LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า ซ่อม S/2548

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เมื่อวันที่  10  สิงหาคม  2549  นายจันทร์ได้ยืมรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์  1  คัน  เพื่อใช้ขับขี่ไปทำธุระโดยตกลงว่าจะนำไปคืนในวันที่  18  สิหาคม  2549  ต่อมาวันที่  15  สิงหาคม  2549  นายอาทิตย์ได้มอบให้นายจันทร์เป็นตัวแทนไปซื้อตู้เย็นให้แก่ตน  1 เครื่อง  ราคา  20,000  บาท  ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  โดยตกลงให้นายจันทร์ออกเงินทดรองไปก่อน  นายจันทร์ซื้อตู้เย็นเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้นำตู้เย็นไปส่งมอบให้แก่นายอาทิตย์  และได้ขอให้นายอาทิตย์ชำระเงินค่าตู้เย็นจำนวน  20,000  บาท  ให้แก่ตนด้วย  

นายอาทิตย์ได้รับมอบตู้เย็นเรียบร้อยแล้วจึงขอผัดผ่อนว่าจะชำระเงินให้ในวันที่  31  สิงหาคม  2549  แต่นายจันทร์ไม่ยินยอม  ดังนี้อยากทราบว่า

(ก)  นายจันทร์จะยึดตู้เย็นคืนจากนายอาทิตย์จนกว่าจะได้รับเงินทดรองที่ค้างจ่ายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายจันทร์จะยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์แทนเงินทดรองจ่ายที่ค้างชำระได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  819  ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ  ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน  เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

วินิจฉัย

(ก)  การที่นายอาทิตย์มอบให้นายจันทร์เป็นตัวแทนไปซื้อตู้เย็นโดยให้ออกเงินทดรองไปก่อนเมื่อซื้อตู้เย็นเสร็จเรียบร้อย  นายจันทร์จึงนำตู้เย็นไปส่งมอบให้แก่นายอาทิตย์  แต่นายอาทิตย์ไม่ยอมชำระเงินให้โดยขอผัดผ่อนไปชำระให้ในภายหลัง  กรณีนี้นายจันทร์จะยึดตู้เย็นคืนจากนายอาทิตย์ไม่ได้  เพราะการที่ตัวแทนจะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ  ของตัวการทรัพย์นั้นจะต้องตกอยู่ในความครอบครองของตน  แต่ตามอุทาหรณ์  นายจันทร์ได้ส่งมอบตู้เย็นให้แก่นายอาทิตย์แล้ว  นายจันทร์ไม่ได้ครอบครองตู้เย็นที่ตนซื้อมาแล้ว  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะยึดหน่วงได้ตามมาตรา  819

(ข)  นายจันทร์จะยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์แทนเงินทดรองที่ค้างชำระไม่ได้  เพราะการที่ตัวแทนจะยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการได้จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ตกอยู่ในความครอบครองของตัวแทนเพราะการเป็นตัวแทนนั้น  คือจะต้องเป็นทรัพย์ที่ตัวการมอบหมายให้ตัวแทนไปกระทำแทน  แต่กรณีรถจักรยานยนต์ที่นายจันทร์ครอบครองมิใช่ทรัพย์ที่เกิดจากการเป็นตัวแทน  แต่เกิดจากการที่นายจันทร์ไปยืมนายอาทิตย์มาใช้  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  819

สรุป  นายจันทร์ไม่สามารถยึดตู้เย็นคืนและไม่สามารถยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์ได้

 

ข้อ  2  นายเอก  เป็นเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง  ปรากฏว่านายเอกได้มอบกิจการให้นายโทเป็นผู้จัดการดูแลกิจการปั๊มน้ำมันแทน ปรากฏว่าในระหว่างที่นายโทดูแลกิจการปั๊มน้ำมันนั้น  นายโทได้นำน้ำยาหล่อเย็นและที่ปัดน้ำฝนที่โรงงานของลุงมาขายที่ปั๊มน้ำมันของนายเอก  ปรากฏว่านายโทนำน้ำยาหล่อเย็นไปขายให้นางสาวสวย  โดยนางสาวสวยเข้าใจว่าปั๊มน้ำมันนายเอกจำหน่ายพวกน้ำยาเคมีเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย  เช่นนี้ถ้าปรากฏว่าน้ำยาหล่อเย็นที่นายโทเติมให้รถยนต์นางสาวสวยทำให้รถยนต์ของนางสาวสวยเสียหาย  เพราะน้ำยาดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับรถของนางสาวสวย  เช่นนี้  นางสาวสวยจะเรียกร้องให้นายเอก  และนายโท  ร่วมกันรับผิดตามสัญญาซื้อขายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

1       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

2       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

3       ให้

4       ประนีประนอมยอมความ

5       ยื่นฟ้องต่อศาล

6       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายเอก  ได้มอบกิจการให้นายโทเป็นผู้จัดการดูแลกิจการปั๊มน้ำมันแทน  ถือว่าเป็นการตั้งตัวแทนทั่วไป  ตามมาตรา  801  ซึ่งนายโทตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  มีอำนาจที่จะกระทำกิจการได้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกิจการปั๊มน้ำมันตามมาตรา  801  วรรคแรก  เว้นแต่กิจการตามวรรคท้าย  (1)  (6) ที่นายโทตัวแทนไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้

ปรากฏว่าในระหว่างที่นายโทดูแลกิจการปั๊มน้ำมัน  นายโทได้นำน้ำยาหล่อเย็นและที่ปัดน้ำฝนที่โรงงานของลุงมาขายที่ปั๊มน้ำมันของนายเอก  ปรากฏว่านายโทนำน้ำยาหล่อเย็นไปขายให้นางสาวสวย  ถือว่านายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน  เพราะปั๊มน้ำมันของนายเอกตัวการไม่ได้จำหน่ายพวกน้ำยาเคมีรถยนต์ด้วย  เช่นนี้นายเอกตัวการไม่ต้องร่วมรับผิด  เมื่อปรากฏว่าน้ำยาหล่อเย็นที่นายโทเติมให้รถยนต์นางสาวสวย  ทำให้รถยนต์ของนางสาวสวยเสียหาย  ตามมาตรา  823  วรรคแรก  เช่นนี้นางสาวสวยจะเรียกร้องให้นายเอกตัวการรับผิดไม่ได้  แม้ว่านางสาวสวยเข้าใจว่าปั๊มน้ำมันนายเอกจำหน่ายพวกน้ำยาเคมีเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย  แต่ไม่ปรากฏว่านายเอกตัวการได้ทำให้นางสาวสวยบุคคลภายนอกเชื่อว่านายโทตัวแทน  กระทำการภายในขอบอำนาจแต่อย่างใด

แต่นางสาวสวยมีสิทธิเรียกให้นายโทตัวแทนรับผิดตามสัญญาซื้อขายได้  เพราะเมื่อนายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจต้องรับผิดต่อนางสาวสวยบุคคลภายนอกโดยลำพัง  ตามมาตรา  823  วรรคแรก

 สรุป  นางสาวสวยมีสิทธิเรียกให้นายโทตัวแทนรับผิดตามสัญญาซื้อขาย  เพราะเมื่อนายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบเขตอำนาจต้องรับผิดต่อนางสาวสวยบุคคลภายนอกโดยลำพัง  ตามมาตรา  823  วรรคแรก

 

ข้อ  3  นาย  ก  ต้องการจะซื้อที่ดินเพื่อนำมาสร้างโรงงาน  นาย  ก  จึงติดต่อกับนาย  ข  ได้จัดหาที่ดินมาให้นาย  ข  นำผู้แทนของนาย  ก ไปดูที่ดินของนาย  ค  ปรากฏว่านาย  ก  พอใจในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกลงซื้อ  และนาย  ค  ตกลงขาย  ในที่สุดก็ได้ข้าทำสัญญาซื้อขายกัน  นาย  ข  มาขอค่าบำเหน็จนายหน้ากับนาย  ค  แต่นาย  ค  ไม่ให้โดยอ้างว่านาย  ข  ไม่ได้ตกลงกันเรื่องค่านายหน้า  และนาย  ค  คิดว่านาย  ข  เป็นฝ่ายผู้ซื้อ  อีกทั้งนาย  ค  ก็ไม่ได้มอบหมายให้นาย  ข  เป็นนายหน้าฝ่ายผู้ขาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ค  จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย  ข  หรือไม่  อย่างไร 

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

นาย  ก  ติดต่อกับนาย  ข  ให้จัดหาที่ดินมาให้  นาย  ข  นำผู้แทนของนาย  ก  ไปดูที่ดินของนาย  ค  และนาย  ก  ก็ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว  ดังนี้  การเป็นนายหน้าของนาย  ข  นั้น  เป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีการมอบหมายตกลงแต่อย่างใด  ไม่ว่าจะโดยทางตรงตามมาตรา  845  หรือจะโดยทางอ้อมตามมาตรา  846  แม้จะอ้างมาตรา  846  ก็จะต้องมีการมอบหมายแก่กัน  ดังนั้นจึงวินิจฉัยได้ว่า  นาย  ค  จึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้กับนาย  ข  (ฎ. 705/2505)

สรุป  นาย  ค  ไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย  ข

LAW 2011กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  มอบให้นาย  ข  ไปซื้อที่ดินโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ  นาย  ข  ไปซื้อที่ดินของนาย  ค  โดยนาย  ข  ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย  ค  ต่อมานาย  ค  ผิดสัญญา  นาย  ก  จะฟ้องนาย  ค  ให้โอนที่ดินให้ได้หรือไม่  กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่งจากกรณีข้างต้น  หากนาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้ไปซื้อที่ดินแต่สั่งด้วยปากเปล่า  แล้วให้นำเงินไปวางประจำไว้  นาย  ข  เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย  ค  ดังนี้  หากนาย  ค  ผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้นาย  ก  นาย  ก จะฟ้องนาย  ค  ให้โอนที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยทั้งสองกรณี

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

กรรีแรก  นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  ไปซื้อที่ดินโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ  และนาย  ข  ตัวแทนได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนาย  ค  นาย  ก  ฟ้องนาย  ค  ได้  เพราะการมอบหมายมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา  798  ทำให้ผูกพันต่อกันระหว่างนาย  ก  กับนาย  ค  ถือว่ามีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่สอง  หากนาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  ไปซื้อที่ดินด้วยปากเปล่า  แต่ให้นำเงินไปวางประจำไว้  และนาย  ข  ก็เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย  ค  ดังนี้  นาย  ก  ก็ฟ้องนาย  ค  ได้เช่นกัน  เพราะกรณีที่  2  นี้  เป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่จะต้องทำเป็นหนังสือ  หรือมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสอแต่เพียงอย่างเดียว  อาจจะใช้วิธี

(1) วางประจำ (วางมัดจำ)  หรือ

(2) ชำระหนี้บางส่วนก็ได้  (ทั้งนี้ตามมาตรา  456  วรรคสอง)

ดังนั้น  นาย  ก  จึงฟ้องนาย  ค  ได้  ถือว่ามีหลักฐานครบถ้วนโดยวิธีวางประจำแล้ว  หากเลือกใช้วิธีวางประจำไว้  แม้การตั้งตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ระหว่างนาย  ก  กับนาย  ค  เพราะกรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798

สรุป  นาย  ก  สามารถฟ้องบังคับนาย  ค  ให้โอนที่ดินได้ทั้งสองกรณี

 

ข้อ  2  นาย  ก  ซื้อที่ดินของนาย  ข  ความจริงนาย  ก  ซื้อแทนนาย  ค  ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายขณะที่จะเซ็นสัญญาต่อกันนาย  ข  ไปรู้มาแล้วว่านาย  ก  เป็นเพียงตัวแทน  โดยความจริงนาย  ค  เป็นผู้ซื้อแต่นาย  ก  เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขาย  ดังนี้ตามปัญหาให้ท่านวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นข้อกฎหมายเรื่องใด

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆซึ่งตัวทแนได้ทำไว้แทนตนก็ได้  แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้  ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน  และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่

วินิจฉัย

มาตรา  806  มีหลักว่าก่อนเซ็นสัญญา  หรือขณะเซ็นสัญญาบุคคลภายนอก  หรือคู่สัญญาจะรู้ไม่ได้เลยว่าใครคือตัวการ  จะต้องคิดว่าตัวแทนที่ออกหน้านั้นเป็นตัวการโดยสุจริต

ตามปัญหา  ขณะเซ็นสัญญา  นาย  ข  ได้รู้ความจริงแล้วว่า  นาย  ก  เป็นเพียงตัวแทนไม่ใช่ตัวการ  และรู้ด้วยว่า  นาย  ค  คือตัวการ  ดังนี้จึงไม่สามารถปรับเข้าได้กับมาตรา  806  เพราะมาตรา  806  คู่สัญญาจะต้องไม่รู้ว่าใครคือคัวการ  ดังนั้นตามปัญญาจึงเป็นเพียงเรื่องตัวการตัวแทนตามปกติธรรมดาตามมาตรา  797  ไม่ใช่เรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806 (ฎ. 3179/2528

สรุป  กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการตัวแทนปกติธรรมดาตามมาตรา  797  มิใช่เรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามาตรา  806

 

ข้อ  3  ให้ท่านอธิบายโดยสังเขปว่าบำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้กี่ประการ  อะไรบ้าง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยจะให้ค่าบำเหน็จ  นาย  ข  นำที่ดินเสนอขายให้นาย  ค  และนาย  ค  ตกลงซื้อที่ดินแปลงนั้น  ต่อมานาย  ก  ได้โอนที่ดินให้นาย  ค  และนาย  ค  ได้มอบเงินค่าที่ดินราคา  10  ล้านบาท  ซึ่งเป็นค่าที่ดินทั้งหมด  นาย  ก  มอบเงินค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย  ข  เป็นจำนวนเงิน  3  แสนบาท  แต่นาย  ข  ไม่พอใจบอกว่าน้อยไปโดยนาย  ข  ต้องการ  5  เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย  นาย  ก  บอกว่าจะให้เท่านี้   แต่นาย  ข  เถียงว่าตนควรจะได้  5  แสนบาท  คือ  ห้าเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย  นาย  ก  บอกว่าไม่ได้ตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  นาย  ก  ยืนยันจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าตามความพอใจของนาย  ก  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่านาย  ข  ควรจะได้ค่าบำเหน็จนายหน้าเท่าใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้  2  ประการ  คือ

1       การมอบหมายตกลงกันชัดแจ้งตามมาตรา  845

2       แม้ไม่ชัดแจ้ง  แต่พฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าน่าจะได้บำเหน็จนายหน้าตามมาตรา  846  คือ  ได้บำเหน็จนายหน้าโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยจะให้ค่าบำเหน็จ  นาย  ข  เสนอขายที่ดินให้นาย  ค  และนาย  ค  ซื้อที่ดินแปลงนั้นในราคา  10  ล้านบาท  ดังนี้  เป็นกรณีที่นาย  ก  ตกลงว่า  จะให้บำเหน็จนายหน้าแก่นาย  ข  แต่มิได้ตกลงว่าจะให้เท่าใดก็ต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามมาตรา  846  วรรคสอง  เมื่อทางพิจารณาไม่อาจฟังเป็นยุติได้  ก็ให้ถือเอาตามธรรมเนียมคือร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันจริง  ตามคำพิพากษาฎีกาที่  3518/2526

ดังนั้น  นาย  ข  ควรได้  5  แสนบาท  คือร้อยละ  5   ของยอดขายแท้จริง

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า ซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  ตั้งตัวแทนคือ  นาย  ข  ให้ไปกู้เงินด้วยปากเปล่าโดยมิได้ทำหนังสือแต่งตั้งเป็นหนังสือ  นาย  ข  ไปกู้เงินนาย  ค  นาย  ข ในฐานะเป็นคู่สัญญาลงชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้กู้เป็นจำนวนเงิน  100,000  บาท  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ข  มีอำนาจลงชื่อในสัญญากู้หรือไม่  และการกู้เงินที่ว่านี้มีผลผูกพันนาย  ก  ตัวการหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทนไปกู้เงินด้วยปากเปล่า  มิได้ทำหนังสือแต่งตั้งเป็นหนังสือเป็นการตั้งตัวแทน  โดยฝ่าฝืนข้อกฎหมายมาตรา  798  ดังนั้น  การที่นาย  ข  ตัวแทนลงชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้กู้  จึงไม่มีอำนาจที่จะลงชื่อได้  ถือว่าตัวแทนลงชื่อในสัญญากู้โดยปราศจากอำนาจ  ผลก็คือสัญญากู้ไม่มีผลผูกพันตัวการตามมาตรา  823  วรรคแรก  นาย  ค  จึงฟ้องร้องบังคับตัวการคือ  นาย  ก  ไม่ได้

สรุป  นาย  ข  ไม่มีอำนาจลงชื่อในสัญญากู้  และการกู้เงินดังกล่าวไม่มีผลผูกพัน  นาย  ก  ตัวการ

 

ข้อ  2  นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นผู้จัดการร้านจำหน่ายและซ่อมรุจักรยานยนต์  ปรากฏว่าในระหว่างที่นายเอกไปเที่ยวต่างจังหวัด

(1) นายหนึ่ง  ได้นำรถจักรยานยนต์มาจำนำเพื่อประกันหนี้ค่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่นายหนึ่งได้ซื้อไปจากร้านของนายเอก  โดยส่งมอบให้นายโท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าการจำนำรถจักรยานยนต์ครั้งนี้  นายเอกมีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าหนี้  ผู้รับจำนำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายสอง  นำตึกแถวอาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ข้างร้านนายเอกมาให้นายโทเช่าเป็นระยะเวลา  5  ปี  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ถ้าหากทำสัญญาเช่ามาได้  3  ปี  นายสองผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้นายเอกเช่าต่อ  นายสองจะปฏิเสธไม่ให้นายเอกเช่าต่อได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

1       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

2       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

3       ให้

4       ประนีประนอมยอมความ

5       ยื่นฟ้องต่อศาล

6       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นผู้จัดการร้านจำหน่ายและซ่อมรถจักรยานยนต์  ถือว่านายโทเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ซึ่งมีอำนาจดำเนินกิจการได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการจำหน่ายและซ่อมรถจักรยานยนต์ตามมาตรา  801  ปรากฏว่าในระหว่างที่นายเอกไปเที่ยวต่างจังหวัด

 1       นายหนึ่ง  ได้นำรถจักรยานยนต์มาจำนำเพื่อประกันหนี้ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่นายหนึ่งได้ซื้อไปจากร้านของนายเอก  โดยส่งมอบให้นายโท  การจำนำรถจักรยานยนต์ครั้งนี้  นายเอกมีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้  เพราะการซื้อขายรถจักรยานยนต์อยู่ในขอบอำนาจของนายโทตัวแทน  เมื่อปรากฏว่านายหนึ่งค้างชำระค่ารถจักรยานยนต์จึงได้นำรถจักรยานยนต์ของตนมาจำนำประกันหนี้ค่าซื้อรถ  นายโทตัวแทนก็มีอำนาจที่จะกระทำได้  และไม่ปรากฏว่าเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  801  วรรคสอง  (1)-(6)  แต่อย่างใด  จึงอยู่ในขอบอำนาจที่นายโทสามารถที่จะกระทำได้และเมื่อกระทำไปการจำนำผูกพันนายเอกตัวการตามมาตรา  820 

2       นายสอง  นำตึกแถวอาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ข้างร้านนายเอกมาให้นายโทเช่าเป็นระยะเวลา  5  ปี  ถ้าหากทำสัญญาเช่ามาได้  3  ปี  นายสองผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้นายเอกเช่าต่อ  นายสองจะปฏิเสธไม่ให้นายเอกเช่าต่อไม่ได้  เพราะนายโทตัวแทนมีอำนาจไปเช่าตึกแถวได้  แม้ตึกจะเป็นอสังหาริมทรัพย์  และเป็นการเช่าเกินกว่า  3  ปีขึ้นไปก็ตาม  เพราะกรณีต้องห้ามคือเป็นกรณีที่ตัวแทนนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่าเกินกว่า  3  ปี  ขึ้นไป  ตามมาตรา  801  วรรคสอง  (2)  ดังนั้น  นายสองผู้ให้เช่าต้องผูกพันจนกว่าจะครบ  5  ปี  จึงไม่อาจปฏิเสธไม่ให้นายเอกตัวการตัวเช่าต่อได้ตามมาตรา  820

สรุป

1       นายเอกตัวการ  ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำ  ตามมาตรา  820

2       นายเอกมีสิทธิเช่าตึกแถวต่อจนกว่าจะครบ  5  ปีได้  ตามมาตรา  820

 

ข้อ  3  นายวิทย์เป็นจ้าของที่ดิน  1  แปลง  ต้องการจะให้เช่ามีกำหนดเวลา  10  ปี  การเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน  3  ปี  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  นายวิทย์จึงได้มอบให้นายวุฒิเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าโดยตกลงค่าบำเหน็จเป็นเงินจำนวน  10,000  บาท  ทั้งสองได้ทำสัญญากันโดยระบุว่า  ให้นายวุฒิไปจัดการพาผู้เช่าให้ไปจดทะเบียนการเช่า  ณ  สำนักงานที่ดินกับนายวิทย์ให้สำเร็จเรียบร้อยด้วย  ต่อมา  นายวุฒิได้พานายเฉลิมผู้เช่ามาตกลงทำสัญญาเช่ากับนายวิทย์เรียบร้อยแล้ว  แต่มิได้มีการจดทะเบียนการเช่า  เพราะนายเฉลิมผู้เช่าผิดสัญญา  นายวุฒิได้มาขอค่าบำเหน็จนายหน้าจากนายวิทย์โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าเรียบร้อยแล้ว  ดังนี้ อยากทราบว่านายวิทย์จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายวุฒิหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

นายวิทย์ได้มอบให้นายวุฒิเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าที่ดิน  ทั้งสองได้ทำสัญญากันโดยระบุให้นายวุฒิพาผู้เช่าไปจดทะเบียนการเช่า  ณ สำนักงานที่ดินให้สำเร็จเรียบร้อยด้วย  ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน  คือถือเอาการจดทะเบียนการเช่าระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่สำนักงานที่ดินเป็นเงื่อนไขตามความสำเร็จของนายหน้า  แม้นายวุฒิจะพานายเฉลิมมาทำสัญญาเช่ากับนายวิทย์เรียบร้อยแล้ว  แต่เมื่อยังมิได้มีการจดทะเบียนการเช่าเพราะผู้เช่าผิดสัญญา  นายวุฒิจึงไม่มีสิทธิเรียกค่านายหน้าจากนายวิทย์  เนื่องจากเงื่อนไขไม่สำเร็จตามมาตรา  845  วรรคแรก  ตอนท้าย  (ฎ. 1901/2506

สรุป  นายวิทย์จึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายวุฒิ

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแอลได้รับมอบอำนาจด้วยวาจาจากนายคิระ  ให้ดูแลกิจการขายหนังสือการ์ตูนแทนนายคิระ  เพราะนายคิระจะต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น  ในระหว่างที่นายคิระไม่อยู่  นายไรส์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง  DEATH  NOTE  มาเสนอขายแผ่นภาพยนต์  DVD  ให้นายแอล  ซึ่งนายแอลเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการทำเป็นหนังสือการ์ตูนมาก่อน  ซึ่งหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมจากวัยรุ่น  (OTOKO)  เป็นอย่างมาก  นายแอลจึงได้ทำสัญญาซื้อแผ่น  DVD  มูลค่า  60,000  บาท  จากนายไรส์มาจำหน่ายที่ร้านของนายคิระ  เมื่อนายคิระกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น  นายคิระเห็นแผ่น  DVD  ภาพยนตร์  DEATH  NOTE  ก็มิได้ว่ากล่าวอะไรนายแอลเพราะตนเองก็คิดว่าน่าจะขายได้  แต่ปรากฏว่าวัยรุ่นต่างไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนต์เพราะเป็นช่วงปิดเทอม  ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายแผ่น  DVD  ได้จนขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1       นายคิระจะต้องรับผิดชำระค่าแผ่น  DVD  ให้นายไรส์เป็นเงิน  60,000  บาทหรือไม่  เพราะเหตุใด

2       นายคิระจะเรียกร้องให้นายแอลรับผิดที่ขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาทได้หรือไม่  เพราะการตั้งตัวแทนกระทำด้วยวาจามิได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ  เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี  หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายคิระมอบอำนาจให้นายแอลด้วยวาจา  ให้ดูแลกิจการร้านขายหนังสือการ์ตูน  ถือว่านายแอลเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  จึงมีอำนาจทำได้ทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการร้านขายหนังสือการ์ตูน  ตามมาตรา  801

1       ในระหว่างทำการแทน  นายไรส์บุคคลภายนอกนำแผ่น  DVD  เรื่อง  DEATH  NOTE  มาจำหน่ายให้ราคา  60,000  บาท  ซึ่งนายแอลตัวแทนได้รับซื้อไว้  ถือว่าการซื้อแผ่น  DVD  ครั้งนี้เป็นเรื่องที่นายแอลตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน  นายแอลโดยหลักต้องรับผิดโดยลำพัง  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายคิระตัวการได้ยอมรับเอาสิ่งที่นายแอลตัวแทนกระทำลงไป  ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน  ดังนั้น  นายคิระตัวการจึงต้องผูกพันต่อนายไรส์บุคคลภายนอก  ตามมาตรา  823  วรรคแรก  ประกอบมาตรา 801  วรรคแรก

2       ตามกฎหมายตัวแทน  มาตรา  797  มิได้บัญญัติกำหนดแบบหรือหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวการตัวแทนไว้  ดังนั้น  แม้นายคิระตัวการจะได้ให้สัตยาบันสัญญาซื้อแผ่น  DVD  ไปแล้วก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่านายคิระตัวการต้องเสียหาย  และขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาท  นายคิระตัวการก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนายแอลตัวแทนได้  ตามมาตรา  812

ในการนี้นายแอลจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการตั้งตัวแทนมิได้มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร  มิได้มีหนังสือตั้งตัวแทน  ขึ้นมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่  เพราะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่ใช้บังคับเฉพาะตัวการกับบุคคลภายนอกเท่านั้น

สรุป

1       นายคิระตัวการต้องรับผิดต่อนายไรส์  เพราะให้สัตยาบันแก่การซื้อแผ่น  DVD  ของนายแอลตัวแทน  ตามมาตรา  823  วรรคแรก

2       นายคิระมีสิทธิเรียกร้องให้นายแอลตัวแทนรับผิดค่าเสียหาย  ตามมาตรา  812

 

ข้อ  2  ให้ท่านยกข้อเปรียบเทียบระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่างมาอย่างละ  5  ข้อ  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายขึ้นมาเปรียบเทียบแต่ละข้อด้วย

ธงคำตอบ

ข้อเปรียบเทียบระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่าง  มีดังนี้

 

ตัวแทนธรรมดา

ตัวแทนค้าต่าง

 

1       จะมีอาชีพอะไรก็ได้  ตามมาตรา  797

2       จะต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทน  ตามมาตรา  798

3       บำเหน็จตัวแทนจะมีก็ได้  ไม่มีก็ได้  แล้วแต่จะตกลงกัน  ตามมาตรา  803

4       ตัวแทนธรรมดาไม่มีหน้าที่ที่จะต้องแถลง  ความเป็นไปของเนื้องาน  และแถลงบัญชี  เว้นแต่ต้องการจะร้องขอตามมาตรา  809

5       ผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทนธรรมดาได้  ตามมาตรา  799

 

1       จะมีอาชีพในทางค้าขายเท่านั้น  ตามมาตรา  833

2       ไม่ต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทนค้าต่างเช่นกับตัวแทนธรรมดา  ตามมาตรา  798

3       จะต้องได้บำเหน็จ  ตามมาตรา 834

4       เป็นหน้าที่ของตัวแทนค้าต่างว่าจะต้องแถลงความเป็นไปและแถลงบัญชีเมื่องานเสร็จ  ตามมาตรา  841

5       ห้ามบุคคลไร้ความสามารถเป็นตัวแทนค้าต่าง  เพราะอาจจะต้องเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยเองได้  ตามมาตรา  836

(หากไม่มีเลขมาตราในแต่ละข้อไม่ได้คะแนน)

 

ข้อ  3  บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้กี่ประการอะไรบ้าง  ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปประกอบมาด้วยกรณีหนึ่ง

กรณีที่สอง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า  แต่ไม่ได้ตกลงว่าจะให้กี่เปอร์เซ็นต์  นาย  ข  นำที่ดินเสนอขายให้แก่นาย  ค  นาย  ค  ตกลงซื้อ  และนาย  ก  กับนาย  ค  เข้าทำสัญญากัน  เมื่อนาย  ก  โอนที่ดินให้นาย  ค  แล้ว  นาย  ก ได้จ่ายบำเหน็จนายหน้า  2  เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย  แต่นาย  ข  ไม่ยอม  โดยจะขอค่านายหน้า  5  เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย  นาย  ก  ไม่ยอมจ่ายให้โดยจะให้แค่  2  เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  นาย  ข  ไม่ยอมจึงฟ้องนาย  ก  เรียกค่านายหน้า  5  เปอร์เซ็นต์  ดังนี้  หากท่านเป็นศาลท่านจะสั่งว่านาย  ข  ควรจะได้ค่านายหน้าเท่าใด  ให้ท่านตอบพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วย   

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

กรณีที่  1  บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้  2  ประการ

1       เกิดจากการมอบหมายโดยตรงตามมาตรา  845  วรรคแรก  ซึ่งมีหลักดังนี้

ก  ตกลงระหว่างผู้ขายกับนายหน้า

ข  จะต้องเป็นผู้ชี้ช่อง

ข  ให้  2  ฝ่ายเข้าทำสัญญากัน

2       เกิดจากการมอบหมายโดยปริยายตามมาตรา  846  ซึ่งมีหลักดังนี้

ก  ต้องมีการมอบหมายเช่นกัน  แต่ไม่ใช่มอบหมายโดยตรง  เช่น  มาตรา  845

ข  จากพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่ายอมทำให้เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ

ค  ให้ถือว่าจากพฤติการณ์ได้ตกลงกันโดยปริยายว่าจะมีค่าบำเหน็จ

กรณีที่  2  บำเหน็จนายหน้า  คู่สัญญาจะต้องตกลงกันให้ชัดแจ้ง  มิเช่นนั้นต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม  ตามมาตรา  846  วรรคสอง  ตามปัญหาเมื่อทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้ว่าให้ค่านายหน้าเท่าใดแน่นอน  ก็ต้องถือเอาตามธรรมเนียมร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันจริง  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะสั่งว่า   ข   ควรจะได้ค่านายหน้าตามธรรมเนียมคือ  5  เปอร์เซ็นต์  ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่  3581/2526

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายวันมอบอำนาจให้นายเดือนนำรถบรรทุกสิบล้อออกให้เช่า  โดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนเป็นเงิน  300  บาท  ปรากฏว่านายเดือนนำรถบรรทุกไปให้นายปีเช่าเป็นระยะเวลา  1  เดือน  โดยคิดค่าเช่าวันละ  2,000  บาท  เมื่อนายปีนำรถออกไปขับได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  นายปีได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไป  ส่วนยางล้อด้านซ้ายของรถบรรทุกระเบิดเสียหายเป็นเงิน  7,000  บาท  เมื่อนายวันและนายเดือนทราบเรื่องได้พากันไปที่เกิดเหตุ  ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง  นายเดือนจึงเรียกร้องให้นายวันจ่ายบำเหน็จ  แต่นายวันได้ปฏิเสธไม่จ่ายและเรียกร้องให้นายเดือนชดใช้ค่าเสียหาย  7,000  บาท  และค่าเช่า  2,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้ออ้างของใครฟังขึ้นหรือฟังไม่ขึ้น  เพราะเหตุใด

 ธงคำตอบ

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา  817  ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทนถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าบำเหน็จนั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สิ้นสุดลงแล้ว

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

 วินิจฉัย

การที่นายวันมอบอำนาจให้นายเดือนนำรถบรรทุกสิบล้อออกให้เช่าโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนเป็นเงิน  300  บาท  เมื่อนายวันตัวการตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนตัวแทนจึงทำให้นายเดือนมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามมาตรา  803

นายเดือนตัวแทนนำรถบรรทุกไปให้นายปีบุคคลภายนอกเช่าเป็นระยะเวลา  1  เดือน  โดยคิดค่าเช่าวันละ  2,000  บาท  เมื่อนายปีนำรถออกไปขับได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  ยางล้อด้านซ้ายของรถบรรทุกระเบิดเสียหายเป็นเงิน  7,000  บาท  เห็นว่าเมื่อนายเดือนตัวแทนได้กระทำการในขอบอำนาจแล้วนายวันตัวการต้องผูกพันกับนายปีผู้เช่าที่เป็นบุคคลภายนอกตามสัญญาเช่าตามมาตรา  820  เมื่อรถบรรทุกได้รับความเสียหาย  และนายวันไม่ได้รับชำระค่าเช่า  

นายวันตัวการต้องไปว่ากล่าวเอากับนายเดือนบุคคลภายนอกตามสัญญาเช่า  ดังนั้นข้ออ้างของนายวันจึงฟังไม่ขึ้น  เมื่อกิจการนั้นผูกพันตัวการแล้ว  ตัวแทนย่อมหลุดพ้นจากความผูกพันหรือความรับผิดตามมาตรา  820  ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น  ก็มิได้เกิดเพราะความผิดของตัวแทน  นายวันตัวการจะปฏิเสธไม่จ่ายและเรียกร้องให้นายเดือนชดใช้ค่าเสียหายและค่าเช่าไม่ได้

เมื่อระหว่างนายวันและนายเดือนไม่ได้ตกลงเรื่องการจ่ายบำเหน็จว่าต้องจ่ายเมื่อใด  กฎหมายกำหนดให้จ่ายเมื่อการเป็นตัวการตัวแทนสิ้นสุดลง  ตามมาตรา  817  เมื่อปรากฏว่าการเป็นตัวการตัวแทนสิ้นสุดแล้ว  นายเดือนตัวแทนจึงมีสิทธิเรียกร้องบำเหน็จจากนายวันตัวการได้

สรุป  ข้ออ้างของนายวันตัวการฟังไม่ขึ้น  แต่ข้ออ้างของนายเดือนฟังขึ้น  ตามมาตรา  803  มาตรา  817  และมาตรา  820

 

ข้อ  2  นายสันติเป็นเจ้าของร้านทองรูปพรรณซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช  นายมิ่งขวัญต้องการขายทองคำแท่งหนัก  100  บาท  จึงได้มอบให้นายสันติเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำของตน  โดยตกลงว่าถ้าขายได้จะจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน  20,000  บาท  ให้แก่นายสันติ  ปรากฏว่าก่อนนำทองคำแท่งมาฝากขายราคาทองคำแท่งบาทละ  10,500  บาท  นายมิ่งขวัญได้บอกแก่นายสันติว่าถ้าราคาทองคำแท่งสูงกว่านี้ให้นายสันติขายทองคำแท่งให้ด้วย  ต่อมาวันที่  15  กุมภาพันธ์  2550  ปรากฏว่าราคาทองคำแท่งตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ  10,300  บาท  นายสันติต้องการซื้อทองคำดังกล่าวไว้เองเพื่อหวังผลกำไรในภายหน้าจึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้นายมิ่งขวัญทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง  นายมิ่งขวัญไม่ได้บอกปัดในทันที  ดังนี้อยากทราบว่าสัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นหรือไม่  และนายสันติจะได้รับเงินบำเหน็จจากนายมิ่งขวัญหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้  เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น  ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น  ณ  สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในที  ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

วินิจฉัย  

นายมิ่งขวัญได้มอบให้นายสันติเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่ง  หนัก  100  บาท  และตกลงจะจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายสันติ  ต่อมาราคาทองคำแท่งตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ   10,300  บาท  นายสันติต้องการซื้ทองคำแท่งดังกล่าวจึงโทรศัพท์ไปแจ้งให้นายมิ่งขวัญทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง  เมื่อนายมิ่งขวัญทราบว่านายสันติต้องการจะซื้อ  ถ้าตนไม่ต้องการจะขายจะต้องบอกปัดเสียในทันที  แต่ปรากฏว่านายมิ่งขวัญไม่บอกปัดในทันทีที่ได้รับแจ้ง  กรณีนี้ให้ถือว่านายมิ่งขวัญตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งจึงเกดขึ้นตามมาตรา  843  วรรคสอง

ส่วนกรณีบำเหน็จ  นายมิ่งขวัญตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายสันติถ้าขายทองคำแท่งได้เป็นเงิน  จำนวน  20,000  บาท  แม้นายสันติจะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งเหล่านั้นเอง  นายสันติก็ย่อมคิดเอาบำเหน็จได้ตามมาตรา  843  วรรคท้าย

สรุป  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นและนายสันติมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากนายมิ่งขวัญ

 

ข้อ  3  นายคิมเป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องการขายโดยมีนางฟ้าเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย  นางฟ้าติดต่อให้นายอากาศเป็นผู้ขายซึ่งนายคิมรู้เห็นด้วย  นายอากาศนำเสนอที่ดินแปลงดังกล่าวขายให้นายน้ำและนายน้ำตกลงซื้อ  นายอากาศนำนายน้ำเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนายคิมและต่อมาได้โอนกันในที่สุด  หลังจากนั้นนายอากาศได้มาขอค่านายหน้าจากนายคิม  แต่นายคิมปฏิเสธไม่จ่ายโดยอ้างว่าไม่ได้มอบหมายให้นายอากาศเป็นนายหน้า  นายอากาศไม่พอใจจึงได้ฟ้องเรียกค่านายหน้าหากท่านเป็นศาลท่านจะสั่งให้นายคิมจ่ายค่านายหน้าหรือไม่อย่างไร  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

วินิจฉัย

สัญญาให้ค่านายหน้าซึ่งภริยาเป็นผู้ตกลงติดต่อกับนายหน้าให้ขายที่ดินซึ่งมีชื่อของสามี  โดยสามีรู้เห็นยินยอมด้วยและยอมรับเอาผลตามที่ภริยาติดต่อให้นายอากาศเป็นนายหน้าจนได้มีการขายที่ดินได้สมความตั้งใจ  ซึ่งถือว่านายอากาศเป็นนายหน้าได้สมบูรณ์  ตามมาตรา 845  ครบถ้วนแล้ว  แม้จะมิได้ติดต่อกับนายคิมโดยตรงก็ตาม  การที่นายอากาศติดต่อกับนางฟ้าซึ่งนายคิมผู้สามีรู้เห็นด้วย  แม้ไม่ได้มอบหมายโดยตรงแต่ก็ถือได้ว่านายคิมยอมรับผลนั้น  นยคิมก็ต้องรับผิดจ่ายค่านายหน้าให้นายอากาศและถือได้ว่านางฟ้าเป็นตัวแทนของนายคิมผู้สามีในการทำสัญญานายหน้า(ฎ. 575/2509)

สรุป  นายคิมต้องจ่ายค่านายหน้าแก่นายอากาศ

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  1.1  นายไก่มอบนายไข่ให้ไปซื้อที่ดินโดยมอบหมายเป็นหนังสือ  นายไข่ไปซื้อที่ดินนายครัวโดยตกลงทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกันเรียบร้อย  ต่อมานายครัวโอนที่ดินขายให้นายเงิน  โดยนายเงินให้ราคามากกว่าเป็นสองเท่า  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นายไก่จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้หรือไม่

1.2            นายไก่มอบนายไข่ให้ไปซื้อที่ดินโดยฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมาย  ในการมอบหมายนั้น  นายไข่ไปซื้อที่ดินของนายครัวและนายไข่กับนายครัวทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกันเรียบร้อย  ต่อมา  นายไก่ผิดสัญญาซื้อขายต่อนายครัวก่อน  โดยไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย  นายครัวจึงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายเงินซึ่งให้ราคาเท่ากันกับนายไข่  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นายไก่จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้หรือไม่  อย่างไร

1.3            หากการซื้อขายที่ดินรายนี้  นายไก่มอบหมายนายไข่ด้วยปากเปล่า  แต่ได้มอบเงินให้ไปวางประจำและการมอบหมายมิได้ทำเป็นหนังสือ  และนายไข่กับนายครัวทำหนังสือจะซื้อจะขายกันแล้วต่อมานายครัวได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปให้นายเงิน  นายไก่จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

1.1            ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  798  แล้ว  การตั้งตัวแทนของนายไก่ถูกต้องตามหลักมาตรา  798  ทุกประการ  เพราะการตั้งตัวแทนไปซื้ออสังหาริมทรัพย์  กฎหมาย  (มาตรา  456  วรรคแรก)  บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ  เมื่อสัญญาตั้งตัวแทนสมบูรณ์  นายไก่จึงสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้

1.2   ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  798  การตั้งตัวแทนของนายไก่ฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมาย  นายไก่ตั้งนายไข่ไม่ได้มอบหมายเป็นหนังสือ  หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญากันแล้วไม่สามารถฟ้องร้องกันได้  นายไก่ตั้งนายไข่ไม่ได้มอบหมายเป็นหนังสือ  หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญากันแล้วก็ไม่สามารถฟ้องร้องกันได้  เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน  ด้วยเหตุนี้นายไก่จึงไม่สามารุฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้

นอกจากกรณีดังกล่าว  แม้นายไก่จะไม่ได้ผิดสัญญาก่อนก็ฟ้องไม่ได้อยู่ดี  เพราะการตั้งตัวแทนฝ่าฝืนข้อห้ามกฎหมายตามมาตรา  798  ซึ่งกฎหมายบังคับว่าการตั้งตัวแทนต้องทำเป็นหนังสือ

1.3 เป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ดังนั้นการตั้งตัวแทนแม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือแต่ใช้วิธีวางประจำไว้ก็ถือว่าเป็นการตกลงกันสำเร็จแล้ว  (มาตรา  456  วรรคสอง)

สรุป 

1.1            นายไก่สามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้

1.2            นายไก่ไม่สามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้

1.3            นายไก่ฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้

 

ข้อ  2  ให้ท่านอธิบายหลักเกณฑ์ตามมาตรา  825  โดยละเอียดครบถ้วน  หากตัวแทนที่ได้รับมอบหมายโดยถูกต้องมีบำเหน็จ  แต่ได้ปฏิบัติมิชอบตามมาตรา  825  อยากทราบว่าตัวแทนที่ว่านี้จะมีความรับผิดตามกฎหมายหรือไม่  อย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  825  เป็นเรื่องตัวแทนเห็นแก่อามิสสินจ้าง  ซึ่งมีหลักกฎหมายว่า

ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินใดๆ  หรือประโยชน์อย่างอื่นออันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดีหรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี  ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่  เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย

ทั้งนี้โดยปกติแล้ว  ตัวแทนจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและรักษาผลประโยชน์ของตัวการ  แต่ถ้าตัวแทนทำกิจการแทนตัวการโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างจากบุคคลภายนอกที่ให้ประโยชน์แก่ตน  ย่อมทำให้ตัวการได้รับความเสียหายได้  เช่น  แดงเป็นตัวแทนขายที่ดินให้ดำ  แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลประโยชน์จากผู้ซื้อเพื่อให้แดงขายที่ดินให้แก่ตนในราคาถูกเป็นการตอบแทน  กรณีนี้ย่อมทำให้ดำตัวการได้รับความเสียหายได้  เพราะได้เงินค่าขายที่ดินลดลง  กฎหมายมาตรานี้จึงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ตัวการได้รับความเสียหาย  กล่าวคือ  ไม่ให้การนั้นผูกพันตัวการ  เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีตามมาตรา  825  จะต้องปรากฏว่า

1       เป็นเรื่องที่ตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกเท่านั้น

2       ต้องปรากฏว่าการทำสัญญาของตัวแทนเป็นผลมาจากการรับสินบนหรืออามิสสินจ้างจากบุคคลภายนอก  ถ้าตัวแทนทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว  บุคคลภายนอกเห็นความดีของตัวแทนทำให้สัญญาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  จึงได้มอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ตัวแทน  และตัวแทนรับไว้  กรณีนี้ไม่ถือว่าตัวแทนรับอามิสสินจ้างจากบุคคลภายนอก  สัญญาที่ทำย่อมผูกพันตัวการ

สำหรับผลทางกฎหมาย  ในกรณีที่ตัวแทนกระทำการฝ่าฝืนมาตรา  825  คือ

 1       สัญญาที่ตัวแทนทำนั้น  ไม่ผูกพันตัวการ  ตัวแทนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาโดยลำพัง  แต่ตัวการมีสิทธิที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเอาสัญญาดังกล่าวนั้นก็ได้ 

2       ตัวการมีสิทธิบอกเลิกการเป็นตัวแทนได้  ตามมาตรา  827  วรรคแรก

3       ถือว่าตัวแทนทำไม่ชอบด้วยหน้าที่ของการเป็นตัวแทน  ตัวการมีสิทธิที่จะไม่ให้บำเหน็จแก่ตัวแทน  ตามมาตรา  818  แม้ตัวแทนจะได้รับมอบหมายโดยถูกต้องมีบำเหน็จ  ตามมาตรา  803  ก็ตาม

4       ถ้าการกระทำดังกล่าวทำให้ตัวการได้รับความเสียหาย  ตัวแทนจะต้องรับผิดต่อตัวการตามมาตรา  812

 

ข้อ  3  การเป็นนายหน้ามีการมอบหมายได้กี่ประการ  หากการมอบหมายให้เป็นนายหน้ามิได้ตกลงกันเป็นพิเศษว่าจะให้บำเหน็จนายหน้าเท่าใด  กี่เปอร์เซ็นต์  จะถือเกณฑ์การให้บำเหน็จอย่างไร  ให้ท่านตอบพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาประกอบให้ครบถ้วน

ธงคำตอบ 

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

การเป็นนายหน้าเกิดขึ้นได้  2  ประการ  คือ

 1       การมอบหมายโดยตรง  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  85

2       การมอบหมายโดยปริยาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  846

ตามปัญหา  หากค่าบำเหน็จนายหน้าตกลงกันไม่ได้ว่าจะต้องให้เท่าใด  ก็ให้ตกลงกันเป็นธรรมเนียมตามมาตรา  846  วรรคสอง  คือร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริงตามคำพิพากษาฎีกาที่  3581/2526

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ดำตั้งแดงเป็นตัวแทนไปกู้เงิน  โดยตั้งกันปากเปล่า  แดงไปกู้เงินขาว  10,000  บาท  โดยระบุในสัญญากู้ว่า  กู้แทนดำ  ต่อมาดำไม่ชำระหนี้  และขาวเห็นว่าการที่แดงอ้างว่ากู้แทนดำ  แต่การมอบอำนาจนั้น  มิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  จึงฟ้องแดงให้รับผิด  แดงจึงปฏิเสธความรับผิด  โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของดำ  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  กรณีดังกล่าวข้ออ้างของแดงฟังขึ้นหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

เป็นเรื่องการตั้งตัวแทนไปกู้ยืมเงิน  ซึ่งการกู้ยืมเงินนั้นเป็นนิติกรรมที่กฎหมายให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  หากเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาทขึ้นไป  (มาตรา  653  วรรคแรก)  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าดำตั้งแดงไปกู้เงินขาว  10,000  บาท  ด้วยปากเปล่า  ถือว่าการตั้งตัวแทนมิได้ทำตามบทบัญญัติของกฎหมายและฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา  798  วรรคสอง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  แดงตัวแทนจะต้องรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อการตั้งตัวแทนฝ่าฝืนข้อห้าม  ตามมาตรา  798  วรรคสอง  กล่าวคือ  มิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  จึงเท่ากับว่าไม่มีการตั้งตัวแทนเกิดขึ้น  การที่แดงกู้เงินขาว  แม้จะระบุในสัญญากู้ว่า  กู้แทนดำ  จึงต้องถือว่าแดงกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ  ผลทางกฎหมายคือ

1       ตัวการไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อขาวบุคคลภายนอกในการกู้ยืมเงินอันแดงได้ทำไปโดยปราศจากอำนาจ  ตามมาตรา  820  แม้สัญญากู้จะระบุว่า  กู้แทนดำ  ก็ตาม

2       เมื่อแดงทำไปโดยปราศจากอำนาจ  และมาปรากฏว่าดำให้สัตยาบัน  แดงจึงต้องรับผิดต่อขาวบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  ตามมาตรา  823  วรรคสอง

สรุป  ข้ออ้างของแดงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  2  นายหนึ่งเป็นเจ้าของร้านรับซื้อขายแลกเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว  นายสองได้นำคอมพิวเตอร์ของตนมาฝากนายหนึ่งขาย  1 เครื่อง  ราคา  30,000  บาท  โดนนายหนึ่งคิดค่าดำเนินการ  2,000  บาท  ต่อมาวันที่  1  กันยายน  2550  นายเอกได้ทำสัญญาซื้อเชื่อคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวไปโดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  30  กันยายน  2550  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเอกไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายหนึ่ง  นายสองจึงมาทวงเงินค่าขายคอมพิวเตอร์จากนายหนึ่ง  นายหนึ่งได้ขอผัดผ่อนไปก่อนโดยอ้างว่ายังเก็บเงินจากนายเอกไม่ได้และได้ทำสัญญากับนายสองว่า  ถ้านายเอกไม่ชำระเงิน  30,000  บาท  ตนจะรับผิดชอบเอง  หลังจากนั้นนายสองก็มาทวงเงินจากนายหนึ่งอีก  แต่นายหนึ่งก็ไม่ยอมชำระเงินให้แก่นายสองโดยอ้างว่านายเอกยังไม่นำเงินมาชำระให้แก่ตนและตนเป็นเพียงตัวแทนค้าจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายสองตัวการ  ดังนี้  อยากทราบว่า  ข้ออ้างของนายหนึ่งฟังขึ้นหรือไม่  และนายหนึ่งจะต้องชำระเงินค่าคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสองหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 มาตรา  838  วรรคแรก  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ไซร้  ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการเพื่อชำระหนี้นั้นเองไม่  เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดในสัญญา  หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทนประพฤติต่อกันหรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

วินิจฉัย

เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่  30  กันยายน  2550  นายเอกไม่นำเงินมาชำระตามหลักแล้วนายหนึ่งตัวแทนค้าต่างไม่ต้องรับผิดต่อนายสองตัวการ  ตามมาตรา  838  ตอนแรก  แต่เนื่องจากนายหนึ่งได้ทำสัญญากับนายสองว่า  ถ้านายเอกไม่ชำระเงิน  30,000  บาท  ตนจะรับผิดชอบเอง  ข้อกำหนดในสัญญาของนายหนึ่งนี้  จึงผูกพันนายหนึ่งให้ต้องรับผิดต่อนายสอง  เมื่อนายสองมาทวงเงินค่าขายคอมพิวเตอร์จากนายหนึ่ง  นายหนึ่งจะอ้างว่านายเอกไม่ชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้  และจะอ้างว่าตนเป็นเพียงตัวแทนค้าต่างก็ไม่ได้เช่นกัน  นายหนึ่งจึงต้องชำระเงินค่าคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสองเพราะข้อกำหนดในสัญญาของนายหนึ่งเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  838  วรรคแรกตอนท้าย

สรุป  ข้ออ้างของนายหนึ่งจึงฟังไม่ขึ้น และนายหนึ่งจะต้องชำระเงินค่าคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสอง

 

ข้อ  3  นพดลต้องการขายที่ดิน  50-0-0  ไร่  ราคาไร่ละสี่ล้านบาทโดยให้ค่านายหน้าร้อยละสาม  สอนชัยจะหาผู้มาซื้อ  การเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายหลายครั้ง  จะใช้บ้านไพโรจน์เพื่อนของนภดลเป็นสถานที่นัดพบเจรจา  นพดลอยู่ร่วมเจรจาบางครั้ง  แต่ไพโรจน์ร่วมเจรจาด้วยทุกครั้งและจัดการแทนนภดลจนมีการทำสัญญาจะซื้อขายในที่สุด  เมื่อสอนชัยมาขอค่านายหน้าหกล้านบาท  นพดลไม่ยอมให้อ้างว่าไม่เคยมอบหมายให้ไพโรจน์เป็นตัวแทนในการเจรจาทำสัญญา  เพราะไม่มีการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดชูบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ไพโรจน์เป็นตัวแทนของนพดลในการเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน  หรือไม่  เห็นว่า  การที่สอนชัยติดต่อกับผู้ซื้อเพื่อมาซื้อที่ดินของนพดล  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจรจาติดต่อกันนั้นได้ใช้บ้านไพโรจน์เพื่อนของนภดลเป็นสถานที่นัดพบเสมอ  ทั้งไพโรจน์ก็ร่วมเจรจาด้วยทุกครั้ง  แม้บางครั้งนพดลไม่มา  แต่ไพโรจน์ก็เป็นผู้จัดการแทนนภดลจนมีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินในที่สุด  ย่อมเห็นเป็นปริยายว่า  นพดลได้เชิดไพโรจน์เป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับสอนชัยแทนนพดล  ทำให้ผู้ซื้อยินยอมทำสัญญาซื้อขาย  ดังนั้นพฤติการณ์ย่อมแสดงว่าไพโรจน์เป็นตัวแทนเชิด  ตามมาตรา  821  ซึ่งการเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  การตั้งตัวแทนเชิดจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  หรือต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด  ข้ออ้างของนพดลที่ว่าไม่เคยมอบหมายให้ไพโรจน์เป็นตัวแทนในการเจรจาทำสัญญา  เพราะไม่มีการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  สอนชัยมีสิทธิได้รับค่านายหน้าหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อสอนชัยเป็นคนกลางในการจัดให้ไพโรจน์ตัวแทนผู้ขายและผู้ซื้อได้พบปะ  สอนชัยมีความมุ่งหมายที่จะได้ค่านายหน้าเป็นสำคัญ  หากไม่ได้ค่านายหน้าตอบแทนเป็นผลประโยชน์แล้ว  การดำเนินการใดๆที่ผ่านมา  ตลอดทั้งการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินอาจจะไม่เกิดขึ้น  เมื่อนายหน้าได้มีการชี้ช่องจัดการให้คู่สัญญาทำสัญญากันสำเร็จ  แม้สอนชัยจะตกลงค่านายหน้าเฉพาะแต่นภดลเท่านั้น  แต่เมื่อไพโรจน์เป็นตัวแทนของนพดล  ข้อตกลงเรื่องค่านายหน้าจึงมีผลถึงไพโรจน์ด้วย  ดังนั้นสอนชัยผู้เป็นนายหน้าจึงมีสิทธิได้รับค่านายหน้าในอัตราร้อยละ  3  ตามมาตรา  845  วรรคแรก  นพดลจะปฏิเสธไม่ได้ 

สรุป  ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น  นพดลต้องจ่ายค่านายหน้าแก่สอนชัย

LAW 2011กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  มอบ  ข  ให้หาซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรแบ่งขาย  ข  ซื้อที่ดินของตนเองโดย  ก  มิได้ยินยอมด้วย  เมื่อ  ข  ได้ที่ดินมาแล้วได้นำที่ดินมาจัดสรรแบ่งขาย  ขายดีจนหมดสิ้น  ก  ได้สมประโยชน์  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข  จะได้บำเหน็จหรือไม่อย่างไร  ให้ท่านวินิจฉัยโดยยกหลักกฎหมายประกอบมาให้ชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

มาตรา  805  ตัวแทนนั้น  เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ  จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง หรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่  เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้

มาตรา  818  การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น  ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ

วินิจฉัย

ตามหลักมาตรา  805  ดังกล่าวนั้น  จะเห็นได้ว่าตัวแทนจะต้องทำการเพื่อตัวการแต่เพียงผู้เดียวเสมือนหนึ่งตัวการกระทำการนั้นด้วยตนเอง  ย่อมไม่นำเอาประโยชน์ผู้อื่นเข้ามาขัดกับประโยชน์ของตน  ดังนั้นจึงห้ามมิให้ตัวแทนทำนิติกรรมกับตัวการไม่ว่าจะทำในนามของตนเองหรือทำในฐานะเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอก  แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นใน  2  กรณี  คือ

1       เมื่อได้รับความยินยอมจากตัวการ  หรือ

2       นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้

ดังนั้น  หากตัวแทนกระทำการฝ่าฝืนมาตรา  805  ถือว่าตัวแทนกระทำโดยปราศจากอำนาจมิชอบด้วยการเป็นตัวแทน  สัญญาที่ตัวแทนทำกับบุคคลภายนอกจึงไม่ผูกพันตัวการ  และเป็นผลทำให้ตัวแทนขาดสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จ  แม้จะมีข้อสัญญาหรือธรรมเนียมให้ตัวแทนได้รับบำเหน็จก็ตาม

ก  มอบหมายให้  ข  ไปซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรแบ่งขาย  จะถือว่า  ก  ยินยอมให้  ข  ซื้อที่ดินของตนได้ด้วยนั้นหาได้ไม่  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏโดยชัดแจ้งว่า  ข  ซื้อที่ดินของตนโดย  ก  มิได้ยินยอมด้วย  จึงเป็นการที่  ข  ตัวแทนเข้าทำนิติกรรมในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง  อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย  มาตรา  805  ถือว่าเป็นการอันมิชอบด้วยการเป็นตัวแทน  ในกรณีนี้  ข  จะไม่ได้รับบำเหน็จ  ตามมาตรา  818  ที่ว่าการใดที่ตัวแทนทำไม่ถูก  จะไม่ได้บำเหน็จ

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อ  ข  ได้นำที่ดินที่ซื้อมาจากการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา  805  มาจัดสรรแบ่งขาย  และขายจนหมด  ถือได้ว่า  ก  ตัวการได้สมประโยชน์  ในกรณีหลังนี้  ข  ทำชอบด้วยการเป็นตัวแทน  จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จ  ตามมาตรา  818

สรุป 

กรณีซื้อที่ดินโดยตัวการไม่ยินยอม  ข  ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตัวแทน

กรณีที่  ข  นำที่ดินมาจัดสรรแบ่งขายจนสมประโยชน์ตัวการ  ข  มีสิทธิได้รับบำเหน็จตัวแทน

 

ข้อ  2  นายหนึ่งเปิดร้านซื้อขายรถยนต์มือสองอยู่ที่ถนนรัชดา  นายสองมีรถยนต์ยี่ห้อ  TOYOTA  อยู่  1  คัน  ซึ่งใช้มาแล้วเป็นเวลา  10  ปี  นายสองต้องการขายรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อซื้อรถยนต์คันใหม่  จึงได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายหนึ่งขายโดยกำหนดให้ขายในราคา  200,000  บาท  โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้ตามราคาที่ตกลงกันนายสองจะให้ค่าตอบแทนแก่นายหนึ่งเป็นเงินจำนวน  20,000  บาท  และตกลงให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อ  Honda  ซึ่งใช้งานมาแล้วประมาณ  3  ปี  ให้ตน  1  คันในราคา  450,000  บาท  และจะให้ค่าตอบแทนแก่นายหนึ่งจำนวน  20,000  บาทเช่นกัน  รวมเงินค่าตอบแทนทั้งซื้อและขายเป็นเงินจำนวน  40,000  บาท  ปรากฏว่านายหนึ่งได้ขายรถยนต์ของนายสองได้ในราคา  220,000  บาท  และได้ซื้อรถยนต์คันใหม่ให้แก่สองในราคา  400,000  เงินที่ขายรถยนต์คันดังกล่าวได้สูงกว่าที่นายสองกำหนด  20,000  บาท  และเงินที่ซื้อต่ำกว่าที่นายสองกำหนดจำนวน  50,000  บาท  นายหนึ่งได้ถือเอาเป็นประโยชน์ของตนทั้งหมด  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของนายหนึ่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  840  ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด  หรือทำการซื้อได้ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้  ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่  ต้องคิดให้แก่ตัวการ

วินิจฉัย

ตัวแทนค้าต่างมีหน้าที่ต้องงคืนเงินหรือคืนประโยชน์ให้แก่ตัวการในกรณีดังต่อไปนี้

1       ได้ทำการขายทรัพย์สินได้ในราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด

2       ได้ทำการซื้อทรัพย์สินได้ในราคาต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไว้

ดังนั้นตัวแทนจึงไม่อาจยึดถือเอาเงินในส่วนดังกล่าวไว้เป็นประโยชน์ต่อตนได้

นายสองได้ให้นายหนึ่งขายรถยนต์ของตนในราคา  200,000  บาท  แต่นายหนึ่งขายรถยนต์คันนั้นไปในราคา  220,000  บาท  นายหนึ่งจึงขายได้สูงกว่าราคาที่นายสองกำหนดไว้เป็นเงินจำนวน  20,000  บาท  และนายสองได้ให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์คันใหม่ให้แก่ตน  1  คัน  ในราคา  450,000  บาท  แต่นายหนึ่งซื้อรถยนต์คันใหม่ได้ในราคา  400,000  บาท  ซึ่งต่ำกว่าราคาที่นายสองกำหนดไว้เป็นจำนวน  50,000 บาท  เงินที่เหลือจากการขายได้สูงกว่าและเงินที่เหลือจากการซื้อต่ำกว่ารวมเป็นเงิน  70,000  บาท  นายหนึ่งไม่มีสิทธิที่จะถือเอาเป็นประโยชน์แก่ตน  ต้องคิดคนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นายสองตัวการทั้งหมดตามมาตรา  840  เมื่อปรากฏว่านายหนึ่งได้ถือเอาเงินจำนวน 70,000  บาท  เป็นของตนทั้งหมด  ดังนั้น  การกระทำของนายหนึ่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การกระทำของนายหนึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย  มาตรา  840

 

ข้อ  3  ก  มอบ  ข  ให้ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จ  ข  นำเสนอขาย  ค  ค  ตกลงซื้อเป็นเงิน  1,000,000  ล้านบาท  ก  โอนที่ดินให้  ค  เรียบร้อยแล้ว  หลังจากนั้น  ก  ได้จ่ายบำเหน็จนายหน้าให้  ข  ร้อยละ  2  ของยอดขายจริง  แต่  ข  ปฏิเสธโดยอ้างว่า  ก  ให้บำเหน็จนายหน้าน้อยเกินไป  ซึ่ง  ก  น่าจะต้องจ่ายร้อยละ  5  ของยอดขาย  สุดท้ายตกลงกันไม่ได้  ข  จึงฟ้องเรียกบำเหน็จร้อยละ  5 จาก  ก  ถ้าท่านเป็นศาล  ท่านจะสั่งให้  ก  จ่ายบำเหน็จนายหน้าให้กับ  ข  ร้อยละเท่าใดจึงจะถูกต้อง  (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายและหลักฎีกาประกอบด้วย)

ธงคำตอบ

มาตรา  846  วรรคสอง  ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

กรณีที่ได้มีการตกลงกันว่าจะให้บำเหน็จนายหน้า  แต่มิได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้  ตามมาตรา  846  วรรคสอง  ให้ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมที่เคยมีบุคคลอื่นปฏิบัติกันมา  ดังนั้นค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษจะต้องกำหนดกันไว้โดยชัดแจ้ง  มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม  ตามบทบัญญัติมาตรา  846  วรรคสอง

ทั้งนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่  3581/2526  วางหลักของจำนวนตามธรรมเนียม  ตามนัยมาตรา  846  วรรคสอง  ว่า  เมื่อไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน  จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมการซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ  โดยทั่วไปแล้วหมายถึงร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง

ก  มอบหมายให้  ข  เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จ  แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้ว่าจะต้องจ่ายเท่าใด  จึงต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามมาตรา  846  วรรคสอง  ประกอบแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น  คือ  ต้องจ่ายบำเหน็จนายหน้าให้กับ  ข  ร้อยละ  5   ของราคาที่ขายกันจริง

การที่  ข  มาฟ้องเรียกบำเหน็จร้อยละ  5  จาก  ก  นั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะสั่งให้  ก  จ่ายบำเหน็จนายหน้าให้กับ  ข  ร้อยละ  5  ของราคาที่ขายกันจริงตามที่  ข  ฟ้องจึงจะถูกต้อง

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะสั่งให้  ก  จ่ายบำเหน็จนายหน้าร้อยละ  5  ของราคาที่ขายกันจริง 

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  ต้องการเซ็นชื่อในใบมอบอำนาจให้ตัวแทนไปจำนอที่ดิน  โดยไม่กรอกข้อความลงในใบมอบอำนาจ

ข  ตัวแทนกรอกข้อความเองโดยกรอกข้อความว่า  นำที่ดินไปขายฝาก  ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของ  ก  ตัวการ  ข  นำไปขายฝากให้  ค  และ  ค  รับซื้อฝากไว้โดยสุจริต  เมื่อ  ก  ทราบเรื่อง  ก  จึงฟ้องเพิกถอนสัญญาขายฝากนั้น  และฟ้อง  ข  ว่า  ข  ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ศาลพิพากษา ว่า  ข  ผิดตามที่  ก  ฟ้อง  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1)  การกระทำครั้งนี้ของ  ข  ผูกพัน  ก  ตัวการหรือไม่  ก  จะปฏิเสธความรับผิดต่อ  ค  ผู้ซึ่งรับซื้อฝากไว้โดยสุจริตได้หรือไม่

2)  เมื่อศาลพิพากษาว่า  ข  ผิดปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ก  จะฟ้องเพิกถอนสัญญาที่  ข  ทำกับ  ค  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา  822  ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

1)  การที่  ก  ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจให้ตัวแทนไปจำนองที่ดิน  โดยไม่กรอกข้อความลงในใบอำนาจ  เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง  เมื่อ  ข  นำใบมอบอำนาจไปกรอกข้อความเป็นให้ขายฝาก  ซึ่งเป็นผิดวัตถุประสงค์ของ  ก  เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอก  ตามมาตรา  822  ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทน  คือ  ข  ทำการเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า  การนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ค  รับซื้อฝากไว้โดยสุจริต   และเสียค่าตอบแทน  สัญญาขายฝากจึงผูกพันตัวการ  ก  ตัวการจึงต้องผูกพันรับผิดต่อ  ค  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต  จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเอาความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดไม่ได้  ตามมาตรา  822  ประกอบมาตรา  821

และในกรณีนี้  ก  เจ้าของที่ดิน  จะฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินหรือใช้สิทธิติดตามเอาที่ดินคืนด้วยเหตุผลว่า  ข  กระทำการเกินขอบอำนาจตัวแทนไม่ได้  ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต  ก  ไม่มีอำนาจฟ้อง  หากให้ฟ้องกันได้  ค  ผู้ซื้อโดยสุจริตจะเสียหายเป็นอย่างมาก  และความเสียหายนี้ก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ  ก  โดยตรง  จะนำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้ให้เกิดความเสียหายแก่  ค  ไม่ได้

 2)    เมื่อ  ค  รับซื้อฝากโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน  โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  แม้ว่า  ข  ผู้กรอกข้อความจะถูกศาลพิพากษาลงโทษในคดีอาญาฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ก  จะนำเหตุดังกล่าวนี้ไปฟ้องเพิกถอนสัญญาขายฝากระหว่าง  ข  กับ  ค  ผู้รับซื้อฝากโดยสุจริตไม่ได้  เพราะ  ค  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำไปโดยสุจริต  ไม่รู้เหตุของการทำนอกของอำนาจของตัวแทนแต่อย่างใด  สิทธิของ  ค  ย่อมไม่เสียไป  หากก  ต้องการได้ที่ดินคืน  ก็ต้องชำระสินไถ่ตามกฎหมาย

สรุป 

1)    การกระทำของ  ข  ผูกพัน  ก  และ  ก  จะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

2)    ก  จะฟ้องเพิกถอนสัญญาขายฝากที่  ข  ทำกับ  ค  ไม่ได้

 

ข้อ  2  ก  มอบ  ข  ให้เป็นตัวแทนไปฟ้องคดีพร้อมทั้งให้อำนาจในการถอนฟ้องและยอมความได้ด้วย  ระหว่างคดีอยู่ระหว่างพิจารณา  ก ได้ตายลง  ข  ไม่ทราบว่า  ก  ตาย  ข  ได้ทำสัญญายอมไปกับจำเลยทายาทของตัวการได้โต้แย้งว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญายอมเพราะ  ก  ตาย  ทำให้สัญญาระงับแล้ว  ดังนี้  ข้ออ้างของทายาทฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใดประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง  เนื่องจากการตายของ  ก  ตัวการ  ทายาทได้บอกกล่าวแก่  ข  ว่า  ก  ได้ตายแล้ว  ข  ยังทำสัญญายอมความให้กับจำเลย  ดังนี้  ข  จะมีอำนาจทำสัญญายอมความหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  826  วรรคสอง  อนึ่งสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลาย เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญาหรือสภาพแห่งกิจการนั้น

มาตรา  830  อันเหตุที่จะทำให้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปนั้นจะเกิดแต่ตัวการหรือตัวแทนก็ตาม  ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง  จนกว่าจะได้บอกกล่าวเหตุนั้นๆไปยังคู่สัญญาฝ่ายนั้นแล้ว  หรือจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะได้ทราบเหตุแล้ว

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ข้ออ้างของทายาทของตัวการที่ว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญายอมความนั้นฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้วหากตัวการหรือตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย  สัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  826  วรรคสอง  เว้นเสียแต่ว่าจะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  หรือโดยสภาพของงานนั้น  ความตายไม่มีผลต่อการงานที่จะกระทำต่อไปแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม  แม้สัญญาตัวแทนจะระงับลงแล้วก็ตาม  แต่จะมีผลต่ออีกฝ่ายหนึ่งเมื่อได้มีการบอกกล่าวให้ตัวแทนหรือตัวการทราบแล้วแต่กรณี  หรือจนกว่าตัวแทนหรือตัวการจะทราบเหตุนั้นแล้ว  ไม่เช่นนั้นแล้วการระงับของสัญญาตัวแทนจะยังไม่มีผลต่อคู่สัญญา  ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง  ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ประการแรกนั้น  ทายาทของตัวการจึงไม่สามารถยกเหตุแห่งความตายของ  ก  ตัวการมาต่อสู้  ข  ตัวแทนซึ่งทำสัญญายอมความไปกับจำเลยว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำไม่ได้  เพราะ  ข  ไม่รู้เหตุการณ์ของ  ก  โดยสุจริต  ตามมาตรา  830  ประกอบมาตรา  826

ส่วนกรณีตามประการที่สองนั้น  ทายาทได้บอกกล่าวเหตุแห่งความตายของ  ก  ตัวการ  แก่  ข  ตัวแทนแล้ว  ข  ยังทำสัญญายอมความกับจำเลยต่อไปอีกถือว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำได้  เพราะการตายของ  ก  ทำให้สัญญาระงับ  และ  ข  ได้รู้แล้วโดยการบอกกล่าวของทายาท ตามมาตรา  830  ประกอบมาตรา  826

สรุป  ประการแรก  ข้ออ้างของทายาทฟังไม่ขึ้น  ส่วนประการที่สอง  ข  ตัวแทนไม่มีอำนาจทำสัญญายอมความ

 

ข้อ  3  ในกรณีที่มีผู้ขายที่ดิน  และนายหน้า  มิได้ตกลงกันไว้เป็นพิเศษว่าจะจ่ายค่านายหน้ากันเท่าใด  และนายหน้าได้นำคดีมาฟ้องศาลเพื่อเรียกค่านายหน้า  ถ้าท่านเป็นศาล  ท่านจะพิจารณาตัดสินคดีนี้อย่างไร  จะนำหลักกฎหมายหลักใดมาเป็นหลักในการตัดสิน  การจ่ายบำเหน็จนายหน้า  (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายและหลักฎีกาประกอบในการตอบด้วย)

ธงคำตอบ

มาตรา  846  วรรคสอง  ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

ค่าบำเหน็จ  คือ  ค่าตอบแทนจากการเป็นนายหน้าที่ชี้ช่องให้บุคคลที่แต่งตั้งนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับอีกฝ่ายหนึ่งโดยอ้อม  หรือได้จัดการให้บุคคลที่แต่งตั้งนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับอีกฝ่ายหนึ่งได้สำเร็จโดยตรง  ค่าบำเหน็จนี้อาจเป็นเงิน  ที่ดิน  หรือทรัพย์สินอื่นก็ได้ อาจกำหนดบำเหน็จหรือค่าตอบแทนไว้หลายส่วนก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  จะใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าก็ต่อเมื่อได้มีการตกลงกันของคู่สัญญาแล้ว  จะเป็นการตกลงโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้  สำหรับจำนวนค่านายหน้าหรือบำเหน็จค่านายหน้านั้น  แยกพิจารณาเป็น  2  กรณี  คือ

1       ได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้าโดยชัดแจ้ง

2       ไม่ได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้าไว้

สำหรับกรณีที่ไม่ได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้  ตามมาตรา  846  วรรคสอง  ให้ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมที่เคยมีบุคคลอื่นปฏิบัติกันมา  ดังนั้นค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษจะต้องกำหนดกันไว้โดยชัดแจ้ง  มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามบทบัญญัติมาตรา  846  วรรคสอง

ทั้งนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่  3581/2526  วางหลักของจำนวนตามธรรมเนียม  ตามนัยมาตรา  846  วรรคสอง  ว่า  เมื่อไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน  จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมการซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ  โดยทั่วไปแล้วหมายถึงร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะใช้หลักกฎหมายมาตรา  846  วรรคสอง  และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  3581/2526  ที่ให้ถือเอาอัตราตามธรรมเนียม  คือ  ร้อยละ  5  ของราคาซื้อขายกันแท้จริง  มาเป็นแนวทางพิจารณา

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า สอบซ่อม 1/2551

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
 
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 
ข้อ 1.   นายแดงได้มอบให้นายดำไปซื้อที่ดินแทนตน 1 แปลง ที่จังหวัดลพบุรี โดยมิได้ทำเป็นหนังสือ การมอบให้นายดำไปซื้อที่ดินในครั้งนี้ให้ใส่ชื่อนายดำเป็นผู้ซื้อ เพราะนายแดงไม่ต้องการให้ใครทราบว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากซื้อที่ดินไปแล้วเป็นเวลา 3 ปี นายแดงต้องการที่ดินคืน จึงได้บอกกล่าวให้นายดำโอนที่ดินคืนให้แก่ตน แต่นายดำไม่ยอมโอนคืนให้  โดยอ้างว่าการมอบให้ตนไปซื้อที่ดินมิได้ทำเป็นหนังสือ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายดำฟังขึ้นหรือไม่ และนายดำจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่นายแดงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
 
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็น หนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
 
มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอัน เขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่
 
มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น
 
อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น
 
วินิจฉัย  
 
  กิจการใดที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 798 แต่ถ้าตัวการไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ.มาตรา 806 ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือตามมาตรา 798 เพราะมาตรา 806 เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798
 
ตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงมอบให้นายดำไปซื้อที่ดินแทนตนโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และให้ใส่ชื่อนายดำเป็นผู้ซื้อ เพราะไม่ต้องการให้ใครทราบว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ตัวการไม่เปิดเผยชื่อ (ตาม ป.พ.พ.มาตรา 806) เมื่อตัวการไม่เปิดเผยชื่อจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือมอบอำนาจระหว่างตัวการและตัวแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 798 
เมื่อนายแดงต้องการที่ดินคืน นายดำจะอ้างว่าการมอบให้ตนไปซื้อที่ดินมิได้ทำเป็นหนังสือ ข้ออ้างของนายดำจึงฟังไม่ขึ้น เพราะมิใช่เป็นการมอบให้ไปซื้อที่ดินในนามของนายแดงตัวการ แต่ให้ไปซื้อที่ดินในนามของนายดำตัวแทน จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งนายดำตัวแทนได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการ ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 810
 
ดังนั้น ข้ออ้างของนายดำจึงฟังไม่ขึ้นและนายดำต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่นายแดง
 
ข้อ 2.     ก. มอบให้ ข. ในการดำเนินกิจการเพื่อประมูลงานตึกเรียนใหม่ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และให้ ข. เป็นผู้ยื่นซองประกวดราคาค่าก่อสร้าง ข. ได้ออกค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ ในการติดต่อสอบถามราคา ค่าแรง ค่าของ เพื่อนำมาคำนวณราคาก่อสร้าง จนถึงวันประกวดราคา จะต้องมีเงินวางมัดจำซองตามที่ผู้เรียกประกวดราคากำหนด ข. กลับมาหา ก. เพื่อขอเงินวางมัดจำซอง  แต่ ก. บอกยังไม่มีให้ ข. ออกไปก่อน ข. ก็บอกว่าไม่มีเช่นกัน แต่ ก. ก็หาจ่ายเงินให้ ข. ไม่ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
 
1)              ข. จะบอกเลิกการเป็นตัวแทน และขอค่าบำเหน็จจนถึงวันบอกเลิกได้หรือไม่
 
2)   ก. จะอ้างว่า ข. บอกเลิกในขณะที่ ก. ไม่สะดวก โดยจะทำให้ ก.ต้องเสียหาย เพราะ ก.จะไม่ได้งานสร้างมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
 
(ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ครบถ้วน)
 
ธงคำตอบ
มาตรา 815 ถ้าตัวแทนมีประสงค์ไซร้ ตัวการต้องจ่ายเงินทดรอง ให้แก่ตัวแทนตามจำนวนที่จำเป็น เพื่อทำการอันมอบหมายแก่ตัวแทนนั้น
 
มาตรา 803 ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มี ข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติ ต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ
 
มาตรา  827  ตัวการจะถอนตัวแทน และตัวแทนจะบอกเลิกเป็น ตัวแทนเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ
 
 คู่สัญญาฝ่ายซึ่งถอนตัวแทน หรือบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ ไม่สะดวกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นในความ เสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น เว้นแต่ในกรณีที่เป็นความ จำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
 
วินิจฉัย
 
 ตามปัญหา
 
1)     ข. จะบอกเลิกการเป็นตัวแทนเพราะทำงานไม่สะดวกได้ตามมาตรา 827 ว.แรก และขอบำเหน็จตามมาตรา 803 ได้จนถึงวันบอกเลิก
 
2)     ก. จะอ้างว่า ข. บอกเลิกในขณะที่ ก. ไม่สะดวกและทำให้เกิดความเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 827 ว.สอง ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความผิดของ ข. แต่เป็นความผิดของ ก. เอง ที่ว่า ข. ร้องขอให้ ก. ตัวการจ่ายเงินทดรอง ตัวการต้องจ่ายตาม ป.พ.พ.มาตรา 815
 
ข้อ 3.    ก. มีอาชีพเป็นนายหน้า มี ข. มาบอกว่าให้ ก. หาที่ดินทำเลดี ๆ สวย ๆ ให้สัก 6 ไร่ ติดถนน เพราะจะสร้างโรงงาน ก. เห็น ค. ติดป้ายว่า “ที่ดินแปลงนี้ขาย” ติดต่อโทร……….  ก. ได้โทรศัพท์คุยกับ ค. ว่าที่ดินมีกี่ไร่ ราคาไร่ละเท่าใด ถ้าเอาทั้งแปลงจะลดได้หรือไม่ หลังจากนั้น 3 วัน ก. ได้นำ ข. มาพบ ค. และทำการซื้อขาย และโอนกันเป็นที่เรียบร้อย หลังจากการซื้อขายเสร็จสิ้น ก. ได้มาขอค่านายหน้าจาก ค.  ค. ไม่ให้ โดย ค. อ้างว่าตนมิได้มอบหมายให้ ก. เป็นนายหน้า ก. ฟ้อง ค. เพื่อเรียกค่านายหน้า ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะสั่งให้ ค. จ่ายค่านายหน้าให้ ก. หรือไม่ เพราะอะไร
 
ธงคำตอบ
 
มาตรา 845  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่า บุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้อง บำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
 
 นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไป ก็ต่อเมื่อได้ ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิ ได้ทำกันสำเร็จ
 
มาตรา 846 ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดย พฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่า ย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ ไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
 
 ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกัน เป็นจำนวนตามธรรมเนียม
 
วินิจฉัย 
 

  ตามปัญหา เป็นเรื่องเป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตามหลักมาตรา 845 นั้น จะต้องมีการตกลงกันระหว่างผู้ขายกับนายหน้า จะต้องมีการมอบหมายให้เป็นนายหน้า และนายหน้าถึงจะเป็นผู้ชี้ช่องได้ และสุดท้าย ผู้ซื้อ ผู้ขาย ก็จะเข้าทำสัญญาต่อกัน จึงจะครบหน้าที่ของการเป็นนายหน้า ดังนั้น เมื่อ ก. ฟ้อง ค. เพื่อเรียกค่านายหน้า ศาลจะสั่งว่า ค. ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าเพราะไม่มีการมอบหมายจาก ค. แต่ ก. ก็ต่อสู้ว่า แม้จะไม่ได้มอบหมายตามมาตรา 845 ก็น่าจะเป็นการมอบหมายโดยปริยายตามมาตรา 846 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า          แม้จำเป็นการกระทำโดยปริยายตามมาตรา 846 ก็ต้องมีการมอบหมายเช่นกัน ดังนั้น กรณีนี้ ก. เป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียวตามฎีกาที่ 705/2505 ค. ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า

WordPress Ads
error: Content is protected !!