การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW 3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5 ล้านบาท โดยนายเมฆนํารถยนต์ของตนมา จํานําไว้เป็นประกันหนี้ ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงบังคับจํานํา ได้เงินมาจํานวน 1 ล้านบาท นายหมอกจึงนําหนี้อีก 4 ล้านบาทที่เหลือ มาฟ้องนายเมฆให้ ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับฟ้อง นายเมฆยื่นคําให้การอ้างว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้ มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าจะสละหลักประกัน หรือตีราคาหลักประกัน ศาลล้มละลายกลางจึงไม่สามารถมีคําสั่งรับฟ้องได้

Advertisement

ดังนี้ คําให้การของนายเมฆชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท…. และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5 ล้านบาท โดยนายเมฆ นำรถยนต์ของตนมาจํานําไว้เป็นประกันหนี้ ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึง บังคับจํานําได้เงินมาจํานวน 1 ล้านบาทนั้น เมื่อมีการบังคับจํานําทรัพย์สินที่จํานําแล้ว จํานําย่อมระงับไป เช่นเดียวกับการบังคับจํานองตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (5) และการครอบครองทรัพย์สินของผู้รับจํานําก็เป็นอัน สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้น นายหมอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายเมฆอีก 4 ล้านบาท จึงไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ตามนัยของมาตรา 6 เพราะไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานํา

และเมื่อนายหมอกไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายหมอกจึงสามารถนําหนี้ที่เหลืออีก 4 ล้านบาท มาฟ้อง ให้นายเมฆล้มละลายได้ตามมาตรา 9 โดยไม่ต้องกล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกัน เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 (2) แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ นายเมฆยื่นคําให้การอ้างว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคา หลักประกัน ศาลล้มละลายกลางจึงไม่สามารถมีคําสั่งรับฟ้องได้นั้น คําให้การของนายเมฆจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย สรุป คําให้การของนายเมฆไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายใบไม้ได้กู้ยืมเงินนายกิ่งจํานวน 1,000,000 บาท เพื่อนํามาจ่ายค่าแรงคนงาน และนายใบไม้ ยังได้กู้ยืมเงินนายส้มจํานวน 3,000,000 บาท เพื่อนํามาขยายธุรกิจโรงงานเจลแอลกอฮอล์ด้วย โดยการกู้ยืมเงินทั้งสองครั้งดังกล่าว ได้ทําหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายใบไม้ผู้กู้ ต่อมานายใบไม้ถูกนายกล้วยเจ้าหนี้รายหนึ่งยื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์นายใบไม้เด็ดขาด นายใบไม้ได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายร้อยละ 50 ใน การประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคําขอประนอมหนี้และศาลมีคําสั่ง เห็นชอบด้วยแล้ว แต่กรมสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายของนายใบไม้ที่มูลหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยินยอมกับการขอประนอมหนี้ของนายใบไม้ ต่อมาเจ้าหนี้ทุกราย ยกเว้นนายกิ่งได้มายื่นคําขอรับชําระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด

ดังนี้ การประนอมหนี้ของนายใบไม้ผูกมัดนายกิ่ง นายส้ม นายกล้วย และกรมสรรพากร หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด และหากต่อมานายกิ่งเจ้าหนี้ดังกล่าวจะมาฟ้องนายใบไม้ให้รับผิดตาม สัญญากู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 56 “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้”

มาตรา 77 “คําสั่งปลดจากล้มละลายทําให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันจึงขอรับ
ชําระได้ เว้นแต่

(1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล

(2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคน ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่ไม่ได้ยอมรับการขอประนอมหนี้ แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ที่ไม่ได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้ก็ตาม และเมื่อลูกหนี้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลง ในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ เว้นแต่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) คือ หนี้ภาษีอากร และหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ หนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ ลูกหนี้จะต้องชําระหนี้ต่อไป จนกว่าจะครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ (มาตรา 56)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายใบไม้ลูกหนี้ได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายร้อยละ 50 ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้และศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้วนั้น การประนอมหนี้ดังกล่าว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคนตามมาตรา 56 ดังนั้น การประนอมหนี้ของนายใบไม้จึงผูกมัด นายกิ่ง นายส้ม และนายกล้วย กล่าวคือ หากนายใบไม้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว นายใบไม้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ ส่วนนายกิ่งเป็นเจ้าหนี้ในหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้แต่ไม่ยื่นคําขอรับ ชําระหนี้ ดังนั้น นายกิ่งจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้จากลูกหนี้ และนายกิ่งจะนําหนี้ดังกล่าวมาฟ้องนายใบไม้ ให้รับผิดตามสัญญากู้อีกไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การประนอมหนี้ดังกล่าวของนายใบไม้นั้น จะไม่ผูกมัดกรมสรรพากรตาม มาตรา 56 ประกอบมาตรา 77 (1) เนื่องจากกรมสรรพกรซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายใบไม้ไม่ได้ยินยอมด้วยกับ การประนอมหนี้ดังกล่าว

สรุป การประนอมหนี้ของนายใบไม้ผูกมัดนายกิ่ง นายส้ม และนายกล้วย แต่ไม่ผูกมัดกรม สรรพากร และนายกิ่งจะมาฟ้องนายใบไม้ให้รับผิดตามสัญญากู้อีกไม่ได้

 

ข้อ 3. ในวันที่ 15 กันยายน 2562 นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2459 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวพร้อมทําบันทึกแนบท้าย สัญญากู้ตกลงยอมให้นายหมอกสามารถบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่ เป็นหลักประกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินประมาณ 1,500,000 บาท ต่อมานายเมฆกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดตามกฎหมายเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่มีการโฆษณา คําสั่ง นายหมอกเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายหมอกจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนหรือไม่ อย่างไร ภายในกําหนดระยะเวลาเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 1,000,000 บาท ในวันที่ 15 กันยายน 2562 กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2459 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวนั้น แม้จะมีการทําบันทึกแนบท้าย
สัญญากู้ตกลงยอมให้นายหมอกสามารถบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกันก็ตาม ก็ไม่ได้ทําให้นายหมอกมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามนัยมาตรา 6 แต่อย่างใด เพราะการจํานองจะเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้นจะต้องมีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังนั้น นายหมอกจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน

เมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายเมฆลูกหนี้ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 และประกาศให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนั้น เมื่อมูลหนี้เงินกู้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ และแม้จะยังไม่ถึงกําหนดชําระหนี้ นายหมอกย่อมมีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตามมาตรา 94

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการประกาศคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น นายหมอกได้เดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น จึงถือว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร ดังนั้น นายหมอกจึงมีสิทธิได้รับการขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับชําระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 2 เดือน ทําให้นายหมอก มีสิทธิยื่นขอรับชําระหนี้ได้ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาดตามมาตรา 91

สรุป นายหมอกมีสิทธิได้รับชําระหนี้โดยการยื่นขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 94 ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91

Advertisement