LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1        แดงทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าตึกแถวมีกำหนดเวลา 5 ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 7 ของเดือน ๆ ละ 20,000 บาท ขาวเช่าตึกแถวหลังนี้ได้เพียง 3 ปี แดงได้ยกตึกแถวให้กับมืดบุตรชายของตนโดยเสน่หาและการยกให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ขาวอยู่ในตึกแถวมาจนครบ 5 ปีพอดีซึ่งสัญญาเช่าสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 แต่ขาวยังคงอยู่ในตึกแถวต่อมาและได้นำค่าเช่าไปชำระให้กับมืดทุก ๆ เดือนโดยขาวอยากจะทำสัญญาเช่าใหม่อีก 5 ปีเท่ากับระยะเวลาตามสัญญาเช่าเดิม

แต่มืดก็ไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้กับขาวใหม่แต่ให้ขาวชำระค่าเช่าตามปกติมาตลอด ครั้นถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 มืดไม่ประสงค์ให้ขาวอยู่ในตึกแถว มืดจึงบอกเลิกสัญญากับขาวในวันดังกล่าวและให้ขาวอยู่ในตึกแถวถึงวันที่ 15 กันยายน 2551

ปรากฏข้อเท็จจริงว่าขาวไม่ยอมส่งตึกแถวคืนให้กับมืดตามกำหนดระยะเวลาที่มืดบอกกล่าว ดังนั้นมืดจึงฟ้องขับไล่ขาวในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

สัญญาตึกระหว่างแดงและขาวชอบด้วยกฎหมาย (ป.พ.พ.มาตรา 538) ขาวเช่าตึกได้ 3 ปี แดงยกตึกให้มืดสัญญาเช่าไม่ระงับ มืดต้องให้ขาวเช่าจนครบ 5 ปี (ป.พ.พ.มาตรา 569) ขาวอยู่ครบ 5 ปีและอยู่ต่อมาอีกจนถึงปัจจุบันแม้ไม่ได้ทำสัญญาใหม่ก็ตาม การเช่าระหว่างมืดกับขาวเป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลา (ป.พ.พ.มาตรา 570) มืดบอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 สิงหาคม และให้ขาวอยู่ในตึกถึงวันที่ 15 กันยายนนั้น การบอกกล่าวไม่ชอบ (ป.พ.พ.มาตรา 566) มืดจะต้องให้เวลาถึงวันที่ 7 ตุลาคม บอกเลิก 31 สิงหาคมเท่ากับบอกเลิกวันที่ 7 กันยายน (วันชำระค่าเช่า) และต้องให้เวลาถึงวันที่ 7 ตุลาคม (ตาม ป.พ.พ.มาตรา 566) แต่เมื่อมาฟ้องขับไล่วันที่ 10 ตุลาคมซึ่งเลยวันที่ 7 ตุลาคมแล้ว จึงถือว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย การบอกกล่าวต้องนับระยะเวลาจากวันบอกเลิกถึงวันฟ้องขับไล่

 

ข้อ 2        ก) ม่วงทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าซื้อบ้านหนึ่งหลังตกลงชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 200,000 บาทมีกำหนดเวลา 3 ปีโดยต้องชำระค่าเช่าซื้อทุก ๆ วันสิ้นเดือน ปรากฏว่าเหลืองชำระค่าเช่าซื้อมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้นครั้นในต้นปีที่ 3 ซึ่งตรงกับปี 2551 เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 31 มกราคม 2551 และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นเงิน 400,000 บาท เพราะเหลืองขัดสนเงินแต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหลืองได้นำเงินมาชำระให้ในวันที่ 15 มีนาคม 2551 เป็นเงิน 200,000 บาท แต่ม่วงปฏิเสธที่จะรับเงินดังกล่าวแต่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีในวันที่ 15 มีนาคม 2551 นั่นเอง

ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของม่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด

ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ ก) เป็นสัญญาเช่าทรัพย์คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใดธงคำตอบ

มาตรา  572  วรรคสอง  สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา  574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย  สัญญาเช่าซื้อชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเหลืองผิดนัดไม่ใช้เงิน 2 คราวติดกัน ทำให้ม่วงบอกเลิกสัญญาได้ทันที การนำเงินมาชำระภายหลังผิดนัด ม่วงมีสิทธิ์ปฏิเสธได้

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย  สัญญาเช่าทำชอบด้วยกฎหมาย ม่วงบอกเลิกไม่ได้  ต้องบอกกล่าวให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระก่อน เพราะเป็นการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจะต้องบอกกล่าวให้นำค่าเช่ามาชำระอย่างน้อย 15 วัน

 

ข้อ 3        ก) หมีทำสัญญาจ้างกวางเป็นลูกจ้างมีกำหนดเวลา 1 ปี (สัญญาจ้างครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2551) ตกลงชำระค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน กวางทำงานเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 หมีนายจ้างมีปัญหาทางการบริหารการเงินของสถานประกอบการจึงจ่ายค่าจ้างให้กวางลูกจ้าง 9,000 บาท ในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 และบอกเลิกสัญญาจ้างทันที เช่นนี้ กวางจะต่อสู้ว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ถูกต้องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ข) ขาวทำสัญญาจ้างม่วงให้ก่อสร้างบ้าน 1 หลังโดยมีข้อตกลงว่าจะต้องส่งมอบบ้านให้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม และมีข้อตกลงว่าให้จ่ายค่าก่อสร้างเป็นงวด ๆ ตามที่ตกลงไว้ในสัญญา และมีข้อตกลงกันด้วยว่าขาวผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้จัดหาประตูและหน้าต่างที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านทั้งหมดโดยจะต้องส่งมอบให้ม่วงผู้รับจ้างภายในวันที่ 30 มิถุนายน แต่ปรากฏว่าขาวได้ส่งมอบให้ม่วงในวันที่ 31 สิงหาคม ทำให้ม่วงได้ก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบให้แก่ขาวได้ในวันที่ 30 ธันวาคม ขาวต้องไปเช่าบ้านอยู่อาศัยในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมโดยเสียค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท ขาวไม่พอใจที่ม่วงส่งมอบงานล่าช้าจึงต้องการให้ม่วงรับผิดชอบ เช่นนี้ ขาวจะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ

กมาตรา  581  ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว  ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่  โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม  แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

วินิจฉัย

สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา 1 ปี (ครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2551) กวางทำงานเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 จึงสันนิษฐานว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่เป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 581 อาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา 582 คือบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า

เมื่อหมีจ่ายค่าจ้างให้กวางในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 และบอกเลิกสัญญาทันทีจึงไม่ถูกต้อง คือต้องมีการบอกกล่าวก่อนเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง ถ้าบอกวันที่ 31 สิงหาคมก็ถือว่าบอกกล่าวในการจ่ายสินจ้างของวันที่ 25 กันยายน (กำหนดวันจ่ายค่าจ้างทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน) นายจ้างก็จะบอกเลิกสัญญาจ้างได้ในคราวถัดไปคือวันที่ 25 ตุลาคม ดังนั้นกวางจึงสามารถต่อสู้ได้

มาตรา  591  ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี  เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี  ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

วินิจฉัย

สัญญาก่อสร้างบ้านเป็นสัญญาจ้างทำของ ขาวส่งมอบประตูและหน้าต่างที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านให้แก่ม่วง  ผู้รับจ้างล่าช้า จากวันที่ 30 มิถุนายนเป็นวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งส่งมอบล่าช้าถึง 2 เดือน ทำให้ม่วงก่อสร้างบ้านเสร็จและส่งมอบล่าช้าไป 2 เดือน เช่นนี้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 591 ซึ่งกำหนดไว้ว่าความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด ดังนั้นม่วงผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดในการส่งมอบงานล่าช้านี้

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา  2  ปี  สัญญาเช่าข้อ  5  ตกลงว่า  “เมื่อครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาฉบับนี้แล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่ออีก  2  ปี  หากผู้เช่าต้องการแต่ถ้าหากไม่มีการต่อสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าตกลงที่จะจ่ายเงิน  100,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินที่เช่า”  ปรากฏข้อเท็จจริงว่าขาวอยู่ในที่ดินที่เช่าได้เพียง  1  ปีเท่านั้น  แดงได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับเขียว  เขียวปล่อยให้ขาวอยู่ในที่ดินเกือบจะครบ  2  ปี  ซึ่งจะครบสัญญาในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2552  ดังนั้นในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2552  ขาว

จึงแจ้งความจำนงที่จะเช่าต่ออีก  2  ปี  ตามสัญญาข้อ  5  เขียวตอบปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามที่ขาวต้องการ  ครั้นสัญญาเช่าครบกำหนดแล้วเขียวได้แจ้งขาวว่าให้ขาวขนของออกจากที่ดินและให้ส่งที่ดินคืนภายในวันที่  15  มีนาคม  2552  และเขียวไม่ยอมจ่ายเงิน  100,000  บาท  ตามสัญญาข้อ  5  ให้กับขาวเลย  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบหลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

สัญญาเช่าที่ดินระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  2  ปี  เมื่อมีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ  ย่อมใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้และถือว่าสัญญาเช่าเป็นหนังสือนั้นเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดี  ตามมาตรา  538

ส่วนเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งให้เช่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ทำ

ให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนย่อมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย  ตามมาตรา  569

กรณีตามอุทาหรณ์  ขาวเช่าบ้านหลังนี้มาได้เพียง  1  ปี  แดงได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับเขียวโดยชอบด้วยกฎหมาย  เช่นนี้ถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่าและขาวผู้เช่าไม่ระงับสิ้นไป  ตามาตรา  659  วรรคแรก  แต่เขียวผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน  ซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  เขียวต้องให้ขาวเช่าอยู่ต่อไปจนครบ  2  ปี  ตามสัญญาเช่า ตามมาตรา  569 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อ  5  ที่มีข้อความว่า  “เมื่อครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาฉบับนี้แล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่ออีก  2  ปี  หากผู้เช่าต้องการ”  ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงคำมั่นที่ผูกพันเฉพาะระหว่างคู่สัญญา  ไม่ถือว่าเป็นสัญญาเช่า  คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวจึงต้องระงับไปพร้อมกับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า

ส่วนข้อสัญญาที่ว่า  “หากไม่มีการต่อสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าตกลงที่จะจ่ายเงิน  100,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินที่เช่า”  ก็ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาเช่าเช่นกัน  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  ผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพันตามข้อสัญญานี้  ทั้งนี้เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนจะต้องรับมาด้วยนั้นคือ  สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น

ดังนั้นถึงแม้ขาวจะแจ้งความจำนงที่จะเช่าต่ออีก  2  ปี  แต่เขียวปฏิเสธ  และให้ขาวขนย้ายออกไป  เขียวย่อมมีสิทธิทำได้และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะคำมั่นจะให้เช่าไม่ผูกพันผู้รับโอน  ตามมาตรา  569  และการที่เขียวไม่ยอมจ่ายเงิน  100,000  บาท  ตามสัญญาข้อ  5  ก็เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน  เพราะข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงตามสัญญาอื่น  ไม่ใช่สัญญาเช่า  จึงไม่ผูกพันเขียวผู้รับโอน

สรุป  การกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ข้อ  2

(ก)    น้ำเงินทำสัญญาเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าบ้านมีกำหนดเวลา  5  ปี  สัญญาเช่าตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  15  ของเดือน  ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาเช่าดำเนินมาเพียง  1  ปีเท่านั้น  ม่วงไม่ชำระค่าเช่าของวันที่  15  มกราคม 2552  และของวันที่  15  กุมภาพันธ์  2552  แต่น้ำเงินก็ไม่ได้ทวงถามค่าเช่าครั้นถึงวันที่  6  มีนาคม  2552  น้ำเงินได้โทรศัพท์ไปหาม่วงและขอบอกเลิกสัญญาเช่าทันที   แต่ยอมให้ม่วงออกไปจากบ้านเช่าในวันที่  15  มีนาคม  2552  การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่เพียงใด  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  มีกำหนดไว้ในมาตรา  560  กล่าวคือ  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ถ้าชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เช่น  รายสองเดือนหรือรายปี  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระไม่น้อยกว่า  15  วัน  จึงจะบอกเลิกสัญญาได้  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้  ดังนั้นการเช่าที่ต้องชำระค่าเช่าเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระ  ผู้ให้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าบ้านระหว่างน้ำเงินและม่วง  มีการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน  คือทุกๆวันที่  15  ของเดือน  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์  2552  ยังไม่ทำให้น้ำเงินเกิดสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านดังกล่าวได้  เพราะกรณีดังกล่าวต้องตามบทบัญญัติมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้นน้ำเงินจึงต้องบอกกล่าวให้ม่วงนำค่าเช่าบ้านมาชำระก่อน  ซึ่งจะต้องให้เวลาอย่างน้อย  15  วัน  น้ำเงินผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่  6  มีนาคม  2552  และให้ม่วงออกไปจากบ้านเช่าในวันที่  15 มีนาคม  2552  ไม่ได้  เมื่อน้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าทันที  ทำให้การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในวันที่  15  มกราคม  2552  และวันที่  15  กุมภาพันธ์  2552  น้ำเงินย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  โดยไม่ต้องเตือนให้ผู้เช่าซื้อ  นำค่าเช่าซื้อมาชำระก่อนแต่อย่างใด  เพราะเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ  2  คราวติดกัน  กฎหมายให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที  ดังนั้นการที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาทันทีในวันที่  6  มีนาคม  2552  จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  คำตอบจึงแตกต่างกัน

สรุป

(ก)    การกระทำของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายแล้ว 

 

ข้อ  3 

(ก)    นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานนายสมัยเป็น  “เจ้าหน้าที่ฝ่ายทำบัญชีและการเงิน”  ตามสัญญาไม่มีกำหนดเวลา  ตกลงชำระค่าจ้างทุกๆวันสิ้นเดือนๆละ  10,000  บาท  นายสมัยมาทำงานสายบ่อยครั้งทำให้นายจ้างไม่ค่อยพอใจ  นายจ้างจึงมีคำสั่งให้นายสมัยขับรถยนต์ไปส่งสินค้าให้ลูกค้า  แต่นายสมัยไม่ยอมทำตามคำสั่ง  นายจ้างจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนายสมัยทันที  และไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วย  เช่นนี้นายสมัยจะต่อสู้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

(ข)    ตามกฎหมายจ้างทำของ  ผู้รับจ้างจะเอาการที่จ้างนั้นไปให้บุคคลอื่นรับจ้างช่วงเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดได้หรือไม่  จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

วินิจฉัย

การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างที่จะทำให้นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที  ตามมาตรา  583  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  3  ประการดังนี้  คือ

1       ต้องเป็นการกระทำโดยจงใจ

2       เป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย

3       คำสั่งนั้นเกี่ยวกับหน้าที่ตามสัญญาจ้าง

กรณีตามอุทาหรณ์  นายจ้างทำสัญญาจ้างนายสมัยเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ “เจ้าหน้าที่ฝ่ายทำบัญชีและการเงิน”  แต่นายจ้างมีคำสั่งให้นายสมัยขับรถไปส่งสินค้า  ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาจ้าง  การที่นายสมัยไม่ทำตามที่นายจ้างสั่ง  จึงไม่ใช่การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้าง  ตามนัยมาตรา  583  ที่นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน  ดังนั้นนายสมัยสามารถต่อสู้นายจ้างได้  ตามมาตรา  583

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  607  ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้  เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง  แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆของผู้รับจ้างช่วง

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  จะเห็นว่าโดยหลักแล้ว  สัญญาจ้างทำของไม่ใช่สัญญาเฉพาะตัวของผู้รับจ้าง  ผู้รับจ้างจึงสามารถเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำก็ได้  ทั้งนี้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด  ตามมาตรา 607  ตอนต้น  เว้นแต่จะมีข้อตกลงห้ามมิให้รับจ้างช่วง

ตัวอย่างเช่น  ก  ว่าจ้าง  ข  ให้สร้างบ้านหนึ่งหลัง  กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน  3  เดือน  เช่นนี้  ข  ผู้รับจ้างสามารถให้  ค  สร้างบ้านดังกล่าวแทนตนได้  หรือ  ข  สร้างบ้านเสร็จไปแล้วครึ่งหลัง  ข  จะให้  ค  สร้างต่ออีกครึ่งหลังให้แล้วเสร็จภายในเวลากำหนดก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม  ก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า  ถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาจ้างทำของนั้นอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง  หรือต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตัว  ผู้รับจ้างจะให้บุคคลอื่นกระทำการแทนตนไม่ได้  กล่าวคือจะเอาการที่จ้างนั้นไปให้บุคคลอื่นรับจ้างช่วงไม่ได้  ทั้งนี้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ชำระหนี้แทนกันได้นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น  จ้างผู้รับจ้างวาดภาพเหมือนตัวผู้ว่าจ้าง  หรือจ้างทำเครื่องประดับอัญมณีซึ่งผู้รับจ้างมีฝีมือดี  ยังหาผู้มีฝีมือแข่งขันด้วยไม่ได้ เช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่ความรู้ความสามารถเฉพาะตัวของผู้รับจ้าง  ผู้รับจ้างจึงไม่อาจเอาการที่รับจ้างนั้นไปให้ผู้อื่นกระทำแทนตนได้

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าบ้านมีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายมีข้อความว่า “เมื่อผู้เช่าเช่าครบกำหนดแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าต่ออีกมีกำหนดเวลา  3  ปี  ส่วนเครื่องเรือนโบราณซึ่งอยู่ในบ้านเช่าอันเป็นของผู้ให้เช่านั้น  ผู้เช่าตกลงจะซื้อจากผู้ให้เช่าในราคา  500,000  บาท”  ผู้ให้เช่าได้ส่งมอบบ้านและเครื่องเรือนโบราณให้ผู้เช่าได้ใช้และได้รับประโยชน์จนกระทั่งผู้เช่าได้เช่าบ้านมาเป็นเวลา  2  ปี  
ครั้นในปีที่  3  แดงได้ขายบ้านหลังนี้พร้อมเครื่องเรือนโบราณให้กับดำ  การทำสัญญาซื้อขายทำถูกต้องตามกฎหมาย  ปรากฏว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงในวันที่  30  เมษายน  2551  ในวันนี้เองขาวได้ไปพบดำและขอให้ดำให้ขาวเช่าต่อไปอีกสามปี  แต่ดำปฏิเสธและดำบังคับให้ขาวซื้อเครื่องเรือนโบราณในราคา  500,000  บาท  ตามสัญญาข้อสุดท้าย

ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของดำทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบหลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  3  ปี  เมื่อมีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ  ย่อมใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้และถือว่าสัญญาเช่าเป็นหนังสือนั้นเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี  ตามมาตรา  538 

ส่วนเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งให้เช่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนย่อมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย  ตามมาตรา  569

กรณีตามอุทาหรณ์  ขาวเช่าบ้านหลังนี้มาได้  2  ปี  ครั้นปีที่  3  แดงได้ขายบ้านหลังนี้และเครื่องเรือนโบราณให้กับดำโดยทำสัญญาซื้อขายกันถูกต้องตามกฎหมาย  เช่นนี้ถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่าและขาวผู้เช่าไม่ระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  569  วรรคแรก  แต่ดำผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  ดำต้องให้ขาวเช่าอยู่ต่อไปจนครบกำหนด  3  ปี  ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่มีข้อความว่า  “เมื่อครบกำหนดแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่ออีกมีกำหนดเวลา  3  ปี” ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงคำมั่นที่ผูกพันเฉพาะระหว่างคู่สัญญา  (บุคคลสิทธิ)  ไม่ถือว่าเป็นสัญญาเช่า  คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวจึงต้องระงับไปพร้อมกับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า  ดำจึงไม่ต้องรับคำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวมาด้วย  (ฎ. 6763/2541 ,  ฎ.  6491/2539)

ส่วนข้อสัญญาที่ว่า  “ผู้เช่าตกลงจะซื้อเครื่องเรือนโบราณจากผู้ให้เช่าในราคา  500,000  บาท”  ก็ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาเช่าเช่นกัน  เป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้เช่าตามกฎหมายด้วย  ผู้รับโอนจึงไม่อาจบังคับให้ผู้เช่าต้องผูกพันตามข้อสัญญานี้ได้

ดังนั้น  ถึงแม้ขาวจะแจ้งความจำนงที่จะเช่าต่ออีก  แต่ดำปฏิเสธ  ดำย่อมมีสิทธิทำได้และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะคำมั่นจะให้เช่าไม่ผูกพันผู้รับโอน  ตามมาตรา  569  ส่วนการที่ดำจะบังคับให้ขาวซื้อเครื่องเรือนโบราณนั้น  ดำย่อมไม่อาจกระทำได้  เพราะข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงตามสัญญาอื่น  ไม่ใช่สัญญาเช่า  จึงไม่ผูกพันดำผู้รับโอน

สรุป  ดำปฏิเสธไม่ยอมให้ขาวเช่าต่อได้  แต่ดำจะบังคับให้ขาวซื้อเครื่องเรือนโบราณไม่ได้

 

ข้อ  2 

(ก)    ในวันที่  1  มกราคม  2552  มืดทำสัญญาเป็นหนังสือให้เขียวเช่ารถยนต์มีกำหนด  1  ปี  สัญญาเช่าตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือนเดือนละ  20,000  บาท  สัญญาเช่ามีข้อตกลงว่าหากผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  2  เดือน  ติดๆกัน  ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที  ปรากฏว่าเขียวไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  31  มีนาคม  และ  30  เมษายน  2552  ในวันที่  15  พฤษภาคม  2552  มืดได้บอกเลิกสัญญาเช่าทันที  การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  และข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่าเขียวได้บอกเลิกสัญญาในวันที่  10  พฤษภาคม  2552  เขียวกระทำได้หรือไม่  โดยวิธีใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  151  การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย  ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นไม่เป็นโมฆะ

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  มีกำหนดไว้ในมาตรา  560  กล่าวคือ  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที  แต่ถ้ากำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เช่น  รายสองเดือนหรือรายปี  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระไม่น้อยกว่า  15  วัน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าจึงจะบอกเลิกสัญญาได้  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีเช่นเดียวกับสัญญาเช่าที่มีกำหนดชำระค่าเช่าน้อยกว่ารายเดือนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม  บทบัญญัติมาตรา  560  มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  คู่สัญญาจึงตกลงยกเว้นให้เป็นอย่างอื่นได้  (ฎ. 192/2521 ฎ. 3767/2547)  ข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ  ตามมาตรา  151

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าสัญญาเช่ารถยนต์ระหว่างมืดกับเขียวจะเป็นสัญญาเช่าที่มีกำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนก็ตาม  แต่เมื่อมีข้อตกลงในสัญญาเช่าว่าหากผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  2  เดือนติดๆกัน  ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที  ก็ต้องเป็นไปตามนั้น  เพราะข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้  ไม่เป็นโมฆะ  แม้จะแตกต่างจากบทบัญญัติมาตรา  560  แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ดังนั้น  การที่เขียวไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  31  มีนาคม  และ  30 เมษายน  2552  และมืดได้บอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่  15  พฤษภาคม  2552  แม้ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้เขียวนำค่าเช่ามาชำระก่อน  การบอกเลิกของมืดก็ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  573  ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง

วินิจฉัย

สัญญาเช่าซื้อนั้น  ผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้  โดยผู้ให้เช่าซื้อไม่จำต้องผิดสัญญาเพราะเป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้เช่าซื้อที่ไม่ต้องการจะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นต่อไป  แต่ถึงแม้ผู้เช่าซื้อเองจะเป็นฝ่ายผิดสัญญา  เช่น  ไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ  2  งวดติดกัน หรือแม้ทรัพย์สินที่เช่าจะชำรุดบุบสลายก็ตาม  ผู้เช่าซื้อก็ยังมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  ส่วนความรับผิดของผู้เช่าซื้อนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์  ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก  เปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อ  แม้เขียวจะผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ  2  งวดติดกัน  ซึ่งถือว่าเขียวผู้เช่าซื้อผิดสัญญา   เขียวก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาในวันที่  10  พฤษภาคม  2552ได้  ตามมาตรา  573  เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้เช่าซื้อ  แต่การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามมาตรา  573  นี้  มิได้หมายถึงการบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อทราบเพียงอย่างเดียวว่าจะเลิกสัญญาเท่านั้น  แต่ผู้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่เจ้าของด้วย  ลำพังแต่เพียงบอกกล่าวว่าเลิกสัญญา  แต่มิได้ส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ  ยังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้ออยู่  เช่นนี้ไม่ทำให้สัญญาเช่าซื้อระงับ  เพราะการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 3149/2530)

สรุป

(ก)   การบอกเลิกสัญญาเช่าของมืดชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  เขียวผู้เช่าซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้  แต่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อด้วย

 

ข้อ  3  น้ำเงินจ้างเหลืองมาเป็นลูกจ้างประจำร้านขายของตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2551  มีกำหนดเวลา  1  ปี  โดยได้รับสินจ้างเดือนละ  15,000  บาททุกๆวันสิ้นเดือน  เหลืองทำงานมาจนถึงปัจจุบันนี้  ครั้นวันที่  21  พฤษภาคม  2552  เหลืองพบกับน้ำเงิน  น้ำเงินให้เหลืองทำงานถึงวันที่  21  มิถุนายน  2552  และให้เหลืองออกจากงานไปในวันที่  22  มิถุนายน  2552  ซึ่งถือว่าเป็นวันเลิกจ้าง  ดังนี้การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และในวันที่  22  มิถุนายน  2552  เหลืองจะได้รับสินจ้างเป็นเงินเท่าใด  โดยที่เหลืองไม่ต้องมาทำงานอีก

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  581  ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว  ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่  โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม  แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา  1  ปี  (ครบกำหนดวันที่  1  มกราคม  2552)  เหลืองทำงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้  จึงสันนิษฐานว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่เป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  581  ซึ่งคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา  582  คือบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า

ครั้นในวันที่  21  พฤษภาคม  2552  เหลืองพบกับน้ำเงิน  น้ำเงินให้เหลืองทำงานถึงวันที่  21  มิถุนายน  2552  และให้เหลืองออกจากงานไปในวันที่  22  มิถุนายน  2552  กรณีนี้จึงต้องถือว่าในวันที่  21  มิถุนายน  2552  น้ำเงินได้บอกกล่าวกับเหลืองเพื่อเลิกสัญญาจ้าง  อันเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง  (30  มิถุนายน  2552)  จึงต้องถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างในวันที่  30  มิถุนายน  2552  ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายสินจ้าง  และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานในวันที่  31  กรกฎาคม  2552  การที่น้ำเงินให้เหลืองออกจากงานไปในวันที่  22  มิถุนายน  2552  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  582  วรรคแรก

อย่างไรก็ตาม  หากน้ำเงินไม่ต้องการให้เหลืองมาทำงานในวันที่  22  มิถุนายน  2552  น้ำเงินก็อาจทำได้โดยปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา  582  วรรคสอง  กล่าวคือ  ต้องจ่ายสินจ้างที่ต้องจ่ายในเดือนมิถุนายน  2552  เป็นเงิน  15,000  บาท  และอีก  15,000  บาท  สำหรับงวดการจ่ายสินจ้างในวันที่  31  กรกฎาคม  รวมเป็นเงิน  30,000  บาท  แล้วให้เหลืองออกจากงานไปทันทีได้เลยในวันที่  22  มิถุนายน  2552

สรุป  การกระทำของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และในวันที่  22  มิถุนายน  2552  เหลืองจะต้องได้รับสินจ้างเป็นเงิน  30,000  บาท  โดยที่เหลืองไม่ต้องมาทำงานอีก

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสืออย่างเดียวให้ขาวเช่าตึกแถวของแดงหนึ่งคูหามีกำหนดเวลา  10  ปี  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  1  ปี  แดงได้ยกตึกให้กับมืด  บุตรชายโดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวเช่าตึกแถวต่อมาเรื่อยๆ  จนถึงปีที่  5 และชำระค่าเช่าให้กับมืดมาตลอดโดยที่ขาวและมืดไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่เลย 
ครั้นขาวเช่าตึกแถวนี้มาในปีที่  6  ซึ่งตรงกับปี  2552  มืดได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวโดยขาวมิได้ผิดสัญญาเลย  โดยมืดบอกเลิกสัญญาให้ขาวทราบในวันที่  15  สิงหาคม  2552  และให้ขาวออกไปจากตึกแถวในวันที่  31  สิงหาคม  2552  เมื่อครบกำหนดเวลาบอกเลิก  ขาวไม่ยอมออกจากตึกแถว  มืดจึงมาฟ้องขับไล่ขาวในวันที่  16  กันยายน  2552  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงและขาวได้ทำเป็นหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว  ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยแต่อย่างใด  สัญญาเช่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ  แต่กฎหมายให้ถือว่าสัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่  3  ปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาเช่าได้แต่เพียง  3  ปี  ตามมาตรา  538  เท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขาวเช่าตึกได้เพียง  1 ปี  แดงได้ยกตึกแถวนั้นให้มืด  ดังนี้สัญญาเช่าไม่ระงับ  มืดต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  กล่าวคือต้องให้ขาวเช่าจนครบ  3  ปี  ตามสัญญา  ส่วนการที่ขาวอยู่ครบ  3  ปีแล้วนั้นยังอยู่ต่อมาอีกจนถึงปัจจุบัน  แม้ไม่ได้ทำสัญญาใหม่ก็ตาม  การเช่าระหว่างมืดกับขาวก็เป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  570  ข้อตกลงต่างๆจึงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม

อนึ่ง  มืดสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลาได้ตามมาตรา  566  แม้ขาวจะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเลยก็ตาม  แต่การบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า  2  เดือน

เมื่อกำหนดชำระค่าเช่าตกลงกันทุกๆวันสิ้นเดือน  การที่มืดบอกเลิกสัญญาในวันที่  15  สิงหาคม  2552  เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาในวันชำระค่าเช่าคือ  วันที่  31  สิงหาคม  2552  ฉะนั้นมืดจะต้องให้เวลาขาวถึงวันที่  30  กันยายน  2552  จึงจะฟ้องขับไล่ได้ในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่  1  ตุลาคม  2552  ตามมาตรา  566  การที่มืดบอกเลิกสัญญากับขาวในวันที่  15  สิงหาคม  2552  และให้ขาวอยู่ในตึกถึงวันที่  31  สิงหาคม  2552  แล้วมาฟ้องขับไล่ในวันที่  16  กันยายน  2552  การบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  566

สรุป  การกระทำของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)    เขียวทำสัญญาเป็นหนังสือให้แสดเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา  3  ปี  ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  เดือนละ  15,000  บาท  ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2551  สัญญาเช่าที่ดินข้อ  5  ระบุว่า  “ในกรณีที่ผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าคราวใดคราวหนึ่ง  หากผู้ให้เช่าต้องการบอกเลิกสัญญา  ผู้ให้เช่าจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าที่ค้างชำระอย่างน้อย  30  วัน”  ปรากฏว่าแสดไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  30  มิถุนายน  2552  เขียวไม่ได้บอกกล่าวให้แสดชำระค่าเช่าที่ค้าง  แต่พอถึงวันที่  31  กรกฎาคม  2552  เขียวบอกเลิกสัญญาทันที  การกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อคำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

(ก)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  กรณีที่สัญญาเช่ามีกำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือมากกว่ารายเดือน  เช่น  ตกลงชำระค่าเช่าทุกวันสิ้นเดือน  หรือทุก  6  เดือน  หรือทุกสิ้นปี  เป็นต้น  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้  จะต้องปฏิบัติให้ครบ  2  ขั้นตอนดังนี้  คือ

1       บอกกล่าวแก่ผู้เช่าให้มาชำระค่าเช่า  โดยให้เวลาอย่างน้อย  15  วัน

2       ถ้าผู้เช่ายังไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจึงบอกเลิกสัญญาได้

อย่างไรก็ตาม  ผู้ให้เช่าและผู้เช่าอาจตกลงกันในสัญญาให้ต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  560  ก็ได้  กล่าวคือคู่สัญญาจะตกลงกันว่าให้บอกเลิกสัญญาได้ทันที  ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน  หรืออาจตกลงให้เวลาชำระค่าเช่า  2  เดือน  ก็ย่อมทำได้  เพราะบทบัญญัติมาตรา  560  มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  คู่สัญญาจึงตกลงยกเว้นให้เป็นอย่างอื่นได้  (ฎ. 192/2521  ,  ฎ. 3767/2547)

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การบอกเลิกสัญญาของเขียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ข้อตกลงระหว่างเขียวกับแสดที่ว่า  ในกรณีที่ผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าคราวใดคราวหนึ่ง  หากผู้ให้เช่าต้องการบอกเลิกสัญญา  ผู้ให้เช่าจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าที่ค้างชำระอย่างน้อย  30  วัน  เป็นข้อตกลงยกเว้นมาตรา  560  วรรคสอง  ข้อยกเว้นนี้สามารถตกลงกันและใช้บังคับกันได้  ไม่ตกเป็นโมฆะ  เพราะมาตรา  560  ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฯ  แต่อย่างไรก็ตามการการที่นายแสดไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  30  มิถุนายน  2552  เขียวไม่ได้บอกกล่าวให้แสดชำระค่าเช่าที่ค้าง  แต่กลับมาบอกเลิกสัญญาเลยในวันที่  31  กรกฎาคม  2552  เช่นนี้ถือได้ว่าเขียวไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงยกเว้นนั้น  กล่าวคือ  ไม่ได้บอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าอย่างน้อย  30  วัน  เมื่อไม่ได้บอกกล่าว  แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมาเป็นเวลา  1  เดือน  นับแต่วันที่แสดไม่ชำระค่าเช่า  การบอกเลิกสัญญาเช่าของเขียวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การตกลงยกเว้นบทบัญญัติมาตรา  574  วรรคแรก  ที่ไม่ต้องให้มีการผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกันก่อน  ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับกันได้  ไม่ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน  เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา  574  มิได้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฯ  (ฎ. 3842/2526)  แต่อย่างไรก็ตามการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่บอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อนำค่าเช่าซื้อมาชำระอย่างน้อย  30  วันก่อน  การบอกเลิกสัญญาย่อมทำไม่ได้  การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของเขียวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน  ดังนั้นคำตอบจึงไม่แตกต่างกันกับข้อ  ก

สรุป

(ก)    การกระทำของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย    

 

ข้อ  3

(ก)    นายส้มทำสัญญาจ้างนายน้ำเงินให้มาเป็นพ่อครัวที่ร้านอาหารที่กรุงเทพฯ  ตกลงให้ค่าจ้างเดือนละ  10,000  บาท  มีกำหนดเวลา  2  ปี  โดยนายส้มออกค่าเดินทางจากจังหวัดแพร่มากรุงเทพฯ  เมื่อนายน้ำเงินทำงานได้  1  ปี  ก็ขาดงานไม่มาทำงานวันจันทร์ถึงวันพฤหัส  โดยไม่บอกสาเหตุแต่อย่างใด  นายส้มไม่พอใจจึงจ่ายค่าจ้างให้  10,000  บาท  ในวันที่  30  กันยายน  และบอกเลิกสัญญาจ้างทันที  นายน้ำเงินต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องและขอค่าเดินทางกลับไปยังจังหวัดแพร่ด้วย  เช่นนี้  จะต่อสู้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

(ข)    นายนกทำสัญญาจ้างนายเป็ดให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ของรถยนต์ของนายนกโดยตกลงให้นายเป็ดเป็นคนจัดหาเครื่องยนต์ใช้แล้วสภาพดีมาเปลี่ยนให้  ตกลงจ่ายค่าจ้างให้  70,000  บาท  เมื่อแล้วเสร็จปรากฏว่าเมื่อเปลี่ยนเครื่องยนต์เสร็จและส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายนกแล้ว  ได้พบว่าเครื่องยนต์เดินไม่ปกติ  นายนกจึงขอให้นายเป็ดรับผิดชอบแต่นายเป็ดอ้างว่าส่งมอบให้แก่นายนกแล้วจึงไม่ต้องรับผิดชอบ  เช่นนี้  ถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

มาตรา  586  ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้  เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลง  และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว  ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้  แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้คือ

1       สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง  และ

2       ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

วินิจฉัย

การที่นายจ้างจะต้องออกค่าเดินทางขากลับให้แก่ลูกจ้าง  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  586  ดังต่อไปนี้

1       ลูกจ้างเป็นผู้ที่นายจ้างได้จ้างเอามาจากต่างถิ่น  มิใช่ลูกจ้างสมัครงานเอง

2       นายจ้างออกค่าเดินทางขามาให้

3       ไม่มีข้อกำหนดอย่างอื่นไว้ในสัญญาเพื่อยกเว้นหรือลดหย่อนหน้าที่ของนายจ้าง

4       สัญญามิได้เลิกหรือระงับ  เพราะการกระทำความผิดของลูกจ้าง

5       ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างภายในเวลาอันสมควร

กรณีตามอุทาหรณ์  นายส้มทำสัญญาจ้างนายน้ำเงินมาจากจังหวัดแพร่  โดยออกค่าเดินทางให้  โดยปกติแล้วตามมาตรา  586  นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าเดินทางขากลับให้ลูกจ้างด้วย  แต่เมื่อนายน้ำเงินขาดงานไม่มาทำงานวันจันทร์ถึงวันพฤหัสจึงเป็นการละทิ้งการงานไปโดยไม่มีเหตุผลตามมาตรา  583  นายจ้างไล่ออกได้  โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า  ดังนั้น  นายน้ำเงินจะต่อสู้ว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างของนายส้มไม่ถูกต้องและขอค่าเดินทางขากลับไปยังจังหวัดแพร่ด้วยไม่ได้  เพราะสัญญาจ้างเลิกกันเพราะความผิดของลูกจ้าง

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  595  ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้  ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้นท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะซื้อขาย

มาตรา  598  ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้ว  ทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย  ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด  เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างปิดบังความนั้นเสีย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาจ้างทำของรายนี้  นายเป็ดเป็นคนจัดหาเครื่องยนต์มาเปลี่ยนให้  จึงถือว่าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ  กรณีเช่นนี้บทบัญญัติมาตรา  595  ให้นำกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับโดยอนุโลม  (มาตรา  472)  คือ  ผู้รับจ้างต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น  แม้ผู้รับจ้างรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องเช่นนั้นมีอยู่จริง  และตามมาตรา  598  ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับการที่ทำนั้น  ความชำรุดบกพร่อง  คือ  การที่เครื่องยนต์เดินไม่ปกตินั้นไม่พึงพบได้ในขณะนั้น  นายเป็ดจึงยังคงต้องรับผิดชอบ

สรุป 

(ก)    นายน้ำเงินไม่สามารถต่อสู้ได้

(ข)   นายเป็ดต้องรับผิดชอบในกรณีที่เครื่องยนต์เดินไม่ปกติ

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 2/2552

การสอบไล่ภาค  2   ปีการศึกษา  2552

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

 ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าตึกเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าตึกแถวมีกำหนดเวลา  5  ปี  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  1  ปี แดงได้ขายตึกแถวนี้ให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย  มืดเป็นผู้ไปเก็บค่าเช่ากับขาวทุกๆวันสิ้นเดือน  ตามสัญญาเช่าที่ได้ตกลงระหว่างแดงและขาว  และขาวอยู่ในตึกแถวครบ  3  ปีแล้ว  มืดก็มิว่ากระไรในระหว่างปีที่  4  ซึ่งตรงกับปี  2552  
ขาวนำค่าเช่ามาให้มืดทุกๆสิ้นเดือนตามปกติ  ครั้นสิ้นเดือนธันวาคม  2552  ขาวนำค่าเช่าไปชำระให้มืด  มืดรับค่าเช่าไว้แต่ได้ขอบอกเลิกสัญญากับขาวและให้ขาวออกจากตึกแถวไปในวันที่  15  มกราคม  2553  แต่ขาวไม่ยอมออกจากตึกแถวนี้จนถึงวันที่  12  กุมภาพันธ์  2553  มืดจึงฟ้องขับไล่ขาวออกจากตึกแถว  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด
 ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

  มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงและขาวได้ทำเป็นหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว  ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยแต่อย่างใด  สัญญาเช่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ  แต่กฎหมายให้ถือว่าสัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่  3  ปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาเช่าได้แต่เพียง  3  ปี  ตามมาตรา  538  เท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขาวเช่าตึกได้เพียง  1 ปี  แดงได้ยกตึกแถวนั้นให้มืด  ดังนี้สัญญาเช่าไม่ระงับ  มืดต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  กล่าวคือต้องให้ขาวเช่าจนครบ  3  ปี  ตามสัญญา  ส่วนการที่ขาวอยู่ครบ  3  ปีแล้วยังอยู่ต่อมาอีกจนถึงปีที่  4  แม้ไม่ได้ทำสัญญาใหม่ก็ตาม  การเช่าระหว่างมืดกับขาวก็เป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  570  ข้อตกลงต่างๆจึงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม

อนึ่ง  มืดสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลาได้ตามมาตรา  566  แม้ขาวจะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเลยก็ตาม  แต่การบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า  2  เดือน

เมื่อกำหนดชำระค่าเช่าตกลงกันทุกๆวันสิ้นเดือน  การที่มืดบอกเลิกสัญญาในวันที่  31  ธันวาคม  2552  (สุดระยะอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่า)  ฉะนั้นมืดจะต้องให้เวลาขาวอีกชั่วระยะเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  คือครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2553  แต่เมื่อมืดให้เวลาขาวเพียง  15  วันจึงไม่ชอบ  แต่อย่างไรก็ดี  การบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวก็หาตกเป็นโมฆะไม่  เมื่อมืดฟ้องขับไล่ขาวในวันที่  12  กุมภาพันธ์  2553  ซึ่งเลยวันที่  31  มกราคม  2553  มาแล้ว  กรณีจึงถือว่าการกระทำของมืดชอบด้วยมาตรา  566

สรุป  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2

(ก)    น้ำเงินทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าบ้านหนึ่งหลังมีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าตกลงให้เหลืองเช่าบ้านสำหรับทำเป็นร้านเสริมสวยเท่านั้นและตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  15 และวันที่  28  ของแต่ละเดือน  โดยชำระค่าเช่าคราวละ  10,000  บาท  ในระหว่างที่เหลืองเช่าอยู่ในปีที่  2  ปรากฏว่าเหลืองไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  28  มกราคม  2553  ดังนั้นในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2553  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันที  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  หากปรากฏว่าในระหว่างปีที่  2  นั้น  เหลืองเลิกทำร้านเสริมสวย  แต่เหลืองได้เปลี่ยนเป็นทำบ้านเช่าเป็นสถานบริการ  อาบ  อบ  นวด  แทน  น้ำเงินเห็นว่าเหลืองผิดสัญญา  จึงบอกเลิกสัญญาในทันที  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2553  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  มีกำหนดไว้ในมาตรา  560  กล่าวคือ  ถ้าการชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เช่น  รายสองเดือนหรือรายปี  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  จึงจะบอกเลิกสัญญาได้  ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้  แต่ถ้ากำหนดชำระค่าเช่าน้อยกว่าเดือน  เช่น  รายวัน  รายสัปดาห์  กรณีเช่นนี้  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาระหว่างน้ำเงินและเหลืองมีการตกลงชำระค่าเช่าทุกวันที่  15  และวันที่  28  ของแต่ละเดือน  ซึ่งถือว่าต่ำกว่ารายเดือน  เมื่อปรากฏว่าเหลืองไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  28  มกราคม  2553  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2553  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันที  เพราะกรณีดังกล่าวต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  560  วรรคแรก  ที่ไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนแต่อย่างใด

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองเปลี่ยนจากร้านเสริมสวยมาเป็นสถานบริการ  อาบ  อบ  นวด  การกระทำของเหลืองดังกล่าวไม่ถือว่าผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  ที่น้ำเงินจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้  ทั้งนี้แม้ในสัญญาจะกำหนดให้เช่าบ้านโดยทำเป็นร้านเสริมสวยเท่านั้น  ก็จะถือว่าผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  ไม่ได้เป็นแต่เพียงผิดสัญญาธรรมดา  จึงบอกเลิกสัญญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  574 วรรคแรกไม่ได้  ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาเช่าชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3 

(ก)    นายสมคิดเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ  10,000  บาท  โดยนายจ้างจะชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาจ้างนายสมคิดเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลา  นายสมคิดได้ยื่นหนังสือขอลาหยุดงาน  3  วันต่อนายจ้าง  แต่นายจ้างไม่อนุญาต  แต่นายสมคิดก็หยุดงานไปตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสเพื่อไปจัดงานสมรสให้บุตรสาวที่ต่างจังหวัด  นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่  31  มีนาคม  โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า  แต่นายสมคิดต่อสู้ว่าไม่ถูกต้อง  เช่นนี้ท่านเห็นว่าถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

(ข)    ตามสัญญาจ้างทำของนั้น  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา  จะมีโทษอย่างไร  และมีข้อยกเว้นที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดหรือไม่  แม้ว่าจะส่งมอบการที่ทำไม่ทันกำหนดเวลา  ที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสมคิดยื่นหนังสือขอลาหยุดงาน  3  วันต่อนายจ้าง  แต่นายจ้างไม่อนุญาต  และนายสมคิดก็หยุดงานไปตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัส  ดังนี้  แม้นายสมคิดจะได้ยื่นหนังสือขอลาหยุดงานแล้ว  แต่เมื่อนายจ้างยังไม่อนุญาต  จึงต้องถือว่าการที่นายสมคิดหยุดงานวันจันทร์ถึงวันพฤหัส  เป็นการละทิ้งการงานไปเสีย  ตามมาตรา  583  ซึ่งนายจ้างสามารถไล่ออกได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด

สรุป  การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ข  อธิบาย

ตามมาตรา  596  กำหนดว่า  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น  จะมีโทษคือ

1       ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลงได้  หรือ

2       ถ้าสาระสำคัญอยู่ที่เวลา  ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาได้

แต่อย่างไรก็ดี  ถ้าความชักช้าในการที่ทำเกิดขึ้นเพราะสัมภาระที่ผู้ว่าจ้างส่งให้  หรือเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้าง  กรณีเช่นนี้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด  เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ  หรือคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง  และมิได้บอกกล่าวตักเตือน  (มาตรา  591)

อนึ่ง  แม้ว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานที่ทำให้ผู้ว่าจ้างภายหลังกำหนดเวลาในสัญญา  หรือภายหลังเวลาอันควรในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาในสัญญาไว้  และผู้ว่าจ้างรับมอบงานที่ทำนั้นโดยมิได้อิดเอื้อน  กรณีเช่นนี้  ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อการส่งมอบล่าช้า  (มาตรา  597)

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ S/2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวหลังหนึ่งมีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าข้อ  5  ตกลงกันไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนด  3  ปีแล้ว 

ให้สัญญาเช่าตึกแถวนี้มีต่อไปอีก  3  ปี  และหากไม่มีการต่ออายุสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าตกลงที่จะต้องขายตึกแถวที่ผู้เช่าอยู่ให้กับผู้เช่าเป็นรายแรก  ถ้าผู้ให้เช่าไม่ปฏิบัติตามผู้เช่ามีสิทธิฟ้องบังคับให้ผู้ให้เช่าปฏิบัติตามสัญญาข้อนี้ได้”  ปรากฏว่าเช่ามาเพียง  1  ปี  แดงซึ่งเป็นเจ้าของตึกที่เช่าได้ยกตึกแถวนี้ให้กับมืดบุตรบุญธรรมของแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  

เมื่อขาวเช่าตึกแถวมาครบกำหนด  3  ปี  ซึ่งตรงกับวันที่  30  เมษายน  2553  มืดได้โทรศัพท์บอกเลิกสัญญาเช่ากับขาว  แต่ขาวต้องการซื้อตึกแถวและให้มืดปฏิบัติตามสัญญาข้อ  5  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และมืดจะต้องปฏิบัติตามความต้องการของขาวหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  3  ปี  เมื่อมีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ  ย่อมใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  538

ตามข้อเท็จจริง  ขาวเช่าตึกแถวมาได้เพียง  1  ปี  แดงซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวได้ยกตึกแถวหลังนี้ให้กับมืด  กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่าและขาวผู้เช่าจึงไม่ระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  มืดต้องให้ขาวเช่าอยู่ต่อไปจนครบกำหนด  3  ปี  ตามสัญญาเช่าตามมาตรา  569  วรรคสอง

สำหรับสัญญาเช่าข้อ  5  ที่ตกลงให้สัญญาเช่ามีต่อไปอีก  3  ปีนั้น  มืดไม่ต้องรับมาเพราะมิฉะนั้นแล้วเท่ากับสัญญาเช่ามีกำหนด  6  ปี  แต่สัญญาเช่าตึกแถวเพียงแต่ทำเป็นหนังสือไม่ได้ไปจดทะเบียนจึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง  3  ปี  ตามมาตรา  538  ส่วนข้อสัญญาที่ว่า หากไม่มีการต่ออายุสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าตกลงที่จะขายตึกแถวให้กับผู้เช่านั้น  เป็นข้อตกลงอื่นไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาเช่าตามมาตรา  569  วรรคสอง  มืดจึงไม่ต้องรับมาเช่นกัน  ดังนั้น  เมื่อขาวเช่าตึกแถวครบกำหนด  3  ปี  มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่าได้  โดยไม่ต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อ  5  ของสัญญาเช่าตึกแถวแต่อย่างใด

สรุป  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย  และมืดไม่ต้องปฏิบัติตามความต้องการของขาว

 

ข้อ  2

(ก)    น้ำเงินได้ทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์หนึ่งคัน  สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา  2  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2552  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  7  ของแต่ละเดือน  เดือนละ  20,000  บาท  ปรากฏว่าเหลืองไม่ชำระค่าเช่าซึ่งตรงกับวันที่  7  มีนาคม  2553  และวันที่  7  เมษายน  2553  ดังนั้นในวันที่  25  เมษายน  2553  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีและเรียกค่าเช่าที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาท  จากเหลือง  ดังนี้  การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

(ก)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  มีกำหนดไว้ในมาตรา  560  กล่าวคือ  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้  แต่ถ้ากำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระไม่น้อยกว่า  15  วัน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่ารถยนต์ระหว่างน้ำเงินและเหลือง  มีการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน  คือทุกๆวันที่  7  ของเดือน  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าของเดือนมีนาคม  และเดือนเมษายน  2553  ยังไม่ทำให้น้ำเงินเกิดสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวได้  เพราะกรณีดังกล่าวต้องตามบทบัญญัติมาตรา  560  วรรคสอง  น้ำเงินจึงต้องบอกกล่าวให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระก่อน  ซึ่งจะต้องให้เวลาอย่างน้อย  15  วัน  ดังนั้นการที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่  25  เมษายน  2553  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินสามารถเรียกค่าเช่า  40,000  บาท  จากเหลืองได้  เพราะเป็นค่าเช่าที่ยังไม่ได้ชำระ 

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในวันที่  7  มีนาคม  2553  และวันที่  7  เมษายน  2553  น้ำเงินย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามมาตรา  574  วรรคแรก  โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อนำค่าเช่าซื้อมาชำระก่อนแต่อย่างใด  เพราะเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ  2  คราวติดกัน  กฎหมายให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที  ดังนั้น การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีในวันที่  25  เมษายน  2553  จึงชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินจะเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาทไม่ได้  จะสามารถเรียกได้เพียงค่าเสียหายที่ไม่ใช่ค่าเช่าซื้อเท่านั้น

สรุป

(ก)    การกระทำของน้ำเงินที่บอกเลิกสัญญาทันทีไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินเรียกค่าเช่าที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาทได้

(ข)   การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาท  ไม่ได้ 

 

ข้อ  3  เขียวจ้างแสดมาทำงานเป็นพนักงานบัญชีโดยตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆสิ้นเดือน  เดือนละ  25,000  บาท  ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2550  แต่ไม่ได้ตกลงในสัญญาจ้างว่าจ้างกันมีกำหนดเวลานานเท่าใด  แสดทำงานมาจนถึงปี  2553  เขียวได้เพิ่มค่าจ้างให้อีกเดือนละ 500  บาท  ปรากฏว่าในวันที่  31  พฤษภาคม  2553  แสดมารับเงินค่าจ้าง  เป็นเงิน  25,500  บาท  ซึ่งเป็นค่าจ้างประจำเดือนไปแล้ว  ครั้นถึงวันที่  2  มิถุนายน  2553  เขียวพบแสดในที่ทำงาน  เขียวจึงบอกเลิกสัญญากับแสด  ดังนี้  แสดมีสิทธิทำงานถึงวันที่เท่าใด  และจะได้รับเงินค่าจ้างถึงวันสุดท้ายของการทำงานอีกเป็นเงินจำนวนเท่าใด  ท่านจงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

โดยหลัก  สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือนตามมาตรา  582  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  เขียวจ้างแสดมาทำงานเป็นพนักงานบัญชี  แต่ไม่ได้ตกลงในสัญญาจ้างว่าจะจ้างกันมีกำหนดเวลานานเท่าใด  สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเขียวได้บอกเลิกสัญญากับแสดในวันที่  2  มิถุนายน  2553  ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในวันที่  30  มิถุนายน  2553  ซึ่งจะมีผลให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่  31 กรกฎาคม  2553  ตามมาตรา  582  วรรคแรก  ดังนั้น  แสดจึงมีสิทธิทำงานถึงวันที่  31  กรกฎาคม  2553  และแสดจะต้องได้รับเงินค่าจ้างในวันที่  30  มิถุนายน  2553  เป็นเงิน  25,500  บาท  กับวันที่  31  กรกฎาคม  2553  เป็นเงิน  25,500  บาท  รวมทั้งหมดเป็นเงิน  51,000  บาท  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย  หรือเขียวจะจ่ายเงินค่าจ้างให้แสดทั้งหมด  51,000  บาท  แล้วให้แสดออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา  582  วรรคสอง

สรุป  แสดมีสิทธิทำงานถึงวันที่  31  กรกฎาคม  2553  และจะได้รับเงินค่าจ้างถึงวันสุดท้ายของการทำงานอีกเป็นเงินทั้งหมด  51,000 บาท 

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 1/2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวหนึ่งคูหา  มีกำหนดเวลา  2  ปี  สัญญาเช่าข้อ  5  มีข้อความว่า  “ผู้เช่าได้ให้เงินประกันสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่าไว้แล้วเป็นเงิน  70,000  บาท  หากสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาแก่ผู้เช่า”  และในสัญญาข้อ  6  มีข้อความว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่า  เช่าต่อไปอีก  2  ปี”  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  6  เดือนเท่านั้นเอง  

แดงได้ยกตึกที่เช่าซึ่งแดงเป็นเจ้าของให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย  ครั้นการเช่าตึกแถวครบกำหนด  2  ปี  ซึ่งตรงกับวันที่  30  กันยายน  2553  มืดกลับเรียกตึกแถวคืนทันทีจากขาวในวันที่  3  ตุลาคม  2553  ขาวเรียกให้มืดปฏิบัติตามสัญญาข้อ  5  และข้อ  6  มืดไม่ยอมปฏิบัติตามเลย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  569  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

ตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  2  ปี  เมื่อทำสัญญาเป็นหนังสือจึงใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  538  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผ่านไป  6  เดือน  แดงได้ยกตึกแถวคูหานี้ให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตาม มาตรา  569  วรรคแรก  โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  มืดต้องให้ขาวเช่าอยู่ในตึกแถวนั้นต่อไปจนครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาเช่าตามมาตรา  569 วรรคสอง

และเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  มืดได้เรียกตึกแถวนั้นคืนจากขาว  แต่ขาวได้เรียกให้มืดปฏิบัติตามสัญญาข้อ  5  และข้อ  6  นั้น  ดังนี้สัญญาข้อ  5  มืดไม่ต้องรับมาเพราะเป็นสิทธิและหน้าที่อย่างอื่นนอกเหนือจากสัญญาเช่า  ส่วนสัญญาข้อ  6  ก็เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่นซึ่งเป็นบุคคลสิทธิผูกพันเฉพาะระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  เพราะคำมั่นไม่ใช่สัญญา  มืดจึงไม่ต้องรับคำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวมาด้วยเช่นกัน  ดังนั้นการที่มืดปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาข้อ 5  และข้อ  6  จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)    เหลืองทำสัญญาเป็นหนังสือให้ม่วงเช่ารถบรรทุกมีกำหนดเวลา  2  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2553  เป็นต้นไป  โดยตกลงจ่ายค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  เดือนละ  25,000  บาท  ม่วงได้ให้ค่าเช่าล่วงหน้าในวันทำสัญญาเช่าเป็นเงิน  100,000  บาท  (หนึ่งแสนบาท)  ปรากฏว่าม่วงไม่ได้ชำระค่าเช่าเลยตั้งแต่เดือนมกราคม  2553  มาจนถึงปัจจุบันนี้  ดังนั้น  ในวันที่  16  ตุลาคม  2553  เหลืองจึงบอกเลิกสัญญากับม่วงทันที  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของเหลืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่า  ชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

ตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์ระหว่างเหลืองกับม่วงตกลงชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  แม้จะปรากฏว่าม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าติดต่อกันนานถึง  5  เดือน  (ค่าเช่าล่วงหน้า  100,000  บาท  ใช้ได้เพียง  4  เดือนแรก)  เหลืองก็จะบอกเลิกสัญญาเช่าในทันทีไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ม่วงนำค่าเช่ามาชำระก่อนโดยให้เวลาไม่น้อยกว่า  15  วัน  ดังนั้นการกระทำของเหลืองจึงมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  560

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าติดต่อกัน  5  เดือนนั้น  ถือเป็นกรณีที่ผู้เช่าไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกันแล้ว  ดังนั้นเหลืองผู้ให้เช่าซื้อจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันทีตามมาตรา  574  วรรคแรก  การกระทำของเหลืองจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก)    การกระทำของเหลืองไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การกระทำของเหลืองชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  หนึ่งทำสัญญาจ้างสองให้ก่อสร้างโรงงาน  มีกำหนดเวลา  2  ปี  ตั้งแต่วันที่  10  มกราคม  2552  ถึงวันที่  9  มกราคม  2554  โดยตกลงชำระสินจ้างให้เป็นงวดๆ  ตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจ้างตามความสำเร็จของงาน  สองได้ทำสัญญาจ้างสามเป็นหัวหน้าคนงานมีกำหนดเวลา  2  ปีเช่นกัน  ตั้งแต่วันที่  10  มกราคม  2552  ถึงวันที่  9  มกราคม  2554  โดยตกลงชำระสินจ้างเดือนละ  10,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  เมื่อวันที่  1  มิถุนายน  2552  หนึ่งได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อสร้างโรงงานโดยอ้างว่า  เศรษฐกิจไม่ดีหุ้นส่วนขอยกเลิกการลงทุน  สองจึงบอกเลิกสัญญาจ้างสามในวันที่  30  มิถุนายน  2552  เช่นกัน  เพราะหนึ่งได้บอกเลิกสัญญากับสองแล้ว  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว

(ก)    หนึ่งบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานกับสองได้หรือไม่

(ข)   สองบอกเลิกสัญญาจ้างสามได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้น  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับผู้รับจ้าง  (มาตรา  605)

ตามอุทาหรณ์  สัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานดังกล่าว  เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างคือสอง  ตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับหนึ่งผู้ว่าจ้าง  และหนึ่งตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จของงานที่ทำนั้น  จึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา  587  เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าวันที่  1  มิถุนายน  2552  ในขณะที่โรงงานยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ  หนึ่งผู้ว่าจ้างได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานดังกล่าวกับสอง  ดังนี้ถือว่าหนึ่งสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้  แต่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญานั้นให้แก่สองด้วย  ตามมาตรา  605

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  575  อันว่าจ้างแรงงานนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ลูกจ้าง  ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

วินิจฉัย

โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  ถ้าเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  สัญญานั้นย่อมระงับลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้  ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างมิได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ตกลงกันไว้  นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สองจ้างสามเป็นหัวหน้าคนงาน  โดยตกลงจ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่สามทำงานให้  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  เมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมีกำหนดเวลา  2  ปี  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าสามได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่อย่างใด  และการจ้างก็ยังไม่ครบกำหนดเวลา  2  ปี  สองจึงบอกเลิกสัญญาจ้างสามในวันที่  30  มิถุนายน  2552  ไม่ได้

สรุป

(ก)    หนึ่งบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานกับสองได้

(ข)   สองบอกเลิกสัญญาจ้างสามไม่ได้

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 2/2553

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา  3  ปี  ซึ่งสัญญาเช่าครบกำหนด  3  ปี  ในปี  2552  แต่ปรากฏว่าขาวผู้เช่าอยู่ในที่ดินต่อมาในปี  2553  โดยที่แดงรับเงินค่าเช่าจากขาวมาเรื่อยๆ  โดยไม่ทักท้วงจนถึงปี  2554  ขาวก็ยังคงเช่าที่ดินแดงมาตลอด  และจ่ายค่าเช่าให้กับแดงทุกๆวันที่  1  ของแต่ละเดือน  โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่แต่อย่างใด  

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ในเดือนกุมภาพันธ์  2554  ขาวนำค่าเช่ามาชำระในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  แดงจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวโดยแดงให้ขาวออกจากที่ดินไปในวันที่  16  กุมภาพันธ์  2554  แต่ขาวไม่ยอมออกจากที่ดินและขาวอยู่ในที่ดินจนถึงวันที่  13  มีนาคม  2554  ดังนั้น  แดงจึงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากขาวในวันที่  14  มีนาคม  2554  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การฟ้องเรียกที่ดินคืนดังกล่าวของแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าที่ดินระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกำหนดเวลา  3  ปี  และได้ทำสัญญากันเป็นหนังสือ  สัญญาเช่าดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  538

ตามข้อเท็จจริง  เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด  3  ปี  ในปี  2553   การที่ขาวอยู่ในที่ดินต่อมาและชำระค่าเช่าให้กับแดง  โดยที่แดงก็ไม่ได้ทักท้วงนั้น  ถือเป็นการทำสัญญาเช่ากันใหม่ต่อไป  โดยเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  570 ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาให้นำสัญญาเดิมมาบังคับ

ดังนั้นเมื่อเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  ขาวมาชำระค่าเช่า  แดงจึงบอกเลิกสัญญาได้  แม้ขาวจะไม่เคยผิดสัญญา  ทั้งนี้ตามมาตรา  566  แต่การที่แดงบอกเลิกสัญญาและให้ขาวออกไปจากที่ดินในวันที่  16  กุมภาพันธ์  2554  นั้น  ถือว่าเป็นการบอกเลิกที่ไม่ชอบตามมาตรา  566  เพราะตามหลักกฎหมายดังกล่าว  แดงจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวและให้ขาวอยู่ในที่ดินจนถึงวันที่  1  มีนาคม  2554  ซึ่งเป็นชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม  แม้การบอกเลิกสัญญาเช่าจะไม่ชอบตามมาตรา  566  แต่การบอกเลิกดังกล่าว  ก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด  ดังนั้น  เมื่อแดงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากขาวในวันที่  14  มีนาคม  2554  ซึ่งเลยวันที่  2  มีนาคม  2554  มาแล้ว  การฟ้องเรียกที่ดินคืนของแดงจึงชอบด้วยกฎหมาย  เพราะการนับเวลาตามมาตรา  566  ให้นับไปจนถึงวันฟ้องขับไล่  ดังนั้นขาวจึงต้องส่งที่ดินคืนให้กับแดง

สรุป  การฟ้องเรียกที่ดินคืนของแดงชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)    แสดทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่ารถยนต์คันหนึ่งมีกำหนดเวลา  1  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  7  ของแต่ละเดือน  เป็นค่าเช่าเดือนละ  30,000  บาท  ม่วงได้จ่ายค่าเช่าให้กับแสดไว้เป็นเงิน  60,000  บาท  เป็นค่าเช่าล่วงหน้า  เมื่อแสดส่งมอบรถยนต์ให้ม่วงแล้ว  ม่วงไม่ชำระค่าเช่าให้แสดเลยจนถึงปัจจุบันนี้  ดังนั้น  ในวันที่  10  มีนาคม  2554  แสดไปทวงค่าเช่ากับม่วง  แต่ม่วงไม่ยอมจ่ายค่าเช่าให้กับแสด  ดังนั้น  ในวันที่  14  มีนาคม  2554  แสดจึงบอกเลิกสัญญากับม่วงทันที  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การกระทำของแสดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อคำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด 

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา  560  ไดบัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ม่วงจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้กับแสดไว้  60,000  บาทนั้น  ทำให้ม่วงมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้ใน  2  เดือนแรกคือ  เดือนมกราคม  และกุมภาพันธ์  แต่ในเดือนมีนาคม  2554  ม่วงต้องชำระค่าเช่าให้แสด  ดังนั้น  การที่ม่วงไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  7  มีนาคม  2554  และเมื่อแสดไปทวงค่าเช่าในวันที่  10  มีนาคม  2554  ม่วงก็ไม่ยอมจ่ายนั้น  โดยหลักแสดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา  560  วรรคแรก

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  มีการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนคือทุกๆวันที่  7  ของเดือน  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าในเดือนมีนาคม  2554  นั้น  จึงยังไม่ทำให้แสดเกิดสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวได้  เพราะกรณีดังกล่าวต้องตามบทบัญญัติมาตรา  560  วรรคสอง  กล่าวคือ  แสดต้องบอกกล่าวให้ม่วงนำค่าเช่ามาชำระก่อน  ซึ่งจะต้องให้เวลาอย่างน้อย  15  วัน  ดังนั้น  การที่แสดบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่  14  มีนาคม  2554  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในวันที่  7  มีนาคม  2554  นั้น  ถือว่าม่วงผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไว้แล้วสองคราว  ดังนั้น  การที่แสดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะการที่แสดเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาได้  จะต้องปรากฏว่าม่วงผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก

สรุป

(ก)   การกระทำของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  การกระทำของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

ข้อ  3

(ก)    นายดำทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นลูกจ้าง  ตกลงจ่ายสินจ้างเดือนละ  8,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  ต่อมา  นายแดงขอเบิกเงินค่าจ้างไปเป็นค่าใช้จ่ายก่อนเสมอๆ  เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายแดง  นายดำจึงจ่ายสินจ้างให้นายแดงเดือนละสองครั้ง  คือทุกๆวันที่  15  และวันสิ้นเดือน  แต่เมื่อนายดำมีรายได้จากการทำการค้าลดน้อยลง  ทำให้ต้องลดภาระค่าใช้จ่ายลง  นายดำจึงบอกกล่าวแก่นายแดงในวันที่  15  พฤษภาคม  ว่าจะเลิกสัญญาจ้างและบอกเลิกสัญญาในวันที่  31  พฤษภาคม  แต่นายแดงไม่เห็นด้วย  เช่นนี้  จะต่อสู้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

(ข)    นายขาวทำสัญญาจ้างนายดำสร้างอาคาร  3  หลัง  นายดำทำการก่อสร้างอาคาร  2  หลัง  และทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นผู้รับจ้างช่วงสร้างอาคาร  1  หลัง  ในระหว่างการก่อสร้างนายขาวพบเห็นความบกพร่องของอาคารที่นายแดงทำการก่อสร้างว่ามีรอยร้าวหลายแห่งและสร้างผิดแบบตามสัญญาที่ตกลงกันไว้  นายขาวจึงบอกกล่าวให้นายดำทำการแก้ไขซ่อมแซมให้ถูกต้องด้วย  แต่นายดำกล่าวอ้างว่าไม่ใช่การงานส่วนที่ตนจะต้องรับผิดชอบ  จะต้องไปบอกกล่าวให้นายแดงแก้ไขซ่อมแซม  ส่วนนายขาวก็กล่าวอ้างว่าได้ทำสัญญาจ้างนายดำให้ทำการก่อสร้าง  นายดำจะไปจ้างบุคคลอื่นให้มาทำการก่อสร้างช่วงไม่ได้  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ท่านมีความเห็นอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

โดยหลัก  สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า  ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  โดยไม่จำต้องบอกล่วงหน้ากว่าสามเดือน  ตามมาตรา  582  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายดำทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นลูกจ้างนั้น  ถือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน  เมื่อไม่ได้มีการตกลงกันว่าจะจ้างกันมีกำหนดเวลานานเท่าใด  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ซึ่งการบอกเลิกสัญญาก็ต้องทำตามมาตรา  582 วรรคแรก

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายดำเปลี่ยนเวลาจ่ายสินจ้างจากเดือนละครั้งเป็นเดือนละสองครั้งนั้น  ถือเป็นการทำไปเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างให้มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายเท่านั้น  ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนฐานะของลูกจ้างจากลูกจ้างรายเดือนเป็นราย  15  วันแต่อย่างใด  ดังนั้น  การที่นายดำบอกกล่าวแก่นายแดงในวันที่  15  พฤษภาคม  ว่าจะเลิกสัญญาจ้างและบอกเลิกสัญญาในวันที่  31  พฤษภาคม  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  นายแดงจึงสามารถต่อสู้ได้ว่า  เมื่อมีการบอกกล่าวในวันที่  15  พฤษภาคม  ก็จะมีผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือวันที่  30  มิถุนายน  ตามมาตรา  582  วรรคแรก

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  607  ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้  เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง  แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆของผู้รับจ้างช่วง

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  สัญญาจ้างทำของไม่ใช่สัญญาเฉพาะตัวของผู้รับจ้าง  ผู้รับจ้างจึงสามารถทำการจ้างช่วงต่อได้  แต่มีข้อยกเว้นว่า  ถ้าสาระสำคัญของสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง  จะทำสัญญาจ้างช่วงไม่ได้  แต่อย่างไรก็ดีผู้รับจ้างก็ยังคงต้องรับผิดในความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆที่ผู้รับจ้างช่วงได้ทำขึ้น  (มาตรา  607)

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาระหว่างนายขาวกับนายดำเป็นสัญญาจ้างทำของ  (มาตรา  587)  เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวสาระสำคัญของสัญญาไม่ได้อยู่ที่ความสามารถเฉพาะตัวของผู้รับจ้าง  นายดำผู้รับจ้างจึงสามารถทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นผู้รับจ้างช่วงได้  (มาตรา  607)  ดังนั้น  นายขาวจะอ้างว่านายดำไม่สามารถจ้างนายแดงเป็นผู้รับจ้างช่วงไม่ได้

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  อาคารที่นายแดงทำการก่อสร้างนั้นมีรอยร้าวหลายแห่ง  และสร้างผิดแบบตามสัญญาที่ตกลงกันไว้  นายดำผู้รับจ้างจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้ตามมาตรา  607  ดังนั้น  นายดำจะกล่าวอ้างให้นายขาวไปบอกกล่าวแก่นายแดงผู้รับจ้างช่วง  โดยปฏิเสธว่าไม่ใช่งานในส่วนที่ตนรับผิดชอบไม่ได้

สรุป

(ก)    นายแดงสามารถต่อสู้ได้ว่า  การบอกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   ข้อกล่าวอ้างของทั้งนายดำและนายขาวรับฟังไม่ได้

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ S/2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์หนึ่งคูหา  มีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2554  แล้วผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก  3  ปี  โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ  แต่ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2554  ว่าต้องการเช่าต่อด้วย”  ขาวเช่าอาคารมาได้เพียง  6  เดือนเท่านั้น

แดงซึ่งเป็นเจ้าของอาคารได้ยกอาคารให้กับดำบุตรบุญธรรมของแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวอยู่ในอาคารมาจนถึงวันที่  31  มกราคม  2554  ขาวจึงแจ้งให้กับดำทราบว่าขาวต้องการเช่าต่อไปอีก  3  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และดำตอบกับขาวว่าดำตกลง  ขาวจึงอยู่ในอาคารต่อมาจนถึงเดือนมีนาคม  2554  แต่ถูกดำเรียกอาคารคืน  และบอกเลิกการเช่ากับขาว  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของดำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  569  ได้กำหนดเอาไว้ว่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  3  ปี  เมื่อทำสัญญาเป็นหนังสือ  สัญญาเช่าจึงชอบด้วยมาตรา  538  และสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ขาวเช่าอาคารมาได้เพียง  6  เดือน  แดงได้ยกอาคารหลังนี้ให้กับดำบุตรบุญธรรมของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยดำผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  ดำต้องให้ขาวเช่าอยู่ในอาคารพาณิชย์นั้นต่อไปจนครบกำหนด  3  ปี  ตามสัญญาเช่าตามมาตรา  569  วรรคสอง

ส่วนสัญญาเช่าข้อสุดท้ายนั้นถือเป็นคำมั่น  โดยหลักแล้วย่อมมีผลผูกพันเฉพาะระหว่างคู่สัญญา  คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวจึงต้องระงับไปพร้อมกับการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่า  ดำจึงไม่ต้องผูกพันรับคำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวมาด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด  ขาวได้แจ้งให้กับดำทราบว่าขาวต้องการเช่าอาคารต่อไปอีก  3  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และดำได้ตอบตกลงแล้ว  จึงถือเป็นกรณีที่ดำยอมปฏิบัติตามคำมั่นที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่า  ดำจึงต้องให้ขาวเช่าอาคารต่อไปอีก  3  ปีตามคำมั่น  ดังนั้น  การที่ดำเรียกอาคารคืน  และบอกเลิกการเช่ากับขาวในเดือนมีนาคม  2554  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การกระทำของดำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2

(ก)   มืดทำสัญญาเป็นหนังสือให้เขียวเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา  2  ปีนับตั้งแต่วันที่  1 มกราคม  2554  และตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ  35,000  บาท  โดยต้องชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อ  5  ตกลงว่า  “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เลย  โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่านำค่าเช่ามาชำระ”  ในวันที่  1  มกราคม  2554  เขียวได้ชำระค่าเช่าไว้ล่วงหน้าเป็นเงินทั้งสิ้น  105,000  บาท  แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นเขียวไม่ชำระค่าเช่าเลย  จนถึงปัจจุบัน  ดังนั้น  ครั้นถึงวันที่  17  พฤษภาคม  2554  มืดจึงบอกเลิกสัญญากับเขียวทันที  ดังนี้  การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)   ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  151  การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย  ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นไม่เป็นโมฆะ

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15 วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เขียวได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับมืด  105,000  บาทนั้น  ทำให้เขียวมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้ใน  3  เดือนแรก  คือ  เดือนมกราคม  กุมภาพันธ์  และมีนาคม  แต่ในเดือนเมษายน  2554  เขียวต้องชำระค่าเช่าให้มืด  ดังนั้น  เมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  การที่เขียวไม่ชำระค่าเช่าในเดือนเมษายนนั้น  โดยหลักมืดจะบอกเลิกสัญญากับเขียวทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้เขียวชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  หากเขียวยังไม่ยอมชำระอีกมืดจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  560  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  บทบัญญัติมาตรา  560  ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  เมื่อในสัญญาเช่าข้อ  5  มีการตกลงกันว่า  “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เลย  โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่านำค่าเช่ามาชำระ”  จึงสามารถใช้บังคับกันได้ตามมาตรา  151  ดังนั้น  การที่มืดบอกเลิกสัญญากับเขียวทันทีในวันที่  17  พฤษภาคม  2554  จึงชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เขียวผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนเมษายน  2554  นั้น  ถือว่าเขียวผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้วสามคราว  ดังนั้น  การที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่มืดเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาได้  จะต้องปรากฏว่าเขียวผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช่เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านขายของของเหลือง  ตกลงชำระสินจ้างทุกๆวันที่  15  ของแต่ละเดือน  แต่ไม่ได้ตกลงว่าจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใดโดยน้ำเงินได้รับค่าจ้างเดือนละ  13,250  บาท  น้ำเงินทำงานมาจนถึงปี  2554  น้ำเงินไม่อยากทำงานต่อไป  และในวันที่  17  พฤษภาคม  2554  น้ำเงินจึงไปพบเหลือง  และขอบอกเลิกสัญญา  ดังนี้  น้ำเงินจะต้องทำงานให้เหลืองต่อไปอีกถึงวันที่เท่าใด  และน้ำเงินจะได้รับสินจ้างตั้งแต่วันที่  17  พฤษภาคม  2554  ถึงวันสิ้นสุดสัญญาจ้างเป็นเงินจำนวนเท่าใด  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  582  วรรคแรก  ได้กำหนดไว้ว่า  สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า  ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า  3  เดือน

กรณีตามอุทาหรณ์  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านขายของของเหลือง  แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใด  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่  17  พฤษภาคม  2554  น้ำเงินได้ไปพบเหลืองและขอบอกเลิกสัญญา  จึงถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในวันที่  15  มิถุนายน  2554  ซึ่งจะมีผลให้สัญญาสิ้นสุดในวันที่  15  กรกฎาคม  2554  ตามมาตรา  582  วรรคแรก  ดังนั้น  น้ำเงินจึงต้องทำงานต่อไปถึงวันที่  15  กรกฎาคม  2554  และน้ำเงินจะได้รับเงินค่าจ้างในวันที่  15  มิถุนายน  2554  เป็นเงิน  13,250  บาท  กับวันที่  15  กรกฎาคม  2554  เป็นเงิน  13,250  บาท  รวมทั้งหมดเป็นเงิน  26,500  บาท  หรือเหลืองจะจ่ายเงินค่าจ้างให้น้ำเงินทั้งหมด  26,500  บาท  แล้วให้น้ำเงินออกจากงานในทันทีเลยก็ได้ตามมาตรา  582  วรรคสอง

สรุป  น้ำเงินจะต้องทำงานให้เหลืองต่อไปอีกถึงวันที่  15  กรกฎาคม  2554  และน้ำเงินจะได้รับสินจ้างตั้งแต่วันที่  17  พฤษภาคม  2554  ถึงวันสิ้นสุดสัญญาจ้างเป็นจำนวนเงิน  26,500  บาท 

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 1/2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวของแดงมีกำหนดเวลา  2  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า  “ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่ 31  สิงหาคม  2554  หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่ออีก  2  ปี  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าต่อไปอีก  แต่ผู้เช่าต้องตอบให้ผู้ให้เช่าทราบภายในวันที่  15  กันยายน  2554  เท่านั้น  แต่ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงิน  50,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น”  

ปรากฏว่าขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้กับดำพี่ชายบุญธรรมของภริยาแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวเช่าตึกแถวมาจนครบ  2  ปี  ในวันที่  31  สิงหาคม  2554  ขาวได้แจ้งให้ดำทราบว่าขาวมีความประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  2  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย แต่ดำปฏิเสธและเรียกให้ขาวคืนตึกแถวให้ภายในวันที่  16  กันยายน  2554  ขาวจึงเรียกเงินค่าขนย้าย  50,000  บาท  ดังกล่าวจากดำอีก  แต่ดำก็ปฏิเสธอีกเช่นกัน  ให้วินิจฉัยว่าการปฏิเสธของดำทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกำหนด  2  ปี  ได้ทำเป็นหนังสือ  สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  538  และสามารถใช้บังคับกันได้  2  ปี  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาได้เพียง  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้กับดำพี่ชายบุญธรรมของภริยาแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยดำผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  ดำต้องให้ขาวเช่าตึกแถวนั้นต่อไปจนครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาเช่า

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่เขียนไว้ว่า   “ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่  31  สิงหาคม  2554  หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่ออีก  2  ปี  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าต่อไปอีก”  นั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่น  ไม่ใช่สิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันดำ  ดังนั้น  การที่ขาวได้แจ้งให้ดำทราบว่ามีความประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  2  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และดำปฏิเสธและเรียกให้ขาวคืนตึกแถวนั้น  คำปฏิเสธของดำกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อสัญญาที่ว่า  “ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงิน  50,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น”  นั้น  ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น  มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  ผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพันตามข้อสัญญานี้  เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนจะต้องรับมาด้วยนั้น  คือสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  ดังนั้น  การที่ขาวเรียกค่าขนย้าย  50,000  บาท  แต่ดำปฏิเสธ  คำปฏิเสธของดำกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป  คำปฏิเสธของดำทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)    น้ำเงินทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์บรรทุกมีกำหนดเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2554  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  1  ของเดือน  เดือนละ  25,000  บาท  ในวันทำสัญญาเช่า  เหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไว้เป็นเงิน  150,000  บาท  แต่ปรากฏว่าเมื่อได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าแล้วเหลืองไม่เคยชำระค่าเช่าเลยจนถึงเดือนกันยายน  ดังนั้นในวันที่  5  กันยายน  2554  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันที  และให้เหลืองส่งรถยนต์คืนภายในวันที่  15  กันยายน  2554  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่า  กำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับน้ำเงินเป็นเงิน  150,000  บาทนั้น  ทำให้เหลืองมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้  6  เดือน  คือ  เดือนมีนาคม  เมษายน  พฤษภาคม  มิถุนายน  กรกฎาคม  และเดือนสิงหาคม  แต่เดือนกันยายนเหลืองต้องชำระค่าเช่าให้น้ำเงิน  (ในวันที่  1  กันยายน  2554)  และเมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  การที่เหลืองไม่ชำระค่าเช่าในเดือนกันยายนนั้น  น้ำเงินจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้  แต่น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้เหลืองชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าเหลืองยังไม่ยอมชำระอีกน้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้น  การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนกันยายน  2554  ถือว่าเหลืองผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว  6  คราว  ดังนั้น  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้  เพราะการที่น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาได้จะต้องปรากฏว่าเหลืองผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  ดังนั้น  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นคำตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ  3  นายรำลึกทำสัญญาจ้างนายสำเภาให้รื้อตึก  20  คูหาและก่อสร้างตึกใหม่  โดยมีข้อตกลงให้ชำระสินจ้างเป็นงวดๆ  ตามความสำเร็จของงาน  นายสำเภาจึงได้ทำสัญญาจ้างนาย  1  เป็นหัวหน้าคนงาน  มีกำหนดเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  กรกฎาคม  และทำสัญญาจ้างนาย  2  ถึงนาย  10  เป็นลูกจ้างทั่วไปไม่มีกำหนดเวลา  โดยตกลงชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  เมื่อเริ่มทำงานได้เพียงสองเดือนนายรำลึกเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหาไม่ควรลงทุนในช่วงนี้จึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสำเภาในวันที่  10  กันยายน  นายสำเภาเห็นว่าไม่มีงานให้ทำต่อไปแล้วจึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ถึงนาย  10  ทันทีในวันที่  15  กันยายน  โดยชำระสินจ้างให้ครึ่งหนึ่ง  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้

(ก)    นายสำเภาจะต่อสู้ว่าได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)   นาย  1  ถึงนาย  10 จะต่อสู้ได้อย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  575  อันว่าจ้างแรงงานนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ลูกจ้าง  ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

(ก)   โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้น  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับผู้รับจ้าง  ตามมาตรา  605

ตามอุทาหรณ์  สัญญาจ้างให้รื้อตึก  20  คูหาและก่อสร้างตึกใหม่ดังกล่าว  เป็นกรณีที่นายสำเภา  ตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับนายรำลึกผู้ว่าจ้าง  และนายรำลึกผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จของงานที่ทำนั้น  จึงเป็นสัญญาจ้างทำงาน  ตามมาตรา 587

เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า  ในวันที่  10  กันยายน  ซึ่งนายสำเภาผู้รับจ้างเริ่มทำงานได้เพียงสองเดือน  และงานที่จ้างก็ยังทำไม่แล้วเสร็จ  นายรำลึกผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสำเภา  ดังนี้ถือว่านายรำลึกมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา  605  แต่นายรำลึกจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากการยกเลิกสัญญานั้นให้กับนายสำเภา  นายสำเภาจะต่อสู้ว่าตนได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้

(ข)   โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  ถ้าเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอนสัญญานั้นย่อมระงับลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้  ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างมิได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ตกลงกันไว้  นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

ตามอุทาหรณ์  การที่นายสำเภาทำสัญญาจ้างนาย  1  เป็นหัวหน้าคนงานโดยตกลงจ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่นาย  1  ทำงานให้  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  และเมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมีกำหนดเวลา  1  ปี  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ดังนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่านาย  1  ได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่อย่างใด  และการจ้างก็ยังไม่ครบกำหนดเวลา  1  ปี  นายสำเภาจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ในวันที่  15  กันยายนไม่ได้  เมื่อนายสำเภาบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ในวันที่  15  กันยายน  นาย  1  จึงสามารถต่อสู้ได้ว่านายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ได้เพราะยังไม่ครบกำหนดเวลา  1  ปี  ตามสัญญาจ้าง

ส่วนสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายสำเภากับนาย  2  ถึงนาย  10  นั้น  เมื่อเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา  ดังนั้น  นายสำเภาสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้  แต่ต้องดำเนินการตามมาตรา  582  วรรคแรก  กล่าวคือ  จะต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้าและให้มีผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  2  ถึงนาย  10  ทันทีในวันที่  15  กันยายนไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้นาย  2  ถึงนาย  10  ทราบก่อนในวันที่  30  กันยายน  และไปบอกเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปในวันที่  31  ตุลาคม

แต่อย่างไรก็ดี  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างและให้นาย  2  ถึงนาย  10  ออกจากงานไปเลยในวันที่  15  กันยายนก็ได้  แต่ต้องจ่ายสินจ้างที่ต้องจ่ายในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมรวมสองเดือน  แล้วให้นาย  2  ถึงนาย  10  ออกจากงานไปทันทีได้เลยตามมาตรา  582  วรรคสอง  มิใช่จ่ายสินจ้างให้เพียงครึ่งหนึ่ง

สรุป

(ก)    นายสำเภาจะต่อสู้ว่าได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้

(ข)   นาย  1  สามารถต่อสู้ได้ว่า  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ได้เพราะยังไม่ครบกำหนด  1  ปี  ตามสัญญาจ้าง

WordPress Ads
error: Content is protected !!