LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3

ข้อ 1 นายกล้าโจทก์ฟ้องนายเก่งเป็นจําเลยข้อหาทําร้ายร่างกายโจทก์เป็นอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นายเก่งจําเลยให้การว่าทําร้ายไปเพราะเจ็บแค้นเนื่องจาก โจทก์มาลวนลามภริยาตน มีเหตุลดหย่อนผ่อนโทษ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72) ในคดีนี้ทั้งโจทก์และจําเลยต่างไม่นําพยานเข้าสืบ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครเป็นฝ่ายแพ้คดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตน ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่ พอจะใช้บังคับได้”

วินิจฉัย

ตามปกติในคดีอาญานั้น โจทก์จะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจําเลยกระทําผิดอาญาขึ้น ดังนั้น ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตามประเด็นข้อพิพาทจึงตกอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้าง แต่หากจําเลยรับว่าได้กระทําผิด ตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่อ้างเหตุต่าง ๆ เช่น เหตุไม่ต้องรับโทษ เหตุลดหย่อนผ่อนโทษ ย่อมถือว่าจําเลยยอมรับ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องนําสืบพยานว่าจําเลยกระทําผิด แต่กรณีถือว่าจําเลยกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์ของตน ดังนี้ ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบย่อมตกแก่จําเลย โดยจําเลยต้องนําสืบ ถึงเหตุต่าง ๆ ที่ตนจะอ้างเอาประโยชน์จากเหตุนั้น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกล้าเป็นโจทก์ฟ้องนายเก่งเป็นจําเลยข้อหาทําร้ายร่างกาย และนายเก่งจําเลยให้การว่าทําร้ายไปเพราะเจ็บแค้นเนื่องจากโจทก์มาลวนลามภริยาตน มีเหตุลดหย่อนผ่อนโทษนั้น ถือเป็นกรณีที่จําเลยได้ยอมรับว่าทําร้ายร่างกายโจทก์จริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องนําสืบพยาน ว่าจําเลยกระทําผิดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84(3)

อย่างไรก็ตาม การที่นายเก่งจําเลยอ้างว่ามีเหตุลดหย่อนผ่อนโทษด้วยนั้น ย่อมถือเป็นกรณีที่ จําเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์ของตน ดังนั้น เมื่อจําเลยเป็นผู้กล่าวอ้าง จําเลยย่อมมีหน้าที่นําสืบ ในประเด็นที่ตนอ้างมา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในคดีนี้ทั้งโจทก์และจําเลยต่างไม่นําพยานเข้าสืบ จําเลยย่อม ตกเป็นฝ่ายแพ้คดีไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป นายเก่งจําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี

 

ข้อ 2 พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา เมื่อถูกอ้างมาเป็นพยาน มีเอกสิทธิ์อย่างไรบ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

(2) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ (3) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา

(4) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณ”

มาตรา 115 “พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ก็ได้ สําหรับ บุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมายจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ กําหนดไว้ตามกฏหมายนั้น ๆ ก็ได้”

จากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา ถูกอ้างมาเป็นพยานใน คดีจะมีเอกสิทธิ์ดังนี้ คือ

1 ไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนเบิกความก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112(3)

2 ไม่ต้องเบิกความหรือให้ถ้อยคําใด ๆ ก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 115)

 

ข้อ 3 โจทก์และจําเลยทําสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และได้ยื่นคําขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินประกาศการซื้อขายตามระเบียบเป็นเวลา 30 วัน ครบกําหนดตามประกาศไม่มี ผู้ใดคัดค้าน จําเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้บังคับจําเลยโอนทางทะเบียน และส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่โจทก์ ในวันสืบพยานจําเลย จําเลยนําพยานบุคคลมาสืบว่า ความจริงเป็นการทําสัญญากู้เงินกัน ไม่ใช่สัญญาซื้อขายที่ดิน ต้องบังคับตามสัญญากู้เงิน ดังนี้ จําเลยสามารถนําพยานบุคคลมาสืบตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้าง พยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสาร นั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จําเลยสามารถนําพยานบุคคลมาสืบตาม ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จําเลยประสงค์จะนําสืบว่าความจริงเป็นการทําสัญญากู้เงินกัน ไม่ใช่ สัญญาซื้อขายที่ดิน กรณีถือเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาจะซื้อจะขายเป็นนิติกรรมอําพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน หากเป็นความจริงตามที่จําเลยอ้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ ต้อง บังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอําพรางไว้ ฉะนั้น การที่จําเลยขอนําสืบว่าความจริงเป็นการทําสัญญากู้ยืมเงินกัน จึงมิใช่เป็นการนําสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94(ข) หากแต่เป็นการ นําสืบหักล้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จําเลยจึงนําสืบได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย (คําพิพากษาฎีกาที่ 2976/2548)

สรุป

จําเลยสามารถนําพยานบุคคลมาสืบตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างได้

LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 2/2554

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จํานวน 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งหลายรายการเป็นเงินรวม 100,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้าไม่ครบถ้วน คงค้างชําระ 20,000 บาท ขอให้บังคับจําเลยชําระเงินจํานวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย จําเลยให้การว่าจําเลยไม่ชําระค่าสินค้าตามฟ้องเพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพ ไม่อาจนําไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญา ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดย ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คําขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคดีของโจทก์ ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องมาภายในกําหนด 2 ปี นับแต่วันส่งมอบ ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน เพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นตามคําให้การ ศาลได้สอบถามจําเลยในข้อที่จําเลยให้การว่าฟ้องของโจทก์ เคลือบคลุม จําเลยแถลงว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ระบุว่าจําเลยซื้อสินค้าอะไรเมื่อไร สินค้าแต่ละรายการเป็นเงินเท่าใด ทําให้จําเลยไม่สามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ ขอให้ศาลกําหนด เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วย ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด และถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องว่าจําเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งเป็นเงินรวม 100,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้าไม่ครบถ้วน คงค้างชําระ 20,000 บาท จําเลยให้การว่าจําเลยไม่ชําระค่าสินค้าตามฟ้อง เพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว

จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าวจะมีประเด็นที่คู่ความโต้แย้งกัน คือ

(1) จําเลยต้องชําระ ราคาสินค้าตามฟ้องหรือไม่ และ

(2) คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ดังนั้นคดีนี้จึงมีข้อพิพาทดังนี้ คือ

1 จําเลยต้องชําระราคาสินค้าตามฟ้องหรือไม่

2 คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ส่วนคําให้การของจําเลยที่ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จําเลยเพียงยกถ้อยคําตามกฎหมาย มาอ้างโดยไม่ได้บรรยายว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชัดแจ้งอย่างไร คําให้การของจําเลยจึงแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ชัดแจ้ง (คําพิพากษาฎีกาที่ 4842536) จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัย การที่ จําเลยแถลงขอให้ศาลกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วยนั้น แม้ในการชี้สองสถาน ศาลมีอํานาจสอบถามคู่ความ เพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นข้อพิพาท แต่การสอบถามนั้นก็จําต้องตรวจจากคําคู่ความที่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่เป็น คําคู่ความที่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว แม้คู่ความจะแถลงเป็นประการใดก็หาอาจทําให้คําคู่ความนั้นกลับเป็นคําคู่ความ ที่ชอบและมีประเด็นขึ้นตามที่ศาลสอบถามและที่คู่ความแถลงไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 122 – 130/2529) กรณีจึง ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจําเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์แล้วไม่ชําระ จําเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจําเลยไม่ได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ตามฟ้องและชําระครบถ้วนแล้ว ถือว่าจําเลย ให้การรับว่าจําเลยได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์และค้างชําระค่าสินค้าตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องสินค้า ไม่มีคุณภาพขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้

ประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 แม้จําเลยจะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อนี้มาในคําให้การ แต่ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้ว่า การที่โจทก์ฟ้องนั้นสันนิษฐานว่าเป็นการฟ้องมาภายในกําหนดอายุความ เมื่อจําเลย ให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ปรากฏว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ประเด็นที่ 3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ในกรณีที่คู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อ 2. ต้องเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อนี้ และเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายพ้องคดีโจทก์ย่อมแพ้คดีทั้งสํานวน แม้จําเลยแถลง ไม่ติดใจสืบพยานตามภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อ 2. จําเลยก็ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดีได้

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ดังนี้

1 จําเลยต้องชําระราคาสินค้าตามฟ้องหรือไม่ จําเลยมีภาระการพิสูจน์

2 คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีภาระการพิสูจน์ และถ้าคู่ความแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน จําเลยย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง

(ก) ตามคําขออนุญาตตั้งสถานบริการและหนังสือยินยอมของบริษัท ลอยฟ้า จํากัด ซึ่งต้องทําเป็นหนังสือระบุว่าโจทก์เป็นผู้ขอจัดตั้งสถานบริการและได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในนามส่วนตัว จําเลยขอนําพยานบุคคลมาสืบว่า โจทก์ขออนุญาตตั้งสถานบริการและได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง ในนามของบริษัท ลอยฟ้า จํากัด โจทก์คัดค้านต่อศาลว่า หากศาลอนุญาตให้จําเลยนําพยาน บุคคลมาสืบได้ก็จะเป็นการนําพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารต้องห้ามตามกฎหมาย

(ข) โจทก์จําเลยตกลงกันและแถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลถือเอาบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีลักทรัพย์ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และศาลมีคําสั่ง ประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว มาเป็นคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นพิจารณาคดีของศาลต่อไป ศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาต หรือในชั้นพิจารณาคดี โจทก์ไม่อาจได้ตัวนายหนุ่มมาเบิกความต่อศาล เพราะติดตามหาตัวไม่พบ ศาลชั้นต้นจึงรับฟังบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาเพื่อวินิจฉัยคดี ให้วินิจฉัยว่า

กรณีข้อ (ก) คําคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ และในกรณีข้อ (ข) คําสั่งอนุญาต ของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ กับศาลชั้นต้นมีอํานาจรับฟังบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มใน ชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/5 “ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจําเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึก คําเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือบันทึกคําเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่น ในคดีได้”

มาตรา 237 วรรคสอง “ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคําเบิกความ พยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคําเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยาน เบิกความตอบคําถามค้านของจําเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ำจําคุก ตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น”

วินิจฉัย

(ก) ในคดีอาญานั้น พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลย มีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ หรือในกรณีนําพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารก็ สามารถทําได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ไม่ต้องห้ามเหมือนในคดีแพ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยขอนําพยานบุคคลมาสืบว่าโจทก์ขออนุญาตตั้งสถานบริการ และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในนามของบริษัท ลอยฟ้า จํากัด มิใช่ในนามส่วนตัว แต่โจทก์คัดค้านว่า หากศาล อนุญาตให้จําเลยนําพยานบุคคลมาสืบได้ก็จะเป็นการนําพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายนั้น คําคัดค้านของโจทก์ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะในคดีอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 นั้น ไม่ได้ห้ามการนําพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารเหมือนในคดีแพ่ง

(ข) จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์

กรณีแรก การที่โจทก์และจําเลยตกลงกันและแถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลถือเอาบันทึก คําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มาเป็นคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นพิจารณาคดีของศาลต่อไป และศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาตนั้น คําสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 วรรคสอง เพราะเป็นกรณีที่คู่ความตกลงกัน และไม่ใช่คดีที่มีข้อหาความผิดที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งเมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตแล้วนายหนุ่มก็ไม่ต้องมาเบิกความใหม่ ทําให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น

กรณีที่สอง การที่คู่ความไม่ได้ตกลงกันให้นําเอาบันทึกคําเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มาเป็นคําเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาคดีนั้น หากมีเหตุอันสมควร ศาลจะรับฟังบันทึกคําเบิกความพยาน ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/5 ดังนั้นเมื่อโจทก์ ติดตามตัวนายหนุ่มมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีไม่ได้ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร ศาลชั้นต้นจึงมีอํานาจรับฟัง บันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาเพื่อ วินิจฉัยคดีได้ เพียงแต่เฉพาะบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงอย่างเดียวจะนํามารับฟัง เพื่อลงโทษจําเลยไม่ได้

สรุป

(ก) คําคัดค้านของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

(ข) กรณีแรก คําสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

กรณีที่สอง ศาลชั้นต้นมีอํานาจรับฟังบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้น ไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาได้

 

ข้อ 3 นายกรุงเทพฟ้องนายต่างจังหวัดกู้เงิน 5 ล้านแล้วไม่ชําระเงินกู้ตามหลักฐานสัญญากู้ ขอให้ศาลบังคับนายต่างจังหวัดให้การว่าตนได้ชําระหนี้เงินกู้แล้ว พร้อมกับขอนํานายต่างประเทศมาสืบให้เห็นถึง การชําระหนี้เงินกู้ของตน อยากทราบว่า กรณีดังกล่าวนี้นายต่างจังหวัดจะนํานายต่างประเทศมาสืบถึงการชําระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 653 วรรคสอง “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงิน ได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่ง การกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94)

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายต่างจังหวัดจะนํานายต่างประเทศมาสืบถึงการชําระหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่าเนื่องจากการกู้เงินระหว่างนายต่างจังหวัดกับนายกรุงเทพดังกล่าว เป็นการกู้เงิน โดยมีหลักฐานการกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 ซึ่งการนําสืบถึงการชําระเงินนั้นก็จะต้องมีหลักฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กล่าวคือจะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสาร อันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืน หรือได้มีการแทงเพิกถอนลงในเอกสารการกู้นั้นแล้ว

เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายกรุงเทพฟ้องให้นายต่างจังหวัดชําระเงินกู้ตามหลักฐาน สัญญากู้นั้น เป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญากู้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายต่างจังหวัดยอมรับตามสัญญากู้ แต่จะขอนําสืบถึงการชําระเงินกู้ ดังนี้ นายต่างจังหวัดจึงต้องนําเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จะนํานายต่างประเทศเข้ามาสืบถึงการชําระหนี้เงินกู้ของตนแทน พยานเอกสารไม่ได้เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย

สรุป

นายต่างจังหวัดจะนํานายต่างประเทศมาสืบถึงการชําระหนี้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

 

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 S/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายโอ่งขับรถชนนายไก่กับนายไข่ได้รับบาดเจ็บ นายไก่เสียค่าซ่อมรถยนต์จํานวนหกหมื่นบาทและเสียค่ารักษาพยาบาลจํานวนสองหมื่นบาท ส่วนนายไข่เสียค่ารักษาพยาบาลจํานวนสามหมื่นบาท นายไก่และนายไข่จึงฟ้องเรียกให้นายโอ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจํานวนดังกล่าว แต่นายโอ่ง ยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่ากรณีนี้นายไก่และนายไข่เป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมาในคดีเดียวกันไม่ได้ เพราะค่าเสียหายเป็นคนละจํานวนกัน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายโอ่งว่านายไก่และนายไข่เป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมาในคดีเดียวกันไม่ได้ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือ จําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

(2) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความร่วม คนอื่นด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ด้วางหลักไว้ว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกัน โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมได้ หากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโองขับรถชนนายไก่กับนายไข่ได้รับบาดเจ็บ โดยนายไก่เสียค่าซ่อม รถยนต์จํานวน 6 หมื่นบาท และเสียค่ารักษาพยาบาลจํานวน 2 หมื่นบาท ส่วนนายไข่เสียค่ารักษาพยาบาลจํานวน 3 หมื่นบาทนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายไก่และนายไข่เป็นผู้เสียหายในเหตุละเมิดเหตุเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่บุคคล ตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคล เหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ดังนั้น นายไก่และนายไข่จึงสามารถเป็น โจทก์ร่วมกันเพื่อฟ้องเรียกให้นายโอ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีเดียวกันได้ แม้ว่าค่าเสียหายเป็นคนละจํานวนกันก็ตาม การที่นายโอ่งยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่ากรณีนี้นายไก่และนายไข่เป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ราในคดีเดียวกันไม่ได้ เพราะค่าเสียหายเป็นคนละจํานวนกันนั้น ข้อต่อสู้ของนายโอ่งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายโอ่งที่ว่านายไก่และนายไข่เป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน มาในคดีเดียวกันไม่ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นายสมชายมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดตรัง) ได้แต่งงานกับนางซินดี้ชาวอังกฤษ นายสมชายได้เดินทางไปยังสิงคโปร์และได้ทําสัญญากู้เงินจากนายซิงค์ ชาวสิงคโปร์ บนเครื่องบินของการบินไทยระหว่างที่บินจากสิงคโปร์ไปประเทศอังกฤษ โดยมีกําหนดการกู้เงินกัน ทั้งสิ้น 1 ปี ผ่านไป 6 เดือน นายสมชายได้ตัดสินใจย้ายภูมิลําเนาไปอยู่กับนางซินดี้ที่อังกฤษ ต่อมาเมื่อครบ 1 ปีตามกําหนดสัญญากู้นายสมชายไม่ชําระเงินกู้แก่นายซิงค์ นายซิงค์จึงต้องการ ฟ้องนายสมชายให้รับผิดชดใช้เงินกู้

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายซิงค์จะสามารถฟ้องนายสมชายได้ยังศาลใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 3 “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคําฟ้อง

(1) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ศาลแพ่ง เป็นศาลที่มีเขตอํานาจ

(2) ในกรณีที่จําเลยไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร

(ก) ถ้าจําเลยเคยมีภูมิลําเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกําหนดสองปีก่อนวันที่มี การเสนอคําฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลําเนาของจําเลย

 

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นใน เขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายนั้น การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคลต้องเสนอคําฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ใน เขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดี” ก็หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทําให้เกิดอํานาจฟ้องนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง ได้เดินทางไปยังสิงคโปร์และได้ทํา สัญญากู้เงินจากนายซึ่งด์ ชาวสิงคโปร์ บนเครื่องบินของการบินไทยระหว่างที่บินจากสิงคโปร์ไปประเทศอังกฤษ โดยมี กําหนดการกู้เงินกันทั้งสิ้น 1 ปี และเมื่อครบกําหนด 1 ปีตามกําหนดสัญญากูนายสมชายไม่ชําระเงินกู้แก่นายซิงค์ และนายซิงค์ต้องการฟ้องนายสมชายให้รับผิดชดใช้เงินกู้นั้น นายซิงค์ย่อมสามารถฟ้องนายสมชายได้ที่ศาลแพ่ง เพราะกรณีสัญญากู้ยืมเงินนั้น มูลเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิย่อมเกิดขึ้นที่สถานที่ที่มีการทําสัญญากัน เมื่อปรากฏว่า นายสมชายได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายจึงด์บนเครื่องบินหรือในอากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 3 (1) ได้กําหนดให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอํานาจ ดังนั้น นายชิงด์จึงฟ้องนายสมชายได้ที่ศาลแพ่ง

และจากข้อเท็จจริง การที่นายสมชายเคยมีภูมิลําเนาอยู่ในประเทศไทยมาก่อน คือเคยมีภูมิลําเนา อยู่ที่จังหวัดตรัง แม้ว่าหลังจากทําสัญญากู้ยืมเงินได้ 6 เดือน นายสมชายจะได้ย้ายภูมิลําเนาไปอยู่กับนางซินดี้ ที่ยังกฤษก็ตาม ก็ถือว่านายสมชายเคยมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรภายในกําหนด 2 ปีก่อนวันที่จะมีการเสนอ คําฟ้อง จึงถือว่าจังหวัดตรังเป็นภูมิลําเนา ของนายสมชายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 3 (2) (ก) ดังนั้น นายซิงค์จึงสามารถ ฟ้องนายสมชายต่อศาลจังหวัดตรังได้อีกแห่งหนึ่งด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

สรุป

นายซิงค์สามารถฟ้องนายสมชายได้ที่ศาลแพ่งและศาลจังหวัดตรัง

 

ข้อ 3. นายสุกี้ได้ยื่นฟ้องนายสลัดให้ชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 แต่ปรากฏว่านายสลัดขาดนัดยื่นคําให้การ นายสุกี้จึงยื่นคําร้องขอให้ตนชนะคดีโดยขาดนัด ศาลนัดสืบพยาน วันที่ 1 มิถุนายน 2562 แต่ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 นายสุกี้ได้มายื่นคําร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยมิได้มีการถามนายสลัด ผู้เป็นจําเลยก่อน ต่อมาในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 นายสุกี้ได้ยื่นฟ้องให้นายสลัดชําระหนี้ตาม สัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 อีกครั้งหนึ่ง ให้ท่านวินิจฉัยว่า การที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการฟ้องของนายสุกี้ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 จะทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 144 “เมื่อศาลใดมีคําพิพากษา หรือคําสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดําเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วนั้น…”

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และ ผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”

มาตรา 175 “ก่อนจําเลยยื่นคําให้การ โจทก์อาจถอนคําฟ้องได้โดยยื่นคําบอกกล่าวเป็นหนังสือ ต่อศาล

ภายหลังจําเลยยื่นคําให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาต ให้โจทก์ถอนคําฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่

(1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจําเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน”

มาตรา 176 “การทิ้งคําฟ้องหรือถอนคําฟ้องยอมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้องนั้น รวมทั้ง กระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคําฟ้อง และกระทําให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่ง มิได้มีการยืนฟ้องเลย แต่ว่าคําฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของ กฎหมายว่าด้วยอายุความ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุกี้ได้ยื่นฟ้องนายสลัดให้ชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนด เลขที่ 1234 แต่ปรากฏว่านายสลัดขาดนัดยื่นคําให้การ นายสุกี้ยื่นคําร้องขอให้ตนชนะคดีโดยขาดนัดและศาลนัด สืบพยานวันที่ 1 มิถุนายน 2562 แต่ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 นายสุกี้ได้มายื่นคําร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาต

ให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยมิได้มีการถามนายสลัดผู้เป็นจําเลยก่อนนั้น เมื่อการถอนฟ้อง ของโจทก์ได้กระทําก่อนที่จําเลยจะยื่นคําให้การ จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1) ที่ห้ามมิให้ศาลให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจําเลยก่อน ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวเมื่อนายสุกี้โจทก์ได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง และศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องโดยมิได้มีการถามนายสลัดผู้เป็นจําเลยก่อน การที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องดังกล่าว จึงขอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 176 ได้วางหลักไว้ว่า การถอนคําฟ้องยอมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคําฟ้อง และกระทําให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่ง มิได้มีการยื่นฟ้องเลย และคําฟ้องที่ได้ถอนแล้วอาจยื่นใหม่ได้ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วย อายุความ ดังนั้น จากข้อเท็จจริงเมื่อนายสุกี้โจทก์ได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง และศาลได้อนุญาตให้ถอนฟ้องและ จําหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว จึงมีผลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 176 ที่นายสุกี้โจทก์ย่อมสามารถนําคดี ที่ได้ถอนฟ้องไปแล้วมายื่นฟ้องนายสลัดใหม่ได้ อีกทั้งการฟ้องคดีใหม่ของนายสุกี้แม้จะเป็นคําฟ้องเรื่องเดียวกับ คดีเดิมที่ได้ถอนฟ้องไปแล้ว คือการฟ้องให้นายสลัดชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 ก็ตาม ก็ไม่เป็นการฟ้องซ้ําตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 หรือฟ้องซ้อนตามมาตรา 173 วรรคสอง (1) หรือเป็นการดําเนิน กระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 แต่อย่างใด

สรุป

การที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีนั้นชอบด้วยกฎหมาย

การที่นายสุกี้ฟ้องนายสลัดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 นั้น สามารถทําได้

 

ข้อ 4. นายมะม่วงฟ้องนายมะขามให้ชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวนห้าแสนบาท นายมะขามไม่ได้ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลา นายมะม่วงมีคําขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาให้นายมะม่วง ชนะคดีโดยขาดนัดศาสจึงดําเนินการพิจารณาคดีต่อไปและมีคําพิพากษาให้นายมะม่วงชนะคดี ให้ท่านวินิจฉัยว่า หากนายมะขามจะขอพิจารณาคดีใหม่ นายมะขามต้องดําเนินการอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 199 ตรี “จําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น จําเลยนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคด์ใหม่ได้ เว้นแต่…”

มาตรา 199 จัตวา “คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากที่ได้ส่ง คําบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่งให้แก่จําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ แต่ถ้าศาลได้กําหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคําบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกําหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่ จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การไม่สามารถยื่นคําขอภายในระยะเวลาที่กําหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จําเลยนั้นอาจยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหมได้ภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณ์ จะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคําขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับ ตามคําพิพากษาหรือคําสั่งโดยวิธีอื่น

คําขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้ง ซึ่งเหตุที่จําเลยได้ขาดนัดยื่นคําให้การและข้อคัดค้าน คําตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่า “หากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคําขอ ล่าช้าให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมะม่วงฟ้องนายมะขามให้ชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวน ห้าแสนบาทนั้น คดีนี้ถือเป็นคดีสามัญ เมื่อนายมะขามไม่ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลา ย่อมถือว่าจําเลย ขาดนัดยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 197 เมื่อนายมะม่วงโจทก์มีคําขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาให้ นายมะม่วงชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 แล้ว ศาลจึงดําเนินคดีต่อไปและมีคําพิพากษาให้ นายมะร่วงชนะคดี ดังนั้นหากนายมะขามจะขอพิจารณาคดีใหม่ นายมะขามจะต้องไม่ได้อุทธรณ์คําพิพากษานั้น (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี) และจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา ดังนี้คือ

1 นายมะขามจําเลยต้องยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อศาล (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี)

2 คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ต้องยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับจากที่ได้ส่งคําบังคับตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งให้แก่จําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ หรือภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลกําหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคําบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน หรือถ้ามีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นภายใน 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ต้องไม่เกินกําหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่งโดยวิธีอื่น (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง)

3 คําขอให้พิจารณา คดีใหม่ที่ยื่นต่อศาลดังกล่าว จะต้องกล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จําเลย ได้ขาดนัดยื่นคําให้การว่าจําเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคําให้การหรือมีเหตุจําเป็นที่จําเลยไม่อาจยื่นคําให้การได้ ภายในกําหนดระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด และข้อคัดค้านคําตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่า หากศาล ได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณียื่นคําขอล่าช้าให้แสดงเหตุแห่งการล่าช้านั้นด้วย (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง)

สรุป

หากนายมะขามจะขอพิจารณาคดีใหม่ นายมะขามจะต้องดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา ดังกล่าวข้างต้น

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. (ก) ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเรื่อง “อํานาจฟ้องคดี”

(ข) นายงามเช่าเครื่องจักรผลิตยาจากนางหล่อเป็นเวลา 5 เดือน มีอัตราค่าเช่า 10,000,000 บาท โดยนายงามได้มอบโฉนดที่ดินและมอบหนังสือมอบอํานาจจําหน่ายจ่ายโอนที่ดินตามโฉนด ดังกล่าวให้แก่นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าฯ ต่อมา เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่า นางหล่อได้ซื้อรถยนต์มือสองจากนายงาม ราคา 10,900,000 บาท โดยนายงามและนางหล่อตกลงหักกลบลบหนี้กันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และนายงามได้ส่งมอบคืนเครื่องจักรผลิตยาดังกล่าวให้แก่นางหล่อแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังนางหล่อได้รับมอบเครื่องจักรผลิตยาไว้แล้ว นางหล่อได้หลบหนี นายงามเพื่อไม่ให้นายงามติดต่อนางหล่อได้อีก ให้ท่านวินิจฉัยประเด็นดังต่อไปนี้

(1) นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาห้ามไม่ให้นางหล่อกระทําการรุกล้ำ ที่ดินตามโฉนดดังกล่าว และขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงามไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อนางหล่อ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อเรื่องใดได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

(ก) คําว่า “อํานาจฟ้อง” หมายถึงอํานาจในการเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจตามที่ บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั่นเอง ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลที่ถูกโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะนําคดีมาสู่ศาลหรือไม่ก็ได้

ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคล มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1 กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้ เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2 กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่า มีความจําเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็น คําร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

คดีมีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องตามมาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1 โจทก์และจําเลยจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

2 มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งกรณีที่จะถือว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งนั้น จะต้องประกอบด้วย

(1) โจทก์มีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตามกฎหมายแพ่ง

(2) จําเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์

3 โจทก์ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ

คดีไม่มีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องตาม มาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์คือ

1 บุคคลที่จะยื่นคําร้องขอต่อศาลจะต้องเป็นบุคคลเช่นเดียวกับการยื่นฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท

2 บุคคลนั้นมีความจําเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล

3 บุคคลนั้นได้ยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ

(ข) วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อ ศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายงามได้เช่าเครื่องจักรผลิตยาจากนางหล่อเป็นเวลา 5 เดือน มีอัตราค่าเช่า 10,000,000 บาท โดยนายงามได้มอบโฉนดที่ดินและมอบหนังสือมอบอํานาจจําหน่ายจ่ายโอนที่ดินตามโฉนด ดังกล่าวให้แก่นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าฯ และต่อมาเมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่า นางหล่อได้ซื้อรถยนต์มือสองจากนายงาม ราคา 10,900,000 บาท โดยนายงามและนางหล่อตกลงหักกลบลบหนี้กัน ถูกต้องตามกฎหมายและนายงามได้ส่งมอบคืนเครื่องจักรผลิตยาดังกล่าวให้แก่นางหล่อแล้วนั้น การที่นางหล่อได้ หลบหนีนายงามเพื่อไม่ให้นายงามติดต่อนางหล่อได้อีกนั้น นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาห้าม ไม่ให้นางหล่อกระทําการรุกล้ำที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไม่ได้ เพราะสิทธิตามกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายงามยัง ไม่ได้ถูกโต้แย้งแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีนี้นายงามจึงไม่มีอํานาจฟ้อง เพราะไม่ต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55

และการที่นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า นายงามไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อ นางหล่อนั้น นายงามก็ไม่มีอํานาจฟ้องนางหล่อเช่นเดียวกัน เพราะการที่หนี้ทั้งสองรายถึงกําหนดชําระและได้ตกลง หักกลบลบหนี้กัน ทําให้หนี้ที่นายงามมีต่อนางหล่อระงับไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่นายงามชอบที่จะหยิบยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้เมื่อถูกนางหล่อฟ้องเป็นคดีขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายงามจะมายื่นฟ้องนางหล่อต่อศาลเพื่อขอให้ศาล พิพากษาแสดงว่านายงามและนางหล่อไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อกันแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้สิทธิในการ ดําเนินการดังกล่าว เนื่องจากนายงามยังไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 นายงามจึงไม่มีอํานาจฟ้อง

(2) นายงามสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ

2.1 นายงามมีอํานาจฟ้องนางหล่อเพื่อขอให้ส่งมอบคืนโฉนดที่ดินและหนังสือมอบ อํานาจแก่ตนได้ เนื่องจากกรณีดังกล่าวถือว่าสิทธิตามกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอํานาจถูก โต้แย้งแล้ว เพราะการที่นางหล่อได้หลบหนีไปนั้น ย่อมทําให้นายงามไม่สามารถนําโฉนดที่ดินและหนังสือมอบ อํานาจมาใช้ประโยชน์ตามหลักกรรมสิทธิ์ได้ กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ดังนั้น นายงามจึงมีอํานาจฟ้อง

2.2 นายงามมีอํานาจฟ้องนางหล่อเพื่อขอให้ชําระเงินค่ารถยนต์ 900,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ยจนกว่านางหล่อจะชําระเสร็จสิ้นแก่ตนได้ เพราะกรณีดังกล่าวถือว่าสิทธิเรียกร้องตามสัญญาของนายงาม

ได้ถูกโต้แย้งตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แล้ว เนื่องจากนางหล่อได้หลบหนีนายงามเพื่อไม่ให้นายงาม ติดต่อนางหล่อได้อีก ดังนั้น นายงามจึงมีอํานาจฟ้อง

สรุป

(1) นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาห้ามไม่ให้นางหล่อกระทําการรุกล้ำที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไม่ได้ และขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงามไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อนางหล่อไม่ได้เช่นเดียวกัน

(2) นายงามสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อให้ส่งมอบคืนโฉนดที่ดิน และหนังสือมอบอํานาจให้แก่ตนได้ และสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อให้ชําระเงินค่ารถยนต์ จํานวน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ตนได้

 

ข้อ 2. นายประเสริฐมีภูมิลําเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร (ในเขตอํานาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ทําสัญญาให้นางภัสสรเช่าที่ดินที่ตั้งอยู่ในเมืองพัทยา (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดพัทยา) โดยมีนายเมธและ นายกรกันต์เป็นผู้ค้ำประกัน (ทั้งสามคนมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี) โดยสัญญาเช่า และสัญญาค้ำประกันได้ทํากันขึ้นที่โรงแรมสยามพิมานซึ่งเป็นโรงแรมของนายประเสริฐที่ตั้งอยู่ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี) โดยสัญญาระบุให้เช่ากันเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาเมื่อครบ 3 ปีแล้ว นางภัสสรผู้เช่าที่ดินต้องการจะเช่าที่ดินต่อ เพราะนางภัสสรนําที่ดินไปเปิด ตลาดนัดและกิจการเป็นไปด้วยดี แต่นายประเสริฐต้องการจะนําที่ดินดังกล่าวไปสร้างโรงแรมใหม่ จึงไม่ต่อสัญญา แต่นางภัสสรก็ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและทําประโยชน์ต่อมาอีก 1 ปี โดยไม่ชําระค่าเช่า นายประเสริฐจึงให้ทนายความยื่นฟ้องให้นางภัสสรชําระค่าเช่าและค่าเสียหายอันเกิดจากการ ผิดสัญญาเช่าที่ศาลจังหวัดพัทยา กรณีนี้ศาลจังหวัดพัทยามีอํานาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายประเสริฐได้ทําสัญญาให้นางภัสสรเช่าที่ดินที่ตั้งอยู่ในเมืองพัทยา โดยมีนายเมธและนายกรกันต์เป็นผู้ค้ำประกัน โดยทั้งสามคนมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี โดยสัญญาเช่าและสัญญาค้ำประกันได้ทํากันขึ้นที่โรงแรมสยามพิมานซึ่งเป็นโรงแรมของนายประเสริฐที่ตั้งอยู่ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี และเมื่อครบกําหนดสัญญาเช่า นางภัสสรไม่ยอมออกไปจากที่ดินที่เช่าและทําประโยชน์ ต่อมาอีก 1 ปี โดยไม่ชําระค่าเช่า เมื่อนายประเสริฐให้ทนายความยื่นฟ้องให้นางภัสสรชําระค่าเช่าและค่าเสียหาย อันเกิดจากการผิดสัญญาเช่านั้น คําฟ้องของนายประเสริฐดังกล่าวจึงไม่ใช่คําฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ แต่เป็นคําฟ้องเกี่ยวกับหนี้ เหนือบุคคล ดังนั้น นายประเสริฐจึงต้องฟ้องนางภัสสรต่อศาลที่นางภัสสรจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาล ที่มูลคดีเกิดขึ้น คือ สถานที่ที่สัญญาได้ทําขึ้น ซึ่งได้แก่ ศาลจังหวัดมีนบุรี ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 4 (1) เมื่อนายประเสริฐ ได้ให้ทนายความยื่นฟ้องนางภัสสรต่อศาลจังหวัดพัทยา ศาลจังหวัดพัทยาจึงไม่มีอํานาจพิจารณาคดีดังกล่าว

สรุป

ศาลจังหวัดพัทยาไม่มีอํานาจพิจารณาคดีดังกล่าว

 

ข้อ 3. นายพีทฟ้องนายอี้และนายเต้ยว่า นายอี้และนายเต้ยขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนรถของตนทําให้ตนได้รับความเสียหาย (บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแล้ว) ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกัน ชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน 500,000 บาท นายอี้ยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุการณ์ที่ขับรถยนต์ ชนกัน 3 คันในครั้งนี้ตนไม่ได้ประมาท ความประมาทเกิดจากนายเต้ยที่เป็นผู้ขับรถด้วยความประมาท แต่เพียงผู้เดียว ขอให้ศาลยกฟ้องตนและขอให้นายเต้ยชําระค่าเสียหายแก่ตน 350,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะสามารถรับฟ้องแย้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

วินิจฉัย

“ฟ้องแย้ง” คือ การฟ้องซึ่งจําเลยฟ้องกลับโจทก์ในคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจําเลย โดย ฟ้องขอให้โจทก์รับผิดต่อจําเลย กล่าวคือ โจทก์เป็นผู้เริ่มคดีโดยฟ้องจําเลยก่อน แล้วจําเลยจึงได้ฟ้องโจทก์บ้างใน คดีเดียวกัน โดยกล่าวรวมมาในคําให้การ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพีทฟ้องนายอี้และนายเต้ยว่า นายอี้และนายเต้ยขับรถยนต์ ด้วยความประมาทชนรถของตนทําให้ตนได้รับความเสียหาย ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน 500,000 บาท แต่นายอี้ยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุการณ์ที่ขับรถยนต์ชนกัน 3 คันในครั้งนี้ตนไม่ได้ประมาท ความประมาทเกิดจากนายเต้ยที่เป็นผู้ขับรถด้วยความประมาทแต่เพียงผู้เดียว ขอให้ศาลยกฟ้องตนและขอให้ นายเต้ยชําระค่าเสียหายแก่ตน 350,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่นายอี้ ซึ่งเป็นจําเลยคนหนึ่งในคดีที่นายพีทเป็นโจทก์ ได้ฟ้องแย้งกลับมายังนายเต้ยจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นจําเลยด้วยกัน ดังนั้น คําฟ้องของนายอี้จึงไม่ใช่เป็นฟ้องแย้ง ตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ศาลจึงไม่สามารถรับฟ้องแย้งของนายอี้ได้

สรุป

ศาลจะไม่สามารถรับฟ้องแย้งของนายอี้ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับจําเลยทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและโจทก์ได้ชําระเงินไว้บางส่วนแล้ว แต่จําเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินให้ตามกําหนด ขอให้จําเลยมารับเงินที่เหลือและโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ปรากฏว่าคดีนี้จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ในกรณีนี้ ถ้าท่านเป็นทนายโจทก์ จะต้องทําอย่างไรเพื่อให้ศาลพิพากษาให้ตนชนะคดี และหากศาลดูจากคําฟ้องแล้วเหตุว่าคดีมีมูล จะสามารถพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้า วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตน เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไป ฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”

วินิจฉัย

การที่โจทก์ฟ้องจําเลย แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้ โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การนั้น เป็นการดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และถ้าศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลอาจมีคําพิพากษาหรือคําสั่งขี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิ์ ในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับจําเลยทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและโจทก์ ได้ชําระเงินไว้บางส่วนแล้ว แต่จําเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินให้ตามกําหนด ขอให้จําเลยมารับเงินที่เหลือและ โอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์นั้น เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น เมื่อจําเลยขาดนัดยื่น คําให้การ ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายโจทก์ ข้าพเจ้าจะยื่นคําขอต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ คดีโดยจําเลยขาดนัด ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และเมื่อเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ และศาลเห็นว่าฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง คือ ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วจึงจะมีคําพิพากษาได้ ศาล จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายโจทก์ ข้าพเจ้าจะยื่นคําขอต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัด แต่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ป้าจ้อยมีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเงียบสงบ ด้านข้างที่ดินเป็นป่าสงวนซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทําให้บ้านของป้าจ้อยอากาศดี ต่อมานายสมิงสรได้บุกรุกเข้าไปยังป่าสงวนและเปิดตลาดให้คน มาเช่าแผงขายของจึงมีคนเข้ามาในที่ดินบริเวณนั้นเป็นจํานวนมาก ป้าจ้อยเห็นว่านายสมิงสรไม่มีสิทธิ ทําประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจึงฟ้องขับไล่ให้นายสมิงสรออกไปจากที่ดิน กรณีเช่นนี้ป้าจ้อยมีอํานาจ ฟ้องคดีแพ่งหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อ ศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ป้าจ้อยมีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเงียบสงบ และด้านข้างที่ดินเป็นป่าสงวน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เมื่อที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นป้าจ้อยไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ ในที่ดินอยู่แล้ว การที่นายสมิงสรได้บุกรุกเข้าไปยังป่าสงวนเพื่อทําประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการทําให้ สิทธิของป้าจ้อยถูกกระทบกระเทือนแต่อย่างใด สิทธิของป้าจ้อยจึงไม่ได้ถูกโต้แย้งจากการกระทําของนายสมิงสร ดังนั้น ป้าจ้อยจึงไม่มีอํานาจฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อขับไล่ให้นายสมิงสรออกไปจากที่ดินดังกล่าว เพราะไม่ถือว่า ป้าจ้อยถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แต่อย่างใด

สรุป

ป้าจ้อยไม่มีอํานาจฟ้องคดีแพ่งเพื่อขับไล่ให้นายสมิงสรออกไปจากที่ดิน

 

ข้อ 2. นายปฐมชาวจังหวัดนครปฐมต้องการได้ที่ดินในจังหวัดลําปางจึงติดต่อไปยังนายศรแดงนายหน้าขายที่ดินให้หาที่ดินให้ โดยมีการทําสัญญานายหน้ากันที่จังหวัดพิจิตรว่าหากนายศรแดงหาที่ดินให้ได้ จะให้เงินนายศรแดง 20,000 บาท นายศรแดงจึงเดินทางไปยังจังหวัดลําปางพบนายศิริชัยต้องการ ขายที่ดินจึงได้ดําเนินการให้นายปฐมและนายศิริชัยทําสัญญาซื้อขายที่ดินกันเรียบร้อยมีการโอน ที่ดินกันแล้ว ณ สํานักงานที่ดินจังหวัดลําปาง แต่นายปฐมไม่จ่ายค่านายหน้าให้กับนายศรแดง ตามที่ตกลงกันไว้ เช่นนี้หากนายศรแดงยื่นฟ้องนายปฐมที่จังหวัดลําปางเพื่อให้นายปฐมชําระ ค่านายหน้าให้ตนจะสามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ์ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปฐมชาวจังหวัดนครปฐมต้องการได้ที่ดินในจังหวัดลําปาง จึงได้ตกลงทําสัญญาให้นายศรแดงเป็นนายหน้าหาที่ดินให้ โดยมีการทําสัญญานายหน้ากันที่จังหวัดพิจิตร และเมื่อนายศรแดงได้กระทําการเป็นนายหน้าสําเร็จแล้ว กล่าวคือได้ดําเนินการให้นายปฐมและนายศิริชัยทําสัญญา ซื้อขายที่ดินกันเรียบร้อยและมีการโอนที่ดินกันแล้ว ณ สํานักงานที่ดินจังหวัดลําปาง แต่นายปฐมไม่จ่ายค่านายหน้า ให้กับนายศรแดงตามที่ตกลงกันไว้นั้น การที่นายศรแดงจะยื่นฟ้องนายปฐมที่จังหวัดลําปางเพื่อให้นายปฐมชําระ ค่านายหน้าให้ตน เมื่อการฟ้องเรียกค่านายหน้าขายที่ดินมิใช่เป็นคดีที่มีคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นคดีที่โจทก์มิได้มุ่งหมายจะบังคับเอากับที่ดิน จึงถือเป็นการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ดังนั้น นายศรแดง จะยื่นฟ้องนายปฐมต่อศาลจังหวัดลําปางตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ไม่ได้ เพราะศาลจังหวัดลําปางไม่มีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนี้ นายศรแดงจะต้องยื่นฟ้องนายปฐมต่อศาลจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นศาลที่นายปฐมมีภูมิลําเนา อยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นคือศาลจังหวัดพิจิตร เพราะมูลคดีในสัญญานายหน้านั้น คือจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้มีการทําสัญญานายหน้ากันตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

สรุป

นายศรแดงจะยื่นฟ้องนายปฐมที่จังหวัดลําปางเพื่อให้นายปฐมชําระค่านายหน้าให้ตนไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องจําเลยให้รับรองบุตร และให้จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรปีละ 1 แสนบาท เป็นจํานวน 10 ปี รวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ภายหลังจากที่ศาลมีการสืบพยานไปบ้างแล้ว โจทก์มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง โดยขอแก้ไขจํานวนเงินที่เขียนว่า “จากปีละ 1 แสนบาท” เป็น “ปีละ 1 ล้านบาท” ในส่วนที่เหลือ ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 179 “โจทก์หรือจําเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ใน คําฟ้องหรือคําให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้

(1) เพิ่ม หรือสด จํานวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ

(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคําฟ้อง เพิ่มเติม หรือเสนอคําฟ้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษาหรือ คําสั่ง หรือ

(3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคําฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคําฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คําฟ้องเดิมและคําฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการ พิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”

มาตรา 180 “การแก้ไขคําฟ้องหรือคําให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทําเป็นคําร้อง ยืนต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุ อันสมควรที่ไม่อาจยื่นคําร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยให้รับรองบุตรและให้จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรปีละ 1 แสนบาท เป็นจํานวน 10 ปี รวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ภายหลังจากที่ศาลมีการสืบพยานไปบ้างแล้ว โจทก์มายื่นคําร้องขอแก้ไข เพิ่มเติมคําฟ้องโดยขอแก้ไขจํานวนเงินที่เขียนว่า “จากปีละ 1 แสนบาท” เป็น “ปีละ 1 ล้านบาท” ในส่วนที่เหลือ ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ในคดีนี้โจทก์มีเจตนาที่จะ ฟ้องให้จําเลยรับผิดในจํานวนเงิน 10 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่โจทก์มีการพิมพ์ผิดพลาดจากปีละ 1 ล้านบาท เป็นปีละ 1 แสนบาท เพราะฉะนั้นการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องให้ตรงตามความเป็นจริงดังเจตนาที่โจทก์ต้องการฟ้อง จึงเป็นการแก้ไขฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ และเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 วรรคสอง (2) ดังนั้น โจทก์จึงสามารถแก้ไขได้

และแม้โจทก์จะขอแก้ไขภายหลังวันชี้สองสถานก็ตาม แต่เมื่อเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด หรือผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ดังนั้น โจทก์จึงสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องในเรื่องนี้ได้

สรุป

โจทก์สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องในกรณีนี้ได้

 

ข้อ 4. นายพนมยื่นฟ้องบังคับจํานองจากนายเกษตร เนื่องจากนายเกษตรผิดนัดไม่ชําระเงินกู้ ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้นายพนมบังคับจํานอง แต่นายพนมไม่ได้ดําเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ทําให้นายพนม สิ้นสิทธิในการบังคับคดีในคดีนี้ไป ภายหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาบังคับคดีแล้ว นายเกษตรได้ไป ยื่นฟ้องนายพนมเป็นคดีใหม่ว่า นายพนมไม่มีสิทธิในการบังคับจํานองที่ดินของนายเกษตรแล้ว เพราะสิ้นระยะเวลาในการบังคับคดี ขอให้นายพนมปลดจํานองให้แก่นายเกษตรด้วย ในกรณีเช่นนี้ คําฟ้องของนายเกษตรจะเป็นการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้อง กันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และ ผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 คดีนั้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งแล้ว

2 คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด

3 ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

4 ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

5 ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา

2 คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3 คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4 ห้ามโจทก์ฟ้อง

5 ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายพนมยื่นฟ้องบังคับจํานองจากนายเกษตรและศาลได้พิพากษาถึงที่สุด ให้นายพนมบังคับจํานอง แต่นายพนมไม่ได้ดําเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ทําให้นายพนมสิ้นสิทธิในการบังคับคดี ในคดีนี้ไป และต่อมาภายหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาบังคับคดีแล้ว นายเกษตรได้ไปยื่นฟ้องนายพนมเป็นคดีใหม่ว่า นายพนมไม่มีสิทธิในการบังคับจํานองที่ดินของนายเกษตรแล้วเพราะสิ้นระยะเวลาในการบังคับคดี ขอให้นายพนม ปลดจํานองให้แก่นายเกษตรด้วยนั้น คําฟ้องของนายเกษตรย่อมไม่เป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) และไม่เป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 ทั้งนี้เพราะคดีเดิมที่นายพนมฟ้องนายเกษตรนั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยคือนายพนมสามารถบังคับจํานองนายเกษตรได้หรือไม่ แต่ในคดีหลังที่นายเกษตรฟ้อง นายพนมนั้นมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยคือนายเกษตรสามารถปลดจํานองได้หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับที่ ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว อีกทั้งเหตุที่นายเกษตรนํามาฟ้องนายพนมในคดีหลังนั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่ คดีเดิมสิ้นสุดแล้ว ไม่ได้อาศัยเหตุเดียวกันฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น แม้คดีเดิมและคดีหลังจะเป็นคู่ความเดียวกันก็ตาม การฟ้องคดีใหม่ก็ไม่เป็นการฟ้องซ้อน หรือฟ้องซ้ำ

สรุป

คําฟ้องของนายเกษตรไม่เป็นการฟ้องซ้อน หรือฟ้องซ้ำแต่อย่างใด

 

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นางใจดีเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 00001 อนุญาตให้นายมีบุญปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัย นายมีบุญได้ปลูกสร้างบ้านและทางราชการได้ออกหมายเลขทะเบียนบ้านเลขที่ 1/1 ให้ ระหว่างที่ นายมีบุญอาศัยอยู่มีคนนํารถยนต์มาจอดทิ้งไว้หน้าบ้านของนายมีบุญ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ นายมีบุญจึงใช้รถยนต์คันนี้อย่างเปิดเผยและแสดงความเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน อีก 10 ปี ต่อมานางใจดีได้แบ่งแยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็น 2 แปลง ยกให้แก่นายเดชและนายเรืองบุตรของนางใจดี คนละแปลง โดยนายเรืองได้รับที่ดินส่วนที่มีบ้านของนายมีบุญตั้งอยู่ นายมีบุญเกรงจะมีปัญหาเกี่ยวกับ ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนี้ของตน นายมีบุญจึงไปขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในบ้านและรถยนต์นี้ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่จดทะเบียนให้ นายมีบุญจึงยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคําสั่งว่า บ้านเลขที่ 1/1 และรถยนต์ที่นายมีบุญได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์เป็นกรรมสิทธิ์ของนายมีบุญ

ท่านเห็นว่า นายมีบุญมีอํานาจยื่นคําร้องขอดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคล มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1 กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้ เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2 กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่า มีความจําเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็น คําร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีบุญได้ยื่นคําร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคําสั่งว่า บ้านเลขที่ 1/1 ที่นางใจดีเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 00001 อนุญาตให้นายมีบุญปลูกบนที่ดินดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัย และรถยนต์ที่นายมีบุญได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์เป็นกรรมสิทธิ์ของนายมีบุญนั้น ไม่มีกฎหมายใด สนับสนุนรับรองให้นายมีบุญกระทําเช่นนั้นได้ หากนายมีบุญถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับบ้านและรถยนต์ ดังกล่าว นายมีบุญก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลที่มีเขตอํานาจได้อย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 (ตามนัยคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2551 และ 10545/2553)

ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นายมีบุญ จึงไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น

สรุป

นายมีบุญไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น

 

ข้อ 2. นายสมบูรณ์มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงรายมีตําแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท เอดี จํากัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวนี้มีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบกิจการเกี่ยวกับ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เอดี จํากัด โดยนายสมบูรณ์ได้ซื้อที่ดินจากนายมงคล ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ ในจังหวัดเชียงรายเพื่อจะจัดทําหมู่บ้านจัดสรรที่จังหวัดเชียงรายจึงได้ไปติดต่อบริษัท ทําโฮม จํากัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างมีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครเข้ามาเป็น ผู้ดําเนินการก่อสร้างบ้านจัดสรรให้ โดยนายสมบูรณ์เดินทางมาดูแบบการจัดสร้างและทําสัญญา ก่อสร้างที่สํานักงานของบริษัท ทําโฮม จํากัด ต่อมาบริษัท ทําโฮม จํากัด ได้ก่อสร้างบ้านในพื้นที่ จังหวัดเชียงรายมาได้ครึ่งหนึ่ง บริษัท เอดี จํากัด เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของบริษัทไม่ได้จ่ายเงิน ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญา บริษัท ทําโฮม จํากัด จึงต้องการฟ้องให้บริษัท เอดี จํากัด รับผิด จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย

ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลจังหวัดเชียงรายมีอํานาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท เอดี จํากัด ซึ่งมีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายสมบูรณ์เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ และบริษัท เอดี จํากัด โดยนายสมบูรณ์ได้ซื้อที่ดินจากนายมงคล ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงรายเพื่อจะทําหมู่บ้านจัดสรรที่จังหวัดเชียงรายและได้ทําสัญญากับบริษัท ทําโฮม จํากัด ซึ่งมีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดําเนินการก่อสร้างบ้านจัดสรรให้ โดยได้ทําสัญญากัน ที่สํานักงานของบริษัท ทําโฮม จํากัด และต่อมา บริษัท เอดี จํากัด ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัท ทําโฮม จํากัด ตาม ระยะเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญา บริษัท ทําโฮม จํากัด จึงต้องการพ้องให้บริษัท เอดี จํากัด รับผิด จึงยื่นฟ้องต่อ ศาลจังหวัดเชียงรายนั้น เมื่อสัญญาระหว่างบริษัท เอดี จํากัด กับบริษัท ทําโฮม จํากัด เป็นสัญญาจ้างทําของ และการฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นบุคคลสิทธิ ซึ่งมิใช่เป็นการฟ้องร้องกันเกี่ยวด้วยทรัพยสิทธิใน อสังหาริมทรัพย์จึงไม่สามารถนํา ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิมาบังคับ ดังนั้น บริษัท ทําโฮม จํากัด จะฟ้องบริษัท เอดี จํากัด ต่อศาลจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาลไม่ได้ บริษัท ทําโฮม จํากัด จะต้องคดีต่อศาล ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) คือต้องเสนอคําฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลคือศาลจังหวัดเชียงใหม่ หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล คือศาลแพ่งในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่ใช่ศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้น และไม่ใช่ศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนา อยู่ในเขตศาล ศาลจังหวัดเชียงรายจึงไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้

สรุป

ศาลจังหวัดเชียงรายไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้

 

ข้อ 3. ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของต่อจากบิดาที่ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองเมื่อ 60 ปีก่อน ขอให้ศาลมีคําสั่งว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและฟ้องแย้งว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางจําปา เมื่อปี 2523 บิดาของผู้ร้องขายที่ดินพิพาทแก่บริษัท รุ่งเรือง จํากัด แต่บริษัทยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงอนุญาตให้บิดาของผู้ร้องอยู่อาศัยและดูแลที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2527 บริษัท รุ่งเรือง จํากัด ขายที่ดินพิพาทแก่นางจําปา ผู้ตาย โดยผู้ตายอนุญาตให้บิดาของผู้ร้องอยู่อาศัย ผู้ร้องอยู่ในที่ดิน พิพาทโดยอาศัยสิทธิของบิดาผู้ร้อง ผู้คัดค้านไม่ประสงค์ให้ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปขอให้ยกคําร้อง และให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท และส่งมอบคืนที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อยกับใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท แก่ผู้คัดค้านนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ผู้คัดค้านไม่มีอํานาจฟ้องแย้งเพราะคดีนี้เป็นคดีไม่มีข้อพิพาท และ ฟ้องแย้งเคลือบคลุม เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านอาศัยสิทธิใดในการคัดค้าน เพราะสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างกัน ทําให้ผู้ร้องหลงต่อสู้ ท่านเห็นว่า ผู้คัดค้านมีอํานาจฟ้องแย้งหรือไม่ และฟ้องแย้งของผู้คัดค้านเคลือบคลุมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 172 วรรคสอง “คําฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และ คําขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น”

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

มาตรา 188 “ในคดีไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้

(4) ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดี โดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความ และให้ดําเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท.”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผย อย่างเป็นเจ้าของต่อจากบิดาที่ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองเมื่อ 60 ปีก่อน ขอให้ศาลมีคําสั่งว่าผู้ร้องเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่มีผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง ปรปักษ์นั้น เมื่อคดีนี้เริ่มต้นอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท แต่มีผู้คัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 188 (4) ได้บัญญัติให้ ดําเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาท ดังนั้น เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคําร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็น คดีม่มีข้อพิพาทและมีผู้คัดค้านเข้ามา ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นโจทก์ ผู้คัดค้นย่อมมีฐานะเป็นจําเลย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิ ฟ้องแย้งผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 188 (4)

และการที่ผู้คัดค้านบรรยายว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางจําปาผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวาร พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท และส่งมอบคืนที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อย กับใช้ค่าเสียหาย เดือนละ 50,000 บาทแก่ผู้คัดค้านนับแต่วันฟ้องแย้ง จนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทนั้น เป็นการบรรยายฟ้องว่า ผู้คัดค้านฟ้องในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางจําปา ผู้ตาย อันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคําขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่ง ข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ดังนั้น การฟ้องแย้งของผู้คัดค้านจึงไม่เคลือบคลุม (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 385/2544)

สรุป

ผู้คัดค้านมีอํานาจฟ้องแย้ง และฟ้องแย้งของผู้คัดค้านไม่เคลือบคลุม

 

 

ข้อ 4. คดีเดิมจําเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอกตามคําสั่งศาลชั้นต้นได้ใช้สิทธิในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกขอฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่ง ขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเอกแก่จําเลยหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 3,000,000 บาท โจทก์เป็น ภริยาของนายเอกโดยการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายให้การต่อสู้ในคดีเดิมว่ารถยนต์คันพิพาท เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอกและโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวม ในรถยนต์คันพิพาท ซึ่งศาลชั้นต้นบังคับโจทก์ให้ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทแก่จําเลยตามคําขอ โจทก์อุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจําเลยเป็นคดีนี้ว่าโจทก์เป็น ภริยาของนายเอกโดยการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมีทรัพย์สินทํามาหาได้ร่วมกันหลายรายการ รวมทั้งรถยนต์คันพิพาท ราคาประมาณ 3,000,000 บาท ซึ่งมีชื่อนายเอกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมานายเอกถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจําเลยใช้ราคารถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,500,000 บาท หากจําเลยไม่สามารถชําระได้ก็ให้นํารถยนต์คันดังกล่าวออกขายทอดตลาด นําเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง จําเลยให้การต่อสู้ในคดีนี้ว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน และเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับในคดีเดิม ขอให้ยกฟ้อง ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจําเลยในคดีนี้ฟังขึ้นหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 144 “เมื่อศาลใดมีคําพิพากษา หรือคําสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่ง คดีแล้ว ห้ามมิให้ดําเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วนั้น

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ํากับคดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์และจําเลยในคดีเดิมกับจําเลยและโจทก์ในคดีนี้จะเป็นบุคคลเดียวกันซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน และในคดีเดิมของศาลชั้นต้นจําเลยได้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่า รถยนต์คันพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเอก ขอให้โจทก์ คืนรถยนต์คันพิพาทให้จําเลยหรือใช้ราคา โจทก์ให้การว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยา โดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอก และโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมในรถยนต์คันพิพาท กรณีจึงมีประเด็นว่ารถยนต์ คันพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเอกหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ของศาลอุทธรณ์ว่ารถยนต์คันพิพาทโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับนายเอก ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิในทรัพย์มรดก ของนายเอกด้วยหรือไม่อันเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วในคดีเดิม ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเด็น ที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อคดีดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 ดังนั้นข้อต่อสู้ของจําเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

กรณีที่ 2 ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีเดิมจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทั้งประเด็นในคดีก่อนและคดีนี้ยังเป็น เรื่องเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อคดีเดิมจําเลยเป็นโจทก์ฟ้องคดี ส่วนโจทก์ในคดีนี้เป็นจําเลยในคดีเดิม โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ใช่โจทก์ในคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังนั้นข้อต่อสู้ของจําเลย ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

กรณีที่ 3 ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อในคดีเดิมมีประเด็นพิพาทว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเอก ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายเอกซึ่งรวมถึงรถยนต์คันพิพาทด้วยหรือไม่ อันเป็นประเด็น เดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับ คดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 ดังนั้นข้อต่อสู้ของจําเลยในข้อนี้จึงฟังขึ้น

สรุป

ข้อต่อสู้ของจําเลยในคดีนี้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีเดิมฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อต่อสู้ของจําเลยที่ว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้ เป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมฟังขึ้น

 

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. (ก) ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเรื่อง “อํานาจฟ้องคดี” โดยสังเขป

(ข) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 นายงามมีภูมิลําเนาที่จังหวัดตรัง ได้ซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. ในจังหวัดแพร่ราคา 700,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 นายงามกู้ยืมเงินจาก นางหล่อซึ่งมีภูมิลําเนาที่จังหวัดตรังจํานวน 800,000 บาท กําหนดชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืน ในวันที่ 9 ธันวาคม 2560 โดยนายงามได้มอบ น.ส. 3 ก. ให้นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 นายงามยังได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แปลงดังกล่าวที่จังหวัดตากให้แก่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด ซึ่งสํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก ราคา 1,000,000 บาท มีกําหนดจดทะเบียนโอนในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 โดยที่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจําในวันทําสัญญาจะซื้อจะขายจํานวน 300,000 บาท หากมีการ ผิดสัญญาจะซื้อจะขายโดยผู้จะขาย ผู้จะขายต้องถูกปรับ 3 เท่าของเงินมัดจํา ทั้งนี้ นางหล่อ ก็ได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แล้วในขณะทําสัญญากู้ยืมเงิน โดยที่นายงามเป็นผู้แจ้งให้ทราบ ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2560 นางหล่อได้ซื้อรถยนต์จากนายงามที่จังหวัดตากราคา 800,000 บาท โดยตกลงหักกลบลบหนี้กันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม นางหล่อยังไม่ยอมคืน น.ส. 3 ก. ให้นายงาม และยังถูกนางหล่อมีหนังสือทวงหนี้อีกหลายครั้ง

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายงามจะยื่นฟ้องนางหล่อต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงาม และนางหล่อมิได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อกัน และขอให้บังคับให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. ที่นางหล่อยึดไว้ และขอเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

(ก) คําว่า “อํานาจฟ้อง” หมายถึงอํานาจในการเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจตามที่ บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั่นเอง ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลที่ถูกโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะนําคดีมาสู่ศาลหรือไม่ก็ได้

ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคล มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1 กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิ์หรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้ เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2 กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่า มีความจําเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

คดีมีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องตามมาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1 โจทก์และจําเลยจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

2 มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งกรณีที่จะถือว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งนั้น จะต้องประกอบด้วย

(1) โจทก์มีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตามกฎหมายแพ่ง

(2) จําเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์

3 โจทก์ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ

คดีไม่มีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องตามมาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์คือ

1 บุคคลที่จะยื่นคําร้องขอต่อศาลจะต้องเป็นบุคคลเช่นเดียวกับการยืนฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท

2 บุคคลนั้นมีความจําเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล

3 บุคคลนั้นได้ยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ

(ข) วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อ ศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายงามได้กู้ยืมเงินจากนางหล่อจํานวน 800,000 บาท และต่อมานางหล่อได้ซื้อ รถยนต์จากนายงามราคา 800,000 บาท โดยหนี้ทั้งสองรายถึงกําหนดชําระและทั้งสองตกลงหักกลบลบหนี้กัน ถูกต้องตามกฎหมายทําให้หนี้ทั้งสองรายระงับไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่นายงามชอบที่จะหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อถูกนางหล่อฟ้องเป็นคดีขึ้นในอนาคต มิใช่เป็นเรื่องที่นายงามจะมายื่นฟ้องนางหล่อต่อศาล เพื่อขอให้ศาล พิพากษาแสดงว่านายงามและนางหล่อมิได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อกัน ดังนั้น กรณีนี้นายงามจึงไม่มีอํานาจฟ้อง เพราะไม่ต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1475/2532)

2 การที่นายงามได้ยื่นฟ้องนางหล่อต่อศาลเพื่อให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. ที่ นางหล่อยึดไว้นั้น เมื่อนายงามได้กู้ยืมเงินจากนางหล่อโดยมอบเอกสาร น.ส. 3 ก. ให้นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกัน และเมื่อนายงามได้ชําระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้นแล้ว (โดยการหักกลบลบหนี้) นางหล่อจึงไม่มีอํานาจยึดเอกสาร น.ส. 3 ก. ของนายงามไว้อีกต่อไป การที่นางหล่อยึดเอกสาร น.ส. 3 ก. ของนายงามไว้จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ ระหว่างนายงามและนางหล่อตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แล้ว ดังนั้น กรณีนี้นายงามจึงมีอํานาจฟ้องให้นางหล่อ ส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. แก่นายงามได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1475/2532)

3 การที่นายงามได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงที่มี น.ส. 3 ก. ดังกล่าวให้แก่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด โดยมีกําหนดจดทะเบียนโอนในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 โดยบริษัท อ้วนพีพี จํากัด ได้วางเงินมัดจํา ไว้แล้วจํานวน 300,000 บาท และถ้านายงามผู้จะขายผิดสัญญาจะต้องถูกปรับ 3 เท่าของเงินมัดจํา ดังนั้น การที่ นางหล่อไม่ยอมคืน น.ส. 3 ก. ให้แก่นายงาม ทําให้นายงามไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด ได้ ทําให้นายงามเป็นผู้ผิดสัญญาและถูกปรับเงิน 3 เท่าของเงินมัดจํา ย่อมถือว่านายงามถูกโต้แย้งสิทธิ และหน้าที่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แล้ว นายงามจึงมีอํานาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางหล่อได้

สรุป

นายงามจะยื่นฟ้องเพื่อให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงามและนางหล่อมิได้มีหนี้สินใด ๆต่อกันไม่ได้

นายงามสามารถฟ้องศาลเพื่อบังคับให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. ได้

นายงามสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางหล่อได้

 

ข้อ 2. กรณีข้อเท็จจริงตามข้อ 1. (ข) ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายงามจะนําข้อพิพาทยื่นฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่งต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาตามข้อ 1. (ข) นายงามจะต้องนําข้อพิพาทฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่ง ต่อศาลใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีข้อเท็จจริงตามข้อ 1. (ข) การที่นายงามจะนําข้อพิพาทยื่นฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่งต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. และเรียกค่าเสียหายจากนางหล่อ นายงามจะต้อง นําข้อพิพาทฟ้องนางหล่อต่อศาลใดได้บ้างนั้น เห็นว่า การที่นายงามได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางหล่อซึ่งมีภูมิลําเนา อยู่ที่จังหวัดตรัง โดยนายงามได้มอบเอกสาร น.ส. 3 ก. ของที่ดินที่อยู่ในจังหวัดแพร่ให้นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกันนั้น เมื่อนายงามได้นําเอกสาร น.ส. 3 ก. ให้นางหล่อยึดถือไว้ โดยไม่ได้มอบการครอบครองหรือมอบสิทธิในที่ดินให้แก่ นางหล่อแต่อย่างใด คําฟ้องของนายงามจึงมิใช่คําฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ แต่เป็นคําฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ดังนั้น นายงาม จึงต้องฟ้องนางหล่อต่อศาลที่นางหล่อจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นคือสถานที่ที่สัญญา เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ศาลจังหวัดตรังตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

สรุป

นายงามจะต้องนําข้อพิพาทดังกล่าวฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดตรัง

 

ข้อ 3. นายอาทิตย์ รักดี ยื่นคําฟ้อง นายศุกร์ รักดี ผู้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ให้แบ่งมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ซึ่งเป็นโฉนดที่ดิน เลขที่ 12345 ให้กับตนผู้เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี แต่นายศุกร์ รักดี ได้ขาดนัดยื่นคําให้การ คดีจึงมีการพิจารณาฝ่ายเดียวและมีคําพิพากษาว่า นายอาทิตย์ รักดี เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี ให้นายศุกร์ รักดี แบ่งที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่ นายอาทิตย์ รักดี กึ่งหนึ่ง นายศุกร์ รักดี จึงยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยมิได้มีการอุทธรณ์ คําพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ และไม่มีการอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้อง ดังกล่าวจนสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว แต่ต่อมานายศุกร์ รักดี ยื่นฟ้องนายอาทิตย์ รักดี เป็นคดีใหม่ ว่านายอาทิตย์ รักดี มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสัปดาห์ รักดี ไม่ใช่ทายาทและห้ามใช้ ชื่อสกุล “รักดี” อีกต่อไป นายอาทิตย์ รักดี ยื่นคําให้การขอให้ศาลยกฟ้อง

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําฟ้องในคดีหลังของนายศุกร์ รักดี นั้นเป็นฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ รักดี ยื่นคําฟ้องนายศุกร์ รักดี ซึ่งผู้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ให้แบ่งมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ให้กับตนผู้เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี และศาลได้มีคําพิพากษาว่านายอาทิตย์ รักดี เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี และให้นายศุกร์ รักดี แบ่งที่ดินทรัพย์มรดก ให้แก่นายอาทิตย์ รักดี กึ่งหนึ่ง และเมื่อนายศุกร์ รักดี ได้ยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยมิได้มีการอุทธรณ์ คําพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ และไม่มีการอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้องดังกล่าวจนสิ้นสุด ระยะเวลาอุทธรณ์แล้วนั้น ย่อมถือว่าคดีนี้ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

ต่อมาการที่นายศุกร์ รักดี ได้ยื่นฟ้องนายอาทิตย์ รักดี เป็นคดีใหม่ว่านายอาทิตย์ รักดี มิใช่บุตร โดยชอบด้วยกฎหมายของนายสัปดาห์ รักดี ไม่ใช่ทายาทและห้ามใช้ชื่อสกุล “รักดี” อีกต่อไปนั้น จะเห็นได้ว่า คู่ความในคดีก่อนและในคดีหลัง คือ นายอาทิตย์ รักดี และนายศุกร์ รักดี เป็นคู่ความเดียวกัน และประเด็น ข้อพิพาทในคดีแรกและในคดีหลังก็มีประเด็นข้อพิพาทเดียวกัน คือ “นายอาทิตย์ รักดี เป็นทายาทของ นายสัปดาห์ รักดี หรือไม่” ซึ่งในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนแล้ว ดังนั้น คําฟ้องในคดีหลังของนายศุกร์ รักดี จึงเป็นฟ้องซ้ําตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 แต่ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) เพราะมิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลในระหว่างที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณา

สรุป

คําฟ้องในคดีหลังของนายศุกร์ รักดี เป็นฟ้องซ้ำ

 

ข้อ 4. โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยชําระค่าเสียหายในกรณีละเมิดขับรถชนโจทก์โดยประมาท ขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงยื่นคําร้องตามมาตรา 198 แต่ปรากฏว่าจําเลยมายื่นคําร้องขออนุญาตยื่นคําให้การ ศาลอนุญาต จําเลยจึงยื่นคําให้การเข้ามาว่า ความประมาทมิได้เกิดจากจําเลย แต่เกิดจากตัวโจทก์เอง ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลนัดสืบพยาน ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 เมื่อถึงกําหนดวันสืบพยานโจทก์มาศาลแต่จําเลยไม่มา ในกรณีนี้หากศาลตรวจคําฟ้องและเอกสาร แนบท้ายคําฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์มีมูลจําเลยเป็นฝ่ายประมาท เช่นนี้ศาลจะสามารถพิพากษา ให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้า วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตน เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคสี่ “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

ในการกําหนดจํานวนเงินตามคําขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

(2) ในกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้ โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่ เห็นว่าจําเป็น

ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าจําเลยนั้น ขาดนัดพิจารณา”

มาตรา 199 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจ หรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและ ดําเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ”

มาตรา 204 “ถ้าจําเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”

มาตรา 206 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้ตนเป็นฝ่ายชนะโดยอาศัยเหตุแต่เพียงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณานั้นหาได้ไม่ ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้คู่ความที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ้งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นําบทบัญญัติมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่คดีของคู่ความฝ่ายที่มาศาลโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องให้จําเลยชําระค่าเสียหายในกรณีละเมิดขับรถชนโจทก์ โดยประมาท แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงยื่นคําร้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง แต่จําเลยมายื่น คําร้องขออนุญาตยื่นคําให้การและศาลอนุญาต จําเลยจึงยื่นคําให้การเข้ามาว่า ความประมาทมิได้เกิดจากจําเลย แต่เกิดจากตัวโจทก์เอง ขอให้ศาลยกฟ้อง (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคหนึ่ง) นั้น เมื่อศาลอนุญาตให้จําเลย ยื่นคําให้การและจําเลยได้ยื่นคําให้การดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงไม่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ดังนั้น เมื่อถึง กําหนดนัดสืบพยานในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 การที่โจทก์มาศาลแต่จําเลยไม่มาศาลนั้น จึงถือว่าจําเลยขาดนัด พิจารณา (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสี่) และเมื่อถือว่าจําเลยขาดนัดพิจารณา ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 204 ได้บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิด แม้โจทก์จะขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นจํานวน 1 ล้านบาทก็ตาม แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้ เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ดังนั้น แม้ศาลจะตรวจคําฟ้องและเอกสารแนบท้ายคําฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์มีมูลและจําเลยเป็นฝ่ายประมาท ศาลก็จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้ ศาลจะต้องสั่งให้มีการสืบพยานโจทก์ก่อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ถ้าศาลพิพากษาตามฟ้องโจทก์โดยไม่สั่งให้โจทก์นําพยานเข้าสืบก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

กรณีดังกล่าวศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 S/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นางกอบกุลยื่นคําฟ้องแทน ด.ช.ชนินทร์ว่า จําเลยขับรถด้วยความประมาทชนนายมั่งมีบิดาของ ด.ช.ชนินทร์เสียชีวิต ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท ในระหว่างที่คดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณา นางสมรมารดาของนายมั่งมีต้องการยื่นคําร้องสอดเข้ามาในคดีขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะเช่นกัน โดยเรียกมาจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,000,000 บาท กรณีนี้ ศาลจะอนุญาตให้ร้องสอดได้หรือไม่ และถ้าศาลเห็นว่าจําเลยประมาทจริง สามารถให้จําเลยชดใช้ต่อผู้ร้องสอด 1,000,000 บาท ได้หรือม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น”

มาตรา 58 วรรคหนึ่ง “ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่ง มาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนํา พยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐาน ที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และ อาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางกอบกุลยื่นคําฟ้องแทน ด.ช.ชนินทร์ว่า จําเลยขับรถด้วยความประมาทชนนายมั่งมีบิดาของ ด.ช.ชนินทร์เสียชีวิต ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท และ ในระหว่างที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณา นางสมรมารดาของนายมั่งมีต้องการยื่นคําร้องสอดเข้ามาในคดีขอเรียก ค่าขาดไร้อุปการะเช่นเดียวกัน โดยเรียกมาเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,000,000 บาทนั้น ถือว่านางสมรซึ่งมิใช่ คู่ความในคดีนี้ได้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความด้วยความสมัครใจเอง เพราะเห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (1) ดังนั้น นางสมรจึงสามารถร้อง สอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้

และเมื่อนางสมรสามารถร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ได้ นางสมรย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยประมาทจริง ศาลย่อมสามารถสั่งให้จําเลยชดใช้เงินจํานวน 1,000,000 บาท ให้แก่นางสมรผู้ร้องสอดได้

สรุป

ศาลจะอนุญาตให้นางสมรร้องสอดได้ และถ้าศาลเห็นว่าจําเลยประมาทจริง ศาลสามารถสั่งให้จําเลยชดใช้เงินจํานวน 1,000,000 บาท แก่นางสมรผู้ร้องสอดได้

 

ข้อ 2. นายสุธรรมทําสัญญาให้นายอเนกกับนายอนันต์กู้ยืมเงินร่วมกันโดยทําสัญญากันที่บนเครื่องบินการบินไทยที่จอดอยู่ที่จังหวัดน่าน โดยนายอเนกและนายอนันต์มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดน่าน หลังจากนั้นนายอเนกย้ายภูมิลําเนาไปที่จังหวัดตาก และนายอนันต์ย้ายภูมิลําเนาไปอยู่ที่ประเทศ อังกฤษเป็นเวลา 1 ปี นายสุธรรมเห็นว่านายอเนกและนายอนันต์ผิดสัญญากู้จะสามารถฟ้องนายอเนก และนายอนันต์เป็นจําเลยร่วมกันได้หรือไม่ และยื่นได้ยังเขตอํานาจศาลใดบ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้”

 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอเนกและนายอนันต์ได้กู้ยืมเงินจากนายสุธรรม โดยทําสัญญายืมฉบับเดียวกันนั้น ถือว่านายอเนกและนายอนันต์มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ดังนั้น นายสุธรรม จึงเป็นโจทก์ฟ้องนายอเนกและนายอนันต์เป็นจําเลยร่วมกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59

ซึ่งการฟ้องคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) กําหนดไว้ว่า โจทก์จะต้องฟ้องจําเลยต่อศาลที่ จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ได้กําหนด ไว้ว่าคําฟ้องซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลําเนาของบุคคล หรือเพราะ สถานที่ที่เกิดมูลคดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันโจทก์จะเสนอคําฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

ในกรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายอเนกมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตาก นายสุธรรมจึงต้องฟ้องนายอเนก ต่อศาลจังหวัดตาก หรือต่อศาลจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ส่วนนายอนันต์เมื่อมิได้มี ภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร นายสุธรรมจึงต้องฟ้องนายอนันต์ต่อศาลจังหวัดน่านซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นใน เขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายอเนกและนายอนันต์มีผลประโยชน์ร่วมกัน ในมูลความแห่งคดี คือมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นนายสุธรรมจึงสามารถฟ้องทั้งนายอเนกและนายอนันต์ ยังเขตศาลเดียวกันได้ โดยฟ้องได้ที่ศาลจังหวัดน่าน หรือต่อศาลจังหวัดตาก ศาลใดศาลหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5

สรุป

นายสุธรรมสามารถฟ้องนายอเนกและนายอนันต์เป็นจําเลยร่วมกันได้ และสามารถ ฟ้องจําเลยทั้งสองได้ที่ศาลจังหวัดน่าน หรือต่อศาลจังหวัดตาก ศาลใดศาลหนึ่ง

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นฟ้องขับไล่นายรวยเป็นจําเลยที่ 1 และนายชาวนาเป็นจําเลยที่ 2 นายชาวนายื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่า นายชาวนาขายที่ดินดังกล่าวไปให้กับนายรวยจําเลยที่ 1 แต่จริง ๆ แล้วนายรวย เป็นตัวแทนของชาวต่างชาติ การซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ ดังนั้นนายรวยจึงไม่มีสิทธินําไปขายต่อ ให้กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินเช่นกัน ขอให้บุคคลทั้งสองโอนที่ดินคืนมายังนายชาวนา จําเลยที่ 2 หากท่านเป็นศาลในกรณีนี้จะสามารถรับฟ้องแย้งของนายชาวนาจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

วินิจฉัย

“ฟ้องแย้ง” คือ การฟ้องซึ่งจําเลยฟ้องกลับโจทก์ในคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจําเลย โดย ฟ้องขอให้โจทก์รับผิดต่อจําเลย กล่าวคือ โจทก์เป็นผู้เริ่มคดีโดยฟ้องจําเลยก่อน แล้วจําเลยจึงได้ฟ้องโจทก์บ้างใน คดีเดียวกัน โดยกล่าวรวมมาในคําให้การ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องขับไล่นายรวยเป็นจําเลยที่ 1 และนายชาวนาเป็น จําเลยที่ 2 และนายชาวนาจําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่า นายชาวนาจําเลยที่ 2 ขายที่ดินดังกล่าวไปให้ นายรวยจําเลยที่ 1 แต่จริง ๆ แล้ว นายรวยจําเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของชาวต่างชาติ การซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ดังนั้นนายรวยจึงไม่มีสิทธินําไปขายต่อให้กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินเช่นกัน และขอให้บุคคลทั้งสองโอนที่ดิน คืนมายังนายชาวนาจําเลยที่ 2 นั้น เป็นกรณีที่นายชาวนาจําเลยที่ 2 ได้ฟ้องแย้งกลับมายังนายรวยจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจําเลยด้วยกันเอง ดังนั้น คําฟ้องของนายชาวนาจําเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็น “ฟ้องแย้ง” ตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถที่จะรับฟ้องแย้งของนายชาวนาจําเลยที่ 2 ได้

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลในกรณีนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถรับฟ้องแย้งของนายชาวนาจําเลยที่ 2 ได้

 

ข้อ 4. นายสมชายเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายสิบล้อให้ออกไปจากที่ดินเนื่องจากนายสมชายกับนายสิบล้อทําสัญญาเช่าที่ดินกันเป็นเวลา 2 ปี แต่นายสิบล้อผู้เช่าไม่ยอมชําระค่าเช่าในเดือนที่ 7 – 12 ขอให้ขับไล่นายสิบล้อออกไปจากที่ดิน นายสิบล้อยื่นให้การต่อสู้ว่าตนไม่ได้ผิดสัญญาเช่า แต่นายสมชาย จงใจไม่รับค่าเช่าเอง ขอให้ยกฟ้อง

ในระหว่างที่คดีแรกอยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น นายสมชายยื่นฟ้องนายสิบล้อเป็นคดีใหม่ กับการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากว่าในคดีแรกนายสมชายไม่ได้ขอเงินค่าเช่าจากการผิดสัญญามาเดือนละ 100,000 บาท เป็นจํานวน 6 เดือน รวมแล้ว 6 แสนบาท นายสมชายจึงได้มายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ว่านายสิบล้อ ไม่ชําระค่าเช่าในเดือนที่ 7 – 12 รวมมูลค่า 6 แสนบาท ถ้าท่านเป็นศาลจะรับฟ้องนายสมชายในคดีหลังนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น”

วินิจฉัย

การที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ ดังนี้ คือ

1 คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา

2 คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3 คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4 ห้ามโจทก์ฟ้อง

5 ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ ในคดีแรกนายสมชายเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายสิบล้อให้ออกไปจากที่ดิน เนื่องจากนายสิบล้อผู้เช่าผิดสัญญาเช่าไม่ยอมชําระค่าเช่าในเดือนที่ 7 – 12 ขอให้ขับไล่นายสิบล้อออกไปจากที่ดิน และในระหว่างที่คดีแรกอยู่ในระหว่างพิจารณานั้น นายสมชายได้ยื่นฟ้องนายสิบล้อเป็นคดีใหม่ว่านายสิบล้อ ไม่ชําระค่าเช่าในเดือนที่ 7 – 12 รวมเป็นเงิน 6 แสนบาท เนื่องจากในคดีแรกนายสมชายไม่ได้ขอเงินค่าเช่าจาก การผิดสัญญาเดือนละ 100,000 บาท เป็นจํานวน 6 เดือน รวมแล้วเป็นเงิน 6 แสนบาท

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จะเห็นได้ว่าในคดีแรกการที่ศาลจะตัดสินขับไล่จําเลยหรือไม่ ศาลต้องตัดสินก่อนว่าจําเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และในคดีหลัง ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยก็เป็นประเด็นเดียวกัน กับคดีแรก คือ นายสิบล้อจําเลยผิดสัญญาเช่าเดือนที่ 7 – 12 หรือไม่ ดังนั้นจึงถือว่าคดีแรกและคดีหลังมีประเด็น เป็นอย่างเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวกัน และเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีแรกอยู่ในระหว่างพิจารณา การที่นายสมชายโจทก์ได้นําเรื่องเดียวกันมาฟ้องเป็นคดีใหม่อีก จึงถือว่าเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะไม่รับฟ้องของนายสมชายโจทก์ในคดีหลัง

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะไม่รับฟ้องของนายสมชายโจทก์ในคดีหลัง เพราะเป็นฟ้องซ้อน

 

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 132435 จําเลยได้ทําสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าวจากโจทก์เป็นระยะเวลา 2 ปี 11 เดือน ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อครบกําหนดระยะเวลา ตามสัญญาเช่าแล้วและไม่มีการต่อสัญญาเช่าออกไป โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยและบริวาร ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จําเลยเพิกเฉยไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว โจทก์จึงฟ้อง ขอให้บังคับจําเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ และขอให้ห้ามมิให้ จําเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป อีกทั้งขอให้จําเลยชําระค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งรับประทับฟ้องไว้พิจารณา ต่อมาโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่นายโมรีน จําเลยให้การว่า จําเลยได้ทําสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าวจริงแต่ไม่ได้ผิดสัญญาเช่าต่อ โจทก์ และให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง อีกทั้งให้ การว่าความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมากเกินความเป็นจริงขอให้ยกคําฟ้อง ในระหว่างการพิจารณา ของศาลชั้นต้น นายโมรีนยื่นคําร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาต ให้ท่านวินิจฉัยว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด และนายโมรีนมีสิทธิขอ เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการ เข้าแทนที่กันเลย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีหรือไม่ และนายโมรีนมีสิทธิขอเข้าเป็น โจทก์ร่วมได้หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับอํานาจฟ้องของโจทก์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่โจทก์ยื่นคําฟ้องจําเลยต่อศาลนั้น โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ดินพิพาท เมื่อครบกําหนดตามสัญญาเช่าแล้วจําเลยไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทเป็นกรณีที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิโดยจําเลย โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจําเลยซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทโดยละเมิดต่อโจทก์ได้ เพราะถือว่าได้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงมีอํานาจที่จะเสนอคดี ต่อศาลได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ถึงแม้ว่าภายหลังที่ศาลได้สั่งประทับรับฟ้องคดีของโจทก์แล้ว โจทก์จะได้ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่นายโมรีนโจทก์ร่วมก็ตาม ก็ไม่ทําให้อํานาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์ อยู่แล้วนั้นต้องเสียไป กล่าวคือ โจทก์ยังคงมีอํานาจฟ้องต่อไป

ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนายโมรีน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นได้สั่งประทับรับฟ้องคดีของโจทก์แล้ว โจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่นายโมรีน ดังนี้ย่อมถือว่านายโมรีนซึ่งเป็นผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากโจทก์ ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) เพราะเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคําพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีนั้นตามกฎหมายจะมีผล ไปถึงตนด้วย และเมื่อโจทก์ยังคงมีอํานาจฟ้องต่อไป นายโมรีนจึงมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2)

สรุป

โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีได้ และนายโมรีนมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้

 

ข้อ 2. นายแดง นายดํา และนายม่วงเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เดิมทั้งสามคนมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดลําปาง ภายหลังนายแดงย้ายภูมิลําเนาไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายแดงทําสัญญาขายที่ดิน 1 แปลงของตนในจังหวัดลําปางให้แก่นายขาว โดยนายขาวชําระราคาบางส่วนแก่นายแดงแล้ว ต่อมานายแดงไม่สามารถโอนขายที่ดินแปลงนี้แก่นายขาวตามที่ตกลงกันได้ นายขาวจึงบอกเลิก สัญญาและเรียกเงินค่าที่ดินที่ชําระไปแล้วคืนจากนายแดง โดยนายแดงนําเอกสาร น.ส.3 ก ของ ที่ดินที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายมาให้นายขาวยึดถือไว้เป็นประกัน เพื่อนําไปขายแล้วนําเงินที่ได้มา ชําระหนี้แก่นายขาว แต่ปรากฏว่าเมื่อนายแดงขายที่ดินไปแล้วไม่นําเงินมาคืนแก่นายขาว นายขาว จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลําปาง ระหว่างนั้นนายแดง นายดํา และนายม่วงประสบเหตุรถชนที่กรุงเทพมหานครและถึงแก่ความตายทั้งสามคน ดังนี้

(1) ศาลจังหวัดลําปางเป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาคดีที่นายขาวฟ้องนายแดงหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) นางเหลืองมารดาของนายแดง นายดํา และนายม่วง ยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายแดง นายดํา และนายม่วงที่ศาลจังหวัดลําปางได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง “คําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมี ภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายแดงซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทําสัญญาขายที่ดิน 1 แปลงของตน ใน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดลําปางให้แก่นายขาว และต่อมานายแดงผิดสัญญาไม่สามารถโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายขาว ตามที่ตกลงกัน นายขาวจึงบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าที่ดินที่ชําระไปแล้วคืนจากนายแดง โดยนายแดงได้นํา เอกสาร น.ส.3 ก ของที่ดินที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายมาให้นายขาวยึดถือไว้เป็นประกัน เพื่อนําไปขายแล้วนําเงิน ที่ได้มาชําระหนี้แก่นายขาว แต่ปรากฏว่าเมื่อนายแดงได้ขายที่ดินไปแล้วก็ไม่นําเงินมาคืนนายขาว ทําให้นายขาว ยื่นฟ้องนายแดงต่อศาลจังหวัดลําปางนั้น การที่นายแดงได้นําเอกสาร น.ส.3 ก ให้นายขาวยึดถือไว้ โดยไม่ได้มอบ การครอบครองหรือมอบสิทธิในที่ดินให้แก่นายขาวแต่อย่างใดนั้น คําฟ้องของนายขาวจึงมิใช่คําฟ้องที่เกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ หากแต่ เป็นคําฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ซึ่งนายขาวต้องฟ้องนายแดงต่อศาลที่นายแดงจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ใน เขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) ซึ่งได้แก่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จะฟ้องต่อศาลจังหวัดลําปางไม่ได้ เพราะศาล จังหวัดลําปางไม่ใช่ศาลที่มีอํานาจในการพิจารณาคดีดังกล่าวนี้

(2) เมื่อนายแดง นายดํา และนายม่วงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และนางเหลืองมารดา ของนายแดง นายดํา และนายม่วง จะยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของทั้งสามต่อศาลจังหวัดลําปางได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลในขณะที่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งตามข้อเท็จจริงในกรณี ของนายแดงคือศาลจังหวัดเชียงใหม่ กรณีของนายดําและนายม่วงคือศาลจังหวัดลําปาง และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ได้วางหลักไว้ว่า คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคล… ถ้ามูลความคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องขอจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใด ศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน คือ ที่ดินในจังหวัดลําปาง ย่อมถือได้ว่าคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าว มีมูลความ แห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณาร่วมกันได้ ดังนั้นนางเหลืองจึงยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายแดง นายดํา และนายม่วงที่ศาลจังหวัดลําปางได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5

สรุป

(1) ศาลจังหวัดลําปาง ไม่ได้เป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาคดีที่นายขาวฟ้องนายแดง

(2) นางเหลืองยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกที่ศาลจังหวัดลําปางได้

 

ข้อ 3. ในคดีแรกนายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวเป็นจําเลยต่อศาลชั้นต้น อ้างว่านายดําซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากนายขาว โดยนายขาวขออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมานายดําไม่ประสงค์ให้นายขาว อาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวอีกต่อไป จึงแจ้งให้นายขาวออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท รวมทั้งยังเรียกค่าเสียหายจากนายขาวอีกด้วย โดยนายขาวให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญาซื้อขาย บ้านและที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอําพราง แท้จริงแล้วนายขาวโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้นายดํา เพื่อประกันหนี้เงินกู้ ขอให้บังคับนายดําโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทคืนนายขาว ศาลชั้นต้น เห็นว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องแย้ง และพิพากษาให้ขับไล่นายขาวและบริวาร ออกจากบ้านและที่ดินพิพาท นายขาวจึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ต่อมาในระหว่างที่คดีแรก อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายขาวยื่นฟ้องนายดําต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีที่สอง อ้างว่า สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่างนายดําและนายขาวเป็นนิติกรรมอําพราง ขอให้เพิกถอน นิติกรรมซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าว รวมถึงขอให้นายดําโอนบ้านและที่ดินพาทคืนนายขาว ศาลชั้นต้นในคดีที่สองมีคําสั่งรับฟ้องของนายขาวไว้พิจารณา ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งรับฟ้องของศาลชั้นต้นในคดีที่สองขอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และ ผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นและ…”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การฟ้องซ้อนมีบัญญัติไว้ในมาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งประกอบด้วย หลักเกณฑ์ดังนี้

1 คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา

2 คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3 คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4 ห้ามโจทก์ฟ้อง

5 ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คําสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องของนายขาวใน คดีที่สองไว้พิจารณานั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า

ในคดีแรก นายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวเป็นจําเลยต่อศาลชั้นต้น อ้างว่านายดําซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากนายขาว ซึ่งนายขาวขออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมานายดําไม่ประสงค์ให้นายขาวอาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวอีกต่อไป จึงแจ้งให้นายขาวออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท ทั้งยังเรียกค่าเสียหาย จากนายขาวอีกด้วย นายขาวให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอําพราง แท้จริงแล้วนายขาวโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้นายดําเพื่อประกันหนี้เงินกู้ขอให้บังคับนายดําโอนกรรมสิทธิ์ ในบ้านและที่ดินพิพาทคืนนายขาว ซึ่งคดีแรกอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

ในคดีที่สอง นายขาวซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องแย้งในคดีแรกได้เป็นโจทก์ในคดีนี้อีก โดยได้ยื่นฟ้อง นายดําต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างเหตุเดียวกันกับที่ฟ้องแย้งในคดีแรกว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่าง นายดําและนายขาวเป็นนิติกรรมอําพราง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าว รวมทั้งขอให้นายดําโอนบ้านและที่ดินพิพาทคืนนายขาว กรณีนี้เมื่อนายขาวซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องแย้งคดีแรก ซึ่งฟ้องแย้ง ถือเป็นคําฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1 (3) และต่อมานายขาวได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายดําเป็นจําเลยในคดีที่สอง ในเรื่องเดียวกันอีก และในขณะที่นายขาวได้ยื่นฟ้องนายดําเป็นคดีที่สองนั้น คดีแรกยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ของศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ห้ามมิให้นายขาวยื่นคําฟ้องเรื่อง เดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก เพราะมิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อน ดังนั้น การที่นายขาวได้ยื่นฟ้อง นายดําต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีที่สองดังกล่าว และศาลชั้นต้นได้มีคําสั่งรับฟ้องของนายขาวไว้พิจารณา คําสั่งรับฟ้อง ของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งรับฟ้องของศาลชั้นต้นในคดีที่สองไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถด้วยความประมาทชนโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท จําเลยยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์เป็นฝ่ายขับรถประมาทชนจําเลย ขอให้ชดใช้ ค่าเสียหาย 8 แสนบาท แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้ง จําเลยจึงยื่นคําร้องตามมาตรา 198 ขอให้ตนชนะคดีโดยขาดนัด ศาลจึงนัดสืบพยานในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560 ปรากฏว่าในวัน สืบพยาน โจทก์จําเลยไม่มาศาล ศาลจึงจําหน่ายคดีที่โจทก์ฟ้องจําเลยออกจากสารบบความ เพราะ คู่ความขาดนัดพิจารณาส่วนในฟ้องแย้งนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง ภายหลังศาลมีคําพิพากษาดังกล่าว แล้ว 5 วัน จําเลยจึงยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ในคดีฟ้องแย้ง ให้ท่านจงบอกหลักเกณฑ์การขอพิจารณาคดีใหม่ และตอบคําถามว่าศาลจะอนุญาตตามคําร้อง ขอพิจารณาคดีใหม่ของจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 199 ตรี “จําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น จําเลยนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่…”

มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง “คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับจากที่ได้ส่งคําบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่งให้แก่จําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ”

มาตรา 199 เบญจ วรรคสอง “ในการพิจารณาคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่า การขาดนัดยื่นคําให้การนั้น มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลเห็นว่าเหตุผลที่อ้างมาในคําขอนั้น ผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้…”

วินิจฉัย

ในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรีนั้น ผู้ยื่นคําขอจะต้องเป็นจําเลยที่แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ โดยจะต้องมีคําขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคําบังคับตามคําพิพากษาให้ จําเลยตามมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง และต้องแสดงเหตุให้ศาลเห็นว่าตนไม่ได้จงใจหรือมีเหตุอันควรตาม มาตรา 199 เบญจ วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถด้วยความประมาทชนโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท และจําเลยยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์เป็นฝ่ายขับรถประมาทชนจําเลย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 8 แสนบาท แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งและจําเลยได้ยื่นคําร้องตามมาตรา 198 ขอให้ตนชนะคดีโดยขาดนัด ปรากฏว่าในวันสืบพยานโจทก์จําเลยไม่มาศาล ศาลจึงสั่งจําหน่ายคดีที่โจทก์ฟ้องจําเลย ออกจากสารบบความ ส่วนในฟ้องแย้งนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง และภายหลังศาลมีคําพิพากษาดังกล่าวแล้ว 5 วัน จําเลยได้ยื่นคําร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีฟ้องแย้งนั้น จะเห็นได้ว่า การขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีฟ้องแย้ง ของจําเลยนั้น เมื่อจําเลยมีสถานะเป็นโจทก์ในคดีฟ้องแย้งจึงไม่ถือว่าเป็นจําเลยผู้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ดังนั้น จําเลยจึงไม่สามารถยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 199 ตรี และศาลจะอนุญาตตามคําร้อง ขอพิจารณาคดีใหม่ของจําเลยไม่ได้

สรุป

ศาลจะอนุญาตตามคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจําเลยไม่ได้

LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายชลธีมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องการขายที่ดินของตนซึ่งมีหลายแปลง จึงติดต่อนายนิรัชให้เป็นนายหน้าจัดการขายที่ดินให้ตนโดยมีการตกลงทําสัญญารับเป็นนายหน้ากันที่จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัชจึงเดินทางไปพบนายบัญญัติที่จังหวัดพะเยาเพื่อจะเสนอขายที่ดินให้นายบัญญัติ นายบัญญัติ ต้องการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งของนายชลธีโดยที่ดินที่นายบัญญัติต้องการนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย นายนิรัชจึงได้จัดการนัดให้นายชลธีและนายบัญญัติมาเจอกันเพื่อทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แปลงดังกล่าวโดยได้นัดเจอและทําสัญญากันที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากที่ทําสัญญากันแล้ว นายบัญญัติได้ชําระเงินให้นายชลธีครบถ้วนแล้ว แต่นายชลธีไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้และไม่ยอมชําระค่านายหน้าให้แก่นายนิรัชอีกด้วย ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายบัญญัติจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธีให้นายชลธีโอนที่ดินให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) นายนิรัชจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธีให้นายชลธีชดใช้ค่านายหน้าให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายชลธีซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงรายกับนายบัญญัติ โดยได้ทําสัญญากันที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากที่ได้ทําสัญญากันแล้ว เมื่อนายบัญญัติได้ชําระเงินให้นายชลธีครบถ้วนแล้ว แต่นายชลธิ์ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายบัญญัติ ทําให้นายบัญญัติจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชลธีโอนที่ดินให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายนั้น การที่นายบัญญัติจะฟ้อง เพื่อให้นายชลธีโอนที่ดินให้แก่ตน เป็นการฟ้องเรียกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์มุ่งหมายจะบังคับเอากับ ที่ดิน จึงถือว่าเป็นคดีที่มีคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น นายบัญญัติย่อมสามารถยื่นฟ้องนายชลธีต่อ ศาลจังหวัดเชียงรายได้ เพราะเป็นศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือจะยื่นฟ้องนายชลธีต่อศาล จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลที่นายชลธีมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ

(ข) การที่นายนิรัชจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชลธีเพื่อให้ชดใช้ค่านายหน้าในการขายที่ดินให้แก่ตน ต่อศาลจังหวัดเชียงรายนั้น เมื่อการฟ้องเรียกค่านายหน้าขายที่ดินมิใช่เป็นคดีที่มีคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นคดีที่โจทก์มิได้มุ่งหมายจะบังคับเอากับที่ดิน จึงถือเป็นการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ดังนั้น นายนิรัช จะยื่นฟ้องนายชลธีต่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่ได้ นายนิรัชจะต้องยื่นฟ้องนายชลธีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น ศาลที่นายชลธีมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล รวมทั้งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น เนื่องจากมีการตกลงทําสัญญารับเป็น นายหน้ากันที่จังหวัดเชียงใหม่) เท่านั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

สรุป

(ก) นายบัญญัติจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธีให้นายชลธีโอนที่ดินให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้

(ข) นายนิรัชจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธิ์ให้นายชลธีชดใช้ค่านายหน้าให้ตน ต่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่ได้

 

ข้อ 2. นายโหวโหซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากนางเจนจิซึ่งที่ดินดังกล่าวนั้นอยู่ติดกับที่ดินของนางฟิจิโดยไม่เจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก ต่อมาหลังจากนางเจนจิส่งมอบที่ดินให้ นายโหวโหเข้าครอบครองแล้ว นายโหวโหได้ใช้ทางเดินในที่ดินของนางฟิจิจนได้ภาระจํายอม นอกจากนี้นายโหวโหได้ทําสัญญากับนายกิโปตกลงให้นายกิโปมีสิทธิอาศัยในที่ดินมือเปล่าซึ่ง นายโหวโหได้ซื้อจากนางเจนจินั้น ต่อมานางฟิจิปิดทางเดินซึ่งเป็นทางภาระจํายอมในที่ดินของตนทําให้นายกิโปไม่สามารถเดินผ่านทาง ภาระจํายอมดังกล่าว นายกิโปจึงจะยื่นฟ้องนางฟิจิต่อศาลขอให้บังคับนางฟิจิเปิดทางภาระจํายอม นอกจากนี้ นางเจนจิได้ถึงแก่ความตาย นายโหวโหจึงจะยื่นฟ้องทายาทของนางเจนจิให้จดทะเบียน โอนที่ดินมือเปล่านั้นแก่นายโหวโห

ท่านเห็นว่านายโหวโหและนายกิโปมีอํานาจฟ้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์

นายโหวโหและนายกิโปมีอํานาจฟ้องหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายโหวโห การที่นายโหวโหซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากนางเจนจิโดยไม่มีเจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีกนั้น เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเพียงที่ดินมือเปล่าแม้ว่านายโหวโห จะได้ซื้อมาจากนางเจนจิ และได้ครอบครองมานานเพียงใดก็ตาม นายโหวโหก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ได้ไปเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น และการที่นางเจนจิรวมทั้งทายาทของนางเจนจิไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดิน มือเปล่านั้นให้แก่นายโหวโห ก็ไม่ถือว่านายโหวโหได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่แต่อย่างใด ดังนั้น นายโหวโหจึง ไม่มีอํานาจฟ้องทายาทของนางเจนจิเพื่อให้จดทะเบียนโอนที่ดินมือเปล่านั้นให้แก่นายโหวโห

กรณีของนายกิโป การที่นายโหวโหได้ใช้ทางเดินในที่ดินของนางฟิจิจนได้ภาระจํายอม และ นายโหวโหได้ทําสัญญาให้นายกิโปมีสิทธิอาศัยในที่ดินมือเปล่าซึ่งนายโหวโหได้ซื้อจากนางเจนจินั้น แม้ว่านายกิโปใน ฐานะผู้อาศัยในที่ดินของนายโหวโหจะมีสิทธิใช้ทางเดินในที่ดินของนางฟิจิด้วยก็ตาม แต่การที่นางฟิจิได้ปิดทางเดิน ซึ่งเป็นทางภาระจํายอมในที่ดินของตนทําให้นายกิโปไม่สามารถเดินผ่านทางภาระจํายอมดังกล่าว เมื่อนายกิโปไม่ใช่ เจ้าของที่ดิน แต่เป็นเพียงผู้อาศัย จึงไม่มีอํานาจฟ้องเพื่อบังคับให้นางฟิจิเปิดทางภาระจํายอม เพราะภาระจํายอม ที่เกิดขึ้นนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์ ดังนั้น ผู้ที่จะฟ้องขอให้เปิดทางภาระจํายอม จึงต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ (สามยทรัพย์) เท่านั้น (คําพิพากษาฎีกาที่ 738/2503 และ 269/2539)

สรุป

นายโหวโหและนายกิโปไม่มีอํานาจฟ้องตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยที่ 1 ผู้รู้ และจําเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันให้ชําระหนี้ จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การว่ามูลหนี้ดังกล่าวเกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ ส่วนจําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การ (โจทก์ยื่นคําร้องตามมาตรา 198 แล้ว) ศาลจึงมีการชี้สองสถานโดยภายหลังจากการชี้สองสถานแล้ว ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ก่อน เมื่อถึงในวันนัดสืบพยานโจทก์หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ดังนี้

(ก) จําเลยที่ 1 มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําให้การต่อศาล โดยต้องการเพิ่มข้อต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความแล้ว (เขียนเหตุผลครบถ้วนแล้ว) แต่ศาลไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องของจําเลยที่ 1 คําสั่งดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ในวันสืบพยานดังกล่าวนี้ จําเลยที่ 2 ไม่มาศาล และโจทก์มายื่นคําบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาลขอถอนฟ้องจําเลยที่ 2 เพียงคนเดียว ศาลจึงมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีของ จําเลยที่ 2 ออกจากสาระบบความโดยไม่ได้ถามจําเลยก่อน การอนุญาตให้ถอนฟ้องดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 175 “ก่อนจําเลยยื่นคําให้การ โจทก์อาจถอนคําฟ้องได้โดยยื่นคําบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล

ภายหลังจําเลยยื่นคําให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาต ให้โจทก์ถอนคําฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่

(1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจําเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน”

มาตรา 179 วรรคหนึ่ง “โจทก์หรือจําเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าว ไว้ในคําฟ้องหรือคําให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้

(1) เพิ่ม หรือลด จํานวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ

(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคําฟ้อง เพิ่มเติม หรือเสนอคําฟ้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษาหรือ คําสั่ง หรือ

(3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 180 “การแก้ไขคําฟ้องหรือคําให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทําเป็นคําร้อง ยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุ อันสมควรที่ไม่อาจยื่นคําร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 ผู้กู้ให้ชําระหนี้ จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การแต่แรกว่ามูลหนี้ดังกล่าว เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ แต่ภายหลังจากที่ศาลได้มีการชี้สองสถานแล้วในวันนัด สืบพยานโจทก์ จําเลยที่ 1 มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําให้การต่อศาล โดยการเพิ่มข้อต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวขาด อายุความแล้วนั้น แม้ว่าเป็นกรณีที่จําเลยที่ 1 จะแก้ไข ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคําให้การที่เสนอ ต่อศาลแต่แรกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งโดยหลักแล้วจําเลยที่ 1 สามารถที่จะแก้ไขคําให้การ ได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ได้ยื่นคําร้องขอแก้ไขคําให้การภายหลังจากที่ศาลได้ชี้สองสถานแล้ว และกรณีนี้เป็นเรื่องที่จําเลยที่ 1 ทราบอยู่ก่อนแล้ว หาใช่กรณีที่ไม่อาจยื่นคําร้องขอแก้ไขคําให้การได้ก่อนวันนี้ สองสถานแต่อย่างใดไม่ ทั้งไม่ใช่การแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไข ข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ดังนั้น จําเลยที่ 1 จะขอแก้ไขเพิ่มเติม คําให้การว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความแล้วไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 4685/2549) การที่จําเลยที่ 1 มายื่นคําร้อง ขอแก้ไขเพิ่มเติมคําให้การดังกล่าวต่อศาล แต่ศาลไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องของจําเลยที่ 1 นั้น คําสั่งของ ศาลดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยที่ 2 ผู้ค้ําประกัน แต่จําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การ และภายหลังจาก ที่ศาลได้มีการชี้สองสถานแล้ว ในวันนัดสืบพยานโจทก์จําเลยที่ 2 ไม่มาศาล และโจทก์ได้ยื่นคําบอกกล่าวเป็น หนังสือต่อศาลขอถอนฟ้องจําเลยที่ 2 เพียงคนเดียวนั้น กรณีนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ขอถอนคําฟ้องจําเลยที่ 2 ก่อนจําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การ ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 175 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ย่อมสามารถที่จะทําได้ และศาลก็สามารถ มีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้โดยมิต้องฟังจําเลยที่ 2 ก่อนแต่อย่างใด เพราะมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้อง ภายหลังจําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การแล้วตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1) ดังนั้น การที่โจทก์ได้ขอถอนฟ้อง จําเลยที่ 2 และศาลได้มีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีของจําเลยที่ 2 ออกจากสาระบบความโดย ไม่ได้ถามจําเลยที่ 2 ก่อนนั้น การอนุญาตให้ถอนฟ้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก) คําสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องของจําเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจําเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. โจทก์กับจําเลยทําสัญญาหมั้นกันด้วยแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 2 ล้านบาท แต่จําเลยผิดสัญญาหมั้นโจทก์จึงมาฟ้องให้จําเลยคืนของหมั้น จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ (โจทก์ยื่นคําร้องตามมาตรา 198 แล้ว) ศาลจึงได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ตามคําฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลจึงพิพากษาว่าจําเลย ผิดสัญญาหมั้นโจทก์ให้จําเลยคืนของหมั้นโดยไม่ได้มีการสืบพยานโจทก์ไปแต่เพียงฝ่ายเดียวก่อน ภายหลังจากที่ศาลพิพากษาแล้ว จําเลยยื่นอุทธรณ์โต้แย้งว่าการที่ศาลพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรณีนี้กฎหมายบังคับว่าต้องมีการสืบพยานไปฝ่ายเดียวเสียก่อนจึงจะตัดสินคดีได้ เมื่อศาลพิพากษาโดยมิได้มีการสืบพยานไปฝ่ายเดียวก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้นี้ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้า วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตน เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับ ข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไป ฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”

วินิจฉัย

การที่โจทก์ฟ้องจําเลย แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้ โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การนั้น เป็นการดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และถ้าศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลอาจมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิ ในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์กับจําเลยทําสัญญาหมั้นกันด้วยแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 2 ล้านบาท แต่จําเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงมาฟ้องให้จําเลยคืนของหมั้น จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ และโจทก์ ได้ยื่นคําร้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่งแล้วนั้น เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ตามคําฟ้อง แล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงพิพากษาว่าจําเลยผิดสัญญาหมั่นโจทก์ให้จําเลยคืนของหมั่นโดยไม่ได้มีการสืบพยานโจทก์ ไปแต่เพียงฝ่ายเดียวก่อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง คําพิพากษาของศาลกรณีดังกล่าวย่อมชอบด้วย กฎหมาย เพราะการฟ้องคดีการผิดสัญญาหมั้นนั้นมิใช่คดีที่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว แต่อย่างใด (คําพิพากษาฎีกาที่ 9342/2538) จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง ที่บังคับ ให้ศาลต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวก่อน ดังนั้น การที่จําเลยยื่นอุทธรณ์โต้แย้งว่าการที่ศาลพิพากษานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะศาลพิพากษาโดยมิได้มีการสืบพยานไปฝ่ายเดียวก่อนนั้น ข้อต่อสู้ของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้อต่อสู้ของจําเลยดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

WordPress Ads
error: Content is protected !!