การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในฐานะที่ท่านเป็นพลเมืองดี เมื่อได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานต่อศาลแล้ว ท่านมีหน้าที่ที่สําคัญอย่างไรบ้าง

ธงคําตอบ

ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานต่อศาล หน้าที่ที่สําคัญที่ข้าพเจ้าจะต้องปฏิบัติ มีดังนี้ คือ

1 ต้องไปเบิกความต่อศาลตามความเป็นจริง เพราะเมื่อบุคคลใดได้รับหมายเรียกให้ไป เป็นพยานต่อศาลแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมิใช่บุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และไม่ใช่บุคคลที่มีสถานะพิเศษ ตามกฎหมาย หรือมีข้อแก้ตัวอันจําเป็นหรือเจ็บป่วยแล้ว บุคคลนั้นก็จะต้องไปเบิกความตามวัน เวลา และสถานที่ ที่ปรากฏอยู่ในหมายเรียก ถ้ามีการจัดขึ้นโดยไม่ยอมไปเบิกความตามวัน เวลา และสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในหมายเรียกนั้น บุคคลนั้นก็จะมีความผิดฐานขัดขืนหมายเรียกและต้องรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170

และการไปเบิกความต่อศาลนั้น ก็จะต้องเบิกความตามความเป็นจริง เพราะถ้าหากมีการ เบิกความอันเป็นเท็จแล้ว ก็อาจมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

2 ต้องสาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณตนก่อนเบิกความ ทั้งนี้เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ได้บัญญัติว่า “ก่อนเบิกความ พยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนา หรือจารีตประเพณี แห่งชาติตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริงเสียก่อน..” เว้นแต่จะเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นตาม กฎหมายเท่านั้นที่ไม่ต้องสาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณตนก่อนเบิกความ

3 ต้องเบิกความด้วยวาจา เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 113 บัญญัติว่า “พยานทุกคนต้อง เบิกความด้วยวาจาและห้ามไม่ให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลหรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ

แต่กรณีดังกล่าว มีข้อยกเว้นดังต่อไปนี้คือ

(1) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120/1 วรรคหนึ่ง คือในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมี คําร้องและคู่ความอีกฝ่ายไม่คัดค้าน และศาลอนุญาตให้คู่ความนั้นเสนอบันทึกถ้อยคําของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็น พยานยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลแทนการซักถามเป็นพยานต่อหน้าศาลได้

(2) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120/2 วรรคหนึ่ง คือกรณีที่คู่ความมีคําร้องร่วมกัน และ ศาลเห็นเสมควรอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคํายืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นผู้ให้ถ้อยคํา (พยาน) ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนําพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้

(3) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 115 คือ กรณีที่เป็นพยานบุคคลที่อยู่ในฐานะพิเศษ เช่น พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานแต่จะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ก็ได้

4 ต้องไม่เบิกความต่อหน้าพยานคนอื่นของฝ่ายตนที่จะเบิกความภายหลัง เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง” คําว่า “พยานอื่น” ที่จะเบิกความภายหลังนั้นหมายความถึงเฉพาะ “ พยานของฝ่ายตน” เท่านั้น ถ้าเป็นพยานบุคคล ของคู่ความฝ่ายอื่นก็ไม่ต้องห้าม

5 ต้องลงชื่อในบันทึกคําเบิกความของตนที่ศาลทําขึ้น เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 121 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการนั่งพิจารณาทุกครั้ง เมื่อพยานคนใดเบิกความแล้ว ให้ศาลอ่านคําเบิกความนั้นให้พยานฟัง และให้พยานลงลายมือชื่อไว้” เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น เช่น กรณีการเสนอบันทึกถ้อยคําของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ใน ต่างประเทศแทนการเบิกความต่อศาล หรือการสืบพยานบุคคลโดยใช้ระบบการประชุมทางจอภาพ หากลงลายมือชื่อ ในคําเบิกความไม่ได้ ก็ให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าศาลแทน โดยไม่ต้องมีพยานสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์ นิ้วมือนั้นตามมาตรา 50 (1)

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่า ในการฟ้องคดีนี้ โจทก์มอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2556 จําเลยซื้อสินค้าไปจาก โจทก์หลายครั้งหลายรายการ เป็นเงินรวม 200,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้ายังไม่ครบถ้วน คงค้าง ชําระเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ทวงถาม จําเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จําเลยให้การว่า โจทก์จะมอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบ ไม่รับรองเนื่องจากหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงสําเนาเอกสาร โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง จําเลยชําระราคาครบถ้วนแล้ว โดยได้นําเงินที่ค้างทั้งหมดไปชําระให้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ที่บริษัทโจทก์ มีนางขวัญลูกจ้างของโจทก์เป็นผู้รับเงินไว้แทน อย่างไรก็ดี คําฟ้องของโจทก์ไม่แสดง โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคําขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องของ โจทก์จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง เช่นนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด และถ้าคู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมิภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแกคู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ตามอุทาหรณ์ โจทก์มอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โดยฟ้องว่าจําเลยซื้อสินค้าไป จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการเป็นเงินรวม 200,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้าไม่ครบถ้วน คงค้างชําระเป็นเงิน 50,000 บาท จําเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง จําเลยชําระราคาครบถ้วนแล้วและฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า “จําเลยชําระ ค่าสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่”

ส่วนคําให้การของจําเลยที่ว่า โจทก์จะมอบอํานาจให้นายกรเป็นผู้ฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบ ไม่รับรองเนื่องจากหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงสําเนาเอกสารนั้น เป็นคําให้การที่มิใช่เป็นการปฏิเสธ ความแท้จริงของหนังสือมอบอํานาจ การที่จําเลยไม่ทราบไม่ใช่เหตุที่จะทําให้หนังสือมอบอํานาจของโจทก์ต้องเสียไป และที่จําเลยไม่รับรองก็ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่า ทําไมหนังสือมอบอํานาจที่เป็นสําเนาจึงไม่ทําให้โจทก์มีอํานาจฟ้อง จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดี

ส่วนข้อที่จําเลยให้การว่าคําฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จําเลยให้การเพียงการยกถ้อยคํา ในกฎหมายมาอ้างโดยมิได้บรรยายว่าสภาพแห่งข้อหาในคําฟ้องของโจทก์ข้อใดที่ไม่ชัดแจ้งและไม่ชัดแจ้งอย่างไร ดังนั้น คําให้การของจําเลยจึงแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เช่นกัน จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

เนื่องจากจําเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจําเลยไม่ได้ซื้อสินค้าตามฟ้องไปจากโจทก์ คําให้การของ จําเลยถือว่ารับแล้วว่าจําเลยซื้อสินค้าตามฟ้อง แต่จําเลยให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าจําเลยได้ชําระค่าสินค้าตามฟ้องแล้ว โดยนําเงินที่ค้างชําระทั้งหมดไปชําระให้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ที่บริษัทโจทก์ มีนางขวัญลูกจ้างของโจทก์เป็น ผู้รับเงินไว้แทน ซึ่งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาทนี้จึงตกแก่จําเลย

ประเด็นที่ 3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ในกรณีที่คู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน ย่อมไม่มีการสืบพยานโจทก์จําเลย ดังนั้น จําเลย ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี และโจทก์ย่อมจะเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า จําเลยชําระค่าสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และภาระ การพิสูจน์ตกแก่จําเลย

และถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 3 โจทก์ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจําเลยแปลงหนึ่งเป็นเงิน 6 ล้านบาท วางมัดจํา 500,000 บาท ส่วนที่เหลือชําระในวันโอนกรรมสิทธิ์ ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 90 วัน นับแต่วันทําสัญญา พร้อมถมดินให้เรียบร้อย ซึ่งตามสัญญาคู่สัญญาตกลงกันให้เงินมัดจําดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการชําระเงิน ค่าที่ดินตามสัญญาด้วย เมื่อครบกําหนดตามสัญญา จําเลยไม่ยอมถมดิน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ให้จําเลยคืนเงินมัดจําและชําระค่าเสียหาย แต่จําเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจําเลยฐานผิดสัญญาเรียกเงินมัดจําคืนพร้อมค่าเสียหายอ้างว่าจําเลยไม่ถมดิน ในวันสืบพยาน จําเลยนําพยานบุคคลมาสืบ ว่าโจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนาผูกพันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินในสัญญา ดังนี้ จําเลยมีสิทธินําสืบพยานบุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ สัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ ในการทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์และจําเลยเป็นเงิน 6 ล้านบาท นั้น การที่โจทก์วางเงินมัดจําให้แก่จําเลยเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อตามสัญญาคู่สัญญาตกลงกันให้เงินมัดจํา ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการชําระเงินค่าที่ดินตามสัญญาด้วย จึงถือเป็นการชําระค่าที่ดินบางส่วน ซึ่งกรณีเช่นนี้ จึงไม่จําเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และกรณีนี้ ก็มิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ดังนั้น จําเลยจึงมีสิทธิที่จะนําพยานบุคคลมาสืบได้ว่า โจทก์กับจําเลยไม่มีเจตนาผูกพันกันตามข้อความเกี่ยวกับการถมดินในสัญญาได้ เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องบังคับ ตามสัญญาจะซื้อจะขายแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป

จําเลยมีสิทธินําสืบพยานบุคคลในกรณีดังกล่าวได้

Advertisement