LAW3012 กฎหมายปกครอง 2/2555

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ก) นายแดงรับราชการในหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ต่อมานายแดงถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง นายขาวซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจึงมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัย ของนายแดง ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าคําสั่งดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด

ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ข) นายเขียวเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ได้มีคําสั่งให้นายเหลืองผู้ใต้บังคับบัญชา หลังเลิกงานให้ขับรถไปรับลูกสาวที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่งไปส่ง ที่บ้านด้วย ดังนี้ นายเหลืองจะต้องปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

ก) ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

1 การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย การอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

2 การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองตาม (1) นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายแดงได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ สอบสวนความผิดวินัยของนายแดงนั้น แม้จะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายของผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ แต่คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวก็ไม่เป็นคําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพราะคําสั่งดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของนายแดงแต่อย่างใด และคําสั่งดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการใช้อํานาจของผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงเป็นเพียงกระบวนการเพื่อนําไปสู่การออกคําสั่งทางปกครองว่า นายแดงกระทําผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งหมายถึงการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เท่านั้น

สรุป

คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยดังกล่าวไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง

ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 82(4) “ข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตาม คําสั่งนั้นจะทําให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ จะต้องเสนอความเห็น เป็นหนังสือทันทีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคําสั่งนั้น…”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 82(4) คําสั่งที่ข้าราชการพลเรือนต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามนั้น จะต้อง 1 เป็นคําสั่งที่สั่งในหน้าที่ราชการ

2 เป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

3 เป็นคําสั่งที่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายเขียวมีคําสั่งให้นายเหลืองขับรถไปรับลูกสาวภายหลังเลิกงานนั้น แม้คําสั่งนั้นจะไม่ทําให้เสียหายแก่ทางราชการ แต่ก็เป็นคําสั่งที่สั่งนอกเหนือจากหน้าที่ราชการตามกฎหมายและ ระเบียบของทางราชการ ดังนั้นนายเหลืองจึงไม่ต้องปฏิบัติตามคําสั่งของนายเขียวแต่อย่างใด

สรุป

นายเหลืองไม่ต้องปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชา ตามเหตุผลและหลักกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 2 ตําบล สภาตําบล เทศบาลตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบลคืออะไร เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

ตําบล สภาตําบล เทศบาลตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบล คือการจัดระเบียบบริหาร แผ่นดินของไทย ซึ่งอาจมีลักษณะที่เหมือนกัน หรือแตกต่างกัน และอาจมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้ คือ

“ตําบล” เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 62 ซึ่งบัญญัติว่า ท้องที่หลายตําบลอันสมควรอยู่ในความปกครองอันเดียวกันให้จัดตั้งเป็น อําเภอหนึ่ง และมาตรา 29 บัญญัติว่า การจัดตั้งตําบลนั้นเป็นอํานาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะพิจารณากําหนดเขต แล้วรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย เมื่อกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบด้วยก็ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งตําบลขึ้นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ตําบลต้องรวมหมู่บ้านราว 20 หมู่บ้าน

ในการปกครองตําบลมีเจ้าหน้าที่ คือ กํานัน แพทย์ประจําตําบล และสารวัตรกํานัน

“สภาตําบล” เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคตาม พ.ร.บ. สภาตําบลและ องค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 ซึ่งกําหนดให้แต่ละตําบลมีสภาตําบลซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ทําหน้าที่ บริหารงานตําบลของตนเองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และหากตําบลใดมีรายได้สูงกว่าปีละ 150,000 บาท ตําบลนั้นก็ สามารถพัฒนาจากการมีสภาตําบลไปสู่การมี “องค์การบริหารส่วนตําบล” ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

การจัดระเบียบการปกครองสภาตําบลนั้น ตาม พ.ร.บ.สภาตําบล กําหนดให้สภาตําบล ประกอบด้วยสมาชิกโดยตําแหน่ง ได้แก่ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล และสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจาก ราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตําบลนั้น หมู่บ้านละ 1 คน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

“เทศบาลตําบล” เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของเทศบาล ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งได้กําหนดว่า เมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาลให้จัดตั้ง ท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเทศบาล โดยการตราพระราชกฤษฎีกายกฐานะท้องถิ่นนั้นขึ้นเป็นเทศบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคล

เทศบาล มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาลตําบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร สําหรับ เทศบาลตําบลนั้น ตาม พ.ร.บ. เทศบาลฯ มิได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งเทศบาลตําบลไว้โดยเฉพาะ แต่ให้ อยู่ในดุลพินิจของรัฐบาลที่จะพิจารณาตามแต่จะเห็นสมควร

เทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี

“องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 ซึ่งได้กําหนดว่า สภาตําบลที่มีรายได้โดยไม่รวม เงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท หรือตามเกณฑ์ รายได้เฉลี่ยตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกําหนด อาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตําบลได้ โดยทําเป็น ประกาศของกระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนตําบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอาจเปลี่ยนฐานะเป็น เทศบาลได้โดยทําเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทย

องค์การบริหารส่วนตําบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตําบล และนายกองค์การ บริหารส่วนตําบล

 

 

ข้อ 3. นิติกรรมทางปกครองคืออะไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

“นิติกรรมทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่นพระราชบัญญัติแทน และในนามขององค์กรดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคล คณะหนึ่งว่าตนประสงค์จะให้เกิดผลทางกฎหมายเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างองค์กรดังกล่าวกับบุคคลนั้น หรือคณะบุคคลนั้น โดยที่บุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้นไม่จําเป็นต้องให้ความยินยอม

“นิติกรรมทางปกครอง” จะต้องประกอบด้วยลักษณะที่สําคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1 จะต้องเป็นการกระทําโดยองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ แทนและในนาม ขององค์กรดังกล่าวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง

2 การแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่งโดยองค์กรดังกล่าว จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น

3 ผลทางกฎหมายที่องค์กรดังกล่าวประสงค์จะให้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของตนนั้น คือการสร้างความสัมพันธ์ทางกฎหมายหรือนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมีอํานาจหรือมีสิทธิ เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่ง กระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล จึงย่อมมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ที่เป็นคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

4 นิติสัมพันธ์ดังกล่าว ต้องเป็นนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาที่แสดงออกมาขององค์กร ของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็น คู่กรณีในนิติสัมพันธ์ดังกล่าวไม่จําต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใด

นิติกรรมทางปกครอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กฎ และคําสั่งทางปกครอง

1 นิติกรรมทางปกครองที่เป็น “กฎ”

คําว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติ ท้องถิ่น ระเบียบข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

“กฎ” จะมีองค์ประกอบที่เป็นสาระสําคัญ 2 ประการ ได้แก่

1) เป็นกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นนามธรรม กล่าวคือ เป็นข้อกําหนดหรือกฎเกณฑ์ ที่กําหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อให้บุคคลกระทําการ หรืองดเว้นกระทําการ หรือได้รับอนุญาตให้กระทําการ เช่น ผู้ขับขี่ รถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หรือห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรีบนรถโดยสารประจําทาง เป็นต้น

2) บุคคลที่อยู่ภายใต้กฏจะถูกนิยามไว้เป็นประเภทแต่ไม่สามารถที่จะทราบจํานวน ที่แน่นอนได้ กล่าวคือ ไม่สามารถที่จะระบุตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้โดยเฉพาะเจาะจง เช่น ข้าราชการพลเรือน เป็นต้น

2 นิติกรรมทางปกครองที่เป็น “คําสั่งทางปกครอง” คําว่า “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้น ระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย การอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง “คําสั่งทางปกครอง” จะมีองค์ประกอบที่เป็นสาระสําคัญ 5 ประการ ได้แก่

1 คําสั่งทางปกครองต้องกระทําโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่นั้นอาจจะเป็นบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งได้ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครองของรัฐในการดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามกฎหมาย

2 คําสั่งทางปกครองต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย และเป็นการใช้อํานาจ ทางปกครองตามที่กฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจไว้

3 คําสั่งทางปกครองต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้าง นิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล

4 คําสั่งทางปกครองต้องเป็นกรณีเฉพาะเรื่อง และมีผลใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง

5 คําสั่งทางปกครองต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกองค์กรฝ่ายปกครอง คือมีผลไปกระทบ ต่อสถานภาพของสิทธิ์หรือหน้าที่ของบุคคลที่อยู่ภายนอกองค์กรฝ่ายปกครองแล้ว

 

 

ข้อ 4. นายแดงได้ทําสัญญารับจ้างก่อสร้างรั้วกับองค์การบริหารส่วนตําบลหนองหิน เป็นเงิน 1 ล้านบาท และต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องของงานที่รับจ้างเป็นเวลาอีก 2 ปี หลังจากส่งมอบงานเสร็จ

วันรุ่งขึ้น นายแดงได้นําเงินสดจํานวน 1 ล้านบาทไปวางเป็นประกันแก่องค์การบริหารส่วนตําบลฯ เพื่อความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของงานที่รับจ้างเป็นเวลา 2 ปี หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้หักเงินประกันดังกล่าวนั้นได้ทันที และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล หนองหิน โดยผลการเลือกตั้งนายแดงได้รับการเลือกตั้งฯ ต่อมาได้มีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ คุณสมบัติการดํารงตําแหน่งฯ ของนายแดง ซึ่งนายอําเภอหนองหินได้สอบสวนและวินิจฉัยโดยได้เรียก และแจ้งให้นายดํานายกองค์การบริหารส่วนตําบลฯ นําส่งเอกสารสัญญาและชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งพิจารณาจากสัญญาและเอกสารต่าง ๆ ที่ปรากฏชัดแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วเห็นว่า นายแดง ได้ทําสัญญาจ้างตามเอกสารจริง จึงได้วินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหาร ส่วนตําบลฯ ของนายแดงสิ้นสุดลง และได้มีหนังสือแจ้งคําวินิจฉัยให้นายแดงทราบ

ดังนี้ ให้ท่าน วินิจฉัยว่าคําวินิจฉัยของนายอําเภอฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด และหากนายแดงไม่เห็นด้วยกับคําวินิจฉัยนี้นายแดงจะต้องอุทธรณ์กรณีนี้ต่อใครหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 มาตรา 47 ตรี วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลสิ้นสุดลงเมื่อ

(6) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตําบลนั้น เป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทําให้แก่องค์การบริหารส่วนตําบลนั้น หรือที่องค์การบริหารส่วนตําบลนั้นจะกระทํา

เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (4) (5) (6) หรือ (7) ให้นายอําเภอสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คําวินิจฉัยของนายอําเภอให้เป็นที่สุด”

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้ “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

มาตรา 30 “ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้ คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นํามาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติ เป็นอย่างอื่น

(1) เมื่อมีความจําเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

(2) เมื่อจะมีผลทําให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฏกําหนดไว้ในการทําคําสั่งทางปกครอง ต้องล่าช้าออกไป

(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้เว้ในคําขอ คําให้การ หรือคําแถลง (4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทําได้ (5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง (6) กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อ ประโยชน์สาธารณะ”

และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดเนื่องจากการกระทําโดยไม่มีอํานาจ หรือนอกเหนืออํานาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการ อันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น”

มาตรา 72 “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอํานาจกําหนดคําบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคําสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทําทั้งหมด หรือบางส่วน ในกรณีที่มี การฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9(1)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําวินิจฉัยของนายอําเภอฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากนายแดง ไม่เห็นด้วยกับคําวินิจฉัยดังกล่าว นายแดงจะต้องอุทธรณ์กรณีนี้ต่อใครหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่นายแดงได้ทําสัญญารับจ้างก่อสร้างรั้วกับองค์การบริหารส่วนตําบลหนองหิน ก่อนที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลหนองหินนั้น ถือไม่ได้ว่านายแดงเป็นผู้มี ส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตําบลหนองหินนั้นเป็นคู่สัญญา

กรณีที่สัญญารับจ้างก่อสร้างรั้วฯ ได้กําหนดหน้าที่ให้นายแดงจะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่อง ของงานที่รับจ้างเป็นเวลาอีก 2 ปีหลังจากส่งมอบงาน ถือเป็นการกําหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของนายแดงที่ ต้องรับผิดต่อองค์การบริหารส่วนตําบลฯ ตามข้อตกลงในสัญญาที่นายแดงได้ทําไว้กับองค์การบริหารส่วนตําบลฯ ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากนายแดง

 

และแม้ว่าระยะเวลากําหนดความรับผิดดังกล่าวจะอยู่ระหว่างที่นายแดงเป็นสมาชิกสภา องค์การบริหารส่วนตําบลฯ ก็ตาม ก็มิใช่กรณีที่จะทําให้นายแดงกระทําผิดในการที่เป็นสมาชิกองค์การบริหาร ส่วนตําบลฯ กระทําการมีส่วนได้เสียกับองค์การบริหารส่วนตําบลตามมาตรา 47 ตรี วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. สภาตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537

ประเด็นที่ 2 การที่นายอําเภออาศัยอํานาจตามมาตรา 47 ตรี วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สภาตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบลฯ มีคําวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตําบลฯ ของนายแดง สิ้นสุดลง คําวินิจฉัยของนายอําเภอมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของนายแดงจึงเป็นคําสั่ง ทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ดังนั้น กรณีนี้นายอําเภอจึงต้องแจ้งข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอให้นายแดงทราบ และให้โอกาสแก่นายแดงได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนเพื่อโต้แย้งคัดค้านข้อกล่าวหาดังกล่าวตาม มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และตามข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏเหตุที่จะได้รับการยกเว้น ในการที่ไม่ต้องแจ้งสิทธิตามมาตรา 30 วรรคสองและวรรคสาม แต่อย่างใด

กรณีนี้จึงถือว่า การมีคําวินิจฉัยของนายอําเภอเป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและ วิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น ดังนั้นคําวินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งทาง ปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่เมื่อคําวินิจฉัยของนายอําเภอให้เป็นที่สุดตามมาตรา 47 ตรี วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. สภาตําบลฯ ดังนั้นหากนายแดงไม่เห็นด้วยกับคําวินิจฉัยดังกล่าว นายแดงย่อมสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ ศาลเพิกถอนคําสั่งทางปกครองนี้ได้ตามมาตรา 9(1) และมาตรา 72(1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ โดย ไม่ต้องอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนี้ก่อน

สรุป คําวินิจฉัยของนายอําเภอเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากนายแดงไม่เห็นด้วยกับคําวินิจฉัยนี้ นายแดงสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลเพิกถอนคําสั่งทางปกครองนี้ได้ โดยไม่ต้องอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนี้ก่อน

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายสุขใจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีละเมิดที่นายยินดีคนขับรถสิบล้อเป็นจําเลยที่ 1 บริษัท สิบล้อขนส่งจํากัด เป็นจําเลยที่ 2 โดยนายยินดีได้ขับรถมาชนตนขาหัก ขณะยืนรอรถโดยสารประจําทางที่ ป้ายรถโดยสาร เรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 500,000 บาท จําเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าขับรถชนโจทก์จริง แต่เพราะเบรกแตกจึงควบคุมรถไว้ไม่ได้ จําเลยที่ 2 ให้การว่าจําเลยที่ 1 ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างตน แต่เป็นช่วงทดลองงาน และวันเกิดเหตุ เป็นช่วงเอารถไปใช้ส่วนตัวไม่ได้อยู่ในเวลางาน และฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ในวันนัดชี้สองสถาน จําเลยที่ 2 ให้การว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของตนไม่ได้ทดลองงาน ดังนี้

ก. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ข. หากในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์และจําเลยทั้งสองตกลงกันว่า จะขอนํารถสิบล้อส่งไปตรวจพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญว่าเบรกแตกจริงหรือไม่ ถ้าเบรกแตกจริงโจทก์ยอมแพ้ แต่หากไม่ชํารุดจําเลยทั้งสอง ยอมแพ้ เมื่อผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าไม่สามารถทําได้เพราะรถสิบล้อไม่อยู่ในสภาพ งัดหรือแงะใด ๆ ได้เลย ศาลจะสั่งคดีนี้อย่างไรต่อไป จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ก. หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้ เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วย กําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา 438 วรรคหนึ่ง “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควร แก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างหรือข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่นายสุขใจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีละเมิดที่นายยินดีคนขับรถสิบล้อเป็นจําเลยที่ 1 บริษัท สิบล้อขนส่ง จํากัด เป็นจําเลยที่ 2 โดยนายยินดีได้ขับรถมาชนตนขาหัก ขณะยืนรอรถโดยสารประจําทาง ที่ป้ายรถโดยสารจําเลยที่ 1 ให้การว่าได้ขับรถชนโจทก์จริง ถือเป็นการรับชัดแจ้งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) ส่วนจําเลยที่ 2 ไม่ได้กล่าวไว้ในคําให้การเรื่องจําเลยที่ 1 ได้ขับรถชนโจทก์จึงถือเป็นการยอมรับตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) เช่นกัน จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่จําเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์จริงหรือไม่

2 การที่จําเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าขับรถชนโจทก์จริง แต่เป็นเพราะเบรกแตกจึงควบคุมรถไม่ได้ จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น ถือเป็นคําให้การปฏิเสธที่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า “รถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่” จึงต้องมีการสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้

3 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 แม้ตอนแรกจําเลยที่ 2 จะ ให้การว่าจําเลยที่ 1 ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของตนแต่เป็นช่วงทดลองงาน แต่เมื่อถึงวันนัดชี้สองสถาน จําเลยที่ 2 ให้การว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของตนไม่ได้ทดลองงาน จึงถือว่าเป็นการรับโดยชัดแจ้งแล้วตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 หรือไม่

4 การที่จําเลยที่ 2 ให้การว่า ในวันเกิดเหตุเป็นช่วงที่จําเลยที่ 1 เอารถไปใช้ส่วนตัว ไม่ได้อยู่ ในเวลางาน ถือเป็นการปฏิเสธโดยชัดแจ้งของจําเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น ประเด็น ข้อพิพาทจึงมีว่า “จําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่” จึงต้องมีการสืบพยานหลักฐานเพื่อ พิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้

5 การที่จําเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว แต่ในคําให้การของจําเลยที่ 2 ไม่ได้อธิบายว่าขาดอายุความเมื่อใด อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่อง ขาดอายุความ

6 การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดเป็นเงิน 500,000 บาทนั้น แม้จําเลยทั้ง 2 จะไม่ได้ให้การไว้เกี่ยวกับค่าเสียหายเลย ก็ต้องถือว่าจําเลยไม่ยอมรับในส่วนนี้ จึงก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายว่า “ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่”

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 รถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่

2 จําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่

3 ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่

 

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ที่ว่ารถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลัง เครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ จึงตกแก่จําเลยที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย (เบรกแตก) ซึ่งหากจําเลยพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์

ประเด็นที่ 2 ที่ว่าจําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จําเลยที่ 1 ได้กระทําไปในทางการที่จ้าง แต่จําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างย่อมมีหน้าที่ นําสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

ประเด็นที่ 3 ที่ว่าค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ ให้การโต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหาย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะ ต้องนําสืบถึงจํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหาย ให้โจทก์ได้เองตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 เรรคหนึ่ง

ข. หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

วินิจฉัย

ในคดีแพ่ง “คําท้า” ถือเป็นคํารับอย่างหนึ่ง แต่เป็นคํารับในศาลซึ่งมีลักษณะพิเศษ และการที่ คู่ความทํากันในคดี ถือได้ว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3)

หลักเกณฑ์สําคัญของการทําคําท้า ได้แก่

1 ต้องเป็นการท้ากันในเรื่องการดําเนินกระบวนพิจารณา หรือเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี เพราะ ถ้าเป็นการท้ากันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือการดําเนินกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่ถือเป็นคําท้าที่ศาล จะอนุญาต

2 ต้องมีการกําหนดเงื่อนไขว่า ถ้าผลของการดําเนินกระบวนพิจารณาหรือการชี้ขาดออกมา ทางหนึ่งให้ฝ่ายหนึ่งชนะ แต่ถ้าผลออกมาอีกทางหนึ่งก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะ

3 คําท้านั้นจะต้องกระทํากันต่อหน้าศาล และศาลต้องอนุญาต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์และจําเลยทั้งสองตกลงกันในวันชี้สองสถานว่า จะขอนํารถสิบล้อ ส่งไปตรวจพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญว่าเบรกแตกจริงหรือไม่ ถ้าเบรกแตกจริงโจทก์ยอมแพ้ แต่ถ้าหากไม่ชํารุด จําเลย ทั้งสองยอมแพ้นั้น ถือเป็นคําท้าตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) แล้ว แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถทําได้ เพราะรถสิบล้อไม่อยู่ในสภาพงัดหรือแงะใด ๆ ได้เลย ถือว่าเป็นกรณีที่คําท้านั้นไม่บรรลุผล ดังนั้น ศาลจึงต้องกําหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์ต่อไป

สรุป

ก. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้

1 รถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่ จําเลยมีหน้าที่นําสืบ

2 จําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นําสืบ

3 ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นําสืบ ข. ศาลต้องกําหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์ต่อไป

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องบังคับจําเลยให้ชําระหนี้ตามสัญญากู้จํานวน 500,000 บาท คืนแก่โจทก์ จําเลยให้การว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้กู้มิใช่ลายมือชื่อของจําเลย ชั้นพิจารณา ทนายความโจทก์นํานายหนึ่งผู้เขียนสัญญาเข้าเบิกความต่อศาลโดยมีนายสองพยานโจทก์ ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา และนายสามพยานจําเลยนั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อนายหนึ่งเบิกความ จบคําถามติงแล้วนึกขึ้นได้ว่าก่อนเบิกความตนมิได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณด้วยความพลั้งเผลอ จึงได้ปฏิญาณตนต่อหน้าศาลว่าคําให้การของตนเป็นความจริง จากนั้นทนายความโจทก์นํานายสอง เข้าเบิกความจนแล้วเสร็จ และทนายความจําเลยก็นํานายสามเข้าเบิกความได้เพียงจบข้อซักถามแล้ว ศาลให้เลื่อนคดีไปให้ทนายความโจทก์ซักค้านในนัดหน้า ครั้งถึงวันนัดนายสามไม่ได้มาศาล เพราะถึงแก่กรรมไปเสียก่อน ทนายความโจทก์จึงไม่ได้ซักค้านนายสามพยานจําเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสอง และนายสามรับฟังได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมี อํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความอีก ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัย ชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว…

เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้ เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสอง และนายสามรับฟังได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายหนึ่ง

การที่ทนายความโจทก์ได้นํานายหนึ่งผู้เขียนสัญญาเข้าเบิกความต่อศาล โดยมีนายสองพยานโจทก์ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาและนายสามพยานจําเลยนั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อนายหนึ่ง เบิกความจบคําถามตึงแล้วนึกขึ้นได้ว่าก่อนเบิกความตนมิได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณด้วยความพลั้งเผลอ จึงได้ปฏิญาณตนต่อหน้าศาลว่าคําให้การของตนเป็นความจริงนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นายหนึ่งได้มีการ ปฏิญาณตนตามความมุ่งหมายของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 แล้ว (คําพิพากษาฎีกาที่ 217/2488) ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งจึงรับฟังได้

กรณีของนายสอง

แม้ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง จะห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่น ที่จะเบิกความในภายหลัง ซึ่งคําว่า “พยานอื่น” และ “พยานคนก่อน” ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 หมายถึง พยานฝ่ายของตน แต่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า หากมีการเบิกความต่อหน้า พยานฝ่ายของตนแล้วจะทําให้คําเบิกความนั้นรับฟังไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายตรงข้ามที่จะต้องแถลงให้ ศาลทราบ เพื่อให้ศาลสั่งให้พยานฝ่ายตนที่จะเบิกความในภายหลังออกไปจากห้องพิจารณาก่อน ดังนั้น แม้ว่า คําเบิกความของนายสองเป็นการผิดระเบียบ เพราะนายสองได้เบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนคือนายหนึ่ง มาแล้วก็ตาม แต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติห้ามรับฟังโดยเด็ดขาด หรือห้ามมิให้รับฟังเสียทีเดียว เมื่อศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายสองเป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของนายหนึ่งพยานคนก่อน มาแล้ว หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความของนายสอง ผิดระเบียบก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ดังนั้น คําเบิกความของนายสองจึงรับฟังได้หากเข้าข้อยกเว้น ดังกล่าว

กรณีของนายสาม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 วรรคสอง มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า หากยังไม่ได้ ถามค้านหรือซักค้านพยานคนใดแล้ว ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานปากนั้น ดังนั้น การที่ทนายความจําเลยได้นํานายสาม เข้าเบิกความได้เพียงจบข้อซักถามแล้วศาลให้เลื่อนคดีไปให้ทนายความโจทก์ซักค้านในนัดหน้า และเมื่อถึงวันนัด นายสามไม่ได้มาศาลเพราะถึงแก่กรรมไปเสียก่อน ทําให้ทนายโจทก์ไม่ได้ซักค้านนายสามพยานจําเลย ศาลก็มี อํานาจรับฟังคําเบิกความของนายสาม ส่วนจะรับฟังให้เชื่อได้มากน้อยเพียงใดเป็นดุลพินิจในการชั่งน้ําหนักคํา พยานบุคคลของศาล (คําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539) ดังนั้น คําเบิกความของนายสามพยานจําเลยจึงรับฟังได้

สรุป

คําเบิกความของนายหนึ่งและนายสามรับฟังได้ ส่วนคําเบิกความของนายสองย่อมรับฟังได้ ถ้าหากเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้สองฉบับ ๆ ละ 100,000 บาท จําเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญาปลอมโดยมีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธชัดเจน ในกรณีดังต่อไปนี้ถ้าต้นฉบับ อยู่ที่โจทก์

(ก) โจทก์ไม่ได้ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลย แต่ถึงวันสืบพยานโจทก์นําต้นฉบับมาสืบฟังได้ว่าจําเลยกู้จริง หรือ

(ข) ถ้ากรณีตามข้อ (ก) ในระหว่างพิจารณา จําเลยรับว่ากู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาท ตามสัญญาฉบับแรกจริง แต่ยังปฏิเสธสัญญาฉบับที่สองอยู่ หรือ

(ค) โจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยโดยชอบแล้ว แต่เวลาสืบพยานโจทก์นําแต่พยานบุคคลมาสืบ เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาทั้งสามกรณีอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐาน อันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจรับฟังพยาน หลักฐานเช่นว่านั้นได้”

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวัน สืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

ศาลจะพิพากษาทั้งสามกรณีอย่างไร แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ทั้ง 2 ฉบับ ๆ ละ 100,000 บาท จําเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญาปลอมโดยมีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธชัดเจน เมื่อต้นฉบับอยู่ที่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลย แต่ถึงวันสืบพยานโจทก์นําต้นฉบับมาสืบและฟังได้ว่าจําเลยกู้จริงนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ ส่งสําเนากู้ให้จําเลย ถือว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง ที่กําหนดให้โจทก์ต้องยื่นต่อศาล และส่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ดังนั้น กรณีนี้แม้โจทก์จะ นําต้นฉบับมาสืบ แต่เมื่อ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 87 ได้บัญญัติมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ศาลจึงต้องพิพากษา ยกฟ้องโจทก์

(ข) การที่จําเลยยอมรับในระหว่างพิจารณาว่า จําเลยกู้เงินโจทก์ 100,000 บาทจริงสําหรับสัญญากู้ ฉบับแรกนั้น ย่อมถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ต้องสืบพยาน ดังนั้น ศาลต้อง พิพากษาให้จําเลยชําระเงินตามสัญญากู้ฉบับแรก ส่วนสัญญากู้ฉบับที่ 2 ศาลต้องพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลใน ข้อ (ก)

(ค) การที่โจทก์ได้ส่งสําเนากู้ให้จําเลยโดยชอบแล้ว แต่เวลาสืบพยานโจทก์นําแต่พยานบุคคลมาสืบนั้น เมื่อการฟ้องบังคับเรียกเงินตามสัญญากู้เกินกว่าสองพันบาท กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จะนําพยานบุคคลมาขอสืบแทนพยานเอกสารไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ก) ดังนั้น กรณีนี้ ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 ฉบับ

สรุป

(ก) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

(ข) ศาลต้องพิพากษาให้จําเลยชําระเงินตามสัญญากู้ฉบับแรก และพิพากษายกฟ้องสัญญากู้ฉบับหลัง

(ค) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 ฉบับ

 

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องจําเลยว่าโจทก์และจําเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง เลขที่ 1234 จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ต้องการแบ่งแยกโฉนดที่ดินกับจําเลยแต่จําเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลพิพากษา ให้มีการแบ่งแยกโฉนด จําเลยยื่นคําให้การว่าเดิมที่ดินเป็นมรดกของบิดาโจทก์และจําเลย เมื่อบิดา เสียชีวิตจึงตกเป็นมรดกของโจทก์และจําเลย ต่อมาโจทก์ได้มาขอเงินกับจําเลย จําเลยจึงให้เงินโจทก์ไป โดยจําเลยขอให้โจทก์ยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีสิทธิ มาขอแบ่งที่ดินแก่จําเลย ให้วินิจฉัยว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้คืออะไร ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(1) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป

(2) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตน ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และ กําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

การที่โจทก์ฟ้องจําเลยว่าโจทก์และจําเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง เลขที่ 1234 จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ต้องการแบ่งแยกโฉนดที่ดินกับจําเลยแต่จําเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลพิพากษา ให้มีการแบ่งแยกโฉนด และจําเลยยื่นคําให้การว่าเดิมที่ดินเป็นมรดกของบิดาโจทก์และจําเลย เมื่อบิดาเสียชีวิต จึงตกเป็นมรดกของโจทก์และจําเลย ต่อมาโจทก์ได้มาขอเงินกับจําเลย จําเลยจึงให้เงินโจทก์ไปโดยจําเลยขอให้ โจทก์ยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่งที่ดินแปลงนี้

จากคําฟ้องและคําให้การของจําเลย โดยโจทก์ฟ้องขอให้จําเลยแบ่งแยกที่ดินเนื่องจากที่ดิน เป็นกรรมสิทธิ์รวม แต่จําเลยต่อสู้ในคําให้การว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจําเลยปฏิเสธ โดยชัดแจ้งในประเด็นนี้ จึงเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างแต่อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ คําคู่ความ ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นว่า “ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลยหรือไม่” ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 มาตรา 177 และมาตรา 183

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่คู่ความพิพาทกันว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลย หรือไม่ เมื่อทรัพย์สินที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์จําพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และ ในกรณีนี้บุคคลที่มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินพิพาทคือโจทก์และจําเลยจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าที่ดินแปลงนี้โจทก์ และจําเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น เมื่อจําเลยอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลยหรือไม่ และจําเลยมีภาระการพิสูจน์ตามที่กล่าวอ้าง

 

ข้อ 2 พนักงานสอบสวนจับนายดําได้จึงสอบสวนนายดําในการกระทําความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครอง และสอบสวนเพิ่มเติมว่า นายดําไปซื้อมาจากที่ใด แต่นายดําไม่ยอมพูด พนักงานสอบสวนจึงได้กล่าวแก่นายดําว่าหากนายดํายอมบอกจะกันตัวไว้เป็นพยานไม่ฟ้องคดีนายดํา นายดําจึงบอกว่าซื้อมาจากนายแดง จึงได้มีการดําเนินการจับนายแดง พร้อมยาบ้า 1 หมื่นเม็ด และยื่นฟ้องนายแดงเป็นจําเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ในชั้นศาล พนักงานอัยการโจทก์ได้อ้างนายดําผู้ที่ถูกกันตัวเป็นพยานมาเป็นพยานบุคคลในคดี และอ้างยาบ้า จํานวน 1 หมื่นเม็ดเป็นพยานวัตถุในคดี – ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะสามารถรับฟังคําเบิกความของนายดํา และยาบ้า 1 หมื่นเม็ด เป็นพยาน ในคดีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/1 “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวง แห่งคดี…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่พนักงานสอบสวนจับนายดําได้จึงสอบสวนนายดําในการกระทําความผิดฐานมี เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครอง และสอบสวนเพิ่มเติมว่านายดําไปซื้อมาจากที่ใด แต่นายดําไม่ยอมพูด พนักงานสอบสวนจึงได้กล่าวแก่นายดําว่าหากนายดํายอมบอกจะกันตัวไว้เป็นพยานไม่ฟ้องคดีนายดํา นายดําจึง บอกว่าซื้อมาจากนายแดง จึงได้มีการดําเนินการจับนายแดงพร้อมยาบ้า 1 หมื่นเม็ดนั้น จะเห็นได้ว่าคําพูดของ นายดําดังกล่าวได้เกิดขึ้นจากการจูงใจและการให้คํามั่นสัญญาจากพนักงานสอบสวนว่าจะกันตัวไว้เป็นพยาน และไม่ฟ้องคดีนายดํา จึงถือว่านายดําเป็นพยานบุคคลชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา พนักงานอัยการโจทก์ จึงไม่สามารถอ้างนายดําผู้ที่ถูกกันตัวเป็นพยานมาเป็นพยานในคดีนี้ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 เพราะถือว่าเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้น ศาลจึงไม่สามารถรับฟังคําเบิกความของนายดําได้

2 เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า 1 หมื่นเม็ดที่พนักงานสอบสวนเข้าจับกุมตรวจค้นจนได้มานั้น ถือว่าเป็นพยานวัตถุและเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการที่ตํารวจได้จับกุมนายแดง และยึดเมทแอมเฟตามีนได้นั้นเกิดขึ้นจากการที่พนักงานสอบสวนอาศัยข้อมูลจากการที่นายดําพูด ซึ่งคําพูดของ นายดําเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือได้ว่าเมทแอมเฟตามีนที่พนักงานอัยการโจทก์ ได้นํามาเป็นพยานต่อศาลนั้น แม้จะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจาก การกระทําหรือวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ดังนั้น จึงห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจรับฟังได้ถ้าศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ แก่การอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

สรุป

ศาลไม่สามารถรับฟังคําเบิกความของนายดําได้ เพราะเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ

ศาลไม่สามารถรับฟังยาบ้า 1 หมื่นเม็ดเป็นพยานในคดีได้ เพราะเป็นพยานวัตถุที่ได้มา โดยวิธีการที่ไม่ชอบ เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจรับฟังได้ถ้าศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การอํานวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสีย

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 1,000,000 บาท แล้วผิดนัดชําระหนี้ขอให้จําเลยคืนเงินดังกล่าว จําเลยยื่นคําให้การว่าสัญญากู้นั้น จริง ๆ แล้วมีการกู้ยืมเงินกันเพียง 100,000 บาท และได้มีการทํา สัญญาไว้ตอนต้น 100,000 บาท แต่โจทก์ได้เขียนตัวเลขเพิ่มเข้าไปโดยเติมเลข 0 เพิ่มลงในสัญญา อีกทั้งหนี้เงิน 100,000 บาทนั้น จําเลยชําระเงินคืนแล้วโดยมีสําเนาใบเสร็จรับเงินมายืนยัน โจทก์ ได้โต้แย้งว่าใบเสร็จดังกล่าวเป็นแต่เพียงสําเนารับฟังไม่ได้

3.1 ให้ท่านวินิจฉัยว่า หากจําเลยอ้างนายเอก (พยานบุคคล) มาสืบว่าเห็นโจทก์เติมตัวเลขลงในเอกสารสัญญากู้ ศาลจะสามารถรับฟังได้หรือไม่

3.2 สําเนาใบเสร็จรับเงิน ศาลสามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(4) เมื่อคู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบตามมาตรา 125 ให้ศาลรับฟังสําเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอํานาจศาลตามมาตรา 12.5 วรรคสาม”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมีให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ใน เอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 125 วรรคหนึ่ง “คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐาน ยันตน อาจคัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ โดยคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 1,000,000 บาท แล้วผิดนัด ชําระหนี้ขอให้จําเลยคืนเงินดังกลาว จําเลยยื่นคําให้การว่าสัญญากู้นั้นจริง ๆ แล้วมีการกู้ยืมเงินกันเพียง 100,000 บาท และได้มีการทําสัญญาไว้ตอนต้น 100,000 บาท แต่โจทก์ได้เขียนตัวเลขเพิ่มเข้าไปโดยเติมเลข 0 เพิ่มลงในสัญญา อีกทั้งหนี้เงิน 100,000 บาทนั้น จําเลยชําระเงินคืนแล้วโดยมีสําเนาใบเสร็จรับเงินมายืนยัน แต่โจทก์ได้โต้แย้งว่า ใบเสร็จดังกล่าวเป็นแต่เพียงสําเนารับฟังไม่ได้นั้น

3.1 หากจําเลยอ้างนายเอก (พยานบุคคล) มาสืบว่าเห็นโจทก์เติมตัวเลขลงในเอกสารสัญญากู้ ศาลจะรับฟังได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า แม้สัญญากู้ยืมเงินนั้นกฎหมายจะบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง แต่การที่ จําเลยขอนําพยานบุคคลเข้ามาสืบว่ามีการเติมตัวเลขลงในเอกสารนั้นเป็นการนําพยานบุคคลเข้ามาสืบว่าเอกสาร ดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ดังนั้น จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง จําเลยจึงสามารถนํา นายเอกพยานบุคคลเข้ามาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่โจทก์นํามาแสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมได้ และ ศาลสามารถรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวได้

3.2 สําเนาใบเสร็จรับเงิน ศาลสามารถรับฟังได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่จําเลยนําสําเนา ใบเสร็จรับเงินมายืนยันว่าได้ชําระเงินคืนให้แก่โจทก์แล้วนั้น สําเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวถือเป็นสําเนาเอกสาร ซึ่งโดยหลักตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 ห้ามมิให้ศาลรับฟังเพราะไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4) คือกรณีที่ไม่มีการคัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 ซึ่งทําให้ศาลสามารถรับฟังได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จําเลยได้นําสําเนาใบเสร็จรับเงินมายืนยัน และโจทก์ได้โต้แย้งว่า ใบเสร็จดังกล่าวเป็นแต่เพียงสําเนารับฟังไม่ได้นั้น ย่อมถือว่าไม่มีการคัดค้าน เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้วา การคัดค้านนั้นจะต้องคัดค้านด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับนั้นปลอม ทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ซึ่งในกรณีนี้แม้โจทก์จะคัดค้าน แต่การคัดค้านของโจทก์ ไม่ได้เป็นการคัดค้านด้วยเหตุผลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด และเมื่อถือว่าไม่มีการคัดค้าน ดังนั้น ศาลจึงสามารถรับฟังสําเนาใบเสร็จรับเงินกรณีนี้ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4)

สรุป

3.1 หากจําเลยอ้างนายเอกพยานบุคคลมาสืบว่าเห็นโจทก์เติมตัวเลขลงในเอกสารสัญญากู้ ศาลสามารถรับฟังได้

3.2 ศาลสามารถรับฟังสําเนาใบเสร็จรับเงินได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องจําเลยเรียกให้ชําระเงินกู้ยืมจํานวน 2,000,000 บาท ที่ยังคงติดค้างชําระพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี ตามสัญญากู้ยืมเงินแนบท้ายคําฟ้อง จําเลยให้การในคําให้การว่า โจทก์จะมีอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่รับรอง และขาดอายุความไปแล้ว และความจริงไม่เคยกู้ยืม แต่ตนให้โจทก์นําเงินมาลงทุนซื้อที่ดินร่วมกันเพื่อเก็งกําไรเท่านั้น โจทก์กังวลกลัวจําเลยจะไม่ปันผล กําไร เลยให้จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินแทนเอาไว้ จําเลยจึงลงลายมือชื่อในสัญญากู้เพื่อให้โจทก์เชื่อใจ คดีนี้ มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรและฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้ เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

“วันชี้สองสถาน” คือวันที่ศาลกําหนดให้คู่ความมาศาลเพื่อพิจารณาคําคู่ความและคําแถลง ของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู เพื่อกําหนดประเด็น ข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใด (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

 

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

การที่โจทก์ฟ้องจําเลยเรียกให้ชําระเงินกู้ยืมจํานวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี ตามสัญญากู้ยืมเงินแนบท้ายคําฟ้อง จําเลยให้การในคําให้การว่า โจทก์จะมีอํานาจ ฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่รับรอง และขาดอายุความไปแล้ว และความจริงไม่เคยกู้ยืม แต่ตนให้โจทก์นําเงินมา ลงทุนซื้อที่ดินร่วมกันเพื่อเก็งกําไรเท่านั้น โจทก์กังวลกลัวจําเลยจะไม่ปันผลกําไร เลยให้จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงิน แทนเอาไว้ จําเลยจึงลงลายมือชื่อในสัญญากู้เพื่อให้โจทก์เชื่อใจนั้น จากคําฟ้องและคําให้การของจําเลยดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า “จําเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จริงหรือไม่”

ส่วนกรณีที่จําเลยให้การโต้แย้งโจทก์ว่า โจทก์จะมีอํานาจฟ้องหรือไม่ ไม่รับรอง และฟ้องโจทก์ ขาดอายุความไปแล้วนั้น เป็นเพียงคําให้การปฏิเสธโดยไม่ได้แสดงเหตุผลของการปฏิเสธ จึงเป็นคําให้การที่ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดี

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์ได้ฟ้องว่าจําเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แต่จําเลยให้การปฏิเสธ ในกรณีของการกู้ยืมเงินโดยมีเหตุผลของการปฏิเสธครบถ้วน โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า จําเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จริงหรือไม่ และโจทก์มีภาระ การพิสูจน์

 

ข้อ 2 ก) ในวันนัดสืบพยานโจทก์ พนักงานอัยการโจทก์ได้ขอหมายเรียกเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ พยานรับหมายเรียกแล้วแต่ไม่มาเบิกความต่อศาลโดยไม่ปรากฏว่า เป็นเพราะเหตุใด พนักงานอัยการจึงอ้างส่งแถบบันทึกภาพการสอบสวนเด็ก (วีซีดี) ในชั้นสอบสวน เป็นพยานต่อศาลแทนการสืบพยานเด็กในชั้นพิจารณา ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะรับฟังภาพและเสียงคําให้การของเด็กในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของเด็กในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่

ข) ในระหว่างการพิจารณาคดีแพ่งที่มีผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นคู่ความ ผู้คัดค้านได้ยื่นคําร้องขอให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้ร้องเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องคัดค้าน และไม่ยินยอมให้ตรวจ ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องไม่สมัครใจให้ตรวจจึงให้ยกคําร้องของผู้คัดค้าน ให้วินิจฉัยว่า กรณีเข้าข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างหรือไม่

ธงคําตอบ

ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 ตรี วรรคหนึ่งและวรรคท้าย “เว้นแต่ในกรณีที่จําเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้ศาลจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสําหรับเด็ก

ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความตามวรรคหนึ่งเพราะมีเหตุจําเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟัง สื่อภาพและเสียงคําให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา 133 ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 171 วรรคสอง เสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล และให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่น ในการพิจารณาพิพากษาคดีได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 ตรี วรรคหนึ่งและวรรคท้ายนั้น ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน สิบแปดปี ถ้าไม่ได้ตัวพยานเด็กดังกล่าวมาเบิกความเพราะมีเหตุจําเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียง คําให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาลได้ แต่ ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่ไม่ได้ตัวเด็กมาเบิกความต่อศาลนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงถือไม่ได้ว่า เป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตัวพยานเด็กมาเบิกความต่อศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังกล่าว ดังนั้น ศาลจะรับฟังภาพและเสียงคําให้การของเด็กในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของเด็ก ในชั้นพิจารณาของศาลไม่ได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 4112/2552 และ 9065/2556)

ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 128/1 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ “ในกรณีที่จําเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสําคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอํานาจสั่งให้ทําการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทําการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจ เก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความ ฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคําร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของ ผู้ร้องเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ แต่ผู้ร้องคัดค้านและไม่ยินยอมให้ตรวจ และเมื่อศาลเห็นว่า ผู้ร้องไม่สมัครใจให้ตรวจจึงให้ยกคําร้องของผู้คัดค้านนั้น คําสั่งของศาลดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ตรวจ พันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตามคําร้องของผู้คัดค้านซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลจึงไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นสมควรให้มีการตรวจ สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 128/1 วรรคหนึ่ง แล้วผู้ร้องไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือ ต่อการตรวจพิสูจน์อันจะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 128/1 วรรคสี่ ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์จึงยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้าน กล่าวอ้าง (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 13689/2555)

สรุป

ก) ศาลจะรับฟังภาพและเสียงคําให้การของเด็กในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของเด็กในชั้นพิจารณาของศาลไม่ได้

ข) กรณีตามอุทาหรณ์ยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง

 

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดตามสัญญากู้และดอกเบี้ยจํานวน 100,000 บาท จําเลยให้การปฏิเสธว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอมโดยมีเหตุแห่งการปฏิเสธชัดเจน ให้วินิจฉัยว่า

ก) หากโจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยก่อนวันสืบพยาน 7 วัน แต่สําเนาไปถึงจําเลยก่อนวันสืบพยาน 5 วัน การส่งสําเนาดังกล่าวชอบหรือไม่

ข) โจทก์จะนําพยานบุคคลที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่น่าเชื่อถือมาสืบแทนการนําต้นฉบับเอกสารมาสืบได้หรือไม่

ค) จําเลยนําพยานบุคคลเข้าสืบว่า สัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบ พยานหลักฐานอันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจ รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้”

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวันสืบพยาน ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

ก) หากโจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยก่อนวันสืบพยาน 7 วัน แต่สําเนาไปถึงจําเลย ก่อนวันสืบพยาน 5 วัน การส่งสําเนาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งที่กําหนดให้คู่ความที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยาน จะต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาลและส่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วันนั้น เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายันได้มีโอกาส ตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้อง ไม่เสียเปรียบแก่กัน ดังนั้นคําว่า “ให้ส่งสําเนาเอกสาร ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน” จึงมีความหมายว่า ส่งสําเนาให้ถึงคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน มิใช่ถือเอาวันที่ส่งสําเนาเป็นสําคัญ เพราะถ้าถือเอาวันที่ส่งสําเนาเป็นสําคัญแล้ว ย่อมเปิดช่องให้มีโอกาส เอาเปรียบแก่กันได้ ซึ่งจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย (คําพิพากษาฎีกาที่ 488/2536) เว้นแต่เมื่อศาลเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่สําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และ ไม่ทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลย่อมมีอํานาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 87 (2) ดังนั้น การที่โจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ไปถึงจําเลยก่อนวันสืบพยาน 5 วัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข) โจทก์จะนําพยานบุคคลที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่น่าเชื่อถือมาสืบแทนการนํา ต้นฉบับเอกสารมาสืบได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า เมื่อการกู้ยืมเงิน 100,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะ สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่จะนํามาสืบแทนพยานเอกสาร ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถนํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ค) จําเลยจะนําพยานบุคคลเข้าสืบว่า สัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า แม้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง จะห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง ได้บัญญัติมิให้ใช้บังคับในการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบ ประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ดังนั้น จําเลยจึงมีสิทธินําพยานบุคคลมาสืบว่า สัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้

สรุป

ก) การส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข) โจทก์จะนําพยานบุคคลมาสืบแทนต้นฉบับเอกสารไม่ได้

ค) จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ก. คําท้าในคดีแพ่งหมายถึงอะไร จงอธิบาย

ข. นางใจเริงขับรถชนนางพิมาลาขณะเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายเสียชีวิต มารดานางพิมาลาจึง เป็นโจทก์ฟ้องให้นางใจเริงจําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด นางใจเริงจําเลยต่อสู้ ในคําให้การว่า มารดานางพิมาลาจะเป็นโจทก์ที่มีอํานาจฟ้องแทนนางพิมาลาหรือไม่ จําเลย ไม่ทราบไม่รับรอง คดีนี้ขาดอายุความแล้ว และการที่นางใจเริงขับรถชนนางพิมาลานั้นเป็นเพราะ นางพิมาลาเดินข้ามถนนขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามสีแดง นางใจเริงจําเลยไม่ต้องรับผิดชอบ คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร และใครมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

ก. “คําท้า” ในคดีแพ่ง หมายถึง การที่คู่ความฝ่ายหนึ่งแถลงว่าจะรับกันในข้อเท็จจริงอย่างใด อย่างหนึ่ง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมดําเนินกระบวนพิจารณาเพียงเท่าที่ท้านั้นได้ แต่ถ้าฝ่ายหลังทําไม่ได้ ฝ่ายหลังก็ จะยอมรับในข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายแรกกล่าวอ้าง

หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า คําท้าหรือการท้ากันในศาล คือ การยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการดําเนินกระบวนพิจารณา

หลักเกณฑ์สําคัญของการทําคําท้า ได้แก่

1 ต้องเป็นการท้ากันในเรื่องการดําเนินกระบวนพิจารณา หรือเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี เพราะถ้าเป็นการท้ากันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือการดําเนินกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่ถือเป็นคําท้า ที่ศาลจะอนุญาต

2 ต้องมีการกําหนดเงื่อนไขว่า ถ้าผลของการดําเนินกระบวนพิจารณาหรือการชี้ขาดออกมา ทางหนึ่งให้ฝ่ายหนึ่งชนะ แต่ถ้าผลออกมาอีกทางหนึ่งก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะ

3 คําท้านั้นจะต้องกระทํากันต่อหน้าศาล และศาลต้องอนุญาต หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และ กําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อัน เดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา 438 วรรคหนึ่ง “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัย ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่มารดาของนางพิมาลาเป็นโจทก์ฟ้องนางใจเริงเป็นจําเลยโดยอ้างว่าจําเลยขับรถ ชนนางพิมาลาขณะเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายเสียชีวิตนั้น เมื่อจําเลยให้การว่ามารดาของนางพิมาลาจะเป็นโจทก์ ที่มีอํานาจฟ้องแทนนางพิมาลาหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง คําให้การเช่นนี้ถือว่าเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่า จําเลยไม่ทราบไม่รับรองในเรื่องอํานาจฟ้องของโจทก์อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่ามารดาของนางพิมาลามีอํานาจฟ้องในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอํานาจฟ้อง

2 การที่จําเลยให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ในคําให้การของจําเลยไม่ได้อธิบายว่า ขาดอายุความเมื่อใด อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้นจึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องขาดอายุความ

3 การที่จําเลยให้การว่า เหตุที่จําเลยขับรถชนนางพิมาลานั้นเป็นเพราะนางพิมาลาเดิน ข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดง จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้น ถือเป็นคําให้การปฏิเสธที่มี เหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า “นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณ ไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่” เพื่อสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้

4 การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดนั้น แม้จําเลยจะไม่ได้ ให้การไว้เกี่ยวกับค่าเสียหายเลย ก็ต้องถือว่าจําเลยไม่ยอมรับในส่วนนี้ จึงก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับ ค่าเสียหายว่า “คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด”

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่

2 คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นแรก ที่ว่านางพิมาลาเดินข้ามถนนขณะที่สัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดงจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแล ยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย นั้นเอง” ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้อง เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง ซึ่งหากจําเลยพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แก่โจทก์

ประเด็นที่สอง ที่ว่ามีค่าเสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้ง จํานวนเงินค่าเสียหาย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึง จํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เอง ตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้

1 นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่ภาระการพิสูจน์ตกแก่จําเลย

2 คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

 

 

ข้อ 2 นายหนึ่ง อายุ 16 ปี นายสอง อายุ 17 ปี ได้ร่วมกันข่มขืนกระทําชําเราผู้เสียหาย อายุ 15 ปี ต่อมานายหนึ่งและนายสองถูกจับมาดําเนินคดีในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวน ดังนี้

ก ในการสอบปากคําผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีนักจิตวิทยา พนักงานอัยการ และมารดาผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมในการถามปากคํา ผู้เสียหายได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน ว่าไม่ต้องการให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นชายหนุ่มเข้าร่วมในการถามปากคําด้วย แต่พนักงานสอบสวนยังคงดําเนินการสอบถามปากคําผู้เสียหายจนแล้วเสร็จโดยมีบุคคลดังกล่าวอยู่ด้วย

ข ในการสอบสวนนายหนึ่งผู้ต้องหา นายหนึ่งร้องขอต่อพนักงานสอบสวนว่าต้องการให้บิดาของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีนักจิตวิทยา พนักงานอัยการและทนายความของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนอยู่แล้วจึงสอบสวนนายหนึ่งจนแล้วเสร็จโดยไม่ได้จัดให้บิดาของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย

ค ในการสอบสวนนายสองผู้ต้องหา หลังจากแจ้งข้อหาให้นายสองทราบแล้ว ก่อนเริ่มถามคําให้การพนักงานสอบสวนถามนายสองว่ามีทนายความหรือไม่ นายสองตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการ ทนายความ พนักงานสอบสวนจึงทําการสอบสวนนายสองจนแล้วเสร็จ โดยมีบุคคลตามที่กฎหมาย กําหนดไว้เข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย แต่ไม่ได้จัดหาทนายความให้แก่นายสองแต่อย่างใด

ให้วินิจฉัยว่า การถามปากคําผู้เสียหายและการสอบสวนผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิต และร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยสถานบริการหรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจําคุกซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ร้องขอ การถามปากคําผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทําเป็น ส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสําหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและ พนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคําเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่า การถามปากคําเด็กคนใดหรือคําถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวน ถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคําถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคําถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร

นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการถามปากคําอาจถูก ผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น”

มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน สิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามี ทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้”

มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก. ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ได้วางหลักไว้ว่า ในการสอบถาม ปากคําผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการสอบถามปากคําอาจถูกผู้เสียหายตั้งรังเกียจได้ ซึ่งถ้ามีกรณีดังกล่าวให้ พนักงานสอบสวนเปลี่ยนตัวผู้ที่เด็กตั้งข้อรังเกียจนั้น

ตามอุทาหรณ์ ในการสอบปากคําผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 15 ปียังไม่เกิน 18 ปี ในคดีความผิด ฐานข่มขืนกระทําชําเราซึ่งเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น การที่พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีนักจิตวิทยา พนักงาน อัยการ และมารดาของผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมในการสอบถามปากคํา และผู้เสียหายได้ตั้งข้อสังเกียจ พนักงานอัยการโดยได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าไม่ต้องการให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นชายหนุ่มเข้าร่วมในการ ถามปากคําด้วย ดังนี้ พนักงานสอบสวนจะต้องเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสาม เมื่อพนักงานสอบสวนยังคงดําเนินการสอบถามปากคําผู้เสียหายจนแล้วเสร็จโดยไม่มี การเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการคนดังกล่าว การถามปากคําผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข. ในการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น จะต้องมี นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวนนั้น (ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวี ประกอบมาตรา 134/2)

ตามอุทาหรณ์ ในการสอบสวนนายหนึ่งผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุ 16 ปีซึ่งไม่เกิน 18 ปี ในคดี ความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเรานั้น เมื่อนายหนึ่งได้ร้องขอต่อพนักงานสอบสวนว่าต้องการให้บิดาของนายหนึ่ง เข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย ดังนี้ พนักงานสอบสวนต้องดําเนินการให้ตามที่นายหนึ่งร้องขอ การที่พนักงานสอบสวน เห็นว่ามีนักจิตวิทยา พนักงานอัยการ และทนายความของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนอยู่แล้วจึงสอบสวน นายหนึ่งจนแล้วเสร็จ โดยไม่ดําเนินการจัดให้บิดาของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยนั้น การสอบสวนผู้ต้องหา ของพนักงานสอบสวนในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ ประกอบมาตรา 134/2

ค. ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักไว้ว่า ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ตามอุทาหรณ์ในการสอบสวนนายสองผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุ 17 ปีซึ่งไม่เกิน 18 ปีนั้น หลังจากได้แจ้งข้อหาให้นายสองทราบแล้ว ก่อนเริ่มถามคําให้การพนักงานสอบสวนได้ถามนายสองว่ามีทนายความหรือไม่ นายสองตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ แม้ว่านายสองผู้ต้องหาจะตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการ ทนายความก็ตาม พนักงานสอบสวนก็ต้องดําเนินการจัดหาทนายความให้นายสองผู้ต้องหาเพื่อเข้าร่วมในการ สอบสวนด้วย การที่พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนนายสองจนแล้วเสร็จ โดยมีบุคคลที่กฎหมายกําหนดไว้ เข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย แต่ไม่ได้ดําเนินการจัดหาทนายความให้แก่นายสองนั้น การสอบสวนผู้ต้องหาของ พนักงานสอบสวนในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง

สรุป

ก. การสอบปากคําผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข. การสอบสวนนายหนึ่งผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ค. การสอบสวนนายสองผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ข้อ 3 โจทก์ยื่นคําฟ้องขับไล่จําเลยออกไปจากที่ดินเพราะสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วโดยในสัญญาเช่ามีข้อความว่า “เช่าอาคาร 2 ชั้นโดยมีค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 สิ้นสุดการเช่า วันที่ 1 มกราคม 2560” โดยโจทก์ได้แนบสัญญาเช่าดังกล่าวไว้ท้ายคําฟ้องแล้ว จําเลยมายื่น คําให้การว่าระยะเวลายังไม่สิ้นสุดตามสัญญาที่ฟ้อง ต่อมาเมื่อถึงวันสืบพยานปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ ส่งสําเนาสัญญาเช่าดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนจะมีการสืบพยาน และจําเลยจะขอนําตัวนายหน่อเมือง ผู้เห็นเหตุการณ์ขณะทําสัญญาเช่ามาเป็นพยานโดยนายหน่อเมืองเบิกความว่า “สัญญาเช่าดังกล่าว คู่สัญญาตกลงกันว่าไม่มีกําหนดเวลาเช่า หากจะเลิกการเช่าต้องบอกล่วงหน้าก่อน 3 เดือน” (มีการยื่น บัญชีระบุพยานโดยระบุชื่อนายหน่อเมืองโดยถูกต้องแล้ว)

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะรับฟังสัญญาเช่า และรับฟังนายหน่อเมืองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบ พยานหลักฐานอันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจ รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้”

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวันสืบพยาน ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลง ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลจะรับฟังพยานบุคคลคือนายหน่อเมืองได้ หรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับว่าจะต้องมีเอกสารมาแสดง และในคดีนี้ข้อความในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจําเลยก็ชัดเจนแล้วว่ามีกําหนดเวลาการเช่าเป็นที่แน่นอน ซึ่งถือเป็นข้อความที่เป็นสาระสําคัญในคดีนี้ หากให้นําพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลา ก็จะเป็นการนําสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) ดังนั้น ศาลจึงรับฟังพยานบุคคลคือนายหน่อเมืองไม่ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า ศาลจะรับฟังสัญญาเช่าได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งที่กําหนดให้คู่ความที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยาน จะต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาลและส่งให้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วันนั้น เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายัน ได้มีโอกาสตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้อง ไม่เสียเปรียบแก่กัน แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ การที่โจทก์ได้แนบสําเนาเอกสารสัญญาเช่าไว้ท้ายคําฟ้องแล้ว เพียงแต่โจทก์ไม่ได้ส่งสําเนาเอกสารสัญญาเช่า ดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนที่จะมีการสืบพยานซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งนั้น เมื่อศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่สําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่ง ความยุติธรรม และไม่ทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลย่อมมีอํานาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 87 (2) ดังนั้น ในคดีนี้ศาลจึงรับฟังสัญญาเช่าได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 2347/2532)

สรุป

ในคดีนี้ศาลรับฟังสัญญาเช่าได้ แต่จะรับฟังนายหน่อเมืองไม่ได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน S/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ได้รับมอบอํานาจจากนายสมชายให้ยื่นฟ้องจําเลยว่าจําเลยเข้าไปก่อสร้างรั้วคอนกรีตสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ในที่ดินของนายสมชาย ขอให้รื้อถอนออกไปจากที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การต่อสู้ว่า หนังสือมอบอํานาจที่นายสมชายมอบอํานาจให้โจทก์มาฟ้องคดีถูกต้องหรือไม่ จําเลย ไม่ทราบไม่รับรอง โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง อีกทั้งจําเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของใคร แต่จําเลยกระทําลงบนที่ดินของจําเลยที่ซื้อมา หลังจากซื้อมาแล้ว จําเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้ท่านจงตั้งประเด็นข้อพิพาทในคดี และกําหนดภาระการพิสูจน์ จากข้อเท็จจริงที่ให้มา

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้ว ในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริง เพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และ กําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้ประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ได้รับมอบอํานาจจากนายสมชายให้ยื่นฟ้องจําเลยว่า จําเลย เข้าไปก่อสร้างรั้วคอนกรีต สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ในที่ดินของโจทก์ ขอให้จําเลยรื้อถอนออกไปจากที่ดิน และจําเลยให้การในตอนแรกว่า จําเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของใคร แต่จําเลยกระทําลงบนที่ดินของจําเลยที่ซื้อมา ที่ดิน เป็นของจําเลยแล้วนั้น จากคําฟ้องและคําให้การของจําเลยดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า “ที่ดินพิพาทที่ก่อสร้างรั้วคอนกรีต สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจําเลย”

ส่วนคําให้การของจําเลยที่ว่า หนังสือมอบอํานาจที่นายสมชายมอบอํานาจให้โจทก์มาฟ้องคดี ถูกต้องหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง โจทก็ไม่มีอํานาจฟ้องนั้น เป็นคําให้การที่มิใช่เป็นการปฏิเสธความแท้จริง ของหนังสือมอบอํานาจ การที่จําเลยไม่ทราบไม่ใช่เหตุที่จะทําให้หนังเอมอบอํานาจของโจทก์ต้องเสียไป และที่ จําเลยไม่รับรองก็ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และให้ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลยยอมรับแล้วตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในคดี

และการที่จําเลยให้การตอนหลังว่า หลังจากซื้อมาแล้ว จําเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของเกิน 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นคําให้การที่ขัดแย้งกับ คําให้การของจําเลยในตอนแรก คําให้การในตอนหลังนี้เท่ากับจําเลยได้ให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจําเลย จึงถือเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้งและไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ในคดีว่าจําเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่เฉพาะ ที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น (คําพิพากษาฎีกาที่ 1069/2554)

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

ตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้า ของที่ดินพิพาท และจําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

สรุป

คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจําเลย โจทก์มีภาระการพิสูจน์ ตามที่กล่าวอ้าง

 

 

ข้อ 2 เจ้าพนักงานตํารวจตั้งด่านจับตัวนายสมปองได้พร้อมทั้งเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) 5 เม็ด จึงสอบถามว่า ซื้อมาจากที่ใดแต่นายสมปองไม่ยอมบอก เจ้าพนักงานตํารวจจึงบอกต่อนายสมปองว่า “หากนายสมปองยอมบอกแหล่งที่มาว่าซื้อมาจากใคร จะกันตัวไว้เป็นพยานไม่ดําเนินคดีต่อนายสมปอง” นายสมปองจึงยินยอมบอกว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายชนะ เจ้าพนักงานตํารวจจึงให้นายสมปอง ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายชนะ เมื่อนายชนะนําเมทแอมเฟตามีนมาให้นายสมปอง 100 เม็ด เจ้าพนักงานตํารวจจึงแสดงตัวเข้าจับกุม จนกระทั่งมีการสอบสวนและส่งฟ้องโดยพนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชนะเป็นจําเลยให้รับผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย โดยในบัญชีระบุพยานโจทก์ได้ยื่นพยานหลักฐานดังต่อไปนี้

ก. นายสมปองเป็นพยานบุคคลในชั้นศาล

ข. คําให้การในชั้นจับกุมของนายสมปองว่า ตนซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายชนะจําเลย

ค. เมทแอมเฟตามีนจํานวน 100 เม็ด ที่นายชนะจําเลย ขาย

ให้ท่านวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานดังต่อไปนี้รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/1 “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาล พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่ เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวง แห่งคดี…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก. การที่เจ้าพนักงานตํารวจตั้งด่านจับตัวนายสมปองได้พร้อมทั้งเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) 5 เม็ด และได้บอกกับนายสมปองว่า “หากนายสมปองยอมบอกแหล่งที่มาว่าซื้อมาจากใคร จะกันตัวไว้เป็นพยาน ไม่ดําเนินคดีต่อนายสมปอง” นายสมปองจึงยินยอมบอกว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายชนะ เจ้าพนักงานตํารวจ จึงให้นายสมปองไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายชนะ จนสามารถจับกุมตัวนายชนะพร้อมเมทแอมเฟตามีน 100 เม็ดนั้น จะเห็นได้ว่า การที่นายสมปองได้ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายชนะนั้นได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ และการให้คํามั่นสัญญาจากเจ้าพนักงานตํารวจว่าจะไม่ดําเนินคดีกับนายสมปอง จึงถือว่านายสมปองเป็น พยานบุคคลชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่สามารถอ้างนายสมปองเป็นพยาน ในคดีนี้ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 เพราะถือว่าเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้น การที่นายสมปอง เป็นพยานบุคคลในชั้นศาล จึงรับฟังไม่ได้

ข. คําให้การในชั้นจับกุมของนายสมปองว่าตนซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายชนะจําเลยนั้น ถือเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจและการให้คํามั่นสัญญาจากเจ้าพนักงานตํารวจว่าจะไม่ดําเนินคดีกับ นายสมปองเช่นเดียวกัน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 เพราะเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ จึงห้าม มิให้ศาลรับฟัง

ค. เมทแอมเฟตามีนจํานวน 100 เม็ดที่นายชนะจําเลยขาย ถือว่าเป็นพยานวัตถุและเป็น พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการที่ตํารวจได้บนายชนะและยึดเมทแอมเฟตามีนได้นั้น เป็นเพราะตํารวจได้ใช้ให้นายสมปองไปล่อซื้อจากนายชนะโดยการจูงใจ ให้คํามั่นสัญญาว่าจะไม่ดําเนินคดีกับ นายสมปอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือได้ว่า เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ที่พนักงานอัยการโจทก์ได้ นํามาเป็นพยานต่อศาลนั้น แม้จะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจาก การกระทําโดยมิชอบ หรือได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ดังนั้น จึงห้ามมิให้ศาลรับฟัง พยานหลักฐานดังกล่าว เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจรับฟังได้ ถ้าศาลเห็นว่าการรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงาน ยุติธรรมทางอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

สรุป

ก. การที่นายสมปองเป็นพยานบุคคลในชั้นศาล และ

ข. คําให้การในชั้นจับกุมของ นายสมปองดังกล่าว ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226

ส่วน ค. เมทแอมเฟตามีนจํานวน 100 เม็ด ที่นายชนะจําเลยขายก็ห้ามมิให้ศาลรับฟัง พยานหลักฐานชนิดนี้เช่นกัน เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจรับฟังถ้าศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการอํานวยความ ยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

 

 

ข้อ 3 โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยว่าจําเลยกู้เงินโจทก์ไปไม่คืนตามระยะเวลาที่กําหนด ผิดสัญญากู้ยืม ขอให้จําเลยชําระหนี้ จําเลยยื่นคําให้การว่าตนคืนเงินโจทก์แล้ว โดยมารดาโจทก์รับเงินแทนไว้โดยมีการทําหนังสือรับชําระเงินกู้แล้ว โดยหนังสือนี้ถูกเก็บไว้ที่มารดาโจทก์และมีนายสุธรรมเซ็นชื่อเป็นพยาน กรณีนี้หากจําเลยต้องการนําหนังสือรับชําระเงินกู้ที่อยู่กับมารดาโจทก์เข้าสืบให้ศาลรับฟังเป็น พยานหลักฐานในสํานวนจะต้องทําอย่างไร และหากมารดาโจทก์ไม่ส่งเอกสารมาให้ จําเลยจะสามารถ นําตัวนายสุธรรมพยานบุคคลมาสืบแทนหนังสือรับชําระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนา เอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสาร ให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศายมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่ สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามา ไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ใน ความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอ โดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สังคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็น พยานหลักฐานสําคัญ และคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลา อันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อนว่า ด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้างต้องส่ง คําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาล เห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทําสัญญากู้เงินโจทก์แต่ไม่ยอมชําระคืน และ จําเลยต่อสู้ว่าได้ชําระเงินคืนแก่โจทก์แล้ว โดยเอกสารการรับชําระเงินอยู่กับมารดาโจทก์แต่มารดาโจทก์ไม่ยอม มอบให้จําเลยนั้น ถือว่าจําเลยได้อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน พื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ดังนั้น โดยหลักแล้วจําเลยจะต้องนําสําเนาเอกสารการรับชําระหนี้ยื่นต่อศาล และส่งสําเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารการรับชําระเงินกู้ที่จําเลยอ้างอิงนั้นอยู่กับมารดาโจทก์ ซึ่งถือว่าอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ดังนั้นจําเลยจึงไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้อง ส่งสําเนาเอกสารให้แก่โจทก์ (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2)

และตามอุทาหรณ์นั้นวินิจฉัยได้ดังนี้

หากจําเลยต้องการน้ําเอกสารการรับชําระเงินกู้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน จําเลยจะต้อง ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ จําเลยจะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็น คําร้องต่อศาล ขอให้สั่งให้บุคคลภายนอก (มารดาโจทก์) ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่จําเลยจะต้องส่ง สําเนาเอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของจําเลยนั้นฟังได้ ให้ศาล มีคําสั่งให้มารดาโจทก์ยื่นต้นฉบับเอกสเรต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่จําเลยจะต้อง ส่งคําสั่งศาลให้แก่มารดาโจทก์ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ถ้าจําเลยทําตามวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่มารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจาก พฤติการณ์ที่จําเลยผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบ ตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาล สืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทบพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสาร มาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ต้นฉบับเอกสาร สูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบเทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อมารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารและเป็นกรณีที่ถือว่า นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดย ประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) จําเลยจึงสามารถที่จะขอนําตัวนายสุธรรมพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร (หนังสือรับชําระหนี้) ดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป

หากจําเลยต้องการนําหนังสือรับชําระเงินที่อยู่กับมารดาโจทก์เข้าสืบให้ศาลรับฟัง เป็นพยานหลักฐานในสํานวน จําเลยจะต้อปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 9 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123

และหากมารดาโจทกไม่ส่งเอกสารมาให้ จําเลยย่อมสามารถนําตัวนายสุธรรมพยานบุคคลมา สืบแทนพยานเอกสาร (หนังสือรับชําระหนี้) ดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างคนขับรถของจําเลยที่ 2 วันเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จําเลยที่ 2 ว่าจ้าง และด้วยความประมาท จําเลยที่ 1 ขับรถเฉี่ยวชนโจทก์ในขณะ กําลังเดินข้ามถนน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ยองเสียค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอื่น รวมเป็นเงิน 50,000 บาท จําเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจําเลยที่ 1 ขอให้จําเลย ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท พอมดอกเบี้ย จําเลยทั้งสองให้การว่า จําเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถด้วยความประมาท เหตุเกิดเพราะรถบรรทุกเบรกแตก วันเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกออกไปโดยพลการ เพื่อทํากิจส่วนตัวไม่ใช่งานตามคําสั่งของ จําเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าสินไหมทดแทนเคลือบคะ มเพราะไม่ได้บรรยายว่าค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายอื่นนั้นมีรายการใดบ้าง ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงร่วมกันว่า หลังเกิดเหตุ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 ในความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลยที่ 1 แล้ว ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบประการใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดี จะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(1) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป

(2) ข้อเท็จจริงซึ่งม่อาจโต้แย้งได้ หรือ

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริง เพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตน ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 46 “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจําต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดีส่วนอาญา”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหร่อควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อัน เดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา 438 วรรคหนึ่ง “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัย ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเสียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องว่า

(1) จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างคนขับรถของจําเลยที่ 2

(2) จําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้า ของจําเลยที่ 2

(3) จําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเฉียวชนโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับ อันตรายสาหัสและได้รับความเสียหายตามฟ้อง

จําเลยทั้งสองให้การว่า

(1) จําเลยที่ 1 ได้ขับรถด้วยความประมาท เหตุเกิดเพราะรถบรรทุกเบรกแตก

(2) จําเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2

(3) ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าค่ารักษาพยาบาลและ ค่าเสียหายอื่นนั้นมีรายการใดบ้าง

ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงร่วมกันว่า หลังเกิดเหตุ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลย ที่ 1 ในความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และศาลชั้นต้นได้พิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจําเลยที่ 1 แล้ว

จากคําฟ้องของโจทก และคําให้การของจําเลยทั้งสอง รวมทั้งคําแถลงของคู่ความ จะเห็นได้ว่า มีประเด็นแห่งคดีที่คู่ความฟังได้เป็นยุติ ดังนี้คือ

1 ประเด็นตามฟ้องที่ว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 นั้น จําเลยทั้งสองไม่ได้ ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนี้ จึงถือว่าจําเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้วตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) ดังนั้น ถ้าพิสูจน์ได้ว่าจําเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกตามฟ้องไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมกัน รับผิดกับจําเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

2 ประเด็นที่ว่า จําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเฉียวชนโจทก์นั้น เมื่อคดีนี้ เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และจากคําแถลงของคู่ความในวัน ชี้สองสถาน จําเลยที่ 1 ต้องคําพิพากษา ในคดีอาญาถึงที่สุดแล้วว่ามีความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งสําหรับจําเลยที่ 1 ศาลจําต้องถือ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อาญา ราตรา 46 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลยที่ 1 ไม่อาจโต้แย้งได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (2) จําเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

3 คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล อันเป็นมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานความรับผิดตามบท กฎหมายดังกล่าว แต่เนื่องจากจําเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีส่วนอาญาด้วย จําเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันตาม ข้อเท็จจริงในคําพิพากษาคดีส่วนอาญาของจําเลยที่ 1 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจําเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยตั้ง ประเด็นเพื่อนําสืบหักล้างความรับผิดตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นนําสืบ

เมื่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นในคดีนี้ฟังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 และ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (2) และ (3) ว่า วันเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ได้ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเฉียวชน โจทก์ และทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากได้รับอันตรายสาหัล ดังนั้นคดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 จําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกตามฟ้องไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 หรือไม่

2 ฟ้องของโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่

3 โจทก์เสียหาย เพียงใด ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณ ตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ที่ว่าจําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกตามฟ้องไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 หรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจําเลยที่ 1 ได้กระทําไปในทางการที่จ้าง แต่จําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ดังนั้นโจทก์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างย่อมมีหน้าที่นําสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

ประเด็นที่ 2 ที่ว่าฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ แม้จําเลยจะเป็นผู้กล่าว อ้างก็ตาม แต่ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลวินิจฉัยได้เอง ดังนั้น คู่ความไม่ต้องนําสืบ

ประเด็นที่ 3 ที่ว่าโจทก์เสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์ กล่าวอ้างเรื่องความเสียหาย แม้จําเลยจะ ไม่ได้ให้การโต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหายด้วย หน้าที่นําสืบข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ กล่าวคือ เป็นหน้าที่ของฝ่าย ที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึงจํานวนค่าเสียหายให้ได้ตามที่ฟ้องมา แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหายให้โจทําได้เองตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่ง ละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้

1 จําเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นําสืบ

2 ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ คู่ความไม่ต้องนําสืบ

3 โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์มีหน้าที่นําสืบ

 

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ จําเลยให้การปฏิเสธ ขั้นพิจารณา โจทก์นําพยานบุคคลสืบเพื่อพิสูจน์ว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง คือ

(1) นายหนึ่งผู้เสียหายประจักษ์พยานเบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จําเลยได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตามฟ้อง แต่ก่อนเบิกความผู้เสียหายไม่ได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณตนด้วย ความพลั้งเผลอ โดยได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลั จากเบิกความเสร็จแล้วทันทีในวันนั้นว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้วเป็นความจริง

(2) นายสองประจักษ์พยานเบิกความตอบข้อซักถามโจทก์จนจบยืนยันว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง แล้วศาลให้เลื่อนคดีไปให้จําเลยซักค้านนัดหน้าเพราะหมดเวลาราชการเสียก่อน

ในวันนัดนายสองไม่ได้มาเบิกความตอบข้อซักค้าน ยองจําเลยเพราะถึงแก่กรรมไปเสียก่อน

(3) สิบตํารวจโทสามผู้จับกุมจําเลยเบิกความตามบันทึก การจับกุมที่สิบตํารวจโทสามเป็นผู้ทําขึ้นว่าชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคํารับสารภาพว่าลักทรัพย์ขอ ผู้เสียหายตามข้อกล่าวหาด้วยความสมัครใจ รายละเอียดตามบันทึกการจับกุมที่อ้างส่งศาล

(4) นายสี่เบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจนายเดงบอกแก่นายสี่ว่า นายแดงเห็นจําเลยซึ่งนายแดงรู้จักมาก่อนลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้อง โดยสอดคล้องกับคําเบิกความของนายหนึ่งผู้เสียหาย และ

(5) นายห้าประจักษ์พยานซึ่งเป็นญาติกับนายหนึ่งผู้เสียหายเบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุนายห้าเห็นจําเลยซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนลักเอาทรัพย์ของนายหนึ่งผู้เสียหายไปตามฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า พยานโจทก์ดังกล่าวรับฟังเพื่อลงโทษจําเลยตามฟ้องได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 95 วรรคหนึ่ง “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น

(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้

(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วย ตนเองโดยตรง…”

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”

มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้ สาบานตนและแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว …

เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้าน พยานนั้นได้

เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างทยานชอบที่จะถามติงได้

…”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 84 วรรคสี่ “ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจในชั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคํานั้นเป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทําความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…”

มาตรา 226/3 “ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนํามาเบิกความต่อศาล หรือที่ บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า

ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่

(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจร่งแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่า จะพิสูจน์ความจริงได้”

มาตรา 227 วรรคหนึ่ง “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษา ลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 ซึ่งนํามาใช้ในคดี บาญาได้ด้วย (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15) ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า พยานบุคคลที่ศาลจะรับฟังนั้นจะต้องสามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และจะต้อง เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็น พยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงที่เรียกว่า ประจักษ์พยาน และตาม ป.วิ.แพ่ง ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญาได้ด้วยเช่นกันนั้นมีหลักเกณฑ์ว่า ก่อนเบิกความ พยานต้องสาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน พยานบุคคลที่เบิกความโดยมิได้ สาบานตนหรือปฏิญาณตนย่อมรับฟังไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี พยานบุคคลที่เปกความโดยมิได้สาบานตนหรือปฏิญาณตน โดยความพลั้งเผลอ หากให้การหรือเบิกความจบแล้ว ได้สาบานตนรับรองต่อศาลว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้ว เป็นความจริง ถือได้ว่ามีการสาบานตนตามความมุ่งหมายของกฎหมายแล้ว คําเบิกความนั้นรับฟังได้ (คําพิพากษา ฎีกาที่ 693/2487 และ 217/2488)

ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งผู้เสียหายที่ก่อนเบิกความไม่ได้สาบานตนหรือกล่าว คําปฏิญาณตนด้วยความพลั้งเผลอ โดยได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลังจากเบิกความเสร็จแล้วนั้นทันทีในวันนั้นว่า ข้อความที่ตนเบิกความไปแล้วเป็นความจริง จึงรับฟังได้

(2) หลักเกณฑ์การถามพยานบุคคลในศาลตาม ปวิ.แพ่ง มาตรา 117 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญา ได้ด้วย (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15) นั้น ได้กําหนดลําดับของการถามพยานบุคคลไว้ว่า ฝ่ายที่อ้างพยานมาจะ ถามพยานของตนก่อนเรียกว่า “ซักถาม” เมื่อถามเสร็จแล้วให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยานนั้นได้เรียกว่า “ถามค้านหรือซักค้าน” เสร็จแล้วคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานมาจะถามพยานของตนได้อีกครั้งหนึ่งเรียกว่า “ถามติง” แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายมิได้บัญญัติว่า หากพยานยังไม่ได้ตอบถามค้านหรือซักค้านแล้ว ห้ามมิให้รับฟังพยาน บุคคลปากนั้น ดังนั้น การที่นายสองประจักษ์พยานโจทก์ไม่ได้มาเบิกความตอบถามค้านหรือซักค้านของจําเลย เพราะถึงแก่กรรมไปก่อนวันนัด ก็มิใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ ศาลจึง มีอํานาจรับฟังคําเบิกความของนายสอง ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539)

(3) ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคสี่ มีหลักว่า ถ้อยคําที่เป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่า ตนได้กระทําความผิดที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น การที่สิบตํารวจโทสาม ผู้จับกุมจําเลยเบิกความตามบันทึกการจับกุมที่สิบตํารวจโทสามเป็นผู้ทําขึ้นว่า ชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคํารับสารภาพ ว่าลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามข้อกล่าวหาด้วยความสมัครใจนั้นก็เป็นเพียงการยืนยันถึงข้อเท็จจริงตามคําให้การ รับสารภาพของจําเลยในชั้นจับกุม ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน (คําพิพากษาฎีกาที่ 1850/2555) คําเบิกความของสิบตํารวจโทสามจึงรับฟังไม่ได้

(4) การที่นายสี่เบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจนายแดงบอกแก่นายสี่ว่า นายแดง เห็นจําเลยซึ่งนายแดงรู้จักมาก่อนลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องนั้น ย่อมถือว่านายสี่เป็นพยานบอกเล่าและ ห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงแวดล้อมที่หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายแดง ก็บอกแก่นายสี่ว่า นายแดงเห็นจําเลยซึ่งรู้จักกันมาก่อนโดยไม่ปรากฏว่า สาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนด้วย ได้ลักเอา ทรัพย์ของผู้เสียหายไปตามฟ้องและสอดคล้องกับคําเบิกความของนายหนึ่งผู้เสียหาย จึงเห็นได้ว่านายแดงได้บอกแก่ นายสี่พยานโจทก์ในระยะเวลากระชั้นชิดกับที่เหตุเกิด นายแดงยังไม่มีโอกาสไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็น อย่างอื่นเพื่อปรักปรําใส่ร้ายจําเลยให้ต้องรับโทษ ดังนั้น คําเบิกความของนายสี่พยานบอกเล่าของโจทก์จึงรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 (1) (คําพิพากษาฎีกาที่ 63/2533)

(5) ไม่มีกฎหมายโดห้ามมิให้รับฟังคําเบิกความของพยานที่เป็นญาติกัน หากศาลเห็นว่า พยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชอบด้วยเหตุผล พอให้รับฟังได้ว่าเป็นความจริง ศาลก็มี อํานาจรับฟังคําเบิกความของพยานดังกยาวได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 13 /2539) ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อนายห้า ประจักษ์พยานโจทก์เป็นเพียงญาติกับผู้เสียหายเท่านั้นโดยไม่เคยรู้จักกับจําเลยมาก่อน จึงไม่มีสาเหตุที่จะมาเบิกความ กลั่นแกล้งจําเลยให้ต้องได้รับโทษ คําเบิกความของนายห้าประจักษ์พยานโจทก์จึงรับฟังได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ คําเบิกความของพยานโจทก์คือนายหนึ่ง นายสอง นายสี่ และ นายห้า จึงรับฟังเพื่อลงโทษจําเลยตามฟ้องได้ ส่วนจะเพียงพอให้แน่ใจ ว่ามีการกระทําผิดตามฟ้องและจําเลยเป็น ผู้กระทําผิดนั้นหรือไม่ ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง ส่วนคําเบิกความของสิบตํารวจโทสามพยานโจทก์ผู้จับกุมจําเลยรับฟังไม่ได้

สรุป

คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสอง นายสี่ และนายห้าพยานโจทก์รับฟังได้ ส่วนคํา เบิกความของสิบตํารวจโทสามพยานโจทก์ผู้จับกุมจําเลยรับฟังไม่ได้

 

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากตึกแถวของโจทก์ที่จําเลยเช่า จําเลยให้การว่า “การเช่าตึกพิพาทมีข้อตกลงให้จําเลยช่วยค่า ก่อสร้างตึกพิพาทแล้วยกกรรม สิทธิ์ให้โจทก์ โดยโจทก์สัญญาว่าจะให้จําเลย เช่าตึกพิพาทมีกําหนด 25 ปี เพียงแต่ทําสัญญาเช่าและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีกําหนด 12 ปีก่อน ครบกําหนดแล้วโจทก์จะให้เช่าต่ออีก 13 ปีเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่า ธรรมดา ขอให้ยกฟ้อง” และจําเลยขอนํานายทศพลผู้เป็นพยานบุคคลในวันทําสัญญาเช่าดังกล่าว เข้าสืบ กรณีนี้จะสามารถนํานายทศพลเข้าสืบได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมีให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ใน เอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบ ข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากตึกแถวของโจทก์ที่จําเลยเช่า จําเลยให้การว่า การเช่าตึกพิพาทมีข้อตกลงให้จําเลยช่วยค่าก่อสร้างตึก พิพาทแล้วยกกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โดยโจทก์ สัญญาว่าจะให้จําเลยเช่าตึกพิพาทมีกําหนด 25 ปี เพียงแต่ทําสัญญาเช่าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มี กําหนด 12 ปีก่อน ครบกําหนดแล้วโจทก์จะให้เช่าต่ออีก 13 ปี เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา และขอนํานายทศพลผู้เป็นพยานบุคคลในวันทําสัญญาเช่าดังกล่าวเข้าสืบนั้น เป็นกรณีที่จําเลยจะขอนําพยานบุคคล เข้ามาสืบถึงเหตุที่จําเลยมีสิทธิเช่าต่ออีก เพราะได้ออกเงินค่าก่อสร้างให้โจทก์เป็นการตอบแทน ซึ่งเท่ากับ เป็นการนําสืบหักล้างสัญญาเช่านั้นไม่ใช่สัญญาเช่าธรรมดา แต่เป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษ มิใช่เป็นการ นําสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้าม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) ดังนั้น จําเลยจึงสามารถนํานายทศพลเข้าสืบได้

สรุป จําเลยชอบที่จะนํานายทศพลเข้าสืบได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 บัญญัติว่า การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่ (3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความ รับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

ให้อธิบายว่า ในคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริง ที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

(2) โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ในวันเวลาเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ขับรถโดยสารของจําเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้าง และด้วยความประมาท จําเลยที่ 1 ขับรถชนเสาไฟฟ้าข้างถนน เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งมาในรถโดยสารคันดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กาย ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จําเลยทั้งสองให้การว่า จําเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยสารด้วยความประมาท ความเสียหายเกิดแต่ เหตุสุดวิสัยเพราะมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถโดยสารที่จําเลยที่ 1 ขับโดยกะทันหัน ในวันเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 มาสมัครเข้าทํางานกับจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 ให้ไปทดลองขับรถโดยสารคันเกิดเหตุ ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 จําเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง เช่นนี้ คดีมีประเด็น ข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด

ธงคําตอบ

(1) ในคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล มีดังนี้คือ

1 คําให้การรับโดยชัดแจ้ง (ของจําเลย) ซึ่งข้อเท็จจริงตามคําฟ้อง (ของโจทก์) พร้อมทั้ง แสดงเหตุแห่งการรับ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง

2 คําให้การโดยไม่ชัดแจ้ง แต่ให้ถือว่าจําเลยยอมรับหรือที่เรียกว่าเป็นการยอมรับ โดยปริยาย ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

2.1 กรณีจําเลยไม่ให้การปฏิเสธคําฟ้องข้อใด ให้ถือว่าจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงใน คําฟ้องข้อนั้นแล้ว เว้นแต่ในเรื่องค่าเสียหายและในกรณีที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ แม้จําเลยจะไม่ได้โต้แย้งใน เรื่องค่าเสียหาย หรือไม่ได้ยื่นคําให้การ จะถือว่าจําเลยยอมรับในข้อนั้นไม่ได้

2.2 จําเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์พร้อมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธโดยไม่ชัดแจ้ง ซึ่งถือ ว่าเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เช่น

(ก) คําให้การที่ว่า “นอกจากที่จําเลยให้การต่อไปนี้ให้ถือว่าปฏิเสธฟ้อง “หรือ”

นอกจากให้การไปแล้วให้ถือว่าปฏิเสธ”

(ข) คําให้การที่ว่า ข้อเท็จจริงจะเป็นตามคําฟ้องหรือไม่ “จําเลยไม่ทราบและไม่รับรอง”

(ค) ให้การหลายนัย หลายข้อต่อสู้ซึ่งขัดแย้งกัน หรือที่เรียกว่า คําให้การขัดกัน ซึ่งคําให้การในลักษณะนี้ ถือเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องถือว่าจําเลยยอมรับตามฟ้อง

3 คํารับตามที่ศาลสอบถามในการชี้สองสถาน กล่าวคือ ในการชี้สองสถานแต่ละฝ่าย จะต้องตอบคําถามที่ศาลถามเอง หรือถามตามคําขอของคู่ความฝ่ายอื่น อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่น ยกขึ้นอ้าง ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคําถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอัน สมควร ให้ถือว่า ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการ ปฏิเสธได้ขณะนั้น (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคสอง)

4 คํารับตามที่คู่ความสอบถาม กล่าวคือ คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างข้อเท็จจริงใด และ ขอให้คู่ความฝ่ายอื่นตอบว่าจะรับรองข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้ร้องขอต่อศาลในวันสืบพยาน ให้ศาล สอบถามคู่ความฝ่ายอื่น ว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับคําบอกกล่าวนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าคู่ความฝ่ายนั้น ไม่ยอมตอบคําถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งใน ขณะนั้น ให้ถือว่าได้ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือ แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งในขณะนั้น กรณีเช่นนี้ ศาลจะมีคําสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นทําคําแถลงเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริงมายื่นต่อศาลภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 100)

5 คํารับเกี่ยวกับเอกสาร กล่าวคือ การไม่ส่งต้นฉบับเอกสารในความครอบครองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123, 124 ให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนําสืบโดยเอกสารนั้น คู่ความฝ่ายที่ไม่ยื่น เอกสารดังกล่าวได้ยอมรับแล้ว หรือการไม่คัดค้านเอกสารโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือ บางส่วน หรือสําเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ก็ถือว่าคู่ความฝ่ายที่ไม่ได้คัดค้านได้ยอมรับความถูกต้องในเอกสารนั้นแล้ว ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125

6 คํารับตามข้อตกลง (คําท้า) กล่าวคือ เป็นการกระทําในศาลโดยยอมรับข้อเท็จจริง ตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการดําเนินกระบวนพิจารณา อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าผลแห่งการดําเนินกระบวนพิจารณานั้นสมความประสงค์ของคู่ความฝ่ายใดตามที่ท้ากัน อีก ฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับตามข้ออ้างของฝ่ายที่สมประสงค์นั้นทั้งหมด

(2) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อัน เดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะ พิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา 438 “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่ พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด…”

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อพิจารณาจากคําฟ้องและคําให้การของโจทก์จําเลยรับฟังได้ว่า ขณะเกิด เหตุจําเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลรถโดยสารซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล และโจทก์ได้รับ ความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น จําเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนั้น ต้องถือว่าจําเลยที่ 1 ยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว จําเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในอันตรายแก่กายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยตามที่จําเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้

ส่วนจําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่เพียงว่าจําเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หาก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าจําเลยที่ 2 ยอมรับว่าจําเลยที่ 1 ได้ กระทําไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 นอกจากนี้ จําเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ตามฟ้อง จึงต้องถือว่าจําเลยทั้งสองรับกันว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องด้วยเช่นกัน

ดังนั้น คดีตามอุทาหรณ์จึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่

2 จําเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หรือไม่

3 โจทก์เสียหายเพียงใด

สําหรับหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้

ประเด็นแรก ที่ว่า ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ในส่วนนี้เนื่องจากโจทก์ ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยทั้งสองที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดแต่เหตุ สุดวิสัย ซึ่งหากจําเลยทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์

ประเด็นที่สอง ที่ว่า จําเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หรือไม่ ในส่วนนี้เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงตกแก่โจทก์

ประเด็นที่สาม ที่ว่า โจทก์เสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้ง จํานวนเงินค่าเสียหายด้วย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึง จํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เอง ตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

สรุป คดีมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่จําเลยทั้งสอง

2 จําเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจําเลยที่ 1 หรือไม่ ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่โจทก์

3 โจทก์เสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่โจทก์

 

ข้อ 2 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายดินว่าปลอมเอกสารสิทธิ มีโทษจําคุก โดยนายเอชาวต่างประเทศเป็นผู้เสียหายซึ่งจะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นายบี ชาวต่างประเทศอีกคนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ทําความเห็นเป็นหนังสือในข้อหาดังกล่าวไว้แต่จะต้อง เดินทางกลับประเทศของตนโดยด่วน ส่วนนายน้ําเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นการกระทําผิดของนายดิน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบถามคําให้การไว้ตามระเบียบแล้ว พนักงานอัยการโดยการร้องขอของ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคําร้องต่อศาลขอสืบนายเอและนายบีไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงวันนัดนายเอมาศาล ส่วนนายบีพนักงานสอบสวนติดตามตัวมาเบิกความไม่ได้ พนักงานอัยการจึงนํานายเอเข้าเบิกความ ในศาลต่อหน้านายดินผู้ต้องหาจนเสร็จ ศาลอ่านคําเบิกความให้นายเอและนายดินฟังกับให้ลงลายมือ ชื่อไว้ โดยก่อนนายเอเบิกความศาลมิได้ถามนายดินว่ามีทนายความหรือไม่ หรือซักถามนายเอให้ แทนเพราะนายดินแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ จากนั้นพนักงานอัยการส่งความเห็นเป็น หนังสือของนายบีต่อศาลแทนคําเบิกความของนายบี ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดินใน ข้อหาดังกล่าวเป็นจําเลยต่อศาล นายดินให้การปฏิเสธ แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ นายน้ำ ประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งรับหมายเรียกโดยชอบแล้วมีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลตามที่นัดไว้ได้

ให้ วินิจฉัยว่า

ก. คําเบิกความของนายเอและความเห็นเป็นหนังสือของนายบีที่พนักงานอัยการสืบไว้ล่วงหน้า การรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้หรือไม่ และ

ข. พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายน้ำประจักษ์พยานไว้ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 55/1 วรรคหนึ่ง “ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าศาลมีคําสั่งให้ออกหมายเรียก พยานโจทก์ โดยมิได้กําหนดวิธีการส่งไว้ ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่ดําเนินการให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ เป็นผู้จัดส่งหมายเรียกแก่พยาน และติดตามพยานโจทก์มาศาลตามกําหนดนัด แล้วแจ้งผลการส่งหมายเรียกไปยัง ศาลและพนักงานอัยการโดยเร็ว หากปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้หรือเกรงว่าจะเป็นการยาก ที่จะนําพยานนั้นมาสืบตามที่ศาลนัดไว้ ก็ให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสืบพยานนั้นไว้ล่วงหน้าตามมาตรา 173/2 วรรคสอง

มาตรา 173/2 วรรคสอง “ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อศาลเห็นสมควร หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอ ศาลจะมีคําสั่งให้สืบพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นสําคัญในคดีไว้ล่วงหน้า ก่อนถึงกําหนดวันนัดสืบพยานก็ได้”

มาตรา 237 ทวิ “ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไป นอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควร เชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนํา พยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคําร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบสวน จะยื่นคําร้องโดยระบุการกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทําความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอํานาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้ พนักงานอัยการนําตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอํานาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป

เมื่อศาลได้รับคําร้องเช่นว่านั้นให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ผู้ต้องหาจะซักค้าน หรือตั้ง ทนายความซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้

ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดอาญา ซึ่งหาก มีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจําเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา 173 ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาล เห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดําเนินการสืบพยานนั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้ง ทนายความได้ทัน หรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน

คําเบิกความของพยานดังกล่าว ให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคําเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา

ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจําเลยในการกระทําความผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคําพยาน ดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้”

มาตรา 243 วรรคสอง “ผู้เชี่ยวชาญอาจทําความเห็นเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องส่งสําเนา หนังสือดังกล่าวให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น เว้นแต่มีเหตุ จําเป็น หรือคู่ความไม่ติดใจซักถามผู้เชี่ยวชาญนั้น ศาลจะให้รับฟังความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องมาเบิกความประกอบก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก คําเบิกความของนายเอรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ เพราะเป็นการดําเนิน กระบวนพิจารณาสืบพยานบุคคลไว้ล่วงหน้าก่อนฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่ง และในวัน สืบพยานนั้นเมื่อนายดินผู้ต้องหาไม่ต้องการทนายความ ก่อนนายเอเบิกความศาลก็ไม่จําต้องสอบถามนายดินเรื่อง มีทนายความหรือไม่ และไม่จําต้องซักถามนายเอให้แทนนายดิน เพราะมิใช่กรณีที่ศาลไม่สามารถตั้งทนายความได้ทัน หรือนายดินไม่อาจตั้งทนายความได้ทันตามมาตรา 237 ทวิ วรรคสาม อีกทั้งศาลได้อ่านคําเบิกความของนายเอต่อหน้า นายดินซึ่งอยู่ในศาลและให้นายดินลงลายมือชื่อไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อนายดินถูกฟ้องเป็นจําเลยในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ศาลจึงรับฟังคําเบิกความของนายเอในการพิจารณาคดีนั้นได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคสี่และวรรคห้า

ส่วนความเห็นเป็นหนังสือของนายบีผู้เชี่ยวชาญรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี ไม่ได้ เพราะเมื่อติดตามตัวนายบีมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลไม่ได้ นายบีจึงไม่ได้มาเบิกความประกอบความเห็น เป็นหนังสือนั้น และไม่ปรากฏด้วยว่านายดินแถลงรับข้อเท็จจริงตามความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าว หรือไม่ติดใจ ซักถามนายบี ดังนั้น ความเห็นเป็นหนังสือของนายบีจึงรับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 243 วรรคสอง

ข การที่พนักงานอัยการโจทก์ขอสืบนายน้ําประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งได้รับหมายเรียกไว้โดยชอบแล้ว ไว้ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่ศาลได้นัดไว้ เพราะนายน้ํามีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้ตามนัดนั้น เมื่อนายน้ำ เป็นประจักษ์พยานซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นสําคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอํานาจสั่งให้สืบนายน้ําไว้ล่วงหน้าก่อนถึงกําหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่พนักงานอัยการโจทก์ ร้องขอได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 55/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 173/2 วรรคสอง

สรุป

ก. คําเบิกความของนายเอที่พนักงานอัยการสืบไว้ล่วงหน้ารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ แต่ความเห็นเป็นหนังสือของนายบีรับฟังเป็นพยานหลักฐาน

ในการพิจารณาคดีไม่ได้

ข. พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายน้ำประจักษ์พยานไว้ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขอเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพราะจําเลยไม่ยอมถมดินตามสัญญา ซึ่งโจทก์ตกลงจะซื้อขายกับจําเลยในราคา 6 ล้านบาท โดยโจทก์วางมัดจํา 500,000 บาท และให้ถือมัดจําเป็นส่วนหนึ่ง ของราคาที่ดิน โดยโจทก์จะชําระส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งกําหนดให้กระทํา ภายใน 90 วันนับแต่วันวางมัดจํา พร้อมกันนั้นจําเลยจะถมดินให้เรียบร้อยก่อนวันไปจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ แต่พอครบกําหนด 90 วันแล้ว จําเลยยังไม่ทําการถมดินตามสัญญา โจทก์จึงฟ้อง ขอเลิกสัญญาและขอคืนมัดจําพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด จําเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนา ผูกพันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินโดยจะขอนําสืบนายปรีชาซึ่งเป็นพยานในวันวางมัดจําดังกล่าว ระหว่างโจทก์และจําเลย กรณีนี้จะสามารถนําสืบนายปรีชาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ สัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ ในการทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์และจําเลยเป็นเงิน 6 ล้านบาทนั้น การที่โจทก์วางเงินมัดจําให้แก่จําเลยเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อตามสัญญาคู่สัญญาตกลงกัน ให้เงินมัดจําดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการชําระเงินค่าที่ดินตามสัญญาด้วย จึงถือเป็นการชําระค่าที่ดินบางส่วน ซึ่งกรณีเช่นนี้จึงไม่จําเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และกรณีนี้ก็มิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ดังนั้น จําเลยจึงมีสิทธิที่จะนําพยานบุคคล มาสืบได้ว่าโจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนาผูกพันกันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินในสัญญาได้ เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้อง บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป จําเลยสามารถนําสืบนายปรีชาพยานบุคคลในกรณีดังกล่าวได้

 

LAW3011กฎหมายลักษณะพยาน S/2558

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “โจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมของนายบรรจง นายบรรจงทําพินัยกรรมยกที่ดินเลขที่ 1145 ให้แก่ตน แต่พอนายบรรจงเสียชีวิตโจทก์จึงไปเรียกร้องที่ดินตามพินัยกรรมจากจําเลย ผู้ครอบครองที่ดินอยู่ แต่จําเลยปฏิเสธที่จะโอนที่ดินแก่โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยโอน ที่ดินแก่โจทก์” จําเลยยื่นคําให้การว่า “พินัยกรรมนั้นเป็นของจริงหรือไม่จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง แต่ที่ดินนี้นายบรรจงได้โอนให้กับตนตั้งแต่นายบรรจงยังมีชีวิตอยู่และในโฉนดก็มีชื่อจําเลยเป็น เจ้าของที่ดิน ขอให้ศาลยกฟ้อง” ให้ท่านจงตั้งประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์อีกทั้งตอบด้วยว่าหากในวันสืบพยาน โจทก์และจําเลยไปศาลแต่ไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1373 “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 หากโจทก์และจําเลยไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “โจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมของ นายบรรจง นายบรรจงทําพินัยกรรมยกที่ดินเลขที่ 1145 ให้แก่ตน แต่พอนายบรรจงเสียชีวิตโจทก์จึงไปเรียกร้องที่ดิน ตามพินัยกรรมจากจําเลยผู้ครอบครองที่ดินอยู่ แต่จําเลยปฏิเสธที่จะโอนที่ดินแก่โจทก์” และจําเลยยื่นคําให้การว่า “พินัยกรรมนั้นเป็นของจริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง แต่ที่ดินนี้นายบรรจงได้โอนให้กับตนตั้งแต่นายบรรจง ยังมีชีวิตอยู่และในโฉนดก็มีชื่อจําเลยเป็นเจ้าของที่ดิน”

จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายบรรจงผู้ตาย และนายบรรจงได้ทําพินัยกรรม ยกให้แก่โจทก์ เมื่อจําเลยให้การว่าที่ดินเป็นของนายบรรจงผู้ตายจริง จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันต่อไปและไม่ต้องกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท

การที่จําเลยให้การว่า พินัยกรรมที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นเป็นจริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบ ไม่รับรองนั้น ถือว่าจําเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าพินัยกรรมนั้นปลอมหรือไม่ เป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เป็นคําให้การ ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่ามีพินัยกรรมอยู่จริงตามที่โจทก์ กล่าวอ้าง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท

2 การที่โจทก์อ้างว่าผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จําเลยให้การว่า นายบรรจงได้โอนที่ดินพิพาทให้กับจําเลยตั้งแต่นายบรรจงยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับโจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก แต่จําเลยให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดก ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว คดีจึงมี ประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ และถือว่าเป็นคดีโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่คู่ความพิพาทกันว่าทรัพย์สินที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของคู่ความฝ่ายใด กล่าวคือ ถ้าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม แต่ถ้าไม่ใช่ทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่จําเลย เมื่อทรัพย์สินที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์จําพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง อีกทั้งโฉนดที่ดินก็เป็น เอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทําขึ้น ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และ ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อจําเลยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดที่ดิน จําเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หักล้าง ข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้น ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบจึงตกแก่โจทก์

ประเด็นที่ 3 หากโจทก์และจําเลยไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

กรณีดังกล่าว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันสืบพยาน โจทก์และจําเลยไปศาลแต่ไม่นํา พยานหลักฐานเข้าสืบ ดังนั้นโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีและจําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกได้แก่ โจทก์ และหากในวันสืบพยาน โจทก์และจําเลยไปศาลแต่ไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ จําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 เจ้าพนักงานตํารวจจับนายภาคินในข้อหามีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองจึงได้บอกแก่นายภาคินว่าหากนายภาคินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้จําหน่ายให้จะไม่ดําเนินคดีกับนายภาคิน นายภาคินจึงไปล่อซื้อจากนายมณฑลผู้จําหน่าย ตํารวจจึงจับนายมณฑลพร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้เป็นพยานหลักฐาน ภายหลังจากสอบสวนและส่งฟ้องโดยชอบแล้ว ในชั้นพิจารณา

พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายมณฑลเป็นจําเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจําหน่ายและได้นําตัวนายภาคินและเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเป็นพยานต่อศาล ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลจะรับฟังพยานหลักฐานทั้ง 2 ชนิดนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมิผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/1 “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่ เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายมณฑลเป็นจําเลยในข้อหามี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย และได้นําตัวนายภาคินและเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเป็นพยาน ต่อศาลนั้น ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานทั้ง 2 ชนิดนี้ได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีนายภาคิน การที่เจ้าพนักงานตํารวจจับนายภาคินในข้อหามีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครอง และได้บอกนายภาคินว่าหากนายภาคินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้จําหน่ายให้จะไม่ดําเนินคดี กับนายภาคิน นายภาคินจึงไปล่อซื้อจากนายมณฑลผู้จําหน่าย ทําให้ตํารวจสามารถจับนายมณฑลพร้อมทั้งยึด เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้เป็นพยานหลักฐานนั้น จะเห็นได้ว่า การที่นายภาคินได้ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน จากนายมณฑลนั้นได้เกิดขึ้นจากการจูงใจและการให้คํามั่นสัญญาจากเจ้าพนักงานตํารวจว่าจะไม่ดําเนินคดี กับนายภาคิน จึงถือว่านายภาคินเป็นพยานบุคคลชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา พนักงานอัยการโจทก์ จึงไม่สามารถอ้างนายภาคินเป็นพยานในคดีนี้ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 เพราะถือว่าเป็นพยานที่ เกิดขึ้นโดยมิชอบ

ดังนั้น การที่พนักงานอัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายมณฑล และได้นําตัวนายภาคินมาเป็นพยาน ต่อศาลนั้น ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานกรณีนี้ไม่ได้

กรณีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ถือว่าเป็นพยานวัตถุและเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการที่ตํารวจได้จับนายมณฑลและยึดเมทแอมเฟตามีนได้นั้น เป็นเพราะตํารวจได้ใช้ให้นายภาคิน ไปล่อซื้อจากนายมณฑลโดยการจูงใจ ให้คํามั่นสัญญาว่าจะไม่ดําเนินคดีกับนายภาคิน ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย จึงถือได้ว่า เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ที่พนักงานอัยการโจทก์ได้นํามาเป็นพยานต่อศาสนั้น แม้จะเป็น พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ หรือได้มาโดย อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ดังนั้น จึงห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว เว้นแต่ศาลอาจใช้ ดุลพินิจรับฟังได้ ถ้าศาลเห็นว่าการรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอํานวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

สรุป

ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานกรณีนายภาคินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ส่วนกรณีเมทแอมเฟตามีนก็ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานชนิดนี้เช่นกัน เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจ รับฟังถ้าศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐาน ของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

 

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทําสัญญากู้เงินโจทก์แต่ไม่ยอมชําระคืน จําเลยต่อสู้ว่าชําระเงินคืนโจทก์แล้วโดยเอกสารการรับชําระหนี้อยู่กับมารดาโจทก์ แต่มารดาโจทก์ไม่ยอมมอบให้จําเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า

3.1 หากจําเลยต้องการนําเอกสารการรับชําระหนี้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานจะต้องทําอย่างไร (อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ)

3.2 และหากจําเลยทําตามวิธีการในข้อ 3.1 แล้ว แต่มารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาลโดยอ้างว่าเอกสารไม่ได้อยู่ที่ตน ถ้าเป็นเช่นนี้จําเลยจะขอนําตัวนายโทนีพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความแทนพยานเอกสารดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนา เอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสาร ให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่ สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามา ไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ใน ความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สังคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็น พยานหลักฐานสําคัญ และคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลา อันสมควรแล้วแต่ศาสจะกําหนด

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อนว่า ด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้างต้องส่ง คําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาล เห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทําสัญญากู้เงินโจทก์แต่ไม่ยอมชําระคืน และ จําเลยต่อสู้ว่าได้ชําระเงินคืนแก่โจทก์แล้ว โดยเอกสารการรับชําระหนี้อยู่กับมารดาโจทก์แต่มารดาโจทก์ไม่ยอม มอบให้จําเลยนั้น ถือว่าจําเลยได้อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ดังนั้น โดยหลักแล้วจําเลยจะต้องนําสําเนาเอกสารการรับชําระหนี้ยื่นต่อศาล และส่งสําเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารการรับชําระหนี้ที่จําเลยอ้างอิงนั้นอยู่กับมารดาโจทก์ ซึ่งถือว่าอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ดังนั้นจําเลยจึงไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้อง ส่งสําเนาเอกสารให้แก่โจทก์ (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2))

และตามอุทาหรณ์นั้น  วินิจฉัยได้ดังนี้

3.1 หากจําเลยต้องการนําเอกสารการรับชําระหนี้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน จําเลยจะต้อง ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ จําเลยจะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็น คําร้องต่อศาล ขอให้สังให้บุคคลภายนอก (มารดาโจทก์) ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่จําเลยจะต้องส่ง สําเนาเอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของจําเลยนั้นฟังได้ ให้ศาล มีคําสั่งให้มารดาโจทก์ยืนต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่จําเลยจะต้อง ส่งคําสั่งศาลให้แก่มารดาโจทก์ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

3.2 ถ้าจําเลยทําตามวิธีการในข้อ 3.1 แล้ว แต่มารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล โดยอ้างว่าเอกสารไม่ได้อยู่ที่ตนนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่จําเลยผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือ พยานบุคคลมาสืบก็ได้

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสาร มาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ต้นฉบับเอกสาร สูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อมารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารและเป็นกรณีที่ถือว่านํา ต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) จําเลย จึงสามารถที่จะขอนําตัวนายโทนี่พยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความแทนพยานเอกสารดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป

3.1 หากจําเลยต้องการนําเอกสารการรับชําระหนี้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน

จําเลยจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

3.2 จําเลยสามารถขอตัวนายโทนีพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความแทนพยานเอกสารดังกล่าวได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 2/2558

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระราคาผลไม้ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัด จําเลยให้การว่าจําเลยไม่เคยซื้อผลไม้จากโจทก์ ไม่เคยค้างชําระค่าผลไม้ จําเลยซื้อผลไม้จากนายจุนบุตรของโจทก์ โดยชําระราคาค่าผลไม้ให้แก่นายจุนไปแล้ว ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นเหตุแห่งข้อหาให้ชัดเจนพอที่จําเลยจะเข้าใจได้โจทก์ ไม่ฟ้องคดีภายในสองปีนับแต่วันผิดนัด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน ทนายจําเลยแถลงต่อศาลว่าเพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นตามคําให้การ ฟ้องของ โจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจําเลยซื้อผลไม้อะไรจํานวนเท่าใด จําเลยไม่เข้าใจ ข้ออ้างตามคําฟ้องของโจทก์ ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับ และเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้ คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระราคาค่าผลไม้พร้อมดอกเบี้ยผิดนัด และจําเลยให้การว่าจําเลยไม่เคยซื้อผลไม้จากโจทก์ ไม่เคยค้างชําระค่าผลไม้ พร้อมกับให้การว่าโจทก์ไม่ฟ้องคดี ภายในสองปีนับแต่วันผิดนัด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องนั้น

จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 จําเลยซื้อผลไม้ไปจากโจทก์และชําระราคาแล้วหรือไม่

2 คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่

ส่วนข้อที่จําเลยให้การว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จําเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าฟ้องของ โจทก์เคลือบคลุมตรงไหนอย่างไร คําให้การในส่วนนี้ของจําเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ การที่ทนายจําเลยแถลงต่อศาลในวันชี้สองสถาน ไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาท เพราะประเด็นข้อพิพาทในคดีจะต้องพิจารณาจากคําคู่ความเป็นข้อสําคัญ การฟังคําแถลง ของคู่ความและการสอบถามคู่ความเป็นเรื่องที่กฎหมาย (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183) ประสงค์แต่เพียงเพื่อให้เกิด ความชัดแจ้งในประเด็นข้อพิพาทเท่านั้น ศาลจะฟังคําแถลงของคู่ความหรือสอบถามคู่ความแล้วตั้งประเด็นขึ้นใหม่ หาได้ไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 122 – 130/2529)

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นแรกที่ว่า จําเลยซื้อผลไม้ไปจากโจทก์และชําระราคาแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จําเลยซื้อผลไม้ไปจากโจทก์และไม่ชําระราคา และจําเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงย่อมมี ภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

1 ประเด็นที่สองที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ แม้จําเลยจะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อนี้ มาในคําให้การ แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้ว่า การที่โจทก์ฟ้องนั้นสันนิษฐานว่าเป็นการฟ้องมาภายใน อายุความ เมื่อจําเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ปรากฏว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ประเด็นที่สามที่ว่า ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ในกรณีที่คู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาท ทั้งสองข้อ ย่อมต้องแพ้คดีทั้งสํานวน ดังนั้นศาลจึงต้องพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1 จําเลยซื้อผลไม้ไปจากโจทก์และชําระราคาแล้วหรือไม่ โจทก์มีภาระการพิสูจน์

2 คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์มีภาระการพิสูจน์ และถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีฝ่ายหนึ่ง และจําเลยที่ 2 กับพวกที่หลบหนี อีกฝ่ายหนึ่ง เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป โดยจําเลยที่ 1 กับพวก ร่วมกันใช้มีดและไม้เป็นอาวุธทําร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ส่วนจําเลยที่ 2 กับพวกร่วมกัน ใช้อาวุธปืนยิงจําเลยที่ 1 กับพวกหลายนัดด้วยเจตนาฆ่า แต่การกระทําไม่บรรลุผล ขอให้ลงโทษ จําเลยทั้งสองฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใด ถึงแก่ความตาย กับลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ชั้นพิจารณา โจทก์นํานายกล้าซึ่งร่วมกระทําความผิดกับจําเลยที่ 1 ด้วย แต่ถูกกันไว้เป็นพยาน มาเบิกความว่า นายกล้าเห็นจําเลยที่ 2 กับพวกและผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในรถยนต์โดยสาร ประจําทางแล้วพากันวิ่งขึ้นไปบนรถใช้มีดฟันจําเลยที่ 1 กับพวกที่อยู่บนรถ จําเลยที่ 1 กับพวก จึงใช้มีดและไม้ทําร้ายจําเลยที่ 2 กับพวกและผู้ตายเพื่อป้องกันตัว ส่วนจําเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็น พยานเบิกความว่า จําเลยที่ 2 กับพวกและผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน โดยใช้อาวุธปืนยิงจําเลยที่ 1 กับพวกหลายนัด จําเลยที่ 1 กับพวกจึงใช้มีดและไม้ทําร้ายจําเลยที่ 2 กับพวกและผู้ตายเพื่อ ป้องกันตัว จําเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความนําสืบอ้างฐานที่อยู่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นการป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า คําเบิกความของนายกล้าดังกล่าวรับฟังได้หรือไม่ และศาลจะนําคําเบิกความของ จําเลยที่ 1 มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานร่วมกัน พยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 232 “ห้ามมิให้โจทก์อ้างจําเลยเป็นพยาน”

มาตรา 233 “จําเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้ในกรณีที่จําเลยอ้างตนเองเป็นพยานศาลจะ ให้เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจําเลยก็ได้ ถ้าคําเบิกความของจําเลยนั้นปรักปรําหรือเสียหายแก่จําเลยอื่น จําเลยอื่นนั้น ซักค้านได้

ในกรณีที่จําเลยเบิกความเป็นพยาน คําเบิกความของจําเลยย่อมใช้ยันจําเลยนั้นได้ และศาล อาจรับฟังคําเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัย คือ คําเบิกความของนายกล้ารับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า นายกล้าเป็นผู้ร่วมกระทําความผิดกับจําเลยที่ 1 แต่ถูกกันไว้เป็นพยานโดยมิได้ถูกฟ้องเป็นจําเลยด้วย โจทก์จึงอ้างเป็นพยานได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232 ดังนั้น คําเบิกความของนายกล้าจึงรับฟังได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 53/2512) ส่วนจะมีน้ําหนักให้เชื่อได้หรือไม่เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาลในการชั่งน้ําหนัก คําพยานต่อไป

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยคือ ศาลจะนําคําเบิกความของจําเลยที่ 1 มารับฟังประกอบ พยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ จะฟ้องจําเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันมา แต่ก็เป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ละฐานความผิด

โดยถือเป็นคู่ความคนละฝ่าย ต่างคนต่างทํา หาใช่ผู้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันไม่ ฉะนั้นคําเบิกความของจําเลยที่ 1 ที่ยืนยันว่า จําเลยที่ 2 กับพวกและผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน โดยใช้อาวุธปืนยิงจําเลยที่ 1 กับพยานหลายนัด จําเลยที่ 1 กับพวกจึงใช้มีดและไม้ทําร้ายจําเลยที่ 2 กับพวกและผู้ตายเพื่อป้องกันตัว จึงไม่ใช่คําซัดทอดใน ระหว่างผู้ร่วมกระทําความผิดด้วยกัน

ดังนั้น คําเบิกความของจําเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงนํามารับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ และของจําเลยที่ 2 ได้ว่า จําเลยที่ 1 ไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้อง ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นการป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จําเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายในความผิด ที่โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 2 กับพวกฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตลอดจนคําเบิกความของจําเลยที่ 1 ดังกล่าวถือเป็น พยานหลักฐานของคดีทั้งหมด แม้จะเบิกความปรักปรําหรือเสียหายแก่จําเลยที่ 2 ศาลก็รับฟังมาประกอบ พยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจําเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 233 (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 969/2557)

สรุป

คําเบิกความของนายกล้ารับฟังได้ และศาลจะนําคําเบิกความของจําเลยที่ 1 มารับฟัง ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องได้

 

ข้อ 3 โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ อ้างว่าจําเลยทําสัญญายืมเงินโจทก์ไป 1 ล้านบาท โดยได้ทําสัญญากันที่บ้านของโจทก์ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ภาพถ่ายหนังสือสัญญายืมท้ายฟ้อง ระบุว่าได้ทําสัญญากันที่บ้านของจําเลยในจังหวัดเชียงราย ขอให้จําเลยชําระเงินที่ยืมคืนแก่โจทก์ จําเลยให้การว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีเขตอํานาจเหนือคดีนี้ เพราะมูลคดีเกิดที่จังหวัดเชียงราย ด้วยสัญญายืมก็ได้ทํากันที่บ้านของจําเลยในจังหวัดเชียงราย และจําเลยก็มีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัด เชียงราย กรณีนี้โจทก์จะขอนําสืบพยานบุคคล เพื่อนําสืบว่าได้ทําสัญญากับจําเลยที่บ้านของโจทก์ในจังหวัดเชียงใหม่จริง ตามข้ออ้างของโจทก์ได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์จะนําสืบพยานบุคคลว่า ได้ทําสัญญากับจําเลยที่บ้านของโจทก์ใน จังหวัดเชียงใหม่จริงตามข้ออ้างของโจทก์ไม่ได้ เพราะในเรื่องสัญญายืมนั้นกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสาร มาแสดง และในคดีนี้ข้อความในสัญญาก็ชัดเจนแล้วว่า โจทก์และจําเลยได้ทําสัญญากันที่บ้านของจําเลยในจังหวัด เชียงราย ซึ่งถือเป็นข้อความที่เป็นสาระสําคัญในคดีนี้ หากให้นําพยานบุคคลมาสืบก็จะเป็นเหตุให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ จึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)

สรุป

โจทก์จะขอนําสืบพยานบุคคล เพื่อนําสืบว่าได้ทําสัญญากับจําเลยที่บ้านของโจทก์ใน จังหวัดเชียงใหม่จริง ตามข้ออ้างของโจทก์ไม่ได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!