การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
ข้อ 1 หลักอินทภาษคืออะไร การปฏิบัติตามหลักอินทภาษหรือไม่ปฏิบัติตามมีผลอย่างไรต่อตุลาการ
ธงคำตอบ
หลักอินทภาษ เป็นค่ำสั่งสอนที่พระอินทร์มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นตุลาการว่า การจะเป็นตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ 4 ประการ คือ ฉันทาคติ (รัก) โทสาคติ (โกรธ) ภยาคติ (กลัว) โมหาคติ (หลง) และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์โดนคลองธรรมอันเป็นจัตุรัส ซึ่งหมายความว่า พลิกยากไม่ใช่เป็นไปตามอารมณ์ของตุลาการ การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมีผลต่อตุลาการผู้นั้นคือ ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติดังกล่าวแล้ว อิสริยยศ และบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น ถ้าผู้ใดตัดสินโดยมีอคติ 4 ประการดังกล่าว อิสริยยศ และบริวารยศ ก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม
ที่ว่าให้ผู้พิพากษาปราศจากฉันทาคตินั้น หมายถึง ให้ทำจิตใจให้ปราศจากความโลภ อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง อย่าเข้าข้างด้วยฝ่ายโจทย์หรือจำเลย เพราะเหตุจะได้ทรัพย์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แม้ว่าผู้ต้องคดีจะเป็นบิดามารดาก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง
การทำใจให้ปราศจากโทสาคติ หมายถึง อย่าตัดสินความโดยความโกรธ พยาบาท อาฆาต เพราะผู้นั้นเป็นปฏิปักษ์แก่ตน
การพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ คือ ให้ผู้พิพากษาทำจิตใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว กลัวฝ่ายโจทย์หรือจำเลย เพราะเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์ หรือเป็นผู้มีกำลังพวกพ้องมาก
การตัดสินโดยปราศจากโมหาคติ หมายความว่า จะต้องตัดสินคดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ คดีใดควรแพ้ก็ต้องให้แพ้ คดีใดควรชนะก็ให้ชนะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในธรรมศาสตร์ จะต้องไม่ตัดสินคดีโดยหลง
การตัดสินคดีโดยมีอคติ 4 ประการนี้ นับว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง กล่าวว่า ถึงแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่น บาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง
หลักอินทภาษ มิใช่มีความสำคัญต่อผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นหลักที่ผู้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมด้วย