การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ในกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การกระทำผิดทางอาญาไว้แตกต่างกับการกระทำความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันอย่างไรบ้างอธิบาย
ธงคำตอบ
การกระทำผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน การกระทำที่จะเป็นความผิดทางอาญาต้องประกอบด้วย 2 ส่วน
1 ต้องมีการกระทำคือการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ
2 ต้องมีเจตนาคือ ผู้กระทำต้องมีเจตนาในการกระทำความผิดโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งผลของการกระทำ
นอกจากนี้ การกระทำความผิดยังแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนคือ
1 คิดจะกระทำความผิด
2 ตัดสินใจกระทำความผิด
3 ตระเตรียมเพื่อกระทำความผิด
4 ลงมือกระทำความผิด
5 กระทำความผิดสำคัญ
ปัจจุบันการคิดจะกระทำความผิด ตัดสินในกระทำความผิด หรือแม้กระทั่งการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดก็ยังไม่เป็นความผิด (เว้นแต่ความผิดร้ายแรงบางฐาน) ต่อเมื่อถึงขั้นลงมือกระทำความผิด จึงจะถือว่าเป็นความผิด เหตุที่การกระทำขั้นที่ 1 – 3 ยังไม่เป็นความผิดเพราะยังไม่เกิดภยันตรายต่อสังคม อีกทั้งเป็นเรื่องภายในจิตใจเท่านั้น ต่อเมื่อมีการลงมือกระทำความผิดกฎหมายจึงเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อนำบทบัญญัติในกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์ที่บัญญัติว่า
“ผิถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟันท่านให้ไหม 5 บาทเฟื้องเงิน
ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝักให้ไหม 100 บาทเงิน
ผิถอดดาบว่าจะฟันแต่ไม่ทันได้ไล่ฟันให้ไหม 220 บาท”
มาเทียบเคียง จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้ที่เพียงแต่คิดจะกระทำความผิดหรือตัดสินใจกระทำความผิด ซึ่งเป็นเรื่องภายในใจเท่านั้น
เหตุที่กฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด อาจเป็นเพราะกฎหมายพระเจ้ามังราย หรือมังรายศาสตร์อาศัยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เดิมเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้แปลงเป็นคัมภีร์ในศาสนาพุทธ ตามหลักศาสนาพุทธการคิดกระทำความผิดย่อมเป็นบาป ซึ่งเป็นเรื่องของทางจิตใจ แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าเป็นการผิดกฎหมาย จึงมีการลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด หรือตระเตรียมเพื่อที่จะกระทำความผิด