การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551
ข้อสอบกระบวนวิชา  
LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อคำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

Advertisement

ข้อ  1  บุญมายืมรถจักรยานยนต์ของบุญมีเพื่อนบ้านเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดหนึ่งปี  เมื่อบุญมารับรถจักรยานยนต์แล้วก็นำไปใช้งานปกติ  แต่ตอนเย็นบุญมานำรถจักรยานยนต์ที่ยืมมาไปรับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  ขณะที่รับผู้โดยสารอยู่นั้นถูกรถยนต์ที่โชคดีขับมาชน ทำให้รถจักรยานยนต์ที่ยืมมาเสียหายโดยมิใช่ความผิดของบุญมาแต่อย่างใด  ดังนี้ถ้าบุญมามีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์  บุญมีจะเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนดหนึ่งปีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมระหว่างบุญมาและบุญมีเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640  บุญมาผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถจักรยานยนต์ตามที่ตกลงกับบุญมีไว้  กล่าวคือ  เพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนด  1  ปี  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในตอนเย็นบุญมาผู้ยืมนำรถจักรยานยนต์ที่ยืมนั้นไปใช้รับคนโดยสารหารายได้พิเศษ  ซึ่งมิได้มีการตกลงกับบุญมีผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปใช้สอยนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น  ผู้ยืมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืมก็ตาม  ทั้งนี้เพราะมาตรา  643  กำหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดในกรณีใดๆรวมเหตุสุดวิสัยหากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม

นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของตน  ตามมาตรา  643  กฎหมายให้สิทธิผู้ให้ยืมบอกเลิกสัญญา  และเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมก่อนครบกำหนดได้  ตามมาตรา  645  ดังนั้นบุญมีสามารถเรียกให้บุญมาคืนรถจักรยานยนต์ก่อนครบกำหนด  1  ปีได้

สรุป  บุญมีผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกรถจักรยานยนต์คืนก่อนครบกำหนด  1  ปีได้

 

ข้อ  2  นายอ่ำขอยืมเงินของนางอินเป็นเงิน  10,000  บาท  โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือ  เพื่อนำไปจ่ายค่าเหล้า  ต่อมานายอ่ำได้ขอนางอินชำระหนี้เป็นทองคำมูลค่า  5,000  บาท  และเงินสด  5,000  บาท  ดังนี้หากนายอ่ำได้ชำระหนี้ดังกล่าวโดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใดๆ  นายอ่ำต้องชำระหนี้ใหม่หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  656  วรรคสอง  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้  หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ  สถานที่ส่งมอบ

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง  ตามมาตรา  650

การกู้ยืมเงินรายนี้มีจำนวน  10,000  บาท  เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ย่อมเป็นการกู้ยืมเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย  หลักฐานเป็นหนังสือนั้นใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

การกู้ยืมเงินแล้วนำไปจ่ายค่าเหล้าไม่ถือว่ามีวัตถุประสงค์ของสัญญากู้ยืมเงินเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ตามมาตรา  150  เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อชำระหนี้ที่มีผลบังคับตามกฎหมายได้

สำหรับการใช้เงินหรือการชำระหนี้  ตามนัยมาตรา  653  วรรคสอง  การใช้เงินต้นเท่านั้น  ไม่รวมถึงดอกเบี้ย  กล่าวคือ  เป็นการนำเงินสดที่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายมาชำระหนี้เงินต้นเท่านั้น  หากจะนำสืบการใช้เงินดังกล่าว  กฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว  หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

ดังนั้นการที่นายอ่ำชำระหนี้เป็นทองคำมูลค่า  5,000  บาท  ซึ่งเป็นราคาในเวลาและ  ณ  สถานที่ส่งมอง  และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม  หนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตามมาตรา  656  วรรคสอง  แม้การชำระหนี้ด้วยทองคำจะไม่มีหลักฐานใดๆ  นายอ่ำก็ไม่ต้องชำระหนี้ในส่วนนี้ใหม่แต่อย่างใด  สามารถนำพยานบุคคลมาสืบถึงการใช้เงินได้  กรณีไม่ต้องตามบทบัญญัติมาตรา  653  วรรคสอง

ส่วนการชำระหนี้ด้วยเงินสด  5,000  บาท  เมื่อไม่มีหลักฐานการคืนเงินใดๆ  ตามมาตรา  653  วรรคสอง  นายอ่ำจึงต้องชำระหนี้ในส่วนนี้ใหม่อีกครั้งเป็นเงิน  5,000  บาท

สรุป  นายอ่ำจะต้องชำระหนี้ใหม่เป็นเงิน  5,000  บาท

 

ข้อ  3  ผู้รับฝากทรัพย์มีอำนาจนำทรัพย์ที่รับฝากออกใช้สอยได้หรือไม่  จงอธิบาย  พร้อมยกตัวอย่างและหลักกฎหมายประกอบคำอธิบายตามลำดับดังนี้

ก.      ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นทรัพย์ทั่วๆไป  เช่น  รถยนต์  1  คัน

ข.      ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน  เช่น  เงินจำนวน  10,000  บาท 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  660  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  672  ถ้าฝากเงิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก  แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง  ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

อธิบาย

กรณีตามข้อ  ก.  ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นทรัพย์ทั่วๆไป  เช่น  รถยนต์  1  คัน  ตามมาตรา  660  วางหลักเกณฑ์ของการใช้สอยทรัพย์ที่รับฝากว่า  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  ห้ามมิให้ผู้รับฝากนำทรัพย์ออกใช้สอย  ดังนั้นผู้รับฝากจะไม่มีสิทธินำรถยนต์ที่ฝากมาใช้สอย  เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

กรณีตามข้อ  ข.  ถ้าทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน  เช่น  เงินจำนวน  10,000  บาท  ตามมาตรา  672  กำหนดหลักเกณฑ์ของการฝากเงินว่า  ผู้รับฝากนำเงินที่รับฝากออกใช้สอยได้  แต่ต้องคืนให้ครอบจำนวน  ดังนั้นการรับฝากเงิน  ผู้รับฝากจึงมีสิทธินำเงินไปใช้สอยได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต

Advertisement