การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายรัตภูมิเจ้าของเหมืองแร่ต้องการขยายกิจการจึงไปขอกู้เงินจากนายสิงหนครจำนวน 20 ล้านบาท มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องพร้อมกับนำที่ดิน 1 แปลง จดทะเบียนจำนองกับนายสิงหนคร ต่อมากิจการเหมืองแร่เริ่มขาดทุนนายรัตภูมิเกรงว่านายสิงหนครจะไม่เชื่อใจ จึงไปขอร้อง น.ส.ระโนด ซึ่งเป็นคนรักให้ช่วยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ 20 ล้านบาทนี้ด้วย น.ส.ระโนดจึงตกลงกับนายรัตภูมิ โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือมีใจความว่า “หากนายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้ น.ส.ระโนดจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน” พร้อมกับลงลายมือชื่อทั้งนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนด เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้ น.ส.ระโนดจึงมาปรึกษาท่านว่า สัญญาที่ตนเองทำกับนายรัตภูมิเป็นสัญญาค้ำประกันตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
การจะพิจารณาว่าสัญญาที่ทำนั้นเป็นสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680 หรือไม่ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1 ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลภายนอกสัญญาประธานหรือหนี้ประธาน
2 ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ (หนี้ในทางแพ่ง)
3 บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
สำหรับหลักเกณฑ์ประการที่ 3 นี้หมายถึง บุคคลภายนอกสัญญาประธานหรือหนี้ประธาน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเข้าทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ในสัญญาประธานหรือหนี้ประธานเพื่อเข้าชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ชั้นต้นตามสัญญาประธานหรือหนี้ประธานไม่ชำระหนี้นั้น ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าลูกหนี้ชั้นต้นจะรู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาผูกพันตนโดยตรงกับเจ้าหนี้เท่านั้น ถ้าไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน
กรณีตามอุทาหรณ์ หนี้ประธาน คือ หนี้เงินกู้จำนวน 20 ล้านบาท มีนายสิงหนครเป็นเจ้าหนี้ และนายรัตภูมิเป็นลูกหนี้ ดังนั้นการที่ น.ส.ระโนดบุคคลภายนอกตกลงกับนายรัตภูมิลูกหนี้ว่า “หากนายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้ น.ส.ระโนดจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน” ลงลายมือชื่อทั้งนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนดนั้น แม้จะได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อระโนดเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อ น.ส.ระโนด บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาผูกพันตนกับลูกหนี้ มิใช่เจ้าหนี้ตามมูลหนี้ประธาน สัญญาที่ทำนั้นย่อมไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680 วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ทำกันระหว่างนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนด ก็ถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ใช้บังคับระหว่างคู่กรณีได้ตามกฎหมาย (ฎ. 489/2537)
สรุป สัญญาระหว่างนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนดไม่เป็นสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680