LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอ้างว่าจำเลยบุกรุกที่ดินพิพาท  หากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าประมาณเดือนละ  3,000 บาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้บุกรุกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  จำเลยซื้อจากโจทก์ชำระราคาด้วยวัสดุก่อสร้างและเงินสดบางส่วนขอให้ศาลยกฟ้อง  พร้อมกันนั้นจำเลยได้แย้งให้โจทก์ไปโอนโฉนดที่พิพาทให้จำเลย  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ไปโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยตามฟ้องแย้ง  ดังนี้  โจทก์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีฟ้องขับไล่  และคดีฟ้องแย้งได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  224  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้   เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีการฟ้องแย้งด้วยนั้น  การจะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น  ต้องพิจารณาฟ้องเดิมและฟ้องแย้งออกจากกันเสมือนคนละคดี  (ฎ. 7858/2542  ฎ. 6937/2539)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีฟ้องขับไล่ได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีนี้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง  ที่ดินพิพาทหากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าประมาณเดือนละ  3,000  บาทอันถือว่ามีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ  4,000  บาท  จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  224  วรรคสอง  ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้น  ตามมาตรา  224  วรรคแรก  คือ  ไม่มีความเห็นแย้งหรือได้รับรองให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นหนังสืออุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้  ดังนั้น  คดีฟ้องขับไล่จึงต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีฟ้องแย้งได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  โดยจำเลยซื้อมาจากโจทก์ชำระราคาด้วยวัสดุก่อสร้างและเงินสดบางส่วนขอให้ศาลยกฟ้อง  พร้อมกันนั้น  จำเลยได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ไปโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลย  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากฟ้องแย้งของจำเลยแล้วได้ความว่า  ฟ้องแย้งของจำเลยถือเป็นคดีเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้  (คดีไม่มีทุนทรัพย์)  จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง   ดังนั้น  ในกรณีเช่นนี้โจทก์ชอบจะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในส่วนฟ้องแย้งได้

สรุป  คดีฟ้องขับไล่โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ได้  ส่วนคดีฟ้องแย้งโจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยกู้ยืมเงิน  100,000  บาท  จากโจทก์  แล้วผิดนัดไม่ชำระคืน  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวกับดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องรวมเป็นเงิน  120,000  บาท  จำเลยให้การว่า  จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว  คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด  จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว  70,000  บาท  และคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม  พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  50,000  บาท  แก่โจทก์  จำเลยอุทธรณ์ว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์อีก  โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนนำคดีมาฟ้อง  ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

มาตรา  224  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

มาตรา  225  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น  คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้  หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์  คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  224  ได้กำหนดหลักเกณฑ์  ในการห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีดังต่อไปนี้  คือ

1)    คดีที่ราคาทรัพย์ที่พิพาทหรือจำนวนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน  50,000  บาท  หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

2)    คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ  ออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ  4,000  บาท  หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

และตามมาตรา  225  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการยื่นอุทธรณ์นั้น

1)    ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2)    ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  และ

3)    อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแล้ว  สามารถแยกพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้ใน  2  ประเด็น  คือ

1)    จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์อีก

2)    โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนนำคดีมาฟ้อง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์อีก  กรณีนี้ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยแล้วมีเพียง  50,000  บาท  เท่ากับเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน  50,000  บาท  อุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ยังไม่ครบถ้วน  ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนนำมาฟ้องคดีนั้น  กรณีนี้ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาตามที่จำเลยยื่นคำให้การในศาลชั้นต้นแล้ว  ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่จำเลยให้การ่อสู้ไว้  จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ต้องห้ามอุทธรณ์  ตามมาตรา 225  วรรคแรก  ทั้งอุทธรณ์ดังกล่าวก็มิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ยกเว้นให้คู่ความยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้  แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแต่ประการใด

สรุป  ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย

 

ข้อ  3  โจทก์เป็นบริษัทจำกัด  จดทะเบียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น  ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง  ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน  20  ล้านบาทฐานผิดสัญญา  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดสัญญาขอให้ยกฟ้องโจทก์  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์  ก่อนที่จำเลยจะได้รับสำเนาอุทธรณ์จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล  ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์วางเงิน  500,000  บาทต่อศาลเพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมไว้ก่อนมีคำพิพากษา  โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องและมาแถลงคัดค้านว่า  โจทก์เป็นบริษัทจำกัด  จดทะเบียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น  มีทุนจดทะเบียนมากกว่า  10,000  ล้านบาท  แม้โจทก์จะไม่มีทรัพย์สินในประเทศไทยโจทก์ก็ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  ขอให้ยกคำร้องของจำเลย  ในวันไต่สวนศาลสืบพยานโจทก์จำเลยเห็นว่า  โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  และศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย

ดังนี้  จำเลยไม่พอใจคำสั่งยกคำร้อง  จำเลยจะต้องอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งไปยังศาลใด  และหากนักศึกษาเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของจำเลย  นักศึกษาเห็นด้วยกับศาลที่มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  253  วรรคแรกและวรรคสอง  ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆก่อนพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า  มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุเป็นที่เชื่อได้  แล้วแต่กรณี  ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด  โดยจะกำหนดเงื่อนไขใดๆตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา  253  ทวิ  ในกรณีที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา  253  วรรคหนึ่ง  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีไม่ว่าเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งสำนวนความไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาคำร้องตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น  และให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวน  แล้วส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

ให้นำความในมาตรา  253  วรรคสองและวรรคสาม  มาใช้บังคับแก่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลม

วินิจฉัย

ตามมาตรา  253  ทวิ  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  เมื่อโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว  หากมีเหตุใดเหตุหนึ่ง  ตามมาตรา  253  วรรคแรก  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายได้  หากปรากฏว่า

1)    โจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือ

2)    เป็นคดีที่เชื่อได้ว่า  เมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  เมื่อจำเลยไม่พอใจคำสั่งยกคำร้องจำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งไปยังศาลใด  เห็นว่า  การที่จำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลเพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมในระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์  จึงถือเป็นวิธีการชั่วคราวที่มีคำขอในชั้นอุทธรณ์ตามมาตรา  253  กรณีเช่นนี้  ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณา  ย่อมมีอำนาจมีคำสั่งคำร้องของจำเลย  แม้ศาลชั้นต้นจะยังไม่ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ก็ตาม  ทั้งตามมาตรา  253  ทวิ  วรรคสอง  ก็กำหนดแต่เพียงว่าให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจทำการไต่สวนคำร้องเท่านั้นหาได้ให้อำนาจที่จะมีคำสั่งด้วยไม่  ดังนั้น  เมื่อศาลที่มีอำนาจมีคำสั่งคำร้อง  คือ  ศาลอุทธรณ์  มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย  หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว  จำเลยก็ชอบจะฎีกาคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ  ตามมาตรา  253  ไปยังศาลฎีกาได้  ตามมาตรา  228(2)  ประกอบมาตรา  247  (ฎ. 1106/2530) 

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ได้ยอมรับในคำแถลงคัดค้านว่า  โจทก์ไม่มีภูมิลำเนาและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีอยู่ในราชอาณาจักร  กรณีเช่นนี้  ย่อมถือว่าปรากฏเหตุต่อศาลตามมาตรา  253  วรรคแรกแล้วโดยไม่จำต้องสืบพยานอีก  แม้ศาลจะสืบพยานแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายก็ไม่ทำให้ผลเปลี่ยนแปลงไป  เพราะกฎหมายใช้คำว่า  หรือ  หาได้ใช้คำว่า  และ  ไม่  จึงอาจจะเป็นกรณีใดก็ได้  ดังนั้น  เมื่อปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา  253  วรรคแรก  ศาลต้องสั่งให้โจทก์นำเงินประกันมาวางต่อศาลตามคำร้องขอของจำเลย  การที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 3155/2526)

สรุป  หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งยกคำร้อง  จำเลยต้องฎีกาคำสั่งไปยังศาลฎีกา  และหากข้าพเจ้าเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของจำเลย  ข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับศาลที่มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย

 

ข้อ  4  ชั้นบังคับคดี  นายชอบซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของนายชิด  ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมาของนายชอบจำนวน  500,000  บาท  ในวันขายทอดตลาด  นายชื่นยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาว่า  ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดให้นายชิดโอนให้แก่นายชื่น  ขอให้ถอนการยึดที่ดินดังกล่าว  นายชอบยื่นคำคัดค้านว่า  นายชื่นมิใช่เป็นคู่ความในคดีไม่มีสิทธิเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบังคับคดี  เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายชอบกับนายชิด  ทั้งนายชื่นมิได้ยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาด  ขอให้ยกคำร้อง

ให้วินิจฉัยว่า  คำคัดค้านของนายชอบฟังขึ้นหรือไม่  และศาลจะถอนการยึดที่ดินดังกล่าวหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  287  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ผู้ที่จะขอคุ้มครอง  ตามมาตรา  287  นี้  ต้องเป็นผู้มีบุริมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งผู้นั้นอยู่ในฐานะที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้  (ฎ. 3323/2528)

สำหรับ  สิทธิอื่นๆ  ในที่นี้หมายถึงสิทธิในทำนองเดียวกับบุริมสิทธิ์  หรือเป็นสิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิ์  แต่มิใช่บุริมสิทธิ์  ในที่นี้เป็นสิทธิซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์ของลูกหนี้ได้ตามกฎหมาย  เช่น  สิทธิขอแบ่งส่วนได้ของตนในฐานะเป็นเจ้าของร่วม  ขอยึดหน่วงทรัพย์สินที่ครอบครองจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  (ฎ.1413/2508,  ฎ.1543/2514)  หรอ  สิทธิของผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนของตนได้ก่อนในทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดก็ถือว่าเป็นสิทธิอื่นๆ  ตามมาตรา  287  เช่นกัน  (ฎ. 2686/2538  ฎ. 2975/2538)

คำร้องของนายชื่นที่ยื่นต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา  อ้างว่า  ที่ดินของนายชิดลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่นายชอบเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้  ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดให้นายชิดโอนให้แก่นายชื่นแล้ว  ขอให้ถอนการยึดที่ดินดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่านายชื่นได้สิทธิที่จะบังคับให้นายชิดโอนที่ดินที่ถูกยึดให้แก่นายชื่นตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง  อันถือได้ว่านายชื่นเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1300  นับว่าเป็นสิทธิอื่นๆซึ่งการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิตามกฎหมายของนายชื่น  ตามมาตรา  287

สำหรับคำคัดค้านของนายชอบที่ว่า  นายชื่นมิใช่เป็นคู่ความในคดี  ไม่มีสิทธิเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบังคับคดีนั้น  เห็นว่า  แม้นายชื่นเป็นบุคคลภายนอกแต่นายชื่นก็เป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามคำพิพากษาอันอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  เมื่อการบังคับคดีแก่ที่ดินของนายชิดไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของนายชื่นดังกล่าวแล้ว  นายชื่นจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนการยึดที่ดินนั้น  ตามมาตรา  287  แม้นายชื่นมิใช่คู่ความในคดีก็ตาม  (ฎ. 3417/2524  ฎ. 33/2536)

ส่วนคำคัดค้านของนายชอบที่ว่า  นายชื่นมิได้ยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาดนั้น  เห็นว่า  เมื่อสิทธิของนายชื่นเป็นสิทธิที่อาจบังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้  ดังนั้นตราบใดที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ขายทอดตลาด  นายชื่นย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนการยึดได้ก่อนการขายทอดตลาด  มิใช่ว่าจะต้องยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาด

สรุป  คำคัดค้านของนายชอบฟังไม่ขึ้น  และศาลจะต้องมีคำสั่งถอนการยึดที่ดินของนายชิด

LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส  โจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปจำนวน  60,000  บาท  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์  จำเลยให้การต่อสู้คดีระหว่างพิจารณา  บริษัทมิตรแท้  จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต  ต่อมา  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  20,000  บาท  แก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า  โจทก์เสียหายตามฟ้อง  ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เต็มตามฟ้อง  จำเลยอุทธรณ์ว่า  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้บริษัทมิตรแท้  จำกัด  ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม  เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1  ในประมวลกฎหมายนี้  ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(5) “คำคู่ความ  หมายความว่า  บรรดาคำฟ้อง  คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ

มาตรา  57  บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น  โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา  ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น  แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม  คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ  เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

มาตรา  224  วรรคแรก  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตามมาตรา  224  วรรคแรก  ที่กำหนดว่า  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท  ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน  50,000 บาท  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทนี้  ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์  เป็นหลักในการพิจารณา  มิใช่ทุนทรัพย์ที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น  (ฎ.3367/2538)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่  เห็นว่า  อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า  โจทก์เสียหายตามฟ้อง  ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เต็มตามฟ้อง  ถือเป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดค่าเสียหายอันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น  จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีจำนวนเท่ากับค่าเสียหายที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยรับผิดเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียง  40,000  บาท  ซึ่งถือว่าไม่เกิน  50,000  บาท  กรณีเช่นนี้  อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้บริษัทมิตรแท้  จำกัด  ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น  เมื่อพิจารณาแล้วได้ความว่า  คำร้องสอดของบริษัทมิตรแท้  จำกัด  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม  ตามมาตรา  57(2)  ถือเป็นคำคู่ความ  ตามมาตรา  1(5)  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำร้องของบริษัทมิตรแท้  จำกัด  ผู้ร้องสอดในฐานะคู่ความผู้ถูกกระทบสิทธิโดยผลของคำสั่งนั้น  จึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามมาตรา  233  คดีนี้เมื่อปรากฏว่าบริษัทฯ  มิได้อุทธรณ์  จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแทนผู้ร้องแต่ประการใด  ทั้งนี้เพราะจำเลยมิใช่คู่ความในส่วนของคดีร้องสอดหรือไม่เป็นบุคคลภายนอกที่ถูกกระทบกระเทือนหรือมีส่วนได้เสียในการที่ศาลยกคำร้องดังกล่าวนั่นเอง  (ฎ. 1254/2527)

สรุป  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  2  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์  จำเลยต่างอุทธรณ์  จำเลยที่  1  อุทธรณ์พร้อมกับขอดำเนินอย่างคนอนาถาขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล  รวมทั้งเงินวางศาล  ศาลอนุญาต จำเลยที่  2  อุทธรณ์แต่ไม่วางค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา  229  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่  2  ทนายของจำเลยที่  2  มีความเห็นว่า  เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่  1  และ  2  ต้องร่วมกันรับผิดชอบ  เมื่อศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้จำเลยที่  1  ย่อมมีผลถึงจำเลยที่  2  ด้วย  ดังนี้  ความเห็นของทนายจำเลยที่  2  รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  229  การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย  ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล  เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์  (คือฝ่ายโจทก์หรือจำเลยความเดิมซึ่งเป็นฝ่ายที่มิได้อุทธรณ์ความนั้น)  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  235  และ  236

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น  ตามมาตรา  229  ได้กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ต้องวางค่าธรรมเนียมศาลพร้อมอุทธรณ์  เว้นแต่  คดีที่ขอฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา  และศาลได้อนุญาต  ตามมาตรา  157  และมาตรา  149  วรรคท้ายแล้ว  ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาล  (ฎ. 316/2518)

การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์  จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์  เมื่อจำเลยที่  1  อุทธรณ์  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นพร้อมกับคำขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา  ศาลอนุญาต  กรณีเช่นนี้การที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่  1  ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา  จะมีผลไปถึงจำเลยที่  2  ด้วยหรือไม่ เห็นว่า  ตามมาตรา  157  บัญญัติว่า  เมื่อศาลอนุญาตให้บุคคลใดฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างอนาถา  บุคคลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น  ค่าธรรมเนียมเช่นว่านั้นให้รวมถึงเงินค่าวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักบทบัญญัติดังกล่าว  แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า  การยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลรวมทั้งเงินวางศาลในการยื่นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างอนาถานั้น  เป็นเรื่องของจำเลยแต่ละคน  แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยที่  1  ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาก็ไม่มีผลถึงจำเลยที่  2  แต่อย่างใด  (ฎ. 8188/2538)

ดังนั้น  ความเห็นของทนายจำเลยที่  2  ที่ว่า  เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่  1  และที่  2  ต้องร่วมกันรับผิดชอบ  เมื่อศาลยกค่าธรรมเนียมศาลให้จำเลยที่  1  ย่อมมีผลถึงจำเลยที่  2  ด้วย  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  การที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1  ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่มีผลถึงจำเลยที่  2  ความเห็นของทนายจำเลยที่  2  ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลย  ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์  และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน  10  ล้านบาท  ฐานละเมิดลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าโจทก์  จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยไม่ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าโจทก์  ขอให้ยกฟ้อง  ก่อนวันสืบพยานโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคารและห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา  แต่มิได้แนบสำเนาคำร้องเพื่อส่งให้แก่จำเลย  และศาลมิได้สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยได้มีโอกาสได้คัดค้านก่อน  ในวันไต่สวนศาลสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว  โดยจำเลยไม่ได้มีโอกาสได้คัดค้านก่อน และมีคำสั่งให้อายัดเงินฝากธนาคารและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา

ดังนี้  การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของโจทก์  โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสจำเลยได้คัดค้านก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  21  เมื่อคู่ความฝ่ายใดเสนอคำขอหรือคำแถลงต่อศาล

(3) ถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่า  คำขออันใดอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียวแล้ว  ให้ศาลมีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่นๆ  ก่อนออกคำสั่งในเรื่องนั้นๆได้  เว้นแต่ในกรณีที่คำขอนั้นเป็นเรื่องขอหมายเรียกให้ให้การ  หรือเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินก่อนคำพิพากษา  หรือเพื่อให้ออกหมายบังคับ  หรือเพื่อจับหรือกักขังจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา

มาตรา  254  ในคดีอื่นๆ  นอกจากคดีมโนสาเร่  โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว  ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไปเพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใดๆดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา  รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย

(2) ให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป  ซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง  หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยหรือมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน  ขาย  ยักย้ายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย  หรือมีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว  ทั้งนี้  จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  คำขอคุ้มครองชั่วคราว  ตามมาตรา  254  วรรคแรก  ถือเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเฉพาะคำขอให้ยึดหรืออายัด  ตามมาตรา 254(1)  และคำขอให้จับกุมและกักขังจำเลย  ตามมาตรา  254(4)  และถือว่าเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด  กล่าวคือ  ศาลจะสั่งคำขอโดยไม่ต้องส่งสำเนาคำขอและไม่ต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน  ส่วนคำขอห้ามชั่วคราว  ตามมาตรา  254(2)และ(3)  ถือเป็นดุลพินิจของศาลที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ก็ได้  (ฎ. 699/2508)

การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของโจทก์  โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสจำเลยได้คัดค้านก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  แยกพิจารณาดังนี้

ประเด็นแรก  โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคาร  เห็นว่าคำร้องของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นคำขอ  ตามมาตรา  254(1)  ซึ่งถือว่าเป็นคำขอฝ่ายเดียว  และเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัดที่ศาลอยู่ในบังคับที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้  ดังนั้น  การที่ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องขอให้จำเลย  จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ตามมาตรา  254(2) ประกอบมาตรา  21(3)  ตอนท้าย

อนึ่ง  เมื่อได้ความว่าเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด  หากศาลยังส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยกรณีเช่นนี้  อาจทำให้ผู้ขอได้รับความเสียหาย  กล่าวคือ  จำเลยอาจยักย้ายทรัพย์สินหลบหนีการยึดหรืออายัดได้

ประเด็นที่สอง  คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา  เห็นว่า  คำร้องขอของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นคำขอ  ตามมาตรา  254(2)  อันเป็นคำขอฝ่ายเดียวที่ไม่เคร่งครัด  กล่าวคือ  เป็นดุลพินิจของศาลที่จะส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ก็ได้  ดังนั้น  เมื่อได้ความว่า  ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยได้มีโอกาสคัดค้านก่อน  อันถือว่า  ศาลใช้ดุลพินิจไม่รับฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง  ตามมาตรา  21(3)  ตอนต้น  ฉะนั้น  คำสั่งศาลในกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สรุป  คำสั่งศาลที่อนุญาตตามคำขอของโจทก์โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสจำเลยได้คัดค้านก่อนทั้ง  2  กรณีนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ข้อ  4  ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของร่วม  จำเลยไม่ปฏิบัติ  ศาลแพ่งออกหมายบังคับตามคำร้องขอของโจทก์  และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินดังกล่าวเพื่อขายนำเงินมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง  ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า  ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่ง  ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายที่ดินส่วนที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวกึ่งหนึ่ง

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  282  วรรคแรก  ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งใดกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่ง  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้  เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธียึดหรืออายัด  และขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติในลักษณะนี้

มาตรา  287  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่บุคคลภายนอกจะใช้สิทธิทางศาล  ตามมาตรา  287  ได้นั้น  ต้องได้ความว่า  มีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้  และการบังคับคดีนั้น  ไปกระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆของบุคคลภายนอก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้หรือไม่  เห็นว่า  คำพิพากษาที่ให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของร่วมด้วยกันนั้น  โจทก์และจำเลยมิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน  การบังคับคดีแก่ที่ดินเพื่อแบ่งในระหว่างเจ้าของรวม  จึงมิใช่การบังคับแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  282  วรรคแรก  กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์  ตามมาตรา  287  ที่บัญญัติว่า  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย  ผู้ร้องย่อมไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่แก่โจทก์เข้ามาในชั้นบังคับคดีนี้ได้  หากผู้ร้องมีสิทธิในเงินที่โจทก์จะได้รับจากการบังคับคดีแก่ที่ดินในคดีนี้อย่างไรก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ต่างหากจากคดีนี้  ศาลแพ่งชอบที่จะไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา  (ฎ.5470/2536)

สรุป  ศาลแพ่งชอบที่จะไม่รับคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องไว้พิจารณา 

LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่ง  จำเลยซึ่งแพ้คดีในศาลชั้นต้นได้อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าขึ้นศาล  ศาลอนุญาตแต่ถึงกำหนดจำเลยไม่วางเงินเพราะหาเงินไม่ทัน  จากนั้นจำเลยร้องขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างอนาถา  ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยยกคำร้องพร้อมกับมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์  จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นแต่ประการใด  ดังนี้  จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 234  ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์  ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้น  ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง

วินิจฉัย

ตามมาตรา  234  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไว้ดังนี้

1)    ต้องทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์

2)    ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน  15  วัน  นับแต่ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

3)    นำค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาล

4)    ถ้าหากเป็นหนี้เงินก็ต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา  หรือหาประกันไว้ต่อศาล

กรณีตามอุทาหรณ์  จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยยกคำร้องขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างอนาถาของจำเลย  พร้อมกับมีคำสั่งไม่รับฟ้องอุทธรณ์  กรณีเช่นนี้  จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ได้โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น  ทั้งนี้แม้ได้ความว่าจำเลยจะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ก็ตาม  เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา  จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งคำสั่งก่อนแต่ประการใด

สรป  จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องอุทธรณ์ได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายฐานละเมิดรวม  2  ล้านบาท  จำเลยให้การสู้คดีตามกฎหมายขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นฟังพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วนัดฟังคำพิพากษา  ก่อนถึงวันนัด  2  วัน  ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีขอเป็นโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้โจทก์ยืมไปแล้วสูญหายเนื่องจากการละเมิดของจำเลยแล้วเรียกเอาค่าเสียหายเพิ่มเติมรวม  3  ล้าน  ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องควรไปฟ้องเป็นคดีใหม่เพราะคดีเดิมจะพิพากษาอยู่แล้ว  มีคำสั่งยกคำร้อง  จำเลยมีความเห็นว่าศาลชั้นต้นควรรับพิจารณาคดีของผู้ร้องไปเสียทีเดียว  หากให้ไปฟ้องเป็นคดีใหม่  จำเลยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น  ต้องจ้างทนายสู้คดีอีก  ดังนี้  จำเลยจะขออุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับพิจารณาคดีของผู้ร้องต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

วินิจฉัย

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  223  ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่ากฎหมาย  ไม่ได้บัญญัติชัดแจ้งว่า  คู่ความอุทธรณ์ได้  เท่านั้น  คงบัญญัติแต่เพียงว่าให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  ดังนั้นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรา  223  จึงหาได้จำกัดแต่เพียงว่าผู้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นจะต้องเป็นคู่ความเท่านั้น  ถ้าผู้อุทธรณ์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีแล้ว  ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา  223  จึงอาจแบ่งได้  2  กรณี  คือ

 1)    คู่ความ  กล่าวคือ  บุคคลผู้ยื่นฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล

2)    บุคคลภายนอกซึ่งถูกกระทบกระทั่งหรือมีส่วนได้เสียในคดี

คดีโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายฐานละเมิด  ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยพิพาทกันและถือว่าโจทก์จำเลยมีฐานะเป็นคู่ความในคดี

ส่วนการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาแล้วศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้น  กรณีเช่นนี้  ผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้คือ  ผู้ร้อง  เมื่อได้ความว่า  ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์  จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์  เพราะจำเลยไม่ใช่คู่ความในส่วนคดีของผู้ร้อง  อีกทั้ง  การที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลภายนอกซึ่งถูกกระทบกระทั่งหรือมีส่วนได้เสียในคดีแต่ประการใด  ดังนั้น  จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามมาตรา  223  (ฎ. 1254/2547)

สรุป  จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น

 

ข้อ  3  (ก)  คำว่า  ยึด  ตาม  ป.วิ.แพ่ง  หมายความว่าอย่างไร  จงอธิบายพอสังเขป

(ข)  โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  โจทก์สืบทราบว่าจำเลยลักลอบนำทองแท่งหนีภาษีเข้ามาในประเทศ  ถูกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจับกุมจำเลยพร้อมของกลางเก็บไว้  เพื่อเป็นหลักฐานจะดำเนินคดีตามกฎหมาย  และจะขอให้ศาลริบของกลางต่อไป  ดังนี้  โจทก์จะขอให้ศาลยึดทองแท่งนี้ไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  254  ในคดีอื่นๆ  นอกจากคดีมโนสาเร่  โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว  ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไปเพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใดๆดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา  รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย

(ก)  อธิบาย  คำว่า  ยึด  หมายถึง  การที่โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ไปกระทำการยึดทรัพย์สิน  และทรัพย์สินหรือเงินที่ยึดจะต้องเป็นกรรรมสิทธิ์ของจำเลย  ฎ. 481/2541)  และจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดไม่สำคัญ  เช่น  จำเลยนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ไว้กับธนาคาร  กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของจำเลย  แม้ที่ดินจะติดจำนองอยู่  โจทก์ก็นำยึดได้  แต่ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่า  ที่ดินเป็นของจำเลยแต่นำไปขายฝากกับบุคคลภายนอกไว้  โดยหลักกฎหมายเกี่ยวกับขายฝาก  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่วันทำสัญญา  (ป.พ.พ.  มาตรา  491)  เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ใช่ของจำเลย  โจทก์จึงยึดไม่ได้

(ข)  วินิจฉัย  โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทองแท่งนี้ไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทองแท่ง  ถือเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างศาลพิจารณาก่อนพิพากษา  ตามมาตรา  254(1)  เมื่อได้ความว่า  ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบทองแท่งหนีภาษีนี้ก็ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย  ดังนั้นโจทก์ก็ชอบจะให้ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาได้  ตามมาตรา  254(1)  (ฎ. 1533/2525)

สรุป  โจทก์ชอบจะขอให้ศาลมีคำสั่งริบทองแท่งดังกล่าวได้

 

ข้อ  4  บริษัทเอ  เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายบี  คดีถึงที่สุดแล้วนายบีไม่ชำระหนี้  บริษัทเอได้ขอให้ยึดทรัพย์สินของนายบีเพื่อขายทอดตลาด  ก่อนถึงวันนัดขายทอดตลาด  บริษัทซีได้ร้องขอเข้ามาในคดีอ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทเอ  บริษัทเอไม่มีทรัพย์สินใดๆ  ที่จะบังคับคดีเอาชำระหนี้ได้นอกจากสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินนายบี  บริษัทซีของสวมสิทธิของบริษัทเอขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ของตน  ดังนี้  บริษัทซีจะดำเนินการเช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

วินิจฉัย

บริษัทซีผู้ร้องจะขอสวมสิทธิบริษัทเอขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตนได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  ผู้ที่จะมีสิทธิบังคับคดีและผู้มีหน้าที่ต้องถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ตามมาตรา  271  กำหนด ให้เป็นสิทธิและหน้าที่ของคู่ความ  หรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี  หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า  บริษัทซีผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทเอ  ประสงค์จะขอสวมสิทธิของบริษัทเอขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตน  เช่นนี้  บริษัทซีผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิใช่คู่ความในคดีหรือเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายชนะคดี  (ฎ. 8325/2544)  ดังนั้น  จึงไม่อาจสวมสิทธิบริษัทเอเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตนได้  ทั้งกรณีดังกล่าวนี้  ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจบริษัทซีเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีได้แต่ประการใด  (เทียบ  ฎ. 7567/2547)

สรุป  บริษัทซีไม่อาจสวมสิทธิของบริษัทเอเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตนได้

LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 ซ่อม 1/2551

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.    ในคดีแพ่ง จำเลยได้ขอเจรจากับโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้โดยตกลงจะชำระในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความร้อยละ 50  ของจำนวนหนี้ ส่วนที่เหลือจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 5 สัปดาห์นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม โจทก์ตกลงและศาลได้พิพากษาตามยอม หลังจากนั้นจำเลยรีบเร่งขายทรัพย์สินของจำเลย เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ จำเลยไม่ชำระตามข้อตกลง โจทก์จึงทราบว่าถูกจำเลยวางแผนหลอกให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ  ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์ขอเพิกถอนข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

อ้างเนื้อหา ป.วิ.แพ่ง มาตรา 229  แล้วอธิบายแสดงความเข้าใจในหลักกฎหมายดังกล่าวพอสังเขป  แล้ววินิจฉัยว่าการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการภายใน 1 เดือน  นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 5 สัปดาห์  โจทก์จึงทราบความจริงว่าถูกจำเลยฉ้อฉล ระยะเวลาได้ล่วงเลย 1 เดือนนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ทำให้โจทก์สิ้นสิทธิอุทธรณ์

ข้อ 2.       โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ  ขอศาลบังคับจำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมค่าเสียหาย 5 ล้านบาท  หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถยนต์และค่าเสียหาย 10 ล้านบาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อเกิดจากเจตนาลวง ความจริงจำเลยนำที่ดินตีราคาซื้อรถพิพาทจากโจทก์เป็นการชำระราคาครบถ้วนแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยอีก  ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์  จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ตีราคาที่ดินชำระหนี้แล้ว  คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง  ดังนี้ จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

อ้างเนื้อหา ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 แล้วอธิบายแสดงความเข้าใจในหลักกฎหมายดังกล่าวพอสังเขป แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยชอบที่จะอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้ทุกประเด็น  แม้เรื่องอำนาจฟ้องนั้นจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้นซึ่งปกติประเด็นใดที่ไม่ได้ต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้น  จะยกขึ้นอุทธรณ์ไม่ได้  แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยฯ  จึงอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 225 วรรคสอง

ข้อ 3.       โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินไว้กับจำเลย ต่อมาโจทก์นำสินไถ่จำนวนเงิน 100 ล้านบาทมาขอไถ่ที่ดินคืน จำเลยกลับบิดพลิ้วไม่ยอมรับการไถ่ถอน ขอให้ศาลบังคับจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากให้โจทก์  จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ใช้สิทธิไถ่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิไถ่  ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์  ในระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลว่า ที่ดินที่พิพาทมีรายได้ มีค่าเช่า และผลประโยชน์รวมกันประมาณเดือนละ 2 ล้านบาท  และจำเลยเป็นผู้รับผลประโยชน์ไปแต่ฝ่ายเดียว  หากโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี  โจทก์จะได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตั้งผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาทมาวางศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาจำเลยได้รับสำเนาแล้วมาแถลงคัดค้าน ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์จำเลยได้ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์

ดังนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ตั้งผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาทมาวางศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  มาตรา 264

การที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่ขายฝากมาวางศาลเป็นคำขอวิธีการชั่วคราวตามมาตรา 264  ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตได้ต่อเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์เพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนพิพากษา แต่ที่ดินที่ขายฝากยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่  จำเลยย่อมมีสิทธิในดอกผลและผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่ขายฝาก  โจทก์หามีสิทธิได้ไม่  โจทก์ไม่ได้เสียหายอะไร โจทก์ไม่มีอะไรให้คุ้มครอง ศาลชอบที่จะมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์

ข้อ 4.       ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้จำเลยไป    จดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินให้โจทก์ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้โจทก์ถือ    คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินที่ยังขาดอยู่อีก 10 ล้านบาทมาชำระให้จำเลย จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลล่าง จำเลยฎีกา แต่จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลล่าง โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยนำคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นของโจทก์ ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี  และศาลชั้นต้นไม่ได้ออกคำบังคับแก่โจทก์

ดังนี้ จำเลยมาถามท่านว่า จำเลยจะขอให้ศาลออกคำบังคับแก่โจทก์ ให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินที่ยังขาดอยู่ 10 ล้านบาทมาชำระให้จำเลยได้หรือไม่  ท่านจะให้คำตอบแก่จำเลยอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย มาตรา 271 (7 คะแนน)

ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีก็เพียงแต่มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  ศาลฎีกาหาได้บังคับโจทก์ให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินที่ยังขาดอยู่มาชำระให้จำเลยไม่  เมื่อศาลฎีกามิได้บังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติ จำเลยจะร้องขอให้บังคับให้โจทก์ปฏิบัติไม่ได้ จำเลยไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 271  จำเลยจะร้องขอให้ศาลออกคำบังคับแก่โจทก์ไม่ได้

LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3007 (LA 307),(LW 307) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1   ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ได้ร้องขอบังคับคดี ให้ยึดที่ดินของจำเลยที่อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดชลบุรี ศาลแพ่งได้ออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดชลบุรีบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย  ต่อมาจำเลยได้ร้องขอให้ศาลจังหวัดชลบุรีเพิกถอนการขายทอดตลาด จำเลยอ้างว่าการขายได้ราคาต่ำกว่าราคาจริงมาก  การขายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจังหวัดชลบุรีไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย  จำเลยอุทธรณ์โดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดชลบุรี ศาลจังหวัดชลบุรีตรวจฟ้องอุทธรณ์แล้วสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าคำสั่งรับอุทธรณ์ของศาลจังหวัดชลบุรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

อ้างหลัก ป.วิ.แพ่ง มาตรา 229 ครบถ้วน (10 คะแนน)

ศาลจังหวัดชลบุรีได้รับมอบหมายจากศาลแพ่งให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน จึงมีอำนาจสั่งไต่สวนเพื่อมีคำสั่งขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ สำหรับการยื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 229 คู่ความจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเมื่อศาลจังหวัดชลบุรีเป็นศาลที่ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของจำเลย ๆ ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดชลบุรีได้ (นัย ฏ.1354/2550) คำสั่งรับอุทธรณ์จำเลยของศาลจังหวัดชลบุรีชอบด้วยกฎหมาย (15 คะแนน)

 

ข้อ 2      โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ราคา 100,000 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 100,000 บาท จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเกิดขึ้นจากเจตนาลวง ความจริงจำเลยซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์และชำระราคาครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อแต่ราคาสูงเกินไป จึงพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์หรือให้ใช้ราคา 50,000 บาท

(ก)  จำเลยอุทธรณ์ว่า ลายมือชื่อของผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อมิใช่ลายมือชื่อของจำเลย แต่เป็นลายมือชื่อปลอม
(ข)  โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ให้จำเลยใช้แทนต่ำเกินไป สมควรกำหนดให้ 100,000 บาทตามฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโจทก์ในแต่ละกรณี ดังกล่าวหรือไม่

ธงคำตอบ(ก)  จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเกิดจากการแสดงเจตนาลวงเท่ากับจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจริง แต่อ้างว่าสัญญาซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อและเป็นลายมือชื่อปลอม อันเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 225 วรรคหนึ่ง

(ข)  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือให้ใช้ราคา 50,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อต่ำเกินไป สมควรกำหนดให้ 100,000 บาท ตามฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดราคาทรัพย์สินพิพาทของศาลชั้นต้นจากราคา 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท    อันเป็นข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นอุทธรณ์ในคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (10 คะแนน)

ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยและโจทก์ในแต่ละกรณีดังกล่าวมิได้

 

ข้อ 3       โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน 10 ล้านบาทฐานกระทำผิดสัญญา จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดสัญญา ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดสัญญา และมี     คำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์  ต่อมาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์  จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่า โจทก์ไม่มีภูมิลำเนาและไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงิน 5 แสนบาทต่อศาลเพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียม  ศาลให้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ โจทก์ไม่แถลงคัดค้าน  ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่คัดค้านและมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลตามคำร้องของจำเลย

ดังนี้ ศาลใดเป็นศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์วางเงิน และคำสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย   มาตรา 253 วรรค 2 และมาตรา 253 ทวิ

การที่จำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลเพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียม เป็นคำขอวิธีการชั่วคราวตามมาตรา 253 ทวิ ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาเป็นศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์วางเงิน และกรณีนี้จะนำมาตรา 253 ทวิ วรรค 2 มาใช้ไม่ได้

                ในกรณีศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์วางเงิน ศาลจะต้องทำการไต่สวนก่อน ให้ศาลเชื่อว่ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 253 วรรค 2 ประกอบมาตรา 253 ทวิ วรรค 3 แต่ศาลหาได้ทำการไต่สวนไม่ คำสั่งของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตรา 253 วรรค 2

 

ข้อ 4     ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคา 500,000 บาทแก่โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท แต่จะขอให้จำเลยใช้ราคา 500,000 บาท แทนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท จำเลยแถลงคัดค้านว่าหากจำเลยจะใช้ราคา ก็จะขอใช้ราคาตามราคาในปัจจุบันเพียง 200,000 บาท

ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะบังคับคดีตามคำร้องขอของโจทก์หรือไม่

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายแพ้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วน คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น      โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ได้ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น (5 คะแนน)

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยจดทะเบียนที่ดินพิพาทหรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคา 500,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามลำดับในคำพิพากษา กล่าวคือ เมื่อจำเลยยังอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาในลำดับแรกที่ต้องโอนที่ดินพาทให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาในลำดับหลังได้ ทั้งนี้ เพราะการบังคับตามคำพิพากษาต้องอาศัยตามคำบังคับที่ได้ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น มิใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใด โดยจำเลยมิได้ตกลงยินยอมด้วยมิได้ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะบังคับคดีตามคำร้องขอของโจทก์หาได้ไม่ (15 คะแนน)

LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  จำเลยซึ่งแพ้คดีได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยจำเลยชำระค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  แต่ไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา  229  ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย  จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น  ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์  จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์  ให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นภายใน  5  วัน  นับแต่วันทราบคำสั่ง  แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป  จำเลยไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งศาลอุทธรณ์  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าจำเลยจะฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  236  วรรคแรก  เมื่อคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ให้ศาลส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์  ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องตรวจสำนวน  ให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์  ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้อง  แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์  คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุด  แล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน

มาตรา   247  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น  ให้ยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งอุทธรณ์นั้นและภายใต้บังคับบทบัญญัติสี่มาตราต่อไปนี้กับกฎหมายอื่นว่าด้วยการฎีกา  ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ  1  ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่จะถือว่าเป็นที่สุดตามมาตรา  236  วรรคแรกนั้น  ต้องได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  จำเลยจะฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีนี้ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย  และคำสั่งของศาลอุทธรณ์กรณีนี้ก็ไม่ได้มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยแต่ประการใด  ศาลอุทธรณ์เพียงแต่เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์  และให้แจ้งจำเลยชำระค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ต่อไปเท่านั้น  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา  236  วรรคแรก  อันจะทำให้คดีถึงที่สุดไม่    ดังนั้น  จำเลยจึงชอบที่จะฎีกาต่อไปได้  ตามมาตรา  247 (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  919/2550)

สรุป  จำเลยฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต่อไปได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  1,000,000  บาท  แก่โจทก์จำเลยให้การว่า  สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีมูลหนี้  จำเลยไม่ต้องรับผิด  ขอให้ยกฟ้องในวันนัดสืบพยานโจทก์  โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า  สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องมีมูลหนี้ตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์  ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยให้รับผิดชำระเงินตามเช็คดังกล่าวแล้ว  แต่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าเช็คมีมูลหนี้มาจากการเล่นพนันกัน  คดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้  จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์แล้วนัดฟังคำพิพากษา  ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาในวันที่โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันดังกล่าว  โดยอ้างว่าผิดระเบียบ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากคำแถลงรับของโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยตามฟ้องไม่มีมูลหนี้  จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์

ให้วินิจฉัยว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์  และที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอน

การพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  24  วรรคแรกและวรรคท้าย  เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง  ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว  จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก  หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ  หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป  ก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้วเมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ  ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป  ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น

คำสั่งใดๆของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227, 228  และ  247

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

 (1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

วินิจฉัย

คำสั่งระหว่างพิจารณาจะอุทธรณ์ทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว  ตามมาตรา  226

ส่วนกรณีที่ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  ตามความในมาตรา  227  และ  228  นั้น  คำสั่งศาลกรณีนี้  ตามกฎหมายบัญญัติมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  และอยู่ภายใต้บังคับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  กล่าวคือ  คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ทันทีและจะต้องอุทธรณ์ภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี  (โดยไม่ต้องโต้แย้ง)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์ได้หรือไม่  เห็นว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์แล้วมีคำสั่งพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยตรง  ฟังข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากคำแถลงรับของโจทก์และจำเลยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยตามฟ้องไม่มีมูลนั้น  จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์  เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบพยาน  โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันนั้น  เป็นอันเพียงพอที่จะรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้  โดยไม่จำเป็นต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบ  จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณามิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย  ตามมาตรา  24  กรณีเช่นนี้โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์  โดยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนมีคำพิพากษาไม่ได้  ต้องห้ามตามมาตรา  226(2)  (ฎ. 201/2524)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้หรือไม่  เห็นว่า  คำสั่งของศาลดังกล่าวถือเป็นคำสั่งใดๆ  ก่อนที่ศาลนั้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีและมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง  ตามมาตรา  227, 228  ทั้งมิได้ทำให้คดีนั้นเสร็จไปจากศาล  จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาและคู่ความฝ่ายที่โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว  ตามมาตรา  226(1) (2)  (ฎ. 160/2514  และ  ฎ. 7/2544)

แต่อย่างไรก็ดีคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226(2)  คู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เสียก่อนจึงจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายหลัง  และประการสำคัญศาลต้องให้คู่ความมีโอกาสและมีเวลาพอสมควรที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้  แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษาในวันเวลาเดียวกัน  ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีเวลาและโอกาสยื่นคำโต้แย้งและคำสั่งดังกล่าวได้  กรณีเช่นนี้โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อนมีคำพิพากษา  (ฎ. 169/2511)

สรุป  โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์ไม่ได้  แต่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์  จำเลยให้การต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย  และจำเลยก็เป็นทายาท  โจทก์จะขับไล่จำเลยไม่ได้  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย  และโจทก์จำเลยต่างก็เป็นทายาทของผู้ตาย  และมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์  ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์  จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่าบ้านและที่ดินที่พิพาทมีค่าเช่าเดือนละ  20,000  บาท  ในระหว่างคดี และโจทก์เป็นผู้รับไปแต่ฝ่ายเดียว  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาล  ศาลไต่สวนไดข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลย  และมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาล

ดังนี้  ศาลใดมีอำนาจสั่งคำร้องของจำเลย   และคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ศาลใดมีอำนาจสั่งคำร้องของจำเลย  เห็นว่า  การที่จำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาล  ถือเป็นคำขอวิธีการชั่วคราว  ตามมาตรา  264  เมื่อจำเลยยื่นในระหว่างอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา  จึงเป็นศาลที่มีอำนาจสั่งคำร้องของจำเลย  ทั้งมาตรา  264  ก็มิได้บัญญัติให้นำมาตรา  254  วรรคท้ายมาใช้กับคำขอ  ตามมาตรา  264

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ในการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ยื่นไว้  ตามมาตรา  264  ศาลจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทในคดีให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนพิพากษา

เมื่อจำเลยให้การต่อสู้และให้ศาลยกฟ้องโจทก์  แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งให้ใช้ค่าเสียหายที่มิได้รับผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายด้วย  กรณีเช่นนี้  จำเลยจะร้องขอให้โจทก์นำผลประโยชน์และค่าเช่ามาวางศาลอุทธรณ์ไม่ได้  เพราะถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การของจำเลยเท่านั้น  ไม่มีผลบังคับไปถึงค่าเช่าและผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินพิพาทด้วยแต่ประการใด  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  264  ( ฎ.  1463/2515)

สรุป  ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่อำนาจสั่งคำร้องของจำเลย  และคำสั่งที่ให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์  กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน  30,000  บาท  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  โจทก์ขอให้บังคับคดีระหว่างพนักงานบังคับคดีจัดการตามคำพิพากษา  จำเลยได้นำเงิน  30,000  บาท  มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา  ในกรณีใดกรณีหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(1) นายจันทร์ยื่นคำร้องว่า  ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์  โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งกันที่ดินพิพาทจากการบังคับคดีของโจทก์

(2) นายอังคารยื่นคำร้องว่า  นายอังคารเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน  50,000  บาท  แก่นายอังคาร  แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดที่นายอังคารอาจบังคับคดีได้  ขอให้มีคำสั่งให้นายอังคารเฉลี่ยทรัพย์จากเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้น

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายจันทร์  และนายอังคารไว้พิจารณาหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  287  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

มาตรา  290  เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก  แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ไม่ว่าในกรณีใดๆ  ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่ามานี้  เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายจันทร์ไว้พิจารณาหรือไม่  เห็นว่า  คำร้องของนายจันทร์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งกันที่ดินพิพาทจากการบังคับคดีของโจทก์  ถือเป็นคำขอ  ตามมาตรา  287  ซึ่งบัญญัติว่า  การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย  ซึ่งการที่โจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้โจทก์เข้าครอบครองบ้านพิพาทนั้นถือเป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดไว้  มิใช่เป็นการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในอันที่ผู้ร้องจะขอกันส่วนบ้านพิพาทในคดีนี้ได้  ทั้งนี้เพราะการร้องขอกันส่วน  ได้แก่  การที่บุคคลภายนอกผู้เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกนี้ตามคำพิพากษามาชำระหนี้ของตนก่อนเจ้าหนี้อื่น  แต่กรณีมิใช่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  287  ดังกล่าว  นายจันทร์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอกันส่วนที่ดินพิพาทจากการบังคับคดีของโจทก์ในที่ดินได้  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายจันทร์ไว้พิจารณาไม่ได้  (ฎ. 4832/2536)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายอังคารไว้พิจารณาหรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  ตามมาตรา  290  กำหนด  ให้อำนาจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ตนเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น  แต่เงินจำนวน  30,000  บาท  เป็นเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา มิใช่ทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  กรณีเช่นนี้แม้นายอังคารเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นของจำเลย  นายอังคารก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายอังคารเฉลี่ยทรัพย์ตามคำร้องได้  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายอังคารไว้พิจารณาไม่ได้  (ฎ. 1324/2503  (ประชุมใหญ่)  ฎ. 6324/2538)

สรุป  ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายจันทร์และนายอังคาร

LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสจากจำเลย  30  ล้านบาท  จำเลยให้การต่อสู้คดีตามกฎหมาย  ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องอุทธรณ์เห็นว่าไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามมาตรา  230  แต่โจทก์ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ  ก้าวร้าว  เสียดสีศาล  ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ส่งคำฟ้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา  232  ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

มาตรา  232  เมื่อได้รับอุทธรณ์แล้ว  ให้ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ถ้าศาลปฏิเสธไม่ส่ง  ให้ศาลแสดงเหตุที่ไม่ส่งนั้นไว้ในคำสั่งทุกเรื่องไป  ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์  ศาลจะวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งสองฉบับนั้นในคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

วินิจฉัย

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว  ย่อมเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่กฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้เป็นที่สุด  หรือห้ามอุทธรณ์หรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์

กรณีตามอุทธรณ์  การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า  โจทก์ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ  ก้าวร้าว  เสียดสีศาล  ศาลชั้นต้นจึงปฏิเสธไม่ส่งฟ้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์  ตามมาตรา  232  ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  เมื่อศาลชั้นต้น  มีคำสั่งตามมาตรา  232  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา  232  แล้ว  ไม่ได้บัญญัติให้คำสั่งตามมาตรานี้เป็นที่สุด  หรือห้ามอุทธรณ์หรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์แต่ประการใด  ดังนั้น  โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีจึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นได้  ตามมาตรา  223

สรุป  โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นได้

ข้อ  2  โจทก์นำสัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้เป็นประกันค่าตอบแทนที่โจทก์จะช่วยวิ่งเต้นให้ลูกชายจำเลยไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารมาฟ้องขอศาลบังคับจำเลยชำระหนี้  3  แสนบาท  จำเลยไม่สู้คดีแต่ขอประนีประนอมยอมความโดยชำระในวันยอมความ  100,000  บาท  ที่เหลือจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน  2  เดือน  นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว  หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว  1  เดือน  จำเลยจึงทราบจากผู้รู้ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นผิดกฎหมาย  ไม่จำต้องรับผิดชอบทั้งแนะนำให้จำเลยอุทธรณ์ขอศาลอุทธรณ์เพิกถอนข้อตกลงที่ทำไว้ได้  ดังนี้  คำแนะนำนี้ถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น  และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้  แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้  เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

 (2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับ

มาตรา  229  การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย  ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล  เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์  (คือฝ่ายโจทก์หรือจำเลยความเดิมซึ่งเป็นฝ่ายที่มิได้อุทธรณ์ความนั้น)  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  235  และ  236

วินิจฉัย

ในคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความแล้ว  จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้  เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใด  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  138  วรรคสอง  กล่าวคือ

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญากู้ที่จำเลยทำไว้เป็นประกันค่าตอบแทนที่โจทก์ช่วยวิ่งเต้นให้ลูกชายจำเลยไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร อันถือว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยนั้นขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  เพราะการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร  เป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและประโยชน์สาธารณะ  ดังนั้น  แม้ต่อมาคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วก็ตาม  คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวก็ถือว่าละเมิดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้นได้  ตามมาตรา  138(2)

แต่อย่างไรก็ดี  หากจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้น  จำเลยก็ต้องอยู่ในบังคับที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  กล่าวคือ  คำฟ้องอุทธรณ์ตามกฎหมายกำหนดให้ยื่นภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง  ตามมาตรา 229  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เวลานับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ล่วงเลย  1  เดือนแล้ว  จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์เพิกถอนข้อตกลงที่ทำไว้  คำแนะนำดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง

สรุป  จำเลยหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์เพิกถอนข้อตกลงที่ทำไว้  คำแนะนำดังกล่าวไม่ถูกต้อง

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอศาลบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายรวม  2  แสนบาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ ลายเซ็นชื่อในสัญญากู้ที่โจทก์อ้างมาในฟ้องนั้นไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย  แต่เป็นลายเซ็นปลอมที่โจทก์กับพวกจัดทำขึ้น  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์เกรงว่าจำเลยจะยักยอก  จ่ายโอนทรัพย์สิน  หากโจทก์ชนะคดีก็จะไม่เหลือทรัพย์สินใดๆของจำเลยที่โจทก์จะบังคับเอาชำระหนี้ได้  โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอศาลยึดรถยนต์กระบะของจำเลย  1  คัน  ไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์จะร้องขอยึดเช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  189  คดีมโนสาเร่  คือ

(1) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(2) คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ  ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  254  ในคดีอื่นๆ  นอกจากคดีมโนสาเร่  โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว  ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไปเพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใดๆดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา  รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย

วินิจฉัย

การขอคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา  254  ใช้กับคดีแพ่งทุกประเภท  เว้นแต่คดีต่อไปนี้จะใช้มาตรา  254  ไม่ได้  คือ

1       คดีมโนสาเร่  กล่าวคือ  คดีที่โจทก์จะยื่นคำขอ  ต้องไม่ใช่คดีมโนสาเร่  ความในมาตรา  254  ห้ามไว้ชัดว่า  ในคดีอื่นๆนอกจากคดีมโนสาเร่  ฯลฯ  ดังนั้น  หากเป็นคดีมโนสาเร่ย่อมต้องห้ามมิให้นำบทบัญญัติมาตรา  254  มาใช้บังคับ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติลักษณะของคดีมโนสาเร่ไว้ในมาตรา  189  คือ

1)    คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน  300,000  บาท  หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

2)    คดีโดยสภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจขอได้  กล่าวคือ  คดีโดยสภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจขอได้แท้จริงแล้วไม่มีกำหนดไว้ในมาตรา  254  แต่ประการใด  มาตรา  254  กำหนดแต่เพียงห้ามคดีมโนสาเร่เท่านั้นแต่คดีโดยสภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจขอได้เป็นการพิจารณาจากคำฟ้องที่ไม่อาจมีคำขอตามมาตรา  254  ได้เลย  ถ้ายื่นคำขอไป  ศาลก็คงมีคำสั่งคุ้มครองใดๆไม่ได้  เช่น  ฟ้องหย่า  ฟ้องเพิกถอนการสมรส  ฟ้องขอให้รับรองบุตร  ดังนี้  โดยสภาพแห่งคำฟ้องอยู่ในลักษณะไม่อาจขอให้ยึดหรืออายัดได้เลย

กาที่โจทก์ฟ้องขอศาลบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายรวม  2  แสนบาท  ในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  โจทก์เกรงว่าจำเลยจะยักย้ายโอนทรัพย์สิน  หากโจทก์ชนะคดีก็จะไม่เหลือทรัพย์สินใดๆ  ของจำเลยที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้  โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอศาลยึดรถยนต์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา  คำร้องของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นคำขอคุ้มครองประโยชน์  ตามมาตรา 254(1)  ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งยึดเช่นว่านั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีที่โจทก์นำมาฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีมโนสาเร่  ตามมาตรา  189(1)  เพราะทุนทรัพย์ในคดีไม่เกิน  3  แสนบาท  ดังนั้น  แม้รถยนต์ที่โจทก์จะขอยึดนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยก็ตาม  โจทก์ก็จะร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งยึดไม่ได้  เพราะมาตรา  254  บัญญัติห้ามมิให้นำมาใช้บังคับกับคดีมโนสาเร่

สรุป  โจทก์จะร้องขอต่อศาลให้ยึดรถยนต์ของจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  4  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์  ถ้าไม่คืนหรือคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา  5  แสนบาท  คดีถึงที่สุด  ศาลออกคำบังคับ  โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ต่อมาจำเลยได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์  แต่รถยนต์อยู่ในสภาพเสียหายหนักใช้งานไม่ได้  ดังนี้โจทก์จะไม่ยอมรับรถยนต์คันดังกล่าวแต่เกี่ยงจะขอรับเป็นเงินตามคำบังคับโดยจำเลยไม่ยินยอมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

วินิจฉัย

การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต้องดำเนินการบังคับคดีก่อนหลังตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา  หาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่  (ฎ. 5641/2540, ฎ. 788/2543) 

การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  ตามคำบังคับภายในกำหนดเวลาที่คำบังคับกำหนด  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับรถยนต์คันพิพาทไม่ได้  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  โจทก์จะเลือกวิธีเรียกร้องให้จำเลยชำระราคารถยนต์แก่โจทก์  โดยจำเลยไม่ยินยอมด้วยไม่ได้  เพราะการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต้องดำเนินการบังคับก่อนหลังตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา  เมื่อการบังคับคดีในลำดับแรก  คือ  การคืนรถยนต์ยังอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะทำได้  โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเลือกการบังคับคดีในลำดับหลัง  แม้รถยนต์นั้นจะมีสภาพเสียหายไม่สามารถใช้การได้ก็ตาม  โจทก์เสียหายอย่างไรก็ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาจากจำเลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  ดังนั้น  โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ราคาเป็นเงิน  500,000  บาท  แทนการรับมอบรถยนต์โดยจำเลยไม่ตกลงยินยอมด้วยไม่ได้

สรุป  โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ราคาเป็นเงิน  500,000  บาท  แทนการรับมอบรถยนต์โดยจำเลยไม่ตกลงยินยอมด้วยไม่ได้

LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ก่อน  ตัวโจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานและจะต้องเข้าเบิกความเป็นคนแรกไม่มาศาลตามนัด  ทั้งไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ  ทั้งไม่มีพยานโจทก์คนใดมาศาลเลย  ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความโดยจำเลยไม่คัดค้าน  หลังจากศาลมีคำสั่ง  2  วัน  จึงทราบความจริงว่าในวันนับสืบพยานโจทก์นั้น  ทนายโจทก์ได้ขับรถยนต์ไปรับตัวโจทก์และพยานบุคคลอื่นๆ  เพื่อจะมาศาลแต่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตกถนน  เนื่องจากฝนตกถนนลื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส  ทุกคนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้  ไม่สามารถติดต่อแจ้งศาลได้  ทำให้มาศาลไม่ได้  เคราะห์ดีที่มีผู้ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตได้ทัน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าโจทก์จะอุทธรณ์ขอศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี  ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  202  ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา  ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

มาตรา  203  ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา  201  และมาตรา  202  แต่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ  คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นอุทธรณ์ได้เสมอ  เว้นแต่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนี้  หรือกฎหมายอื่นบัญญัติเป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  ทั้งนี้ตามมาตรา  223

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์ขอศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี  ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่  เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มาศาลตามนัด  ทั้งไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ  ทั้งไม่มีพยานโจทก์คนใดมาศาลเลย  จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา  ซึ่งตามมาตรา  202  บัญญัติบังคับให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  เว้นแต่จำเลยจะขอให้พิจารณาต่อไป  เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่คัดค้านคำสั่งจำหน่ายคดี  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ  จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย  และผลของคำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา  202  นี้  บทบัญญัติมาตรา  203  กำหนดห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเช่นว่านั้น  โจทก์จึงหมดสิทธิอุทธรณ์ขอเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา  223

สรุป  โจทก์จะอุทธรณ์ขอเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปไม่ได้

 

ข้อ  2  โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยว่า  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท  จำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นเนื้อที่  50 ตารางวา  ที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาระ  20,000  บาท  โจทก์บอกกล่าวขับไล่จำเลยแล้ว  จำเลยกลับอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของโจทก์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว  จึงขอให้บังคับขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์  ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องโจทก์ว่า  คำฟ้องโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์  ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่พิพาท  มิฉะนั้นจะไม่รับคำฟ้อง  ให้วินิจฉัยว่า

(ก)  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ได้หรือไม่  กรณีหนึ่ง

(ข)  หากโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง  โดยขอตัดข้อความในคำฟ้องเดิมที่ว่า  จำเลยกลับอ้างว่า  จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของโจทก์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว  ออก  นอกนั้นคงไว้ตามเดิม  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้หรือไม่  อีกกรณีหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1  ในประมวลกฎหมายนี้  ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(5) “คำคู่ความ  หมายความว่า  บรรดาคำฟ้อง  คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ

มาตรา  18  วรรคท้าย  คำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227 228  และ  247

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

มาตรา  228  วรรคแรกและวรรคสอง  ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คำสั่งเช่นว่านี้  คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน  นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณานั้น  มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1       จะต้องเป็นคำสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดี

2       เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล  กล่าวคือ  ศาลยังต้องทำคดีนั้นต่อไป

3       ไม่ใช่คำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227  และมาตรา  228

เมื่อเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว  คู่ความจะอุทธรณ์คำสั่งทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นตามมาตรา  226 (2)  ส่วนคำสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์  3  ประการนี้ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

(ก)  กรณีตามอุทธรณ์  กรณีคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท  มิฉะนั้นจะไม่รับคำฟ้องนั้น  แม้เป็นคำสั่งที่ศาลนั้นจะให้รับคำฟ้องไว้ก็ตาม  แต่เมื่อเป็นคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาล  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และมาตรา  228  แล้ว  กรณีจึงถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226  วรรคสอง  ซึ่งมาตรา  226  วรรคแรก (1)  บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา  โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว  (ฎ. 421/2518) 

(ข)  คำร้องของโจทก์ที่ขอแก้ไขคำฟ้อง  โดยขอตัดข้อความในคำฟ้องเดิมที่ว่า  จำเลยกลับอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของโจทก์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว  ออก  ถือเป็นคำร้องที่โจทก์ขอแก้ไขข้อหาอันกล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก  จึงเป็นคำคู่ความตามมาตรา  1 (5)  และมาตรา  179  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าว  ย่อมมีผลเป็นคำสั่งไม่รับคู่ความตามมาตรา  18  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อตามมาตรา  228 (3)  และไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226  โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตามมาตรา  228  วรรคสอง  คือ  ภายใน  1  เดือนนับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป  ทั้งนี้แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาก็ตาม  (ฎ. 1488/2529)

สรุป  (ก)  โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น

(ข) โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น

หมายเหตุ  กรณีตาม  (ข)  หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง  จะไม่ถือว่าเป็นคำสั่งตามมาตรา  228 (3)  แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226  ดังนั้นหากจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งนั้นก่อน  (ฎ. 58/2531,  ฎ. 1292 – 1293/2512)

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์  จำเลยให้การต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยก็เป็นทายาท  โจทก์จะบังคับขับไล่จำเลยไม่ได้  ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์  ศาลชั้นต้น  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าบ้านและที่ดินที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย  โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นทายาทของผู้ตาย  และมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีให้ยกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์  ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่า  บ้านและที่ดินพิพาทมีค่าเช่าในระหว่างคดีเดือนละ  5,000  บาท  และโจทก์เป็นผู้รับไปแต่ฝ่ายเดียว  ทำให้จำเลยต้องเสียหายและเสียสิทธิไม่ได้ค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทในระหว่างคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทในระหว่างคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทมาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษา  ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์  จำเลยได้ข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลย  และมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทในระหว่างคดีมาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษา

ดังนี้  ท่านเห็นว่าคำสั่งของศาลที่ให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพาะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ยื่นไว้ตามมาตรา  26  ศาลจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิ  หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทในคดีให้ได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษา

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาท  เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งในเรื่องค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินพิพาทด้วย  ดังนั้นจำเลยจึงร้องขอให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไม่ได้  เพราะถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การของจำเลยเท่านั้น  จำเลยไม่เสียหายอะไร  ไม่มีผลบังคับไปถึงค่าเช่าอันเกิดจากบบ้านและที่ดินพิพาทด้วยแต่ประการใด  กรณีไม่ใช่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยตามมาตรา  264  ดังนั้น  คำสั่งของศาลที่ให้โจทก์ นำค่าเช่ามาวางต่อศาลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยมาตรา  264  (ฎ. 1463/2515,  ฎ.1177/2524)

สรุป  คำสั่งของศาลที่ให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  ในกรณีดังต่อไปนี้  โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้หรือไม่  อย่างไร

(ก)  ในวันนัดฟังคำพิพากษา  โจทก์มาศาล  ส่วนจำเลยไม่มาศาล  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่โจทก์ฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ภายใน  15  วัน  นับแต่วันพิพากษา  ปรากฏว่าพ้นกำหนด  15  วันแล้ว  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

(ข) ในวันนัดฟังคำพิพากษา  จำเลยมาศาล  ส่วนโจทก์ไม่มาศาล  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่จำเลยฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  300,000  บาท   พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน  30  วัน  นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้  หากจำเลยไม่ปฏิบัติจะต้องถูกยึดทรัพย์  หรือถูกจับ  และจำขังตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี  และจำเลยได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งดังกล่าวไว้  ปรากฏว่าพ้นกำหนด  30  วันแล้ว  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

มาตรา  272  ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี  ก็ให้ศาลมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับในวันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง  และให้เจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับนั้นไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษา  เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคำบังคับนั้นและศาลได้สั่งให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

มาตรา  275  ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดี  ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี

มาตรา  282  วรรคแรก  ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งใดกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่ง  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้  เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธียึดหรืออายัด  และขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติในลักษณะนี้

วินิจฉัย

(ก)  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้หรือไม่อย่างไร  เห็นว่า  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่โจทก์ซึ่งมาศาลฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้แก่จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ภายใน  15  วัน  นับแต่วันพิพากษา  อันเป็นกรณีที่จะต้องมีการบังคับคดีแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษา  เมื่อจำเลยมิได้มาศาลในวันดังกล่าว  ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับส่งไปยังจำเลยตามมาตรา  272  ดังนั้น  เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีการส่งคำบังคับไปยังจำเลย  แม้จะพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาแล้วก็ตาม  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องขอให้ศาลมีคำบังคับส่งไปยังจำเลยเพื่อกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับด้วย  หากพ้นกำหนดเวลาตามคำพิพากษาต่อไป

(ข)  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้หรือไม่อย่างไร  เห็นว่า  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่จำเลยซึ่งมาศาลฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  300,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์  และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน  30  วัน  นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกยึดทรัพย์  หรือถูกจับ  และจำขังตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีและจำเลยได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งดังกล่าวไว้แล้ว  อันเป็นกรณีที่ศาลมีคำบังคับแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามมาตรา  271, 272  แล้ว  เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาที่กำหนดให้ชำระเงินแก่โจทก์และการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา  282  วรรคแรก  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อออกหมายบังคับคดีตามมาตรา  275  วรรคแรก  เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาต่อไป

สรุป  (ก)  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอให้ศาลมีคำบังคับส่งไปยังจำเลยเพื่อกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับ

(ข)  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อออกหมายบังคับคดีตามมาตรา  275  เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาต่อไป

LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1 ซ่อม S/2548

การสอบซ่อมภาค  2  และภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายหนึ่งออกเช็คชำระหนี้ให้นางสอง  100,000  บาท  นายสองนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกำหนด  ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีนายหนึ่งไม่พอจ่าย  นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า  ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ  จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน 

เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว  พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษนายหนึ่งทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ  ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  นายสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการและคำร้องของนายสองว่าอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2  ในประมวลกฎหมายนี้

(4)  ผู้เสียหาย  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5  และ  6

(7) คำร้องทุกข์  หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

มาตรา  30  คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว  ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

มาตรา  120  ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล  โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

มาตรา  121  วรรคสอง  แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว  ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

วินิจฉัย

นายสองเป็นผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  นายสองจึงเป็นผู้เสียหายทางอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ  ตามมาตรา  2(4)  แต่การที่นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า  ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ  จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน  ถือว่านายสองยังไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ  (ฎ. 62/2521)  ถ้อยคำที่แจ้งจึงไม่เป็นคำร้องทุกข์  ตามมาตรา  2(7)

ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามมาตรา  121  วรรคสอง  ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา  120  ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ

เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว  จึงไม่มีคำฟ้องอยู่ในศาล  นายสองแม้จะเป็นผู้เสียหายก็ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา  30  ศาลจึงต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน 

(ฎ. 228/2544)

สรุป  ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการและต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน

 

ข้อ  2  นายเอกร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนว่าถูกนายโทใช้ไม้ตีที่ศีรษะ  พนักงานสอบสวนตรวจบาดแผลพบเป็นรอยผื่นแดงเพียงเล็กน้อง  จึงแจ้งข้อหานายโทฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ)  นายโทให้การรับสารภาพและได้ชำระค่าปรับ  1,000  บาท  ที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ  รวมทั้งจ่ายค่ารักษาพยาบาล  2,000  บาท  ตามที่นายเอกเรียกร้องและยินยอมไปเรียบร้อยแล้ว

วันรุ่งขึ้นนายเอกมึนศีรษะ  อาเจียน  แพทย์ตรวจพบว่าสมองกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่ง  ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล  30  วัน  ค่ารักษาพยาบาล  100,000  บาท  นายเอกเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากนายโท  นายโทปฏิเสธโดยอ้างว่าคดีอาญาเลิกกันแล้ว  เป็นผลให้คดีอาญาระงับไปด้วย

ดังนี้  นายเอกจะฟ้องคดีอาญานายโททำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี  หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ)  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  37  คดีอาญาเลิกกันได้  ดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ  หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว

(3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ  หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานคร  เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป  หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้นๆได้เปรียบเทียบแล้ว

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป  ดังต่อไปนี้

(3) เมื่อคดีเลิกกัน  ตามมาตรา  37

วินิจฉัย

นายเอกจะยื่นฟ้องนายโทในคดีอาญาฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายเอกร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนว่าถูกนายโทใช้ไม้ตีที่ศีรษะ  พนักงานสอบสวนเห็นว่าบาดแผลเป็นรอยผื่นแดงเพียงเล็กน้อย  และแจ้งข้อหานายโทฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ  และเปรียบเทียบปรับโดยทั้งสองฝ่ายยินยอม  ทั้งนายโทก็ได้ชำระค่าปรับและจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้นายเอกตามที่เรียกร้องและยินยอมไปเรียบร้อยแล้วนั้นโดยปกติคดีอาญาย่อมเลิกกันตาม  มาตรา  37  และคดีอาญาระงับไป  ตามมาตรา  39(3)

แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น  นายเอกมึนศีรษะ  อาเจียน  แพทย์ตรวจพบว่าสมองกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่ง  ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล  30  วัน  กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำของนายโทเป้นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ซึ่งไม่ใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้ว  การเปรียบเทียบปรับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  คดีอาญายังไม่เลิกกัน  และคดีอาญายังไม่ระงับ  (ฎ. 354/2541)

สรุป  นายเอกจึงยื่นฟ้องคดีอาญานายโทฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้

 

ข้อ  3  นายอาร์ตบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ของนายแมนและนายกัลป์ที่เช่าบ้านพักอาศัยอยู่ด้วยกัน  ทรัพย์ที่ลักไปในคราวเดียวกันนี้ประกอบด้วยแจกันของนายแมนราคา  5,000  บาท  และนาฬิกาของนายกัลป์ราคา  3,000  บาท  ต่อมานายแมนยื่นฟ้องนายอาร์ตข้อหาลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ

ดังนี้  นายกัลป์จะยื่นฟ้องนายอาร์ตข้อหาบุกรุกต่อศาลที่มีอำนาจอีกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป  ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

วินิจฉัย

นายกัลป์จะยื่นฟ้องนายอาร์ตได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายอาร์ตบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ของนายแมนและนายกัลป์ไปในคราวเดียวกัน  ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท  คือฐานลักทรัพย์และฐานบุกรุก  หากมีการฟ้องขอให้ลงโทษนายอาร์ตในกระทำความผิดบทหนึ่งบทใดและศาลชั้นต้นพิพากษาถึงเนื้อหาของความผิดที่ฟ้อง  ก็ถือว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว  ตามมาตรา  39(4)  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า

1       จำเลยในคดีแรกและคดีที่มาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2       การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน

3       ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว

เมื่อได้ความว่านายแมนฟ้องขอให้ลงโทษนายอาร์ตข้อหาลักทรัพย์และศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้วตามมาตรา  39(4)  นายกัลป์จึงไม่สามารถฟ้องนายอาร์ต  ทั้งข้อหาลักทรัพย์และบุกรุกได้อีกเนื่องจากจะเป็นการฟ้องซ้ำ 

(ฎ. 7294/2544 ฎ. 6678/2531)

สรุป  ดังนี้  นายกัลป์จะยื่นฟ้องนายอาร์ตข้อหาบุกรุกต่อศาลที่มีอำนาจอีกไม่ได้

 

ข้อ  4  พ.ต.ต. สรรชัย  มีหลักฐานตามสมควรว่า  นายมนัสเป็นผู้ลักรถยนต์ของนายบุญชัย  ระหว่างที่  พ.ต.ต. สรรชัย  กำลังดำเนินการขอหมายจับนายมนัสจากศาล  ร.ต.ต. มนต์ชีพ  ได้รายงานให้  พ.ต.ต. สรรชัย  ทราบว่า  นายมนัสกำลังขับรถยนต์คันที่ลักจากนายบุญชัยออกไปนอกประเทศไทยหากรอหมายจับ  นายมนัสน่าจะขับรถออกนอกประเทศไทยไปก่อน  พ.ต.ต. สรรชัย  จึงตัดสินใจจับกุมนายมนัสทันทีโดยไม่มีหมายจับ

ดังนี้  การจับของ  พ.ต.ต. สรรชัย  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  78  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้  เว้นแต่

(3) เมื่อมีเหตุที่ออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา  66(2)  แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้

มาตรา  66  เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

วินิจฉัย

พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย

การจับของ  พ.ต.ต. สรรชัย  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พ.ต.ต. สรรชัยมีหลักฐานตามสมควรว่านายมนัสเป็นผู้ลักรถยนต์ของนายบุญชัย  และมีเหตุอันควรเชื่อว่านายมนัสจะหลบหนีเนื่องจาก  ร.ต.ต. มนต์ชีพได้รายงานให้  พ.ต.ต. สรรชัยทราบว่านายมนัสกำลังขับรถยนต์คันที่ลักจากนายบุญชัยออกไปนอกประเทศไทย  จึงมีเหตุที่จะขอให้ศาลออกหมายจับนายมนัสได้  ตามมาตรา  66(2)  แต่หากรอหมายจับจากศาลนายมนัสน่าจะขับรถออกนอกประเทศไทยไปก่อน  จึงถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับนายมนัสได้  พ.ต.ต. สรรชัยจึงมีอำนาจจับกุมนายมนัสได้โดยไม่มีหมายจับตามมาตรา  78(3)

สรุป  การจับของ  พ.ต.ต. สรรชัยจึงชอบด้วยกฎหมาย

LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1 S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอกใช้อาวุธปืนไม่มีทะเบียนยิงนายโทถึงแก่ความตาย  ระหว่างที่พนักงานสอบสวนคดีนี้  นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโทยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเอกฐานฆ่านายโท  คดีอยู่ระหว่างศาลไต่สวนมูลฟ้อง

เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น  พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกฐานฆ่านายโทและฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน  ส่วนนางทิพย์เมื่อทราบว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกแล้ว  จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง  ศาลอนุญาต

นายเทพบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายโททราบเรื่อง  จึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพว่าอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2  ในประมวลกฎหมายนี้

(4) ผู้เสียหาย  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5  และ  6

มาตรา  5  บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

มาตรา  30  คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว  ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

มาตรา  36  วรรคแรก  คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาอีกหาได้ไม่ …

วินิจฉัย

ผู้ที่จะขอเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้นั้น  จะต้องเป็นผู้เสียหาย  ตามนัยมาตรา  2(4)  ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง  หรืออาจเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายก็ได้  และในกรณีที่ผู้เสียหายคนเดียวมีผู้จัดการแทน  ตามมาตรา  5  หลายคน  ผู้จัดการแทนผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป  ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้

ศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพอย่างไร  เห็นว่า  ในกรณีมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครอง  ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนนั้น  ในฐานความผิดดังกล่าว  ถือเป็นความผิดอาญาต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายเอกชนไม่สามารถเป็นผู้เสียหายได้  ดังนั้น  ทั้งนายโทและนายเทพ  ต่างไม่ใช่ผู้เสียหายในฐานความผิดดังกล่าว  จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้ตามมาตรา  30  (ฎ. 1231/2533)

ส่วนความผิดฐานฆ่านายโทนั้น  เห็นว่า  แม้ว่านายเทพจะเป็นบุพการีที่มีอำนาจจัดการแทนนายโทตามมาตรา  5(2)  ก็ตาม  แต่เมื่อได้ความว่า  นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโท  ได้ใช้สิทธิจัดการแทนนายโทไปแล้ว  ด้วยการฟ้องคดีและถอนฟ้องไป  ซึ่งผลของการถอนฟ้องดังกล่าว  ทำให้ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีกตามมาตรา  36  วรรคแรก  ผลในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมีผลถึงนายเทพด้วย  เมื่อได้ความว่านายเทพไม่สามารถยื่นฟ้องได้  ก็ทำให้นายเทพขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้เช่นเดียวกัน  (ฎ. 1790/2492)

สรุป  ศาลต้องสั่งยกคำร้องนายเทพ

 

ข้อ  2  นายช้างบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ของนายเอกและนายโทที่เช่าบ้านอาศัยอยู่ด้วยกัน  ทรัพย์ที่ลักไปในคราวเดียวกันนี้ประกอบด้วยปากกาของนายเอก  ราคา  100  บาท  และนาฬิกาของนายโทราคา  10,000  บาท

ให้พิจารณาตอบคำถามแต่ละกรณีดังต่อไปนี้

(ก)  นายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์  ระหว่างศาลพิจารณาคดี  นายโทจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากนายเอกยื่นฟ้องผิดศาล  กรณีนี้นายโทจะยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์ต่อศาลที่มีอำนาจอีกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  30  คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว  ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

มาตรา  31  คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว  ซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว  พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

วินิจฉัย

(ก)  ตามกฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เสียหายและพนักงานอัยการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับคดีที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ฟ้องเท่านั้น  ผู้เสียหายจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่ผู้เสียหายด้วยกันเป็นโจทก์ฟ้องไม่ได้  (ฎ. 3320/2528)

นายโทจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายช้างบุกรุกเข้าไปลักปากกาของนายเอก  และนาฬิกาของนายโทไปในคราวเดียวกัน  ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่มีผู้เสียหาย  2  คน  เมื่อนายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์ต่อศาลแล้ว  ระหว่างศาลพิจารณาคดีนายโทจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกไม่ได้  เพราะเหตุว่า  มาตรา  30, 31  ได้บัญญัติเรื่องโจทก์ร่วมไว้เพียง  2  กรณี  กล่าวคือ  กรณีผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  และกรณีพนักงานอัยการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายเท่านั้น  ส่วนกรณีผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายไม่ได้ให้อำนาจไว้

ดังนั้น  นายโทจึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกไม่ได้

(ข)  การจะพิจารณาว่าเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่  ได้มีหลักเกณฑ์การฟ้องซ้ำ  ตามมาตรา  39(4)  ดังนี้

 (1) ผู้ถูกฟ้องเป็นคนเดียวกัน

(2) การกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้อง  เป็นการกระทำเดียวกัน

(3) มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว

การที่นายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์  และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากนายเอกยื่นฟ้องผิดศาล  การที่นายโทจะยื่นฟ้องนายช้างฐานลักทรัพย์อีกนั้น  แม้ผู้ถูกฟ้องจะเป็นนายช้างคนเดิม  การกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องก็เป็นการกระทำเดียวกัน  แต่คดีที่นายโทยื่นฟ้องไม่เป็นฟ้องซ้ำเพราะการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายเอกเพราะนายเอกยื่นฟ้องผิดศาลนั้น  ถือว่าศาลยังไม่ได้วินิจฉัยถึงเนื้อหาของความผิดฟ้อง  ซึ่งถือว่ายังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามหลักเกณฑ์ฟ้องซ้ำ  ข้อ  (3)

สรุป

(ก)  นายโทจึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกไม่ได้

(ข)  นายโทจึงยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์อีกได้

 

ข้อ  3  โดยปกติแล้ว  ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์  ถอนฟ้อง  หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  คดีอาญาย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  39(2)

อยากทราบว่า  มีกรณีใดบ้างที่เมื่อถอนคำร้องทุกข์  ถอนฟ้อง  หรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว  คดีอาญาก็ยังไม่ระงับ  จงอธิบาย

 ธงคำตอบ

มาตรา  35  วรรคสอง  คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น  จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้  แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน  ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย

มาตรา  36  คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่  เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้

(2) ตัวพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไป  โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย  การถอนนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

อธิบาย

โดยปกติแล้ว  ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์  ถอนฟ้อง  หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย  คดีย่อมระงับไปตามมาตรา  39(2)

แต่ก็มีกรณีที่กฎหมายบัญญัติ  หรือคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้บางกรณี  ที่เมื่อถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง  หรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว  คดีอาญาก็ยังไม่ระงับ  เช่น

 (1) กรณีพนักงานอัยการถอนฟ้องคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไปโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย  การถอนฟ้องนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่  (มาตรา  36(2))

 (2) กรณีผู้เสียหายถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัว  เพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการถือว่าเป็นการถอนฟ้องที่มีเงื่อนไข  ไม่ใช่การถอนฟ้องที่เด็ดขาด  คดีอาญาไม่ระงับ  พนักงานอัยการยังดำเนินคดีต่อไปได้  และผู้เสียหายก็ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้  (ฎ. 1245/2515)

(3) กรณีผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำคดีไปฟ้องเอง  ไม่เป็นการถอนคำร้องทุกข์ในลักษณะที่ไม่เอาผิดต่อผู้กระทำความผิด  หากแต่เป็นการถอนคำร้องทุกข์เพื่อใช้สิทธิในการฟ้องคดีเองคดีอาญาไม่ระงับ  (ฎ. 1792/2522)

(4) การยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว  ที่กระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการกระทำความผิด  ไม่ถือว่าเป็นการยอมความตามมาตรา  35  วรรคสอง  และมาตรา  39(2)  คดีอาญาไม่ระงับ  (ฎ. 1403/2508)

สรุป  เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์  ถอนฟ้องหรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวมีอยู่  4  กรณี  ที่อาญายังไม่ระงับตามที่ได้อธิบาย

 

ข้อ  4  (ก)  ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ราษฎรจะจับผู้อื่นได้  ในกรณีใดบ้าง

(ข) ให้ท่านแสดงความคิดเห็นว่า  หลักกฎหมายที่ท่านตอบตามข้อ  4  (ก)  มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  79  ราษฎรจับผู้อื่นไม่ได้  เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา  82  หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้าและความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย

มาตรา  82  เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับจะขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้เคียงเพื่อจัดการตามหมายนั้นก็ได้  แต่จะบังคับให้ผู้ใดช่วยโดยอาจเกิดอันตรายแก่เขานั้นไม่ได้

มาตรา  117  เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนีให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้  แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว  อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้  ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที  ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง  แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด  และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล  โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น

อธิบาย

(ก)ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ราษฎรจะจับผู้อื่นได้มีอยู่ด้วยกัน  3  กรณีดังต่อไปนี้

1       เมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า  และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลนี้ด้วย  ตามมาตรา  79

2       เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งจัดการตามหมายจับและได้ขอความช่วยเหลือจากราษฎรตามมาตรา  79  ประกอบมาตรา  82

3       เมื่อราษฎรได้ทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกัน  เมื่อพบผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งตนทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันให้  หนีหรือจะหลบหนี  โดยในขณะนั้นไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงทีก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง  ตามมาตรา  117

ทั้งสามกรณีดังกล่าวนี้  ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้อำนาจราษฎรทำการจับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

(ข) ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้บัญญัติให้อำนาจราษฎรทำการจับได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้นมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน  หรือไม่  เห็นว่า

ในสังคมไทยปัจจุบันได้มีผู้รักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่  มีอำนาจทำการจับ  ทำการสอบสวนผู้ต้องหาหรือจำเลยได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งก็คือ  เจ้าพนักงานตำรวจ  ส่วนราษฎรโดยหลักไม่มีอำนาจเหนือบุคคลในการลิดรอนสิทธิบุคคลอื่นตามหลักแห่งความเสมอภาค  ดังนั้น  ในการที่จะให้อำนาจราษฎรจับบุคคลใดหรือมีสิทธิเหนือบุคคลใดจะต้องจำกัดขอบเขตอำนาจ  ซึ่งตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ได้บัญญัติให้อำนาจราษฎรไว้  3  มาตรา  ดังนี้  มาตรา  79  มาตรา  82  มาตรา  117

ทั้งสามมาตราดังกล่าว  เห็นว่า  มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน  เนื่องจากตามหลักกฎหมายดังกล่าว  ได้กำหนดให้อำนาจราษฎรโดยเคร่งครัด  และมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยดังนี้

ประการแรก  ตามมาตรา  79  เมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า  และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลนี้ด้วยในลักษณะนี้  เห็นว่า สภาพสังคมไทยมีความเป็นอยู่ในลักษณะเอื้อเฟื้อกับการช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายประกอบกับในความผิดตามบัญชีท้ายประมวลนั้น  ความผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดที่มีความรุนแรง  จึงได้ให้อำนาจราษฎรในการรักษาความสงบของประเทศร่วมกัน

ประการที่สอง  ตามมาตรา  79  ประกอบ  82  กล่าวคือ  เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งจัดการตามหมายจับและได้ขอความช่วยเหลือจากราษฎรในกรณีนี้เจ้าพนักงานต้องมีหมายเท่านั้นและได้ขอความช่วยเหลือจากราษฎร  อันแสดงให้เห็นว่า  เจ้าพนักงานไม่สามารถจัดการตามหมายได้โดยลำพังหรือกำลังไม่เพียงพอ

ประการที่สาม  ตามมาตรา  117  ในกรณีราษฎรได้ทำสัญญาประกันหรือหลักประกัน  สามารถจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในกรณีนี้  เห็นว่า เป็นการรักษาผลประโยชน์ของนายประกันโดยแท้  และในขณะนั้นนายประกันก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้อย่างทันท่วงทีจึงถือว่ามีความเหมาะสมในการให้อำนาจราษฎรในการจับได้เอง

ดังนั้น  ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาราษฎรจะจับผู้อื่นได้ในกรณีตามมาตรา  79 , 82 , 117  เห็นว่ามีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยทั้งในการช่วยเหลือบุคคลอื่น  รักษาความสงบของประเทศร่วมกันและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

หมายเหตุ  น้องๆสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระในข้อ  (ข)  นี้ครับ

WordPress Ads
error: Content is protected !!