การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสุธีอายุ 21 ปี ทำสัญญาหมั้น น.ส.รัศมี อายุ 17 ปี ด้วยแหวนเพชร 1 วง โดยบิดามารดาให้ความยินยอมถูกต้อง น.ส.รัศมีได้แอบไปเที่ยวเตร่กับนายสมบัติอายุ 21 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุธีด้วย จนเกินเลยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันและตั้งครรภ์ นายสมบัติเห็นว่า น.ส.รัศมีตั้งครรภ์แล้วจึงตัดสินใจจดทะเบียนสมรสด้วย แต่บิดามารดาของ น.ส.รัศมีไม่เห็นด้วย จึงต้องการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรส เช่นนี้ นายสุธีต้องการฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนและฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติ และบิดาของ น.ส.รัศมีจะฟ้องเพิกถอนการสมรสได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ
มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ
มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี
มาตรา 1454 ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1509 การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ
มาตรา 1510 วรรคแรกและวรรคสอง การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้
สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์
วินิจฉัย
การที่นายสุธีอายุ 21 ปี ทำสัญญาหมั้น น.ส.รัศมีอายุ 17 ปี โดยบิดามารดาให้ความยินยอมถูกต้องตามมาตรา 1435 วรรคแรกและมาตรา 1436(1) และมีการส่งมอบแหวนเพชร 1 วง เป็นของหมั้น ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อมีการหมั้นแล้ว การที่ น.ส.รัศมีไปจดทะเบียนสมรสกับนายสมบัติ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการผิดสัญญาหมั้น ผลทางกฎหมายคือ
1 นายสุธี คู่หมั้นสามารถฟ้องเรียกแหวนเพชนอันเป็นของหมั้นคืนได้ เพราะเป็นกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น กฎหมายบังคับให้ฝ่ายหญิงคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย ตามมาตรา 1439 (ส่วนนายสุธีจะเรียกค่าทดแทน ตามมาตรา 1440 ได้หรือไม่นั้น ไม่อยู่ในประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย) และ
2 การที่ น.ส.รัศมีได้แอบไปเที่ยวเตร่กับนายสมบัติ ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุธีจนเกินเลยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันและตั้งครรภ์ นายสุธีสามารถเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติได้ ตามมาตรา 1445 เพราะนายสมบัติเป็นเพื่อนของนายสุธีจึงควรจะรู้ได้ว่า น.ส.รัศมีหมั้นกับนายสุธีอยู่แล้วยังไปร่วมประเวณีด้วยอีก แต่ทั้งนี้นายสุธีจะต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น ตามมาตรา 1442 ก่อน
สำหรับการจดทะเบียนสมรสระหว่างนายสมบัติและ น.ส.รัศมี โดยบิดามารดาของ น.ส.รัศมีไม่เห็นด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436(1) การสมรสนี้จึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 1509 ซึ่งมาตรา 1510 วรรคแรก กำหนดให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา 1451 ประกอบมาตรา 1436 เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้ ดังนั้น โดยหลักแล้วบิดามารดาของ น.ส.รัศมีสามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะได้ แต่กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส.รัศมีตั้งครรภ์ สิทธิขอเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ ตามมาตรา 1509 จึงเป็นอันระงับสิ้นไป ทั้งนี้ไม่ว่า น.ส.รัศมีจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือไม่ก็ตาม การสมรสจึงสมบูรณ์ตลอดไป
สรุป นายสุธีฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนจาก น.ส.รัศมีได้และเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติได้ ส่วนบิดามารดาของ น.ส.รัศมีจะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสไม่ได้