การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี จําเลยให้การรับสารภาพ โจทก์นําพยานบุคคลมาสืบประกอบคํารับสารภาพ คือนายดาบตํารวจดําผู้จับกุมจําเลยเบิกความว่า ขณะที่เข้าไปจับกุมจําเลย จําเลยให้การรับว่า เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริงเพราะผู้ตายดูหมิ่นจําเลย โจทก์อ้างส่งบันทึกจับกุมที่มีข้อความ เช่นเดียวกับที่นายดาบตํารวจดําเบิกความเป็นพยานต่อศาล และร้อยตํารวจเอกแดงพนักงานสอบสวน เบิกความว่า ในชั้นสอบสวนแจ้งสิทธิให้จําเลยทราบโดยชอบแล้ว จําเลยให้การรับสารภาพว่าเป็น ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง และมอบอาวุธปืนดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลาง ซึ่งได้ส่งอาวุธปืนของกลางไปตรวจพิสูจน์แล้ว ผลปรากฏว่าเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายจริง อาวุธปืนของกลางที่อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล ส่วนทนายจําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานจําเลย เพราะให้การรับสารภาพแล้ว ให้วินิจฉัยว่า หากท่านเป็นศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยหรือยกฟ้องโจทก์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 84 วรรคท้าย “ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่าย ปกครองหรือตํารวจในชั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคํานั้นเป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้ กระทําความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…”

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 227 วรรคแรก “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษา ลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า การนําสืบพยานหลักฐานของโจทก์เพื่อประกอบคํารับสารภาพของจําเลยในชั้นศาลนั้น โจทก์ไม่จําต้องนําสืบให้ได้ ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดตามฟ้อง ดังเช่น ในกรณีที่จําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น แม้บันทึกจับกุมที่บันทึกว่าขณะที่นายดาบตํารวจดําเข้าไปจับกุมจําเลย จําเลยให้การรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืน ยิงผู้ตายจริง อันเป็นถ้อยคําที่จําเลยรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตํารวจผู้จับว่าจําเลยได้กระทําความผิดซึ่งต้องห้าม มิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคท้าย หรือคําเบิกความของนายดาบตํารวจดํา พยานโจทก์ที่ยืนยันถึงข้อเท็จจริงตามคําให้การรับสารภาพของจําเลยในชั้นจับกุมซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามบทบัญญัติ ดังกล่าวเช่นกัน (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1850/2555) ก็ตาม

แต่คําเบิกความของร้อยตํารวจเอกแดงพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ที่ยืนยันว่าในชั้นสอบสวน จําเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายจริง อันเป็นพยานหลักฐานที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น จึงน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีความผิดและรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ประกอบกับจําเลยก็นําอาวุธปืนวัตถุพยานที่ใช้ยิงผู้ตายมามอบให้แก่พนักงานสอบสวน ยึดไว้เป็นของกลาง ซึ่งเมื่อทําการพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายจริง คําเบิกความของร้อยตํารวจเอกแดง จึงมีน้ำหนักให้รับฟังและเชื่อได้ ตลอดจนชั้นศาลจําเลยก็ให้การรับสารภาพโดยไม่ติดใจสืบพยานจําเลยให้เห็นได้ เป็นอย่างอื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว พยานโจทก์ที่นําสืบประกอบคํารับสารภาพของจําเลยจึงทําให้แน่ใจว่ามีการ กระทําผิดตามฟ้องจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น จึงลงโทษจําเลยได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 227 วรรคแรก

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2546 จําเลยกู้และรับเงิน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ ตกลงชําระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่วันกู้ ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินท้ายคําฟ้อง ในการนี้จําเลย ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายสดนําที่ดินตามฟ้องไปจดทะเบียนจํานองประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ด้วย ครั้นเมื่อหนี้ถึงกําหนด จําเลยไม่ชําระหนี้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยชําระหนี้ตามสัญญา และไถ่ถอนจํานอง แต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ หากจําเลยไม่ชําระ ให้ยึดที่ดินจํานองและขายทอดตลาด นําเงินมาชําระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จําเลยให้การว่า จําเลยไม่เคยกู้และรับเงินจากโจทก์ จําเลยไม่เคยมอบอํานาจให้นายสดไปจดทะเบียน จํานองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์ ลายมือชื่อผู้มอบอํานาจในหนังสือมอบอํานาจไม่ใช่ลายมือชื่อของจําเลย แต่เป็นลายมือชื่อปลอม จําเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชําระหนี้และไถ่ถอนจํานอง จากโจทก์ คําฟ้องของโจทก็ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้ง ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ทั้งโจทก์นําคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 เป็น เวลานานกว่าสิบปีนับแต่วันกู้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดชี้สองสถาน จําเลยแถลงไม่ติดใจให้ศาลวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์ และหากโจทก์จําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 หากโจทก์และจําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ดังนั้น จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยตามอุทาหรณ์ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 จําเลยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์และทําสัญญาจํานองที่ดินตามฟ้องเป็นประกันเงินกู้ไว้ด้วยหรือไม่

2 โจทก์บอกกล่าวบังคับจํานองโดยขอบแล้วหรือไม่

สําหรับประเด็นตามคําให้การของจําเลยที่ว่า จําเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชําระหนี้ เงินกู้นั้น เนื่องจากหนี้เงินกู้ตามอุทาหรณ์เป็นหนี้มีกําหนดเวลาชําระตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ขอบังคับ ดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วั่นฟ้อง การบอกกล่าวทวงถามหนี้เงินกู้ก่อนฟ้องจึงไม่มีผลกระทบต่อคดี ไม่ต้องกําหนดเป็น ประเด็นข้อพิพาท แต่การบอกกล่าวบังคับจํานองเป็นสาระสําคัญของกระบวนการบังคับจํานองซึ่งเป็นเรื่อง อํานาจฟ้อง เมื่อจําเลยโต้เถียง จึงต้องกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ประเด็นตามคําให้การที่ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น คําให้การของจําเลยเพียงยก ถ้อยคําตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างโดยไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัย เป็นหลักแหล่งข้อหาเช่นว่านั้น หรือคําขอบังคับส่วนใดที่เคลือบคลุมและเคลือบคลุมอย่างไร อันทําให้จําเลยไม่ สามารถเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ คําให้การในส่วนนี้ของจําเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม

และประเด็นตามคําให้การที่ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความนั้น เนื่องจากในวันนัดชี้สองสถาน จําเลยแถลงไม่ติดใจให้ศาลวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่แล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันต่อไป ไม่ต้อง กําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นแรกที่ว่า จําเลยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์และทําสัญญาจํานองที่ดิน ตามฟ้องเป็นประกันเงินกู้ไว้ด้วยหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจําเลยกู้และรับเงิน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ และ ในการนี้จําเลยได้ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายสดนําที่ดินตามฟ้องไปจดทะเบียนจํานองประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ด้วย และจําเลยให้การปฏิเสธว่าจําเลยไม่เคยกู้และรับเงินจากโจทก์ อีกทั้งจําเลยไม่เคยมอบอํานาจให้นายสดไป จดทะเบียนจํานองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

ประเด็นที่สองที่ว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจํานองโดยชอบแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยชําระหนี้ตามสัญญาและไถ่ถอนจํานองแล้ว และจําเลยให้การปฏิเสธว่า จําเลย ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชําระหนี้และไถ่ถอนจํานองจากโจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์เช่นกัน

ประเด็นที่ 3 หากโจทก์และจําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี

ตามข้อเท็จจริง เมื่อไม่มีการสืบพยานโจทก์จําเลย โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็น ฝ่ายแพ้คดี และจําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี ดังนั้น ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1 จําเลยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์และทําสัญญาจํานองที่ดินตามฟ้องเป็นประกันเงินกู้ไว้ด้วยหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2 โจทก์บอกกล่าวบังคับจํานองโดยชอบแล้วหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์เช่นกัน และหากโจทก์จําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้จําเลย เป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างปี 2553 – 2556 โจทก์และจําเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และได้ร่วมกันซื้อที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ โดยได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อ ของจําเลยเพียงผู้เดียว ตามสําเนาโฉนดที่ดินท้ายฟ้อง เมื่อปลายปี 2556 โจทก์กับจําเลยตกลงแยกทางกัน โจทก์ขอให้จําเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินครึ่งหนึ่งแต่จําเลยไม่ยินยอม ขอให้บังคับจําเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินดังกล่าว จําเลยให้ การต่อสู้คดีว่า เงินที่ซื้อที่ดินแปลงพิพาทเป็นเงินส่วนตัวของจําเลยเพียงผู้เดียว โจทก์ไม่ได้ร่วม ออกเงินด้วย ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการสืบพยานโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เงินที่นํามาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าว เป็นเงินที่ได้มาจากการที่โจทก์และจําเลยร่วมกันทําธุรกิจ แต่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อ จําเลยเพียงผู้เดียวก่อน จําเลยแถลงโต้แย้งว่าศาลจะรับฟังคําเบิกความดังกล่าวของโจทก์ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินพิพาท ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบขออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”

 

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จําเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินครึ่งหนึ่ง แต่จําเลยให้การต่อสู้คดีว่าเงินที่ซื้อที่ดินแปลงพิพาทเป็นเงินส่วนตัวของ จําเลยแต่เพียงผู้เดียว และโจทก์ต้องการอ้างตนเองเป็นพยานเพื่อเบิกความว่า เงินที่นํามาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าว เป็นเงินที่ได้มาจากการที่โจทก์และจําเลยร่วมกันทําธุรกิจแต่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อจําเลยเพียง ผู้เดียวก่อน แต่จําเลยแถลงโต้แย้งว่าศาลจะรับฟังคําเบิกความดังกล่าวของโจทก์ไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคล เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินนั้น

ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทกับจําเลย โดยมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงมีสิทธินํา พยานบุคคลมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ส่วนการที่จําเลยมีชื่อเป็นผู้ถือ กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจําเลยมีกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เท่านั้น แต่มิใช่ข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาด โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนําสืบพยานหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ข้ออ้าง ของจําเลยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของจําเลยฟังไม่ขึ้น

Advertisement