเกิดขึ้น เพราะเหตุสุดวิสัย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลย เมื่อจําเลยไม่ได้นําพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ ในประเด็นนี้ ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

 

ประเด็นที่ 3 หากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทําของนายเฉียงไม่ได้กระทําการในทางการที่จ้างของนายกระทิง นายกระทิงจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายเฉียงด้วย ศาลต้องพิพากษายกฟ้องในส่วนของนายกระทิง ให้นายกระทิงชนะคดี ส่วนกรณีของนายเฉียง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่นายเฉียงขับรถชนโจทก์นั้นไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย อีกทั้ง นายเฉียงก็ให้การยอมรับตามฟ้อง ศาลจึงต้องพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1 นายเฉียงกระทําไปในทางการที่นายจ้างหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2 การทําละเมิดของนายเฉียงจําเลยเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่

จําเลย (นายกระทิง)

และหากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องในส่วน ของนายกระทิงให้นายกระทิงชนะคดี แต่ในส่วนของนายเฉียง ศาลต้องพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

 

ข้อ 2 พนักงานอัยการโจทก์อ้างพยานบุคคลเป็นพยานดังนี้

คนที่ 1 บาทหลวงชาคริตเป็นชาวอังกฤษ เบิกความว่า “วันเกิดเหตุตนยืนอยู่บริเวณหน้าตึกเกิดเหตุ เห็นจําเลยถือปืนวิ่งตามผู้เสียหายไปยังหลังตึก หายไปสักครู่หนึ่งจึงได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด”

คนที่ 2 เด็กชายสมคิดอายุ 13 ปี เบิกความว่า “ตนอยู่ที่ตึกเกิดเหตุชั้นบน เห็นผู้เสียหายวิ่งมาหลบที่หลังตึกและจําเลยก็วิ่งตามมาแล้วยิงปืนไปยังผู้เสียหาย”

คนที่ 3 ดาบตํารวจสมหมายเบิกความว่า “ตนยืนควบคุมการจราจรอยู่ที่หน้าตึกเกิดเหตุ ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นบริเวณหลังตึก จึงรีบเข้าไปดู เห็นผู้เสียหายโดนยิงบริเวณแขน และเห็นจําเลยถือปืนกําลังวิ่งหลบหนีไป”

ให้ท่านวินิจฉัยว่า พยานทั้งสามคนนี้เป็นประจักษ์พยานหรือพยานบอกเล่า และพยานทั้งสามคนนี้ต้องสาบานตนก่อนเบิกความหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 95 วรรคแรก “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น

(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้

(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเอง โดยตรง”

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

(2) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ

(3) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา

(4) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณ”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

วินิจฉัย

ในการรับฟังพยานนั้น ตามบทบัญญัติ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 วรรคแรก ได้กําหนดห้ามมิให้รับ ฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ได้เห็น ได้ยิน หรือได้ทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วย ตนเอง ซึ่งในส่วนของพยานบุคคลนั้นก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประจักษ์พยานและพยานบอกเล่า

ประจักษ์พยาน หมายถึง พยานบุคคลที่ได้สัมผัสข้อเท็จจริงที่จะเบิกความมาด้วยตนเอง เช่น แดงเบิกความว่าเห็น ก. แทง ข. ดังนี้ แดงเป็นประจักษ์พยาน

ส่วนพยานบอกเล่า หมายถึง พยานบุคคลที่มิได้สัมผัสข้อเท็จจริงที่เบิกความมาด้วยตนเอง แต่รับทราบมาจากการบอกเล่าของบุคคลอื่น หรือบันทึกที่บุคคลอื่นทําไว้ เช่น ดําเบิกความว่า แดงเล่าให้ฟังว่า เห็น ก. แทง ข. ดังนี้ ดําเป็นพยานบอกเล่า

กรณีตามอุทาหรณ์

พยานบุคคลทั้งสามคน คือ บาทหลวงชาคริต เด็กชายสมคิด และ ดาบตํารวจสมหมาย ต่างก็เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยินเหตุการณ์มาด้วยตนเอง มิได้ไปฟังการบอกเล่าจากบุคคลใดมา ดังนั้น พยานบุคคลทั้งสามคนนี้จึงเป็นประจักษ์พยานที่รับฟังได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 หาใช่พยานบอกเล่าแต่อย่างใด

และในกรณีของพยานบุคคลนั้น กฎหมายยังบังคับให้พยานทุกคนต้องสาบานตนก่อนเบิกความ อีกด้วย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 กําหนดไว้ เช่น เป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นต้น ดังนั้น ทั้งบาทหลวงชาคริตและดาบตํารวจสมหมายจึงต้องสาบานตนก่อนเบิกความ แต่เด็กชายสมคิดอายุ 13 ปี ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จึงไม่จําต้องสาบานตนก่อนเบิกความแต่อย่างใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป

พยานทั้งสามคนนี้ถือเป็นประจักษ์พยาน โดยบาทหลวงชาคริตและดาบตํารวจ สมหมาย จะต้องสาบานตนก่อนเบิกความ ส่วนเด็กชายสมคิดไม่จําต้องสาบานตนก่อนเบิกความแต่อย่างใด

 

ข้อ 3 โจทก์นํารูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจําเลยมาฟ้องให้จําเลยชําระเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยมีการระบุรูปถ่ายสัญญาในบัญชีระบุพยานและส่งสําเนาให้คู่ความอีกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว จําเลย ยื่นคําให้การว่าชําระหนี้โจทก์ไปหมดแล้วขอให้ยกฟ้องโดยจําเลยไม่ได้คัดค้านอะไร ในวันสืบพยาน โจทก์จึงนํารูปถ่ายสัญญาเข้าสืบ จําเลยคัดค้านว่าศาลไม่สามารถรับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายได้ ศาลต้องรับฟังต้นฉบับเอกสารเท่านั้น ภายหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จ จําเลยต้องการจะนําตัว นายทรงกรดมาสืบว่ารูปถ่ายสัญญานั้นเป็นรูปถ่ายสัญญาปลอม

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะสามารถ รับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินได้หรือไม่ และจําเลยจะขอนําตัวนายทรงกรดเข้ามาสืบว่ารูปถ่ายนั้น เป็นรูปถ่ายสัญญาปลอมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(4) เมื่อคู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบตามมาตรา 125 ให้ศาลรับฟังสําเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอํานาจศาลตามมาตรา 125 วรรคสาม

มาตรา 125 วรรคแรกและวรรคสาม “คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็น พยานหลักฐานยันตน อาจคัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับ หรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ โดยคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ

ถ้าคู่ความซึ่งประสงค์จะคัดค้านไม่คัดค้านการอ้างเอกสารเสียก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ หรือศาลไม่อนุญาตให้คัดค้านภายหลังนั้น ห้ามมิให้คู่ความนั้นคัดค้านการมีอยู่ และความแท้จริงของเอกสารนั้น หรือความถูกต้องแห่งสําเนาเอกสารนั้น…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์นํารูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจําเลยมาฟ้อง ให้จําเลยชําระเงินค่าซื้อขายที่ดิน โดยมีการระบุรูปถ่ายสัญญาในบัญชีระบุพยานและส่งสําเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เรียบร้อยแล้วนั้น รูปถ่ายสัญญาซื้อขายดังกล่าวถือเป็นสําเนาเอกสาร โดยหลักห้ามศาลรับฟังเว้นแต่เข้า ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4) คือ กรณีที่ไม่มีการคัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 ศาลก็อาจรับฟังได้

ตามข้อเท็จจริง การที่จําเลยคัดค้านสําเนาเอกสารดังกล่าวในวันสืบพยานโจทก์ว่า ศาลไม่สามารถ รับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายได้ ย่อมไม่ถือเป็นการคัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 ซึ่งกฎหมายกําหนดให้คัดค้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ เมื่อจําเลยมิได้คัดค้านด้วยเหตุผลดังว่านี้ จึงถือว่าจําเลยยอมรับโดยปริยายแล้วว่า รูปถ่ายสัญญาซื้อขายซึ่งเป็น สําเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว ศาลจึงสามารถรับฟังสําเนาสัญญาได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4)

อีกทั้งการคัดค้านเอกสารตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 นั้น จะต้องคัดค้านก่อนสืบพยานเอกสาร นั้นเสร็จ เมื่อปรากฏว่า ภายหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จ จําเลยต้องการจะนําตัวนายทรงกรดมาสืบว่ารูปถ่ายสัญญา นั้นเป็นรูปถ่ายสัญญาปลอม จึงเป็นการคัดค้านเอกสารภายหลังจากสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จแล้ว ย่อมไม่สามารถ ทําได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125

สรุป

ศาลจะสามารถรับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินได้ และจําเลยจะขอนําตัวนายทรงกรด เข้าสืบว่ารูปถ่ายนั้นเป็นรูปถ่ายสัญญาปลอมไม่ได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 2/2557

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน 500,000 บาท ตามสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ จําเลยให้การว่า จําเลยไม่เคยกู้และรับเงิน 500,000 บาท ตามฟ้อง แต่จําเลยกู้และรับเงินจากโจทก์ เพียง 300,000 บาท โดยจําเลยลงลายมือชื่อในของผู้กู้ในสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง ซึ่งขณะนั้นยังไม่มี การกรอกข้อความจํานวนเงินกู้และมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้เงินนั้นเกิน ความจริงโดยจําเลยมิได้ยินยอม สัญญากู้เงินที่โจทก์นํามาฟ้องจึงเป็นสัญญาปลอม ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน ศาลกําหนดประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่ แต่เมื่อทนายจําเลยแถลงขอให้ศาลกําหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า จําเลยชําระหนี้ 300,000 บาท ตามคําให้การแก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว ศาลจึงกําหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มอีกข้อหนึ่งว่า จําเลยชําระหนี้ 300,000 บาท ตามคําให้การแล้วหรือไม่ ตามคําแถลงของจําเลย

ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาท ประการใด และถ้าในวันสืบพยาน คู่ความแถลงร่วมกันว่าพยานที่จะนํามาสืบถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประการใดบ้าง และ

2 ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประการใด

ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน 500,000 บาท ตามสัญญากู้เงิน ท้ายฟ้อง แต่จําเลยให้การว่าจําเลยไม่เคยกู้และรับเงิน 500,000 บาทตามฟ้อง แต่จําเลยกู้และรับเงินจากโจทก์เพียง 300,000 บาทนั้น จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจําเลยมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ เพียงแต่ ปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินและรับเงินจากโจทก์ 500,000 บาท แต่จําเลยได้กู้และรับเงินจากโจทก์เพียง 300,000 บาทเท่านั้น

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทประการแรกจึงมีว่า “จําเลยได้กู้เงินและรับเงินจากโจทก์ 500,000 บาท จริง หรือไม่” ซึ่งประเด็นนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ดังนั้นภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

และการที่จําเลยให้การว่า จําเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีการกรอกข้อความจํานวนเงินกู้และมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้เงินนั้นเกินความจริง โดยจําเลยมิได้ยินยอม สัญญากู้เงินที่โจทก์นํามาฟ้องจึงเป็นสัญญาปลอม เป็นกรณีที่จําเลยให้การต่อสู้ว่าเอกสารที่ โจทก์นํามาฟ้องนั้น เป็นเอกสารปลอม มิใช่เป็นกรณีที่จําเลยได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาท ประการที่ 2 จึงมีว่า “สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่” ซึ่งเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง สัญญากู้ดังกล่าว ภาระการพิสูจน์ถึงความถูกต้องแท้จริงของสัญญากู้จึงตกแก่โจทก์ (ฎีกาที่ 2370/2529)

ประเด็นที่ 2 ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

กรณีดังกล่าว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันสืบพยาน คู่ความแถลงร่วมกันว่าพยานที่จะนํามา สืบถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน เมื่อโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี และจําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี ดังนั้น ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า

(1) จําเลยได้กู้เงินและรับเงินจากโจทก์ 500,000 บาท จริงหรือไม่

(2) สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่ และเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสองฐานร่วมกันลักทรัพย์ จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยจําเลยที่ 1 อ้างนายหนึ่งและนายสองเป็นพยาน ส่วนจําเลยที่ 2 อ้างนายสามเป็นพยาน เมื่อสืบพยานโจทก์และ ตัวจําเลยทั้งสองเสร็จแล้ว ทนายความของจําเลยที่ 1 นํานายหนึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานจําเลยที่ 1 จนจบ ปรากฏว่านายสองและนายสามนั่งฟังคําเบิกความของนายหนึ่งอยู่ด้วย ต่อมาทนายความ ฝ่ายจําเลยนํานายสองและนายสามเข้าเบิกความเป็นพยานจําเลยจนจบ โจทก์คัดค้านว่า ศาลไม่ควร ฟังคําเบิกความของนายสองและนายสามเพราะเป็นการผิดระเบียบ หรือถ้าก่อนที่ทนายความของ จําเลยที่ 1 จะซักถามนายหนึ่งนั้น ศาลทราบว่านายสองและนายสามนั่งอยู่ในห้องพิจารณาด้วย จึงมีคําสั่งให้นายสองและนายสามออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ

ให้วินิจฉัยว่า

ข้อคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ และคําสั่งของศาลในกรณีดังกล่าวชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาล มีอํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความ เช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้ คําวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

 

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 236 “ในระหว่างพิจารณาศาลมีอํานาจสั่งให้ผู้ที่จะเป็นพยานซึ่งมิใช่จําเลย ออกไป อยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ…”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 เป็นเรื่องการห้ามพยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่น ซึ่งกําหนดไว้ว่า ห้ามมิให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง ซึ่งคําว่า “พยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง” นี้ หมายถึงเฉพาะพยานฝ่ายตนเท่านั้น ดังนั้น หากมีพยานอื่นดังกล่าวมานั่งฟังคําเบิกความอยู่ด้วย ศาลมีอํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปจากห้องได้ และบทบัญญัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ดังกล่าวให้ นํามาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีอาญาด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 15)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อจําเลยที่ 1 อ้างนายหนึ่งและนายสองเป็นพยาน ส่วนจําเลยที่ 2 อ้าง นายสามเป็นพยานนั้น การที่ทนายความของจําเลยที่ 1 นํานายหนึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานจําเลยที่ 1 จนจบ และ ปรากฏว่านายสองและนายสามนั่งฟังคําเบิกความของนายหนึ่งอยู่ด้วยนั้น กรณีของนายสองถือว่าเป็น “พยานอื่น ที่จะเบิกความภายหลัง” ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 จึงไม่สามารถเข้าฟังนายหนึ่ง เบิกความได้ ดังนั้นโจทก์จึงสามารถคัดค้านว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความของนายสอง เพราะเป็นการผิดระเบียบได้ และถ้าศาลทราบว่านายสองนั่งอยู่ในห้องพิจารณาก่อนที่ทนายความของจําเลยที่ 1 จะซักถามนายหนึ่ง ศาลก็มีอํานาจ สั่งให้นายสองออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 236

ส่วนกรณีของนายสามนั้น เป็นพยานของจําเลยที่ 2 มิใช่พยานของจําเลยที่ 1 ย่อมสามารถ เข้าฟังนายหนึ่งเบิกความได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจคัดค้านว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความของนายสาม เพราะเป็นการผิดระเบียบได้ และศาลก็จะสั่งให้ นายสามออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 236 ไม่ได้ เพราะนายสาม มิใช่พยานของจําเลยที่ 1 แต่อย่างใด

สรุป

ข้อคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นเฉพาะกรณีของนายสอง แต่กรณีของนายสามฟังไม่ขึ้น และ คําสั่งของศาลกรณีของนายสองชอบด้วยกฎหมาย แต่คําสั่งกรณีของนายสามไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 นายนพเป็นโจทก์ฟ้องนางอรจําเลยให้ชําระราคาค่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายที่ดิน นางอรได้ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ทําสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายนพ และที่ตนยอมลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินก็เพราะ หลงเชื่อคําที่นายนพอ้างว่าเพื่อสะดวกในการแบ่งแยก ในวันสืบพยานนางอร นางอรได้ขอนํา พยานบุคคลคือนายเอกและนายโทเข้าสืบพยานเพื่อยืนยันว่านางอรได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดิน แปลงดังกล่าวด้วยเหตุผลดังกล่าวจริง กรณีนี้ นางอรจําเลยจะนํานายเอกและนายโทเข้าสืบพยาน ในชั้นศาลได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้าง พยานเอกสารที่ แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนพเป็นโจทก์ฟ้องนางอรจําเลยให้ชําระราคาค่าที่ดินตาม สัญญาซื้อขายที่ดิน และนางอรได้ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ทําสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายนพ แต่ที่ตนยอมลงชื่อใน สัญญาซื้อขายที่ดิน ก็เพราะหลงเชื่อคําที่นายนพอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการแบ่งแยก และในวันสืบพยานนางอร นางอรได้ขอนําพยานบุคคลคือนายเอกและนายโทเข้าสืบพยานเพื่อยืนยันว่านางอรได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยเหตุผลดังกล่าวจริงนั้น มิใช่กรณีที่นางอรจําเลยขอนําพยานบุคคลมาสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้อความในเอกสารตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) แต่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าหนี้ที่ระบุ ไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ ดังนั้น นางอรจําเลยจึงสามารถนํานายเอกและนายโทเข้าสืบพยานในชั้นศาลได้ (ฎีกาที่ 2058/2523)

สรุป

นางอรจําเลยสามารถนํานายเอกและนายโทเข้าสืบพยานในชั้นศาลได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 1/2557

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี จําเลยให้การรับสารภาพ โจทก์นําพยานบุคคลมาสืบประกอบคํารับสารภาพ คือนายดาบตํารวจดําผู้จับกุมจําเลยเบิกความว่า ขณะที่เข้าไปจับกุมจําเลย จําเลยให้การรับว่า เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริงเพราะผู้ตายดูหมิ่นจําเลย โจทก์อ้างส่งบันทึกจับกุมที่มีข้อความ เช่นเดียวกับที่นายดาบตํารวจดําเบิกความเป็นพยานต่อศาล และร้อยตํารวจเอกแดงพนักงานสอบสวน เบิกความว่า ในชั้นสอบสวนแจ้งสิทธิให้จําเลยทราบโดยชอบแล้ว จําเลยให้การรับสารภาพว่าเป็น ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง และมอบอาวุธปืนดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลาง ซึ่งได้ส่งอาวุธปืนของกลางไปตรวจพิสูจน์แล้ว ผลปรากฏว่าเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายจริง อาวุธปืนของกลางที่อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล ส่วนทนายจําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานจําเลย เพราะให้การรับสารภาพแล้ว ให้วินิจฉัยว่า หากท่านเป็นศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยหรือยกฟ้องโจทก์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 84 วรรคท้าย “ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่าย ปกครองหรือตํารวจในชั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคํานั้นเป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้ กระทําความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…”

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 227 วรรคแรก “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษา ลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า การนําสืบพยานหลักฐานของโจทก์เพื่อประกอบคํารับสารภาพของจําเลยในชั้นศาลนั้น โจทก์ไม่จําต้องนําสืบให้ได้ ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดตามฟ้อง ดังเช่น ในกรณีที่จําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น แม้บันทึกจับกุมที่บันทึกว่าขณะที่นายดาบตํารวจดําเข้าไปจับกุมจําเลย จําเลยให้การรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืน ยิงผู้ตายจริง อันเป็นถ้อยคําที่จําเลยรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตํารวจผู้จับว่าจําเลยได้กระทําความผิดซึ่งต้องห้าม มิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคท้าย หรือคําเบิกความของนายดาบตํารวจดํา พยานโจทก์ที่ยืนยันถึงข้อเท็จจริงตามคําให้การรับสารภาพของจําเลยในชั้นจับกุมซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามบทบัญญัติ ดังกล่าวเช่นกัน (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1850/2555) ก็ตาม

แต่คําเบิกความของร้อยตํารวจเอกแดงพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ที่ยืนยันว่าในชั้นสอบสวน จําเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายจริง อันเป็นพยานหลักฐานที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น จึงน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีความผิดและรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ประกอบกับจําเลยก็นําอาวุธปืนวัตถุพยานที่ใช้ยิงผู้ตายมามอบให้แก่พนักงานสอบสวน ยึดไว้เป็นของกลาง ซึ่งเมื่อทําการพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายจริง คําเบิกความของร้อยตํารวจเอกแดง จึงมีน้ำหนักให้รับฟังและเชื่อได้ ตลอดจนชั้นศาลจําเลยก็ให้การรับสารภาพโดยไม่ติดใจสืบพยานจําเลยให้เห็นได้ เป็นอย่างอื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว พยานโจทก์ที่นําสืบประกอบคํารับสารภาพของจําเลยจึงทําให้แน่ใจว่ามีการ กระทําผิดตามฟ้องจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น จึงลงโทษจําเลยได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 227 วรรคแรก

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2546 จําเลยกู้และรับเงิน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ ตกลงชําระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่วันกู้ ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินท้ายคําฟ้อง ในการนี้จําเลย ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายสดนําที่ดินตามฟ้องไปจดทะเบียนจํานองประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ด้วย ครั้นเมื่อหนี้ถึงกําหนด จําเลยไม่ชําระหนี้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยชําระหนี้ตามสัญญา และไถ่ถอนจํานอง แต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ หากจําเลยไม่ชําระ ให้ยึดที่ดินจํานองและขายทอดตลาด นําเงินมาชําระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จําเลยให้การว่า จําเลยไม่เคยกู้และรับเงินจากโจทก์ จําเลยไม่เคยมอบอํานาจให้นายสดไปจดทะเบียน จํานองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์ ลายมือชื่อผู้มอบอํานาจในหนังสือมอบอํานาจไม่ใช่ลายมือชื่อของจําเลย แต่เป็นลายมือชื่อปลอม จําเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชําระหนี้และไถ่ถอนจํานอง จากโจทก์ คําฟ้องของโจทก็ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้ง ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ทั้งโจทก์นําคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 เป็น เวลานานกว่าสิบปีนับแต่วันกู้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดชี้สองสถาน จําเลยแถลงไม่ติดใจให้ศาลวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์ และหากโจทก์จําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 หากโจทก์และจําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ดังนั้น จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยตามอุทาหรณ์ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 จําเลยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์และทําสัญญาจํานองที่ดินตามฟ้องเป็นประกันเงินกู้ไว้ด้วยหรือไม่

2 โจทก์บอกกล่าวบังคับจํานองโดยขอบแล้วหรือไม่

สําหรับประเด็นตามคําให้การของจําเลยที่ว่า จําเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชําระหนี้ เงินกู้นั้น เนื่องจากหนี้เงินกู้ตามอุทาหรณ์เป็นหนี้มีกําหนดเวลาชําระตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ขอบังคับ ดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วั่นฟ้อง การบอกกล่าวทวงถามหนี้เงินกู้ก่อนฟ้องจึงไม่มีผลกระทบต่อคดี ไม่ต้องกําหนดเป็น ประเด็นข้อพิพาท แต่การบอกกล่าวบังคับจํานองเป็นสาระสําคัญของกระบวนการบังคับจํานองซึ่งเป็นเรื่อง อํานาจฟ้อง เมื่อจําเลยโต้เถียง จึงต้องกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ประเด็นตามคําให้การที่ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น คําให้การของจําเลยเพียงยก ถ้อยคําตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างโดยไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัย เป็นหลักแหล่งข้อหาเช่นว่านั้น หรือคําขอบังคับส่วนใดที่เคลือบคลุมและเคลือบคลุมอย่างไร อันทําให้จําเลยไม่ สามารถเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ คําให้การในส่วนนี้ของจําเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม

และประเด็นตามคําให้การที่ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความนั้น เนื่องจากในวันนัดชี้สองสถาน จําเลยแถลงไม่ติดใจให้ศาลวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่แล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันต่อไป ไม่ต้อง กําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นแรกที่ว่า จําเลยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์และทําสัญญาจํานองที่ดิน ตามฟ้องเป็นประกันเงินกู้ไว้ด้วยหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจําเลยกู้และรับเงิน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ และ ในการนี้จําเลยได้ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายสดนําที่ดินตามฟ้องไปจดทะเบียนจํานองประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ด้วย และจําเลยให้การปฏิเสธว่าจําเลยไม่เคยกู้และรับเงินจากโจทก์ อีกทั้งจําเลยไม่เคยมอบอํานาจให้นายสดไป จดทะเบียนจํานองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

ประเด็นที่สองที่ว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจํานองโดยชอบแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยชําระหนี้ตามสัญญาและไถ่ถอนจํานองแล้ว และจําเลยให้การปฏิเสธว่า จําเลย ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชําระหนี้และไถ่ถอนจํานองจากโจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์เช่นกัน

ประเด็นที่ 3 หากโจทก์และจําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ตามข้อเท็จจริง เมื่อไม่มีการสืบพยานโจทก์จําเลย โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็น ฝ่ายแพ้คดี และจําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี ดังนั้น ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1 จําเลยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์และทําสัญญาจํานองที่ดินตามฟ้องเป็นประกันเงินกู้ไว้ด้วยหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2 โจทก์บอกกล่าวบังคับจํานองโดยชอบแล้วหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์เช่นกัน และหากโจทก์จําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้จําเลย เป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างปี 2553 – 2556 โจทก์และจําเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และได้ร่วมกันซื้อที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ โดยได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อ ของจําเลยเพียงผู้เดียว ตามสําเนาโฉนดที่ดินท้ายฟ้อง เมื่อปลายปี 2556 โจทก์กับจําเลยตกลงแยกทางกัน โจทก์ขอให้จําเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินครึ่งหนึ่งแต่จําเลยไม่ยินยอม ขอให้บังคับจําเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินดังกล่าว จําเลยให้ การต่อสู้คดีว่า เงินที่ซื้อที่ดินแปลงพิพาทเป็นเงินส่วนตัวของจําเลยเพียงผู้เดียว โจทก์ไม่ได้ร่วม ออกเงินด้วย ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการสืบพยานโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เงินที่นํามาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าว เป็นเงินที่ได้มาจากการที่โจทก์และจําเลยร่วมกันทําธุรกิจ แต่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อ จําเลยเพียงผู้เดียวก่อน จําเลยแถลงโต้แย้งว่าศาลจะรับฟังคําเบิกความดังกล่าวของโจทก์ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินพิพาท ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบขออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”

 

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จําเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินครึ่งหนึ่ง แต่จําเลยให้การต่อสู้คดีว่าเงินที่ซื้อที่ดินแปลงพิพาทเป็นเงินส่วนตัวของ จําเลยแต่เพียงผู้เดียว และโจทก์ต้องการอ้างตนเองเป็นพยานเพื่อเบิกความว่า เงินที่นํามาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าว เป็นเงินที่ได้มาจากการที่โจทก์และจําเลยร่วมกันทําธุรกิจแต่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อจําเลยเพียง ผู้เดียวก่อน แต่จําเลยแถลงโต้แย้งว่าศาลจะรับฟังคําเบิกความดังกล่าวของโจทก์ไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคล เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินนั้น

ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทกับจําเลย โดยมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงมีสิทธินํา พยานบุคคลมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ส่วนการที่จําเลยมีชื่อเป็นผู้ถือ กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจําเลยมีกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เท่านั้น แต่มิใช่ข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาด โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนําสืบพยานหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ข้ออ้าง ของจําเลยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของจําเลยฟังไม่ขึ้น

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน S/2556

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์บริษัทประกันภัยฟ้องให้จําเลยรับผิดตามสัญญาที่ทําไว้กับโจทก์ จําเลยให้การว่าได้ทําสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้จริง แต่จําเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เพราะผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้

ฝ่ายโจทก์หรือจําเลยจะมีหน้าที่นําสืบในประเด็นใดบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์บริษัทประกันภัยฟ้องให้จําเลยรับผิดตามสัญญาที่ทําไว้กับโจทก์ และจําเลยให้การว่าได้ทําสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้จริง แต่จําเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เพราะผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ ประกันภัยนั้น จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า มีข้อยกเว้นความรับผิด ตามกรมธรรม์ประกันภัยจริงหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 8/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์อ้างว่าจําเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย แต่จําเลยต่อสู้ว่า จําเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เพราะมีข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเท่ากับจําเลย เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า มีข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลยกล่าวอ้าง ขึ้นใหม่ในคําให้การ ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว จึงตกแก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป

ฝ่ายจําเลยมีหน้าที่นําสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า มีข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ ประกันภัยจริงหรือไม่

 

ข้อ 2 พระมหากษัตริย์และพระราชินี เมื่อมาเป็นพยานในศาลมีเอกสิทธิ์ประการใดบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

(2) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ (3) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา

(4) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณ”

มาตรา 115 “พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ก็ได้ สําหรับ บุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมายจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ กําหนดไว้ตามกฎหมายนั้น ๆ ก็ได้”

จากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีมาเป็นพยานศาลจะมีเอกสิทธิ์ดังนี้ คือ

1 ไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนเบิกความก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 (1)

2 ไม่ต้องเบิกความหรือให้ถ้อยคําใด ๆ ก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 115)

 

 

ข้อ 3 โจทก์กับจําเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จําเลยเป็นการตอบแทนที่จําเลยไถ่ถอนจํานองที่ดินพิพาทที่โจทก์เป็นหนี้ธนาคารอยู่ อันเป็นการให้ สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจําเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2) ต่อมาจําเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องถอนคืนการให้ ขอให้บังคับจําเลยโอนที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ดังนี้ หากในหนังสือสัญญา ให้ที่ดินระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จําเลยสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”

 

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ จําเลยจะสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดิน เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องถอนคืนการให้ การที่จําเลยจะนําสืบพยานบุคคล ให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จําเลยย่อมมีสิทธิทําได้ เพราะกรณีดังกล่าว เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ มิใช่การฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ ดังนั้น การจะนําสืบพยานบุคคล ดังกล่าวของจําเลย จึงไม่ใช่การนําสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร คือสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์ กับจําเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข)

สรุป

จําเลยสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มี ค่าภาระติดพันได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 2/2556

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในฐานะที่ท่านเป็นพลเมืองดี เมื่อได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานต่อศาลแล้ว ท่านมีหน้าที่ที่สําคัญอย่างไรบ้าง

ธงคําตอบ

ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานต่อศาล หน้าที่ที่สําคัญที่ข้าพเจ้าจะต้องปฏิบัติ มีดังนี้ คือ

1 ต้องไปเบิกความต่อศาลตามความเป็นจริง เพราะเมื่อบุคคลใดได้รับหมายเรียกให้ไป เป็นพยานต่อศาลแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมิใช่บุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และไม่ใช่บุคคลที่มีสถานะพิเศษ ตามกฎหมาย หรือมีข้อแก้ตัวอันจําเป็นหรือเจ็บป่วยแล้ว บุคคลนั้นก็จะต้องไปเบิกความตามวัน เวลา และสถานที่ ที่ปรากฏอยู่ในหมายเรียก ถ้ามีการจัดขึ้นโดยไม่ยอมไปเบิกความตามวัน เวลา และสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในหมายเรียกนั้น บุคคลนั้นก็จะมีความผิดฐานขัดขืนหมายเรียกและต้องรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170

และการไปเบิกความต่อศาลนั้น ก็จะต้องเบิกความตามความเป็นจริง เพราะถ้าหากมีการ เบิกความอันเป็นเท็จแล้ว ก็อาจมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

2 ต้องสาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณตนก่อนเบิกความ ทั้งนี้เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ได้บัญญัติว่า “ก่อนเบิกความ พยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนา หรือจารีตประเพณี แห่งชาติตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริงเสียก่อน..” เว้นแต่จะเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นตาม กฎหมายเท่านั้นที่ไม่ต้องสาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณตนก่อนเบิกความ

3 ต้องเบิกความด้วยวาจา เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 113 บัญญัติว่า “พยานทุกคนต้อง เบิกความด้วยวาจาและห้ามไม่ให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลหรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ

แต่กรณีดังกล่าว มีข้อยกเว้นดังต่อไปนี้คือ

(1) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120/1 วรรคหนึ่ง คือในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมี คําร้องและคู่ความอีกฝ่ายไม่คัดค้าน และศาลอนุญาตให้คู่ความนั้นเสนอบันทึกถ้อยคําของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็น พยานยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลแทนการซักถามเป็นพยานต่อหน้าศาลได้

(2) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120/2 วรรคหนึ่ง คือกรณีที่คู่ความมีคําร้องร่วมกัน และ ศาลเห็นเสมควรอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคํายืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นผู้ให้ถ้อยคํา (พยาน) ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนําพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้

(3) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 115 คือ กรณีที่เป็นพยานบุคคลที่อยู่ในฐานะพิเศษ เช่น พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานแต่จะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ก็ได้

4 ต้องไม่เบิกความต่อหน้าพยานคนอื่นของฝ่ายตนที่จะเบิกความภายหลัง เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง” คําว่า “พยานอื่น” ที่จะเบิกความภายหลังนั้นหมายความถึงเฉพาะ “ พยานของฝ่ายตน” เท่านั้น ถ้าเป็นพยานบุคคล ของคู่ความฝ่ายอื่นก็ไม่ต้องห้าม

5 ต้องลงชื่อในบันทึกคําเบิกความของตนที่ศาลทําขึ้น เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 121 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการนั่งพิจารณาทุกครั้ง เมื่อพยานคนใดเบิกความแล้ว ให้ศาลอ่านคําเบิกความนั้นให้พยานฟัง และให้พยานลงลายมือชื่อไว้” เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น เช่น กรณีการเสนอบันทึกถ้อยคําของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ใน ต่างประเทศแทนการเบิกความต่อศาล หรือการสืบพยานบุคคลโดยใช้ระบบการประชุมทางจอภาพ หากลงลายมือชื่อ ในคําเบิกความไม่ได้ ก็ให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าศาลแทน โดยไม่ต้องมีพยานสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์ นิ้วมือนั้นตามมาตรา 50 (1)

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่า ในการฟ้องคดีนี้ โจทก์มอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2556 จําเลยซื้อสินค้าไปจาก โจทก์หลายครั้งหลายรายการ เป็นเงินรวม 200,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้ายังไม่ครบถ้วน คงค้าง ชําระเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ทวงถาม จําเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จําเลยให้การว่า โจทก์จะมอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบ ไม่รับรองเนื่องจากหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงสําเนาเอกสาร โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง จําเลยชําระราคาครบถ้วนแล้ว โดยได้นําเงินที่ค้างทั้งหมดไปชําระให้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ที่บริษัทโจทก์ มีนางขวัญลูกจ้างของโจทก์เป็นผู้รับเงินไว้แทน อย่างไรก็ดี คําฟ้องของโจทก์ไม่แสดง โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคําขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องของ โจทก์จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง เช่นนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด และถ้าคู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมิภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแกคู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ตามอุทาหรณ์ โจทก์มอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โดยฟ้องว่าจําเลยซื้อสินค้าไป จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการเป็นเงินรวม 200,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้าไม่ครบถ้วน คงค้างชําระเป็นเงิน 50,000 บาท จําเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง จําเลยชําระราคาครบถ้วนแล้วและฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า “จําเลยชําระ ค่าสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่”

ส่วนคําให้การของจําเลยที่ว่า โจทก์จะมอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบ ไม่รับรองเนื่องจากหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงสําเนาเอกสารนั้น เป็นคําให้การที่มิใช่เป็นการปฏิเสธ ความแท้จริงของหนังสือมอบอํานาจ การที่จําเลยไม่ทราบไม่ใช่เหตุที่จะทําให้หนังสือมอบอํานาจของโจทก์ต้องเสียไป และที่จําเลยไม่รับรองก็ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่า ทําไมหนังสือมอบอํานาจที่เป็นสําเนาจึงไม่ทําให้โจทก์มีอํานาจฟ้อง จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดี

ส่วนข้อที่จําเลยให้การว่าคําฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จําเลยให้การเพียงการยกถ้อยคํา ในกฎหมายมาอ้างโดยมิได้บรรยายว่าสภาพแห่งข้อหาในคําฟ้องของโจทก์ข้อใดที่ไม่ชัดแจ้งและไม่ชัดแจ้งอย่างไร ดังนั้น คําให้การของจําเลยจึงแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เช่นกัน จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

เนื่องจากจําเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจําเลยไม่ได้ซื้อสินค้าตามฟ้องไปจากโจทก์ คําให้การของ จําเลยถือว่ารับแล้วว่าจําเลยซื้อสินค้าตามฟ้อง แต่จําเลยให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าจําเลยได้ชําระค่าสินค้าตามฟ้องแล้ว โดยนําเงินที่ค้างชําระทั้งหมดไปชําระให้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ที่บริษัทโจทก์ มีนางขวัญลูกจ้างของโจทก์เป็น ผู้รับเงินไว้แทน ซึ่งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาทนี้จึงตกแก่จําเลย

ประเด็นที่ 3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ในกรณีที่คู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน ย่อมไม่มีการสืบพยานโจทก์จําเลย ดังนั้น จําเลย ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี และโจทก์ย่อมจะเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า จําเลยชําระค่าสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และภาระ การพิสูจน์ตกแก่จําเลย

และถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 3 โจทก์ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจําเลยแปลงหนึ่งเป็นเงิน 6 ล้านบาท วางมัดจํา 500,000 บาท ส่วนที่เหลือชําระในวันโอนกรรมสิทธิ์ ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 90 วัน นับแต่วันทําสัญญา พร้อมถมดินให้เรียบร้อย ซึ่งตามสัญญาคู่สัญญาตกลงกันให้เงินมัดจําดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการชําระเงิน ค่าที่ดินตามสัญญาด้วย เมื่อครบกําหนดตามสัญญา จําเลยไม่ยอมถมดิน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ให้จําเลยคืนเงินมัดจําและชําระค่าเสียหาย แต่จําเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจําเลยฐานผิดสัญญาเรียกเงินมัดจําคืนพร้อมค่าเสียหายอ้างว่าจําเลยไม่ถมดิน ในวันสืบพยาน จําเลยนําพยานบุคคลมาสืบ ว่าโจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนาผูกพันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินในสัญญา ดังนี้ จําเลยมีสิทธินําสืบพยานบุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ สัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ ในการทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์และจําเลยเป็นเงิน 6 ล้านบาท นั้น การที่โจทก์วางเงินมัดจําให้แก่จําเลยเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อตามสัญญาคู่สัญญาตกลงกันให้เงินมัดจํา ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการชําระเงินค่าที่ดินตามสัญญาด้วย จึงถือเป็นการชําระค่าที่ดินบางส่วน ซึ่งกรณีเช่นนี้ จึงไม่จําเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และกรณีนี้ ก็มิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ดังนั้น จําเลยจึงมีสิทธิที่จะนําพยานบุคคลมาสืบได้ว่า โจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนาผูกพันกันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินในสัญญาได้ เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องบังคับ ตามสัญญาจะซื้อจะขายแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป

จําเลยมีสิทธินําสืบพยานบุคคลในกรณีดังกล่าวได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 1/2556

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์คันที่โจทก์ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์ขับได้รับ ความเสียหายหลายรายการ จําเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ ขอให้บังคับ จําเลยทั้งสามร่วมกันชําระค่าเสียหาย 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี แก่โจทก์ จําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุ ยางหน้าของรถยนต์บรรทุกคันที่จําเลยที่ 1 ขับเกิดระเบิด รถเสียหลักไถลลงไปที่ไหล่ทางโจทก์ขับรถตามหลังรถยนต์บรรทุกคันที่จําเลยที่ 1 ขับมาอย่างกระชั้นชิด และด้วยความเร็วสูง จนไม่สามารถหลบหลีกหรือห้ามล้อได้ทัน จึงแล่นชนรถยนต์บรรทุกคันที่ จําเลยที่ 1 ขับ จําเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุชนกันจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ฝ่ายเดียว โจทก์เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท จริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง อย่างไรก็ตาม หากศาลฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ก็มีส่วนผิดอยู่ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จําเลยที่ 3 ให้การว่า จําเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ไม่ได้ ขับรถไปในทางการที่จ้าง จําเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความประมาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง สูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง

ในวันชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องจําเลยที่ 3 เนื่องจากจําเลยที่ 3 ชําระค่าเสียหาย ตามสัญญาประกันภัยจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์แล้ว ศาลอนุญาตและมีคําสั่งให้จําหน่ายคดีเฉพาะ จําเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้ประเด็นข้อพิพาทประการใด และฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 438 “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่ พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องว่า (1) จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 (2) จําเลย ที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 (3) จําเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์ขับได้รับความเสียหายหลายรายการตามฟ้อง

จําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า (1) จําเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุชนกันเกิดจากความ ประมาทเลินเล่อของโจทก์ฝ่ายเดียว (2) โจทก์เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท จริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง (3) โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้อง

จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยที่ 1 และที่ 2 มีประเด็นแห่งคดีที่คู่ความฟังได้ เป็นยุติ ดังนี้คือ

1 ประเด็นตามฟ้องที่ว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 1 ขับ รถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 นั้น จําเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนี้ จึง ถือว่าจําเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว และต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจําเลยที่ 1

และตามข้อเท็จจริง แม้ว่าจําเลยที่ 3 จะให้การว่า จําเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของจําเลย ที่ 1 และขณะเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างก็ตาม คําให้การของจําเลยที่ 3 ก็ไม่ก่อให้เกิดเป็น ประเด็นข้อพิพาท เพราะคําให้การของจําเลยที่ 3 มิได้เป็นคําให้การในฐานะคู่ความ (จําเลย) ทั้งนี้เพราะโจทก์ได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องจําเลยที่ 3 และศาลอนุญาตและมีคําสั่งให้จําหน่ายคดีของจําเลยที่ 3 ออกจากสารบบความแล้ว ดังนั้นคดีนี้จึงฟังได้เป็นยุติตามคําให้การที่ถือว่าเป็นการรับของจําเลยที่ 1 และที่ 2

2 ประเด็นที่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เมื่อจําเลยทั้งสองให้การว่าไม่ทราบไม่รับรอง ซึ่งเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่ารับหรือปฏิเสธ จึงถือว่าจําเลยทั้งสองรับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องจึงไม่เป็น ประเด็นข้อพิพาท คดีนี้จึงฟังได้เป็นยุติว่า ถ้าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

ดังนั้นจากคําฟ้องและคําให้การของจําเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า

1 จําเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่

2 โจทก์ประมาทเลินเล่อทําให้เกิดความเสียหายตามฟ้องหรือไม่

3 โจทก์เสียหายเพียงใด

4 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสําหรับค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่

 

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 8/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

1 จําเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จําเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์ขับ ทําให้รถยนต์คันที่ โจทก์ขับได้รับความเสียหาย แต่จําเลยให้การปฏิเสธว่าจําเลยมิได้ประมาทเลินเล่อ ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง แต่จําเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

2 โจทก์ประมาทเลินเล่อทําให้เกิดความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เมื่อจําเลยเป็นฝ่าย กล่าวอ้างว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธ ดังนั้น จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

3 โจทก์เสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างเรื่องความเสียหาย แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การ โต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหายด้วย หน้าที่นําสืบข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ กล่าวคือ เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้อง นําสืบถึงจํานวนค่าเสียหายให้ได้ตามที่ฟ้องมา แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนด ค่าเสียหายให้โจทก์ได้เองตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438

4 สําหรับประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี หรือไม่นั้น ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้เอง คู่ความไม่ต้องนําสืบ

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1 จําเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2 โจทก์ประมาทเลินเล่อหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จําเลย

3 โจทก์เสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

4 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่ คู่ความไม่มีภาระการพิสูจน์(คู่ความไม่ต้องนําสืบ) ศาลวินิจฉัยได้เอง

 

ข้อ 2 นายดําถูกฟ้องเป็นจําเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา นายเหลืองประจักษ์พยานโจทก์เบิกความว่า นายดํามิใช่คนร้ายกระทําความผิดตามฟ้อง เพื่อช่วยเหลือนายดําซึ่งขัดกับคําให้การของนายเหลืองที่ ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุทันทีว่า นายดําเป็นผู้ฆ่าผู้ตาย พนักงานอัยการโจทก์จึงขอ อนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามนายเหลืองโดยใช้คําถามนำ และขอสืบบันทึกคําให้การของนายเหลือง ในชั้นสอบสวนประกอบการถาม แล้วอ้างส่งเป็นพยานต่อศาล ศาลอนุญาต ทนายความของนายดํา คัดค้านว่า โจทก์จะใช้คําถามนําและสืบบันทึกคําให้การของนายเหลืองดังกล่าวไม่ได้ และบันทึก คําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวน เป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้ ให้วินิจฉัยว่า ข้อคัดค้าน ของทนายความนายดําฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 117 วรรคหก “ถ้าพยานเบิกความเป็น ปรปักษ์แก่คู่ความฝ่ายที่อ้างตนมาคู่ความฝ่ายนั้นอาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามพยานนั้น เสมือนหนึ่งพยานนั้น เป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา”

มาตรา 118 วรรคแรก “ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยานก็ดี หรือถามถึงพยาน ก็ดี ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คําถามนํา เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล”

มาตรา 120 “ถ้าคู่ความฝ่ายใดอ้างว่าคําเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้าง หรือที่ศาลเรียกมาไม่ควรเชื่อฟัง โดยเหตุผลซึ่งศาลเห็นว่ามีมูล ศาลอาจยอมให้คู่ความฝ่ายนั้นนําพยานหลักฐาน มาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้แล้วแต่จะเห็นควร”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้ บังคับได้”

มาตรา 226/3 “ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนํามาเบิกความต่อศาล หรือที่ บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนําเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น เห้ถือเป็นพยานบอกเล่า

ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่

(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่า จะพิสูจน์ความจริงได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยานก็ดี หรือถามติงพยานก็ดี ย่อม ต้องห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คําถามนํา แต่อย่างไรก็ตาม คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานอาจใช้คําถามนําได้ หากปรากฎ ว่าพยานเบิกความเป็นปรปักษ์แก่ตน ทั้งนี้โดยให้คู่ความฝ่ายนั้นอาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามพยานนั้น เสมือนพยานนั้นเป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา (ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหก และมาตรา 118 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15)

กรณีตามอุทาหรณ์ คําเบิกความของนายเหลืองประจักษ์พยานโจทก์ที่ว่า นายดํามิใช่คนร้าย กระทําความผิดตามฟ้อง ย่อมเป็นคําเบิกความที่เป็นปรปักษ์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถาม นายเหลืองเสมือนหนึ่งเป็นพยานที่ฝ่ายจําเลยอ้างมาและใช้คําถามนําได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหก และมาตรา 118 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมีสิทธินําบันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนเข้าพิสูจน์ พยานต่อศาลเพื่อแสดงว่าคําเบิกความของนายเหลืองในชั้นศาลไม่ควรเชื่อฟังได้ เพราะต้องการช่วยเหลือจําเลย ให้พ้นความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 120 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น ข้อคัดค้านของทนายประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนประเด็นที่ว่า บันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่ารับฟัง ไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้บันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคแรก ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังก็จริง แต่เมื่อคํานึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนทันทีหลังเกิดเหตุว่า นายดําเป็นผู้ฆ่า ผู้ตายโดยยังไม่มีโอกาสปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นเพื่อช่วยเหลือนายดําในตอนนั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ ความจริงได้ ศาลจึงรับฟังบันทึกคําให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ดังนั้นข้อคัดค้านของทนายในประเด็นนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สรุป

ข้อคัดค้านของทนายฟังไม่ขึ้น อัยการโจทก์มีสิทธิขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามนายเหลือง เสมือนหนึ่งเป็นพยานที่ฝ่ายจําเลยอ้างมาและใช้คําถามนําได้

และบันทึกคําให้การของนายเหลืองแม้จะเป็นพยานบอกเล่าศาลก็รับฟังได้

 

ข้อ 3 นายแก้วฟ้องนายขวดให้ชําระหนี้เงินกู้จํานวน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญากู้นายขวดจําเลยให้การว่าได้ทําสัญญากู้ตามฟ้องจริง และในสัญญาได้ระบุว่า “นายขวดยอมให้ดอกเบี้ย ร้อยละ 15 แก่นายแก้วทุกเดือน” เป็นการกําหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกําหนด จึงตกเป็น โมฆะ นายขวดขอชําระเฉพาะเงินต้นคือ 200,000 บาทตามสัญญาเท่านั้น ในชั้นสืบพยาน นายแก้ว แถลงว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวคิดกันเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ขอนําพยานบุคคลมาสืบถึงข้อตกลงนี้ ดังนี้ ศาลจะอนุญาตให้นายแก้วนําสืบพยานบุคคลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมีให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่ แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแก้วประสงค์จะนําสืบถึงอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ใช่ร้อยละ 15 ต่อเดือน กรณีจึงถือว่าเป็นการนําสืบว่านายขวดตีความหมายของข้อความ ในเอกสารผิดไป และเป็นการนําสืบอธิบายความหมายที่แท้จริงในสัญญา ไม่ถือว่าเป็นการนําพยานบุคคลมาสืบ เพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นายแก้วจึงนําพยานบุคคล มาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย ศาลจึงอนุญาตให้นําพยานบุคคลมาสืบได้ (เทียบ ฎ. 1601/2520)

สรุป

ศาลอนุญาตให้นายแก้วนําสืบพยานบุคคลได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่าได้ฝากนาฬิกาไว้กับจําเลย ต่อมาโจทก์ขอคืน จําเลยไม่ยอมคืนให้ จึงขอให้ศาลบังคับจําเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ฝากนาฬิกาไว้กับจําเลย ความจริงจําเลยซื้อจากโจทก์ ถ้าท่านเป็นศาลจะกําหนดให้ใครมีหน้าที่นําสืบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน”

มาตรา 1370 “ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบ และโดยเปิดเผย”

วินิจฉัย

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดแล้ว ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่ นําสืบนี้ก็จะตกอยู่กับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ที่จะต้องนําสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยต่อสู้ว่าไม่ได้รับฝากนาฬิกาไว้จากโจทก์ แต่จําเลยซื้อจากโจทก์นั้น เมื่อปรากฏว่าจําเลยได้ครอบครองนาฬิกาไว้ จําเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ที่ว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 1370 ที่ว่า “ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบ และโดยเปิดเผย” ดังนั้น เมื่อจําเลยได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่นําสืบเพื่อหักล้าง ข้อสันนิษฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะกําหนดให้โจทก์มีหน้าที่นําสืบ

 

ข้อ 2 การสืบพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น มีกรณีใดบ้างที่ไม่ได้กระทําในศาลที่รับฟ้องคดี

ธงคําตอบ

อธิบาย การสืบพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น มีกรณีที่ไม่ได้ทําในศาลที่รับฟ้องคดีดังต่อไปนี้ คือ

1 ศาลเห็นสมควรให้เดินเผชิญสืบ กล่าวคือ โดยหลักแล้ว ศาลซึ่งเป็นผู้สืบพยานจะ สืบพยานในศาลหรือนอกศาลก็ได้ แต่ถ้ามีคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นการสมควร ศาลก็อาจเดินเผชิญสืบพยานหลักฐานก็ได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 229 ประกอบมาตรา 230 วรรคแรก)

2 ศาลเห็นสมควรให้ส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น กล่าวคือ เมื่อมีเหตุจําเป็นไม่สามารถ นําพยานหลักฐานมาสืบที่ศาลซึ่งกําลังพิจารณาคดีได้ และการสืบพยานหลักฐานโดยวิธีอื่นก็ไม่สามารถกระทําได้ กรณีเช่นนี้ ศาลมีอํานาจส่งประเด็นให้ศาลอื่นสืบพยานหลักฐานแทน ทั้งให้ศาลที่รับประเด็นมีอํานาจและหน้าที่ ดังศาลเดิม รวมทั้งมีอํานาจส่งประเด็นต่อไปยังศาลอื่นได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 230 วรรคแรก)

3 ศาลอนุญาตให้พยานเบิกความนอกศาล กล่าวคือ ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจ นําพยานมาเบิกความในศาลได้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร กรณีเช่นนี้ ศาลก็อาจอนุญาตให้พยาน ดังกล่าวเบิกความที่ศาลอื่น หรือสถานที่ทําการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาลนั้น โดยจัดให้มีการ ถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 230/1)

4 ศาลอนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคําของบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ แทนการนําพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาล กล่าวคือ เป็นกรณีที่พยานอยู่ต่างประเทศและไม่อาจสืบพยาน ตาม ข้อ 3. ได้ กรณีเช่นนี้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลจะอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคํายืนยัน ข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคําซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนําพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาล ได้ แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคําที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม (ป.วิ.อาญา มาตรา 230/2)

 

 

ข้อ 3 โจทก์ให้จําเลยกู้เงินจํานวน 30,000 บาท โดยมีการทําหลักฐานการกู้ถูกต้องและมีการระบุว่าให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ต่อมาจําเลยผิดนัดชําระหนี้ โจทก์จึงฟ้องให้จําเลยชําระหนี้ เงินกู้ 30,000 บาท พร้อมกับขอนํานายแดงมาสืบว่าได้ตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในเวลาต่อมา อยากทราบว่า กรณีดังกล่าวโจทก์นําสืบหักล้างตามข้อตกลงได้หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และ มิได้กําหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความใน เอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจําเลยระบุว่าให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่มิได้ระบุว่าให้คิดกันในอัตราเท่าใดนั้น ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ซึ่งให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ ร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น การที่โจทก์จะนํานายแดงซึ่งถือเป็นพยานบุคคลมาสืบว่าได้ตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นการสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 94(ข) ดังนั้น กรณีดังกล่าวโจทก์จะนําสืบหักล้างตามข้อตกลงไม่ได้

สรุป

กรณีดังกล่าวโจทก์จะนําสืบหักล้างตามข้อตกลงไม่ได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 2/2555

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ในคดีเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจําเลยเป็นภริยาของนายกนก นายกนกกู้ยืมเงินโจทก์ไปแล้วไม่ชําระหนี้ตามกําหนด ต่อมานายกนกถึงแก่ความตาย จําเลยเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายกนก จึงต้องรับผิด ชําระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจําเลยไม่ชําระ ขอบังคับให้จําเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย จําเลยให้การว่า นายกนกไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม นายกนก เคยเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของโจทก์และลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินซึ่งไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ ยึดถือไว้ฉบับหนึ่งเพื่อประกันการชําระค่าเช่าที่ดินซึ่งจะเป็นฉบับเดียวกับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ นํามาฟ้องจําเลยหรือไม่ จําเลยไม่ทราบ แต่จําเลยขอยืนยันว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อ ของนายกนก สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ ประการใด และหากมีประเด็นข้อพิพาท ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพบกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยเป็นภริยาของนายกนก นายกนกกู้ยืมเงินโจทก์ไป แล้วไม่ชําระหนี้ตามกําหนด ต่อมานายกนกถึงแก่ความตาย จําเลยเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายกนกจึงต้องรับผิด ชําระหนี้ให้โจทก์ และจากคําให้การของจําเลยซึ่งจําเลยให้การตอนแรกปฏิเสธว่า นายกนกสามีจําเลยไม่เคย กู้ยืมเงินโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินโจทก์ทําปลอมขึ้นนั้น เท่ากับจําเลยปฏิเสธว่าไม่มีมูลหนี้ที่จําเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่จําเลยให้การตอนหลังว่า นายกนกเคยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินซึ่งไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ยึดถือ ไว้ฉบับหนึ่งเพื่อประกันการชําระค่าเช่าที่ดินซึ่งจะเป็นฉบับเดียวกับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นํามาฟ้องจําเลยหรือไม่ จําเลยไม่ทราบได้ เท่ากับจําเลยไม่ได้ให้การยอมรับ และในตอนสุดท้ายจําเลยก็ยืนยันว่าสัญญากู้เงินที่โจทก์นํามาฟ้อง เป็นเอกสารปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อของสามีจําเลยอันเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น ดังนั้นคดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า นายกนกสามีจําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องจริงหรือไม่ (เทียบเคียง คําพิพากษาฎีกาที่ 384/2525)

 

สําหรับหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้น ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ” และตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่านายกนกสามีจําเลย ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์ไป แต่จําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้นโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่านายกนกสามีจําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องจริงหรือไม่ และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

 

ข้อ 2 พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นจําเลยในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ หลังจากศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว นายหนึ่งให้การรับสารภาพ นายสองให้การปฏิเสธ ศาลสั่งจําหน่ายคดี สําหรับนายสองโดยให้โจทก์แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ และพิพากษาลงโทษจําคุกนายหนึ่ง ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ในคดีที่โจทก์ฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ นายสองให้การปฏิเสธ โจทก์นํานายหนึ่ง มาเบิกความว่า นายสองได้ร่วมลักทรัพย์กับนายหนึ่งตามฟ้อง นายสามผู้ร่วมลักทรัพย์อีกคนหนึ่ง แต่ถูกกันไว้เป็นพยานมาเบิกความว่า นายสองร่วมกับนายหนึ่งและนายสามลักทรัพย์ตามฟ้อง และนายสีซึ่งโจทก์ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและศาลอนุญาตแล้ว แต่พนักงานสอบสวน ไม่ได้สอบคําให้การนายสีไว้ในชั้นสอบสวน ทั้งโจทก์ก็มิได้สอบคําให้การไว้เช่นกันมาเบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายสี่เห็นนายหนึ่ง นายสองและนายสามร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่พยานโจทก์รับฟังได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิดหรือ บริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 232 “ห้ามมิให้โจทก์อ้างจําเลยเป็นพยาน”

วินิจฉัย

การห้ามโจทก์อ้างจําเลยเป็นพยานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232 หมายถึง จําเลยในคดีเดียวกัน เท่านั้น ผู้ที่ร่วมกระทําความผิดด้วยกันแต่ถูกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง หรือผู้ที่ร่วมกระทําผิดกับจําเลยแต่มิได้ถูกฟ้อง เป็นจําเลยเพราะถูกกันไว้เป็นพยาน กรณีเช่นนี้ก็ย่อมไม่ต้องห้ามตามมาตรานี้แต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า แม้นายหนึ่งและนายสองจะเป็นผู้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันก็ตาม แต่เมื่อศาลสั่งจําหน่ายคดี โดยให้โจทก์ แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ กรณีเช่นนี้ นายหนึ่งจึงไม่ได้เป็นจําเลยในคดีที่โจทก์แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงอ้างนายหนึ่งเป็นพยานได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232 แต่อย่างใด

กรณีนายสาม ซึ่งเป็นผู้ร่วมลักทรัพย์ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจําเลยด้วย โดยถูกกันไว้เป็นพยาน ดังนั้น เมื่อนายสามมิได้อยู่ในฐานะเป็นจําเลย โจทก์จึงอ้างนายสามเป็นพยานได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232

และนายสี่ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เมื่อพิจารณาแล้วน่าจะพิสูจน์ได้ว่านายสองกระทําความผิดจริง ตามฟ้อง ทั้งไม่ปรากฏว่านายสี่เป็นพยานชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ดังนั้น โจทก์จึงอ้างนายสี่เป็นพยานใต้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 และไม่มีกฎหมายบัญญัติ ไว้ว่าพยานบุคคลของโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 นั้น พนักงานสอบสวนต้องสอบคําให้การในชั้นสอบสวน หรือพนักงานอัยการได้เรียกมาสอบคําให้การเป็นพยานไว้แล้ว จึงจะอ้างเป็นพยานในชั้นศาลได้

ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่ พยานโจทก์จึงรับฟังได้ ส่วนจะเพียงพอ ให้แน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริงและนายสามเป็นผู้กระทําความผิดนั้นหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลในการชั่งน้ำหนัก พยานบุคคลว่าพอฟังลงโทษนายสามจําเลยได้หรือไม่ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 227

สรุป

คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่ พยานโจทก์รับฟังได้

 

ข้อ 3 โจทก์เช่าที่ดินของจําเลยเพื่อก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน แต่ทางจังหวัดไม่อนุญาตให้สร้าง โจทก์จึงบอกเลิกการเช่าที่ดินกับจําเลยซึ่งตามสัญญาให้สิทธิบอกเล็กได้ และฟ้องเรียกค่าเช่าล่วงหน้าคืน จํานวน 8 ล้านบาท ในสัญญาเช่าที่ดินมีข้อความระบุไว้ว่า ชําระค่าเช่าล่วงหน้าสําหรับการเช่า 21 ปี เป็นเงิน 8 ล้านบาท ดังนี้ จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบว่าจําเลยมีเจตนาที่จะให้เงินจํานวน 8 ล้านบาทเป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินกินเปล่าได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อเอกสารสัญญาเช่าที่ดินมีข้อความระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ชําระค่าเช่าล่วงหน้า สําหรับการเช่า 21 ปี เป็นเงิน 8 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ที่บัญญัติ ให้ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การที่จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบว่าจําเลยมีเจตนาที่จะ ให้เงินจํานวน 8 ล้านบาท เป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินกินเปล่านั้น ย่อมถือว่าเป็นการสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94(ข) ดังนั้น จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบในกรณีนี้ไม่ได้

สรุป

จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบในกรณีดังกล่าวไม่ได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 1/2555

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่า จําเลยเป็นน้องสาวโจทก์ จําเลยค้าขายขาดทุนจึงมากู้ยืมเงินโจทก์หนึ่งล้านบาทและได้รับเงินดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายคําฟ้องขอให้ ศาลบังคับจําเลยชําระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระครบถ้วน จําเลยให้การว่า จําเลยขอโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่พี่สาวที่แท้จริงของจําเลย จําเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์และไม่เคย กู้ยืมเงินหรือรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้อง หนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายคําฟ้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ เป็นสามีโจทก์และลายมือชื่อผู้กู้มิใช่ของจําเลย หนังสือสัญญากู้ยืมเป็นเอกสารปลอมขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน โจทก์แถลงขอส่งหนังสือสัญญากู้ยืมไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้กู้ซึ่งการนี้ให้จําเลยเสียค่าใช้จ่ายกึ่งหนึ่งด้วย ทนายจําเลยจึงแถลงไม่ติดใจโต้เถียงในข้อที่ว่าหนังสือ สัญญากู้ยืมเป็นเอกสารปลอมอีกต่อไป ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า

(1) คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใดบ้าง

(2) ถ้าปรากฏว่า ในวันชี้สองสถาน โจทก์และทนายจําเลยแถลงร่วมกันให้ส่งหนังสือสัญญากู้ยืมตามฟ้องไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ ถ้าผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืม เป็นลายมือชื่อของจําเลยจริง จําเลยยอมแพ้คดี ถ้าไม่ใช่ลายมือชื่อของจําเลย โจทก์ยอมแพ้คดี ศาลจึงส่งเอกสารดังกล่าวพร้อมด้วยตัวอย่างลายมือชื่อของจําเลยไปให้ผู้เชี่ยวชาญทําการ ตรวจพิสูจน์ ต่อมาผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมกับลายมือชื่อ ของจําเลยตามตัวอย่างน่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน แต่จําเลยโต้แย้งผลการ ตรวจพิสูจน์ว่าไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้และขอให้ศาล ทําการสืบพยานต่อไป เช่นนี้ ศาลจะดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างไร และคู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

(1) กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้ คือ

1) คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประการใดบ้าง และ

2) ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

 

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประการใดบ้าง

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่า จําเลยเป็นน้องสาวโจทก์ จําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 1 ล้านบาท และจําเลยได้รับเงินดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายคําฟ้อง

และจําเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่พี่สาวที่แท้จริงของจําเลย จําเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดกับ โจทก์และไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้อง หนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายคําฟ้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ เป็นสามีโจทก์และลายมือชื่อผู้กู้มิใช่ของจําเลย หนังสือสัญญากู้ยืมเป็นเอกสารปลอม

ดังนั้น จากคําฟ้องและคําให้การจึงมีประเด็นที่คู่ความโต้แย้งกัน คือ

(1) จําเลยเป็น น้องสาวที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่

(2) จําเลยกู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องแล้วหรือไม่ และ

(3) หนังสือสัญญา กู้ยืมท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมหรือไม่

จากประเด็นตามคําให้การที่ว่าจําเลยเป็นน้องสาวที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่นั้น ไม่มีผล กระทบกระเทือนถึงผลของคดี (ไม่ใช่สาระสําคัญของคดี) จึงไม่ต้องกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท (คําพิพากษาฎีกาที่ 2940/2526) ส่วนประเด็นในข้อที่ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น เมื่อจําเลยแถลง สละประเด็นตามคําให้การแล้ว ก็ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทด้วยเช่นกัน (คําพิพากษาฎีกาที่ 3784/2553) ดังนั้น คดี คงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประการเดียวว่า จําเลยกู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องแล้วหรือไม่ แต่เนื่องจาก จําเลยให้การปฏิเสธโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตามมาตรา 177 วรรคสอง จําเลยจึงไม่มีประเด็นสืบแก้

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนด หลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

ตามข้อเท็จจริง ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจําเลยกู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องแล้ว หรือไม่นั้น เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้าง และจําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจําเลยกู้ยืมและ รับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

(2) กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างไร และคู่ความฝ่ายใด จะเป็นฝ่ายชนะคดีนั้น เห็นว่า คําแถลงร่วมกันของโจทก์และจําเลยตามข้อเท็จจริงนั้นมีลักษณะเป็นคําท้าว่า ให้ ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญเป็นข้อแพ้ชนะคดี ดังนั้น เมื่อศาลส่งลายมือชื่อของจําเลยในสัญญากู้ยืม กับตัวอย่างลายมือชื่อของจําเลยไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ และผู้เชี่ยวชาญทําการตรวจพิสูจน์แล้วมีความเห็น ว่าน่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจึงเป็นการยืนยันหรือทํานอง ยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อของจําเลยตรงตามคําท้าของโจทก์จําเลยแล้ว จําเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคําท้า จําเลยจะโต้แย้งเป็นอย่างอื่นมิได้ ดังนั้น ศาลจึงไม่ต้องดําเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป แต่ต้องตัดสินให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีตามคําท้า (คําพิพากษาฎีกาที่ 12183/2547)

สรุป

(1) คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า จําเลยกู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องแล้วหรือไม่และภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

(2) ศาลไม่ต้องดําเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป และโจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตามพระราชบัญญัติการพนั้น จําเลยให้การปฏิเสธ ชั้นพิจารณาโจทก์นําสืบโดยไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นการเล่นการพนันของจําเลยตามฟ้อง มีแต่คําให้การรับสารภาพโดย สมัครใจของจําเลยในชั้นสอบสวนที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล ส่วนจําเลยนําสืบอ้างฐานที่อยู่ แต่ ตอนอ้างตนเองเข้าเบิกความ จําเลยตอบคําถามค้านของโจทก์รับว่าจําเลยเล่นการพนันตามฟ้องจริง ให้วินิจฉัยว่า ศาลลงโทษจําเลยตามฟ้องได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 233 “จําเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้ ในกรณีที่จําเลยอ้างตนเองเป็นพยานศาลจะให้เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจําเลยก็ได้ ถ้าคําเบิกความของจําเลยนั้นปรักปรําหรือเสียหายแก่จําเลยอื่น จําเลยอื่นนั้น ซักค้านได้

ในกรณีที่จําเลยเบิกความเป็นพยาน คําเบิกความของจําเลยย่อมใช้ยันจําเลยนั้นได้ และศาล อาจรับฟังคําเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้”

วินิจฉัย

ในคดีอาญานั้น กรณีที่จําเลยเบิกความเป็นพยาน คําเบิกความของจําเลยย่อมสามารถใช้ยัน จําเลยนั้นเองได้ และศาลอาจรับฟังคําเบิกความของจําเลยนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อพิจารณา ตัดสินคดีได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 233 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ ตอนจําเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความ การที่จําเลยตอบคําถามค้านของโจทก์ รับว่า จําเลยเล่นการพนันตามฟ้องจริงนั้น ย่อมสามารถใช้ยันจําเลยได้ และศาลสามารถรับฟังคําเบิกความของ จําเลยดังกล่าวไปประกอบคําให้การรับสารภาพโดยสมัครใจของจําเลยในชั้นสอบสวนที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานต่อ ศาลได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 233 วรรคสอง และเมื่อไม่ปรากฏว่าคําให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจําเลย ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จําเลยจะให้การปฏิเสธในชั้นศาล ศาลก็ลงโทษจําเลยตามฟ้องได้

สรุป ศาลสามารถลงโทษจําเลยตามฟ้องได้

 

ข้อ 3 โจทก์กับจําเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จําเลย เป็นการตอบแทนที่จําเลยไถ่ถอนจํานองที่ดินพิพาทที่โจทก์เป็นหนี้ธนาคารอยู่ อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจําเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535(2) ต่อมา จําเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องถอนคืนการให้ขอให้บังคับจําเลยโอนที่ดินพิพาทและ ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ดังนี้ หากในหนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน จําเลยสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้ สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้าง พยานเอกสารที่ แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จําเลยสามารถนําสืบพยานบุคคลตามข้อเท็จจริง ที่กล่าวอ้างได้หรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจําเลยจะเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องนํา พยานเอกสารมาแสดง (เพราะสัญญาให้ที่ดินกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่) ก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องถอนคืนการให้ที่ดินแก่จําเลยนั้น ไม่ใช่การฟ้องร้องให้บังคับหรือ ไม่บังคับตามสัญญาให้ที่ดินแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่ใช่กรณีการนําสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94(ข) จําเลยจึงสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญา ให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้

สรุป

จําเลยสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มี ค่าภาระติดพันได้

 

WordPress Ads
error: Content is protected !!