LAW3016กฎหมายปกครอง 2/2555

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายว่าการบริหารราชการส่วนภูมิภาคมีองค์กรใดบ้าง และกฎหมายปกครองมีความสําคัญต่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคดังกล่าวอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

“การบริหารราชการส่วนภูมิภาค” ได้แก่ จังหวัด (เป็นนิติบุคคล) และอําเภอ (ไม่เป็นนิติบุคคล) เป็นการบริหารราชการตามหลักการรวมอํานาจเช่นเดียวกับการบริหารราชการส่วนกลาง เพียงแต่การบริหาร ราชการส่วนภูมิภาคเป็นการบริหารราชการแบบแบ่งอํานาจปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาคนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางที่ส่วนกลางได้ส่งไปประจําเพื่อปฏิบัติราชการตามเขตภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ และมีอํานาจวินิจฉัยสั่งการบางอย่างตามที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะ ยังคงอยู่ภายใต้อํานาจบังคับบัญชาจากส่วนกลางโดยตรง

กฎหมายปกครองมีความสําคัญต่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังนี้ คือ

“กฎหมายปกครอง” ซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกําหนด หรือประมวลกฎหมาย หรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาศคณะปฏิวัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง หรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ซึ่งอํานาจหน้าที่ในทางปกครองนั้น ได้แก่ อํานาจหน้าที่ในการจัดทําบริการสาธารณะ รวมทั้ง การใช้อํานาจทางปกครอง ในการออกกฎ การออกคําสั่งทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ และการทําสัญญาทางปกครอง

และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ก็คือการบริหารราชการโดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้อํานาจ ทางปกครองดังกล่าว เช่น การออกกฎหรือระเบียบข้อบังคับ หรือการออกคําสั่งแต่งตั้งโยกย้าย รวมทั้งการ ดําเนินการบริการสาธารณะหรือการจัดทําสัญญาจ้างบริษัทเอกชนมาจัดทําบริการสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ ของราชการบริหารส่วนภูมิภาคจะใช้อํานาจปกครองในการดําเนินการต่าง ๆ ได้ ก็จะต้องมีกฎหมายบัญญัติ ให้อํานาจและหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ เจ้าหน้าที่ของ ราชการบริหารส่วนภูมิภาคก็ไม่สามารถที่จะใช้อํานาจหน้าที่ในการดําเนินการใด ๆ ได้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็คือ กฎหมายปกครองนั้นเอง

ตัวอย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาค มีอํานาจ บรรจุ แต่งตั้ง ให้บําเหน็จ และลงโทษข้าราชการในส่วนภูมิภาคในจังหวัดได้ ก็เพราะมีกฎหมายปกครอง คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้

 

ข้อ 2. จงอธิบายว่าวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหมายความว่าอย่างไร และบทบัญญัติใดในมาตราใดต่อไปนี้ที่ต้องใช้วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542

มาตรา 4 การเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 5 ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น การเช่าเกินกว่าหนึ่งร้อยไร่ต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดี

มาตรา 9 ให้นําบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการเช่าทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฉบับนี้

มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

ธงคําตอบ

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5)

จากความหมายของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การดําเนินการของ เจ้าหน้าที่ที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีการเตรียมการและ การดําเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครองหรือกฏ

( ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใด เป็นการเฉพาะ

ดังนั้นบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ตามปัญหา มาตราที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ได้แก่

1 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นหมายความถึงเจ้าหน้าที่ที่มีอํานาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่มีอํานาจรับจดทะเบียน และเมื่อมีการรับจดทะเบียน การรับจดทะเบียนของเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการ ดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

2 มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี” ซึ่งการอนุมัติของอธิบดีนั้น ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

3 มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอํานาจออก กฎกระทรวง” การออกกฎกระทรวงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้นถือว่าเป็นกฎ ดังนั้นจึงต้อง มีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ส่วนมาตรา 1 และมาตรา 9 ไม่ได้เป็นเรื่องของการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ ในการจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎ จึงไม่ต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแต่อย่างใด

 

ข้อ 3. ท่านเข้าใจว่าผู้บังคับบัญชาจะใช้อํานาจบังคับบัญชาควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจหรือความเหมาะสมของการทําคําสั่งทางปกครองของผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างไรบ้าง จงอธิบายตามหลักกฎหมายปกครอง

ธงคําตอบ

“อํานาจบังคับบัญชา” เป็นอํานาจที่ผู้บังคับบัญชาใช้ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นอํานาจ ที่ไม่มีเงื่อนไข ผู้บังคับบัญชามีอํานาจในการให้คําแนะนําและสามารถที่จะสั่งการใด ๆ ก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม สามารถที่จะกลับ แก้ไข ยกเล็ก เพิกถอน คําสั่งหรือการกระทําของผู้ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมาย บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น แต่อย่างไรก็ตามการใช้อํานาจบังคับบัญชานั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย จะใช้อํานาจบังคับบัญชาที่ขัดต่อกฎหมายไม่ได้แม้ว่าจะได้ใช้ไปในทางที่เหมาะสมก็ตาม อํานาจบังคับบัญชาจึง เป็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดภายในองค์กรเดียวกันที่มีขีดขั้นแห่งความรับผิดชอบตามลําดับชั้น

ลักษณะทั่วไปของอํานาจบังคับบัญชา

1 ไม่ต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติให้อํานาจไว้โดยชัดแจ้ง ถือเป็นหลักกฎหมาย มหาชนทั่วไป

2 ควบคุมได้ทั้งเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจหรือความเหมาะสมของ การทําคําสั่งทางปกครอง ซึ่งเป็นอํานาจเหนือการกระทําของผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยการให้อํานาจแนะนําสั่งการ และวางแนวปฏิบัติ เป็นคําสั่ง หนังสือเวียน หนังสือสั่งการต่าง ๆ หรือใช้อํานาจเพิกถอนการกระทํา แก้ไข เปลี่ยนแปลง รวมถึงการใช้อํานาจสอดเข้าไปใช้อํานาจแทนสําหรับกรณีที่กฎหมายบัญญัติอนุญาตไว้หรือเมื่อมี เหตุจําเป็น

 

ข้อ 4. การที่ผู้อํานวยการเขตบางกะปิใช้อํานาจตามกฎหมายเพื่อรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ประกาศยกเลิกสิทธิของผู้ค้าขายจํานวน 21 ราย ในอันที่จะทําการค้าขาย บริเวณพื้นที่ทางเท้าสาธารณะในจุดผ่อนผันบริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัย ตั้งแต่รั้วมหาวิทยาลัยถึงรั้วการกีฬาแห่งประเทศไทยชั่วคราวจนกว่าจะปรับปรุงพื้นที่ทางเท้า สาธารณะเสร็จมีระยะเวลา 3 เดือน ดังนี้ ประกาศดังกล่าวมีสถานะทางกฎหมายเป็น “คําสั่งทางปกครอง” หรือ “กฎ” หรือไม่เป็นการกระทําทางปกครองใด ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมหลักกฎหมาย

ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้ให้ความหมาย ของ “คําสั่งทางปกครอง” และ “กฏ” ไว้ดังนี้

“คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใด เป็นการเฉพาะ

โดยปกติแล้วการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการกระทําทางปกครอง โดยการออกกฎหรือออกคําสั่งทางปกครองนั้น เป็นการใช้อํานาจทางปกครองโดยอาศัยอํานาจตามกฎหมาย เพียงแต่การพิจารณาว่าการกระทําดังกล่าวเป็นกฎ หรือคําสั่งทางปกครองนั้น มิได้พิจารณาจากชื่อหรือรูปแบบ เพราะบางกรณีหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ออกระเบียบหรือประกาศอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าระเบียบหรือประกาศนั้นไม่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป แต่มุ่งหมายให้มีผลใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใด เป็นการเฉพาะ ระเบียบหรือประกาศนั้นก็ไม่ถือว่าเป็น “กฏ” แต่จะเป็น “คําสั่งทางปกครอง”

กรณีตามปัญหา การที่ผู้อํานวยการเขตบางกะปิใช้อํานาจตามกฎหมายเพื่อรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ประกาศยกเลิกสิทธิของผู้ค้าขายที่จะทําการค้าขายบริเวณ พื้นที่ทางเท้าสาธารณะในจุดผ่อนผันฯ นั้น จะเห็นได้ว่าประกาศฯ ดังกล่าวมีผลบังคับเฉพาะเจาะจงกับผู้ค้า ทั้ง 21 รายที่ไม่สามารถค้าขายในทางเท้าสาธารณะดังกล่าวได้ต่อไปแม้จะเป็นระยะเวลา 3 เดือนก็ตาม ดังนั้น ประกาศฯ ดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ไม่ใช่กฎ

สรุป ประกาศดังกล่าวมีสถานะทางกฎหมายเป็นคําสั่งทางปกครอง ไม่ใช่กฎ

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จันทร์เป็นลูกหนี้ อังคารเป็นเจ้าหนี้ ในหนี้เงินกู้ยืมสามแสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 20 มกราคม 2561 เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ จันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวนสามแสนบาท โดยวิธีโอนเงิน ทางธนาคารเข้าบัญชีของอังคารที่ธนาคาร ซึ่งอังคารเองก็ยอมรับว่ามีการโอนเงินจํานวนดังกล่าว เข้าบัญชีของอังคารจริง แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับการชําระหนี้ด้วยวิธีการดังกล่าว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการชําระหนี้ของจันทร์เป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่งนั้น จะต้อง เป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้เกิดผลตรงตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้จะต้องอยู่ในฐานะ ที่จะสามารถชําระหนี้ได้ และจะต้องเป็นการชําระหนี้โดยตรง กล่าวคือ จะต้องเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้ ในลักษณะที่จะให้เกิดสําเร็จผลตามวัตถุประสงค์ของหนี้โดยตรง เช่น ลูกหนี้ตกลงจะชําระหนี้เป็นเงินสด ดังนี้ ลูกหนี้จะนําทรัพย์สินอื่นมาชําระแทน หรือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้าหนี้ในธนาคารไม่ได้ เพราะจะถือว่า เป็นการชําระหนี้อย่างอื่น อันเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง

ตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นลูกหนี้อังคารในหนี้เงินกู้สามแสนบาทนั้น จันทร์จึงต้องชําระหนี้ ให้แก่อังคารด้วยเงินโดยตรงจึงจะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบ ดังนั้นการที่จันทร์ชําระหนี้ให้แก่ อังคารโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของอังคาร และแม้อังคารเองจะยอมรับว่าจันทร์ได้โอนเงินจํานวนดังกล่าว เข้าบัญชีของอังคารจริงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการชําระหนี้อย่างอื่น จึงเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง

สรุป การชําระหนี้ของจันทร์เป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบ

 

ข้อ 2. นายทะเลผู้ค้าปลีกทําสัญญาซื้อขายข้าวโพดกับนายหินผู้ค้าส่งจํานวน 50 กิโลกรัม โดยตกลงว่าจะชําระราคาในวันส่งมอบสินค้า ก่อนถึงกําหนดเวลาส่งมอบสินค้าตามสัญญา เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ โรงเก็บโกดังสินค้าของนายหินทําให้สินค้าที่มีอยู่เดิมจํานวน 200 กิโลกรัม เหลือเพียง 20 กิโลกรัม นายหินจึงนําสินค้าที่เหลืออยู่ไปส่งให้ตามกําหนด โดยอ้างเหตุสุดวิสัยที่ถูกไฟไหม้ว่าทําให้เกิดเหตุ พ้นวิสัยขึ้นทําให้ส่งสินค้าครบตามสัญญาไม่ได้ และอ้างอีกว่านายทะเลต้องรับสินค้าที่นํามาส่งให้ จํานวน 20 กิโลกรัมไว้ เพราะยังเป็นสินค้าที่มีคุณภาพไม่ถึงกับไร้ประโยชน์ซึ่งนายทะเลยังนําไป จําหน่ายได้อยู่ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายหินฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 219 “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น

ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชําระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือ เสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทําให้การชําระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น”

มาตรา 320 “อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชําระหนี้เป็นอย่างอื่น ผิดไปจากที่จะต้องชําระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทะเลผู้ค้าปลีกทําสัญญาซื้อขายข้าวโพดกับนายหินผู้ค้าส่งจํานวน 50 กิโลกรัมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีข้อตกลงกันว่าสินค้าข้าวโพดนั้นจะต้องนํามาจากแหล่งใดโดยเฉพาะ สินค้าข้าวโพดดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่มีอยู่ทั่วไป ยังไม่ได้เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ดังนั้นกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ โรงเก็บโกดังสินค้าของนายหินทําให้สินค้าที่มีอยู่เดิมจํานวน 200 กิโลกรัม เหลือเพียง 20 กิโลกรัม แม้ว่าอุบัติเหตุ ไฟไหม้จะเป็นพฤติการณ์ที่นายหินลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทําให้การชําระหนี้ กลายเป็นพ้นวิสัย และทําให้นายหินลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้นตามมาตรา 219 แต่อย่างใด เนื่องจากนายหินยังมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องหาทรัพย์ประเภทเดียวกันจากที่อื่นมาส่งมอบให้แก่นายทะเล ดังนั้น การที่นายหินได้นําสินค้าที่เหลืออยู่ไปส่งมอบให้ตามกําหนด โดยอ้างเหตุสุดวิสัยที่ถูกไฟไหม้ว่าทําให้เกิด เหตุพ้นวิสัยขึ้นทําให้ส่งสินค้าครบตามสัญญาไม่ได้นั้น ข้ออ้างกรณีนี้ของนายหินจึงฟังไม่ขึ้น

และเมื่อตามสัญญาซื้อขายข้าวโพดตกลงกันว่าจะส่งมอบข้าวโพดจํานวน 50 กิโลกรัม แต่นายหิน ได้นํามาส่งมอบเพียง 20 กิโลกรัมนั้น ถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอชําระหนี้แต่เพียงบางส่วน ซึ่งนายหินลูกหนี้จะ บังคับให้นายทะเลเจ้าหนี้รับชําระหนี้แต่เพียงบางส่วนไม่ได้ตามมาตรา 320 ดังนั้น ข้ออ้างของนายหินที่ว่า นายทะเลต้องรับสินค้าที่นํามาส่งให้จํานวน 20 กิโลกรัมไว้ เพราะยังเป็นสินค้าที่มีคุณภาพไม่ถึงกับไร้ประโยชน์ซึ่ง นายทะเลยังนําไปจําหน่ายได้อยู่ จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน นายทะเลจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าข้าวโพดที่นายหิน ส่งมอบให้ได้

สรุป ข้ออ้างของนายหินทั้ง 2 ประการ ฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ 3. ในวันที่ 10 มกราคม 2558 นายหล่อได้ทําสัญญาให้นายเข้มเพื่อนสนิทกู้ยืมเงินไป 500,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่า “นายเข้มมีเงินเมื่อใดค่อยนํามาคืน” ต่อมานายหล่อได้ทําสัญญากู้ยืมเงินนายรวย 2,000,000 บาท เพื่อนํามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกิจการร้านขายกาแฟของตน กําหนดชําระคืน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ก่อนหนี้เงินกู้ที่ติดค้างต่อนายรวยจะถึงกําหนดชําระ 1 เดือน นายหล่อ รู้ตัวดีว่าตนไม่สามารถชําระหนี้ให้กับนายรวยได้และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกนอกจากบ้านหลังเดียวที่ ใช้อยู่อาศัยในปัจจุบัน นายหล่อจึงได้จดทะเบียนยกบ้านหลังดังกล่าวราคาประมาณ 1,500,000 บาท ให้กับนางสาวสวยซึ่งเป็นบุตรสาวคนเดียว โดยนางสาวสวยจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตนเอง เดือนละ 5,000 บาทตลอดชีพ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสวยไม่ได้รู้ถึงภาระหนี้สินของนายหล่อที่มีต่อนายรวยแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายหล่อไม่ชําระหนี้ให้แก่นายรวย และนายหล่อก็ไม่ยอมทวงถามนายเข้มให้ชําระหนี้แก่ตน นายรวยจึงใช้สิทธิเรียกร้องของนายหล่อ ฟ้องให้นายเข้มชําระหนี้ 500,000 บาท และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายหล่อยกบ้าน ให้กับนางสาวสวย นายเข็มต่อสู้ว่าหนี้ของตนเกิดขึ้นก่อนที่นายหล่อจะไปทําสัญญากู้ยืมเงินนายรวย อีกทั้งหนี้ดังกล่าวยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายรวยจึงไม่มีอํานาจฟ้อง ส่วนนางสาวสวยต่อสู้ว่าตนเอง สุจริต และกรณีไม่ใช่เป็นการให้โดยเสน่หาเพราะตนต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้นายหล่อเป็น รายเดือน นายรวยจึงไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเข้มและนางสาวสวยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 วรรคหนึ่ง “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้มีได้กําหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจาก พฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ ของตนได้โดยพลันดุจกัน”

มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้ กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมีให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิ ในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อต่อสู้ของนายเข้มและนางสาวสวยฟังขึ้นหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนายเข้ม ตามมาตรา 233 การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้น หนี้ของเจ้าหนี้จะเกิดขึ้น ก่อนหรือหลังก็ได้ เพียงแต่ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอยู่ เมื่อหนี้ดังกล่าวถึงกําหนดชําระแล้ว และ ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิแล้วทําให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ เจ้าหนี้ย่อมสามารถเข้าไปใช้สิทธิเรียกร้อง ดังกล่าวในนามของตนเองแทนลูกหนี้ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหล่อทําสัญญาให้นายเข้มกู้ยืมเงินไป 500,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 โดยมีข้อตกลงว่านายเข้มมีเงินเมื่อใดค่อยนํามาคืนนั้น ถือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขไม่แน่นอน จึงเป็น หนี้ที่ถึงกําหนดชําระโดยพลัน ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง ดังนั้นต่อสู้ของนายเข้มที่ว่าหนี้ของตนเกิดขึ้นก่อนที่ นายหล่อจะไปกู้ยืมเงินนายรวย อีกทั้งหนี้ดังกล่าวยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายรวยจึงไม่มีอํานาจฟ้องนั้น จึงฟังไม่ขึ้น

กรณีของนางสาวสวย การที่นายหล่อทํานิติกรรมยกบ้านให้กับนางสาวสวยบุตรสาวของตนนั้น เป็นนิติกรรมที่นายหล่อได้ทําลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และเมื่อนิติกรรมดังกล่าวเป็นนิติกรรม การเห้เดยเสนา จึงจําเป็นจะต้องพิจารณาว่านางสาวสวยสุจริตหรือไม่ เจ้าหนี้ก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ตามมาตรา 237 และแม้การที่นายหล่อยกบ้านให้กับนางสาวสวยนั้น นางสาวสวยต้องจ่ายค่าอุปการะ เลี้ยงดูนายหล่อก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงหน้าที่ตามธรรมจรรยาซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงนิติกรรมการให้เป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้นการที่นางสาวสวยต่อสู้ว่าตนเองสุจริต และกรณีไม่ใช่เป็นการให้โดยเสน่หา นายรวยจึงไม่สามารถเพิกถอน นิติกรรมดังกล่าวได้นั้น ข้อต่อสู้ของนางสาวสวยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของนายเข้มและนางสาวสวยฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ 4. บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 100,000 บาท จากนายสิบและได้จดทะเบียนจํานองที่ดินของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองแก่นายสิบไว้เป็นประกันด้วย ต่อมานายสิบเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายต่อนายพัน นายสิบจึงได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิ เรียกร้องหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่นายพันเพื่อชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย และนายสิบได้จดทะเบียน โอนสิทธิจํานองนั้นแก่นายพัน ต่อมานางสองได้ชําระหนี้เงินกู้แก่นายสิบ 20,000 บาท หลังจากนั้น นายสิบและนายพันได้ร่วมกันทําหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองเพื่อทราบ เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนด บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองไม่ชําระ นายพัน จึงฟ้องเรียกหนี้เงินกู้ 100,000 บาทตามสัญญาจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง และขอบังคับ จํานองด้วย บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง ให้การต่อสู้ว่า

(1) การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง การโอน จึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้

(2) การจํานองไม่ได้ทําเป็นสัญญากันใหม่ระหว่างบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง กับนายพัน การจํานองจึงระงับแล้ว นายพันไม่มีสิทธิบังคับจํานอง

(3) นางสองได้ชําระหนี้บางส่วนแก่นายสิบแล้ว บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองจึงต้องรับผิด อีกเพียง 80,000 บาท

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง ทั้ง 3 ข้อ ฟังขึ้นหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้ สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคง ต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา 292 วรรคหนึ่ง “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชําระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ “กหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทําแทนชําระหนี้ วางทรัพย์สินแทน กระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย”

มาตรา 305 วรรคหนึ่ง “เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจํานองหรือจํานําที่มีอยู่เกี่ยวพันกับ เริเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ําประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย”

มาตรา 306 วรรคหนึ่ง “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทําเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คําบอกกล่าวหรือความยินยอม เช่นว่านี้ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือ”

มาตรา 308 วรรคสอง “ถ้าลูกหนี้เป็นแต่ได้รับคําบอกกล่าวการโอน ท่านว่าลูกหนี้มีข้อต่อสู้ ผู้โอนก่อนเวลาที่ได้รับคําบอกกล่าวนั้นฉันใด ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่ผู้รับโอนได้ฉันนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะ เจาะจงนั้น จะต้องทําเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ก็ ต่อเมื่อได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ได้ยินยอมเป็นหนังสือในการโอนนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

การที่ บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสอง ได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 100,000 บาท จากนายสิบ และได้จดทะเบียนจํานองที่ดินของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองแก่นายสิบไว้เป็นประกันด้วยนั้น ย่อมถือว่า บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสอง เป็นลูกหนี้ร่วมของนายสิบ เพราะทั้งสองได้แสดงเจตนาร่วมกันกู้ยืมเงิน จากนายสิบ ดังนั้น บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง จึงต้องชําระหนี้แก่นายสิบอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 291 และเมื่อต่อมานายสิบได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่นายพัน การโอนจึงสมบูรณ์ และเมื่อนายสิบและนายพันได้ร่วมกันทํา หนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และ นางสองเพื่อทราบ การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมขอบด้วยมาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดย ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองแต่อย่างใด และมีผลผูกพันบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองที่จะต้องชําระหนี้ให้แก่นายพันซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ ดังนั้น ข้อต่อสู้ของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และ นางสองที่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง การโอนจึงไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้นั้น จึงฟังไม่ขึ้น

(2) ตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว สิทธิจํานองที่มีอยู่เกี่ยวพัน กับสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย ดังนั้นตามอุทาหรณ์เมื่อนายสิบได้จดทะเบียนโอนสิทธิจํานองนั้น ให้แก่นายพันผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้วด้วย นายพันจึงเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ที่มีสิทธิตามสัญญาจํานองและสามารถ บังคับจํานองได้ ข้อต่อสู้ของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองที่ว่าการจํานองไม่ได้ทําเป็นสัญญากันใหม่ระหว่าง บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง กับนายพัน การจํานองจึงระงับแล้ว นายพันไม่มีสิทธิบังคับจํานอง จึงฟังไม่ขึ้น

(3) การที่นางสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งได้ชําระหนี้เงินกู้ให้แก่นายสิบ 20,000 บาทนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วยตามมาตรา 292 วรรคหนึ่ง และเมื่อเป็นการชําระหนี้ก่อนที่นางสองจะ ได้รับคําบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องจากนายสิบและนายพัน บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองจึงสามารถยก ข้อที่ได้ชําระหนี้บางส่วนแล้วนั้นขึ้นต่อสู้นายพันผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 308 วรรคสอง ดังนั้น การที่ บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองให้การต่อสู้ว่า นางสองได้ชําระหนี้บางส่วนแล้ว บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง จึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวอีกเพียง 80,000 บาทนั้น ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงฟังขึ้น

สรุป

ข้อต่อสู้ในข้อ (1) และ (2) ฟังไม่ขึ้น แต่ข้อต่อสู้ในข้อ (3) ฟังขึ้น

 

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จันทร์กู้เงินอังคารไปหนึ่งแสนบาท กําหนดชําระคืนให้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 ครั้นถึงวันที่ 10 มกราคม 2561 อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ว่ากําหนดชําระหนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 นั้น อังคาร ไม่สามารถรับชําระหนี้ได้ เพราะไม่อยู่จะไปต่างประเทศ ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม 2561 อังคารไม่อยู่บ้านจริง ๆ เพราะไปต่างประเทศ แต่จันทร์เองก็ไม่ได้ไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารแต่ประการใด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคสอง “แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชําระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะ ชําระหนี้จําเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการ ที่จะชําระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่า คําบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคําขอปฏิบัติการชําระหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์กู้เงินอังคารไปหนึ่งแสนบาท กําหนดชําระคืนให้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 ครั้นถึงวันที่ 10 มกราคม 2561 อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ลูกหนี้ว่ากําหนดชําระหนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 นั้น อังคารไม่สามารถรับชําระหนี้ได้เพราะไม่อยู่จะไปต่างประเทศ กรณีเช่นนี้หากถึงวันที่ 20 มกราคม 2561 จันทร์ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้แต่อังคารไม่รับชําระหนี้เพราะไปต่างประเทศ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคารเจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม 2561 อังคารไม่อยู่บ้านจริง ๆ เพราะไปต่างประเทศ แต่จันทร์เองก็ไม่ได้ไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารแต่ประการใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย หลักเกณฑ์ตามมาตรา 207 ดังนั้น จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ได้

และเมื่อหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นหนี้ที่มีกําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และเมื่อ ถึงกําหนดคือวันที่ 20 มกราคม 2561 จันทร์ลูกหนี้มิได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ กรณีนี้จึงถือว่าจันทร์ลูกหนี้ตกเป็น ผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคสอง

สรุป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าจันทร์ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

 

ข้อ 2. พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ละเมิดจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง บ้านหลังนี้มีราคาหนึ่งล้านบาท พุธจึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้าน ให้แก่พฤหัสไปเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ซึ่งพฤหัสก็รับไว้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความ เสียหายจํานวนหนึ่งล้านบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่ เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้ คนใหม่โดยผลของกฎหมาย ทําให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิแทนเจ้าหนี้คนเดิม ซึ่งตามมาตรา 227 ได้วางหลักเกณฑ์ ของการรับช่วงสิทธิไว้ดังนี้

1 ผู้ที่จะเข้ารับช่วงสิทธิมีได้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

2 ต้องมีหนี้ที่มีลูกหนี้จะต้องชําระก่อน

3 ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีการชําระหนี้กัน ส่งผลให้มีการเข้ารับช่วงสิทธิกัน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ได้ละเมิดจุดไฟเผาบ้าน หลังดังกล่าว ทําให้ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลังโดยบ้านหลังนี้มีราคา 1 ล้านบาทนั้น ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ พฤหัสโดยการกระทําของศุกร์ และความเสียหายดังกล่าวพุธซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าธรรมดาไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้อง รับผิดชอบในความเสียหายต่อพฤหัสผู้ให้เช่า ดังนั้น พุธจึงมิใช่ลูกหนี้ตามนัยของมาตรา 227 การที่พุธได้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้านให้แก่พฤหัสไปเป็นเงิน 1 ล้านบาท จึงไม่ก่อให้เกิดการ รับช่วงสิทธิใด ๆ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา 227 พุธจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนได้

สรุป พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย จํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนไม่ได้

 

 

ข้อ 3. เอกเป็นเจ้าหนี้โทอยู่หนึ่งแสนบาท แต่โทไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลย โทมีอาชีพค้าขายมีรายได้เพียงวันละหนึ่งร้อยบาท ต่อมาปรากฏว่าโทได้จดทะเบียนรับตรีเป็นบุตรบุญธรรมของตน ซึ่งเป็นผลทําให้ โทจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นคือค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่ตรี ผู้เป็นบุตรบุญธรรม ทําให้ทรัพย์สินของโทต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีก ดังนี้ เอกสมควรจะใช้มาตรการใดทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของ โทได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมีให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิ ในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงนั้น ไม่ได้ทําให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใด กล่าวคือ แม้ลูกหนี้จะได้ทํานิติกรรมนั้นลูกหนี้ก็ยังมีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ ยังสามารถที่จะบังคับชําระหนี้ได้ หรือนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทํานั้นเป็นนิติกรรมที่มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ตามมาตรา 237 วรรคสอง ดังนี้ เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกเป็นเจ้าหนี้โทอยู่ 1 แสนบาท แต่โทไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลย โดยโทมีอาชีพค้าขายมีรายได้เพียงวันละ 100 บาท และต่อมาโทได้จดทะเบียนรับตรีเป็นบุตรบุญธรรมของตน ซึ่งมีผลทําให้โทจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นคือค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่ตรี บุตรบุญธรรม ทําให้ทรัพย์สินของโทต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีกนั้น เมื่อการที่โทจดทะเบียนรับตรี เป็นบุตรบุญธรรมนั้น เป็นนิติกรรมที่มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินตามมาตรา 237 วรรคสอง ดังนั้น เอกจะ ใช้มาตรการในทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของโทโดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของโทไม่ได้

สรุป เอกจะใช้มาตรการในทางกฎหมายโดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียน รับบุตรบุญธรรมของโทไม่ได้

 

 

ข้อ 4. ศุกร์และเสาร์เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง ต่อมาศุกร์และเสาร์ได้ร่วมกันทําสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่อาทิตย์ในราคาห้าแสนบาท อาทิตย์ได้นําเงินห้าแสนบาทไปขอปฏิบัติการชําระราคา โดยชอบตามสัญญาซื้อขายต่อศุกร์ แต่ปรากฏว่าศุกร์บอกปัดไม่ยอมรับชําระราคาโดยปราศจาก มูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อาทิตย์จึงนําเงินจํานวนดังกล่าวไปวางที่สํานักงานวางทรัพย์เพื่อ ประโยชน์แก่ศุกร์ (เจ้าหนี้) หลังจากนั้นปรากฏว่าเสาร์ได้เรียกร้องให้อาทิตย์ชําระหนี้ราคารถยนต์ จํานวนห้าแสนบาทอีก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าอาทิตย์ต้องชําระหนี้ให้แก่เสาร์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจาก มูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 292 วรรคหนึ่ง “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชําระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทําแทนชําระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชําระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย”

มาตรา 299 วรรคสาม “นอกจากนี้ ท่านให้นําบทบัญญัติแห่งมาตรา 292, 293 และ 295 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวโดยเฉพาะก็คือ แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วยไม่”

มาตรา 331 “ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชําระหนี้ก็ดีหรือไม่สามารถจะรับชําระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชําระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจาก หนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชําระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอน โดยมิใช่ความผิดของตน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศุกร์และเสาร์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง ได้ร่วมกันทําสัญญา ขายรถยนต์คันนั้นให้กับอาทิตย์ ศุกร์และเสาร์จึงถือเป็นเจ้าหนี้ร่วมในค่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว

ตามข้อเท็จจริง การที่อาทิตย์ไปขอชําระหนี้ต่อศุกร์โดยชอบ แต่กร์บอกปัดไม่ยอมรับชําระหนี้ โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้นั้น ศุกร์เจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 และย่อมเป็นโทษ แก่เสาร์เจ้าหนี้ร่วมด้วย

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาทิตย์ได้นําเงินค่าซื้อรถยนต์ 5 แสนบาทไปวางที่สํานักงาน วางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ จึงถือเป็นการวางทรัพย์สินแทนการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 331 และ การวางทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงมีผลต่อเสาร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมกันด้วยตามมาตรา 299 วรรคสาม ประกอบมาตรา 292 วรรคหนึ่ง มาตรา 207 และมาตรา 331 ดังนั้น เมื่อเสาร์ได้เรียกร้องให้อาทิตย์ชําระหนี้ราคารถยนต์จํานวน 5 แสนบาท อาทิตย์จึงไม่ต้องชําระให้แก่เสาร์

สรุป อาทิตย์ไม่ต้องชําระหนี้จํานวน 5 แสนบาทให้แก่เสาร์

 

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จันทร์กู้เงินอังคารไปสองเสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 22 มกราคม 2561 พอใกล้จะถึงกําหนดอังคารแจ้งไปยังจันทร์ว่าวันที่ 22 มกราคม 2561 อังคารจะไม่อยู่รอรับชําระหนี้เพราะจะไปต่างจังหวัด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ถ้าจันทร์ต้องการจะทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด จันทร์จะต้องทําอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 “การขาระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง

แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชําระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะชําระหนี้จําเป็นที่เจ้าหนี้ จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการที่จะชําระหนี้ไว้พร้อม เสร็จแล้วให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้วในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าคําบอกกล่าวของลูกหนี้นั้น ก็เสมอกับคําขอปฏิบัติการชําระหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์กู้เงินอังคารไปสองแสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 22 มกราคม 2561 พอใกล้จะถึงกําหนด อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ว่า วันที่ 22 มกราคม 2561 อังคารจะไม่อยู่รอรับ ชําระหนี้เพราะจะไปต่างจังหวัดนั้น ถ้าจันทร์ต้องการจะทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด จันทร์จะต้องดําเนินการ ตามมาตรา 207 และมาตรา 208 ดังนี้คือ

1 เมื่ออังคาร (เจ้าหนี้) ได้แสดงแก่จันทร์ (ลูกหนี้) ว่าจะไม่รับชําระหนี้ ดังนั้นจันทร์ (ลูกหนี้) สามารถทําให้อังคาร (เจ้าหนี้) ตกเป็นผู้ผิดนัดได้ตามมาตรา 208 วรรคสอง ประกอบมาตรา 37 โดยจันทร์เพียงแต่ บอกกล่าวไปยังอังคารว่า “จันทร์ได้เตรียมเงินที่จะชําระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ขอให้อังคารอยรับชําระหนี้ตามกําหนด ซึ่งคําบอกกล่าวของจันทร์มีผลเท่ากับเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และมีผลทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด

2 ให้จันทร์ (ลูกหนี้) นําเงินสดสองแสนบาทไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ต่ออังคาร (เจ้าหนี้) ในวันที่ 22 มกราคม 2561 ตามข้อตกลง และถ้าอังคารไม่อยู่รอรับชําระหนี้เพราะไปต่างจังหวัดก็จะมีผลเท่ากับ อังคารปฏิเสธไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคาร (เจ้าหนี้) จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตาม มาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคหนึ่ง

สรุป

ถ้าจันทร์ต้องการจะทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด จันทร์สามารถทําได้ 2 ประการดังกล่าว ตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 208

 

 

ข้อ 2. นายแซนด์วางแผนจะจัดงานปาร์ตี้วันเกิดของตนในวันที่ 31 มีนาคม 2560 นายแซนด์ต้องการ แจกของที่ระลึกในงานปาร์ตี้เป็นภาพวาดเหมือนหรือภาพวาดแนว Portrait ในวันที่ 1 มกราคม 2560 นายแซนด์จึงได้ติดต่อว่าจ้างนายเฉลิมชาติ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินเอกของโลก ด้านจิตรกรรมด้วยลักษณะลายเส้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ําแบบใคร ให้ดําเนินการวาดภาพเหมือน ของนายแซนด์ให้แล้วเสร็ง 1 เดือน นับแต่วันที่ตกลงกัน ปรากฏว่าจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 นายแซนด์ก็ยังไม่ได้รับมอบภาพวาด นายแซนด์ร้อนใจมากจึงมาปรึกษาท่านในเรื่องของการบังคับ ชําระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาล ว่าสามารถสั่งให้บุคคลอื่นวาดภาพแทนโดยให้ลูกหนี้ออกค่าใช้จ่าย ได้หรือไม่หรือสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวง ก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ ชําระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 213 “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชําระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับ ชําระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทําเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ ม่เปิดช่องให้บังคับชําระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทําการ อันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทําการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย ให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทํานิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคําพิพากษา แทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทํา ลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอา ค่าเสียหายไม่”

มาตรา 215 “เมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้ จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแซนด์ได้ว่าจ้างนายเฉลิมชาติให้วาดภาพเหมือนของนายแซนด์นั้น เป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทําการโดยมีนายแซนด์ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าหนี้และนายเฉลิมชาติผู้รับจ้างเป็นลูกหนี้

ซึ่งหนี้ดังกล่าวมีกําหนดส่งมอบภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ตกลงกัน อันเป็นหนี้ที่มีกําหนดเวลาชําระหนี้ตามวันแห่ง ปฏิทิน เมื่อนายเฉลิมชาติไม่ชําระหนี้ตามกําหนด นายเฉลิมชาติจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยเจ้าหนี้ไม่จําต้องเตือนก่อน ตามมาตรา 203 วรรคสองประกอบมาตรา 204 วรรคสอง

เมื่อนายเฉลิม ชาติละเลยไม่ชําระหนี้ นายแซนด์เจ้าหนี้ย่อมสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับ ชําระหนี้ได้ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทําเช่นนั้นได้ และเมื่อหนี้ระหว่างนายแซนด์ และนายเฉลิมชาติเป็นหนี้ให้กระทําการและเป็นหนี้ที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชําระหนี้ได้ โดยปกติแล้ว ตามมาตรา 213 วรรคสอง เจ้าหนี้อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทําการแทนโดยให้ลูกหนี้ เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อหนี้ให้กระทําการระหว่างนายแซนด์และนายเฉลิมชาติดังกล่าวนั้น เป็นหนี้ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของลูกหนี้คือความสามารถในด้านการวาดภาพเหมือนด้วยลักษณะลายเส้น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ําแบบใคร ดังนั้น นายแซนด์จะใช้สิทธิทางศาลในการบังคับชําระหนี้ โดยการร้องขอต่อศาล ให้สังบังคับให้บุคคลภายนอกวาดภาพเหมือนแทนโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายตามมาตรา 213 วรรคสองไม่ได้ แต่นายแซนด์สามารถเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่นายเฉลิมชาติไม่ชําระหนี้ตามมาตรา 213 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 ได้ เนื่องจากลูกหนี้ยังไม่ได้หลุดพ้นจากหนี้เพราะเป็นหนี้ที่ยังอยู่ในวิสัยที่จะกระทําได้ แต่ลูกหนี้ไม่กระทํา

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาแก่นายแซนด์ว่า นายแซนด์ไม่สามารถขอให้บุคคลภายนอก กระทําการแทนโดยให้นายเฉลิมชาติเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายได้ แต่สามารถเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชําระหนี้ได้

 

 

ข้อ 3. ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 นางสาวมายและนางสาวมิ้นต์ได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยจํานวนทั้งสิ้น 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืน 2 ปี นับจากวันทําสัญญา นางสาวมายรู้ตัวเองดี ว่าตนเองไม่สามารถชําระหนี้ให้แก่นายรวยได้เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระในวันที่ 17 มกราคม 2561 นางสาวมายจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินของตนเองราคาประมาณ 1,000,000 บาท ให้กับนายหล่อ น้องชายโดยเสน่หา เพื่อหลบเลี่ยงการบังคับชําระหนี้จากนายรวย โดยที่นายหล่อมิได้รู้ถึงภาระหนี้สิน ระหว่างนางสาวมายและนายรวยแต่อย่างใดเลย นอกจากที่ดินแปลงดังกล่าวนางสาวมายยังคงเหลือ ทรัพย์สินอีกเพียงชิ้นเดียว คือ รถยนต์ 1 คัน ราคาประมาณ 600,000 บาท ต่อมานายรวยทราบเรื่อง จึงโกรธนางสาวมายมากในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นายรวยจึงยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินระหว่างนางสาวมายและนายหล่อ นางสาวมายให้การต่อสู้ว่านายรวยไม่มีสิทธิฟ้อง ขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเนื่องจากหนี้เงินกู้ที่ตนและนางสาวมิ้นต์ร่วมกันกู้จากนายรวยยังไม่ ถึงกําหนดชําระ อีกทั้งนางสาวมิ้นต์ลูกหนี้รวมอีกคนหนึ่งมีฐานะร่ำรวยสามารถชําระหนี้ทั้งหมด ให้แก่นายรวยได้ นายรวยจึงมิได้เสียเปรียบแต่อย่างใด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนนายหล่อ ให้การต่อสู้ว่าตนเองได้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดีย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมาย นายรวยจึงไม่มีอํานาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ขอ ศาลพิพากษายกฟ้อง

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า

(1) ข้อต่อสู้ของนางสาวมายและนายหล่อฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) นายรวยจะฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนางสาวมายและนายหล่อได้หรือไม่เพราะเหตุใด

 

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 214 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชําระหนี้ของตน จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชําระแก่ลูกหนี้ด้วย”

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิ ในทรัพย์สิน”

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้ สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคง ต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวมายและนางสาวมิ้นต์ได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจาก นายรวยจํานวน 2,000,000 บาทนั้น ย่อมถือว่านางสาวมายและนางสาวมิ้นต์เป็นลูกหนี้ร่วมของนายรวย และ ก่อนที่หนีถึงกําหนดชําระในวันที่ 17 มกราคม 2561 นางสาวมายได้จดทะเบียนโอนที่ดินของตนราคาประมาณ 1,000,000 บาท ให้กับนายหล่อน้องชายโดยเสน่หาเพื่อหลบเลี่ยงการบังคับชําระหนี้จากนายรวย โดยที่นายหล่อ มิได้รู้ถึงภาระหนี้สินระหว่างนางสาวมายและนายรวยแต่อย่างใดเลย และนอกจากที่ดินแปลงดังกล่าวนางสาวมาย ยังคงเหลือทรัพย์สินอีกเพียงชิ้นเดียว คือรายนต์ 1 คัน ราคาประมาณ 600,000 บาทนั้น นิติกรรมระหว่างนางสาวมาย กับนายหล่อถือเป็นนิติกรรมที่นางสาวมายลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจึงเป็น นิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ เนื่องจากนิติกรรมดังกล่าวมีผลทําให้กองทรัพย์สินของนางสาวมายซึ่งเป็นลูกหนี้ ลดน้อยลงไม่พอที่จะใช้หนี้ให้แก่นายรวยเจ้าหนี้จนสิ้นเชิง แม้นายหล่อผู้ได้ลาภงอกจะมิได้รู้ถึงความเสียหายของ นายรวยเจ้าหนี้ เมื่อเป็นนิติกรรมการให้โดยเสน่หา เจ้าหนี้คือนายรวยย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อเพิกถอนนิติกรรมได้ ตามมาตรา 237 และแม้ในวันฟ้องขอเพิกถอนนั้น หนี้เงินกู้ระหว่างนางสาวมายและนางสาวมิ้นต์ที่มีต่อนายรวย จะยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายรวยก็สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้เพราะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ มิใช่การฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากนางสาวมายลูกหนี้ร่วมโดยตรง ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนางสาวมายเละนายหล่อดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

และเมื่อนางสาวมายเป็นลูกหนี้ร่วมกับนางสาวมิ้นต์ เจ้าหนี้คือนายรวยย่อมมีสิทธิบังคับชําระหนี้ เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งคนใดได้จนสิ้นเชิงตามมาตรา 291 โดยมิต้องคํานึงว่าลูกหนี้ร่วมคนอื่น จะสามารถชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้หรือไม่อย่างไร ดังนั้น เมื่อนางสาวมายโอนทรัพย์สินไปให้กับนายหล่ออันเป็น การฉ้อฉลตามมาตรา 237 แล้ว เจ้าหนี้คือนายรวยย่อมสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้

สรุป

(1) ข้อต่อสู้ของนางสาวมายและนายหล่อฟังไม่ขึ้น

(2) นายรวยฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนางสาวมายและนายหล่อได้

 

 

ข้อ 4. นายสุขทําสัญญากู้เงิน 120,000 บาท จากนายนาค และได้มอบทองคําแท่งหนัก 5 บาทของตนให้นายนาคไว้เป็นการจํานํา ต่อมานายนาคได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ ดังกล่าวแก่นายสืบ โดยส่งมอบทองคําแท่งที่รับจํานําไว้นั้นแก่นายสืบด้วย แล้วนายสืบได้ทําหนังสือ แจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายสุขทราบ ต่อมา นายสุขไม่ชําระหนี้เงินกู้ นายสืบจึงฟ้อง เรียกหนี้เงินกู้จากนายสุขและขอบังคับจํานํา นายสุขให้การต่อสู้ว่า

(ก) การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากนายสุข นายสืบจึงฟ้องบังคับให้นายสุขชําระหนี้ไม่ได้

(ข) แม้จะมีการแจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องต่อนายสุข แต่การแจ้งเป็นหน้าที่ของนายนาคเจ้าหนี้คนเดิมไม่ใช่นายสืบเจ้าหนี้คนใหม่ การแจ้งดังกล่าวจึงไม่ชอบ

(ค) การจํานําไม่ได้ทําสัญญากันใหม่ระหว่างนายสุขกับนายสืบ ถือว่าสัญญาจํานําระงับสิ้นไปแล้ว นายสืบจึงไม่มีสิทธิบังคับจํานํา ให้วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายสุขฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 305 วรรคหนึ่ง “เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจํานองหรือจํานําที่มีอยู่เกี่ยวพันกับ สิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย”

มาตรา 306 วรรคหนึ่ง “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทําเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอก ได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คําบอกกล่าวหรือความยินยอม เช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะ เจาะจงนั้น จะต้องทําเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อ ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ได้ยินยอมเป็นหนังสือในการโอนนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ การที่นายนาคได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ ดังกล่าวแก่นายสืบ การโอนจึงสมบูรณ์ และเมื่อนายสืบได้ทําหนังสือแจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายสุข การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายสุขจึงชอบด้วยมาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากนายสุข และจะมีผลผูกพันนายสุขในอันที่จะต้องชําระหนี้แก่นายสืบ ดังนั้นข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การโอนสิทธิ เรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากนายสุข นายสืบจึงฟ้องบังคับให้นายสุขชําระหนี้ไม่ได้นั้นย่อมฟังไม่ขึ้น

(ข) การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งนั้น กฎหมาย ไม่ได้บังคับว่าผู้มีหน้าที่บอกกล่าวการโอนคือใคร ดังนั้นเมื่อนายสืบเจ้าหนี้คนใหม่เป็นผู้บอกกล่าวการโอนสิทธิ เรียกร้องไปยังนายสุข การบอกกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่าการบอกกล่าวหรือการแจ้ง เป็นหน้าที่ของนายนาคเจ้าหนี้คนเดิมจึงฟังไม่ขึ้น

(ค) ตามมาตรา 395 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว สิทธิจํานําที่มีอยู่เกี่ยวพัน กับสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย ดังนั้นตามอุทาหรณ์เมื่อนายนาคได้ส่งมอบทองคําแท่งที่รับจํานําไว้ ให้แก่นายสืบผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้วด้วย นายสืบจึงเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ที่มีสิทธิตามสัญญาจํานําและสามารถบังคับ จํานําได้ ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การจํานําไม่ได้ทําสัญญากันใหม่ระหว่างนายสุขกับนายสืบ ถือว่าสัญญาจํานํา ระงับสิ้นไปแล้วนายสืบจึงไม่มีสิทธิบังคับจํานํานั้นจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

(ก) ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากนายสุขนายสืบจึงฟ้องบังคับให้นายสุขชําระหนี้ไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น

(ข) ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหน้าที่ของนายนาคเจ้าหนี้คนเดิม ฟังไม่ขึ้น

(ค) ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การจํานําไม่ได้ทําสัญญากันใหม่ระหว่างนายสุขกับนายสืบถือว่าสัญญาจํานําระงับสิ้นไปและนายสืบไม่มีสิทธิบังคับจํานํานั้น ฟังไม่ขึ้น

 

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. สัญญาจ้างก่อสร้างระบุว่าจันทร์ผู้ว่าจ้างจะต้องจัดการขนย้ายอุปสรรคการก่อสร้าง เรื่องเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปา ตลอดจนการที่มีอาการของผู้อื่นบางส่วนกีดขวางอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่สําหรับการก่อสร้างภายในกําหนดวันที่ 20 มกราคม 2560 ให้แก่อังคาร (ผู้รับจ้าง) และอังคารผู้รับจ้างจะเข้าทําการก่อสร้างตามสัญญาทันที ปรากฏว่าจันทร์ ละเลยไม่ดําเนินการย้ายอุปสรรคการก่อสร้างต่าง ๆ จนสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 ไม่มีการส่งมอบ พื้นที่สําหรับการก่อสร้างให้แก่อังคาร ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 209 “ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการอันใด ท่านว่าที่จะ ขอปฏิบัติการชําระหนี้นั้นจะต้องทําก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทําการอันนั้นภายในเวลากําหนด

วินิจฉัย

ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการใด หากเจ้าหนี้มิได้กระทําการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กําหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จําเป็นต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ และถือว่า เจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชําระหนี้หรือขอปฏิบัติการ ชําระหนี้หาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างจันทร์และอังคารระบุว่า จันทร์ผู้ว่าจ้าง จะต้องจัดการขนย้ายอุปสรรคการก่อสร้าง เรื่องเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปา ตลอดจนการที่มีอาการของผู้อื่น บางส่วนกีดขวางอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่สําหรับการก่อสร้างภายใน กําหนดวันที่ 20 มกราคม 2560 ให้แก่อังคารผู้รับจ้าง และอังคารผู้รับจ้างจะเข้าทําการก่อสร้างตามสัญญาทันทีนั้น ถือเป็นเรื่องการชําระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชําระหนี้ โดยมีการตกลง กําหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการไว้เป็นที่แน่นอน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจันทร์ละเลยไม่ดําเนินการย้ายอุปสรรค การก่อสร้างต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นและส่งมอบพื้นที่สําหรับการก่อสร้างภายในกําหนดวันที่ 20 มกราคม 2560 ให้แก่ อังคาร ย่อมถือว่าจันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกําหนดเวลานั้นตามมาตรา 209 โดยที่อังคารลูกหนี้ หาจําต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้แต่ประการใดไม่

สรุป

จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 2. นายเอกต้องการซื้อรถยนต์ยี่ห้อเอแอนด์บี 1 คัน จากบริษัท ถนอม มอเตอร์ จํากัด ซึ่งขายรถยนต์ใช้แล้ว นายเอกจึงจองรถไว้หนึ่งคันตามรุ่นและสีที่ต้องการ พร้อมทั้งกําชับขอให้เลือกคันที่หมายเลข ทะเบียนรถสวยให้ด้วย แล้วนายเอกแจ้งให้บริษัทจัดส่งรถไปให้ที่บ้านของนายเอกเนื่องจากนายเอก ยังขับรถไม่ชํานาญ นายเอกชําระราคาแล้วกลับไปรอที่บ้านของตน นายถนอมกรรมการผู้มีอํานาจ ของบริษัทจึงเลือกรถยี่ห้อดังกล่าวคันหนึ่งในรุ่นและสีตามที่นายเอกต้องการและมีหมายเลขทะเบียน กศ 123 กทม. นํามาจัดเตรียมเพื่อส่งมอบ จากนั้นนายถนอมมอบหมายให้นายโทนลูกจ้างของบริษัท ขับรถคันดังกล่าวไปส่งมอบให้นายเอกที่บ้าน ระหว่างทางนายโทนขับรถคันนี้ด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถชนแท่งปูนและพลิกคว่า รถได้รับความเสียหายสิ้นเชิง ดังนี้ นายเอกจะเรียกร้องให้ บริษัทดังกล่าวรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 195 “เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตาม สภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณีไม่อาจจะกําหนดได้ว่าทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลาง

ถ้าลูกหนี้ได้กระทําการอันตนจะพึงต้องทําเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี หรือ ถ้าลูกหนี้ได้เลือกกําหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้ จําเดิมแต่เวลานั้นไป”

มาตรา 218 “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทําได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่ง ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิด แต่การไม่ชําระหนี้นั้น

กรณีที่การชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทําได้นั้น จะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชําระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทําได้นั้นแล้ว และเรียก ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชําระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้”

มาตรา 220 “ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ ในการชําระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 373 หาใช้บังคับ แก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่”

มาตรา 324 “เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชําระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านราต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชําระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่า ต้องชําระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลําเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกตกลงซื้อรถยนต์กับบริษัท ถนอม มอเตอร์ จํากัดนั้น แม้ ในขณะที่นายเอกได้ตกลงซื้อนายเอกได้ระบุแต่เพียงรุ่นและสีกับความต้องการพิเศษเกี่ยวกับหมายเลขทะเบียนรถ ก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อบริษัทได้เลือกรถยนต์ยี่ห้อเอแอนด์บี คันหมายเลขทะเบียน กศ 123 กทม. ในรุ่นและสีตามที่ นายเอกต้องการแล้ว รถคันดังกล่าวจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้สําหรับการส่งมอบเพื่อชําระหนี้ตามมาตรา 195 วรรคสอง

ซึ่งตามปกติลูกหนี้ผู้ขายรถยนต์ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติการชําระหนี้นั้นด้วยตนเอง และสถานที่ส่งมอบโดยหลักแล้วคือ สถานที่ที่รถยนต์คันนี้ได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั่นเอง แต่เมื่อกรณีนี้ปรากฏว่าบริษัทฯ กับนายเอกได้แสดงเจตนา ให้ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวของนายเอกเจ้าหนี้ ดังนั้น บริษัทจึงต้องส่งมอบรถยนต์คันนี้เรียก นายเอก ณ ภูมิลําเนาของนายเอกตามมาตรา 324

ในการส่งมอบรถยนต์คันนี้ให้แก่นายเอกนั้น บริษัทฯ มิได้ดําเนินการเอง แต่ได้มอบหมายให้ นายโทนลูกจ้างของบริษัทฯ เป็นผู้ขับไปส่งมอบ ณ ภูมิลําเนาของนายเอก การที่นายโทนขับรถยนต์คันนี้ไปชน แท่งปูนและพลิกคว่ำ ทําให้รถได้รับความเสียหายสิ้นเชิงนั้น ถือเป็นกรณีที่ทําให้การชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย และแม้เหตุดังกล่าวจะเกิดจากการกระทําโดยประมาทเลินเล่อของนายโทน แต่กรณีนี้ถือได้ว่านายโทนเป็นตัวแทน ในการชําระหนี้ของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชอบในความผิดของนายโทนเสมอกับว่าเป็นความผิดของ ตนเอง ตามมาตรา 220 บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 220 ดังนั้น นายเอกจึงสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทฯ ได้

สรุป

นายเอกสามารถเรียกร้องให้บริษัท ถนอม มอเตอร์ จํากัด รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนได้

 

ข้อ 3. บริษัทกิ่งแก้วฯ (จําเลยที่ 1) ฝากสินค้าไว้ในโกดังของจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) สินค้าดังกล่าวมีประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย (โจทก์) เกิดไฟไหม้โกดังสินค้าเสียหาย จําเลยที่ 1 (ผู้ฝาก) ยอมรับเงินจากจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) และขอสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ทั้งทางแพ่ง และทางอาญาเพราะไฟไหม้เป็นเหตุสุดวิสัย (ไฟฟ้าลัดวงจร) บริษัท อาคเณย์ประกันภัยซึ่งได้ ชําระค่าสินไหมทดแทนให้จําเลยที่ 1 ไป 4,903,284.28 บาท จะรับช่วงสิทธิจากจําเลยที่ 1 มาฟ้อง เรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่ เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ยอมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

มาตรา 850 “อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน”

มาตรา 852 “ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทําให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่าย ได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทําให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทกิ่งแก้วฯ (จําเลยที่ 1) ฝากสินค้าไว้ในโกดังของจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) สินค้าดังกล่าวมีประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย และเมื่อเกิดไฟไหม้โกดังทําให้สินค้า ดังกล่าวเสียหาย จําเลยที่ 1 (ผู้ฝาก) ยอมรับเงินจากจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) และขอสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจําเลยที่ 2 นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่จําเลยที่ 1 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความ กับจําเลยที่ 2 ซึ่งจําเลยที่ 1 มีสิทธิทําได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ผู้รับประกันภัย และมีผลทําให้การเรียกร้องค่าเสียหายของจําเลยที่ 1 ที่มีต่อจําเลยที่ 2 ระงับสิ้นไป กล่าวคือ จําเลยที่ 1 จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลยที่ 2 อีกไม่ได้ตามมาตรา 850 ประกอบมาตรา 852 ดังนั้น แม้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จะได้ชําระค่าสินไหมทดแทนให้จําเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไป 4,903,284.28 บาท ตามกรมธรรม์ ก็ตาม บริษัท อาคเนย์ประกันภัย ผู้รับประกันก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิของจําเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อมาฟ้อง เรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลยที่ 2 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 227 ได้

สรุป

บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จะรับช่วงสิทธิจากจําเลยที่ 1 มาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน จากจําเลยที่ 2 ไม่ได้

 

ข้อ 4. ทรายเป็นเจ้าของคอนโดหรูใจกลางเมือง กําลังจะร่วมเปิดธุรกิจร้านอาหารกับทะเล ต้องการระดมทุนจํานวนมาก จึงไปขอกู้ยืมเงินจากภูผาซึ่งเป็นผู้เช่าคนหนึ่งของคอนโดจํานวน 200,000 บาท ต่อมา เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระภูผาได้ทวงให้ทรายชําระหนี้ ทรายซึ่งกําลังทําบัญชีของคอนโดอยู่นั้นเห็นว่า ภูผาติดค้างค่าเช่าคอนโดอยู่จํานวน 100,000 บาท ซึ่งถึงกําหนดต้องชําระแล้ว จึงบอกกล่าวด้วยวาจา ว่าขอหักหนี้กันไป อย่ามาทวงถามอีก ภูผาไม่พอใจจึงฟ้องให้ทะเลชําระหนี้เต็มจํานวน 200,000 บาท ให้วินิจฉัยว่าทะเลต้องใช้หนี้ให้แก่ภูผาหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้ สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคง ต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

มาตรา 292 “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชําระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทําแทนชําระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชําระหนี้ และ หักกลบลบหนี้ด้วย

ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้ หาได้ไม่”

มาตรา 341 “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่าง เดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกําหนดจะชําระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตน ด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจํานวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทรายและทะเลได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากภูผาจํานวน 200,000 บาทนั้น ย่อมถือว่าทรายและทะเลเป็นลูกหนี้ร่วมของภูผา โดยลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะต้องร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ในการชําระหนี้ จนสิ้นเชิง และเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชําระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่ จะเลือกตามมาตรา 291

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรายเป็นเจ้าหนี้ในเงินค่าเช่าที่ภูผาติดค้างอยู่ 100,000 บาท และเป็นลูกหนี้ในเงินกู้ยืมจากภูผา จึงเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกัน โดยมีทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุ แห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นได้ถึงกําหนดชําระแล้ว ดังนี้เมื่อทรายได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ ด้วยวาจาฝ่ายเดียว การหักกลบลบหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นผลสําเร็จ โดยไม่จําต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน และจะมีผลให้หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปในจํานวนที่ตรงกัน คือ จํานวน 100,000 บาท ตามมาตรา 341

และเมื่อทรายลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งขอหักกลบลบหนี้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ คือ ทะเลด้วย ดังนั้น หนี้ระหว่างทะเลกับภูผาจึงระงับสิ้นไปเท่ากับจํานวน 100,000 บาทด้วยตามมาตรา 292 จึงคงเหลือ หนี้ที่ต้องผูกพันอีกเพียง 100,000 บาทเท่านั้น ซึ่งภูผาเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ทะเลลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งเพียงคนเดียว ชําระหนี้จนสิ้นเชิงได้ตามมาตรา 291 ดังนั้น เมื่อภูผาฟ้องให้ทะเลชําระหนี้ ทะเลจึงต้องใช้หนี้ให้แก่ภูผาในจํานวน เพียง 100,000 บาท

สรุป

ทะเลต้องใช้หนี้ให้แก่ภูผาจํานวน 100,000 บาท

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายฉลามครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวจนได้กรรมสิทธิ์แต่ไม่ได้นําไปจดทะเบียนการได้มา เมื่อนายแมวทราบ นายแมวจึงนําที่ดินไปขายให้นายสิงโตซึ่งเป็นเพื่อนสนิทโดยนายสิงโต รับทราบว่านายฉลามได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายแมวแล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินทําถูกต้อง ตามกฎหมาย เมื่อนายสิงโตเข้าอยู่ในที่ดินจึงฟ้องขับไล่นายฉลามต่อศาล นายฉลามยกข้อต่อสู้ว่า ตนได้ครอบครองปรปักษจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว นายแมวย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว อีกต่อไป ดังนั้น การที่นายสิงโตซื้อที่ดินจากนายแมวซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ นายสิงโตย่อมไม่ได้ไป ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายฉลามรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฉลามได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของนายแมวโดยการครอบครอง ปรปักษ์นั้น ถือว่านายฉลามเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายฉลามยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นายฉลามจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นายฉลามจะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายแมวได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าว ให้แก่นายสิงโตซึ่งเป็นเพื่อนสนิทนั้น นายสิงโตรับทราบว่านายฉลามได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายแมวแล้ว จึงถือว่านายสิงโตซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยไม่สุจริตและไม่ได้จดทะเบียน โดยสุจริต และแม้ว่านายสิงโตจะได้รับโอนที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทน นายสิงโตก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นนายฉลามจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่านายสิงโต นายสิงโตย่อมไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ ในที่ดิน และจะฟ้องขับไล่นายฉลามไม่ได้

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายฉลามที่ว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้วจึงรับฟังได้

 

ข้อ 2 นายดาบได้ดําเนินการก่อสร้างบ้านในที่ดินของตนจนกระทั่งทําโครงสร้างทั้งหมดของบ้านเสร็จนายดาบจึงทราบว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของบ้านอยู่ในที่ดินของนายแก้ว แต่นายดาบก็ยังคง ก่อสร้างบ้านต่อไปจนแล้วเสร็จ เมื่อนายแก้วเจ้าของที่ดินข้างเคียงพบว่านายดาบได้ปลูกบ้านรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน จึงเรียกให้นายดาบรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำพร้อมทําที่ดินให้เป็นเหมือนเดิม โดยนายดาบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด นายดาบปฏิเสธโดยอ้างว่าตนก่อสร้างบ้านโดยสุจริต จึงไม่จําเป็นต้องรื้อถอนบ้าน และนายแก้วต้องไปจดทะเบียนสิทธิภาระจํายอมให้กับตนสําหรับ บ้านส่วนที่รุกล้ำด้วย หากท่านเป็นผู้พิพากษาท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1312 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้น เป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิ์เป็น ภาระจํายอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทําการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทําที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดาบได้ดําเนินการก่อสร้างบ้านในที่ดินของตนจนกระทั่งทําโครงสร้าง ทั้งหมดของบ้านเสร็จ นายดาบจึงทราบว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของบ้านอยู่ในที่ดินของนายแก้วนั้น ถือเป็น กรณีการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา 1312 ตามข้อเท็จจริงนั้น แม้ว่า ในขณะที่เริ่มก่อสร้างบ้านจนกระทั่งทําโครงสร้างทั้งหมดของบ้านเสร็จ นายดาบจะเข้าใจว่าที่ดินส่วนที่สร้างบ้านรุกล้ำนั้นเป็นของตนก็ตาม แต่ก่อนที่จะสร้างบ้านเสร็จนั้นนายดาบ ได้ทราบแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นของนายแก้ว แต่นายดาบก็ยังคงก่อสร้างบ้านต่อไปจนแล้วเสร็จ จึงไม่ถือว่านายดาบ สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตอันจะทําให้นายดาบไม่ต้องรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ําตาม มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง แต่เป็นกรณีการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต

และเมื่อถือว่านายดาบได้สร้างบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายแก้วโดยไม่สุจริต นายดาบจึงต้อง รื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของนายแก้ว และทําที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยนายดาบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 1312 วรรคสอง

สรุป

นายดาบจะต้องรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของนายแก้ว และทําที่ดินให้เป็น ตามเดิมโดยนายดาบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

 

ข้อ 3. นายมีนาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของนายเมษาติดต่อกันได้ 8 ปี และบอกกับชาวบ้านในบริเวณที่ดินนั้นว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน โดยที่นายเมษาไม่ทราบเรื่องดังกล่าว พอขึ้นปีที่ 9 นายมกรา ได้มาชักชวนให้นายมีนาไปทํางานที่ประเทศเกาหลีเนื่องจากรายได้ดีกว่าการทํานา นายมีนาจึง ตอบตกลงไปทํางานที่ประเทศเกาหลีเป็นเวลา 9 เดือน เมื่อเก็บเงินได้จํานวนหนึ่ง นายมีนาก็กลับมา ทํานาในที่ดินแปลงเดิมของนายเมษาอีก 3 ปี นายเมษารู้เรื่องจึงแจ้งให้นายมีนาออกไปจากที่ดินนั้น แต่นายมีนาอ้างว่าที่ดินตาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว นายเมษาไม่มีสิทธิให้ตนออกไปจากที่ดินนั้น ดังนี้ ระหว่างนายมีนากับนายเมษาผู้ใดมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวอีกว่ากัน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่ง นับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกําหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีนาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของนายเมษาติดต่อกันได้ 8 ปี โดยนายมีนาบอกกับชาวบ้านว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ถือว่านายมีนาเป็นผู้ครอบครองที่ดินของผู้อื่นโดยสงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกันได้เพียง 8 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 และเมื่อขึ้นปีที่ 9 การที่นายมีนาได้ตอบตกลงไปทํางานที่ประเทศเกาหลีตามคําชักชวนของ นายมกราย่อมถือว่านายมีนามีเจตนาสละการครอบครองที่ดินไปโดยสมัครใจ สิทธิครอบครองของนายมีนา จึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1384 และเมื่อนายมีนาได้กลับมาครอบครองและทํานาในที่ดินแปลงนั้นอีกครั้งจึงต้อง เริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ และเมื่อปรากฏว่านายมีนาได้ครอบครองในครั้งหลังนี้ได้เพียง 3 ปี ยังไม่ครบ 10 ปี นายมีนาจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ดังนั้นจึงถือว่านายเมษามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดีกว่านายมีนา

สรุป

นายเมษามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอีกว่านายมีนา

 

ข้อ 4. นายนาคมีที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ทางทิศตะวันออกติดกับที่ดินมีโฉนดของนายเงิน และทางทิศใต้ติดกับที่ดินมีโฉนดของนายทอง นายนาคได้อาศัยสูบน้ำในบ่อบนที่ดินของนายเงินเพื่อนํามาใช้รดน้ำต้นไม้ในที่ดินของตน และยังใช้ที่ดินของนายทองในการจอดรถยนต์ของตนมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว โดยไม่เคยขออนุญาตนายเงินและนายทองเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า ที่ดินของนายนาคจะได้สิทธิ์ ภาระจํายอมในการใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายเงินและจอดรถยนต์บนที่ดินของนายทองหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

โดยหลัก การได้ภาระจํายอมโดยอายุความ เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ (เจตนาปรปักษ์) และครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ภาระจํายอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่า สามยทรัพย์เท่านั้นตามมาตรา 1387 ดังนั้น ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกัน นานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทําให้เกิดภาระจํายอมโดยอายุความขึ้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนาคซึ่งมีที่ดินติดกับที่ดินของนายเงิน ได้อาศัยสูบน้ำในบ่อบนที่ดินของ นายเงินเพื่อนํามาใช้รดน้ำต้นไม้ในที่ดินของตนเป็นเวลา 12 ปีแล้วโดยไม่เคยขออนุญาตนายเงินเลยนั้น การกระทํา ของนายนาคดังกล่าวถือเป็นการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์หนึ่งเพื่อประโยชน์ของอีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ตามมาตรา 1387 และเมื่อนายนาคได้ใช้ที่ดินของนายเงินโดยสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเพื่อให้ได้ภาระจํายอม และได้ใช้ติดต่อกันเกิน 10 ปีแล้ว ที่ดินของนายนาคจึงได้สิทธิภาระจํายอมในการใช้น้ําในบ่อบนที่ดินของนายเงิน โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 387 และ 1401 ประกอบมาตรา 1382

ส่วนการที่นายนาคได้ใช้ที่ดินของนายทองเพื่อจอดรถยนต์ของตนเป็นเวลา 12 ปีแล้วโดยไม่เคย ขออนุญาตนายทองเลยนั้น ไม่ถือว่าเป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ของอีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่งจึงไม่ก่อให้เกิด ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 ดังนั้น ไม่ว่านายนาคจะได้ใช้ที่ดินของนายทองเป็นเวลานานเท่าใด ก็ไม่ทําให้นายนาค ได้ภาระจํายอมเหนือที่ดินของนายทองโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา 1387 ประกอบมาตรา 1401 และ 1382

สรุป

ที่ดินของนายนาคได้สิทธิภาระจํายอมในการใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายเงิน แต่ไม่ได้สิทธิ ภาระจํายอมในการจอดรถยนต์บนที่ดินของนายทอง

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายข้อยกเว้นหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองนั้น ได้กําหนดไว้ว่า ถ้าผู้ใดได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือ ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมจะต้องจดทะเบียนการได้มา และเมื่อผู้ได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้นได้ดําเนินการ จดทะเบียนแล้วย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ แม้ว่า บุคคลภายนอกนั้นจะได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม

แต่ถ้าหากผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมนั้นไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ย่อมเป็นการยากที่บุคคลภายนอกจะล่วงรู้ถึงสิทธิของผู้ได้มานั้น ดังนั้น ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต แม้ว่า บุคคลภายนอกนั้นจะได้สิทธินั้นมาจากบุคคลซึ่งไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น บุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง กล่าวคือ ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มานั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมา ดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นของหลักที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”

ตัวอย่าง นายเอกได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายโทโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งถือว่าเป็นการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่นายเอกผู้ได้มานั้นยังไม่ได้ดําเนินการจดทะเบียนการได้มาแต่อย่างใด ต่อมานายโทได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายตรี เช่นนี้ โดยหลักแล้วเมื่อนายโทไม่มีกรรมสิทธิ์ ในที่ดินแปลงนั้น นายตรีผู้รับโอนย่อมไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์นั้นด้วย ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากนายตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว แม้ว่านายโทผู้โอนจะไม่ใช่เจ้าของที่ดินแปลงนี้ซึ่งไม่มีสิทธิ โอนขายที่ดินนั้นให้แก่นายตรี แต่นายตรีจะได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง กล่าวคือ นายตรี ย่อมมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายเอก ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นของหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

 

ข้อ 2. นายเรืองเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีเขตที่ดินติดต่อกับที่ดินของนายโรจน์ หลังจากนายเรืองสร้างรั้วกําแพงเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยเข้าใจว่าเป็นการสร้างในเขตที่ดินของตน แต่ขณะที่ผู้รับเหมา ลงมือเทคานคอนกรีตเพื่อสร้างบ้านในที่ดินนั้น นายโรจน์ขอให้เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินมาทําการ รังวัดเพื่อสอบเขตที่ดิน ปรากฏว่ารั้วกําแพงส่วนหนึ่งและตัวบ้านทั้งหลังที่กําลังก่อสร้างอยู่ในที่ดิน ของนายโรจน์ นายโรจน์จึงห้ามไม่ให้นายเรืองก่อสร้างบ้านต่อไป แต่นายเรืองบอกให้ผู้รับเหมา ก่อสร้างบ้านต่อไปจนแล้วเสร็จ ดังนี้ ถ้านายโรจน์ต้องการให้นายเรืองรื้อถอนบ้านและรั้วกําแพง ส่วนที่รุกล้ําเข้าไปในที่ดินของตน ให้วินิจฉัยว่า นายเรืองต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1311 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นต้องทํา ที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ เว้นแต่เจ้าของจะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้ เจ้าของที่ดิน ต้องใช้ราคาโรงเรือนหรือใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้น แล้วแต่จะเลือก”

มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิ เป็นภาระจํายอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียน เสียก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 กรณีของรั้วกําแพง การที่นายเรืองได้สร้างรั้วกําแพงโดยมีส่วนหนึ่งอยู่ในที่ดินของนายโรจน์นั้น แม้นายเรืองจะได้กระทําโดยสุจริต เพราะเข้าใจว่าเป็นการสร้างในเขตที่ดินของตนก็ตาม แต่เมื่อรั้วกําแพงนั้น ไม่ใช่โรงเรือนหรือส่วนควบของโรงเรียน กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายเรือง จึงต้องรื้อถอนรัวกําแพงส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายโรจน์ และไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากนายโรจน์

2 กรณีของบ้าน แม้ในขณะที่มีการลงมือก่อสร้างบ้านนั้น นายเรืองจะเข้าใจว่าเป็นการสร้างในเขตที่ดินของตนก็ตาม แต่เมื่อนายโรจน์ได้ให้เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินมาทําการรังวัดเพื่อสอบเขตที่ดิน และปรากฏว่าตัวบ้านที่กําลังก่อสร้างอยู่ในที่ดินของนายโรจน์ทั้งหลัง นายโรจน์จึงห้ามไม่ให้นายเรืองก่อสร้างบ้านต่อไป แต่นายเรืองยังบอกให้ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านต่อไปจนแล้วเสร็จ กรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดิน ของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311 เพราะถ้าเป็นการกระทําโดยสุจริตนั้น จะต้องสุจริตตั้งแต่ก่อนลงมือ ก่อสร้าง ขณะก่อสร้างจนถึงการก่อสร้างเสร็จแล้ว จึงมารู้ในภายหลังว่าเป็นการก่อสร้างในที่ดินของผู้อื่น ดังนั้น นายเรืองจึงต้องรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินของนายโรจน์ และทําที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืน ให้นายโรจน์ หรือนายโรจน์จะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่คือรับเอาบ้านไว้ แต่นายโรจน์ต้องใช้ราคาบ้านหรือ ใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มเพราะการสร้างบ้านนั้น แล้วแต่จะเลือก

สรุป

นายเรื่องต้องรื้อถอนรั้วกําแพงส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายโรจน์ และต้องรื้อถอนบ้าน ดังกล่าวออกไปจากที่ดินของนายโรจน์ และทําที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนให้นายโรจน์

 

ข้อ 3. หมูครอบครองทําไร่ข้าวโพดอยู่ในที่ดินมีโฉนดของแมว โดยบอกกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวนั้นว่าเป็นที่ดินของตน หลังจากครอบครองติดต่อกันได้ 5 ปี แมวเพิ่งรู้ว่าหมูเข้ามาทําไร่ในที่ดินของแมว แมวจึงมาพูดด่าว่าขับไล่หมูให้ย้ายออกจากที่ดินของตน แมวมาเตือนหมูอีก 2 ครั้ง แต่หมูกลับเฉย ในที่สุดหมูโอนการครอบครองที่ดินให้ไก่เข้าไปอยู่แทน ไก่ครอบครองที่ดินของแมวต่อจากหมูได้ อีก 6 ปี แมวก็ถึงแก่ความตาย นกบุตรของแมวจดทะเบียนรับมรดกที่ดินที่ถูกครอบครองปรปักษ์ มาเป็นของตน และนกฟ้องขับไล่ไก่ออกจากที่ดินดังกล่าว ให้วินิจฉัยว่า นกมีสิทธิฟ้องขับไล่ไก่ได้หรือไม่ และระหว่างนกกับไก่ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดีกว่ากัน จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1385 “ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้น รวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้ ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครอง ของผู้โอนไซร้ ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่หมูครอบครองทําไร่ข้าวโพดอยู่ในที่ดินมีโฉนดของแมว โดยบอกกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวนั้นว่าเป็นที่ดินของตน แสดงว่าหมูมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้แล้ว และหลังจาก หมูได้ครอบครองติดต่อกันได้ 5 ปี การที่แมวซึ่งเพิ่งมารู้ว่าหมูได้เข้ามาทําไร่ในที่ดินของแมว แมวจึงมาพูดด่าว่า ขับไล่หมูให้หมูย้ายออกไปจากที่ดินของตน และแมวได้มาเตือนหมูอีก 2 ครั้ง แต่หมูกลับเฉยนั้น เพียงแค่การ โต้เถียงกันดังกล่าวไม่ถือว่าทําให้การครอบครองของหมูเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ ดังนั้น การครอบครอง ที่ดินของหมูจึงถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ โดยเปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของ

ต่อมาเมื่อหมูได้โอนการครอบครองที่ดินแปลงนี้ให้ไก่เข้าไปอยู่แทน และไก่ได้เข้าครอบครองที่ดิน ของแมวต่อจากหมูได้อีก 6 ปี ซึ่งเมื่อนับรวมการครอบครองของหมูและไก่เข้าด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรณีที่ไก่ได้ ครอบครองที่ดินแปลงนี้ของแมวโดยสงบ โดยเปิดเผย และโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน กว่า 10 ปีแล้ว ไก่จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ประกอบมาตรา 1385 และเมื่อแมวถึงแก่ความตาย นกซึ่งเป็นบุตรของแมวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนี้มาเป็นของตน นกก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ดีกว่าแมว ดังนั้น ระหว่างนกกับไก่จึงถือว่าไก่มีกรรมสิทธิ์ดีกว่านก และนกไม่มีสิทธิ์ฟ้องขับไล่ไก่

สรุป

ไก่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านก และนกไม่มีสิทธิ์ฟ้องขับไล่ไก่

 

ข้อ 4. นายลําไยได้รับอนุญาตจากนายลิ้นจี่ให้ใช้รถยนต์สัญจรไปมาผ่านบนที่ดินของนายลิ้นจี่ได้อย่างภาระจํายอมในลักษณะทางซึ่งกว้าง 4 เมตร ในเวลาใดก็ได้ โดยทั้งคู่ได้ไปจดทะเบียนสิทธิเป็น ภาระจํายอมแล้ว เมื่อนายลําไยใช้ทางไปสักระยะหนึ่ง นายลิ้นจี่กลับสร้างบ้านเบียดทางจนรถยนต์ ผ่านเข้าออกไม่ได้มา 15 – 16 ปีแล้ว คงใช้แต่เป็นทางที่นายลําไยเดินผ่านเข้าออก ดังนี้ ภาระจํายอมบนที่ดินของนายลิ้นจี่สิ้นสุดลงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับ กรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1399 “ภาระจํายอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายลําไยได้รับอนุญาตจากนายลิ้นจี่ให้ใช้รถยนต์สัญจรไปมาผ่านบนที่ดิน ของนายลิ้นจี่ได้อย่างภาระจํายอมในลักษณะทางซึ่งกว้าง 4 เมตร ในเวลาใดก็ได้ โดยทั้งคู่ได้ไปจดทะเบียนสิทธิ เป็นภาระจํายอมแล้วนั้น ถือเป็นภาระจํายอมตามมาตรา 1387 เพราะเป็นกรณีที่ที่ดินของนายลิ้นจี่ต้องตกอยู่ใน ภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้นายลิ้นจี่ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้น การใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นคือที่ดินของนายลําไย และการได้ภาระจํายอมของนายลําไยโดยการใช้รถยนต์สัญจรไปมาผ่านที่ดินของนายลิ้นจี่นั้น ย่อมหมายความรวมถึง การใช้เป็นทางเดินเพื่อสัญจรตามปกติด้วย (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 3551/2543)

และตามมาตรา 1399 ได้กําหนดไว้ว่า ภาระจํายอมนั้น ถ้าไม่ได้ใช้นานถึง 10 ปี ย่อมระงับสิ้นไป ซึ่งคําว่าไม่ได้ใช้นี้หมายถึงไม่ได้ใช้ทั้งหมดทุกส่วนด้วย ถ้าเป็นกรณีที่ยังคงมีการใช้บางส่วน ภาระจํายอมในส่วน ที่ยังคงใช้นั้นย่อมไม่ระงับสิ้นไป (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 178/2506) ดังนั้น การที่นายลําไยได้ใช้ทางไปได้ สักระยะหนึ่ง นายลิ้นจี่ได้สร้างบ้านเบียดทางรถยนต์ผ่านเข้าออกไม่ได้มา 15 – 16 ปีแล้ว คงใช้แต่เป็นทางที่ นายลําไยเดินเข้าออกนั้น ภาระจํายอมบนที่ดินของนายลิ้นจี่ในส่วนที่เป็นทางรถยนต์ผ่านเข้าออกย่อมสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1399 แต่ในส่วนที่ใช้เป็นทางคนเดินย่อมไม่ระงับสิ้นไป

สรุป

ภาระจํายอมบนที่ดินของนายลิ้นจี่ในส่วนที่ใช้เป็นทางรถยนต์ผ่านเข้าออกย่อมสิ้นสุดลง คงเหลือแต่ในส่วนที่ใช้เป็นทางคนเดินที่ไม่ระงับสิ้นไป

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท 500,000 บาท ตกลงชําระหนี้เงินกู้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 แต่เมื่อถึงกําหนดนัดชําระหนี้นายเอกไม่มีเงินจะไปคืนให้แก่นายโท จึงสอบถามไปยังนายโทว่า ตนจะขอนําเรือนแพติใช้หนี้ให้แก่นายโทแทนการชดใช้คืนด้วยเงินได้หรือไม่ นายโทเขียนจดหมายตอบรับตามที่นายเอกได้เสนอมา โดยทั้งคู่ตกลงกันว่าจะไปจดทะเบียนโอน ณ ที่ว่าการอําเภอ ภายใน 7 วัน แต่เมื่อครบกําหนด 7 วันแล้ว นายเอกกลับปฏิเสธที่จะไปจดทะเบียนโอนเรือนแพนั้น ให้แก่นายโทตามที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทจะฟ้องบังคับให้นายเอกไปจดทะเบียนเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิโดยบริบูรณ์แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่ นิติกรรมจะได้ทําเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1302 “บทบัญญัติแห่งสามมาตราก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วยโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักไว้ว่า การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น ถ้าไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จะไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ และไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลทั่วไปหรือบุคคลภายนอกได้ แต่มีผลสมบูรณ์เป็นบุคคลสิทธิ ที่ใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณี และถ้าปรากฏว่าในระหว่างคู่กรณีได้มีข้อตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งบังคับว่าจะไป จดทะเบียนกันในภายหลังโดยกําหนดวันไว้แน่นอนว่าวันใดจะไปจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ ถ้าอีกฝ่าย ไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายหนึ่งย่อมสามารถฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนการได้มาเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิโดยบริบูรณ์ได้

และตามมาตรา 1302 ได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติมาตรา 1299 มาใช้บังคับกับการได้มาซึ่ง ทรัพย์ที่เป็นเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะด้วยโดยอนุโลม

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท 500,000 บาท แต่เมื่อถึงกําหนดนัดชําระหนี้ นายเอกไม่มีเงินจะไปคืนให้แก่นายโท จึงสอบถามไปยังนายโทว่าตนจะขอนําเรือนแพดีใช้หนี้ให้แก่นายโทแทน การชดใช้คืนด้วยเงินได้หรือไม่ ซึ่งนายโทได้เขียนจดหมายตอบรับตามที่นายเอกได้เสนอมา โดยทั้งคู่ได้ตกลงกันว่า จะไปจดทะเบียนโอน ณ ที่ว่าการอําเภอภายใน 7 วันนั้น การที่นายเอกตกลงที่จะโอนเรือนแพดีใช้หนี้ให้แก่ นายโทนั้น ถือเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นตามมาตรา 321 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กําหนดแบบไว้ ดังนั้น การได้มาซึ่ง เรือนแพของนายโทดังกล่าว ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมตามนัยของมาตรา 1299 วรรคหนึ่งด้วย (ตามมาตรา 1302 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง)

เมื่อการได้มาซึ่งเรือนแพของนายโทดังกล่าวไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาของนายโทจึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ (ตามมาตรา 1302 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง) แต่ก็มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ระหว่างนายเอกและนายโทในฐานะบุคคลสิทธิ และเมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การที่นายเอกตกลงนําเรือนแพติใช้หนี้ให้แก่นายโทนั้น ทั้งสองได้มีข้อตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งว่าจะไป จดทะเบียนโอนกันภายใน 7 วัน แต่เมื่อครบกําหนด 7 วัน นายเอกกลับปฏิเสธที่จะไปจดทะเบียนโอนเรือนแพ ให้แก่นายโท ดังนั้น นายโทจึงสามารถฟ้องบังคับให้นายเอกไปจดทะเบียนโอนเรือนแพเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิโดย บริบูรณ์แก่ตนได้

สรุป

นายโทสามารถฟ้องบังคับให้นายเอกไปจดทะเบียนโอนเรือนแพเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิ โดยบริบูรณ์แก่ตนได้

 

ข้อ 2. นายหนึ่งเป็นพ่อค้าขายคอมพิวเตอร์โดยมีร้านชื่อ หจก. OK Computer ตั้งอยู่บนชั้นสี่ของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ปรากฏว่านายสองขโมยคอมพิวเตอร์มาจากนายสาม แล้วนายสองนําคอมพิวเตอร์นั้นมาขาย ให้แก่นายหนึ่ง นายหนึ่งก็รับซื้อไว้ในราคา 5,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัย หากนายสามมาทวงคอมพิวเตอร์คืน นายหนึ่งจะต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสาม หรือไม่ และนายหนึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1332 ที่บัญญัติคุ้มครองบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ ราคาที่ซื้อมานั้น กฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองผู้ซื้อทรัพย์สินในกรณีดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น ถ้าหากผู้ขายเป็นเพียง บุคคลธรรมดา แต่ผู้ซื้อเป็นพ่อค้าในท้องตลาด หรือเป็นผู้ซื้อของชนิดนั้น ผู้ซื้อย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 1332 แต่อย่างใด

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ซื้อคอมพิวเตอร์จากนายสองซึ่งได้ขโมยมาจากนายสามนั้น แม้นายหนึ่งจะเป็นพ่อค้าขายคอมพิวเตอร์โดยมีร้านตั้งอยู่บนชั้นสี่ของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าก็ตาม แต่กรณีดังกล่าว นายหนึ่งอยู่ในฐานะของผู้ซื้อ ส่วนนายสองผู้ขายเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ดังนั้น นายหนึ่งผู้ซื้อจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 แต่อย่างใด และถ้าหากนายสามมาทวงคอมพิวเตอร์คืน นายหนึ่งจะต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสามโดยไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมา

สรุป

หากนายสามมาทวงคอมพิวเตอร์คืน นายหนึ่งจะต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสาม และนายหนึ่งไม่มีสิทธิได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมา

 

ข้อ 3. นายหนุ่มตกลงขายที่ดินให้นางหญิงโดยไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงส่งผลให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ แต่เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวมีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนี้ ถ้านายหนุ่มได้ส่งมอบที่ดินและนางหญิงได้เข้าครอบครองทําประโยชน์เพื่อตนแล้ว การที่นายหนุ่ม ยังคงมีชื่อใน ส.ค. 1 นางหญิงจะได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองหรือไม่ และหากนางหญิงบ่ายเบี่ยงที่จะ ชําระราคาที่ดินให้แก่นายหนุ่ม นายหนุ่มจะฟ้องให้นางหญิงชําระเงินให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่ง สิทธิครอบครอง”

มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สิน ต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง”

มาตรา 1378 “การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทําได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหนุ่มทําสัญญาตกลงขายที่ดิน ส.ค. 1 ให้กับนางหญิง โดยไม่ได้ทํา เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และส่งผลให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะนั้น เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นที่ดิน ส.ค. 1 ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครอง และปรากฏข้อเท็จจริงว่านายหนุ่มได้ส่งมอบที่ดินให้แก่นางหญิงแล้ว การครอบครองที่ดินของนายหนุ่มจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1377 วรรคหนึ่ง เพราะนายหนึ่งได้สละเจตนาครอบครอง และไม่ได้ยึดถือที่ดินนั้นต่อไปแล้ว และเมื่อนางหญิงได้เข้าครอบครองที่ดินโดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง ตามมาตรา 1378 และเข้ายึดถือทําประโยชน์เพื่อตนตามมาตรา 1367 แล้ว นางหญิงย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง ในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว แม้ชื่อใน ส.ค. 1 จะเป็นชื่อของนายหนุ่มก็ตาม (คําพิพากษาฎีกาที่ 779/2535 และ 607/2552)

และแม้สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายหนุ่มกับนางหญิงจะมีผลเป็นโมฆะ และไม่สามารถ ที่จะฟ้องบังคับให้มีการโอนกันได้ก็ตาม แต่ก็สามารถโอนการครอบครองโดยการส่งมอบได้ตามมาตรา 1378 ดังนั้น เมื่อได้มีการโอนการครอบครองโดยการส่งมอบและทําให้นางหญิงได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองแล้ว นางหญิงก็จะต้อง ปฏิบัติตามข้อตกลงคือต้องชําระราคาที่ดินให้แก่นายหนุ่ม ถ้าหากนางหญิงบ่ายเบี่ยงที่จะชําระราคาที่ดินให้แก่ นายหนุ่ม นายหนุ่มย่อมสามารถฟ้องให้นางหญิงชําระเงินให้แก่ตนได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 325/2519)

สรุป

นางหญิงจะได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง และหากนางหญิงบ่ายเบี่ยงที่จะชําระราคาที่ดิน ให้แก่นายหนุ่ม นายหนุ่มย่อมสามารถฟ้องให้นางหญิงชําระเงินให้แก่ตนได้

 

ข้อ 4. จันทร์ทําข้อตกลงให้อังคารที่มีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินของจันทร์มานําน้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ไปใช้ประโยชน์ต่อที่ดินของอังคารได้ โดยทําข้อตกลงเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากที่อังคารมาใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้ได้ 5 ปี อังคารก็หยุดมาใช้น้ำในที่ดินของจันทร์ไป 5 ปี และ ต่อมาอังคารจึงขายที่ดินให้พุธ หลังจากพุธซื้อที่ดินมาก็เริ่มต้นกลับเข้าไปใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดิน ของจันทร์อีก แต่จันทร์ไม่อนุญาตให้พุธเข้ามาในที่ดินของตน โดยอ้างว่าสิทธิ์ในภาระจํายอมของ อังคารสิ้นสุดลงแล้ว ดังนี้ พุธมีสิทธิในภาระจํายอมบนที่ดินที่ซื้อมาจากอังคารหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับ กรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง “ถ้ามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจํายอมไซร้ ท่านว่าภาระจํายอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จําหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น”

มาตรา 1399 “ภาระจํายอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ทําข้อตกลงให้อังคารที่มีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินของจันทร์มานำน้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ไปใช้ประโยชน์ต่อที่ดินของอังคารได้ โดยทําข้อตกลงเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ย่อมถือว่าอังคารได้ภาระจํายอมในที่ดินของจันทร์โดยนิติกรรม และการที่อังคารได้ใช้น้ำ จากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ได้ 5 ปี แล้วก็หยุดการใช้น้ำจากบ่อน้ำของจันทร์ไป 5 ปีนั้น เมื่อการที่อังคารไม่ได้ใช้ ภาระจํายอมนั้นยังไม่ถึง 10 ปี จึงยังไม่มีผลทําให้ภาระจํายอมที่มีอยู่ระงับไปตามมาตรา 1399

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาอังคารขายที่ดินให้กับพุธ พุธผู้รับโอนที่ดินมาจึงเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (สามยทรัพย์) และมีสิทธิในการใช้ภาระจํายอมดังกล่าวต่อจากอังคาร คือมีสิทธิเข้าไป ใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ได้ เนื่องจากภาระจํายอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จําหน่ายไปตาม มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จันทร์จะไม่อนุญาตให้พุธเข้ามาในที่ดินของตนโดยอ้างว่าสิทธิในภาระจํายอมของ อังคารสิ้นสุดลงแล้วไม่ได้

สรุป

พุธมีสิทธิในภาระจํายอมบนที่ดินที่ซื้อมาจากอังคาร

 

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเอกครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายโทจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ภายหลังต่อมานายโทได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้นายตรีโดยเสน่หา ครั้นนายตรีจะ เข้าอยู่ในที่ดิน จึงพบว่านายเอกได้อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว นายตรีจึงฟ้องขับไล่นายเอกต่อศาล นายเอกยกข้อต่อสู้ว่าตนครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว นายโทย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แปลงดังกล่าวอีกต่อไป ดังนั้นการที่นายตรีรับโอนที่ดินจากนายโทซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ นายตรีย่อม ไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน หากท่านเป็นผู้พิพากษา จะวินิจฉัยคดีนี้เช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ตามหลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของนายโทโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ถือว่านายเอกเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายเอกยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นายเอกจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นายเอกจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายโทได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าว ให้แก่นายตรีนั้นเป็นการโอนให้โดยเสน่หา จึงถือว่านายตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินมาโดย ไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น ถึงแม้นายตรีจะได้รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตก็ตาม นายตรี ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นายเอกจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกว่านายตรี นายตรี จะฟ้องขับไล่นายเอกไม่ได้

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะวินิจฉัยให้นายเอกเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกว่า นายตรี

 

ข้อ 2. นายจรัลซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจํานวน 5 ใบในราคา 400 บาท จากร้านนางดําซึ่งมีอาชีพขายสลากกินแบ่งฯ ที่ตลาดบางกะปิมานานกว่า 5 ปีแล้ว โดยนายจรัลไม่รู้ว่าเป็นสลากฯ ของนางพลอย ที่ตกหายขณะเดินผ่านแผงขายสลากฯ ของนางดํา แล้วนางดําเก็บมาวางขายรวมกับสลากฯ ในแผง ของตน และนางพลอยได้แจ้งขออายัดสลากฯ ไว้แล้ว หลังออกรางวัลปรากฏว่าสลากฯ ดังกล่าว ถูกรางวัลที่สอง นายจรัลจึงนําสลากฯ ไปขอรับเงินรางวัลที่สํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ถูกปฏิเสธ การจ่ายเงินรางวัลเพราะมีการแจ้งขออายัดสลากฯ เพื่อประวิ่งการจ่ายเงินรางวัลไว้ ดังนี้ นายจรัล และนางพลอยมีสิทธิหรือข้อเรียกร้องใด ๆ เหนือสลากฯ ที่ถูกรางวัลดังกล่าว

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะ ติดตามทวงคืน ก็ไม่จําต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจรัลได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจํานวน 5 ใบในราคา 400 บาท มาจากร้านของนางดําซึ่งมีอาชีพขายสลากกินแบ่งฯ ที่ตลาดบางกะปิมานานกว่า 5 ปีแล้ว โดยนายจรัลไม่รู้ว่า เป็นสลากฯ ของนางพลอยที่ทําตกหายแล้วนางดําเก็บมาวางขายรวมกับสลากฯ ในแผงของตน ถือว่านายจรัล เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากนางดําแม่ค้าซึ่งมีอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามมาตรา 1332 ดังนั้น นายจรัลจึงได้รับการคุ้มครองคือไม่ต้องคืนสลากกินแบ่งฯ ให้กับนางพลอยซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่นางพลอย จะชดใช้ราคาสลากกินแบ่งฯ จํานวน 400 บาทให้แก่นายจรัล

สรุป

นายจรัลไม่ต้องคืนสลากกินแบ่งฯ ที่ถูกรางวัลให้แก่นางพลอย เว้นแต่นางพลอยจะ ชดใช้ราคาสลากกินแบ่งฯ จํานวน 400 บาทให้แก่นายจรัล

 

ข้อ 3. สี แสง เสียง ทั้งสามได้ร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อขุดสระน้ำไว้ใช้ร่วมกัน โดยสีออกเงินซื้อ 2 ส่วน แสงและเสียงร่วมกันออกเงินซื้อคนละหนึ่งส่วน แต่เมื่อซื้อมาแล้วยังไม่ได้ลงมือขุดสระน้ำ และปล่อยที่ดินทิ้งร้างไว้ ต่อมาสดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของสีมาขอใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงนี้โดยตกลงนํา ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์มาหักหนี้ที่สีเป็นหนี้สดอยู่ สีจึงตกลงให้สดเข้าทําประโยชน์โดยไม่ได้บอก ให้แสงกับเสียงทราบแต่อย่างใด เมื่อสดเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้มาได้ระยะหนึ่ง แสงจึงทราบว่าสดเข้าไปครอบครองทําประโยชน์ที่ดินแปลงนี้อยู่ แสงจึงบอกให้สดออกไปจาก ที่ดินแปลงนี้ แต่สุดไม่ยอมโดยอ้างว่าสีตกลงให้ตนเข้าครอบครองทําประโยชน์ได้และตนก็ครอบครอง ทําประโยชน์แค่ครึ่งแปลงตามที่สีมีส่วน 2 ส่วนในที่ดินแปลงนี้ แสงจึงต้องการที่จะฟ้องขับไล่สด ให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าแสงจะฟ้องขับไล่สดให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1359 “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สิน ทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก แต่ในการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนนั้น ท่านว่าต้องอยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขที่ระบุไว้ ในมาตรา 302 แห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1361 “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจําหน่ายส่วนของตน หรือจํานอง หรือก่อให้เกิด ภาระติดพันก็ได้

แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจําหน่าย จํานํา จํานอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอม แห่งเจ้าของรวมทุกคน

ถ้าเจ้าของรวมคนใดจําหน่าย จํานํา จํานอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันทรัพย์สินโดยมิได้รับ ความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของรวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่า นิติกรรมอันนั้นเป็นอันสมบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สี แสง และเสียง ได้ร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อขุดสระน้ำไว้ใช้ร่วมกัน โดยสีออกเงินซื้อสองส่วน แสงและเสียงออกเงินซื้อคนละหนึ่งส่วน เมื่อซื้อมาแล้วยังไม่ได้ลงมือขุดสระน้ํา และปล่อยที่ดินทิ้งร้างไว้ ต่อมาสดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของสีมาขอใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้โดยตกลงนําค่าตอบแทน การใช้ประโยชน์มาหักหนี้ที่สีเป็นหนี้สดอยู่ สีจึงตกลงให้สดเข้าทําประโยชน์โดยไม่ได้บอกให้แสงและเสียงทราบนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่สีซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินได้ก่อให้เกิดภาระติดพันกับตัวทรัพย์สิน ซึ่งตามมาตรา 1361 วรรคสอง สีจะทําได้ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน เมื่อสีได้ให้สดเข้าครอบครองทําประโยชน์โดยไม่ได้บอก ให้แสงและเสียงทราบแต่อย่างใด การเข้าครอบครองที่ดินของสดจึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์สินคือที่ดินแปลงดังกล่าว

เมื่อสดเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ระยะหนึ่ง แสงมาทราบว่าสดเข้าไปครอบครอง ทําประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ แสงย่อมสามารถฟ้องขับไล่สดให้ออกจากที่ดินแปลงนี้ได้ เพราะแม้การที่สีให้สดเข้ามา ทําประโยชน์ในที่ดินครึ่งหนึ่งตามสิทธิ 2 ส่วนที่สีมีอยู่ แต่การเข้าทําประโยชน์ในที่ดินเป็นการผูกพันตัวทรัพย์ ซึ่งสีทํา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากแสงและเสียงไม่ได้ และเมื่อแสงไม่ได้ยินยอมด้วยจึงไม่ผูกพันแสงและตัวทรัพย์ด้วย ดังนั้น แสงจึงสามารถใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก คือการฟ้อง ขับไล่สดได้ตามมาตรา 1359

สรุป

แสงสามารถฟ้องขับไล่สดให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้ได้เลย

 

ข้อ 4. ที่ดินของอาทิตย์ได้อาศัยสูบน้ำในคลองประปามากักเก็บในที่ดินเพื่อไว้ใช้ในครัวเรือนและใช้ในสวนผลไม้ที่ปลูกไว้ขายตลอดมา นอกจากสูบน้ำมาใช้แล้วยังระบายน้ำในครัวเรือนและสวนลง คลองประปาด้วย อาทิตย์ใช้น้ำและระบายน้ำมาได้ 8 ปี อาทิตย์จึงได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับเสาร์ เสาร์ก็ยังใช้น้ำและระบายน้ำที่ใช้ในครัวเรือนและสวนลงคลองประปา ต่อมาอีก 3 ปีกว่า เมื่อ เจ้าพนักงานมาเตือนและห้ามไม่ให้ใช้น้ำในคลองและระบายน้ำลงคลอง เสาร์ไม่ยอมอ้างว่าตนได้ภาระจํายอมในการใช้น้ำในคลองประปาแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ ข้ออ้างของเสาร์ใช้ได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1304 “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

(2) ทรัพย์สินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”

มาตรา 1306 “ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน”

วินิจฉัย

โดยหลัก ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น กฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ์เหนือทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 1306

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ที่ดินของอาทิตย์ได้อาศัยสูบน้ําในคลองประปามากักเก็บในที่ดิน เพื่อไว้ใช้ในครัวเรือน และใช้ในสวนผลไม้ที่ปลูกไว้ขายตลอดมา และนอกจากสูบน้ํามาใช้แล้วยังระบายน้ำในครัวเรือน และสวนลงคลองประปาด้วย เมื่ออาทิตย์ได้ใช้น้ําและระบายน้ำมาได้ 8 ปี อาทิตย์จึงได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับเสาร์ และเสาร์ก็ได้ใช้น้ําและระบายน้ำที่ใช้ในครัวเรือนและสวนลงคลองประปาอีก 3 ปีกว่านั้น เมื่อคลองประปาเป็น ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2) เสาร์จะอ้างว่าตนได้ภาระจํายอมในการใช้น้ำในคลองประปาแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งถือเป็นทรัพยสิทธิโดยอายุความปรปักษ์ไม่ได้ เพราะตามมาตรา 1306 ได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน

ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานมาเตือนและห้ามไม่ให้ใช้น้ำในคลองและระบายน้ำลงคลอง เสาร์จะ อ้างว่าตนได้ภาระจํายอมในการใช้น้ำในคลองแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

สรุป

ข้ออ้างของเสาร์ใช้ไม่ได้

 

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายหนึ่งใช้ทางผ่านที่ดินมีโฉนดของนายสองเพื่อเดินจากหมู่บ้านเข้าไปทําไร่สวนในที่ดินของตน จนได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายหลังต่อมานายสองได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้นายสามโดยเสน่หา ครั้นนายสาม เข้าอยู่ในที่ดินแล้วพบว่านายหนึ่งได้เดินผ่านที่ดินดังกล่าว นายสามจึงปิดกั้นทางเพื่อไม่ให้นายหนึ่ง ผ่านอีกต่อไป ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายหนึ่งจะยกเอาการได้มาซึ่งภาระจํายอมในที่ดินอันยังมิได้ จดทะเบียนซึ่งได้มาก่อนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันของนายสามขึ้นต่อสู้นายสาม ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายหนึ่งใช้ทางผ่านที่ดินมีโฉนดของนายสองเพื่อเดินจากหมู่บ้าน เข้าไปทําไร่สวนในที่ดินของตนจนได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความนั้น ถือว่านายหนึ่งเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่ยังมิได้จดทะเบียน การได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต่อมาภายหลังการที่นายสองได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้นายสาม โดยเสน่หา และนายสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ปิดกั้นทางเพื่อ ไม่ให้นายหนึ่งผ่านอีกต่อไป โดยอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่านายหนึ่งเพื่อลบล้างภาระจํายอมโดยอายุความของนายหนึ่งนั้น ย่อมไม่อาจทําได้ ทั้งนี้เพราะการที่จะอ้างว่าการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจาก นิติกรรม ถ้าผู้ได้มายังมิได้จดทะเบียน จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา 1299 วรรคสองไม่ได้นั้น จะต้องเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ ประเภทเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น การได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความเป็นทรัพยสิทธิประเภท รอนสิทธิ ส่วนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการรับโอนเป็นทรัพยสิทธิประเภทได้สิทธิ จึงเป็นสิทธิคนละประเภทกัน นายสามจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง

ดังนั้น นายหนึ่งจึงสามารถยกเอาการได้มาซึ่ง ภาระจํายอมในที่ดินที่ยังมิได้จดทะเบียนซึ่งได้มาก่อนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันของนายสามขึ้นต่อสู้ นายสามได้ โดยนายสามย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยติดภาระจํายอมไปด้วย (คําพิพากษาฎีกาที่ 3984/2533 และ 3262/2548)

สรุป

นายหนึ่งจะยกเอาการได้มาซึ่งภาระจํายอมในที่ดินอันยังมิได้จดทะเบียนนั้นขึ้นต่อสู้ นายสามได้

 

ข้อ 2. นายแดนทําพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นสวนเงาะให้กับบุตรของตน โดยระบุให้นายท็อป 3 ส่วน นายบอย 1 ส่วน และนายเบ็นซ์ 1 ส่วน หลังจากนายแดนถึงแก่ความตาย นายท็อป นายบอย และนายเบ็นซ์ ยังทําสวนเงาะร่วมกันต่อจากบิดาของตน ต่อมาเกิดอุทกภัยน้ำท่วมสวนเงาะ นายบอย จึงจ้างคนทําคันดินและสูบน้ำออกจากสวนเงาะ โดยไม่ได้แจ้งให้นายท็อปกับนายเบ็นซ์ทราบ และ นายบอยได้จ่ายเงินค่าจ้างไปแล้ว 100,000 บาท หลังจากนั้นนายบอยขอให้นายท็อปและนายเบนซ์ ช่วยออกค่าใช้จ่ายในการเเก้ปัญหาน้ำท่วมดังกล่าว แต่นายท็อปกับนายเป็นซ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าพวกตนไม่ได้รู้เห็นในการดําเนินการดังกล่าว พร้อมกับเสนอให้เปลี่ยนจากการทําสวนเงาะ ไปทํารีสอร์ทแทน แต่นายบอยไม่เห็นด้วย ดังนี้ นายท็อปกับนายเป็นซ์จะต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการทําคันดินและแก้ปัญหาน้ำท่วมสวนเงาะมากน้อยเพียงใดหรือไม่ และนายท็อปกับนายเป็นซ์ จะเปลี่ยนจากสวนเงาะไปเป็นรีสอร์ทโดยนายบอยไม่เห็นด้วยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1358 “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกันในเรื่องจัดการตามธรรมดา ท่านว่าพึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่ เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ

ในเรื่องจัดการอันเป็นสาระสําคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ํากว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สินการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน”

มาตรา 1362 “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จําต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตามส่วนของตนใน การออกค่าจัดการ ค่าภาษีอากร และค่ารักษา กับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดนทําพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นสวนเงาะให้กับบุตร ของตน โดยระบุให้นายท็อป 3 ส่วน นายบอย 1 ส่วน และนายเบ็นซ์ 1 ส่วน และหลังจากนายแดนถึงแก่ความตาย นายท็อป นายบอย และนายเบ็นซ์ ยังทําสวนเงาะร่วมกันต่อจากบิดาของตนนั้น ย่อมถือว่า นายท็อป นายบอย และนายเบ็นซ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกสวนเงาะดังกล่าวตามส่วนที่ตนได้รับตามที่ระบุไว้ใน พินัยกรรม

การที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมสวนเงาะ และนายบอยได้จ้างคนทําคันดินและสูบน้ำออกจากสวนเงาะ โดยไม่ได้แจ้งให้นายทอปกับนายเบ็นซ์ทราบนั้น นายบอยย่อมมีอํานาจกระทําการดังกล่าวได้โดยลําพังเนื่องจาก เป็นการจัดการเพื่อรักษาทรัพย์สินรวมตามมาตรา 1358 วรรคสองตอนท้าย และเมื่อได้จัดการไปแล้ว เจ้าของรวม คนอื่น ๆ ทุกคนก็จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายนั้นตามส่วนของตนตามมาตรา 1362 ดังนั้น เมื่อนายบอย ได้จายเงินค่าจ้างไป 100,000 บาท นายท็อปจึงต้องรับผิดชอบ 3 ส่วนเป็นเงิน 60,000 บาท และนายเป็นซ์ต้อง รับผิดชอบ 1 ส่วนเป็นเงิน 20,000 บาท

ส่วนกรณีที่นายท็อปและนายเบ็นซ์ได้เสนอให้เปลี่ยนจากการทําสวนเงาะไปทํารีสอร์แทนนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ ซึ่งตามมาตรา 1358 วรรคท้ายได้กําหนดไว้ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของรวมทุกคนจึงจะดําเนินการได้ ดังนั้น เมื่อนายบอยไม่เห็นด้วย นายทอปและนายเบ็นซ์จึงไม่สามารถ เปลี่ยนจากการทําสวนเงาะไปเป็นรีสอร์ทได้

สรุป นายท็อปกับนายเบ็นซ์จะต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทําคันดินและแก้ปัญหา น้ำท่วมสวนเงาะโดยนายท็อปต้องรับผิดชอบเป็นเงิน 60,000 บาท และนายเบ็นซ์ต้องรับผิดชอบเป็นเงิน 20,000 บาท และนายท็อปกับนายเบ็นซ์จะเปลี่ยนจากการทําสวนเงาะไปเป็นรีสอร์ทโดยนายบอยไม่เห็นด้วยไม่ได้

 

ข้อ 3. นายดําบุกรุกเข้าไปทําประโยชน์ปลูกหอม กระเทียม และพริกในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงคิดเป็นพื้นที่ 5 ไร่ โดยมิได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนี้ นายดําทําประโยชน์ในที่ดินของนายแดงมาได้ราว 5 ปี ก็เปลี่ยนจากทําเองเป็นให้นายเขียวเช่าทําประโยชน์แทนเป็นเวลา 2 ปี ต่อมานายดํากลับเข้ามาทําประโยชน์เองอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้นอกจากปลูกต้นหอม กระเทียม และพริกแล้ว นายดํายังย้ายมาปลูกกระท่อมหลังคามุงจากเพื่อนอนเฝ้าที่ดินด้วย หลังจากที่นายดํามาปลูกกระท่อม อยู่อาศัยในที่ดินของนายแดงได้ 4 ปี นายแดงจึงฟ้องขับไล่นายดํา

ให้ท่านวินิจฉัยว่านายดําจะต่อสู้ ว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของนายแดงแล้วได้หรือไม่ และนายแดงจะ ต่อสู้ว่านายดําครอบครองปรปักษ์ได้เพียงแค่ 4 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์

ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายดําหรือนายแดงเป็นข้อต่อสู้ที่ถูกต้อง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วย เจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําบุกรุกเข้าไปทําประโยชน์ปลูกหอม กระเทียม และพริกใน ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงคิดเป็นพื้นที่ 5 ไร่ โดยมิได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของนายแดงได้ 5 ปีนั้น การบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของผู้อื่นถือเป็นการครอบครองโดยไม่มีสิทธิ การกระทําของนายดําจึงเป็นการใช้ สิทธิที่เป็นปรปักษ์ต่อกรรมสิทธิ์ของนายแดง และแม้ว่าต่อมานายดําไม่ได้ทําประโยชน์เองแต่ให้นายเขียวเช่า เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในระหว่างที่นายเขียวเช่าย่อมถือว่านายเขียวทําการครอบครองแทนนายดําตามมาตรา 1368

ดังนั้น การครอบครองของนายดําจึงยังคงนับต่อเนื่องกันตลอดมา และเมื่อในครั้งหลังนายดําได้เข้ามาครอบครอง ทําประโยชน์ด้วยตนเองอีก 4 ปี จึงถือว่านายดําได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของนายแดงได้ 11 ปี นายดําจึงได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายแดงโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ดังนั้น การที่นายแดงต่อสู้ว่านายดํา ครอบครองปรปักษ์ได้เพียง 4 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์นั้น ข้อต่อสู้ของนายแดงจึงไม่ถูกต้อง

สรุป

นายดําจะต่อสู้ว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของนายแดงแล้วได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้ที่ถูกต้อง

 

ข้อ 4. นายลําไยได้รับอนุญาตจากนายลิ้นจี่ให้สัญจรไปมาผ่านที่ดินของนายลิ้นจี่ได้อย่างภาระจํายอมในลักษณะทางซึ่งกว้าง 4 เมตร ในเวลาใดก็ได้ เมื่อนายลําไยได้ใช้ทางไปสักระยะหนึ่ง นายลิ้นจี่ได้ทํา ประตูเหล็กปิดกั้นรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกทําให้นายลําไยเข้าออกได้ไม่สะดวกเพราะต้องคอยขออนุญาตนายลิ้นจี่เปิดประตู ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทางภาระจํายอมได้เต็มที่

ให้ท่านวินิจฉัยว่านายลิ้นจี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์มีสิทธิกระทําการเช่นนั้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับ กรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1390 “ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์ แห่งภาระจํายอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายลําไยได้รับอนุญาตจากนายลิ้นจี่ให้สัญจรไปมาผ่านที่ดินของ นายลิ้นจี่ได้อย่างภาระจํายอมในลักษณะทางซึ่งกว้าง 4 เมตร ในเวลาใดก็ได้นั้น ย่อมถือว่านายลําไยได้ภาระจํายอม ในที่ดินของนายลิ้นจี่โดยนิติกรรม โดยที่ดินของนายลิ้นจี่ต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้นายลิ้นจี่ต้อง ยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นคือที่ดินของนายลําไยตามมาตรา 1387

เมื่อนายลําไยได้ใช้ทางไปสักระยะหนึ่ง การที่นายลิ้นจี่ได้ทําประตูเหล็กกั้นรถยนต์ที่จะผ่าน เข้าออกทําให้นายลําไยเข้าออกได้ไม่สะดวกเพราะต้องคอยขออนุญาตนายลิ้นจี่เปิดประตู ไม่สามารถใช้ประโยชน์ จากทางภาระจํายอมได้เต็มที่นั้น ย่อมถือเป็นเหตุทําให้การใช้ประโยชน์แห่งภาระจํายอมของนายลิ้นจี่ลดไป หรือ เสื่อมความสะดวกตามมาตรา 1390 ซึ่งนายลิ้นจี่ย่อมไม่มีสิทธิกระทําการเช่นนั้นได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3748/2546)

สรุป

นายลิ้นจี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ไม่มีสิทธิกระทําการเช่นนั้นได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!