LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2546

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  แมกนา  คาร์ตา  ( Magna  Carta)  คืออะไร  เพราะเหตุใดจึงมีการตราแมกนา  ตาร์ตา  ขึ้นมา  และมีบทบัญญัติโดยสังเขปว่าอย่างไร

ธงคำตอบ

1  แมกนา  คาร์ตา  ( Magna  Carta)   คือ  กฎบัตรที่ตราขึ้นโดนกษัตริย์จอห์น  แห่งประเทศอังกฤษ  เมื่อปี  ค.ศ.  1215  ซึ่งถือกันว่าเป็นต้นแบบแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก

 2       เหตุที่มีการตราแมกนา  คาร์ตา  ขึ้นมาก็เนื่องจากกษัตริย์จอห์นทรงละเมิดจารีตประเพณีการปกครองแบบศักดินาสวามิภักดิ์(Feudalism) คือ  ทรงเก็บภาษีจากบรรดาขุนนางและราษฎรผิดไปจากที่จารีตประเพณีกำหนดไว้จนเป็นที่เดือดร้อนของเหล่าบรรดาขุนนางและราษฎร  บรรดาขุนนางทั้งหลายจึงไปร่างเอาข้อกำหนดมาและบังคับกษัตริย์จอห์นทรงรับเอาข้อกำหนดดังกล่าวด้วยการประทับตราแผ่นดินลงไปในเอกสารที่เหล่าบรรดาขุนนางทั้งหลายร่วมกันร่างขึ้นมา  และเพื่อเป็นการถวายเกียรติให้กับกษัตริย์จอห์น  จึงให้กษัตริย์จอห์นตราเป็นกฎบัตรขึ้นและตั้งชื่อว่า  “Magna  Carta”  หรือ  มหาบัตร

3  ข้อกำหนดในแมกนา  คาร์ตา  มีโดยสังเขปดังนี้

1)  เป็นข้อกำหนดสิทธิของชนชั้นต่างๆในสมัยกลาง

2)  ฝ่ายศาสนามีอิสรเสรี

3)  กรุงลอนดอนและเมืองอื่นๆยังคงรักษาไว้ซึ่งจารีตประเพณีที่มีอยู่เดิม

4)  พ่อค้าจะต้องไม่ถูกเก็บภาษีด้วยความไม่เป็นธรรม

5)  บุคคลจะต้องไม่ถูกลงโทษ  เว้นแต่จะมีคำตัดสินของบุคคลในฐานันดรเดียวกันหรือตามกฎหมายของบ้านเมือง 

6)  บุคคลทุกคนย่อมได้รับความยุติธรรม  ความยุติธรรมต้องไม่ใช่สิ่งที่ได้มาด้วยการซื้อหา

 

ข้อ 2  พระอัยการลักษณะผัวเมียในกฎหมายตรา  3  ดวง  มีบทบัญญัติทำนองเงื่อนไขว่าอย่างไรบ้าง  อธิบาย

ธงคำตอบ

บทบัญญัติพระอัยการลักษณะผัวเมียในกฎหมายตรา  3  ดวง  มีบทบัญญัติทำนองเงื่อนไขการสมรสดังนี้

1       หญิงต้องไม่มีสามีอยู่ก่อนแล้ว

2       ชายต้องไม่เป็นพระภิกษุ

3       ชายหญิงต้องไม่เป็นญาติกัน

4       หญิงหม้ายจะแต่งงานใหม่ได้ต้องเผาศพสามีเรียบร้อยเสียก่อน

5       หญิงจะแต่งงานได้ต้องมีอายุกว่า  12  ปี

 

ข้อ  3  กฎหมาย  16  หลังคาเรือน  คืออะไร  มีบทบัญญัติว่าอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมาย  16  หลังคาเรือน  เป็นบทบัญญัติในมังรายศาสตร์หรือกฎหมายพระเจ้ามังราย  โดยกฎหมายบัญญัติว่าในหมู่บ้านหนึ่งๆ มี  16 หลังคาเรือน  มีบ้านหนึ่งบ้านใดถูกลักเอาทรัพย์ไป  อีก  15  ครัวเรือนต้องร่วมกันช่วยใช้คืน  กฎหมายให้เหตุผลว่า  เพราะอยู่บ้านเดียวกันไม่สั่งสอนกัน  ปล่อยให้เพื่อนไปลักของท่านหากเขาเถียงว่ามันลักของท่านเองตัวเขาไม่รู้เห็นด้วย  เจ้าขุนแต่โบราณก็ไม่รับฟัง  หากจับตัวผู้กระทำความผิดได้  หากพิจารณาความว่าผู้ลักของเป็นคนดี  ให้มันใช้  4  เท่า  6  เท่า  หรือ  9  เท่า  แล้วขับออกไปเสียจากบ้านไปอยู่ในระยะไกลขนาดตีกลองไม่ได้ยินเสียง

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2547

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ตามพระอัยการลักษณะโจรและพระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกันในกฎหมายตราสามดวง  มีการยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาในกรณีใดบ้าง  และกฎหมายให้เหตุผลของการยกเว้นโทษไว้ว่าอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

 1         ในพระอัยการลักษณะโจร  มีการยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ระหว่างเครือญาติเช่น  พ่อแม่ลักทรัพย์ลูก  ลูกลักทรัพย์พ่อแม่  หรือสามีลักทรัพย์ของภรรยา  หรือภรรยาลักทรัพย์ของสามี  กฎหมายให้เหตุผลของการยกเว้นโทษว่า  “เพราะยากไร้เขาเสียกันไม่ได้  เขาทรัพย์เรื่องเดียวกัน”  ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ครอบครัวต้องแตกความสามัคคีกันนั่นเอง

2         ในพระอัยการวิวาทด่าตีกัน

            ยกเว้นโทษแก่ญาติพี่น้องทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน  มิถึงอันตรายสาหัส  เหตุผลของการยกเว้นก็เช่นเดียวกับกรณีของการลักทรัพย์ระหว่างเครือญาติ  “เพราะยากไร้เขาเสียกันมิได้”

            ยกเว้นโทษแก่เด็กอายุ  7  ขวบ  และคนชราอายุ  70  ปีขึ้นไป  ที่ไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น  เพราะกฎหมายเห็นบุคคลทั้งสองจำพวกนี้เป็นคนหลงใหลไม่รู้จักผิดและชอบ

            ยกเว้นโทษให้แก่คนวิกลจริต  หรือที่ในกฎหมายเรียกว่า  “คนบ้า”  ถ้าคนบ้าไปตีฟันแทงคนดีตาย  จะปรับไหมคนบ้าไม่ได้  เพราะว่าบ้าหาตำแหน่งแบ่งสัจมิได้  คือคนบ้าไม่รู้ผิดชอบกฎหมายจึงไม่เอาโทษคนบ้า

   การกล่าวหมิ่นประมาทผู้อื่นว่ามึงเป็นชู้ด้วยแม่มึง  พ่อมึงทำชู้ด้วยลูกมึง  ฯลฯ  ถ้าเป็นจริงดังที่มีการกล่าวหมิ่นประมาท  ไม่มีโทษแก่ผู้ด่าแต่ประการใด  เพราะถือว่าผู้กระทำตามถูกหมิ่นประมาทเป็นผู้ทำกาลีลงมา

 

ข้อ  2  กฎหมายเรื่องนิติกรรมสัญญาสมัยบาบิโลน  มีหลักเกณฑ์อย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมายเรื่องนิติกรรมสัญญา  การทำสัญญาสมัยบาบิโลน  ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดว่าต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ประการใด  สัญญาที่ทำกันมากคือสัญญาซื้อขาย  เพราะการค้าขายเป็นที่นิยมในสมัยนั้น  นอกจากนี้คือสัญาเช่าซื้อ  โดยชาวบาบิโลนมีเสรีภาพในการทำสัญญา  ซึ่งการทำสัญญามีการเจรจาต่อรองกัน  หากเป็นทรัพย์สินที่มีราคาแพง  อาจทำสัญญาโดยข้าราชการ  เรียกว่า  สไครวส์  (Scrives)  หรือ  สไครเวอเนอร์  (Scrivener)  เป็นผู้เขียนสัญญาให้  ในสัญญามักจะมีข้อความว่าเมื่อมีข้อพิพาทให้กษัตริย์เป็นผู้ชี้ขาดโดยคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของกษัตริย์  หากสัญญาได้ทำเป็นหนังสือคู่สัญญาจะนำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ 

นอกจากสัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าซื้อที่พบมากยังมีสัญญาอื่นอีก  เช่น  สัญญาให้โดยเสน่ห์หา  สัญญากู้ยืม  สัญญาจำนำ  ซึ่งเกิดจากการทำนิติกรรมสัญญาทั้งสิ้น

ข้อสังเกต  การซื้อขายหากผู้ซื้อทรัพย์สินหรือรับฝากทรัพย์สินจากผู้เยาว์หรือทาสโดยปราศจากอำนาจจะถูกลงโทษฐานลักทรัพย์  และผู้ใดรับทรัพย์สินที่ถูกลักมาจะมีความผิดและถูกลงโทษถึงตาย  เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าได้รับทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริต  แต่ต้องคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของโดยที่ตนเองไล่เบี้ยเอาจากผู้ขายได้ดังนั้นผู้ซื้อจึงต้องใช้ความระมัดระวัง  เรียกเป็นสุภาษิตกฎหมายว่า  “ผู้ซื้อต้องระวัง”  (Caveat  Emptor)

 

ข้อ  3  จงอธิบายผลของคำพิพากษาว่า  คำพิพากษาของศาลถือว่าเป็นกฎหมายหรือไม่  ให้ตอบทั้งระบบ  คอมมอน  ลอว์  และซีวิล  ลอว์

ธงคำตอบ

การพิจารณาคดีของศาลในระบบกฎหมายคอมมอน  ลอว์นั้น  เป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดี  และผู้พิพากษาได้กำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นบรรทัดฐาน  หรือแบบอย่าง  (Precedent)  ขึ้นจากข้อเท็จจริงในคดีนั้น  เป็นการพิจารณาคดีจากข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่องมาสู่หลักเกณฑ์ทั่วไป

เมื่อศาลได้พิพากษาและกำหนดแบบอย่างอันเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป  ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายแล้วศาลต่อๆมาต้องผูกพันที่จะพิพากษาไปในแนวทางเดียวกัน

แต่ในระบบกฎหมายซีวิล  ลอว์นั้น  คำนึงถึงตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ  การพิจารณาคดีของศาลเป็นการนำเอาตัวบทกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับกับคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆไป  เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว  คำพิพากษาของศาลไม่ถือว่าเป็นบรรทัดฐาน  หรือแบบอย่างที่ศาลต่อมาจำเป็นต้องพิพากษาไปในแนวทางเดียวกัน  ศาลต่อๆมาไม่จำต้องผูกพันที่จะพิพากษาตามคำพิพากษาของศาลก่อนๆ  แม้แต่ศาลล่าง  เช่น  ศาลชั้นต้นก็ไม่จำต้องยึดแนวคำพิพากษาของศาลสูง  เช่น  ศาลอุทธรณ์  ศาลฎีกา  ในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลของตน  แต่อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลสูงแม้จะไม่ใช่กฎหมาย  แต่ก็ได้รับความเคารพเชื่อถือในแง่ที่ว่า  ศาลสูงได้ใคร่ครวญและกลั่นกรอง  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาแล้ว  อีกทั้งถ้าศาลล่างมีคำพิพากษาแตกต่างไปจากศาลสูง  คำพิพากษานั้นอาจจะถูกกลับได้  แนวคำวินิจฉัยของศาลสูงจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากฎหมายนักศึกษากฎหมายเองก็จำเป็นต้องเอาใจใส่ศึกษาไม่น้อยกว่าตัวบทกฎหมาย

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  พระธรรมศาสตร์คืออะไร  มีกำเนิดมาอย่างไร  และอาณาจักรไทยได้นำเอาหลักพระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่เมื่อใด  อธิบาย

ธงคำตอบ

พระคัมภีร์ธรรมศาสตร์  คือ  คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอำนาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่งเรียบเรียงขึ้น  เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่างๆตามความยุติธรรม  ซึ่งเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์  มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย  กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง  ดังนั้นจึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์  และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมายของพระธรรมศาสตร์ด้วย สภาพการณ์เช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะและศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายทั้งปวง

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ได้กล่าวถึงกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ความว่า  มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อพรหมเทวะ  จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกำเนิดในตระกูลมหาอำมาตย์  ซึ่งเป็นข้าบาทพระเจ้าสมมุติราชครั้งอายุได้  15  ปี  ก็เข้าแทนที่บิดา  ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่างๆ  จึงมีความปรารถนาจะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  จึงถวายบังคมลาออกไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์  จำเริญเมตตาภาวนาบริโภคพืชผลเป็นอาหาร  มีเทพกินนร  กินนรี  คนธรรม์  เป็นบริวาร  ต่อมาพระเทวะฤาษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตรสองคน  คนแรกชื่อ  ภัทธระกุมาร  คนที่สองชื่อ  มโนสารกุมร  เมื่อบุตรทั้งสองเจริญเติบโตบิดาก็ให้บวชเป็นฤาษีจำศีลภาวนาและรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา  จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป  ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช  มโนสารฤาษีก็ตามพี่ชายออกไปทำราชการด้วย  พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา

ครั้นอยู่มามีชายสองคนทำไร่แตงใกล้กัน  เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลาง  เถาแตงจึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน  เมื่อแตงเป็นผล  ชายทั้งสองคนก็มาเก็บแตง  จึงเกิดการทะเลาะวิวาท  ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง  ชายทั้งสองคนจึงพากันมาหามโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด  มโนสารตัดสินว่าแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด  ผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง  ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสารจึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมุติราช  พระองค์จึงตรัสใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่  อำมาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดูตามปลายยอดเอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น  ชายทั้งสองคนต่างพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์ผู้นี้  และประชาชนทั้งหลายต่างพากันตำหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม  พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีออกไปบวชเป็นฤาษีจำเริญภาวนาและมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วยทศพิธราชธรรม  จึงเหาะไปยังกำแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล  มีปริมาณเท่ากายคชสาร  พระมโนสารก็จดจำมาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์

การที่ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้แต่งเรื่องราวการกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า  พระมโนสารเป็นผู้เหาะไปกำแพงจักรวาล  ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด  เพื่อจดเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราชนั้น  เป็นความประสงค์ของผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มุ่งที่จะยกย่องว่าบทบัญญัติต่างๆ  ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มาจากอำนาจเบื้องสูง  ไม่อยู่ในบังคับของมนุษย์  หากแต่ยังมีอำนาจบังคับเหนือมนุษย์ทั้งปวงให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ด้วย

อาณาจักรไทยเองได้นำเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่  38  (กฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย)  ว่า  “คนที่เอาข้าทาสของผู้อื่นไปเกินกว่า  3  วัน  จะต้องปรับไหมตามขนาดที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์  พระธรรมศาสตร์”

 

ข้อ  2  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย  มาตรา  452  บัญญัติว่า  “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้  และถ้าเป็นการจำเป็น  โดยพฤติการณ์แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้”  จากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายต่างประเทศ  ทำให้ทราบว่า  มาตรานี้เป็นหลักการที่ใช้มานานกว่า  2,000  ปีแล้ว  อยากทราบว่า

(ก)  ในอดีตมีกฎหมายของชนชาติใดที่บัญญัติหลักการคล้ายคลึงกันเช่นนี้

(ข)   อยู่ในระบบกฎหมายใด

(ค)     กฎหมายนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร

(ง)     ข้อความที่บัญญัติไว้ของชนชาติดังกล่าวนั้นมีข้อความเขียนว่าอะไร

ธงคำตอบ

(ก)    ชาวโรมัน

(ข)    ระบบซีวิล  ลอว์  หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร

(ค)    กฎหมายสิบสองโต๊ะ

(ง)     บัญญัติว่า  “สัตว์สี่เท้าของใครเข้าไปทำให้ที่ดินเขาเสียหาย  เขาจับยึดสัตว์นั้นไว้เป็นของเขาได้  เว้นแต่เจ้าของจะเสียเงินค่าไถ่ถอนกลับคืนมาตามราคาค่าเสียหาย”

 

ข้อ  3  เรซีโอ  เดซิเดนดิ  (Ratio  Decidendi)  โอบิเทอร์  ดิคทา  (Obiter  Dicta)  หมายความว่าอะไร  ทั้งสองคำนี้เป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับอะไร  หลักนี้มีในระบบกฎหมายใด  จงยกตัวอย่างมาให้ดูด้วย

ธงคำตอบ

เรซีโอ  เดซิเดนดิ   หมายความว่า  เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย  หรือข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง

โอบิเทอร์  ดิคทา  หมายความว่า  ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง 

ทั้งสองคำเป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับแนวบรรทัดฐานแห่งคำพิพากษาของศาล  (precedent)  หมายถึง  การที่คำพิพากษาศาลอังกฤษใดจะมีผลผูกพันคำพิพากษาในคดีอื่น  นั่นคือ  ศาลที่กำลังพิจารณาคดีจะต้องวินิจฉัยตามคดีก่อนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง  (ratio  decidendi)  ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง  (obiter  dicta)  ไม่มีผลผูกมัด

หลักนี้มีในระบบคอมมอน  ลอว์  (Comomn  Law)  หรือระบบกฎหมายอังกฤษ

ตัวอย่าง  คดีขับรถยนต์โดยประมาททำให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ  ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวโจทก์คือโจทก์ชื่อนายเอ  ผมสีทอง  วันเกิดเหตุเป็นวันศุกร์  ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ  เพราะหลักกฎหมายในเรื่องนี้จะใช้บังคับกับบุคคลอื่นๆด้วย  แม้ว่าบุคคลนั้นจะมิได้มีลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์  แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า  จำเลยขับรถโดยประมาทและผลแห่งการกระทำนั้นทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ  ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  หลักอินทภาษคืออะไร  การปฏิบัติตามหลักอินทภาษหรือไม่ปฏิบัติตามมีผลอย่างไรต่อตุลาการ

ธงคำตอบ

หลักอินทภาษ  เป็นค่ำสั่งสอนที่พระอินทร์มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นตุลาการว่า  การจะเป็นตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ  4  ประการ  คือ  ฉันทาคติ  (รัก)  โทสาคติ  (โกรธ)  ภยาคติ  (กลัว)  โมหาคติ  (หลง)  และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์โดนคลองธรรมอันเป็นจัตุรัส  ซึ่งหมายความว่า  พลิกยากไม่ใช่เป็นไปตามอารมณ์ของตุลาการ  การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมีผลต่อตุลาการผู้นั้นคือ  ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติดังกล่าวแล้ว  อิสริยยศ   และบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง  เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น  ถ้าผู้ใดตัดสินโดยมีอคติ  4  ประการดังกล่าว  อิสริยยศ  และบริวารยศ  ก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม

ที่ว่าให้ผู้พิพากษาปราศจากฉันทาคตินั้น  หมายถึง  ให้ทำจิตใจให้ปราศจากความโลภ  อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง  อย่าเข้าข้างด้วยฝ่ายโจทย์หรือจำเลย  เพราะเหตุจะได้ทรัพย์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แม้ว่าผู้ต้องคดีจะเป็นบิดามารดาก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง

การทำใจให้ปราศจากโทสาคติ  หมายถึง  อย่าตัดสินความโดยความโกรธ  พยาบาท  อาฆาต  เพราะผู้นั้นเป็นปฏิปักษ์แก่ตน 

การพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ  คือ   ให้ผู้พิพากษาทำจิตใจให้มั่นคง  ไม่หวั่นไหว  กลัวฝ่ายโจทย์หรือจำเลย  เพราะเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์  หรือเป็นผู้มีกำลังพวกพ้องมาก

การตัดสินโดยปราศจากโมหาคติ  หมายความว่า  จะต้องตัดสินคดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์  คดีใดควรแพ้ก็ต้องให้แพ้  คดีใดควรชนะก็ให้ชนะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในธรรมศาสตร์  จะต้องไม่ตัดสินคดีโดยหลง

การตัดสินคดีโดยมีอคติ  4  ประการนี้  นับว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง  กล่าวว่า  ถึงแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่น  บาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง

หลักอินทภาษ  มิใช่มีความสำคัญต่อผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการเท่านั้น  หากแต่ยังเป็นหลักที่ผู้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมด้วย

 

ข้อ  2  อุทลุมคืออะไร  ในพระอัยการลักษณะกู้หนี้บัญญัติเรื่องอุทลุมไว้ว่าอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

“อุทลุม”  หมายความว่า  ผิดประเพณี  ผิดธรรมมะ  นอกแบบ  นอกทาง  คือ  คดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล เรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า  “คนอุทลุม”

ในพระอัยการลักษณะกู้หนี้บัญญัติว่า  บิดามารดากู้ยืมเงินบุตรชายหญิงเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ดี  ห้ามบุตรชายหญิงฟ้องบิดามารดา  ณ  โรงศาล  กรมใดๆเลย  ให้ว่ากล่าวกันโดยปกติ  ส่วนลูกเขย  และลูกสะใภ้อาจฟ้องพ่อตา  แม่ยาย  แต่จะได้ต้นเงินเท่านั้น  ดอกเบี้ยมากน้อยเท่าใดไม่ให้คิดเลย  แต่ก็ยังถือเป็นคนอุทลุมยู่ดี

 

ข้อ  3  ให้อธิบายว่าการประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนที่มีชื่อเรียกโดยรวมว่า  Corpus  Juris Civilis  ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง

ธงคำตอบ

การประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียน  มีชื่อเรียกโดยรวมว่า  Corpus  Juris  Civilis  ซึ่งประกอบด้วย

1         Code  จักรพรรดิจัสติเนียนได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจำนวน  10  คน  ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายชั้นนำ  และศาสตราจารย์ทางกฎหมายจัดการรวบรวมกฤษฎีกาของจักรพรรดิต่างๆโดยให้ตัดทอนซึ่งที่เห็นว่าล้าสมัยและเลิกใช้ไปแล้ว  ตลอดจนสิ่งที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องก็ให้ตัดทิ้งไป  ผลงานนี้เรียกว่า  Code  หรือประมวลพระราชบัญญัติ  ทำสำเร็จภายในเวลาเพียง  1  ปี  และประกาศใช้เป็นกฎหมายในปี  ค.ศ. 529  หลังจากประกาศใช้ไปได้เพียง  5  ปี  ก็มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่เพราะว่าล้าสมัย  ประมวลกฎหมายฉบับที่  2  นี้มีชื่อเรียกว่า  Justinian  Code  of  the  Resumed  Reading

2         Digest  หรือ  Pandect  หรือวรรณกรรมกฎหมาย  ในปี  ค.ศ. 530  จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งทริโบเนียน  (Tribonian)  เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดหนึ่งจำนวน  16  คน  ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์ทางกฎหมายและทนายความ  หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือ  การศึกษาข้อเขียนของเหล่าบรรดานักกฎหมายที่ทรงคุณวุฒิ  จากหนังสือจำนวน  2,000  เล่ม  คณะกรรมการนี้ได้ตัดทอนเอาเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องที่สุดไว้  และให้ตัดสิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันทิ้งเสีย  และให้ดัดแปลงข้อความต่างๆให้เข้ากับกฎหมายของยุคจักรพรรดิจัสติเนียน  ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือจำนวน  50  เล่ม  จัดเรียงเป็นลักษณะต่างๆผลงานนี้ทำสำเร็จภายในเวลา  3  ปี ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี  ค.ศ.  533

จักรพรรดิจัสติเนียนให้ถือว่า  Digests  แทนหนังสือเก่าๆทั้งหมด  และห้ามมิให้ค้นคว้า  หรืออ้างอิง   กฎหมายตามหนังสือเก่าโดยเด็ดขาด

 3         Institutes  ในปี  ค.ศ. 533  จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วย  ทริโบเนียนและศาสตราจารย์ทางกฎหมายอีก  2  คน  ให้เรียบเรียงตำรากฎหมายขึ้นมาเล่มหนึ่งไว้เพื่อที่จะแนะนำให้ผู้ศึกษากฎหมายและเนื้อหาสาระของกฎหมายชีวิล  ลอว์  โดยจะกล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมายทั้งหมดให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การศึกษา  ตำรากฎหมายฉบับนี้เรียบเรียงมาจากตำราของไกอุส  (Gaius)  โดยให้ตัดทอนสิ่งที่ล้าสมัยในตำราของไกอุสออก  และให้จัดทำเป็นตำราคำอธิบายกฎหมายเบื้องต้นซึ่งจัดพิมพ์ในปี  ค.ศ. 533

4         Novels  หลังจากที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายในข้อ 1 , 2  และ  3  แล้ว  จักรพรรดิจัสติเนียนยังให้รวบรวมกฎหมายใหม่ๆ  ที่จักรพรรดิตราขึ้นมารวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย  แต่ทำไม่สำเร็จก็เสียชีวิตเสียก่อน  ต่อมามีเอกชนผู้อื่นได้จัดการรวบรวมสืบต่อมา  เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่จักรพรรดิจัสติเนียนจึงให้นับเนื่องส่วนที่  4  นี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานของจักรพรรดิจัสติเนียนด้วย

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ในกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การกระทำผิดทางอาญาไว้แตกต่างกับการกระทำความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันอย่างไรบ้างอธิบาย

ธงคำตอบ

การกระทำผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน  การกระทำที่จะเป็นความผิดทางอาญาต้องประกอบด้วย  2  ส่วน

1         ต้องมีการกระทำคือการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ

2         ต้องมีเจตนาคือ  ผู้กระทำต้องมีเจตนาในการกระทำความผิดโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งผลของการกระทำ

นอกจากนี้  การกระทำความผิดยังแบ่งออกเป็น  5  ขั้นตอนคือ

1         คิดจะกระทำความผิด

2         ตัดสินใจกระทำความผิด

3         ตระเตรียมเพื่อกระทำความผิด

4         ลงมือกระทำความผิด

5         กระทำความผิดสำคัญ

ปัจจุบันการคิดจะกระทำความผิด  ตัดสินในกระทำความผิด  หรือแม้กระทั่งการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดก็ยังไม่เป็นความผิด  (เว้นแต่ความผิดร้ายแรงบางฐาน)  ต่อเมื่อถึงขั้นลงมือกระทำความผิด  จึงจะถือว่าเป็นความผิด  เหตุที่การกระทำขั้นที่  1 – 3  ยังไม่เป็นความผิดเพราะยังไม่เกิดภยันตรายต่อสังคม  อีกทั้งเป็นเรื่องภายในจิตใจเท่านั้น  ต่อเมื่อมีการลงมือกระทำความผิดกฎหมายจึงเข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อนำบทบัญญัติในกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์ที่บัญญัติว่า

“ผิถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟันท่านให้ไหม  5  บาทเฟื้องเงิน

ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝักให้ไหม  100  บาทเงิน

ผิถอดดาบว่าจะฟันแต่ไม่ทันได้ไล่ฟันให้ไหม  220  บาท”

มาเทียบเคียง  จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้ที่เพียงแต่คิดจะกระทำความผิดหรือตัดสินใจกระทำความผิด  ซึ่งเป็นเรื่องภายในใจเท่านั้น

เหตุที่กฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด  หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด  อาจเป็นเพราะกฎหมายพระเจ้ามังราย  หรือมังรายศาสตร์อาศัยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย  คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เดิมเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์  เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้แปลงเป็นคัมภีร์ในศาสนาพุทธ  ตามหลักศาสนาพุทธการคิดกระทำความผิดย่อมเป็นบาป  ซึ่งเป็นเรื่องของทางจิตใจ  แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าเป็นการผิดกฎหมาย  จึงมีการลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด  ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด  หรือตระเตรียมเพื่อที่จะกระทำความผิด

 

ข้อ  2  ตามที่ได้ศึกษาระบบกฎหมายหลัก  อยากทราบว่ากฎหมายของต่างประเทศมีอิทธิพลต่อกฎหมายไทยในปัจจุบันหรือไม่  อย่างไรจงอธิบาย

ธงคำตอบ

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแบ่งออกเป็น  6  บรรพ  จำนวน  1,755  มาตรา  เมื่อพิจารณาถึงมาตราต่างๆ  ในแต่ละบรรพ (Books)  จะเห็นได้ว่า  คณะกรรมการร่างกฎหมายได้อาศัยกฎหมายของประเทศทางตะวันตกเป็นส่วนมากในการจัดทำประมวลกฎหมายฉบับนี้  ดังเห็นได้จากบรรพ  1  หลักทั่วไป  และบรรพ  2  ว่าด้วยหนี้  ได้ลอกเลียนแบบจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเยอรมันและกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น  ซึ่งมีรากฐานมาจากกฎหมายโรมันโดยเฉพาะในบรรพ  2  ว่าด้วยหนี้ในเรื่องการวางทรัพย์  บางมาตราเมื่อเทียบตัวบทแล้วแทบจะเรียกได้ว่าเหมือนกันแทบทุกคำก็ว่าได้

ส่วนในบรรพ  3  ว่าด้วยเอกเทศสัญญา  ได้นำกฎหมายหลายประเทศมาพิจารณา  เช่น  กฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส  กฎหมายแพ่งของสวิส นอกเหนือจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและญี่ปุ่น  แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว  ได้ยึดถือพระราชบัญญัติซื้อขายสินค้า  (The  Sale  Goods  Act,  1893 )  ของประเทศอังกฤษเป็นหลักดังปรากฏในมาตราต่างๆ  ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ  3  ลักษณะ  1  ว่าด้วยซื้อขายซึ่งมีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกับกฎหมายซื้อขายของประเทศอังกฤษ

สำหรับกฎหมายตั๋วเงินในบรรพ  3  ลักษณะ  21  ก็ได้นำเอาบทบัญญัติส่วนใหญ่ของ  เดอะ  บิลล์  ออฟ  เอ็กซ์เชนจ์  แอคท์  ค.ศ.1882 (The  Bill  Exchange  Act,1882)  ของอังกฤษมาเป็นรากฐานในการร่างนอกจากนี้กฎหมายอังกฤษก็ยังเป็นต้นแบบแนวความคิดในการร่างกฎหมายลักษณะบริษัทจำกัดอีกด้วย

ในกฎหมายล้มละลายคือพระราชบัญญัติล้มละลาย  ร.ศ. 127  ก็เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายของต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายของอังกฤษ  ซึ่งต่อมาได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่คือ  พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ. 2483  และฉบับปัจจุบันคือ  พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.2542

ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย  ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ผู้ร่างได้นำเอาหลักกฎหมายอังกฤษมาบัญญัติไว้คือเรื่อง  เฮบัอัส  คอร์พัส  (Habeas  Corpus)  ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการให้หลักประกันทางเสรีภาพแก่ประชาชนอังกฤษมาใช้  ตามกฎหมายอังกฤษถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนหมายเรียกเฮบีอัส  คอร์พัส  ย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผลคือศาลลงโทษได้ทันที  หลักกฎหมายนี้ได้นำมาบัญญัติไว้ในมาตรา  90  ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างในอังกฤษ

ด้วยเหตุนี้ท่านศาสตราจารย์ธานินทร์  กรัยวิเชียร  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี  ได้กล่าวแสดงให้เห็นอิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศในระบบกฎหมายไทยว่า  “ระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันนั้น  เมื่อพิจารณาถึงแบบแห่งกฎหมาย  ย่อมถือได้ว่าเป็นระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย  แต่ถ้าจะพิจารณาถึงเนื้อหาสาระแห่งกฎหมายโดยตรงแล้ว  น่าจะกล่าวได้ว่ากฎหมายไทยมีรากเหง้ามาจากแหล่งต่างๆ  รวม  3  แหล่งด้วยกัน  แหล่งแรกได้แก่  ระบบกฎหมายไทยดั้งเดิม  ซึ่งมีที่มาจากพระคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของอินเดียส่วนหนึ่งและมาจากวิวัฒนาการของกฎหมายไทยเราเอง  ในการสังคายนาประมวลกฎหมายของแผ่นดินในสมัยต่างๆ  จนกระทั่งถึงกฎหมายตราสามดวงอีกส่วนหนึ่ง  กฎหมายไทยในปัจจุบันที่ยังถือตามกฎหมายไทยดั้งเดิมเป็นบางส่วนก็มี  เช่นกฎหมายลักษณะครอบครัว  และลักษณะมรดก  ฯลฯ  เป็นต้น  อีกแหล่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายไทยในปัจจุบันคือกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวล  เช่น  ประมวลแพ่ง  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  สวิส  บราซิล  และญี่ปุ่น  เป็นต้น  ซึ่งจะเห็นได้จากบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และกฎหมายลักษณะอื่นๆของเราในปัจจุบัน  และแหล่งสุดท้ายอันเป็นที่มาของกฎหมายไทยก็คือ  ระบบกฎหมายอังกฤษ

 

ข้อ  3  จงอธิบายระบบฟิวดัลลิซึม  (Feudalism)  ของประเทศอังกฤษในอดีตว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร

ธงคำตอบ

ตอนปลายสมัยแองโกลแซกซอน  ที่ดินเริ่มเปลี่ยนสภาพจากที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรายย่อยๆหลายรายมาตกอยู่ในมือของเจ้าของรายเดียว  ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของเดิมก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นผู้เช่าแทน การรุกรานของชาวนอร์แมนมีผลให้ระบบการถือครองที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  ชาวนอร์แมนได้เอาระบบการปกครองที่เรียกว่า  Feudalism  ไปใช้ในประเทศอังกฤษ  โดยพระเจ้าวิลเลี่ยมทรงอ้างสิทธิเหนือที่ดินทั้งหมดราวกับว่าถูกริบมาเป็นของพระองค์  แล้ววางหลักเกณฑ์ใหม่ว่ากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด  ส่วนบุคคลอื่นเป็นเพียงผู้เช่าถือครองที่ดินโดยได้รับพระราชทานไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจากกษัตริย์  พระเจ้าวิลเลี่ยมทรงยกที่ดินให้แก่ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อพระองค์และได้ช่วยรบแย่งชิงอำนาจจนได้รับชัยชนะ  ผู้สวามิภักดิ์เหล่านี้พูดภาษาพื้นเมืองของอังกฤษไม่ได้  และดูถูกเหยียดหยามชาวพื้นเมืองว่าไม่มีความเจริญ  รวมทั้งมีความรู้สึกว่าชาวพื้นเมืองนี้ทำตัวเป็นปรปักษ์กับพวกตน  ดังนั้นจึงมีความต้องการอยู่รวมใกล้ๆกษัตริย์เพื่อสะดวกในการปราบปรามชนพื้นเมือง  และป้องกันทรัพย์สินของตน

ส่วนพระเจ้าวิลเลี่ยมเองก็ไม่ประสงค์ให้บรรดาผู้สวามิภักดิ์  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสมีอำนาจมากเกินไป  อันจะกลายเป็นภัยต่อพระองค์ภายหลังได้  จึงพระราชทานที่ดินแปลงไม่ใหญ่เกินไปนัก  มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้สร้างสมอำนาจขึ้น  เมื่อผู้สวามิภักดิ์เหล่านั้นได้ที่ดินไปก็ต้องตอบแทนโดยจัดส่งทหารให้แก่กษัตริย์ตามจำนวนที่ดินที่ได้รับพระราชทานโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง  แต่พวกนี้มีทางหารายได้ชดเชยโดยการทำประโยชน์จากที่ดินและจัดแบ่งที่ดินให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์โดยต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ระบบฟิวดัลลิซึมนี้เป็นระบบการถือครองที่ดินโดยมีพันธะผูกพันซึ่งกันและกัน

การจัดทหารให้กับกษัตริย์ก็คือ  การที่กษัตริย์จัดตั้งกองทัพส่วนกลางขึ้นนั่นเอง  และเมื่อมีจำนวนทหารมากขึ้น  ก็จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับต่างๆเพื่อให้ทหารได้อยู่ร่วมกันโดยมีระเบียบวินัยและการจัดทำกฎดังกล่าวขึ้นเมื่อ  ค.ศ. 1086  จึงอาจกล่าวได้ว่ากฎนี้เป็นจุดเริ่มแรกของ  Common  Law  ของอังกฤษ

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  การกระทำความผิดทางอาญาตามกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือที่เรียกกันว่า  มังรายศาสตร์  มีหลักเกณฑ์แตกต่างจากการกระทำความผิดอาญา  ตามประมวลกฎหมายอาญาของปัจจุบันอย่างไรบ้าง  อธิบาย

ธงคำตอบ

การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน  ต้องประกอบด้วน  (1)  การกระทำคือการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ  และ  (2)  ต้องมีเจตนา  คือ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำ  นอกจากนี้ตามปกติยังมีการแบ่งการกระทำออกเป็น  5  ขั้นตอน  ดังนี้

1         คิดที่จะทำความผิด

2         ตกลงใจที่จะทำความผิด

3         ตระเตรียมการเพื่อที่จะกระทำความผิด

4         ลงมือกระทำความผิด

5         กระทำความผิดสำเร็จ

การคิดจะกระทำความผิดหรือตกลงใจที่จะกระทำความผิด  เป็นเรื่องภายในจิตใจ  ยังไม่มีการแสดงออกภายนอก  จึงไม่เป็นความผิดเพราะยังไม่เป็นภยันตรายต่อสังคม  และถึงแม้จะมีการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิด  ซึ่งมีการแสดงออกมาภายนอกแล้วก็ตาม  โดยปกติกฎหมายก็ยังไม่ถือเป็นความผิด  เพราะยังห่างไกลต่อความผิดสำเร็จ  เว้นแต่ความผิดร้ายแรงบางฐานความผิด  เช่น  การตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์  หรือตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น  เป็นต้น  

กฎหมายถือเท่ากับว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว  กล่าวโดยสรุป  ปัจจุบันกฎหมายอาญาไม่ลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด  ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด  หรือตระเตรียมเพื่อกระทำผิด  เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจ  และยังห่างไกลต่อความผิดสำเร็จ  แต่ในกำหมายพระเจ้ามังรายมีบทบัญญัติในลักษณะวิวาทด่าตีกันตอนหนึ่งว่า

“ผิถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟัน  ท่านให้ไหม  5  บาทเฟื้องเงิน

ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝัก  ให้ไหม  100 บาทเฟื้องเงิน

ผิถอดดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ทันได้ไล่ฟัน  ให้ไหม  220  บาทเฟื้องเงิน”

จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายพระเจ้ามังราย  ผู้คิดจะกระทำความผิด  (ถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟัน)  หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด  (ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝัก)  หรือแม้กระทั่งตระเตรียมเพื่อจะกระทำความผิด ( ถอดดาบออกจากฝัก  แต่ยังไม่ทันได้ไล่ฟัน) ล้วนแต่เป็นความผิดมีโทษปรับไหมทั้งสิ้น

เหตุที่กฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด  หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด  อาจเป็นเพราะกฎหมายพระเจ้ามังราย  หรือมังรายศาสตร์อาศัยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย  คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เดิมเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์  เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้แปลงเป็นคัมภีร์ในศาสนาพุทธ  ตามหลักศาสนาพุทธการคิดกระทำความผิดย่อมเป็นบาป  ซึ่งเป็นเรื่องของทางจิตใจ  แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าเป็นการผิดกฎหมาย  จึงมีการลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด  ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด  หรือตระเตรียมเพื่อที่จะกระทำความผิด

 

ข้อ  2  ศาสตร์ตราจารย์เรเน่  ดาวิด  ได้แบ่งระบบกฎหมายออกเป็นกี่ระบบ  อะไรบ้าง  จงอธิบายแต่ละระบบโดยย่อ

ธงคำตอบ

ระบบกฎหมายหลักของโลกมี  4  ระบบ  คือ

1         ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค  โรมาโนเป็นภาษาของชนเผ่าอีทรัสคัน  หมายความว่า  กรุงโรมเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประมวลกฎหมายแพ่ง

เยอรมันนิค  หมายความว่า  ชื่อชนเผ่าหนึ่ง  ปัจจุบันคือชาวเยอรมัน  ซึ่งเป็นชนเผ่าที่นำเอาประมวลกฎหมายแพ่งไปใช้กับชนเผ่าของตน

เนื่องจากกฎหมายโรมันเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร  จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  Written  Law

การที่กฎหมายโรมันจัดทำเป็นประมวลกฎหมาย  จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  Code  Law

ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายนี้คือ  อิตาลี  เยอรมัน  ฝรั่งเศส  สเปน  สวิส  ญี่ปุ่น  ไทย  ฯลฯ

2         ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์  คือ  ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  แต่ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้ในการตัดสินคดี  ต้นกำเนิดหรือแม่แบบเกิดขึ้นในประเทศแรกคืออังกฤษ  ระยะแรกมีชนเผ่าต่างๆที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะอังกฤษ  ศาลท้องถิ่นได้นำเอาจารีตประเพณีของชนเผ่ามาตัดสิน  ทำให้ผลของคำพิพากษาแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน  จนกระทั่งชนเผ่าสุดท้ายคือพวกนอร์แมนพิชิตเกาะอังกฤษในสมัยพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1  จึงส่งศาลเคลื่อนที่ออกไปวางหลักเกณฑ์ทำให้จารีตประเพณีเหมือนกันทุกท้องถิ่น  มีลักษณะเป็นสามัญ  (Common)  และใช้กันทั่วไป  จึงเรียกว่า  คอมมอนลอว์  ตัวอย่างเช่น  แคนาดา  อเมริกา  ออสเตรเลีย  นิงซีแลนด์  สหภาพแอฟริกาใต้  เป็นต้น

3         ระบบกฎหมายสังคมนิยม  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบกฎหมายคอมมิวนิสต์  เกิดขึ้นในประเทศแรกคือรัสเซีย  หลังจากมีการปฏิวัติเมื่อ  ค.ศ.  1917  โดยนำเอาแนวความคิดของนักปราชญ์สองท่าน  คือ  คาร์ล  มาร์กซ์  และเลนิน  ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้การปกครองของประเทศยึดหลักผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือชุมชนหรือสังคม  ประเทศใดที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมตามแนวความคิดของนักปราชญ์ทั้งสอง  ประเทศนั้นจัดอยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม  เช่น  เวียดนาม  ลาว  เกาหลีเหนือ  จีนบนผืนแผ่นดินใหญ่เป็นต้น

4         ระบบกฎหมายสาสนาและประเพณีนิยม   ปัจจุบันมีบางประเทศที่นำเอาคำสอนของพระผู้เป็นเจ้ามาบัญญัติเป็นกฎหมาย  จึงกล่าวกันว่าศาสนาเป็นที่มาของบ่อเกิดของกฎหมาย  มี  3  กลุ่ม  คือ

 (ก)    ศาสนาอิสลาม  ต้นกำเนิดประเทศแรกคือ  ซาอุดิอาระเบีย  คำสอนของพระเจ้า คือ  อัลลอฮ์  ปรากฎอยู่ในกฎหมาย  เช่น  กฎหมายครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

(ข)    ศาสนาคริสต์  แนวความคิดจองศาสนาคริสต์  ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา  เช่น  ข้อกำหนดห้ามหย่า   การห้ามคุมกำเนิด  การห้ามทำแท้ง  และการห้ามสมรสซ้อน  (Bigamy)  เป็นต้น

(ค)    ศาสนาฮินดู  ต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย  ตัวอย่างปรากฏอยู่ในตำรากฎหมาย  คือ  พระธรรมศาสตร์  หรือของไทยเรียกคัมภีร์ธรรมศาสตร์  ของมโนสาราจารย์

ส่วนประเพณีนิยม  เกิดจากคำสอนของนักปราชญ์  มิใช่พระผู้เป็นเจ้า  เช่น  ชาวจีนในสมัยขงจื้อที่นำเอาความเชื่อของนักปราชญ์ท่านนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในชีวิตประจำวัน  หรือลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่นก็มีอิทธิพลต่อการจัดทำกฎหมายของญี่ปุ่นเช่นกัน

 

ข้อ  3  ระบบกฎหมายอังกฤษในยุคที่  2  คือ  ยุคชาวนอร์แมน  ค.ศ. 1066 – 1485  มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์กฎหมายอะไรบ้าง  จงกล่าวโดยสรุปเป็นข้อๆ

ธงคำตอบ

สรุปเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์กฎหมายของประเทศอังกฤษ  ในยุคที่  2  ของชาวนอร์แมนมีดังนี้

1         เกิดจารีตประเพณีที่เหมือนกัน  (เกิด Common  LAW)

2         เกิดการปกครองเรียกว่า  ศักดินาสวามิภักดิ์ (เกิด Feudalism)

3         เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรก  (เกิด  Magna  Carta)

4         เกิดการปฏิรูปศาลหลวง  (เกิดศาลคอมมอน  พลีส์  ศาลเอ็คซ์เซ็คเกอร์  ศาลคิงส์ เบนซ์)

5         เกิดวิธีพิจารณาโดยคณะลูกขุน  (เกิด Jury)  ซึ่งเดิมมีวิธีพิจารณาโดยวิธีพิสูจน์น้ำพิสูจน์ไฟ  วิธีการสาบานตัว  วิธีการต่อสู้

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ประมวลกฎหมายตรา  3  ดวง  คืออะไร  อะไรคือสาเหตุที่นำไปสู่การประมวลกฎหมาย  ตรา  3  ดวงอธิบาย

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายตราสามดวง  คือ  กฎหมายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้รวบรวมและชำระสะสางให้ถูกต้องตามความยุติธรรม  เมื่อปีจุลศักราช  1166  (พุทธศักราช  2347)  ประกอบด้วยพระธรรมศาสตร์  หลักอินทภาษ  และพระอัยการต่างๆ  รวม  29  ลักษณะ  เสร็จแล้วทรงให้อาลักษณ์เขียนเป็นฉบับหลวงจำนวน  3  ชุดๆละ  41 เล่ม  ทรงให้ประทับตราราชสีห์  พระคชสีห์  และบัวแก้ว  อันเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก  สมุหพระกลาโหม  และเจ้าพระยาพระคลังไวเป็นสำคัญ  และใช้เป็นกฎหมาย ตลอดมาจนค่อยๆมีการทยอยยกเลิกจนหมดสิ้นเมื่อปี  พ.ศ.  2481

เหตุเมื่อมีประมวลกฎหมายตราสามดวงเนื่องจากมีการร้องทุกข์ทูลเกล้าถวายฎีกาของนายบุญศรี  ช่างเหล็กหลวง  กล่าวโทษพระเกษมและนายราชาอรรถ  เนื่องด้วยอำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรี  นายบุญศรีให้การแก่พระเกษมว่าอำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีนายบุญศรีไม่ยอมหย่า  พระเกษมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่  พระเกษมพูดจาแทะโลมอำแดงป้อมและพิจารณาไม่เป็นสัจเป็นธรรม  เข้าด้วยอำแดงป้อม  แล้วคัดเอาข้อความมาให้ลูกขุน  ณ  ศาลหลวงปรึกษาว่าเป็นหญิงหย่าชาย  ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่าเป็นเรื่องหญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า  ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่  จึงทรงให้จัดการชำระบทกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้นเสียใหม่  แล้วให้อาลักษณ์เขียนลงในสมุดจำนวน  3  ชุด  ชุดละ  41  เล่ม  เสร็จแล้วทรงให้ประทับตราราชสีห์  พระคชสีห์  และบัวแก้ว  ซึ่งมีชื่อเรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

 

ข้อ  2  จากการที่ได้ศึกษาพระอัยการต่างๆ  ในประมวลกฎหมายตรา  3  ดวง  ความเป็นญาติทางสายโลหิตและความเป็นญาติโดยการสมรส  เป็นเหตุให้ยกเว้นความรับผิดทางอาญาหรือยกเว้นโทษในกรณีใดบ้าง  อธิบาย

ธงคำตอบ

ตามกฎหมายตรา  3  ดวง  ความเป็นญาติและความเป็นสามีภรรยา  มีผลในทางแพ่งและทางอาญาดังนี้

1         กรณีความเป็นญาติ  กฎหมายยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายมิถึงสาหัสระหว่างเครือญาติ  เช่น  พ่อตาแม่ยายด่าตีกับลูกเขย  ปู่ย่าด่าตีกับหลาน  เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะถึงอย่างไร  เขาเสีนกันมิได้

2         ลักทรัพย์ระหว่างเครือญาติและลักทรัพย์ระหว่างสามีภรรยา

ในพระอัยการลักษณะโจร  มีการบัญญัติว่า  พ่อลักทรัพย์ลูก  ลูกลักทรัพย์พ่อแม่  พ่อแม่ลักทรัพย์ลูก  พี่น้องลักทรัพย์ซึ่งกันและกัน  หรือ ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ลุง  ป้า  น้า  อา  ลักทรัพย์หลาน  หลานลักทรัพย์ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ลุง  ป้า  น้า  อา  ผัวลักทรัพย์เมีย  กฎหมายให้ยกเว้นโทษให้  เขาทรัพย์เรื่องเดียวกันยากไร้เขาเสียกันมิได้  ให้คืนทรัพย์สิ่งของนั้นให้แก่กัน  จะลงโทษแลปรับไหมให้แก่กันดังฉันผู้อื่นมิได้

 

ข้อ  3  การประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนมีชื่อเรียกโดยรวมว่าอย่างไร  และประกอบด้วยอะไรบ้าง  อธิบาย

ธงคำตอบ

การประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียน  มีชื่อเรียกโดยรวมว่า  Corpus  Juris  Civilis  ซึ่งประกอบด้วย

1         Code  จักรพรรดิจัสติเนียนได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจำนวน  10  คน  ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายชั้นนำ  และศาสตราจารย์ทางกฎหมายจัดการรวบรวมกฤษฎีกาของจักรพรรดิต่างๆโดยให้ตัดทอนซึ่งที่เห็นว่าล้าสมัยและเลิกใช้ไปแล้ว  ตลอดจนสิ่งที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องก็ให้ตัดทิ้งไป  ผลงานนี้เรียกว่า  Code  หรือประมวลพระราชบัญญัติ  ทำสำเร็จภายในเวลาเพียง  1  ปี  และประกาศใช้เป็นกฎหมายในปี  ค.ศ. 529  หลังจากประกาศใช้ไปได้เพียง  5  ปี  ก็มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่เพราะว่าล้าสมัย  ประมวลกฎหมายฉบับที่  2  นี้มีชื่อเรียกว่า  Justinian  Code  of  the  Resumed  Reading

2         Digest  หรือ  Pandect  หรือวรรณกรรมกฎหมาย  ในปี  ค.ศ. 530  จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งทริโบเนียน  (Tribonian)  เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดหนึ่งจำนวน  16  คน  ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์ทางกฎหมายและทนายความ  หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือ  การศึกษาข้อเขียนของเหล่าบรรดานักกฎหมายที่ทรงคุณวุฒิ  จากหนังสือจำนวน  2,000  เล่ม  คณะกรรมการนี้ได้ตัดทอนเอาเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องที่สุดไว้  และให้ตัดสิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันทิ้งเสีย  และให้ดัดแปลงข้อความต่างๆให้เข้ากับกฎหมายของยุคจักรพรรดิจัสติเนียน  ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือจำนวน  50  เล่ม  จัดเรียงเป็นลักษณะต่างๆผลงานนี้ทำสำเร็จภายในเวลา  3  ปี ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี  ค.ศ.  533

จักรพรรดิจัสติเนียนให้ถือว่า  Digests  แทนหนังสือเก่าๆทั้งหมด  และห้ามมิให้ค้นคว้า  หรืออ้างอิง   กฎหมายตามหนังสือเก่าโดยเด็ดขาด

 3         Institutes  ในปี  ค.ศ. 533  จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วย  ทริโบเนียนและศาสตราจารย์ทางกฎหมายอีก  2  คน  ให้เรียบเรียงตำรากฎหมายขึ้นมาเล่มหนึ่งไว้เพื่อที่จะแนะนำให้ผู้ศึกษากฎหมายและเนื้อหาสาระของกฎหมายชีวิล  ลอว์  โดยจะกล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมายทั้งหมดให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การศึกษา  ตำรากฎหมายฉบับนี้เรียบเรียงมาจากตำราของไกอุส  (Gaius)  โดยให้ตัดทอนสิ่งที่ล้าสมัยในตำราของไกอุสออก  และให้จัดทำเป็นตำราคำอธิบายกฎหมายเบื้องต้นซึ่งจัดพิมพ์ในปี  ค.ศ. 533

4         Novels  หลังจากที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายในข้อ 1 , 2  และ  3  แล้ว  จักรพรรดิจัสติเนียนยังให้รวบรวมกฎหมายใหม่ๆ  ที่จักรพรรดิตราขึ้นมารวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย  แต่ทำไม่สำเร็จก็เสียชีวิตเสียก่อน  ต่อมามีเอกชนผู้อื่นได้จัดการรวบรวมสืบต่อมา  เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่จักรพรรดิจัสติเนียนจึงให้นับเนื่องส่วนที่  4  นี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานของจักรพรรดิจัสติเนียนด้วย

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ศิลาจารึกหลักที่  38  หรือกฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย  มีลักษณะเป็นกฎหมายหรือไม่  หากเป็นกฎหมายเป็นกฎหมายลักษณะอะไร  และศิลาจารึกหลักที่  38  มีคุณค่าต่อกฎหมายไทยอย่างไรบ้างอธิบาย

ธงคำตอบ

ศิลาจารึกหลักที่ 38  (กฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย)  มีลักษณะเป็นกฎหมาย  เพราะมีการจารึกว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงให้บัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายอาญาเพราะมีการบัญญัติว่า  ถ้าใครเอาข้าคนรับใช้ลูกเมียของผู้อื่นไว้ไม่ส่งคืนเจ้าของ  ต้องถูกปรับไหมตามที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์  พระธรรมศาสตร์

ศิลาจารึกหลักที่  38  มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของกฎหมายไทย  คือ

 1         ทำให้ทราบว่าไทยเรามีศัพท์กฎหมายที่เป็นของตนเองมาแต่โบราณกาล  เช่น  คำว่า  พระปรชญบติ  แปลว่า  พระราชบัญญัติ  พระราชศาสตร์  พระธรรมศาสตร์  แปลว่า  กฎหมาย  เป็นต้น

2         ทำให้ทราบว่า  ไทยเราได้นำเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่สมัยสุโขทัย

 

ข้อ  2  ระบบกฎหมายหลักของโลกมีกี่ระบบ  อะไรบ้าง  จงอธิบายพอสังเขป

ธงคำตอบ

ระบบกฎหมายหลักของโลกมี  4  ระบบ  คือ

 1         ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค  โรมาโนเป็นภาษาของชนเผ่าอีทรัสคัน  หมายความว่า  กรุงโรมเมืองหลวงของประเทศอิตาลี  ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประมวลกฎหมายแพ่ง

เยอรมันนิค  หมายความว่า  ชื่อชนเผ่าหนึ่ง  ปัจจุบันคือชาวเยอรมัน  ซึ่งเป็นชนเผ่าที่นำเอาประมวลกฎหมายแพ่งไปใช้กับชนเผ่าของตน

เนื่องจากกฎหมายโรมันเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร  จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  Written  Law

การที่กฎหมายโรมันจัดทำเป็นประมวลกฎหมาย  จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  Code  Law

ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายนี้คือ  อิตาลี  เยอรมัน  ฝรั่งเศส  สเปน  สวิส  ญี่ปุ่น  ไทย  ฯลฯ

 2         ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์  คือ  ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  แต่ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้ในการตัดสินคดี  ต้นกำเนิดหรือแม่แบบเกิดขึ้นในประเทศแรกคืออังกฤษ  ระยะแรกมีชนเผ่าต่างๆที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะอังกฤษ  ศาลท้องถิ่นได้นำเอาจารีตประเพณีของชนเผ่ามาตัดสิน  ทำให้ผลของคำพิพากษาแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน  จนกระทั่งชนเผ่าสุดท้ายคือพวกนอร์แมนพิชิตเกาะอังกฤษในสมัยพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1  จึงส่งศาลเคลื่อนที่ออกไปวางหลักเกณฑ์ทำให้จารีตประเพณีเหมือนกันทุกท้องถิ่น  มีลักษณะเป็นสามัญ  (Common)  และใช้กันทั่วไป  จึงเรียกว่า  คอมมอนลอว์  ตัวอย่างเช่น  แคนาดา  อเมริกา  ออสเตรเลีย  นิงซีแลนด์  สหภาพแอฟริกาใต้  เป็นต้น

 3         ระบบกฎหมายสังคมนิยม  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบกฎหมายคอมมิวนิสต์  เกิดขึ้นในประเทศแรกคือรัสเซีย  หลังจากมีการปฏิวัติเมื่อ  ค.ศ.  1917  โดยนำเอาแนวความคิดของนักปราชญ์สองท่าน  คือ  คาร์ล  มาร์กซ์  และเลนิน  ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้การปกครองของประเทศยึดหลักผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือชุมชนหรือสังคม  ประเทศใดที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมตามแนวความคิดของนักปราชญ์ทั้งสอง  ประเทศนั้นจัดอยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม  เช่น  เวียดนาม  ลาว  เกาหลีเหนือ  จีนบนผืนแผ่นดินใหญ่เป็นต้น

 4         ระบบกฎหมายสาสนาและประเพณีนิยม   ปัจจุบันมีบางประเทศที่นำเอาคำสอนของพระผู้เป็นเจ้ามาบัญญัติเป็นกฎหมาย  จึงกล่าวกันว่าศาสนาเป็นที่มาของบ่อเกิดของกฎหมาย  มี  3  กลุ่ม  คือ

 (ก)    ศาสนาอิสลาม  ต้นกำเนิดประเทศแรกคือ  ซาอุดิอาระเบีย  คำสอนของพระเจ้า คือ  อัลลอฮ์  ปรากฎอยู่ในกฎหมาย  เช่น  กฎหมายครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

(ข)    ศาสนาคริสต์  แนวความคิดจองศาสนาคริสต์  ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา  เช่น  ข้อกำหนดห้ามหย่า   การห้ามคุมกำเนิด  การห้ามทำแท้ง  และการห้ามสมรสซ้อน  (Bigamy)  เป็นต้น

(ค)    ศาสนาฮินดู  ต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย  ตัวอย่างปรากฏอยู่ในตำรากฎหมาย  คือ  พระธรรมศาสตร์  หรือของไทยเรียกคัมภีร์ธรรมศาสตร์  ของมโนสาราจารย์

ส่วนประเพณีนิยม  เกิดจากคำสอนของนักปราชญ์  มิใช่พระผู้เป็นเจ้า  เช่น  ชาวจีนในสมัยขงจื้อที่นำเอาความเชื่อของนักปราชญ์ท่านนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในชีวิตประจำวัน  หรือลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่นก็มีอิทธิพลต่อการจัดทำกฎหมายของญี่ปุ่นเช่นกัน

 

ข้อ  3  วลีที่ว่า  “ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน”   มีที่มาจากกฎหมายในสมัยใด  กฎหมายนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร  เป็นกฎหมายประเภทใด  วลีที่ว่านี้หมายความว่าอย่างไร  และกฎหมาย สมัยนั้นบัญญัติข้อความอย่างไร  จงกล่าวเฉพาะข้อความที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ธงคำตอบ

 1         กฎหมายนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี  1765  ก่อนคริสต์ศักราช  พวกอะมอไรท์ที่มาจากทะเลทรายอาระเบียเข้ามายึดครองเมืองบาบิโลเนีย  แล้วสถาปนาเป็นนครหลวงของจักรวรรดิจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  ชาวบาบิโลเนียหรือสมัยบาบิโลนนั่นเอง

2         ประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบี

3         กฎหมายอาญา

4         ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน  หมายความว่า  ทำอย่างไรต้องได้รับผลตอบแทนเช่นนั้น  ซึ่งยึดหลักการแก้แค้นตอบแทนที่รุนแรงมาก

5         ข้อความที่กฎหมายบัญญัติไว้คือ  “ถ้าบุคคลใดทำลายดวงตาของอีกผู้หนึ่ง  ดวงตาของบุคคลนั้นจะถูกทำลายเช่นกัน”

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต  หรือโดยการสมรสมีผลต่อบุคคลอย่างไรในทางแพ่งและทางอาญาตามพระอัยการลักษณะต่างๆ  ในประมวลกฎหมายตรา  3  ดวง  (ให้อธิบายผลในทางแพ่งมา  3  กรณี  และผลในทางอาญามา  2  กรณี)

ธงคำตอบ

ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต  หรือโดยการสมรสมีผลต่อบุคคลในทางแพ่งและอาญาตามพระอัยการลักษณะต่างๆ  ในประมวลกฎหมายตรา  3  ดวง  ในกรณีต่างๆดังนี้

1         ทางแพ่ง

1)       ห้ามมิให้มีการสมรสกันในระหว่างเครือญาติ  (พระอัยการลักษณะผัวเมีย)

2)       มีสิทธิรับมรดก (พระอัยการลักษณะมรดก)

3)       ห้ามลูกหลานฟ้องบิดามารดา  ปู่ย่า  ตายาย  (พระอัยการลักษณะกู้หนี้)

2         ทางอาญา

1)       ไม่ต้องรับโทษทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์  (พระอัยการลักษณะโจร)

2)       ไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายมิถึงอันตรายสาหัส  (พระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกัน)

 

ข้อ  2  การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญาปล่อยตัวนายแพทย์ประกิตเผ่า  อ้างว่าถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 90  ซึ่งศาลนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่  2  มีนาคม  2550  แล้วนั้น  ตามที่ได้ศึกษาเรื่องระบบกฎหมายหลัก  อยากทราบว่ามาตรา  90  ป.วิ.อาญา  เอามาจากประเทศอะไร  ประเทศดังกล่าวอยู่ในระบบกฎหมายใด  วัตถุประสงค์แห่งกฎหมายมาตรา  90  นี้คืออะไร  และกฎหมายเรื่องนี้มีที่มาทางประวัติศาสตร์ของต่างประเทศอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  90  ป.วิ.อาญา  เอามาจากประเทศอังกฤษ  ซึ่งอยู่ในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์

วัตถุประสงค์แห่งกฎหมายนี้คือ  เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลเหมือนอย่างในประเทศอังกฤษ  และตามกฎหมายอังกฤษ  ผู้ใดฝ่าฝืนหมายเรียก  เฮเบียส  คอร์พัส  ย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  ทำให้ศาลลงโทษได้ทันที

ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของหลักกฎหมายเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่  2  ยุคชาวนอร์แมนหรือยุคก่อตัวของคอมมอนลอว์  ค.ศ. 1066 – 1485  ในยุคนี้ได้เกิดการปฏิรูปศาล  คือ  ศาลหลวง  ได้มีวิวัฒนาการแยกออกเป็น  3  ศาล  ศาลหนึ่งที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา  คือ  ศาลคิงส์  เบนช์  ศาลนี้ยังมีอำนาจเป็นศาลอุทธรณ์  โดยได้รับอำนาจจากพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการออกหมายเรียก  ที่ชื่อว่า  เธอะ  พรีรอกเกตีฟ ริต  (Prerogative  Writs)  ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายนี้  คือ  เฮเบียส  คอร์พัส  (Habeas  Corpus)  เป็นกฎหมายที่ออกเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการควบคุมตัวบุคคล  ซึ่งศาลคิงส์  เบนช์  มีอำนาจออกได้  ต่อมาหมายนี้เป็นหมายที่มีความสำคัญที่สุดหมายหนึ่งในการคุ้มครองรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  โดยศาลนี้ได้ใช้หมายนี้จำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่ใช้โดยมิชอบ

ในปี ค.ศ.  1679  รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติเฮเบียส  คอร์พัส  แอคท์  (The  Habeas)  Corpus  Act  1679)  กฎหมายฉบับนี้บัญญัติว่า  คนสัญชาติอังกฤษคนใดถูกจำขังในเรือนจำโดยปราศจากการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล  ผู้นั้นหรือผู้อื่นที่มิได้ต้องขังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรม  ให้ออกหมายที่เรียกว่า  เฮเบียส  คอร์พัส  ไปยังผู้ที่จำขังเขาให้มาศาลพร้อมผู้ต้องขัง  เพื่อไต่สวนถึงเหตุที่เอาตัวผู้นั้นไปขังและผู้พิพากษามีอำนาจปล่อยผู้ต้องขังโดยมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้

ปัจจุบันศาลสูงชั้นกลาง  คือ  ซูพรีม  คอร์ท  (Supreme  Court)   มีอำนาจออกหมายนี้

 

ข้อ  3  การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  พ.ศ. 2550  ของประเทศไทย  มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภา  อยากทราบว่าสภานี้ในอดีตของต่างประเทศมีชื่อเรียกว่าอะไร  เกิดจากชนชาติใด  ในยุคใดของชนชาตินั้น  จำนวนสมาชิกสภานี้ในสมัยนั้นมีกี่คน  ที่มาของสมาชิกสภานี้ในสมัยดังกล่าวมาจากการเลือกตั้งของประชาชนใช่หรือไม่  และในสมัยนั้นสภานี้มีอำนาจหน้าที่อะไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

สภานี้มีชื่อเรียกว่า  สภาซีเนต  เกิดจากชาวโรมันในยุคที่  2  คือยุคสาธารณรัฐ

จำนวนสมาชิกสภาซีเนตเดิมมี  300  คน  ต่อมาเพิ่มเป็น  600  คน  ในสมัยจูเลียสซีซาร์มี  900 คน 

สมาชิกของสภานี้  ในอดีตสมัยดังกล่าวไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโรมัน  สภานี้มีมาตั้งแต่ยุคกษัตริย์  โดยกษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากชนชั้นสูง  หรือพวกพาทริเชียน  (Patricians)  ในยุคสาธารณรัฐของโรมัน  สภา  Semate  ประกอบด้วย  ผู้อาวุโส  ที่คอนซูลหรือกงสุลทำการคัดเลือกจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือก  ได้แก่  ผู้บริหารตั้งแต่  คอนซูล  เซนเซอร์  และแอร์ดิลิส

สภานี้มีอำนาจเป็นสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ในยุคแรกของโรมัน  ในยุคสาธารณรัฐเป็นที่ปรึกษาของคอนซูล  ในสมัยต่อมาสภา  Senate เป็นองค์กรหนึ่งของฝ่ายบริหารทีเป็นหลักในการปกครองสาธารณรัฐโรมัน  สภา  Senate  ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย  แต่ทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาของผู้บริหารสูงสุดคือ  คอนซูล  ผู้บริหารจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้  ในทางปฏิบัติสภา  Senate  มีความเห็นอย่างไร  ผู้บริหาร  ที่ขอคำปรึกษาแนะนำมักจะปฏิบัติตามและมักจะยอมรับคำแนะนำของสภา  Senate

กฎหมายที่สำคัญ  เช่น  กฎหมายสิบสองโต๊ะ  ต้องผ่านสภานี้ด้วย  นอกจากนี้มติของสภาซีเนตเรียกว่า  Senatus  Consulta  ถือว่าเป็นกฎหมาย

LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนนข้อ  1  พระธรรมสาสตร์คืออะไร  ให้อธิบายถึงการกำเนิดพระธรรมศาสตร์ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงมาโดยสังเขป

ธงคำตอบ

พระคัมภีร์ธรรมศาสตร์  คือ  คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอำนาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่งเรียบเรียงขึ้น  เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่างๆตามความยุติธรรม  ซึ่งเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์  มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย  กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง  ดังนั้นจึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์  และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมายของพระธรรมศาสตร์ด้วย  สภาพการณ์เช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะและศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายทั้งปวง

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ได้กล่าวถึงกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ความว่า  มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อพรหมเทวะ  จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกำเนิดในตระกูลมหาอำมาตย์  ซึ่งเป็นข้าบาทพระเจ้าสมมุติราชครั้งอายุได้  15  ปี  ก็เข้าแทนที่บิดา  ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่างๆ  จึงมีความปรารถนาจะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  จึงถวายบังคมลาออกไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์  จำเริญเมตตาภาวนาบริโภคพืชผลเป็นอาหาร  มีเทพกินนร  กินนรี  คนธรรม์  เป็นบริวาร  ต่อมาพระเทวะฤาษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตรสองคน  คนแรกชื่อ  ภัทธระกุมาร  คนที่สองชื่อ  มโนสารกุมร  เมื่อบุตรทั้งสองเจริญเติบโตบิดาก็ให้บวชเป็นฤาษีจำศีลภาวนาและรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา  จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป  ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช  มโนสารฤาษีก็ตามพี่ชายออกไปทำราชการด้วย  พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา

ครั้นอยู่มามีชายสองคนทำไร่แตงใกล้กัน  เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลาง  เถาแตงจึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน  เมื่อแตงเป็นผล  ชายทั้งสองคนก็มาเก็บแตง  จึงเกิดการทะเลาะวิวาท  ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง  ชายทั้งสองคนจึงพากันมาหามโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด  มโนสารตัดสินว่าแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด  ผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง  ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสารจึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมุติราช  พระองค์จึงตรัสใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่  อำมาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดูตามปลายยอดเอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น  ชายทั้งสองคนต่างพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์ผู้นี้  และประชาชนทั้งหลายต่างพากันตำหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม  พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีออกไปบวชเป็นฤาษีจำเริญภาวนาและมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วยทศพิธราชธรรม  จึงเหาะไปยังกำแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล  มีปริมาณเท่ากายคชสาร  พระมโนสารก็จดจำมาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์

การที่ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้แต่งเรื่องราวการกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า  พระมโนสารเป็นผู้เหาะไปกำแพงจักรวาล  ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด  เพื่อจดเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราชนั้น  เป็นความประสงค์ของผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มุ่งที่จะยกย่องว่าบทบัญญัติต่างๆ  ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มาจากอำนาจเบื้องสูง  ไม่อยู่ในบังคับของมนุษย์  หากแต่ยังมีอำนาจบังคับเหนือมนุษย์ทั้งปวงให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ด้วย

 

ข้อ  2  หลักอินภาษคืออะไร  มีหลักเกณฑ์อย่างไร  การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักอินทภาษมีผลอย่างไรต่อตุลาการ  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักอินทภาษ  เป็นค่ำสั่งสอนที่พระอินทร์มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นตุลาการว่า  การจะเป็นตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ  4  ประการ  คือ  ฉันทาคติ  (รัก)  โทสาคติ  (โกรธ)  ภยาคติ  (กลัว)  โมหาคติ  (หลง)  และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์โดนคลองธรรมอันเป็นจัตุรัส  ซึ่งหมายความว่า  พลิกยากไม่ใช่เป็นไปตามอารมณ์ของตุลาการ  การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมีผลต่อตุลาการผู้นั้นคือ  ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติดังกล่าวแล้ว  อิสริยยศ   และบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง  เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น  ถ้าผู้ใดตัดสินโดยมีอคติ  4  ประการดังกล่าว  อิสริยยศ  และบริวารยศ  ก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม

ที่ว่าให้ผู้พิพากษาปราศจากฉันทาคตินั้น  หมายถึง  ให้ทำจิตใจให้ปราศจากความโลภ  อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง  อย่าเข้าข้างด้วยฝ่ายโจทย์หรือจำเลย  เพราะเหตุจะได้ทรัพย์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แม้ว่าผู้ต้องคดีจะเป็นบิดามารดาก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง

การทำใจให้ปราศจากโทสาคติ  หมายถึง  อย่าตัดสินความโดยความโกรธ  พยาบาท  อาฆาต  เพราะผู้นั้นเป็นปฏิปักษ์แก่ตน 

การพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ  คือ   ให้ผู้พิพากษาทำจิตใจให้มั่นคง  ไม่หวั่นไหว  กลัวฝ่ายโจทย์หรือจำเลย  เพราะเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์  หรือเป็นผู้มีกำลังพวกพ้องมาก

การตัดสินโดยปราศจากโมหาคติ  หมายความว่า  จะต้องตัดสินคดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์  คดีใดควรแพ้ก็ต้องให้แพ้  คดีใดควรชนะก็ให้ชนะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในธรรมศาสตร์  จะต้องไม่ตัดสินคดีโดยหลง

การตัดสินคดีโดยมีอคติ  4  ประการนี้  นับว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง  กล่าวว่า  ถึงแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่น  บาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง

หลักอินทภาษ  มิใช่มีความสำคัญต่อผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการเท่านั้น  หากแต่ยังเป็นหลักที่ผู้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมด้วย

 

ข้อ  3  การประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนมีชื่อเรียกโดยรวมว่าอะไร  และประกอบด้วยอะไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

การประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียน  มีชื่อเรียกโดยรวมว่า  Corpus  Juris  Civilis  ซึ่งประกอบด้วย

1         Code  จักรพรรดิจัสติเนียนได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจำนวน  10  คน  ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายชั้นนำ  และศาสตราจารย์ทางกฎหมายจัดการรวบรวมกฤษฎีกาของจักรพรรดิต่างๆโดยให้ตัดทอนซึ่งที่เห็นว่าล้าสมัยและเลิกใช้ไปแล้ว  ตลอดจนสิ่งที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องก็ให้ตัดทิ้งไป  ผลงานนี้เรียกว่า  Code  หรือประมวลพระราชบัญญัติ  ทำสำเร็จภายในเวลาเพียง  1  ปี  และประกาศใช้เป็นกฎหมายในปี  ค.ศ. 529  หลังจากประกาศใช้ไปได้เพียง  5  ปี  ก็มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่เพราะว่าล้าสมัย  ประมวลกฎหมายฉบับที่  2  นี้มีชื่อเรียกว่า  Justinian  Code  of  the  Resumed  Reading

2         Digest  หรือ  Pandect  หรือวรรณกรรมกฎหมาย  ในปี  ค.ศ. 530  จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งทริโบเนียน  (Tribonian)  เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดหนึ่งจำนวน  16  คน  ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์ทางกฎหมายและทนายความ  หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือ  การศึกษาข้อเขียนของเหล่าบรรดานักกฎหมายที่ทรงคุณวุฒิ  จากหนังสือจำนวน  2,000  เล่ม  คณะกรรมการนี้ได้ตัดทอนเอาเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องที่สุดไว้  และให้ตัดสิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันทิ้งเสีย  และให้ดัดแปลงข้อความต่างๆให้เข้ากับกฎหมายของยุคจักรพรรดิจัสติเนียน  ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือจำนวน  50  เล่ม  จัดเรียงเป็นลักษณะต่างๆผลงานนี้ทำสำเร็จภายในเวลา  3  ปี ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี  ค.ศ.  533

จักรพรรดิจัสติเนียนให้ถือว่า  Digests  แทนหนังสือเก่าๆทั้งหมด  และห้ามมิให้ค้นคว้า  หรืออ้างอิง   กฎหมายตามหนังสือเก่าโดยเด็ดขาด

 3         Institutes  ในปี  ค.ศ. 533  จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วย  ทริโบเนียนและศาสตราจารย์ทางกฎหมายอีก  2  คน  ให้เรียบเรียงตำรากฎหมายขึ้นมาเล่มหนึ่งไว้เพื่อที่จะแนะนำให้ผู้ศึกษากฎหมายและเนื้อหาสาระของกฎหมายชีวิล  ลอว์  โดยจะกล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมายทั้งหมดให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การศึกษา  ตำรากฎหมายฉบับนี้เรียบเรียงมาจากตำราของไกอุส  (Gaius)  โดยให้ตัดทอนสิ่งที่ล้าสมัยในตำราของไกอุสออก  และให้จัดทำเป็นตำราคำอธิบายกฎหมายเบื้องต้นซึ่งจัดพิมพ์ในปี  ค.ศ. 533

4         Novels  หลังจากที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายในข้อ 1 , 2  และ  3  แล้ว  จักรพรรดิจัสติเนียนยังให้รวบรวมกฎหมายใหม่ๆ  ที่จักรพรรดิตราขึ้นมารวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย  แต่ทำไม่สำเร็จก็เสียชีวิตเสียก่อน  ต่อมามีเอกชนผู้อื่นได้จัดการรวบรวมสืบต่อมา  เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่จักรพรรดิจัสติเนียนจึงให้นับเนื่องส่วนที่  4  นี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานของจักรพรรดิจัสติเนียนด้วย

WordPress Ads
error: Content is protected !!