LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สัญญายืมใช้คงรูป  และยืมใช้สิ้นเปลืองนั้นเหมือนกันและต่างกันอย่างไร  อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้นท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า  สัญญายืมใช้คงรูปกับยืมใช้สิ้นเปลืองมีลักษณะที่เหมือนกันและต่างกันดังนี้

ลักษณะที่เหมือนกัน

1       เป็นสัญญาซึ่งประกอบด้วยคู่กรณี  2  ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  โดยแต่ละฝ่ายไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายละคนเสมอไป  อาจจะมากกว่าหนึ่งคนก็ได้  และจะเป็นบุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคลก็ได้  กฎหมายไม่ได้จำกัดไว้  เพียงแต่ต้องมีคู่กรณี  2  ฝ่ายจึงจะเกิดเป็นสัญญาได้

2       ผู้ให้ยืมจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืมได้ใช้สอย  จึงถือได้ว่า  การส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมเป็นแบบแห่งความสมบูรณ์ของสัญญายืม  หากไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม  สัญญายืมจึงไม่สมบูรณ์   ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด  เช่น  นาย  ก.  ยืมแจกันจาก  นาง  ข.  แต่นาง  ข.  ยังไม่ว่างจึงยังไม่หยิบให้  เช่นนี้ถือว่าสัญญายืมยังไม่สมบูรณ์  เพราะยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

3       เมื่อผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมเสร็จแล้ว  ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินให้กับผู้ให้ยืม  ซึ่งทำให้สัญญายืมมีลักษณะต่างจากสัญญาประเภทอื่น  เช่น  หากเป็นการให้เอาไปใช้สอยได้เปล่าโยไม่ต้องส่งคืนก็หาเป็นสัญญายืม  แต่อาจเป็นสัญญาให้  หรือหากเป็นการให้ใช้สอยทรัพย์สินโดยเสียค่าตอบแทนและไม่ต้องส่งคืนเช่นนี้  ก็อาจเป็นสัญญาซื้อขายได้

ลักษณะที่ต่างกัน

1       สัญญายืมใช้คงรูปนั้น  เป็นสัญญาที่ผู้ยืมได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว  กล่าวคือ  ได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  เมื่อใช้สอยเสร็จแล้วก็ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ดังนี้  กรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืมจึงไม่โอนไปยังผู้ยืม  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืมโอนไปยังผู้ยืม  ตัวอย่างเช่น  นาย  ก.  ยืมน้ำปลาของนาย  ข.  ไปให้ภรรยาดูราคาข้างขวด  เช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  กรรมสิทธิ์ในน้ำปลายังไม่โอนไปยังนาย  ข.  ผู้ยืม  แต่หากนาย  ก.  ยืมน้ำปลา  1  ขวดเพื่อไปใช้ทำอาหาร  เช่นนี้ถือว่า  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  กรรมสิทธิ์น้ำปลาขวดที่ยืมจึงโอนไปยังนาย  ข.  ผู้ยืม

2       สัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ยืมใช้ทรัพย์สินที่ยืมได้เปล่า  ไม่เสียค่าตอบแทน  หากเสียค่าตอบแทนก็อาจเป็นสัญญาอื่น  เช่น  สัญญาเช่าทรัพย์ไป  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองผู้ยืมอาจได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมไปโดยเสียค่าตอบแทนด้วยหรือไม่ก็ได้  เช่น  สัญญากู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยและหรือค่าธรรมเนียม

3       สัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมมานั้น  จะส่งคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกับทรัพย์สินที่ยืมมานั้นไม่ได้  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ผู้ยืมไม่ต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น  แต่ต้องส่งคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมมานั้น  เนื่องจากวัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เป็นทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปหรือหมดสภาพไปเพราะการใช้  จึงเป็นไปไม่ได้เองที่จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้นเหมือนกับสัญญายืมใช้คงรูป

 

ข้อ  2  นางอินศรีแม่เลี้ยงนางเอิบสุรีย์ได้ให้เงินนางเอิบสุรีย์ยืมไปกินเหล้าดับความทุกข์ที่สามีนางเอิบสุรีย์จากไปแต่งงานใหม่กับหญิงอื่น  โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ  1.25  บาทต่อเดือน  และได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมานางเอิบสุรีย์ได้ชำระดอกเบี้ยเป็นเงินสดทุกเดือนเป็นเวลา  1  ปี  และชำระดอกเบี้ยเป็นเช็คเงินสดทุกเดือนอีกในระยะ  1  ปีหลัง  โดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใดๆ  ดังนี้ หากนางอินศรีเจ้าหนี้ต้องการบังคับให้นางเอิบสุรีย์ใช้เงินดอกเบี้ยอีกครั้ง  พร้อมทั้งเงินต้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

วินิจฉัย

นางอินศรีได้ให้นางเอิบสุรีย์กู้ยืมเงิน  คิดดอกเบี้ยร้อยละ  1.25  บาทต่อเดือน  โยทำหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง  กรณีนี้ไม่ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  150  เพราะยังไม่ถือว่าการกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อสุราผิดกฎหมายแต่อย่างใด  จึงถือว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ต่อมานางเอิบสุรีย์ก็ได้ชำระดอกเบี้ยเป็นเงินสด  และเช็คเงินสดในทุกๆเดือน  แต่ไม่ได้มีหลักฐานในการคืนเงินใดๆ  ดังนี้  หากนางอินศรีต้องการให้นางเอิบสุรีย์ใช้เงินดอกเบี้ยอีก  นางเอิบสุรีย์ก็ปฏิเสธไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งได้ เพราะการที่จะมีหลักฐานการคืนเงินที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ตามมาตรา  653  วรรคสอง  นั้น  จะต้องเป็นการคืนเงินต้นเท่านั้น  ไม่มีบทบัญญัติให้การคืนดอกเยต้องมีหลักฐานการคืนเงินเป็นหนังสือแต่อย่างใด  ฉะนั้นจึงสามารถนำสืบพยานบุคคลเพื่อให้เห็นถึงการคืนเงินดอกเบี้ยได้ ไม่ต้องมีหลักฐานการคืนเงินในกรณีนี้  ส่วนเงินต้นเมื่อนางเอิบสุรีย์ยังมิได้ชำระนางเอิบสุรีย์ก็ต้องชำระแก่นางอินศรีตามกฎหมาย

สรุป  นางเอิบสุรีย์ไม่ต้องใช้เงินดอกเบี้ยแก่นางอินศรีอีกครั้ง  จำต้องชำระแต่เพียงเงินต้นเท่านั้น

 

ข้อ  3  นายกล้ารับราชดารเป็นทหาร  ได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  ตุลาคม  2548  เป็นต้นไป  นายกล้าได้จัดการนำรถยนต์ของตนไปฝากจอดไว้ที่บ้านนายเก่งที่อยู่ติดกัน  และให้นายเก่งดูแลรักษาโดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จเดือนละ  500  บาท  ต่อมาเมื่อครบกำหนด  1  ปี  นายกล้ากลับมาประจำการที่กรุงเทพมหานครตามเดิม  จึงมาขอรับรถยนต์คืน  โดยไม่เอ่ยถึงค่าบำเหน็จจำนวน  6,000  บาทเลย  เท่าค่าบำเหน็จที่นายกล้าต้องจ่ายให้นายเก่ง  นอกจากนั้นนายเก่งยังอ้างถึงสิทธิของตนในฐานะที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์  ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์ที่ฝากไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินค่าบำเหน็จ  แต่ตนเห็นว่าหากจะยึดรถยนต์ที่ฝากไว้ก็จะมีราคาสูงกว่าค่าบำเหน็จ  จึงได้เพียงแค่ถอดโทรทัศน์ในรถยนต์ออกเก็บไว้  เพราะมีราคาใกล้เคียงกับค่าบำเหน็จที่ค้างชำระ  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายเก่งมีสิทธิหน่วงทรัพย์ดังกล่าวจนกว่าจะได้รับค่าบำเหน็จหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  670  ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น

วินิจฉัย 

จากบทบัญญัติดังกล่าว  เป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับฝากในการยึดหน่วงทรัพย์สินที่ฝากได้ในกรณีที่ผู้ฝากยังคงเป็นหนี้ผู้รับฝากเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้นอยู่  กล่าวคือ  มีสิทธิยึดหน่วงจนกว่าผู้ฝากจะชำระหนี้  กรณีตามอุทาหรณ์  นายกล้าได้ทำสัญญาฝากรถยนต์ของตนกับนายเก่ง  โดยตกลงให้ค่าบำเหน็จเดือนละ  500  บาท  จนกระทั่งผ่านไป  1  ปี    นายกล้าได้ขอรับรถยนต์คืนแต่มิได้เอ่ยถึงค่าบำเหน็จจำนวน  6,000  บาท  ที่นายกล้าต้องชำระแก่นายเก่ง  นายเก่งจึงคืนรถยนต์ไปแต่ได้ถอดเครื่องรับโทรทัศน์ที่ติดกับรถยนต์ของนายกล้าออกไว้  โดยอ้างว่าโทรทัศน์มีราคา  6,000  บาท  เท่ากับค่าบำเหน็จที่นายกล้าต้องจ่ายให้นายเก่ง  ทั้งยังอ้างสิทธิยึดหน่วงของผู้รับฝากทรัพย์ตามมาตรา  670  อีกด้วย  กรณีเช่นนี้นายเก่งไม่สามารถอ้างได้  เพราะการใช้สิทธิขิงผู้รับฝากเพื่อยึดหน่วงทรัพย์ที่รับฝากจนกว่าจะได้รับเงินที่ค้างชำระเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์ตามมาตรา  670  นั้น  ต้องเป็นการใช้สิทธิยึดตัวทรัพย์ที่นำมาฝาก  แต่โทรทัศน์ติดรถยนต์ไม่ใช่ตัวทรัพย์ที่รับฝาก  เป็นเพียงสิ่งที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ที่นั่งในรถยนต์ที่นำมาติดไว้ในรถยนต์  ทั้งยังมิใช่ส่วนควบของรถยนต์อีกด้วย  การใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์ต่างๆ  ที่ติดมาในรถยนต์  จึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้รับฝากทรัพย์ตามมาตรา  670  แต่อย่างใด

สรุป  นายเก่งจึงไม่มีสิทธิยึดโทรทัศน์ที่ติดอยู่ในรถยนต์เพื่อเรียกร้องค่าบำเหน็จด้วยเหตุผลข้างต้น

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สัญญายืมใช้คงรูปนั้น  ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลายเพราะเหตุสุดวิสัยหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  คือ  ผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งคือผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า  โยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ  และผู้ยืมก็ตกลงว่าเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว  ก็จะนำทรัพย์สินนั้นมาคืนให้  ดังนี้จะเห็นว่าผู้ยืมเป็นผู้ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว  กล่าวคือ  ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมและยังไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอีกด้วย  แต่การใช้ทรัพย์สินที่ยืมผู้อื่นเขามามิได้หมายความว่า  จะใช้เอาประโยชน์ของตนตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้ให้ยืมนั้น

จากบทบัญญัติตามมาตรา  643  ดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้  4  ประการ  คือ  ใช้ทรัพย์สินที่ยืมตามการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  ไม่เอาไปใช้นอกจากการอันปรากฏในสัญญา  ไม่เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  หรือไม่เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้  และยังกำหนดอีกว่า  ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลาย  ถึงแม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  ก็ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว  หากความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ผู้ยืมก็ไม่ต้องรับผิด

สำหรับกรณีที่จะถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ตามมาตรา  643  มีดังนี้คือ

 1       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์นั้น  เช่น  ขอยืมใบมีดโกนเขามาแทนที่จะโกนหนวดโกนเครา  กลับเอาไปเหลาดินสอหรือหั่นเนื้อหั่นหมู  หรือยืมม้าแทนที่จะเอาไปขี่กลับเอาไปลากรถ  ลากซุง  เป็นต้น

2       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  เช่น  ขอยืมรถไปทำงานในกรุงเทพฯ  แต่กลับขัยรถออกไปนอกเส้นทางไปเที่ยวชลบุรี  เป็นต้น

3       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วเกิดความเสียหาย  เช่น  ขอยืมวัวไปไถนา  2  เดือน  ผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้วภายใน  1  เดือน  แต่ไม่ส่งคืน  กลับเอาไปให้บุคคลใช้สอยจนเกิดความเสียหายขึ้น  เช่นนี้ถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว

4       เอาทรัพย์สินที่ยืมไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  กล่าวคือ  เป็นการที่ผู้ยืมส่งคืนทรัพย์ที่ยืมล่าช้า  เช่น  ขอยืมรถมาใช้  3  วัน  เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่เอามาคืน  หรือในกรณีที่สัญญามิได้กำหนดเวลาส่งคืน  แต่ไม่ปรากฏว่ายืมเพื่อการใด  หากผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้ว  หรือเวลาล่วงเลยไปพอแก่การใช้ทรัพย์สินนั้นแล้วก็ยังไม่ส่งคืน  เป็นต้น

ดังนั้น  เมื่อผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ผู้ยืมก็ต้องรับความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  แม้ความเสียหายนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม

อนึ่งคำว่า  เหตุสุดวิสัย  หมายความว่า  เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น  จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น  เช่น  ฟ้าผ่า  แผ่นดินไหว  น้ำท่วม  ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น  นาย  ก.  ยืมรถยนต์นาย  ข.  ไปท่องเที่ยวพัทยา  แต่นาย  ก.  กลับขับรถไปนครสวรรค์เพื่อไปรับเพื่อนก่อน  ในระหว่างทางนั้นมีพายุฝนตกหนัก  ฟ้าผ่ารถคันที่นาย  ก.  ยืมไปเสียหาย  เช่นนี้  ถือว่านาย  ก.  ประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืม  โดยเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญาแล้ว  เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  นาย  ก.  ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่  นาย  ข.  ผู้ให้ยืมด้วย

สรุป  ผู้ยืมใช้คงรูปมีหน้าที่และความรับผิด  ในกรณีการใช้สอยทรัพย์สิน  ตามมาตรา  643  ดังกล่าวข้างต้น 

 

ข้อ  2  นายเจริญให้นายสุขยืมเงินเป็นจำนวน  1,000  บาท  โดยทำเป็นหนังสือ  นายสุขใช้ลายมือของตนเขียนสัญญากู้ความว่า  ข้าพเจ้านายสุขได้รับเงินยืมจากนายเจริญเป็นจำนวนเงิน  2,000  บาท  และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ  1.50  บาทต่อเดือน  กับนายเจริญด้วย  ข้าพเจ้าจะส่งเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่  1  ธันวาคม  2550”  หนังสือดังกล่าวไม่ได้ลงลายมือชื่อนายสุขในบรรทัดสุดท้ายของสัญญา  ดังนี้ หากนายสุขคืนเงินในวันที่  1  ธันวาคม  2550  นายสุขจะต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยและจะต้องมีหลักฐานการคืนเงินหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่งตามมาตรา  650  และตามมาตรา  653  ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินไว้ดังนี้

 1       ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะฟ้องร้องคดีกันได้  กล่าวคือ  หากเป็นกรณีการกู้ยืมเงิน  2,000  บาทหรือน้อยกว่านั้นหากไม่มีการทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องคดีกันได้  แต่หากเป็นจำนวนเงินมากกว่า  2,000 บาท  ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้  และ

2       ต้องลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  หากมีการทำหลักฐานกู้ยืมเป็นหนังสือ  แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อผู้ยืม  จะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้เลย

จากข้อเท็จจริงตามตัวอย่างข้างต้น  การที่นายสุขทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน  1,000  บาท  จากนายเจริญ  แต่เขียนข้อความในสัญญาด้วยลายมือของตนว่า ได้รับเงินยืมจากนายเจริญเป็นจำนวนเงิน  2,000  บาท  และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ  1.50  บาทต่อเดือน  กับนายเจริญด้วย  ข้าพเจ้าจะส่งเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่  1  ธันวาคม  2550  จากข้อความดังกล่าวจะเห็นว่า  แม้นายสุขจะทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ  ซึ่งมีความชัดเจนว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง  อีกทั้งในหนังสือกู้ยืมเงินก็มีชื่อของนายสุขว่าเป็นผู้ยืมด้วย  แต่เมื่อนายสุขไม่มีการลงลายมือชื่อท้ายสัญญา  เช่นนี้ถือว่าไม่มีการลงลายมือชื่อ  สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่สมบูรณ์  ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้  อนึ่งการเขียนสัญญากู้ยืมเงินด้วยลายมือตัวเอง  ก็มิใช่การลงลายมือชื่อตามนัยมาตรา  653  แต่อย่างใด  ซึ่งโดยปกติแล้วเงินต้น  2,000  บาท  แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากเงินที่นายสุขได้รับนั้นเป็นเงินเพียง  1,000  บาท  ซึ่งไม่ตรงกับข้อความในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว  สัญญาการกู้ยืมเงินระหว่างนายสุขและนายเจริญจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด  เพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  อีกทั้งยังเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย  ถือว่า  เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง  เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ  ในส่วนของดอกเบี้ยจึงไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป  แม้จะมีการคิดดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ  15  ต่อปี  ตามมาตรา  654  และพ.ร.บ.  ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายก็ตาม

เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ  ก็เสมือนว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกัน  นายสุขจึงไม่มีหนี้ใดที่จะต้องชำระคืนแก่นายเจริญ  ดังนั้นนายสุขจึงไม่ต้องคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่นายเจริญ  และเมื่อไม่ต้องคืนเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานการคืนเงินแต่อย่างใด

สรุป  นายสุขไม่ต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่นายเจริญตามสัญญากู้ยืมเงินแต่อย่างใด

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์รับฝากรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าสีแดงคันหนึ่งของนายจันทร์ไว้เป็นเวลา  1  เดือน  โดยจะมารับกลับวันที่  17 มีนาคม  2550  ต่อมาวันที่  1  มีนาคม  2550  นายอังคารมาหานายอาทิตย์ที่บ้านและอ้างว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว  พร้อมทั้งได้นำรถกลับไปด้วย  นายอาทิตย์ไม่ได้แจ้งให้นายจันทร์ทราบ  จนกระทั่งวันที่  17  มีนาคม  2550  เมื่อนายจันทร์มารับรถจักรยานยนต์จึงทราบว่ามีผู้มาแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของและนำจักรยานยนต์ไปแล้ว  ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวถูกส่งไปขายต่อยังชายแดนไทย  พม่า  ไม่สามารถติดตมกลับมาได้  ดังนี้  นายอาทิตย์จะต้องรับผิดต่อนายจันทร์ตามสัญญาฝากทรัพย์อย่างไรหรือไม่  และหากนายจันทร์จะฟ้องนายอาทิตย์จะต้องฟ้องภายในอายุความเท่าใด  จงอธิบาย 

ธงคำตอบ

มาตรา  661  ถ้าบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝากก็ดี  หรือยึดทรัพย์สินนั้นก็ดี  ผู้รับฝากต้องรีบบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน

มาตรา  671  มนข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี  ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายก็ดี  ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดี  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

วินิจฉัย

การที่นายอาทิตย์ละเลยไม่บอกกล่าวโดยพลันต่อนายจันทร์ผู้ฝากว่ามีบุคคลภายนอกมายึดทรัพย์ที่ฝากไป  เป็นการทำผิดหน้าที่ของผู้รับตามมาตรา  661  ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ผู้รับฝากต้องรีบแจ้งให้ผู้ฝากทราบ  เมื่อมีบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์ซึ่งฝากนั้น  เช่นนี้  ก็เพราะว่าผู้ฝากซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นย่อมจะรู้ถึงความเป็นมาแห่งทรัพย์สินนั้นได้ดีกว่าผู้ฝาก  ซึ่งเขาอาจหาทางต่อสู้กับบุคคลภายนอกดังกล่าวได้ดีกว่าผู้รับฝาก  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่ารถจักรยานยนต์ที่นำมาฝากถูกส่งไปขายต่อชายแดนไม่สามารถติดตามกลับมาได้ นายอาทิตย์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจันทร์  เนื่องจากการที่ตนไม่รีบแจ้งผู้ฝากโดยพลัน  จึงทำให้เหตุการณ์ล่วงเลยไปจนเกิดความเสียหายขึ้น  และหากตนแจ้งต่อนายจันทร์เมื่อมีคนมาแอบอ้างเอาทรัพย์ที่ฝากไป  นายจันทร์อาจรีบติดตามกลับคืนมาได้ไม่ได้รับความเสียหายถึงขั้นนี้  ดังนั้น  อาทิตย์จึงต้องรับผิดต่อนายจันทร์

ส่วนอายุความนั้นยู่ภายใต้บังคับมาตรา  671  คือ  เมื่อกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์  จึงต้องฟ้องภายใน  6  เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา  คือฟ้องภายใน  6  เดือน  นับจากวันที่  17  มีนาคม  2550  นั่นเอง

สรุป  นายอาทิตย์ต้องรับผิดต่อนายจันทร์  ตามสัญญาฝากทรัพย์  และต้องฟ้องร้องภายในอายุความ  6  เดือน  นับแต่วันสิ้นสัญญา

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแดง  อายุ  50  ปี  เกษียณอายุราชการแล้วมีเงินที่เก็บหอมรอมริบไว้เหลืออยู่  500,000  บาท  ต่อมานายหนึ่งหลานชายได้มาขอยืมเงินนายแดงไป  100,000  บาท  เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมร้านอาหารโดยไม่ได้ทำหลักฐานหรือสัญญาใดต่อกันเลย  มีแต่นางสองหลานอีกคนหนึ่งเท่านั้น  ที่อยู่ด้วยในตนส่งมอบเงิน  ต่อมานายแดงและนายหนึ่งทะเลาะเบาะแว้งมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นจะลงมือทำร้ายกันเพื่อนบ้านจึงไปแจ้งความ  เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาระงับเหตุการณ์และนำตัวทั้งสองไปสถานีตำรวจ  

หลังจากสอบสวนแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันว่า  นายแดงได้พูดทวงเงินที่ให้นายหนึ่งยืมไปจำนวน  100,000  บาท  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2550  แต่นายหนึ่งพูดท้าทายว่า  อยากได้ก็ให้ไปฟ้องเอา  นายแดงโกรธจึงตั้งท่าจะทำร้ายร่างกายนายหนึ่งแต่ยังไม่ทันลงมือ  หากนายหนึ่งสัญญาว่าจะทยอยใช้หนี้  นายแดงก็จะไม่คิดทำร้ายนายหนึ่งอีก  และให้นายแดงลงชื่อในบันทึกประจำวันนั้น  จากข้อเท็จจริงข้างต้น  หากว่าต่อมานายแดงได้มาปรึกษาทนายความขอให้ฟ้องเรียกเงินกู้  100,000  บาทจากนายหนึ่ง  สมมุติว่านักศึกษาเป็นทนายความจงให้คำปรึกษาแก่นายแดง

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การที่นายแดงให้นายหนึ่งกู้ยืมเงินโดยมิได้มีหลักฐานใดๆ  แม้จะมีคนรู้เห็นขณะให้กู้ยืม (นางสอง)  แต่เรื่องการกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000 บาทนั้น  มาตรา  653  มีหลักกฎหมายว่าต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้  ทำให้นายแดงไม่สามารถนำนางสองซึ่งเป็นพยานบุคคลเข้านำสืบแทนหลักฐานการกู้ยืมที่ทำเป็นหนังสือได้

การที่ข้อเท็จจริงได้มีการลงบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนมีใจความว่า  นายหนึ่งกู้เงินนายแดงจำนวน  100,000  บาท  และนายหนึ่งไม่ได้ปฏิเสธกลับท้าทายให้นายแดงไปฟ้องหากอยากได้คืน  ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นหนี้จากการกู้ยืมจำนวน  100,000  บาทจริง  แต่เฉพาะนายแดงผู้ให้กู้คนเดียวที่ลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวัน  จึงไม่เป็นไปตามที่มาตรา  653  บัญญัติไว้  กล่าวคือ  ขาดการลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมนั่นเอง

ถ้านักศึกษาเป็นทนายความต้องให้คำปรึกษานายแดงว่า  ไม่สามารถฟ้องคดีเรียกเงินกู้รายนี้ได้  เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม

สรุป  นายแดงไม่สามารถฟ้องเรียกเงินกู้จากนายหนึ่งได้

 

ข้อ  2  นายเด่นกู้เงินนายดอกรัก  500,000  บาท  โดยทำสัญญากู้ยืมเงินลงลายมือชื่อของผู้กู้และผู้ให้กู้และต่างเก็บสัญญาไว้เป็นหลักฐานคนละฉบับ  โดยในสัญญาระบุว่าถ้านายเด่นไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา  นายเด่นจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งให้นายดอกรักแทน  เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  นายเด่นไม่มีเงินมาชำระ  นายดอกรักจึงทวงสัญญาที่นายเด่นจะโอนที่ดินแก่ตน  แต่เนื่องจากในวันชำระหนี้ที่ดินแปลงที่ตกลงกันมีราคาสูงถึง  1,000,000  บาท  นายดอกรักไม่สนใจราคาที่ดินว่าจะขึ้นไปเป็นราคาเท่าใด  เร่งบอกให้นายเด่นโอนที่ดินเป็นการชำระหนี้โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่ตกลงกันไว้  ตั้งแต่วันทำสัญญากู้แล้วต้องปฏิบัติตาม  ดังนี้  นายเด่นจะต้องปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  656  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน  และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้  ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ  ณ  สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้  หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ  สถานที่ส่งมอบ

ความตกลงกันอย่างใดๆ  ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้  ท่านว่าเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

การที่นายเด่นกู้ยืมเงิน  500,000  บาท  จากนายดอกรัก  โดยทำสัญญากู้ยืมเงินและลงลายมือชื่อผู้กู้และผู้ให้กู้ด้วย  จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่สมบูรณ์ตามมาตรา  653  วรรคแรกแล้ว  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการทำข้อตกลงล่วงหน้าว่า  ถ้านายเด่นไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา  จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งให้นายดอกรักแทนหนี้เงินกู้  500,000  บาท  กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา  656  วรรคสอง  กล่าวคือ  ถ้าผู้ให้ยืมยอมตกลงรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ยืม  กฎหมายให้ถือว่า  การชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าราคาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นนั้น  โดยคิดราคาตามราคาท้องตลาดในวันเวลาและสถานที่ที่ชำระหนี้เป็นเกณฑ์  ซึ่งหากมีการตกลงกันผิดจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว  ข้อตกลงนั้นให้ตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  656  วรรคท้าย

ดังนั้นจากข้อเท็จจริงข้างต้น  ที่ดินแปลงที่ตกลงกันในวันชำระหนี้มีราคาสูงถึง  1,000,000  บาท  หากจะบังคับให้โอนที่ดินเป็นการชำระหนี้ก็ต้องถือตามราคาตลาด  คือ  1,000,000  บาท  ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าเงินกู้มาก  ข้อตกลงระหว่างนายเด่นและนายดอกรักที่ให้ถือว่าที่ดินแปลงนี้เท่ากับเงินกู้  500,000  บาท  โดยมิได้คำนึงถึงราคาตามท้องตลาดในเวลาชำระหนี้  จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  656  วรรคสอง และตกเป็นโมฆะตามมาตรา  656  วรรคท้าย  นายดอกรักผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้บังคับนายเด่นผู้กู้โอนที่ดินให้แก่ตนตามข้อตกลงได้  เพราะหากมีการนำที่ดินแปลดังกล่าวชำระหนี้แทนแล้ว  ก็นับว่านายดอกรักได้รับประโยชน์จากที่ดินส่วนที่เกินไปจากจำนวนที่กู้ยืมเงินกันจริงถึง  500,000  บาท  นายเด่นจึงเป็นผู้เสียประโยชน์ต้องชำระหนี้มากกว่าที่เป็นหนี้ตามสัญญา  กฎหมายจึงให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นโมฆะ  นายเด่นไม่ต้องโอนที่ดินเป็นการชำระหนี้แต่ยังถือว่าสัญญากู้ยืมเงินยังคงสมบูรณ์มีผลบังคับใช้อยู่เพราะยังไม่มีการชำระหนี้  หนี้ยังไม่ระงับ  นายเด่นจึงต้องผูกพันตามสัญญากู้ยืมเงินต่อไปจนกว่าจะชำระหนี้  (เทียบฎีกา 1683/2493)

สรุป  นายเด่นไม่ต้องโอนที่ดินเป็นการชำระหนี้  แต่ต้องชำระหนี้เงินกู้  500,000  บาท

 

ข้อ  3  เอกได้ฝากทองรูปพรรณหนัก  10  บาท  ไว้กับโท  โดยให้โทมอบทองคำนี้แก่บุตรของเอกเมื่อเอกตายและขอให้โทอุปการะบุตรของเอก  ดูแลอบรมสั่งสอนให้การศึกษาโดยฝากให้อาศัยอยู่กับโทที่บ้านของโท  โทรับฝากทองรูปพรรณของเอกไว้และอุปการะบุตรของเอกมารวม  4  ปี  จึงเรียนจบการศึกษาและขออนุญาตแต่งงานมีเหย้ามีเรือน  ในวันแต่งงานโทบอกเอกว่าตนจะมอบทองรูปพรรณหนัก  10 บาท  ให้บุตรของเอกไปและเอกก็มิได้คัดค้าน  ต่อมาบุตรของเอกแต่งงานไปแล้วไม่เคยกลับมาเยี่ยมเอกและโทอีกเลย  เอกจึงโทษว่าเป็นเพราะโทมอบทองคำที่ตนฝากไว้ไปก่อนเวลาอันสมควรไม่ปฏิบัติตามที่สั่งไว้คือให้มอบแก่บุตรเมื่อตนถึงแก่ความตาย  ขอให้โทนำทองคำมาคืนแก่เอก  ดังนี้  ถ้าท่านเป็นโทท่านจะมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายย่างไร  เพื่อไม่ต้องตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา  ขอให้ท่านอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  660  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นมีปัญหาว่า  นายเอกผู้ฝากอนุญาตให้นายโทผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นให้บุตรของนายเอกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเก็บรักษาไว้หรือไม่  ถ้าอนุญาตแล้วโดยผลแห่งบทบัญญัติดังกล่าว  นายโทหาต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายแห่งทรัพย์สินซึ่งฝากไว้อย่างใดไม่

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เมื่อบุตรของนายเอกเรียนจบการศึกษาและแต่งงานมีเหย้ามีเรือน  ในวันแต่งงานโทได้มอบทองรูปพรรณแก้บุตรของเอก  นายเอกรู้เห็นดีมิได้คัดค้านประการใด  แสดงว่านายเอกอนุญาตโดยปริยายให้นายโทเอาทองรูปพรรณหนัก  10  บาท  ซึ่งฝากนั้นให้บุตรของนายเอกเก็บรักษาไว้  ซึ่งตามมาตรา  660  นี้  ก็มิได้ระบุว่าการอนุญาตนั้นจะต้องอนุญาตโดยชัดแจ้งอย่างใด  ย่อมหมายความว่าอนุญาตกันโดยปริยายก็ได้  และเมื่อผู้ฝากอนุญาตแล้ว  นายโทผู้รับฝากจึงไม่ต้องรับผิดนำทรัพย์มาคืนนายเอก  นายโทสามารถยกเป็นข้อต่อสู้นายเอกได้

สรุป  นายโทไม่ต้องรับผิดนำทรัพย์มาคืนนายเอก  เพราะถือว่านายเอกอนุญาตแล้ว

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายดำให้นายแดงยืมรถยนต์ทีกำหนดหนึ่งปี  เมื่อนายแดงใช้รถยนต์ไปได้สามเดือน  นายดำพบว่านายแดงไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์เช่นคนโดยทั่วไป  ปล่อยให้รถยนต์ชำรุดทรุดโทรม  นายดำเห็นว่าถ้าให้นายแดงใช้รถยนต์ต่อไปคงจะเกิดความเสียหายมากขึ้น  ถ้านายดำต้องการบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเอาค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา  213  วรรคท้าย  อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้  หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่

วินิจฉัย

นายดำให้นายแดงยืมรถยนต์มีกำหนดหนึ่งปี  เป็นการที่ผู้ให้ยืมใช้สอยรถยนต์ได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนรถยนต์เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว  จึงเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640

กรณีสัญญายืมใช้คงรูปที่ปรากฏว่าผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์ที่ยืมอย่างเช่นวิญญูชน  กล่าวคือ  ไม่ดูแลรักษาทรัพย์สินที่ยืมไปอย่างเช่นบุคคลธรรมดาสามัญทั่วๆไป  ทำให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมสภาพหรือเสียหายไปอย่างใดอย่างหนึ่งเร็วเกินไป  ตามมาตรา  644  ซึ่งผลทางกฎหมายตามมาตรา  645  ให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

1       บอกเลิกสัญญา  และเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืมได้ทันที  โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลาในสัญญา  หรือ

2       เรียกให้ผู้ยืมดูแลรักษาทรัพย์สินตามหน้าที่ที่บัญญัติในมาตรา  644

อย่างไรก็ดีแม้ผู้ให้ยืมจะใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว  หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการไม่สงวนทรัพย์สินของผู้ยืมนั้น  ผู้ให้ยืมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  ตามมาตรา  213  วรรคท้าย  แม้ว่ามาตรา  644  จะมิได้กำหนดความรับผิดไว้ก็ตาม

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นกรณีที่นายแดงไม่สงวนรถยนต์ที่ยืมอย่างเช่นวิญญูชนตามมาตรา  644  เป็นผลให้รถยนต์ชำรุดทรุดโทรม  ย่อมทำให้นายดำผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้  ตามมาตรา  645  และมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายได้ตามมาตรา  213  วรรคท้าย

สรุป  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้อกเอาค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ข้อ  2  นาย  ก.  ยืมเงินนาย  ข.  2,000  บาท  โดยมีข้อตกลงว่าถ้าหากนาย  ก.  คืนเงินไม่ได้ภายใน  10  วัน  นาย  ข.  จะยึดเอาสายสร้อยคอทองคำของนาย  ก.  มาชำระหนี้

ดังนี้เมื่อพ้น  10  วันแล้ว  นาย  ข.  เจ้าหนี้จะยึดเอาสร้อยคอทองคำดังกล่าว  เพื่อการชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  656  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน  และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้  ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ  ณ  สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้  หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ  สถานที่ส่งมอบ

ความตกลงกันอย่างใดๆ  ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้  ท่านว่าเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่งตามมาตรา  650  และตามมาตรา  653  ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินไว้ดังนี้

1       ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะฟ้องร้องคดีกันได้  กล่าวคือ  หากเป็นกรณีการกู้ยืมเงิน  2,000  บาทหรือน้อยกว่านั้นหากไม่มีการทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องคดีกันได้  แต่หากเป็นจำนวนเงินมากกว่า  2,000 บาท  ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้  และ

2       ต้องลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  หากมีการทำหลักฐานกู้ยืมเป็นหนังสือ  แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อผู้ยืม  จะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้เลย

กรณีตามอุทาหรณ์  นาย  ก.  กู้ยืมเงินนาย  ข.  2,000  บาท  ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่เกิน  2,000  บาท  จึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม  ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

สำหรับการชำระหนี้เงินกู้นั้น  โดยหลักแล้วเมื่อกู้ยืมเงิน  การชำระหนี้ก็ต้องชำระด้วยเงินเท่านั้น  จะชำระหนี้เป็นอย่างอื่นไม่ได้  เว้นแต่จะมีข้อตกลงให้ชำระหนี้เป็นอย่างอื่นได้  ซึ่งตามมาตรา  656  วรรคสองได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยอมรับเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้  คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดของทรัพย์สินนั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบ  หนี้ก็เป็นอันระงับไป  และหากมีข้อตกลงที่แตกต่างไปจากนี้  ข้อตกลงนั้นก็จะตกเป็นโมฆะตามมาตรา  656  วรรคสาม

ข้อตกลงที่ว่าถ้าหากนาย  ก.  คืนเงินไม่ได้ภายใน  10  วัน  นาย  ข.  จะยึดเอาสร้อยคอทองคำมาใช้หนี้นั้น  ถือว่าเป็นข้อตกลงให้ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้เป็นอย่างอื่นแทนเงินได้  ตามมาตรา  656  วรรคสอง  แต่นาย  ข.  จะยึดเอาสร้อยคอทองคำทันทีไม่ได้  เพราะตามหลักกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ตีราคาสร้อยคอทองคำตามราคาท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบก่อน  ดังนั้นเมื่อไม่มีการตีราคาทรัพย์สินก่อนชำระหนี้  ผู้ให้กู้ยืมจะยึดทรัพย์สินตามที่ตกลงกันทันที่ไม่ได้

สรุป  นาย  ข.  จะยึดสร้อยคอทองคำเพื่อชำระหนี้เงินกูทันทีไม่ได้

 

ข้อ  3  นางสมศรีเป็นเจ้าสำนักโรงแรมแห่งหนึ่งได้ต้อนรับนายเข้มเข้าพักในโรงแรมของตน  ในระหว่างพักอยู่ในโรงแรมของนางสมศรี นายเข้มได้ชวนนางสุดสวยมานอนเป็นเพื่อนเพื่อคลายความเหงา  เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้านางสุดสวยกลับออกไปโดยขโมยเงินสดไปด้วยห้าพันบาท  นายเข้มจึงรีบลงไปแจ้งให้นางสมศรีทราบ  แต่ระหว่างลงไปได้แวะเข้าห้องน้ำชั้นล่างในโรงแรมและถอดนาฬิกาข้อมือราคา  2,500  บาท  ลืมทิ้งไว้ที่อ่างล้างหน้า  ปรากฏว่านาฬิกาหายไป

ดังนี้  นางสมศรีจะต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของนายเข้มอย่างไรบ้าง  หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  675  วรรคสาม  แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

นางสมศรีไม่ต้องรับผิดชอบเงิน  5,000  บาท  ของนายเข้มเพราะความเสียหายเกิดจากคนที่แขกต้อนรับเข้ามาในห้องพักเอง  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในความผิดของโรงแรม  ตามมาตรา  675  วรรคสาม

ส่วนนาฬิกาข้อมือราคา  2,500  บาท  หายไปขณะเข้าห้องน้ำชั้นล่างของโรงแรม  ก็เกิดจากความผิดของนายเข้มเองที่ประมาทเลินเล่อลืมทิ้งไว้  จึงเป็นข้อยกเว้นที่โรงแรมไม่ต้องรับผิดเช่นกัน

สรุป  นางสมศรีไม่ต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของนายเข้มทั้งสองกรณี

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บุญมายืมรถจักรยานยนต์ของเดชาเพื่อนบ้านเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดหกเดือน  เมื่อบุญมารับรถจักรยานยนต์แล้ว  ก็นำไปใช้งานตามปกติและในตอนเย็นนำไปรับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  เย็นวันหนึ่งถูกรถยนต์ของอับโชคชนท้าย  ทำให้รถจักรยานยนต์ที่ยืมมาเสียหายโยมิใช่ความผิดของบุญมาแต่อย่างใด  ดังนี้ถ้าเดชามีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์  เดชาจะเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนดหกเดือนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

สัญญายืมระหว่างบุญมาและเดชาเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  บุญมาผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถจักรยานยนต์ตามที่ตกลงกับเดชาไว้  กล่าวคือ  เพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนด  6  เดือน  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในตอนเย็นบุญมาผู้ยืมนำรถจักรยานยนต์ที่ยืมนั้นไปใช้รับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  ซึ่งมิได้มีการตกลงกับเดชาผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปใช้สอยนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น  ผู้ยืมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืมก็ตาม  ทั้งนี้เพราะมาตรา  643  กำหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดในกรณีใดๆ  รวมทั้งเหตุสุดวิสัยหากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม

นอกจากนี้  ในกรณีที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของตนตามมาตรา  643  กฎหมายให้สิทธิผู้ให้ยืมบอกเลิกสัญญา  และเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมก่อนครบกำหนดได้ตามมาตรา  645  ดังนั้นเดชาสามารถเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนด  6  เดือนได้

สรุป  เดชาผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกรถจักรยานยนต์คืนก่อนครบกำหนด  6  เดือนได้

 

ข้อ  2  นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันมีใจความว่า  จะขอยืมเงินนายโทจำนวนสักสามหมื่นบาทไปทำทุน  ถ้าได้กำไร  มีเงินเหลือพอแล้วจะใช้คืนให้ในปีหน้า  ลงชื่อนายเอก  นายโทจึงฝากเงินจำนวนสามหมื่นบาทกับนายตรีเพื่อส่งมอบให้กับนายเอก  ผ่านไป  1  ปี  นายโทเห็นนายเอกเงียบเฉยไม่พูดถึงการชำระหนี้เงินที่ยืมไป  จึงเกิดความร้อนใจและขอให้ผู้ใหญ่บ้านไปทวงหนี้ให้  นายเอกจึงเขียนจดหมายฝากผู้ใหญ่บ้านมาถึงนายโทใจความในจดหมายมีดังนี้  เรียนนายโทผมไม่เคยยืมเงินคุณมาทำทุนเลย  จะชดใช้คืนให้ได้อย่างไร  ลงชื่อ  เอก

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  จดหมายดังกล่าวและตัวนายตรีนั้นนายโทจะใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีกู้ยืมเงินตามมาตรา  653 วรรคแรกหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงิน  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ตามมาตรา  650

มาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้  ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นว่าจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน  อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้  เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน  หากได้ความว่า เป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว  ถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ข้อเท็จจริงปรากฏคือ  จดหมายฉบับแรกอ่านแล้วได้ความว่านายเอกจะขอยืมเงินนายโทจำนวนสักสามหมื่น  ส่วนนายโทจะส่งมอบเงินจำนวนนั้นให้กับนายเอกหรือไม่  ไม่มีข้อความกล่าวถึง  จึงถือว่าการกู้เงินดังกล่าวไม่ได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้  และนายตรีนั้นก็เป็นพยานบุคคลไม่สามารถนำสืบว่ามีการส่งมอบเงินแล้วได้  ส่วนจดหมายฉบับที่สองนายเอกก็ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นหนี้เงินนายโทแต่อย่างใด  ดังนั้นนายโทจะใช้จดหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวและตัวนายตรีซึ่งเป็นพยานบุคคลเป็นพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีกู้ยืมเงินตามมาตรา  653  วรรคแรกไม่ได้

สรุป  นายโทจะใช้จดหมายทั้งสองฉบับและนายตรีมาเป็นพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีกู้ยืมเงินไม่ได้

 

ข้อ  3  นายแดงรับฝากรถยนต์ของนายดำไว้  โดยตกลงจะให้บำเหน็จค่าฝากกัน  เมื่อนายดำมารับรถยนต์คืน  ปรากฏว่าเบาะรถมีกลิ่นเหม็นชื้น  พรมขึ้นรา  ทั้งนี้เนื่องจากนายแดงปล่อยทิ้งให้รถตากฝน  ไม่คอยดูแลปิดกระจกรถ  ฝนสาดเข้ามาให้พรมรถชื้น  ขึ้นรา  ต้องไปให้อู่ซ่อมรถซักพรมเสียค่าใช้จ่ายไป  5,000  บาท  นายดำจึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย  แต่นายแดงต่อสู้ว่าแม้รถของนายแดงเองก็ปล่อยทิ้งตากฝนเช่นกัน 

ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายแดงรับฟังได้หรือไม่  นายแดงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  5,000  บาทต่อนายดำหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องการฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จค่าฝากซึ่งมาตรา  659  วรรคสองกำหนดให้ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่รับฝากไว้เหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติปฏิบัติแต่จากข้อเท็จจริงการที่นายแดงละเลยไม่ดูแลทรัพย์กลับปล่อยรถยนต์ที่รับฝากตากฝนจนเบาะรถมีกลิ่นเหม็นชื้น  พรมในรถชื้นขึ้นรา  โดยอ้างการปฏิบัติที่เคยทำต่อรถยนต์ของตนเองเป็นข้อต่อสู้  จึงผิดหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จ  ข้อต่อสู้ของนายแดงจึงฟังไม่ขึ้น  เพราะเรื่องนี้มิใช่การฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จ  หากจะใช้เกณฑ์ของตนเองในการปฏิบัติต่อทรัพย์ที่รับฝากนั่นย่อมหมายถึงการฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จตามมาตรา  659  วรรคแรก

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังไม่ขึ้น  นายแดงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่นายดำ  5,000  บาท

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บุญมาตั้งใจจะยืมรถยนต์ปิคอัพของบุญมีเพื่อไปใช้รับคนโดยสาร แต่ไม่ได้แจ้งให้บุญมีทราบว่าจะเอาไปใช้อย่างไร บุญมีเห็นว่าเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกันก็ให้มาโดยไม่ได้ถามว่าจะเอาไปใช้อย่างไรและนานเท่าใด บุญมานำรถยนต์ที่ยืมมาไปต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวแล้วให้ชะเมาเช่ารับคนโดยสาร วันหนึ่งขณะที่ชะเมาขับหาผู้โดยสารนั้น ชมวงขี่มอเตอร์ไซค์มาชนท้ายทำให้เสียหาย      ถ้าจะซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมจะต้องใช้เงินห้าพันบาท ดังนี้บุญมาจะต้องรับผิดต่อบุญมีชดใช้     ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ที่ยืมหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  646  วรรคสอง  ถ้าเวลามิได้กำหนดกันไว้  ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้  ท่านว่า  ผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างบุญมากับบุญมีเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640  ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีการกำหนดเวลาคืนรถยนต์ปิคอัพทรัพย์สินที่ยืม ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใด  ผลทางกฎหมายตามมาตรา  646  วรรคสอง  คือ  บุญมีผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกให้บุญมาคืนรถยนต์ปิคอัพดังกล่าวเมื่อใดก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ  บุญมาจะต้องรับผิดต่อบุญมีในการชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ที่ยืมหรือไม่  เห็นว่า  การที่บุญมาผู้ยืมนำรถยนต์ปิคอัพไปใช้ผิดสภาพอันปกติกับทรัพย์สินที่ยืม  กล่าวคือ  ต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวและเอาไปให้ชะเมาเช่ารับคนโดยสาร  ถือได้ว่า  มีการเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  เป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ผู้ยืมจึงต้องรับผิดในความสุญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดกับทรัพย์สินที่ยืม  เพราะเหตุที่ตนประพฤติผิดหน้าที่  ตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา  643  แม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ยังคงต้องรับผิด  ดังนั้นเมื่อบุญมาผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินนั้น  แม้ความเสียหายนั้นจะเกิดจากบุคคลภายนอก  บุญมาผู้ยืมก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ที่ยืม  ตามมาตรา  643

สรุป  บุญมาจะต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่บุญมี

 

 ข้อ  2  พระภิกษุจำลองให้เงินนายพิภพยืมไปกินเหล้าและเที่ยวเตร่กับเพื่อนเป็นเงิน 2,100 บาท โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย  ต่อมาหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นหายไป  ดังนี้ พระภิกษุจำลองจะฟ้องนายพิภพเพื่อเรียกเงินคืนนั้นได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  พระภิกษุจำลองสามารถให้กู้ยืมเงินได้ตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พระภิกษุเป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมาย  จึงมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายเท่าเทียมกันกับบุคคลธรรมดาทั่วไป  ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามพระภิกษุนำเงินส่วนตัวของตนออกให้บุคคลอื่นกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย  ดังนั้นพระภิกษุจำลองสามารถให้นายพิภพกู้ยืมเงินได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ  (ฎ. 3773/2538)

ส่วนประเด็นที่ให้ยืมเงินไปดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่ถือเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  150  หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักนิติกรรมแล้วการใดๆ  ที่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  ผิดศีลธรรมอันดีหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  จะตกเป็นโมฆะ  แต่กรณีการให้ยืมเงินไปกินเหล้าและเที่ยวเตร่  ยังไม่ถือว่าเป็นการยืมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  ทั้งยังไม่พอจะถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน  การยืมเงินจึงมีผลสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา  150

เมื่อเป็นการกู้ยืมเงินกว่า  2,000  บาทขึ้นไป   ตามมาตรา  653  วรรคแรกนั้นบังคับว่าถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย  จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่  แต่กรณีนี้ได้มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่หลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นหายไป  พระภิกษุจำลองจะฟ้องนายพิภพเพื่อเรียกเงินคืนได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว  ก็ถือได้ว่า  การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ตามนัยมาตรา  653  วรรคแรกแล้ว  แม้จะทำสัญญากู้ยืมเงินหายไป  ก็สามารถนำพยานบุคคลมานำสืบว่าเคยมีหลักฐานอยู่จริงได้  (ฎ.  34/2476)

สรุป  พระภิกษุจำลองสามารถฟ้องนายพิภพเรียกเงินคืนได้

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์ได้ติดต่อโรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษกเพื่อขอใช้ห้องจัดเลี้ยงสัมมนา 1 วัน  ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกาถึง 17.00 นาฬิกา  โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา 100 คน  ทางโรงแรมได้คิดค่าใช้จ่ายการใช้ห้องจัดเลี้ยงรวมค่าอาหารกลางวันและอาหารว่างในราคา 500 บาท  ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา 1 คน  ในวันจัดเลี้ยง  ขณะที่นายหนึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจอดรถไว้ยังที่จอดรถของโรงแรมและเข้าไปร่วมสัมมนา  นายสองได้เข้ามารับประทานอาหารที่ห้องอาหารจีนของโรงแรมและขับรถเฉี่ยวชนรถของนายหนึ่งไฟท้ายรถของนายหนึ่งแตก  ท้ายรถบุบ คิดเป็นค่าเสียหาย 4,000 บาท  เมื่อนายหนึ่งรู้ได้รีบแจ้งนายอาทิตย์ผู้จัดสัมมนาและนายจันทร์ผู้จัดการโรงแรมทราบทันที  และขอให้โรงแรมรับชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,000 บาทแก่ตน  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าโรงแรมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อนายหนึ่งหรือไม่  โดยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องเจ้าสำนักโรงแรม

ธงคำตอบ

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

วินิจฉัย

ตามมาตรา  674  นี้ได้กำหนดวางหลักทั่วไปว่าหากไม่มีผู้รับผิดโดยชัดแจ้งแล้ว  ให้เจ้าสำนักรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  ที่เกิดกับทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยที่เข้ามาพักในโรงแรม

สำหรับ  คนเดินทางหรือแขกอาศัย  หมายความถึง  ผู้ที่มาพักอาศัยในโรงแรมหรือสถานที่เช่นเดียวกัน  โดยประสงค์จะหาที่อยู่หรือที่พักเป็นการชั่วคราว  โดยเสียค่าพักอาศัย  ไม่หมายรวมถึงผู้เข้าพักโดยมิได้เสียค่าเช่าที่พัก  เช่น  ผู้จัดการโรงแรม  คนงาน  หรือบุคคลอื่นที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยมาพักอยู่ด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายหนึ่งเป็นผู้เข้าร่วมสัมมนาในห้องจัดเลี้ยงของโรงแรม  ไม่ใช่ผู้เข้ามาพักแรมหรือพักอาศัยในโรงแรม  โรงแรมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของนายหนึ่ง  ทั้งนี้  เพราะนายหนึ่งไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในความหมายของคำว่า  คนเดินทาง  หรือ  แขกอาศัย  ในมาตรา  674  ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวนั่นเอง

สรุป  โรงแรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อนายหนึ่ง

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551
ข้อสอบกระบวนวิชา  
LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อคำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บุญมายืมรถจักรยานยนต์ของบุญมีเพื่อนบ้านเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดหนึ่งปี  เมื่อบุญมารับรถจักรยานยนต์แล้วก็นำไปใช้งานปกติ  แต่ตอนเย็นบุญมานำรถจักรยานยนต์ที่ยืมมาไปรับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  ขณะที่รับผู้โดยสารอยู่นั้นถูกรถยนต์ที่โชคดีขับมาชน ทำให้รถจักรยานยนต์ที่ยืมมาเสียหายโดยมิใช่ความผิดของบุญมาแต่อย่างใด  ดังนี้ถ้าบุญมามีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์  บุญมีจะเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนดหนึ่งปีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมระหว่างบุญมาและบุญมีเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640  บุญมาผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถจักรยานยนต์ตามที่ตกลงกับบุญมีไว้  กล่าวคือ  เพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนด  1  ปี  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในตอนเย็นบุญมาผู้ยืมนำรถจักรยานยนต์ที่ยืมนั้นไปใช้รับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  ซึ่งมิได้มีการตกลงกับบุญมีผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปใช้สอยนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น  ผู้ยืมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืมก็ตาม  ทั้งนี้เพราะมาตรา  643  กำหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดในกรณีใดๆรวมเหตุสุดวิสัยหากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม

นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของตน  ตามมาตรา  643  กฎหมายให้สิทธิผู้ให้ยืมบอกเลิกสัญญา  และเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมก่อนครบกำหนดได้  ตามมาตรา  645  ดังนั้นบุญมีสามารถเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนด  1  ปีได้

สรุป  บุญมีผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกรถจักรยานยนต์คืนก่อนครบกำหนด  1  ปีได้

 

ข้อ  2  นายอ่ำขอยืมเงินของนางอินเป็นเงิน  10,000  บาท  โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือ  เพื่อนำไปจ่ายค่าเหล้า  ต่อมานายอ่ำได้ขอนางอินชำระหนี้เป็นทองคำมูลค่า  5,000  บาท  และเงินสด  5,000  บาท  ดังนี้หากนายอ่ำได้ชำระหนี้ดังกล่าวโดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใดๆ  นายอ่ำต้องชำระหนี้ใหม่หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  656  วรรคสอง  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้  หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ  สถานที่ส่งมอบ

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง  ตามมาตรา  650

การกู้ยืมเงินรายนี้มีจำนวน  10,000  บาท  เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ย่อมเป็นการกู้ยืมเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย  หลักฐานเป็นหนังสือนั้นใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

การกู้ยืมเงินแล้วนำไปจ่ายค่าเหล้าไม่ถือว่ามีวัตถุประสงค์ของสัญญากู้ยืมเงินเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ตามมาตรา  150  เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อชำระหนี้ที่มีผลบังคับตามกฎหมายได้

สำหรับการใช้เงินหรือการชำระหนี้  ตามนัยมาตรา  653  วรรคสอง  การใช้เงินต้นเท่านั้น  ไม่รวมถึงดอกเบี้ย  กล่าวคือ  เป็นการนำเงินสดที่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายมาชำระหนี้เงินต้นเท่านั้น  หากจะนำสืบการใช้เงินดังกล่าว  กฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว  หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

ดังนั้นการที่นายอ่ำชำระหนี้เป็นทองคำมูลค่า  5,000  บาท  ซึ่งเป็นราคาในเวลาและ  ณ  สถานที่ส่งมอง  และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม  หนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตามมาตรา  656  วรรคสอง  แม้การชำระหนี้ด้วยทองคำจะไม่มีหลักฐานใดๆ  นายอ่ำก็ไม่ต้องชำระหนี้ในส่วนนี้ใหม่แต่อย่างใด  สามารถนำพยานบุคคลมาสืบถึงการใช้เงินได้  กรณีไม่ต้องตามบทบัญญัติมาตรา  653  วรรคสอง

ส่วนการชำระหนี้ด้วยเงินสด  5,000  บาท  เมื่อไม่มีหลักฐานการคืนเงินใดๆ  ตามมาตรา  653  วรรคสอง  นายอ่ำจึงต้องชำระหนี้ในส่วนนี้ใหม่อีกครั้งเป็นเงิน  5,000  บาท

สรุป  นายอ่ำจะต้องชำระหนี้ใหม่เป็นเงิน  5,000  บาท

 

ข้อ  3  ผู้รับฝากทรัพย์มีอำนาจนำทรัพย์ที่รับฝากออกใช้สอยได้หรือไม่  จงอธิบาย  พร้อมยกตัวอย่างและหลักกฎหมายประกอบคำอธิบายตามลำดับดังนี้

ก.      ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นทรัพย์ทั่วๆไป  เช่น  รถยนต์  1  คัน

ข.      ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน  เช่น  เงินจำนวน  10,000  บาท 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  660  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  672  ถ้าฝากเงิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก  แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง  ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

อธิบาย

กรณีตามข้อ  ก.  ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นทรัพย์ทั่วๆไป  เช่น  รถยนต์  1  คัน  ตามมาตรา  660  วางหลักเกณฑ์ของการใช้สอยทรัพย์ที่รับฝากว่า  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  ห้ามมิให้ผู้รับฝากนำทรัพย์ออกใช้สอย  ดังนั้นผู้รับฝากจะไม่มีสิทธินำรถยนต์ที่ฝากมาใช้สอย  เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

กรณีตามข้อ  ข.  ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน  เช่น  เงินจำนวน  10,000  บาท  ตามมาตรา  672  กำหนดหลักเกณฑ์ของการฝากเงินว่า  ผู้รับฝากนำเงินที่รับฝากออกใช้สอยได้  แต่ต้องคืนให้ครอบจำนวน  ดังนั้นการรับฝากเงิน  ผู้รับฝากจึงมีสิทธินำเงินไปใช้สอยได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต

LAW 2009 การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายองอาจยืมรถยนต์ที่นายดำรงเพิ่งซื้อมาได้เพียง  1  เดือน  โดยไม่ได้บอกกับนายดำรงว่าจะเอาไปใช้อย่างไรและจะเอามาคืนเมื่อใด  แต่นายองอาจเอารถยนต์ไปให้สดศรีแฟนสาวใช้ขับไปทำงานเป็นประจำ  นายดำรงมาพบเข้าจึงบอกเลิกสัญญาและเรียกให้นายองอาจนำรถมาคืน  แต่นายองอาจไม่ได้นำรถไปคืน  หลังจากนั้นอีก  7  วันต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่  ทำให้หมู่บ้านที่นายองอาจและนายดำรงอาศัยอยู่ต้องรับผลจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างหนักคือน้ำท่วมระดับสูง  2  เมตร  เป็นเวลากว่า  10  วัน  รถที่นายองอาจยืมมาถูกน้ำท่วมและแช่น้ำอยู่ตลอด  ถ้าจะบำรุงรักษาให้กลับคืนสภาพเดิมต้องใช้เงินถึง  1  แสนบาท

ดังนี้  นายองอาจจะต้องรับผิดต่อนายดำรงชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันที่ยืมไปหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  8  เหตุใดๆ  อันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมระหว่างนายองอาจและนายดำรงเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640  นายองอาจผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย  กล่าวคือ  ต้องใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามภาวะของวิญญูชนที่จะพึงใช้ทรัพย์สินชนิดนั้น  สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม  รวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายองอาจเอารถยนต์ไปให้สดศรีแฟนสาวใช้ขับไปทำงานเป็นประจำ  ซึ่งมิได้รับความยินยอมจากนายดำรงผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  ถือว่านายองอาจประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืม  ตามมาตรา  643  ผลทางกฎหมายคือ  นายดำรงผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญายืมได้  ตามมาตรา  645

นอกจากนี้การที่นายองอาจไม่ได้นำรถไปคืน  หลังจากนั้นอีก  7  วันต่อมาก็เกิดน้ำท่วมใหญ่  ทำให้รถยนต์ที่ยืมได้รับความเสียหายซึ่งถ้าจะบำรุงรักษาให้กลับคืนสภาพเดิมต้องใช้เงินถึง  1  แสนบาท  แม้เหตุน้ำท่วมใหญ่จะเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา  8  คือ  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น  จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้นก็ตาม  นายองอาจผู้ยืมก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว  ทั้งนี้สืบจากบทบัญญัติมาตรา  643  กำหนดให้ผู้ยืมยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีใดๆ  ที่เกิดกับทรัพย์สินที่ยืม  หากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืมหรือความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติมาตรา  643  ตอนท้ายได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ให้ผู้ยืมหลุดพ้นจากความรับผิดได้  หากผู้ยืมพิสูจน์ได้ว่า  ถึงอย่างไร  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง  ดังนั้นในกรณีนี้หากนายองอาจพิสูจน์ได้  เช่น  แม้ต้นจะนำรถยนต์ไปคืนตามที่นายดำรงเรียกคืน  นายดำรงก็คงเก็บรักษารถยนต์ไว้ที่บ้าน  และต้องได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเสียหายอยู่ดี  เช่นนี้  นายองอาจอาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้

สรุป  นายองอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  ตามมาตรา  643  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องเสียหายอยู่นั่นเอง

 

ข้อ  2  ยอดทองยืมเงินยอดธงไป  60,000  บาท  ยอดทองเขียนเอกสารมีข้อความว่า  วันที่  11  กันยายน  2551  ยอดทอง  สุขสำราญ ยืมเงินพี่ธงไป  60,000  บาท  จะใช้คืนในวันที่  12  มีนาคม  2552  ดังนี้  ถ้ายอดทองไม่ใช้เงินคืน  ยอดธงจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงิน  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ตามมาตรา  650

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาทขึ้นไปจะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับการลงลายมือชื่อในหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายบังคับว่าต้องมีลายมือชื่อของผู้ยืมเท่านั้น  ส่วนผู้ให้ยืมจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่  ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ  ไม่ทำให้หลักฐานแห่งการฟ้องคดีนั้นเสียไป  และการลงลายมือชื่อนั้น  ผู้ยืมอาจเขียนเป็นชื่อตัวเอง  หรือลายเซ็นก็ได้  และอาจจะเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่น  จะเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้  แต่ถ้ามิได้ลงลายมือชื่อเลย  แม้ผู้ยืมจะเป็นผู้ทำหลักฐานเป็นหนังสือนั้นเอง  หลักฐานนั้นก็ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ยอดธงจะใช้เอกสารที่ยอดทองเขียนไว้เป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่  เห็นว่า แม้ยอดทองจะเขียนเอกสารมีข้อความว่า  วันที่  11  กันยายน  2551  ยอดทอง  สุขสำราญยืมเงินพี่ธงไป  60,000  บาท  จะใช้คืนในวันที่  12  มีนาคม  2552  ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงก็ตาม  แต่ในเอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อยอดทองลงไว้เป็นผู้ยืม  ทั้งจะถือเอาการที่ยอดทองเขียนเอกสารดังกล่าวด้วยลายมือตนเองเป็นการลงลายมือชื่อของยอดทองหาได้ไม่  เมื่อเอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อยอดทองลงไว้ในฐานะเป็นผู้ยืมก็ถือไม่ได้ว่าเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตามความมุ่งหมายของมาตรา  653  วรรคแรก  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ยอดธงจึงจะใช้เอกสารดังกล่าวฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่ยอดทองหาได้ไม่  (ฎ.1989/2538)

สรุป  ยอดธงจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

 

ข้อ  3  นายเอกและภรรยาได้เข้าพักแรมที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง  โดยจอดรถยนต์ของตนไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม  และเข้าพักแรมโดยใช้ชื่อนายเอกลงทะเบียนเป็นแขกพักแรม  ในตอนค่ำได้ออกไปรับประทานอาหารข้างนอกโรงแรมโดยภรรยานายเอกได้ถอดสร้อยเพชรมูลค่า  50,000 บาท  ไว้บนโต๊ะข้างเตียง  เมื่อกลับมาปรากฏว่าสร้อยเพชรหายไปและมีรอยงัดแงะของคนร้ายที่หน้าต่างห้องพัก  ในขณะเดียวกันพนักงานคนหนึ่งก็ได้ขึ้นมาแจ้งว่ารถที่นำเข้าจอดไว้ในลานจอดรถถูกรถของแขกอีกคนหนึ่งชนไฟท้ายแตก  เมื่อชนแล้วก็รีบขับหนีไป  สำหรับไฟท้ายที่แตกคิดราคาประมาณ  2,000  บาท  นายเอกจึงรีบแจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันที  ทางโรงแรมปฏิเสธไม่ยอมรับผิดต่อสู้ว่าโรงแรมมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะทรัพย์ของนายเอกเท่านั้น  จึงไม่ขอรับผิดในทรัพย์ของภรรยานายเอกที่ถูกขโมยไป ส่วนรถยนต์ที่ถูกชนก็เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร  ชนแล้วหนีไป  ทางโรงแรมไม่มีหน้าที่ต้องรับผิด  ดังนี้  ข้ออ้างของโรงแรมรับฟังได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกพิจารณาได้เป็น  2  กรณี  คือ

1       กรณีที่สร้อยเพชรราคา  50,000  บาท  ของภรรยานายเอกที่หายไป  เจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  เจ้าสำนักโรงแรมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัย  ซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลที่เข้าพักอาศัยร่วมกับผู้เดินทางด้วย  ความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรมหาได้จำกัดเฉพาะทรัพย์สินของผู้ลงทะเบียนเข้าพักแรมเท่านั้นไม่  กรณีนี้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่สร้อยเพชรของภรรยานายเอกหายไป

ส่วนเจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น  เห็นว่า  ทรัพย์สินที่หายคือ  สร้อยเพชรราคา  50,000  บาท  ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวด้วยอัญมณีและของมีค่าอื่นๆ  บทบัญญัติมาตรา  675  วรรคสอง  ให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง  5,000  บาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง  ภรรยาของนายเอกเป็นบุคคลผู้เข้าพักร่วมกับผู้เดินทาง  เมื่อไม่ฝากของมีค่าไว้  เจ้าสำนักจึงรับผิดเพียง  5,000  บาท  ไม่ว่าของมีค่านั้นภรรยาของนายเอกจะสวมใส่มาโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตามและหาใช่ว่าต้องฝากทรัพย์สินเฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมไม่  (ฎ.9284/2544)

2       กรณีที่รถยนต์ของนายเอกถูกชน  เสียหายเป็นจำนวน  2,000  บาท  เจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  675  วรรคแรก  ได้กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ความเสียหายจะเกิดจากผู้คนไปมาเข้าออกยังโรงแรม  ดังนั้น  แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ขับรถมาชนรถของนายเอก  โรงแรมก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวน  2,000  บาท  กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 675  วรรคสามแต่อย่างใด  ข้อต่อสู้ของโรงแรมที่ว่า  รถยนต์เป็นของบุคคลภายนอกไม่ทราบว่าเป็นของใคร  ชนแล้วหนีไป  ทางโรงแรมไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดจึงฟังไม่ขึ้น  (ฎ.1370/2526,  ฎ. 2196/2523)

สรุป  ข้อต่อสู้ของโรงแรมรับฟังไม่ได้ทั้งสองประการ  ทางโรงแรมต้องรับผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น  7,000  บาท 

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปาดังยืมรถยนต์ปิคอัพของปาเดเพื่อเอาไปใช้งานโดยแจ้งให้ปาเดทราบแล้วว่าจะนำไปดัดแปลงเป็นรถโดยสารรับจ้าง  ปาเดเห็นว่าเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกันก็ไม่ได้ถามว่าจะเอาไปใช้นานเท่าใด  ปาดังนำรถยนต์ที่ยืมมาไปต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวเพื่อนำไปใช้รับคนโดยสาร  หลังจากนั้นวันหนึ่งมีสาเกเพื่อนของปาดังมาหาบอกว่าตกงานไม่มีรายได้อะไร  ปาดังสงสารจึงอนุญาตให้สาเกเอารถคันดังกล่าวไปขับรับคนโดยสารหารายได้  โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและถ้าได้งานใหม่เมื่อใดก็ให้นำรถมาคืน  ดังนี้  สัญญาระหว่างปาดังกับสาเกเป็นสัญญายืมใช้คงรูปหรือสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  640  สามารถแยกองค์ประกอบของสัญญายืมใช้คงรูปได้ดังนี้

1       เป็นสัญญาซึ่งประกอบด้วยคู่กรณี  2  ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า  ผู้ให้ยืม  อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า  ผู้ยืม  โดยแต่ละฝ่ายไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายละคนเสมอไป  อาจจะมากกว่าหนึ่งคนก็ได้  และจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

2       เป็นสัญญาที่ตกลงให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินได้เปล่า  ไม่มีค่าตอบแทน  ถ้าเป็นการใช้สอยทรัพย์สินแล้วต้องเสียค่าตอบแทน  สัญญานั้นก็จะเป็นเช่าทรัพย์ไป  มิใช่สัญญายืมใช้คงรูป

3       เป็นสัญญาที่ตกลงให้ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินนั้นให้กับผู้ให้ยืมเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว  กล่าวคือ  ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม  เมื่อใช้สอยทรัพย์สินเสร็จแล้ว  ผู้ยืมจะต้องส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้ยืม  จะส่งคืนทรัพย์สินอื่นแม้เป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมไม่ได้

ส่วนสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา  650  นั้น  สามารถแยกลักษณะเฉพาะได้ดังนี้  คือ

1       เป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนหรือไม่มีค่าตอบแทนก็ได้  มีผลทำให้สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองแตกต่างกับยืมใช้คงรูป  และทำให้ยืมใช้สิ้นเปลืองมีลักษณะใกล้เคียงกับสัญญาเช่าทรัพย์  ที่ผู้ยืม (ผู้เช่า)  ต้องเสียค่าตอบแทน  และต้องคืนทรัพย์สินที่ยืม  เพียงแต่ยืมใช้สิ้นเปลืองต้องคืนแต่ทรัพย์ที่เป็นประเภท  ชนิดและปริมาณเดียวกัน  แต่เช่าทรัพย์  ผู้เช่าต้องคืนทรัพย์สินอันเดียวกันกับที่ผู้ให้เช่าส่งมอบให้ 

2       เป็นสัญญาโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืม

3       วัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองคือทรัพย์สินที่ใช้ไปสิ้นไป  กล่าวคือ  เมื่อมีการใช้สอยตามสัญญา  ทรัพย์สินนั้นจะเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นอยู่เสื่อมสลายหรือหมดเปลืองไป  ไม่คงรูปอยู่ในสภาพเดิม

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  สัญญาระหว่างปาดังกับสาเกเป็นสัญญายืมใช้คงรูปหรือสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เห็นว่า  การที่ปาดังอนุญาตให้สาเกเอารถคันที่ปาดังยืมจากปาเดไปขับรับคนโดยสารหารายได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  และถ้าได้งานใหม่เมื่อใดก็ให้นำรถมาคืน  แสดงให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  เนื่องจากเป็นสัญญาซึ่งประกอบด้วยคู่สัญญา  2  ฝ่าย  และเป็นสัญญาที่ตกลงให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินได้เปล่า  ไม่มีค่าตอบแทน  และประการที่สำคัญคือ  ตกลงให้ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้นให้กับผู้ให้ยืมเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว  ไม่ได้ตกลงให้นำรถยนต์คันอื่นซึ่งเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันกับรถยนต์ที่ยืมมาคืน จึงไม่อาจเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา  650  ได้

สรุป  สัญญาระหว่างปาดังกับสาเกเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640

 

ข้อ  2  นาย  ก  กู้ยืมเงินนาย  ข  100,000  บาท  สัญญายืมเงินกำหนดให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยขั้นสูงสุดตามกฎหมายกำหนด  ดังนี้  ลูกหนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  7  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติกฎหมายอันชัดแจ้ง  ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การกู้ยืมเงินกันกว่า  2,000  บาท  ถ้าไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม  ผู้ให้ยืมจะนำไปฟ้องร้องบังคับให้ผู้ยืมชำระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

ส่วนดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมนั้น  คู่สัญญาจะตกลงให้ผู้ยืมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมหรือไม่ก็ได้

1       ถ้าไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ย  ผู้ให้กู้ยืมเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่กู้ยืมไม่ได้จนกว่าผู้กู้ยืมจะผิดนัดตามมาตรา  224

2       ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ยแก่กัน  จะต้องกำหนดอัตราไว้ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด  คือ  ไม่เกินร้อยละ  15  ต่อปีตามมาตรา  654  ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวถือว่าเป็นการตกลงที่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  มีผลทำให้ความตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา  150  คงเรียกได้แต่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น  อนึ่งถ้าคู่สัญญามีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยแก่กันแต่ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง  บทบัญญัติมาตรา  7  ให้ถือว่าคู่สัญญาตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมเงินระหว่างนาย  ก  และนาย  ข  กำหนดให้นาย  ก  ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยขั้นสูงสุดตามกฎหมายกำหนด  กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่ชัดเจนเพราะไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งว่าจะให้ใช้ในอัตราเท่าใด  จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายลูกหนี้  ดังนั้นจึงต้องบังคับตามมาตรา  7  คือ  ให้ถือว่านาย  ก  และนาย  ข  คู่สัญญาตกลงกันให้เสียดอกเบี้ยในเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับตั้งแต่วันทำสัญญากู้ยืมไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น  (ฎ.3708/2528)

สรุป  ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีเท่านั้น

 

ข้อ  3  หนึ่งเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรามคำแหง  โดยพักร่วมกับสองเพื่อนร่วมงานที่มาทำงานด้วยกัน  หนึ่งนำประเป๋าสตางค์ที่มีเงินสดหนึ่งหมื่นบาท  สายสร้อยทองคำแขวนพระหลวงพ่อคูณเลี่ยมทอง  1  องค์  (รวมมูลค่าสายสร้อยและพระประมาณสามหมื่นบาท)  แหวนทับทิมล้อมเพชร  1  วง  (มูลค่าประมาณสองหมื่นบาท)  วางไว้ที่โต๊ะหัวเตียงในระหว่างนอนหลับ  เมื่อตื่นมาตอนเช้าพบว่ากระเป๋าเดินทางถูกรื้อค้นกระจุยกระจาย  เพดานห้องมีร่องรอยการปีนขึ้นลงจากฝ้าเพดาน  และแหวนทับทิมล้อมเพชรของหนึ่งถูกขโมยไป  หนึ่งได้รีบแจ้งให้นายสมเกียรติผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรมทราบทันทีที่พบว่าของหายไป  โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคนขโมยแหวนคือสองเพื่อนร่วมงานที่พักในห้องเดียวกันนั่นเอง

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ตามหลักของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หนึ่งจะเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดต่อตนได้หรือไม่  ในจำนวนเงินเท่าใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  หนึ่งจะเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดต่อตนได้หรือไม่  ในจำนวนเงินเท่าใด  เห็นว่า  ตามมาตรา  675  วรรคแรก  ได้กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ความเสียหายจะเกิดจากผู้คนไปมาเข้าออกยังโรงแรมก็ตาม  แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นไว้ใน  3  กรณี  คือ

1       ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย

2       ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นเกิดแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้นเอง

3       ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

กรณีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า  ทรัพย์สินที่สูญหายคือ  แหวนทับทิมล้อมเพชรอันถือว่าเป็นอัญมณีหรือของมีค่าตามมาตรา  675  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้ว  เจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายโดยจำกัดความรับผิดชอบไว้เพียง  5,000  บาท  เพราะหนึ่งมิได้ฝากของมีค่าเช่นนั้นไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้งก็ตาม  แต่เมื่อการสูญหายนั้นเกิดจากการถูกขโมยไปโดยเพื่อนร่วมห้อง  (สอง)  ที่พักแรมด้วยกัน  จึงเข้าข้อยกเว้นที่ทางโรงแรมจะไม่ต้องรับผิดตามมาตรา  675  วรรคสาม  เพราะถือว่าความเสียหายครั้งนี้เกิดจากบริวารของคนเดินทางหรือบุคคลที่คนเดินทางเข้าพักแรมด้วยกันนั่นเอง  ดังนั้น  หนึ่งจึงไม่สามารถเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดในทรัพย์สินที่หายได้

สรุป  หนึ่งไม่สามารถเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดในทรัพย์สินที่หายได้

LAW 2009 การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552
ข้อสอบกระบวนวิชา  
LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สามย่านยืมมอเตอร์ไซค์ของแกลง  โดยบอกว่าจะเอาใช้ขับขี่ไปทำงาน  แกลงได้ส่งมอบมอเตอร์ไซค์ให้สามย่านไปใช้งานโดยไม่คิดค่าตอบแทน  และไม่ได้กำหนดเวลาคืนไว้แต่สามย่านกลับนำไปดัดแปลงโดยมีการตัดต่อเป็นรถสามล้อ  ต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวเพื่อรับขนคนโดยสาร  วันหนึ่งขณะที่สามย่านขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ดัดแปลงแล้วหาผู้โดยสารนั้น  ชะมวงขับรถยนต์มาชนท้ายทำให้รถมอเตอร์ไซค์ที่สามย่านยืมมาเสียหาย  ถ้าจะซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมจะต้องใช้เงิน  5  พันบาท  ดังนี้  แกลงจะเรียกให้ชะมวงรับผิดชดใช้ค่าทดแทนที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ยืมหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้น  ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สามย่านยืมมอเตอร์ไซค์ของแกลงโดยบอกว่าจะเอาไปใช้ขับขี่ไปทำงาน  แกลงได้ส่งมอบมอเตอร์ไซค์ให้สามย่านไปใช้งานโดยไม่คิดค่าตอบแทนและไม่ได้กำหนดเวลาคืนไว้  กรณีถือว่าเป็นสัญญายืมใช้คงรูปที่มิได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาตามมาตรา  640  ประกอบมาตรา  641  ดังนั้น  กรรมสิทธิ์ในมอเตอร์ไซค์ที่สามย่านยืมมานั้นยังเป็นของแกลง

เมื่อได้ความว่า  ชะมวงขับรถยนต์มาชนท้ายทำให้รถมอเตอร์ไซค์ที่สามย่านยืมมาเสียหาย  ถ้าจะซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมจะต้องใช้เงิน  5  พันบาท  กรณีเช่นนี้  แกลงในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกให้ชะมวงรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ยืมได้

สรุป  แกลงเรียกให้ชะมวงรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ยืมได้

 

ข้อ  2  นาย  ก  ยืมเงินนาย  ข  เป็นจำนวนเงิน  20,000  บาทถ้วน  ในการนี้  นาย  ก  ได้รับมอบเงินยืมเป็นเงินสดจากนาย  ข  แล้ว  นาย  ข  ได้ขอให้นาย  ก  ออกเช็คจำนวน  20,000  บาท  ให้ตนยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้  ซึ่งนาย  ก  ก็ได้ออกเช็คตามที่นาย  ข ร้องขอ  ต่อมานาย  ก  ผิดนัดชำระหนี้  นาย  ข  จึงบอกให้นาย  ก  ชำระหนี้มิฉะนั้นจะฟ้องนาย  ก  เรื่องกู้ยืม  นาย  ก  บอกว่าฟ้องไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ดังนี้  นาย  ข  ฟ้องนาย  ก  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงิน  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ตามมาตรา  650

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้  ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นว่าจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน  อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้  เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน  หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว  ถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  ออกเช็คจำนวน  20,000  บาท  ให้นาย  ข  ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้นั้น  ถือว่าเช็คดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานการยืมเงินใช้ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ทั้งนี้เพราะไม่มีข้อความที่ชัดว่าเป็นการยืมเงินกันจริงๆ  ดังนั้นนาย  ข  จึงฟ้องนาย  ก  ไม่ได้

สรุป  นาย  ข  ฟ้องนาย  ก  ไม่ได้

 

ข้อ  3  นายหนึ่งเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯมหานคร  โดยมีนายโทเป็นเจ้าสำนักโรงแรม  โดยจอดรถไว้ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรมในตอนกลางคืน  ขณะที่นายหนึ่งนอนพักอยู่ในโรงแรมนายโทและเพื่อนมาเที่ยวฟังเพลงที่โรงแรมนี้แล้วได้ถอยรถชนรถของนายหนึ่งตัวถังรถบุบบริเวณข้างประตูด้านคนขับ  แล้วรีบขับหนีไป  ต่อมาตอนเช้านายหนึ่งลงมาหยิบของที่รถพบว่ารถถูกชนบุบแต่ด้วยความรีบร้อนจะไปทำธุระที่นายหนึ่งนัดหมายไว้  จึงยังไม่ได้แจ้งต่อนายโทผู้เป็นเจ้าสำนักให้ทราบถึงความเสียหาย  ในตอนเย็นเมื่อนายหนึ่งกลับจากทำธุระและเข้ามาพักที่โรงแรม  จึงแจ้งให้นายโทชดใช้ความเสียหายที่รถของนายหนึ่งถูกชน  โดยเรียกช่างซ่อมรถมาประเมินค่าเสียหายคิดเป็นจำนวน  8,000  บาท 

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของนายโทเจ้าสำนักโรงแรมที่มีต่อนายหนึ่งแขกที่มาพักแรม

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  675  วรรคแรก  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

มาตรา  676  ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น  เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น  คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนักโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นทันที  มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา  674  และ  675

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายโทมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยที่สูญหายหรือเสียหายขณะเข้าพักในโรงแรมไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นจากผู้คนไปมาเข้าออกยังโรงแรม  โรงแรมก็ต้องรับผิด  รถยนต์เป็นทรัพย์สินทั่วๆไปตามมาตรา  675  วรรคแรก  ดังนั้น  เมื่อรถของนายหนึ่งผู้พักแรมได้รับความเสียหาย  เจ้าสำนักจึงต้องชดใช้ต่อนายหนึ่งตามราคาความเสียหายที่เกิดขึ้น

แต่เมื่อได้ความว่า  นายหนึ่งทราบว่ารถถูกชนในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  แทนที่จะแจ้งให้โรงแรมทราบทันที  แต่กลับออกจากโรงแรมเพื่อไปทำธุระอย่างอื่นและกลับมาแจ้งต่อโรงแรมในตอนเย็น  จึงทำให้โรงแรมพ้นความรับผิดตามมาตรา  676  ซึ่งกำหนดให้ผู้พักแรมต้องแจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันทีที่พบความสูญหายหรือเสียหายมิฉะนั้นทางโรมแรมพ้นผิด  ดังนั้น  ในกรณีนี้โรงแรมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายหนึ่งโดยยกมาตรา  676  ขึ้นต่อสู้ได้ว่า  พฤติการณ์ของนายหนึ่งเท่ากับมิได้แจ้งให้โรงแรมทราบ

สรุป  นายโทเจ้าสำนักโรงแรมไม่ต้องรับผิดต่อนายหนึ่ง

WordPress Ads
error: Content is protected !!