การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสมควรทำสัญญาหมั้นนางสาวฤดีด้วยแหวนเพชร 1 วง นางสาวฤดีได้ลาออกจากงานมาช่วยทำงานและอยู่กินด้วยฉันสามีภริยาที่บ้านของนายสมควร เมื่อใกล้วันจดทะเบียนสมรส สามีของนางดาราแฟนเก่าป่วยหนักเป็นโรคมะเร็งซึ่งจะเสียชีวิตแน่นอน นายสมควรยังมีความรักนางดาราอยู่จึงได้ทำสัญญาหมั้นนางดาราด้วยแหวนเพชรและจะสมรสกันในอีก 1 ปีข้างหน้า และนายสมควรได้ขับไล่นางสาวฤดีไปอยู่กับนางลัดดามารดา แต่นายสมควรยอมรับผิดจะชดใช้ค่าทดแทนให้นางสาวฤดีเป็นเงิน 300,000 บาท โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้ หลังจากนั้นนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นางสาวฤดีจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนอะไรบ้าง และเมื่อนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย นางลัดดามารกาจะมีสิทธิอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
มาตรา 1447 วรรคสอง สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้ นอกจากค่าทดแทนตามมาตรา 1440(2) ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
วินิจฉัย
การที่นายสมควรได้ทำสัญญาหมั้นนางสาวฤดีด้วยแหวนเพชร 1 วง ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นางสาวฤดีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนอะไรบ้าง เห็นว่า เมื่อมีการหมั้นแล้ว การที่สมควรได้ขับไล่นางสาวฤดีกลับไปอยู่กับนางลัดดามารดาในขณะเมื่อใกล้วันจดทะเบียนสมรสนั้น ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 เนื่องจากเป็นกรณีที่คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่สมรสกับอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร สำหรับผลของการผิดสัญญาหมั้น เมื่อกรณีนี้นายสมควรฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น นางสาวฤดีจึงไม่ต้องคืนแหวนเพชรของหมั้นให้แก่นายสมควรฝ่ายชาย (ฎ.982/251/)
นอกจากนี้นางสาวฤดียังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1440 กล่าวคือ มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายแก่กายหรือชื่อเสียงตามมาตรา 1440(1) และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับอาชีพโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสตามมาตรา 1440(3) ส่วนค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้ใช้จ่าย หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรตามมาตรา 1440(2) นั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวฤดีได้ใช้จ่ายไปในการนี้แต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิเรียกได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า เมื่อนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย นางลัดดามารดาจะมีสิทธิอย่างไร เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่โอนหรือตกทอดไปยังทายาทได้คงมีแต่เฉพาะค่าทดแทนตามมาตรา 1440(2) เท่านั้น ส่วนค่าทดแทนอื่นๆ ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท เป็นสิทธิเฉพาะตัวของชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้นที่จะต้องเรียกร้องเอง บุคคลอื่นไม่มีสิทธิ เว้นแต่จะมีการรับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธิเหล่านี้ไว้แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1447 วรรคสอง
กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสมควรได้ยอมรับผิดจะชดใช้ค่าทดแทนให้นางสาวฤดีเป็นเงิน 300,000 บาท โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้แล้วก่อนที่นางสาวฤดีจะถึงแก่ความตาย กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 1447 วรรคสอง สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1440(1) และมาตรา 1440(3) ย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนางลัดดามารดาซึ่งเป็นทายาทได้ นางลัดดาจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายสมควรรับผิดชดใช้ค่าทดแทนดังกล่าวได้
สรุป นางสาวฤดีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1440(1) และมาตรา 1440(3) และนางลัดดามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนดังกล่าวได้