การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3111 (LAW 3011) กฎหมายลักษณะพยาน
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1.
1.1 ให้ท่านวินิจฉัยว่าหากไม่ได้นําสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้เข้าเป็นพยานหลักฐานในสํานวน ศาลจะสามารถหยิบยกขึ้นพิพากษาได้หรือไม่

Advertisement

(ก) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

(ข) ความหมายของคําในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

(ค) พระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าของประเทศสหราชอาณาจักร

1.2 โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าโจทก์และจําเลยมีชื่ออยู่ในที่ดินพิพาทร่วมกัน แต่ปัจจุบันได้มีการแบ่งแยก การครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว โจทก์ต้องการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน แต่จําเลยไม่ยอม ขอให้ ศาลมีคําสั่งแบ่งแยกโฉนดที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นเป็นของจําเลย แต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างโจทก์กับจําเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่าฝ่ายใด มีภาระการพิสูจน์ในคดีนี้

ธงคําตอบ

1.1 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใด จะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(1) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป
(2) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 ได้วางหลักไว้ว่า การที่ศาลจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีใด ศาลจะต้อง วินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานที่อยู่ในสํานวนคดีเท่านั้น ถ้าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่อยู่ในสํานวนคดี ศาลจะหยิบยก พยานหลักฐานนั้นขึ้นวินิจฉัยเพื่อพิพากษาไม่ได้ เว้นแต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ (1) ข้อเท็จจริง ซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป (2) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ (3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความยอมรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล ดังนี้ แม้คู่ความจะไม่ได้นําเข้าเป็นพยานหลักฐานในสํานวน ศาลก็สามารถหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเพื่อพิพากษาได้

ตามอุทาหรณ์ หากไม่ได้นําสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เข้าเป็นพยานหลักฐานในสํานวน ศาลจะสามารถหยิบยกขึ้นพิพากษาได้หรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย มีลักษณะเป็นกฎ เป็นเพียงประกาศหรือระเบียบ ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นกฎหมาย จึงไม่ถือเป็นข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป อีกทั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ และไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล จึงไม่เข้า ข้อยกเว้นตาม (1) (2) หรือ (3) ของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 แต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจะหยิบยกเอาประกาศธนาคาร แห่งประเทศไทยขึ้นพิพากษาไม่ได้

(ข) ความหมายของคําในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ความหมายของคําหรือถ้อยคําที่ ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฯ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป กล่าวคือ เป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนทั่วไป รู้กันอยู่แล้ว และผู้พิพากษาซึ่งถือเป็นประชาชนคนหนึ่งย่อมต้องรู้ข้อเท็จจริงทั่วไปนั้นด้วย กรณีจึงต้องด้วย ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (1) ที่แม้ว่าจะไม่ได้นําเข้าเป็นพยานหลักฐานในสํานวน ศาลก็สามารถหยิบยก เอาความหมายของคําในพจนานุกรมฯ ขึ้นพิพากษาได้

(ค) พระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าของประเทศสหราชอาณาจักร ถือเป็นกฎหมายของ ต่างประเทศไม่ใช่กฎหมายของไทย จึงไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงซึ่งประชาชนทั่วไปและศาลไทยต้องรู้ จึงเป็น ข้อเท็จจริงที่ต้องนําสืบและต้องนําเข้าเป็นพยานหลักฐานในสํานวน เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (1) อีกทั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ และไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (1) หรือ (2) ดังนั้น เมื่อไม่ได้นําเข้าเป็นพยานหลักฐานในสํานวน ศาลจึงไม่สามารถหยิบยก ขึ้นพิพากษาได้

สรุป
(ก) ศาลไม่สามารถหยิบยกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นวินิจฉัยได้
(ข) ศาลสามารถหยิบยกความหมายของคําในพจนานุกรมฯ ขึ้นวินิจฉัยได้
(ค) ศาลไม่สามารถหยิบยกพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าของประเทศสหราชอาณาจักร ขึ้นวินิจฉัยได้

1.2 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเสียง ที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คําคู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้ เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าโจทก์และจําเลยมีชื่ออยู่ในที่ดินพิพาทร่วมกัน แต่ ปัจจุบันได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว โจทก์ต้องการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน แต่จําเลยไม่ยอม ขอให้ศาลมีคําสั่งแบ่งแยกโฉนดที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นเป็นของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างโจทก์กับจําเลยนั้น

จากคําฟ้องและคําให้การของจําเลย โดยโจทก์ฟ้องขอให้จําเลยแบ่งแยกที่ดินเนื่องจากที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์รวม แต่จําเลยต่อสู้ในคําให้การว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจําเลยปฏิเสธ โดยชัดแจ้งในประเด็นนี้ จึงเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างแต่อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ คําคู่ความ ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นว่า “ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลยหรือไม่”
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 มาตรา 177 และมาตรา 183

เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่คู่ความพิพาทกันว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลยหรือไม่ เมื่อทรัพย์สินที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์จําพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และ ในกรณีนี้บุคคลที่มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินพิพาทคือโจทก์และจําเลยจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าที่ดินแปลงนี้โจทก์
และจําเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น เมื่อจําเลยอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลยหรือไม่ และจําเลยมีภาระการพิสูจน์ตามที่กล่าวอ้าง

 

ข้อ 2. โจทก์ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์กับจําเลยมูลค่า 300,000 บาท แต่จําเลยชําระเงินให้โจทก์ไม่ครบ ตามสัญญา โจทก์จึงยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงินแก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าเอกสารการซื้อขาย รถยนต์พิพาทนั้นอยู่กับธนาคาร อีกทั้งปรากฏว่าเมื่อโจทก์ได้ขอให้ศาลเรียกเอกสาร และศาล ก็ได้ขอเอกสารกับธนาคารแล้ว แต่ธนาคารไม่ได้ส่งเอกสารมายังศาล โจทก์จึงต้องการจะนําสืบดังต่อไปนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลจะรับฟังได้หรือไม่

(ก) สําเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท

(ข) นายเอกพยานบุคคลที่จะขอนําสืบแทนพยานเอกสารถึงสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามา
ไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93
และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความ ครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์กับจําเลยมูลค่า 300,000 บาท แต่จําเลยชําระเงินให้โจทก์ไม่ครบตามสัญญา โจทก์จึงยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงินแก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าเอกสารการซื้อขายรถยนต์พิพาทนั้นอยู่กับธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคําร้อง ขอให้ศาลเรียกเอกสาร และศาลก็ได้ขอเอกสารกับธนาคารตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 แล้ว แต่ธนาคารไม่ได้ส่ง
เอกสารมายังศาล โจทก์จึงจะขอนําสืบสําเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทแทนต้นฉบับเอกสารนั้น ศาลจะ รับฟังได้หรือไม่นั้น กรณีนี้เห็นว่าเมื่อศาลได้ขอเอกสารกับธนาคาร แต่ธนาคารไม่ได้ส่งเอกสารมายังศาล ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันไม่ใช่เกิดจาก พฤติการณ์ที่โจทก์ผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบ ตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ ดังนั้น การที่โจทก์จะขอนําสืบสําเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท ศาลย่อมจะรับฟังได้

(ข) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนํา เอกสารมาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ ต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2)) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อธนาคารไม่ได้ส่งเอกสารมายังศาล ซึ่งเป็นกรณีที่ถือว่านําต้นฉบับ เอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) โจทก์จึง สามารถที่จะขอนําตัวนายเอกพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารถึงสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทได้ เพราะ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ดังนั้น ศาลจึงรับฟังพยานบุคคลกรณีนี้ได้

สรุป

(ก) ศาลจะรับฟังสําเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทได้

(ข) ศาลจะรับฟังนายเอกพยานบุคคลที่โจทก์ขอนําสืบแทนพยานเอกสารได้

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง นายปิติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช.มานะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเพชรเป็นจําเลยในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ ด.ช.มานะ อายุ 14 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในวันสืบพยานทนายโจทก์อ้าง นายปิติโจทก์ ด.ช.มานะผู้เสียหาย นายเพชรจําเลย และ นายแพทย์วีระพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานฝ่ายโจทก์ หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น พยานโจทก์ ทุกคนต่างลืมสาบานตนก่อนการเบิกความโดยที่ฝ่ายจําเลยก็ไม่ได้ทักท้วง หากศาลทําการ สืบพยานจําเลยจนเสร็จสิ้น และนัดฟังคําพิพากษา ศาลจะรับฟังคําเบิกความของพยานโจทก์ได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 95 วรรคหนึ่ง “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใดเว้นแต่บุคคลนั้น

(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และ
(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง…”

มาตรา 97 “คู่ความฝ่ายหนึ่ง จะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตนหรือจะอ้างตนเองเป็นพยานก็ได้”

มาตรา 98 “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะอ้างบุคคลใดเป็นพยานของตนก็ได้ เมื่อบุคคลนั้นเป็น ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในศิลป วิทยาศาสตร์ การฝีมือ การค้า หรือการงานที่ทําหรือในกฎหมายต่างประเทศ และ ซึ่งความเห็นของพยานอาจเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อความในประเด็น ทั้งนี้ ไม่ว่าพยานจะเป็นผู้มีอาชีพ
ในการนั้นหรือไม่”

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
(2) บุคคลที่มีอายุต่ํากว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ
(3) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา
(4) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณ”

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 232 “ห้ามมิให้โจทก์อ้างจําเลยเป็นพยาน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปิติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช.มานะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเพชรเป็นจําเลยในคดีอาญาในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ ด.ช.มานะ อายุ 14 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส และในวันสืบพยาน ทนายโจทก์อ้างนายปิติโจทก์ ด.ช.มานะผู้เสียหาย นายเพชรจําเลย และนายแพทย์วีระพยาน ผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานฝ่ายโจทก์ แต่หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น พยานโจทก์ทุกคนต่างลืมสาบานตนก่อนการ เบิกความโดยที่ฝ่ายจําเลยก็ไม่ได้ทักท้วงนั้น หากศาลทําการสืบพยานจําเลยเสร็จสิ้น และนัดฟังคําพิพากษา ศาลจะรับฟังคําเบิกความของพยานโจทก์ได้หรือไม่นั้น วินิจฉัยได้ดังนี้

การที่ทนายโจทก์อ้างโจทก์เป็นพยานนั้น ย่อมสามารถทําได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 97 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ส่วนการอ้าง ด.ช.มานะผู้เสียหายเป็นพยานนั้นก็สามารถทําได้ แม้ ด.ช.มานะจะมีอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ก็ตาม ก็สามารถเป็นพยานบุคคลได้ ถ้าสามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 และนายแพทย์วีระซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้น โจทก์ย่อมสามารถอ้างเป็นพยานได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 98 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ส่วนการที่ทนายโจทก์อ้างนายเพชรจําเลยนั้น โจทก์ไม่สามารถทําได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้โจทก์อ้างจําเลยเป็นพยาน”

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นพยานโจทก์ทุกคนต่างลืมสาบานตน ก่อนการเบิกความ แม้ฝ่ายจําเลยจะมิได้ทักท้วงก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ดังนั้น คําเบิกความของโจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน รวมทั้งคําเบิกความของ นายเพชรจําเลย และนายแพทย์วีระผู้เชี่ยวชาญซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานนั้น จึงรับฟังไม่ได้ ส่วน ด.ช.มานะนั้น เป็นบุคคลที่มีอายุต่ํากว่า 15 ปี จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องสาบานตนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 (2) ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ดังนั้น คําเบิกความของ ด.ช.มานะ จึงรับฟังได้

สรุป ศาลจะรับฟังคําเบิกความของพยานโจทก์ได้เฉพาะคําเบิกความของ ด.ช.มานะเท่านั้น แต่จะรับฟังคําเบิกความของนายปิติ นายเพชร และนายแพทย์วีระไม่ได้

Advertisement