LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน  เอกลงหุ้นด้วยเงินจำนวน  5  แสนบาท  โทลงหุ้นด้วยแรงงานตีราคาค่าแรง  3  แสนบาท  ส่วนตรีได้กู้ยืมเงินจากจัตวามา  1  ล้านบาท  และได้นำมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนี้  5  แสนบาท

ห้างหุ้นส่วนได้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้วมีโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ห้างฯมีวัตถุประสงค์ตั้งโรงสีข้าว  รับจ้างสีข้าว  ขายข้าวเปลือก  ข้าวสารและรับจำนำข้าว  ระหว่างที่ดำเนินกิจการ  โทได้เช่าที่ดินของแดงเพื่อทำโกดังเก็บข้าว  ต่อมามีขาวมาขอเข้าหุ้นด้วยอีกคนหนึ่งโดยเอก  โท  และตรีไม่ขัดข้อง  ขาวได้นำเงินมาลงหุ้น  5  แสนบาท  แต่โทยังไม่ได้ไปจดทะเบียนเพิ่มชื่อขาวว่าเป็นหุ้นส่วน

หนี้เงินกู้ที่ตรียืมมาจากจัตวาก็ถึงกำหนดชำระ  แต่ตรีไม่มีเงินชำระหนี้  และแดงได้ทวงค่าเช่าที่ดินที่ห้างหุ้นส่วนค้างชำระ  แต่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไม่มีเงินชำระหนี้  ดังนี้จัตวาและแดง  จะเรียกให้เอก  โท  ตรี  และขาว  ร่วมกันชำระหนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1052  บุคคลผู้ข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ  ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

วินิจฉัย

 1       กรณีจัตวาเป็นเจ้าหนี้  ที่ตรีกู้ยืมเงินมา  1  ล้านบาท  แล้วนำมาลงหุ้น  5  แสนบาท  เป็นหนี้ที่ตรีก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตรีโดยเฉพาะ  มิใช่หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ตามมาตรา  1050  ห้างฯ  ไม่ต้องรับผิดจัตวาจึงจะเรียกให้  เอก  โท  และขาวรับผิดไม่ได้  จัตวาจะต้องเรียกร้องเอาจากตรีแต่เพียงผู้เดียว

 2       กรณีแดงเป็นเจ้าหนี้  การที่โทเช่าที่ดินเพื่อทำโกดังเก็บข้าว  เป็นเรื่องธรรมดาของกิจการโรงสีข้าว  ซึ่งต้องมีสถานที่เก็บข้าว  หนี้ค่าเช่าโกดัง  หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา  1050  ขาวแม้จะมาเข้าหุ้นทีหลังก็ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ  ที่เกิดขึ้นก่อนตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วน  แม้ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนเพิ่มชื่อขาวก็ถือว่าขาวได้เป็นหุ้นส่วนแล้ว  เพราะได้มีการตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน  และได้นำเงินมาลงหุ้นแล้วจำนวน  5  แสนบาท  การเป็นหุ้นส่วนของขาวถือว่าสมบูรณ์แล้ว  จึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  ค่าเช่าโกดังด้วยตามมาตรา  1052

 

ข้อ  2  อาทิตย์  จันทร์  และอังคาร  ตกลงเข้าหุ้นกัน  โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  มีอาทิตย์และจันทร์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ส่วนอังคารเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ทั้งหมดรับว่าจะลงหุ้นกันคนละ  1  ล้านบาท  แต่ขณะนี้ได้ส่งเงินลงหุ้นมาแล้วคนละ  5  แสนบาท  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้มีวัตถุประสงค์ค้าขายวัสดุก่อสร้าง  อาทิตย์เห็นว่า  อังคารมีภาระงานหนักมาก  อาทิตย์จึงได้แนะนำให้จ้างพุธมาเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด  อังคารเห็นดีด้วยและอังคารได้ว่าจ้างพุธมาเป็นผู้จัดการห้างฯ  โดยมีหน้าที่จัดการงานของห้างฯ  และลงนามในสัญญาต่างๆ  แทนอังคารได้ทุกเรื่อง  ต่อมาพุธได้ลงนามสั่งซื้อเหล็กจากบริษัท  เหล็กเส้นไทย  จำกัด  มาขายในกิจการของห้างฯ  เป็นหนี้ค่าเหล็กอยู่  4  แสนบาท  และห้างฯ  ไม่มีเงินชำระหนี้  บริษัทเหล็กเส้นไทย  จำกัด  จึงเรียกให้อาทิตย์รับผิดร่วมกับนายอังคาร  เพราะถือว่าอาทิตย์มีส่วนร่วมในการตั้งผู้จัดการห้างฯ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าอาทิตย์ต้องรับผิดในหนี้ค่าเหล็กหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1088  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี  ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการ  ตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี  ท่านหานับว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่

วินิจฉัย

การให้คำแนะนำของนายอาทิตย์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ให้อังคารจ้างพุธมาเป็นผู้จัดการเป็นการออกความเห็นและแนะนำ  จึงไม่เป็นการสอดเข้าจัดการ  อีกทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งหรือถอนถอนผู้จัดการจึงไม่เป็นการสอดเข้าจัดการตามมาตรา  1088  วรรคสอง  นายอาทิตย์จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าเหล็กที่นายพุธสั่งซื้อมา

สรุป  นายอาทิตย์ไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าเหล็ก

 

ข้อ  3  คณะกรรมการบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งได้นัดประชุมใหญ่วิสามัญ  เพื่อเลือกกรรมการบริษัทแทนนางสาวมาลี  ซึ่งลาออกจากตำแหน่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากได้ลงมติเลือกนายสมชาย  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเป็นกรรมการแทน  ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสมชายได้มอบฉันทะให้นายสมเดชมาเข้าประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้  และนายสมเดชได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกนายสมชายเป็นกรรมการด้วย นายสมหวังซึ่งแพ้มติมิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการบริษัท  มีความเห็นว่า  นายสมชายมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ  จึงไม่มีสิทธิลงคะแนน  หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นลงคะแนน  การลงคะแนนเลือกกรรมการครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าความเห็นของนายสมหวังชอบด้วยหลักกฎหมายหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  1185  ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ  ท่านห้ามมิให้ผ็ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น

วินิจฉัย

การเลือกกรมการนั้นผู้ถือหุ้นมีสิทธิลงคะแนนเลือกตัวเองเป็นกรรมการบริษัทได้ไม่ถือว่าผู้ถือหุ้นคนนั้นมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ  เพราะการเป็นกรรมการก็เพื่อเข้าไปทำหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามข้อบังคับของบริษัท  ถึงแม้จะมีส่วนได้เสียในการลงคะแนนให้ตัวเอง  แต่ก็เป็นเพียงส่วนได้เสียธรรมดา  มิใช่เป็นการมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษตามบทบัญญัติมาตรา  1185

สรุป  ความเห็นของนายสมหวังไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายโชค  นายทวี  และนายทรัพย์  ได้เข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  ชื่อห้างหุ้นส่วนโชคทวีทรัพย์  วัตถุประสงค์ของห้างคือ  ขายรถจักรยานยนต์  โดยตกลงกันให้นายโชคเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  กิจการดำเนินมาได้ประมาณ  2  ปี  นายทรัพย์ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  11  กรกฎาคม  2548  นายโชคและนายทวีก็ยังคงดำเนินกิจการค้าต่อไปโดยใช้ชื่อเดิม  ต่อมานายโชคได้สั่งซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท  สยามยานยนต์  จำกัด  มาจำหน่ายเป็นหนี้ค่ารถจักรยานยนต์  จำนวนเงิน  500,000  บาท  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายโชคและนายทวีไม่มีเงินชำระหนี้  ดังนี้  หากบริษัท  สยามยานยนต์เห็นว่า  ห้างหุ้นส่วนฯ  ยังใช้ชื่อนายทรัพย์เป็นชื่อห้างอยู่จึงฟ้องกองมรดกของนายทรัพย์ให้รับผิดชอบ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่ากองมรดกของนายทรัพย์ต้องรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1054  วรรคสอง  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว  และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง  ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดีหาทำให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใดๆ  อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่

วินิจฉัย

กองมรดกของนายทรัพย์ไม่ต้องรับผิดชอบ  แม้ว่าห้างหุ้นส่วนฯ  ยังใช้ชื่อนายทรัพย์เป็นชื่อห้างอยู่  เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายทรัพย์ได้ถึงแก่กรรมแล้ว  ตามมาตรา  1054  วรรคสอง

 

ข้อ  2  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  เชิดชัยบริการ  มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับขนส่งและคนโดยสาร  มีนายเชิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  นายชัยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ได้จดทะเบียนถูกต้องเรียบร้อยแล้วระหว่างดำเนินกิจการ  นายเชิดได้สั่งซื้อรถยนต์บรรทุกมาใช้ในกิจการงานของห้างฯ  จากบริษัท  ตรีทอง  จำกัด  และยังมิได้ชำระราคา  ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดผิดนัดชำระหนี้  ส่วนนายชัยต้องการประกอบกิจการขนส่งสินค้าและคนโดยสารเช่นเดียวกับกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด  แต่นายเชิดไม่ยอมให้ทำ  เพราะเห็นว่าเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนฯ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

 1       นายชัยจะประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้หรือไม่

2       เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะฟ้องนายชัยให้รับผิดในหนี้สินของห้างฯ  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1082  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น

แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น  ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนั้น  ท่านให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน

มาตรา  1090  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใดๆ  เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับการค้าขายของห้างหุ้นส่วนก็ไม่ห้าม

วินิจฉัย

1       นายชัยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  จึงประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างฯได้ตามมาตรา  1090

2       นายชัยต้องรับผิดเนื่องจากได้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างฯ  ตามมาตรา  1082  เจ้าหนี้ฟ้องนายชัยได้โดยไม่ต้องรอให้ห้างฯเลิก

 

ข้อ  3  นายเอกได้ทำหนังสือโอนหุ้นชนิดระบุชื่อของตนให้นายโทโดยมิได้แถลงหมายเลขหุ้น  และไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรอง  แต่นายโทก็ได้นำหนังสือโอนหุ้นไปที่บริษัทให้กรรมการแก้ไขชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นชื่อนายโทเรียบร้อยแล้ว  ดังนี้  หากพบว่า  นายเอกยังค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่อีก  5  แสนบาท  บริษัทจำกัดจึงเรียกให้นายเอกรับผิด  แต่นายเอกได้ต่อสู้ว่าได้มีการจดแจ้งการโอนโดยใส่ชื่อผู้รับโอนในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว  นายเอกจึงไม่ต้องรับผิดในเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเอกรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1129  อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท  เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น  ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน  มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆด้วยแล้ว  ท่านว่าเป็นโมฆะ  อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัท  หรือบุคคลภายนอกไม่ได้  จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ได้แถลงหมายเลขหุ้น  และไม่มีพยานรับรองลายมือชื่อการโอนจึงเป็นโมฆะตามมาตรา  1129  วรรคสอง  หุ้นจึงยังเป็นของผู้โอนอยู่  จึงถือว่านายเอกยังเป็นเจ้าของหุ้นนั้น  แม้จะแก้ไขชื่อเป็นชื่อของนายโทแล้ว  นายโทก็ยังมิใช่เจ้าของหุ้น  บริษัทจึงเรียกเก็บเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระจากนายเอกได้

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกบ้านจัดสรรขาย  โดยเอก  และโท  ลงหุ้นด้วยเงินคนละหนึ่งล้านบาท  ส่วนตรีลงหุ้นด้วยแรงและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  และมีข้อจำกัดอำนาจของตรีไว้ว่า  จะทำสัญญากับบุคคลภายนอกได้ในวงเงินไม่เกินสองแสนบาท  หากต้องทำเกินสองแสนบาทจะต้องขออนุญาตจากหุ้นส่วนคนอื่นๆด้วย  ถ้าฝ่าฝืน  หุ้นส่วนอื่นๆจะรับผิดในส่วนที่เกินอำนาจ

ต่อมาตรีต้องการซื้อที่ดินจากจัตวา  เพื่อนำมาปลูกบ้านจัดสรรขายในราคาสองล้านบาท  ตรีจึงปรึกษาเอกกับโท  เอกเห็นด้วยกับตรี  ส่วนโทได้คัดค้าน  แต่ตรีไม่ฟังคำคัดค้านของโท  และได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจัตวา  แต่เมื่อถึงวันนัดโอนที่ดิน  ตรีไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าที่ดินให้จัตวาได้

จัตวาจึงเรียกร้องให้หุ้นส่วนทั้งสามร่วมกันรับผิด  แต่เอกกับโทต่อสู้ว่ามิได้เป็นคู่สัญญากับจัตวา  จึงไม่ขอรับผิด  และหากจะรับผิดก็รับผิดไม่เกินสองแสนบาทเท่าที่อยู่ในอำนาจการจัดการของตรี  ดังนี้  ข้อต่อสู้ทั้งสองประเด็นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1053  ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น  ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ  ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่

วินิจฉัย

ประเด็นแรก  ที่เอกกับโทต่อสู้ว่ามิได้เป็นคู่สัญญากับจัตวา  จึงไม่ขอรับผิดในหนี้ค่าที่ดินที่ตรีหุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญาจะซื้อจะขายจากจัตวานั้น  ฟังไม่ขึ้น  เพราะเอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกบ้านจัดสรรขาย  การที่ตรีไปซื้อที่ดินเพื่อนำมาปลูกบ้านจัดสรรขาย  จึงเป็นเรื่องธรรมดาของการดำเนินธุรกิจปลูกบ้านจัดสรรขาย  ที่ต้องมีการซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ปลูกสร้างบ้านเพื่อขาย  ตามมาตรา  1050  เอกและโทจึงต้องร่วมกันรับผิด  แม้จะมิได้เป็นคู่สัญญาก็ตาม

ประเด็นที่สอง  ที่ต่อสู้ว่าหากจะรับผิดก็ไม่เกินสองแสนบาทเท่าที่อยู่ในอำนาจของตรี  ก็รับฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน  เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการเข้าหุ้นกันเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  แม้จะมีข้อตกลงจำกัดอำนาจหุ้นส่วนคนหนึ่งในการผูกพันหุ้นส่วนคนอื่นๆ  ข้อตกลงจำกัดอำนาจก็ไม่มีผูกพันบุคคลภายนอกผู้สุจริต  ตามมาตรา  1053  การที่ตรีทำเกินขอบอำนาจ  ก็ยังผูกพันหุ้นส่วนอื่นๆ  ให้ต้องรับผิดดังนั้นข้อต่อสู้ในประเด็นนี้ของเอกและโท  ก็ฟังไม่ขึ้น  และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  ข้อต่อสู้ของเอกและโท  ทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  แดง  ดำ  และขาว  เข้าหุ้นกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  แดงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย ส่วนดำ  และขาว  เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ดำได้ลงนามซื้อขายสินค้าวัตถุตามประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยที่แดงหุ้นส่วนผู้จัดการมิได้มอบหมาย  แต่ดำก็ได้ประทับตราห้างหุ้นส่วนจำกัดลงไปด้วย  ส่วนแดงเมื่อทราบเรื่องแล้วก็มิได้ทักท้วงและยังยอมให้ดำนำสินค้ามาขายในห้างฯอีกด้วย  ต่อมาดำผิดนัดชำระหนี้  ดังนี้  เจ้าหนี้รายดังกล่าวจะเรียกร้องให้แดงและขาว   ร่วมรับผิดกับดำได้หรือไม่ และจะถือว่าการกระทำของดำเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1070  เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้  เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

มาตรา  1080  วรรคแรก  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ  หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด  3  นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

การกระทำของดำซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งได้ลงนามซื้อขายสินค้าตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ  โดยที่หุ้นส่วนผู้จัดการมิได้มอบหมาย  จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำแทนห้างฯ  แต่เนื่องจากหุ้นส่วนผู้จัดการคือแดงทราบแล้วก็ไม่ได้ทักท้วง  และยังยอมให้นำสินค้าที่ซื้อมาขายในห้างด้วย  จึงเป็นการให้สัตยาบันในการกระทำของดำ  ดังนั้นการกระทำของดำจึงถือว่าเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ  ตามมาตรา  1088  วรรคแรก  ดำจึงต้องรับผิดร่วมกับห้างฯ  ด้วยเมื่อห้างฯ  ไม่ชำระหนี้  เจ้าหนี้จึงเรียกร้องเอาจากแดงได้เพราะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ตามมาตรา  1070  ประกอบมาตรา  1080  วรรคแรก  ส่วนขาวเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะเรียกร้องให้ขาวรับผิดไม่ได้ตามมาตรา  1095  วรรคแรก

สรุป  เจ้าหนี้รายดังกล่าวของห้างฯ  เรียกร้องให้แดงรับผิดร่วมกับดำได้  แต่จะเรียกร้องให้ขาวรับผิดร่วมกับดำไม่ได้  และถือว่าการกระทำของดำเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ

 

ข้อ  3  บริษัท  นพคุณ  จำกัด  ได้นัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งผู้สอบบัญชี  ในการนัดประชุมใหญ่ครั้งนี้  บริษัทได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งที่บริษัทมีภูมิลำเนาอยู่  โดยลงประกาศโฆษณาเมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2550  แจ้งเรื่องนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่  8  กรกฎาคม  2550  เพื่อเลือกตั้งผู้สอบบัญชี  ณ  ที่ทำการบริษัท  เวลา  09.30 น.  นางสาวเพ็ญศรีผู้ถือหุ้นของบริษัทคนหนึ่งได้ทราบข้อความนัดประชุมผู้ถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ดีแล้ว  แต่ไม่ได้มาประชุมในวันดังกล่าวเพราะติดธุระจำเป็น  ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นๆบางคนก็ทราบ  บางคนก็ไม่ทราบเพราะไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์  ดังนี้  นางสาวเพ็ญศรีจะฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนมติตั้งผู้สอบบัญชีได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  1175  คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวนั้นให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่ง  ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน  บรรดามีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ในคำบอกกล่าวนั้น  ให้ระบุสถานที่  วัน  เวลา  และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันนั้นด้วย

มาตรา  1195  การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน  หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี  หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี  เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว  ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย  แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

วินิจฉัย

การบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ไม่ถูกต้องตามมาตรา  1175  กล่าวคือ  แม้ว่าในการนัดประชุมใหญ่ครั้งนี้  บริษัท  นพคุณ  จำกัด  ได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งที่บริษัทมีภูมิลำเนาก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน  และในคำบอกกล่าวนั้นได้ระบุสถานที่  วัน  เวลา  และสภาพแห่งกิจการที่จะประชุมปรึกษากันแล้วก็ตาม  แต่ได้ลงโฆษณาหนังสือพิมพ์เพียงครั้งเดียว  และผู้ถือหุ้นบางคนก็ไม่ทราบ  ส่วนนางสาวเพ็ญศรีผู้ถือหุ้นคนหนึ่งทราบ  แต่ไม่มาประชุมเพราะติดธุระ  การประชุมในวันดังกล่าวซึ่งนัดเลือกไม่ถูกต้องย่อมเสียไป ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งย่อมฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนมติของที่ประชุมได้ตามมาตรา  1195  ดังนี้นางสาวเพ็ญศรีจึงมีอำนาจฟ้อง

สรุป  นางสาวเพ็ญศรีสามารถฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนมติตั้งผู้สอบบัญชีได้

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  และได้นำเงินมาลงหุ้นกันคนละ  1  แสนบาท  ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ค้าขายพืชไร่  โดยมีโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโทได้ซื้อพืชไร่จากจัตวามาขายในห้างหุ้นส่วน  และยังไม่ได้ชำระราคาค่าพืชไร่  จำนวน  2  แสนบาท

ต่อมาเอกได้ถึงแก่กรรม  แต่โทและตรีก็ยังคงค้าขายอยู่ต่อไปโดยมิได้เลิกห้างหุ้นส่วน  อนงค์ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของเอกจึงทวงถามเงินลงหุ้นที่เอกได้นำมาลงหุ้นกับบุคคลทั้งสอง  โทและตรีก็รับปากว่าจะคืนให้  ต่อมาจัตวาได้เรียกให้โทและตรีชำระราคาค่าพืชไร่จำนวน  2  แสนบาท  แต่โทและตรีไม่มีเงินชำระ

จัตวาจึงมาปรึกษาท่านว่าจะเรียกร้องให้อนงค์ชำระราคาพืชไร่จำนวน  2  แสนบาทนี้ได้หรือไม่  ให้ท่านแนะนำจัตวา

ธงคำตอบ

มาตรา  1054  วรรคสอง  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว  และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง  ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดีหาทำให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใดๆ  อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่

วินิจฉัย

กรณีตามมาตรา  1054  วรรคสองนี้เป็นเรื่องที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ตายลง  ซึ่งตามหลักแล้วห้างหุ้นส่วนจะต้องเลิกกันทันทีตามมาตรา  1055  (5)

แต่ถ้าห้างได้ใช้ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นชื่อห้างและผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นได้ตายลงแต่ห้างฯ  ก็ยังไม่เลิกกันตามมาตรา  1060  และยังคงใช้ชื่อของผู้ตายเป็นชื่อห้างอยู่ก็ดี  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบเป็นชื่อห้างอยู่ดี  เพียงเท่านี้ไม่ทำให้กองมรดกของผู้ตายจะต้องรับผิดในหนี้ใดๆ  ของห้างหุ้นส่วนที่ได้เกิดขึ้นภายหลังที่หุ้นส่วนผู้นั้นตายลง  แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนมีหนี้สินเกิดขึ้นก่อนเขาตาย  กองมรดกยังคงต้องรับผิดอยู่

กรณีตามอุทาหรณ์  โทได้ซื้อพืชไร่จากจัตวามาขาย  ในขณะที่เอกยังเป็นหุ้นส่วนอยู่  เมื่อเอกถึงแก่กรรม  ทายาทของเอกจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  รายนี้ด้วย  ทายาทจะไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นหลังมรณะเท่านั้น  ตามมาตรา  1054  วรรคสอง

ข้าพเจ้าฯ  จะแนะนำจัตวาตามหลักกฎหมายมาตรา  1054  วรรคสอง  ว่าเรียกร้องให้อนงค์ทายาทของเอกรับผิดได้

สรุป  จัตวาเรียกร้องให้อนงค์ชำระราคาค่าพืชไร่  2  แสนบาทได้

 

ข้อ  2  เขียว  ขาว  และเหลือง  ได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นหุ้นส่วนจำกัด  เขียว  และขาวเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เหลืองไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ก่อนจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  เหลืองได้ซื้ออาคารตึกแถวของแสดไว้ใช้เป็นที่ทำการของห้างฯโดยเหลืองถือกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด  หลังจากที่ห้างฯ  ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว  แสดได้ทวงถามเงินค่าตึกแถวที่ยังค้างชำระอยู่อีก  2  แสนบาทจากเหลือง  แต่เหลืองและห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีเงินชำระ  แสดจึงเรียกให้เขียวและขาวร่วมกันรับผิด  แต่เขียวและขาวไม่ยอมรับผิด  โดยอ้างว่า

 (1) เขียวและขาวเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกกันจะฟ้องเขียวและขาวไม่ได้

 (2) เขียวและขาวไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ในเรื่องซื้อขายตึกแถวกับแสด  แสดจึงไม่มีสิทธิฟ้องเขียวและขาว

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของเขียวและขาวทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1079  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวน  จนกว่าจะได้จดทะเบียน

มาตรา  1080  วรรคแรก  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ  หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด  3  นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

ประเด็นที่  1  ข้อต่อสู้ของเขียวและขาวฟังไม่ขึ้น  เพราะทั้งหมดได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด  แต่หุ้นส่วนผู้จัดการได้ซื้ออาคารตึกแถว  เพื่อใช้เป็นที่ทำการของห้างฯ  โดยเหลืองหุ้นส่วนผู้จัดการได้ถือกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด  จึงถือว่าการที่เหลืองทำสัญญาซื้อตึกแถวก็เพื่อประโยชน์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยได้จัดทำไปก่อนที่จะไปจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด  จึงถือว่าในขณะนั้นเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  เมื่อมีหนี้สินเกิดขึ้นจึงต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา  1079  จึงเรียกให้เขียวและขาวรับผิดได้โดยไม่ต้องรอให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน  ไม่เข้ากรณีมาตรา  1095  วรรคแรก

ประเด็นที่  2  ข้อต่อสู้ของเขียวและขาวฟังไม่ขึ้น  เพราะเหลืองได้จัดการงานของห้างฯ  โดยซื้อตึกแถวมาไว้ใช้เป็นที่ทำการงานของห้างฯ  จึงเป็นหนี้สินที่เกิดจากธรรมดาการค้าขายของห้างฯ  หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดร่วมกัน  ตามมาตรา  1050  ประกอบมาตรา  1080  วรรคแรก  แม้เขียวและขาวจะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับแสด  สัญญานั้นก็ผูกพันเขียวและขาวด้วย  เพราะว่าเหลืองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  จึงถือว่าทำแทนหุ้นส่วนทุกคน  หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน

สรุป  ข้ออ้างของเขียวและขาวทั้งสองประการข้างต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  ในวันที่  1  มิถุนายน  2550  คณะกรรมการบริษัท  นพคุณ  จำกัด  ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อพิจารณาเรื่องเพิ่มทุนของบริษัท  อีก  5  ล้านบาท  ที่ประชุมคณะกรรมการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่อีก  1  แสนหุ้น  มูลค่าเท่าเดิม  และได้นำมติเรื่องเพิ่มทุนไปจดทะเบียนเมื่อวันที่  3  มิถุนายน  2550  ต่อมาเมื่อวันที่  11  กรกฎาคม  2550  นางสาวบุญมาได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง  ขอให้เพิกถอนมติของคณะกรมการในเรื่องเพิ่มทุน  โดยอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะมิได้ลงมติพิเศษในที่ประชุมผู้ถือหุ้น  ประธานกรรมการได้ยื่นคำคัดค้านว่า  นางสาวบุญมายื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติเกินหนึ่งเดือนแล้วนับแต่วันลงมติ  ขอให้ยกคำร้อง  ดังนี้ศาลจะรับคำร้องของนางสาวบุญมาไว้วินิจฉัยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1195  การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน  หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี  หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี  เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว  ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย  แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

มาตรา  1220  บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

การยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่  จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ  แต่กรณีตามปัญหาไม่ปรากฏว่ามีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น  มีเพียงคณะกรรมการประชุมปรึกษาหารือกันเท่านั้น  การนับระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติจึงไม่อาจเริ่มนับได้ในวันใด  ดังนั้นนางสาวบุญมาจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติได้  เพราะตามปัญหาไม่ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเลย  ตามมาตรา  1195  ประกอบมาตรา  1220

  สรุป  ศาลจะต้องรับคำร้องของนางสาวบุญมาไว้วินิจฉัยต่อไป

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  พรเพ็ญและเพียงใจ  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  (ไม่ได้จดทะเบียน)  เปิดร้านเสริมความงามใช้ชื่อว่าเพียงใจบิวตี้  โดยพรเพ็ญลงหุ้นด้วยแรง  ส่วนเพียงใจนำอาคารตึกแถว  3  คูหาของตนเป็นที่ประกอบกิจการเสริมความงาม  และเป็นผู้ออกเงินทั้งหมด  พรเพ็ญเป็นหัวหน้าช่างประจำสถานเสริมความงาม

กิจการของห้างฯ  มีกำไรดี  เพียงใจจึงขยายสาขาโดยไปลงหุ้นกับตรีรักเปิดสถานเสริมความงามอีก  1  แห่ง  และใช้ชื่อว่าเพียงใจบิวตี้  สาขา  1  ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับสถานเสริมความงามที่ลงหุ้นกับพรเพ็ญห้างหุ้นส่วนสามัญใหม่นี้  เพียงใจก็เป็นผู้ออกทุนและสถานที่ที่ใช้ดำเนินการ  โดยให้ตรีรักเป็นหัวหน้าช่างประจำสถานเสริมความงามแห่งใหม่

การเปิดสถานเสริมความงามแห่งใหม่นี้ทำรายได้ระหว่างพรเพ็ญและเพียงใจลดลง  พรเพ็ญจึงกล่าวหาว่าเพียงใจดำเนินกิจการแข่งขันกับห้างหุ้นส่วน  จึงขอเลิกห้างหุ้นส่วนเพียงใจ  และเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจ  5  แสนบาท  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  พรเพ็ญจะเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1038  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น  โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด  หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น  แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

วินิจฉัย

พรเพ็ญเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจไม่ได้  เพราะเพียงใจมิได้ประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ  ระหว่างพรเพ็ญและเพียงใจ  การที่เพียงใจลงหุ้นกับตรีรักนั้น   เพียงใจเป็นผู้ออกทุนและสถานที่ประกอบกิจการเท่านั้น  ไม่ได้ลงมือประกอบกิจการ  จึงไม่ถือว่าเพียงใจประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ  และการลงหุ้นของเพียงใจก็ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา  1038 พรเพ็ญจึงเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจไม่ได้

สรุป  พรเพ็ญเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจไม่ได้

 

ข้อ  2  สมศักดิ์กับพิชัย  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยสมศักดิ์รับผิดจำกัด ส่วนพิชัยรับผิดไม่จำกัด  ทั้งสองคนนำเงินมาลงหุ้นไว้กันคนละ  5  แสนบาท  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ได้จดทะเบียนและเปิดกิจการมาได้  2  ปีแล้ว  ต่อมาพิชัยหุ้นส่วนผู้จัดการไม่อยู่เนื่องจากต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงมอบหมายให้สมศักดิ์จัดการงานในห้างหุ้นส่วนทั้งหมด  สมศักดิ์ได้ทำสัญญาซื้อเหล็กเส้นจากวิไลมาขายในกิจการงานของห้างหุ้นส่วนเป็นเงิน  5  ล้านบาท  ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ห้างฯ  ไม่มีเงินชำระหนี้  วิไลจึงเรียกให้พิชัยและสมศักดิ์รับผิดร่วมกัน  แต่สมศักดิ์อ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิได้  และสมศักดิ์ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของสมศักดิ์รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

วินิจฉัย

เนื่องจากหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดนั้นไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด  ถ้าหากสอดเข้าไปจัดการงานของห้างจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน

การสอดเข้าไปจัดการตามมาตรา  1088  นี้  จะเป็นการจัดการด้วยความสมัครใจเอง  หรือโดยหุ้นส่วนผู้จัดการได้มอบหมาย  หรือได้ขอร้องให้เข้ามาช่วยจัดการ  หรือเป็นการรับฝากงานไว้เพื่อจัดการชั่วคราวก็ตาม  ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปจัดการงานทั้งสิ้น

ดังนั้นการที่สมศักดิ์  ได้ทำสัญญาซื้อเหล็กเส้นจากวิไลมาขายในกิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นเงิน  5  ล้านบาท  โดยได้รับมอบหมายจากพิชัยหุ้นส่วนผู้จัดการ  เป็นการสอดไปเกี่ยวข้องในการจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้จำนวนนี้  ตามมาตรา  1088  จะอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯจะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิได้  และสมศักดิ์ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว  มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของสมศักดิ์ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  นายเบิร์ด  มีหุ้นชนิดระบุชื่อในบริษัทนานกิง  จำกัด  จำนวน  100,000  หุ้น  มูลค่าหุ้นละ  100  บาท  นายเบิร์ดได้ส่งเงินค่าหุ้นไปแล้ว  หุ้นละ  50  บาท  ต่อมานายเบิร์ดได้โอนหุ้นของตนให้นางสาวบุ๋มทั้งหมดโดยทำการโอนถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ  แต่นางสาวบุ๋มยังมิได้เปลี่ยนชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นชื่อของตน  นางสาวพรเจ้าหนี้ของนายเบิร์ดได้ฟ้องให้นายเบิร์ดชำระหนี้   ศาลได้พิพากษาให้นายเบิร์ดแพ้คดี  นางสาวพรจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาอายัดหุ้นของนายเบิร์ดที่บริษัทนานกิง  จำกัด  ส่วนนางสาวบุ๋มได้มาขอให้บริษัทนานกิง  จำกัด  เปลี่ยนแปลงชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นจากนายเบิร์ดมาเป็นชื่อตน  โดยอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่านางสาวพร  เพราะได้มีการโอนหุ้นกันก่อนฟ้องคดี  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  สิทธิของนางสาวพรกับสิทธิของนางสาวบุ๋มใครดีกว่ากัน

ธงคำตอบ

มาตรา  1129  วรรคสาม  การโอนเช่นนี้จะนำมาแก่บริษัท  หรือบุคคลภายนอกไม่ได้  จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้น  ลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

สิทธิของนางสาวพรดีกว่าสิทธิของนางสาวบุ๋ม  เพราะนางสาวบุ๋มยังมิได้ไปจดแจ้งชื่อของตนเองลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น  จึงยกขึ้นต่อสู้นางสาวพรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้  ตามมาตรา  1129  วรรคสาม

สรุป  สิทธิของนางสาวพรดีกว่านางสาวบุ๋ม

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน ซ่อม 1/2551

การสอบไล่ภาคซ่อม  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.      นายแสงได้ประกอบอาชีพขายรถยนต์ใช้แล้ว โดยเช่าอาคารของนายเวกประกอบกิจการ เป็นหนี้ ค่าเช่านายเวก  8 หมื่นบาท ต่อมานายแสงได้ชักชวนนายชมมาร่วมหุ้นกับตน โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน นายเวกทราบว่านายชมเป็นหุ้นส่วนกับนายแสง จึงเรียกให้นายชมชำระหนี้ค่าเช่า จำนวน 8 หมื่นบาท ที่นายแสงค้างชำระโดยนายเวกกล่าวอ้างว่าเป็นหนี้สินที่เกิดจากธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน บุคคลที่ขอเข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ต้องรับผิดชอบด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1052

ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า นายชมต้องรับผิดตามข้ออ้างของนายเวกหรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย  มาตรา 1052

วินิจฉัย  นายชมไม่ต้องรับผิด เพราะหนี้ค่าเช่าจำนวน 8 หมื่นบาทเป็นหนี้ส่วนตัวที่นายแสงเป็นหนี้   นายเวก มิใช่หนี้ของห้างหุ้นส่วน จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1052

สรุป  นายชมไม่ต้องรับผิด

 

ข้อ 2.     ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรศรี มีนางสาวพรเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด นางสาวศรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้มีวัตถุประสงค์ขายสมุนไพร และอาหารเสริมทุกชนิด นางสาวพรได้แนะนำนางสาวศรีให้หาซื้อสมุนไพรเขากวางอ่อนมาจำหน่ายในห้างหุ้นส่วนจำกัด นางสาวศรีก็เห็นดีด้วย จึงได้ติดต่อซื้อสมุนไพรเขากวางอ่อนในรูปแคปซูลจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาจำหน่ายในห้างหุ้นส่วนจำกัดพรศรี และเป็นหนี้ค่าสมุนไพรเขากวางอ่อนมหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 แสนบาท แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรศรีผิดนัดไม่มีเงินชำระหนี้ ดังนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะฟ้องให้นางสาวพรร่วมรับผิดกับนางสาวศรีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย   มาตรา 1082

วินิจฉัย  นางสาวพรได้ใช้ชื่อของตนระคนกับชื่อนางสาวศรีเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด พรศรี  นางสาวพรจึงต้องรับผิดตามมาตรา 1082

สรุป  นางสาวพรรับผิด

 

ข้อ 3.       นายแดงเป็นกรรมการบริษัทนพเกล้า จำกัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น นายแดงได้จัดการงานของบริษัทมาได้ 1 ปี  ทำให้บริษัทขาดทุนไป 10 ล้านบาท เนื่องจากนายแดงขาดประสบการณ์ในการบริหาร ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด บริษัทจึงขาดทุน ดังนี้ นายขาวผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีจำนวนหุ้นเกินหนึ่งในห้าของทุนบริษัท จะยื่นคำร้องขอให้ศาลถอดถอนนายแดงออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย  มาตรา 1151

วินิจฉัย  ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นจะถอดถอนกรรมการออกจากตำแหน่งได้  ดังนั้น นายขาวจึงร้องต่อศาลถอดถอนนายแดงไม่ได้

สรุป  ถอดถอนนายแดงไม่ได้

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.      เอก และโท ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจะจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน เอกได้นำเงินสดมาลงหุ้นจำนวน 2 ล้านบาท โทได้นำอาคารตึกแถวพร้อมที่ดินมาลงหุ้นโดยให้ที่ดินและตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วน และตีราคาเป็นทุนลงหุ้น 3 ล้านบาท แต่โทไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมในการโอน จึงได้ส่งมอบอาคารตึกแถวพร้อมที่ดินให้ห้างฯ ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการตลอดมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ต่อมาโทถึงแก่กรรม ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจึงเลิกกัน แต่ตรีบุตรชายของโท ต้องการตึกแถวและที่ดินที่โทนำมาลงหุ้นคืน เพราะขณะนี้อาคารและที่ดินดังกล่าวราคาสูงขึ้นมาก แต่เอกไม่ยอมให้คืนโดยอ้างว่าที่ดินและตึกแถว
ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030 ตรีมีสิทธิรับเงิน        3 ล้านบาท พร้อมกำไรอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ตรีเถียงว่าบิดาตนมิได้ไปทำหนังสือและจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน ห้างหุ้นส่วนฯ จึงมิได้กรรมสิทธิ์ จึงขอรับตึกแถวและที่ดินคืนพร้อมเงินส่วนแบ่งกำไรอีกจำนวนหนึ่ง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างดังกล่าวของฝ่ายใดจะชอบด้วยหลักของกฎหมายแนวคำตอบหลักกฎหมาย  มาตรา 1030วินิจฉัย  ข้ออ้างของเอกชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากตามมาตรา 1030  การนำทรัพย์สินมาลงหุ้นและให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างฯ ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงหุ้นกับห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นให้นำหลักเรื่องการส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับ  การซื้อขายทรัพย์นั้นเมื่อผู้ขายส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว  กรรมสิทธิ์ก็ตกไปเป็นของผู้ซื้อทันทีโดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้นเมื่อโทส่งมอบที่ดินพร้อมตึกแถวให้ห้างหุ้นส่วนฯ ได้เข้าครอบครองและใช้สอยแล้ว  กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวก็ตกเป็นของห้างหุ้นส่วนโดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของเอกชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2.      นายจันทร์และนายอังคารตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายจันทร์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายอังคารเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ได้จดทะเบียนถูกต้องเรียบร้อยแล้วดำเนินกิจการมาได้ 3 ปีเศษ ก็ขาดเงินสดหมุนเวียน นายจันทร์จึงได้ไปกู้เงินนายพุธมา 5 แสนบาท เพื่อนำมาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด และได้นำรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 1 คันไปให้นายพุธยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้รายดังกล่าว ทำให้นายอังคารไม่พอใจ นายอังคารประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลให้เพิกถอนการจำนำรายนี้ จึงมาปรึกษาท่านว่า นายอังคารจะมีอำนาจฟ้องคดีดังกล่าวได้หรือไม่ ให้ท่านแนะนำนายอังคาร

แนวคำตอบ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า นายอังคารจะมีอำนาจฟ้องคดีให้เพิกถอนการจำนำรายนี้หรือไม่

หลักกฎหมาย  มาตรา 1087 ….

ตามมาตรา 1087  นี้  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ จึงมีปัญหาว่าการฟ้องคดีจะถือว่าเป็นการจัดการงานของ

ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือไม่  ซึ่งจะต้องพิเคราะห์ว่า การจัดการนั้นก็คือการดูแลรักษาหาผลประโยชน์ให้แก่ห้างฯ และการระมัดระวังไม่ให้ห้างฯ ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของห้างฯ ตามที่ได้จดทะเบียนไว้  ดังนั้นจึงต้องถือว่าการฟ้องคดีแทนห้างฯ ก็เป็นการจัดการงานของห้างฯ อย่างหนึ่ง  ซึ่งหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิทำแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด

ดังนั้น จึงต้องแนะนำนายอังคารว่า  นายอังคารไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจำนำ

 

ข้อ 3.      ข้อบังคับของบริษัทใบตองจำกัดในเรื่องการโอนหุ้นมีว่า “หากผู้ถือหุ้นประสงค์จะโอนหุ้นไปยังบุคคลภายนอก ต้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทจำกัดเสียก่อนจึงจะโอนได้ เว้นแต่เป็นการ       ตกทอดโดยทางมรดก และมติของคณะกรรมการให้ถือว่าเป็นที่สุด”

                นางสกุณา มีหุ้นในบริษัทดังกล่าวจำนวน 10,000 หุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น และหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือจำนวน 5,000 หุ้น นางสกุณาประสงค์จะโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่บุตรสาวของตนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 18 ปี จึงได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการบริษัท แต่คณะกรรมการฯ ไม่ยอมให้มีการโอนหุ้นทั้งสองชนิด เพราะมีความเห็นว่า บุตรสาวของนางสกุณาเป็นบุคคลภายนอก มิใช่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใบตองจำกัด ดังนี้นางสกุณาจึงมาปรึกษาท่านว่า มติของคณะกรรมการดังกล่าวชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทและหลักกฎหมายหรือไม่             

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย  มาตรา 1129 วรรคแรก  มาตรา 1135

 วินิจฉัย  จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงต้องถือว่า ผู้ถือหุ้นนั้นย่อมจะโอนหุ้นของตนได้เสมอ  เว้นแต่เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ตามปัญหาบริษัทใบตอง จำกัดได้ออกข้อบังคับในเรื่องการโอนหุ้นไว้ว่า  หากผู้ถือหุ้นประสงค์จะโอนหุ้นไปยังบุคคลภายนอก  จะต้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัท จำกัดเสียก่อน จึงจะโอนได้  เว้นแต่เป็นการตกทอดโดยทางมรดก  ข้อบังคับดังกล่าวจึงใช้บังคับได้  เพราะเป็นไปตามหลักกฎหมายมาตรา 1129 วรรคแรก  เมื่อนางสกุณาได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อจะโอนหุ้นระบุชื่อและโอนหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือให้แก่บุตรสาวของตน  แต่คณะกรรมการฯไม่ยินยอมให้โอนหุ้นทั้งสองชนิด  มติของคณะกรรมการในเรื่องการไม่อนุญาตให้โอนหุ้นระบุชื่อย่อมถูกต้อง เพราะเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท  โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า บุตรสาวของนางสกุณาเป็นบุคคลภายนอกมิใช่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใบตอง จำกัด  เพราะบุคคลภายนอกตามข้อบังคับนี้ก็คือ บุคคลที่มิใช่ผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด เมื่อบุตรสาวของนางสกุณามิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด จึงถือว่าเป็นบุคคลภายนอก มติของคณะกรรมการในเรื่องไม่ยอมให้โอนหุ้นระบุชื่อจึงถูกต้องด้วยข้อบังคับของบริษัทและชอบด้วยหลักกฎหมาย  แต่สำหรับหุ้นที่มีใบหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือนั้น  ย่อมโอนกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1135 โดยส่งมอบใบหุ้นให้แก่กัน และเมื่อจะโอนก็ไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทฯ เพราะข้อบังคับในเรื่องการโอนหุ้นนั้นจะใช้บังคับเฉพาะหุ้นที่มีใบหุ้นชนิดระบุชื่อเท่านั้นที่ต้องทำตามข้อบังคับของบริษัท  ดังนั้นมติของคณะกรรมการที่ห้ามโอนหุ้นผู้ถือจึงไม่ถูกต้อง และขัดต่อกฎหมาย

สรุป  1. มติในเรื่องการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อชอบด้วยข้อบังคับและหลักของกฎหมาย

        2. มติในเรื่องการโอนหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือไม่ชอบด้วยหลักของกฎหมาย                         

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ชมพู่  น้ำอ้อย  และแอปเปิ้ล  เข้าหุ้นส่วนกันเปิดร้านขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับสตรี  โดยจดทะเบียนภายใต้ชื่อห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสี่สาวแพรพรรณ  ต่อมาห้างจะขยายกิจการจึงไปกู้เงินจากธนาคารไทยกสิกร  จำนวนห้าแสนบาท  เมื่อวันที่  2  มกราคม  2547

ต่อมาวันที่  1  ธันวาคม  2547  น้ำอ้อยมีเรื่องบาดหมางกับหุ้นส่วนอื่นจึงออกจากการเป็นหุ้นส่วน  ชมพู่แหม่ม  และแอปเปิ้ลยังคงเข้าหุ้นส่วนดำเนินการค้าต่อไปโดยไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อห้างเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสาวแพรพรรณ  ต่อมาวันที่  2  มกราคม  2548  ธนาคารไทยกสิกรเรียกให้ห้างหุ้นส่วนชำระหนี้เงินกู้  แต่ห้างฯผัดผ่อนเรื่อยมา  

วันที่  3  มกราคม  2550  ธนาคารจึงฟ้องห้างหุ้นส่วนฯ  ชมพู่  แอปเปิ้ล  และน้ำอ้อย  ให้ชำระหนี้จำนวนห้าแสนบาท  น้ำอ้อยต่อสู้ว่า  น้ำอ้อยไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารเพราะน้ำอ้อยออกจากการเป็นหุ้นส่วน  ในห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสาวแพรพรรณแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิด  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของน้ำอ้อยรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1068  ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น  ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน

วินิจฉัย

น้ำอ้อยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสี่สาวแพรพรรณ  ตั้งแต่  1  ธันวาคม  2547  จึงยังคงต้องร่วมรับผิดในหนี้สินที่ห้างก่อขึ้นตั้งแต่ก่อนตนออกจากหุ้นส่วน  แต่รับผิดไม่เกิน  2  ปี  ตามหลักเกณฑ์ของมาตรา  1068  เมื่อห้างหุ้นส่วนได้กู้ยืมเงินจากธนาคารไทยกสิกร  เมื่อวันที่  2  มกราคม  2547  ก่อนนั้นน้ำอ้อยจะลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน  ดังนั้นน้ำอ้อยจึงต้องร่วมรับผิด  แต่รับผิดไม่เกินวันที่  1  ธันวาคม  2549  การที่ธนาคารฟ้องให้น้ำอ้อยร่วมรับผิดใช้หนี้เงินกู้ต่อธนาคารในวันที่  3  มกราคม  2550  จึงเกินกำหนด  2  ปี  นับจากวันที่น้ำอ้อยออกจากการเป็นหุ้นส่วน  น้ำอ้อยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้หนี้แก่ธนาคาร

สรุป  ข้อต่อสู้ของน้ำอ้อยรับฟังได้

 

ข้อ  2  หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  จะต้องรับผิดไม่จำกัดจำนวนในกรณีใดบ้าง  ให้นักศึกษาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างมา  3  กรณี

ธงคำตอบ

โดยหลักแล้ว  หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด  ย่อมจะต้องรับผิดโดยจำกัดจำนวนหาต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนไม่  อย่างไรก็ตามหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดอาจรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนได้  หากเป็นไปตามกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้  เช่น

1       ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนไม่ว่าจะตกลงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  หรือไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน  ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1079  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน

2       ในกรณีที่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด

มาตรา  1082  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้าง  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น

แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น  ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้  ท่านให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน

ตัวอย่างเช่น  ศรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ส่วนสมรเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยใช้ชื่อว่า  ห้างหุ้นส่วนศรีสมร  เช่นนี้หากห้างฯเป็นลูกหนี้  เจ้าหนี้ของห้างฯย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ศรีและสมรรับผิดได้ทันทีโดยไม่จำกัดจำนวน  เพราะศรีใช้ชื่อระคนปนเป็นชื่อห้างนั่นเอง

3  ในกรณีที่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแสดงให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียน

มาตรา  1085  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความหรือด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใดท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนเพียงนั้น

ตัวอย่างเช่น  เอกเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ลงหุ้นเพียง  5  หมื่นบาท  แต่มักจะบอกกับผู้มาติดต่อค้าขายกับห้างฯ  ว่าตนได้ลงหุ้นเป็นเงิน  5  ล้านบาท  ดังนี้เอกก็ต้องรับผิดเท่าถึงจำนวน  5  ล้านบาทเป็นต้น

 

ข้อ  3  เอกเป็นหุ้นส่วนของบริษัทแห่งหนึ่งอยู่จำนวน  50  หุ้น  โดยบริษัทออกใบหุ้นชนิดระบุชื่อให้เอกถือไว้  และยังเรียกเก็บค่าหุ้นไม่ครบ  เอกตกลงขายหุ้นทั้งหมดให้แก่โท  เมื่อตกลงพูดคุยกันเรียบร้อยแล้วเอกบอกว่าจะเป็นผู้แจ้งไปยังบริษัทเอง  ต่อมาเอกมีหนังสือไปที่บริษัทแจ้งให้ทราบว่าตนขายหุ้นแก่โททั้งหมดแล้ว  ขอให้บริษัทเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นในทางทะเบียนเป็นชื่อโท  ดังนี้  การโอนหุ้นระหว่างเอกและโทได้ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  และบริษัทจะเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นตามที่เอกร้องขอได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1129  อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท  เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน  มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆด้วยแล้ว  ท่านว่าเป็นโมฆะ  อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้  จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

การโอนหุ้นนั้นโดยหลักแล้ว  ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท  แต่ถ้าเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น  และบริษัทมีข้อกำหนดการโอนอย่างไรไว้  ก็ให้เป็นไปตามนั้น  มิฉะนั้นการโอนย่อมไม่ชอบ  ตามมาตรา  1129  วรรคแรก

อย่างไรก็ตาม  การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น  จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่ตกเป็นโมฆะจะต้องปฏิบัติตามมาตรา  1129  วรรคสองด้วย  กล่าวคือ 

1       ต้องทำเป็นหนังสือ

2       ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน

3       มีพยานอย่างน้อย  1  คน  ลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นๆ

4       ในตราสารการโอนนั้น  ต้องแสดงหมายเลขของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น  เมื่อทำการโอนด้วยวาจาไม่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน  และมีพยานรับรองลายมือชื่ออย่างน้อย  1  คน  รวมทั้งแถลงหมายเลขหุ้นด้วย  การโอนย่อมถือว่าไม่ได้ทำตามแบบที่กำหนดไว้ในมาตรา  1129  วรรคสอง  จึงมีผลเป็นโมฆะ  บริษัทจึงไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นตามที่เอกเรียกร้องได้

สรุป  การโอนไม่ถูกต้องตามกำหมาย  และบริษัทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นได้ 

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  แดง  ดำ  และขาว  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน  โดยตั้งเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  มีดำเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์รับจ้างตกแต่งภายในอาคารดำเนินกิจการมาได้สามปีเศษแล้ว  มีกำไรดีทุกปี

ต่อมา  เขียวซึ่งเป็นเพื่อนของแดงได้มาชักชวนแดงให้ร่วมลงหุ้นเปิดร้านรับจ้างตกแต่งภายในเช่นเดียวกัน  โดยให้แดงลงหุ้นเป็นเงินหนึ่งล้านบาท  ส่วนเขียวจะเป็นผู้ลงแรงดำเนินการทั้งหมดและถ้ามีกำไรก็จะแบ่งกำไรเท่าๆกัน  เมื่อมีหนี้สินก็จะร่วมกันรับผิดชอบแดงก็ตกลงร่วมหุ้นกับเขียว  ดำเนินกิจการมาได้หนึ่งปี  ดำและขาวทราบเรื่องว่าแดงร่วมหุ้นกับเขียวเปิดกิจการแข่งขันกับห้างฯ

จึงต้องการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแดง  ทั้งสองคนจึงมาปรึกษาท่านว่า  ในกรณีดังกล่าวดำและขาวจะเรียกค่าเสียหายจากแดงได้หรือไม่  ให้ท่านแนะนำบุคคลทั้งสอง

ธงคำตอบ

มาตรา  1038  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น  โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด  หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น  แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

วินิจฉัย

ในกรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนนั้น  มาตรา  1038  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการค้าขายแข่งกับห้างฯ  หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งฝ่าฝืนไปประกอบกิจการที่มีลักษณะค้าขายแข่งกับห้าง  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นสามารถเรียกเอาผลกำไรทั้งหมด  หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นได้

แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งไปร่วมลงทุนหรือลงหุ้นกับผู้อื่นโดยมิใช่เป็นผู้ดำเนินกิจการในห้างหุ้นส่วนอันใหม่  แม้กิจการอันใหม่จะมีลักษณะเป็นการค้าขายกับห้างก็ตาม  ไม่ถือว่าเป็นการค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ดำและขาวจะเรียกค่าเสียหายจากแดงได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่แดง  ดำ  และขาว  ตกลงเข้าหุ้นกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์รับจ้างตกแต่งภายในอาคาร  ต่อมาปรากฏว่า  แดงได้ไปร่วมลงทุนกับเขียวเปิดร้านตกแต่งภายในเช่นเดียวกัน  โดยแดงลงหุ้น  1  ล้านบาท  ส่วนเขียวจะเป็นผู้ลงแรงดำเนินกิจการทั้งหมด  และถ้ามีกำไรจะแบ่งเท่าๆกัน  กรณีไม่ถือว่าแดงประกอบกิจการซึ่งมีลักษณะค้าขายแข่งกับห้าง  แม้กิจการนั้นจะมีสภาพดุจเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนเดิมเพราะเนื่องจากแดงมิได้เข้าไปดำเนินกิจการในห้างอันใหม่ที่แดงร่วมลงหุ้นกับเขียว  ทั้งกฎหมายก็ไม่มีข้อห้ามมิให้หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไปลงหุ้นกับบุคคลอื่นเพื่อประกอบกิจการอันเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างฯ  แต่อย่างใด

เมื่อกรณีไม่เข้าตามมาตรา  1038  ดำและขาวจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแดงไม่ได้

สรุป  ดำและขาวไม่สามารถเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากแดงได้

 

ข้อ  2  เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  มีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ส่วนโทและตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  แต่ก่อนที่จะไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  เอกได้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากจัตวาเพื่อจะนำมาค้าขายตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ  และยังไม่ชำระหนี้  ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด  แต่หนี้ดังกล่าวก็ยังมิได้มีการชำระ  จัตวาจึงเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด  เอก  โท  และตรี  ร่วมกันรับผิดแทนห้างฯ  แต่โทและตรีได้ต่อสู้ว่า  ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะเรียกร้องในหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิได้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของโทและตรีรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1079  อันหางหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

โดยหลักตามมาตรา  1095  วรรคแรก  เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ได้  ถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีต่อไปนี้คือ

 1       หนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  หรือเกิดขึ้นภายหลังจดทะเบียนแต่ก่อนที่จะประกาศโฆษณาข้อความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา (มาตรา  1079)

2       หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดใช้ชื่อตนหรือใช้ชื่อระคนเป็นชื่อห้างฯ  (มาตรา  1082)

3       หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแสดงให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียน  (มาตรา  1085)

4       หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ  (มาตรา  1088)

เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยมีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ส่วนโทและตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่ห้างฯ  จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  เอกได้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากจัตวาเพื่อนำมาค้าขายตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ  และยังไม่ชำระหนี้  เช่นนี้จัตวามีสิทธิเรียกร้อง  เอก  โท  และตรีร่วมกันรับผิดแทนห้างฯได้  เพราะว่าหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  กฎหมายให้ถือว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ  ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดหรือจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวน  ตามมาตรา  1079  จัตวาเจ้าหนี้ของห้างฯ  จึงสามารถฟ้องเรียกให้เอก  โท และตรีรับผิดได้  แม้ว่าห้างจะยังมิได้เลิกกันก็ตาม  ดังนั้นข้อต่อสู้ของตรีที่ว่า  ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิได้เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะเรียกร้องให้หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดรับผิดมิได้นั้นจึงฟังไม่ขึ้น  เพราะบทบัญญัติมาตรา  1079  เป็นข้อยกเว้นของมาตรา  1095  วรรคแรกนั่นเอง

สรุป  ข้ออ้างของโทและตรีรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  3  สมชาย  สมศักดิ์  และดุสิต  เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์รับจ้างก่อสร้างบ้าน  เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเสร็จสิ้นแล้ว  สมชายจึงไปทำสัญญาซื้อปูนซีเมนต์จากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย  จำกัด  จำนวน  100  ตัน  โดยสมชายได้บอกกับผู้ขายว่า  จะนำปูนซีเมนต์ดังกล่าวมาใช้ในกิจการของบริษัทซึ่งกำลังจะจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในเร็วๆนี้  หลังจากที่มีการขายหุ้นครบถ้วนแล้ว  จึงได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นและที่ประชุมได้อนุมัติในสัญญาสั่งซื้อปูนซีเมนต์แล้ว    และที่ประชุมได้เลือกสมศักดิ์และดุสิตเป็นกรรมการชุดแรกของบริษัท  ทำให้สมชายไม่พอใจจึงขอถอนการลงทุนโดยอ้างว่าสำคัญผิดคิดว่าตัวเองจะได้เป็นกรรมการบริษัท  แต่สมศักดิ์และดุสิตไม่ยอมให้ถอน  จึงเกิดการทะเลาะกัน  และไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้  บริษัทปูนซีเมนต์จึงมาปรึกษาท่านว่า  ถ้าหนี้ค่าปูนซีเมนต์ถึงกำหนดชำระแล้ว  จะเรียกร้องค่าปูนซีเมนต์จากผู้ใดได้บ้าง  ให้ท่านแนะนำบริษัทปูนซีเมนต์ไทย

ธงคำตอบ

มาตรา  1113  ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงิน  ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ  และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท

วินิจฉัย

ตามมาตรา  1113  นั้น  บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดกันโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงิน  ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ  และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว  ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้องรับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท  ดังนั้นผู้ก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อที่ประชุมบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้น

เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการยังต้องรับผิดอยู่ถึงแม้ว่าที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้วก็ตาม  ทั้งนี้ก็เพราะว่าบริษัทยังมิได้จดทะเบียนจึงยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย  จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆไม่สามารถเป็นจำเลยได้  ดังนั้นเจ้าหนี้จึงต้องฟ้องผู้เริ่มก่อการเท่านั้น

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติสัญญาสั่งซื้อปูนซีเมนต์แล้วก็ตาม  แต่เมื่อบริษัทไม่สามารถจดทะเบียนตั้งขึ้นได้  ผู้ก่อการจัดตั้งบริษัททั้งหมดจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าปูนซีเมนต์ดังกล่าว  ตามมาตรา  1113  หาได้หลุดพ้นจากความรับผิดไปไม่  ดังนั้นเมื่อหนี้ค่าปูนซีเมนต์ถึงกำหนดชำระแล้ว  บริษัทปูนซีเมนต์ไทยฯ  เจ้าหนี้จึงเรียกให้สมชาย  สมศักดิ์  และดุสิตซึ่งเป็นผู้ก่อการจัดตั้งบริษัทรับผิดได้

สรุป  บริษัทปูนซีเมนต์ไทย  จำกัด  มีสิทธิเรียกร้องให้สมชาย  สมศักดิ์  และดุสิตรับผิดชำระหนี้ค่าปูนซีเมนต์ได้

LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน  มีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์รับจ้างก่อสร้างบ้านบนที่ดินของผู้ว่าจ้าง  กิจการของห้างฯมีกำไรบ้างเล็กน้อย  เอกต้องการให้หุ้นส่วนทุกคนได้รับส่วนแบ่งกำไรมากขึ้น  จึงไปซื้อที่ดินและสร้างบ้านจัดสรรขาย  โดยมิได้หารือหุ้นส่วนคนอื่นๆเลย  เป็นหนี้ค่าที่ดินและวัสดุก่อสร้างจำนวน  10  ล้านบาท  ดังนี้  ถ้าเอกไม่ชำระหนี้ดังกล่าวเจ้าหนี้จะเรียกให้โทและตรีร่วมรับผิดกับเอกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

วินิจฉัย

ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้สินทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด  ทั้งนี้หมายความถึงบรรดาหนี้สินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำในทางธรรมดาการค้าของห้างหุ้นส่วนและได้กระทำไปในฐานะหุ้นส่วนมิใช่ฐานะส่วนตัว  การกระทำที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  อาจเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้  คือ

 1       การกระทำภายในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน

2       การกระทำซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือจำเป็นในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วน

การกระทำของเอกไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน  และมิใช่กิจการที่เป็นทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน  เพราะห้างหุ้นส่วนมีวัตถุประสงค์รับจ้างก่อสร้างบ้านบนที่ดินของผู้มาว่าจ้างเท่านั้น  แต่เอกซื้อที่ดินและสร้างบ้านจัดสรรขายโดยมิได้หารือกับหุ้นส่วนคนอื่นๆเลย  ดังนั้นโทและตรีย่อมไม่ต้องผูกพันในการกระทำของเอกในหนี้ค่าที่ดินและวัสดุก่อสร้างจำนวน  10  ล้านบาท  เป็นหนี้ส่วนตัวของเอก  ถ้าเอกไม่ชำระหนี้ดังกล่าว  เจ้าหนี้จะเรียกโทและตรีร่วมรับผิดกับเอกไม่ได้

สรุป  เจ้าหนี้เรียกโทและตรีไม่ได้

 

ข้อ  2  ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรทวีวัฒน์ค้าผ้าไหม  มีนางสาวพรเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  นายทวีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  แต่ก่อนที่จะไปจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  นางสาวพรได้กู้ยืมเงินจากนางสาวเดือนมา  2  ล้านบาท  เพื่อนำมาใช้จ่ายในห้างฯต่อมาเมื่อห้างฯ  ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว  ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรมวีวัฒน์ค้าผ้าไหมก็ยังมิได้ชำระหนี้รายนี้  ต่อมานางสาวพรหุ้นส่วนผู้จัดการได้เดินทางไปต่างประเทศ  จึงได้มอบหมายให้นายทวีเป็นผู้จัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดพรทวีวัฒน์แทน  นายทวีจึงได้ทำสัญญาซื้อผ้าไหมมาขายในกิจการของห้าง  และยังไม่ชำระหนี้  ต่อมาหนี้เงินกู้  ที่นางสาวเดือนเป็นเจ้าหนี้และหนี้ค่าผ้าไหมถึงกำหนดชำระ  แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีเงินชำระหนี้  ดังนี้เจ้าหนี้ทั้งสองรายจะเรียกให้นายทวีรับผิดร่วมกับห้างฯได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1079  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวน  จนกว่าจะได้จดทะเบียน

มาตรา  1082  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดั่งว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

วินิจฉัย

 (1) หนี้กู้ยืมเงิน  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่ห้างฯ  จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  นางสาวพรได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนางสาวเดือนมา  2  ล้านบาท  เพื่อนำมาใช้จ่ายในกิจการของห้างฯ  และยังไม่ชำระหนี้  เช่นนี้นางสาวเดือนเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากนายทวีหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดให้ร่วมกันรับผิดกับห้างฯได้  เพราะว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  กฎหมายให้ถือว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ  ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดหรือจำพวกไม่จำกัดความรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนตามมาตรา  1079

 (2) หนี้ค่าผ้าไหม  เนื่องจากหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดนั้นไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด  ถ้าหากสอดเข้าไปจัดการงานของห้างจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน  การสอดเข้าไปจัดการตามมาตรา  1088  นี้  จะเป็นการจัดการด้วยความสมัครใจเอง  หรือโดยหุ้นส่วนผู้จัดการได้มอบหมาย  หรือได้ขอร้องให้เข้ามาช่วยจัดการ  หรือเป็นการรับฝากงานไว้เพื่อจัดการชั่วคราวก็ตาม  ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปจัดการงานทั้งสิ้น  ดังนั้นกรณีนายทวีต้องรับผิดร่วมกับห้างฯ  ด้วยเช่นกันตามมาตรา  1088  วรรคแรก  (กรณีถ้านักศึกษาตอบตามมาตรา  1082  เนื่องจากใช้ชื่อระคนเป็นชื่อห้างฯ  ก็ได้คะแนนเช่นเดียวกัน)

สรุป  เจ้าหนี้ทั้งสองสามารถเรียกให้นายทวีรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้

 

ข้อ  3  บริษัท  ใบตอง  จำกัด  มีนางสาวใบเตยเป็นกรรมการผู้จัดการ  นางสาวใบเตยต้องการขยายกิจการของบริษัทฯ  จึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อขอมติเพิ่มทุน  ที่ประชุมคณะกรรมการได้ลงมติเอกฉันท์ให้เพิ่มทุนได้โดยออกหุ้นใหม่  100,000  หุ้น  มูลค่าเท่าเดิมคือหุ้นละ  100  บาท  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1194  การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ  ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมาก  ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา  1220  บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

การเพิ่มทุนของบริษัทจำกัดนั้น  กฎหมายกำหนดให้ทำโดยการออกหุ้นใหม่และต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ  ซึ่งมติพิเศษดังกล่าว  ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมาก  ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา  1194  และมาตรา  1220

การเพิ่มทุนของบริษัทใบตอง  จำกัด  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากเป็นการประชุมของคณะกรรมการบริษัทจำกัด  ซึ่งตามกำหมายดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการบริษัทจำกัดไม่มีอำนาจให้เพิ่มทุนได้  นอกจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะได้ลงมติพิเศษเท่านั้น

สรุป  การเพิ่มทุนไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะการเพิ่มทุนต้องประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษตามมาตรา  1194  และมาตรา  1220 

WordPress Ads
error: Content is protected !!