LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2558

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายดีเป็นโจทก์ฟ้องว่าถูกนายเลวทําร้ายร่างกาย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีคําสั่งประทับฟ้อง ไว้พิจารณา จําเลยให้การปฏิเสธอ้างเหตุป้องกัน ระหว่างสืบพยานโจทก์นายดียื่นคําร้องขอเพิ่มเติม ฟ้องว่านายดีเพิ่งทราบจากแพทย์ว่า ผลของการที่ถูกจําเลยทําร้ายเป็นเหตุให้นายดีเสียความสามารถ สืบพันธุ์จึงขอเพิ่มเติมฟ้องเป็นขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (2) จําเลย รับสําเนาคําร้องขอเพิ่มเติมฟ้องแล้วยื่นคําคัดค้านว่ากรณีไม่มีเหตุอันควรที่โจทก์จะขอเพิ่มเติมฟ้อง และคําร้องขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นนี้ทําให้จําเลยเสียเปรียบ อีกทั้งศาลควรจะไต่สวนมูลฟ้องก่อนด้วย ศาลพิจารณาแล้วมีคําสั่งอนุญาตให้นายดีเพิ่มเติมฟ้องได้ โดยมิได้สั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน

ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งอนุญาตให้นายดีโจทก์เพิ่มเติมฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 162 “ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจําเลย โดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)

มาตรา 163 วรรคหนึ่ง “เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอํานาจยื่นคําร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง ก่อนมีคําพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้ว ให้ส่งสําเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จําเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสํานวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้”

มาตรา 164 “คําร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิด หรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดีไม่ว่าจะทําเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทําให้จําเลย เสียเปรียบ เว้นแต่จําเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดีเป็นโจทก์ฟ้องว่าถูกนายเลวทําร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับ อันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 295 ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับ ฟ้องไว้พิจารณานั้น ถือเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (1)

การที่ระหว่างสืบพยานโจทก์ นายดีโจทก์ยื่นคําร้องขอเพิ่มเติมฟ้องว่า นายดีเพิ่งทราบจากแพทย์ ว่าผลของการถูกทําร้ายเป็นเหตุให้นายดีเสียความสามารถสืบพันธุ์ จึงขอเพิ่มเติมฟ้องจากฐานทําร้ายร่างกายเป็นเหตุ ให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อาญา มาตรา 295 เป็นฐานทําร้ายร่างกายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ตาม ป.อาญา มาตรา 297 (2) นั้น ถือได้ว่ามีเหตุอันควรอีกทั้งการเพิ่มเติมฐานความผิดเช่นนี้ก็ไม่ถือว่าทําให้จําเลย เสียเปรียบ เว้นแต่จําเลยจะหลงต่อสู้ แต่เมื่อปรากฏว่า จําเลยให้การปฏิเสธอ้างเหตุป้องกันจึงไม่ถือว่าจําเลยหลงต่อสู้ กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164 ครบถ้วน ดังนั้น เมื่อศาล เห็นสมควรจะมีคําสั่งอนุญาต หรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับคําฟ้องเริ่มคดีตามที่บัญญัติไว้

ใน ปวิ.อาญา มาตรา 162 (1) ถ้าคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ศาลต้องสั่งไต่สวนมูลฟ้องก่อน จะสังประทับฟ้องไว้พิจารณา โดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้อง แม้เป็นการเพิ่มเติมฐานความผิด ศาลก็มี อํานาจที่จะสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องโดยไม่จําต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คําสั่งอนุญาตให้นายดีโจทก์เพิ่มเติมฟ้องของศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งอนุญาตให้นายดีโจทก์เพิ่มเติมฟ้องของศาลเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท ในวันนัดพิจารณา โจทก์และจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้วจําเลยแถลงว่า “จําเลย ไม่มีทนายความและจะหาทนายความเอง หากในนัดหน้าจําเลยไม่มีทนายความก็ให้ศาลดําเนิน กระบวนพิจารณาต่อไปได้” ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดสอบถามคําให้การของจําเลยและสืบพยานโจทก์ นัดหน้า ในวันนัดหน้าต่อมาโจทก์และจําเลยมาศาล จําเลยแถลงว่ายังไม่มีทนายความ ขอให้ ศาลตั้งทนายความให้ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่าจําเลยประวิงคดีและถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพ คดีไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ต่อไป และให้นัดฟังคําพิพากษา ให้วินิจฉัยว่า การดําเนิน กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 วรรคสอง “เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจําเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และ ศาลเชื่อว่าเป็นจําเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง และถามว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้ อย่างไรบ้าง คําให้การของจําเลยให้จดไว้ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินการพิจารณาต่อไป”

มาตรา 173 วรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

โดยหลักในการพิจารณาคดีอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกนั้น ก่อนที่ศาลจะเริ่มทําการพิจารณาคดี ศาลต้องถามจําเลยก่อนว่ามีทนายความหรือไม่ ซึ่งถ้าจําเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้ มิฉะนั้นกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง) ซึ่งคําว่า ก่อนเริ่มพิจารณา หมายความว่า ก่อนที่ศาลจะเริ่มพิจารณาโดยอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังและสอบถาม คําให้การจําเลยในคดีที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคสองนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุก ในวันนัดพิจารณาศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จําเลยไม่มีทนายความและจะหาทนายความเอง ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดสอบถาม คําให้การจําเลยและสืบพยานโจทก์ในนัดหน้า ซึ่งในวันนัดหน้าต่อมาจําเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จําเลยไม่มี ทนายความและขอให้ศาลตั้งทนายความให้นั้น กรณีนี้ถือได้ว่าจําเลยไม่มีและต้องการทนายความ และเมื่อคดีนี้ เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ดังนั้นก่อนเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นจะต้องตั้งทนายความให้จําเลยก่อนตาม ป.วิ.อาญา

มาตรา 173 วรรคสอง แล้วจึงสอบถามคําให้การของจําเลยว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คําให้การของจําเลยให้จดไว้ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินพิจารณาต่อไปตามที่บัญญัติไว้ ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคสอง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งทนายความให้จําเลย และดําเนินการพิจารณาไป โดยมีคําสั่งเสียเองว่า ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพ คดีไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ต่อไป และให้นัดฟัง คําพิพากษานั้น ย่อมเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาที่มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง และมาตรา 172 วรรคสอง ดังนั้น การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของกลางคันหมายเลขทะเบียนตราด 123ของนายขาวไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) จําเลยทั้งสอง ให้การปฏิเสธ ศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นคนลักรถจักรยานยนต์ ของนายขาว แต่หมายเลขทะเบียนที่ถูกต้องเป็นหมายเลขทะเบียน ตราด 132 ส่วนจําเลยที่ 2 ช่วยรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากจําเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จําเลยที่ 1 ได้มาโดย การกระทําผิดการกระทําของจําเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ส่วนการกระทําของจําเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งสองหลงต่อสู้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของกลาง คันหมายเลขทะเบียนตราด 123 ของนายขาวไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 335 (7) โดยจําเลย ทั้งสองให้การปฏิเสธ และเมื่อศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นคนลักรถจักรยานยนต์ ของนายขาว แต่หมายเลขทะเบียนที่ถูกต้องเป็นหมายเลขทะเบียน ตราด 132 นั้น แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ในการพิจารณาจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญอันเป็นเหตุ ให้ศาลต้องยกฟ้อง และเมื่อปรากฏว่าจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 331 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง

ในส่วนของจําเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 2 ร่วมกระทําความผิดกับจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ แม้ในการพิจารณาจะได้ความว่าจําเลยที่ 2 กระทําความผิดฐานรับของโจรก็ตาม ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏใน การพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสําคัญ แต่เป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด ระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์กับรับของโจรเท่านั้น และเมื่อปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ก็มิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานรับของโจรตาม ป.อาญา มาตรา 357 ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง

สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ และจําเลยที่ 2 ฐานรับของโจรได้

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยฐานใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวมได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จําเลย ให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุเนื่องจากนายสํารวมได้เข้ามาทําร้ายตนก่อน จึงแทงนายสํารวม 1 ครั้งเพื่อป้องกันตน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลยมีเจตนา ทําร้ายนายสํารวมจึงใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวมทางด้านหลังขณะที่ยืนพูดคุยกับผู้อื่นเป็นเหตุให้ นายสํารวมได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จึงพิพากษาว่าจําเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ลงโทษจําคุก 3 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษ จําคุกจําเลยให้หนักขึ้น และจําเลยอุทธรณ์อ้างว่าการกระทําของตนเป็นการป้องกันพอสมควรแก่ เหตุเนื่องจากนายสํารวมได้เข้ามาทําร้ายตนก่อนจึงใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวม 1 ครั้งเพื่อป้องกันตน ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลยได้กระทําความผิดจริงตามฟ้องโดยจําเลยเป็น ฝ่ายใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวมได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จึงพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 5 ปี เมื่อพ้นโทษแล้วให้รักกันภายหลังพ้นโทษเป็นเวลา 3 ปี โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้น จําเลยยังคงฎีกาอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เพราะนายสํารวมทําร้ายจําเลยก่อน จําเลยจึงแทงนายสํารวม 1 ครั้งเพื่อป้องกันตนไม่เป็นความผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลชั้นต้น ที่รับฎีกาของโจทก์และจําเลย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ ให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

มาตรา 219 ทวิ วรรคสอง “ในการนับกําหนดโทษจําคุกตามความในมาตรา 218 และ 219 นั้น ห้ามมิให้คํานวณกําหนดเวลาที่ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมเข้าด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 297 ลงโทษจําคุก 3 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจําเลยได้กระทําผิดจริงตามฟ้อง ให้ลงโทษจําคุกจําเลย 5 ปี และเมื่อ พ้นโทษแล้วให้กักกันจําเลยภายหลังพ้นโทษเป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคําพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะโทษที่ลงแก่จําเลยจากจําคุก 3 ปี เป็นจําคุก 5 ปี โดยมิได้แก้บทมาตราด้วย ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และแม้ว่าศาลอุทธรณ์จะมีคําสั่งให้กักกันจําเลยหลังพ้นโทษอีกเป็นเวลา 3 ปี แต่กักกันนั้นมิใช่โทษเป็นเพียง วิธีการเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น และตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ทวิ วรรคสอง ก็ได้บัญญัติห้ามมิให้คํานวณ กําหนดเวลาที่ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมกับโทษจําคุกตามคําพิพากษา ดังนั้น คดีนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้นนั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกําหนดโทษ ของศาลอุทธรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาและศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์ คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนการที่จําเลยฎีกาโดยอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนเพราะโจทก์ทําร้าย จําเลยก่อน จําเลยจึงแทงโจทก์ 1 ครั้งเพื่อป้องกันตัวนั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ของศาล ซึ่งถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จําเลยฎีกา และศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของจําเลย คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของโจทก์และจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2558

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานรับของโจร โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 เวลากลางคืน มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ คันหมายเลขทะเบียน ระยอง 123 ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต และจําเลยได้รับซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไว้จากคนร้ายโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการ กระทําผิด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จําเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดี”

วินิจฉัย

ในการฟ้องคดีอาญา นอกจากคําฟ้องต้องทําเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึง การกระทําทั้งหลายที่โจทก์กล่าวหาว่าจําเลยกระทําผิดด้วย กล่าวคือ จะต้องบรรยายถึงการกระทําผิดไว้ให้ชัดเจน ครบถ้วนขององค์ประกอบแห่งความผิดนั้น มิฉะนั้นแล้ว คําฟ้องของโจทก์จะกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย กฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพได้หรือไม่ เห็นว่า ความผิด ฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทําอันเป็นการอุปการะความผิดฐานลักทรัพย์หรือความผิดอื่น ดังที่ บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 เช่น ช่วยซื้อ จําหน่าย หรือรับไว้โดยประการใด ดังนั้นความผิดฐานรับของโจรโดยสภาพ จึงต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว แต่ตามคําฟ้องโจทก์บรรยายว่าเหตุลักทรัพย์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 แต่จําเลยกระทําผิดฐานรับของโจรในวันที่ 10 มกราคม 2557 คําฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่า จําเลยกระทําผิดฐานรับของโจรก่อนที่จะมีการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ย่อมเป็น คําฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทําความผิดอย่างชัดเจน จึงเป็นคําฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5) แม้จําเลยจะให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องซึ่งไม่เป็นความผิด ดังนั้น ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพได้ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 330/2549)

สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพไม่ได้

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 มีระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ในวันนัดพิจารณา โจทก์ จําเลยทั้งสอง และทนายจําเลยทั้งสองมาศาล ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยทั้งสองฟัง แล้วจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง จําเลย ที่ 2 ให้การปฏิเสธ โจทก์ขอสืบพยานสําหรับจําเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อถึงวันนัด สืบพยานโจทก์ จําเลยทั้งสองและทนายจําเลยทั้งสองมาศาล โจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ ไม่มาศาลตามกําหนดนัดจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยทั้งสอง

ให้วินิจฉัยว่า คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยทั้งสองชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้”

มาตรา 176 “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดย ไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความเดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลย ได้กระทําผิดจริง

ในคดีที่มีจําเลยหลายคน และจําเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจําหน่ายคดี สําหรับจําเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจําเลยที่ปฏิเสธนั้น เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกําหนดก็ได้”

มาตรา 181 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยทั้งสองชอบ หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีจําเลยที่ 1

คดีนี้ข้อหาในความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษขั้นต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ 1 ปี มิใช่เป็นคดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น เมื่อปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ตามฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้จะปรากฏว่าโจทก์จะไม่มาตามกําหนดนัดสืบพยานจําเลย ก็ไม่มีผลต่อจําเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพแต่อย่างใด ดังนั้น คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีจําเลยที่ 2

การที่จําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ และศาลชั้นต้นให้นัดสืบพยานโจทก์ โดยมิได้สั่งจําหน่ายคดี สําหรับจําเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่นั้น ย่อมถือเป็นดุลยพินิจของศาลชั้นต้นโดยชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคสอง

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มา ตามกําหนดนัด ทําให้กระบวนพิจารณาที่โจทก์จะต้องกระทําต่อศาลในการนําพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ ความผิดของจําเลยที่ 2 ที่ปฏิเสธไม่อาจดําเนินการได้ ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 31 บัญญัติให้ยกฟ้องของโจทก์เสียเว้นแต่มีเหตุอันควร ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเหตุอันควร การที่ศาล ขั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําโดยประมาท เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น กระสุนปืนถูกนายทองม้วน เป็นเหตุให้นายทองม้วนถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แต่ทางพิจารณา ได้ความว่า

(ก) จําเลยยิงนายทองเหม็น คู่แฝดของนายทองม้วนตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่านายทองเหม็นเป็นนายทองม้วน กรณีหนึ่ง

(ข) จําเลยยิงนายทองม้วนตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่า นายทองม้วนเป็นนายทองเหม็นคู่อริของจําเลย และไม่ปรากฏว่าจําเลยได้หลงต่อสู้ อีกกรณีหนึ่ง ให้วินิจฉัยว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าว ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมีใช้ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฎแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ ทั้งสองกรณีดังกล่าวศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําโดยประมาท เป็นเหตุให้นายทองม้วนถึงแก่ความตาย วัตถุแห่งการกระทําตามฟ้อง คือ นายทองม้วน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณากลับได้ความว่าผู้ตายซึ่งเป็น วัตถุแห่งการกระทํา คือ นายทองเหม็น จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสําคัญ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง โดยศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แม้การต่างกันระหว่างการกระทําผิด โดยเจตนากับประมาท บทบัญญัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม จะมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญก็ตาม

(ข) โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นถูกนายทองม้วนตาย แม้ทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยยิงนายทองม้วนตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่านายทองม้วนเป็นนายทองเหม็น คู่อริของตน ซึ่งจําเลยไม่อาจยกเอาความสําคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่า มิได้กระทําโดยเจตนาต่อนายทองม้วนนั้น ศาลย่อมลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่านายทองม้วนตายโดยเจตนาตามที่พิจารณาได้ความได้ เพราะการต่างกัน ระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาทนั้น มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติมิให้ถือว่าต่างกันในสาระสําคัญ เมื่อจําเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจําเลยตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามที่พิจารณาได้ความได้ แต่โทษที่ จะลงแก่จําเลยจะเกินอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 อันเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม

สรุป

กรณีตามข้อ (ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้

ส่วนกรณีตามข้อ (ข) ศาลจะ พิพากษาลงโทษจําเลยตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามที่พิจารณาได้ความได้ แต่โทษที่จะลงแก่จําเลยจะเกินอัตรา โทษตาม ป.อ. มาตรา 291 อันเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท จําเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณา สืบพยานโจทก์และจําเลยเสร็จสิ้นแล้ว พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 336 ลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้น จําเลย อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทําความผิด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คําพิพากษา ศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ลงโทษจําคุกจําเลย 1 ปี แลปรับ 4,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษ จําเลยฎีกาว่า ไม่ได้กระทําความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกา ของโจทก์และจําเลย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 219 “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจําเลยไม่เกินกําหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จําเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจําเลย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 ลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี และศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้คําพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่าให้จําคุกจําเลย 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขในเรื่องรอการลงโทษถือเป็นการแก้ไขมาก อย่างไรก็ดี แม้ศาลอุทธรณ์จะลงโทษ ปรับจําเลยด้วยแต่ให้รอการลงโทษจําคุกไว้ โทษที่จําเลยได้รับตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงต่ํากว่าโทษที่จําเลย จะต้องรับตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลยแต่อย่างใด ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 4419/2540)

ตามข้อเท็จจริง การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นโดย ไม่รอการลงโทษ ถือเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนจําเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทําความผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จําเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 เช่นกัน และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตอนท้าย เนื่องจากแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ไขในเรื่องการรอการลงโทษ ซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ผลของคําพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ส่งผลเป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลย ดังนั้น คําสั่งของ ศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของโจทก์และจําเลยจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัย ป.วิ.อาญา มาตรา 219

สรุป

คําสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของโจทก์และจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 s/2557

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นายกระเฉดผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 โดยโจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า จําเลยขับ รถยนต์โดยประมาทชนนายกระเฉดผู้เสียหายเป็นเหตุให้นายกระเฉดผู้เสียหายสมองกระทบกระเทือน และมีเลือดคั่ง ต้องรักษาตัวด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน โดยคําฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จําเลยขับรถยนต์โดยประมาทอย่างไร (ในคําฟ้องบรรยายระบุวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุและ บทกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจําเลยมาถูกต้องครบถ้วน) ดังนี้ คําฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดี”

วินิจฉัย

ในการฟ้องคดีอาญา นอกจากคําฟ้องต้องทําเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึง การกระทําทั้งหลายที่โจทก์กล่าวหาว่าจําเลยกระทําผิดด้วย กล่าวคือ จะต้องบรรยายถึงการกระทําผิดไว้ให้ชัดเจน ครบถ้วนขององค์ประกอบแห่งความผิดนั้น มิฉะนั้นแล้ว คําฟ้องของโจทก์จะกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ นายกระเฉดผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อาญา มาตรา 300 โดยคําฟ้องในส่วนของการกระทําโจทก์ บรรยายฟ้องว่า จําเลยขับรถยนต์โดยประมาท แต่ในคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายข้อความว่าจําเลยขับรถยนต์ โดยประมาทอย่างไร ซึ่งจะเป็นเหตุแสดงถึงความประมาท เพื่อที่จําเลยจะได้ทราบข้อกล่าวหาและสามารถให้การ ต่อสู้คดีได้ คําฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5) (เทียบตามนัย คําพิพากษาฎีกาที่ 241/2493)

สรุป คําฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 1 มกราคม 2551 เวลากลางวัน จําเลยได้ลักเอารถจักรยานยนต์ของนายขึ้นช่ายผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 335 (1) ในวันนัดพิจารณา จําเลยให้การรับสารภาพ ตามฟ้อง โจทก์ จําเลย แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ ศาลจะพิพากษาไปโดยไม่สืบพยานได้หรือไม่ และจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคแรก “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลย ได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตาม ป.อาญา มาตรา 344 ซึ่งมีระวางโทษ จําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ และตาม ป.อาญา มาตรา 335 (1) ซึ่งมีระวางโทษ จําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาทนั้น มิใช่คดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ำไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จําเลยได้กระทําผิดจริง เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไป ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก มิได้บัญญัติว่า เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพ แล้วศาลต้องพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้องเสมอไป ศาลจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามฟ้องประกอบคํารับสารภาพ ของจําเลยว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ จากข้อเท็จจริง คํารับสารภาพของจําเลยที่ว่า จําเลยรับสารภาพตามฟ้อง ถือเป็นคําให้การที่ไม่ชัดเจนว่าจําเลยได้ลักทรัพย์ตามฟ้องในเวลากลางวันหรือกลางคืน เพราะเหตุอาจเกิดในเวลากลางวันก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จําเลย โดยฟังว่า จําเลยสักทรัพย์ในเวลากลางวัน อันเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 334 (คําพิพากษาฎีกาที่ 4537/2548 และ 4790/2550) ดังนั้น ศาลจึงมีอํานาจพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ และศาลจะพิพากษาลงโทษ จําเลยได้ตาม ป.อาญา มาตรา 334

สรุป

ศาลจะพิพากษาไปโดยไม่สืบพยานได้ และศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้ตามมาตรา 334

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2558 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยลักทรัพย์เอาสร้อยคอทองคําของนางสาวมะละกอไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขอให้ลงโทษจําเลยฐานชิงทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 339 ศาลพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบว่าในคืนเกิดเหตุ จําเลยไม่ได้ใช้กําลังประทุษร้าย นางสาวมะละกอ ผู้เสียหาย จําเลยเพียงแต่ใช้มือซ้ายดึงคอเสื้อของผู้เสียหาย แล้วใช้มือขวา กระชากสร้อยคอทองคําหนัก 1 สลึงที่นางสาวมะละกอสวมใส่อยู่ที่คอขาดติดมือไป การกระทํา ของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่เป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

และวรรคหก “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสังเกินคําขอ หรือที่ มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็น เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ใน ตัวเอง ศาลจะลงโทษจําเลยในการกระทําผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานชิงทรัพย์ แต่ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยกระทําความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนี้เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องระบุองค์ประกอบความผิดว่า จําเลยลักทรัพย์ โดยกิริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ และคําขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็มิได้ขอให้ ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 336 จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนั้น ศาลจะลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคแรกและ วรรคสี่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่าง อาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง เมื่อศาลพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบว่าจําเลยกระทําความผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า แม้ศาลจะลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ศาล ก็ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อาญา มาตรา 335 (1) ซึ่งเป็นความผิดที่ประกอบกับ องค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหก

สรุป

ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนได้ แต่จะพิพากษาลงโทษ จําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความไม่ได้

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) ลงโทษจําคุก 2 ปี โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกําหนด 1 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยให้หนักขึ้น ส่วนจําเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษา ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษปรับ 6,000 บาท ดังนี้ จําเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ เห้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

มาตรา 219 “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สีหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจําเลยไม่เกินกําหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จําเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจําเลย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ จําเลยจะฎีกาขอให้ศาลลงโทษปรับได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จําเลยฎีกา ขอให้ศาลลดโทษปรับ เป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษปรับจําเลย 6,000 บาท ฎีกาของจําเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) ลงโทษจําคุก 2 ปี โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 ลงโทษปรับ 6,000 บาท เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจําคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นโทษปรับอย่างเดียว และยังเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนทั้งบทลงโทษและโทษด้วย จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก ในกรณีนี้จึงไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 218 แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา 219 ต่อไป

เมื่อพิจารณาตามมาตรา 219 แล้วได้ความว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษา ลงโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ตามมาตรา 219 ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ มีข้อยกเว้นให้จําเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจําเลยด้วย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการ ลงโทษจําคุก ซึ่งเป็นคุณแก่จําเลยมากกว่าคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษปรับอย่างเดียว กรณีนี้ถือว่าคําพิพากษา ศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเต็มโทษจําเลย (คําพิพากษาฎีกาที่ 4525/2533)

ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจําเลยด้วย จําเลยจึงฎีกาขอให้ศาล ลดโทษปรับซึ่งเป็นการฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา 219

สรุป จําเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2557

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายดีถูกนายดําฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว นายดีได้ร้องทุกข์มอบคดีแก่พนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนดําเนินคดีล่าช้า นายดีจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายดําต่อศาลด้วยตนเอง ขอให้ลงโทษ นายดําฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

(ก) หากปรากฏว่าในวันไต่สวนมูลฟ้อง นายดีโจทก์ซึ่งทราบนัดของศาลโดยชอบแล้วและทนายความไม่มาศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องของนายดี กรณีหนึ่ง

(ข) หากปรากฏว่าในวันไต่สวนมูลฟ้อง นายดีโจทก์ซึ่งทราบนัดของศาลโดยชอบแล้วไม่มาศาลแต่ทนายความของนายดีมาศาลและแถลงต่อศาลว่าไม่ทราบเหตุขัดข้องที่นายดีไม่มาศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องของนายดีอีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าว นายดีจะยื่นคําร้องภายใน 15 วัน นับแต่ศาลยกฟ้องเพื่อขอให้ศาลยกคดีของ นายดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้หรือไม่ และพนักงานอัยการจะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก็มาร้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดย แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

มาตรา 167 “ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายดีโจทก์ซึ่งทราบนัดโดยชอบแล้วและทนายความของนายดีต่างก็ไม่มาศาลใน วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง จึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ที่ถือว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องฝ่ายโจทก์ ไม่มีใครมาศาลเลย ดังนั้นศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย และเมื่อศาลได้พิพากษายกฟ้องแล้วจะมีผล ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสอง กล่าวคือ ถ้านายดีโจทก์มาร้องขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

และในกรณีที่ศาลได้ยกฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรกนั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีก แต่ถ้าเป็นคดีที่ราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ แม้ศาลจะยกฟ้องก็ไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการในการที่จะฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

และตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวเป็นคดีฉ้อโกงซึ่งเป็น ความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้น จึงตัดอํานาจของพนักงานอัยการที่จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่

(ข) การที่ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายดีโจทก์ไม่มาศาล แต่ทนายความของนายดีมาศาลและ แถลงต่อศาลว่าไม่ทราบเหตุขัดข้องที่นายดีไม่มาศาลนั้น ย่อมแสดงว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้นยังมีทนายโจทก์ มาศาล กรเนีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ที่ศาลจะยกฟ้องโจทก์แต่อย่างใด แต่ที่ศาลได้ยกฟ้องโจทก์กรณีนี้นั้น เป็นการยกฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 167 เพราะเป็นกรณีที่ทนายโจทก์แถลงว่า ไม่ทราบเหตุขัดข้องที่นายดีโจทก็ไม่มาศาล จึงเป็นการยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล

และเมื่อศาลได้ยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 167 จึงไม่ก่อให้เกิดผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสอง ที่โจทก์จะยื่นคําร้องขอให้ศาลยกคดีของโจทกขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้ และไม่ก่อให้เกิด ผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสาม ที่จะตัดอํานาจฟ้องของพนักงานอัยการแม้เป็นกรณีราษฎรเป็นโจทก์ ฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวก็ตาม

แต่การที่ศาลได้ยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 167 นั้น จะก่อให้เกิดผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กล่าวคือ ให้ถือว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ซึ่งมีผลทําให้ สิทธินําคดีอาญามาฟ้องระงับไป และทําให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่เช่นเดียวกัน

สรุป

กรณีตาม (ก) นายดีโจทก์สามารถยื่นคําร้องภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง เพื่อให้ศาลยกคดีของนายดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้โดยแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ แต่พนักงาน อัยการจะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้

กรณีตาม (ข) นายดีโจทก์จะยื่นคําร้องภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้องเพื่อให้ ศาลยกคดีของนายดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ไม่ได้ และพนักงานอัยการจะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลย เป็นคดีใหม่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในความผิดฐานบุกรุกเข้าไปถือครองที่ดินของนายเหลืองผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จําเลยให้การปฏิเสธ ในวันนัดสืบพยานโจทก์และ พยานจําเลย โจทก์ จําเลย และทนายจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์แถลง หมดพยาน ทนายจําเลยแถลงขออนุญาตเลื่อนสืบพยานจําเลยเนื่องจากพยานมาไม่พร้อม โจทก์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต ในวันนัดสืบพยานจําเลย โจทก์ไม่มาศาล ทนายจําเลยมาศาล นายประกันจําเลย แถลงว่าจําเลยจําวันนัดผิดพลาดจึงมิได้มาศาล ทนายจําเลยแถลงว่าจําเลยไม่ติดใจอ้างตนเองเป็นพยาน และขอสืบพยานจําเลยที่มาศาลเพียงปากเดียว ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยเสร็จ แล้วทนายจําเลยแถลง หมดพยาน ศาลชั้นต้นสังว่าคดีเสร็จการพิจารณาและให้เรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์ม ๆ ประกอบการวินิจฉัย และนัดฟังคําพิพากษา

ให้วินิจฉัยว่า การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มา ศาลก็ดี ที่สืบพยานจําเลยไปตามคําแถลงของทนายจําเลยก็ดี และที่เรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัยก็ดี ชอบด้วยกฎหมายหรือม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้”

มาตรา 172 วรรคแรก “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 175 “เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าเห็นสมควร ศาลมีอํานาจเรียกสํานวนการสอบสวน จากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้”

มาตรา 181 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มา ศาล ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

กรณีนี้เห็นว่า ในวันนัดสืบพยานจําเลยนั้นโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างใดต่อศาล การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย โจทก์ก็เพียงแต่เสียสิทธิในการซักค้านพยานจําเลยเท่านั้น มิใช่เป็น กรณีที่ทําให้ศาลต้องยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาลตามกําหนดนัด (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ซึ่งมาตรา 181 ให้นํามาบังคับใช้แก่การพิจารณาโดยอนุโลม) ดังนั้น การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ในวันสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มาศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย

2 การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไปตามคําแถลงของทนายจําเลย ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก การพิจารณาและการสืบพยานในศาลจะต้อง กระทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย โดยไม่จํากัดว่าจะเป็นการพิจารณาและสืบพยานของคู่ความฝ่ายใด ซึ่งไม่ว่าจะ เป็นการพิจารณาและสืบพยานในศาลของโจทก์หรือของจําเลยย่อมตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ด้วยเช่นกัน อีกทั้งการที่จําเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานเพราะจําเลยจําวันนัดผิดพลาด ก็มิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติ ไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไปโดยจําเลยไม่มาศาลจึงมิใช่การพิจารณาและการสืบพยาน ในศาลโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไป ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3 การที่ศาลชั้นต้นเรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 175 บัญญัติให้ศาลมีอํานาจเรียกสํานวนการสอบสวนจาก พนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นเรียกสํานวน

การสอบสวนจากพนักงานอัยการโจทก์มาประกอบการวินิจฉัยภายหลังโจทก์สืบพยานเสร็จแล้วจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจําเลยโดยโจทก์ไม่มาศาล และการที่ศาลชั้นต้นเรียกสํานวนการสอบสวนจากโจทก์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมาย แต่การ ศาลชั้นต้นสืบพยานจําเลยไปตามคําแถลงของทนายจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. คดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (กําหนดระวางโทษจําคุง ไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท) จําเลยให้การปฏิเสธและนําสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นมิใช่เนื่องจากความประมาทของจําเลย เเต่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจําเลย จําเลยตกใจ จึงกระชากปืนจากผู้ตาย ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย ในทางพิจารณา ข้อเท็จจริงได้ความว่าจําเลยแย่งปืนคืนจากผู้ตาย เมื่อจําเลยแย่งปืนคืนมาได้แล้ว จําเลยได้ใช้ปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (กําหนด ระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี) เช่นนี้ ศาลพึงพิพากษา คดีนี้อย่างไรจึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณา

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มีให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานกระทําโดย ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อาญา มาตรา 291 แต่ในทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่าจําเลยฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อาญา มาตรา 288 นั้น กรณีเช่นนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ เว้นแต่ปรากฏว่าการที่ ฟ้องผิดไปนั้นเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้

คดีนี้จําเลยให้การปฏิเสธและนําสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวจําเลย จําเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย คําให้การต่อสู้คดีของจําเลยดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่า จําเลยมิได้หลงหยิบยกเอาข้อที่ฟ้องผิดหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องมาเป็นสาระสําคัญในการต่อสู้คดีของจําเลย จึงถือว่า จําเลยมิได้หลงต่อสู้

เมื่อปรากฏว่าข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าว ในฟ้องเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้นศาลจะลงโทษจําเลยตาม ข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาก็ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษ จําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น คดีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตาม ป.อาญา มาตรา 288 แต่ศาลจะลงโทษจําเลยได้เพียงจําคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาทตาม ป.อาญา มาตรา 291 เท่านั้น จึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญา

สรุป คดีนี้ศาลจะต้องพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตาม ป.อาญา มาตรา 288 แต่ศาลจะลงโทษจําเลยได้เพียงจําคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาทตาม ป.อาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นอัตราโทษตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในชั้นพิจารณาจําเลย ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยไปโดยไม่สืบพยานว่าจําเลยมีความผิด ตามฟ้อง ลงโทษจําคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําคุก จําเลยโดยไม่รอการลงโทษจําคุก จําเลยอุทธรณ์ว่า จําเลยกระทําผิดตามฟ้องโดยบันดาลโทสะ ขอให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณี ต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้

(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ

(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท” และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 วรรคแรก “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้อง เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 295 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับนั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จึงต้องห้าม มิให้อุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ เว้นแต่ถ้าเป็นกรณีตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ดังนี้ จําเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

กรณีของโจทก์ การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยโดยไม่รอการลงโทษจําคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาล ถือเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ

กรณีของจําเลย การที่จําเลยอุทธรณ์ว่าได้กระทําผิดตามฟ้องโดยบันดาลโทสะขอให้ยกฟ้องนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อจําเลยต้องคําพิพากษาโดยศาลชั้นต้นให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้ กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นที่ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ (2)

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จําเลยได้อุทธรณ์ว่าจําเลยได้กระทําผิดตามฟ้องโดยบันดาลโทสะนั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่น โดยเจตนา และในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จําเลยก็ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงในศาลชั้นต้น ย่อมมีอยู่เพียงเท่าที่จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง อุทธรณ์ของจําเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้น ดังนั้นอุทธรณ์ของจําเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกันตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป

อุทธรณ์ทั้งของโจทก์และของจําเลยเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2557

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จําเลยขับรถยนต์โดยสารพลิกคว่ําเป็นเหตุให้ผู้โดยสาร คือ นายเอกถึงแก่ความตาย นายโทได้รับอันตรายสาหัส และนายตรีได้รับอันตรายแก่กาย นางแก้วภริยาของนายเอก นายโท และนายตรี จึงร่วมกันเป็นโจทก์ร่วมฟ้องจําเลยต่อศาลฐานขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้นายเอกถึงแก่ความตาย นายโทได้รับอันตรายสาหัส และนายตรีได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และ 390 คดีมีการส่งประเด็นไปไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลอื่น เมื่อศาลที่รับประเด็นส่งประเด็นกลับ ศาลจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสามต่อในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ปรากฏว่า เจ้าพนักงานศาลส่ง หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ในวันเดียวกัน คือ วันที่ 10 ตุลาคม 2557 โดยนางแก้ว เต็มใจรับหมายนัดไว้เอง นายโทมีภริยาของนายโทที่มีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งอยู่ในบ้านของนายโทเต็มใจ รับหมายนัดไว้แทน ส่วนนายตรีเจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดให้โดยวิธีปิดหมาย ครั้นถึงวันนัดไต่สวน มูลฟ้องปรากฏว่า นางแก้ว โจทก์ที่ 1 นายโท โจทก์ที่ 2 และนายตรี โจทก์ที่ 3 ไม่มีใครมาศาล แต่นายโทได้มอบฉันทะให้นางตามายื่นคําร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุเจ็บป่วย ศาลเห็นว่าเมื่อโจทก์ ทั้งสามไม่มาศาลตามกําหนดนัด จึงพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย ให้วินิจฉัยว่า คําพิพากษายกฟ้อง ของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุมีผลจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดย แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

วินิจฉัย

กรณีบุคคลหลายคนเป็นคู่ความในคดีเดียวกันโดยเป็นโจทก์ร่วมเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 นั้น การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมคนใด ไม่มาศาลตามกําหนดนัด ซึ่งศาลต้องพิพากษายกฟ้องเสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรกนั้น ศาลอยู่ในบังคับ ตามมาตราดังกล่าวที่ต้องแยกพิจารณาว่าโจทก์ร่วมแต่ละคนที่ไม่มาศาลนั้น เข้าเกณฑ์ที่จะยกฟ้องได้ตามมาตรา 166 วรรคแรกหรือไม่ โดยเกณฑ์สําคัญประการหนึ่งคือ โจทก์ต้องทราบกําหนดนัดของศาลโดยชอบแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนางแก้ว โจทก์ร่วมที่ 1 เต็มใจรับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องด้วยตนเอง หมายนัดที่ เจ้าพนักงานศาลส่งให้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ที่ส่งให้แก่นางแก้วจึงมีผลเป็นการส่งหมายโดยชอบในวัน ดังกล่าว เมื่อนางแก้วไม่มาศาลตามกําหนดนัดในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ย่อมเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 166 วรรคแรก ที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 1 ได้โดยชอบ คําพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 1 จึงชอบแล้ว

กรณีของนายโท โจทก์ร่วมที่ 2 แม้ภริยาของนายโทที่มีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งอยู่ในบ้านของนายโท เต็มใจรับหมายนัด ไสานมูลฟ้องไว้แทนนายโทซึ่งมีผลเป็นการส่งหมายโดยชอบในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 เช่นกันก็ตาม แต่ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 24 ตุลาคม 2557 แม้นายโทจะมิได้มาศาลตามกําหนดนัด แต่นายโท ได้มอบฉันทะให้นางตามายื่นคําร้องขอเลื่อนคดี คดีสําหรับนายโท โจทก์ร่วมที่ 2 ยังมีนางตาผู้รับมอบฉันทะจาก โจทก์ร่วมที่ 2 มาศาล กรณีจึงไม่อาจถือว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่มาศาลตามกําหนดนัดที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องตาม มาตรา 166 วรรคแรกได้ ทั้งนี้เพราะกรณีจะเข้าหลักเกณฑ์ยกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 166 วรรคแรก ต้องปรากฏว่า ในวันนัดของศาล ฝ่ายโจทก์ต้องไม่มีใครมาศาลเลย ดังนั้น คําพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

กรณีนายตรี โจทก์ร่วมที่ 3 เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้นายตรีโดยวิธีปิดหมาย ซึ่งเป็นการส่งโดยวิธีอื่นแทน หมายนัดที่ส่งจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกําหนดเวลา 15 วัน หรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ ศาลเห็นสมควรกําหนดได้ล่วงพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อเจ้าพนักงานส่งโดยวิธีปิดหมายในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 และศาลมิได้กําหนดระยะเวลาการมีผลใช้ได้ของศาลนานกว่า 15 วัน กรณีนี้ต้องถือว่า หมายที่ส่งนั้นมีผลใช้ได้ ต่อเมื่อกําหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้ว คือเริ่มมีผลใช้ได้ในวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ดังนั้น ในวันนัดไต่สวน มูลฟ้องวันที่ 24 ตุลาคม 2557 จึงยังถือไม่ได้ว่านายตรีโจทก์ร่วมที่ 3 ทราบกําหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องของศาลโดย ชอบแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องสําหรับ โจทก์ร่วมที่ 3 ได้ คําพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําพิพากษายกฟ้องของศาลสําหรับโจทก์ร่วมที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย แต่คําพิพากษา ยกฟ้องของศาลสําหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจําเลยแถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากจําเลยป่วย ในวันนี้ไม่สามารถมาศาล ส่วนพนักงานอัยการโจทก์แถลงว่า มีพนักงานสอบสวนมาศาลพร้อมสืบ และเป็นพยานปากสุดท้าย แต่หากทนายจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าพนักงานสอบสวนที่มาศาล ในวันนี้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและทําการสอบสวนคดีนี้โดยชอบ โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบ พนักงานสอบสวนและเป็นอันหมดพยานเพียงเท่านี้ หากศาลให้เลื่อนคดีไปโจทก์ก็ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นสอบทนายจําเลย ทนายจําเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง ศาลชั้นต้น จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า เมื่อทนายจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง ถือว่าโจทก หมดพยานจึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจําเลย ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจําเลย โจทก์มาศาล ส่วนจําเลยและทนายจําเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคําสั่ง ว่าฝ่ายจําเลยไม่มาศาล ถือว่าจําเลยมีพฤติการณ์หลบหนีและไม่ติดใจสืบพยาน ให้งดสืบพยานจําเลย และนัดฟังคําพิพากษา

ให้วินิจฉัยว่า การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานโจทก์และวันนัด สืบพยานจําเลยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 วรรคแรก “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก บัญญัติให้การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดย เปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ย่อมใช้บังคับแก่ การพิจารณาและสืบพยานในศาลของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจําเลย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีในวันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อทนายจําเลยแถลงขอเลื่อนคดีโดยจําเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้น ย่อมไม่อาจทําการพิจารณาและสืบพยานในวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณา โดยสอบทนายจําเลย แล้วทนายจําเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะเบิกความเป็นพยาน ในคดีนี้ แล้วศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า เมื่อทนายจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง ถือว่า โจทก์หมดพยาน จึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจําเลย เท่ากับศาลชั้นต้นทําการพิจารณาไปโดยมิได้ทําต่อหน้าจําเลย ทั้งไม่ต้องด้วยกรณีที่มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นให้ศาลทําการพิจารณาลับหลังจําเลยได้ การดําเนินกระบวนพิจารณา ของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก

กรณีในวันนัดสืบพยานจําเลย เมื่อจําเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย ศาลชั้นต้นก็ไม่ชอบ ที่จะทําการพิจารณาอย่างใดได้ และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจําเลยมีพฤติการณ์หลบหนีก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่ง ให้ออกหมายจับจําเลยมาศาลเพื่อทําการพิจารณาต่อไปเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นทําการพิจารณาโดยถือว่าจําเลย ไม่ติดใจสืบพยานจําเลย ให้งดสืบพยานจําเลยและนัดฟังคําพิพากษา จึงเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก เช่นกัน

สรุป

การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานโจทก์ และวันนัด สืบพยานจําเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายมดแดงขณะเดินข้ามทางม้าลายเป็นเหตุให้นายมดแดงถึงแก่ความตาย หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า

(ก) จําเลยเจตนาฆ่านายมดแดง จึงขับรถยนต์ชนนายมดแดงขณะที่นายมดแดงกําลังข้ามทางม้าลาย กรณีหนึ่ง

(ข) จําเลยขับรถยนต์ประมาทจริงตามฟ้อง แต่มิได้ชนนายมดแดง หากแต่ชนนายมดง่ามตาย อีกกรณีหนึ่ง

หากปรากฏว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าว จําเลยมิได้หลงต่อสู้ให้วินิจฉัยว่า ในแต่ละกรณีดังกล่าวศาล จะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก็ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปราการ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) กรณีโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายมดแดงถึงแก่ความตาย แต่ทาง พิจารณาฟังได้ว่าจําเลยขับรถยนต์ชนนายมดแดงโดยเจตนานั้น ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทําโดยเจตนากับ ประมาทตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าข้อแตกต่างเช่นว่านี้เป็นเพียงรายละเอียด มิให้ถือว่า ต่างกันในสาระสําคัญ เมื่อไม่ปรากฏว่าจําเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอํานาจตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบ วรรคสองที่จะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานฆ่านายมดแดงตายโดยเจตนาตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานประมาทเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม

(ข) กรณีโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายมดแดงถึงแก่ความตาย แต่ทาง พิจารณาฟังได้ว่าจําเลยขับรถยนต์ประมาทจริงตามฟ้อง แต่มิได้ชนนายมดแดง หากแต่ชนนายมดง่ามตาย เป็นข้อแตกต่างในตัวบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งการกระทํา ซึ่งถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสําคัญ ดังนั้นแม้จําเลย ไม่หลงต่อสู้ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ศาลจะพิพากษ ลงโทษจําเลยไม่ได้

สรุป

กรณีตาม (ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แต่จะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่ กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

กรณีตาม (ข) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จําเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาจําเลยยื่นคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้องเมื่อคดีเสร็จ การพิจารณา ศาลชั้นต้นฟังว่าจําเลยไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คําพิพากษา ขอให้ลงโทษจําเลย จําเลยอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ให้วินิจฉัยว่า

ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ…”

มาตรา 196 “คําสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทําให้คดีเสร็จสํานวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้น จนกว่าจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งในประเด็นสําคัญและมีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่ กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีอุทธรณ์ของโจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 349 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จึงเป็นคดี ที่ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ คําพิพากษาขอให้ลงโทษจําเลย ย่อมเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ซึ่งถือว่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ วรรคแรก ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา

กรณีอุทธรณ์ของจําเลย อุทธรณ์คําสั่งที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมของจําเลยเป็นอุทธรณ์ คําสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งไม่ทําให้คดีเสร็จสํานวน ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นจนกว่า จะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งในประเด็นสําคัญและมีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา แล้ว แม้จะมีอุทธรณ์คําพิพากษาของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา จึง ต้องถือว่าไม่มีอุทธรณ์คําพิพากษาที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้อุทธรณ์คําสั่งระหว่างพิจารณาได้ตามมาตรา 196 อุทธรณ์ ของจําเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ดังนั้นศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณาเช่นกัน

สรุป

ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยดังกล่าวไว้พิจารณาไม่ได้

 

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 s/2556

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายนําโชคขับรถยนต์ชนรถยนต์ที่นายมะละกอขับเป็นเหตุให้นายนําโชคและนายกฤตพนธ์ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ที่นายมะละกอขับได้รับอันตรายสาหัส พนักงานอัยการเห็นว่านายมะละกอ เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียวจึงเป็นโจทก์ฟ้องนายมะละกอในข้อหากระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ศาลชั้นต้น ประทับฟ้อง นายมะละกอให้การปฏิเสธ ต่อมานายนําโชคเป็นโจทก์ฟ้องนายมะละกอในข้อหา เดียวกันอีก และนายกฤตพนธ์เป็นโจทก์ฟ้องนายนําโชคว่านายนําโชคกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ นายกฤตพนธ์ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 เช่นกัน ทั้งสองคดีหลังศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้องแต่นายนําโชคและนายกฤตพนธ์โจทก์ในสองคดีหลัง ต่างยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รวมการพิจารณาคดีเข้ากับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายมะละกอ ศาลชั้นต้นอนุญาต พร้อมกับมีคําสั่งในสองคดีหลังว่า กรณีนี้เป็นกรณีเดียวกับคดีที่ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายมะละกอ จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา

ดังนี้ คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องสองคดีหลังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 162 “ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจําเลย โดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จําเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้ พิจารณา

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 วรรคแรก (1) กําหนดว่า ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จําเลยต่อศาล ศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจําเลยในข้อหาอย่างเดียวกัน ด้วยแล้ว ให้ศาลจัดการตามอนุมาตรา (2) กล่าวคือ ศาลไม่จําเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ คดีที่นายนําโชคเป็นโจทก์ฟ้องนายมะละกอนั้น แม้พนักงานอัยการจะฟ้อง นายมะละกอไว้แล้ว แต่เมื่อปรากฏว่านายนําโชคเป็นผู้เสียหายก็ย่อมมีอํานาจฟ้องนายมะละกอเป็นคดีใหม่ได้อีก และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน อีกทั้งเป็นการฟ้องนายมะละกอในข้อหาเดียวกันด้วย ศาลชั้นต้นจึงไม่จําเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 ดังนั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดไต่สวน มูลฟ้องและประทับฟ้องคดีที่นายนําโชคเป็นโจทก์ฟ้องนายมะละกอนั้นจึงขอบด้วยกฎหมายแล้ว

สําหรับคดีที่นายกฤตพนธ์เป็นโจทก์ฟ้องนายนําโชคนั้น แม้จะเป็นการฟ้องในข้อหาเดียวกันกับ คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายมะละกอก็ตาม แต่จําเลยทั้งสองคดีไม่ใช่จําเลยคนเดียวกันจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 162 วรรคแรก (1) ที่ศาลชั้นต้นจะจัดการตามอนุมาตรา (2) ได้ ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน ดังนั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องคดีที่นายกฤต นธ์เป็นโจทก์ฟ้องนายนําโชคจึง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องคดีที่นายนําโชคเป็นโจทก์ฟ้องนายมะละกอชอบด้วย กฎหมาย แต่คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องคดีที่นายกฤตพนธ์เป็นโจทก์ฟ้องนายนําโชคไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายพิศทรรตฟ้องขอให้ลงโทษนายกระทิงจําเลยฐานลักทรัพย์ในเคหสถานหรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (8), 357 โดยฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ นายกระทิงจําเลยแถลงต่อศาลขอให้การรับสารภาพ ศาลบันทึกคําให้การ จําเลยว่าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ในวันเดียวกันนั้นนายกระทิงจําเลยยืน คําให้การมีข้อความว่า จําเลยขอถอนคําให้การเดิมและขอให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 โจทก์จําเลยแถลงไม่สืบพยาน ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษ จําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 “ผู้ใดผู้นั้นกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้อง ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 “ผู้ใดลักทรัพย์ (8) ในเคหสถาน ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 “ผู้ใด ผู้นั้นกระทําความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคแรก “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ำไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลย ได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

ในชั้นพิจารณา กรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นกรณีที่จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยแน่ชัดว่าได้กระทํา ความผิดฐานใด หากคํารับสารภาพของจําเลยไม่ชัดเจนพอที่จะฟังได้ว่าจําเลยรับสารภาพว่าได้กระทําความผิดฐานใด กรณีเช่นนี้ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ เป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องนําสืบพยานหลักฐานว่าจําเลยกระทําความผิด ฐานใด หากโจทก์ไม่ประสงค์จะนําสืบต่อไป ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด เห็นว่า คําให้การของ นายกระทิงครั้งแรกที่ศาลบันทึกไว้ว่า จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้น แม้จะไม่ได้ความชัดแจ้งว่า จําเลยรับสารภาพในความผิดข้อหาใดก็ตาม แต่เมื่อต่อมาจําเลยยื่นคําให้การอีกฉบับหนึ่งมีความว่า จําเลยขอถอน คําให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ศาลจึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจําเลยกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 และเมื่อปรากฏว่า ความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 334 มิใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ําให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่ หนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาลงโทษจําเลยตาม ป.อาญา มาตรา 334 ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก (เทียบคําพิพากษา ฎีกาที่ 4129/2543)

ส่วนความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหะสถานและรับของโจรตาม ป.อาญา มาตรา 335 (8) และ 357 นั้น เมื่อคําให้การใหม่ของจําเลยขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์เพียงความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 เท่านั้น จึงมีผลเท่ากับจําเลยปฏิเสธคําฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 335 (8) และ 357 ดังนั้นจึงเป็น หน้าที่ของโจทก์จะต้องนําพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความถึงการกระทําผิดของจําเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงเท่ากับ โจทก์ไม่ติดใจที่จะให้ศาลลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 335 (8) และ 357 อีกต่อไป ศาลจะมี คําพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก

สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตาม ป.อาญา มาตรา 334 ได้ แต่จะพิพากษาลงโทษจําเลย ตาม ป.อาญา มาตรา 335 (8) และ 357 ไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยลักทรัพย์เอาสร้อยคอทองคําของนางสาวระรินไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขอให้ลงโทษจําเลยฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 339 ศาลพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบว่า ในคืนเกิดเหตุ จําเลย ไม่ได้ใช้กําลังประทุษร้ายนางสาวระรินผู้เสียหาย จําเลยเพียงแต่ใช้มือซ้ายดึงคอเสื้อของผู้เสียหาย แล้วใช้มือขวากระชากสร้อยคอทองคําหนัก 1 สลึง ที่นางสาวระรินสวมใส่อยู่ที่คอขาดติดมือไป การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่เป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวย เอาซึ่งหน้าซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคแรก วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคหก “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกิน คําขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็น เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจําเลยในการกระทําผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจําเลยฐานชิงทรัพย์ แต่ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยกระทําความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนี้เมื่อโจทก์มิได้ บรรยายฟ้องระบุองค์ประกอบความผิดว่า จําเลยลักทรัพย์โดยกิริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบความผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์ และคําขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็มิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 336 จึงเป็น เรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนั้น ศาลจะลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามที่พิจารณา ได้ความไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคแรกและวรรคสี่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่าง อาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง เมื่อศาลพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบว่าจําเลยกระทําความผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า แม้ศาลจะลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ศาลก็ ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อาญา มาตรา 335 (1) ซึ่งเป็นความผิดที่ประกอบกับองค์ประกอบ อย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192

สรุป

ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนได้ แต่จะพิพากษาลงโทษ จําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความไม่ได้

 

ข้อ 4. คดีอาญาเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ลงโทษประหารชีวิต แต่เนื่องจากคําให้การของจําเลยในชั้นสอบสวนบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ จําเลยหนึ่งในสามให้จําคุกตลอดชีวิต จําเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้อง ลดโทษให้จําเลย ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าจําเลยกระทําผิดจริงและไม่มีเหตุอันควรลดโทษ พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจําเลย ดังนี้ คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 212 “คดีที่จําเลยอุทธรณ์คําพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติม โทษจําเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทํานองนั้น”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญามาตรา 212 ได้วางหลักไว้ว่า คดีอาญาที่จําเลยอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ให้ลงโทษจําเลยนั้น ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจําเลย แม้จําเลยจะอุทธรณ์ขอให้ศาลเพิ่มเติม โทษแก่ตนเองก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าโจทก์จะได้อุทธรณ์ในทํานองให้เพิ่มเติมโทษแก่จําเลยด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําคุกจําเลยตลอดชีวิต และจําเลยอุทธรณ์ ฝ่ายเดียวนั้น แม้อุทธรณ์ดังกล่าวของจําเลยจะขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องลดโทษให้จําเลยก็ตาม กรณีก็ต้องปรับใช้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 212 ที่ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจําเลย เมื่อปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจําเลยจึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจําเลย ขัดต่อ ป.วิ.อาญ : มาตรา 212 ดังนั้น คําพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 374 1/2540)

สรุป คําพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2556

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นางสาวมดแดงผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 เวลากลางวัน นายมดง่ามจําเลยข่มขืนกระทําชําเราผู้เสียหายจนสําเร็จความใคร่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์มาศาล ส่วนจําเลยไม่มา แต่แต่งทนายเข้ามาซักค้านแทน ศาลไต่สวนตัวโจทก์คือนางสาวมดแดงจบคําเบิกความแล้ว ใกล้หมดเวลาราชการ จึงให้เลื่อนคดีไปไต่สวนมูลฟ้องต่อในนัดหน้า ครั้นถึงวันนัดคราวต่อมา ทนายโจทก์ ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องอ้างว่า คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 แต่พนักงานพิมพ์ ของโจทก์พิมพ์ผิดพลาดเป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2555 จึงขอแก้ไขคําฟ้องเป็นว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ทนายจําเลยรับสําเนาคําร้องขอแก้ฟ้องแล้ว แถลงคัดค้านว่า นายมดง่ามจําเลย เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2555 และเดินทางกลับประเทศไทยวันที่ 20 เดือนเดียวกัน จําเลยมีฐานที่อยู่แน่นอนว่าวันเกิดเหตุตามฟ้องคือวันที่ 10 ธันวาคม 2555 จําเลย มิได้อยู่ในประเทศไทย หากศาลอนุญาต ให้โจทก์แก้ไขคําฟ้องจะทําให้จําเลยเสียเปรียบในการ ต่อสู้คดี ขอให้ยกคําร้องแก้ฟ้องของโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคําฟ้องได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 163 วรรคแรก “เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอํานาจยื่นคําร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง ก่อนมีคําพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้ว ให้ส่งสําเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จําเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสํานวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้”

มาตรา 164 “คําร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิด หรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดีไม่ว่าจะทําเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทําให้จําเลย เสียเปรียบ เว้นแต่จําเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น”

มาตรา 165 วรรคสาม “ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจําเลย ให้ศาลส่งสําเนาฟ้องแก่จําเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จําเลยทราบ จําเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจําเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคําให้การจําเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจําเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวมดแดงผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 เวลากลางวัน นายมดง่ามจําเลยข่มขืนกระทําชําเราโจทกําจนสําเร็จความใคร่ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 276 ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ทนายโจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 แต่พนักงานพิมพ์ของโจทก์พิมพ์ผิดพลาดเป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2555 จึงขอแก้ไขเป็นว่า เหตุเกิด วันที่ 10 ตุลาคม 2555 นั้น เห็นว่า โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา และการที่โจทก์อ้างว่า พนักงานพิมพ์ของโจทก์พิมพ์วันเวลาเกิดเหตุผิดถือว่ามีเหตุอันควร (ฎีกาที่ 252/2483) แม้นายมดง่ามจําเลยซึ่งได้รับสําเนาคําร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์แล้วจะแถลงคัดค้านว่าจําเลยเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2555 และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 เดือนเดียวกัน จําเลยมีฐานที่อยู่แน่นอนว่าวันเกิดเหตุตามฟ้อง คือ วันที่ 10 ธันวาคม 2555 จําเลยมิได้อยู่ในประเทศไทยก็ตาม แต่การที่โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ฟ้องในระหว่างไต่สวน มูลพื่อง ซึ่งจําเลยยังไม่อยู่ในฐานะเป็นจําเลยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 165 วรรคสาม ย่อมไม่ทําให้จําเลยเสียเปรียบ เพราะศาลชั้นต้นยังมิได้ประทับฟ้องไว้พิจารณาและจําเลยยังมิได้ต่อสู้คดีหรือนําพยานเข้าสืบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 164 (ฎีกาที่ 29022547) ดังนั้น กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 163 และมาตรา 164 ที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคําฟ้องได้

สรุป

ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคําฟ้องได้

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท และมีคําขอให้นับโทษ จําเลยต่อจากโทษจําคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 1234/2556 ของศาลชั้นต้น ในวันนัดพิจารณาจําเลย ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ และทนายจําเลยมาศาล ทนายจําเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จําเลย มาศาลไม่ได้เพราะติดงานศพมารดา และจําเลยแจ้งว่าจะขอให้การรับสารภาพในนัดหน้า โจทก์ แถลงว่ามีพยานมาศาล 1 ปาก หากทนายจําเลยยอมรับว่าพยานที่มาศาลได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคําให้การพยานที่ส่งต่อศาลนี้โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานที่มาศาล และขอเสื่อนไปสืบ พนักงานสอบสวนปากเดียว ทนายจําเลยแถลงยอมรับตามคําแถลงของโจทก์ดังกล่าว โจทก์แถลง ไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ต่อ ครั้นวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อโจทก์ จําเลยและทนายจําเลยมาศาล จําเลยได้ให้การใหม่เป็นว่าจําเลย ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โจทก์จําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 234 จําคุก 1 ปี จําเลยให้การรับสารภาพลดโทษ ให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจําคุก 6 เดือน และให้นับโทษจําเลยต่อจากโทษจําคุกในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1234/2556 ของศาลชั้นต้น จําเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ชอบ เพราะมิได้พิจารณาและสืบพยาน ต่อหน้าเลย และจําเลยเป็นคนละคนกับจําเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ จึงนับโทษต่อไม่ได้ ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 วรรคแรก “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 176 วรรคแรก “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดย ไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่าง ไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ อุทธรณ์ของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 แม้ในวันนัดพิจารณาจําเลยจะให้การปฏิเสธ แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อจําเลย มาศาลและให้การใหม่เป็นว่า จําเลยให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา อันเป็นคําให้การที่รับสารภาพในการกระทํา ตามฟ้องที่โจทก์กล่าวหาว่าจําเลยได้กระทําผิดนั่นเอง และคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิด ฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท มีใช่คดีที่มี ข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างทําให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษ สถานหนักกว่านั้น ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก เมื่อโจทก์จําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานแล้วศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาเช่นนี้ จึงเป็นการดําเนินกระบวน พิจารณาไปตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่สืบพยานหลักฐาน กรณีไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก ที่บัญญัติให้การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย แม้การที่ทนายจําเลยแถลงยอมรับ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับถ้อยคําของพยานโจทก์ที่มาศาลที่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนอันถือว่าเป็นการพิจารณาอย่างหนึ่ง จะมิได้กระทําต่อหน้าจําเลยเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรกก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทําให้คําพิพากษา ศาลชั้นต้นที่ลงโทษจําเลยนั้นกลับกลายเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น คําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจําเลยดังกล่าวจึง ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจําเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2 คําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้นับโทษจําเลยต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ 1234/2556 ของศาลชั้นต้นนั้นไม่ชอบ เพราะคดีนี้จําเลยให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา อันเป็นคําให้การรับสารภาพในข้อหา เกี่ยวกับความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษจําเลยเท่านั้น ไม่รวมถึงการยอมรับว่าจําเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจําเลย ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ อันจะเป็นเหตุให้นับโทษจําคุกจําเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีดังกล่าว เมื่อโจทกไม่สืบพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจําเลยในคดีนี้เป็นจําเลยคนเดียวกันกับจําเลยในคดีที่โจทก์ ขอให้นับโทษต่อตามฟ้อง จึงนับโทษจําเลยในคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น อุทธรณ์ของจําเลยในข้อนี้จึงฟังขึ้น

สรุป อุทธรณ์ของจําเลยที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ชอบเพราะมิได้พิจารณา และสืบพยานต่อหน้าจําเลยนั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจําเลยที่ว่าจําเลยเป็นคนละคนกับจําเลยในคดีที่โจทก์ ขอให้นับโทษต่อจึงนับโทษต่อไม่ได้นั้น ฟังขึ้น

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายมด จึงใช้อาวุธปืนเล็งตรงไปที่นายมด กระสุนปืนถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่านายมดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 หากทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่าแท้จริงแล้วจําเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผล ที่จะฆ่านายปลวก แต่กระสุนปืนที่จําเลยยิ่งไปนั้นไม่ถูกนายปลวกแต่พลาดไปถูกนายมดได้รับอันตราย สาหัสและจําเลยนําสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ ศาลจึงพิพากษาลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายปลวก ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 บทหนึ่ง และฐานพยายามฆ่านายมดโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 60 อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทํากรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจําเลยฐาน พยายามฆ่านายมดตามฟ้องเพียงบทเดียว ให้วินิจฉัยว่า คําพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่ “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคําขอ หรือที่ มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่อง ที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจําเลยมี เจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายมด แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าแท้จริงแล้วจําเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่า นายปลวก หากแต่ลูกกระสุนปืนที่จําเลยยิ่งไปที่นายปลวกนั้นไม่ถูกนายปลวก แต่พลาดไปถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งตาม ปอ. มาตรา 60 บัญญัติให้ถือว่าจําเลยกระทําโดยเจตนาฆ่าเเก่นายมดผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้นก็ตาม กรณีเช่นนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา (เจตนาโดยพลาด) แตกต่างกับฟ้อง (เจตนาประสงค์ต่อผล) ในข้อสาระสําคัญ และการที่จําเลยนําสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ ยอมถือได้ว่าคดีนี้จําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อม มีอํานาจที่พิพากษาลงโทษจําเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านายมดโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 ประกอบ มาตรา 60 ตามที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ตามมาตรา 192 วรรคสอง (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 4166/2550)

ส่วนการที่ศาลปรับบทลงโทษจําเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านายปลวกอีกบทหนึ่ง ตามที่ พิจารณาได้ความด้วยนั้น เป็นเรื่องนอกฟ้องและนอกเหนือคําขอบังคับของโจทก์ เพราะคดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้อง เกี่ยวกับการกระทําของจําเลยต่อนายปลวก และอีกทั้งโจทก์มิได้มีคําขอใด ๆ ที่ขอให้ลงโทษจําเลยเกี่ยวกับการกระทํา ต่อนายปลวกด้วย กรณีเช่นนี้ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา (เจตนาประสงค์ต่อผลที่จะชานายปลวก) เช่นว่านี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจําเลย ดังนั้น การที่ศาลปรับบทลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายปลวก ตามที่พิจารณาได้ความว่าอีกบทหนึ่งด้วย จึงเป็นคําพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 192 วรรคแรกและวรรคสี่

สรุป

คําพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และเป็นความผิดลหุโทษ จําเลยให้การปฏิเสธ อ้างเหตุว่าป้องกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 69 จําคุก 15 วัน ให้รอการลงโทษจําคุกไว้มีกําหนด 1 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้น จําเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกําหนดโทษจําคุกและรอการลงโทษหนักเกินไป แล้วพิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจําเลย 1,000 บาท สถานเดียว อุทธรณ์โจทก์และจําเลยฟังไม่ขึ้น ให้วินิจฉัยว่า โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้นและจําเลยจะฎีกาขอให้ยกฟ้องได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณี ต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้”

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ ให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

ประเด็นที่ 1 โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษฐ์ เลยหนักขึ้นได้หรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ จําเลยตาม ป.อาญา มาตรา 391 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ นั้น ถือเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหา ข้อเท็จจริงเว้นแต่กรณีตาม (2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้ดังนี้จําเลยย่อมอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้นนั้น เป็นการอุทธรณีโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษ ของศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม ป.วิอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิ แก่โจทก์ที่จะฎีกาต่อมาได้ ดังนั้นโจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้นไม่ได้

ประเด็นที่ 2 จําเลยจะฎีกาขอให้ยกฟ้องได้หรือไม่

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 69 จําคุก 15 วัน ให้รอการลงโทษจําคุกไว้มีกําหนด 1 ปี กรณีต้องด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ (2) ที่บัญญัติยกเว้น ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ และที่จําเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจําเลย 1,000 บาท สถานเดียว โดยมิได้แก้บทความผิดด้วย ถือเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษ จําคุกจําเลยไม่เกิน 5 ปี ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคแรก บัญญัติห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อฎีกาของจําเลยที่ขอให้ยกฟ้องเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น จําเลยจะฎีกาขอให้ยกฟ้องไม่ได้

สรุป

โจทก์จะฎีกาให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้นไม่ได้ และจําเลยจะฎีกาขอให้ยกฟ้องไม่ได้เช่นเดียวกัน

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2556

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ จําเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง จําเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ตรวจสํานวนพบว่า คําฟ้องโจทก์มิได้บรรยาย ระบุวันเวลาที่จําเลยกระทําความผิดจึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า

(ก) โจทก์จะฎีกาคัดค้านว่า คําฟ้องโจทก์บกพร่องเพียงแต่มิได้ระบุเวลาที่จําเลยกระทําความผิดเท่านั้น ศาลชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบได้หรือไม่

(ข) โจทก์จะใช้สิทธิยื่นฟ้องจําเลยใหม่โดยบรรยายฟ้องระบุเวลาที่จําเลยกระทําความผิดให้ถูกต้องได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลย เข้าใจข้อหาได้ดี”

มาตรา 161 วรรคแรก “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ จําเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง เมื่อจําเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ตรวจสํานวนพบว่า คําฟ้องโจทก์มิได้บรรยายระบุวันเวลาที่จําเลยกระทําความผิดจึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องนั้น

(ก) โจทก์จะฎีกาคัดค้านว่า คําฟ้องโจทก์บกพร่องเพียงแต่มิได้ระบุเวลาที่จําเลยกระทา ความผิดเท่านั้น ศาลชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบได้หรือไม่นั้น เห็นว่า คําฟ้องที่มิได้บรรยายระบุเวลาที่จําเลยกระทําความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5) และการที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อาญามาตรา 161 วรรคแรกนั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะ ศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดําเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นจนคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์ ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นประการอื่นนอกจากพิพากษายกฟ้องโจทก์ ดังนั้น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง โจทก์จึงชอบแล้ว โจทก์จะฎีกาคัดค้าน คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบไม่ได้

(ข) โจทก์จะใช้สิทธิยื่นฟ้องจําเลยใหม่โดยบรรยายฟ้องระบุเวลาที่จําเลยกระทําความผิด ให้ถูกต้องได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เป็นเพราะคําฟ้องโจทก์มิได้ระบุวันเวลาที่จําเลย กระทําความผิด เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีวันเวลาที่จําเลยกระทําความผิด ซึ่งถือว่า ศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยเนื้อหาของความผิดซึ่งได้ฟ้อง ดังนั้น ถือว่าสิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องจําเลยใหมโดยบรรยายฟ้องระบุวันเวลาที่จําเลยกระทําความผิดให้ถูกต้องไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ําซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) ดังกล่าว

สรุป

(ก) โจทก์จะฎีกาคัดค้านคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบไม่ได้

(ข) โจทก์จะใช้สิทธิยื่นฟ้องจําเลยใหม่โดยบรรยายฟ้องระบุเวลาที่จําเลยกระทําความผิดให้ถูกต้องไม่ได้

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตามกฎหมายอาญา มาตรา 334 และมาตรา 357 ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 มีระวางโทษ จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 357 มีระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในวันนัดพิจารณา โจทก์ จําเลย และทนายจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว ศาลชั้นต้นตามจําเลย ว่าจะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง จําเลยแถลงขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และจําเลยกระทําผิดไปโดย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ศาลชั้นต้นจดคําให้การของจําเลยดังกล่าวไว้แล้ว โจทก์จําเลยต่างแถลงไม่ติดใจ สืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า คําให้การของจําเลยแม้จะอ้างว่าจําเลยกระทําความผิด โดย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ถือว่าเป็นคําให้การรับสารภาพแล้ว เมื่อคู่ความไม่ติดใจสืบพยานคดีไม่จําต้อง สืบพยานหลักฐานต่อไปและเป็นอันเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคําพิพากษา ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ดี หรือที่เห็นว่าคดี ไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปและคดีเป็นอันเสร็จการพิจารณาก็ดี ชอบหรือไม่ และศาลชั้นต้น

จะมีคําพิพากษาลงโทษจําเลยหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคแรก “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลย ได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า คําให้การของจําเลยที่แถลงขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จะอ้างว่ากระทําความผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

แต่ก็มิได้มีข้อเท็จจริงใดที่จําเลยอ้างว่าไม่มีเจตนากระทําผิดตามฟ้อง คําให้การของจําเลยในส่วนนี้จึงเป็นเพะง คําแถลงขอความปราณีต่อศาลเพื่อให้ลงโทษจําเลยในสถานเบา ถือได้ว่าเป็นคําให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใน ตามฟ้องขอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรกแล้ว ดังนั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพ ตามฟ้องนั้นชอบแล้ว

ประเด็นที่ 2 คําสั่งของศาลชั้นต้นที่เห็นว่าคดีไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป และคดีเป็น อันเสร็จการพิจารณาชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรตาม ป.อาญา มาตรา 334 และมาตรา 357 และจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องนั้น เมื่อคดีนี้มิใช่ คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น จึงอยู่ในบังคับของ ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก ที่ให้อํานาจแก่ศาลที่จะ พิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ คําสั่งของศาลชั้นต้นที่เห็นว่าคดีไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป และคดีเป็นอันเสร็จการพิจารณาเท่ากับเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยชอบ ดังนั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ประเด็นที่ 3 ศาลชั้นต้นจะมีคําพิพากษาลงโทษจําเลยหรือไม่ อย่างไร กรณีนี้เห็นว่า การที่ พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานใดฐานหนึ่ง ระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ตาม ป.อาญา มาตรา 334 และมาตรา 357 คําให้การของจําเลยที่รับสารภาพตามฟ้องจึงเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ ว่าจําเลยให้การรับสารภาพว่ากระทําความผิดฐานใดฐานหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนําพยานหลักฐาน มาสืบให้ได้ความถึงการกระทําผิดของจําเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะมีคําพิพากษาลงโทษจําเลย ไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก

สรุป

คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ดี หรือที่เห็นว่าคิด ไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปและคดีเป็นอันเสร็จการพิจารณาก็ดี เป็นคําสั่งที่ชอบแล้ว และศาลชั้นต้นจะมี คําพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจําเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ มิฉะนั้นจะยิ่งเสียให้ตาย ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสองฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83 จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่าเฉพาะ จําเลยที่ 1 เพียงลําพังเท่านั้นที่ขู่เข็ญผู้เสียหาย แต่มิได้ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญ จําเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่า ตนเองเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ หากผู้เสียหายไม่ยอมส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ จะแกล้งยัดยาบ้าและ จับกุมผู้เสียหายฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง อันเป็นความผิดฐานกรรโชกและเมื่อได้รับ โทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายแล้ว จําเลยที่ 1 ได้นําโทรศัพท์มือถือนั้นไปขายให้แก่จําเลยที่ 2 ซึ่ง รับซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จําเลยที่ 1 ได้มาจากการกระทําความผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า การที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้นเป็นเหตุให้จําเลยที่ 1 และที่ 2 หลงต่อสู้

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช้ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก็ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 ร่วมกระทําความผิดกับจําเลยที่ 2 ฐานชิงทรัพย์ แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จําเลยที่ 1 กระทําความผิดฐานกรรโชกก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็น การขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับ ฟ้องในข้อสาระสําคัญ อันเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้องเมื่อจําเลยที่ 1 ไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอํานาจลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง

และในส่วนของจําเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 2 ร่วมกระทําความผิดกับจําเลยที่ 1 ฐาน ชิงทรัพย์ แม้ทางพิจารณาได้ความว่าจําเลยที่ 2 กระทําความผิดฐานรับของโจรก็ตาม แต่การกระทําความผิดฐาน ชิงทรัพย์ตามฟ้องก็เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายอันเป็น การได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง ในข้อสาระสําคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจําเลยที่ 2 ไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอํานาจลงโทษจําเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง

สรุป

ศาลมีอํานาจลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานกรรโชกได้และศาลก็มีอํานาจลงโทษจําเลยที่ 2 ใน ความผิดฐานรับของโจร ตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จําเลยให้การรับสารภาพ ตามฟ้องศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ฟ้องจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง โดยไม่สืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามฟ้องจําคุก 1 ปี จําเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก 6 เดือน จําเลย อุทธรณ์ว่า จําเลยไม่มีเจตนากระทําผิดตามฟ้องขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยผู้พิพากษา ซึ่งลงชื่อในคําพิพากษาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสําคัญอันควร สู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ และโจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ไม่ควรลดโทษให้จําเลย

ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยและโจทก์หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณี ต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้

(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ

(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”

มาตรา 193 ตรี “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 193 ทวิ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคําพิพากษาหรือทําความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสําคัญ อันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ ซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้ มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้ พิจารณาต่อไป”

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการ ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรถ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยและโจทก์หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของจําเลย

การที่จําเลยอุทธรณ์ว่า จําเลยไม่มีเจตนากระทําผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น จะเห็นได้ว่าอุทธรณ์ของจําเลยเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มีผลเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ ซึ่งแตกต่างไปจาก คําให้การของจําเลยที่ให้การรับสารภาพตามฟ้องในศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามฟ้อง ซึ่งจําเลย ให้การรับสารภาพโดยไม่สืบพยานหลักฐานว่าจําเลยกระทําผิดตามฟ้อง ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจําเลยจึงเป็น ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 อีกทั้งอุทธรณ์ของจําเลยก็มิใช่เป็นการอุทธรณ์ในคดีซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคําพิพากษาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสิน เป็นปัญหาสําคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็ไม่มีผลให้เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ตรี

กรณีของโจทก์

การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ไม่ควรลดโทษให้จําเลยนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจ ในการลงโทษของศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลย ใน ความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อาญา มาตรา 350 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ อันเป็นอุทธรณ์ในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ

สรุป

ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยและโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 s/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยลักเอากระเป๋าสตางค์ 1 ใบ ราคา 500 บาท และเงินสด 3,000 บาท ของนางสาวสาระวารีผู้เสียหายไป โดยทุจริต ระหว่างสอบสวนจําเลยถูกควบคุมตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดําที่ ฝ.100/2555 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดที่ใด คงมีแต่เพียงคําร้องขอฝากขังในสํานวนคดีอาญาดังกล่าวที่อยู่ในสํานวนฟ้อง ซึ่งระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และจําเลยลงลายมือชื่อรับสําเนาคําร้องขอ ฝากขังที่ด้านหลังคําร้องดังกล่าวไว้แล้ว ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานที่กระทําความผิดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา และสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจข้อหาได้ดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้คําฟ้องของโจทก์จะมิได้ระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทําความผิดไว้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ได้กล่าวไว้ในคําฟ้องด้วยว่า ระหว่างสอบสวนจําเลยถูกควบคุมตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีอาญา หมายเลขดําที่ ฝ.100/2555 ซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคําฟ้องโดยไม่ต้องคํานึงว่าคําร้องขอฝากขัง จะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ เพราะความมุ่งหมายของ ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5) นั้น เพียงต้องการให้จําเลยได้ทราบรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิดพอสมควร เท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุก็มิใช่องค์ประกอบของ ความผิดอันจะต้องระบุให้ชัดแจ้งไว้ในคําฟ้องโดยเฉพาะ

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าตามคําร้องขอฝากขังในสํานวนคดีอาญาหมายเลขดําที่ ฝ.100/2555 ได้ มีรายละเอียดระบุสถานที่เกิดเหตุว่า เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และจําเลยได้ลง ลายมือชื่อรับสําเนาคําร้องไว้ที่ด้านหลังคําร้องขอฝากขังดังกล่าวแล้ว ดังนี้ถือว่าจําเลยย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าเหตุคดีนี้ เกิดขึ้นที่ใด และสามารถนําสืบต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ขอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5) (คําพิพากษาฎีกาที่ 1778/2551)

สรุป ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานที่กระทําความผิด เป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบ ด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในขณะที่จําเลยมีอายุ 29 ปี ขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ทวิ วรรคสี่ ก่อนเริ่มพิจารณาศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ จําเลยตอบว่าไม่มี แต่จําเลยไม่ต้องการทนายความเพราะสํานึกผิดในการกระทํา ดังนี้ หากศาลพิจารณาคดีไปโดยมิได้ตั้งทนายความให้จําเลย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ทวิ วรรคสี่ “ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 173 วรรคแรกและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จําเลย มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี และจําเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคแรก ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือ ในคดีที่จําเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก (ไม่ว่าจะเป็นโทษจําคุกที่มีกําหนดเวลาหรือเป็นโทษจําคุก ตลอดชีวิต) ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความ ก็ให้ ศาลตั้งทนายความให้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในขณะที่จําเลยมีอายุ 29 ปี ขอให้ลงโทษจําเลยตาม ป.อาญา มาตรา 340 ทวิ วรรคสี่ ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก จึงเข้าหลักตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง ที่ได้กําหนดไว้ว่า ก่อนเริ่มพิจารณาศาลต้องถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและ จําเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อศาลถามจําเลยว่ามีทนายความ หรือไม่ จําเลยตอบว่าไม่มี แต่จําเลยไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ศาลจึงไม่ต้องตั้งทนายความให้ และหากศาล พิจารณาคดีไปโดยมิได้ตั้งทนายความให้จําเลย การพิจารณาคดีของศาลย่อมชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

หากศาลพิจารณาคดีไปโดยมิได้ตั้งทนายความให้จําเลย การพิจารณาคดีของศาลในกรณีนี้ ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์บรรยายฟ้องและมีคําขอให้ลงโทษจําเลยฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จําเลยหลงต่อสู้ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า จําเลยกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี” มาตรา 291 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทําให้ เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ถือว่า ข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่า การที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิด ที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้น ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีคําขอให้ลงโทษจําเลยฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นการกระทําโดยเจตนา แต่จากการสืบพยานได้ความว่า จําเลยกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ดังนี้ถึงแม้ว่าข้อแตกต่างระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาทนั้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญก็ตาม แต่เมื่อจําเลยหลงต่อสู้ศาลจึงพิพากษาลงโทษ จําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง กรณีนี้ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยมิได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดหลายกรรมต่างกันฐานบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 304 จําคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ ในเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) จําคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจําคุกจําเลยในความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษ แก่จําเลยไว้มีกําหนด 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน นอกจากที่แก้ให้ เป็นไปตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยขอให้ลงโทษจําเลยไปตาม คําพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

มาตรา 219 “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจําเลยไม่เกินกําหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จําเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจําเลย”

มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์หรือไม่นั้น เมื่อเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกัน การพิจารณาสิทธิฎีกาของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น จะต้องพิจารณาแยกตาม ความผิดเป็นรายกระทงไป ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์จึงแยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีแรก ความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตาม ป.อาญา มาตรา 364 ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ ฟ้องจําเลยนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจําคุก 6 เดือนนั้นให้รอการลงโทษจําคุกแก่จําเลยไว้มีกําหนด 2 ปี กรณีดังกล่าวถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้นว่าจําเลยมีความผิด และให้ลงโทษจําคุกจําเลย 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี ดังนั้นกรณีนี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 อีกทั้งกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ให้รอการยิงโทษ จําคุกจําเลย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจําคุกจําเลยไว้มีกําหนด 2 ปีนั้น แม้จะถือว่าเป็นกรณี ที่มีการแก้ไขมาก แต่เมื่อมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลย กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219 ที่จะทําให้คู่ความมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น โจทก์จึงฎีกาคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้

กรณีที่ 2 ความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อาญา มาตรา 335(8) นั้น เมื่อศาลชั้นต้น พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดจริงตามฟ้องและให้จําคุกจําเลย 3 ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ กรณีนี้จึงมีผลเท่ากับว่าเป็นการพิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงมิใช่เป็นคดีที่อยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้ คู่ความฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 220 ดังนั้น กรณี ดังกล่าวนี้โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

สรุป

ศาลชั้นต้นจะต้องมีคําสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ในความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน และ มีคําสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2555

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. คดีอาญาสองสํานวน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยโดยไม่รอการลงโทษ จําเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ทั้งสองสํานวน หากปรากฏว่า

(ก) สําานวนแรก ศาลอุทธรณ์ตรวจสํานวนพบว่า แบบพิมพ์คําขอท้ายคําฟ้องคดีอาญาของโจทก์เป็นสําเนาเอกสารที่ถ่ายเอกสารมาจากต้นฉบับคําขอท้ายคําฟ้องคดีอาญาทีโจทก์ ผู้เรียง และผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องได้ลงชื่อไว้แล้วแสดงว่า คําฟ้องของโจทก์เป็นคําฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

(ข) สํานวนหลัง ศาลอุทธรณ์ตรวจสํานวนพบว่าเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จําเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลย ฐานรับของโจรตามคํารับสารภาพของจําเลย แต่คําฟ้องโจทก์บรรยายระบุวันเวลาเกิดเหตุว่าความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อนความผิดฐานลักทรัพย์

ให้วินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาคดีอาญาตามข้อ (ก) และข้อ (ข) อย่างไร และเมื่อศาลอุทธรณ์ มีคําพิพากษาแล้ว โจทก์จะนําคดีอาญาทั้งสองสํานวนนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลย เข้าใจข้อหาได้ดี

(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง”

มาตรา 161 วรรคแรก “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง”

วินิจฉัย

(ก) คดีอาญาสํานวนแรก

เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสํานวนพบว่าแบบพิมพ์คําขอท้ายฟ้องคดีอาญาของโจทก์เป็นสําเนาเอกสาร ที่ถ่ายเอกสารมาจากต้นฉบับคําขอท้ายฟ้องคดีอาญาที่โจทก์ ผู้เรียง และผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องได้ลงชื่อไว้แล้ว จึงเป็น คําฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง และผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158(7) ซึ่งหากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อํานาจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 161 วรรคแรก สั่งให้โจทก์ แก้ไขเสียให้ถูกต้อง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสังประทับฟ้อง และดําเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นสู่การพิจารณาของ ศาลอุทธรณ์แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 161 วรรคแรก ดังกล่าวย่อมล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงต้องพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะฟ้องโจทก์ไม่มีลายมือชื่อ โจทก์ ผู้เรียง และผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158(7) นั้น ไม่ถือว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันจะทําให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) แต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์ย่อมสามารถนําคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องดังกล่าวนี้ยื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

(ข) คดีอาญาสํานวนหลัง

ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อาญา มาตรา 357 เป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากการกระทําอันเป็น การอุปการะความผิดฐานลักทรัพย์หรือความผิดอื่น ดังนั้นความผิดฐานรับของโจรจึงต้องเกิดขึ้นภายหลังจาก มีการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อคําฟ้องโจทก์บรรยายว่า การกระทําความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อน ความผิดฐานลักทรัพย์ ย่อมเป็นคําฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทําความผิดอย่างชัดเจน จึงเป็น คําฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5) แม้จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องฐานรับของโจร ก็เป็น การรับสารภาพตามฟ้องซึ่งไม่อาจเป็นความผิดฐานรับของโจรได้ ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงต้องพิพากษากลับให้ ยกฟ้องโจทก์ (คําพิพากษาฎีกาที่ 330/2549)

ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากคําฟ้องโจทก์บรรยายขัดต่อสภาพและ ลักษณะของการกระทําความผิดฐานรับของโจรเช่นนี้ ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิด ซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) โจทก์จะนําคดีอาญาใน สํานวนหลังตามข้อ (ข) มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ

สรุป

(ก) คดีอาญาสํานวนแรก ศาลอุทธรณ์ต้องพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์สามารถนํา คดีอาญาตามข้อ (ก) นี้มาฟ้องเป็นคดีใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

(ข) คดีอาญาสํานวนหลัง ศาลอุทธรณ์ต้องพิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกัน และโจทก์ จะนําคดีอาญาตามข้อ (ข) นี้มาฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรสร้อยคอทองคําของนายจ้าง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357 โดยโจทก์บรรยายฟ้อง ไว้ด้วยว่าในชั้นสอบสวนจําเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ของนายจ้าง ส่วนชั้นพิจารณา ของศาลจําเลยให้การว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ โจทก์แถลงไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจําเลยข้อหาลักทรัพย์ของนายจ้าง จําคุก 1 ปี จําเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ กึ่งหนึ่ง คงจําคุก 6 เดือน ให้วินิจฉัยว่า

(ก) คําพิพากษาศาลชั้นต้นชอบหรือไม่

(ข) หากจําเลยอุทธรณ์ว่า เหตุที่จําเลยลักทรัพย์ของนายจ้างก็เพราะจําเลยยากจน ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้คําให้การของจําเลยจะไม่ชัดแจ้งแต่จําเลยรับในอุทธรณ์ว่า ลักทรัพย์ของนายจ้างจริงตามฟ้อง ประกอบกับคดีไม่มีเหตุอันควรรอการลงโทษ จึงพิพากษายืน คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคแรก “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ำไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลย ได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

(ก) ในชั้นพิจารณา กรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นกรณีที่จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยแน่ชัดว่าได้กระทํา ความผิดฐานใด หากคํารับสารภาพของจําเลยไม่ชัดเจนพอที่จะฟังได้ว่าจําเลยรับสารภาพว่าได้กระทําความผิดฐานใด กรณีเช่นนี้ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ เป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องนําสืบพยานหลักฐานว่าจําเลยกระทําความผิด ฐานใด หากโจทก์ไม่ประสงค์จะนําสืบต่อไป ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดฐานลักทรัพย์หรือ รับของโจรสร้อยคอทองคําของนายจ้าง แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจําเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว การที่จําเลยให้การในชั้นพิจารณาว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการนั้น ยังไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดได้ว่า จําเลยกระทําความผิดฐานใด แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าในชั้นสอบสวนจําเลยให้การรับสารภาพข้อหา ลักทรัพย์ก็ตาม แต่คําให้การชั้นสอบสวนก็ไม่เกี่ยวข้องกับคําให้การในชั้นพิจารณา กรณีจึงไม่อาจถือว่าการที่ จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องนั้น เป็นคําให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ ดังนั้น เมื่อคําให้การรับสารภาพ ของจําเลยไม่สามารถรับฟังได้แน่ชัดว่าจําเลยกระทําความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะ พิพากษาลงโทษจําเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยาน ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจําเลยได้ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นตามอุทาหรณ์การที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ลงโทษจําเลยข้อหาลักทรัพย์ของนายจ้างนั้น คําพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบ คําพิพากษาฎีกาที่ 1798/2550)

(ข) การที่จําเลยอุทธรณ์ว่าเหตุที่จําเลยลักทรัพย์ของนายจ้างก็เพราะจําเลยยากจน ขอให้รอการลงโทษ โดยมิได้โต้แย้งคําวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์นั้น คําพิพากษาศาลชั้นต้น หรือคําฟ้องอุทธรณ์มิใช่คําให้การของจําเลยที่ได้ให้การไว้ต่อศาลชั้นต้นก่อนเริ่มพิจารณา ถึงแม้จะมีถ้อยคํา หรือข้อความที่อาจแสดงว่าจําเลยรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์ ก็ไม่อาจถือว่าเป็นคําให้การของจําเลยว่า กระทําผิดฐานลักทรัพย์หรือรับฟังได้โดยปริยายว่าจําเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ เมื่อคําให้การของจําเลย ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจําเลยกระทําความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษ จําเลยไม่ได้ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คําพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 4784/2550)

สรุป

(ก) คําพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) คําพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยลักทรัพย์เอาสร้อยคอทองคําของนางสาวน้ำหวานไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขอให้ลงโทษจําเลยฐานชิงทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 339 ศาลพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบว่า ในคืนเกิดเหตุ จําเลยไม่ได้ใช้กําลังประทุษร้ายนางสาวน้ำหวานผู้เสียหาย จําเลยเพียงแต่ใช้มือซ้ายดึงคอเสื้อของ ผู้เสียหาย แล้วใช้มือขวากระชากสร้อยคอทองคําหนัก 1 สลึง ที่นางสาวน้ำหวานสวมใส่อยู่ที่คอขาด ติดมือไป การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่เป็นการลักทรัพย์ โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ให้แยกวินิจฉัยตามประเด็น ดังนี้

(ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

(ข) หากข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณา ปรากฏว่าสร้อยคอทองคําที่นางสาวน้ำหวานสวมใส่อยู่มิใช่เป็นของนางสาวน้ำหวานตามที่โจทก์ฟ้อง หากแต่เป็นของนางสาวน้ำฝน คําตอบจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคแรก วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคหก “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมีใช้ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็น เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ใน ตัวเอง ศาลจะลงโทษจําเลยในการกระทําผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานชิงทรัพย์ แต่ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยกระทํา ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนี้เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องระบุองค์ประกอบความผิดว่า จําเลยลักทรัพย์โดยกิริยา ฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ และคําขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็มิได้ขอให้ลงโทษ ฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 336 จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนั้น ศาลจะ ลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคแรกและวรรคสี่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่าง อาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง เมื่อศาลพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบว่าจําเลยกระทําความผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า แม้ศาลจะลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ ศาลก็ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อาญา มาตรา 335(1) ซึ่งเป็นความผิดที่ประกอบกับ องค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหก

(ข) การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยการบรรยายฟ้องว่า จําเลยชิงทรัพย์สร้อยคอทองคําของนางสาวน้ำหวาน ผู้เสียหายนั้น แม้ในทางพิจารณาจะได้ความว่าสร้อยคอทองคําที่นางสาวน้ำหวานสวมใส่อยู่มิใช่เป็นของนางสาวน้ำหวาน ตามที่โจทก์ฟ้องแต่เป็นของนางสาวน้ำฝนก็ตาม แต่การแตกต่างในตัวเจ้าของทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายนั้น หาใช่ ข้อสาระสําคัญไม่ ดังนั้น แม้ในทางพิจารณาจะปรากฏว่าสร้อยคอทองคําที่ถูกประทุษร้ายจะเป็นของนางสาวน้ําฝน ซึ่งแตกต่างจากฟ้องที่ระบุว่าเป็นของนางสาวน้ำหวาน คําตอบก็หาเปลี่ยนแปลงไปไม่

สรุป

(ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนได้ แต่จะพิพากษา ลงโทษจําเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความไม่ได้

(ข) หากข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาว่าสร้อยคอทองคําที่นางสาวน้ำหวาน สวมใส่อยู่มิใช่เป็นของนางสาวน้ำหวานตามที่โจทก์ฟ้องแต่เป็นของนางสาวน้ำฝน คําตอบก็หาเปลี่ยนแปลงไปไม่

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รวม 2 กระทง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง จําคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง รวมจําคุกจําเลย 2 ปี บวกโทษจําคุกจําเลยในคดีอื่นของศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษไว้อีก 1 ปี 6 เดือน รวมจําคุกจําเลยมีกําหนด 3 ปี 6 เดือน โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจําเลยเบาเกินไป ขอให้ลงโทษหนักขึ้นอีก จําเลยอุทธรณ์ว่า จําเลยไม่ได้กระทําความผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้น มีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ แต่ให้รับอุทธรณ์ของจําเลย ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และรับอุทธรณ์ของจําเลยชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่ง อัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้

(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ

(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่ กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ได้ตามมาตรา 193 ทวิ (1) (2) (3) และ (4)

กรณีตามอุทาหรณ์ คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อาญา มาตรา 352 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จึงเป็น คดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้องโจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจําเลย เบาเกินไป ขอให้ลงโทษหนักขึ้นอีก อันเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกําหนดโทษของศาลชั้นต้น ซึ่ง ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว

ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลยนั้น เมื่อจําเลยต้องคําพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจําคุก และอุทธรณ์ของจําเลยที่ว่าจําเลยไม่ได้กระทําความผิด เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง กรณีนี้จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ (1) ที่ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งให้รับอุทธรณ์ของ จําเลยจึงชอบแล้ว

สรุป

คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และรับอุทธรณ์ของจําเลยนั้นเป็นคําสั่ง ที่ชอบแล้ว

WordPress Ads
error: Content is protected !!