การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนนข้อ 1 พระธรรมสาสตร์คืออะไร ให้อธิบายถึงการกำเนิดพระธรรมศาสตร์ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงมาโดยสังเขป
ธงคำตอบ
พระคัมภีร์ธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอำนาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่งเรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่างๆตามความยุติธรรม ซึ่งเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้นจึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมายของพระธรรมศาสตร์ด้วย สภาพการณ์เช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะและศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายทั้งปวง
ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ความว่า มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อพรหมเทวะ จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกำเนิดในตระกูลมหาอำมาตย์ ซึ่งเป็นข้าบาทพระเจ้าสมมุติราชครั้งอายุได้ 15 ปี ก็เข้าแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่างๆ จึงมีความปรารถนาจะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ จำเริญเมตตาภาวนาบริโภคพืชผลเป็นอาหาร มีเทพกินนร กินนรี คนธรรม์ เป็นบริวาร ต่อมาพระเทวะฤาษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตรสองคน คนแรกชื่อ ภัทธระกุมาร คนที่สองชื่อ มโนสารกุมร เมื่อบุตรทั้งสองเจริญเติบโตบิดาก็ให้บวชเป็นฤาษีจำศีลภาวนาและรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช มโนสารฤาษีก็ตามพี่ชายออกไปทำราชการด้วย พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา
ครั้นอยู่มามีชายสองคนทำไร่แตงใกล้กัน เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลาง เถาแตงจึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน เมื่อแตงเป็นผล ชายทั้งสองคนก็มาเก็บแตง จึงเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง ชายทั้งสองคนจึงพากันมาหามโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด มโนสารตัดสินว่าแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด ผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสารจึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมุติราช พระองค์จึงตรัสใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่ อำมาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดูตามปลายยอดเอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น ชายทั้งสองคนต่างพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์ผู้นี้ และประชาชนทั้งหลายต่างพากันตำหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีออกไปบวชเป็นฤาษีจำเริญภาวนาและมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วยทศพิธราชธรรม จึงเหาะไปยังกำแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล มีปริมาณเท่ากายคชสาร พระมโนสารก็จดจำมาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์
การที่ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้แต่งเรื่องราวการกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า พระมโนสารเป็นผู้เหาะไปกำแพงจักรวาล ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด เพื่อจดเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราชนั้น เป็นความประสงค์ของผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มุ่งที่จะยกย่องว่าบทบัญญัติต่างๆ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มาจากอำนาจเบื้องสูง ไม่อยู่ในบังคับของมนุษย์ หากแต่ยังมีอำนาจบังคับเหนือมนุษย์ทั้งปวงให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ด้วย