การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่าได้ฝากนาฬิกาไว้กับจําเลย ต่อมาโจทก์ขอคืน จําเลยไม่ยอมคืนให้ จึงขอให้ศาลบังคับจําเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ฝากนาฬิกาไว้กับจําเลย ความจริงจําเลยซื้อจากโจทก์ ถ้าท่านเป็นศาลจะกําหนดให้ใครมีหน้าที่นําสืบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน”

มาตรา 1370 “ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบ และโดยเปิดเผย”

วินิจฉัย

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดแล้ว ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่ นําสืบนี้ก็จะตกอยู่กับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ที่จะต้องนําสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยต่อสู้ว่าไม่ได้รับฝากนาฬิกาไว้จากโจทก์ แต่จําเลยซื้อจากโจทก์นั้น เมื่อปรากฏว่าจําเลยได้ครอบครองนาฬิกาไว้ จําเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ที่ว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 1370 ที่ว่า “ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบ และโดยเปิดเผย” ดังนั้น เมื่อจําเลยได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่นําสืบเพื่อหักล้าง ข้อสันนิษฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะกําหนดให้โจทก์มีหน้าที่นําสืบ

 

ข้อ 2 การสืบพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น มีกรณีใดบ้างที่ไม่ได้กระทําในศาลที่รับฟ้องคดี

ธงคําตอบ

อธิบาย การสืบพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น มีกรณีที่ไม่ได้ทําในศาลที่รับฟ้องคดีดังต่อไปนี้ คือ

1 ศาลเห็นสมควรให้เดินเผชิญสืบ กล่าวคือ โดยหลักแล้ว ศาลซึ่งเป็นผู้สืบพยานจะ สืบพยานในศาลหรือนอกศาลก็ได้ แต่ถ้ามีคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นการสมควร ศาลก็อาจเดินเผชิญสืบพยานหลักฐานก็ได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 229 ประกอบมาตรา 230 วรรคแรก)

2 ศาลเห็นสมควรให้ส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น กล่าวคือ เมื่อมีเหตุจําเป็นไม่สามารถ นําพยานหลักฐานมาสืบที่ศาลซึ่งกําลังพิจารณาคดีได้ และการสืบพยานหลักฐานโดยวิธีอื่นก็ไม่สามารถกระทําได้ กรณีเช่นนี้ ศาลมีอํานาจส่งประเด็นให้ศาลอื่นสืบพยานหลักฐานแทน ทั้งให้ศาลที่รับประเด็นมีอํานาจและหน้าที่ ดังศาลเดิม รวมทั้งมีอํานาจส่งประเด็นต่อไปยังศาลอื่นได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 230 วรรคแรก)

3 ศาลอนุญาตให้พยานเบิกความนอกศาล กล่าวคือ ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจ นําพยานมาเบิกความในศาลได้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร กรณีเช่นนี้ ศาลก็อาจอนุญาตให้พยาน ดังกล่าวเบิกความที่ศาลอื่น หรือสถานที่ทําการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาลนั้น โดยจัดให้มีการ ถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 230/1)

4 ศาลอนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคําของบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ แทนการนําพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาล กล่าวคือ เป็นกรณีที่พยานอยู่ต่างประเทศและไม่อาจสืบพยาน ตาม ข้อ 3. ได้ กรณีเช่นนี้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลจะอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคํายืนยัน ข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคําซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนําพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาล ได้ แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคําที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม (ป.วิ.อาญา มาตรา 230/2)

 

 

ข้อ 3 โจทก์ให้จําเลยกู้เงินจํานวน 30,000 บาท โดยมีการทําหลักฐานการกู้ถูกต้องและมีการระบุว่าให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ต่อมาจําเลยผิดนัดชําระหนี้ โจทก์จึงฟ้องให้จําเลยชําระหนี้ เงินกู้ 30,000 บาท พร้อมกับขอนํานายแดงมาสืบว่าได้ตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในเวลาต่อมา อยากทราบว่า กรณีดังกล่าวโจทก์นําสืบหักล้างตามข้อตกลงได้หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และ มิได้กําหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความใน เอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจําเลยระบุว่าให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่มิได้ระบุว่าให้คิดกันในอัตราเท่าใดนั้น ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ซึ่งให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ ร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น การที่โจทก์จะนํานายแดงซึ่งถือเป็นพยานบุคคลมาสืบว่าได้ตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นการสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 94(ข) ดังนั้น กรณีดังกล่าวโจทก์จะนําสืบหักล้างตามข้อตกลงไม่ได้

สรุป

กรณีดังกล่าวโจทก์จะนําสืบหักล้างตามข้อตกลงไม่ได้

Advertisement