การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 มีกรณีใดบ้างที่เป็นการระงับไปซึ่งสัญญาค้ำประกันให้ท่านอธิบายมาสัก 2 กรณี พร้อมทั้งอ้างหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบด้วย
ธงคำตอบ
มาตรา 698 อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ
มาตรา 699 การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้นท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้
ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้
มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด
แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ท่านว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่
มาตรา 701 ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้
อธิบาย
โดยปกติผู้ค้ำประกันจะต้องผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันจนกว่าหนี้จะระงับ ผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกการค้ำประกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมไม่ได้ เว้นแต่จะมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่หากไม่มีข้อตกลงกันตามสัญญาแล้วสัญญาค้ำประกันอาจระงับสิ้นไปได้โดยดังต่อไปนี้
1 หนี้ประธานระงับ ถ้าหนี้ประธานระงับสิ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน เป็นต้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด (มาตรา 698)
2 ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาค้ำประกัน โดยหลักแล้วผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกการค้ำประกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 699 ซึ่งมีหลักเกณฑ์การบอกเลิกการค้ำประกันดังนี้
ต้องเป็นกิจการเนื่องกันไปหลายๆคราว มิใช่เป็นกิจการครั้งเดียวเสร็จในครั้งเดียว
กิจการเนื่องกันไปหลายคราวจะต้องไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้
ผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกได้ก็ต่อเมื่อคราวอันเป็นอนาคตเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันอาจจะตกลงกันไว้ในสัญญาห้ามผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญา แม้กรณีจะต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 699 ก็ได้ เพราะข้อยกเว้นดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
3 เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ การค้ำประกันหนี้อันมีกำหนดชำระแน่นอน ถ้าเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้โดยผู้ค้ำประกันไม่รู้เห็นยินยอมด้วย ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด (มาตรา 700)
ตัวอย่าง ก กู้เงิน ข เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท มีระยะเวลา 1 ปี โดยมี ค เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ข เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ ก ลูกหนี้ โดย ค ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย ค ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700
4 เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ ปกติผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนก็ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 686 แม้ลูกหนี้ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันก็ขอชำระหนี้ได้ ดังนั้นถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและผู้ค้ำประกันของชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด (มาตรา 701) เป็นผลให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างที่ผิดนัดตามมาตรา 224 แต่ลูกหนี้ยังไม่พ้นจากการชำระหนี้
ตัวอย่าง ก กู้เงิน ข โดยมี ค เป็นผู้ค้ำประกัน มีระยะเวลา 1 ปี เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ ค จะขอชำระหนี้ให้แก่ ข แต่ ข ไม่ยอมรับชำระหนี้ ค ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 701
5 ผู้ค้ำประกันตาย
ถ้าผู้ค้ำประกันตายก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ หรือก่อนลูกหนี้ผิดนัด สัญญาค้ำประกันระงับ
ถ้าผู้ค้ำประกันตายหลังจากที่หนี้ถึงกำหนดชำระ และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ สัญญาค้ำประกันยังไม่ระงับ ความผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตกทอดไปยังทายาทตามมาตรา 1600