การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสมบัติตกลงกับ น.ส.สุดา ว่าจะมาทำการหมั้นโดยจะมอบแหวนเพชร 1 วง และทอง 10 บาท ให้เป็นของหมั้นในวันที่ตกลงมาทำสัญญาหมั้น นายสมบัติไม่สามารถหาแหวนและทองได้ทันเวลา แต่ น.ส.เมตตา เพื่อนของ น.ส.สุดา เห็นว่าไม่ควรให้เลื่อนเวลาหมั้นจึงถอดแหวนให้นายสมบัตินำไปสวมให้ น.ส.สุดาก่อน ซึ่ง น.ส.สุดา ก็เห็นด้วย ส่วนทอง 10 บาทนั้นได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน 170,000 บาทไว้ให้แทน ต่อมา น.ส.สุดาได้ลาออกจากงานมาช่วยทำงานที่บ้านของนายสมบัติ แต่นายสมบัติได้ไปร่วมประเวณีกับ น.ส.เมตตา และชวนมาอาศัยอยู่ในบ้านและปฏิเสธไม่สมรสกับ น.ส.สุดา น.ส.สุดา ไม่พอใจจึงต้องการฟ้องเรียกเงินกู้ 170,000 บาท เรียกค่าทดแทนที่ได้ลาออกจากงาน และฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.เมตตาด้วย เช่นนี้จะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1437 วรรคแรกและวรรคสอง การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
การหมั้นจะสมบูรณ์หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจะสมรสกับหญิงหรือไม่ หรับการส่งมอบหรือการโอนจะเป็นอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น
ทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ในของหมั้นนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นของฝ่ายชายเสมอ กล่าวคือ ฝ่ายชายอาจไม่มีทรัพย์สินเงินทองเป็นของตนเองแล้วไปหยิบยืมจากบุคคลอื่นมาใช้เป็นของหมั้น เช่นนี้ ของหมั้นเป็นสิทธิของหญิงหรือไม่ หรือการหมั้นจะสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาว่า ถ้าเจ้าของทรัพย์สินให้ยืมทรัพย์สินไปใช้เป็นของหมั้นชั่วคราว เมื่อฝ่ายหญิงไม่ทราบ ของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นสิทธิของฝ่ายหญิง (ฎ.1198/2492) แต่ถ้าหญิงก็ทราบว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของฝ่ายชาย และเจ้าของทรัพย์สินนั้นก็ยังคงต้องการทรัพย์สินนั้นอยู่ กรณีเช่นนี้ถ้าฝ่ายชายส่งมอบทรัพย์สินนี้เป็นของหมั้นให้แก่หญิง การหมั้นก็คงไม่สมบูรณ์ เพราะไม่อาจถือได้ว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่หญิง ซึ่งทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นสิทธิแก่หญิงได้ตามมาตรา 1437 วรรคสอง
เมื่อแหวนที่นายสมบัตินำมาหมั้น เป็นแหวนที่ยืมมาจาก น.ส.เมตตา โดย น.ส.สุดา ฝ่ายหญิงก็ทราบว่าแหวนดังกล่าวเป็นของ น.ส.เมตตา ดังนี้ แหวนที่สวมให้ น.ส.สุดา จึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ถือว่าฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง การหมั้นจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก
สำหรับสัญญากู้ยืมเงินนั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการให้ของหมั้นตามกฎหมาย ทั้งนี้เพราะรูปแบบของการหมั้นตามกฎหมายจะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ การส่งมอบ หรือการโอนทรัพย์สิน รูปแบบของการหมั้นจึงไม่สามารถเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างชายกับหญิงได้ เมื่อสัญญากู้ยืมไม่ถือว่าเป็นของหมั้นตามกฎหมาย น.ส.สุดา จึงฟ้องเรียกเงินกู้ไม่ได้
ดังนั้น เมื่อไม่ได้ทำสัญญาหมั้นตามกฎหมาย การกระทำของนายสมบัติจึงไม่อาจถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นที่ น.ส.สุดา จะเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1440(3) ได้
ส่วนการที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.เมตตา ก็ไม่สามารถฟ้องตามมาตรา 1445 ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะสัญญาหมั้นไม่สมบูรณ์
สรุป น.ส.สุดา จะฟ้องเรียกเงินกู้ 170,000 บาท เรียกค่าทดแทนที่ได้ลาออกจากงานและฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.เมตตา ไม่ได้