การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. ก. คําท้าในคดีแพ่งหมายถึงอะไร จงอธิบาย
ข. นางใจเริงขับรถชนนางพิมาลาขณะเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายเสียชีวิต มารดานางพิมาลาจึง เป็นโจทก์ฟ้องให้นางใจเริงจําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด นางใจเริงจําเลยต่อสู้ ในคําให้การว่า มารดานางพิมาลาจะเป็นโจทก์ที่มีอํานาจฟ้องแทนนางพิมาลาหรือไม่ จําเลย ไม่ทราบไม่รับรอง คดีนี้ขาดอายุความแล้ว และการที่นางใจเริงขับรถชนนางพิมาลานั้นเป็นเพราะ นางพิมาลาเดินข้ามถนนขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามสีแดง นางใจเริงจําเลยไม่ต้องรับผิดชอบ คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร และใครมีภาระการพิสูจน์
ธงคําตอบ
ก. “คําท้า” ในคดีแพ่ง หมายถึง การที่คู่ความฝ่ายหนึ่งแถลงว่าจะรับกันในข้อเท็จจริงอย่างใด อย่างหนึ่ง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมดําเนินกระบวนพิจารณาเพียงเท่าที่ท้านั้นได้ แต่ถ้าฝ่ายหลังทําไม่ได้ ฝ่ายหลังก็ จะยอมรับในข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายแรกกล่าวอ้าง
หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า คําท้าหรือการท้ากันในศาล คือ การยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการดําเนินกระบวนพิจารณา
หลักเกณฑ์สําคัญของการทําคําท้า ได้แก่
1 ต้องเป็นการท้ากันในเรื่องการดําเนินกระบวนพิจารณา หรือเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี เพราะถ้าเป็นการท้ากันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือการดําเนินกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่ถือเป็นคําท้า ที่ศาลจะอนุญาต
2 ต้องมีการกําหนดเงื่อนไขว่า ถ้าผลของการดําเนินกระบวนพิจารณาหรือการชี้ขาดออกมา ทางหนึ่งให้ฝ่ายหนึ่งชนะ แต่ถ้าผลออกมาอีกทางหนึ่งก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะ
3 คําท้านั้นจะต้องกระทํากันต่อหน้าศาล และศาลต้องอนุญาต หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”
มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”
มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”
มาตรา 183 ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และ กําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อัน เดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”
มาตรา 438 วรรคหนึ่ง “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัย ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ
1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 การที่มารดาของนางพิมาลาเป็นโจทก์ฟ้องนางใจเริงเป็นจําเลยโดยอ้างว่าจําเลยขับรถ ชนนางพิมาลาขณะเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายเสียชีวิตนั้น เมื่อจําเลยให้การว่ามารดาของนางพิมาลาจะเป็นโจทก์ ที่มีอํานาจฟ้องแทนนางพิมาลาหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง คําให้การเช่นนี้ถือว่าเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่า จําเลยไม่ทราบไม่รับรองในเรื่องอํานาจฟ้องของโจทก์อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่ามารดาของนางพิมาลามีอํานาจฟ้องในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอํานาจฟ้อง
2 การที่จําเลยให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ในคําให้การของจําเลยไม่ได้อธิบายว่า ขาดอายุความเมื่อใด อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้นจึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องขาดอายุความ
3 การที่จําเลยให้การว่า เหตุที่จําเลยขับรถชนนางพิมาลานั้นเป็นเพราะนางพิมาลาเดิน ข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดง จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้น ถือเป็นคําให้การปฏิเสธที่มี เหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า “นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณ ไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่” เพื่อสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้
4 การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดนั้น แม้จําเลยจะไม่ได้ ให้การไว้เกี่ยวกับค่าเสียหายเลย ก็ต้องถือว่าจําเลยไม่ยอมรับในส่วนนี้ จึงก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับ ค่าเสียหายว่า “คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด”
สรุป
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1 นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่
2 คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้
ประเด็นแรก ที่ว่านางพิมาลาเดินข้ามถนนขณะที่สัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดงจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแล ยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย นั้นเอง” ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้อง เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง ซึ่งหากจําเลยพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แก่โจทก์
ประเด็นที่สอง ที่ว่ามีค่าเสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้ง จํานวนเงินค่าเสียหาย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึง จํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เอง ตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
สรุป
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้
1 นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่ภาระการพิสูจน์ตกแก่จําเลย
2 คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์