การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ 1 นายมั่น อายุ 25 ปี ทำสัญญาหมั้น น.ส.ประไพ อายุ 19 ปี 8 เดือน ด้วยแหวนเพชร 1 วง และให้สินสอด 1 แสนบาทแก่บิดามารดาของ น.ส.ประไพ หนึ่งเดือนต่อมาได้มีการจัดพิธีสมรสตามประเพณีและได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา อีกหนึ่งเดือนต่อมาทั้งคู่ได้ไปที่ว่าการอำเภอเพื่อทำการจดทะเบียนสมรส แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้เพราะบิดาได้เดินทางไปทำงานที่จังหวัดอื่น นายมั่นและ น.ส.ประไพได้อยู่กินฉันสามีภริยาต่อมาเป็นเวลา 8 เดือนเศษ ก็ได้ทะเลาะเบาะแว้งกัน นายมั่นได้ไปแจ้งที่อำเภอให้เรียก น.ส.ประไพมาทำการจดทะเบียนสมรส แต่ น.ส.ประไพ ไม่ยินยอมไปจดทะเบียนสมรสด้วย นายมั่นจึงต้องการฟ้องเรียกแหวนหมั้นสินสอดและค่าทดแทนด้วย เช่นนี้ จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

มาตรา 1437 วรรคแรกและวรรคสาม การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา 1454 ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 การหมั้นระหว่างนายมั่นกับ น.ส.ประไพผู้เยาว์สมบูรณ์หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่าเมื่อการหมั้นระหว่างนายมั่นกับ น.ส.ประไพผู้เยาว์ ได้ทำถูกต้องตามบทบัญญัติมาตรา 1436 และมาตรา 1437 วรรคแรก กล่าวคือ เมื่อการหมั้นนั้นบิดามารดาของ น.ส.ประไพผู้เยาว์ได้ให้ความยินยอม และได้มีการส่งมอบแหวนหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว การหมั้นดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ ดังนั้นถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาหมั้นย่อมมีสิทธิเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา 1439 และมาตรา 1440 และในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นจะต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย และฝ่ายชายมีสิทธิเรียกสินสอด (ถ้ามี) คืนได้ตามมาตรา 1437วรรคสาม

2 การที่นายมั่นได้ไปแจ้งที่อำเภอให้เรียก น.ส.ประไพมาทำการสมรส แต่ น.ส.ประไพไม่ยินยอมไปจดทะเบียนสมรสด้วย กรณีนี้ถือว่า น.ส.ประไพเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้นปรากฏว่า การที่ น.ส.ประไพไม่ยินยอมไปจดทะเบียนสมรสกับนายมั่น เป็นเพราะว่าในตอนแรกหลังจากที่ทั้งสองได้หมั้นกันและได้มีการจัดพิธีสมรสตามประเพณี และได้อยู่กินกันฉันสามีภริยานั้น ทั้งสองก็มีเจตนาที่จะสมรสกันตามสัญญาโดยจะเห็นได้จากการที่ทั้งสองได้ไปที่ที่ว่าการอำเภอเพื่อทำการจดทะเบียนสมรสกันแต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ เพราะขณะนั้น น.ส.ประไพยังเป็นผู้เยาว์และไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาเนื่องจากบิดาของ น.ส.ประไพไม่อยู่ ดังนั้นทั้งสองจึงไม่สามารถทำการสมรสกันได้ตามมาตรา 1454 และหลังจากนั้นการที่ทั้งสองได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาเป็นเวลา 8 เดือนเศษ โดยทั้งสองฝ่ายต่างไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรส ดังนั้นเมื่อทั้งสองได้ทะเลาะเบาะแว้งกัน จนเป็นเหตุให้ น.ส.ประไพไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับนายมั่นตามที่นายมั่นเรียกร้องนั้น กรณีนี้จะถือว่า น.ส.ประไพเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 ไม่ได้ (ฎ. 356/2513)

3 เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ไม่ถือว่า น.ส.ประไพเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ดังนั้นนายมั่นไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทน และเรียกของหมั้นคืนจาก น.ส.ประไพตามมาตรา 1439 และมาตรา 1440 และการที่ น.ส.ประไพไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับนายมั่นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ไม่มีการสมรส โดยมีเหตุสำคัญเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบตามมาตรา 1437 วรรคสาม ดังนั้น นายมั่นจะเรียกสินสอดคืนก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุป นายมั่นไม่สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน และไม่สามารถฟ้องเรียกแหวนหมั้นและสินสอดคืน

 

ข้อ 2 นางสาวสมหญิงเห็นนายไก่รูปหล่อ ขับรถยุโรปราคาแพงอาศัยอยู่ในบ้านหลังมโหฬาร จึงหลงรักและคิดว่านายไก่เป็นคนรวยรูปหล่อและรสนิยมดี เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วนางสมหญิงเพิ่งจะทราบความจริงว่านายไก่มีฐานะเป็นเพียงคนขับรถและอาศัยอยู่กับนายจ้าง ซึ่งมักจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำธุรกิจอยู่เป็นประจำ นางสมหญิงจึงมาปรึกษาท่านว่าจะฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสว่าตนถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดได้หรือไม่ หรือมีวิธีการใดที่จะทำให้การสมรสของตนยุติลงโดยไม่ต้องฟ้องศาล

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1503 เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืนมาตรา 1448มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509

มาตรา 1506 วรรคแรก ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นางสมหญิงจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสว่าตนถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดได้หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 1503 ประกอบกับมาตรา 1506 วรรคแรกนั้น ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะนั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรสด้วย แต่ข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า การที่นางสมหญิงได้ทำการสมรสกับนายไก่นั้น เป็นเพราะนางสมหญิงเข้าใจผิดเองว่า นายไก่เป็นคนรวยและรสนิยมดีมิได้เกิดจากกลฉ้อฉลของนายไก่แต่อย่างใด ดังนั้นนางสมหญิงจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้

ส่วนประเด็นต่อมาที่ว่าจะมีวิธีการใดที่จะทำให้การสมรสของนางสมหญิงยุติลงโดยไม่ต้องฟ้องศาลนั้นตามมาตรา 1514 และมาตรา 1515ได้กำหนดวิธีการดังกล่าวไว้แล้ว กล่าวคือ ให้คู่สมรสทั้งสองตกลงหย่ากันโดยความยินยอม โดยการทำเป็นหนังสือหย่าลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนและไปจดทะเบียนการหย่านั้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นางสมหญิงในแต่ละประเด็นดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 3 นายกรและนางนวลเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย หลังจากสมรสนายกรและนางนวลทำสัญญาระหว่างสมรสให้นายกรมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายกรนำเงินโบนัสที่ได้ประจำปีซื้อที่ดินแปลงหนึ่งโดยใส่ชื่อนายกรในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นนายกรทำหนังสือและจดทะเบียนสิทธิอาศัยให้นายโชคญาติของนายกรมีสิทธิอาศัยในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี โดยนางนวลไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมแต่อย่างใด ต่อมานายกรทำสัญญาให้นายชินเพื่อนของนายกรเช่ารถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสเพื่อทำเป็นแท็กซี่เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยนายชินก็ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นสินสมรสของนายกรและนางนวล แต่นางนวลไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการเช่ารถยนต์นั้น นางนวลมาทราบเรื่องราวต่างๆภายหลัง นางนวลโกรธมาก นางนวลจึงอยากฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินแก่นายโชค และการให้เช่ารถยนต์กับนายชิน ดังนี้ นางนวลจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกินหรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 1476/1 วรรคแรก สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

มาตรา 1480 วรรคแรก การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายกรและนางนวลทำสัญญาระหว่างสมรสให้นายกรเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวนั้น สัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ เพราะการที่สามีหรือภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1476ได้ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นสัญญาก่อนสมรสเท่านั้น (มาตรา 1476/1)

เงินโบนัสที่นายกรได้รับประจำปีเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) เมื่อนายกรนำเงินที่เป็นสินสมรสไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งนั้น ที่ดินที่นายกรซื้อมาย่อมถือว่าเป็นสินสมรส และการที่นายกรได้ทำหนังสือและจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินที่เป็นสินสมรสให้แก่นายโชคเป็นระยะเวลา 3 ปีนั้น เป็นนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476(2) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนางนวลไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการจัดการดังกล่าว นางนวลจึงสามารถที่จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินที่เป็นสินสมรสดังกล่าวได้

ส่วนกรณีที่นายกรทำสัญญาให้นายชินเพื่อนของนายกรเช่ารถยนต์ที่เป็นสินสมรสเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางนวลนั้น เมื่อรถยนต์เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์มิใช่อสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ใช่นิติกรรมตามมาตรา 1476(3) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายกรย่อมมีอำนาจในการจัดการให้นายชินเช่ารถยนต์ที่เป็นสินสมรสได้โดยลำพัง นางนวลจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่ารถยนต์ไม่ได้

สรุป นางนวลจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยในที่ดินได้ แต่นางนวลจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่ารถยนต์ไม่ได้

 

ข้อ 4 นายเดือนและนางดาวอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จนมีลูกสาว 1 คน คือเด็กหญิงแจ๋ว นายเดือนและนางดาวจึงได้ไปจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมานางดาวล้มป่วยและเจ็บออดๆแอดๆ ไม่หายขาด นางดาวจึงให้นางแดงสาวใช้ของตนเองไปทำหน้าที่ภริยาอีกคนหนึ่งของนายเดือน ต่อมานายเดือนและนางแดงมีลูกด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายเอ และเด็กชายบี นายเดือนหลงรักนางแดงและลูกชายสองคนมาก นางแดงอยากให้นางดาวหย่าขาดจากนายเดือน จึงด่าว่านางดาวเสียๆหายๆอยู่เสมอ บางครั้งก้าวร้าว ลามปาม หยาบหมิ่นถึงบุพการีของนางดาว นางดาวโกรธมากขอหย่าจากนายเดือน นายเดือนก็ไม่ยอม นางดาวจะฟ้องหย่านายเดือนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และเด็กหญิงแจ๋ว เด็กชายเอ เด็กชายบี เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของใคร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา 1517 วรรคแรก เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ(2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดามารดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ นางดาวจะฟ้องหย่านายเดือนได้หรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ

กรณีแรก

การที่นายเดือนยกย่องนางแดงเป็นภริยาอีกคนหนึ่งนั้น โดยหลักแล้วถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายเดือนได้นางแดงเป็นภริยานั้นก็เพราะนางดาวได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการจัดหาให้ ดังนั้นจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคแรก นางดาวจึงยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

กรณีที่สอง

การที่นางดาวถูกนางแดงทรมานจิตใจ หมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอย่างร้ายแรงและบางครั้งนางแดงก็ได้กระทำต่อบุพการีของนางดาวด้วยนั้น กรณีนี้นางดาวจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นฟ้องหย่านายเดือนไม่ได้เช่นกัน เพราะมิใช่เป็นการกระทำของนายเดือนสามีจึงไม่ถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(3)

ส่วนกรณีที่ว่า เด็กหญิงแจ๋ว เด็กชายเอ เด็กชายบี เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของใครนั้น เห็นว่า เด็กหญิงแจ๋ว แม้จะเกิดมาในขณะที่บิดามารดามิได้สมรสกัน แต่เมื่อในภายหลังบิดามารดาได้สมรสกัน ดังนั้นเด็กหญิงแจ๋วย่อมเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนและนางดาว (ตามมาตรา 1547) แต่เด็กชายเอ และเด็กชายบีนั้นเมื่อเกิดจากมารดาที่มิได้มีการสมรสกับบิดา ดังนั้นเด็กชายเอและเด็กชายบีจึงเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาคือนางแดงแต่เพียงผู้เดียว (ตามมาตรา 1546)

สรุป นางดาวจะฟ้องหย่านายเดือนไม่ได้ และเด็กหญิงแจ๋วเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนและนางดาว ส่วนเด็กชายเอและเด็กชายบีเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของนางแดงแต่เพียงผู้เดียว

Advertisement