การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จําเลยขับรถยนต์โดยสารพลิกคว่ําเป็นเหตุให้ผู้โดยสาร คือ นายเอกถึงแก่ความตาย นายโทได้รับอันตรายสาหัส และนายตรีได้รับอันตรายแก่กาย นางแก้วภริยาของนายเอก นายโท และนายตรี จึงร่วมกันเป็นโจทก์ร่วมฟ้องจําเลยต่อศาลฐานขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้นายเอกถึงแก่ความตาย นายโทได้รับอันตรายสาหัส และนายตรีได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และ 390 คดีมีการส่งประเด็นไปไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลอื่น เมื่อศาลที่รับประเด็นส่งประเด็นกลับ ศาลจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสามต่อในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ปรากฏว่า เจ้าพนักงานศาลส่ง หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ในวันเดียวกัน คือ วันที่ 10 ตุลาคม 2557 โดยนางแก้ว เต็มใจรับหมายนัดไว้เอง นายโทมีภริยาของนายโทที่มีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งอยู่ในบ้านของนายโทเต็มใจ รับหมายนัดไว้แทน ส่วนนายตรีเจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดให้โดยวิธีปิดหมาย ครั้นถึงวันนัดไต่สวน มูลฟ้องปรากฏว่า นางแก้ว โจทก์ที่ 1 นายโท โจทก์ที่ 2 และนายตรี โจทก์ที่ 3 ไม่มีใครมาศาล แต่นายโทได้มอบฉันทะให้นางตามายื่นคําร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุเจ็บป่วย ศาลเห็นว่าเมื่อโจทก์ ทั้งสามไม่มาศาลตามกําหนดนัด จึงพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย ให้วินิจฉัยว่า คําพิพากษายกฟ้อง ของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุมีผลจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดย แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

วินิจฉัย

กรณีบุคคลหลายคนเป็นคู่ความในคดีเดียวกันโดยเป็นโจทก์ร่วมเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 นั้น การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมคนใด ไม่มาศาลตามกําหนดนัด ซึ่งศาลต้องพิพากษายกฟ้องเสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรกนั้น ศาลอยู่ในบังคับ ตามมาตราดังกล่าวที่ต้องแยกพิจารณาว่าโจทก์ร่วมแต่ละคนที่ไม่มาศาลนั้น เข้าเกณฑ์ที่จะยกฟ้องได้ตามมาตรา 166 วรรคแรกหรือไม่ โดยเกณฑ์สําคัญประการหนึ่งคือ โจทก์ต้องทราบกําหนดนัดของศาลโดยชอบแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนางแก้ว โจทก์ร่วมที่ 1 เต็มใจรับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องด้วยตนเอง หมายนัดที่ เจ้าพนักงานศาลส่งให้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ที่ส่งให้แก่นางแก้วจึงมีผลเป็นการส่งหมายโดยชอบในวัน ดังกล่าว เมื่อนางแก้วไม่มาศาลตามกําหนดนัดในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ย่อมเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 166 วรรคแรก ที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 1 ได้โดยชอบ คําพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 1 จึงชอบแล้ว

กรณีของนายโท โจทก์ร่วมที่ 2 แม้ภริยาของนายโทที่มีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งอยู่ในบ้านของนายโท เต็มใจรับหมายนัด ไสานมูลฟ้องไว้แทนนายโทซึ่งมีผลเป็นการส่งหมายโดยชอบในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 เช่นกันก็ตาม แต่ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 24 ตุลาคม 2557 แม้นายโทจะมิได้มาศาลตามกําหนดนัด แต่นายโท ได้มอบฉันทะให้นางตามายื่นคําร้องขอเลื่อนคดี คดีสําหรับนายโท โจทก์ร่วมที่ 2 ยังมีนางตาผู้รับมอบฉันทะจาก โจทก์ร่วมที่ 2 มาศาล กรณีจึงไม่อาจถือว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่มาศาลตามกําหนดนัดที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องตาม มาตรา 166 วรรคแรกได้ ทั้งนี้เพราะกรณีจะเข้าหลักเกณฑ์ยกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 166 วรรคแรก ต้องปรากฏว่า ในวันนัดของศาล ฝ่ายโจทก์ต้องไม่มีใครมาศาลเลย ดังนั้น คําพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

กรณีนายตรี โจทก์ร่วมที่ 3 เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้นายตรีโดยวิธีปิดหมาย ซึ่งเป็นการส่งโดยวิธีอื่นแทน หมายนัดที่ส่งจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกําหนดเวลา 15 วัน หรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ ศาลเห็นสมควรกําหนดได้ล่วงพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อเจ้าพนักงานส่งโดยวิธีปิดหมายในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 และศาลมิได้กําหนดระยะเวลาการมีผลใช้ได้ของศาลนานกว่า 15 วัน กรณีนี้ต้องถือว่า หมายที่ส่งนั้นมีผลใช้ได้ ต่อเมื่อกําหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้ว คือเริ่มมีผลใช้ได้ในวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ดังนั้น ในวันนัดไต่สวน มูลฟ้องวันที่ 24 ตุลาคม 2557 จึงยังถือไม่ได้ว่านายตรีโจทก์ร่วมที่ 3 ทราบกําหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องของศาลโดย ชอบแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องสําหรับ โจทก์ร่วมที่ 3 ได้ คําพิพากษายกฟ้องสําหรับโจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําพิพากษายกฟ้องของศาลสําหรับโจทก์ร่วมที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย แต่คําพิพากษา ยกฟ้องของศาลสําหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจําเลยแถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากจําเลยป่วย ในวันนี้ไม่สามารถมาศาล ส่วนพนักงานอัยการโจทก์แถลงว่า มีพนักงานสอบสวนมาศาลพร้อมสืบ และเป็นพยานปากสุดท้าย แต่หากทนายจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าพนักงานสอบสวนที่มาศาล ในวันนี้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและทําการสอบสวนคดีนี้โดยชอบ โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบ พนักงานสอบสวนและเป็นอันหมดพยานเพียงเท่านี้ หากศาลให้เลื่อนคดีไปโจทก์ก็ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นสอบทนายจําเลย ทนายจําเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง ศาลชั้นต้น จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า เมื่อทนายจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง ถือว่าโจทก หมดพยานจึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจําเลย ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจําเลย โจทก์มาศาล ส่วนจําเลยและทนายจําเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคําสั่ง ว่าฝ่ายจําเลยไม่มาศาล ถือว่าจําเลยมีพฤติการณ์หลบหนีและไม่ติดใจสืบพยาน ให้งดสืบพยานจําเลย และนัดฟังคําพิพากษา

ให้วินิจฉัยว่า การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานโจทก์และวันนัด สืบพยานจําเลยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 วรรคแรก “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก บัญญัติให้การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดย เปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ย่อมใช้บังคับแก่ การพิจารณาและสืบพยานในศาลของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจําเลย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีในวันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อทนายจําเลยแถลงขอเลื่อนคดีโดยจําเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้น ย่อมไม่อาจทําการพิจารณาและสืบพยานในวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณา โดยสอบทนายจําเลย แล้วทนายจําเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะเบิกความเป็นพยาน ในคดีนี้ แล้วศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า เมื่อทนายจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง ถือว่า โจทก์หมดพยาน จึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจําเลย เท่ากับศาลชั้นต้นทําการพิจารณาไปโดยมิได้ทําต่อหน้าจําเลย ทั้งไม่ต้องด้วยกรณีที่มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นให้ศาลทําการพิจารณาลับหลังจําเลยได้ การดําเนินกระบวนพิจารณา ของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก

กรณีในวันนัดสืบพยานจําเลย เมื่อจําเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย ศาลชั้นต้นก็ไม่ชอบ ที่จะทําการพิจารณาอย่างใดได้ และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจําเลยมีพฤติการณ์หลบหนีก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่ง ให้ออกหมายจับจําเลยมาศาลเพื่อทําการพิจารณาต่อไปเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นทําการพิจารณาโดยถือว่าจําเลย ไม่ติดใจสืบพยานจําเลย ให้งดสืบพยานจําเลยและนัดฟังคําพิพากษา จึงเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก เช่นกัน

สรุป

การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดสืบพยานโจทก์ และวันนัด สืบพยานจําเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายมดแดงขณะเดินข้ามทางม้าลายเป็นเหตุให้นายมดแดงถึงแก่ความตาย หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า

(ก) จําเลยเจตนาฆ่านายมดแดง จึงขับรถยนต์ชนนายมดแดงขณะที่นายมดแดงกําลังข้ามทางม้าลาย กรณีหนึ่ง

(ข) จําเลยขับรถยนต์ประมาทจริงตามฟ้อง แต่มิได้ชนนายมดแดง หากแต่ชนนายมดง่ามตาย อีกกรณีหนึ่ง

หากปรากฏว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าว จําเลยมิได้หลงต่อสู้ให้วินิจฉัยว่า ในแต่ละกรณีดังกล่าวศาล จะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก็ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปราการ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) กรณีโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายมดแดงถึงแก่ความตาย แต่ทาง พิจารณาฟังได้ว่าจําเลยขับรถยนต์ชนนายมดแดงโดยเจตนานั้น ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทําโดยเจตนากับ ประมาทตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าข้อแตกต่างเช่นว่านี้เป็นเพียงรายละเอียด มิให้ถือว่า ต่างกันในสาระสําคัญ เมื่อไม่ปรากฏว่าจําเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอํานาจตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบ วรรคสองที่จะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานฆ่านายมดแดงตายโดยเจตนาตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานประมาทเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม

(ข) กรณีโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายมดแดงถึงแก่ความตาย แต่ทาง พิจารณาฟังได้ว่าจําเลยขับรถยนต์ประมาทจริงตามฟ้อง แต่มิได้ชนนายมดแดง หากแต่ชนนายมดง่ามตาย เป็นข้อแตกต่างในตัวบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งการกระทํา ซึ่งถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสําคัญ ดังนั้นแม้จําเลย ไม่หลงต่อสู้ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ศาลจะพิพากษ ลงโทษจําเลยไม่ได้

สรุป

กรณีตาม (ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แต่จะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่ กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

กรณีตาม (ข) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จําเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาจําเลยยื่นคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้องเมื่อคดีเสร็จ การพิจารณา ศาลชั้นต้นฟังว่าจําเลยไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คําพิพากษา ขอให้ลงโทษจําเลย จําเลยอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ให้วินิจฉัยว่า

ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ…”

มาตรา 196 “คําสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทําให้คดีเสร็จสํานวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้น จนกว่าจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งในประเด็นสําคัญและมีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่ กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีอุทธรณ์ของโจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 349 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จึงเป็นคดี ที่ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ คําพิพากษาขอให้ลงโทษจําเลย ย่อมเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ซึ่งถือว่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ วรรคแรก ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา

กรณีอุทธรณ์ของจําเลย อุทธรณ์คําสั่งที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมของจําเลยเป็นอุทธรณ์ คําสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งไม่ทําให้คดีเสร็จสํานวน ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นจนกว่า จะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งในประเด็นสําคัญและมีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา แล้ว แม้จะมีอุทธรณ์คําพิพากษาของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา จึง ต้องถือว่าไม่มีอุทธรณ์คําพิพากษาที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้อุทธรณ์คําสั่งระหว่างพิจารณาได้ตามมาตรา 196 อุทธรณ์ ของจําเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ดังนั้นศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณาเช่นกัน

สรุป

ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยดังกล่าวไว้พิจารณาไม่ได้

 

Advertisement