การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ป้าจ้อยมีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเงียบสงบ ด้านข้างที่ดินเป็นป่าสงวนซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทําให้บ้านของป้าจ้อยอากาศดี ต่อมานายสมิงสรได้บุกรุกเข้าไปยังป่าสงวนและเปิดตลาดให้คน มาเช่าแผงขายของจึงมีคนเข้ามาในที่ดินบริเวณนั้นเป็นจํานวนมาก ป้าจ้อยเห็นว่านายสมิงสรไม่มีสิทธิ ทําประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจึงฟ้องขับไล่ให้นายสมิงสรออกไปจากที่ดิน กรณีเช่นนี้ป้าจ้อยมีอํานาจ ฟ้องคดีแพ่งหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อ ศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ป้าจ้อยมีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเงียบสงบ และด้านข้างที่ดินเป็นป่าสงวน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เมื่อที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นป้าจ้อยไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ ในที่ดินอยู่แล้ว การที่นายสมิงสรได้บุกรุกเข้าไปยังป่าสงวนเพื่อทําประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการทําให้ สิทธิของป้าจ้อยถูกกระทบกระเทือนแต่อย่างใด สิทธิของป้าจ้อยจึงไม่ได้ถูกโต้แย้งจากการกระทําของนายสมิงสร ดังนั้น ป้าจ้อยจึงไม่มีอํานาจฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อขับไล่ให้นายสมิงสรออกไปจากที่ดินดังกล่าว เพราะไม่ถือว่า ป้าจ้อยถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แต่อย่างใด

สรุป

ป้าจ้อยไม่มีอํานาจฟ้องคดีแพ่งเพื่อขับไล่ให้นายสมิงสรออกไปจากที่ดิน

 

ข้อ 2. นายปฐมชาวจังหวัดนครปฐมต้องการได้ที่ดินในจังหวัดลําปางจึงติดต่อไปยังนายศรแดงนายหน้าขายที่ดินให้หาที่ดินให้ โดยมีการทําสัญญานายหน้ากันที่จังหวัดพิจิตรว่าหากนายศรแดงหาที่ดินให้ได้ จะให้เงินนายศรแดง 20,000 บาท นายศรแดงจึงเดินทางไปยังจังหวัดลําปางพบนายศิริชัยต้องการ ขายที่ดินจึงได้ดําเนินการให้นายปฐมและนายศิริชัยทําสัญญาซื้อขายที่ดินกันเรียบร้อยมีการโอน ที่ดินกันแล้ว ณ สํานักงานที่ดินจังหวัดลําปาง แต่นายปฐมไม่จ่ายค่านายหน้าให้กับนายศรแดง ตามที่ตกลงกันไว้ เช่นนี้หากนายศรแดงยื่นฟ้องนายปฐมที่จังหวัดลําปางเพื่อให้นายปฐมชําระ ค่านายหน้าให้ตนจะสามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ์ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปฐมชาวจังหวัดนครปฐมต้องการได้ที่ดินในจังหวัดลําปาง จึงได้ตกลงทําสัญญาให้นายศรแดงเป็นนายหน้าหาที่ดินให้ โดยมีการทําสัญญานายหน้ากันที่จังหวัดพิจิตร และเมื่อนายศรแดงได้กระทําการเป็นนายหน้าสําเร็จแล้ว กล่าวคือได้ดําเนินการให้นายปฐมและนายศิริชัยทําสัญญา ซื้อขายที่ดินกันเรียบร้อยและมีการโอนที่ดินกันแล้ว ณ สํานักงานที่ดินจังหวัดลําปาง แต่นายปฐมไม่จ่ายค่านายหน้า ให้กับนายศรแดงตามที่ตกลงกันไว้นั้น การที่นายศรแดงจะยื่นฟ้องนายปฐมที่จังหวัดลําปางเพื่อให้นายปฐมชําระ ค่านายหน้าให้ตน เมื่อการฟ้องเรียกค่านายหน้าขายที่ดินมิใช่เป็นคดีที่มีคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นคดีที่โจทก์มิได้มุ่งหมายจะบังคับเอากับที่ดิน จึงถือเป็นการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ดังนั้น นายศรแดง จะยื่นฟ้องนายปฐมต่อศาลจังหวัดลําปางตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ไม่ได้ เพราะศาลจังหวัดลําปางไม่มีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนี้ นายศรแดงจะต้องยื่นฟ้องนายปฐมต่อศาลจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นศาลที่นายปฐมมีภูมิลําเนา อยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นคือศาลจังหวัดพิจิตร เพราะมูลคดีในสัญญานายหน้านั้น คือจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้มีการทําสัญญานายหน้ากันตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

สรุป

นายศรแดงจะยื่นฟ้องนายปฐมที่จังหวัดลําปางเพื่อให้นายปฐมชําระค่านายหน้าให้ตนไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องจําเลยให้รับรองบุตร และให้จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรปีละ 1 แสนบาท เป็นจํานวน 10 ปี รวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ภายหลังจากที่ศาลมีการสืบพยานไปบ้างแล้ว โจทก์มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง โดยขอแก้ไขจํานวนเงินที่เขียนว่า “จากปีละ 1 แสนบาท” เป็น “ปีละ 1 ล้านบาท” ในส่วนที่เหลือ ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 179 “โจทก์หรือจําเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ใน คําฟ้องหรือคําให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้

(1) เพิ่ม หรือสด จํานวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ

(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคําฟ้อง เพิ่มเติม หรือเสนอคําฟ้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษาหรือ คําสั่ง หรือ

(3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคําฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคําฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คําฟ้องเดิมและคําฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการ พิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”

มาตรา 180 “การแก้ไขคําฟ้องหรือคําให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทําเป็นคําร้อง ยืนต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุ อันสมควรที่ไม่อาจยื่นคําร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยให้รับรองบุตรและให้จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรปีละ 1 แสนบาท เป็นจํานวน 10 ปี รวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ภายหลังจากที่ศาลมีการสืบพยานไปบ้างแล้ว โจทก์มายื่นคําร้องขอแก้ไข เพิ่มเติมคําฟ้องโดยขอแก้ไขจํานวนเงินที่เขียนว่า “จากปีละ 1 แสนบาท” เป็น “ปีละ 1 ล้านบาท” ในส่วนที่เหลือ ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ในคดีนี้โจทก์มีเจตนาที่จะ ฟ้องให้จําเลยรับผิดในจํานวนเงิน 10 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่โจทก์มีการพิมพ์ผิดพลาดจากปีละ 1 ล้านบาท เป็นปีละ 1 แสนบาท เพราะฉะนั้นการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องให้ตรงตามความเป็นจริงดังเจตนาที่โจทก์ต้องการฟ้อง จึงเป็นการแก้ไขฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ และเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 วรรคสอง (2) ดังนั้น โจทก์จึงสามารถแก้ไขได้

และแม้โจทก์จะขอแก้ไขภายหลังวันชี้สองสถานก็ตาม แต่เมื่อเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด หรือผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ดังนั้น โจทก์จึงสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องในเรื่องนี้ได้

สรุป

โจทก์สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องในกรณีนี้ได้

 

ข้อ 4. นายพนมยื่นฟ้องบังคับจํานองจากนายเกษตร เนื่องจากนายเกษตรผิดนัดไม่ชําระเงินกู้ ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้นายพนมบังคับจํานอง แต่นายพนมไม่ได้ดําเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ทําให้นายพนม สิ้นสิทธิในการบังคับคดีในคดีนี้ไป ภายหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาบังคับคดีแล้ว นายเกษตรได้ไป ยื่นฟ้องนายพนมเป็นคดีใหม่ว่า นายพนมไม่มีสิทธิในการบังคับจํานองที่ดินของนายเกษตรแล้ว เพราะสิ้นระยะเวลาในการบังคับคดี ขอให้นายพนมปลดจํานองให้แก่นายเกษตรด้วย ในกรณีเช่นนี้ คําฟ้องของนายเกษตรจะเป็นการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้อง กันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และ ผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 คดีนั้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งแล้ว

2 คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด

3 ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

4 ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

5 ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา

2 คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3 คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4 ห้ามโจทก์ฟ้อง

5 ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายพนมยื่นฟ้องบังคับจํานองจากนายเกษตรและศาลได้พิพากษาถึงที่สุด ให้นายพนมบังคับจํานอง แต่นายพนมไม่ได้ดําเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ทําให้นายพนมสิ้นสิทธิในการบังคับคดี ในคดีนี้ไป และต่อมาภายหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาบังคับคดีแล้ว นายเกษตรได้ไปยื่นฟ้องนายพนมเป็นคดีใหม่ว่า นายพนมไม่มีสิทธิในการบังคับจํานองที่ดินของนายเกษตรแล้วเพราะสิ้นระยะเวลาในการบังคับคดี ขอให้นายพนม ปลดจํานองให้แก่นายเกษตรด้วยนั้น คําฟ้องของนายเกษตรย่อมไม่เป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) และไม่เป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 ทั้งนี้เพราะคดีเดิมที่นายพนมฟ้องนายเกษตรนั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยคือนายพนมสามารถบังคับจํานองนายเกษตรได้หรือไม่ แต่ในคดีหลังที่นายเกษตรฟ้อง นายพนมนั้นมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยคือนายเกษตรสามารถปลดจํานองได้หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับที่ ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว อีกทั้งเหตุที่นายเกษตรนํามาฟ้องนายพนมในคดีหลังนั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่ คดีเดิมสิ้นสุดแล้ว ไม่ได้อาศัยเหตุเดียวกันฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น แม้คดีเดิมและคดีหลังจะเป็นคู่ความเดียวกันก็ตาม การฟ้องคดีใหม่ก็ไม่เป็นการฟ้องซ้อน หรือฟ้องซ้ำ

สรุป

คําฟ้องของนายเกษตรไม่เป็นการฟ้องซ้อน หรือฟ้องซ้ำแต่อย่างใด

 

Advertisement