LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา  137)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่าง

ธงคำตอบ

มาตรา  137  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ

อธิบาย 

ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       แก่เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

4       โดยเจตนา

แจ้งข้อความ  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น  อาจกระทำโดยวาจา  โดยการเขียนเป็นหนังสือ  หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

ข้อความอันเป็นเท็จ  หมายถึง  ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง  เช่น  นาย  ก  ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว  ข  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ทั้งๆที่นาย  ก  มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  คือ  นาง  ค  เช่นนี้เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน  ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่  จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้อาจเกิดขึ้นได้  2  กรณีคือ

(ก)  ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง

(ข)  โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เช่น  ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง  แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า  บิดาเป็นไทย  ความจริงเป็นจีน  ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด  ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา  137  นี้แล้ว

สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง  ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน  เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล  จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137  (ฎ. 1274/2513)

ส่วนในคดีอาญา  ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้  เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้   แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ  หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา  ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด  ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่  (ฎ.1093/2522)  แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา  จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย  แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม  แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น  เช่น  เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง  หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง  เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ  เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

แก่เจ้าพนักงาน  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้  ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น  และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  ตำรวจ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้  ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า  อาจทำให้เสียหาย  จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ  และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย  ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137

นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  นางโท  หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ  น.ส.ตรีอีก  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ซึ่งทั้งนางโทและ  น.ส.ตรี  ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย  เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส  ซึ่งกระทำโดยเจตนา  เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ  หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ  น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้  นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137

แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว  ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส  ดังนี้  การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว  แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส  จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  (ฎ.1237/2544)

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา  144)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่าง

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  144  นี้  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย  จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม  กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา  144  เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144

นายแดงถูก  ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง  จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว  แต่  ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่  ส.ต.อ.ขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา  นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายแดงทราบว่า  ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้  ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง (เบิกความเท็จ)  ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  (ฎ.439/2469)

 

ข้อ  3  นายโหดต้องการแก้แค้นนายดีคู่อริ  จึงลอบเผาบ้านของนายดี  ตำรวจดับเพลิงและชาวบ้านช่วยกันดับไฟและนายดีออกจากบ้านได้โดยปลอดภัยไม่ได้รับอันตราย  แต่นายดีนึกเสียดายเงินที่ซ่อนไว้ได้วิ่งเข้าไปในบ้านเพื่อเอาเงินแล้วออกมาไม่ได้  ถูกไฟลวกถึงแก่ความตายในกองเพลิง  ดังนี้  นายโหดมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

มาตรา  218  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้

(1) โรงเรียน  เรือ  หรือแพที่คนอยู่อาศัย

ต้องระวางโทษ

มาตรา  224  วรรคแรก  ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา  217  มาตรา  218  มาตรา  221  หรือมาตรา  222  เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย  ผู้กระทำต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  218  นั้น  ในเบื้องต้นการกระทำจะต้องครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  217  อันเป็นหลักทั่วไปก่อน  กล่าวคือ

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

เมื่อการกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  217  แล้วจึงมาพิจารณาว่าทรัพย์ที่วางเพลิงเผานั้นเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา  218 หรือไม่  ถ้าเป็นแล้ว  ผู้กระทำมีความผิดตามมาตรา  218  อันเป็นลักษณะฉกรรจ์  ต้องรับโทษสูงกว่าที่ระบุไว้ในมาตรา  217

วางเพลิงเผา  หมายถึง  การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม  แม้จะไหม้เพียงบางส่วนก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว  แต่ถ้าหากยังไม่เกิดไฟไหม้ขึ้น  ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น

ทรัพย์ของผู้อื่น  ถ้าเป็นทรัพย์ของตนเอง  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำมีความต้องการที่จะเผาทรัพย์นั้นและรู้ว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่นด้วย

การที่นายโหดต้องการแก้แค้นนายดีคู่อริ  จึงลอบเผาบ้านของนายดี  ดังนี้เป็นกรณีที่ผู้กระทำมีความต้องการที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  โดยรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น  จึงเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา  217  แต่เนื่องจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นบ้านของนายดี  ซึ่งเป็นโรงเรือนอันเป็นที่อยู่อาศัย  อันเป็นความผิดตามมาตรา  218(1)  ดังนั้นนายโหดจึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตามมาตรา  218(1)

ส่วนกรณีที่นายดีถึงแก่ความตายนั้น  นายโหดจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา  224  วรรคแรกหรือไม่  เห็นว่า  เหตุที่จะทำให้ผู้กระทำผิดตามมาตรา  218  ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะการกระทำนั้น  จะต้องเข้าหลักเกณฑ์  คือ

1       ต้องเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา  217  มาตรา  218  มาตรา  221  หรือมาตรา  222

2       การกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย

3       ความตายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลโดยตรงหรือผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้

ดังนั้นแม้นายโหดจะได้กระทำความผิดตามมาตรา  218(1)  แต่การที่นายดีได้วิ่งเข้าไปในบ้านเพื่อเอาเงินแล้วออกมาไม่ได้  ถูกไฟลวกถึงแก่ความตายในกองเพลิงนั้น  การวิ่งเข้าไปในบ้านขณะที่เพลิงกำลังไหม้อยู่นั้น  เป็นการสมัครใจของนายดีซึ่งเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายเอง  หาใช่การวางเพลิงของนายโหดเป็นเหตุให้นายดีถึงแก่ความตายไม่  ดังนั้นเมื่อความตายของนายดีนั้นไม่ใช่ผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้น  นายโหดจึงไม่มีความผิดตามมาตรา  224  วรรคแรก  คงมีความผิดเพียงมาตรา  218(1)  เท่านั้น  (ฎ.1412/2504 (ประชุมใหญ่)) 

สรุป  นายโหดมีความผิดตามมาตรา  218(1)  แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา  224  วรรคแรก

 

ข้อ  4  นายหนึ่งกู้ยืมเงินนายสองจำนวน  10,000  บาท  นายหนึ่งได้ทำสัญญากู้ส่งมอบให้นายสองเก็บไว้เป็นหลักฐาน  ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์นายสองนำสัญญากู้มาดู  ปรากฏว่าในสัญญากู้ไม่มีพยานเซ็นชื่อในท้ายสัญญา  นายสองจึงไปขอร้องให้นายสามช่วยเซ็นชื่อในฐานะพยาน  นายสามได้เซ็นชื่อของนายสามเอง  ลงในท้ายสัญญากู้  จากนั้นได้เขียนข้อความต่อท้ายลายเซ็นมีข้อความว่า  พยานผู้ให้การรับรอง  ข้อเท็จจริงได้ความว่าการี่นายสองขอให้นายสามช่วยเซ็นชื่อเป็นพยานนั้น  นายหนึ่งไม่ทราบเรื่องแต่ประการใด  ดังนี้  นายสามมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

 4       โดยเจตนา

ในเรื่องการปลอมเอกสาร  ที่เป็นการเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หมายความว่า  มีเอกสารที่แท้จริงอยู่แล้ว  ต่อมามีการเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไขข้อความ  เพื่อให้เข้าใจว่ามีการกระทำนั้นๆมาก่อนแล้ว  ดังนั้นการเติม  ตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อกระทำต่อเอกสารที่แท้จริง  ถ้ากระทำต่อเอกสารปลอม  ย่อมไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร

เติม  หมายถึง  การเพิ่มข้อความในเอกสารที่แท้จริง

ตัดทอน  หมายถึง  ตัดข้อความบางตอนออกจากเอกสารที่แท้จริง

แก้ไข  หมายถึง  การกระทำทุกอย่างอันเป็นการแก้ไขข้อความให้ผิดไปจากข้อความเดิม

นอกจากนี้การเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไข  ข้อความในเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ  ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้  ถ้าหากว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

อย่างไรก็ตามจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ผู้กระทำต้องกระทำโดยเจตนา  และการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  หรือประชาชนด้วย  แม้ความเสียหายจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม  ทั้งนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

การที่นายสามเซ็นชื่อในท้ายสัญญากู้พร้อมกับเขียนข้อความว่า  พยานผู้ให้การรับรอง  ถือได้ว่าเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง และนายสามได้กระทำไปโดยไม่มีอำนาจเพราะนายหนึ่งไม่ทราบเรื่องแต่ประการใด  อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  653  วรรคแรกเรื่องหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น  กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยานด้วยแต่อย่างใด  เมื่อมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมในหลักฐานนั้น  แม้ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยานก็ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้  สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ดังนั้นการที่นายสามเซ็นชื่อและเขียนข้อความเพิ่มเติมในภายหลัง  การกระทำดังกล่าวจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่นายหนึ่งผู้กู้ยืมเงินได้  ดังนั้นนายสามไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร  ตามมาตรา  264  วรรคแรก  (ฎ. 1126/2505)

เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา  264  วรรคแรก  จึงไม่จำต้องพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  264  แต่อย่างใด  แม้สัญญากู้ยืมจะเป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา  265  ก็ตาม

สรุป  นายสามไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร  ตามมาตรา  264265

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007  กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.  อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา 137)  ให้นักศึกษาอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป  และยกตัวอย่างประกอบ

                แนวคำตอบ

                หลักกฎหมายมีดังนี้

                (1)   แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

                (2)   แก่เจ้าพนักงาน

                (3)   ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

                (4)   เจตนา  (นัย มาตรา 137)

 

ข้อ 2.       อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  โดยทุจริต (มาตรา 157)     ให้นักศึกษาอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป  และยกตัวอย่างประกอบ

แนวคำตอบ

ความผิดที่ 1

หลักกฎหมาย

(1)   เป็นเจ้าพนักงาน

(2)   ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

(3)   เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

(4)   เจตนา

ความผิดที่ 2

หลักกฎหมาย

(1)   เป็นเจ้าพนักงาน

(2)   ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

(3)   โดยทุจริต

(4)   เจตนา (นัย มาตรา 157)

 

ข้อ 3.        นายหนึ่ง   นายสอง  นายสาม  นายสี่  และเด็กชายห้า อายุ 6 ขวบ ได้ประชุมปรึกษาหารือและตกลงใจร่วมกันที่จะขายยาบ้าโดยตกลงกันว่าจะเริ่มขายวันที่ 6 ตุลาคม 2551   ปรากฏว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2551 บุคคลทั้งห้าถูกตำรวจจับกุมเสียก่อน   จงวินิจฉัยว่า  บุคคลทั้งห้ามีความผิดฐานเป็นซ่องโจรหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบโดยละเอียด)

                แนวคำตอบ

วางหลักกฎหมาย  ป.อาญา มาตรา 210 

แม้บุคคลทั้งห้าได้ประชุมปรึกษาหารือและตกลงใจร่วมกันที่จะขายยาบ้า   ซึ่งถือว่าสมคบกันตั้งแต่ห้าคนแล้วก็ตาม    แต่ความผิดที่จะกระทำนั้นไม่ได้บัญญัติไว้ในภาค 2  แห่งประมวลกฎหมายอาญา  เพราะการขายยาบ้าอันเป็นยาเสพติดนั้นไม่ได้บัญญัติเป็นความผิดไว้ในภาค 2  แห่งประมวลกฎหมายอาญาแต่ประการใด  บุคคลทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210

 

ข้อ 4.       จำเลยเก็บธนบัตรปลอมฉบับละ 100 บาทได้ใบหนึ่ง  โดยจำเลยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม  จากนั้นจำเลยได้ตกแต่ง ดัดแปลง  แก้ไข  เพิ่มเติม  จนกลายเป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท   ดังนี้จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเงินตราหรือไม่   เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240   บัญญัติว่า  ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์  ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้   หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ   ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา

มาตรา 241   บัญญัติว่า  ผู้ใดแปลงเงินตรา  ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตร    นั้น ๆ ให้ผิดไปจากเดิม  เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแปลงเงินตรา

กรณีตามตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยเก็บธนบัตรปลอมฉบับละ 100 บาท ได้ใบหนึ่ง ธนบัตรปลอมดังกล่าวจึงถือว่าเป็นสิ่งของ  เมื่อจำเลยได้ตกแต่ง แก้ไข เพิ่มเติม จนกลายเป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท  จึงเป็นการเอาสิ่งของมาทำเทียมเพื่อให้เหมือนของจริงโดยไม่มีอำนาจ   การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตราตามมาตรา 240

อนึ่ง การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดฐานแปลงเงินตราตามมาตรา 241   เพราะการที่จะเป็นความผิดฐานแปลงเงินตราตามมาตรา 241  จะต้องเป็นการตกแต่ง ดัดแปลง  แก้ไข  เพิ่มเติม ธนบัตรของจริง  ให้มีมูลค่าสูงขึ้น แต่กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำต่อธนบัตรปลอม จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ มาตรา 241

สรุป   จำเลยมีความผิดฐานปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสาถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายสารู้ว่าพลตำรวจแดงจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงให้เงิน  10,000  บาท  แก่พลตำรวจแดงเพื่อจูงใจให้พลตำรวจเบิกความผิดจากความเป็นจริง  พลตำรวจแดงจับนายสา  ดังนี้  นายสามีความผิดต่อเจ้าพนักงานอย่างใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายสามีความผิดต่อเจ้าพนักงานอย่างใดหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายสาให้เงินแก่พลตำรวจแดง  10,000  บาท  เป็นการให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานแล้ว  แต่อย่างไรก็ตาม  การที่พลตำรวจแดงต้องไปเบิกความต่อศาลในฐานะพยานตามหมายเรียกของศาลนั้น  เป็นการกระทำหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่กระทำในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  ดังนั้นแม้นายสาจะให้เงินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเจ้าพนักงาน  แต่เมื่อเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุจูงใจที่ให้พลตำรวจเบิกความเท็จนั้นไม่ใช่เพื่อให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงาน  ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบที่จะผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังนั้นนายสาจึงไม่มีความผิด  (ฎ.439/2469)

สรุป  นายสาไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

 

ข้อ  2  นายดำแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายขาว  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  ไม่มีคนร้ายลักทรัพย์บ้านของนายขาวแต่ประการใด  โดยนายดำก็รู้  ดังนี้  นายดำมีความผิดเกี่ยวกับความยุติธรรมฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  173  ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  173  นี้แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้  คือ

1       รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

2       แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน  หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

3       ว่าได้มีการกระทำผิด

4       โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน  ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย  แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น  ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา  ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว  ต้องปรับตามบทมาตรา  172  มิใช่มาตรา  173  นี้

การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น  ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การแจ้งตามมาตรา  173  นี้  อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด  เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว  ย่อมเป็นความผิดสำเร็จ  ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องได้กระทำโดยมีเจตนาด้วย

การที่นายดำไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายขาว  ทั้งๆที่นายดำรู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านนายขาว  การกระทำของนายดำจึงเป็นความผิดตามมาตรา  173  กล่าวคือ  รู้ว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

สรุป  นายดำมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  173

 

ข้อ  3  นายตุ่มจะเผาบ้านที่อยู่อาศัยของนายขวด  ในขณะที่นั่งรอเวลาไปกระทำตามแผนการที่คิดไว้  นายตุ่มจุดบุหรี่สูบแล้วทิ้งก้านไม้ขีดไฟลงบนพื้นบ้าน  เปลวไฟถูกถุงพลาสติกใส่น้ำมันเบนซินที่ซื้อมาไว้เพื่อราดจุดไฟเผาตามแผน  ไฟลุกไหม้บ้านนายตุ่มแล้วลุกลามไปไหม้บ้านนายโอ่งซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหายแต่ห้องครัว  ดังนี้  นายตุ่มมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  219  ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา  217  หรือมาตรา  218  ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้นๆ

มาตรา  225  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายหรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิง  ตามมาตรา  219  มีองค์ประกอบคือ

1       ตระเตรียม

2       เพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา  217  หรือมาตรา  218

3       โดยเจตนา

โดยทั่วไปแล้ว  การตระเตรียมการยังไม่ถือว่าเป็นความผิด  เพราะยังไม่ลงมือกระทำความผิด  แต่การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  มีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง  ดังนั้นการตระเตรียมการเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  จึงเป็นความผิดแล้ว  และต้องระวางโทษเท่ากับพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา  217  หรือมาตรา  218  แล้วแต่กรณี

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรก  คือ  การที่นายตุ่มเตรียมถุงพลาสติกใส่น้ำมันเบนซินที่ซื้อมาเพื่อราดจุดไฟเผาตามแผนนั้น  มีความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา  219  หรือไม่  เห็นว่า  การกระทำของนายตุ่มดังกล่าว  เป็นการกระทำด้วยประการใดๆอันนำไปสู่การกระทำความผิดสำเร็จได้  ถือว่าเป็นการตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาบ้านที่อยู่อาศัยของนายขวด  อันเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย  ตามมาตรา  218(1)  ซึ่งได้กระทำโดยมีเจตนา  นายตุ่มจึงมีความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิง  ตามมาตรา  219

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  นายตุ่มจะต้องรับผิดในการที่บ้านนายโอ่งซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหายแต่ห้องครัวหรือไม่  เห็นว่า

องค์ประกอบความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225  ประกอบด้วย

1       กระทำให้เกิดเพลิงไหม้

2       โดยประมาท

3       เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

การที่นายตุ่มจุดบุหรี่สูบ  โดยทิ้งก้านไม้ขีดไฟลงบนพื้นบ้าน  จนเกิดไฟลูกไหม้บ้านของนายตุ่มเองแล้วลุกลามไปไหม้บ้านนายโอ่งนั้น  เป็นการทำให้เกิดเพลิงไหม้  โดยไม่มีเจตนา  แต่ได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  เป็นเหตุให้บ้านของนายโอ่งซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหาย  แม้จะเสียหายเพียงห้องครัว  นายตุ่มมีความผิดตามมาตรา  225  แล้ว

สรุป  นายตุ่มมีความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาบ้านนายขวด  ตามมาตรา  219  และความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านนายโอ่งโดยประมาท  ตามมาตรา  225  อีกกระทงหนึ่งด้วย

 

ข้อ  4  นายแก้วได้เสียอยู่กินกับนางวันทองซึ่งมีอายุ  18  ปี  โดยจดทะเบียนสมรสมาได้หนึ่งปีแล้ว  นางวันทองหนีไปอยู่กินกับนายช้าง นายแก้วตามนางวันทองกลับมา  แล้วขอหลับนอนด้วย  นางวันทองไม่ยอมนายแก้วจึงใช้ยาทำให้นางวันทองหมดสติ  แล้ใช้อวัยวะเพศสอดเข้าทางช่องทวารหนักของนางวันทองจนสำเร็จความใคร่  ดังนี้  นายแก้วมีความผิดเกี่ยวกับเพศประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  276  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษ

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง  หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ  ทวารหนัก  หรือช่องปากของผู้อื่น  หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส  และคู่สมรสนั้นประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา  ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา  ตามมาตรา  276  วรรคแรก  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       ข่มขืนกระทำชำเรา

2       ผู้อื่น

3       โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น

4       โดยเจตนา

ข่มขืนกระทำชำเรา  หมายถึง  การบังคับจิตใจ  หรือกระทำโดยผู้อื่นไม่สมัครใจ  ถ้าผู้อื่นนั้นสมัครใจร่วมประเวณี  ก็ไม่ถือว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเรา  ส่วน  ผู้อื่น  นั้นจะเป็นบุคคลเพศใดก็ได้  แม้แต่คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  กฎหมายก็ถือว่าเป็นผู้อื่น  ตามนัยมาตรานี้  ดังนั้นการข่มขืนกระทำชำเราคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมมีความผิดได้เช่นกัน  แต่หากผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเรายังประสงค์จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา  กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะลงโทษผู้ข่มขืนกระทำชำเราที่เป็นคู่สมรสนั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้  ทั้งนี้ตามมาตรา  276  วรรคสี่

สำหรับการกระทำชำเรานั้น  บทบัญญัติมาตรา  276  วรรคสองได้กำหนดให้ความหมายรวมถึงการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ  อวัยวะเพศกับทวารหนัก  หรืออวัยวะเพศกับช่องปากของผู้อื่น  หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วย  อย่างไรก็ดีการข่มขืนกระทำชำเราจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  และการข่มขืนนั้นกระทำในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(ก)  โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ

(ข)  โดยใช้กำลังประทุษร้าย

(ค)  โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

(ง)   โดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น

การที่นายแก้วใช้ยาทำให้นางวันทองหมดสติ  ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามบทนิยามมาตรา  1(6)  ที่ว่าการใช้กำลังประทุษร้ายให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา  สะกดจิต  หรือใช้วิธีอื่นใดคล้ายคลึงกัน

และการที่นายแก้วใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าทางช่องทวารหนักของนางวันทองจนสำเร็จความใคร่  ก็ถือเป็นการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  ตามมาตรา  276  วรรคแรกแล้ว  เพราะตามมาตรา  276  วรรคสองให้ความหมายของการกระทำชำเราว่ารวมถึงการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกับทวารหนักของผู้อื่นด้วย  เมื่อนายแก้วมีเจตนาที่จะข่มขืนกระทำชำเรา  แม้นางวันทองจะเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  ก็เป็นความผิดเพราะเข้าองค์ประกอบความผิดทุกประการตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

สรุป  นายแก้วมีความผิดตามมาตรา  276  วรรคแรก

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007  กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ดำไปติดต่อราชการขอทำบัตรประชาชนที่อำเภอแห่งหนึ่ง  ขาวปลัดอำเภอมีหน้าที่ออกบัตรประชาชนตามระเบียบของกระทรวงฯ  ดำเนินการให้  ดำเห็นว่าขาวบริการให้ไม่ทันใจล่าช้าจึงพูดว่า  ช่วยลัดคิวให้หน่อย  ขาวบอกกับดำว่าต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังของผู้มาใช้บริการ  ดำโกรธไม่พอใจพูดกับขาวว่า  ไอ้สัตว์มึงรู้หรือเปล่าว่ากูเป็นใคร  กูทนมึงมานานแล้ว  ไอ้สัตว์หมา  ขาวนิ่งเฉยทำงานตามหน้าที่ต่อไป  ดังนี้ดำมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  136  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ดูหมิ่น

2       เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

4       โดยเจตนา

ดูหมิ่น”  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก  เหยียดหยาม  สบประมาท  หรือด่าแช่ง  ต่อผู้ถูกกระทำ  ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา  กิริยาท่าทาง  หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้  การดูหมิ่นด้วยวาจา  เช่น  อ้ายเย็ดแม่”  “ตำรวจชาติหมา”  หรือด้วยกิริยาท่าทาง  ก็เช่น  ยกส้นเท้าให้  หรือถ่มน้ำลายรด  เป็นต้น  ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น  หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้ได้

อย่างไรก็ดี  ถ้อยคำบางอย่างนั้น  แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ  คำหยาบ  ไม่สมควรจะกล่าว  หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์  หรือคำโต้แย้ง  คำกล่าวติชมตามปกติ  หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก  เหยียดหยามสบประมาท  หรือได้รับความอับอายขายหน้า  ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  เจ้าพนักงาน”  ซึ่งก็คือข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา  136  ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน

อนึ่ง  การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ  2  กรณีต่อไปนี้คือ

(ก)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่  หรือ

(ข)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้  ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขอบเขตย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

เพราะได้กระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทำการตามหน้าที่แล้ว  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแดง  แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง  ต่อมาอีก  3  วันนายขาวพบเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นโดยบังเอิญ  จึงด่าทอดูหมิ่น  เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน  เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  โดยเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลดังกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น  และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

คำพูดของดำที่ว่า  ไอ้สัตว์…ไอ้สัตว์หมา” เป็นคำด่า  เหยียดหยาม  ดูถูกขาวปลัดอำเภอ  เป็นการดูหมิ่นขาวซึ่งเป็นปลัดอำเภอ  และปลัดอำเภอนั้นเป็นเจ้าพนักงาน  เพราะเป็นข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรืออีกนัยหนึ่งคือขาวเป็นบุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานและได้รับแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายด้วย  ขาวปลัดอำเภอถูกดูหมิ่นขณะบริการทำบัตรประชาชน  จึงเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  ดำด่าขาวด้วยความโกรธเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  คือ  รู้สำนึกในการที่กระทำขณะเดียวกันผู้กระทำก็ประสงค์ต่อผลการกระทำนั้นด้วย

การกระทำของดำจึงครบองค์ประกอบความผิด  ตามมาตรา  136  ข้างต้นทุกประการ  จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

สรุป  ดำมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  136 

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา  144)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  144  นี้  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย  จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม  กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา  144  เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144

นายแดงถูก  ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง  จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว  แต่  ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่  ส.ต.อ.ขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา  นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายแดงทราบว่า  ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้  ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง (เบิกความเท็จ)  ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  (ฎ.439/2469)

 

ข้อ  3  นายช้าแต่งกายเป็นพระภิกษุแสดงละคร  นายชั่วไปชมการแสดงเห็นบทบาทการแสดงสมจริง  รุ่งขึ้นจึงแต่งกายเป็นพระภิกษุบ้างเพื่อให้คนกราบไหว้  แล้วเดินไปในตลาด  ดังนี้  นายช้าและนายชั่วมีความผิดประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  208  ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณร  นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ  เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดตามมาตรา  208  ประกอบด้วย

1       แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ  สามเณร  นักพรต  หรือนักบวชในศาสนาโดยมิชอบ

2       เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น

3       โดยเจตนา

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  คือ  แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ  สามเณร  นักพรต  หรือนักบวชในศาสนาใด สำหรับภิกษุสามเณรนั้นหมายถึงภิกษุและสามเณรในพระพุทธศาสนา  ส่วนนักพรตหรือนักบวชอาจเป็นศาสนาอื่นก็ได้

โดยมิชอบ  หมายถึง  ไม่มีอำนาจแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายโดยมิชอบด้วยหลักของศาสนานั้นๆ  เช่น  ผู้ที่ไม่ได้อุปสมบทเป็นภิกษุโดยถูกต้องตามหลักของศาสนาพุทธ  ย่อมไม่มีอำนาจแต่งกายเป็นภิกษุ

การกระทำความผิดตามมาตรานี้  นอกจากมีเจตนาธรรมดาในการแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายดังกล่าวแล้ว  ต้องมีเจตนาพิเศษด้วย  คือ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น

การที่นายช้าและนายชั่วแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยที่ทั้งสองคนมิได้อุปสมบทเป็นภิกษุโดยถูกต้องตามกฎหมายและหลักของศาสนาพุทธ  ย่อมถือว่านายช้าและนายชั่วแต่งกายแสดงว่าเป็นภิกษุโดยมิชอบ  ซึ่งได้กระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ตามมาตรา  59  แต่สำหรับนายช้าได้แต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อแสดงละครให้สมบทบาท  ย่อมไม่ถือว่ามีเจตนาพิเศษให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ  การกระทำของนายช้าจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  208  จึงไม่ต้องรับผิด

ส่วนนายชั่วได้แต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นได้กราบไหว้เสมือนว่าตนเป็นภิกษุ  การกระทำของนายชั่วจึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  208  ทุกประการ  นายชั่วจึงต้องรับผิด

สรุป  นายชั่วมีความผิดตามมาตรา  208  ส่วนนายช้าไม่มีความผิด

 

ข้อ  4  พ่อค้าขายส่งดินสอดำ  บรรจุดินสอใส่กล่องๆละ  20  แท่ง  โดยระบุจำนวนดินสอไว้หน้ากล่องว่า  20  แท่ง  ตามความเป็นจริง  นายขาวต้องการดินสอดำจำนวนมากจึงไปที่ร้านของพ่อค้าดังกล่าว  เมื่อตรวจดูสภาพของสินค้าและการบรรจุกล่องเรียบร้อยน่าพอใจ  จึงตกลงซื้อจำนวน  1,000  กล่อง  โดยให้ส่งสินค้าไปที่บ้านของตน  พ่อค้าได้ส่งดินสอดังกล่าวไปตามคำสั่ง  แต่ก่อนส่งได้แอบเอาดินสอออกจากกล่องทุกกล่องๆละ  2  แท่ง  ดังนี้  พ่อค้ามีความผิดเกี่ยวกับการค้าอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ  ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดสภาพ  คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ  ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดตามมาตรา  271  ประกอบด้วย

1       ขายของ

2       โดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ

3       ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด  สภาพ  คุณภาพ  หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ

4       ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

5       โดยเจตนา

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า  การกระทำของพ่อค้าไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341  เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพ่อค้าได้ทำการหลอกลวงนายขาวด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง  ซึ่งควรบอกให้แจ้งถึงขนาดว่าถ้าไม่หลอกลวงเขาจะไม่ซื้อของนั้นแต่อย่างใด  ทั้งในขณะทำสัญญาซื้อขาย  พ่อค้าก็บรรจุดินสอใส่กล่องๆละ  20  แท่ง  และระบุจำนวนดินสอไว้ตามความเป็นจริงด้วย

เมื่อการกระทำของพ่อค้าไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า  การขายของของพ่อค้านั้นมีการหลอกลวงด้วยประการใดๆ  ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อหรือไม่  เห็นว่า  การหลอกลวงที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  271  นี้  จะต้องมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่มีการขาย  คือก่อนหรือขณะที่เกิดสัญญาซื้อขายนั่นเอง  แต่กรณีนี้มีการตกลงซื้อขายกันแล้ว  โดยนายขาวได้ตรวจดูสภาพสินค้าและการบรรจุกล่องเรียบร้อยน่าพอใจ  ไม่มีการหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อแต่อย่างใด  การที่พ่อค้าได้แอบเอาดินสอออกจากกล่องทุกกล่องๆละ  2  แท่งก่อนส่งมอบ  เป็นเพียงการหลอกในการส่งมอบของตามสัญญาซื้อขายให้รับชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้อง  หรือส่งมอบของที่ไม่ครบถ้วนด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  การกระทำของพ่อค้าจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  271  พ่อค้าไม่มีความผิดเกี่ยวกับการค้า  ส่วนการกระทำของพ่อค้าจะเป็นความผิดทางอาญาฐานอื่นหรือไม่  หรือเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งหรือไม่  ไม่อยู่ในประเด็นที่ต้องวินิจฉัย

สรุป  พ่อค้าไม่มีความผิดเกี่ยวกับการค้า

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007  กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หรือโดยทุจริต  (มาตรา  157)

ธงคำตอบ

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดอยู่  2  ความผิดด้วยกัน  กล่าวคือ  ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่  อันเป็นการมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป  เป็นต้น

ดังนั้น  ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น  ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่  ก็ไม่ผิดตามมาตรา  157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

3       โดยทุจริต

4       โดยเจตนา

โดยทุจริต  หมายถึง  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น  ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็น

ความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม  และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่  ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด

ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย  แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว  มิได้นำเงินลงบัญชี  ทั้งมิได้ดำเนินการให้  ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ  2  นายแดงผู้เดียวลักทรัพย์นายดำ  นายดำจึงฟ้องนายแดง  แต่แทนที่จะฟ้องนายแดงว่าลักทรัพย์กลับฟ้องว่านายแดงกับพวกปล้นทรัพย์  ในชั้นพิจารณา  นายดำได้อ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความต่อศาลว่า  นายแดงกับพวกปล้นทรัพย์ของตน  ดังนี้  นายดำมีความผิดประการใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  175  ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา  หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นจริง  ต้องระวางโทษ

มาตรา  177  ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล  ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี  ต้องระวางโทษ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก  ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา  ผู้กระทำต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  นายดำมีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือไม่  เห็นว่า  องค์ประกอบความผิดฐานฟ้องเท็จ  ตามมาตรา  175 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       เอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาล

2       ว่ากระทำความผิดอาญา  หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง

3       โดยเจตนา

นายแดงผู้เดียวลักทรัพย์นายดำ  แต่นายดำกลับฟ้องนายแดงกับพวกต่อศาลว่าปล้นทรัพย์  จึงเป็นการเอาข้อความที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง  อันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาร้ายแรงกว่าที่เป็นจริง  กล่าวคือ  ความผิดอาญาฐานปล้นทรัพย์เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำตั้งแต่  3  คนขึ้นไปซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์  และได้กระทำโดยมีเจตนา  นายดำจึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา  175  เพราะการกระทำของนายดำครบองค์ประกอบความผิดตามที่กล่าวไว้ข้างต้นทุกประการ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่นายดำเบิกความต่อศาลในฐานะพยานว่านายแดงกับพวกปล้นทรัพย์ของตนนั้น  จะมีความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่  เห็นว่า  องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลตามมาตรา  177  วรรคสอง  ประกอบด้วย

1       เบิกความอันเป็นเท็จ

2       ในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล

3       ความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี

4       โดยเจตนา

การที่นายดำได้อ้างตนเป็นพยานและเข้าเบิกความต่อศาลว่านายแดงกับพวกปล้นทรัพย์ของตน  จึงเป็นการให้ถ้อยคำแก่ศาลในการพิจารณาคดีอาญาในฐานะพยาน  ซึ่งข้อความที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง  ถือได้ว่าเป็นการเบิกความอันเป็นเท็จ  เมื่อความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี  เพราะเป็นข้อความที่อาจมีน้ำหนักในการวินิจฉัยคดีของศาลหรือข้อความในประเด็นที่อาจทำให้คดีแพ้หรือชนะและนายดำรู้ว่าความที่จะเบิกนั้นเป็นเท็จด้วย  ถือได้ว่ามีเจตนากระทำผิด  ดังนั้นนายดำจึงมีความผิดอาญาฐานเบิกความเท็จในคดีอาญาตามมาตรา  177 วรรคสอง  อีกกระทงหนึ่งด้วย

สรุป  นายดำมีความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา  175  และมีความผิดฐานเบิกความเท็จคดีอาญาตามมาตรา  177  วรรคสอง  อีกกระทงหนึ่ง

 

ข้อ  3  นายเล็กประกอบพิธีขวัญนาคให้บุตรชายซึ่งจะอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น  โดยทำพิธีที่บ้านของนายเล็กมีญาติมิตรชาวบ้านซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนมาประชุมกันในพิธีนี้เป็นจำนวนมาก  ขณะทำพิธีอยู่นั้นนายใหญ่ซึ่งมีสาเหตุโกรธกับนายเล็ก  ต้องการให้พิธีแตก  จึงจุดประทัดโยนเข้าไปในที่ประชุมนั้น  ทำให้ผู้คนแตกตื่นวุ่นวาย  ดังนี้  นายใหญ่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนาประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  207  ผู้ใดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน  นมัสการหรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ  โดยชอบด้วยกฎหมาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนตามมาตรา  207ประกอบด้วย

1       ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชน

2       เวลาประชุมกัน  นมัสการ  หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ

3       โดยชอบด้วยกฎหมาย

4       โดยเจตนา

สำหรับการก่อให้เกิดความวุ่นวายที่จะมีความผิดดังกล่าวข้างต้นนั้น  จะต้องเกิดในเวลาประชุมกันในเวลานมัสการ  หรือในเวลากระทำพิธีกรรมและต้องเป็นเรื่องตามศาสนาด้วย  เช่น  เวลาสวดมนต์ไหว้พระ  เวลาทำพิธีบรรพชาอุปสมบท  และไม่จำกัดสถานที่ว่าจะต้องทำในสถานที่ใด  อาจจะเป็นในบ้านก็ได้  ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาแล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การที่นายใหญ่จุดประทัดโยนเข้าไปในที่ประชุมทำให้ผู้คนแตกตื่นวุ่นวายนั้น  เป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกันหรือกระทำพิธีกรรม  แต่เนื่องจากการประกอบพิธีทำขวัญนาคซึ่งจะมีการอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น  ไม่ใช่การประชุมหรือพิธีกรรมตามศาสนา  แม้ว่าการบวชจะเป็นพิธีทางศาสนา  แต่การทำขวัญนาคก็เป็นเพียงประเพณีนิยม  ยังไม่ถึงขั้นเป็นพิธีทางศาสนา  ดังนั้นแม้นายใหญ่จะกระทำด้วยเจตนาต้องการให้พิธีแตก  ก็ไม่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนาตามมาตรา  207  แต่อย่างใด  (ฎ.1109/2500)

สรุป  นายใหญ่ไม่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา

 

ข้อ  4  นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย  ก  วันเกิดเหตุนาย  ก  นำกระดาษมาแผ่นหนึ่ง  เขียนข้อความว่า  นายแดงกู้เงินนาย  ก  500,000  บาท  จากนั้น  ได้เซ็นชื่อนายแดงในช่องผู้กู้  ต่อมานาย  ก  ทำเอกสารฉบับนั้นหายไป  จำเลยเป็นคนเก็บได้  จำเลยใช้ยางลบลบคำว่า  นาย  ก  ออกแล้วเขียนใหม่ว่า  จำเลย  ข้อความจึงกลายเป็นว่า  นายแดงกู้เงินจำเลย  500,000  บาท  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

มาตรา  268  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266  หรือมาตรา  267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การที่นายแดงไม่เคยกู้ยืมเงินนาย  ก  เมื่อนาย  ก  ทำสัญญากู้ขึ้นเองเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

การที่จำเลยทำการแก้ไขจากคำว่า  นาย  ก  เป็นคำว่า  จำเลย  ถึงแม้จำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำก็ตาม  แต่การแก้ไขของจำเลยเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่มีการปลอมมาก่อน  การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  265  เพราะการที่จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น

เมื่อไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร  การที่จำเลยนำเอกสารไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง  จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารตามมาตรา  268

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 2/2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ดำขับรถยนต์มาทำธุระที่เขตบางกะปิ  รถยนต์ติดไฟแดงนานมากดำอารมณ์เสีย  พอรถยนต์แล่นถึงสี่แยกพบ  จ.ส.ต.เฉย  ตำรวจจราจรยืนโบกมือให้สัญญาณปล่อยรถ  ดำชะลอรถแล้วพูดใส่หน้า  จ.ส.ต.เฉย  ว่า  ไอ้ถ่อย  ไอ้เถื่อน  ปล่อยรถยังกะควายกินหญ้า”  ดำมีความผิดอาญาอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  136  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ดูหมิ่น

2       เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

4       โดยเจตนา

ดูหมิ่น”  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก  เหยียดหยาม  สบประมาท  หรือด่าแช่ง  ต่อผู้ถูกกระทำ  ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา  กิริยาท่าทาง  หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้  การดูหมิ่นด้วยวาจา  เช่น  อ้ายเย็ดแม่”  “ตำรวจชาติหมา”  หรือด้วยกิริยาท่าทาง  ก็เช่น  ยกส้นเท้าให้  หรือถ่มน้ำลายรด  เป็นต้น  ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น  หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้ได้

อย่างไรก็ดี  ถ้อยคำบางอย่างนั้น  แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ  คำหยาบ  ไม่สมควรจะกล่าว  หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์  หรือคำโต้แย้ง  คำกล่าวติชมตามปกติ  หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก  เหยียดหยามสบประมาท  หรือได้รับความอับอายขายหน้า  ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ดำพูดใส่หน้า  จ.ส.ต.เฉยว่า  ไอ้ถ่อย”  เป็นคำพูดที่ดูถูก  เหยียดหยาม  จ.ส.ต.เฉย  ถือเป็นการดูหมิ่น  ส่วนคำพูดที่ว่า  ไอ้เถื่อน ปล่อยรถยังกะควายกินหญ้า” กรณีถือเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สุภาพ  ไม่ให้เกียรติ  ไม่สมควร  แต่ไม่เป็นการดูหมิ่น

เมื่อการกระทำของดำเป็นการพูดดูหมิ่น  จ.ส.ต.เฉย  เจ้าพนักงานตำรวจจราจรในขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จราจร  อันเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  การกระทำของดำครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายข้างต้นทุกประการ  ดำจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา  136

สรุป  ดำจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา  136

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  โดยทุจริต (มาตรา  157)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดอยู่  2  ความผิดด้วยกัน  กล่าวคือ  ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่  อันเป็นการมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป  เป็นต้น

ดังนั้น  ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น  ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่  ก็ไม่ผิดตามมาตรา  157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

3       โดยทุจริต

4       โดยเจตนา

โดยทุจริต  หมายถึง  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น  ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม  และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่  ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด

ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย  แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว  มิได้นำเงินลงบัญชี  ทั้งมิได้ดำเนินการให้  ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ  3  จำเลยกับนาย  ก  ไม่ถูกกันมาก่อน  วันเกิดเหตุจำเลยขับรถไปตามถนนเห็นรถของนาย  ก  จอดอยู่  จำเลยจึงขับรถไปจอดใกล้กับรถยนต์ของนาย  ก  โดยมีระยะห่างประมาณครึ่งเมตร  จำเลยต้องการที่จะเผารถยนต์ของนาย  ก  แต่แทนที่จะเทน้ำมันราดไปที่รถของนาย ก  จำเลยกลับเทน้ำมันราดไปที่รถของจำเลยเอง  จากนั้นจุดไม้ขีดไฟแล้วโยนลงไป  ปรากฏว่าไฟได้ไหม้รถของจำเลย  แล้วลุกลามไปไหม้รถของนาย  ก  เสียหายบางส่วน  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

มาตรา  220  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง  จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  217  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

วางเพลิงเผา  หมายถึง  การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม  เช่น  ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา  ใช้เลนส์ส่องทำมุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น  หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันให้เกิดไฟ  เป็นต้น

การทำให้เพลิงไหม้นี้จะไหม้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว  เช่น  เจตนาจะเผาบ้านทั้งหลัง  แต่ปรากฏว่าไฟไหม้บ้านเพียงครึ่งหลังเพราะผู้เสียหายดับทัน  กรณีเป็นความผิดสำเร็จแล้วมิใช่เพียงขั้นพยายาม  แต่อย่างไรก็ตามหากยังไม่เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น

การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา  ทรัพย์ของผู้อื่น  เท่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้  แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น  กล่าวคือ  ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย  ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย  ก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด

นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องกระทำโดยเจตนา  คือ  มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น  และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น  ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา  เช่น  วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง  ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การที่จำเลยจุดไฟเผารถของตนเองได้รับความเสียหายนั้น  แม้จะมีเจตนาเผารถของนาย  ก  (ผู้อื่น)  การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  217  เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิดคำว่า  ทรัพย์ของผู้อื่น 

(ฎ.389/2483)

อย่างไรก็ดี  การที่จำเลยจุดไฟเผารถของตนเอง  โดยมีเจตนาจะเผารถของนาย  ก  การเผารถของตนก็เพื่อให้ไฟลามไปไหม้รถของนาย  ก  ด้วย  ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาที่จะเผารถของนาย  ก  โดยตรง  เมื่อไฟได้ไหม้รถของนาย  ก  ได้รับความเสียหาย  การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา  217  ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของนาย  ก

การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา  220  เพราะการจะเป็นความผิดตามมาตรา  220  หมายถึงว่าผู้กระทำมีเจตนาทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ  แม้เป็นของตนเอง  ซึ่งน่าจะเกิดอันตราย  จึงเห็นได้ชัดว่าผู้กระทำต้องไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยตรง  แต่กรณีตามอุทาหรณ์จำเลยประสงค์ที่จะเผารถของนาย  ก  โดยตรง  ต้องการให้รถของนาย  ก  ไฟไหม้ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  217  มิใช่มาตรา  220

สรุป

1       กรณีไฟไหม้รถของนาย  ก  การกระทำของจำเลยมีความผิดตามมาตรา  217

2       กรณีไฟไหม้รถของจำเลย  การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา  217

 

ข้อ  4  นายนพพงษ์เอานามบัตรที่พิมพ์ชื่อของพลตำรวจตรีขัตติยะมากรอกข้อความว่า  ผู้ถือนามบัตรนี้เป็นพรรคพวกกันขอให้ช่วยอนุเคราะห์ด้วย  เพื่อจะนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการติดต่อราชการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ทั้งนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากพลตำรวจตรีขัตติยะ  ดังนี้  นายนพพงษ์มีความผิดฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การที่นายนพพงษ์กรอกข้อความลงบนนามบัตรที่พิมพ์ชื่อ  พล.ต.ต.ขัตติยะ  ถือเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ  เพราะข้อความในเอกสารนั้นแสดงว่า  พล.ต.ต.ขัตติยะ  เป็นผู้เขียน  แต่ความจริงแล้วนายนพพงษ์เป็นผู้เขียน  จึงเป็นลักษณะของเอกสารปลอม  ซึ่งการกระทำของนายนพพงษ์เป็นการน่าจะเกิดความเสียหายแก่  พลต.ต.ต.ขัตติยะ  และเป็นการกระทำโดยเจตนา  ประกอบกับการที่ปลอมเอกสารก็เพื่อที่จะนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการติดต่อราชการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  อันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  การกระทำของนายนพพงษ์จึงเข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดโดยครบถ้วน  อันเป็นการกระทำผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

สรุป  การกระทำของนายนพพงษ์เป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ดำเห็นคนร้ายแปลกหน้า  2  คน  รุมทำร้ายขาว  ดำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจกับ  ร.ต.อ.ขยัน  พนักงานสอบสวนว่า  ตนเองเห็นคนร้าย  3  คน  ไม่รู้จักชื่อรุมทำร้ายขาว  ดังนี้  ดำจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  172  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา  แก่พนักงานอัยการ  ผู้ว่าคดี  พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานแจ้งความเท็จคดีอาญาตามมาตรา  172  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       เกี่ยวกับความผิดอาญา

3       แก่พนักงานอัยการ  ผู้ว่าคดี  พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

4       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

5       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ดำได้เห็นคนร้ายแปลกหน้า  2  คน  รุมทำร้ายขาว  แต่ดำได้ไปแจ้งความว่า  ตนเองเห็นคนร้าย  3  คน  ซึ่งเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  และการแจ้งความว่ามีการรุมทำร้าย  ถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา  การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาดังกล่าวได้แจ้งแก่พนักงานสอบสวน  คือ  ร.ต.อ.ขยัน  อีกทั้งการแจ้งความเท็จนี้ลักษณะของการกระทำอาจจะทำให้ผู้อื่นเสียหายได้ตามความรู้สึกของวิญญูชนและได้กระทำโดยเจตนา  ดังนั้นการกระทำของดำจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวทุกประการ  ดำจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  172

สรุป  ดำมีความผิดฐานแจ้งความเท็จคดีอาญา  ตาม  ป.อ. มาตรา  172

 

ข้อ  2  หนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์กับ  ร.ต.อ.สอง  พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ  ร.ต.อ.สองไม่ยอมรับแจ้งความของหนึ่ง  เพราะเหตุไม่ชอบขี้หน้าหนึ่ง  ร.ต.อ.สองจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา  157  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับ  ร.ต.อ.สอง  พนักงานสอบสวน  แต่  ร.ต.อ.สองไม่ยอมรับแจ้งความของหนึ่ง  เพราะเหตุไม่ชอบขี้หน้าหนึ่งนั้น  เมื่อ  ร.ต.อ.สองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยการไม่ยอมรับแจ้งความร้องทุกข์ของหนึ่ง  เพราะเหตุไม่ชอบขี้หน้าหนึ่ง  ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้หนึ่งเกิดความเสียหาย  และได้กระทำไปโดยมีเจตนา  การกระทำของ  ร.ต.อ.สองจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ ร.ต.อ.สองจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  157

สรุป  ร.ต.อ.สองมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  157

 

ข้อ  3  ชาย  15  คน  ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดกล่าวโจมตีและขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด  จากนั้นได้เผาศาลลากลางและขู่ว่าถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ย้ายออกจากพื้นที่จะฆ่าให้ตาย  ต่อมาความทราบถึงตำรวจ  ตำรวจได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุและสั่งให้สลายตัว  ปรากฏว่าชาย  15  คน  ไม่ยอมสลายตัว  ดังนี้  ชาย  15  คน  มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  215  วรรคแรก  ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป  ใช้กำลังประทุษร้าย  ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  ต้องระวางโทษ

มาตรา  216  เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา  215  ให้เลิกไป  ผู้ใดไม่เลิก  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา  215  วรรคแรก  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       มั่วสุมกันตั้งแต่  10  คนขึ้นไป

2       ใช้กำลังประทุษร้าย  ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

3       โดยเจตนา

ส่วนความผิดตามมาตรา  216  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา  215  ให้เลิกไป

2       ผู้ใดไม่เลิก

3       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ชาย  15  คน  ได้ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดและได้เผาศาลากลาง  อีกทั้งได้ขู่ว่าจะฆ่าผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น  การกระทำของชาย  15  คนดังกล่าว  ถือว่าเป็นการมั่วสุมกันของคนตั้งแต่  10  คนขึ้นไป  และเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  และได้กระทำไปโดยเจตนา  การกระทำของชาย  15  คนนั้น  จึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  215  วรรคแรก  ทุกประการ  ชาย  15  คนจึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

การกระทำของชาย  15  คนไม่มีความผิดตามมาตรา  216  เพราะกรณีที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  216  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งก่อนที่ผู้มั่วสุมจะได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย  หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  หรือก่อนที่ผู้มั่วสุมจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา  215  แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก

สรุป  ชาย  15  คนมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา  215  แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา  216

 

ข้อ  4  จำเลยมีรถยนต์หนึ่งคันหมายเลขทะเบียน  ก. 1234  ปรากฏว่า  แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของจำเลยหลุดหายไป  จำเลยได้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายขาวคนข้างบ้านหมายเลขทะเบียน  ข. 5678  จากนั้นนำมาติดท้ายรถยนต์ของจำเลย  ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ออกขับขี่  ท้ายที่สุดถูกตำรวจจับ  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายขาวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่ทางราชการออกให้จริง  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยถอดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายขาวนำมาติดท้ายรถยนต์ของจำเลยนั้น  การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  และจำเลยไม่ได้เติม  ตัดทอน  หรือแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริง  รวมทั้งจำเลยไม่ได้ประทับตราปลอม  หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารแต่อย่างใด  ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา  137)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  137  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ

อธิบาย 

ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       แก่เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

4       โดยเจตนา

แจ้งข้อความ  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น  อาจกระทำโดยวาจา  โดยการเขียนเป็นหนังสือ  หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

ข้อความอันเป็นเท็จ  หมายถึง  ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง  เช่น  นาย  ก  ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว  ข  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ทั้งๆที่นาย  ก  มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  คือ  นาง  ค  เช่นนี้เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน  ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่  จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้อาจเกิดขึ้นได้  2  กรณีคือ

(ก)  ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง

(ข)  โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เช่น  ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง  แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า  บิดาเป็นไทย  ความจริงเป็นจีน  ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด  ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา  137  นี้แล้ว

สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง  ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน  เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล  จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137  (ฎ. 1274/2513)

ส่วนในคดีอาญา  ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้  เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้   แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ  หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา  ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด  ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่  (ฎ.1093/2522)  แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา  จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย  แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม  แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น  เช่น  เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง  หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง  เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ  เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

แก่เจ้าพนักงาน  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้  ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น  และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  ตำรวจ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้  ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า  อาจทำให้เสียหาย  จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ  และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย  ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137

นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  นางโท  หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ  น.ส.ตรีอีก  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ซึ่งทั้งนางโทและ  น.ส.ตรี  ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย  เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส  ซึ่งกระทำโดยเจตนา  เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ  หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้  นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137

แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว  ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส  ดังนี้  การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว  แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส  จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  (ฎ.1237/2544)

 

ข้อ  2  ร.ต.อ.ประจักษ์  พนักงานสอบสวน  สอบสวนนายกระสือผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์  นายกระสือไม่รับสารภาพพูดจากวนประสาท ร.ต.อ.ประจักษ์โกรธจึงตบที่กกหูและต่อยที่ท้องของนายกระสือ  พร้อมทั้งพูดว่ามึงจะรับหรือไม่รับ  เดี๋ยวโดนอีกชุด  รับสารภาพซะ  จะเจ็บตัวทำไม  ดังนี้  ร.ต.อ.ประจักษ์จะมีความผิดอาญาฐานใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

 มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา  157  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ซึ่งการจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด”  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆ  จึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ร.ต.อ.ประจักษ์  พนักงานสอบสวน  ทำการสอบสวนนายกระสือผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์  แต่นายกระสือไม่รับสารภาพและพูดจากวนประสาท  ทำให้  ร.ต.อ.ประจักษ์โกรธจึงได้ใช้กำลังชกต่อยและพูดจาข่มขู่ให้นายกระสือรับสารภาพนั้น  ถือได้ว่า ร.ต.อ.ประจักษ์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายกระสือ  และได้กระทำไปโดยมีเจตนา  การกระทำของ  ร.ต.อ.ประจักษ์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  ร.ต.อ.ประจักษ์จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  157

สรุป  ร.ต.อ.ประจักษ์  มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  157

 

ข้อ  3  นายแก้วโกรธภริยา  จึงวางเพลิงเผาแพที่อยู่อาศัยของตนเอง  เพลิงลุกไหม้และลุกลามกำลังจะไหม้ถึงแพของคนอื่นที่อยู่ติดกัน แต่บังเอิญชาวบ้านเห็นเข้าจึงช่วยกันดับทัน  เพลิงจึงไหม้แต่แพของนายแก้ว  ดังนี้  นายแก้วมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

มาตรา  220  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง  จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก  เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา  218  ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  218

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  217  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

และความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุฯ  ตามมาตรา  220  วรรคแรก  มีองค์ประกอบความผิด  ดังนี้

1       กระทำให้เกิดเพลิงไหม้

2       แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง

3       จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

กระทำให้เกิดเพลิงไหม้  หมายถึง  เผาวัตถุใดๆให้ลุกไหม้ขึ้นมา  ซึ่งถ้าเพลิงยังไม่ลุกไหม้ขึ้นมา  ก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น  จึงไม่ผิดตามมาตรานี้

แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง  หมายถึง  กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ  ซึ่งวัตถุในที่นี้อาจจะเป็นทรัพย์ก็ได้  หรือไม่ใช่ทรัพย์ก็ได้  เป็นวัตถุของใครก็ได้  หรือเป็นวัตถุที่ไม่มีเจ้าของก็ได้  และแม้ว่าวัตถุนั้นจะเป็นของตนเองก็ตาม

จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น  หมายถึง  พฤติการณ์ของการกระทำไม่ใช่ผลของการกระทำ  กล่าวคือ  เพียงแต่มีเจตนากระทำให้เกิดเพลิงไหม้ แก่วัตถุ  และเพลิงไหม้นั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่นก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแก้วโกรธภริยาจึงได้วางเพลิงเผาแพที่อยู่อาศัยของตนเอง  จนเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นโดยเจตนา  และกำลังลุกลามไปไหม้แพของคนอื่นที่อยู่ติดกันนั้น  นายแก้วไม่มีความผิดตามมาตรา  217  เพราะไม่ได้เป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายแก้วได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุแม้เป็นของตนเองโดยเจตนา  จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น  ดังนั้นการกระทำของนายแก้วจึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  220  วรรคแรก  นายแก้วจึงมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุฯ  อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าทรัพย์ของผู้อื่นนั้นจะเป็นแพที่คนอยู่อาศัย  ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา  218  ก็ตาม  แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการกระทำของนายแก้วดังกล่าวได้ทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่แพที่อยู่อาศัยของคนอื่นแต่อย่างใด  นายแก้วจึงไม่มีความผิดตามมาตรา  220  วรรคสอง

สรุป  นายแก้วไม่มีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตามมาตรา  217  แต่มีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุฯ  ตามมาตรา 220  วรรคแรก

 

ข้อ  4  นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย  ก  วันเกิดเหตุ  นาย  ก  นำกระดาษแผ่นหนึ่ง  เขียนข้อความว่า  นายแดงกู้เงินนาย  ก  100,000  บาท  จากนั้น  ได้เซ็นชื่อนายแดงในช่องผู้กู้  ต่อมานาย  ก  ทำเอกสารฉบับนั้นหายไป  จำเลยเป็นคนเก็บได้  จำเลยแก้ไขข้อความคำว่า  นาย  ก  เป็นคำว่า  จำเลย  ข้อความจึงกลายเป็นว่า  นายแดงกู้เงินจำเลย  100,000  บาท  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

มาตรา  268  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266  หรือมาตรา  267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  นำกระดาษมาเขียนสัญญากู้ขึ้นเอง  โดยที่นายแดงไม่เคยกู้เงินจากนาย  ก  เลยนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  เอกสารการกู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

และการที่จำเลยเก็บเอกสารฉบับนั้นได้  และได้แก้ไขข้อความจากคำว่า  นาย  ก  เป็นคำว่า  จำเลยนั้น  ถึงแม้จำเลยจะไม่มีอำนาจที่จะกระทำก็ตาม  แต่การแก้ไขของจำเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่มีการปลอมมาก่อน  ซึ่งกรณีจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้นั้นจะต้องเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น  ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  265

เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร  ถึงแม้จำเลยจะนำเอกสารดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง  จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมตามมาตรา  268

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ร้อยตำรวจตรีแดงออกตรวจท้องที่พบเห็นนายดำฆ่าคนตายโดยเจตนา  แต่ร้อยตำรวจตรีแดงไม่ยอมจับกุมนายดำ  นายเขียวจึงยื่นเงินให้ร้อยตำรวจตรีแดง  5,000  บาท  เพื่อให้จับ  ร้อยตำรวจตรีแดงรับเงินมาแล้วจึงจับกุมนายดำส่งสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี  ดังนี้  ร้อยตำรวจตรีแดงมีความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  149  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกนิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เรียกรับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ  หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด  ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น  จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน  ตามมาตรา  149  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       เป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

2       เรียก  รับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

3       เพื่อกระทำการ  หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่

4       โดยเจตนา

เรียก  หมายถึง  การที่เจ้าพนักงานฯแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้

รับ  หมายถึง  การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ  และเจ้าพนักงานฯได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

ยอมจะรับ  หมายถึง  การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ  และเจ้าพนักงานฯ  ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต  แต่ยังไม่ได้รับ

การเรียก  รับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ

(ก)  เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

(ข)  เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเขียวยื่นเงิน  5,000  บาท  ให้ร้อยตำรวจตรีแดง  เพื่อให้จับนายดำ  และร้อยตำรวจตรีแดงรับเงินแล้วจับกุมนายดำส่งสถานีตำรวจ  ถือได้ว่าเป็นการรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  และได้กระทำโดยเจตนา  ดังนั้น  การกระทำของร้อยตำรวจตรีแดงจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา  149  แม้ว่าการจับกุมนายดำจะชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม

สรุป  ร้อยตำรวจตรีแดงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา  149

 

ข้อ  2  นายประทาน  แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัย  ข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัยแต่ประการใด  โดยนายประทานก็รู้  ดังนี้  นายประทานมีความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมฐานใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  173  ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  173  นี้แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้  คือ

1       รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

2       แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน  หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

3       ว่าได้มีการกระทำผิด

4       โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน  ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย  แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น  ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา  ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว  ต้องปรับตามบทมาตรา  172  มิใช่มาตรา  173  นี้

การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น  ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การแจ้งตามมาตรา  173  นี้  อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด  เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว  ย่อมเป็นความผิดสำเร็จ  ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องได้กระทำโดยมีเจตนาด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายประทานแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัย  ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัยแต่ประการใดนั้น  ถือเป็นกรณีที่นายประทานรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  และได้กระทำไปโดยมีเจตนา  การกระทำของนายประทานจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  นายประทานจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา  173

สรุป  นายประทานมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา  173

 

ข้อ  3  นายสิงห์เช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงมาจากบริษัท  ไทยเจริญ  โดยสัญญาเช่าซื้อมีกำหนดระยะเวลา  4  ปี  หลังจากเช่าซื้อไปได้  1 เดือน  นายสิงห์เกิดความไม่พอใจในรถยนต์  นายสิงห์ใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์  จากนั้นก็จุดไฟโยนลงไป  ปรากฏว่าไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคัน  ดังนี้  นายสิงห์มีความผิดฐานวางเพลิงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  217  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

วางเพลิงเผา  หมายถึง  การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม  เช่น  ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา  ใช้เลนส์ส่องทำมุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น  หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันให้เกิดไฟ  เป็นต้น

การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา  ทรัพย์ของผู้อื่น  เท่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้  แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น  กล่าวคือ  ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย  ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย  ก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด

นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องกระทำ  โดยเจตนา  คือ  มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น  และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น  ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา  เช่น  วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง  ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสิงห์ใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์  และจุดไม้ขีดไฟโยนลงไปจนไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคันนั้น  ถือได้ว่าเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั้นกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบถ้วน  เมื่อนายสิงห์ยังชำระราคาไม่ครบ  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังเป็นของบริษัท  ไทยเจริญ  ซึ่งถือว่าเป็นของผู้อื่น  ดังนั้น  เมื่อนายสิงห์ได้กระทำไปโดยมีเจตนา  นายสิงห์จึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา  217

สรุป  นายสิงห์มีความผิดฐานวางเพลิงตามมาตรา  217

 

ข้อ  4  นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย  ก  นาย  ก  ได้ทำสัญญากู้ขึ้นมาเพื่อจะนำไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง  โดยในสัญญากู้มีข้อความว่า  นายแดงกู้ยืมเงินจากนาย  ก  จำนวน  100,000  บาท  กำหนดชำระคืนภายใน  1  ปี  ปรากฏว่า  ในสัญญากู้ดังกล่าวไม่ได้ลงชื่อนายแดงผู้กู้แต่ประการใด  ต่อมานาย  ก  ทำเอกสารนี้หายไป  จำเลยเก็บได้  จำเลยทำการเซ็นชื่อ  นายแดง  ลงในช่องผู้กู้  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยทำการเซ็นชื่อ  นายแดง  ลงในช่องผู้กู้ในสัญญาที่ยังไม่ได้ลงชื่อนายแดงผู้กู้นั้น  ถือได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  และการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

และเมื่อเอกสารที่จำเลยปลอมคือสัญญากู้นั้น  ถือว่าเป็นเอกสารสิทธิ  ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา  265

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  265

LAW 2007กฎหมายอาญา 2 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  (มาตรา  136)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  136  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ดูหมิ่น

2       เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

4       โดยเจตนา

ดูหมิ่น”  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก  เหยียดหยาม  สบประมาท  ต่อผู้ถูกกระทำ  ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา  กิริยาท่าทาง  หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้  การดูหมิ่นด้วยวาจา  หรือด้วยกิริยาท่าทาง  ก็เช่น  ยกส้นเท้าให้  หรือถ่มน้ำลายรด  เป็นต้น  ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น  หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้ได้

อย่างไรก็ดี  ถ้อยคำบางอย่างนั้น  แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ  คำหยาบ  ไม่สมควรจะกล่าว  หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์  หรือคำโต้แย้ง  คำกล่าวติชมตามปกติ  หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก  เหยียดหยามสบประมาท  หรือได้รับความอับอายขายหน้า  ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  เจ้าพนักงาน  ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา  136  ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย  หากได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน  เช่น  จำเลยกล่าวต่อ  ร.ต.อ.แดงว่า  ตำรวจเฮงซวย  ซึ่งในขณะนั้น  ร.ต.อ.แดงได้ลาออกจากราชการเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว  ดังนี้  จำเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  เพราะในขณะดูหมิ่นนั้น  ร.ต.อ.แดง  ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน

อนึ่ง  การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ  2  กรณีต่อไปนี้คือ

(ก)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่  หรือ

(ข)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้  ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขอบเขตย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

เพราะได้กระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทำการตามหน้าที่แล้ว  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแดง  แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง  ต่อมาอีก  3  วันนายขาวพบเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นโดยบังเอิญ  จึงด่าทอดูหมิ่น  เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน  เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  โดยเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลดังกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น  และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  136

นายดวงดื่มสุราเมาครองสติไม่ได้  ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม  นายดวงไม่พอใจ  จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจคนนั้นว่า  มึงแกล้งจับกูคนเดียว  คนอื่นมึงทำไมไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น  เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทำต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้โดยเจตนา  นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  136

แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า  ขณะเจ้าพนักงานตำรวจกำลังนั่งรับประทานอาหารกับภรรยาที่บ้านพัก  โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ  จำเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตำรวจ  แต่ไม่ได้  จำเลยจึงกล่าวว่า กูจะเอามึงให้ย้ายภายในเจ็ดวัน  อ้ายย้ายยังไม่แน่  ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ  เช่นนี้แม้ถ้อยคำดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา  แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่  แต่เป็นเวลานอกราชการอันเป็นการส่วนตัว  จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา  144)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  144  นี้  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย  จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม  กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา  144  เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144

นายแดงถูก  ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง  จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว  แต่  ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่  ส.ต.อ.ขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา  นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายแดงทราบว่า  ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้  ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง (เบิกความเท็จ)  ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  (ฎ.439/2469)

 

ข้อ  3  กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน  20  คน  ไม่พอใจคำสั่งของนายจ้าง  จึงมั่วสุมชุมนุมกันบนท้องถนนหลวงหน้าโรงงาน  ส่งเสียงเอะอะตึงตัง  ตีปี๊บ  จุดประทัด  ชาวบ้านร้านตลาดต่างตระหนกตกใจ  รีบปิดบ้านและห้างร้าน  รีบหนีกันอลหม่าน  ดังนี้  กรรมกรดังกล่าวมีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  215  วรรคแรก  ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป  ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  215  วรรคแรก  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       มั่วสุมกัน

2       ตั้งแต่  10  คนขึ้นไป

3       ใช้กำลังประทุษร้าย  ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

4       โดยเจตนา

มั่วสุมกัน  หมายถึง  เข้ามารวมกัน  เข้ามาชุมนุมกัน  โดยการเข้ามารวมกันนี้ไม่จำต้องมีการนัดหมายหรือตกลงกันมาก่อนก็ได้  แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามามั่วสุมกันนี้กฎหมายกำหนดให้มีบุคคลจำนวนตั้งแต่  10  คนขึ้นไป  ถ้าไม่ถึง  10  คน  ก็ไม่เข้าเกณฑ์ความผิดตามมาตรานี้

และการมั่วสุมกันตั้งแต่  10  คนขึ้นไปนั้น  จะต้องมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปอีก  จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้  คือ  ต้องมีการใช้กำลังประทุษร้าย  ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  และได้กระทำไปโดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน  20  คน  ได้มั่วสุมชุมนุมกันบนท้องถนนหลวงหน้าโรงงาน  ส่งเสียงเอะอะตึงตัง  ตีปี๊บ  จุดประทัด  จนชาวบ้านร้านตลาดต่างตระหนกตกใจรีบปิดบ้าน  ปิดห้างร้าน  และรีบหนีกันอลหม่าน  การกระทำของกรรมกร  20  คนดังกล่าว  ถือเป็นการมั่วสุมกันของคนตั้งแต่  10  คนขึ้นไป  และกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  และได้กระทำไปโดยเจตนา  การกระทำของกรรมกร  20  คนนั้น  จึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  215  วรรคแรกทุกประการ  ดังนั้น  กรรมกรดังกล่าวจึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

สรุป  กรรมกรดังกล่าวมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา  215

 

ข้อ  4  จำปีให้จำปูนกู้เงินไป  20,000  บาท  โดยมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ไว้  ต่อมาจำปูนไม่ชำระเงินภายในกำหนดที่ตกลงกัน  จำปีจึงทำสำเนาสัญญากู้ขึ้นฉบับหนึ่งมีใจความว่าจำปูนกู้เงินจำปีไป  20,000  บาท  และเขียนชื่อจำปูนในช่องผู้กู้  เขียนชื่อจำปีในช่องผู้ให้กู้  กับเขียนชื่อบุคคลอีก  2  คนในช่องพยาน  โดยจำปีลงนามรับรองสำเนาสัญญากู้นั้นว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้อง  แล้วจำปีนำสำเนาสัญญากู้นั้นไปฟ้องต่อศาลเรียกเงิน  20,000  บาทจากจำปูน  โดยแนบสำเนาสัญญากู้นั้นมาท้ายฟ้อง  และบรรยายในฟ้องว่าต้นฉบับสูญหายไป  จำปูนให้การปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญากู้ให้แก่จำปีไว้เลย  ในชั้นสืบพยานจำปีได้อ้างสำเนากู้ฉบับนั้นเป็นพยานด้วย  ดังนี้  การกระทำของจำปีมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดบ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

มาตรา  268  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266  หรือมาตรา  267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำปีได้รับรองสำเนาสัญญากู้ที่ตนเองทำขึ้นว่าถูกต้องทั้งๆที่ต้นฉบับสัญญากู้ที่แท้จริงไม่มีนั้น  ถือเป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ  เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว  เมื่อจำปีได้กระทำไปโดยมีเจตนา  จึงถือเป็นการปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  และเมื่อสัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิ  การกระทำของจำปีจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา  265

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  จำปีได้นำสำเนาสัญญากู้นั้นไปยื่นฟ้องศาล  และได้อ้างสำเนาสัญญากู้ฉบับนั้นเป็นพยานในชั้นสืบพยาน การกระทำของจำปีจึงถือเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา  268  ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่าจำปีเป็นทั้งผู้ปลอม  และใช้เอกสารสิทธิปลอม  จึงให้ลงโทษตามมาตรา  268  เพียงกระทงเดียวตามมาตรา  268  วรรคสอง

สรุป  การกระทำของจำปีมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  และมาตรา  265  และมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา  268  แต่ให้ลงโทษตามมาตรา  268  เพียงกระทงเดียว

WordPress Ads
error: Content is protected !!