การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานรับของโจร โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 เวลากลางคืน มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ คันหมายเลขทะเบียน ระยอง 123 ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต และจําเลยได้รับซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไว้จากคนร้ายโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการ กระทําผิด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จําเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี
(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดี”
วินิจฉัย
ในการฟ้องคดีอาญา นอกจากคําฟ้องต้องทําเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึง การกระทําทั้งหลายที่โจทก์กล่าวหาว่าจําเลยกระทําผิดด้วย กล่าวคือ จะต้องบรรยายถึงการกระทําผิดไว้ให้ชัดเจน ครบถ้วนขององค์ประกอบแห่งความผิดนั้น มิฉะนั้นแล้ว คําฟ้องของโจทก์จะกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย กฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)
กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพได้หรือไม่ เห็นว่า ความผิด ฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทําอันเป็นการอุปการะความผิดฐานลักทรัพย์หรือความผิดอื่น ดังที่ บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 เช่น ช่วยซื้อ จําหน่าย หรือรับไว้โดยประการใด ดังนั้นความผิดฐานรับของโจรโดยสภาพ จึงต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว แต่ตามคําฟ้องโจทก์บรรยายว่าเหตุลักทรัพย์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 แต่จําเลยกระทําผิดฐานรับของโจรในวันที่ 10 มกราคม 2557 คําฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่า จําเลยกระทําผิดฐานรับของโจรก่อนที่จะมีการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ย่อมเป็น คําฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทําความผิดอย่างชัดเจน จึงเป็นคําฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5) แม้จําเลยจะให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องซึ่งไม่เป็นความผิด ดังนั้น ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพได้ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 330/2549)
สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยตามคํารับสารภาพไม่ได้
ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 มีระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ในวันนัดพิจารณา โจทก์ จําเลยทั้งสอง และทนายจําเลยทั้งสองมาศาล ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยทั้งสองฟัง แล้วจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง จําเลย ที่ 2 ให้การปฏิเสธ โจทก์ขอสืบพยานสําหรับจําเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อถึงวันนัด สืบพยานโจทก์ จําเลยทั้งสองและทนายจําเลยทั้งสองมาศาล โจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ ไม่มาศาลตามกําหนดนัดจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยทั้งสอง
ให้วินิจฉัยว่า คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยทั้งสองชอบหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้”
มาตรา 176 “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดย ไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความเดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลย ได้กระทําผิดจริง
ในคดีที่มีจําเลยหลายคน และจําเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจําหน่ายคดี สําหรับจําเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจําเลยที่ปฏิเสธนั้น เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกําหนดก็ได้”
มาตรา 181 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยทั้งสองชอบ หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีจําเลยที่ 1
คดีนี้ข้อหาในความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษขั้นต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ 1 ปี มิใช่เป็นคดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น เมื่อปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ตามฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้จะปรากฏว่าโจทก์จะไม่มาตามกําหนดนัดสืบพยานจําเลย ก็ไม่มีผลต่อจําเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพแต่อย่างใด ดังนั้น คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจําเลยที่ 2
การที่จําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ และศาลชั้นต้นให้นัดสืบพยานโจทก์ โดยมิได้สั่งจําหน่ายคดี สําหรับจําเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่นั้น ย่อมถือเป็นดุลยพินิจของศาลชั้นต้นโดยชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคสอง
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มา ตามกําหนดนัด ทําให้กระบวนพิจารณาที่โจทก์จะต้องกระทําต่อศาลในการนําพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ ความผิดของจําเลยที่ 2 ที่ปฏิเสธไม่อาจดําเนินการได้ ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 31 บัญญัติให้ยกฟ้องของโจทก์เสียเว้นแต่มีเหตุอันควร ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเหตุอันควร การที่ศาล ขั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําโดยประมาท เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น กระสุนปืนถูกนายทองม้วน เป็นเหตุให้นายทองม้วนถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แต่ทางพิจารณา ได้ความว่า
(ก) จําเลยยิงนายทองเหม็น คู่แฝดของนายทองม้วนตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่านายทองเหม็นเป็นนายทองม้วน กรณีหนึ่ง
(ข) จําเลยยิงนายทองม้วนตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่า นายทองม้วนเป็นนายทองเหม็นคู่อริของจําเลย และไม่ปรากฏว่าจําเลยได้หลงต่อสู้ อีกกรณีหนึ่ง ให้วินิจฉัยว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าว ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมีใช้ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฎแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ ทั้งสองกรณีดังกล่าวศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําโดยประมาท เป็นเหตุให้นายทองม้วนถึงแก่ความตาย วัตถุแห่งการกระทําตามฟ้อง คือ นายทองม้วน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณากลับได้ความว่าผู้ตายซึ่งเป็น วัตถุแห่งการกระทํา คือ นายทองเหม็น จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสําคัญ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง โดยศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แม้การต่างกันระหว่างการกระทําผิด โดยเจตนากับประมาท บทบัญญัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม จะมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญก็ตาม
(ข) โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นถูกนายทองม้วนตาย แม้ทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยยิงนายทองม้วนตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่านายทองม้วนเป็นนายทองเหม็น คู่อริของตน ซึ่งจําเลยไม่อาจยกเอาความสําคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่า มิได้กระทําโดยเจตนาต่อนายทองม้วนนั้น ศาลย่อมลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่านายทองม้วนตายโดยเจตนาตามที่พิจารณาได้ความได้ เพราะการต่างกัน ระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาทนั้น มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติมิให้ถือว่าต่างกันในสาระสําคัญ เมื่อจําเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจําเลยตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามที่พิจารณาได้ความได้ แต่โทษที่ จะลงแก่จําเลยจะเกินอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 อันเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม
สรุป
กรณีตามข้อ (ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้
ส่วนกรณีตามข้อ (ข) ศาลจะ พิพากษาลงโทษจําเลยตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามที่พิจารณาได้ความได้ แต่โทษที่จะลงแก่จําเลยจะเกินอัตรา โทษตาม ป.อ. มาตรา 291 อันเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท จําเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณา สืบพยานโจทก์และจําเลยเสร็จสิ้นแล้ว พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 336 ลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้น จําเลย อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทําความผิด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คําพิพากษา ศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ลงโทษจําคุกจําเลย 1 ปี แลปรับ 4,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษ จําเลยฎีกาว่า ไม่ได้กระทําความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกา ของโจทก์และจําเลย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 219 “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจําเลยไม่เกินกําหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จําเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจําเลย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 ลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี และศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้คําพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่าให้จําคุกจําเลย 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขในเรื่องรอการลงโทษถือเป็นการแก้ไขมาก อย่างไรก็ดี แม้ศาลอุทธรณ์จะลงโทษ ปรับจําเลยด้วยแต่ให้รอการลงโทษจําคุกไว้ โทษที่จําเลยได้รับตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงต่ํากว่าโทษที่จําเลย จะต้องรับตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลยแต่อย่างใด ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 4419/2540)
ตามข้อเท็จจริง การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นโดย ไม่รอการลงโทษ ถือเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนจําเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทําความผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จําเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 เช่นกัน และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตอนท้าย เนื่องจากแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ไขในเรื่องการรอการลงโทษ ซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ผลของคําพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ส่งผลเป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลย ดังนั้น คําสั่งของ ศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของโจทก์และจําเลยจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัย ป.วิ.อาญา มาตรา 219
สรุป
คําสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของโจทก์และจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย