การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายฉลามครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวจนได้กรรมสิทธิ์แต่ไม่ได้นําไปจดทะเบียนการได้มา เมื่อนายแมวทราบ นายแมวจึงนําที่ดินไปขายให้นายสิงโตซึ่งเป็นเพื่อนสนิทโดยนายสิงโต รับทราบว่านายฉลามได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายแมวแล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินทําถูกต้อง ตามกฎหมาย เมื่อนายสิงโตเข้าอยู่ในที่ดินจึงฟ้องขับไล่นายฉลามต่อศาล นายฉลามยกข้อต่อสู้ว่า ตนได้ครอบครองปรปักษจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว นายแมวย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว อีกต่อไป ดังนั้น การที่นายสิงโตซื้อที่ดินจากนายแมวซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ นายสิงโตย่อมไม่ได้ไป ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายฉลามรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฉลามได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของนายแมวโดยการครอบครอง ปรปักษ์นั้น ถือว่านายฉลามเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายฉลามยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นายฉลามจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นายฉลามจะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายแมวได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าว ให้แก่นายสิงโตซึ่งเป็นเพื่อนสนิทนั้น นายสิงโตรับทราบว่านายฉลามได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายแมวแล้ว จึงถือว่านายสิงโตซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยไม่สุจริตและไม่ได้จดทะเบียน โดยสุจริต และแม้ว่านายสิงโตจะได้รับโอนที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทน นายสิงโตก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นนายฉลามจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่านายสิงโต นายสิงโตย่อมไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ ในที่ดิน และจะฟ้องขับไล่นายฉลามไม่ได้

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายฉลามที่ว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้วจึงรับฟังได้

 

ข้อ 2 นายดาบได้ดําเนินการก่อสร้างบ้านในที่ดินของตนจนกระทั่งทําโครงสร้างทั้งหมดของบ้านเสร็จนายดาบจึงทราบว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของบ้านอยู่ในที่ดินของนายแก้ว แต่นายดาบก็ยังคง ก่อสร้างบ้านต่อไปจนแล้วเสร็จ เมื่อนายแก้วเจ้าของที่ดินข้างเคียงพบว่านายดาบได้ปลูกบ้านรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน จึงเรียกให้นายดาบรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำพร้อมทําที่ดินให้เป็นเหมือนเดิม โดยนายดาบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด นายดาบปฏิเสธโดยอ้างว่าตนก่อสร้างบ้านโดยสุจริต จึงไม่จําเป็นต้องรื้อถอนบ้าน และนายแก้วต้องไปจดทะเบียนสิทธิภาระจํายอมให้กับตนสําหรับ บ้านส่วนที่รุกล้ำด้วย หากท่านเป็นผู้พิพากษาท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1312 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้น เป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิ์เป็น ภาระจํายอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทําการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทําที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดาบได้ดําเนินการก่อสร้างบ้านในที่ดินของตนจนกระทั่งทําโครงสร้าง ทั้งหมดของบ้านเสร็จ นายดาบจึงทราบว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของบ้านอยู่ในที่ดินของนายแก้วนั้น ถือเป็น กรณีการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา 1312 ตามข้อเท็จจริงนั้น แม้ว่า ในขณะที่เริ่มก่อสร้างบ้านจนกระทั่งทําโครงสร้างทั้งหมดของบ้านเสร็จ นายดาบจะเข้าใจว่าที่ดินส่วนที่สร้างบ้านรุกล้ำนั้นเป็นของตนก็ตาม แต่ก่อนที่จะสร้างบ้านเสร็จนั้นนายดาบ ได้ทราบแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นของนายแก้ว แต่นายดาบก็ยังคงก่อสร้างบ้านต่อไปจนแล้วเสร็จ จึงไม่ถือว่านายดาบ สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตอันจะทําให้นายดาบไม่ต้องรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ําตาม มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง แต่เป็นกรณีการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต

และเมื่อถือว่านายดาบได้สร้างบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายแก้วโดยไม่สุจริต นายดาบจึงต้อง รื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของนายแก้ว และทําที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยนายดาบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 1312 วรรคสอง

สรุป

นายดาบจะต้องรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของนายแก้ว และทําที่ดินให้เป็น ตามเดิมโดยนายดาบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

 

ข้อ 3. นายมีนาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของนายเมษาติดต่อกันได้ 8 ปี และบอกกับชาวบ้านในบริเวณที่ดินนั้นว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน โดยที่นายเมษาไม่ทราบเรื่องดังกล่าว พอขึ้นปีที่ 9 นายมกรา ได้มาชักชวนให้นายมีนาไปทํางานที่ประเทศเกาหลีเนื่องจากรายได้ดีกว่าการทํานา นายมีนาจึง ตอบตกลงไปทํางานที่ประเทศเกาหลีเป็นเวลา 9 เดือน เมื่อเก็บเงินได้จํานวนหนึ่ง นายมีนาก็กลับมา ทํานาในที่ดินแปลงเดิมของนายเมษาอีก 3 ปี นายเมษารู้เรื่องจึงแจ้งให้นายมีนาออกไปจากที่ดินนั้น แต่นายมีนาอ้างว่าที่ดินตาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว นายเมษาไม่มีสิทธิให้ตนออกไปจากที่ดินนั้น ดังนี้ ระหว่างนายมีนากับนายเมษาผู้ใดมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวอีกว่ากัน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่ง นับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกําหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีนาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของนายเมษาติดต่อกันได้ 8 ปี โดยนายมีนาบอกกับชาวบ้านว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ถือว่านายมีนาเป็นผู้ครอบครองที่ดินของผู้อื่นโดยสงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกันได้เพียง 8 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 และเมื่อขึ้นปีที่ 9 การที่นายมีนาได้ตอบตกลงไปทํางานที่ประเทศเกาหลีตามคําชักชวนของ นายมกราย่อมถือว่านายมีนามีเจตนาสละการครอบครองที่ดินไปโดยสมัครใจ สิทธิครอบครองของนายมีนา จึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1384 และเมื่อนายมีนาได้กลับมาครอบครองและทํานาในที่ดินแปลงนั้นอีกครั้งจึงต้อง เริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ และเมื่อปรากฏว่านายมีนาได้ครอบครองในครั้งหลังนี้ได้เพียง 3 ปี ยังไม่ครบ 10 ปี นายมีนาจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ดังนั้นจึงถือว่านายเมษามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดีกว่านายมีนา

สรุป

นายเมษามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอีกว่านายมีนา

 

ข้อ 4. นายนาคมีที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ทางทิศตะวันออกติดกับที่ดินมีโฉนดของนายเงิน และทางทิศใต้ติดกับที่ดินมีโฉนดของนายทอง นายนาคได้อาศัยสูบน้ำในบ่อบนที่ดินของนายเงินเพื่อนํามาใช้รดน้ำต้นไม้ในที่ดินของตน และยังใช้ที่ดินของนายทองในการจอดรถยนต์ของตนมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว โดยไม่เคยขออนุญาตนายเงินและนายทองเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า ที่ดินของนายนาคจะได้สิทธิ์ ภาระจํายอมในการใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายเงินและจอดรถยนต์บนที่ดินของนายทองหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

โดยหลัก การได้ภาระจํายอมโดยอายุความ เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ (เจตนาปรปักษ์) และครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ภาระจํายอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่า สามยทรัพย์เท่านั้นตามมาตรา 1387 ดังนั้น ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกัน นานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทําให้เกิดภาระจํายอมโดยอายุความขึ้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนาคซึ่งมีที่ดินติดกับที่ดินของนายเงิน ได้อาศัยสูบน้ำในบ่อบนที่ดินของ นายเงินเพื่อนํามาใช้รดน้ำต้นไม้ในที่ดินของตนเป็นเวลา 12 ปีแล้วโดยไม่เคยขออนุญาตนายเงินเลยนั้น การกระทํา ของนายนาคดังกล่าวถือเป็นการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์หนึ่งเพื่อประโยชน์ของอีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ตามมาตรา 1387 และเมื่อนายนาคได้ใช้ที่ดินของนายเงินโดยสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเพื่อให้ได้ภาระจํายอม และได้ใช้ติดต่อกันเกิน 10 ปีแล้ว ที่ดินของนายนาคจึงได้สิทธิภาระจํายอมในการใช้น้ําในบ่อบนที่ดินของนายเงิน โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 387 และ 1401 ประกอบมาตรา 1382

ส่วนการที่นายนาคได้ใช้ที่ดินของนายทองเพื่อจอดรถยนต์ของตนเป็นเวลา 12 ปีแล้วโดยไม่เคย ขออนุญาตนายทองเลยนั้น ไม่ถือว่าเป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ของอีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่งจึงไม่ก่อให้เกิด ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 ดังนั้น ไม่ว่านายนาคจะได้ใช้ที่ดินของนายทองเป็นเวลานานเท่าใด ก็ไม่ทําให้นายนาค ได้ภาระจํายอมเหนือที่ดินของนายทองโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา 1387 ประกอบมาตรา 1401 และ 1382

สรุป

ที่ดินของนายนาคได้สิทธิภาระจํายอมในการใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายเงิน แต่ไม่ได้สิทธิ ภาระจํายอมในการจอดรถยนต์บนที่ดินของนายทอง

Advertisement