การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “โจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมของนายบรรจง นายบรรจงทําพินัยกรรมยกที่ดินเลขที่ 1145 ให้แก่ตน แต่พอนายบรรจงเสียชีวิตโจทก์จึงไปเรียกร้องที่ดินตามพินัยกรรมจากจําเลย ผู้ครอบครองที่ดินอยู่ แต่จําเลยปฏิเสธที่จะโอนที่ดินแก่โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยโอน ที่ดินแก่โจทก์” จําเลยยื่นคําให้การว่า “พินัยกรรมนั้นเป็นของจริงหรือไม่จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง แต่ที่ดินนี้นายบรรจงได้โอนให้กับตนตั้งแต่นายบรรจงยังมีชีวิตอยู่และในโฉนดก็มีชื่อจําเลยเป็น เจ้าของที่ดิน ขอให้ศาลยกฟ้อง” ให้ท่านจงตั้งประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์อีกทั้งตอบด้วยว่าหากในวันสืบพยาน โจทก์และจําเลยไปศาลแต่ไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1373 “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 หากโจทก์และจําเลยไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “โจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมของ นายบรรจง นายบรรจงทําพินัยกรรมยกที่ดินเลขที่ 1145 ให้แก่ตน แต่พอนายบรรจงเสียชีวิตโจทก์จึงไปเรียกร้องที่ดิน ตามพินัยกรรมจากจําเลยผู้ครอบครองที่ดินอยู่ แต่จําเลยปฏิเสธที่จะโอนที่ดินแก่โจทก์” และจําเลยยื่นคําให้การว่า “พินัยกรรมนั้นเป็นของจริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง แต่ที่ดินนี้นายบรรจงได้โอนให้กับตนตั้งแต่นายบรรจง ยังมีชีวิตอยู่และในโฉนดก็มีชื่อจําเลยเป็นเจ้าของที่ดิน”

จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายบรรจงผู้ตาย และนายบรรจงได้ทําพินัยกรรม ยกให้แก่โจทก์ เมื่อจําเลยให้การว่าที่ดินเป็นของนายบรรจงผู้ตายจริง จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันต่อไปและไม่ต้องกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท

การที่จําเลยให้การว่า พินัยกรรมที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นเป็นจริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบ ไม่รับรองนั้น ถือว่าจําเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าพินัยกรรมนั้นปลอมหรือไม่ เป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เป็นคําให้การ ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่ามีพินัยกรรมอยู่จริงตามที่โจทก์ กล่าวอ้าง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท

2 การที่โจทก์อ้างว่าผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จําเลยให้การว่า นายบรรจงได้โอนที่ดินพิพาทให้กับจําเลยตั้งแต่นายบรรจงยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับโจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก แต่จําเลยให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดก ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าว คดีจึงมี ประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ และถือว่าเป็นคดีโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่คู่ความพิพาทกันว่าทรัพย์สินที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของคู่ความฝ่ายใด กล่าวคือ ถ้าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม แต่ถ้าไม่ใช่ทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่จําเลย เมื่อทรัพย์สินที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์จําพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง อีกทั้งโฉนดที่ดินก็เป็น เอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทําขึ้น ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และ ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อจําเลยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดที่ดิน จําเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หักล้าง ข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้น ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบจึงตกแก่โจทก์

ประเด็นที่ 3 หากโจทก์และจําเลยไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

กรณีดังกล่าว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันสืบพยาน โจทก์และจําเลยไปศาลแต่ไม่นํา พยานหลักฐานเข้าสืบ ดังนั้นโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีและจําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกได้แก่ โจทก์ และหากในวันสืบพยาน โจทก์และจําเลยไปศาลแต่ไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ จําเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 เจ้าพนักงานตํารวจจับนายภาคินในข้อหามีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองจึงได้บอกแก่นายภาคินว่าหากนายภาคินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้จําหน่ายให้จะไม่ดําเนินคดีกับนายภาคิน นายภาคินจึงไปล่อซื้อจากนายมณฑลผู้จําหน่าย ตํารวจจึงจับนายมณฑลพร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้เป็นพยานหลักฐาน ภายหลังจากสอบสวนและส่งฟ้องโดยชอบแล้ว ในชั้นพิจารณา

พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายมณฑลเป็นจําเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจําหน่ายและได้นําตัวนายภาคินและเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเป็นพยานต่อศาล ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลจะรับฟังพยานหลักฐานทั้ง 2 ชนิดนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมิผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/1 “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่ เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายมณฑลเป็นจําเลยในข้อหามี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย และได้นําตัวนายภาคินและเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเป็นพยาน ต่อศาลนั้น ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานทั้ง 2 ชนิดนี้ได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีนายภาคิน การที่เจ้าพนักงานตํารวจจับนายภาคินในข้อหามีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครอง และได้บอกนายภาคินว่าหากนายภาคินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้จําหน่ายให้จะไม่ดําเนินคดี กับนายภาคิน นายภาคินจึงไปล่อซื้อจากนายมณฑลผู้จําหน่าย ทําให้ตํารวจสามารถจับนายมณฑลพร้อมทั้งยึด เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้เป็นพยานหลักฐานนั้น จะเห็นได้ว่า การที่นายภาคินได้ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน จากนายมณฑลนั้นได้เกิดขึ้นจากการจูงใจและการให้คํามั่นสัญญาจากเจ้าพนักงานตํารวจว่าจะไม่ดําเนินคดี กับนายภาคิน จึงถือว่านายภาคินเป็นพยานบุคคลชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา พนักงานอัยการโจทก์ จึงไม่สามารถอ้างนายภาคินเป็นพยานในคดีนี้ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 เพราะถือว่าเป็นพยานที่ เกิดขึ้นโดยมิชอบ

ดังนั้น การที่พนักงานอัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายมณฑล และได้นําตัวนายภาคินมาเป็นพยาน ต่อศาลนั้น ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานกรณีนี้ไม่ได้

กรณีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ถือว่าเป็นพยานวัตถุและเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการที่ตํารวจได้จับนายมณฑลและยึดเมทแอมเฟตามีนได้นั้น เป็นเพราะตํารวจได้ใช้ให้นายภาคิน ไปล่อซื้อจากนายมณฑลโดยการจูงใจ ให้คํามั่นสัญญาว่าจะไม่ดําเนินคดีกับนายภาคิน ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย จึงถือได้ว่า เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ที่พนักงานอัยการโจทก์ได้นํามาเป็นพยานต่อศาสนั้น แม้จะเป็น พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ หรือได้มาโดย อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ดังนั้น จึงห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว เว้นแต่ศาลอาจใช้ ดุลพินิจรับฟังได้ ถ้าศาลเห็นว่าการรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอํานวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

สรุป

ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานกรณีนายภาคินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ส่วนกรณีเมทแอมเฟตามีนก็ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานชนิดนี้เช่นกัน เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจ รับฟังถ้าศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐาน ของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

 

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทําสัญญากู้เงินโจทก์แต่ไม่ยอมชําระคืน จําเลยต่อสู้ว่าชําระเงินคืนโจทก์แล้วโดยเอกสารการรับชําระหนี้อยู่กับมารดาโจทก์ แต่มารดาโจทก์ไม่ยอมมอบให้จําเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า

3.1 หากจําเลยต้องการนําเอกสารการรับชําระหนี้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานจะต้องทําอย่างไร (อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ)

3.2 และหากจําเลยทําตามวิธีการในข้อ 3.1 แล้ว แต่มารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาลโดยอ้างว่าเอกสารไม่ได้อยู่ที่ตน ถ้าเป็นเช่นนี้จําเลยจะขอนําตัวนายโทนีพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความแทนพยานเอกสารดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนา เอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสาร ให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่ สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามา ไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ใน ความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สังคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็น พยานหลักฐานสําคัญ และคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลา อันสมควรแล้วแต่ศาสจะกําหนด

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อนว่า ด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้างต้องส่ง คําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาล เห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยทําสัญญากู้เงินโจทก์แต่ไม่ยอมชําระคืน และ จําเลยต่อสู้ว่าได้ชําระเงินคืนแก่โจทก์แล้ว โดยเอกสารการรับชําระหนี้อยู่กับมารดาโจทก์แต่มารดาโจทก์ไม่ยอม มอบให้จําเลยนั้น ถือว่าจําเลยได้อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ดังนั้น โดยหลักแล้วจําเลยจะต้องนําสําเนาเอกสารการรับชําระหนี้ยื่นต่อศาล และส่งสําเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารการรับชําระหนี้ที่จําเลยอ้างอิงนั้นอยู่กับมารดาโจทก์ ซึ่งถือว่าอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ดังนั้นจําเลยจึงไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้อง ส่งสําเนาเอกสารให้แก่โจทก์ (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2))

และตามอุทาหรณ์นั้น  วินิจฉัยได้ดังนี้

3.1 หากจําเลยต้องการนําเอกสารการรับชําระหนี้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน จําเลยจะต้อง ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ จําเลยจะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็น คําร้องต่อศาล ขอให้สังให้บุคคลภายนอก (มารดาโจทก์) ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่จําเลยจะต้องส่ง สําเนาเอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของจําเลยนั้นฟังได้ ให้ศาล มีคําสั่งให้มารดาโจทก์ยืนต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่จําเลยจะต้อง ส่งคําสั่งศาลให้แก่มารดาโจทก์ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

3.2 ถ้าจําเลยทําตามวิธีการในข้อ 3.1 แล้ว แต่มารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล โดยอ้างว่าเอกสารไม่ได้อยู่ที่ตนนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่จําเลยผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือ พยานบุคคลมาสืบก็ได้

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสาร มาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ต้นฉบับเอกสาร สูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อมารดาโจทก์ปฏิเสธในการส่งเอกสารและเป็นกรณีที่ถือว่านํา ต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) จําเลย จึงสามารถที่จะขอนําตัวนายโทนี่พยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความแทนพยานเอกสารดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป

3.1 หากจําเลยต้องการนําเอกสารการรับชําระหนี้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน

จําเลยจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

3.2 จําเลยสามารถขอตัวนายโทนีพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความแทนพยานเอกสารดังกล่าวได้

Advertisement