LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายมนูญ  น.ส.ดารา  และ  น.ส.มณี  เป็นเพื่อนกันมานานแล้ว  ต่อมา  น.ส.ดารา  ได้จดทะเบียนสมรสกับนายอำนวย  หกเดือนต่อมานายมนูญได้ทำสัญญาหมั้น  น.ส.มณีด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง  นางดาราทราบข่าวและด้วยความชอบนายมนูญได้ไปเที่ยวด้วยกันและมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน  นางดาราไม่มีความสุขกับสามีจึงจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายกับนายอำนวย  เมื่อ  น.ส.มณีทราบความจริงจึงต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญและนางดาราได้หรือไม่  ด้วยสาเหตุใดและหากนายมนูญจดทะเบียนสมรสกับนางดาราจะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1443  ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น  ทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายคนนั้น  หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา  1444  ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น  เป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

มาตรา  1445  ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น  เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา  1442  หรือมาตรา  1443  แล้วแต่กรณี

มาตรา  1453  หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน

วินิจฉัย

การที่นายมนูญทำสัญญาหมั้น  น.ส.มณีด้วยแหวนเพชร  1  วง  จึงเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์  ตามมาตรา  1437  วรรคแรก

ส่วนการที่นางดาราได้ร่วมประเวณีกับนายมนูญโดยทราบว่านายมนูญได้ทำสัญญาหมั้นกับ  น.ส.มณีด้วย  จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1445  ที่นางดาราเป็นผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของ  น.ส.มณีโดยรู้ว่าได้หมั้นแล้ว  น.ส.มณีจึงสามารถเรียกค่าทดแทนจากนางดาราได้  โดยต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา  1443  ก่อน

และ  น.ส.มณีสามารถเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญคู่หมั้นได้  เพราะเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรง  ที่ได้กระทำภายหลังการหมั้น  ตามมาตรา  1444  เพราะนายมนูญได้ร่วมประเวณีกับภริยาของนายอำนวยซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง

ต่อมาได้ความว่านางดาราได้จดทะเบียนหย่ากับนายอำนวยและหากมีการจดทะเบียนกับนายมนูญในเวลานั้น  จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1453  ซึ่งยังไม่พ้น  310  วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนหย่า  แต่การฝ่าฝืนมาตรา  1453  ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด  การจดทะเบียนสมรสจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สรุป  น.ส.มณีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญและนางดาราได้  และนายมนูญสามารถจดทะเบียนสมรสกับนางดาราได้

 

ข้อ  2  นายจารึกหลังจากได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวสำเริงไม่นานนักก็เกิดอาการวิกลจริตอย่างหนัก  ต้องนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล  นายจารึกได้ทราบความจริงว่านางสำเริงได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมากกว่า  1  ปีแล้ว  ต่อมานายจารึกได้จดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.น้ำหวาน  ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน  เช่นนี้  การสมรสทั้งสองครั้งจะมีผลอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1449  การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา  1451  ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1598/32  การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา  1451

วินิจฉัย

การสมรสของนายจารึกกับนางสำเริงมีผลสมบูรณ์  แม้ว่านางสำเริงจะถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมาก่อนก็ตาม  เพราะไม่ได้เป็นการฝ่าฝืน  มาตรา  1449  ที่ห้ามจดทะเบียนสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเท่านั้น  และแม้นางสำเริงจะมีอาการวิกลจริต  แต่ก็เป็นอาการวิกลจริตหลังจากทำการสมรสแล้วไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด

ส่วนการสมรสของนายจารึกกับ  น.ส.น้ำหวาน  บุตรบุญธรรมนั้น  เมื่อนายจารึกมีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว  จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1452  ที่ห้ามทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่  การสมรสจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

สำหรับการสมรสระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมนั้นทำไม่ได้  ตามมาตรา  1451  แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด  คงมีแต่มาตรา  1598/32  ที่บัญญัติไว้ว่า  การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิก  เมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา  1451  ความเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมเป็นอันสิ้นสุด  คงมีฐานะเป็นสามีภริยากันเท่านั้น

สรุป  การสมรสของนายจารึกกับนางสำเริงมีผลสมบูรณ์

การสมรสของนายจารึกกับนางสาวน้ำหวานเป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  นายสมคิดและนางอุสาเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  ได้ทำสัญญาก่อนสมรสกำหนดให้นายสมคิดมีอำนาจจัดการสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ผู้เดียว  ต่อมานายสมคิดได้เดินทางไปต่างประเทศ  นางอุสาได้จัดการโดยลำพังคือนำเงินค่าเช่าที่ดินสินสมรสจำนวน  8  แสนบาท  ไปซื้อรถยนต์นำมาใช้เมื่อนายสมคิดกลับมาก็ไม่พอใจเพราะต้องการนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม  เช่นนี้  นายสมคิดจะขอเพิกถอนการซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ขาย  แลกเปลี่ยน  ขายฝาก  ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ปลดจำนอง  หรือโอนสิทธิจำนอง  ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง  สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา  1476/1  วรรคแรก  สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1476  ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1465  และมาตรา  1466  ในกรณีดังกล่าวนี้  การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการทรัพย์สินไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา  1476  การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา  1476

วินิจฉัย

การทำสัญญาก่อนสมรสที่กำหนดให้นายสมคิดมีอำนาจจัดการสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ผู้เดียว  สามารถทำได้ตามมาตรา  1476/1  วรรคแรก  สำหรับทรัพย์สินส่วนอื่นๆให้จัดการตามมาตรา  1476/1  วรรคสอง

การที่อุสาได้จัดการโดยลำพังคือนำเงินค่าเช่าที่ดินสินสมรสไปซื้อรถยนต์นั้น  เห็นว่า  เงินค่าเช่าที่ดินไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์  ตามที่กำหนดไว้ให้นายสมคิดมีอำนาจจัดการแต่เพียงผู้เดียว  จำต้องพิจารณาตามมาตรา  1476  ว่าสามีภริยามีกรณีใดต้องจัดการร่วมกัน  หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามมาตรา  1476  แล้ว  การซื้อรถยนต์ไม่ใช่กรณีที่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสก่อน  ตามมาตรา  1476(1)  แต่อย่างใด  ดังนั้นนางอุสาจึงสามารถจัดการได้โดยลำพัง  ตามมาตรา  1476  วรรคสอง

สรุป  นายสมคิดจะขอเพิกถอนการซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ  4  นายอำนาจกับนางปราณีเป็นสามีภริยากัน  แต่มีปัญหาเข้ากันไม่ได้  ทั้งสองได้ตกลงสมัครใจแยกกันอยู่สองปีต่อมานายอำนาจได้รู้จักกับนางอรดีซึ่งมีปัญหากับสามี  (นายสมบูรณ์)  และกำลังจะหย่ากัน  นายอำนาจกับนางอรดีเข้ากันได้ดีจึงใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกัน  นางปราณีได้รู้จักกับนายไมตรีเพื่อนร่วมงานใหม่  จึงได้ตกลงทำการค้าร่วมกัน  เช่นนี้  นางปราณีจะฟ้องหย่านายอำนาจได้หรือไม่  และนายสมบูรณ์จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายอำนาจและนางอรดีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา  1523  วรรคแรก  เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา  1516(1)  ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้  แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นางปราณีสามารถฟ้องหย่านายอำนาจได้  โดยอาศัยเหตุที่นายอำนาจไปใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกันกับนางอรดีซึ่งเป็นภริยาของนายสมบูรณ์  จึงเข้าเหตุฟ้องหย่า  ตามมาตรา  1516(1)  คือ  สามีเป็นชู้กับภริยานายสมบูรณ์

ส่วนนายสมบูรณ์ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายอำนาจและนางอรดีได้  ตามมาตรา  1523  วรรคแรก  โดยจะต้องฟ้องหย่านางอรดี  ตามมาตรา  1516(1)  เพราะเหตุมีชู้ก่อน  เมื่อศาลสั่งให้หย่ากันแล้ว  นายสมบูรณ์ก็ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้นได้

สรุป  นางปราณีฟ้องหย่านายอำนาจได้

นายสมบูรณ์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายอำนาจและนางอรดีได้

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 1/2551

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสมบุญได้ทำสัญญาหมั้น น.ส.ลำดวน ด้วยแหวนเพชรและเงิน 1 ล้านบาท ต่อมาบิดามารดาของ น.ส.ลำดวน เห็นว่านายสมบุญไม่เหมาะสมจึงแนะนำให้บุตรสาวมีครอบครัวกับนายทองคำซึ่งมีฐานะดี แต่ภริยาป่วยหนักเป็นเวลานานแล้ว นายทองคำได้ทำสัญญาหมั้น น.ส.ลำดวน ด้วยแหวนเพชรและเงิน 3 ล้านบาท น.ส.ลำดวน ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายทองคำแต่ไม่สามารถทนต่อคำวิจารณ์ต่าง ๆ จากคนรอบข้างได้ น.ส.ลำดวน จึงตัดสินใจไปจดทะเบียนสมรสกับนายอำนาจซึ่งภริยาได้ละทิ้งร้างนายอำนาจไปกว่าสามปีแล้ว เช่นนี้นายสมบุญและนายทองคำจะฟ้องเรียกของหมั้นคืน และฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.ลำดวน ได้หรือไม่ สำหรับการสมรสระหว่างนายอำนาจ กับ น.ส.ลำดวน จะมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ

นายสมบุญได้ทำสัญญาหมั้น น.ส.ลำดวน ด้วยแหวนเพชรและเงิน 1 ล้านบาท จึงเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เมื่อ น.ส.ลำดวน ไปจดทะเบียนสมรสกับนายอำนาจจึงเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 นายสมบุญสามารถฟ้องเรียกของหมั้นคืนได้ตามมาตรา 1439 และฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงได้ตามมาตรา 1440

ส่วนนายทองคำทำสัญญาหมั้น น.ส.ลำดวน ด้วยแหวนเพชรและเงิน 3 ล้านบาท สัญญาหมั้นเป็นโมฆะเพราะนายทองคำมีภริยาอยู่แล้วการทำสัญญาหมั้น น.ส.ลำดวน จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของบ้านเมืองตามมาตรา 150 นายทองคำจึงไม่สามารถฟ้องเรียกของหมั้นและค่าทดแทนได้

สำหรับการสมรสของนายอำนาจกับ น.ส.ลำดวน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 คือทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ การสมรสจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

 

ข้อ 2 นายโชคและนางน้ำเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายโชคได้เหรียญทองแดงจากการแข่งขันชกมวยกีฬาโอลิมปิก นายโชคได้รับเงินรางวัลเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาท นายโชคนำเงินรางวัลดังกล่าวจำนวนหนึ่งแสนบาทไปให้นางหวานน้าสาวที่เลี้ยงดูนายโชคมาตั้งแต่เล็กกู้ยืม โดยที่นางน้ำไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการให้กู้ยืมเงินนั้น หลังจากนั้นนายโชคได้ทำสัญญาค้ำประกันต่อบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในการสมัครเข้าทำงานของนางสาวชิดน้องสาวของนายโชคตามลำพัง ต่อมานางน้ำซึ่งมีเรื่องโกรธเคืองกับญาติ ๆ ของนายโชคได้ทราบเรื่องดังกล่าวทั้งหมด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านางน้ำจะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินและการค้ำประกันของนายโชคได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(4) ให้กู้ยืมเงิน

มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับ ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม มาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่ สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม นั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่า ตอบแทน

การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น หนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่ วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

วินิจฉัย

เงินรางวัลที่นายโชคได้รับมาจากการแข่งขันชกมวยกีฬาโอลิมปิกจำนวนหนึ่งล้านบาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส จึงถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) ซึ่งการนำเงินที่เป็นสินสมรสไปให้ผู้อื่นกู้ยืมนั้นเป็นนิติกรรมตามมาตรา 1476(4) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนายโชคเอาเงินที่เป็นสินสมรสจำนวนหนึ่งแสนบาทไปให้กับนางหวานกู้ยืมโดยที่นางน้ำไม่ได้ให้ความยินยอมในการให้กู้ยืมเงินนั้น นางน้ำจึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เงินกู้ยืมเงินดังกล่าวตามมาตรา 1480 ได้

ส่วนการที่นายโชคได้ทำสัญญาค้ำประกันต่อบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในการสมัครเข้าทำงานของนางสาวชิดน้องสาวนั้น ไม่ใช่นิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส จึงไม่เป็นการจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง นางน้ำจึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ได้

สรุป นางน้ำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เงินกู้ยืมเงินได้ แต่นางน้ำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาค้ำประกันไม่ได้

 

ข้อ 3 นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรคือหนึ่ง นายไก่จึงไปกู้เงินนายเป็ดมา 2 ล้านบาทเพื่อซื้อบ้านและที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน หลังจากนั้นนายไก่และนางไข่จึงไปจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมานายไก่ก็ไปกู้ยืมเงินนายเป็ดมาอีก 3 ล้านบาทเพื่อใช้ในการซื้อห้องแถวเพื่อเปิดร้านเสริมสวยให้นางไข่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นเงิน 2 ล้านบาท ส่วนอีก 1 ล้านบาทที่เหลือนายไก่นำไปซื้อรถตู้ไว้ขับรับจ้างเพื่อหารายได้อีกส่วนหนึ่ง เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายเป็ดมาทวงหนี้จากนางไข่ ๆ ปฏิเสธโดยอ้างว่านางมิได้เป็นผู้ก่อหนี้

1) หนี้นายเป็ดทั้งหมด 5 ล้านบาท นายไก่และนางไข่แบ่งความรับผิดชอบกันอย่างไร เพราะเหตุใด

2) ทรัพย์สินที่มีคือ บ้านและที่ดิน ร้านเสริมสวย และรถตู้ นายไก่และนางไข่มีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าวนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา 1488 ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ก่อไว้ ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่ พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น มาตรา 1489 ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจาก สินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามี หรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้ (1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบ ครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและ การศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ได้ให้สัตยาบัน

มาตรา 1535 เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้อง รับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ กายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดย การให้โดยเสน่หา

(4) ที่เป็นของหมั้น

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

1) หนี้ 2 ล้านบาทเป็นหนี้ส่วนตัวนายไก่เพราะก่อขึ้นก่อนจดทะเบียนสมรส นายไก่รับผิดชอบเพียงผู้เดียว (มาตรา 1488)

หนี้ 3 ล้านบาท นายไก่และนางไข่รับผิดชอบร่วมกันเพราะเป็นหนี้ร่วมเกิดระหว่างสมรสเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว นายไก่รับผิดชอบ 1.5 ล้านบาท และนางไข่ก็ต้องรับผิดชอบ 1.5 ล้านบาทเช่นกัน (มาตรา 1489, 1490, 1535)

2) บ้านและที่ดินเป็นสินส่วนตัว เพราะนายไก่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส ส่วนร้านเสริมสวย และรถตู้ ซื้อหามาจากเงินสินสมรสเป็นเงินได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส นายไก่และนางไข่มีส่วนกันคนละครึ่ง (มาตรา 1471, 1474, 1533)

 

ข้อ 4 นายดำและนางแดงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นางแดงป่วยกระเสาะกระแสะจึงอนุญาตให้นายดำสามีไปใช้บริการทางเพศจากหญิงค้าบริการได้ตามสะดวก ต่อมานายดำไปพบรักกับนางสีแสดในสถานบริการและเลี้ยงดูยกย่องให้เป็นภริยาอีกคนหนึ่งและมีบุตรกับนางสีแสดคือเด็กหญิงส้ม นางแดงจึงมาปรึกษาท่านว่านางจะฟ้องหย่านายดำสามีเพราะเหตุ

1) นายดำไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงค้าบริการเป็นประจำ

2) ยกย่องเลี้ยงดูนางสีแสดเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง และ

3) เด็กหญิงส้มเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคำตอบ

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้อีกฝ่าย หนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา 1517 เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามี หรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุ หย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่านั้นไม่ได้

เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (10) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีก ฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตาม มาตรา 1516 (8) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บน เป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็น บุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น

วินิจฉัย

1) แม้นายดำจะไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการเป็นประจำ นางแดงจะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ เพราะนางยินยอม (มาตรา 1516(1), 1517)

2) การที่นายดำไปยกย่องหญิงอื่นฐานภริยาอีกคนหนึ่ง นางแดงฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516(1))

3) เด็กหญิงส้มเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางสีแสดแต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก (มาตรา 1546)

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสมคิดทำสัญญาหมั้น  น.ส.น้ำผึ้งด้วยแหวนเพชร  1  วง  ต่อมาทั้งสองได้มีเพศสัมพันธ์กันทำให้  น.ส.น้ำผึ้งตั้งครรภ์  แต่นายสมคิดไม่ทราบ  นายสมคิดได้ไปเที่ยวเตร่กับแฟนเก่าอีก  ทำให้  น.ส.น้ำผึ้งน้อยใจ  จึงไปคบกับนายมานพเพื่อนเก่าที่ชอบ  น.ส.น้ำผึ้งอยู่ นายมานพขอทำสัญญาหมั้น  น.ส.น้ำผึ้งด้วยแหวนเพชร  1  วง  ซึ่ง  น.ส.น้ำผึ้งก็ยินยอมตกลงจะจดทะเบียนสมรสกัน  นายสมคิดได้กลับมาง้องอนขอคืนดีนางน้ำผึ้งจึงทำหนังสือหย่ากับนายมานพและลงลายมือชื่อไว้เรียบร้อย  นางน้ำผึ้งจึงจดทะเบียนสมรสกับนายสมคิดทันที  เช่นนี้  การหมั้นระหว่างนายมานพกับ  น.ส.น้ำผึ้งจะมีผลอย่างไร  การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางน้ำผึ้งจะมีผลอย่างไร  บุตรที่เกิดมาเป็นบุตรของใคร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1438  การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้  ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น  ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1514  การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา  1515  เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

มาตรา  1538  วรรคแรก  ในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา  1452  เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้น  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง

ธงคำตอบ

การที่นายสมคิดได้ทำสัญญาหมั้น  น.ส.น้ำผึ้งด้วยแหวนเพชร  1  วง  ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์  ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

แต่เนื่องจากการหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้  ตามมาตรา  1438  การที่  น.ส.น้ำผึ้งรับหั้นนายมานพอีกย่อมสามารถกระทำได้  และเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์  ตามมาตรา  1437 วรรคแรก  เพราะมีการส่งมอบแหวนเพชรของหมั้นแก่  น.ส.น้ำผึ้งแล้ว  ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

เมื่อนายมานพและ  น.ส.น้ำผึ้งจดทะเบียนสมรสกัน  ย่อมเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  การหย่าโดยความยินยอม  มาตรา  1514  บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย  2  คน  และการหย่านั้นจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว  ทั้งนี้ตามมาตรา  1515  ดังนั้นการที่  น.ส.น้ำผึ้งทำหนังสือหย่ากับนายมานพโดยลงลายมือชื่อไว้เรียบร้อยโดยยังมิได้จดทะเบียนหย่า  การหย่าจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  มาตรา  1514  และ  1515  การสมรสระหว่างนายมานพและ  น.ส.น้ำผึ้งจึงยังสมบูรณ์อยู่  เมื่อนางน้ำผึ้งได้จดทะเบียนสมรสกับนายสมคิดจึงเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่  อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา  1452  การสมรสที่ฝ่าฝืนนั้นจึงมีผลเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1495

ส่วนบุตรที่เกิดมานั้น  เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางน้ำผึ้งมารดา  และเมื่อนางน้ำผึ้งสมรสโดยฝ่าฝืนมาตรา  1452  และเด็กนั้นก็เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืน  ย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐาน  ตามมาตรา  1538  วรรคแรก  คือ  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสมคิดชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลังด้วย

สรุป

(1) การหมั้นระหว่างนายมานพกับ  น.ส.น้ำผึ้งมีผลสมบูรณ์

(2) การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางน้ำผึ้งมีผลเป็นโมฆะ

(3) บุตรที่เกิดมานั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางน้ำผึ้งและนายสมคิด

 

ข้อ  2  ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อการกุศลของสมาคมแห่งหนึ่ง  ทางคณะผู้จัดได้จัดให้มีการแสดงลิเกที่เป็นการแสดงของคนไทย  ตัวพระเอกในเรื่องนี้ชื่อว่า  นายไชยา  ในขณะที่มีการแสดงอยู่นั้น  ปรากฏว่าไม่มีใครคาดฝันนายไชยาได้ร้องและรำเดินลงมาจากเวที  มาขอหมั้นนางสาวแบม  อายุ  18  ปี  จากบิดามารดาซึ่งนั่งอยู่  ณ  ที่นั้น  โดยรับรองว่าจะเลี้ยงดูและจะซื่อสัตย์สุจริต  ซึ่งบิดามารดาหญิงก็ยินยอมต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติในงานนั้น  ตกลงกันว่าจะจดทะเบียนสมรสภายใน  2  ปีข้างหน้า  ครั้นถึงวันที่กำหนด  นางสาวแบมไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย  โดยอ้างว่าแพทย์ประจำตัวของตนได้บอกว่าตนจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง  2  ปี  อยากทราบว่า  นายไชยาจะเรียกค่าเสียหายที่ตนได้รับความอับอายขายหน้า  เสียหายต่อชื่อเสียง  จากบิดามารดาหรือจากนางสาวแบมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1435  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว

การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา  1436  ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา  ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1440  ค่าตอบแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(1)          ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

วินิจฉัย

แม้นางสาวแบมจะมีอายุ  18  ปี  ซึ่งสามารถทำการหมั้นได้  ตามมาตรา  1435  และแม้การหมั้นดังกล่าว  จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของนางสาวแบมผู้เยาว์ให้หมั้นกับนายไชยา  ตามมาตรา  1436(1)  ก็ตาม  แต่การหมั้นนั้นจะสมบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อชายหรือฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น  ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการหมั้นครั้งนี้ไม่มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นแต่อย่างใดให้นางสาวแบมเลย  การหมั้นจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ถือว่าไม่มีการหมั้นเกิดขึ้น

เมื่อไม่มีการหมั้นเกิดขึ้น  แม้นางสาวแบมจะปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับนายไชยา  ก็ไม่ถือว่านางสาวแบมผิดสัญญาหมั้น  ตามมาตรา  1439  แต่อย่างใด  เพราะการจะถือว่าคู้หมั้นฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นจะต้องเป็นกรณีที่การหมั้นมีผลสมบูรณ์  ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  และคู่หมั้นมีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย (ฎ.8954/2549)  เมื่อการหมั้นไม่สมบูรณ์  ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาหมั้นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้  นายไชยาจึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง  ตามมาตรา  1440(1)  จากบิดามารดาหรือจากนางสาวแบมได้  ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติว่า  ในกรณีที่ไม่มีการหมั้น  หากฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น  ให้ฝ่ายนั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนอย่างเช่นกรณีที่มีการหมั้น  (ฎ.45/2532)

สรุป  นายไชยาไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจากบิดามารดาหรือนางสาวแบมได้

 

ข้อ  3  นายสันต์และนางแก้วเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  นางแก้วได้ยกเครื่องลายครามที่นางแก้วได้รับมรดกจากบิดาในระหว่างสมรสให้กับนายสันต์  ต่อมานายสันต์ได้นำเครื่องลายครามไปให้นายเพชรซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นายสันต์นับถือ  โดยนายเพชรไม่ได้ทราบว่าเป็นเครื่องลายครามที่นางแก้วยกให้นายสันต์  หลังจากนั้นนายสันต์เกษียณอายุราชการ  นายสันต์นำเงินบำเหน็จจำนวน  500,000  บาท  ไปเช่าซื้อบ้านและที่ดินแปลงหนึ่งในต่างจังหวัดที่ซึ่งนายสันต์ตั้งใจจะไปอยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิตโดยนายสันต์ทำตามลำพัง  นางแก้วไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมแต่อย่างใด  ต่อมานางแก้วทราบเรื่องดังกล่าวทั้งหมด  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก)     นางแก้วจะบอกล้างนิติกรรมการให้เครื่องลายครามกับนายสันต์ได้หรือไม่  และนางแก้วจะฟ้องเรียกเอาเครื่องลายครามคืนจากนายเพชรได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ข)     นางแก้วจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าซื้อบ้านและที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

มาตรา  1473  สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1)  ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย  แลกเปลี่ยน  ขายฝาก  ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ปลดจำนอง  หรือโอนสิทธิจำนอง  ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

มาตรา  1480  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา  1476  ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว  หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้  เว้นแต่คู้สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว  หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

ก)     การที่นางแก้วยกเครื่องลายครามที่นางแก้วได้รับมรดกจากบิดาในระหว่างสมรสอันเป็นสินส่วนตัวของนางแก้ว  ตามมาตรา  1471(3)  ให้กับนายสันต์ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา  1469  เครื่องลายครามเป็นทรัพย์สินที่นายสันต์ได้มาโดยเสน่หาระหว่างสมรสจึงตกเป็นสินส่วนตัวของนายสันต์  ตามมาตรา  1471(3)  นายสันต์มีอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับเครื่องลายครามได้  ตามมาตรา  1473  นายสันต์จึงมีสิทธิให้เครื่องลายครามแก่นายเพชรได้  แต่เนื่องจากการให้เครื่องลายครามระหว่างนางแก้วและนายสันต์เป็นสัญญาระหว่างสมรส  นางแก้วจึงมีสิทธิบอกล้างการให้เครื่องลายครามในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่การบอกล้างต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต  ตามมาตรา  1469  ดังนั้นเมื่อนายเพชรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับเครื่องลายครามจากนายสันต์โดยสุจริต  เพราะนายเพชรไม่ทราบว่าเป็นเครื่องลายครามที่นางแก้วยกให้นายสันต์  นายเพชรจึงมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องลายครามดังกล่าว  นางแก้วจะฟ้องเรียกเครื่องลายครามคืนจากนายเพชรไม่ได้

ข)     ส่วนการที่นายสันต์ได้นำเงินบำเหน็จ  จำนวน  500,000  บาท  ซึ่งถือว่าเป็นสินสมรส  ตามมาตรา  1474(1)  ไปเช่าซื้อบ้านและที่ดินแปลงหนึ่งในต่างจังหวัดนั้น  การเช่าซื้อไม่ใช่การจัดการสินสมรส  ตามมาตรา  1476(1)  ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  นายสันต์จึงสามารถเช่าซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าวตามลำพังได้  นางแก้วจึงฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าซื้อบ้านและที่ดิน  ตามมาตรา  1480  ไม่ได้

สรุป

ก)     นางแก้วบอกล้างนิติกรรมการให้กับนายสันต์ได้  แต่ฟ้องเรียกเอาเครื่องลายครามคืนจากนายเพชรไม่ได้

ข)     นางแก้วฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าซื้อบ้านและที่ดินตามมาตรา  1480  ไม่ได้

 

ข้อ  4  นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกันคือ  ด.ช.หนึ่ง  จึงไปจดทะเบียนสมรสกัน  หลังจากนั้นไม่นาน  นางไข่ก็ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายห่านแฟนเก่าและคลอดบุตรอีกหนึ่งคนคือ  เด็กหญิงสอง  ซึ่งการกระทำของนางไข่ทำให้นายไก่เสียใจมาก  จึงไปตัดอวัยวะเพศทิ้งแปลงเพศเป็นหญิง

1)    หนึ่งและสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร  นับแต่เมื่อใด

2)    นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่  และนางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย  ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล  อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา  1517  วรรคสอง  เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา  1516(10)  ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

มาตรา  1546  เด็กหญิงจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน  จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา  1557  การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1547  ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด  แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้

วินิจฉัย

1)    ด.ช.หนึ่งเป็นบุตรของนายไก่และนางไข่ซึ่งเกิดก่อนที่บิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกัน  ดังนั้น  ด.ช.หนึ่งจึงเป็นบุตรที่อชด้วยกฎหมายของนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา  1546  ที่ว่าเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  และเมื่อนายไก่และนางไข่จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง  ด.ช.หนึ่งจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่บิดานับแต่วันที่  ด.ช.หนึ่งเกิด  ตามมาตรา  1547  ประกอบมาตรา  1557

ส่วน  ด.ญ.สอง  เป็นบุตรที่เกิดจากนางไข่และนายห่านซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส  ด.ญ.สองจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก  ตามมาตรา  1546

2)    นายไก่เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงมีสิทธิฟ้องหย่านางไข่ได้  ตามมาตรา  1516(1)  เพราะถือว่านางไข่มีชู้  ส่วนนางไข่ก็สามารถฟ้องหย่านายไก่ได้เช่นกัน  ตามมาตรา  1516(10)  เพราะนายไก่มีสภาพแห่งกายที่ทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล  ทั้งการที่นายไก่ไปตัดอวัยวะเพศและแปลงเพศเป็นหญิง  ก็เกิดจากความสมัครใจของนายไก่เอง  มิใช่เกิดเพราะการกระทำของนางไข่  (นางไข่มิได้เป็นผู้ตัดอวัยวะเพศ)  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา  1517  วรรคสอง

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสุธีอายุ  21  ปี  ทำสัญญาหมั้น  น.ส.รัศมี  อายุ  17  ปี  ด้วยแหวนเพชร  1  วง  โดยบิดามารดาให้ความยินยอมถูกต้อง น.ส.รัศมีได้แอบไปเที่ยวเตร่กับนายสมบัติอายุ  21  ปี  ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุธีด้วย  จนเกินเลยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันและตั้งครรภ์  นายสมบัติเห็นว่า  น.ส.รัศมีตั้งครรภ์แล้วจึงตัดสินใจจดทะเบียนสมรสด้วย  แต่บิดามารดาของ  น.ส.รัศมีไม่เห็นด้วย  จึงต้องการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรส  เช่นนี้  นายสุธีต้องการฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนและฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติ  และบิดาของ  น.ส.รัศมีจะฟ้องเพิกถอนการสมรสได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1435  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา  1436  ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา  ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1445  ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น  เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา  1442  หรือมาตรา  1443  แล้วแต่กรณี

มาตรา  1454  ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา  1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  1509  การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454  การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  1510  วรรคแรกและวรรคสอง  การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา  1454  เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา  1454  เท่านั้น  ขอให้เพิกถอนการสมรสได้

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์

วินิจฉัย

การที่นายสุธีอายุ  21  ปี  ทำสัญญาหมั้น  น.ส.รัศมีอายุ  17  ปี  โดยบิดามารดาให้ความยินยอมถูกต้องตามมาตรา  1435  วรรคแรกและมาตรา  1436(1)  และมีการส่งมอบแหวนเพชร  1  วง  เป็นของหมั้น  ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อมีการหมั้นแล้ว  การที่  น.ส.รัศมีไปจดทะเบียนสมรสกับนายสมบัติ  จึงเป็นการกระทำอันเป็นการผิดสัญญาหมั้น  ผลทางกฎหมายคือ

1       นายสุธี  คู่หมั้นสามารถฟ้องเรียกแหวนเพชนอันเป็นของหมั้นคืนได้  เพราะเป็นกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น  กฎหมายบังคับให้ฝ่ายหญิงคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย  ตามมาตรา  1439  (ส่วนนายสุธีจะเรียกค่าทดแทน  ตามมาตรา  1440  ได้หรือไม่นั้น  ไม่อยู่ในประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย)  และ

2       การที่  น.ส.รัศมีได้แอบไปเที่ยวเตร่กับนายสมบัติ  ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุธีจนเกินเลยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันและตั้งครรภ์  นายสุธีสามารถเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติได้  ตามมาตรา  1445  เพราะนายสมบัติเป็นเพื่อนของนายสุธีจึงควรจะรู้ได้ว่า  น.ส.รัศมีหมั้นกับนายสุธีอยู่แล้วยังไปร่วมประเวณีด้วยอีก  แต่ทั้งนี้นายสุธีจะต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น  ตามมาตรา  1442  ก่อน

สำหรับการจดทะเบียนสมรสระหว่างนายสมบัติและ  น.ส.รัศมี  โดยบิดามารดาของ  น.ส.รัศมีไม่เห็นด้วย  จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา  1454  ประกอบมาตรา  1436(1)  การสมรสนี้จึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา  1509  ซึ่งมาตรา  1510  วรรคแรก  กำหนดให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา  1451  ประกอบมาตรา  1436  เท่านั้น  ขอให้เพิกถอนการสมรสได้  ดังนั้น  โดยหลักแล้วบิดามารดาของ  น.ส.รัศมีสามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะได้  แต่กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  น.ส.รัศมีตั้งครรภ์  สิทธิขอเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  1509  จึงเป็นอันระงับสิ้นไป  ทั้งนี้ไม่ว่า  น.ส.รัศมีจะมีอายุครบ  20  ปีบริบูรณ์หรือไม่ก็ตาม  การสมรสจึงสมบูรณ์ตลอดไป

สรุป  นายสุธีฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนจาก  น.ส.รัศมีได้และเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติได้  ส่วนบิดามารดาของ  น.ส.รัศมีจะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสไม่ได้

 

ข้อ  2  นายอำนวยจดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.นิสา  โดยไม่มีใครทราบว่า  น.ส.นิสาเป็นน้องสาวต่างมารดา  ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่นั้น  นายอำนวยได้รับเงิน  2  ล้านบาทโดยเสน่ห์หาจากญาติ  ส่วนนางนิสาได้ซื้อสลากกินแบ่งได้รับรางวัล  4  ล้านบาท  แต่ต่อมาต่างทราบความจริงจึงมีการฟ้องศาลให้พิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ  เช่นนี้  ถ้าศาลพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะแล้วทรัพย์สินต่างๆจะตกเป็นของใคร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1450  ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี  เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี  จะทำการสมรสกันไม่ได้  ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายดลหิตโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1496  วรรคแรก  คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1498  การสมรสที่เป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น  ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง  เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น  เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว  ภาระในการหาเลี้ยงชีพ  และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายคลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว

วินิจฉัย

เมื่อนายอำนวยและ  น.ส.นิสาเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน  การสมรสของบุคคลทั้งสองจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา  1450  ผลคือ  การสมรสเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1495

สำหรับการสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา  1450  เฉพาะแต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ  ตามมาตรา 1496  วรรคแรก  ดังนั้น  ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา  ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจึงยังคงมีอยู่  เงิน  2  ล้านบาทที่นายอำนวยได้รับจากญาติโดยเสน่หา  จึงเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา  1471(3)  ส่วนเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน  4  ล้านบาท  ย่อมเป็นสินสมรสตามมาตรา  1474(1)  (ฎ.1053/2537)

แต่เมื่อศาลพิพากษาให้การสมรสระหว่างนายอำนวยและ  น.ส.นิสาเป็นโมฆะแล้ว  ผลทางกฎหมายตามมาตรา  1498  วรรคแรก  คือ  การสมรสที่เป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา  สินส่วนตัวและสินสมรสดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่มีอยู่อีกต่อไป  ดังนั้นเงิน  2  ล้านบาทที่นายอำนวยได้รับในระหว่างการสมรสที่เป็นโมฆะ  ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอำนวยแต่เพียงผู้เดียว  ตามมาตรา  1498  วรรคสอง  ซึ่งให้ถือว่าทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาหลังการสมรสที่เป็นโมฆะคงเป็นของฝ่ายนั้น

ส่วนเงินรางวัล  4  ล้านบาท  ก็คงเป็นกรรมสิทธิ์ของ  น.ส.นิสาแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน  ตามมาตรา  1498  วรรคสอง

สรุป  ถ้าศาลพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะ  เงิน  2  ล้านบาท  และเงินรางวัล  4  ล้านบาท  ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอำนวยและ  น.ส.นิสาตามลำดับ  ตามมาตรา  1498

 

ข้อ  3  นายสมคิดและนางดวงตาเป็นสามีภริยากัน  ต่อมาฐานะดีขึ้น  นางดวงตาจึงลาออกจากงานมาดูแลครอบครัว  และเพื่อให้นายสมคิดสามารถทำหน้าที่การงานได้อย่างคล่องตัว  นางดวงตาจึงทำสัญญามอบอำนาจให้นายสมคิดมีอำนาจซื้อขายกู้ยืมได้โดยลำพังในการจัดการสินสมรส  นายสมคิดได้มอบสร้อยทองซึ่งมีมาก่อนสมรสให้แก่นางดวงตาด้วยความรัก  หลายเดือนต่อมานายสมคิดได้ขายที่ดินสินสมรสให้แก่นายบันเทิงและได้ทำสัญญากู้ยืมเงินหนึ่งล้านบาทจากนางมะขาม  นางดวงตาไม่พอใจที่ไม่บอกกล่าวให้ทราบจึงต้องการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำไปนั้น  นายสมคิดก็ไม่พอใจจึงต้องการฟ้องเอาสร้อยทองคืน  เช่นนี้   จะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1465  วรรคแรก  ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส  ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น  ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้

มาตรา  1466  สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ  ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส  หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส  และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ขาย  แลกเปลี่ยน  ขายฝาก  ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ปลดจำนอง  หรือโอนสิทธิจำนอง  ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(4)  ให้กู้ยืมเงิน

มาตรา  1476/1  วรรคแรก  สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1476  ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1465  และมาตรา  1466  ในกรณีดังกล่าวนี้  การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

มาตรา  1480  วรรคแรก  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา  1476  ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว  หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้  เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว  หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

ในระหว่างสมรสนางดวงตาจะทำสัญญามอบอำนาจให้นายสมคิดมีอำนาจซื้อขายกู้ยืมได้โดยลำพังในการจัดการสินสมรสไม่ได้  เพราะตามมาตรา  1476/1  วรรคแรก  กำหนดว่าการตกลงให้จัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากมาตรา  1476  จะต้องทำเป็นสัญญาก่อนสมรส  ตามมาตรา  1465  และมาตรา  1466  เมื่อไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรส  การจัดการสินสมรสจึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา  1476

การขายที่ดินซึ่งเป็นสินสมรส  สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง  ตามมาตรา  1476(1)  เมื่อนายสมคิดทำสัญญาขายที่ดินสินสมรสให้กับนายบันเทิงไปโดยลำพัง  นางดวงตาจึงขอเพิกถอนได้ตามมาตรา  1480  วรรคแรก  แต่อย่างไรก็ตาม  นางบันเทิงผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน  จึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  1480  วรรคแรกตอนท้าย  ดังนั้นนางดวงตาจึงฟ้องขอเพิกถอนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวไม่ได้

ส่วนการกู้ยืมเงินจากนางมะขามนั้น  นายสมคิดสามารถกระทำได้โดยลำพังตนเอง  กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  1476(4)  ที่มุ่งหมายถึงการให้กู้ยืมเงินเท่านั้น  กรณีนี้นางดวงตาจึงฟ้องขอเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ (ฎ.6193/2551)

สำหรับการที่นายสมคิดได้มอบสร้อยทองซึ่งเป็นสินส่วนตัวของตนตามมาตรา  1471(1)  ให้นางดวงตา  ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา  1469  ที่นายสมคิดมีสิทธิบอกล้างในเวลาหนึ่งเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  กรณีนี้นายสมคิดจึงฟ้องเอาสร้อยทองคืนได้

สรุป  นายสมคิดฟ้องเอาสร้อยทองคืนได้  ส่วนนางดวงตาจะฟ้องเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้  คงฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินได้เท่านั้น

 

ข้อ  4  นายมนูญกับนางน้ำหวานเป็นสามีภริยากัน  นายมนูญได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางรำพึงภริยาของนายนที  ต่อมานางน้ำหวานจับได้ว่านายมนูญมีพฤติการณ์ดังกล่าว  จึงต้องการฟ้องหย่า  เช่นนี้  จะฟ้องหย่าได้ด้วยเหตุฟ้องหย่าอะไรบ้าง  (ให้บอกตามลำดับความสำคัญของกฎหมายด้วย)

หากนางน้ำหวานต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญ  และนางรำพึงด้วย  จะสามารถทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2)  สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว  ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่  ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก)  ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(3)  สามีหรือภริยาทำร้าย  หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ  หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้  ถ้าเป็นการร้ายแรง  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

(6)  สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้  ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา  1523  วรรคแรก  เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา  1516(1)  ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับอุปการะเลี้ยงดู  หรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

วินิจฉัย

นายมนูญกับนางน้ำหวานเป็นสามีภริยากัน  นายมนูญได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางรำพึงภริยาของนายนที  ต่อมานางน้ำหวานจับได้ว่านายมนูญมีพฤติการณ์ดังกล่าว  จึงต้องการฟ้องหย่า  ดังนี้นางน้ำหวานสามารถฟ้องหย่าได้  เพราะทั้งสองเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยปรับเข้ากับเหตุฟ้องหย่าตามบทบัญญัติมาตรา  1516  ตามลำดับความสำคัญดังนี้  คือ

1       การที่นายมนูญไปมีเพศสัมพันธ์กับนางรำพึงภริยาของนายนที  ถือว่านายมนูญเป็นชู้กับนางรำพึง  นางน้ำหวานฟ้องหย่าได้  ตามมาตรา  1516(1)

2       การกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางที่สามีและภริยาจะดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างสงบสุข  หรือขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ร่วมกันอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรยากันอย่างร้ายแรง  นางน้ำหวานจึงฟ้องหย่านายมนูญได้  ตามมาตรา  1516(6)

3       การร่วมประเวณีกับหญิงมีสามี  ถือเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้ภริยาได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง  นางน้ำหวานจึงสามารถฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(2)(ก)  และ

4       เป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรง  นางน้ำหวานฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(3)

สำหรับนางน้ำหวาน  หากจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากทั้งนายมนูญและนางรำพึงด้วย  นางน้ำหวานสามารถกระทำได้  โดยปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา  1523  วรรคแรก  กล่าวคือ  นางน้ำหวานจะต้องฟ้องหย่านายมนูญตามมาตรา  1516(1)  และศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา  1516(1)  จึงจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีและผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น  นางน้ำหวานจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีและนางรำพึงโดยไม่ฟ้องหย่านายมนูญก่อนไม่ได้  (ฎ.2791/2515)

สรุป  นางน้ำหวานฟ้องหย่าได้ตามเหตุฟ้องหย่า  ตามมาตรา  1516(1)  (6)  (2)  (3)  ตามลำดับและมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญและนางรำพึงได้ตามมาตรา  1523  วรรคแรก

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสมควรทำสัญญาหมั้นนางสาวฤดีด้วยแหวนเพชร  1  วง  นางสาวฤดีได้ลาออกจากงานมาช่วยทำงานและอยู่กินด้วยฉันสามีภริยาที่บ้านของนายสมควร  เมื่อใกล้วันจดทะเบียนสมรส  สามีของนางดาราแฟนเก่าป่วยหนักเป็นโรคมะเร็งซึ่งจะเสียชีวิตแน่นอน  นายสมควรยังมีความรักนางดาราอยู่จึงได้ทำสัญญาหมั้นนางดาราด้วยแหวนเพชรและจะสมรสกันในอีก  1  ปีข้างหน้า  และนายสมควรได้ขับไล่นางสาวฤดีไปอยู่กับนางลัดดามารดา  แต่นายสมควรยอมรับผิดจะชดใช้ค่าทดแทนให้นางสาวฤดีเป็นเงิน  300,000  บาท  โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้  หลังจากนั้นนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  นางสาวฤดีจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนอะไรบ้าง  และเมื่อนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย  นางลัดดามารกาจะมีสิทธิอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1440  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(1)          ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น  บิดามารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา  1447  วรรคสอง  สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้  นอกจากค่าทดแทนตามมาตรา  1440(2)  ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท  เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

การที่นายสมควรได้ทำสัญญาหมั้นนางสาวฤดีด้วยแหวนเพชร  1  วง  ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  นางสาวฤดีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนอะไรบ้าง  เห็นว่า  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  การที่สมควรได้ขับไล่นางสาวฤดีกลับไปอยู่กับนางลัดดามารดาในขณะเมื่อใกล้วันจดทะเบียนสมรสนั้น  ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา  1439 เนื่องจากเป็นกรณีที่คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่สมรสกับอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  สำหรับผลของการผิดสัญญาหมั้น  เมื่อกรณีนี้นายสมควรฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น  นางสาวฤดีจึงไม่ต้องคืนแหวนเพชรของหมั้นให้แก่นายสมควรฝ่ายชาย  (ฎ.982/251/)

นอกจากนี้นางสาวฤดียังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา  1440  กล่าวคือ  มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายแก่กายหรือชื่อเสียงตามมาตรา  1440(1)  และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับอาชีพโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสตามมาตรา  1440(3)  ส่วนค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้ใช้จ่าย  หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรตามมาตรา  1440(2)  นั้น  เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวฤดีได้ใช้จ่ายไปในการนี้แต่อย่างใด  จึงไม่มีสิทธิเรียกได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  เมื่อนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย  นางลัดดามารดาจะมีสิทธิอย่างไร  เห็นว่า  สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่โอนหรือตกทอดไปยังทายาทได้คงมีแต่เฉพาะค่าทดแทนตามมาตรา  1440(2)  เท่านั้น  ส่วนค่าทดแทนอื่นๆ  ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท  เป็นสิทธิเฉพาะตัวของชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้นที่จะต้องเรียกร้องเอง  บุคคลอื่นไม่มีสิทธิ  เว้นแต่จะมีการรับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธิเหล่านี้ไว้แล้ว  ทั้งนี้ตามมาตรา  1447  วรรคสอง

กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายสมควรได้ยอมรับผิดจะชดใช้ค่าทดแทนให้นางสาวฤดีเป็นเงิน  300,000  บาท  โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้แล้วก่อนที่นางสาวฤดีจะถึงแก่ความตาย  กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  1447  วรรคสอง  สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา  1440(1)  และมาตรา  1440(3)  ย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนางลัดดามารดาซึ่งเป็นทายาทได้  นางลัดดาจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายสมควรรับผิดชดใช้ค่าทดแทนดังกล่าวได้

สรุป  นางสาวฤดีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา  1440(1)  และมาตรา  1440(3)  และนางลัดดามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนดังกล่าวได้

 

ข้อ  2  นายเอกและนางใจทำสัญญาก่อนสมรสให้นายเอกมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว  หลังจากสมรสนางใจเปิดร้านตัดเสื้อ  นางใจได้นำเงินเดือนของนายเอกที่ได้มาระหว่างสมรสจำนวน  50,000  บาท  ไปซื้อจักรเย็บผ้าเพื่อมาใช้ในร้าน  ต่อมานางใจต้องการเปลี่ยนอาชีพไปขายอาหาร  นางใจจึงขายจักรเย็บผ้าให้กับนางสวยในราคา  40,000  บาท  นางใจได้นำเงินดังกล่าวไปให้นายชอบยืมโดยที่นายเอกไม่ได้รู้เห็นในการให้ยืมเงินนั้น  ต่อมานางใจไปไปทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งเป็นเวลา  5  ปี  เพื่อที่จะมาเปิดร้านอาหารโดยที่นายเอกไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอม  ภายหลังนายเอกทราบเรื่องทั้งหมด  นายเอกอ้างว่านางใจไม่มีอำนาจนำเงินไปให้นายชอบยืมและไปเช่าที่ดินตามลำพังได้  เพราะนายเอกมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาก่อนสมรส  ดังนี้  นายเอกจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ยืมเงินและการเช่าที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว  เครื่องแต่งกาย  หรือเครื่องประดับกายตามสมควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

มาตรา  1472  วรรคแรก  สินส่วนตัวนั้น  ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี  ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี  หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี  ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

มาตรา  1473  สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(2)  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง  สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา  1476/1  วรรคแรก  สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1476  ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา  1465  และมาตรา  1466  ในกรณีดังกล่าวนี้  การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

มาตรา  1480  วรรคแรก  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน  หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา  1476  ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว  หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้  เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว  หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

การที่นางใจนำเงินเดือนของนายเอกจำนวน  50,000  บาท  ที่ได้มาระหว่างสมรสซึ่งถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา  1474(1)  ไปซื้อจักรเย็บผ้าซึ่งเป็นเครื่องมือใช้ในการประกอบอาชีพตัดเสื้อของนางใจ  จักรเย็บผ้าจึงถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนางใจตามมาตรา  1471(2)  แม้จะได้มาระหว่างสมรสโดยการเอาเงินสินสมรสไปซื้อมาก็ตาม  (ฎ.3666  3667/2535)  เมื่อนางใจขายจักรเย็บผ้าได้เงินมา  40,000  บาท  เงินที่ได้จากการขายจักรเย็บผ้าก็คงเป็นสินส่วนตัวของนางใจตามมาตรา  1472  วรรคแรกที่ว่า  สินส่วนตัวนั้น  ถ้าขายได้เป็นเงินมา  เงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว  นางใจจึงมีอำนาจในการจัดการสินส่วนตัวโดยการนำเงินนั้นไปให้นายชอบยืมตามลำพังได้ตามมาตรา  1473  นายเอกจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้เงินไม่ได้  (ฎ.2472/2522)

ส่วนการที่นางใจได้ทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งเป็นเวลา  5  ปี  เพื่อที่จะมาเปิดร้านขายอาหารนั้นไม่ใช่นิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสที่นายเอกมีอำนาจจัดการแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาก่อนสมรสตามมาตรา  1476/1  วรรคแรก  เนื่องจากมิใช่การจัดการสินสมรสที่สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนตามมาตรา  1476  วรรคแรก  (3)  เพราะมิใช่การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า  3  ปี  ดังนั้นนางใจจึงมีอำนาจที่จะกระทำตามลำพังได้ตามมาตรา  1476  วรรคสอง  นายเอกจะฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าที่ดินดังกล่าวตามมาตรา  1480  วรรคแรก  ไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้น  แม้นายเอกจะมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาก่อนสมรสก็ตาม    แต่เมื่อไม่ใช่นิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส  นายเอกจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินและการเช่าที่ดินไม่ได้

สรุป  นายเอกจะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินและการเช่าที่ดินไม่ได้

 

ข้อ  3  ก.  มีที่ดิน  1  แปลง  ข.  มีเงินในธนาคาร  100,000  บาท  ต่อมา  ก.  และ  ข.  ได้จดทะเบียนสมรสกัน  ข.  ได้ถอนเงินจากธนาคาร  50,000  บาท  ไปซื้อต้นมะม่วงในที่ดิน  ก.  เมื่อมะม่วงออกผล  ข.  เก็บไปขายได้เงิน  40,000  บาท  20,000  บาท  นำไปซื้อรถยนต์  อีก  20,000  บาท  ฝากไว้ในธนาคาร  ต่อมา  ข.  เป็นนักเล่นการผันไปยืมเงิน  ค.  มา  200,000  บาท  ข. ไม่ชำระหนี้  ค.  จะบังคับชำระหนี้อย่างไรจาก

(1) เงินในบัญชีธนาคาร  และ/หรือ

(2) รถยนต์

ธงคำตอบ

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

มาตรา  1472  วรรคแรก  สินส่วนตัวนั้น  ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี  ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี  หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี  ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1)  ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(3)  ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

มาตรา  1488  ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส  ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน  เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

มาตรา  1490  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

 (1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว  การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว  แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

วินิจฉัย

หนี้เงิน  200,000  บาท  ที่  ข  ไปยืม  ค  เพื่อมาเล่นการพนันนั้นถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวของ  ข  แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา  1488  ไม่ถือว่าหนี้ร่วมของสามีภริยาตามมาตรา  1490  เนื่องจากไม่ใช่หนี้ตามที่ระบุไว้ใน  (1)  (4)  ของบทบัญญัติดังกล่าว  ดังนั้นแม้จะเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  แต่เมื่อมีวัตถุประสงค์เป็นเรื่องส่วนตัวแล้วย่อมต้องถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัว  (ฎ.159/2537)

เมื่อถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวแล้ว  การบังคับชำระหนี้จึงต้องเป็นไปตามลำดับตามที่มาตรา  1488  กำหนดไว้  คือ  ลำดับแรกให้บังคับชำระหนี้จากเงินฝากในธนาคารที่เป็นชื่อบัญชีของ  ข  ที่เหลืออีก  50,000  บาท  ก่อน  เพราะจากข้อเท็จจริง  เงินฝากในธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ ข  ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส  จึงถือว่าเป็นสินส่วนตัวของ  ข  ตามมาตรา  1471(1)  จึงต้องถูกบังคับชำระหนี้เป็นอันดับแรก

เมื่อบังคับชำระหนี้จากเงินฝากในธนาคารไม่พอชำระหนี้  ค  เจ้าหนี้ก็สามารถบังคับชำระหนี้จากต้นมะม่วงซึ่ง  ข  ได้นำเงินฝากธนาคารที่เป็นสินส่วนตัวมาซื้อ  ต้นมะม่วงย่อมเป็นสินส่วนตัวด้วยตามมาตรา  1472  วรรคแรก

อนึ่งในการนี้  ถ้าบังคับชำระหนี้จากต้นมะม่วงแล้วยังไม่พอชำระหนี้อีก  ค  เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้จากสินสมรสได้  กล่าวคือ  ผลมะม่วงนั้นเป็นดอกผลของสินส่วนตัวที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  จึงถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา  1474(3)  เมื่อถือว่าเป็นสินสมรส  แม้จะได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี  ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี  หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี  ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นก็ย่อมเป็นสินสมรสด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้ตามมาตรา  1474(1)  ดังนั้นเงินฝากจำนวน  20,000  บาทและรถยนต์ถือเป็นสินสมรสอันอาจถูกบังคับชำระหนี้ได้ครึ่งหนึ่งในส่วนของ  ข  ตามมาตรา  1533

สรุป  ค  จะต้องบังคับชำระหนี้จากเงินในบัญชีธนาคารซึ่งเป็นสินส่วนตัวก่อน  หากไม่พอชำระหนี้จึงจะมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากรถยนต์ที่เป็นสินสมรสได้ครึ่งหนึ่งในส่วนของ  ข

 

ข้อ  4  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ต่อมานางไข่หนีไปอยู่กับนายขวดและมีบุตรคือ  หนึ่ง  หลังจากนั้นไม่นานนายไก่ตาย  นางไข่ก็ไปจดทะเบียนสมรสทันทีกับนายขิง  5  เดือนต่อมา  นางไข่คลอดบุตรอีกคือ  สอง  นายขิงรู้สึกว่าตนเป็นคนแสนโง่ถูกนางไข่หลอกลวงจึงหนีนางไข่ไปบวชได้ปีกว่าแล้ว

(1) การสมรสระหว่างนางไข่และนายขิงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(2) หนึ่งต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร

(3) นางไข่จะฟ้องหย่านายขิงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1453  วรรคแรก  หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา  1536  วรรคแรก  เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี  หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี

มาตรา  1537  ในกรณีที่หญิงทำการสมรสใหม่นั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1453  และคลอดบุตรภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดแต่หญิงนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่  และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา  1536  ที่ว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิมมาใช้บังคับ  ทั้งนี้เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาล  แสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่

วินิจฉัย

 (1) นายขิงจดทะเบียนสมรสกับนางไข่เป็นการสมรสฝ่าฝืนมาตรา  1453  วรรคแรก  คือ นางไข่ต้องรอให้ผ่านไป  310  วันก่อน  นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  (การตายเป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา  1501)  แต่การฝ่าฝืนมาตรา  1453  วรรคแรก  กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด  การสมรสดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 (2) หนึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก  เพราะเป็นบุตรที่เกิดระหว่างสมรสตามมาตรา  1536  วรรคแรก  แม้จะเกิดในขณะนางไข่หนีไปอยู่กินกับนายขวด  แต่เมื่อการสมรสระหว่างนายไก่และนางไข่ยังไม่สิ้นสุด  จึงต้องถือว่าหนึ่งเป็นบุตรที่เกิดในระหว่างที่บิดามารดาเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายขิงและนางไข่  เพราะเป็นบุตรที่เกิดจากหญิงที่ทำการสมรสใหม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1453  และคลอดภายใน  310  วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  กรณีเช่นนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา  1537  ว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ซึ่งก็คือ  นายขิง  นอกจากนั้นในกรณีของบุตรที่เกิดจากการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1453  นี้  กฎหมายห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานตามมาตรา  1536  ที่ว่า  เด็กที่เกิดภายใน  310  วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เคยเป็นสามี  คือ  นายไก่มาใช้บังคับ

 (3) การที่นายขิงหนีไปบวชได้ปีกว่านั้น  ถือได้ว่าสามีจงใจละทิ้งร้างภริยาไปเกิน  1  ปีแล้ว  นางไข่จึงฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(4)

สรุป 

(1) การสมรสสมบูรณ์ตามกฎหมาย

(2) หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  ส่วนสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายขิงและนางไข่

(3) นางไข่สามารถฟ้องหย่านายขิงได้

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 2/2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสมบัติตกลงกับ  น.ส.สุดา  ว่าจะมาทำการหมั้นโดยจะมอบแหวนเพชร  1  วง  และทอง  10  บาท  ให้เป็นของหมั้นในวันที่ตกลงมาทำสัญญาหมั้น  นายสมบัติไม่สามารถหาแหวนและทองได้ทันเวลา  แต่  น.ส.เมตตา  เพื่อนของ  น.ส.สุดา  เห็นว่าไม่ควรให้เลื่อนเวลาหมั้นจึงถอดแหวนให้นายสมบัตินำไปสวมให้  น.ส.สุดาก่อน  ซึ่ง  น.ส.สุดา  ก็เห็นด้วย  ส่วนทอง  10  บาทนั้นได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน  170,000  บาทไว้ให้แทน  ต่อมา  น.ส.สุดาได้ลาออกจากงานมาช่วยทำงานที่บ้านของนายสมบัติ  แต่นายสมบัติได้ไปร่วมประเวณีกับ  น.ส.เมตตา  และชวนมาอาศัยอยู่ในบ้านและปฏิเสธไม่สมรสกับ  น.ส.สุดา  น.ส.สุดา  ไม่พอใจจึงต้องการฟ้องเรียกเงินกู้  170,000  บาท  เรียกค่าทดแทนที่ได้ลาออกจากงาน  และฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก  น.ส.เมตตาด้วย  เช่นนี้จะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1437  วรรคแรกและวรรคสอง  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

มาตรา  1440  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา  1445  ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น  เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา  1442  หรือมาตรา  1443  แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การหมั้นจะสมบูรณ์หรือไม่นั้น  ต้องพิจารณาว่า  ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจะสมรสกับหญิงหรือไม่  หรับการส่งมอบหรือการโอนจะเป็นอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น

ทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ในของหมั้นนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นของฝ่ายชายเสมอ  กล่าวคือ  ฝ่ายชายอาจไม่มีทรัพย์สินเงินทองเป็นของตนเองแล้วไปหยิบยืมจากบุคคลอื่นมาใช้เป็นของหมั้น  เช่นนี้  ของหมั้นเป็นสิทธิของหญิงหรือไม่  หรือการหมั้นจะสมบูรณ์หรือไม่  ต้องพิจารณาว่า  ถ้าเจ้าของทรัพย์สินให้ยืมทรัพย์สินไปใช้เป็นของหมั้นชั่วคราว  เมื่อฝ่ายหญิงไม่ทราบ  ของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นสิทธิของฝ่ายหญิง  (ฎ.1198/2492)  แต่ถ้าหญิงก็ทราบว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของฝ่ายชาย  และเจ้าของทรัพย์สินนั้นก็ยังคงต้องการทรัพย์สินนั้นอยู่  กรณีเช่นนี้ถ้าฝ่ายชายส่งมอบทรัพย์สินนี้เป็นของหมั้นให้แก่หญิง  การหมั้นก็คงไม่สมบูรณ์  เพราะไม่อาจถือได้ว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่หญิง ซึ่งทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นสิทธิแก่หญิงได้ตามมาตรา  1437  วรรคสอง 

เมื่อแหวนที่นายสมบัตินำมาหมั้น  เป็นแหวนที่ยืมมาจาก  น.ส.เมตตา  โดย  น.ส.สุดา  ฝ่ายหญิงก็ทราบว่าแหวนดังกล่าวเป็นของ  น.ส.เมตตา  ดังนี้  แหวนที่สวมให้  น.ส.สุดา  จึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ถือว่าฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง  การหมั้นจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา  1437 วรรคแรก

สำหรับสัญญากู้ยืมเงินนั้น  ก็ไม่ถือว่าเป็นการให้ของหมั้นตามกฎหมาย  ทั้งนี้เพราะรูปแบบของการหมั้นตามกฎหมายจะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ  การส่งมอบ  หรือการโอนทรัพย์สิน  รูปแบบของการหมั้นจึงไม่สามารถเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างชายกับหญิงได้  เมื่อสัญญากู้ยืมไม่ถือว่าเป็นของหมั้นตามกฎหมาย  น.ส.สุดา  จึงฟ้องเรียกเงินกู้ไม่ได้ 

ดังนั้น  เมื่อไม่ได้ทำสัญญาหมั้นตามกฎหมาย  การกระทำของนายสมบัติจึงไม่อาจถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นที่ น.ส.สุดา  จะเรียกค่าทดแทนตามมาตรา  1440(3)  ได้

ส่วนการที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก  น.ส.เมตตา  ก็ไม่สามารถฟ้องตามมาตรา  1445  ได้เช่นกัน  ทั้งนี้เพราะสัญญาหมั้นไม่สมบูรณ์

สรุป  น.ส.สุดา  จะฟ้องเรียกเงินกู้  170,000  บาท  เรียกค่าทดแทนที่ได้ลาออกจากงานและฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก  น.ส.เมตตา  ไม่ได้

 

ข้อ  2  นายสอนและนางสร้อยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  นายสอนได้ทำหนังสือและจดทะเบียนให้บ้านและที่ดิน  1  แปลง  ที่เป็นสินสมรสให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสร้อยแต่เพียงผู้เดียว  ต่อมานางสร้อยไปกู้ยืมเงินนายก่อ  จำนวน  10,000  บาท  เพื่อมาจ่ายค่ารักษานางสร้อยที่ประสบอุบัติเหตุ  โดยนายสอนไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด  หลังจากนั้น  นายสอนและนางสร้อยทะเลาะกัน  ทั้งสองได้จดทะเบียนหย่ากัน  หลังจากที่หย่ากันได้  3  เดือน  นายสอนได้มาปรึกษาท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายครอบครัวว่า  นายสอนจะบอกล้างนิติกรรมการให้บ้านและที่ดินที่เป็นสินสมรสกับนางสร้อยได้หรือไม่  และนายสอนต้องร่วมรับผิดในหนี้จำนวน  10,000  บาทที่นางสร้อยยืมมาจากนายก่อหรือไม่  จงให้คำปรึกษาแก่นายสอน

ธงคำตอบ

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1490  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว  การอุปการะเลี้ยงดู  ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

วินิจฉัย

การที่นายสอนได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนให้บ้านและที่ดิน  1  แปลงที่เป็นสินสมรสให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสร้อยแต่เพียงผู้เดียว  กรณีถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา  1469  นายสอนจึงมีสิทธิบอกล้างการให้บ้านและที่ดินในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด  1  ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  หลังจากที่นายสอนและนางสร้อยจดทะเบียนหย่ากันได้  3  เดือน  ซึ่งถือว่าอยู่ภายในกำหนด  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน  นายสอนจึงมีสิทธิบอกล้างการให้บ้านและที่ดินที่เป็นสินสมรสได้

ส่วนการที่นางสร้อยไปกู้ยืมเงินจำนวน  10,000  บาท  เพื่อม่ายค่ารักษานางสร้อยที่ประสบอุบัติเหตุนั้น  กรณีถือว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวที่เกิดในระหว่างสมรส  จึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีภริยาต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา  1490(1)  ทั้งนี้แม้ว่านายสอนและนางสร้อยได้หย่ากันแล้ว  และนายสอนไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการกู้ยืมเงินนั้นก็ตาม  นายสอนก็ต้องรับผิดร่วมกันกับนางสร้อยในหนี้จำนวน  10,000  บาท  ที่นางสร้อยกู้ยืมจากนายก่อ

สรุป  นายสอนบอกล้างนิติกรรมการให้บ้านและที่ดินที่เป็นสินสมรสกับนางสร้อยได้  และนายสอนจะต้องร่วมรับผิดในหนี้จำนวน  10,000 บาท  ที่นางสร้อยยืมมาจากนายก่อ

 

ข้อ  3  นายแสบหลอกนางใสว่าเป็นหนุ่มโสดนางใสจึงจดทะเบียนสมรสด้วย  มาทราบภายหลังว่านายแสบมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วคือ  นางสี  ต่อมานายแสบไปอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับนางแม้วและมีบุตรด้วยกันคือ  ด.ช.เอก  เมื่อนางสีตาย  นายแสบจึงไปจดทะเบียนสมรสกับนางแม้วด้วยความสงสาร

การสมรสระหว่างนายแสบและนางใส  การสมรสระหว่างนายแสบและนางแม้วมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

บุตรที่นางแม้วคลอดมานั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร  ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1501  การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย  การหย่า  หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน  จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

วินิจฉัย

 (1)          การที่นางใสจดทะเบียนสมรสกับนายแสบ  ในขณะที่นายแสบมีภริยาคือ  นางสีอยู่  จึงเป็นการสมรสซ้อนตามมาตรา  1452  มีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

ส่วนการสมรสระหว่างนายแสบและนางแม้วนั้น  เมื่อนางสีถึงแก่ความตาย  การสมรสระหว่างนายแสบกับนางสีย่อมสิ้นสุดลงตามมาตรา  1501  นายแสบไปจดทะเบียนสมรสกับนางแม้วจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด  การสมรสมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ทั้งนี้ตามมาตรา  1547

 (2)          ด.ช.เอก  เป็นบุตรของนายแสบและนางแม้วซึ่งเกิดก่อนที่บิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกัน  ดังนั้น  ด.ช.เอก  จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางแม้วนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา  1546  ที่ว่า  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  และเมื่อนายแสบและนางแม้วจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง  ด.ช.เอก  จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแสบบิดานับตั้งแต่ที่  ด.ช.เอก  เกิด  แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่  ด.ช.เอก  เกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันไม่ได้ตามมาตรา  1547  ประกอบมาตรา  1557

สรุป

(1)          การสมรสระหว่างนายแสบและนางใสเป็นโมฆะ  ส่วนการสมรสระหว่างนายแสบและนางแม้วมีผลสมบูรณ์

(2)          ด.ช.เอก  เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางแม้วนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและเมื่อนางแม้วและนายแสบจดทะเบียนสมรสกัน  ด.ช.เอก  จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแสบนับแต่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันย้อนไปถึงเกิด

 

ข้อ  4  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรด้วยกันคือหนึ่ง  ต่อมานางไข่ป่วยจึงยกนางแดงสาวใช้ให้ทำหน้าที่ภริยาอีกคนหนึ่ง  ต่อมานายไก่ได้ไปรู้จักรักใคร่ชอบพอนางสาวสดใสส่งเสียเลี้ยงดูประหนึ่งเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง

นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่  เพราะนายไก่มีภริยาน้อย  2  คน  คือ  นางแดงและนางสาวสดใสได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร  ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา  1517  วรรคแรก  เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา  1516(1)  และ  (2)  ถ้ามามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี  ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น  ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

มาตรา  1536  วรรคแรก  เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี  หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

 (1) นายไก่และนางไข่เป็นภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  การที่นายไก่มีภริยาน้อย  คือ  นางแดงสาวใช้  กรณีเช่นนี้โดยหลักแล้วนางไข่ย่อมสามารถนำไปเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(1)  แต่อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางไข่ป่วยจึงยกนางแดงสาวใช้ให้ทำหน้าที่ภริยา  กรณีจึงต้องถือว่านางไข่รู้เห็นเป็นใจ  จึงไม่สามารถนำเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1517  วรรคแรก

ส่วนกรณีที่นายไก่ได้ไปอุปการะเลี้ยงดูนางสาวสดใสนั้น  เมื่อนางไข่ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำของนายไก่  นางไข่จึงสามารถยกเหตุที่ว่านี้มาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(1)

 (2) เมื่อหนึ่งเกิดในขณะที่นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  หนึ่งจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  นับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก  เพราะเป็นเด็กที่เกิดระหว่างสมรสตามมาตรา  1536

สรุป 

(1) นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่เพราะมีนางแดงภริยาน้อยไม่ได้  แต่ฟ้องหย่าเพราะนายไก่มีนางสาวสดใสภริยาน้อยได้

(2) หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว S/2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายนพพรและบิดามารดาได้มาทำการสู่ขอนางสาวแววตาเพื่อทำการสมรส  และตกลงกันว่าให้ฝ่ายหญิงจัดเตรียมงานสมรสในพิธีการต่างๆ  รวมทั้งการจัดเลี้ยงมงคลสมรส  ส่วนฝ่ายชายจะจัดเตรียมเรือนหอเพื่อการอยู่กินฉันสามีภริยากัน  เมื่อถึงวันทำพิธีสมรสปรากฏว่านายนพพรไม่ได้มาทำการสมรสตามที่ตกลงกัน  นางสาวแววตาเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส  การจัดงานเลี้ยงมงคลสมรส  ชุดวิวาห์  และอื่นๆอีก  จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงและการเตรียมการสมรสด้วย  เช่นนี้  จะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1440  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(1)          ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น  บิดามารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

วินิจฉัย

โดยหลักของกฎหมาย  ในกรณีที่มีการหมั้น  และการหมั้นมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  คือฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง  เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นแล้ว  เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้น  ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาหมั้นย่อมมีสิทธิเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา  1439  และมาตรา  1440

การที่นายนพพรและบิดามารดาได้มาทำการสู่ขอนางสาวแววตาเพื่อทำการสมรส  แต่ไม่ได้ทำการหมั้นกัน  คือไม่ได้มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่นางสาวแววตา  ดังนั้นการหมั้นจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  คือให้ถือว่าไม่ได้มีการทำสัญญาหมั้นกันแต่อย่างใด

เมื่อถึงวันทำพิธีสมรส  การที่นายนพพรไม่ได้มาทำการสมรสนั้น  โดยหลักแล้วย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีที่จะถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น  และทำให้ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาหมั้นสามารถเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา  1439  และมาตรา  1440  ได้นั้น  ตามกฎหมายจะต้องได้มีการหมั้นกันก่อน  และการหมั้นนั้นสมบูรณ์  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่ได้มีการหมั้นกัน  ดังนั้นการที่นางสาวแววตาเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส  และค่าใช้จ่ายอื่นๆรวมทั้งต้องเสียหายต่อชื่อเสียงนั้น  นางสาวแววตาจึงไม่สามารถฟ้องเรียกให้นายนพพรรับผิดใช้ค่าทดแทนดังกล่าวได้

สรุป  นางสาวแววตาจะเรียกค่าทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชื่อเสียงและค่าใช้จ่ายเนื่องจากการเตรียมการสมรสจากนายนพพรไม่ได้

 

ข้อ  2  นายนิกรชอบนางสาวกาญจนา  แต่นางสาวกาญจนาไม่ชอบนายนิกร  ต่อมานายนิกรจึงได้ข่มขู่อันถึงขนาดให้นางสาวกาญจนาจดทะเบียนสมรสด้วย  แปดเดือนต่อมา  (เดือนกุมภาพันธ์)  นายนิกรได้ปล่อยให้นางสาวกาญจนามีอิสระไปไหนมาไหนได้  นางสาวกาญจนาได้พบเพื่อนเก่าคือนายสมหวังซึ่งเคยชอบพอกันมาก่อน  จึงได้พูดคุยตกลงกันและจดทะเบียนสมรสกันในเดือนสิงหาคม  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ถ้านายนิกรมีบ้านก่อนสมรส  1  หลัง  ได้ให้เช่าได้รับค่าเช่าเดือนละ  10,000  บาท  และนางสาวกาญจนาได้ซื้อสลากออมสินมูลค่า  1  ล้านบาท  ก่อนทำการสมรสกับนายนิกร  และมาได้รับรางวัล  1  ล้านบาท  ในเดือนตุลาคม  (เมื่อทำการสมรสกับนายสมหวังแล้ว)  เช่นนี้  ทรัพย์สินต่างๆจะตกเป็นของใคร  เพราะเหตุใด  ตามกำหมายใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1)  ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(3)  ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1498  การสมรสที่เป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น  ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง  เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น  เมื่อได้เคราะห์ถึงภาระในครอบครัว  ภาระในการหาเลี้ยงชีพ  และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย  ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว

มาตรา  1502  การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา  1507  วรรคแรก  ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส  การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

วินิจฉัย

การที่นายนิกรได้ข่มขู่อันถึงขนาดทำให้นางสาวกาญจนาจดทะเบียนสมรสด้วยเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1507  ย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนาตกเป็นโมฆียะ  แต่การสมรสยังไม่สิ้นสุดลง  เพราะการสมรสจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว  (มาตรา1502)  ดังนั้นเมื่อนางสาวกาญจนาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสมหวังอีก  จึงเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วถือว่าเป็นการสมรสซ้อนที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา  1452  การสมรสระหว่างนางสาวกาญจนากับนายสมหวังจึงเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

และตามข้อเท็จจริง  การที่นายนิกรมีบ้านอยู่ก่อนสมรส  บ้านจึงเป็นสินส่วนตัวของนายนิกร  เพราะเป็นทรัพย์สินที่นายนิกรมีอยู่ก่อนสมรสตามมาตรา  1471(1)  แต่สำหรับค่าเช่าบ้านเดือนละ  10,000  บาท  ที่ได้รับหลังจากสมรส  ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนา  เพราะเป็นทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัวตามมาตรา  1474(3)

สำหรับสลากออมสิน  1  ล้านบาท  ที่นางสาวกาญจนามีอยู่ก่อนสมรส  ย่อมเป็นสินส่วนตัวของนางสาวกาญจนาตามมาตรา  1471(1)  แต่รางวัลจากสลากออมสิน  1  ล้านบาท  เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสตามมาตรา  1474(1)  โดยหลักย่อมเป็นสินสมรสของนางสาวกาญจนากับนายสมหวัง  แต่เมื่อการสมรสระหว่างนางสาวกาญจนากับนายสมหวังเป็นโมฆะ จึงไม่เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา  1498  วรรคแรก  ดังนั้นระหว่างนางสาวกาญจนากับนายสมหวัง  รางวัล  1  ล้านบาท  ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาหลังการสมรสจึงเป็นของนางสาวกาญจนาตามมาตรา  1498  วรรคสอง  แต่ระหว่างนางสาวกาญจนากับนายนิกร  ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส  และเมื่อการสมรสระหว่างทั้งสองยังไม่สิ้นสุดลง  ดังนั้นรางวัล  1  ล้านบาทดังกล่าว  จึงถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนาตามมาตรา  1474(1)  ประกอบมาตรา  1502

สรุป 

บ้าน  เป็นสินส่วนตัวของนายนิกร 

ค่าเช่าบ้าน  เป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนา 

สลากออมสิน  1  ล้านบาท  เป็นสินส่วนตัวของนางสาวกาญจนา 

รางวัลสลากออมสิน  1  ล้านบาท  เป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนา

 

ข้อ  3  นายสมบูรณ์กับนางอรสาเป็นสามีภริยากันแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา  ต่อมานางอรสาได้เก็บเสื้อผ้ากลับไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาตั้งแต่วันที่  1  กุมภาพันธ์  เมื่อถึงวันที่  28  ตุลาคม  นางอรสาได้ฟ้องหย่านายสมบูรณ์ต่อศาล  หลังจากนั้นนายสมบูรณ์ได้ใช้ชีวิตร่วมกับนางสาวดาราไปเที่ยวเตร่กันตลอดเวลากับเพื่อนๆ  ของนางสาวดาราและนายสมบูรณ์  เมื่อไปเที่ยวเตร่นายสมบูรณและนางสาวดาราก็หลับนอนร่วมกันในห้องพักเดียวกันตลอดเวลาเป็นประจำสม่ำเสมอ  นางสาวดาราเองก็กล่าวต่อหน้าเพื่อนๆว่า  นายสมบูรณ์เป็นสามีที่ดีมาก  และในกรณีนี้นางอรสาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดาราจะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1523  วรรคสอง  สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

วินิจฉัย

การที่นายสมบูรณ์สามีของนางอรสาได้ใช้ชีวิตร่วมกับนางสาวดาราซึ่งเห็นได้จากการไปเที่ยวเตร่ร่วมกันกับผู้อื่น  และหลับนอนร่วมกันในห้องพักเดียวกันตลอดเวลาเป็นประจำสม่ำเสมอ  อีกทั้งนางสาวดาราเองก็กล่าวต่อหน้าเพื่อนๆว่านายสมบูรณ์เป็นสามีที่ดี  การกระทำของนางสาวดาราถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับนายสมบูรณ์ในทำนองชู้สาวแล้ว  ดังนั้น  นางอรสาสามารถเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดาราได้ตามมาตรา  1523  วรรคสอง  โดยไม่ต้องฟ้องหย่านายสมบูรณ์

สรุป  นางอรสาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดาราได้

 

ข้อ  4  นายสำเภาได้ทำสัญญาหมั้นนางสาวสุนิสาด้วยแหวนหนึ่งวง  ต่อมาในวันอังคารที่  9  เมษายน  ได้ทำการจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอบางรักเวลา  09.09  น.  เมื่อเดินออกมาจากที่ว่าการอำเภอบางรัก  นายสำเภานำรถยนต์ที่ตั้งใจให้เป็นของหมั้นมาจอดไว้ที่หน้าตึกมอบให้นางสาวสุนิสาดีใจมาก  หลายเดือนต่อมานางสาวสุนิสาได้กลับไปมีความสัมพันธ์กับนายร่าเริงแฟนเก่าเกินกว่าความเหมาะสม  นายสำเภาโกรธมากจึงขอแหวนเพชรและรถยนต์คืน  เช่นนี้จะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3)  ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

(4)  ที่เป็นของหมั้น

วินิจฉัย

การที่นายสำเภาได้ทำสัญญาหมั้นนางสาวสุนิสาด้วยแหวนเพชรหนึ่งวงและได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แก่นางสาวสุนิสาแล้วนั้น  การหมั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  และถือว่าแหวนเพชรที่เป็นของหมั้นนั้นเป็นสินส่วนตัวของนางสาวสุนิสาตามมาตรา  1471(4)

และเมื่อมีการสมรสกันแล้ว  นายสำเภาได้มอบรถยนต์ให้นางสาวสุนิสาจึงเป็นการให้โดยเสน่ห์หารถยนต์จึงเป็นสินส่วนตัวของนางสาวสุนิสาตามมาตรา  1471(3)  และการให้ดังกล่าวนั้น  ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสด้วยตามมาตรา  1469

ต่อมาเมื่อนางสาวสุนิสาได้กลับไปมีความสัมพันธ์กับนายร่าเริงแฟนเก่าทำให้นายสำเภาโกรธจึงขอแหวนเพชรและรถยนต์คืนจากนางสาวสุนิสานั้น  จะเห็นได้ว่านายสำเภาจะเรียกแหวนเพชนคืนไม่ได้  เพราะแหวนเพชรเป็นสินส่วนตัวของนางสาวสุนิสาตามมาตรา  1471(4)  ส่วนรถยนต์นั้น  เมื่อการให้รถยนต์แก่นางสาวสุนิสาเป็นสัญญาระหว่างสมรส  ซึ่งนายสำเภาสามารถบอกล้างได้ในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่ตามมาตรา  1469  ดังนั้น  นายสำเภาจึงเรียกรถยนต์คืนได้  โดยการบอกล้างสัญญาให้ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสนั้น

สรุป  นายสำเภาจะขอแหวนเพชรคืนไม่ได้  แต่ขอรถยนต์คืนได้

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 1/2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสุขสมได้ทำสัญญาหมั้น  น.ส.ดวงตาด้วยแหวนเพชรหนึ่งวงและเงินสด  400,000  บาท  ทั้งสองได้จัดพิธีสมรสกันในวันที่  14 กุมภาพันธ์  2552  ต่อมานายสุขสมได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัดและได้ไปมีความสัมพันธ์หลับนอนกับ  น.ส.อุสา  บิดามารดาของ  น.ส.อุสาจึงให้นายสุขสมจดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.อุสา  เมื่อวันที่  24  มิถุนายน  2552  เมื่อ  น.ส.ดวงตาทราบก็ไม่พอใจต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุขสมได้หรือไม่

ต่อมาเมื่อ  น.ส.อุสาทราบว่านายสุขสมมีภริยาอยู่ก่อนแล้วคือ  น.ส.ดวงตาทำให้ตนเป็นภริยาน้อย  ก็เสียใจจึงได้จดทะเบียนสมรสอยู่กินกับนายเดชโดยไม่ทราบว่านายเดชถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  การสมรสจะมีผลเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1440  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(1)          ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น  บิดามารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

การที่นายสุขสมได้ทำสัญญาหมั้น  น.ส.ดวงตา  และได้จัดพิธีสมรสกันในวันที่  14  กุมภาพันธ์  2552  นั้น  เมื่อไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสตามมาตรา  1457  จึงยังไม่ถือว่าเป็นการสมรส  คือ  ให้ถือว่ายังอยู่ในระหว่างการหมั้นเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อนายสุขสมได้จดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.อุสา  เมื่อวันที่  24  มิถุนายน  2552  การกระทำของนายสุขสมจึงเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา  1439  และ  น.ส.ดวงตาสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ตามมาตรา  1440 

ส่วนกรณีที่  น.ส.อุสาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสุขสมตามมาตรา  1457  นั้น  ถือว่า  น.ส.อุสากับนายสุขสม  เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นเมื่อ  น.ส.อุสาได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนายเดชคนเสมือนไร้ความสามารถ  แม้กฎหมายจะไม่ห้ามคนเสมือนไร้ความสามารถทำการสมรสก็ตาม  แต่การกระทำของ  น.ส.อุสาที่จดทะเบียนสมรสกับนายเดชนั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1452  คือเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว  ซึ่งถือเป็นการสมรสซ้อน  ดังนั้นการสมรสจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

สรุป  น.ส.ดวงตาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุขสมได้

การสมรสระหว่าง  น.ส.อุสากับนายเดชมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ  2  นายสดหมั้นนายใสด้วยแหวนเพชร  1  วง  มูลค่า  1  ล้านบาท  ต่อมานายใสก็ไปจดทะเบียนสมรสกับนางแสงหญิงที่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายหนีไปบวชพระไม่ยอมสึก

 (1)          การหมั้นระหว่างนายสดและนายใสมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  นายสดจะเรียกแหวนเพชรคืนและเรียกค่าทดแทนจากนายใสได้หรือไม่

(2)          การสมรสระหว่างนายใสและนางแสงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  1435  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

 (1)          โดยหลักการหมั้นจะทำได้และมีผลสมบูรณ์ต้องเป็นการหมั้นกันระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อเป็นการหมั้นกันระหว่างชายกับชายคือระหว่างนายสดกับนายใส  การหมั้นจึงตกเป็นโมฆะ  เพราะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1435  และเมื่อการหมั้นเป็นโมฆะ  การที่นายใสได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางแสงจึงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น  นายสดจะเรียกค่าทดแทนจากนายใสไม่ได้  แต่นายใสจะต้องคืนแหวนเพชรให้แก่นายสด

(2)          การที่นางแสงซึ่งมีสามีอยู่แล้วโดยชอบด้วยกฎหมายได้จดทะเบียนสมรสกับนายใส  ถือว่าเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว  (เป็นการสมรสซ้อน)  จึงเป็นการสมรสที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1452  จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

สรุป 

(1)          การหมั้นระหว่างนายสดและนายใสมีผลเป็นโมฆะ  นายสดเรียกแหวนเพชรคืนได้  แต่จะเรียกค่าทดแทนจากนายใสไม่ได้

(2)          การสมรสระหว่างนายใสและนางแสงมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ต่อมานายไก่ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางแอนมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายที เมื่อนางไข่ทราบก็ไม่ว่าอะไรและพร้อมจะรับเด็กและนางแอนมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน  ต่อมานางแอนเหยียดหยามนางไข่อย่างรุนแรง  บางครั้งลามปามไปถึงบรรพบุรุษของนางไข่

 (1)          นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น

(2)          เด็กชายทีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใครนับแต่เมื่อนั้น

ธงคำตอบ

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย  หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ  หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา  1518  สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

 (1)          การที่นายไก่สามีของนางไข่ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางแอนและมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายทีนั้น  เมื่อนางไข่ทราบก็ไม่ว่าอะไรและยังรับเด็กและนางแอนมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน  ถือว่านางไข่ได้ให้อภัยแก่นายไก่แล้ว  ดังนั้นสิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปตามมาตรา  1518

ส่วนการที่นางแอดเหยียดหยามนางไข่และบรรพบุรุษของนางไข่อย่างร้ายแรงนั้น  ก็มิใช่เป็นการกระทำของนายไก่  ดังนั้นจะฟ้องหย่าเพราะเหตุนี้ไม่ได้ตามมาตรา  1516(3)

 (2)          เด็กชายทีซึ่งเกิดจากนางแอนมารดา  เมื่อนางแอนมิได้สมรสกับนายไก่ดังนั้นเด็กชายทีจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางแอนแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา  1546  และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางแอนนับตังแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

สรุป

(1)          นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้

(2)          เด็กชายทีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางแอนนับแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นมารก

 

ข้อ  4  นายสอนและนางสวยเป็นสามีภริยากันตามกำหมาย  นายสอนให้กำไลเพชรที่เป็นสินส่วนตัวของนายสอนแก่นางสวยเป็นของขวัญวันเกิด  ต่อมานางสวยให้กำไลเพชรดังกล่าวแก่นาวสาวเกดน้องสาวที่นางสวยรักมาก  โดยที่นางสาวเกดไม่ทราบว่าเป็นกำไลเพชรที่นายสอนให้นางสวย  หลังจากนั้นนายสอนและนางสวยอยากเปิดร้านขายอาหาร  นางสวยไปทำสัญญาเช่าตึกแถวแห่งหนึ่งเพื่อทำร้านอาหารโดยที่นายสอนไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใด  ต่อมานายสอนโกรธมากเมื่อทราบว่านางสวยให้กำไลเพชรแก่นางสาวเกดและนางสวยได้ไปเช่าตึกแถวโดยไม่ปรึกษาตน  โดยนายสอนเห็นว่าตึกแถวที่นางสวยเช่ามานั้นอยู่ในทำเลที่ไม่ดี  ไม่น่าจะขายอาหารได้  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

 (ก)        นายสอนจะบอกล้างการให้กำไลเพชรแก่นางสวยได้หรือไม่  และกำไลเพชรจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร  เพราะเหตุใด

(ข)        นายสอนจะฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3)          ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง  สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

วินิจฉัย

 (ก)        การที่นายสอนให้กำไลเพชรที่เป็นสินส่วนตัวของนายสอนแก่นางสวยเป็นของขวัญวันเกิดนั้น  ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา  1469  กำไลเพชรจึงตกเป็นสินส่วนตัวของนางสวยตามมาตรา  1471(3)  เพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่ห์หา  นางสวยจึงมีอำนาจจัดการกำไลเพชรโดยให้กำไลเพชรแก่นางสาวเกดได้ตามมาตรา  1473

แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเป็นสัญญาระหว่างสมรส  แม้ว่านางสวยได้ให้กำไลเพชรแก่นางสาวเกดแล้ว  นายสอนก็ยังมีสิทธิบอกล้างการให้กำไลเพชรแก่นางสวยได้  โดยนายสอนสามารถบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตตามมาตรา  1469  ดังนั้นเมื่อนางสาวเกดไม่ทราบว่ากำไลเพชรที่ตนเองได้รับมาจากนางสวยเป็นกำไลเพชรที่นายสอนให้นางสวย  จึงถือว่านางสาวเกดสุจริต  กำไลเพชรจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวเกด

 (ข)        ส่วนการที่นางสวยได้ไปทำสัญญาเช่าตึกแถวเพื่อทำร้านอาหารโดยที่นายสอนไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใดนั้น  การเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ถือว่าเป็นการจัดการสินสมรสตามมาตรา  1476  (8)  ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน  หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง  ดังนั้น  นางสวยจึงสามารถเช่าตึกแถวตามลำพังได้  นายสอนไม่สามารถฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวได้

สรุป

(ก)        นายสอนจะบอกล้างการให้กำไลเพชรแก่นางสวยได้และกำไลเพชรตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวเกด

(ข)        นายสอนจะฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวไม่ได้       

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 2/2553

การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ 1 นายมั่น อายุ 25 ปี ทำสัญญาหมั้น น.ส.ประไพ อายุ 19 ปี 8 เดือน ด้วยแหวนเพชร 1 วง และให้สินสอด 1 แสนบาทแก่บิดามารดาของ น.ส.ประไพ หนึ่งเดือนต่อมาได้มีการจัดพิธีสมรสตามประเพณีและได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา อีกหนึ่งเดือนต่อมาทั้งคู่ได้ไปที่ว่าการอำเภอเพื่อทำการจดทะเบียนสมรส แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้เพราะบิดาได้เดินทางไปทำงานที่จังหวัดอื่น นายมั่นและ น.ส.ประไพได้อยู่กินฉันสามีภริยาต่อมาเป็นเวลา 8 เดือนเศษ ก็ได้ทะเลาะเบาะแว้งกัน นายมั่นได้ไปแจ้งที่อำเภอให้เรียก น.ส.ประไพมาทำการจดทะเบียนสมรส แต่ น.ส.ประไพ ไม่ยินยอมไปจดทะเบียนสมรสด้วย นายมั่นจึงต้องการฟ้องเรียกแหวนหมั้นสินสอดและค่าทดแทนด้วย เช่นนี้ จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

มาตรา 1437 วรรคแรกและวรรคสาม การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา 1454 ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 การหมั้นระหว่างนายมั่นกับ น.ส.ประไพผู้เยาว์สมบูรณ์หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่าเมื่อการหมั้นระหว่างนายมั่นกับ น.ส.ประไพผู้เยาว์ ได้ทำถูกต้องตามบทบัญญัติมาตรา 1436 และมาตรา 1437 วรรคแรก กล่าวคือ เมื่อการหมั้นนั้นบิดามารดาของ น.ส.ประไพผู้เยาว์ได้ให้ความยินยอม และได้มีการส่งมอบแหวนหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว การหมั้นดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ ดังนั้นถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาหมั้นย่อมมีสิทธิเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา 1439 และมาตรา 1440 และในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นจะต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย และฝ่ายชายมีสิทธิเรียกสินสอด (ถ้ามี) คืนได้ตามมาตรา 1437วรรคสาม

2 การที่นายมั่นได้ไปแจ้งที่อำเภอให้เรียก น.ส.ประไพมาทำการสมรส แต่ น.ส.ประไพไม่ยินยอมไปจดทะเบียนสมรสด้วย กรณีนี้ถือว่า น.ส.ประไพเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้นปรากฏว่า การที่ น.ส.ประไพไม่ยินยอมไปจดทะเบียนสมรสกับนายมั่น เป็นเพราะว่าในตอนแรกหลังจากที่ทั้งสองได้หมั้นกันและได้มีการจัดพิธีสมรสตามประเพณี และได้อยู่กินกันฉันสามีภริยานั้น ทั้งสองก็มีเจตนาที่จะสมรสกันตามสัญญาโดยจะเห็นได้จากการที่ทั้งสองได้ไปที่ที่ว่าการอำเภอเพื่อทำการจดทะเบียนสมรสกันแต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ เพราะขณะนั้น น.ส.ประไพยังเป็นผู้เยาว์และไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาเนื่องจากบิดาของ น.ส.ประไพไม่อยู่ ดังนั้นทั้งสองจึงไม่สามารถทำการสมรสกันได้ตามมาตรา 1454 และหลังจากนั้นการที่ทั้งสองได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาเป็นเวลา 8 เดือนเศษ โดยทั้งสองฝ่ายต่างไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรส ดังนั้นเมื่อทั้งสองได้ทะเลาะเบาะแว้งกัน จนเป็นเหตุให้ น.ส.ประไพไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับนายมั่นตามที่นายมั่นเรียกร้องนั้น กรณีนี้จะถือว่า น.ส.ประไพเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 ไม่ได้ (ฎ. 356/2513)

3 เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ไม่ถือว่า น.ส.ประไพเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ดังนั้นนายมั่นไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทน และเรียกของหมั้นคืนจาก น.ส.ประไพตามมาตรา 1439 และมาตรา 1440 และการที่ น.ส.ประไพไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับนายมั่นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ไม่มีการสมรส โดยมีเหตุสำคัญเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบตามมาตรา 1437 วรรคสาม ดังนั้น นายมั่นจะเรียกสินสอดคืนก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุป นายมั่นไม่สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน และไม่สามารถฟ้องเรียกแหวนหมั้นและสินสอดคืน

 

ข้อ 2 นางสาวสมหญิงเห็นนายไก่รูปหล่อ ขับรถยุโรปราคาแพงอาศัยอยู่ในบ้านหลังมโหฬาร จึงหลงรักและคิดว่านายไก่เป็นคนรวยรูปหล่อและรสนิยมดี เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วนางสมหญิงเพิ่งจะทราบความจริงว่านายไก่มีฐานะเป็นเพียงคนขับรถและอาศัยอยู่กับนายจ้าง ซึ่งมักจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำธุรกิจอยู่เป็นประจำ นางสมหญิงจึงมาปรึกษาท่านว่าจะฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสว่าตนถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดได้หรือไม่ หรือมีวิธีการใดที่จะทำให้การสมรสของตนยุติลงโดยไม่ต้องฟ้องศาล

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1503 เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืนมาตรา 1448มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509

มาตรา 1506 วรรคแรก ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นางสมหญิงจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสว่าตนถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดได้หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 1503 ประกอบกับมาตรา 1506 วรรคแรกนั้น ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะนั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรสด้วย แต่ข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า การที่นางสมหญิงได้ทำการสมรสกับนายไก่นั้น เป็นเพราะนางสมหญิงเข้าใจผิดเองว่า นายไก่เป็นคนรวยและรสนิยมดีมิได้เกิดจากกลฉ้อฉลของนายไก่แต่อย่างใด ดังนั้นนางสมหญิงจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้

ส่วนประเด็นต่อมาที่ว่าจะมีวิธีการใดที่จะทำให้การสมรสของนางสมหญิงยุติลงโดยไม่ต้องฟ้องศาลนั้นตามมาตรา 1514 และมาตรา 1515ได้กำหนดวิธีการดังกล่าวไว้แล้ว กล่าวคือ ให้คู่สมรสทั้งสองตกลงหย่ากันโดยความยินยอม โดยการทำเป็นหนังสือหย่าลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนและไปจดทะเบียนการหย่านั้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นางสมหญิงในแต่ละประเด็นดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 3 นายกรและนางนวลเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย หลังจากสมรสนายกรและนางนวลทำสัญญาระหว่างสมรสให้นายกรมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายกรนำเงินโบนัสที่ได้ประจำปีซื้อที่ดินแปลงหนึ่งโดยใส่ชื่อนายกรในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นนายกรทำหนังสือและจดทะเบียนสิทธิอาศัยให้นายโชคญาติของนายกรมีสิทธิอาศัยในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี โดยนางนวลไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมแต่อย่างใด ต่อมานายกรทำสัญญาให้นายชินเพื่อนของนายกรเช่ารถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสเพื่อทำเป็นแท็กซี่เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยนายชินก็ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นสินสมรสของนายกรและนางนวล แต่นางนวลไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการเช่ารถยนต์นั้น นางนวลมาทราบเรื่องราวต่างๆภายหลัง นางนวลโกรธมาก นางนวลจึงอยากฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินแก่นายโชค และการให้เช่ารถยนต์กับนายชิน ดังนี้ นางนวลจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกินหรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 1476/1 วรรคแรก สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

มาตรา 1480 วรรคแรก การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายกรและนางนวลทำสัญญาระหว่างสมรสให้นายกรเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวนั้น สัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ เพราะการที่สามีหรือภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1476ได้ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นสัญญาก่อนสมรสเท่านั้น (มาตรา 1476/1)

เงินโบนัสที่นายกรได้รับประจำปีเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) เมื่อนายกรนำเงินที่เป็นสินสมรสไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งนั้น ที่ดินที่นายกรซื้อมาย่อมถือว่าเป็นสินสมรส และการที่นายกรได้ทำหนังสือและจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินที่เป็นสินสมรสให้แก่นายโชคเป็นระยะเวลา 3 ปีนั้น เป็นนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476(2) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนางนวลไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการจัดการดังกล่าว นางนวลจึงสามารถที่จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินที่เป็นสินสมรสดังกล่าวได้

ส่วนกรณีที่นายกรทำสัญญาให้นายชินเพื่อนของนายกรเช่ารถยนต์ที่เป็นสินสมรสเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางนวลนั้น เมื่อรถยนต์เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์มิใช่อสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ใช่นิติกรรมตามมาตรา 1476(3) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายกรย่อมมีอำนาจในการจัดการให้นายชินเช่ารถยนต์ที่เป็นสินสมรสได้โดยลำพัง นางนวลจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่ารถยนต์ไม่ได้

สรุป นางนวลจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินได้ แต่นางนวลจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่ารถยนต์ไม่ได้

 

ข้อ 4 นายเดือนและนางดาวอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จนมีลูกสาว 1 คน คือเด็กหญิงแจ๋ว นายเดือนและนางดาวจึงได้ไปจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมานางดาวล้มป่วยและเจ็บออดๆแอดๆ ไม่หายขาด นางดาวจึงให้นางแดงสาวใช้ของตนเองไปทำหน้าที่ภริยาอีกคนหนึ่งของนายเดือน ต่อมานายเดือนและนางแดงมีลูกด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายเอ และเด็กชายบี นายเดือนหลงรักนางแดงและลูกชายสองคนมาก นางแดงอยากให้นางดาวหย่าขาดจากนายเดือน จึงด่าว่านางดาวเสียๆหายๆอยู่เสมอ บางครั้งก้าวร้าว ลามปาม หยาบหมิ่นถึงบุพการีของนางดาว นางดาวโกรธมากขอหย่าจากนายเดือน นายเดือนก็ไม่ยอม นางดาวจะฟ้องหย่านายเดือนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และเด็กหญิงแจ๋ว เด็กชายเอ เด็กชายบี เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของใคร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา 1517 วรรคแรก เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ(2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดามารดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ นางดาวจะฟ้องหย่านายเดือนได้หรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ

กรณีแรก

การที่นายเดือนยกย่องนางแดงเป็นภริยาอีกคนหนึ่งนั้น โดยหลักแล้วถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายเดือนได้นางแดงเป็นภริยานั้นก็เพราะนางดาวได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการจัดหาให้ ดังนั้นจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคแรก นางดาวจึงยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

กรณีที่สอง

การที่นางดาวถูกนางแดงทรมานจิตใจ หมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอย่างร้ายแรงและบางครั้งนางแดงก็ได้กระทำต่อบุพการีของนางดาวด้วยนั้น กรณีนี้นางดาวจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นฟ้องหย่านายเดือนไม่ได้เช่นกัน เพราะมิใช่เป็นการกระทำของนายเดือนสามีจึงไม่ถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(3)

ส่วนกรณีที่ว่า เด็กหญิงแจ๋ว เด็กชายเอ เด็กชายบี เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของใครนั้น เห็นว่า เด็กหญิงแจ๋ว แม้จะเกิดมาในขณะที่บิดามารดามิได้สมรสกัน แต่เมื่อในภายหลังบิดามารดาได้สมรสกัน ดังนั้นเด็กหญิงแจ๋วย่อมเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนและนางดาว (ตามมาตรา 1547) แต่เด็กชายเอ และเด็กชายบีนั้นเมื่อเกิดจากมารดาที่มิได้มีการสมรสกับบิดา ดังนั้นเด็กชายเอและเด็กชายบีจึงเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาคือนางแดงแต่เพียงผู้เดียว (ตามมาตรา 1546)

สรุป นางดาวจะฟ้องหย่านายเดือนไม่ได้ และเด็กหญิงแจ๋วเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนและนางดาว ส่วนเด็กชายเอและเด็กชายบีเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของนางแดงแต่เพียงผู้เดียว

LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว s/2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ 1 นายสมบูรณ์ทำสัญญาหมั้น น.ส.ดารา ด้วยแหวนหมั้น 1 วง เมื่อทำสัญญาหมั้นกันแล้ว นายสมบูรณ์ได้ชักชวนให้ น.ส.ดาราลาออกจากงาน และมาอยู่กินกันฉันสามีภริยาที่บ้านของนายสมบูรณ์ ต่อมานางปราณีแฟนเก่าของนายสมบูรณ์ได้ทะเลาะกับสามีและตกลงทำหนังสือหย่ากันโดยตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันเรียบร้อยแล้ว แม้จะเกรงใจทางครอบครัวของนายสมบูรณ์แต่ด้วยเป็นเพื่อนสนิทกัน นางปราณีได้ติดต่อปรึกษาหารือกับนายสมบูรณ์ ทำให้นายสมบูรณ์มีจิตใจรักใคร่จนได้หลับนอนกับนางปราณี น.ส.ดารา ไม่พอใจ และไม่ต้องการสมรสกับนายสมบูรณ์ แต่ต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบูรณ์และนางปราณี จะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา 1443 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายคนนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมบูรณ์ ได้ทำสัญญาหมั้น น.ส.ดารา ด้วยแหวนหมั้น 1 วงนั้น เมื่อมีการส่งมอบแหวนหมั้นให้แก่หญิงแล้ว ย่อมเป็นการหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก

ตามข้อเท็จจริง ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า น.ส.ดารา ไม่ต้องการสมรสกับนายสมบูรณ์จะทำได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสมบูรณ์ได้หลับนอนกับนางปราณีซึ่งทะเลาะเบาะแว้งกับสามีอยู่นั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ซึ่งทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้นตามมาตรา 1443 ดังนั้น น.ส.ดาราจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องสมรสกับนายสมบูรณ์ได้ โดยไม่ต้องคืนแหวนหมั้นให้นายสมบูรณ์

และประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า น.ส.ดาราต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบูรณ์และนางปราณี จะทำได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสมบูรณ์ได้ร่วมหลับนอนกับนางปราณีภริยาของผู้อื่นภายหลังการหมั้นนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงที่นายสมบูรณ์คู่หมั้นได้กระทำภายหลังการหมั้น ตามมาตรา 1444 ทั้งนี้ เพราะนางปราณีเพียงแต่ได้ทำหนังสือหย่ากับสามีแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า จึงทำให้การหย่ายังไม่สมบูรณ์ (มาตรา 1514 และ 1515) การสมรสจึงยังไม่สิ้นสุด การกระทำของนายสมบูรณ์จึงเป็นการทำชู้กับภริยาของผู้อื่น ดังนั้น เมื่อเหตุที่ทำให้ น.ส.ดารา บอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของนายสมบูรณ์ซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น นายสมบูรณ์จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้แก่ น.ส.ดารา นั่นเอง กล่าวคือ น.ส.ดารา มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายแก่กายหรือชื่อเสียงตามมาตรา 1440(1) และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ น.ส.ดาราได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส คือการที่ตนต้องลาออกจากงานตามมาตรา 1440(3) ส่วนค่าทดแทนเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้ใช้จ่าย หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริต และตามสมควรตามมาตรา 1440(2) นั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า น.ส.ดาราได้ใช้จ่ายไปในการนี้จึงไม่มีสิทธิเรียก

ส่วนกรณีของนางปราณีนั้น การที่นางปราณีร่วมหลับนอนกับนายสมบูรณ์ นางปราณีย่อมรู้หรือควรจะรู้ว่านายสมบูรณ์เป็นคู่หมั้นของ น.ส.ดารา เพราะนางปราณีเป็นแฟนเก่าและเป็นเพื่อนสนิทของนายสมบูรณ์ ดังนั้น น.ส.ดารา จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากนางปราณีผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนได้เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1443 แล้ว (มาตรา 1445)

สรุป น.ส.ดารา สามารถบอกเลิกสัญญาหมั้นเพื่อไม่ต้องสมรสกับนายสมบูรณ์ และฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบูรณ์และนางปราณีได้

 

ข้อ 2 นายนพพรได้ข่มขู่อันถึงขนาดให้ น.ส.เมตตา จดทะเบียนสมรสด้วย เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วนายนพพรได้ยกที่ดินหนึ่งแปลงให้ น.ส.เมตตา และยกรถยนต์ 1 คัน ให้บิดาของ น.ส.เมตตา สองเดือนต่อมา น.ส.เมตตาได้หนีพ้นจากการข่มขู่ของนายนพพร อีกสองเดือนต่อมา น.ส.เมตตาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสุชาติซึ่งเคยชอบพอกัน แต่ก็ไม่ทราบว่านายสุชาติถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ในระหว่างนั้นเอง น.ส.เมตตาได้ขายที่ดินให้แก่ น.ส.อุไร เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย นายนพพรไม่พอใจจึงต้องการบอกล้างการให้ที่ดินและรถยนต์ เช่นนี้ จะทำได้หรือไม่ และการสมรสจะมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 521 อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น

มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ

(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

(3) ถ้าผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมอบมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

มาตรา 1502 การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา 1507 วรรคแรก ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนพพรได้ข่มขู่อันถึงขนาดทำให้ น.ส.เมตตา จดทะเบียนสมรสด้วย ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1507 ย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายนพพรกับ น.ส.เมตตาตกเป็นโมฆียะ แต่การสมรสยังไม่สิ้นสุดลง เพราะการสมรสจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว ตามมาตรา 1502

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว นายนพพรได้ยกที่ดินหนึ่งแปลงให้ น.ส.เมตตา การให้ที่ดินดังกล่าว จึงถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 ที่ดินจึงตกเป็นสินส่วนตัวของ น.ส.เมตตา ตามมาตรา 1471(3) เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา น.ส.เมตตาจึงมีอำนาจจัดการได้โดยลำพังตามมาตรา 1473 ดังนั้น น.ส.เมตตา จึงมีสิทธิขายที่ดินให้แก่ น.ส.อุไรได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นสัญญาระหว่างสมรส แม้ว่า น.ส.เมตตา ได้ขายที่ดินให้แก่ น.ส.อุไรไปแล้ว นายนพพรก็ยังมีสิทธิบอกล้างการให้ที่ดินแก่ น.ส.เมตตาได้ โดยนายนพพรสามารถบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตตามมาตรา 1469 เมื่อ น.ส.อุไรไม่ทราบว่าที่ดินที่ตนซื้อมาจาก น.ส.เมตตาเป็นที่ดินที่นายนพพรยกให้ น.ส.เมตตา จึงถือว่า น.ส.อุไรสุจริต ดังนั้น การที่นายนพพรใช้สิทธิบอกล้างการให้ที่ดินซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของ น.ส.อุไร กล่าวคือ น.ส.อุไรยังคงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น นายนพพรจะเรียกที่ดินคืนจาก น.ส.อุไรไม่ได้

ส่วนการที่นายนพพร ยกรถยนต์ให้บิดาของ น.ส.เมตตานั้น ถือเป็นการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 521 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบิดาของ น.ส.เมตตา ได้ประพฤติเนรคุณต่อนายนพพรผู้ให้ตามมาตรา 531 แต่อย่างใด ดังนั้น นายนพพรจะบอกล้างการให้รถยนต์ดังกล่าวไม่ได้

และกรณีการสมรสระหว่าง น.ส.เมตตา กับนายสุชาตินั้น ถือเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 กล่าวคือ เป็นกรณีที่ น.ส.เมตตาทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ (สมรสซ้อน) เพราะศาลยังไม่ได้มีการพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายนพพรกับ น.ส.เมตตา ดังนั้น การสมรสระหว่าง น.ส.เมตตากับนายสุชาติจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

สรุป นายนพพรบอกล้างการให้ที่ดินได้ แต่ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ น.ส.อุไร และจะบอกล้างการให้รถยนต์ไม่ได้ ส่วนกรณีการสมรสนั้น การสมรสระหว่างนายนพพรกับ น.ส.เมตตามีผลเป็นโมฆียะ แต่การสมรสระหว่าง น.ส.เมตตากับนายสุชาติ มีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3 นายสกลจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.รัตนาโดยทราบดีว่า น.ส.รัตนาได้เคยอยู่กินกับนายมนูญมาก่อน ต่อมานายมนูญได้พยายามกลับมาตีสนิทขอคืนดี และได้ใช้กำลังปลุกปล้ำข่มขืน น.ส.รัตนา นายมนูญให้สัญญาว่าจะรับผิดชอบดูแล น.ส.รัตนาต่อไป นายสกลโกรธมากจึงต้องการฟ้องหย่า แต่ น.ส.รัตนาต่อสู้ว่านายสกลทราบดีอยู่แล้วว่า น.ส.รัตนาเคยอยู่กินกับนายมนูญ ดังนี้ นายสกลจะฟ้องหย่า น.ส.รัตนาได้หรือไม่ และจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

มาตรา 1517 วรรคแรก เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ(2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

มาตรา 1523 วรรคสองและวรรคสาม สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516(1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมนูญได้ใช้กำลังปลุกปล้ำข่มขืน น.ส.รัตนานั้น ไม่ถือว่า น.ส.รัตนาเป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับนายมนูญเป็นอาจิณตามมาตรา 1516(1) และไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ น.ส.รัตนาประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้นายสกลซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516(2)(ก) ดังนั้น นายสกลจะฟ้องหย่า น.ส.รัตนาไม่ได้

และการที่ น.ส.รัตนาได้ต่อสู้ว่านายสกลทราบดีอยู่แล้วว่า น.ส.รัตนาได้เคยอยู่กินกับนายมนูญมาก่อน ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1517 วรรคแรก และมาตรา 1523 วรรคสาม ที่จะถือว่าเป็นการที่สามีคือนายสกลได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของนายมนูญ

ดังนั้น เมื่อการกระทำของนายมนูญที่ปลุกปล้ำข่มขืน น.ส.รัตนาซึ่งถือว่าเป็นการล่วงเกิน น.ส.รัตนา ภริยาของนายสกลไปในทำนองชู้สาว นายสกลจึงสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้ตามมาตรา 1523 วรรคสอง

สรุป นายสกลจะฟ้องหย่า น.ส.รัตนาไม่ได้ แต่ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้

 

ข้อ 4 นายถวิลกับนางอำไพเป็นสามีภริยากัน ต่อมาได้ทำบันทึกเป็นสัญญาระหว่างสมรสให้นางอำไพ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของนายถวิล โดยมีข้อตกลงกันว่าจะไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงในสัญญาระหว่างสมรสนี้ ต่อมานายถวิลและนางอำไพทะเลาะกัน นายถวิลจึงขอบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสที่ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสให้แก่นางอำไพ แต่นางอำไพไม่สนใจได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายสมคิดโดยอ้างว่า ได้ทำข้อตกลงกันไว้ไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงในสัญญาระหว่างสมรสไว้แล้วจึงทำได้โดยลำพัง เพราะเป็นสินส่วนตัวของตน เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

มาตรา 1480 วรรคแรก การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายถวิลทำบันทึกเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 ให้นางอำไพมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของนายถวิล โดยมีข้อตกลงกันว่าจะไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงในสัญญาระหว่างสมรสนี้นั้น ย่อมทำให้ที่ดินสินสมรสทั้งหมดตกเป็นสินส่วนตัวของนางอำไพตามมาตรา 1471(3) เพราะถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา นางอำไพจึงมีอำนาจจัดการที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวนี้ได้ตามลำพังตามมาตรา 1473

แต่อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 โดยตกลงกันไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงนั้นไม่สามารถทำได้ (ฎ. 5974/2538) ดังนั้น นายถวิลจึงขอบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสได้ในระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 และเมื่อบอกล้างสัญญาแล้วย่อมทำให้ที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นสินสมรสเช่นเดิม

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางอำไพได้โอนขายที่ดินสินสมรสดังกล่าวให้กับนายสมคิดโดยลำพังจึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1476(1) ที่กำหนดว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายถวิลจึงมีสิทธิฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480

แต่อย่างไรก็ดี หากนายสมคิดได้มาซื้อที่ดินสินสมรสนี้ไปโดยสุจริต กล่าวคือ ไม่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายถวิลกับนางอำไพ ดังนี้ นายถวิลย่อมไม่สามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินได้เพราะบทบัญญัติมาตรา 1480 นี้ คุ้มครองบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

สรุป กรณีดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่า นายถวิลสามารถบอกเลิกสัญญาระหว่างสมรสได้ และสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างนางอำไพกับนายสมคิดได้ เว้นแต่ถ้านายสมคิดจะได้ซื้อที่ดินไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นายถวิลจะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนไม่ได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!