การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท 500,000 บาท ตกลงชําระหนี้เงินกู้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 แต่เมื่อถึงกําหนดนัดชําระหนี้นายเอกไม่มีเงินจะไปคืนให้แก่นายโท จึงสอบถามไปยังนายโทว่า ตนจะขอนําเรือนแพติใช้หนี้ให้แก่นายโทแทนการชดใช้คืนด้วยเงินได้หรือไม่ นายโทเขียนจดหมายตอบรับตามที่นายเอกได้เสนอมา โดยทั้งคู่ตกลงกันว่าจะไปจดทะเบียนโอน ณ ที่ว่าการอําเภอ ภายใน 7 วัน แต่เมื่อครบกําหนด 7 วันแล้ว นายเอกกลับปฏิเสธที่จะไปจดทะเบียนโอนเรือนแพนั้น ให้แก่นายโทตามที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทจะฟ้องบังคับให้นายเอกไปจดทะเบียนเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิโดยบริบูรณ์แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่ นิติกรรมจะได้ทําเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1302 “บทบัญญัติแห่งสามมาตราก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วยโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักไว้ว่า การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น ถ้าไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จะไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ และไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลทั่วไปหรือบุคคลภายนอกได้ แต่มีผลสมบูรณ์เป็นบุคคลสิทธิ ที่ใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณี และถ้าปรากฏว่าในระหว่างคู่กรณีได้มีข้อตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งบังคับว่าจะไป จดทะเบียนกันในภายหลังโดยกําหนดวันไว้แน่นอนว่าวันใดจะไปจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ ถ้าอีกฝ่าย ไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายหนึ่งย่อมสามารถฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนการได้มาเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิโดยบริบูรณ์ได้

และตามมาตรา 1302 ได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติมาตรา 1299 มาใช้บังคับกับการได้มาซึ่ง ทรัพย์ที่เป็นเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะด้วยโดยอนุโลม

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท 500,000 บาท แต่เมื่อถึงกําหนดนัดชําระหนี้ นายเอกไม่มีเงินจะไปคืนให้แก่นายโท จึงสอบถามไปยังนายโทว่าตนจะขอนําเรือนแพดีใช้หนี้ให้แก่นายโทแทน การชดใช้คืนด้วยเงินได้หรือไม่ ซึ่งนายโทได้เขียนจดหมายตอบรับตามที่นายเอกได้เสนอมา โดยทั้งคู่ได้ตกลงกันว่า จะไปจดทะเบียนโอน ณ ที่ว่าการอําเภอภายใน 7 วันนั้น การที่นายเอกตกลงที่จะโอนเรือนแพดีใช้หนี้ให้แก่ นายโทนั้น ถือเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นตามมาตรา 321 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กําหนดแบบไว้ ดังนั้น การได้มาซึ่ง เรือนแพของนายโทดังกล่าว ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมตามนัยของมาตรา 1299 วรรคหนึ่งด้วย (ตามมาตรา 1302 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง)

เมื่อการได้มาซึ่งเรือนแพของนายโทดังกล่าวไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาของนายโทจึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ (ตามมาตรา 1302 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง) แต่ก็มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ระหว่างนายเอกและนายโทในฐานะบุคคลสิทธิ และเมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การที่นายเอกตกลงนําเรือนแพติใช้หนี้ให้แก่นายโทนั้น ทั้งสองได้มีข้อตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งว่าจะไป จดทะเบียนโอนกันภายใน 7 วัน แต่เมื่อครบกําหนด 7 วัน นายเอกกลับปฏิเสธที่จะไปจดทะเบียนโอนเรือนแพ ให้แก่นายโท ดังนั้น นายโทจึงสามารถฟ้องบังคับให้นายเอกไปจดทะเบียนโอนเรือนแพเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิโดย บริบูรณ์แก่ตนได้

สรุป

นายโทสามารถฟ้องบังคับให้นายเอกไปจดทะเบียนโอนเรือนแพเพื่อให้เป็นทรัพยสิทธิ โดยบริบูรณ์แก่ตนได้

 

ข้อ 2. นายหนึ่งเป็นพ่อค้าขายคอมพิวเตอร์โดยมีร้านชื่อ หจก. OK Computer ตั้งอยู่บนชั้นสี่ของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ปรากฏว่านายสองขโมยคอมพิวเตอร์มาจากนายสาม แล้วนายสองนําคอมพิวเตอร์นั้นมาขาย ให้แก่นายหนึ่ง นายหนึ่งก็รับซื้อไว้ในราคา 5,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัย หากนายสามมาทวงคอมพิวเตอร์คืน นายหนึ่งจะต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสาม หรือไม่ และนายหนึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1332 ที่บัญญัติคุ้มครองบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ ราคาที่ซื้อมานั้น กฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองผู้ซื้อทรัพย์สินในกรณีดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น ถ้าหากผู้ขายเป็นเพียง บุคคลธรรมดา แต่ผู้ซื้อเป็นพ่อค้าในท้องตลาด หรือเป็นผู้ซื้อของชนิดนั้น ผู้ซื้อย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 1332 แต่อย่างใด

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ซื้อคอมพิวเตอร์จากนายสองซึ่งได้ขโมยมาจากนายสามนั้น แม้นายหนึ่งจะเป็นพ่อค้าขายคอมพิวเตอร์โดยมีร้านตั้งอยู่บนชั้นสี่ของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าก็ตาม แต่กรณีดังกล่าว นายหนึ่งอยู่ในฐานะของผู้ซื้อ ส่วนนายสองผู้ขายเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ดังนั้น นายหนึ่งผู้ซื้อจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 แต่อย่างใด และถ้าหากนายสามมาทวงคอมพิวเตอร์คืน นายหนึ่งจะต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสามโดยไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมา

สรุป

หากนายสามมาทวงคอมพิวเตอร์คืน นายหนึ่งจะต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสาม และนายหนึ่งไม่มีสิทธิได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมา

 

ข้อ 3. นายหนุ่มตกลงขายที่ดินให้นางหญิงโดยไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงส่งผลให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ แต่เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวมีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนี้ ถ้านายหนุ่มได้ส่งมอบที่ดินและนางหญิงได้เข้าครอบครองทําประโยชน์เพื่อตนแล้ว การที่นายหนุ่ม ยังคงมีชื่อใน ส.ค. 1 นางหญิงจะได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองหรือไม่ และหากนางหญิงบ่ายเบี่ยงที่จะ ชําระราคาที่ดินให้แก่นายหนุ่ม นายหนุ่มจะฟ้องให้นางหญิงชําระเงินให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่ง สิทธิครอบครอง”

มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สิน ต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง”

มาตรา 1378 “การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทําได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหนุ่มทําสัญญาตกลงขายที่ดิน ส.ค. 1 ให้กับนางหญิง โดยไม่ได้ทํา เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และส่งผลให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะนั้น เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นที่ดิน ส.ค. 1 ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครอง และปรากฏข้อเท็จจริงว่านายหนุ่มได้ส่งมอบที่ดินให้แก่นางหญิงแล้ว การครอบครองที่ดินของนายหนุ่มจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1377 วรรคหนึ่ง เพราะนายหนึ่งได้สละเจตนาครอบครอง และไม่ได้ยึดถือที่ดินนั้นต่อไปแล้ว และเมื่อนางหญิงได้เข้าครอบครองที่ดินโดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง ตามมาตรา 1378 และเข้ายึดถือทําประโยชน์เพื่อตนตามมาตรา 1367 แล้ว นางหญิงย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง ในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว แม้ชื่อใน ส.ค. 1 จะเป็นชื่อของนายหนุ่มก็ตาม (คําพิพากษาฎีกาที่ 779/2535 และ 607/2552)

และแม้สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายหนุ่มกับนางหญิงจะมีผลเป็นโมฆะ และไม่สามารถ ที่จะฟ้องบังคับให้มีการโอนกันได้ก็ตาม แต่ก็สามารถโอนการครอบครองโดยการส่งมอบได้ตามมาตรา 1378 ดังนั้น เมื่อได้มีการโอนการครอบครองโดยการส่งมอบและทําให้นางหญิงได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองแล้ว นางหญิงก็จะต้อง ปฏิบัติตามข้อตกลงคือต้องชําระราคาที่ดินให้แก่นายหนุ่ม ถ้าหากนางหญิงบ่ายเบี่ยงที่จะชําระราคาที่ดินให้แก่ นายหนุ่ม นายหนุ่มย่อมสามารถฟ้องให้นางหญิงชําระเงินให้แก่ตนได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 325/2519)

สรุป

นางหญิงจะได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง และหากนางหญิงบ่ายเบี่ยงที่จะชําระราคาที่ดิน ให้แก่นายหนุ่ม นายหนุ่มย่อมสามารถฟ้องให้นางหญิงชําระเงินให้แก่ตนได้

 

ข้อ 4. จันทร์ทําข้อตกลงให้อังคารที่มีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินของจันทร์มานําน้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ไปใช้ประโยชน์ต่อที่ดินของอังคารได้ โดยทําข้อตกลงเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากที่อังคารมาใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้ได้ 5 ปี อังคารก็หยุดมาใช้น้ำในที่ดินของจันทร์ไป 5 ปี และ ต่อมาอังคารจึงขายที่ดินให้พุธ หลังจากพุธซื้อที่ดินมาก็เริ่มต้นกลับเข้าไปใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดิน ของจันทร์อีก แต่จันทร์ไม่อนุญาตให้พุธเข้ามาในที่ดินของตน โดยอ้างว่าสิทธิ์ในภาระจํายอมของ อังคารสิ้นสุดลงแล้ว ดังนี้ พุธมีสิทธิในภาระจํายอมบนที่ดินที่ซื้อมาจากอังคารหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับ กรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง “ถ้ามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจํายอมไซร้ ท่านว่าภาระจํายอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จําหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น”

มาตรา 1399 “ภาระจํายอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ทําข้อตกลงให้อังคารที่มีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินของจันทร์มานำน้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ไปใช้ประโยชน์ต่อที่ดินของอังคารได้ โดยทําข้อตกลงเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ย่อมถือว่าอังคารได้ภาระจํายอมในที่ดินของจันทร์โดยนิติกรรม และการที่อังคารได้ใช้น้ำ จากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ได้ 5 ปี แล้วก็หยุดการใช้น้ำจากบ่อน้ำของจันทร์ไป 5 ปีนั้น เมื่อการที่อังคารไม่ได้ใช้ ภาระจํายอมนั้นยังไม่ถึง 10 ปี จึงยังไม่มีผลทําให้ภาระจํายอมที่มีอยู่ระงับไปตามมาตรา 1399

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาอังคารขายที่ดินให้กับพุธ พุธผู้รับโอนที่ดินมาจึงเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (สามยทรัพย์) และมีสิทธิในการใช้ภาระจํายอมดังกล่าวต่อจากอังคาร คือมีสิทธิเข้าไป ใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ได้ เนื่องจากภาระจํายอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จําหน่ายไปตาม มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จันทร์จะไม่อนุญาตให้พุธเข้ามาในที่ดินของตนโดยอ้างว่าสิทธิในภาระจํายอมของ อังคารสิ้นสุดลงแล้วไม่ได้

สรุป

พุธมีสิทธิในภาระจํายอมบนที่ดินที่ซื้อมาจากอังคาร

 

Advertisement