การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ศิลาจารึกหลักที่  38  หรือกฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย  มีลักษณะเป็นกฎหมายหรือไม่  หากเป็นกฎหมายเป็นกฎหมายลักษณะอะไร  และศิลาจารึกหลักที่  38  มีคุณค่าต่อกฎหมายไทยอย่างไรบ้างอธิบาย

ธงคำตอบ

ศิลาจารึกหลักที่ 38  (กฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย)  มีลักษณะเป็นกฎหมาย  เพราะมีการจารึกว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงให้บัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายอาญาเพราะมีการบัญญัติว่า  ถ้าใครเอาข้าคนรับใช้ลูกเมียของผู้อื่นไว้ไม่ส่งคืนเจ้าของ  ต้องถูกปรับไหมตามที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์  พระธรรมศาสตร์

ศิลาจารึกหลักที่  38  มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของกฎหมายไทย  คือ

 1         ทำให้ทราบว่าไทยเรามีศัพท์กฎหมายที่เป็นของตนเองมาแต่โบราณกาล  เช่น  คำว่า  พระปรชญบติ  แปลว่า  พระราชบัญญัติ  พระราชศาสตร์  พระธรรมศาสตร์  แปลว่า  กฎหมาย  เป็นต้น

2         ทำให้ทราบว่า  ไทยเราได้นำเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่สมัยสุโขทัย

 

ข้อ  2  ระบบกฎหมายหลักของโลกมีกี่ระบบ  อะไรบ้าง  จงอธิบายพอสังเขป

ธงคำตอบ

ระบบกฎหมายหลักของโลกมี  4  ระบบ  คือ

 1         ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค  โรมาโนเป็นภาษาของชนเผ่าอีทรัสคัน  หมายความว่า  กรุงโรมเมืองหลวงของประเทศอิตาลี  ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประมวลกฎหมายแพ่ง

เยอรมันนิค  หมายความว่า  ชื่อชนเผ่าหนึ่ง  ปัจจุบันคือชาวเยอรมัน  ซึ่งเป็นชนเผ่าที่นำเอาประมวลกฎหมายแพ่งไปใช้กับชนเผ่าของตน

เนื่องจากกฎหมายโรมันเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร  จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  Written  Law

การที่กฎหมายโรมันจัดทำเป็นประมวลกฎหมาย  จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  Code  Law

ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายนี้คือ  อิตาลี  เยอรมัน  ฝรั่งเศส  สเปน  สวิส  ญี่ปุ่น  ไทย  ฯลฯ

 2         ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์  คือ  ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  แต่ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้ในการตัดสินคดี  ต้นกำเนิดหรือแม่แบบเกิดขึ้นในประเทศแรกคืออังกฤษ  ระยะแรกมีชนเผ่าต่างๆที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะอังกฤษ  ศาลท้องถิ่นได้นำเอาจารีตประเพณีของชนเผ่ามาตัดสิน  ทำให้ผลของคำพิพากษาแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน  จนกระทั่งชนเผ่าสุดท้ายคือพวกนอร์แมนพิชิตเกาะอังกฤษในสมัยพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1  จึงส่งศาลเคลื่อนที่ออกไปวางหลักเกณฑ์ทำให้จารีตประเพณีเหมือนกันทุกท้องถิ่น  มีลักษณะเป็นสามัญ  (Common)  และใช้กันทั่วไป  จึงเรียกว่า  คอมมอนลอว์  ตัวอย่างเช่น  แคนาดา  อเมริกา  ออสเตรเลีย  นิงซีแลนด์  สหภาพแอฟริกาใต้  เป็นต้น

 3         ระบบกฎหมายสังคมนิยม  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบกฎหมายคอมมิวนิสต์  เกิดขึ้นในประเทศแรกคือรัสเซีย  หลังจากมีการปฏิวัติเมื่อ  ค.ศ.  1917  โดยนำเอาแนวความคิดของนักปราชญ์สองท่าน  คือ  คาร์ล  มาร์กซ์  และเลนิน  ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้การปกครองของประเทศยึดหลักผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือชุมชนหรือสังคม  ประเทศใดที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมตามแนวความคิดของนักปราชญ์ทั้งสอง  ประเทศนั้นจัดอยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม  เช่น  เวียดนาม  ลาว  เกาหลีเหนือ  จีนบนผืนแผ่นดินใหญ่เป็นต้น

 4         ระบบกฎหมายสาสนาและประเพณีนิยม   ปัจจุบันมีบางประเทศที่นำเอาคำสอนของพระผู้เป็นเจ้ามาบัญญัติเป็นกฎหมาย  จึงกล่าวกันว่าศาสนาเป็นที่มาของบ่อเกิดของกฎหมาย  มี  3  กลุ่ม  คือ

 (ก)    ศาสนาอิสลาม  ต้นกำเนิดประเทศแรกคือ  ซาอุดิอาระเบีย  คำสอนของพระเจ้า คือ  อัลลอฮ์  ปรากฎอยู่ในกฎหมาย  เช่น  กฎหมายครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

(ข)    ศาสนาคริสต์  แนวความคิดจองศาสนาคริสต์  ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา  เช่น  ข้อกำหนดห้ามหย่า   การห้ามคุมกำเนิด  การห้ามทำแท้ง  และการห้ามสมรสซ้อน  (Bigamy)  เป็นต้น

(ค)    ศาสนาฮินดู  ต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย  ตัวอย่างปรากฏอยู่ในตำรากฎหมาย  คือ  พระธรรมศาสตร์  หรือของไทยเรียกคัมภีร์ธรรมศาสตร์  ของมโนสาราจารย์

ส่วนประเพณีนิยม  เกิดจากคำสอนของนักปราชญ์  มิใช่พระผู้เป็นเจ้า  เช่น  ชาวจีนในสมัยขงจื้อที่นำเอาความเชื่อของนักปราชญ์ท่านนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในชีวิตประจำวัน  หรือลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่นก็มีอิทธิพลต่อการจัดทำกฎหมายของญี่ปุ่นเช่นกัน

 

ข้อ  3  วลีที่ว่า  “ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน”   มีที่มาจากกฎหมายในสมัยใด  กฎหมายนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร  เป็นกฎหมายประเภทใด  วลีที่ว่านี้หมายความว่าอย่างไร  และกฎหมาย สมัยนั้นบัญญัติข้อความอย่างไร  จงกล่าวเฉพาะข้อความที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ธงคำตอบ

 1         กฎหมายนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี  1765  ก่อนคริสต์ศักราช  พวกอะมอไรท์ที่มาจากทะเลทรายอาระเบียเข้ามายึดครองเมืองบาบิโลเนีย  แล้วสถาปนาเป็นนครหลวงของจักรวรรดิจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  ชาวบาบิโลเนียหรือสมัยบาบิโลนนั่นเอง

2         ประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบี

3         กฎหมายอาญา

4         ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน  หมายความว่า  ทำอย่างไรต้องได้รับผลตอบแทนเช่นนั้น  ซึ่งยึดหลักการแก้แค้นตอบแทนที่รุนแรงมาก

5         ข้อความที่กฎหมายบัญญัติไว้คือ  “ถ้าบุคคลใดทำลายดวงตาของอีกผู้หนึ่ง  ดวงตาของบุคคลนั้นจะถูกทำลายเช่นกัน”

Advertisement