การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW 3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

1. ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ลูกหนี้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายว่าจะชําระหนี้ให้เจ้าหนี้ทุกคนเป็นจํานวนร้อยละ 60 ของมูลหนี้ และ หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้จะยอมให้เจ้าหนี้บังคับเอากับที่ดินของลูกหนี้ได้ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติ พิเศษยอมรับและศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว ต่อมาลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จึงฟ้องลูกหนี้เพื่อบังคับตามคําขอประนอมหนี้ที่ลูกหนี้ได้ยื่นไว้ ลูกหนี้ยื่นคําให้การยอมรับตามคําฟ้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

Advertisement

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะมีคําสั่งเกี่ยวกับคําให้การของจําเลยว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจดังต่อไปนี้

(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้”

มาตรา 25 “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ในขณะที่มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคําขอโดยทําเป็นคําร้อง ศาลมีอํานาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้”

วินิจฉัย

เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอํานาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของ ลูกหนี้ และมาตรา 25 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ทําให้เจ้าหนี้ เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้เพื่อบังคับตามคําขอประนอมหนี้ที่ลูกหนี้ได้ยื่นไว้ว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ จะยอมให้ เจ้าหนี้บังคับเอากับที่ดินของลูกหนี้ได้นั้น ตามมาตรา 22 (3) ได้กําหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ที่มีอํานาจในการต่อสู้คดี ดังนั้น การที่ลูกหนี้ยื่นคําให้การยอมรับตามคําฟ้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ย่อมถือว่า ลูกหนี้ได้กระทําไปโดยไม่มีอํานาจ หากข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งไม่รับคําให้การของจําเลย

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะมีคําสั่งไม่รับคําให้การของจําเลย

 

ข้อ 2. นายแตงโมเป็นกรรมการบริษัท ผลไม้ไทยแปรรูป จํากัด ต่อมาภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ Covid-19 บริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุนและมีหนี้สินล้นพ้นตัว ในวันที่ 10 มกราคม 2565 บริษัทฯ จึงถูกนายมั่นคงเจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องคดีล้มละลาย นายแตงโมต้องการจะพยุงฐานะของ บริษัทฯ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 นายแตงโมจึงได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ กู้เงินส่วนตัวจํานวน 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืนภายใน 1 ปีนับจากวันทําสัญญา เพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการ ดําเนินกิจการและชําระค่าจ้างพนักงาน ต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดําเนินการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายในวันที่ 25 มีนาคม 2565 และประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ใน คดีล้มละลาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่งฯ นายแตงโมเดินทางไปเจรจาธุรกิจ ที่ประเทศญี่ปุ่น

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายแตงโมจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้เงินกู้คืนหรือไม่ ภายในกําหนดระยะเวลาเท่าใด
จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแตงโมเป็นกรรมการบริษัท ผลไม้ไทยแปรรูป จํากัด นายแตงโมย่อมรู้ ถึงสถานะทางการเงินและความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทฯ จนถูกนายมั่นคงเจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ดังนั้น การที่นายแตงโมได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ กู้ยืมเงินส่วนตัวจํานวน 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืนภายใน 1 ปีนับจากวันทําสัญญา จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นทั้ง ๆ ที่รู้ถึงความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ แม้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โดยหลักแล้วจะนํามายื่นขอรับชําระหนี้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่านายแตงโมได้ให้บริษัทฯ กู้เงินส่วนตัวเพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการและชําระค่าจ้างพนักงาน จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 94 (2) ตอนท้าย ที่นายแตงโมสามารถยื่นขอรับชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวได้

และเมื่อปรากฏว่าในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น นายแตงโมได้เดินทางไป เจรจาธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น นายแตงโมจึงเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงสามารถ ขยายกําหนดเวลาในการยื่นขอรับชําระหนี้ออกไปอีก 2 เดือน (จากกําหนดเวลาปกติ 2 เดือนนับแต่วันโฆษณา คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) ดังนั้น นายแตงโมจึงมีสิทธิยื่นขอรับชําระหนี้ได้ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง

สรุป นายแตงโมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เงินกู้คืน โดยต้องยื่นขอรับชําระหนี้ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม
2565

 

ข้อ 3. ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ้อยหวาน จํากัด ซึ่งประกอบกิจการโรงงาน น้ําตาล และตั้งผู้ทําแผน ต่อมาผู้ทําแผนได้ซื้ออ้อยจากนายเค็มมาผลิตน้ําตาลเป็นเงิน 200,000 บาท ตกลงชําระราคาภายใน 60 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง ครั้นถึงกําหนด ผู้ทําแผน ไม่ชําระหนี้ นายเค็มทวงถามให้ผู้ทําแผนชําระหนี้ ผู้ทําแผนโต้แย้งว่าสัญญาซื้อขายอ้อยตกเป็นโมฆะ ให้วินิจฉัยว่า ข้อโต้แย้งของผู้ทําแผนฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาล มีคําสั่งรับคําร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็น
ผลสําเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ก่อให้เกิด ภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนิน ต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น”

มาตรา 90/25 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/42 และมาตรา 90/64 เมื่อศาลมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนแล้ว ให้อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทําแผน และให้นําบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) มาใช้บังคับแก่ผู้ทําแผนโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ้อยหวาน จํากัด ซึ่งประกอบกิจการโรงงานน้ําตาล และตั้งผู้ทําแผน ต่อมาผู้ทําแผนได้ซื้ออ้อยจากนายเค็มมาผลิตน้ําตาลเป็นเงิน 200,000 บาท ตกลงชําระราคาภายใน 60 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางนั้น ผู้ทําแผนย่อม สามารถทํานิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางแต่อย่างใด เนื่องจากเป็น การกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนินต่อไปได้ ตามมาตรา 90/25 ประกอบมาตรา 90/12 (9) และมีผลทําให้นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ แต่ผู้ทําแผนไม่ชําระหนี้ และเมื่อนายเค็มเจ้าหนี้ทวงถามให้ผู้ทําแผนชําระหนี้ ผู้ทําแผนกลับโต้แย้งว่าสัญญา ซื้อขายอ้อยตกเป็นโมฆะนั้น ข้อโต้แย้งของผู้ทําแผนจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อโต้แย้งของผู้ท่าแผนฟังไม่ขึ้น

Advertisement