การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จันทร์กู้เงินอังคารไปสองเสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 22 มกราคม 2561 พอใกล้จะถึงกําหนดอังคารแจ้งไปยังจันทร์ว่าวันที่ 22 มกราคม 2561 อังคารจะไม่อยู่รอรับชําระหนี้เพราะจะไปต่างจังหวัด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ถ้าจันทร์ต้องการจะทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด จันทร์จะต้องทําอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 “การขาระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง

แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชําระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะชําระหนี้จําเป็นที่เจ้าหนี้ จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการที่จะชําระหนี้ไว้พร้อม เสร็จแล้วให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้วในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าคําบอกกล่าวของลูกหนี้นั้น ก็เสมอกับคําขอปฏิบัติการชําระหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์กู้เงินอังคารไปสองแสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 22 มกราคม 2561 พอใกล้จะถึงกําหนด อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ว่า วันที่ 22 มกราคม 2561 อังคารจะไม่อยู่รอรับ ชําระหนี้เพราะจะไปต่างจังหวัดนั้น ถ้าจันทร์ต้องการจะทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด จันทร์จะต้องดําเนินการ ตามมาตรา 207 และมาตรา 208 ดังนี้คือ

1 เมื่ออังคาร (เจ้าหนี้) ได้แสดงแก่จันทร์ (ลูกหนี้) ว่าจะไม่รับชําระหนี้ ดังนั้นจันทร์ (ลูกหนี้) สามารถทําให้อังคาร (เจ้าหนี้) ตกเป็นผู้ผิดนัดได้ตามมาตรา 208 วรรคสอง ประกอบมาตรา 37 โดยจันทร์เพียงแต่ บอกกล่าวไปยังอังคารว่า “จันทร์ได้เตรียมเงินที่จะชําระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ขอให้อังคารอยรับชําระหนี้ตามกําหนด ซึ่งคําบอกกล่าวของจันทร์มีผลเท่ากับเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และมีผลทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด

2 ให้จันทร์ (ลูกหนี้) นําเงินสดสองแสนบาทไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ต่ออังคาร (เจ้าหนี้) ในวันที่ 22 มกราคม 2561 ตามข้อตกลง และถ้าอังคารไม่อยู่รอรับชําระหนี้เพราะไปต่างจังหวัดก็จะมีผลเท่ากับ อังคารปฏิเสธไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคาร (เจ้าหนี้) จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตาม มาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคหนึ่ง

สรุป

ถ้าจันทร์ต้องการจะทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด จันทร์สามารถทําได้ 2 ประการดังกล่าว ตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 208

 

 

ข้อ 2. นายแซนด์วางแผนจะจัดงานปาร์ตี้วันเกิดของตนในวันที่ 31 มีนาคม 2560 นายแซนด์ต้องการ แจกของที่ระลึกในงานปาร์ตี้เป็นภาพวาดเหมือนหรือภาพวาดแนว Portrait ในวันที่ 1 มกราคม 2560 นายแซนด์จึงได้ติดต่อว่าจ้างนายเฉลิมชาติ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินเอกของโลก ด้านจิตรกรรมด้วยลักษณะลายเส้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ําแบบใคร ให้ดําเนินการวาดภาพเหมือน ของนายแซนด์ให้แล้วเสร็ง 1 เดือน นับแต่วันที่ตกลงกัน ปรากฏว่าจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 นายแซนด์ก็ยังไม่ได้รับมอบภาพวาด นายแซนด์ร้อนใจมากจึงมาปรึกษาท่านในเรื่องของการบังคับ ชําระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาล ว่าสามารถสั่งให้บุคคลอื่นวาดภาพแทนโดยให้ลูกหนี้ออกค่าใช้จ่าย ได้หรือไม่หรือสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวง ก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ ชําระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 213 “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชําระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับ ชําระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทําเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ ม่เปิดช่องให้บังคับชําระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทําการ อันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทําการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย ให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทํานิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคําพิพากษา แทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทํา ลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอา ค่าเสียหายไม่”

มาตรา 215 “เมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้ จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแซนด์ได้ว่าจ้างนายเฉลิมชาติให้วาดภาพเหมือนของนายแซนด์นั้น เป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทําการโดยมีนายแซนด์ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าหนี้และนายเฉลิมชาติผู้รับจ้างเป็นลูกหนี้

ซึ่งหนี้ดังกล่าวมีกําหนดส่งมอบภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ตกลงกัน อันเป็นหนี้ที่มีกําหนดเวลาชําระหนี้ตามวันแห่ง ปฏิทิน เมื่อนายเฉลิมชาติไม่ชําระหนี้ตามกําหนด นายเฉลิมชาติจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยเจ้าหนี้ไม่จําต้องเตือนก่อน ตามมาตรา 203 วรรคสองประกอบมาตรา 204 วรรคสอง

เมื่อนายเฉลิม ชาติละเลยไม่ชําระหนี้ นายแซนด์เจ้าหนี้ย่อมสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับ ชําระหนี้ได้ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทําเช่นนั้นได้ และเมื่อหนี้ระหว่างนายแซนด์ และนายเฉลิมชาติเป็นหนี้ให้กระทําการและเป็นหนี้ที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชําระหนี้ได้ โดยปกติแล้ว ตามมาตรา 213 วรรคสอง เจ้าหนี้อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทําการแทนโดยให้ลูกหนี้ เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อหนี้ให้กระทําการระหว่างนายแซนด์และนายเฉลิมชาติดังกล่าวนั้น เป็นหนี้ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของลูกหนี้คือความสามารถในด้านการวาดภาพเหมือนด้วยลักษณะลายเส้น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ําแบบใคร ดังนั้น นายแซนด์จะใช้สิทธิทางศาลในการบังคับชําระหนี้ โดยการร้องขอต่อศาล ให้สังบังคับให้บุคคลภายนอกวาดภาพเหมือนแทนโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายตามมาตรา 213 วรรคสองไม่ได้ แต่นายแซนด์สามารถเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่นายเฉลิมชาติไม่ชําระหนี้ตามมาตรา 213 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 ได้ เนื่องจากลูกหนี้ยังไม่ได้หลุดพ้นจากหนี้เพราะเป็นหนี้ที่ยังอยู่ในวิสัยที่จะกระทําได้ แต่ลูกหนี้ไม่กระทํา

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาแก่นายแซนด์ว่า นายแซนด์ไม่สามารถขอให้บุคคลภายนอก กระทําการแทนโดยให้นายเฉลิมชาติเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายได้ แต่สามารถเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชําระหนี้ได้

 

 

ข้อ 3. ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 นางสาวมายและนางสาวมิ้นต์ได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยจํานวนทั้งสิ้น 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืน 2 ปี นับจากวันทําสัญญา นางสาวมายรู้ตัวเองดี ว่าตนเองไม่สามารถชําระหนี้ให้แก่นายรวยได้เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระในวันที่ 17 มกราคม 2561 นางสาวมายจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินของตนเองราคาประมาณ 1,000,000 บาท ให้กับนายหล่อ น้องชายโดยเสน่หา เพื่อหลบเลี่ยงการบังคับชําระหนี้จากนายรวย โดยที่นายหล่อมิได้รู้ถึงภาระหนี้สิน ระหว่างนางสาวมายและนายรวยแต่อย่างใดเลย นอกจากที่ดินแปลงดังกล่าวนางสาวมายยังคงเหลือ ทรัพย์สินอีกเพียงชิ้นเดียว คือ รถยนต์ 1 คัน ราคาประมาณ 600,000 บาท ต่อมานายรวยทราบเรื่อง จึงโกรธนางสาวมายมากในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นายรวยจึงยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินระหว่างนางสาวมายและนายหล่อ นางสาวมายให้การต่อสู้ว่านายรวยไม่มีสิทธิฟ้อง ขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเนื่องจากหนี้เงินกู้ที่ตนและนางสาวมิ้นต์ร่วมกันกู้จากนายรวยยังไม่ ถึงกําหนดชําระ อีกทั้งนางสาวมิ้นต์ลูกหนี้รวมอีกคนหนึ่งมีฐานะร่ำรวยสามารถชําระหนี้ทั้งหมด ให้แก่นายรวยได้ นายรวยจึงมิได้เสียเปรียบแต่อย่างใด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนนายหล่อ ให้การต่อสู้ว่าตนเองได้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดีย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมาย นายรวยจึงไม่มีอํานาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ขอ ศาลพิพากษายกฟ้อง

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า

(1) ข้อต่อสู้ของนางสาวมายและนายหล่อฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) นายรวยจะฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนางสาวมายและนายหล่อได้หรือไม่เพราะเหตุใด

 

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 214 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชําระหนี้ของตน จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชําระแก่ลูกหนี้ด้วย”

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิ ในทรัพย์สิน”

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้ สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคง ต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวมายและนางสาวมิ้นต์ได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจาก นายรวยจํานวน 2,000,000 บาทนั้น ย่อมถือว่านางสาวมายและนางสาวมิ้นต์เป็นลูกหนี้ร่วมของนายรวย และ ก่อนที่หนีถึงกําหนดชําระในวันที่ 17 มกราคม 2561 นางสาวมายได้จดทะเบียนโอนที่ดินของตนราคาประมาณ 1,000,000 บาท ให้กับนายหล่อน้องชายโดยเสน่หาเพื่อหลบเลี่ยงการบังคับชําระหนี้จากนายรวย โดยที่นายหล่อ มิได้รู้ถึงภาระหนี้สินระหว่างนางสาวมายและนายรวยแต่อย่างใดเลย และนอกจากที่ดินแปลงดังกล่าวนางสาวมาย ยังคงเหลือทรัพย์สินอีกเพียงชิ้นเดียว คือรายนต์ 1 คัน ราคาประมาณ 600,000 บาทนั้น นิติกรรมระหว่างนางสาวมาย กับนายหล่อถือเป็นนิติกรรมที่นางสาวมายลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจึงเป็น นิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ เนื่องจากนิติกรรมดังกล่าวมีผลทําให้กองทรัพย์สินของนางสาวมายซึ่งเป็นลูกหนี้ ลดน้อยลงไม่พอที่จะใช้หนี้ให้แก่นายรวยเจ้าหนี้จนสิ้นเชิง แม้นายหล่อผู้ได้ลาภงอกจะมิได้รู้ถึงความเสียหายของ นายรวยเจ้าหนี้ เมื่อเป็นนิติกรรมการให้โดยเสน่หา เจ้าหนี้คือนายรวยย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อเพิกถอนนิติกรรมได้ ตามมาตรา 237 และแม้ในวันฟ้องขอเพิกถอนนั้น หนี้เงินกู้ระหว่างนางสาวมายและนางสาวมิ้นต์ที่มีต่อนายรวย จะยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายรวยก็สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้เพราะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ มิใช่การฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากนางสาวมายลูกหนี้ร่วมโดยตรง ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนางสาวมายเละนายหล่อดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

และเมื่อนางสาวมายเป็นลูกหนี้ร่วมกับนางสาวมิ้นต์ เจ้าหนี้คือนายรวยย่อมมีสิทธิบังคับชําระหนี้ เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งคนใดได้จนสิ้นเชิงตามมาตรา 291 โดยมิต้องคํานึงว่าลูกหนี้ร่วมคนอื่น จะสามารถชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้หรือไม่อย่างไร ดังนั้น เมื่อนางสาวมายโอนทรัพย์สินไปให้กับนายหล่ออันเป็น การฉ้อฉลตามมาตรา 237 แล้ว เจ้าหนี้คือนายรวยย่อมสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้

สรุป

(1) ข้อต่อสู้ของนางสาวมายและนายหล่อฟังไม่ขึ้น

(2) นายรวยฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนางสาวมายและนายหล่อได้

 

 

ข้อ 4. นายสุขทําสัญญากู้เงิน 120,000 บาท จากนายนาค และได้มอบทองคําแท่งหนัก 5 บาทของตนให้นายนาคไว้เป็นการจํานํา ต่อมานายนาคได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ ดังกล่าวแก่นายสืบ โดยส่งมอบทองคําแท่งที่รับจํานําไว้นั้นแก่นายสืบด้วย แล้วนายสืบได้ทําหนังสือ แจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายสุขทราบ ต่อมา นายสุขไม่ชําระหนี้เงินกู้ นายสืบจึงฟ้อง เรียกหนี้เงินกู้จากนายสุขและขอบังคับจํานํา นายสุขให้การต่อสู้ว่า

(ก) การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากนายสุข นายสืบจึงฟ้องบังคับให้นายสุขชําระหนี้ไม่ได้

(ข) แม้จะมีการแจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องต่อนายสุข แต่การแจ้งเป็นหน้าที่ของนายนาคเจ้าหนี้คนเดิมไม่ใช่นายสืบเจ้าหนี้คนใหม่ การแจ้งดังกล่าวจึงไม่ชอบ

(ค) การจํานําไม่ได้ทําสัญญากันใหม่ระหว่างนายสุขกับนายสืบ ถือว่าสัญญาจํานําระงับสิ้นไปแล้ว นายสืบจึงไม่มีสิทธิบังคับจํานํา ให้วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายสุขฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 305 วรรคหนึ่ง “เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจํานองหรือจํานําที่มีอยู่เกี่ยวพันกับ สิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย”

มาตรา 306 วรรคหนึ่ง “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทําเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอก ได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คําบอกกล่าวหรือความยินยอม เช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะ เจาะจงนั้น จะต้องทําเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อ ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ได้ยินยอมเป็นหนังสือในการโอนนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ การที่นายนาคได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ ดังกล่าวแก่นายสืบ การโอนจึงสมบูรณ์ และเมื่อนายสืบได้ทําหนังสือแจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายสุข การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายสุขจึงชอบด้วยมาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากนายสุข และจะมีผลผูกพันนายสุขในอันที่จะต้องชําระหนี้แก่นายสืบ ดังนั้นข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การโอนสิทธิ เรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากนายสุข นายสืบจึงฟ้องบังคับให้นายสุขชําระหนี้ไม่ได้นั้นย่อมฟังไม่ขึ้น

(ข) การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งนั้น กฎหมาย ไม่ได้บังคับว่าผู้มีหน้าที่บอกกล่าวการโอนคือใคร ดังนั้นเมื่อนายสืบเจ้าหนี้คนใหม่เป็นผู้บอกกล่าวการโอนสิทธิ เรียกร้องไปยังนายสุข การบอกกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่าการบอกกล่าวหรือการแจ้ง เป็นหน้าที่ของนายนาคเจ้าหนี้คนเดิมจึงฟังไม่ขึ้น

(ค) ตามมาตรา 395 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว สิทธิจํานําที่มีอยู่เกี่ยวพัน กับสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย ดังนั้นตามอุทาหรณ์เมื่อนายนาคได้ส่งมอบทองคําแท่งที่รับจํานําไว้ ให้แก่นายสืบผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้วด้วย นายสืบจึงเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ที่มีสิทธิตามสัญญาจํานําและสามารถบังคับ จํานําได้ ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การจํานําไม่ได้ทําสัญญากันใหม่ระหว่างนายสุขกับนายสืบ ถือว่าสัญญาจํานํา ระงับสิ้นไปแล้วนายสืบจึงไม่มีสิทธิบังคับจํานํานั้นจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

(ก) ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากนายสุขนายสืบจึงฟ้องบังคับให้นายสุขชําระหนี้ไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น

(ข) ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหน้าที่ของนายนาคเจ้าหนี้คนเดิม ฟังไม่ขึ้น

(ค) ข้อต่อสู้ของนายสุขที่ว่า การจํานําไม่ได้ทําสัญญากันใหม่ระหว่างนายสุขกับนายสืบถือว่าสัญญาจํานําระงับสิ้นไปและนายสืบไม่มีสิทธิบังคับจํานํานั้น ฟังไม่ขึ้น

 

Advertisement