การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 การกระทำความผิดทางอาญาตามกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือที่เรียกกันว่า มังรายศาสตร์ มีหลักเกณฑ์แตกต่างจากการกระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญาของปัจจุบันอย่างไรบ้าง อธิบาย
ธงคำตอบ
การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ต้องประกอบด้วน (1) การกระทำคือการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ และ (2) ต้องมีเจตนา คือ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำ นอกจากนี้ตามปกติยังมีการแบ่งการกระทำออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1 คิดที่จะทำความผิด
2 ตกลงใจที่จะทำความผิด
3 ตระเตรียมการเพื่อที่จะกระทำความผิด
4 ลงมือกระทำความผิด
5 กระทำความผิดสำเร็จ
การคิดจะกระทำความผิดหรือตกลงใจที่จะกระทำความผิด เป็นเรื่องภายในจิตใจ ยังไม่มีการแสดงออกภายนอก จึงไม่เป็นความผิดเพราะยังไม่เป็นภยันตรายต่อสังคม และถึงแม้จะมีการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิด ซึ่งมีการแสดงออกมาภายนอกแล้วก็ตาม โดยปกติกฎหมายก็ยังไม่ถือเป็นความผิด เพราะยังห่างไกลต่อความผิดสำเร็จ เว้นแต่ความผิดร้ายแรงบางฐานความผิด เช่น การตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ หรือตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น เป็นต้น
กฎหมายถือเท่ากับว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันกฎหมายอาญาไม่ลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด หรือตระเตรียมเพื่อกระทำผิด เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจ และยังห่างไกลต่อความผิดสำเร็จ แต่ในกำหมายพระเจ้ามังรายมีบทบัญญัติในลักษณะวิวาทด่าตีกันตอนหนึ่งว่า
“ผิถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟัน ท่านให้ไหม 5 บาทเฟื้องเงิน
ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝัก ให้ไหม 100 บาทเฟื้องเงิน
ผิถอดดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ทันได้ไล่ฟัน ให้ไหม 220 บาทเฟื้องเงิน”
จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายพระเจ้ามังราย ผู้คิดจะกระทำความผิด (ถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟัน) หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด (ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝัก) หรือแม้กระทั่งตระเตรียมเพื่อจะกระทำความผิด ( ถอดดาบออกจากฝัก แต่ยังไม่ทันได้ไล่ฟัน) ล้วนแต่เป็นความผิดมีโทษปรับไหมทั้งสิ้น
เหตุที่กฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด อาจเป็นเพราะกฎหมายพระเจ้ามังราย หรือมังรายศาสตร์อาศัยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เดิมเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้แปลงเป็นคัมภีร์ในศาสนาพุทธ ตามหลักศาสนาพุทธการคิดกระทำความผิดย่อมเป็นบาป ซึ่งเป็นเรื่องของทางจิตใจ แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าเป็นการผิดกฎหมาย จึงมีการลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด หรือตระเตรียมเพื่อที่จะกระทำความผิด