LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิขา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงกู้เงินเขียว 500,000 บาท มีหลักฐานถูกต้อง แดงได้นำโฉนดที่ดินของตนราคา 300,000 บาท มามอบไว้กับเขียวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และได้ขอให้เหลืองนำที่ดินของเหลืองมาจำนองกับเขียวโดยเขียวและเหลืองได้ไปจดทะเบียนกันถูกต้อง

ขณะเดียวกันม่วงได้ตกลงกับเขียวยอมเป็น ผู้ค้ำประกันในหนี้ที่แดงกู้เงินเขียว โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ลงลายมือชื่อเพียงม่วง คนเดียว

อยากทราบว่า หากแดงชำระหนี้ไม่ได้ ม่วงจะต่อสู้ว่าตนมิได้ทำหลักฐานที่มีเขียวลงลายมือชื่อด้วยสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ บังคับไม่ได้ และหากจะบังคับก็ขอให้บังคับจากที่ดินทั้ง 2 แปลงก่อน ข้ออ้างของม่วงรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ 

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

มาตรา 709 บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้

มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานในการ ฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686 และในส่วนของผู้ค้ำประกันอาจจะบ่ายเบี่ยงขอให้เจ้าหนี้ บังคับเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ตามมาตรา 690

คือ เมื่อเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกัน และการประกันนั้น ได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ในกรณีทรัพย์ที่ยึดถือเป็นประกันไว้เป็นที่ดิน (กรณีจำนอง) ก็จะต้องมีการ ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงตกลงกับเขียวยอมเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ที่แดงกู้เงินเขียว โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเพียงม่วงคนเดียวนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเพียงคนเดียวก็ สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น หากปรากฏว่าแดงชำระหนี้ไม่ได้

เขียวเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียก ให้ม่วงผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 ข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่าตนมิได้ทำหลักฐานที่มีเขียวลงลายมือชื่อด้วย สัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้นั้น ข้ออ้างของม่วงกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

และข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่า หากเขียวจะบังคับก็ขอให้บังคับจากที่ดินทั้ง 2 แปลงก่อนนั้น ข้ออ้างของม่วงกรณีนี้ก็รับฟังไม่ได้เข่นกัน เพราะเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงแรกที่แดงได้นำโฉนดที่ดิน มามอบไว้กับเขียวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้นั้น ถึงแม้จะเป็นทรัพย์สินของแดงลูกหนี้ แต่เมื่อปรากฏว่า แดงเพียงแต่นำโฉนดที่ดินมามอบไว้ มิได้มีการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามกฎหมาย (มาตรา 714)

สัญญาจำนองจึงไม่เกิดขึ้น และถือว่าเขียวเจ้าหนี้มิได้มีทรัพย์ของแดงลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันแต่อย่างใด ม่วงผู้ค้ำประกันจึงไม่สามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวบังคับเอาจากที่ดินแปลงนี้ก่อนได้ตามมาตรา 690

ส่วนที่ดินแปลงที่สองที่เหลืองนำมาจำนองไว้กับเขียว เพื่อเป็นประกับการชำระหนี้ระหว่างแดง กับเขียวนั้น ถึงแม้จะมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย และสัญญาจำนองเกิดขึ้นแล้ว ตามมาตรา 702709 และ 714

แต่เมื่อปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ของแดงลูกหนี้ ดังนั้นม่วงผู้ค้ำประกัน จึงไม่สามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวบังคับเอาจากที่ดินแปลงนี้ก่อนได้เช่นกัน เพราะการที่ผู้ค้ำประกันจะบ่ายเบี่ยง ให้เจ้าหนี้บังคับเอากับทรัพย์ที่เป็นประกันก่อนนั้น จะต้องปรากฏว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของลูกหนี้เท่านั้น ตามมาตรา 690

สรุป ข้ออ้างของม่วงทั้งสองกรณีรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2. กรุงเทพกู้เงินต่างจังหวัด 20 ล้านบาท มีหลักฐานถูกต้อง ขณะเดียวกันได้นำที่ดินในจังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 200 ไร่ ราคา 20 ล้านบาท มาจดทะเบียนจำนอง

หลังจากนั้น กรุงเทพต้องการเงินไปลงทุนอีก จึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้อีก 10 ล้านบาท กับนายตำบล ปรากฏว่าหนี้ของตำบลถึงกำหนดชำระก่อน อยากทราบว่าในกรณีการจำนองในครั้งที่ 2 กระทำ ได้หรือไม่ และนายตำบลจะบังคับการชำระหนี้ให้ครบจำนวนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลัก กฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 712 “แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

มาตรา 714 “อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

มาตรา 730 “เมื่อทรัพย์สินอันหนึ่งอันเดียวได้จำนองแก่ผู้รับจำนองหลายคนด้วยกัน ท่าน ให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันและเวลาจดทะเบียน และผู้รับจำนองคนก่อนจักได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

มาตรา 731 “อันผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่

มาตรา 732 “ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง 

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนองนั้นตามมาตรา 712 ได้บัญญัติไว้ว่า แม้เจ้าของทรัพย์สินจะได้นำทรัพย์สิน ไปจำนองไว้กับบุคคลหนึ่งแล้ว เจ้าของทรัพย์สินก็มีสิทธินำทรัพย์สินนั้นไปจำนองกับบุคคลอื่นอีกได้ แม้จะมีข้อสัญญาห้ามไม่ให้นำทรัพย์สินไปจำนองอีกก็ตาม

แต่การบังคับจำนองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 730 – 732 คือ ผู้รับจำนองคนก่อนย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง โดยถือเอาวันและเวลา จดทะเบียนจำนองก่อนหลังเป็นเกณฑ์ และผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับจำนองให้เสียหายแก่ผู้รับจำนอง คนก่อนไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กรุงเทพกู้เงินต่างจังหวัด และได้นำที่ดินในจังหวัดภูเก็ตมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้นั้น สัญญาจำนองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 และการที่กรุงเทพต้องการเงินไปลงทุนอีก

จึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้กับนายตำบลอีกนั้น กรุงเทพก็สามารถกระทำได้ตามมาตรา 712 และสัญญาจำนองมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 702 และมาตรา 714

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นกรณีที่มีผู้รับจำนองหลายราย (จำนองซ้อน) ตามมาตรา 712 การบังคับจำนองจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 730 – 732 คือ ต่างจังหวัดผู้รับจำนองรายแรกมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ก่อนนายตำบลผู้รับจำนองรายหลัง และนายตำบลจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ต่างจังหวัดไม่ได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนี้ของนายตำบลถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ของต่างจังหวัด

ดังนี้ นายตำบลย่อมไม่สามารถบังคับการชำระหนี้เอาจากที่ดินของกรุงเทพที่นำมาจำนองไว้กับตนได้ เพราะจะทำให้ต่างจังหวัดเสียหาย เนื่องจากที่ดินของกรุงเทพมีราคา 20 ล้านบาท และหนี้ระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัดก็มีจำนวน 20 ล้านบาท เข่นเดียวกัน

สรุป กรณีการจำนองในครั้งที่ 2 ของกรุงเทพสามารถกระทำได้ และนายตำบลจะบังคับ ชำระหนี้ให้ครบจำนวนไม่ได้ เพราะจะทำให้ต่างจังหวัดผู้รับจำนองคนแรกเสียหาย 

 

ข้อ 3. มะลิรับสร้อยคอทองคำเป็นการจำนำเงินกู้ที่ดาวเรืองกู้เงินไปจากตน 200,000 บาท โดยมิได้มีหลักฐานแต่อย่างใด เมื่อมะลิได้รับสร้อยคอมาแล้วรู้สึกชอบ อยากได้เป็นเจ้าของ จึงขอทำสัญญาเป็นหนังสือกับดาวเรืองว่า หากดาวเรืองชำระหนี้เงินกู้ 200,000 บาท ไม่ได้ ขอให้สร้อยคอตกเป็นของมะลิทันที อยากทราบว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการขำระหนี้

มาตรา 756 “การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใด อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนำ หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่น นอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้น ท่านว่าไม่สมบูรณ์

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

และถ้ามีการตกลงกันเสียก่อนเวลาที่หนี้จะถึงกำหนดชำระว่า ถ้าลูกหนี้หรือผู้จำนำไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากตามบทบัญญัติ ทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 756 แต่ถ้าตกลงกันหลังจากหนี้ ถึงกำหนดชำระแล้วข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดาวเรืองนำสร้อยคอทองคำมาวางเป็นประกันการชำระหนี้ให้กับมะลินั้น เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว จึงถือว่าเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา 747 และมีผลสมบูรณ์ แม้จะมิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

ดังนั้น การที่มะลิขอทำสัญญาเป็นหนังสือกับดาวเรืองว่า หากดาวเรืองชำระหนี้เงินกู้ 200,000 บาท ไม่ได้ ขอให้สร้อยคอตกเป็นของมะลิทันที จึงถือเป็นกรณีที่ผู้รับจำนำกับผู้จำนำตกลงกันไว้ เสียก่อนเวลาที่หนี้จะถึงกำหนดชำระว่า ถ้าผู้จำนำไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ

ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 756 แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะทำเป็นหนังสือก็ตาม

สรุป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 756

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายกรุงเทพกู้เงินนายต่างจังหวัด 5 ล้านบาท พร้อมหลักฐานการกู้ถูกต้อง ขณะเดียวกันนายตำบล ได้นำที่แปลงหนึ่งราคา 3 ล้านบาท ซึ่งเช่าซื้อจากนายอำเภอ แต่ยังชำระค่าเข่างวดไม่ครบ มาเพื่อจะจำนองเป็นหลักประกันในหนี้รายนี้

นอกจากนั้นนายเทศบาลก็ได้เสนอจะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้โดยตกลงกับนายกรุงเทพว่าหากนายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือแต่ลงลายมือชื่อนายเทศบาลเท่านั้น อยากทราบว่า

ก. นายตำบลจะนำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ข. สัญญาค้ำประกันของนายเทศบาลถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกันหรือไม่เพราะเหตุใด

จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกับนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 681 วรรคแรก อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 705 “การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ 

วินิจฉัย

ก. ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 705 กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า การที่ผู้จำนองจะนำทรัพย์สินไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้นั้น บุคคลผู้ที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจดทะเบียนจำนอง ได้นั้น จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย บุคคลใดถ้าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินนั้นในขณะจำนอง จะจำนองทรัพย์สินนั้นหาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตำบลได้เช่าซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายอำเภอแต่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบทุกงวด ดังนี้ถือว่านายตำบลยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ที่ดินแปลงนั้นยังคงเป็นของนายอำเภอ เมื่อนายตำบลยังมิได้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น นายตำบลจึงไม่มิสิทธินำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนอง เพื่อเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้

ข. ตามมาตรา 680 วรรคแรก การค้ำประกันนั้น จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่า หากลูกหนี้ไม่ทำการชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้หนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายกรุงเทพกับนายต่างจังหวัดจะเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ และสามารถทำสัญญาค้ำประกันได้ตามมาตรา 681 วรรคแรก แต่การที่นายเทศบาลได้ตกลงกับนายกรุงเทพว่าหาก นายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชำระหนี้แทนนั้น เป็นการตกลงกันระหว่างนายเทศบาลบุคคลภายนอก กับนายกรุงเทพซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 680 วรรคแรก ดังนั้นสัญญาค้ำประกัน ของนายเทศบาลจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกัน

สรุป ก. นายตำบลจะนำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ไม่ได้

ข. สัญญาค้ำประกันของนายเทศบาลไม่ถูกต้องตามกฎหมายลักษณะค้ำประกัน

 

ข้อ 2. นายเรืองกู้เงินนายสว่าง 5 ล้านบาท โดยมีหลักฐานถูกต้องและได้นำที่ดิน 100 ตารางวา ของนายเรือง ซึ่งซื้อพร้อมกับนายมืดโดยได้มีการชำระหนี้กันคนละ 50 ตารางวา มาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันในหนี้เงินกู้รายนี้

อยากทราบว่า นายเรืองจะทำการจำนองได้หรือไม่ และมีหลักกฎหมาย ในเรื่องนี้อย่างไร อธิบายให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 705 “การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ 

มาตรา 706 “บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น

มาตรา 714 “อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจำนองได้นั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง หรือเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น (มาตรา 705) แต่อย่างไรก็ตามหากบุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่อยู่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด เข่น เป็นเจ้าของที่ดินแต่ที่ดินนั้นมีภาระจำยอม หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น บุคคลนั้นจะจำนองทรัพย์สินนั้นได้ก็แต่ภายใต้บังคับเงื่อนไขเช่นนั้นด้วย (มาตรา 706)

กรณีตามอุทาหรณ์ นายเรืองจะทำการจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายเรือง ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมกับนายมืดโดยได้มีการชำระหนี้กันคนละ 50 ตารางวา นายเรืองจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว และสามารถนำที่ดินแปลงนั้นมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับนายสว่างได้ตาม มาตรา 705 โดยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 และเมื่อ ปรากฏว่า นายเรืองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับนายมืด โดยมีกรรมสิทธิ์คนละ 50 ตารางวา ดังนั้น เมื่อนายเรืองได้จำนองทีดินแปลงดังกล่าว การจำนองที่ดินก็จะมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายเรือง 50 ตารางวา เท่านั้นตามมาตรา 706

สรุป นายเรืองสามารถที่จะทำการจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้ แต่การจำนองจะมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายเรือง 50 ตารางวาเท่านั้น

 

ข้อ 3. นางออยกู้เงินนางชิง 2 ล้านบาท พร้อมกับทำหลักฐานถูกต้อง แต่นางชิงขอให้นางออยหาหลักประกันมาให้ด้วย นางออยจึงนำแหวนเพชร ราคา 1.5 ล้าน มามอบให้เป็นหลักประกัน 

แต่มิได้มีการทำหลักฐาน ใด ๆ เมื่อหนี้ถึงกำหนดนางออยชำระหนี้ไม่ได้ นางชิงจึงจดหมายบอกให้ชำระหนี้ในกำหนดเวลา ในคำบอกกล่าว มิฉะนั้นจะทำการขายทอดตลาด

นางออยอ้างว่า บางชิงไม่มีสิทธิบังคับขายทอดตลาด เพราะเป็นการส่งมอบแหวนให้โดยไม่มีการทำหลักฐาน จึงยังไม่ใช่สัญญาจำนำ อยากทราบว่า ข้ออ้างของนางออยรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย’’

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางออยกู้เงินนางชิง และได้นำแหวนเพชรมามอบให้แก่นางชิงไว้เป็นหลักประกันนั้น แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานใดๆ ไว้ แต่ตามกฎหมายถือว่าเมื่อได้มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดสัญญาจำนำถูกต้องและมีผลบังคับกันได้ตามมาตรา 747

และเมื่อหนี้ถึงกำหนดนางออยลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ นางชิงผู้รับจำนำย่อมมีสิทธิบังคับจำนำได้โดยการบอกกล่าวเป็นหนังสือ ไปยังนางออยลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำสามารถนำทรัพย์สิน ที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764 ดังนั้น ข้ออ้างของนางออยที่ว่านางชิงไม่มีสิทธิบังคับขายทอดตลาดนั้น จึงรับฟ้งไม่ได้

สรุป ข้ออ้างของนางออยรับฟังไม่ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น 

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิขา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท เหลืองได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนึ่งแปลง ต่อมาน้ำเงินเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน และหลังจากนั้นแดงได้จำนองที่ดินของตนหนึ่งแปลงเป็นประกันหนี้รายนี้ ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำปลดจำนองให้เหลืองและแดง โดยทั้งสองคนได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว

ครั้นหนี้ถึงกำหนดชำระ แดงผิดนัด ดำจึงเรียกให้น้ำเงินชำระหนี้ ในขณะนั้นที่ดินของเหลืองและแดงราคาแปลงละห้าแลนบาท น้ำเงินได้ทราบเรื่องดังกล่าว จึงปฎิเสธไม่ชำระหนี้ให้ โดยอ้างว่า ตนหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการกระทำของดำ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของน้ำเงินฟังขึ้นหรือไม่ และยังต้องรับผิดชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิจำนอง หรือจำนำ หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหาย เพราะการกระทำของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดำ 1,000,000 บาท เหลืองและแดงได้นำที่ดินของตน ซึ่งมีราคาแปลงละ 500,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้โดยมีน้ำเงินเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาก่อนหนี้ถึง กำหนดชำระ ดำได้ปลดจำนองที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่เหลืองและแดงโดยทั้งสองคนได้จดทะเบียนปลดจำนองแล้ว

ดังนี้การกระทำของดำเจ้าหนี้เป็นเหตุให้น้ำเงินผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินของเหลืองและแดงลูกหนี้ และจะทำให้น้ำเงินผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินของเหลืองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ เมื่อดำ เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แก่เหลือง น้ำเงินผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตน ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะกรณีที่น้ำเงินจะต่อสู้กับเจ้าหนี้ ตามมาตรา 697 ได้นั้นที่ดินที่นำมาจำนองไว้ต้องเป็นที่ดินของลูกหนี้เท่านั้น มิใช่ที่ดินของบุคคลอื่น

เพราะการที่ผู้ค้ำประกันจะรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามมาตรา 693 วรรคสองนั้นต้องเป็นสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ หรือเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนั้น น้ำเงินยังคงต้องรับผิดในการขำระหนี้ให้แก่ดำ จะอ้างว่าตนหลุดพ้นจาก ความรับผิดกรณีนี้ไม่ได้

ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ภายหลังการทำสัญญา ค้ำประกันแล้ว ดังนั้นการที่ดำเจ้าหนี้ได้ปลดจำนองที่ดินแปลงนี้ให้แดง น้ำเงินผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตนไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไนการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 697 ดังนั้น น้ำเงินผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ไห้แก่ดำ

สรุป ข้ออ้างของน้ำเงินฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี น้ำเงินยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ให้แก่ดำ เป็นจำนวนเงิน 1,000,000บาท

 

ข้อ 2. นายอูกู้เงินนางอี เป็นเงินจำนวน 500,000 บาทโดยไม่ได้ทำเป็นหนังลือ โดยวันที่ 1 มกราคม 2555 มีนายหมู ได้นำนาของตนพร้อมบ้านพ่อที่สร้างอยู่บนที่ดังกล่าวราคา 300,000 บาทมาจำนอง

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกันมีนายป่าได้นำสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนราคารวมกัน 200,000 บาทมาจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้เช่นกัน

ดังนี้ หากนายป่าเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวมา ปรึกษาท่านว่า เขามีสิทธิในการนำทรัพย์อย่างใดไปขายโดยปลอดจำนองได้บ้างหรือไม่ จงให้คำปรึกษา นายป่าตามที่ได้เรียนมา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตรา ไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 710 วรรคแรก ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกัน การชำระหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้

มาตรา 716 “จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา 718 “จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้

มาตรา 720 “จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดิบหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอูกู้เงินนางอีเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทแม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่การที่นายหมูและนายป่าได้นำนาและสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนมาจำนองเพื่อประกันหนี้รายนี้ย่อมสามารถทำได้ตามมาตรา 702709 และมาตรา 710 วรรคแรก

และเมื่อมีการจำนองถูกต้องตามกฎหมายแล้วตามมาตรา 716 ได้บัญญัติว่า จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง กล่าวคือเมื่อมีการนำทรัพย์หลายสิ่งมาจำนองเป็นประกันหนี้ ไม่ว่าทรัพย์เหล่านั้นจะเป็นของบุคคลคนเดียวหรือของบุคคลหลายคนก็ตาม

ทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องเป็นประกัน การชำระหนี้อยู่จนกว่าลูกหนี้จะได้ชำระหนี้เสร็จสิ้น แม้ต่อมาภายหลังลูกหนี้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน และทรัพย์สินที่จำนองบางสิ่งก็เป็นการเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งจำนวน ลูกหนี้ก็ยังคงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอถอนทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไปให้หลุดพ้นจากการจำนองได้ และนอกจากนั้นมาตรา 718 ยังได้บัญญัติว่าจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง

เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 720

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายหมูได้นำนาของตนพร้อมบ้านพ่อที่สร้างอยู่บน ที่ดินดังกล่าวมาจำนอง ดังนี้จำนองย่อมไม่ครอบไปถึงบ้านพ่อที่สร้างอยู่บนที่ดินที่จำนองตามมาตรา 720 แต่การที่นายป่านำสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนมาจำนองนั้น

จำนองย่อมครอบไปถึงสวนเงาะและเรือนไทยทั้งหมด ตามมาตรา 716 และมาตรา 718

และถ้าตราบใดที่ลูกหนี้ยังชำระหนี้ไม่เสร็จสิ้น ผู้จำนองไมมีสิทธินำทรัพย์สินที่จำนองไปขาย โดยปลอดจากจำนองได้เลย เพราะถ้ามีการโอนทรัพย์สินที่จำนอง ทรัพย์สินนั้นย่อมมีจำนองติดไปด้วยเสมอ ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ นายป่าซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนองคือสวนเงาะและเรือนไทย

จะนำทรัพย์สินที่จำนองอย่างใดอย่างหนึ่งไปขายโดยปลอดจำนองไม่ได้เลย

สรุป หากนายป่ามาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายป่าตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. ก. เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์จาก ข. ในขณะที่ ก. ยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่หมด ก. ได้นำเครื่องรับโทรทัศน์ดังกล่าวไปจำนำไว้กับ ค. อย่างหนึ่ง กับนำไปจำนำไว้กับโรงรับจำนำอีกอย่างหนึ่ง เป็นเงิน 5,000 บาท ทั้งนี้ ทั้ง ค. และโรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริต

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ข. มีสิทธิฟ้องเรียกเครื่องรับโทรทัศน์คืนได้หรือไม่ และจะต้องเสียค่าไถ่หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา 757 “บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ 13 นี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่สัญญาจำนำที่ทำกับผู้ตั้งโรงรับจำนำโดยอนุญาตรัฐบาลแต่เพียงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับว่าด้วยโรงจำนำ

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแท่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิ จะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

วินิจฉัย

กรณีจำนำไว้กับ ค.

ก. เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไปจำนำไว้กับ ค. กรรมสิทธิ์ในเครื่องรับโทรทัศน์ยังเป็นของ ข. อยู่ ก. ไมใช่เจ้าของที่แท้จริงจึงไม่มีสิทธิที่จะเอาเครื่องรับโทรทัศน์ ไปจำนำตามมาตรา 747 ดังนั้นในฐานะเจ้าของ ข. จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา 1336 ข. จึงฟ้อง เรียกเครื่องรับโทรทัศน์คืนจาก ค. ได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ

การที่ ก. เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไป จำนำไว้กับโรงรับจำนำฯ นั้น แม้ ก. จะไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์ที่นำมาจำนำ ตามมาตรา 747 แต่โรงรับจำนำ ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 และมาตรา 757 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ อีก

ทั้งตามปัญหา โรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริตโรงรับจำนำจึงไม่ต้องคืนทรัพย์แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะเสียค่าไถ่ถอน

ดังนี้ ข. จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา 1336 โดย ข. ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำ

สรุป ข.มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเครื่องรับโทรทัศน์ได้ตามมาตรา 1336โดย

1.             กรณีจำนำไว้กับ ค. นั้น ข. ไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

2.             กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ ข. ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำ

LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายฝนกู้เงินนายเมฆ 5 ล้านบาท มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องตามกฎหมาย นายเมฆขอให้นายฝน หาผู้มาค้ำประกัน นายฝนจึงขอให้นายฟ้าและนายดินช่วยเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งทั้งนายฟ้าและนายดิน ไต้ตกลงกับนายเมฆ

โดยนายฟ้าจะขอจำกัดจำนวนค้ำประกันเพียง 2 ล้านบาท ส่วนนายดินไม่จำกัด จำนวนการค้ำประกัน โดยทั้งคู่ได้มีการลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันมอบให้นายเมฆ แต่นายฝนมิได้ลงลายมือชื่อ

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายฝนชำระเงินไม่ได้ นายเมฆจึงเรียกให้นายฟ้าและนายดินชำระหนี้แทนตามสัญญา ปรากฏว่านายฟ้ายอมชำระเงิน 2 ล้านบาท ส่วนนายดินไม่ยอมชำระเนื่องจากอ้างว่า นายฝนมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน นายฝนได้อ้างว่าเมื่อมีผู้ค้ำประกันแล้วตนไม่ต้อง ชำระหนี้อีกต่อไป

อยากทราบว่า ข้ออ้างของนายฝนและนายดินรับฟ้งได้หรือไม และเงินส่วนที่เหลือนายเมฆจะเรียกจากใครได้บ้าง จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 683 “อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้น ย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย

มาตรา 685 “ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ ในส่วนที่เหลือนั้น

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานใน การฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฟ้าและนายดินได้ตกลงเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ที่นายฝนกู้เงิน นายเมฆ โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายฟ้าและนายดินนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง

เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฝนชำระหนี้ไม่ได้ นายเมฆเจ้าหนี้ ย่อมมีสิทธิเรียกให้นายฟ้าและนายดินผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 ข้ออ้างของนายดินที่อ้างว่านายฝน มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันจึงรับฟ้งไม่ได้

และเมื่อปรากฏว่านายฟ้าได้จำกัดความรับผิดเพียง 2 ล้านบาท เมื่อนายฟ้ายอมชำระเงิน 2 ล้านบาท ให้นายเมฆแล้ว นายฟ้าจึงไม่ต้องรับผิดใด ๆ ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก ส่วนนายดินนั้นเมื่อปรากฏว่านายดินไม่ได้จำกัดความรับผิด นายดินจึงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันต่าง ๆ ด้วยตามมาตรา 683

ส่วนกรณีของนายฝนลูกหนี้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไม่ครบตามมูลหนี้ หนี้เงินยังคงเหลืออยู่เท่าใดลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดตามมาตรา 685 ดังนั้น นายฝนจึงต้องรับผิดในหนี้เงินส่วนที่เหลือจำนวน 3 ล้านบาทให้แก่นายเมฆ

สรุป ข้ออ้างของนายฝนและนายดินรับฟ้งไม่ได้ และเงินส่วนที่เหลือนายเมฆจะเรียกร้องจากนายดินและนายฝนได้

 

ข้อ 2. นายเคียงขอยืมเงินนางเอียงจำนวน 100,000 บาท ในสัญญากำหนดว่าจะคืนหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา ต่อมา 1 เดือน นายค้ำได้เข้ามาทำสัญญาเอาที่ดินสวนทุเรียนของตนมาจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้รายนี้

โดยไม่ได้ขออนุญาตนายเคียงลูกหนี้ก่อน หลังจากที่นายค้ำทำสัญญาจำนองกับนางเอียงได้ 5 เดือน ทุเรียนออกลูกมาได้ราคาดีมาก นางเอียงอยากได้ทุเรียนมาขาย

จึงได้ส่งคำบอกกล่าวให้นายค้ำว่าตนจะบังคับจำนอง ขอให้นายค้ำมอบทุเรียนให้ตน ดังนี้ นายค้ำต้องมอบ ทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ ’’

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 716 “จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา 721 “จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนอง ได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายค้ำได้เข้ามาทำสัญญาเอาที่ดินสวนทุเรียนของตนมาจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ระหว่างนางเอียงและนายเคียงนั้น การจำนองดังกล่าว

ถึงแม้จะเป็นที่ดินของนายค้ำซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ และนายค้ำได้เข้ามาจำนองที่ดินของตนโดยไม่ได้ขออนุญาตนายเคียงลูกหนี้ก่อนก็ตาม การจำนองก็ย่อมกระทำได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 709 ข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองจึงมีผล ผูกพันตามกฎหมาย

สำหรับที่ดินสวนทุเรียนที่นายค้ำนำมาจำนองนั้น การจำนองย่อมครอบไปหมดทุกส่วน รวมทั้งลูกทุเรียนซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์จำนองด้วยตามมาตรา 716 แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะถือว่าการจำนอง ครอบไปถึงลูกทุเรียนซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์จำนองด้วยนั้น

จะต้องมีการส่งคำบอกกล่าวให้กับนายค้ำเจ้าของ สวนทุเรียนทราบก่อนว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับจำนองตามมาตรา 721

ตามข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่านายเคียงลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด นางเอียง เจ้าหนี้จึงไม่สามารถจะบอกกล่าวบังคับจำนองเพื่อบังคับเอาทุเรียนมาชำระหนี้ได้ เพราะการจะบอกกล่าวบังคับจำนองได้นั้น

จะต้องมีการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้เสียก่อน ดังนั้น เมื่อนางเอียงเจ้าหนี้ไม่สามารถที่จะบังคับเอาทุเรียนมาชำระหนี้ได้แล้ว นายค้ำจึงไม่ต้องส่งมอบทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้

สรุป นายค้ำไม่ต้องส่งมอบทุเรียนในสวนของตนให้กับเจ้าหนี้  

 

ข้อ 3. ก. ซื้อเชื่อเครื่องรับโทรทัศน์ 1 เครื่องไปจาก ข. แล้วนำไปจำนำ ค. ไว้ ทั้งนี้ ค. รับจำนำไว้โดยสุจริต ไม่ทราบว่า ก. ซื้อเชื่อมา ก. ผิดนัดชำระหนี้ราคาโทรทัศน์ ข. จึงฟ้อง ก. ให้ชำระหนี้

ศาลสั่งให้ ข. ชนะคดี ข. นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ ค. ผู้รับจำนำ ยื่นคำร้องว่า ข. ไม่มีสิทธิยึดของที่ ค. ได้รับจำนำไว้ได้

เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 758 ผู้รับจำนำ มิสิทธิที่จะยึดทรัพย์ที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ และ ค. ผู้รับจำนำยังไม่ได้รับชำระหนี้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของ ค. ฟ้งได้หรือไม่ ข. มีอำนาจนำยึดทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการขำระหนี้”

มาตรา 758 “ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ ก. ซื้อเชื่อเครื่องรับโทรทัศน์ไปนั้น กรรมสิทธิ์ย่อมตกเป็นของ ก. ผู้ซื้อแล้ว ก. จึงมีสิทธินำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำ กับ ค. ได้ตามมาตรา 747

และเมื่อปรากฏว่า ก. ผิดนัดชำระหนี้ราคาเครื่องรับโทรทัศน์ ข. เจ้าหนี้ซึ่งชนะคดีจะมายึดเครื่องรับโทรทัศน์ในขณะที่ ค. ผู้รับจำนำยังไม่ได้รับชำระหนี้นั้น ข้ออ้างของ ค. ที่อ้างว่า ข. ไม่มีสิทธิยึดของที่ ค. ได้รับจำนำไว้ เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 758 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนำมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์ที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้นั้น ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ข. มีอำนาจยึดทรัพย์ได้หรือไม่ เห็นว่า ข. เป็นเจ้าของ เครื่องรับโทรทัศน์ที่ ก. ซื้อเชื่อไป จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ ก. และเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อ ข. นำคดีขึ้นสู่ศาลและศาลสั่งให้ ข. ชนะคดี ข. จึงมีสิทธิที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ได้ (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 778/2503)

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ค. ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์ที่จำนำอยู่ ข. จึงต้องเลียค่าไถ่ให้กับ ค. ผู้รับจำนำเพื่อมีผลเท่ากับว่าผู้รับจำนำได้รับชำระหนี้ครบแล้วจึงจะสามารถนำยึด ทรัพย์จำนำไปได้

สรุป ข้ออ้างของ ค. รับฟังได้ และ ข. มีอำนาจนำยึดทรัพย์ได้ แต่จะต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์จำนำให้ ค. ผู้รับจำนำ

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 2/2545

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สัญญายืมใช้คงรูปกับสัญญาฝากทรัพย์โดยทั่วไปที่มิใช่สัญญาฝากเงิน  มีข้อเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  657  อันว่าฝากทรัพย์นั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้

ส่วนที่เหมือนกัน

1       มีคู่สัญญาสองฝ่าย  กล่าวคือ  สัญญายืมใช้คงรูป  มีผู้ยืมและผู้ให้ยืม  ส่วนสัญญาฝากทรัพย์มีผู้ฝากและผู้รับฝาก

2       เป็นสัญญาที่บริบูรณ์โดยการส่งมอบทรัพย์ที่ยืมหรือฝาก

3       วัตถุแห่งสัญญานั้นเป็นทรัพย์สิน

4       มีการคืนทรัพย์สินเมื่อผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้วให้กับผู้ให้ยืมเช่นเดียวกับผู้รับฝากที่ต้องส่งคืนทรัพย์สินให้กับผู้ฝาก

5       เป็นสัญญาที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  ผู้ยืมใช้คงรูปหรือผู้รับฝากคงมีเพียงสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ยืมหรือรับฝากไว้เท่านั้น  (ยกตัวอย่างประกอบ)

ส่วนที่ต่างกัน

1       ค่าตอบแทน  สัญญายืมใช้คงรูปนั้น  ผู้ยืมใช้สอยได้เปล่า  หากมีค่าตอบแทนแล้วจะไม่ใช่สัญญายืมใช้คงรูป  อาจเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ได้  แต่สัญญาฝากทรัพย์จะมีค่าตอบแทน (บำเหน็จฝาก)  หรือไม่ก็ได้  (ยกตัวอย่างประกอบ)

2       วัตถุประสงค์ของสัญญา  สัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ยืมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์  แต่สัญญาฝากทรัพย์นั้นผู้รับฝากต้องเก็บทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาของตน  ไม่มีสิทธินำทรัพย์ที่รับฝากไว้ไปใช้สอย  (ยกตัวอย่างประกอบ)

 

ข้อ  2  นายจุ๊บกับนายจิ๊บเป็นฝาแฝดกัน  นายจุ๊บแฝดผู้พี่ขอยืมเงินนายจิ๊บแฝดผู้น้อง  เป็นจำนวนเงินสองพันบาท  เพื่อนำไปจ่ายค่าสุราที่ตนยังค้างชำระที่ร้านคาเฟ่แห่งหนึ่ง  โดยการยืมเงินครั้งนี้ได้ทำเป็นหนังสือไว้โดยถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมานายจุ๊บได้นำข้าวสารให้นายจิ๊บแทนการชำระหนี้  ดังนี้  นายจุ๊บจะต้องทำหลักฐานอย่างอื่นเพื่อให้การชำระหนี้บริบูรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่  จงอธิบายโดยละเอียด

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

วินิจฉัย

การที่ฝาแฝดจุ๊บจีบกู้ยืมเงินกันไม่เกิน  2,000  บาท  โดยธรรมดาแล้วไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็สามารถฟ้องร้องคดีกันได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก  และตามอุทาหรณ์การกู้ยืมเงินไปจ่ายค่าสุราไม่ถือเป็นการผิดกฎหมาย  การกู้ยืมจึงถือเป็นการผูกพันต่อคู่สัญญา  ในกรณีนี้การกู้ยืมเงินเป็นจำนวนเงิน  2,000  บาท  และได้ทำเป็นหนังสือด้วย  โดยทั่วไปจึงมีผลทำให้การคืนเงินจะต้องมีหลักฐานในการคืนเงินอย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว  หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว  มิฉะนั้นจะต้องชำระหนี้ใหม่  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ผู้กู้ได้คืนสิ่งของแทนการคืนเงินสด  ดังนั้น  การคืนจึงไม่ต้องมีหลักฐานการใช้เงินกู้ตามที่มาตรา  653  วรรคสอง  กำหนดไว้แต่อย่างใด  เพราะการใช้เงินตามนัยมาตรา  653 วรรคสองนั้น  หมายถึง  การนำเงินสดมาใช้ต้นเงินกู้เท่านั้นที่จะต้องมีหลักฐานการใช้เงินกู้ดังกล่าว  กรณีไม่รวมถึงการใช้ดอกเบี้ย  หรือนำสิ่งอื่นมาใช้ต้นเงินกู้ด้วย

สรุป  นายจุ๊บไม่ต้องทำหลักฐานการใช้สิ่งของแทนการคืนเงินสดเพื่อให้การชำระหนี้บริบูรณ์แต่อย่างใด

 

ข้อ  3  นายเอกเดินทางไปธุระที่จังหวัดภูเก็ต  ระหว่างทางได้พักแรมยังโรงแรมแห่งหนึ่งที่มีนายโทเป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงแรม  ก่อนเข้าพักแรมนายโทได้ให้นายเอกกรอกประวัติลงในใบลงทะเบียนผู้เข้าพักและในเอกสารดังกล่าวมีข้อความพิมพ์ไว้ในตอนล่างว่า  ทางโรงแรมจะไม่รับผิดชอบในความสูญหายหรือเสียหายใดๆที่เกิดแก่ทรัพย์สินของผู้พักแรม นายเอกเมื่อกรอกประวัติแล้วได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เข้าพักแรม  ต่อมาวันรุ่งขึ้น  นายเอกพบว่ารถยนต์ของตนถูกคนร้ายลักไป  จึงรีบแจ้งให้นายโทผู้จัดการโรงแรมทราบเพื่อให้รับผิดชอบต่อรถยนต์ที่สูญหาย  นายโทปฏิเสธไม่ยอมรับผิดใดๆทั้งสิ้น  โดยอ้างว่านายเอกได้ยอมตกลงกับตนในข้อความยกเว้นความรับผิดทั้งหลายแล้ว  โดยลงชื่อในใบลงทะเบียนพักแรม  นายเอกจึงมาปรึกษาทนายความเพื่อฟ้องเรียกให้นายโทผู้จัดการโรงแรมรับผิดชอบต่อตน ถ้าท่านเป็นทนายความท่านจะให้คำปรึกษาว่านายเอกจะฟ้องให้นายโทรับผิดต่อตนได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  วรรคแรก  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

มาตรา  676  ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น  เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้นคนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนักโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นทันที  มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา  674 และ  675

มาตรา  677  ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้  เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น

วินิจฉัย

ข้อความยกเว้นความรับผิดที่ปรากฏอยู่ในใบลงทะเบียนเข้าพักแรม  และนายเอกลงชื่อในใบเข้าพักแรมดังกล่าวไม่ได้หมายความว่านายเอกผูกพันในข้อยกเว้นความรับผิดด้วย  เพราะมาตรา  677  บัญญัติว่าข้อความยกเว้นความรับผิดจะผูกพันแขกพักแรมต่อเมื่อได้เข้าตกลงด้วยโดยชัดแจ้ง  ดังนั้น  โรงแรมจึงต้องรับผิดต่อทรัพย์สินทั้งหลายของนายเอก  จะอ้างว่านายเอกยอมตกลงในข้อยกเว้นความรับผิดหาได้ไม่

ความรับผิดของโรงแรมเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  674  คือต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางที่เขานำติดตัวมาด้วย  และตามมาตรา  675  เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดแม้ความสูญหายจะเกิดเพราะผู้คนที่ไปมาเข้าออกยังโรงแรม  ดังนั้น  เมื่อรถยนต์ของนายเอกผู้เป็นแขกพักแรมถูกขโมยไป  นายโทเจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์นั้น  และนอกจากนั้น  นายเอกก็ได้แจ้งให้นายโททราบทันทีที่พบว่ารถยนต์หายตามมาตรา  676  นายโทจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อนายเอกได้

สรุป  นายเอกสามารถฟ้องให้นายโทรับผิดต่อตนได้

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 2/2546

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นิกรยืมรถยนต์ของนิยมเพื่อนบ้านเพื่อใช้ขับไปทำงานในกรุงเทพฯ  แต่นิกรได้ใช้รถยนต์เพื่อขับไปทำงานเท่านั้น  ในวันหยุดสุดสัปดาห์นิกรได้พาสุดสวยแฟนสาวไปเที่ยวชายทะเลที่หัวหิน  ขณะที่นิกรขับรถยนต์ที่ยืมไปถึงชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  เกิดฟ้าคะนองพายุพัดอย่างรุนแรงโดยฉับพลัน  ต้นไม้ข้างทางล้มถูกรถยนต์เสียหาย  ซึ่งถ้าจะซ่อมกลับคืนสภาพเดิมต้องใช้เงินสี่หมื่นบาท  ดังนี้นิกรผู้ยืมจะต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่รถยนต์นั้นอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

สัญญายืมระหว่างนิกรกับนิยมจึงเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  นิกรผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ตามที่ตกลงกับนิยมไว้  กล่าวคือ  ใช้ขับไปทำงานในกรุงเทพฯ  เมื่อปรากฏว่าในวันหยุดสุดสัปดาห์นิกรผู้ยืมได้ใช้รถยนต์เป็นพาหนะเพื่อพาสุดสวยแฟนสาวไปเที่ยวที่หัวหิน  ซึ่งมิได้มีการตกลงกับนิยมผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  จึงเป็นการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนอกจากการอันปรากฏในสัญญาและเมื่อเกิดความเสียหายกับรถยนต์  เพราะต้นไม้ที่ถูกพายุพัดอย่างรุนแรงล้มทับ 

นิกรผู้ยืมจะอ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้  เพราะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อนิกรทำผิดหน้าที่ของผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้นอกจากการที่ปรากฏในสัญญาซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนในเหตุทรัพย์สินที่ยืมนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดแม้เพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  เว้นแต่ผู้ยืมจะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินที่ยืมนั้นคงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเองตามมาตรา  643

สรุป  นิกรจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับนิยม

 

ข้อ  2  ดำมอบเงิน  5,000  บาทแก่ขาว  เพื่อให้ขาวนำไปฝากธนาคารแทนตน  แต่ขาวกลับนำเงินนั้นไปใช้ชำระค่าหอพักจนหมด  ต่อมาดำทราบความจริงจึงขอให้ขาวนำเงินมาคืน  และได้ให้ขาวเขียนหนังสือไว้  1  ฉบับมีใจความว่า  ข้าพเจ้านายขาวค้างชำระเงินนายดำจำนวน  5,000  บาท  ลงชื่อ  ขาว  ต่อมาขาวพยายามหลบหน้าไม่นำเงินมาคืนดำ  ดำจึงปรึกษาทนายความเพื่อขอให้ฟ้องขาวตามเอกสารที่ขาวทำไว้ให้ดำ  ถ้าท่านเป็นทนายความท่านจะให้คำปรึกษาดำอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การที่ดำมอบให้ขาวนำเงินไปฝากธนาคารแทนตนนั้น  เป็นการที่ดำเป็นตัวการให้ขาวเป็นตัวแทนนำเงินไปฝาก

ธนาคาร  ความรับผิดระหว่างดำกับขาวจึงเป็นเรื่องตัวการตัวแทน  แต่ต่อมาทั้งคู่ได้เขียนเป็นหนังสือกู้ยืมเงินไว้แก่กัน  จึงถือว่าหนี้เดิมได้ถูกแปลงใหม่เป็นหนี้กู้ยืมแล้ว  จึงสามารถบังคับได้ในเรื่องกู้ยืม  เมื่อขาวเขียนสัญญากู้ในหนังสือมีข้อความว่า   ข้าพเจ้านายขาวค้างชำระเงินนายดำจำนวน  5,000  บาท  ลงชื่อ  ขาว”  ย่อมถือว่าหลักฐานเป็นหนังสือที่ขาวเขียนไว้ให้ดำ  มีข้อความแสดงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินครบถ้วนตามมาตรา  653  วรรคแรก  กล่าวคือ  มีการระบุจำนวนเงินและรับว่าจะใช้หนี้  และลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  ดังนั้นดำจึงฟ้องขาวได้โดยอาศัยเอกสารนี้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาว่า  ให้นายดำฟ้องนายขาวโดยอาศัยเอกสารดังกล่าวได้

 

ข้อ  3  เอกนำหนังสือที่ตนพิมพ์เพื่อจำหน่ายจำนวน  500  เล่มไปฝากขายที่ร้านหนังสือของโท  โดยแบ่งเงินที่ขายหนังสือได้ให้โทเล่มละ  20  บาท  และจะฝากขายไปจนกว่าหนังสือจำหน่ายหมด  โทนำหนังสือของเอกวางจำหน่ายเป็นเวลากว่าหกเดือนแล้วเพิ่งมียอดจำหน่ายเพียง  5  เล่ม  โทจึงแจ้งให้เอกมารับหนังสือกลับไปเพื่อวางจำหน่ายที่อื่น  เอกตกลงแต่ไม่ยอมรับหนังสือกลับจนเวลาล่วงไปอีกหกเดือน โทจึงตัดสินใจนำหนังสือของเอกไปเก็บไว้ในห้องเก็บของใต้ดินรวมกับหนังสืออื่นๆ  ของโท  ต่อมาเกิดน้ำท่วมบรรดาของที่เก็บไว้ในห้องเก็บของเสียหายหมด  รวมทั้งหนังสือของเอกด้วย  ดังนี้จงวินิจฉัยความรับผิดของโท 

ธงคำตอบ

มาตรา  657  อันว่าฝากทรัพย์นั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้

วินิจฉัย

การที่เอกนำหนังสือไปฝากโทขายมิใช่สัญญาฝากทรัพย์ตามมาตรา  657  เพราะการฝากทรัพย์ต้องเพื่อให้ผู้รับฝากเก็บรักษาที่ฝากไว้ในความดูแล  แล้วจะคืนให้ในภายหลัง  แต่กรณีนี้เป็นตัวแทนในการจำหน่ายความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างเอกกับโทจึงไม่ต้องพิจารณาตามสัญญาฝากทรัพย์  แต่ต้องพิจารณาตามสัญญาที่แท้จริงคือตัวการ  ตัวแทน

เมื่อตัวแทนมิได้กระทำการประมาทเลินเล่อในการเป็นตัวแทน  แม้หนังสือจะเสียหายก็มิต้องรับผิดแต่อย่างใด

สรุป  นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายเอก

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 1/2546

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ดำตกลงให้แดงยืมรถยนต์ไปธุระเชียงใหม่เป็นเวลา  10  วัน  ครบกำหนด  10  วันแล้ว  แดงเกิดมีธุระที่จะต้องไปทำต่อที่เชียงรายอีก  7  วัน  หลังจากนั้นจึงขับรถยนต์กลับกรุงเทพฯ  ระหว่างทางเกิดมีพายุฝนตกน้ำป่าไหลหลากมาท่วมถนนอย่างรวดเร็ว  สุดวิสัยที่แดงจะขับรถหนีได้ทัน  รถยนต์ของดำต้องแช่น้ำอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง  ทำให้เครื่องยนต์เสียหายต้องซ่อมแซม  เป็นเงิน  50,000  บาท อยากทราบว่าค่าซ่อมแซมรถนี้ดำจะเรียกร้องจากแดงได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

การที่ดำตกลงให้แดงยืมรถไปใช้ธุระที่เชียงใหม่เป็นเวลา  10  วันนั้น  เข้าลักษณะยืมใช้คงรูป  การที่แดงเอารถยนต์ของดำไปทำธุระต่อที่เชียงราย  จึงเป็นการใช้ทรัพย์ที่ยืมนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  สัญญายืมรถนี้มีกำหนด  10  วัน  การที่แดงเอารถยนต์ไปธุระต่ออีก  7  วัน  จึงเป็นการเอาทรัพย์ที่ยืมไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ด้วย  ฉะนั้นตามบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะยืมใช้คงรูปมาตรา  643  แดงผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์ที่ยืมนั้นบุบสลายเสียหายไป  

แม้ถึงว่าจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  แดงจะยกเอาเหตุสุดวิสัยนั้นมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้  ตามความจริงถ้าหากแดงได้ใช้รถยนต์ที่ยืมมาตามการอันปรากฏในสัญญาและมิได้เอารถยนต์ที่ยืมมาไว้ใช้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้แล้ว  ความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์ที่ยืมอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยนั้นย่อมจะตกอยู่แก่ดำซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์  แดงหาต้องรับผิดชอบด้วยไม่  กรณีตามปัญหานี้แดงประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืมซึ่งผลแห่งการปฏิบัติผิดหน้าที่ดังกล่าวแล้วนี้  กฎหมายบัญญัติให้ภาระความรับผิดชอบกลับมาตกอยู่แก่ผู้ยืมคือแดง

แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่า  ถ้าหากแดงพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินที่ยืมคือรถยนต์นั้น  ก็คงต้องบุบสลายเสียหายอยู่นั่นเอง  แดงก็พ้นจากความรับผิดไปได้  เช่น  ถ้าแดงสามารถพิสูจน์ได้ว่า  ความจริงถ้าหากแดงเอารถยนต์กลับมาคืนตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ตามสัญญาแล้ว  ในวันนั้นเองก็มีน้ำป่าไหลหลากมาท่วมพอดี  และแดงขับรถกลับไป  ซึ่งย่อมหมายความว่า  อย่างไรๆเสีย  รถยนต์ก็คงต้องถูกน้ำท่วมอยู่นั่นเอง  หรือมิฉะนั้นถ้าหากแดงสามารถพิสูจน์ได้ว่า  ถ้าได้เอารถยนต์ไปคืนให้ตามกำหนด  ในวันนั้นเองก็ได้เกิดไฟไหม้ที่บ้านดำ  รถยนต์คันอื่นๆ  ของดำที่เก็บไว้ในทำนองเดียวกันก็ถูกไฟไหม้หมด  รถยนต์คันที่แดงเอาส่งคืนย่อมจะต้องถูกไฟไหม้ไปด้วยเช่นกัน  เช่นนี้แล้ว แดงจะพ้นจากความรับผิดเหมือนกัน

สรุป  แดงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับดำผู้ให้ยืม

 

ข้อ  2  นางสาวแตงกวาเป็นคนยากจนและชอบดื่มสุราเป็นประจำได้ไปกู้เงินกับนางแตงไท  ซึ่งเป็นนายทุนประจำหมู่บ้าน  เป็นจำนวนเงิน 50,000  บาท  โดยนางสาวแตงกวาบอกกับนางแตงไทว่าจะกู้เงินไปจ่ายค่าสุราซึ่งตนติดไว้กับร้น  RCA  ซึ่งนางแตงไททราบแล้ว  แต่ก็ยอมให้กู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าว  พร้อมคิดดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน  7,600  บาท  ดังนี้  นางแตงกวาจะต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือไม่ และหากคืนเป็นเช็คเงินสดต้องมีหลักฐานตามกฎหมายอย่างใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

นางสาวแตงกวายืมเงินนางแตงไทต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเป็นเงิน  7,600  บาท  จากเงินต้น  50,000  บาท  ซึ่งเป็นการขัดต่อมาตรา  654 ซึ่งมาตรานี้บัญญัติให้ดอกเบี้ยที่เกิน  15%  ให้ลดลงเหลือ  15%  แต่มาตรา  654  ใช้ไม่ได้ตามที่บทบัญญัติได้กล่าวไว้  สาเหตุเพราะมี  พ.ร.บ.  ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ  กำหนดว่า  การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราถือเป็นการผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง  ส่วนของดอกเบี้ยที่เกิน  15%  จึงเป็นโมฆะทั้งหมดเหลือเพียงเงินต้นเท่านั้น

ดังนั้น  การคืนเงินตามกฎหมายครั้งนี้จึงคืนเฉพาะเงินต้นเท่านั้นดอกเบี้ยไม่ต้องคืน  บทบัญญัติมาตรา  653  วรรคสอง  จึงใช้ในกรณีที่เป็นการนำเงินสดมาคืนเงินต้นเท่านั้นที่จะต้องมีหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด  คือ  1  ทำเป็นหนังสือ   2  เวนคืนเอกสาร   3  แทงเพิกถอน แต่ในกรณีนี้เป็นการคืนเงินด้วยเช็ค  ไม่ใช่การคืนเงินสด  จึงไม่ต้องมีหลักฐานการคืนเงินใดๆ

สรุป  ต้องคืนเงินต้นเท่านั้น  ส่วนดอกเบี้ยไม่ต้องคืน  และไม่ต้องมีหลักฐานคืนเงินด้วย

 

ข้อ  3  นายดำเปิดบัญชีเงินฝากจำนวนหนึ่งแสนบาทไว้กับธนาคารไทย  อยู่มาวันหนึ่งนายแดงได้ปลอมลายมือชื่อนายดำเซ็นลงในใบถอนเงินของธนาคารไทย  เพื่อขอถอนเงินจากบัญชีนายดำจำนวน  5  หมื่นบาท  ธนาคารไทยจ่ายเงินแก่นายแดงไปโดยมิได้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่เซ็นมาในใบถอนเงินว่าตรงกับลายมือชื่อของนายดำที่เซ็นไว้เป็นตัวอย่างหรือไม่  ทำให้ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นลายมือชื่อปลอม ต่อมานายดำพบว่าเงินถูกถอนไปจากบัญชีโดยที่ตนไม่เคยมาขอถอน  จึงฟ้องให้ธนาคารไทยรับผิดชดใช้เงินที่หายไปในฐานะผู้รับฝากทรัพย์  ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาล  ท่านเห็นว่าธนาคารไทยจะต้องรับผิดต่อนายดำหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

วินิจฉัย

นายดำเป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารไทย  การที่ธนาคารยอมให้ผู้อื่นถอนเงินไปจากบัญชีเงินฝากของนายดำ  โดยในใบถอนเงินไม่ใช่ลายมือชื่อแท้จริงของนายดำ  และไม่ได้ความชัดว่าได้มีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่เซ็นมาในใบถอนเงินเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนายดำหรือไม่  ถือได้ว่าธนาคารไทยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยไม่ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคาร  อันเป็นอาชีวะของตน  ดังนี้  ธนาคารไทยจึงต้องรับผิดต่อนายดำตามมาตรา 659  วรรคท้าย

สรุป  ธนาคารไทยจะต้องรับผิดต่อนายดำ

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม S/2546

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  เด่นขอยืมลูกหมูมาจากดวง  1  ตัว  เพื่อทำหมูหันในงานเลี้ยงที่บ้าน  ดวงตกลง  ระหว่างทางที่เด่นบรรทุกลูกหมูกลับบ้าน  ลูกหมูดิ้นหลุดวิ่งหนี  เด่นตามจับมาไม่ได้  เด่นจึงไปขอยืมลูกหมูอีกตัวหนึ่งจากดาวมาทำหมูหัน  หลังจากงานเลี้ยงผ่านไป  ดวงทวงถามลูกหมูคืนจากเด่น  แต่เด่นไม่ยอมคืน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  สัญญายืมลูกหมูนี้เป็นสัญญายืมประเภทใด  และเด่นจะต้องรับผิดต่อดวงหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

วินิจฉัย

ตามปัญหาข้อตกลงระหว่างเด่นกับดวงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา  650  ไม่ใช่สัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  เพราะเจตนาของเด่นต้องการนำลูกหมูมาใช้ทำหมูหันเป็นการใช้ในลักษณะทำให้ลูกหมูแปรสภาพเป็นอาหาร  จึงเป็นการใช้ไปสิ้นไป  ลูกหมูจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเด่นตั้งแต่ดวงส่งมอบลูกหมูให้เด่นแล้ว  เมื่อลูกหมูสูญหายไปผู้รับบาปเคราะห์คือเด่นซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  เมื่อถึงกำหนดส่งคืน  เด่นจึงต้องหาลูกหมูที่มีน้ำหนักเท่ากับตัวที่ยืมมาจำนวน  1  ตัว  ไปใช้คืนให้กับดวง  และดวงมีสิทธิฟ้องบังคับให้เด่นคืนได้ตามสัญญา

สรุป  สัญญายืมลูกหมูเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เด่นจึงต้องหาลูกหมูที่มีน้ำหนักเท่ากับตัวที่ยืมไปใช้คืนให้กับดวง

 

ข้อ  2  พลอยเขียนจดหมายถึงมณีฝากไปกับทับทิมมีข้อความว่า  พักนี้เงินของฉันในธนาคารถอนออกมาใช้หมดแล้ว  ไม่มีเงินซื้อของ  ฉันจะยืมมณีมาทำทุนสักห้าพันบาท  ถ้ามีก็มอบให้มากับผู้ถือจดหมายฉบับนี้  ลงชื่อ  พลอย  มณีได้มอบเงินให้ทับทิมมาห้าพันบาท  ต่อมามณีทวงให้พลอยชำระหนี้คืน  พลอยไม่ยอมชำระ  มณีจึงฟ้องศาลโดยมีจดหมายฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐาน  พลอยต่อสู้ว่าไม่ได้กู้  ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะตัดสินอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

จดหมายที่พลอยเขียนถึงมณียังไม่อาจถือว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามมาตรา  653  วรรคแรก  เพราะเป็นเพียงหลักฐานการขอยืมเงินซึ่งยังไม่บ่งให้ทราบว่าได้มีการให้ยืมแล้วหรือยัง  เป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของพลอย  กล่าวคือ  มีการระบุจำนวนเงิน  แต่ไม่ได้ระบุว่ารับจะใช้หนี้ให้  ดังนั้น  ข้อความในจดหมายฉบับนี้จึงไม่อาจถือว่าการที่พลอยขอยืมเงินมณีนั้นพลอยจะได้รับเงินที่ยืมแล้ว  และในเรื่องกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาท  เมื่อมาตรา  653  วรรคแรก  กำหนดให้ต้องมีพยานหลักฐานเป็นหนังสือจึงต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลเข้ามาสืบหักล้างพยานเอกสาร

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะวินิจฉัยยกฟ้อง

 

ข้อ  3  แดงรับฝากรถยนต์ของดำไว้โดยตกลงจะให้ค่าฝากวันละ  10  บาท  เมื่อดำมารับรถยนต์ปรากฏว่าเบาะรถผุ  พรมในรถขึ้นรา  เพราะแดงปล่อยรถตากแดดตากฝน  ขอให้แดงใช้ค่าเสียหาย  แต่แดงต่อสู้ว่าแม้รถยนต์ของตนก็ปล่อยจอดตากแดดตากฝนเช่นนี้เหมือนกัน  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของแดงฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

วินิจฉัย

เป็นเรื่องการฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จค่าฝากซึ่งมาตรา  659 วรรคสอง  กำหนดให้ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่รับฝากไว้เหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติปฏิบัติแต่จากข้อเท็จจริงการที่นายแดงละเลยไม่ดูแลทรัพย์กลับปล่อยรถตากแดดตากฝนจนเบาะรถผุ  พรมในรถขึ้นรา  โดยอ้างการปฏิบัติที่เคยทำต่อรถของตนเองเป็นข้อต่อสู้  จึงผิดหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จ  ข้อต่อสู้ของแดงจึงฟังไม่ขึ้น  เพราะเรื่องนี้มิใช่การฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จ  หากจะใช้เกณฑ์ของตนเองในการปฏิบัติต่อทรัพย์ที่รับฝากนั่นย่อมหมายถึงการฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จตามมาตรา  659  วรรคแรก

สรุป  ข้อต่อสู้ของแดงฟังไม่ขึ้น  แดงต้องรับผิดต่อดำ

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สัญญายืมใช้คงรูปนั้น  ถ้าผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์สินอย่างเช่นวิญญูชนและทรัพย์สินที่ยืมนั้นเกิดความเสียหาย  ผู้ยืมจะต้องรับผิดหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

วินิจฉัย

กรณีสัญญายืมใช้คงรูปที่ปรากฏว่าผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์สินที่ยืมอย่างวิญญูชน  และทรัพย์สินที่ยืมนั้นเกิดความเสียหายนั้น  แม้ตามมาตรา 644  มิได้บัญญัติกำหนดลงชัดเจนเลยว่า  ให้ผู้ยืมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม  แต่ถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายเอกเทศสัญญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงก็ต้องนำหลักกฎหมายในบรรพ  2  หนี้  ลักษณะ  1  บทเบ็ดเสร็จทั่วไป  หมวด  2  ผลแห่งหนี้  ส่วนที่  1  การไม่ชำระหนี้มาตรา  213  มาใช้บังคับ  ซึ่งวางหลักไว้ว่า  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน  เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้…อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้  หากกระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่  

ตัวอย่างเช่น  ผู้ยืมขอยืมรถยนต์เข้ามาเก็บไว้กลางแดด  ถือว่าเป็นกรณีที่ผิดวิสัยวิญญูชนจะพึงกระทำ  เพราะฉะนั้นถ้ารถยนต์เสียหายเช่นสีที่ทาลอกหลุดออกไป  เจ้าหนี้คือผู้ให้ยืมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายได้  ตามนัยมาตรา  213  วรรคท้าย  ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น  ในกรณีดังกล่าวผู้ยืมยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ให้ยืม

 

ข้อ  2  นางสาวจุ๊บแจงขอยืมเงินนางสาวน้อยพี่สาวแท้ๆ  ของตนไปเล่นหวยใต้ดินเป็นจำนวนเงิน  5,000  บาท  โดยทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของนางสาวจุ๊บแจงเป็นผู้กู้  แต่ในการกู้ยืมนี้มี  ด.ช.เอก  และ  ด.ญ.แจ๋ว  ลงชื่อเป็นพยาน  ทั้งคู่กำลังเรียนอยู่ชั้น  ม.2  อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ  นอกจากนั้นในสัญญากู้ยืมเงินยังระบุอีกว่า  ผู้กู้ยืมจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  3  บาทต่อเดือน  ดังนี้  นางสาวจุ๊บแจงจะต้องชำระเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

การที่นางสาวจุ๊บแจงขอยืมเงินนาวสาวน้อยพี่สาวแท้ๆ  จำนวน  5,000  บาท  โดยทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ  และลงลายมือช่อของนางสาวจุ๊บแจงเป็นผู้กู้  เช่นนี้ตามปกติแล้วก็ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา  653  แม้การกู้ยืมเงินครั้งนี้จะมี ด.ช.เอก  และ  ด.ญ.แจ๋ว  ลงชื่อเป็นพยาน  ซึ่งทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ก็ไม่ทำให้สัญญากู้ยืมเงินเสียไป  เพราะสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวผู้ยืมได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง  มิใช่กรณีการพิมพ์ลายนิ้วมือที่จะต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแต่อย่างใด  อีกทั้งตามมาตรา  653  ก็บัญญัติแต่เพียงว่า  ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  เท่านั้น  สัญญากู้ยืมเงินก็สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว 

อย่างไรก็ตาม  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  การกู้ยืมเงินครั้งนี้นางสาวจุ๊บแจงขอยืมไปเพื่อเล่นหวยใต้ดิน  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของสัญญากู้ยืมเงินเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามมาตรา  150  สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนางสาวจุ๊บแจงกับนางสาวน้อยจึงตกเป็นโมฆะ  เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ  จึงไม่จำต้องพิจารณาในส่วนของดอกเบี้ยแต่อย่างใด  แม้ดอกเบี้ยจะเรียกเกินอัตราของกฎหมายตามมาตรา  654  หรือตาม  พ.ร.บ.  ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  เช่นนี้ทั้งสองจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกัน  นางสาวจุ๊บแจงจึงไม่ต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแต่อย่างใด

สรุป  นางสาวจุ๊บแจงไม่ต้องคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  เพราะสัญญาเป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์เอารถยนต์ไปฝากไว้กับนายจันทร์เป็นเวลา  3  เดือน  โดยไม่อนุญาตให้เอารถไปใช้งานและไม่ได้ตกลงว่าจะให้บำเหน็จค่าฝากกัน  เมื่อนายจันทร์รับฝากแล้วกลับนำออกใช้งานและดูแลรักษาอย่างดีเหมือนเป็นรถของตน  วันหนึ่งเมื่อขับรถไปซื้ออาหารที่ตลาดกลับมาพบว่ากระจกรถถูกทุบแตกและคนร้ายได้ขโมยของมีค่าที่วางไว้ในรถไป  ต่อมานายอาทิตย์มารับรถคืนจึงเรียกให้นายจันทร์จ่ายค่าเสียหายที่กระจกรถแตก  นายจันทร์ปฏิเสธ  อ้างว่าตนรับฝากทรัพย์ไว้โดยไม่มีบำเหน็จ  และขณะรับฝากได้ใช้ความระมัดระวังสงวนรักษาทรัพย์สิน  เหมือนเช่นดูแลรถยนต์ของตนเองแล้วจึงไม่ต้องรับผิด  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของนายจันทร์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

มาตรา  660  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต  และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย  คือ  ข้อต่อสู้ของนายจันทร์ที่ว่า  ตนรับฝากรถโดยไม่มีบำเหน็จ  และได้ใช้ความระมัดระวังสงวนรักษาทรัพย์สินเหมือนเช่นเคยประพฤติปฏิบัติในกิจการของตนเองแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิด  ฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายจันทร์รับฝากรถโดยไม่มีบำเหน็จค่าฝากตามมาตรา  659  วรรคแรก  ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้รับฝากใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่ตนรับฝากไว้นั้นไม่มากหรือน้อยไปกว่าการสงวนรักษาทรัพย์สินของตน  กล่าวคือ  นอกจากผู้รับฝากจะไม่ได้ค่าตอบแทนในการรับฝากทรัพย์สินนั้นแล้ว  ผู้รับฝากยังต้องรับภาระหน้าที่ดูแลระมัดระวังทรัพย์สินที่รับฝากอีกด้วย  กฎหมายกำหนดหน้าที่เท่านั้นก็นับว่าเพียงพอแล้ว  ดังนั้นการที่นายจันทร์ขับรถยนต์ของนายอาทิตย์ไปซื้ออาหารที่ตลาดกลับมาพบว่ากระจกรถถูกทุบแตกและคนร้ายได้ขโมยของมีค่าในรถไป  เช่นนี้การกระทำดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นการที่นายจันทร์ประพฤติผิดหน้าที่ตามมาตรา  659  แต่อย่างไรก็ตามแม้นายจันทร์จะไม่ได้ผิดหน้าที่สงวนทรัพย์สินแต่นายจันทร์ก็ผิดหน้าที่ตามมาตรา  660  โดยนำรถยนต์ที่ผู้รับฝากออกใช้สอยโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ฝากก่อน  เมื่อทรัพย์สินที่ฝากสูญหายโดยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายอยู่นั่นเอง  นายจันทร์ก็ต้องรับผิด  จะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบของผู้รับฝากตามมาตรา  660  แม้เป็นกรณีการรับฝากโดยไม่มีบำเหน็จค่าฝาก  ผู้รับฝากก็คงต้องรับผิดจากผลที่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว  หากนายจันทร์ไม่นำรถยนต์ออกใช้สอยแล้ว  การที่รถยนต์จะถูกขโมยไปอาจจะไม่เกิดมีขึ้น  ดังนั้นแม้จะอ้างว่าได้สงวนทรัพย์สินเช่นที่ได้ปฏิบัติกับทรัพย์สินของตนก็คงไม่ได้  ข้อต่อสู้จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายจันทร์ฟังไม่ขึ้น

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม สอบซ่อม S/2547

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  หน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปมีอะไรบ้าง  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้  5  ประการ  คือ

 1       หน้าที่เสียค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา

มาตรา  642  ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี  ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดีย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

ตามมาตรา  642  ค่าใช้จ่ายต่างๆนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ยืมแต่ฝ่ายเดียว  ทั้งนี้เพราะสัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ที่ได้รับประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวก็คือผู้ยืม  จึงสมเหตุสมผลดีแล้วที่ผู้ยืมจะต้องเป็นผู้เสียแต่คู่กรณีอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้  เช่น  ให้ผู้ให้ยืมเป็นผู้เสีย  เพราะมาตรา  642  มิใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด  ยกตัวอย่างประกอบ

2       หน้าที่เกี่ยวกับการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

ตามมาตราดังกล่าว  ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมในการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมโดยชอบไว้  4  ประการ 

 1)    ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามสภาพแห่งทรัพย์  เช่น  ยืมใบมีดโกน  ก็ต้องเอาไปโกนหนวดโกนเครา  มิใช่เอาไปหั่นเนื้อหมู ฯลฯ

2)    ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามสัญญาที่ตกลงกัน  เช่น  ทำสัญญายืมรถยนต์ไปเพชรบุรี  ก็ต้องไปเพชรบุรีจะขับไปเชียงใหม่ไม่ได้ ฯลฯ

3)    ต้องไม่เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย

4)    เมื่อใช้สอยเสร็จแล้วต้องรีบคืนให้แก่ผู้ให้ยืมไม่ควรเก็บเอาไว้นาน

หากผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวแล้ว  เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลาย  ผู้ยืมต้องรับผิดแม้เหตุนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  (ยกตัวอย่างประกอบ)

3       หน้าที่เกี่ยวกับการสงวนทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

เนื่องจากผู้ยืมเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญายืมแต่ฝ่ายเดียว  จึงต้องรับผิดชอบในการสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมเช่นวิญญูชนคือ  บุคคลธรรมดาทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถในระดับปานกลางในสังคม  หากผู้ยืมไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว  ผู้ให้ยืมย่อมบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้  (ยกตัวอย่างประกอบ)

4       หน้าที่เกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  646  ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้  ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว  ตามการอันปรากฏในสัญญา  แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้  เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้  ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้  ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

เรื่องการคืนทรัพย์สินที่ยืมถือว่าเป็นสาระสำคัญอีกประการหนึ่งของสัญญายืมที่ทำให้มีความแตกต่างจากสัญญาให้  หรือสัญญาซื้อขาย  ดังนั้นผู้ยืมจึงต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว  (ยกตัวอย่างประกอบ)

5       หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  647  ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย

กล่าวคือ  พิจารณาว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามปกติหรือไม่  ถ้าเป็นผู้ยืมก็ต้องจ่าย  เช่น  ก  ยืมรถ  ข  มาใช้  ถ้ารถเกิดเสียหายเล็กน้อย  เช่น  ยางแตก  หรือเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง  ฯลฯ  ผู้ยืม  คือ  ก  ต้องจ่ายเอง  แต่ถ้าเป็นกรณีที่เกินกว่าปกติ  เช่น  รถที่  ก  ยืมมาเสื่อมโทรมตามสภาพจำเป็นต้องยกเครื่องใหม่  เพราะขณะที่ยืมก็อยู่ในสภาพไม่ดีอยู่แล้ว  เช่นนี้  ผู้ให้ยืมเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่าย

 

ข้อ  2  นายเอกกู้ยืมเงินนายโท  10,000  บาท  ทำสัญญากู้กันไว้  นายเอกลงลายพิมพ์นิ้วมือในฐานะผู้ยืม  นายตรีอายุ  17  ปีกับนายโทลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายเอกไว้ในขณะนั้น  แต่นายโทมิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ยืม  ต่อมานายเอกไม่ชำระเงินนายโทตามสัญญากู้  นายโทจึงนำสัญญากู้ฉบับนี้มาฟ้องศาล  ขอให้บังคับให้นายเอกชดใช้เงินที่ยืมไป  ดังนี้  นายเอกต้องรับผิดตามสัญญากู้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  9  วรรคหนึ่ง  วรรคสอง  เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ  บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง  แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

ลายพิมพ์นิ้วมือ  แกงได  ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ  หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

วินิจฉัย

นายเอกกู้ยืมเงินนายโท  10,000  บาท  โดยนายเอกลงลายพิมพ์นิ้วมือในฐานะผู้ยืม  การกู้ยืมระหว่างนายเอกกับนายโทที่มีการลงลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้จะต้องมีการรับรองจากบุคคล  2  คนเสมอถึงจะถูกต้องตามมาตรา  9  วรรคสอง  ส่วนนายตรี  อายุ  17  ปี  แม้เป็นผู้เยาว์ก็สามารถที่จะเป็นพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายเอกได้  เนื่องจากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ  ส่วนนายโทซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือร่วมกับนายตรี  แม้จะไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ในสัญญาก็ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย  เนื่องจากสัญญากู้ยืมทำเป็นหนังสือ  เพียงมีแต่ลายมือชื่อผู้กู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้ว  หาจำต้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ด้วยแต่อย่างไร  ดังนั้นลายมือชื่อของผู้ให้กู้จะมีหรือไม่มีก็ได้  อนึ่งกรณีที่นายโท  ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือด้วยนั้น  ก็ไม่มีกฎหมายห้ามแต่อย่างใด  (ฎ. 595/2523)  เมื่อสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เพราะฉะนั้นนายเอกต้องรับผิดตามสัญญากู้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

สรุป  นายเอกต้องรับผิดตามสัญญากู้

 

ข้อ  3  ธนาคารเอเชียตะวันออก  เป็นธนาคารต่างประเทศที่จะมาขอเปิดดำเนินธุรกิจประเภทธนาคารในประเทศไทย  ในระหว่างดำเนินการขออนุญาตและก่อสร้างอาคารสำนักงานเพื่อเป็นที่ทำการ  ธนาคารได้จ้างสำนักงานกฎหมายเอกสมบัติเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย  ต่อมาธนาคารได้มีข้อหารือมาที่สำนักงานกฎหมายถึงหน้าที่ของธนาคารที่จะต้องปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทองของลูกค้าที่นำมาฝากว่าตามหลักกฎหมายไทยธนาคารมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือใช้ความระมักระวังอย่างไรบ้างในการสงวนทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาฝาก  ถ้าท่านเป็นทนายความที่ปรึกษา  ขอให้ท่านให้คำแนะนำ  โดยอธิบายอย่างละเอียด  พร้อมยกตัวอย่างและหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

วินิจฉัย

ธนาคารถือเป็นผู้รับฝากที่มีอาชีพในการรับฝากโดยเฉพาะตามนัยของมาตรา  659  วรรคสาม  ที่วางหลักเกณฑ์ให้บุคคลที่มีอาชีพรับฝากทรัพย์ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น  หมายความว่า  ธนาคารจะต้องเก็บรักษาทรัพย์สินไว้ในที่ที่ปลอดภัยที่สุดตามวิถีทางแห่งกิจการค้าของตน  คือเก็บไว้ในตู้นิรภัยที่มั่นคงให้ปลอดภัยจากอัคคีภัยและโจรผู้ร้าย  เป็นต้น  (ยกตัวอย่างประกอบ)

WordPress Ads
error: Content is protected !!